กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 15, 2024, 11:01:19 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2552  (อ่าน 2380 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: มกราคม 31, 2009, 01:45:26 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศา ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนบางพื้นที่ สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนยังมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ในตอนเช้า ขอให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. -2 ก.พ. 52 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือด้านตะวันออกของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศา ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ตอนล่างมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และในบางพื้นที่จะมีหมอกหนาเกิดขึ้นได้ด้วย คลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปถึงนราธิวาสมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 3-6 ก.พ. 52 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกเพิ่มมากขึ้นและมีหมอกหนาในบางพื้นที่


ข้อควรระวัง

ในระยะนี้ขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา และบริเวณที่มีฝนตกไว้ด้วย



* Forecast2.jpg (38.11 KB, 684x423 - ดู 496 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 31, 2009, 02:15:40 AM »

ข่าวสด


ชะตาโรฮิงยา-ไทย ในสายตาสื่อตะวันตก                              :                          สกู๊ปพิเศษ


 
เรื่องราวที่ยังคงอยู่ในความสนใจของสื่อตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

ชะตากรรมของแรงงานเถื่อน "โรฮิงยา" ที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย และส่งผล "ด้านลบ" ต่อไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แม้รัฐบาลกำลังพยายามเลี่ยงแล้วก็ตาม)

หลังจากบีบีซีของอังกฤษ และเอเอฟพีของฝรั่ง เศส เจาะลึกเรื่องราวนี้ไปแล้ว สัปดาห์นี้ถึงคิว สื่อ มวลชนยักษ์ใหญ่ของอเมริกา

ซีเอ็นเอ็นรายงานด้วยภาพถ่ายปฏิบัติการทหารไทย ลากเรือพาผู้อพยพโรฮิงยาออกจากเกาะทรายแดง จ.ระนอง ไปปล่อยทิ้งกลางทะเลน่านน้ำสากล

แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นประจำกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ไปยังเกาะทรายแดงเพื่อทำสกู๊ปข่าวนี้โดยเฉพาะ

นายแดนกล่าวว่า จากการเดินสำรวจจุดที่ทหารไทยควบคุมตัวผู้อพยพโรฮิงยาบนเกาะทรายแดง ยังคงพบรองเท้าและจานข้าวตกกระจัดกระจาย

เมื่อนั่งเรือไปหาข้อมูลบนเกาะใกล้ๆ กัน พบว่าชาวบ้านเพิ่งช่วยกันจับตัวผู้อพยพชาวโรฮิงยาคนหนึ่งซึ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวในป่า
 


ทหารไทยเปิดเผยว่า กองทัพไทยดำเนินนโย บายขนผู้อพยพโรฮิงยาไปทิ้งในทะเลจริง แต่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากแต่ละเดือนคนกลุ่มนี้ลักลอบเข้ามาในพื้นที่เป็นร้อยๆ คน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวมาก เพราะบางส่วนเข้ามาขโมยทรัพย์สิน ทั้งยังแสดงพฤติกรรมข่มขู่คุกคามชาวบ้าน

นายแดนรายงานต่อว่า ได้รับภาพถ่ายจากบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับกระบวนการผลักดันผู้อพยพชาวโรฮิงยาออกจากประเทศไทย

ภาพดังกล่าวถ่ายขณะทหารเรือไทยลากเรือเก่าๆ ซึ่งมีผู้อพยพโรฮิงยานั่งอยู่เต็มลำนับร้อยคน ออกไปปล่อยทิ้งกลางทะเลในน่านน้ำสากล และเชื่อว่าเรือดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์

แหล่งข่าวที่มอบรูปถ่ายให้ รวมถึงแหล่งข่าวในกองทัพไทย ยืนยันว่า ขนอาหารและน้ำดื่มใส่เอาไว้บนเรือผู้อพยพด้วย

แม้ว่าผู้รอดชีวิตจากการผลักดันออกไปทะเลจะให้สัมภาษณ์บีบีซีก่อนหน้านี้ว่า อาหารนั้นน้อยมาก เหมือนไม่สนว่าจะอยู่ได้กี่วัน

