กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 15, 2024, 03:38:46 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แผ่นดินที่หายไป (2)  (อ่าน 61527 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #30 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2007, 12:07:59 AM »


กลับคืนสู่ทะเล


เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังเป็นทะเล กระทั่งเกิดการตกตะกอนของดินโคลนจากปากแม่น้ำ 5 สาย จึงทำให้เกิดพื้นดินขึ้นมา เป็นที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน

ความแน่นหนาของประชากรนี่เองที่เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมโทรมของพื้นที่ และอาจจะทำให้พื้นดินที่มีอยู่กลับกลายเป็นทะเลอีกครั้งในเวลาอันไม่ช้า

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงจากทะเลเป็นพื้นดินกินเวลาเป็นพันปี แต่กระบวนการทำให้พื้นดินกลับไปเป็นทะเลอีกครั้ง ใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น

และขณะที่กระบวนการแรกเป็นฝีมือของธรรมชาติ

กระบวนการหลังเกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์เป็นหลัก


นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ปัจจัยการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ รวมไปถึงการดูดทรายจากแม่น้ำ ทำให้การพัดพาตะกอนมาทับถมบริเวณอ่าวไทยหายไป

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อนส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมมีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อผนวกกับการทำลายป่าชายเลนที่เป็นเกราะป้องกันแนวชายฝั่งชั้นดี เพื่อทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บวกกับการขุดบ่อบาดาล ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินทรุดในหลายพื้นที่ ทำให้น้ำทะเลสามารถรุกเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น

จากการสำรวจพบว่าขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งของกรุงเทพมหานครถูกกัดเซาะไปแล้ว 600-700 เมตร และชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนมีการกัดเซาะของชายฝั่งประมาณ 12 เมตรต่อปี ก่อนที่จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหา

ทำให้การกัดเซาะลดลงเหลือ 8 เมตรต่อปี


แต่ไม่ว่าจะเป็น 12 หรือ 8 เมตรต่อปี การกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งไม่ว่าจะกรุงเทพมหานคร หรือตลอดแนว "อ่าว ก ไก่" นี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิต และสภาพเศรษฐกิจของประชาชนตลอดทั้งบริเวณ

จะหยุดยั้งแนวโน้มที่ว่านี้ได้ก็ต้องร่วมกันแก้ไขปัจจัยที่เป็นปัญหา เช่นทำให้การทับถมของตะกอนปากแม่น้ำกลับคืนมาในปริมาณที่มากพอ หยุดยั้งการทำลายและเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับคืนมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาที่ฝืนธรรมชาติ เช่นการสร้างเขื่อนคอนกรีตกั้นคลื่น อาจจะทุเลาปัญหาได้ชั่วคราว แต่หากไม่หยุดยั้งการทำลายและกลับมาปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สุดท้ายปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันก็จะหวนกลับมาใหม่ในอนาคต และอาจจะเพิ่มความรุนแรงเสียยิ่งกว่าเดิม

เมื่อเห็นอยู่ชัดเจนว่าปัญหาเริ่มต้นจากมนุษย์

ทางแก้ก็คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม



จาก         :        ข่าวสด    คอลัมน์ บทบรรณาธิการ  วันที่ 18 กรกฎาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #31 เมื่อ: กรกฎาคม 26, 2007, 02:39:04 AM »


วิกฤตทะเลกลืนแผ่นดิน: โครงการพัฒนาคือสาเหตุ      

ในรายงานผลการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเลในฤดูมรสุมบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จ.ชุมพรถึงจ.ปัตตานี ระหว่างเดือนธ.ค. 49 – ม.ค.50 ของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ระบุพื้นที่สำรวจรวม 5 จังหวัด 31 อำเภอ 113 ตำบลที่ติดชายฝั่งทะเล เป็นการสำรวจทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ สรุปพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 

แต่เนื่องจากผลการสำรวจแต่ละพื้นที่มีรูปประกอบจำนวนมาก เพื่อให้เห็นภาพความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม ดังนั้นในการนำเสนอครั้งนี้จึงขอแบ่งการนำเสนอผลกระทบในแต่ละจังหวัดออกเป็นตอนๆ คือ

ตอนที่ 1 รายงานพิเศษ วิกฤตทะเลกลืนแผ่นดิน: โครงการพัฒนาคือสาเหตุ (1)

ตอนที่ 2 จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี

ตอนที่ 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตอนที่ 4 จังหวัดสงขลาและปัตตานี

ตอนที่ 5 บทสรุปและข้อเสนอแนะ

เชิญติดตามอ่านตอนที่สองก่อน ดังนี้


****************************************************


วิกฤตทะเลกลืนแผ่นดิน: โครงการพัฒนาคือสาเหตุ (2)

 

จังหวัดชุมพร

พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 250 กม. พบการกัดเซาะปานกลาง รวมระยะทาง 16.6 กม. ส่วนชายฝั่งที่มีการสะสมตัวรวมระยะทางยาว 11 กิโลเมตร ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในอดีต ส่วนใหญ่มาจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือ สะพานปลา เขื่อนกันทรายและคลื่นตามปากคลอง ทำให้เริ่มมีการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ ยังสามารถป้องกันและหาแนวทางแก้ไขได้ 

สำหรับพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งมี 4 พื้นที่ คือ

1.       ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

2.       ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

3.       ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

4.       บ้านหัวแหลม ตำบลบางมะพร้าว และบ้านจมูกโพรง ตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

........................



1.ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

กัดเซาะสันทรายชายฝั่งลึกประมาณ 20 เซนติเมตร และพบการกัดเซาะแนวถนนเลียบชายฝั่ง เนื่องจากแนวถนนอยู่บนแนวสันทรายปัจจุบัน จึงเกิดการกัดเซาะได้ง่าย


สภาพการกัดเซาะชายฝั่งในตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร



สภาพการกัดเซาะชายฝั่งและถนนบ้านหน้าทับ ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร


2. ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

กัดเซาะสันทรายชายฝั่งลึกประมาณ 30 เซนติเมตร บริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงในตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ลักษณะการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งบริเวณถนนเลียบชายฝั่ง เนื่องจากถนนอยู่ชิดกับแนวสันทรายปัจจุบัน จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงมรสุม


สภาพการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น
 


การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณถนนเลียบชายหาดทุ่งวัวแล่น และการสะสมตัวของทรายและขยะ

 
3. ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

สภาพท่าเทียบเรือประมงในตำบลด่านสวี ที่ถูกลมรุนแรงพัดศาลาริมน้ำตกลงไปในทะเล และความเสียหายของขอบรั้วสะพานท่าเทียบเรือประมงที่ถูกพัดพังเสียหาย (รูปที่ 9)


สภาพความเสียหายของศาลาริมน้ำ บริเวณท่าเทียบเรือประมงร่องน้ำด่านสวี
สภาพความเสียหายของสะพาน บริเวณท่าเทียบเรือประมงร่องน้ำด่านสวี

4. ตำบลบางมะพร้าว และตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

กัดเซาะชายฝั่งบริเวณหมู่ 14 บ้านหัวแหลม ตำบลบางมะพร้าว และบ้านจมูกโพรง ตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน ทางด้านใต้เขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองหลังสวนประมาณ 1 กิโลเมตร การกัดเซาะชายฝั่ง ทางด้านเหนือเขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองหลังสวน บริเวณเขตชุมชนริมชายฝั่งทะเล ในเขตตำบลบางมะพร้าว และ ตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 


ลักษณะการกัดเซาะชายฝั่งด้านใต้เขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองหลังสวน


  สภาพการกัดเซาะและลักษณะการป้องกันชายฝั่งบริเวณชุมชนปากน้ำหลังสวน

ตำบลบางมะพร้าว และ ตำบลปากน้ำ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร (ต่อ) สภาพคลื่นลมแรงพัดพาทุ่นลอยขาดเข้ามาในปากคลองหลังสวน และลักษณะการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณถนนเลียบชายฝั่งบริเวณด้านใต้ปากคลองหลังสวน จังหวัดชุมพร



ทุ่นลอยถูกพัดขาดเข้ามาในปากคลองหลังสวน



ถนนริมทะเลอำเภอหลังสวนถูกกัดเซาะได้รับความเสียหาย


 
จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวรวมกันประมาณ 162 กิโลเมตร มีชายฝั่งถูกกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี เพียงบริเวณเดียวคือ ชายฝั่งบ้านพอด – บ้านปากคลองคราม ความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ปัจจุบันยังมีการกัดเซาะที่รุนแรงอยู่

            พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งปานกลาง 7 แห่งในอำเภอท่าชนะ 4 แห่ง อำเภอไชยา 2 แห่ง และอำเภอดอนสัก 1 แห่ง รวมกัน 15.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบการสะสมตัวของตะกอนชายฝั่งที่อำเภอท่าชนะและอำเภอไชยา รวมความยาวเท่ากับ 9.2 กิโลเมตร

            สาเหตุการกัดเซาะ เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ โดยเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งการพัฒนาเมือง การขยายระบบสาธารณูปโภค การปรับถมถนนริมทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นนากุ้ง ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ
 

            สำหรับพื้นที่ที่พบการกัดเซาะชายฝั่งมี 3 พื้นที่ คือ

            - ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            - ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            - ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

1. ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปริมาณน้ำทะเลขึ้นสูงที่พบบริเวณชายหาดตำบลท่าชนะ ลักษณะการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณถนนเลียบชายฝั่ง เนื่องจากการถมทะเลสร้างถนน


ถนนริมทะเลในตำบลท่าชนะที่ถูกกัดเซาะได้รับความเสียหาย
 

2.ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ลักษณะการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวด้านทิศเหนือของตำบลลีเล็ด ตำบลท่าชนะ และลักษณะการสะสมตัวของขยะจำนวนมากบริเวณด้านในอ่าว


สภาพการกัดเซาะชายฝั่งในตำบลลีเล็ด



สภาพการสะสมตัวของขยะจำนวนมากบริเวณด้านในอ่าว

 
3. ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ลักษณะการกัดเซาะบริเวณด้านในอ่าวบ้านพอด ตำบลดอนสัก ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะเป็นประจำ และการใช้ท่อซิเมนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณด้านในอ่าวบ้านพอด


ชายฝั่งบ้านพอด ตำบลดอนสัก มีการกัดเซาะในบริเวณอ่าวด้านในเป็นประจำ



การใช้ท่อซิเมนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณด้านในอ่าวบ้านพอด


จาก         :        สถาบันวิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง  กรมประมง  วันที่ 25 กรกฎาคม 2550  คัดจาก ประชาไท   วันที่  24/7/2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #32 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2007, 12:36:44 AM »


บริษัทเสนอแก้บางขุนเทียนผิดวิธี นักวิชาการรุมค้านเชื่อไม่ได้ผล   
 
 รายงานข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนว่า ขณะนี้กทม.ได้ประชุมร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน เพื่อหาข้อสรุปการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการว่าโครงการแก้ปัญหาของกทม.ใช้ไม่ได้ผล โดยนักวิชาการทั้งหมดยืนยันว่าลักษณะของคลื่นบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียน เป็นคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่งในแนวตั้งฉาก ซึ่งขัดกับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาของกทม.ที่ระบุคลื่นบริเวณบางขุนเทียนเป็นคลื่นซัดเข้าหาฝั่งในแนวขนานหรือเฉียงเข้าหาชายฝั่ง ซึ่งข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบถึงลักษณะของโครงการแก้ปัญหาที่บริษัทที่ปรึกษาที่เสนอให้ก่อสร้างรอดักทราย (Groin) รูปตัวทีตั้งขนานตลอดแนวชายฝั่งเพื่อชะลอแรงคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่ง และช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ซัดออกนอกชายฝั่งเวลาที่คลื่นม้วนตัวออกจากฝั่ง ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผล

 ทั้งนี้ เหตุที่รอดักทรายอาจจะใช้ไม่ได้ผลเนื่องจากรอดักทรายเหมาะสำหรับลักษณะของชายหาด ที่มีคลื่นซัดเข้าหาฝั่งในลักษณะเฉียงหรือขนานชายฝั่งเท่านั้น เพราะขารูปตัวทีจะสามารถกักเก็บตะกอนได้ แต่หากเป็นคลื่นซัดตั้งฉากกับชายฝั่งจะส่งผลให้ลักษณะการพัดพาตะกอนเป็นทิศทางตรงข้ามกับขารูปตัวที จึงอาจจะไม่ยาวเพียงพอที่จะกักเก็บตะกอน ซึ่งปัญหาทั้งหมดมาจากการตั้งสมมติฐานผิดของที่ปรึกษา จึงทำให้เกิดการศึกษาหรือเสนอโครงการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักผังเมือง (สผม.) แจ้งข้อมูลให้ที่ปรึกษาเร่งปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพราะล่าช้ามากแล้ว

 รายงานข่าว เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตามนักวิชาการได้เสนอโครงการแก้ปัญหา 2-3 วิธี ประกอบด้วย
1.ไส้กรอกทราย (sand sausage) หรือถังใส่ทรายขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนไส้กรอกหรือหมอนข้างยักษ์ วางบนฟูกทรายขนานกับแนวชายฝั่ง
2.เขื่อนสลายกำลังคลื่นหรือขุนสมุทรจีน คือการปักเสาซีเมนต์รูปสามเหลี่ยม โดยปักเป็นแถวยาวขนานชายฝั่ง โดยปักเรียงแถวหน้ากระดานหนา 3 ชั้นและปักสลับแบบฟันปลา โดยเสาซีเมนต์สลับฟันปลาจะช่วยลดแรงคลื่นโดยการหักเหกำลังคลื่นลงได้ และ
3.การปักไม้ไผ่เป็นแนวเขื่อนริมชายฝั่ง โดยทุกโครงการได้ดำเนินการทดลองทำที่จ.สมุทรปราการและจ.สมุทรสาครมาแล้ว 


จาก         :        แนวหน้า  วันที่ 4 สิงหาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #33 เมื่อ: สิงหาคม 30, 2007, 01:17:10 AM »


ยุทธการกู้แผ่นดิน
 

 
ปรากฏการณ์โลกร้อนนอกจากจะสร้างความปั่นป่วนให้กับสภาพอากาศแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญก่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และนับวันยิ่งรุนแรง กำลังเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่หลายหน่วยงานกำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาชุมชนชายทะเล ซึ่งบ้านเรือนกำลังจะถูกน้ำทะเลยึด ขณะที่อีกหลายคนพยายามลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ จุดประกาย พาไปดูความพยายามของชุมชนหนึ่ง

ศาลาชายทะเลกลางหมู่บ้านสีล้งมักเป็นมุมโปรดของใครหลายคนในชุมชนที่แวะเวียนมาพักหย่อนอารมณ์ และได้พบปะแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ สะอิ้ง จ้อยมาก หรือ 'ลุงสะอิ้ง' ของหลานๆ เป็นอีกคนที่เป็นขาประจำ มานั่งพักผ่อนจากงานในระหว่างวัน แม้เรือนจะห่างศาลาไปไม่กี่คืบ แต่แกก็เลือกที่จะหย่อนตัวเองลงที่นี่ ก่อนทิ้งสายตาไปที่รั้วไม้สลับต้นแสมโดยมีเขื่อนหินเป็นกำแพงกั้นระหว่างผืนดินกับทะเลที่ไม่น่าเชื่อว่า ครั้งหนึ่งหลังโขดหินกองใหญ่นี้เคยเป็นชายคาของใครบางคนที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก...


