กระดานข่าว Save Our Sea.net

หมวดหมู่ทั่วไป => สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล => ข้อความที่เริ่มโดย: สายน้ำ ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2008, 12:42:09 AM



หัวข้อ: โลมาน่านน้ำไทย
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2008, 12:42:09 AM

โลมาน่านน้ำไทย

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/you03040251p1.jpg)

อยากรู้ลักษณะทั่วไปของโลมา และมีกี่ชนิด ในเมืองไทยมีชนิดเด่นๆ อะไรบ้าง

ตอบ

โลมา (Dolphin) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทว่าแต่ละส่วนของอวัยวะจะปรับเปลี่ยนต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ดังนี้ จมูก โลมามีจมูกไว้หายใจ โดยจมูกนั้นตั้งอยู่กลางกระหม่อม เพื่อให้สะดวกต่อการเชิดหัวขึ้นหายใจเหนือน้ำ จากจมูกมีท่อหายใจต่อลงถึงปอดในตัว จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำผ่านเหงือกเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจเหมือนปลาทั่วไป

ส่วนหู เป็นเพียงแค่รูเล็กจิ๋วติดอยูด้านข้างของหัวเท่านั้น แต่ประสิทธิภาพสูงมาก รับคลื่นเสียงใต้น้ำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะกับภาษาที่โลมาสื่อสารกันด้วยเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง

การมองเห็น โลมามีดวงตาแจ่มใสเหมือนตาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป มีเปลือกตาปิดได้ และในเวลากลางคืนตาก็จะเป็นประกายเหมือนตาแมว ตาของโลมาไม่มีเมือกหุ้มเหมือนตาปลา และมองเห็นได้ไกลถึง 50 ฟุตเมื่ออยู่ในอากาศ

สำหรับสีผิว โลมาแต่ละชนิดมีสีผิวแตกต่างกัน โดยที่ส่วนมากจะออกโทนสีเทา ตั้งแต่เข้มเกือบดำ จนกระทั่งถึงเกือบขาว แต่โดยทั่วไปจะมีสีผิวแบบทูโทนคัลเลอร์คือมีสองสีตัดกัน ด้านบนเป็นสีเทาเข้ม ด้านล่างเป็นสีเกือบขาว เพื่อพรางตัวในทะเล ไม่ให้ศัตรูเห็น เพราะเมื่อมองจากด้านบน สีเข้มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไปสีขาวจะกลืนเข้ากับแสงแดดเหนือผิวน้ำ

สำหรับประเทศไทย โลมาที่พบมี 22 ชนิด รวม 6 วงศ์ จากจำนวน 80 ชนิดที่พบทั่วโลก ตัวเด่นๆ มีอาทิ

"โลมาอิระวดี หรือโลมาหัวบาตร" - Irawaddy dolphin : Orcaella brevirostris ตัวมีสีน้ำเงินเทา ด้านหลังหัวกลมมนน่ารัก พบทั้งในน้ำทะเล น้ำกร่อยและขึ้นไปถึงน้ำจืดบริเวณแม่น้ำโขง อุบลราชธานี แม่น้ำสาละวิน แม่ฮ่องสอน และทะเลสาบสงขลาฝั่งอ่าวไทย

"โลมาเผือก หรือโลมาหลังโหนก" - Indo-Pacific hump-backed dolphin : Sousa chinensis ตัวมีสีจางเหมือนเผือก ครีบหลังเป็นสันนูนสูง ชอบว่ายเที่ยวเล่นตามชายฝั่ง

"โลมาปากขวด" - Bottlenose dolphin : Tursiops aduncus มีสีน้ำเงินเข้มอมเทา สีจางหรือบางครั้งอมชมพูด้านท้อง ชอบว่ายน้ำแข่งกับเรือขณะที่เดินเรืออยู่ในทะเล

"โลมาธรรมดา ชนิดปากยาว" - common dolphin : Delphinus capensis เคยพบที่สมุยซึ่งมากันเป็นครอบครัวเมื่อพ.ศ.2516

"โลมาฟันห่าง" - Rough-toothed dolphin : Steno bredanensis อาศัยอยู่ในทะเลเปิด ไม่ค่อยได้พบตามชายฝั่ง ในน่านน้ำไทยพบตัวอย่างโลมาฟันห่างบาดเจ็บมาเกยตื้นบริเวณอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536 แต่มันก็ตายในที่สุด นอกจากนั้นเคยพบเพศผู้และเพศเมียติดอวนลอยโดยบังเอิญเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 บริเวณปากอ่าวพนัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพศผู้ตายในเวลาต่อมา ส่วนเพศเมียได้รับการอนุบาลจนแข็งแรงส่งกลับลงน้ำ

"โลมากระโดด" - Spinner dolphin : Stenella longirostris รูปร่างเพรียว ปากค่อนข้างเล็กเรียวดูคล้ายมีปากยาวกว่าโลมาในชนิดอื่น ลำตัวสีน้ำเงินเข้ม ด้านหลังมีแนวแบ่งสีจางข้างลำตัว มีแถบเข้มพาดจากตาจรดครีบข้าง

"โลมาแถบ" - Striped dolphon : Stenella coeruleoalba ลักษณะคล้ายโลมากระโดดแต่ป้อมอ้วนกว่า หลังสีน้ำเงินเข้มจางลงข้างลำตัว ตัดกันเป็นลายแหลมรูปตัววี แถบสีเข้มเป็นแนวจากลูกตาไปตามข้างลำตัวและโค้งลงตรงบริเวณช่องก้น ด้านท้องขาว พบโลมาชนิดนี้ตอนตายแล้วเกยตื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2535

"โลมาลายจุด" - Spotted dolphin : Stenella attenuate พบทั้งหมด 3 ตัวอย่างที่ จ.สงขลา ภูเก็ต และกระบี่



จาก                  :                   ข่าวสด  คอลัมน์รู้ไปโม้ด  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551