กระดานข่าว Save Our Sea.net

หมวดหมู่ทั่วไป => ห้องรับแขก => ข้อความที่เริ่มโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 12:42:11 AM



หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 12:42:11 AM
กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าวในช่วงนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา  ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 – 3 มีค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของ ฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 4-7 มีค. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศร้อนขึ้น สำหรับสภาวะฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงจะลดน้อยลง


ข้อควรระวัง

 ในช่วงวันที่ 1 – 3 มี.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน ซึ่งจะมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง



หัวข้อ: Re: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 12:47:40 AM
เดลินิวส์


กรีนพีชเรียกร้องปท.อาเซียนใส่ใจป่าไม้

 วันนี้(1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.หัวหิน จ.เพชรบุรี มีตัวแทนกลุ่มกรีนพีซจำนวน 16 คน แต่งกายใส่หน้ากากใบหน้าผู้นำอาเซียน 10 ชาติ และบางส่วนแต่งกายเป็นลิง เดินทางมายังหน้าโรงแรม เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับการดูแลป่าไม้

โดยตัวแทนของกลุ่มกรีนพีช กล่าวว่า ที่เดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้นำอาเซียน และประชาชนชาวอาเซียน ให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกัน การทำลายป่าไม้ ซึ่งขณะนี้ในเอาเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการทำลายป่าไม้ค่อนข้างรุนแรง และมากที่สุด รวมถึงให้สร้างกองทุนในเรื่องการรักษาดูแลป่าไม้ อย่างไรก็ตาม หลังการชุมนุมประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ได้มาเชิญตัวออกจากพื้นที่ ซึ่งทางกลุ่มก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ.



หัวข้อ: Re: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 12:53:05 AM
ผู้จัดการออนไลน์


ฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ชี้ พฤติกรรมจับคู่ผสมพันธุ์มีมานานกว่าที่คาด

(http://pics.manager.co.th/Images/552000002402501.JPEG)
ฟอสซิลของปลาพลาโคเดิร์มอายุกว่า 380 ล้านปี ที่มีลูกอ่อนอยู่ในท้องด้วย พบในออสเตรเลียเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (บีบีซีนิวส์)
 
ศึกษาฟอสซิลปลาโบราณในออสซี ที่พบมานานกว่าสิบปีได้หลักฐานใหม่ ที่แท้กระดูกในท้องเป็นของลูกปลาที่ยังไม่เกิด ไม่ใช่กระดูกของเหยื่ออย่างที่คาด นักวิจัยระบุมีการปฏิสนธิภายในแม่ปลา ชี้รูปแบบการผสมพันธุ์แบบจับคู่แล้วตัวผู้ปล่อยสเปิร์มเข้าไปในตัวเมียมีมาแต่ยุคแรกๆ และนานกว่าที่คิด
       
       ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษและออสเตรเลีย ร่วมกันศึกษาฟอสซิลของปลาพลาโคเดิร์ม (placoderm) สปีชีส์ อินคิสออสคูตัม ริตชิอี (Incisoscutum ritchiei) อายุราว 380 ล้านปี ที่พบในบริเวณแหล่งขุดค้นโกโก (Gogo) ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ผลปรากฏว่า กระดูกในท้องฟอสซิลปลาเป็นของปลาตัวอ่อน
       
       นับเป็นข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่า ปลาดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ มีการจับคู่ผสมพันธุ์แบบเกิดการปฏิสนธิภายในปลาตัวเมีย ซึ่งแต่เดิมคิดว่าวิธีผสมพันธุ์แบบนี้วิวัฒนาการขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายสิบล้านปี โดยได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อเร็วๆนี้ ตามที่ระบุในสำนักข่าวเอพี
       
       ทั้งนี้ ปลาพลาโคเดิร์มเป็นปลาในยุคดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคดีโวเนียน (Devonian : ราว 417-350 ล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นยุคของปลา (The Age of Fish) และฟอสซิลของปลาดังกล่าวนั้นพบตั้งแต่ช่วงปี 2529 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นฟอสซิลของบรรพบุรุษสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เก่าแก่ที่สุดในขณะนี้
       
       บีบีซีนิวส์รายงานว่าแรกเริ่มเดิมที นักวิจัยคะเนว่าปลาพลาโคเดิร์มตัวนี้ตายลงหลังจากที่กินอาหารมื้อสุดท้าย และเชื่อว่ากระดูกที่พบอยู่ในท้องก็คือเหยื่อตัวสุดท้ายที่กินเข้าไป แต่หลังจากที่ศึกษาใหม่อย่างละเอียด กระดูกที่คิดว่าเป็นของเหยื่อพลาโคเดิร์มนั้นแท้ที่จริงก็คือลูกปลาพลาโคเดิร์มที่ยังอยู่ในท้องแม่นั่นเอง
       
       นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้ศึกษาและวิเคราะห์กระดูกเชิงกรานของปลาพลาโคเดิร์มใหม่อีกครั้ง จากตัวอย่างฟอสซิลของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ และพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย (Museum Victoria) ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับการปฏิสนธิของปลาพลาโคเดิร์ม โดยพบว่ากระดูกเชิงการของเพศผู้มีครีบที่ไม่พบในเพศเมีย ซึ่งเรียกครีบนั้นว่า คลาสเปอร์ (clasper) และสันนิษฐานว่าพลาโคเดิร์มตัวผู้มีไว้สำหรับยึดเกาะตัวเมียในขณะจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อปล่อยสเปิร์มเข้าในผสมกับไข่ที่อยู่ในตัวเมีย คล้ายกับการผสมพันธุ์ของฉลามในปัจจุบันซึ่งมีอวัยวะส่วนที่คล้ายกับที่พบในพลาโคเดิร์มเช่นกัน
       
       "พลาโคเดิร์มเพศผู้ มีกระดูกชิ้นพิเศษขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งเรามองข้ามไปในตอนแรกและไม่ได้แยกแยะมันออกจากกัน และเมื่อเราทำความเข้าใจกับกระดูกเชิงกรานของปลาชนิดนี้ใหม่ ทำให้เรารู้ว่าพวกมันมีการจับคู่ผสมพันธุ์กัน" จอห์น ลอง (John Long) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

(http://pics.manager.co.th/Images/552000002402502.JPEG)
ภาพจำลองการจับคู่ผสมพันธุ์ของปลาพลาโคเดิร์มที่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับสเปิร์มภายในท้องของตัวเมีย แต่เดิมคิดว่าปลาชนิดนี้มีการปฏิสนธิภายนอนตัวเมีย (เอพี)
       
       ด้านเซรินา โจแฮนสัน (Zerina Johanson) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอนดอน นักวิจัยอีกคนที่ร่วมศึกษากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคะเนกันว่าปลาโบราณชนิดนี้ มีรูปแบบการสืบพันธุ์เป็นแบบดั้งเดิมที่ปลาตัวผู้และตัวเมียปล่อยสเปิร์มและไข่ออกมาผสมกันและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนในน้ำ หรือที่เรียกว่าปฏิสนธิภายนอก
       
       ทว่าจากที่ได้ศึกษากันใหม่พบว่า ปลาพลาโคเดิร์มมีการปฏิสนธิกันแบบขั้นสูงขึ้น ที่ปลาตัวผู้และตัวเมียจับคู่ผสมพันธุ์กัน โดยปล่อยสเปิร์มเข้าไปและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนขึ้นภายในปลาตัวเมีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผสมพันธุ์แบบนี้เกิดขึ้นในปลายุคแรกๆ มานานกว่าที่เราเคยสันนิษฐานกัน และการปฏิสนธิภายนอกอาจไม่ใช่รูปแบบการผสมพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างที่เคยคาดกันไว้ และเป็นไปได้ว่ามีวิวัฒนาการแบบนี้เกิดขึ้นในปลาชนิดอื่นด้วยเช่นกัน
       
       "การค้นพบครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างเหลือเชื่อทีเดียว เพราะหลักฐานทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นหาจากฟอสซิลได้ยากยิ่ง" โจแฮนสัน ระบุในบีบีซีนิวส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีขากรรไกรจากฟอสซิลดังกล่าวกันต่อไป รวมทั้งศึกษาด้วยว่าปลาพลาโคเดิร์มนี้มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับพวกฉลามและกระเบน หรือปลากระดูกแข็ง เช่น ทูน่า มากกว่ากัน.



หัวข้อ: Re: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 12:59:20 AM
ข่าวสด


พ่อเมืองลำปางขอฝนหลวงช่วยด่วน วิกฤตหมอกควันทึบ-จี้ดำเนินคดีพวกเผาป่า

ลำปาง - นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.ลำปาง กล่าวในฐานะที่เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ โดยหยิบยกประเด็นการเกิดปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมเขตเมืองลำปางขณะนี้ขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุม พร้อมทั้งสั่งการให้ประชาสัมพันธ์เรื่องการงดเผาป่า และเพิ่มมาตรการด้านกฎหมายเอาผิดผู้ที่เผาป่าอย่างจริงจัง เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนมีค่าสูงขึ้นเกิน 200 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. และยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยล่าสุดวันที่ 27 ก.พ.52 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่า วัดค่าได้ 259.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เกินมาตรฐานที่กำหนด ถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า ปี 2552 นี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่วันที่ 1-26 ก.พ. มีค่ามาตรฐานเกินไปแล้ว 16 วัน และคาดการณ์เดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะมีค่าสูงมากขึ้น นอกจากว่าจะมีฝนฟ้าคะนองเข้ามา นอกจากนั้นปริมาณเชื้อเพลิงสะสมในป่าของกรมอุทยานแห่งชาติมีเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 40%