ผืนดินที่หายไป

"โน่นๆ เห็นธงส้มๆ ลิบๆ นั่นไหมล่ะ เมื่อก่อนตรงนั้นยังเป็นแผ่นดินอยู่เลย"

"มันเริ่มรุกเข้ามาตั้งแต่ 40 ปีก่อนโน่นแล้ว"

"ตรงนั้นน่ะเป็นบ้านติดๆ กันไม่ต่ำกว่า 30 หลังเลยนะ"

"..............................."

ลำดับภาพเหตุการณ์ที่หลายความทรงจำย้ำถึงธงไม้อันเล็กๆ ห่างชายฝั่งไปราว 1 กิโลเมตร หลักฐานยืนยันว่า ครั้งหนึ่งตรงนั้นเป็นที่ตั้งของหมู่ 12 บ้านสีล้ง ตำบลคลองด่าน ที่มีมากว่า 100 ปีแล้ว

"น้ำมันเซาะเข้ามาปีละเส้นกว่า (ประมาณ 40 เมตร) คลื่นกระแทกฝั่ง มันมีการกระแทก มีการดึง กระชาก ช่วงมรสุมก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น" ไกรสร ยศขำ ผู้ใหญ่หมู่ 12 บ้านสีล้ง เล่าถึงความรุนแรงของการรุกล้ำจากธรรมชาติที่สร้างความพรั่นพรึงให้กับชาวบ้านหลายๆ คนที่อยู่ติดทะเล เพราะไม่รู้ว่าวันไหนบ้านใครจะจมหายไปในมหาสมุทร

ผู้ใหญ่ไกรสรบอกว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของที่นี่เริ่มเมื่อ 40 ปีก่อน เดิมทีในบริเวณทะเลห่างออกไป 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดย่อมมีสมาชิกอยู่ราว 70 หลังคาเรือน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพผูกติดกับทะเลเป็นหลัก หาปลา ตัดฟืน เลี้ยงกุ้ง ตามปกติจนกระทั่งหลายคนเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"เมื่อก่อนใครมีที่ริมทะเลนี่จะยิ้มเลยนะ เพราะทะเลมันงอกทุกปี แต่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา บ้านหลังแรกที่อยู่ติดทะเลก็พบว่าน้ำมันอยู่ใกล้บ้านเข้ามาทุกที นานเข้าน้ำก็ยิ่งคืบเข้ามา เขาอยู่ไม่ได้ก็ย้ายหนี พอหลังแรกย้ายหนีที่เหลือก็พากันทยอยย้ายตามปีละหลังสองหลังไล่ลงมาเรื่อยๆ" เขาเท้าความหลัง

ส่วนความทรงจำสะอิ้ง เขาบรรยายถึงน่านน้ำตรงหน้าว่า เคยวิ่งเล่นมาตั้งแต่เท้าเท่าฝาหอย มีบ้านอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 หลังเป็นบริเวณกลางหมู่บ้าน โดยมีป่าแสมโอบล้อมอยู่ด้านหลังอีกที

"เลยบ้านผมไปหนึ่งกิโลฯ ก็ยังอยู่บนดินนะ เช้าๆ พระกับนักเรียนจะใช้ถนนตัดผ่านหมู่บ้านสายนี้ เขาจะร้องว่าพระมาแล้ว ต้องตะโกนบอกกันนะ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นป่าไม้ทึบไปหมดเลย ทีนี้ประมาณ พ.ศ.2507 น้ำก็เริ่มเซาะมา ช่วง พ.ศ.2525-2526 จะหนักมาก รื้อร่นเข้ามาเรื่อยๆ ย้ายหนีกัน น้ำเยอะ คลื่นสูง มันเซาะข้างล่างก่อน ข้างบนค่อยพังตาม"

รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องการกัดเซาะมากว่า 10 ปี เปิดเผยถึงภาพรวมของปัญหาการกัดเซาะทุกวันนี้ว่า ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีชายฝั่งทะเลประมาณ 2,600 กิโลเมตร ในตัวฝั่งอ่าวไทยทั้งสองฝั่ง พบปัญหาการกัดเซาะระดับปานกลางถึงรุนแรง คือ 5 เมตรขึ้นไป ถึงมากกว่า 20 เมตร ตกตัวเลขประมาณ 600 กิโลเมตร

"คิดเป็น 21%ของพื้นที่ชายฝั่ง เราเจอปัญหาตรงนี้ ทั้งอ่าวไทยและอันดามันมีจุดที่ต้องเฝ้าระวัง (Hotspot) 30 จุด อ่าวไทย 22 จุด อันดามัน 8 จุด ที่หนักที่สุดก็คือ อ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร เราพบว่ามีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี โดยปัญหาการกัดเซาะเริ่มเจอเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้พื้นดินเราหายไปประมาณ 110,000 ไร่ โดยที่หนักที่สุดก็คืออ่าวไทยตอนบนซึ่งมีระยะทางตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง 120 กิโลเมตร เราเจอปัญหาการกัดเซาะหนักๆ ประมาณ 82 กิโลเมตร เฉลี่ย 68% บางที่หายไป 1 กิโลเมตร อย่าง ขุนสมุทรจีนและคลองด่าน หรือบางขุนเทียน อ่าวไทยตอนบน 30 ปีที่ผ่านมาพื้นดินหายไป 18,000 ไร่ แล้วถ้าใช้แบบจำลองจากการคำนวณจะพบว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เฉพาะสมุทรปราการอย่างเดียวจะสูญเสียพื้นที่ราว 37,000 ไร่ ถ้านับอ่าวไทยทั้งหมดจะเสียไปประมาณ 47,000 ไร่ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย"


ไม่ทนก็ถอย

ใครบางคนเปรียบเปรยว่า หลากหลายอุปสรรคที่เดินผ่านมาในชีวิตเสมือนบททดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า ที่ต้องยอมรับและรู้จักฟันฝ่า แต่คงไม่ใช่สำหรับชาวบ้านสีล้งที่นับวันต้องเฝ้ามองทะเลด้วยใจประหวั่นรอวันที่ท้องทะเลจะ 'เอาคืน'

"ไม่เล่าไปล่ะผู้ใหญ่ เรื่องมีคนมาร้องเรียนเรื่องตุ่มแตกน่ะ" สะอิ้งเย้าผู้ใหญ่ไกรสรอย่างอารมณ์ดีถึงบรรยากาศก่อนเก่าที่ตัวเขานึกทีไรแล้วอดขำไม่ได้ทุกที

ผู้ใหญ่ไกรสรจึงเล่าว่า "สมัยก่อนคนที่อยู่แถวนี้ต้องมีตุ่มน้ำไว้ใช้ พอคลื่นมา แผ่นดินทรุด แล้วตุ่มจะแตกด้วยคลื่น ชาวบ้านมาร้องทุกข์กันระงมเลย สมัยไหนไฟฟ้ายังไม่เข้า น้ำบาดาลไม่มี ทุลักทุเลกันน่าดู"

เสียงตุ่มแตกเป็นสัญาญาณเตือนว่าในไม่ช้าน้ำจะมาถึง เจ้าของบ้านถ้าไม่ย้ายก็จมทะเล

"ที่หนีก็เยอะ ที่สู้ก็แยะ แต่สุดท้ายสู้ไม่ไหวก็ต้องย้าย" สะอิ้งช่วยเสริม ก่อนหน้านั้นก็มีหลายบ้านที่ลุกขึ้นต่อสู้ โดยส่วนใหญ่จะนำไม้โกงกางและไม้ไผ่มาปักเป็นแนวกันคลื่น อีกทางหนึ่งก็คอยมองหาที่ทางเอาไว้เป็นแผนสอง ถอยร่นมาเรื่อยๆ ก่อนจะมาถึงเขาเป็นบ้านหลังสุดท้าย