นายอิกบัล ฮุสเซน อ้างว่านั่งเรือ 6 ลำ พร้อมผู้อพยพหลายร้อยคนออกจากพม่ามาถึงไทยเมื่อเดือน ธ.ค.2551 และถูกทหารไทยควบคุมตัวก่อนจับขึ้นเรือลากออกไปกลางทะเลในเดือนม.ค. แต่เรือจมไป 5 ลำ ทุกคนตายหมด ขณะที่นายอิกบัลโชคดีรอดมาได้เพราะเรือที่นั่งอยู่ย้อนกลับมาถึงฝั่ง

นายแดนรายงานตบท้ายว่า "เราพยา ยามติดต่อขอความเห็นจากรัฐบาลไทยต่อกรณีผู้อพยพโรฮิงยา และได้รับคำตอบว่าอยู่ระหว่างการสอบ สวน ผลสอบสวนทั้ง หมดจะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะ เป็นประเด็น อ่อนไหว"

ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ศาลไทยในจังหวัดระนองตัดสินเมื่อวันจันทร์ว่า แรงงานโรฮิงยา 66 ราย ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อรับโทษแล้วก็จะถูกเนรเทศกลับไปพม่า

"สงสารพวกเราหรือ ถ้าผมและครอบครัวกลับไปล่ะก็ถูกฆ่าแน่" มามู้ด ฮุสเซน วัย 50 ปี คนงานรายหนึ่งให้สัมภาษณ์หลังศาลตัดสิน

ฮุสเซนเล่าว่า กลุ่มของพวกตนอพยพออกมาจากพม่าเมื่อเดือนก่อน เพื่อหนีความยากจนและหนีการถูกลงโทษจากเจ้าหน้าที่ทหารของพม่า

"พวกเขาบอกว่า ต้องไม่มีมุสลิมในพม่า และพวกเขาก็ทุบตีพวกเราต่อ หลังจากนั้นขังพวกเราไว้ 10 วัน แล้วปล่อยออกมาโดยกำชับว่า ถ้ากลับไปอีกจะยิงทิ้งให้หมด"

เอพีรายงานต่อว่า ชาวโรฮิงยาตกเป็นข่าวดัง หลังจากมีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไทยผลักดันแรงงานโรฮิงยากว่า 1,000 คนออกไปทะเล ด้วยเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ และมีอาหารและน้ำเพียงเล็กน้อย

เป็นเชิงเปรียบเทียบชะตากรรม "หนีเสือปะจระเข้" ของชาวโรฮิงยาที่ยังหาทางออกไม่ได้

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: มกราคม 31, 2009, 02:24:08 AM »

X-cite  ไทยโพสต์


1,000 วันในทะเลน้ำแข็ง

ฟริดทอฟ นานเซน นักสำรวจชาวนอร์เวย์ผู้สร้างตำนานผจญภัยสุดขั้วโลก       เรื่อง แฮมป์ตัน ไซด์ส

แม้ทุกวันนี้ ฟริดทอฟ นานเซน นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจผู้กล้า จะไม่เป็นที่รู้จักมากนักนอกนอร์เวย์ แต่เขาคือบิดาแห่งการสำรวจขั้วโลกยุคใหม่โดยแท้ นานเซนยังเป็นนักเขียนที่มีพรสวรรค์ นักสัตววิทยาชั้นแนวหน้า และเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญ เขาพูดได้อย่างน้อย 5 ภาษา ใช้กล้องถ่ายภาพได้อย่างเชี่ยวชาญ วาดแผนที่และภาพประกอบได้สวยงาม เขียนจดหมายโต้ตอบเชิงวิทยาศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมาก และตัดสินใจในการเดินทางสำรวจทุกครั้งอย่างเป็นวิชาการและแม่นยำ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1888 นานเซนออกเดินทางสำรวจกรีนแลนด์เป็นครั้งแรก แต่เขาพลาดเรือเที่ยวสุดท้ายที่จะกลับสู่นอร์เวย์ จึงต้องอยู่ผจญฤดูหนาวต่อไปด้วยการล่าแมวน้ำ หัดพายเรือคายัก และพักอาศัยอยู่กับชาวกรีนแลนด์ ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นพื้นฐานให้กับงานเขียนที่ได้รับการยกย่องของเขา ได้แก่ การเดินทางข้ามกรีนแลนด์ครั้งแรก (The First Crossing of Greenland) ที่ตีพิมพ์ในปี 1890 และสารคดีเชิงชาติพันธุ์วิทยาที่มีชีวิตชีวาอย่างชีวิตชาวเอสกิโม (Eskimo Life)