น.พ.ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ผอ.ร.พ.ลำปาง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบจากสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และอาการระคายเคืองทางตาตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 15-20% มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 300 คนต่อวัน โดย 15-20 คนที่รับไว้เป็นผู้ป่วยใน เพราะอาการหนักจนต้องใช้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ จึงฝากเตือนผู้สูงอายุและเด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภูมิต้านทานโรคต่ำ งดออกมาเดินบริเวณกลางแจ้ง ซึ่งการอยู่ในบ้านหรือในตึกอากาศจะดีกว่าอยู่ด้านนอก

ทั้งนี้ นายอมรพันธุ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.52 ได้ลงนามขอฝนหลวงไปยังกระทรวงเกษตรฯ โดยวันที่ 27 ก.พ. ได้รับการตอบรับจากนายไพโรจน์ ลิ้มจรูญ ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้เคลื่อนย้ายเครื่องบินจากหัวหินมาช่วยทำฝนหลวงที่ลำปางภายใน 2-3 วันนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ รวมทั้งขอความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนทุกหน่วยงานให้ช่วยประชาสัมพันธ์งดการเผาป่า พร้อมทั้งดำเนินการกับผู้ที่ยังฝ่าฝืนลักลอบเผาป่าหญ้าแห้งอยู่ในขณะนี้อย่างจริงจัง และแจ้งไปยังองค์กรปกคลองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดจัดรถบรรทุกน้ำฉีดน้ำบนถนนเพื่อลดปริมาณฝุ่นควันด้วยอีกทางหนึ่ง


***********************************************************************************************************************


ปลาใหม่น่าขัน-กระโดดไปตามพื้น

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2009/03/tec04020352p1.jpg)
 
นักดำน้ำที่กำลังดำน้ำอยู่บริเวณเกาะอัมบนของอินโดนีเซีย พบปลารูปร่างแปลกตาเลยจับส่งไปให้ดร. เทต พีเอตช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาดู ซึ่ง ดร.พีเอตช์ชี้ออกมาแล้วว่า ปลาที่มีรูปร่างคล้ายกับลูกฟุตบอลยางนี้เป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมกับตั้งชื่อว่า "ไซคีเดลิคา (Psychedelica)"
 
(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2009/03/tec04020352p2.jpg)

"ไซคีเดลิคา" เป็นปลาในตระกูลปลากบ ลายทางยาวๆ ของมันเลียนแบบลักษณะของปะการัง มีขนาดเท่ากับกำปั้น หนังที่ลำตัวหนาซึ่งน่าจะเป็นเพราะใช้ป้องกันผิวคมๆ ของปะการัง หน้าแบน ตามองพุ่งตรงไปข้างหน้าเหมือนกับตาของมนุษย์ ปากกว้าง เมื่อไปอยู่ที่พื้นทะเล มันจะใช้ครีบผลักพื้น และไล่ น้ำออกจากเหงือกเพื่อดันตัวให้พุ่งไปข้างหน้าอย่าง รวดเร็ว การทำเช่น นี้ทำให้มันดูเหมือน กับกระโดดดึ๋งๆ ไปตามพื้น

นายมาร์ก เอ็ดมันด์ ที่ปรึกษาโครงการอนุ รักษ์สัตว์ทะเลนานา ชาติ กล่าวว่า "น่าตื่นเต้นจริงๆ ที่พบไซคีเดลิคา มันเป็นปลาที่แปลกมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในเขตของประเทศอินโดนีเซียและสาม เหลี่ยมคอรัล"



หัวข้อ: Re: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 02, 2009, 01:06:57 AM
สำนักข่าว INN


เอเซียใต้จะได้รับผลกระทบสภาพอากาศเปลี่ยน

ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเผยผลการศึกษา ในวารสารจีโอฟิสิคอล รีเสิร์ช เลตเตอร์ส ว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นอาจทำให้ฤดูมรสุมในภูมิภาคเอเชียใต้มาถึงล่าช้าราวทั้งยังทำให้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาค ภายในศตวรรษหน้า

นายโนอาห์ ดิฟเฟนบัฟ ผู้อำนวยการเฉพาะกาลของศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้ลมมรสุมเปลี่ยนทิศไปทางตะวันออก ทำให้ฝนตกในมหาสมุทรอินเดีย พม่าละบังกลาเทศมากขึ้น ขณะที่ปากีสถาน อินเดีย และเนปาล จะมีฝนตกน้อยลง ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยร้ายแรงมากขึ้นในพื้นที่แถบชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ศรีลังกา และพม่า เนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม การสาธารณสุข และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งนี้ ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากลมมรสุมเหล่านี้ และความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยจากรูปแบบของมรสุมปกติ อาจทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงได้