กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 21, 2024, 05:26:41 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันอังคารที่ 16 กันยายน 2551  (อ่าน 1890 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กน้อย
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 190


« เมื่อ: กันยายน 16, 2008, 02:16:17 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศทั่วไป 

ประกาศเตือนภัย
"ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก"
ฉบับที่ 24 (340/2551) ลงวันที่ 16 กันยายน 2551

 
     ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเล อันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ เช่น บริเวณจังหวัด น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู สกลนคร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระบุรีและลพบุรี จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในที่ราบลุ่ม และบริเวณที่ลาดเชิงเขาระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะ1-2 วันนี้
อนึ่ง คลื่นลมในอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังการเดินเรือในช่วงวันที่ 16-17 กันยายนนี้ไว้ด้วย 


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26 องศา สูงสุด 33 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามัน และอ่าวไทยสูงประมาณ 2 เมตร
สำหรับในช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. ร่องความกดอากาศต่ำนี้จะมีกำลังอ่อนลง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลงด้วย
ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณของฝนตกลดน้อยลง และคลื่นลมในทะเลมีจะกำลังอ่อนลงด้วย

ข้อควรระวัง

 ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น บริเวณจังหวัด น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ลพบุรีและสระบุรี ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักที่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยขอให้เพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือไว้ด้วย
บันทึกการเข้า
เด็กน้อย
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 190


« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 16, 2008, 02:25:57 AM »

ไทยรัฐ

3 เขื่อน-วิกฤติ น้ำเกือบเต็ม!
 
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ จ.กาญจนบุรี น้ำป่าไหลท่วม ต.ทุ่งกระบ่ำ และ ต.หนองโสน อ.เลาขวัญ โรงเรียนต้องประกาศหยุด พระออกบิณฑบาตไม่ได้ ไร่นาจมน้ำหลายพันไร่ ถนนสายเลาขวัญ-ทุ่งกระบ่ำ และสายเลาขวัญ-หนองโสนขาด

นายวินัย ถาวรนาน ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ เปิดเผยว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำมี 85% สามารถรองรับน้ำได้อีก 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกัน ต้องชะลอการปล่อยน้ำ นายอำนาจ ผการัตน์ ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า จะมีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ ขอแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำและที่ลาดเชิงเขา รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าและดินถล่ม สำหรับเขื่อนต่างๆใน จ.กาญจนบุรียังรองรับน้ำได้อีกมาก และปลอดภัย 100%

จ.พระนครศรีอยุธยา นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เปิดเผยว่า การเดินเรือขนส่งสินค้า โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ข้าว และถ่านหิน มาตามแม่น้ำป่าสักในเขต อ.นครหลวง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เรือสินค้าต้องจอดหลบไม่กล้าเสี่ยง เพราะท้ายขบวนอาจกระแทกกับสะพานข้ามแม่น้ำ บางลำผ่านสะพานไม่ได้เพราะระดับน้ำสูง นอกจากนี้ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก บนถนนสายเอเชียในเขต ต.บ่อโพง อ.นครหลวง คงเสร็จไม่ทันตามกำหนด เพราะน้ำท่วมตอม่อ

นายอาณัฐพงษ์ ศักดิ์เจริญ ผอ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ สาขาพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตร หากเกษตรกรรายใดประสบภัยจนไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้ จะเสนอให้บอร์ด ธ.ก.ส.พิจารณาพักชำระหนี้ สำหรับ ลูกค้าที่ไม่เสียหายมากนัก จะให้สินเชื่อเงินกู้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพื่อนำไปทำทุนประกอบอาชีพ

นายเมธาดล วิจักขณะ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นมาก เพราะเขื่อนเร่งระบายเพื่อให้ น้ำที่ท่วมใน จ.ลพบุรี สระบุรี และนครราชสีมาลดลง ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่น่าเป็นห่วง คือบริเวณป้อมเพชร ต.หอรัตนไชย และหน้าวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม ได้ให้คนงานขนถุงทรายวางทำแนวป้องกันสูง 2.50 เมตร ยาว 200 เมตร

ที่ จ.สระบุรี นายสรรเสริญ เอี่ยมกมล รอง ผอ. แขวงการทางสระบุรี ตรวจถนนสายแก่งคอย-นครนายก ช่วงกิโลเมตรที่ 9 พบว่าบริเวณสะพานบ้านโคกกรุง หมู่ 7 ต.ชำผักแพว อ.แก่งคอย พื้นสะพานแตก ดินใต้ ถนนถูกน้ำกัดเซาะเป็นโพรงใหญ่ ผิวถนนคอนกรีตเหลือเพียง 10 เซนติเมตร ไม่สามารถรับน้ำหนักรถได้ต้องปิดห้ามผ่าน ส่วน จ.นครนายก ชาวบ้านต้องขนย้ายข้าวของไปไว้ที่สูง ขณะเดียวกัน มีงูมากับกระแสน้ำเข้าไปกินไก่ในบ้าน ส.ต.อาทิตย์ ชไมพรเลิศสกุล อายุ 47 ปี อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคนครนายก หน่วยกู้ภัยต้องเข้าไปจับออกมา เป็นงูเหลือมยาว 4.50 เมตร หนัก 25 กิโลกรัม

สำหรับหมู่บ้านสิรัญญา ต.ถนนใหญ่ อ.เมืองลพบุรี หรือที่รู้จักกันในนามหมู่บ้านเศรษฐี เพราะมีราคาแพง น้ำยังท่วมบ้านกว่า 600 หลังคาเรือน แม้จะเร่งสูบน้ำออกทางคลองชลประทาน แต่มีน้ำป่าจากภูเขา ซึ่งเป็นน้ำฝนไหลเข้ามาเติม นายนพพร ชัยพิชิต ผอ.ส่วนจัดสรรน้ำฯ สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวว่า เขื่อนป่าสักมีน้ำ 45 เปอร์เซ็นต์ ยังรับน้ำได้อีกมากและได้ปิดประตูระบายน้ำ ส่วนหมู่บ้านสิรัญญาได้สูบน้ำออกวันละ 4.5 แสนลูกบาศก์เมตร ถ้าไม่มีฝนตก จะแห้งภายใน 10 วัน ขณะที่ประชาชนที่ประสบภัยในหลายตำบลต่างขึ้นมาอาศัยบนถนน วัดหลายแห่งพระต้องเอากระสอบทรายมากั้น

ที่ จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี เด็กๆนำห่วงยางมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และน้ำจาก อ.กบินทร์บุรี เริ่มไหลลง อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.เมืองปราจีนบุรี ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีสูงมาก คาด ว่าภายใน 2 วันจะล้นตลิ่ง เกษตรกรเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังต่างรีบจับปลาขายก่อนกำหนด เนื่องจากเกรงว่า โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจะลักลอบปล่อยน้ำเสีย ลงสู่แม่น้ำ

ภาคอีสานน้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลวาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เนื่องจากฝนตกกลางดึก และน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานไหลบ่ามาตามลำห้วยปลาหาง ทำให้ ทะลักเข้าท่วมเขตเทศบาล ด้าน จ.เลย นายมานิตย์ มกรพงศ์ ผวจ.เลย ออกมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลเมืองเลย

นายอธิคม สุพรรณพงศ์ ผวจ.หนองบัวลำภู ออกตรวจสภาพน้ำท่วมที่บ้านเอื้อง หมู่ 1 ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง ระดับนำสูง 1 เมตร สำหรับอำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักมีที่ อ.สุวรรณคูหา อ.นากลาง อ.เมือง เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำจนบางพื้นที่น้ำลดลงมาก ขณะเดียวกันฝนตกหนักทำ ให้น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองและถนนวงแหวนรอบเมือง โรงสีข้าวชื่อศรีไทยใหม่ซึ่งมีโกดังขนาดใหญ่เข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลโดนน้ำท่วมข้าวเปลือกส่วนหนึ่งเสียหายทำให้ต้องเร่งขนย้ายข้าวที่เหลือกันอย่างโกลาหล

จ.อุดรธานี น้ำท่วมพื้นที่เทศบาลเมืองหนองสำโรง อ.เมืองอุดรธานี กองพันทหารราบที่ 13 และบ้านเรือนกว่า 4,000 หลัง นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผวจ.อุดรธานี พล.ต.ศักดิ์ศิลป์ กลั่นเสนาะ ผบ.มทบ.24 อุดรธานี ออกตรวจพบว่ามีสวะคิดเป็นพื้นที่นับร้อยไร่ลอยมาปิดประตูระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง จึงใช้รถแบ็กโฮเคลียร์ออกและใช้ทหารหมุนเปิดประตูระบายน้ำ นายสุพจน์กล่าวว่า ไม่สามารถจัดการกับสวะได้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้เกิดน้ำท่วมและสวะจำนวนมหาศาลที่ไหลออกจากอ่างฯหนองสำโรง อาจไหลไปติดสะพานต่างๆปิดทางน้ำ จึงให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลา

ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตโดยนายสถาพร เพ็ชรจิตร อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 200 หมู่ 5 ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม เป็นปลัด อบต.คำปลาหลาย อ.เมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ขับรถออกจากบ้านไปทำงานที่ จ.มุกดาหาร และเดินทางกลับมาช่วงกลางคืนซึ่งฝนตกหนัก มาตามถนนสายธาตุพนม-มุกดาหาร ช่วงกิโลเมตรที่ 2 ต.ฝั่งแดง รถลื่นเสียหลักชนคอสะพานและพุ่งลงคลองจม ไม่มีใครช่วยทัน  เนื่องจากรถจมมิดหลังคาเพราะฝนตกหนักน้ำขึ้นสูงและไม่มีใครเห็นกระทั่งคนหาปลาไปพบ

มีรายงานว่าที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ โรงเรียนศีขรภูมิพิสัยเตรียมพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่มูลค่า 16 ล้านบาท แต่เกิดน้ำท่วมจึงต้องทำพิธีท่ามกลางน้ำท่วมโดยนายพงศกร อรรณนพพร รักษาการ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน จากนั้นสั่งปิดโรงเรียน 3 วัน

ภาคเหนือ จ.พิจิตร น้ำฝนและน้ำป่าจาก จ.เพชรบูรณ์ ไหลท่วม ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ โรงเรียนบ้านวังแดงต้องสั่งปิด ถนนสายเขาทราย-วังทอง ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 76-77 น้ำท่วมแต่รถยังผ่านได้ นอกจากนี้ท่วมชุมชนย่านเทศบาล 2 ส่วนที่ จ.พิษณุโลก สถานการณ์ หลายอำเภอขยายวงกว้างออกไปเช่นที่ อ.วังทอง พื้นที่เสียหายมีชุมชนในเขตเทศบาลตำบลวังทอง ถนนหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ช่วงหน้าอำเภอวังทอง-โรงพยาบาลวังทอง ถนนภายในหมู่บ้านสายบางสะพาน-บ้านดงข่อย ทหารกองพลพัฒนาที่ 3 นำรถ เรือ และกำลังทหารเข้าช่วยเหลือ และในเขต อ.เมืองพิษณุโลกมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกหลายตำบล โรงเรียนต้องประกาศหยุด

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า มี 22 จังหวัดประสบอุทกภัยอย่างหนัก กรมทรัพยากรน้ำได้วิเคราะห์สถานการณ์ น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่พบมี 3 แห่ง อยู่ในภาวะที่เกินความสามารถในการรองรับน้ำเข้าเขื่อนแล้ว เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% ได้แก่ เขื่อนศรีนรินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำถึง 85% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และปราจีนบุรี 80% และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง 83% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษขอเตือนประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ใต้เขื่อนทั้ง 3 แห่งรวมทั้งนักท่องเที่ยวต้องติดตามสถานการณ์

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล ผอ.สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนเดือน ต.ค.ยังไม่แน่ว่าจะมีพายุผ่านเข้ามาประเทศไทยหรือไม่ เขื่อนหลายแห่งไม่น่าห่วงมีพื้นที่รับน้ำได้อีกเช่นเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้ฝนตกหนักติดต่อกันในพื้นที่ซ้ำๆและกระจายทั่วทุกภาคแบบพร้อมๆกัน และมีน้ำจากเขาไหลลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชน บางจุดเช่นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ปริมาณฝน 1 วัน วัดได้ถึง 110 มม. ซึ่งผิดปกติมาก แค่เกินระดับ 50 มม.ต่อวันก็หนักแล้ว

