กระดานข่าว Save Our Sea.net

หมวดหมู่ทั่วไป => สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล => ข้อความที่เริ่มโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 11, 2008, 12:31:42 AM



หัวข้อ: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ มีนาคม 11, 2008, 12:31:42 AM

หอยมุกกัลปังหา

(http://ads.dailynews.co.th/column/images/2008/agriculture/2/9/52674_49590.jpg)

สำหรับประเทศไทยแล้วแหล่งผลิตหอยมุกที่มี ชื่อเสียงจะอยู่ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งมีชื่อเสียงในการเลี้ยงหอยมุกมานาน หอยมุกที่เลี้ยงในฟาร์มจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ Mabe (มา-เบ) เป็นหอยมุกประเภท “มุกซีก” หรือที่คนไทยเรียกว่า “มุกกัลปังหา” มุกประเภทที่ 2 คือ หอยมุก Akoya จัดเป็นหอยมุกที่สร้างไข่มุกขนาดเล็กที่สุดในโลก (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร) และหอยมุก South Sea คือประเภทสุดท้าย หอยประเภทนี้สามารถสร้างมุกได้เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ใหญ่ใกล้เคียงกับเหรียญบาท)
 
ผศ.กรรนิการ์ กาญจนชาตรี และ ผศ.กนกธร ปิยธำรงรัตน์ จากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขตการศึกษาภูเก็ต ได้ทำการศึกษาการเลี้ยงหอยมุกกัลปังหา ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ระดับความลึกผิวน้ำ กลางน้ำและระดับพื้นทะเล บริเวณแหลมหินของเกาะภูเก็ตพบว่ามีผลต่อการสร้างชั้นมุกที่มีความแตกต่างกัน โดยความแตกต่างของการสร้างมุกและการเจริญเติบโต อ.กรรนิการ์บอกว่าขึ้นอยู่กับ ปัจจัยด้านอาหารธรรมชาติคือปริมาณแพลงก์ตอนเป็นสำคัญ หอยมุกทุกขนาดที่เลี้ยงระดับผิวน้ำจะสร้างชั้นมุกได้เร็วและมีการเจริญเติบโตด้านความยาวเปลือก มากกว่าที่เลี้ยงระดับกลางน้ำและระดับพื้นทะเลที่มีปริมาณแพลงก์ตอนน้อย  กว่า จากการทดลองในครั้งนี้สรุปได้ว่า หอยมุกขนาดเล็กที่เลี้ยงที่ระดับความลึกผิวน้ำจะให้ผลผลิตมุกได้เร็ว จึงเป็นการย่นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมุกอันจะส่งผลช่วยลดต้นทุนในการผลิตและ  ลดความเสี่ยงต่ออัตราการตายของหอยมุกได้อีกด้วย เกษตรกรที่เลี้ยงมุกควรจะคัดหอยมุกขนาดเล็กในการติดแกนมุกและเลี้ยงที่ระดับผิวน้ำ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วที่สุดและควรเพิ่มระยะเวลาในการทำความสะอาดเปลือกหอยให้ถี่ขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการเกาะของสิ่งมีชีวิตอื่น อ.กรรนิการ์ยังได้บอกว่าการตรวจสอบการเคลือบชั้นมุกในการผลิตไข่มุกซีกซึ่งฝังแกนมุกไว้บริเวณใต้เปลือก อาจจะสังเกตจากภายนอกได้โดยดูจากการเจริญเติบโตด้านความยาวเปลือกที่เพิ่มขึ้น ทำให้การตรวจสอบรวดเร็วขึ้นและการสูญเสียหอยมุกจากการผ่าได้ในระดับหนึ่ง

(http://ads.dailynews.co.th/column/images/2008/agriculture/2/9/52674_49593.jpg)   (http://ads.dailynews.co.th/column/images/2008/agriculture/2/9/52674_49592.jpg)
 
อ.กรรนิการ์ยังได้บอกเทคนิคในการดู มุกแท้ หรือ มุกเทียม  แบบง่าย ๆ คือ การใช้ไข่มุกมาขัดถูกันเบา ๆ ถ้าหากว่ามีความรู้สึก  หลาบ ๆ สาก ๆ นั่นแสดงว่าเป็นมุกแท้ เพราะความสากเกิดจากสารมุกที่เคลือบเป็นชั้นนั่นเอง แต่ถ้านำมาถูกันแล้วรู้สึกลื่น ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมุกเทียม ในรายละเอียดเมื่อได้สัมผัสแล้วจะพบว่า มุกแท้จะมีความเย็นมากกว่ามุกเทียม
 
วิธีการเก็บไข่มุกที่ถูกวิธีจะต้องเก็บไข่มุกให้ห่างจากเครื่อง สำอาง เช่น สเปรย์ฉีดผม เนื่องจากสารเคมีในเครื่องสำอางจะทำ ให้ความมันวาวของไข่มุกลดลง รวมถึงเหงื่อด้วย และเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าฝ้าย.




จาก                   :                 เดลินิวส์  วันที่ 9 มีนาคม 2551


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: Vita ที่ มีนาคม 11, 2008, 01:43:42 AM
สงสัยมานานแล้วครับว่า.....
หอยมุขที่เราเห็นจำหน่ายอยู่จะเป็นเม็ดกลมๆ 
แต่หอยมุขที่เห็นในธรรมชาติ(ตามภาพ)
จะติดอยู่กับฝาหอย เกือบครึ่งเม็ดแล้ว
อันนี้นี่ต้องใช้เทคนิคพิเศษอะไรรึเปล่าครับ 


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: แม่หอย ที่ มีนาคม 11, 2008, 12:36:01 PM
ไอ้ที่พบเห็นเป็นธรรมชาติน่ะ เกิดเนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมเช่นเม็ดทราย เม็ดกรวด เศษวัสดุต่างๆ ในธรรมชาติพลัดเข้าไปในตัวหอย.. หอยเกิดระคายเคืองก็พยายามขับมุกซึ่งก็คือสารประกอบจำพวกหินปูนแบบเดียวกับเปลือกหอยนั่นแหละค่ะ มาเคลือบวัสดุแปลกปลอมนั้นๆ ไว้ ก็เลยมักเป็นเม็ดกลมๆ หรือไม่ก็เป็นไปตามรูปร่างวัสดุที่แปลกปลอมเข้าไป

หอยมุกที่เลี้ยงผลิตมุกแบบกลม ก็ใช้วิธีสอดแกนมุกกลมๆ เข้าไปฝังไว้ในเนื้อเยื่อในตัวหอย หอยก็ขับมุกมาเคลือบเป็นเม็ดกลมๆ.. พอได้ที่ มนุษย์ผู้เลี้ยงก็แค่ผ่าตัดเบาะๆ ใช้เครื่องมือแคะเอาเม็ดมุกออกมาโดยไม่ต้องฆ่าหอย ..

ส่วนที่เห็นเป็นเม็ดมุกติดอยู่กับเปลือกหอยตามภาพนี้ เป็นหนึ่งในกรรมวิธีเลี้ยงผลิตมุกแบบที่เรียกว่ามุกซีก เลี้ยงง่ายกว่ามุกกลม โดยใช้วัสดุรูปร่างเป็นครึ่งซีก เช่นเม็ดพลาสติกลักษณะครึ่งซีก ติดเข้าไปที่ด้านในเปลือกหอย หอยก็ขับมุกมาเคลือบวัสดุไว้ พอได้ที่เขาก็จะต้องฆ่าหอย ผ่าเอาเปลือกไปตัดแคะเอาวัสดุออก แล้วมีกรรมวิธีการแต่งสีด้านในแล้วปิดด้านหลังด้วยเปลือกหอยตัดขัดแต่ง ให้ดูเรียบร้อยอีกที ..  เรียกว่าตอนเริ่มทำง่าย แต่หลังจากได้มุกแล้วต้องมีกระบวนการแปรรูปยุ่งยากกว่าการเลี้ยงมุกกลม..