แม้นานเซนจะประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน แต่การเดินทางอันแสนทรหดของเรือฟราม ระหว่างปี 1893 ถึงปี 1896 คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขามีรสชาติถึงแก่นอย่างแท้จริง การเดินทางสำรวจครั้งนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่แปลกสุดขั้ว เพราะนานเซนจงใจออกเรือเพื่อไปติดอยู่ในอาร์ติก ก่อนหน้านี้เขาได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเรือยู.เอส.เอส. จีนเน็ตต์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ติดอยู่ในกลุ่มก้อนน้ำแข็งเหนือไซบีเรียเมื่อปี 1879 และต้องลอยลำอยู่ในอาร์ติกนานถึง 21 เดือน แต่ในที่สุดก็ถูกแรงดันบดขยี้จนอับปางลงเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี 1881 กระทั่งอีกสามปีต่อมา ข้าวของจากเรือจีนเน็ตต์ จึงถูกซัดขึ้นมาเกยฝั่งกรีนแลนด์ นานเซนนึกสงสัยว่ากระแสน้ำอันทรงพลังที่ไหลจากตะวันออกสู่ตะวันตกของอาร์กติกนั้นอาจนำไปสู่ขั้วโลกเหนือได้ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง นี่เองคือจุดเริ่มต้นของความคิดแหกคอก

เคล็ดลับอยู่ที่การต่อเรือที่ต้องทนทานกว่าจีนเน็ตต์เป็นอย่างมาก และในปี 1891 นานเซนก็ได้ว่าจ้างสถาปนิกออกแบบเรือชาวนอร์เวย์เชื้อสายสกอตผู้ปราดเปรื่องนามคอลิน อาร์เชอร์ ให้ทำเช่นนั้น อาร์เชอร์ออกแบบโครงสร้างลำเรือให้มีลักษณะโค้งมนแปลกออกไปโดยไม่มีกระดูกงูรูปตัววี (V) และมีช่องให้สามารถกว้านหางเสือและใบพัดเรือขึ้นมาได้เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกน้ำแข็งบดอัด ห้องระวางใต้ท้องเรือถูกค้ำยันด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่ นานเซนบุเรือด้วยผ้าขนสัตว์หนาๆ ขนกวางเรนเดียร์ เศษไม้ก๊อก และน้ำมันดินเพื่อให้ลูกเรือและนักสำรวจได้รับความอบอุ่น กังหันลมถูกติดตั้งเพื่อปั่นไฟสำหรับตะเกียงไฟฟ้าที่ช่วยต่อกรกับราตรีอันมืดมิดยาวนานของขั้วโลก ใต้ดาดฟ้าเรือเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่อบอุ่นและสะดวกสบาย รวมทั้งมีห้องสมุดที่บรรจุหนังสือไว้ประมาณ 600 เล่มที่นานเซนคัดสรรมาเป็นอย่างดี

ในฤดูร้อนของปี 1893 นานเซนออกเดินทางพร้อมด้วยลูกเรือ 13 นาย และเสบียงกรังที่เพียงพอสำหรับ 5 ปี มุ่งหน้าสู่หมู่เกาะนิวไซบีเรีย แล้วก็เป็นไปตามคาด เรือฟรามติดอยู่ในน้ำแข็งอย่างรวดเร็วในเดือนกันยายน แรงอัดนั้นรุนแรงมาก แต่ฟรามก็ต้านทานแรงบีบอันน่าพรั่นพรึง และลอยตัวขึ้นเหนือน้ำแข็งได้อย่างไม่ยากเย็นและปราศจากความเสียหาย