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าจะมีฝนตกหนักทั่วทุกภาคต่ออีก 2-3 วัน เตรียมใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ มาประมวลเส้นทางเดินของน้ำและจะประสานกับกรมชลประทานเตือนภัย ขณะที่นายธีระ วงศ์สมุทร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำลงลุ่มน้ำของเขื่อนแต่ละแห่งให้มากที่สุด หากฝนตกเหนือเขื่อน น้ำทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในอ่าง เพื่อเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งปีต่อไป ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เนื่องจากมีฝนตกหนักเมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-4 วันนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุมี 2 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง การคาดการณ์สภาพอากาศช่วงเดือน ก.ย. ถึง พ.ย. พบว่าเดือน ก.ย. พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเคลื่อนเข้าใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ส่วนเดือน ต.ค. อาจเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกหรือภาคใต้ และเดือน พ.ย. มีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มและอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนาแน่น

สำหรับจังหวัดที่มีฝนตกหนักคือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู สกลนคร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี และลพบุรี ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในที่ราบลุ่ม และบริเวณที่ลาดเชิงเขาต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าใน 1-2 วันนี้ ส่วนกรุงเทพมหานครมีฝนตกหนักตลอดช่วงเย็นถึงค่ำ สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2 เมตร

 
บันทึกการเข้า
เด็กน้อย
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 190


« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 16, 2008, 02:35:47 AM »

เดลินิวส์

สธ.ตั้งวอร์รูมช่วยน้ำท่วม

 วันนี้(15 ก.ย.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยว่า ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ผลกระทบต่อสุขภาพ และความเสียหายด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยประสานงานกับศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ซึ่งมี พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รองอธิบดีทุกกรม รองเลขาธิการ อย. และรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นคณะกรรมการ และมีนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ได้จัดส่งงบฉุกเฉินให้ 7 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว ได้แก่ นครพนม เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี และนครราชสีมา และสำรองงบประมาณฉุกเฉินไว้ที่ส่วนกลางอีก 10 ล้านบาท รวมทั้งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมส่งให้จังหวัดต่างๆ ที่ร้องขอ ซึ่งหากมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทาง อภ.สามารถเร่งการผลิตได้ทันที ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ทุกพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยมอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) ประสานการทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบรรเทาทุกข์และประชานามัย สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์รับแจ้งเหตุและสังการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สกลนคร มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11-14 ก.ย. หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมใน 9 จังหวัด มีผู้รับบริการรวม 10,593 คน และมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายรวม 14 แห่ง ซึ่งจะเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้สามารถบริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว พร้อมกับฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหลังจากน้ำลดด้วย.

************************************************************************************************

ช่วยเกษตรกรน้ำท่วม 3 หมื่นคน
 ธ.ก.ส.ชง ครม.2 มาตรการสัปดาห์หน้าส่งเจ้าหน้าที่เยี่ยมลูกค้ากันสวมรอย

 
นายธีระพงษ์ ตั้งธีรสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.จะเสนอแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมกว่า 30,000 รายทั่วประเทศ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ หากเห็นชอบ  จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าต่อไป โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนิน  การทันทีเมื่อมีนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรนาข้าวกว่า 60-70% ที่ได้รับผลกระทบต่อผลผลิตโดยตรง
 
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้เสนอแนวทางช่วยเหลือ 2 แนวทางคือ ขอวงเงินกู้ซอฟต์โลน 2,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรกู้เพื่อนำไปฟื้นฟูอาชีพใหม่ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ มีเวลาปลอดเงินกู้และดอกเบี้ย 1-3 ปี ขึ้นกับระดับความเสียหาย ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้และการลดดอกเบี้ยให้หนี้เก่า 1 ปี โดยจะเสนอให้รัฐบาลเข้ามารับภาระดอกเบี้ยให้เกษตร กร 3% จากปัจจุบันที่เสียดอกเบี้ย 7.5%
 
“การช่วยเหลือนั้น จะช่วยเฉพาะคน  ที่เสียหายจริง ๆ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่าหาเสียง โดยแต่ละราย อาจช่วยเหลือตามความหนักเบาก็ได้ ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายว่ามีเท่าใด เบื้องต้นพบว่าภาคอีสาน เหนือ และกลางนั้นมีกว่า 30,000 ราย แต่เชื่อว่าตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากฝนยังไม่หยุดตก”
 
