กระดานข่าว Save Our Sea.net

หมวดหมู่ทั่วไป => สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล => ข้อความที่เริ่มโดย: สายน้ำ ที่ กรกฎาคม 24, 2007, 12:44:58 AM



หัวข้อ: แมงกะพรุนน้ำจืด
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ กรกฎาคม 24, 2007, 12:44:58 AM

เสน่ห์แมงกะพรุนน้ำจืด   
 
คาบเวลาของเดือนนี้ (พฤษภาคม) ของทุกๆปี...แมงกะพรุนน้ำจะโผล่ให้เห็นในแม่น้ำเจ้าพระยา และ ลำน้ำเข็ก ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกของประเทศไทย... เพราะส่วนใหญ่ เราจะพบแมงกะพรุนในน้ำเค็ม หรือในทะเลเท่านั้น

หลายชีวิต...จึงไขปัญหา ในเรื่องที่เป็นปริศนา นี้ด้วยการติดตามข้อมูลจาก ดร.กฤษฎา ดีอินทร์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาน้ำจืดพิษณุโลก กรมประมง ซึ่งให้ข้อมูลว่า...แมงกะพรุนน้ำจืดมีลักษณะคล้ายแมงกะพรุนน้ำเค็ม แต่มีเนื้อเยื่อขยาย จากขอบเข้ามาในตัวเป็นลักษณะคล้ายวงแหวน ที่เรียกว่า...Velum มีขนาดเล็กกว่าแมงกะพรุน น้ำเค็ม และมีหนวดรอบขอบตัวประมาณ 50-500 เส้น ตัวใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์

แมงกะพรุนน้ำจืดน่าจะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ของไทยมานานแล้ว โดยชาวบ้านบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า “แมงยุ้มวะ” เป็นภาษา ท้องถิ่น...มีความหมายถึง รูปร่างลักษณะที่ขยับหุบ เข้าออกของขอบตัว ในเวลาที่มันเคลื่อนที่ไปมา

มีรายงานว่า พบแมงกะพรุนน้ำจืดจากอีกหลายแหล่ง เช่นในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ในลำน้ำเข็กทั้งใน เขตจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี...โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี....!!!

ปัจจุบันนักวิจัยยังไม่เข้าใจถึงการกำเนิดของแมงกะพรุนน้ำจืดอย่างถ่อง แท้ ถึงแม้ว่าจะมีสมมติฐาน ที่ใช้กันแพร่หลายว่า... แมงกะพรุนน้ำจืดเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ เกิดจากการถูกขังแยกจากทะเลในช่วงพื้นโลกยกตัวขึ้น แล้วจึงปรับตัว ให้สามารถดำรงชีวิตในน้ำจืดได้และการพัฒนา ของวงแหวนเพื่อช่วยในการพยุงตัวในน้ำจืด (.. น้ำเค็มจะลอยได้ง่ายกว่า...)

และยังเป็นที่ค้างคาใจว่า...ถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริง ทำไมแมงกะพรุนสกุล Craspedacusta (ที่มีการพัฒนา ขอบวงแหวน) จำนวน 11 ชนิด และมีแค่ 3 ชนิด คือ Craspedacusta sowerby Lankester, C.iseana และ C.sinensis ที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนอีก 8 ชนิด กลับอาศัยอยู่แต่ในน้ำเค็ม

นักวิจัยบางส่วนเชื่อว่า แมงกะพรุน น้ำจืดมีเพียง 2 ชนิด คือ C.sowerbyi และ C.sinensis เท่านั้น ส่วน C.iseana เป็นตัวเดียวกันกับ C.sinensis แต่บางกลุ่มก็ยังมีความเชื่ออีกว่ามีเพียงชนิดเดียวคือ C.sowerbyl และ มีต้นกำเนิดชีวิตในประเทศจีน แล้วจึงแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน... แต่ในพฤติกรรมและวงจรชีวิตยังคงเหมือนกันอยู่



ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง บอกว่า....กรมประมงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลกเลี้ยงแมงกะพรุน น้ำจืดในระยะผสมพันธุ์ด้วยไรแดง ในตู้กระจกที่อุณหภูมิน้ำ 21 องศาเซลเซียส ด้วยการเปลี่ยน อุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ

หากการค้นคว้าวิจัยนี้สามารถพัฒนาสู่ ความสำเร็จ ทำให้แมกะพรุนน้ำจืดกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างมูลค่าแก่วงการเพาะ เลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา...ชาวบ้านชุมชนบางระจันแห่งลำน้ำเข็ก ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมแมงกะพรุนน้ำจืด เป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย และเพื่อบริการแก่ผู้ที่อยากสัมผัสแมงกะพรุนน้ำจืด กรมประมงได้นำมาแสดงที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ภายในเกษตรกลางบางเขน ซึ่งเปิดให้เข้าชมในระหว่างเวลา 10.00-16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์หยุด 1 วัน