"น้ำจะมาช่วงหัวค่ำ โดยเฉพาะหน้ามรสุมคลื่นสูงเกือบเท่าหลังคาเลย ทำไปก็ซ่อมกันไป เวลาคลื่นมาสูงๆ ก็ซัดแนวไม้สั่นโครมๆ เราก็ใจเสียเลย ก็ได้แต่ภาวนาแล้วตอนนั้น ก็ขนไม้ไผ่จากที่เขาเหลือมาบ้าง ที่เขาแซะหอยทิ้งแล้วไม่ใช้แล้วมาบ้าง ขนมาเป็นวันๆ ทำไปเรื่อยๆ เป็นงานส่วนตัวของเรา เราก็ทำงบส่วนตัว ก็พอช่วยประทังได้ แต่ไม่ยั่งยืนหรอก เพราะมันเคยพังต่อหน้าต่อตามาแล้ว"

เขายอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากย้ายจากบ้านเกิดตัวเอง ก่อนนั้นมีบ้านบังอยู่หลายหลัง อีกทั้งต้นไม้ยังเยอะให้พออุ่นใจ แต่ก็คิดอยู่ตลอดว่าสักวันหนึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องย้ายตามเหมือนกัน

"เมื่อก่อนมันไม่เป็นแบบนี้หรอก ตั้งแต่มีท่าเรือแหลมฉบังนั่นแหละ น้ำก็เริ่มเซาะเข้ามา" นิพัฒน์ ศรีงาม ลูกบ้านหมู่ 12 อีกคนออกความเห็น ชาวบ้านหลายคนมองว่าการวางสิ่งก่อสร้างลงไปในทะเลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เหมือนการถางป่าเพื่อทำนากุ้งของชาวบ้านก็ยิ่งเป็นตัวที่ทำให้น้ำทะเลรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว

"มันไม่เกี่ยว" รศ.ดร.ธนวัฒน์ปฏิเสธ เขามองว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการกัดเซาะที่หนักที่สุดคือ ตะกอนจากต้นน้ำที่ไหลลงสู่ชายฝั่ง ซึ่งหลังจากมีการสร้างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ตะกอนมีปริมาณลดลงถึง 70%

"ปัจจัยต่อมา เมื่อก่อนเป็นป่าชายเลนแล้วพัฒนาเป็นบ่อกุ้ง เมื่อปี 2524 ปัจจัยอีกอย่างก็คือ แผ่นดินทรุด ซึ่งอัตราแผ่นดินทรุดแถวคลองด่านอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตร มันมากกว่าการขึ้นของระดับน้ำทะเลมหาศาล ระดับน้ำทะเลช่วงที่ขึ้นมากที่สุดเมื่อ 8,000 ปีก่อน อยู่ที่ 20-26 มิลลิเมตร แต่ตอนนี้การทรุดอย่างเดียว 3-5 เซนติเมตร มันเท่าตัว มันจึงไม่แปลกที่จะทำให้เกิดการกัดเซาะที่คลองด่านมาก แล้วในอนาคตที่นี่จะมีการกัดเซาะมากที่สุดในประเทศ ตรงจุดคลองด่านเลย จะหายไป 1.3 กิโลเมตร เพราะแผ่นดินทรุด ตรงนั้นจะใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมแถบบางปู บางพลี บางบ่อที่ดูดน้ำบาดาลขึ้นมา"

เขาแสดงความเห็นต่อไปว่า ทุกปีน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว อัตราการขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะอยู่ราว 30-60 เซนติเมตร ภายใน 100 ปี น้ำจะขึ้น 1 เซนติเมตรต่อปีซึ่งสูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกร้อน โดยมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้าอุณหภูมิของโลกเฉลี่ยจะสูงขึ้น 2-4 องศาฯ น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตรด้วย

"อย่าไปโทษแก๊สโซฮอล์ โลกร้อนก็คือแก๊สโซฮอล์ มีอะไรก็โทษโลกร้อน" มุมมองอีกฝั่งจาก สุรพล กฤษณามระ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ยืนยันว่าโลกร้อนไม่ใช่เหตุผลหลักมากไปกว่าระบบนิเวศเก่าป่าชายเลนหายไป ตะกอนที่เคยไหลลงมาชดเชยการกัดเซาะลดลงจากการสร้างเขื่อน และคลื่นลมที่รุนแรงขึ้น

"นับจากปี 2538 คลื่นลมรุนแรงขึ้น เปลี่ยนทาง สูงขึ้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจากน้ำเป็นปัจจัยหลัก มาเป็นคลื่นเป็นปัจจัยหลักแทน อ่าวไทยน้ำขึ้น 2 หนต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการซ้ำเติม แผ่นดินทรุดยังไม่เกี่ยวเท่าไร ยังไม่พูดถึงเพราะมันเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง"

ดร.ธนวัฒน์ ให้เหตุผลว่า "ถ้าน้ำทะเลไม่ขึ้นผมถามว่าทำไมกัดเซาะขนาดนี้ ไม่ใช่เฉพาะอ่าวไทยตอนบนนะ ทั้งประเทศนับวันก็จะเยอะขึ้น" เขาคิดว่าโลกร้อนน่าจะเกี่ยวเพราะมีการวิเคราะห์จากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หน้าหนาว กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หน้าฝน พบว่าลมทั้งสองตัวในช่วง 10 ปีหลังกำลังแรงขึ้น ทิศทางก็เปลี่ยน

"ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายกุมภาพันธ์ เมื่อ 20 ปีก่อน เฉลี่ย 8 นอต แต่ปัจจุบันขึ้น 13 นอต ทำให้ปลายปีที่แล้วคลื่นสูง 2-4 เมตร จากเดิม 80 เซนติเมตร-1 เมตร ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงขึ้น ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อก่อนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2-3 เมตรในอันดามัน ปัจจุบัน 3-5 เมตร อย่างหาดไม้ขาวที่เราได้ข่าวเมื่อ 2 เดือนก่อน 6 เมตร ในขณะที่อินโดนีเซีย 8-10 เมตร ไม่ใช่สึนามินะ ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าภาวะโลกร้อนทำให้ทิศทางของมรสุมมีกำลังแรงขึ้น"

การศึกษาการกัดเซาะที่ปากพนังของหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่พบว่า แนวโน้มตอนนี้กระแสน้ำในอ่าวไทยกำลังมีการไหลกลับทิศ ฝั่งอ่าวไทยจากที่เคยมีทิศทางจากมาเลเซียขึ้นมาตามเข็มนาฬิกา ช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ กระแสน้ำกำลังไหลทวนเข็มนาฬิกา คล้ายกับเมื่อ 6,000 ปีก่อน ที่น้ำท่วมขึ้นไปถึงอยุธยา

"ความจริงก็คือ ตอนนี้เราก็ยังอยู่ในภาวะโลกร้อนปัจจุบันอยู่ซึ่งกำลังจะลง แต่เรามีการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้แทนที่จะลงมันขึ้นพรวดจนในอนาคตเรากำลังจะเจอภาวะโลกร้อนสุดขั้ว และจะสูงกว่าขั้นใดๆ จะส่งผลกระทบจากเดิมที่เคยศึกษาไว้ 200-300 ปี เป็น 500-600 ปี" ดร.ธนวัฒน์ พูดถึงผลการศึกษาดังกล่าว


จุดหมายคือสลายพลังและยั่งยืน

ช่วงแดดร่มลมตกบรรยากาศริมทะเลมักเป็นที่ชุมนุมผู้คนหลังเลิกงาน ดื่มกิน ร้องเล่นเต้นรำตามจังหวะและโอกาสของใครจะอำนวย ยิ่งวันหยุดสุดสัปดาห์นักท่องเที่ยวแปลกหน้าก็แวะเวียนมาเยอะขึ้น ด้วยทัศนียภาพรอบด้าน ข้างก็ป่า หน้าก็ทะเล ที่มีเรือหาปลาและนกนางนวลเป็นรีวิวประกอบก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่ไกรสรวางแผนพัฒนาบริเวณเขื่อนหินทิ้งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต แต่ต้องสร้างให้เสร็จเสียก่อน

