กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 03, 2024, 05:19:14 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความสัมพันธ์ของหอยกับวิถีชีวิตชุมชน  (อ่าน 2164 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: กันยายน 27, 2008, 05:25:01 AM »


ความสัมพันธ์ของหอยกับวิถีชีวิตชุมชน                    :                  สาระน่ารู้

หอย ..... สัตว์ตัวเล็กๆ ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวนิ่มซุกตัวอยู่ในเปลือกแข็ง

เชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีวิวัฒนาการอยู่บนโลกนี้มานานจนถึงปัจจุบัน พบทั่วไปทั้งในทะเลน้ำลึก น้ำตื้น น้ำจืด เรือกสวนไร่นาต่างๆ มีมากราว 130,000 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไปอย่างกว้างขวาง เช่น หอยแครง, หอยนางรม, หอยเชลล์, หอยหวาน หรือแม้แต่หอยมุก ซึ่งหอยชนิดนี้เลี้ยงเพื่อทำเป็นเครื่องประดับและเครื่องสำอาง คุณค่าทางโภชนาการของหอยคือ โปรตีนเป็นหลัก ซึ่งเทียบเท่าได้กับเนื้อสัตว์อื่นๆ  และมีวิตามิน เกลือแร่ ไขมัน แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับสรีรวิทยาและสิ่งแวดล้อม

ในด้านคุณค่าทางโภชนาการ หอยนางรม เป็นหอยที่น่าสนใจมากในเรื่องการรักษาสมรรถภาพทางเพศ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพ จนมักมีคำว่า กินหอยแรงดี ล้อเลียนกันเสมอมา

หอยนางรม มีสารประกอบ เทารีน ที่มีผลต่อการส่งกระแสประสาท มีผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเพศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย โดยการทำหน้าที่ของเทารีนจะมีแร่ธาตุสังกะสีเป็นตัวส่งเสริมการออกฤทธิ์ให้ดีขึ้น ซึ่งพบมากในหอยนางรมนั่นเอง ฉะนั้น กลุ่มชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศก็สามารถรับประทานหอยนางรมเพื่อช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้

นอกเหนือจากประโยชน์ที่นำไปปรุงยาและเข้าตำรับยารักษาโรคต่างๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปมองอดีตที่ผ่านมา หอยเป็นมากกว่าอาหารและยารักษาโรคเสียอีก แหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่ขุดค้นพบล้วนมีหอยปรากฏหลักฐาน แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในลักษณะเป็นข้าวของมีค่าของผู้ตายอยู่ด้วย ในแถบลุ่มน้ำแม่กลองและท่าจีน พบว่าหอยเป็นเครื่องประดับอันทรงคุณค่าก่อนช่วงยุคเหล็ก ซึ่งเป็นยุคที่มีการติดต่อระหว่างประเทศ หลักฐานที่ค้นพบในหลุมฝังศพบางแห่งมีเปลือกหอยสวยงามมากมายในรูปแบบเครื่องประดับ ในขณะที่บางหลุมข้าวของเครื่องใช้ก็ธรรมดาและยังไม่มีหอย จึงสันนิษฐานได้ว่าหอยเป็นเครื่องที่บ่งบอกฐานะทางชนชั้นของบุคคล นั่นแสดงว่าการแบ่งแยกชนชั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์มาแล้ว นอกจากนี้ยังอาจสื่อถึงเครื่องรางของขลังสำหรับผู้ตายไปสู่ความสงบในโลกหน้า

หอยที่พบว่านำมาทำเครื่องประดับประเภทกำไลข้อมือ ลูกปัด ต่างหู ได้แก่ หอยมือเสือ หอยมุก หอยสังข์ หอยเบี้ย ซึ่งล้วนเป็นหอยทะเล จากรายงานการศึกษาทางโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี พบเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเลฝังอยู่ในหลุมศพ โดยเฉพาะหอยมือเสือในรูปของกำไล ลูกปัด ต่างหู กระทั่ง 300-500 ปีก่อนคริสต์ศักราช พบว่าเครื่องประดับจากหอยหายไป และเปลี่ยนเป็นหินและแก้วแทน อย่างไรก็ตาม แม้วัสดุการทำเครื่องประดับจะเปลี่ยนไป แต่รูปลักษณ์ก็ยังเลียนแบบเครื่องประดับจากหอยเช่นเดิม นอกจากนี้ หอยที่ปรากฏในหลุมฝังศพตามแหล่งชุมชนต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่า มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ตลอดจนอารยธรรม ประเพณี โดยอาจใช้เครื่องประดับหอยเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนซื้อขายก็เป็นได้

ส่วนหอยที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นสัญลักษณ์ของเงินตรา ได้แก่ หอยเบี้ย ประเทศไทยที่ใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน น่าจะมีมานานอาจตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนในกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.1078 มีบันทึกไว้ว่าหอยเบี้ย 200 ตัว มีค่า 1 เฟื้อง ต่อมาราว พ.ศ.1893-2310 ค่าเบี้ยอยู่ในอัตรา 800 ตัวต่อเฟื้อง และมีความผันผวนถึง 1,600 ตัวต่อเฟื้อง สาเหตุที่ราคาเบี้ยแกว่งเหมือนค่าเงินบาทยุคลอยตัว ก็เนื่องจากมีการนำเข้าหอยจากต่างประเทศจำนวนมากเป็นหาบๆ รวมทั้งมีการกักตุนเพื่อปั่นราคา กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ต้องทรงตราพระราชอาญาเอาโทษกับผู้ที่ขายเบี้ยในราคาเกินกว่า 400 ตัวต่อเฟื้อง ส่วนประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ต่างล้วนปรากฏหลักฐานในการใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราเช่นกัน อาจด้วยเหตุที่มีการเดินทางติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันนั่นเอง

ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญดีบุกผสม เรียกว่า กระแปะจีน และโสฬส ขึ้นใช้ เบี้ยหอยจึงหายไปจากระบบการเงินของประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัจจุบันคำว่า "เบี้ย" ยังคงสืบความหมายในแง่ของเงินตราอยู่เช่นเดิม ดังเช่นคำว่า เบี้ยเลี้ยง, เบี้ยปรับ, เบี้ยหวัด, เบี้ยบำนาญ รวมทั้งการใช้สำนวนการเปรียบคนมีเงินไม่มากว่าเป็นคน เบี้ยน้อยหอยน้อย เป็นต้น

นอกจากบทบาทการเป็นเงินตราแล้ว หอยเบี้ยยังถูกนำมาใช้ในประเพณีความเชื่อต่างๆ เช่น เครื่องบูชาบวงสรวง หรือในตำราเลี้ยงช้าง เมื่อช้างไม่ลงน้ำให้เอาเบี้ยสามตัว หมากสามคำ ข้าวสุกสามกระทง ไปพลีต้นผักครอบ แล้วเอาผักมาเคี้ยวทามือ แล้วเอายีตาช้างเจ็ดที ช้างก็จะยอมลงน้ำ หรือใช้เบี้ยจั่นแขวนคอเด็กๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและป้องกันฟันผุ (แมงกินฟัน) เข้าใจว่าการใช้เบี้ยจั่นคล้องคอเด็กนี้น่าจะมีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแล้ว

ประเทศอินเดียถือว่า  เบี้ยจั่น มีศักดิ์เท่ากับองค์พระลักษมี เป็นเทพีแห่งโภคทรัพย์ ชาวอินเดียจะมีพิธีบูชาเบี้ยจั่นและพระลักษมีพร้อมๆ กัน บางทีก็ใช้เบี้ยจั่นบูชาพระลักษมีเพื่อให้เกิดสิริมงคลเจริญมั่งคั่ง ในหมู่เกาะนิวกีนี ผู้หญิงนิยมทำหอยเป็นสร้อยคอ ถือเป็นเครื่องรางเมตตามหานิยม

หอยสังข์ สัญลักษณ์แห่งมงคลพิธี มีตำนานเล่าถึงที่มาที่ไปของหอยสังข์แห่งมงคลพิธีว่า พระนารายณ์ได้อวตารลงมาสู้กับสังขอสูร (ซึ่งเป็นพระพรหมจุติมาเกิด) ที่กลืนคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ลงท้อง เมื่อพระนารายณ์ชนะก็ล้วงพระหัตถ์ขวาเข้าไปในปากอสูรเพื่อเอาคัมภีร์ออกมาแล้วจึงสังหารอสูร ปากสังข์จึงปรากฏรอยนิ้วพระนารายณ์ พระองค์เห็นว่าสังขอสูรก็เป็นพระพรหมจุติ  และท้องของสังขอสูรเป็นที่เก็บคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ ถือเป็นอานุภาพมงคล จึงตรัสว่าภายภาคหน้าต่อไป บุคคลใดจะกระทำมงคลให้เอาสังข์ไปเป่าให้ได้ยินเสียง ไปถึงสถานที่ใดก็เป็นอุดมมงคลจนสุดเสียงสังข์

สำหรับความนิยมในการใช้สังข์หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานมงคล น่าจะมีขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้สังข์ใช้แต่ในงานพิธีหลวง โดยเหล่าพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี น่าสังเกตคือ ไม่เพียงแต่ไทยและประเทศแถบนี้ที่ใช้สังข์ในพิธีมงคล แม้แต่ประเทศอังกฤษก็ถือหอยสังข์เป็นสิ่งนำโชค

แม้วันนี้หอยจะไม่ใช่ตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ไม่ได้ถูกฝังร่วมในหลุมฝังศพเพื่อเป็นสื่อนำวิญญาณไปสู่ปรโลก ไม่ได้ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตราแล้วก็ตาม มนุษย์ก็ยังคิดสร้างสรรค์หาหนทางนำเปลือกหอยมาใช้ประโยชน์ ทั้งด้านอาหารและการรักษาโรค เครื่องตกแต่งบ้านเรือนนานาชนิด สะสมเป็นงานอดิเรก ตราบที่มนุษย์รู้จักประโยช์และคุณค่าของเปลือกหอย ตราบนั้นความสัมพันธ์ของหอยกับมนุษย์และชุมชน แม้จะเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไปตามกาลเวลา แต่ก็คงไม่มีวันพรากจากกันแน่นอน.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 27, 2008, 05:26:32 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.105 วินาที กับ 20 คำสั่ง