แต่พอย่างเข้าปีที่สองก็เริ่มเห็นได้ชัดว่า ฟรามคงไม่มีทางไปถึงขั้วโลก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นานเซนจำเป็นต้องลงจากเรือแล้วออกเดินทางไปบนน้ำแข็งด้วยเลื่อนสุนัข เขาเลือกยาลมาร์ ยูฮานเซน เป็นเพื่อนร่วมทาง ครั้นพอถึงเดือนมีนาคม ปี 1895 หลังจากลองหยั่งเชิงและคว้าน้ำเหลวมาแล้วสองครั้ง ทั้งคู่ก็ละทิ้งความสะดวกสบายของฟรามไปอีกครั้ง ทั้งสองลากเลื่อนสามคันที่บรรทุกเรือคายักสองลำ พร้อมด้วยสุนัข 28 ตัว ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางเหนือ ในไม่ช้านานเซนกับยูฮานเซนก็เผชิญกับปัญหา นั่นคือสภาพภูมิประเทศแสนหฤโหด อุปกรณ์ขัดข้อง แพน้ำแข็งที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วจนทำให้ไปต่อไม่ได้ และเมื่อเสบียงเริ่มร่อยหรอลง ทั้งคู่จำเป็นต้องฆ่าสุนัขตัวที่อ่อนแอที่สุดให้เป็นอาหารของตัวอื่นๆ พอถึงเดือนเมษายน พวกเขาก็เดินทางขึ้นเหนือไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ คือที่ละติจูด 86 องศา 14 ลิปดาเหนือ ถึงแม้ทั้งคู่จะยังอยู่ห่างจากขั้วโลกอีก 364 กิโลเมตร แต่พวกเขาก็ได้เดินทางขึ้นเหนือไปได้ไกลกว่าที่มนุษย์คนใดเคยไปถึง

นานเซนให้คำมั่นกับอีวาภรรยาของเขาไว้ว่า เขาจะเอาชีวิตรอดกลับบ้าน และนั่นก็สำคัญกับนานเซนมากกว่า การเอาชีวิตเป็นเดิมพันกับชื่อเสียงในฐานะผู้พิชิตขั้วโลก ดังนั้นนานเซนจึงหันหลังเดินทางกลับอย่างระมัดระวัง ทั้งคู่ไม่ได้มุ่งกลับไปหาฟราม ซึ่งคงลอยไปไกลเกินกว่าจะไปถึงได้แล้ว แต่มุ่งหน้าสู่กลุ่มเกาะฟรานซ์โจเซฟแลนด์ที่อยู่ห่างไปทางใต้เกือบ 1,000 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั้น พวกเขาต้องฆ่าสุนัขที่เหลือ (โดยใช้วิธีเชือดคอเพื่อประหยัดกระสุนปืน)

ตลอดฤดูร้อนปี 1895 นานเซนกับยูฮานเซนเดินทางตามหากลุ่มเกาะฟรานซ์โจเซฟแลนด์อย่างเลื่อนลอย ทั้งคู่เดินทางด้วยสกีบ้าง เดินเท้าบ้าง และพายเรือคายักบ้าง ไปตามเส้นทางบนแพน้ำแข็งอันวกวนสุดลูกหูลูกตา คั่นด้วยทางน้ำที่เกิดจากน้ำแข็งละลายเป็นช่วงๆ ในที่สุดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม สองนักสำรวจก็เดินทางถึงเกาะแห่งหนึ่งซึ่งเป็นแผ่นดินผืนแรกที่พวกเขาได้เหยียบในระยะเวลากว่าสองปี และแล้วโชคชะตาของพวกเขาก็พลิกผัน การล่าหมีขั้วโลกและวอลรัส ทำให้ทั้งคู่มีเนื้อสดกินอย่างเพียงพอ และเรียกกำลังวังชากลับคืนมาได้ในไม่ช้า ครั้นพอถึงวันที่ 26 สิงหาคม ขณะที่ซอกแซกไปทางใต้ผ่านกลุ่มเกาะน้ำแข็งอยู่นั้น ทั้งคู่ก็รู้ตัวว่าคงต้องใช้ชีวิตอยู่ห่างบ้านอีกเหมันต์ฤดูอันมืดมิดของอาร์กติก