"กะจะสร้างให้สุดหมู่บ้านก่อนแล้วค่อยสร้างสะพานชมนกต่อออกไปจากบริเวณศาลานี้" เขาพูดถึงอนาคต

กว่าจะมาถึงวันนี้ชาวบ้านต้องลองผิดลองถูกมาพอสมควรก่อนจะมาตกลงปลงใจกับเขื่อนหินทิ้ง

"มันไม่ใช่แบบนี้" สะอิ้งชี้ให้ดูคลื่นลมในวันที่อากาศดี ในสายตานักท่องเที่ยวอีกคืบก็ทะเลเป็นบรรยากาศบ้านในฝันของใครต่อใคร

"เวลาน้ำเกิด คลื่นก็สูง ลมก็แรง น้ำจะขาวรอบบ้านไปหมดเลย สูงเมตรกว่าๆ น้ำก็ท่วมสะพาน ท่วมถนน"

ทางออกแรกๆ ที่ชาวบ้านได้รับจากภาครัฐในการแก้ปัญหาคือเขื่อนทรายที่กรมเจ้าท่าสร้างมากันน้ำ แต่ให้หลังไม่นานเขื่อนทรายก็จมน้ำหายไป สุรพล ยอมรับว่าเขื่อนทรายเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด "ทางกรมเจ้าท่าเดิมก็มีการปรึกษาหารือแล้วเหมือนกัน แต่ลักษณะสำคัญของอ่าวไทยตอนใน ข้างล่างจะเป็นดินเหนียวแผ่เป็นผืนกว้าง 110-120 กิโลเมตร ลึก 15-20 เมตร พื้นดินของอ่าวไทยมีความอ่อนมากๆ ไม่สามารถทำให้เอาอะไรหนักๆ ลงไปได้ ทางออกนี้จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร"

ความล้มเหลวดังกล่าวทำให้ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมหาทางแก้ไขจากหลายหนทางจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาซึ่งแต่ละคนต่างก็มีวิธีการและทัศนคติของตนเอง อีกทั้งยังมีความติดขัดบางอย่างในระบบการทำงาน จึงยังไม่มีการร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นทางสำนักฯ เองก็ได้สร้างรูปแบบแนวป้องกันสลายพลังคลื่นโดยใช้ไม้ไผ่

"มาจากวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทท่านหนึ่ง ซึ่งได้ผล ทำให้ดินเลนหนาขึ้นมา 30 เซนติเมตร แต่มันเป็นสเกลเล็ก ที่ทดลองปีนี้เป็นปีแรก เราพยายามแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เป็นดินเลน เราจะต้องสกัดคลื่นซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นแล้วทุกอย่างจะเยียวยาของมันเอง จึงต้องสลายพลังคลื่นในฤดูมรสุมให้ทลายชายฝั่งน้อยที่สุด" เขาเล่า

แต่สายตาของชาวบ้านสีล้งมองกลับกัน พวกเขาต่างยืนยันว่าแนวกันคลื่นอย่างไม้ไผ่มีอายุไม่ถึงปีเสียด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดจึงต้องหันมาใช้วิธีการสร้างเขื่อนหินทิ้งที่ได้งบประมาณมาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

"คิดว่าอยู่ได้สบาย แต่มันเหมือนถนนนั่นแหละ 3-4 ปีก็ต้องคอยบูรณะซ่อมแซม" ผู้ใหญ่ไกรสร ออกความเห็น

ในขณะที่ ดร.ธนวัฒน์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ชาวบ้านพยายามจะทำก็เป็นวิถีทางของเขา แต่เทคนิคที่ป้องกันการกัดเซาะในโลก ก็ยังไม่มีที่ไหนประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้เขากำลังทดลองการใช้เขื่อนสลายพลังคลื่นซึ่งเห็นผลมาแล้วที่ขุนสมุทรจีน

"มันต้องเข้าใจคนที่จะแก้ไขปัญหาได้ต้องลงลึกจนเข้าใจธรรมชาติก่อนแล้วค่อยมาดูที่ตัวดีไซน์ เขื่อนของเราที่ขุนสมุทรจีนนอกจากป้องกันการกัดเซาะได้ มันยังทำให้แผ่นดินงอก เป้าหมายคือลดแรงคลื่น รูปแบบของเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่เกิดขึ้น พัฒนากลายเป็นเขื่อนเขียวที่จะช่วยป้องกันระดับน้ำทะเลขึ้นในอนาคต เป็นองค์ความรู้ของนักวิชาการไทย ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการขึ้นของระดับน้ำทะเล ให้ชาวบ้านเรียนรู้เรื่องปลูกป่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะเป็นคนเริ่ม และเขาจะเป็นคนดูแล ตอนนี้กำลังเก็บข้อมูลกันอยู่" เขาเปิดเผยถึงแผนงานในอนาคต

ดร.ธนวัฒน์ ยังบอกอีกว่า การแก้ปัญหาชายฝั่งในอดีตไม่ได้เป็นไปแบบองค์รวม แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวตามมา เหมือนกับปลายทางในความคิดของสุรพล ที่รัฐกำลังพยายามสร้างองค์ความรู้ให้ชาวบ้านเป็นผู้บริหารจัดการการป้องกันอย่างยั่งยืน

สำคัญที่สุดคือความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจัง รวมทั้งความเข้าใจในปัญหา เพราะการรับมือกับภัยธรรมชาติไม่สามารถทำได้ด้วยมนุษย์ไม่กี่คน

 
 
จาก         :        กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 30 สิงหาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #34 เมื่อ: สิงหาคม 31, 2007, 12:01:31 AM »


ตื่น! น้ำทะเลกัดเซาะฝั่งกระบี่กว้าง 3 ม.ยาวกว่า 10 กม.


สภาพพื้นที่ริมชายฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน

กระบี่ - ชาวบ้านริมหาดคลองประสงค์ อ.เมืองกระบี่ ตื่น! น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งกินพื้นที่กว้างกว่า 3 เมตร แนวยาวกว่า 10 กิโลเมตร คาดเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน จนทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้ว่าฯ เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง ยันเกิดจากภัยธรรมชาติ ส่วนจะเกี่ยวกับโลกร้อนหรือไม่ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามตรการแก้ไขด่วน
       
       วันนี้ (30 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ อนันตพงศ์ นายอำเภอเมืองกระบี่ และนายกิตติ พรหมภัทร นายกอบต.คลองประสงค์ เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่หมู่ 1, 2 และหมู่ 3 ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่
       
       ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า พื้นที่ดิน และหาดทราย บริเวณริมชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะเข้าไป กินพื้นที่ประมาณ 2-3 เมตร เป็นแนวยาวระยะทางร่วม 10 กิโลเมตร สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะปริมาณน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นจนถึงบ้านเรือนประชาชน
       
       เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น และได้กัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณรอบๆ เกาะดังกล่าว โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งได้ช่วงสร้างเขื่อนกันคลื่นไม่ให้กัดเซาะพื้นดินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
       
       ทั้งนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ กล่าวว่า ระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่า น้ำทะเลได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสังเกตจากจุดที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดปัจจุบันนี้ ห่างจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 10 เมตร จากสภาพที่เห็นคิดว่า ชาวบ้านได้สร้างบ้านอยู่ในทะเล
       
       ทั้งที่ความเป็นจริงที่ผ่านมา ชาวบ้านได้สร้างบ้านเรือนอยู่บนฝั่งห่างจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุดประมาณ 5-10 เมตร ขอให้หน่วยงานทางราชการมาทำการตรวจสอบ และหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนด้วย


นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผจว.กระบี่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการป้องกัน และแก้ไข
       
       ด้าน นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นคาดว่า น่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น ต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ลงมาตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง โดยได้แนะนำให้ อบต.คลองประสงค์ นำโครงการเดิมเกี่ยวกับการป้องกันน้ำเซาะริมชายฝั่งมาดู
       
       ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสั่งให้ทำรายงานแผนผังเกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านทรัพยากรชายฝั่งมาช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ อย่าได้ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เนื่องจากเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งภายหลังจากได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบลงพื้นที่ตรวจสอบในทันที และเร่งหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้



จาก         :        ผู้จัดการออนไลน์   วันที่ 31 สิงหาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #35 เมื่อ: กันยายน 04, 2007, 11:44:44 PM »


เขื่อนกั้นคลื่นต้นเหตุ "เม็ดทราย-ชายฝั่ง"ที่หายไป


"หาดทรายอยู่ปาโน้น ตอนนี้มันยับมาอยู่ปานี้แล้ว เห็นธงเขียวโน่นมั้ย เนี่ยดินมันหายไป

ช่าดแล้ว หาไม่ที่จอดเรือ ตรงนี้ถ้าหน้ามรสุมคลื่นซัดไปไกล"

มีชัย สมัน ผู้เฒ่าทะเลแห่งบ้านนายทุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช บอกด้วยสำเนียงคนคอนของแท้ พร้อมชี้ชวนให้เห็นร่องรอยของแนวหาดทรายเดิม ที่อยู่ห่างไกลลิบๆ ออกไปราว 1 กิโลเมตร แต่บัดนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยทะเล

แกบอกว่า ทะเลกลืนแผ่นดินหายไปเมื่อ 30 ปีก่อน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้คลื่นลมก็แรงจัดจนบางฤดูพัดเข้ามาถึงบ้านเรือนของชาวประมงกว่า 30 ครอบครัวทำให้บ้านช่องเสียหาย ส่วนเรือประมงก็ต้องถอยร่นตามทะเลเข้ามาประชิดฝั่งเรื่อยๆ เพราะหน้าหาดที่เคยยาวออกไปราว 300 เมตรและชาวประมงเคยใช้ประโยชน์มาหลายช่วงอายุ ตอนนี้เหลือเพียงรอยแหว่งเว้าตามแรงปะทะของคลื่น

กระนั้นชาวประมงที่บ้านนายทุ้ง ก็ยังพออาศัยเป็นที่จอดเรือซ่อมแซมเรือ แต่อนาคตไม่แน่ใจว่า ที่จอดเรือของแกจะต้องย้ายหนีแรงคลื่นไปทางไหนได้ถัดออกไปไม่ไกลนัก รอดักทรายขนาดย่อมนอนสงบนิ่ง ทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันน้ำทะเลในจุดจอดเรือของชาวประมงบริเวณนี้

หากพิจารณาแบบคนทั่วไป โครงสร้างวิศวกรรมเหล่านี้อาจเป็นสิ่งวิเศษ เพราะมันช่วยลดผลกระทบของแรงลม แรงคลื่นให้กับหน้าบ้านของพวกเขาได้เป็นอย่างดี แต่ที่บ้านสระบัว หมู่ 7 อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขื่อนกันคลื่นปาก คลองท่าศาลา ห่างออกไปราว 3 - 4 กิโลเมตร ในอดีต “หาดสระบัว” เคยเป็นหาดทรายสีขาว และคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยววัยเด็กและผู้ใหญ่ ที่มาอาศัยเล่นน้ำทะเล และเช่าห่วงยางจากร้านค้าขายอาหารตลอดริมหาด แต่ในระยะ 3 - 5 ปีมานี้ หาดสระบัว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หาดทรายสีขาว บัดนี้ถูกแทนที่ด้วยหาดเลนสีดำ ไกลสุดลูกหูลูกตา บางจุดเริ่มมีหญ้าขึ้นรกครึ้ม จนแทบไม่เหลือเค้า สถานที่พักผ่อนชายทะเลแม้แต่น้อย

“เชื่อมั้ยครับว่าสมัย 30 ปีที่แล้ว ผมยังจำได้ว่าชายหาดสระบัว อยู่ตรงจุดที่เรายืนกันอยู่นี่ เรียกว่าแถวนี้ยังเป็นทะเลอยู่ทั้งหมดเลยนะ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเขาจะมาพักผ่อนกันเป็นครอบครัว พาลูกๆ มาเล่นน้ำ เช่าห่วงยาง เหมือนหาดพัทยา เพราะมีหาดทรายสีขาว และอยู่ไม่ไกลจากเมืองนครศรีธรรมราช มากนัก แต่หลังจากนั้นสัก 20 ปีที่แล้ว ทะเลก็ร่นออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นแผ่นดิน หาดก็ร่นออกไป แต่อยู่มาสัก 5 ปีก็เริ่มเป็นทะเลเลน และเริ่มหนักขึ้นเมื่อช่วง 2 - 3 ปีมานี้ ผมยังคิดไม่ออกนะว่าทำไมทะเล ถึงหายไปเร็วแบบนี้”

จำนง ศรีวิรักษ์ ผู้ประกอบการร้านอาหารน้องเล็ก บริเวณหาดสระบัว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ย้อนความทรงจำวัยเด็ก พร้อมว่า หลายปีก่อนแถวนี้ยังมีผู้ประกอบการขายอาหาร และกิจการเช่าห่วงยางร่วม 20 ราย แต่ตอนนี้เหลือแค่ 8 รายเท่านั้น เนื่องจากหาดสระบัว ที่สวยงามในอดีต บัดนี้แทบไม่มีหาดทรายให้ลงไปเดินเล่นได้ มองไปมีแต่หาดเลน ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงไป และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับมาอาศัยนั่งกินอาหาร แต่บางวันก็ไม่มีลูกค้าแม้แต่รายเดียว เพราะไม่มีวิวทะเลให้ดูอีกแล้ว

“ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนักจากหาดทรายที่หายไป เหลือแต่หาดโคลน ซึ่งแม้จะมี การปรับรูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวริมชายหาดไปเป็นร้านอาหารแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดไป อีกแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวน 200 รายเคยยื่นหนังสือไปที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอให้มาช่วยเหลือและแก้ปัญหา” จำนงค์ สะท้อนปัญหา

ไม่เพียงแต่บริเวณ “หาดสระบัว” เท่านั้น ที่กลายสภาพจากหาดทราย เป็นหาดเลนมาหลายปีแล้ว แต่จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าชายฝั่งทะเลตลอดท้องที่ อ.ท่าศาลา อ.สิชล กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถึงขั้นการสูญเสียระบบนิเวศน์หาดทราย เป็นหาดเลน จนเริ่มกระทบกับการท่องเที่ยว และการประกอบกิจการประมงพื้นบ้านแล้ว

นายปริทัศน์ เจริญสิทธิ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายปรากฏการณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมาจากโครงสร้างชายฝั่งที่ถูกสร้างตลอดชายทะเล 4 จังหวัดภาคใต้ ไล่ขึ้นมาจาก นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่มีการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่น และเขื่อนกันทรายจำนวนมาก และเป็นสาเหตุให้การกัดเซาะในเขตภาคใต้ตอนล่างมีระดับความรุนแรงมาก พบว่าบางพื้นที่มีความลึก 100 - 200 เมตร

“กรณีหาดเลนที่เกิดขึ้นใน อ.ท่าศาลา ถือเป็นความชัดเจนจากผลกระทบของเขื่อนกั้นคลื่นและเขื่อนกั้นทรายบริเวณปากคลองท่าศาลาโดยตรง หลังจากมันถูกสร้างขึ้นเมือราว 10 ปีก่อน ประกอบบริเวณนี้ เป็นรอยต่อที่กระแสน้ำจากแหลมตะลุมพุกที่จะวนกลับมาทางด้านใต้ และมีเขื่อนกั้นคลื่นเอาไว้ทั้งทรายและตะกอนปากแม่น้ำ ไม่สามารถพัดมาสร้างสมดุลได้ มีแต่เลนไหลออกมาสะสมจนกลายสภาพ เป็นหาดเลนถาวร ซึ่งพบแนวโน้มว่าปากแม่น้ำตาปี และแถวอ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี กำลังมีสภาพไม่แตกต่างจากพื้นที่ของท่าศาลาเช่นกัน” ปริทัศน์ ระบุ