รายงานข่าว จาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ทั้งนี้ได้รับรายงานล่าสุดว่า ขณะนี้มีลูกค้าที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 49,691 ราย มูลหนี้ 1,818 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรวม 5 จังหวัด คือ เชียงราย 8,998 ราย น่าน 374 ราย พะเยา 2,775 ราย นครพนม 17,800 ราย และหนองคาย 19,744 ราย ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในนาข้าวสูงถึง 487,010 ไร่ เป็นสวนพืชไร่ 62,338 ไร่ ส่วนผลไม้ผล 3,580 ไร่ และมีสัตว์ปีกล้มตายสูงถึง 19,833 ตัว
 
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนลูกค้า และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการแจกถุงยังชีพแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม และจากข้อมูลที่ได้รับพบว่า มีทั้งรายที่ได้รับความเดือดร้อนจากทรัพย์สินเสียหาย รายที่ไร่นาเสียหาย ซึ่งส่วนนี้มีลูกค้าของธนาคาร 10% แต่ทั้งนี้ยังสรุปตัวเลขความเสียหายไม่ได้ เนื่องจากต้องรอให้สถานการณ์ฝนหยุดตกก่อน คาดว่าภายในเดือน ก.ย. นี้น่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน ทั้งพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและจำนวนเกษตรกรที่ต้องให้การช่วยเหลือ
 
ส่วนแนวทางให้ความช่วยเหลือนั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเกษตรกรแต่ละราย โดยหากไม่ร้ายแรง ก็อาจจะยกเว้นดอกเบี้ยให้ 1 ปี กรณีร้ายแรงจะยกเว้นดอกเบี้ยให้ 3 ปี.
 
**************************************************************************************************************

82 ปี 'กรมประมง' ก้าวสู่ผู้นำด้านประมงแห่งเอเชีย...
 
 21กันยายน 2551…เป็นวันสถาปนา “กรมประมง” ครบรอบปีที่ 82 ซึ่งกรมประมงได้ปรับยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ให้เชื่อมโยงกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” โดย มุ่งพัฒนาการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประมงไปสู่เกษตรกรและชาวประมงทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกร ทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าสัตว์น้ำของไทยให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชีย   
 
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปี 2552 นี้ กรมประมงได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 83 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแผนขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการประมงของไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อ  ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงทั่วประเทศให้ดีขึ้นด้วยโดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสินค้าประมงให้มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานตามเกณฑ์สากล 2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้แหล่งเพาะเลี้ยงและทุกแหล่งทรัพยากรและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน และคงความหลากหลาย 4.ยุทธศาสตร์  การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการประมงทุกสาขา และ 5.ยุทธศาสตร์การปรับปรุงระบบบริหารจัดการองค์กรให้เป็นผู้นำทางการประมงในภูมิภาค
 
ในเบื้องต้น กรมประมงมีแผนเร่งดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรมฯ จะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และสงขลา รวมกว่า 5,300 ราย พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 400 ราย และ   ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในโรงเรียนปอเนาะ 2 แห่งด้วย โดยเน้นให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาอาชีพ และ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต
 
กรมประมงมีแผนเร่งพัฒนาระบบการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อาทิ สินค้ากุ้ง ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม และพันธุ์ไม้น้ำ รวมทั้งยังจะเร่งจัดทำระบบการจัดการคอมพาร์ตเมนต์ (Compartment) ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้เป็นฟาร์มปลอดโรค พร้อมตรวจรับ รองคุณภาพสินค้าประมงเพื่อส่งออกและพัฒนาศักยภาพสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงระนอง ท่าเทียบเรือประมงสตูล และท่าเทียบเรือประมงสุราษฎร์ธานี
 
นอกจากนี้ กรมประมงยังมีแผนสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยกว่า 160 เรื่อง  พร้อมส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มคุณค่าให้แก่สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งยังจะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่เกษตรกร โดยกรมประมงจัดทำ โครงการเสริมสร้างการจัด การประมงต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนได้มี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง พร้อมสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้าสู่อาชีพประมง โดยเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าระบบการผลิตสินค้าประมงของไทยจะได้   รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยทางด้านอาหาร ซึ่งจะเป็นจุดแข็ง  ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อันจะ   นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชียได้รวดเร็วขึ้น.
 
บันทึกการเข้า
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 16, 2008, 11:42:53 AM »

ขอบคุณน้องเต้ของป้าน้อยและป้าสีนวลจ๊ะ รักนะจุ๊บ จุ๊บ
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 21 คำสั่ง