กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 22, 2024, 07:51:44 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2552  (อ่าน 2274 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: มีนาคม 30, 2009, 12:46:58 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ซึมเข้ามาปกคลุมทะเลจีนใต้และด้านตะวันออกของประเทศไทยในวันนี้( 30 มี.ค. 52) ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภาคอื่นๆ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติดังกล่าวในช่วงวันที่ 30 มีค.- 1 เมย. 52 นี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณปริมณฑล อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา  ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. 
 

คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 29-30 มี.ค. ลมใต้กับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ และประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่


ข้อควรระวัง

ในระยะนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 30 มี.ค.-3 เม.ย. 52 นี้ไว้ด้วย



* Forecast2.jpg (38.54 KB, 684x423 - ดู 344 ครั้ง.)

* Earthquake.jpg (31.36 KB, 450x500 - ดู 359 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 30, 2009, 01:01:21 AM »

แนวหน้า


หาดเจ้าไหมลดค่าเข้าชม 50% เดินหน้านโยบายกรมอุทยานฯ หวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว   

ตรัง:นายเดชา นิลวิเชียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นอย่างมากจึงถือเป็นจุดขายที่สำคัญของการท่องเที่ยว จังหวัดตรัง ที่ถือว่ามีทั้งด้านการท่องเที่ยว ทางทะเล และบนบก และเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช ได้มีประกาศลดอัตราค่าบริการ 50 % สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

ทั้งนี้อัตราค่าบริการเข้าชมอุทยานฯนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทย ผู้ใหญ่จากเดิมคนละ 40 บาท เหลือคนละ 20 บาท เด็กจากเดิม 20 บาท เหลือคนละ 10 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ จากเดิมเก็บคนละ 200 บาท เหลือคนละ 100 บาท เด็กจากเดิมคนละ 100 บาท เหลือคนละ 50 บาท โดยประกาศดังกล่าวมีผลมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.- 15 พ.ค. 2552 เป็นระยะเวลา 3 เดือน

"การลดราคาค่าบริการดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงคน ไทยก็หันที่จะมาท่องเที่ยวในประเทศของตนเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น สำหรับ จ.ตรัง นั้นการประกาศลดอัตราค่าบริการดังกล่าวก็น่าจะส่งผลดีเพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายัง จ.ตรังเพิ่มมากขึ้น" นายเดชา กล่าว 


*****************************************************************************************************************************


ทส.เปิดตัว BioGang ปลุกกระแส"วัยโจ๋" แลกข้อมูลสวล.ชุมชน   

 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สพภ. ได้จัดโครงการการสร้างเครือข่ายการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น (Bio Gang Project) ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนในระดับประเทศ โดยอาศัยเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่อยู่ในชุมชน เป็นสื่อกลางในการรวบรวมและบันทึกข้อมูลดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ www.biogang.net ที่ สพภ. จัดทำขึ้น

 โดย สพภ. จะนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการการนำทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่กระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชนและชุมชนในระยะยาวสืบไป

 นอกจากนี้ยังคัดเลือกให้ นายภูริ หิรัญพฤกษ์ และนางสาว อลิชา ไล่สัตรูไกล มาทำหน้าที่เป็น "Bio Ambassador" เพื่อเป็นตัวแทนในการเชิญชวนให้กลุ่มเยาชน นักเรียน นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นสมาชิก "ยุวทูต Bio Gang" ด้วย

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 30, 2009, 01:08:15 AM »

กรุงเทพธุรกิจ


เรือนไฟแห่งชีวิต บนเกาะตะเภาน้อย


ท่าเทียบเรือยังเป็นสะพานไม้ชั่วคราว - ร.ต.สุชิน รักชาติ กับบทบาทนายประภาคาร

วันที่ 28 มีนาคม 2552 กรุงเทพมหานครรณรงค์ให้คนกรุงลุกขึ้นมาปิดไฟตอน 2 ทุ่ม เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

  เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงานของโลก และลดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน

 ไม่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ต่อให้คนทั่วโลกได้ยินกิจกรรมนี้ก็ยินดีให้ความร่วมมือด้วยทั้งนั้น ทุกบ้าน ทุกหน่วยงาน สามารถดับไฟได้ตามคำร้องขอ ทว่า สถานที่แห่งหนึ่งไม่สามารถให้ความร่วมมือได้อย่างจริงใจ เพราะทุกวินาทีเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิต นั่นก็คือ ประภาคาร

 กรุงเทพฯ - อากาศร้อนจนบางคนต้องนอนเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 20 องศา

 ภูเก็ต - แม้เข็มเทอร์โมมิเตอร์จะพุ่งขึ้นมาแตะที่ตัวเลข 38 แต่คนเฝ้าประภาคารบางคนก็มีเพียงพัดลมตัวเล็กๆ เท่านั้นที่เอาไว้คอยบรรเทาอาการ “เหงื่อซึม”

 ดูเหมือนใจดำ หรือเมินเฉยต่อกิจกรรมดีๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานของโลก แต่ถ้าลองพิจารณากันตามจริง พัดลมย่อมสร้างมลภาวะน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศเป็นไหนๆ ถ้าลองเปลี่ยนจากปิดไฟ มาปิดแอร์ เชื่อแน่ๆ ว่าโลกจะรู้สึกเย็นสบายขึ้น

 ไม่ได้ก่นด่าหรือเยาะหยันชะตาชีวิตของคน 2 กลุ่มที่แตกต่าง แต่กำลังจะพาทุกคนไปยังเกาะที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทว่าเต็มตื้นไปด้วยความรื่นรมย์ของผืนป่า นานาสัตว์ ประวัติศาสตร์ของประภาคาร และวิถีชีวิตของคนเฝ้าดวงไฟที่ไม่มีวันดับ

นก คน บนเกาะแห่งความพิสุทธิ์

 “รีบหน่อยคุณ”
 บุรุษหนุ่มผู้กุมพวงมาลัยเรือสั่งเสียงเข้ม หลังจากนั่งรอผู้โดยสารอยู่ที่ท่าเรืออ่าวมะขามมานานร่วมชั่วโมง เป็นธรรมดาของชายชาติทหารที่ยึดมั่นต่อการตรงต่อเวลาเป็นที่สุด เมื่อมาเจอลูกเรือจอมโอ้เอ้อย่างเรา จึงอดรนทนไม่ได้ที่จะตะแบงเสียงใส่ แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายความรู้สึกของใคร เพราะใต้ปีกหมวกนั้นมีรอยยิ้มจางๆ ซ่อนอยู่

 "ใส่ชูชีพด้วย"
 คำสั่งสุดท้ายก่อนทิ้งหางเสือเรือทำเอาทุกคนตะลีตะลานหยิบเสื้อลอยน้ำขึ้นมาสวมโดยฉับพลัน ไม่ได้กลัว แต่ก็ไม่กล้าขัดคำสั่ง เรือสปีดโบตลำนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้โดยสารสีส้ม (สีของชูชีพ)

 นึกชื่นชมในความเคร่งครัดของพลขับจริงๆ เพราะหากเป็นเรือโดยสารอื่นๆ กับระยะทางแค่ 15 นาที คงไม่มีใครมาใส่ใจกับระบบป้องกันภัยง่ายๆ แบบนี้ และที่มีข่าวเรือล่ม คนตาย หลายชีวิตที่เสียไปก็เพราะไม่มีเสื้อนิรภัยติดตัว

  เรานั่งมองฟองน้ำที่กระจุยกระจายอยู่ท้ายเรือเพียงชั่วครู่ เสียงเครื่องยนต์ก็ดับลงพร้อมเทียบท่าส่งผู้โดยสารที่บริเวณหน้าหาดทรายขาวนวล บนเกาะตะเภาน้อย

 เสียงขอบคุณของเรา แลกกับภาพฟันขาวๆ ใต้รอยยิ้มจริงใจของนายทหารเรือ-พลขับ ใครบ้างจะไม่รับน้ำจิตน้ำใจครั้งนี้

 เราเดินเปลือยเท้าตามหาดทรายขาวขึ้นไปตรงสวนสน ป้าย "ประภาคาร เกาะตะเภาน้อย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ" เติมความมั่นใจให้เรารู้สึกว่า มาถูกที่แล้ว

 เกาะตะเภาน้อย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะขนาดเล็กที่ยังคงสภาพผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ โดยมีดัชนีชี้วัดเป็นฝูงนกแก๊กเกือบ 100 ชีวิต ซึ่งนอกจากธรรมชาติอันสวยงามแล้ว บนเกาะแห่งนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตบนผืนทะเล นั่นคือ ประภาคาร เครื่องหมายช่วยในการเดินทางของชาวเรือ

 เดือนมีนาคม แดดร้อนจัดจ้า ทว่า ใต้ป่าผืนใหญ่บนเกาะตะเภาน้อยมีสายลมพัดเอื่อยอ่อย ทำให้รู้สึกเย็นสบาย

 "ป่าที่นี่ค่อนข้างสมบูรณ์ สังเกตได้จากมีนกแก๊กมาอยู่ที่นี่ประมาณ 50 คู่ เป็นนกแก๊กที่อยู่บนเกาะตะเภาใหญ่ และเกาะตะเภาน้อย ทั่วโลกมีนกเงือกอยู่ 54 สายพันธุ์ ในเอเชียมี 50 สายพันธุ์ ในไทยเองมี 12 สายพันธุ์ ที่นี่มี 1 สายพันธุ์ คือ นกแก๊ก" ร.ต.สุชิน รักชาติ นายประภาคารเกาะตะเภาน้อย บอก พร้อมเดินนำเราผ่านเรือนพักและป่าใหญ่ขึ้นไปยังยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคาร

 เราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนยอดต้นชมพู่ นกแก๊ก 2 ตัว กำลังจิกกินกล้วยน้ำว้าสุกอย่างเอร็ดอร่อย

 "นอกจากอาหารในป่า นกแก๊กจะกินมะม่วง ขนุน น้อยหน่า ชมพู่ กล้วย ที่เราปลูกไว้ด้วย บางทีเรามีก็เอาไปแขวนให้มันกิน" เขาแสดงสีหน้าเอ็นดูอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราจ้องมองมัน ก็ได้ความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากนายประภาคารนัก

 เขาว่า นกเงือกทั่วไปมีนิสัยรักเดียวใจเดียว จะอาศัยอยู่กับคู่ของมันจนตายจากกัน ซึ่งถ้าคู่ของมันตายจากไป ไม่นานมันก็จะตรอมใจตามไปด้วย เป็นเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

 "ที่นี่มีป้อมปืนโบราณด้วย สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดีทหารญี่ปุ่นพาเชลยศึกมาทำไว้ แต่ยังไม่ทันได้ใช้ ตอนนี้ยังไม่เปิดให้เข้าชม เพราะค่อนข้างรก"

 ร.ต.สุชิน บอกว่า นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะนี้ส่วนใหญ่เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงควบคุมไม่ยาก แต่เมื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเป็นทางการแล้ว คงจำกัดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นเกาะไม่เกินวันละ 30 คน

 "ถ้ามาเที่ยวแบบนักท่องเที่ยวรักธรรมชาติจริงๆ ก็ไม่น่าเสียหาย แต่ประเภทมาหาความสวยงามศิวิไลซ์ เราไม่มีให้ชม มีแต่ป่าแต่นก คนบนนี้เป็นนายทหารเรือ กินอยู่อย่างเรียบง่าย หาผักที่มีบนนี้มาทำอาหาร อย่างผักลิ้นหมาก็เอามาแกงเลียงอร่อย นานๆ จึงจะขึ้นไปบนฝั่งสักที ถ้าไม่มีอะไรก็ไม่อยากไป"

 ฟังเรื่องราวการใช้ชีวิตของคนบนเกาะนี้แล้ว ดูช่างอิสรเสรีและใกล้ชิดกับคำว่า "ธรรมชาติ" มากจริงๆ


ประภาคารบนเกาะตะเภาน้อย - เดินเท้าเข้าป่า พากันไปชมประภาคาร

ดวงไฟที่พาใครบางคนกลับบ้าน

 หลายคนที่เคยโดยสารไปกับเรือประมง เรือโดยสาร เรือสำราญ หรือเรืออะไรก็ตามแต่ในยามค่ำคืน คงเคยสังเกตเห็นว่ามีดวงไฟส่องสว่างวาบไหวเป็นสัญญาณไกลๆ อยู่ตรงชายฝั่ง หรือเกาะใดเกาะหนึ่งใกล้แผ่นดิน บางดวงสว่างเพียงวาบเดียวแล้วหายไปประมาณ 2 วินาที บางดวงกะพริบ 2 วาบแบบต่อเนื่อง จากนั้นก็ดับไปแล้วกลับมากะพริบใหม่อีกครั้ง นั่นคือ ประภาคาร 

 "ลักษณะวาบไฟแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกันเลย ในโลกนี้มีมากมายตั้ง 256 ลักษณะวาบไฟ ต้องตั้ง code ไม่ให้เหมือนกัน" ร.ต.สุชิน ให้ข้อมูล พร้อมเล่าว่า

 ประภาคารเกาะตะเภาน้อย สร้างขึ้นปี พ.ศ.2442 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองกระโจมไฟ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต่อมาในปี พ.ศ.2462 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการโอนย้ายไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงทหารเรือ ในยุคแรกประภาคารแห่งนี้ใช้พลังงานจากน้ำมันก๊าด จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ก๊าซในปี พ.ศ.2470 แล้วเปลี่ยนอีกทีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2540 เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

 "ตอนนี้ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ และก็มีระบบแมนนวลด้วย อย่างกลางวันเราจะเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในเวลากลางคืน นายประภาคารหรือคนเฝ้าต้องช่วยกันดูแลให้ดี เพราะถ้าเกิดไฟฟ้าย้อนกลับไปที่แผงรับพลังงานจะใช้การไม่ได้เลย"

 มีความสงสัยมานานแล้วว่า ประภาคารกับกระโจมไฟ แตกต่างกันอย่างไร นายประภาคารแห่งเกาะตะเภาน้อย จึงแจงให้ฟังว่า ประภาคาร มาจากคำ 2 คำ คือ ประภา ที่แปลว่า แสงสว่าง กับ อาคาร ที่แปลว่า เรือน เมื่อประภากับอาคารรวมกัน เป็นประภาคาร จึงมีความหมายรวมว่า เรือนไฟ เป็นเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือ ประภาคาร มีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ให้ไฟดับ แต่กระโจมไฟไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล หากไฟดับจึงจะมีเจ้าหน้าที่ไปแก้ไขทำการจุดไฟ

 "ประภาคารไฟจะดับไม่ได้เลย ถ้ามีปัญหาเจ้าหน้าที่หรือนายประภาคารต้องซ่อมได้ ถ้าปล่อยปละ เกิดเรือจม เรือชนโขดหิน กรมฯ จะมีความผิด ที่ผ่านมาไฟดวงนี้ก็ยังไม่เคยดับ เพราะเรามีนายประภาคาร 5 นาย คอยดูแล ซึ่ง 5 นายนี้จะสับเปลี่ยนไปประจำที่ประภาคารกาญจนาภิเษกบนแหลมพรหมเทพด้วย"

 ฉันแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองให้ถึงปลายยอดของประภาคาร ที่คนเฝ้าบอกว่า ปลายยอดมีตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชนิดเลนส์หมุน และมีไฟวับสีขาว 6 วับ ทุกๆ 10 วินาที ลักษณะของประภาคารเป็นกระโจมอิฐหอคอย ทาสีขาวสว่าง สูง 11 เมตร ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 55 เมตร มองเห็นได้ไกล 20 ไมล์ทะเล

 แดดจัดแบบนี้ หากมองนานอีกหน่อย มีหวังซ้ำรอยกษัตริย์อินเดียที่นั่งมองทัชมาฮาลทุกวันแน่ ว่าแล้วก็เดินหาที่หลบแดดรักษาผิวกายกันพัลวัน

 ข้างๆ ประภาคารเป็นเรือนไม้เก่าที่นายประภาคารเล่าให้ฟังว่า เป็นเรือนไม้สไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับประภาคาร เดิมเป็นที่ทำการ เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความทรุดโทรมจึงไม่ได้ใช้ แต่กำลังจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้สายงานอุทกศาสตร์และสายงานกองทัพเรือ

 "ที่นี่มีสถานีวัดระดับน้ำด้วย มีหน้าที่คำนวณระดับน้ำทะเล ความผิดปกติของน้ำ ลมพายุ เมื่อคำนวณได้จะส่งรายงานไปที่กรมอุตุนิยมวิทยา ตอนช่วงเวลา ตี 1 - 7 โมงเช้า และบ่ายโมง - 1 ทุ่ม หรืออย่างเวลาพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพก็มาจากที่นี่ คือทุกเช้าจะมีเวรคอยเปลี่ยนเวลาบนป้าย หลังจากที่คำนวณแล้วว่าวันนี้ดวงอาทิตย์จะตกเวลากี่โมง คลาดเคลื่อนไม่เกิน 6-7 นาที"  นายประภาคาร ผู้ปิดทองหลังพระ บอก

 ฉันถามเรื่อยๆ ไปจนถึงเรื่องสึนามิ นายทหารเรือว่า ก่อนนั้นที่สถานีใช้เครื่องวัดระดับน้ำระบบอนาล็อก (Analog) แบบลูกลอย โดยปกติวันหนึ่งจะมีน้ำขึ้นสูงสุด 2 ครั้ง และน้ำลงต่ำสุด 2 ครั้ง ซึ่งมีการทำรายงานประจำปีไว้แล้ว แต่ความผิดปกติของน้ำในช่วงสึนามิเกิดขึ้นเร็วมาก ให้หลังจากระดับน้ำผิดปกติเพียงไม่ถึง 20 นาทีก็เกิดเหตุการณ์สึนามิ

   หลังจากนั้นกรมอุทกศาสตร์จึงได้ฟื้นฟูสถานีวัดระดับน้ำฝั่งอันดามันใหม่ เป็นสถานีวัดระดับน้ำแบบดิจิทัล (Digital) และเครื่องวัดระดับน้ำระบบดิจิทัล ทำงานด้วยคลื่นเสียงพร้อมรับ-ส่งข้อมูลในระยะไกลด้วยระบบสื่อสารทางโทรศัพท์ จะช่วยเรื่องการเตือนภัยสึนามิได้ดี ซึ่งสถานีรูปแบบทันสมัยนี้เปิดใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2548

  ฉันเดินไปรอบๆ บริเวณประภาคาร จากจุดนี้สามารถมองเห็นฝั่งเกาะภูเก็ตได้ถนัดตา มีเรือสินค้ามากมายอยู่ในร่องน้ำลึก ที่เดินทางได้อย่างปลอดภัย ก็คงเป็นเพราะได้รับสัญญาณจากดวงไฟบนเกาะแห่งนี้เอง

 "จะขึ้นไปดูข้างบนไหม" นายประภาคารชักชวน

 ประตูประภาคารทรงโค้งมีขนาดเล็ก เวลาเดินเข้าต้องค่อยๆ ก้มตัว ภายในมีบันไดลิงสำหรับไต่ขึ้นไปชมวิวจากช่องมองที่ปลายยอดประภาคาร ด้วยความอยากเห็นทิวทัศน์ในมุมมองใหม่ ฉันจึงตัดสินใจปีนบันไดลิงทีละขั้นๆ กว่าจะถึงจุดหมายก็เล่นเอาเหงื่อโทรมกาย เพราะภายในค่อนข้างทึบ มีเพียงช่องมองวิวเท่านั้นที่ช่วยระบายอากาศ

 มันเป็นมุมมองที่ค่อนข้างแปลก จริงอยู่ที่ว่า ภาพแบบพาโนรามาจะเห็นได้เต็มตากว่า แต่ภาพลอดช่องแบบนี้ก็ได้อารมณ์ดีไม่น้อย
 
................

การเดินทาง

 ภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่เดินทางไปได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะทางเครื่องบินที่ตอนนี้มีสายการบินราคาประหยัดให้บริการมากมาย อย่างสายการบินนกแอร์ มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตทุกวัน สอบถามตารางการเดินทางได้ที่ นกแอร์ call center 1318 นอกจากนี้ก็ยังสามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถไฟ (ต้องไปต่อรถที่สุราษฎร์ธานี) รถประจำทางปรับอากาศ และรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อถึงภูเก็ตแล้วให้เหมารถตุ๊กตุ๊ก หรือรถสองแถวไปที่ท่าเรืออ่าวมะขาม ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที จากนั้นนั่งเรือยนต์รับจ้างต่อไปยังเกาะตะเภาน้อยอีกประมาณ 15 นาที เก็บค่าเข้าชมเกาะ คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ส่วนนักเรียนนักศึกษาขึ้นเกาะฟรี สอบถามข้อมูลที่ ร.ต.สุชิน รักชาติ นายประภาคารเกาะตะเภาน้อย โทร. 08-4625-9067

ที่พัก
 บนเกาะตะเภาน้อย ยังไม่มีที่พักให้บริการ เนื่องจากเป็นเกาะปิดมานาน เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสเสน่ห์แห่งป่าอันอุดมสมบูรณ์เมื่อไม่นานมานี้ นักท่องเที่ยวจึงไม่สามารถพักบนเกาะนี้ได้ แต่ถ้าจะพักแนะนำให้โดยสารเรือกลับไปพักบนเกาะภูเก็ต หลายๆ หาดมีที่พักหลายระดับ หลากราคา ตั้งแต่โรงแรมขนาดเล็กราคา 500 บาท ในตัวเมือง ไปจนถึงระดับห้าดาว อย่างที่พักในโซนลากูน่าของภูเก็ตก็มีโรงแรมเชนให้บริการมากมาย อาทิเช่น ดุสิต ลากูน่า ภูเก็ต, เชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต, ลากูน่า บีช รีสอร์ท เป็นต้น สอบถามที่ ททท.สำนักงานจังหวัดภูเก็ต โทร. 0-7621-1036, 0-7621-2213, 0-7621-7138 หรือ call center 1672

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.35 วินาที กับ 20 คำสั่ง