นอกจากนี้ ปริทัศน์ ยังบอกชัดเจนว่า สามารถสรุปได้ว่าโครงสร้างที่ยื่นออกสู่ทะเล เป็นตัวการที่ทำให้การเคลื่อนที่ของเม็ดทรายที่เคยพัดพาตามธรรมชาติ ตามกระแสน้ำเรียบชายฝั่ง ถูกกัก เอาไว้เหนือเขื่อน กระทั่งอีกด้านหนึ่งของเขื่อนไม่มีทรายไปหล่อเลี้ยงทำให้เกิดการเสียสมดุล และเป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้น หากขยายลุกลามไปเรื่อยๆ ตามการก่อสร้างที่ไม่มีที่สิ้นสุด



จาก     :      กรุงเทพธุรกิจ วันที่  3 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #36 เมื่อ: กันยายน 11, 2007, 12:46:10 AM »


พื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทยวิกฤติหนัก

 นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยว่า ชายฝั่งทะเลไทยมีความยาวประมาณ 2,614 กม. แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีความยาว 1,660 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีความยาว 954 กม. ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัดมีประชากรอาศัยในพื้นที่ชายฝั่งไทยกว่า 12 ล้านคน   
 
ทั้งนี้พบว่าปัญหาการกัดเซาะในชายฝั่งด้านอ่าวไทย มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงมากกว่า 5 เมตรต่อปี ในพื้นที่ 12 จังหวัด ระยะทางรวม 180.09 กม. หรือประมาณร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีแม่น้ำท่าจีนจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด ส่วนชายฝั่งทะเลด้านอันดามันการกัดเซาะมีความรุนแรงมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัดคือภูเก็ต ระนอง กระบี่ ตรังและสตูล ระยะทางรวม 23 กม. หรือร้อยละ 9.5 ของแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน
 
นางนิศากร กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาร่วมกันหลายฝ่าย ทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของพื้นที่การศึกษาและทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเกิดความสับสนเกี่ยวกับข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เนื่องจากความแตกต่างของวิธีคิดที่ใช้ในการศึกษาและเทคนิคในหลายกรณีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างวิศวกรรมยังก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วยดังนั้นจึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกัน
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทช.ร่วมกับหน่วยงานด้านทรัพยากรทางทะเลกำลังแก้ปัญหาการกัดเซาะในเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนในรูปตัว ก ทั้ง 5 จังหวัด มีพื้นที่นำร่องที่บ้านขุนสมุทรจีน ส่วนภาคใต้ตั้งแต่บริเวณ อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.หัวไทร และแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช กำลังอยู่ระหว่างประเมินรูปแบบการแก้ไขปัญหาและออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม.

 

จาก     :      เดลินิวส์   วันที่  11 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #37 เมื่อ: กันยายน 11, 2007, 02:36:00 AM »

หายไปปีละ  5 เมตร.....

ขวานทองของไทยค่อยๆแหว่งไปทุกทีๆ......รู้สึกห่วงใยกันบ้างไหมคะ.....

อย่ามัวนิ่งนอนใจกันอยู่เลย......เร่งด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือทั้งภาครัฐและราษฎร์   ถ้าไม่สามารถจะทวงคืนแผ่นดินที่หายไปแล้วได้  อย่างน้อยๆก็มาช่วยกันตรึงแผ่นดินที่มีอยู่ไม่ให้หายไปมากกว่านี้ ดีกว่าอยู่เฉยๆนะคะ....
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #38 เมื่อ: กันยายน 19, 2007, 01:08:49 AM »


ชายฝั่ง17 จังหวัด วิกฤติหนัก    

นายอนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผอ.สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เผยว่า การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดพบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยระยะทาง 1,660 กม. มีพื้นที่วิกฤติ ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี 12 จังหวัด ขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ระยะทาง 954 กม. มีพื้นที่วิกฤติ 5 จังหวัด คิดเป็นระยะทางรวม 2 ฝั่ง 90.5 กม. จึงต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

สำหรับสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ และจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้วย เช่น การสร้างเขื่อนกันทรายตามปากแม่น้ำและปากคลองที่ไหลออกสู่ทะเล และการสร้างเขื่อนกันคลื่นตามแนวชายหาดโดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช-นราธิวาส มีมากกว่า 600 เขื่อน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมาก

ด้าน นายสุรพล กฤษณามะระ ผอ.ส่วนจัดการที่ดินชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบใน "ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" ที่กรมฯและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการป้องกันแก้ไข 5 ประการ คือ 1.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชายฝั่งเพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินใจวางแผนและดำเนินงาน 2.การมีส่วนร่วมในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 3.การจัดทำแผนแม่บทและแผนยุทะศาสตร์การจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ 4.การป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่ง และ5.การพัฒนาระบบตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่ายุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน



จาก     :      แนวหน้า   วันที่  19 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #39 เมื่อ: กันยายน 25, 2007, 12:28:35 AM »


ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง วิกฤติที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
 

 
 ปัจจุบันปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่า ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ระยะทาง 1,660 กม. มีพื้นที่วิกฤติซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 12 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 180.9 กม. อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ จันทบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และมีพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 1-5 เมตร/ปี 14 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 305.1 กม. ขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ระยะทาง 954 กม. มีพื้นที่วิกฤติซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 5 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 23 กม. และยังพบว่าทุกจังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วย เป็นระยะทางรวม 90.5 กม. ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง  ดังนั้น จึงต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
 
นายอนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าว ถึงสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งว่าส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ รวมทั้งขาดปริมาณตะกอนสะสมตามแนวชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังเกิดจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้วย เช่น การสร้างเขื่อนกันทรายตามปากแม่น้ำและปากคลองที่ไหลออกสู่ทะเล และการสร้างเขื่อนกันคลื่นตามแนวชายหาดโดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช-นราธิวาส มีมากถึง 25 จุด รวมกว่า 600 เขื่อน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมาก


 
ทางด้าน นายสุรพล กฤษณามระ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบใน    “ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมนำเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาต่อไป
 
สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาไว้ 5 ประการคือ
 
1. เร่งพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชายฝั่ง โดยจะศึกษา สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมจัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ของชุมชนในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่ง และจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานและทันสมัย สามารถแสดงผลการประมวลข้อมูลสถานการณ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศ เพื่อใช้ในการจัดการโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะ
 
2. การมีส่วนร่วมในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องด้วย

3. การจัดทำแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจวางแผน ให้เข้าใจในทุกประเด็นปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่อง พร้อมจัดทำแผนบูรณาการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ และการจัดการพื้นที่วิกฤติและพื้นที่เร่งด่วนที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
 
4. การป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่ง โดยได้กำหนดและจำแนกเขตพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกมาตรการจัดการป้องกัน แก้ไข หรือฟื้นฟูพื้นที่แต่ละแห่งตามความเหมาะสม อีกทั้งยังจัดทำแผนการจัดการและแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงแก้ไขและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะให้กลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ตามศักยภาพ
 
5. การพัฒนาระบบกำกับ ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานด้านการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมุ่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่และเกี่ยวข้องให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน และกำหนดมาตรการเชิงรุกในการติดตาม และตรวจสอบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล ตลอดจนจัดทำระบบประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับพื้นที่


 
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถือเป็นวิกฤติของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันค้นหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อรักษาและปกป้องผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้ลูกหลานต่อไป.