ยาว.. และอธิบายยุ่งเหยิงเกินไปหรือเปล่าคะเนี่ย.. แหะๆ.. หมู่นี้ไม่รู้เป็นไร เริ่มพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง.. :(


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: หอยกะทิ ที่ เมษายน 14, 2008, 04:56:19 PM
ได้ความรู้จากพี่แม่หอยเรื่อยเลยครับ ถามต่อนิดนึงถ้าพี่แม่หอยได้มาเจอ ไม่เจอไม่เป็นไรไว้ค่อยถามใหม่ก็ได้

แกนมุกที่เขาใช้วัสดุสอดไป ใช้แบบวัสดุใหญ่หน่อยจะได้เม็ดมุกใหญ่ตามมั๊ยครับ หรือหอยจะตายแทน

ถ้าได้ อย่างนี้มุกเม็ดใหญ่ราคาแพงกว่าตอนซื้อขายควรชั่งน้ำหนักเทียบมั๊ยครับ มีค่ามาตรฐานมั๊ยว่ามุกขนาดไหน น้ำหนักเท่าไหร่

ถ้าต้องชั่งน้ำหนัก ใช้วัสดุพวกโลหะจะได้น้ำหนักเยอะกว่ามั๊ย โกงกันได้ไหม ถามแบบคนไม่รู้ครับ ไม่รู้จะถามใครสงสัยมานาน จะถามคนขายก็กลัวโดนมะเหงก :(


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: แม่หอย ที่ เมษายน 15, 2008, 01:54:40 AM
แกนมุกขนากใหญ่ก็จะให้มุกเม็ดใหญ่แหละค่ะ.. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ใหญ่เกินกว่าที่หอยจะทนแบกรับไว้ได้.. คิดดูสิคะ ถ้าหอยมุกตัวนิดเดียว ต้องอมลูกกอล์ฟไว้ภายใน มีหวังไม่รอดแน่ๆ..  :(

..จำเขามาเล่าต่อนะคะ ข้อมูลจากการที่ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญการฝังมุก(ในหอย) ชาวญี่ปุ่น ชื่ออาจารย์อิชิมูระ.. การเลี้ยงมุกกลมในหอยมุกจาน (ซึ่งเป็นหอยมุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มที่ขนาดเปลือกกว้างเกือบๆ ฟุต) เมื่อเริ่มต้นเลี้ยงในหอยอายุน้อยที่ขนาดยังเล็ก (ตัวขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือนิดหน่อย) เขาจะใส่แกนมุกเม็ดเล็กๆ เข้าไปก่อน (เช่นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มม.) ทิ้งไว้สักปีก็เก็บออกแล้วใส่แกนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเข้าไป (เช่นแกน 8 หรือ 10 มม.) ยังไม่เคยได้ยินว่าเขาทำแกนขนาดมโหฬารกว่านั้นนะคะ.. ปกติการเลี้ยงมุกจานจะใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2 ปีเพื่อให้ชั้นมุกเคลือบหนาสวยแวววาว  แกนแรกใส่แค่ให้หอยเด็กๆ เริ่มหัดสร้างมุกประมาณนั้น เม็ดแรกจะไม่งามเท่าไร แต่พอใส่ครั้งที่สองจะได้มุกน้ำงาม .. หอยมุกจานตัวหนึ่งถ้าได้เลี้ยงตั้งแต่หอยเด็กๆ อาจใส่แกนได้ 2-3 ครั้ง

สำหรับแกนมุก เพื่อให้ผู้หลงไหลควักเงินซื้อได้สบายใจว่าเหมือนเป็นผลิตผลจากธรรมชาติแท้จริงล้วนๆ แกนก็ต้องมีคุณสมบัติความหนาแน่น ความถ่วงจำเพาะ น้ำหนัก และอะไรๆ ก็ตามเหมือนผลิตผลจากธรรมชาติด้วย .. สุดยอดแกนมุกก็ต้องผลิตจากเปลือกหอยสิคะ และเปลือกหอยที่นำมาทำแกนมุกได้ดีเยี่ยมก็คือ เปลือกหอยกาบน้ำจืดชนิดหนึ่งจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้โน่น.. เรียกว่า Pig toe clam ที่คงจะต้องแปลว่าหอยหัวแม่เท้าหมู แม่หอยเคยเห็นของจริงและประวัติความเป็นมาเรื่องราวการทำแกนมุกจากพิพิธภัณฑ์ที่บริษัทมุกแห่งหนึ่งที่เกาะ Ishigaki โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น หน้าตาเหมือนเล็บหมู .. ว่าแล้วก็หิวคากิขาหมู.. :P

นี่พูดเฉพาะแกนมุกกลมนะคะ เพราะมุกกลมนั้นเมื่อเลี้ยงแล้ว ได้ผลผลิตแล้ว แกนก็จะอยู่ในเม็ดมุก  แกนมุกที่ดีก็จะต้องเสมือนประสานเป็นเนื้อเดียวกับมุก เวลาเจาะ (เพื่อร้อยเป็นสร้อยหรือขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับต่างๆ) จะต้องไม่แตกร่าวร่วนทำให้มุกมีตำหนิ อะไรประมาณนั้น .. หากใช้ลูกตะกั่วใส่ถ่วงคงหนักคอพิลึก..ฮิๆ..

ค่ามาตรฐานน้ำหนักมุกมีค่ะ แต่ลืมซะแล้ว ต้องไปค้นหา.. ถ้าเจอและไม่ลืมจะมาเล่าต่อนะคะ
ส่วนเรื่องโกงน่ะ มีแหงล่ะค่ะ ..


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: แม่หอย ที่ เมษายน 15, 2008, 02:00:31 AM
อ่านเรื่องราวของมุกจากเอนไซโคลปีเดียออนไลน์ได้ที่นี่เลยค่ะ.. อยากจะแปลมาเล่า แต่แหม.. แหะๆ.. :P
http://en.wikipedia.org/wiki/Pearl#Gemological_identification


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: หอยกะทิ ที่ เมษายน 15, 2008, 12:49:48 PM
ขอบคุณพี่แม่หอยมากครับ จริงๆไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำการบ้านก่อนถามนะครับ แต่หาข้อมูลแล้วไม่ค่อยเคลีย ถามร้านก็ดูเขาจะมึนกว่าผมซะอีก เลยถามในนี้ดีกว่า น่าจะได้ประสบการณ์ด้วย

และก็ไม่ผิดหวังครับ แถมได้รู้จักหอยเพิ่มอีก 1 ชนิดด้วย ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลยครับ คิดว่าแกนใช้แค่พลาสติกกับเปลือกหอยมุกเองอย่างเดียว (ก็ถามมาจากที่ภูเก็ตมุก...นั่นน่ะครับ) ;D


หัวข้อ: Re: หอยมุกกัลปังหา
เริ่มหัวข้อโดย: สายชล ที่ เมษายน 15, 2008, 01:22:52 PM
ได้ความรู้มาประดับสมองอีกแล้ว...... ;)  ขอบคุณน้องแม่หอยมากค่ะ

ตอนสาวๆเคยถูกต้อนไปดูโชว์การใส่แกนและการแกะเอามุกออกมาขายที่ร้านดังแห่งหนึ่งในโตเกียว เห็นแล้วก็ให้รู้สึกสงสารหอยที่ถูกจับอ้าปากใส่แกน แล้วก็ถูกจับมาอ้าปากเอามุกอีก.... 

แห่ะๆ....แต่ไปๆมาๆก็ได้มุกซีกสีออกฟ้าๆม่วงๆเม็ดโตเท่าปลายนิ้วโป้งมาทำเป็นจี้ห้อยคอ..... ???