นานเซนกับยูฮานเซนใช้รางเลื่อนที่หักแทนพลั่วเพื่อสร้างกระท่อมชั่วคราวขึ้น พวกเขาอาศัยอยู่ในนั้นต่อไปอีก 9 เดือน ใช้ถุงนอนมันเยิ้มใบเดียวกัน ประทังชีวิตด้วยซุปหมีขั้วโลกและเนื้อหมีทอดด้วยไขมันวอลรัส แม้จะติดอยู่ในสภาพแวดล้อมอันทารุณเช่นนั้น พวกเขาก็ยังครองสติอยู่ได้อย่างน่าทึ่ง

เมื่ออากาศอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิมาถึง นานเซนกับยูฮานเซนก็ออกเดินทางจากกระท่อม ลัดเลาะลงใต้ผ่านกลุ่มเกาะไปด้วยสกีและเรือคายัก เมื่อวอลรัสตัวหนึ่งชนเรือของนานเซนจนพลิกคว่ำ พวกเขาก็แวะพักให้เนื้อตัวแห้งที่เกาะนอร์ทบรุก และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายข้ามน่านน้ำเปิดไปยังกลุ่มเกาะสปิตส์เบอร์เกน แต่แล้วพอถึงวันที่ 17 มิถุนายน พวกเขาก็ได้พบกับเฟรเดริก จอร์จ แจ็กสัน นักสำรวจชาวอังกฤษผู้แล่นเรือวินด์เวิร์ดของเขามายังกลุ่มเกาะฟรานซ์โจเซฟแลนด์ เพื่อเตรียมการเดินทางสู่ขั้วโลกเช่นกัน แจ็กสันรับรองทั้งคู่ที่กระท่อม ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของเขา ที่นั่นพวกเขารอให้เรือวินด์เวิร์ดที่ถูกส่งกลับไปอังกฤษเพื่อขนเสบียงเมื่อปีก่อน กลับมารับพวกเขาเพื่อนำไปส่งที่นอร์เวย์

เมื่อนานเซนและยูฮานเซนกลับถึงนอร์เวย์ การต้อนรับวีรบุรุษกลับบ้านก็มีเรื่องให้มายินดีขึ้นไปอีกในสัปดาห์ถัดมา เมื่อทุกคนได้รับทราบข่าวดีว่า กัปตันออตโท สเวอร์ดรุป นำฟราม แล่นฝ่าน้ำแข็งอาร์กติก และเดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพในเดือนเดียวกัน

การที่นานเซนไปไม่ถึงขั้วโลกตามเป้าหมายนับว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเขาได้เข้าใกล้ขั้วโลกแล้ว และเขาก็ทำได้อย่างสง่างามและสมภาคภูมิ แม้ว่าโชคจะเข้าข้างการเดินทางของเขา แต่นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงการมองการณ์ไกลและการตัดสินใจที่รอบคอบของนานเซน เพราะไม่มีลูกเรือเสียชีวิตเลยสักคนเดียว ชื่อของนานเซนไม่เพียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ยังกลายเป็นยี่ห้อสินค้าหลายอย่าง เขาใช้เวลาหลายเดือนในการเดินทางเพื่อฉลองชัยชนะและโปรโมตหนังสือไกลสุดเขตเหนือ (Farthest North) ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางอันแสนทรหดของเขาในครั้งนั้น

หนึ่งในบุคลิกเฉพาะตัวที่น่ายกย่องของนานเซน ซึ่งหาได้ยากในนักสำรวจก็คือ เขารู้ว่าเมื่อไรควรวางมือ เมื่อรู้สึกว่าเวลาแห่งการผจญภัยของตัวเองหมดลงแล้ว นานเซนก็ปล่อยเรื่องการสำรวจขั้วโลกให้เป็นภาระของนักสำรวจรุ่นหลังแทน นานเซนหันไปสนใจศาสตร์แขนงใหม่ๆ เช่น สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยาและการทูต ในปี 1906 หนึ่งปีหลังจากนอร์เวย์ได้รับเอกราชจากสวีเดน นานเซนได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหราชอาณาจักรคนแรกของนอร์เวย์ ภายหลังเขาหันไปสนใจงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งสันนิบาตชาติ นานเซนได้ช่วยส่งเชลยสงครามกลับคืนสู่มาตุภูมิ และคลี่คลายวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในตุรกีและรัสเซีย ภารกิจอันหนักอึ้งและต้องตระเวนเดินทางอย่างไม่หยุดหย่อน ในครั้งนั้นส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1922

แต่แล้วในปี 1930 นานเซนก็จบชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายขณะอายุได้ 69 ปี บนเฉลียงบ้านที่มีลักษณะคล้ายปราสาทของเขาในเมืองไลซาเคอร์ ชานกรุงออสโล ที่ซึ่งอัฐิของเขาถูกฝังไว้ใต้ป้ายหลุมศพเรียบๆ ในสนามหญ้าด้านทิศใต้ ปัจจุบันบ้านโพลฮอกดาแห่งนี้ได้กลายเป็นสถาบันที่อุทิศให้กับการศึกษาวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ในห้องทำงานซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของหอคอย เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่นานเซนใช้ในการสำรวจวางอยู่ตรงตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นแผนภูมิและแผนที่ที่เปื่อยยุ่ย "แว่นกันแดด" แบบชาวอินูอิต ซึ่งทำจากไม้ที่มีรอยกรีดเป็นทางยาวแทนเลนส์ รวมทั้งพรมหนังหมีขั้วโลกที่ผุผังไปครึ่งผืนแผ่อยู่บนพื้นไม้ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด จากบนนั้นเราสามารถมองผ่านป่าหนาทึบออกไปยังฟยอร์ดอันหนาวเหน็บ ซึ่งเป็นจุดที่ ฟราม มุ่งหน้าออกสู่ทะเล และเป็นที่ตั้งของสุสานอันอลังการของมันด้วย ณ ที่นั้น ฟราม หาใช่เป็นเพียงเรือของนานเซน หากเป็นนาวาของชาวนอร์เวย์ทั้งมวล เก้าอี้ที่โต๊ะทำงานของเขาหันหน้าไปทางหน้าต่าง สู่ทิศทางเพียงทิศทางเดียวที่ฟริดทอฟ นานเซน รู้จักนั่นคือมองไปข้างหน้า.


*************************************************************************************************************************


เด็กแขนเดียวจ่อแชมป์โต้คลื่น  เสียแขนเพราะฉลามกัดไม่เคยท้อ

เด็กหญิงในฮาวายคว้าชัยเป็นอันดับสอง ในการแข่งขันนักเล่นกระดานโต้คลื่นระดับโลก เผยเจ้าตัวถูกปลาฉลามขย้ำจนต้องตัดแขนทิ้ง แต่ไม่ยอมละทิ้งกีฬาชนิดนี้

เบธานี แฮมิลตัน ได้ถูกฉลามเสือตัวยาว 15 ฟุตกัดเมื่ออายุ 13 ปี ขณะกำลังโต้คลื่นที่ฮาวายเมื่อปี 2546 แต่เธอไม่ยอมละทิ้งความฝัน

เธอสามารถมาเป็นอันดับสองในการแข่งขันโต้คลื่นเยาวชนหญิงระดับโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เบธานี  ปัจจุบันอายุ 18 ปี บอกว่า "หนูไม่คิดว่าตัวเองจะเลิกเล่นกระดานโต้คลื่น หลังเกิดเหตุ  หนูสงสัยว่าตัวเองจะเล่นได้อีกหรือเปล่า  แต่ก่อนที่หนูจะออกจากโรงพยาบาล  หนูตัดสินใจแล้วว่าหนูจะกลับไปเล่นอีก"

นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เด็กสาวรายนี้ได้กลับไปลงน้ำอีกครั้ง หลังถูกฉลามเล่นงานได้แค่ 3 สัปดาห์

"หนูต้องเอาชนะความรู้สึกกลัวฉลาม  ทุกวันนี้หนูก็ยังกลัว  แต่หนูคิดว่า หนูจะแพ้เพราะเรื่องนี้ไม่ได้".

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.109 วินาที กับ 21 คำสั่ง