จาก     :      เดลินิวส์   วันที่  25 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #40 เมื่อ: กันยายน 29, 2007, 01:18:17 AM »


"ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น" ของ อ.เมืองสมุทรสาคร คว้ารางวัลดีเด่นยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550

 
"ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น" หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร คว้ารางวัลดีเด่นยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550 เพราะถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการฟื้นฟูนิเวศริมฝั่งควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

นายชาญวิทย์ วสยางร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาครได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการกิจกรรมดีเด่น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ระดับจังหวัดประจำปี 2550 ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการคัดเลือกโครงการ/กิจกรรมดีเด่น เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อจังหวัดและชุมชน
จากการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ปรากฏว่า โครงการ "ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น" หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้รับการคัดเลือกเป็นโครงการ/กิจกรรมดีเด่น เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีความชัดเจนที่จะสร้างพื้นที่ป่าใหม่ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ป่าเดิมเพื่อสร้างแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ โดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น สามารถช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและลดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล จึงนับว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมกับรางวัลโครงการ/กิจกรรมดีเด่น ภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550 ของจังหวัดสมุทรสาคร



จาก               :             สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์    วันที่  28 กันยายน  2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #41 เมื่อ: กันยายน 29, 2007, 02:35:47 PM »

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้กู้วิกฤตการณ์ที่ต้องเผชิญกันตามลำพังนั้น เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจจริงๆเลยค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ด้วยค่ะ.....
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #42 เมื่อ: ตุลาคม 05, 2007, 12:27:51 AM »


ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง วิกฤติเร่งด่วน-ต้องแก้ไข

ปัจจุบันปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)พบว่า ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ระยะทาง 1,660 กม. มีพื้นที่วิกฤติซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 12 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 180.9 กม. อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ จันทบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และมีพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 1-5 เมตร/ปี 14 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 305.1 กม. ขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ระยะทาง 954 กม. มีพื้นที่วิกฤติซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 5 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 23 กม. และยังพบว่าทุกจังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วย เป็นระยะทางรวม 90.5 กม. ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง ดังนั้น จึงต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายอนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวถึงสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งว่าส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ รวมทั้งขาดปริมาณตะกอนสะสมตามแนวชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังเกิดจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้วย เช่น การสร้างเขื่อนกันทรายตามปากแม่น้ำและปากคลองที่ไหลออกสู่ทะเล และการสร้างเขื่อนกันคลื่นตามแนวชายหาดโดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช-นราธิวาส มีมากถึง 25 จุด รวมกว่า 600 เขื่อน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมาก

นายสุรพล กฤษณามะระ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ว่า ขณะนี้คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบใน "ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาไว้ 5 ประการ คือ

1.เร่งพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชายฝั่ง โดยจะศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวสภาพพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน

2.การมีส่วนร่วมในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล

3.การจัดทำแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจวางแผน ให้เข้าใจในทุกประเด็นปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่อง

4.การป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่ง โดยได้กำหนดและจำแนกเขตพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกมาตรการจัดการป้องกัน แก้ไข หรือฟื้นฟูพื้นที่แต่ละแห่งตามความเหมาะสม

5.การพัฒนาระบบกำกับ ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานด้านการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมุ่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่และเกี่ยวข้องให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถือเป็นวิกฤติของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน ใช้ปัญญาค้นหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อรักษาและปกป้องผืนแผนดินไทยเอาไว้ให้ลูกหลายไทยอย่ามัวแต่นั่งโทษ "ภาวะโลกร้อน" กันอยู่เลย



จาก               :             แนวหน้า    วันที่  5 กันยายน  2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #43 เมื่อ: ตุลาคม 18, 2007, 12:48:49 AM »


ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย 


กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลรักษาพื้นที่ชายฝั่งของประเทศ กิจกรรมท่าเรือ การรวมทั้งการดูแลรักษาร่องน้ำตามแนวชายฝั่งให้เรือสามารถเข้า-ออกตลอดเวลา โดยกรมฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือและการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ชุมชนในท้องถิ่นการพัฒนามีสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งทางด้านการประมงและการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น

(1) การพัฒนาการท่องเที่ยวและการประมง

ปากน้ำระยองในอดีตมักประสบปัญหาเรือประมงไม่สามารถเข้าออกปากน้ำระยองได้ เนื่องจากถูกปิดด้วยตะกอนจากคลื่นลม ต่อมากรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากแม่น้ำระยอง ทำให้เรือประมงสามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา สร้างรายได้มหาศาลให้กับชาวประมง นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นที่บ้านเพ จ. ระยอง เพื่อกำบังคลื่นลม ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเกาะเสม็ดได้สะดวกและปลอดภัย สามารถเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นและชายประมงตลอดจนใช้เป็นที่จอดหลบคลื่นลมในฤดูมรสุม

(2) การพัฒนาท่าเรือประมงและท่าเรือน้ำลึก

ในอดีตเรือประมงบริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลาไม่สามารถเข้าออกได้สะดวกมักประสบปัญหาตะกอนในร่องน้ำมาตกตะกอนปากแม่น้ำ ทำให้เกิดการตื้นเขินอยู่เสมอ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เรือประมงเข้าออกได้สะดวก กิจกรรมการประมงก็เฟื่องฟูขึ้น และทำให้ความเจริญของสงขลาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็เริ่มขึ้น ต่อมาก็ได้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นท่าเรือน้ำลึก ขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของภาคใต้ ไปยังภูมิภาคประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบัน

(3) การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นโคลนตม บริเวณอ่าวไทยตอนบน

กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ จ.สมุทรปรากการ โดยใช้ถุงทราย (Geo-tube)  82 ถุง ยาว 200 เมตร ห่างกัน 50 เมตร ป้องกันชายฝั่ง 20 กม. ต่อมาได้แก้ไขปัญหาวิธีเดียวกันนี้ที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร ตำบลกาหลง ตำบลบางกระเจ้าและตำบลพันท้ายสิงห์ ระยะทาง 9 กม.

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดแสงจันทร์นิคมมาบตาพุด ถึงปากน้ำระยอง ระยะทางทั้งหมด 10 กม.



จาก                :              มติชนออนไลน์   โดย ศ.ดร.สุภัทท์ วงศ์วิเศษสมใจ    วันที่ 17 ตุลาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #44 เมื่อ: ตุลาคม 18, 2007, 01:16:31 AM »


ฐานทัพเรือพังงาสร้างแนวกันคลื่น  หวั่นภาวะโลกร้อนทำลายชายหาด

          พังงา/ พล.ร.ต.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผบช.ฐานทัพเรือพังงา กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่า 1 เมตร เมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำกับ 10 ปีที่ผ่านมา และภาวะโลกร้อนทำให้เกิดภัยธรรมชาติ อย่างเช่น พายุ ใต้ฝุ่น หรือ ไซโคลน มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากภาวะดังกล่าวทำให้ชายฝั่งของประเทศไทยเกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆ ซึ่งทางฐานทัพเรือพังงา ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน ชายหาดบริเวณฐานทัพเรือพังงาก็ถูกกัดเซาะทำให้อาคารที่อยู่ใกล้ชายฝั่งได้รับความเสียหายไปด้วย

          ทางฐานทัพเรือพังงาจึงได้วางแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท มาดำเนินการในการก่อสร้างแนวชายหาดเพื่อกันคลื่นซึ่งพยายามรักษาชายหาดไว้ และจะไม่ส่งผลกระทบกับอาคารที่อยู่ตามแนวชายหาด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์สำคัญคือท่าเทียบเรือรบภายในฐานทัพเรือ ในขณะเดียวกันก็ต้องปลูกต้นไม้เสริม ซึ่งทั่วโลกได้ประชุมกันในเรื่องของการลดความร้อนของโลก โดยมีการอนุรักษ์ทรัพยากร และทราบว่าขณะนี้มีการตื่นตัวในทุกองค์กร ซึ่งทางฐานทัพเรือพังงามีโครงการปลูกต้นไม้ตามแนวชายหาด และปลูกป่าชายเลนเช่นกัน



จาก                :              บ้านเมือง    วันที่ 18 ตุลาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง