กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 05, 2024, 04:56:50 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2552  (อ่าน 3494 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: มีนาคม 13, 2009, 12:34:58 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยในวันนี้ (13 มี.ค.) ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 มีนาคม 2552 โดยเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะได้รับผลกระทบต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณที่กล่าวมา ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก ที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย โดยขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือใต้ต้นไม้สูงเด่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งงดใช้เครื่องมือสื่อสารหรือวัตถุที่อาจเป็นสื่อไฟฟ้า ในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง สำหรับภาคใต้จะได้รับผลกระทบในวันที่ 14 มี.ค. โดยที่จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น รวมทั้งคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ดังนั้นชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะ 2-3 วันนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน และมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่และลมกระโชกแรงบางแห่ง  อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศา อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศา  ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. 
 

คาดหมาย

ในวันที่ 12 มี.ค. ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 มี.ค. ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศร้อนขึ้น และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากในตอนเบ่ายถึงค่ำ


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 13-16 มี ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่



* Forecast2.jpg (39.33 KB, 684x423 - ดู 789 ครั้ง.)

* Earthquake.jpg (31.57 KB, 450x497 - ดู 789 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 13, 2009, 12:43:27 AM »

ผู้จัดการออนไลน์


นำ 5 ศพเหยื่อเรือล่มถึงฝั่ง-ผู้สูญหายอีก 1 รายเจ้าหน้าที่กำลังเร่งหา



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่นำศพเหยื่อเรือล่มทั้ง 5 ราย กลับถึงฝั่งแล้ว คาดเป็นนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตรวจพิสูจน์ยืนยัน ขณะที่ผู้สูญหายอีก 1 ราย เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาภายในเรือ ด้าน ผบช.ทัพเรือภาค 3 ระบุ หากไม่พบอีกรายในวันพรุ่งนี้จะบินสำรวจทางอากาศอีกครั้ง
       
       เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.วันนี้ (12 มี.ค.) เรือ ต.814 หรือเรือคุณพุ่ม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้นำศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือโชคสมบูรณ์ 19 ล่มในฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 5 ราย ซึ่งเสียชีวิตอยู่ในเรือลำที่เกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพขึ้นมาได้ในวันนี้ (12 มี.ค.)เดินทางกลับมาถึงท่าเทียบเรือน้ำลึก ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมี นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ร.ท.ณรงค์ เทศวิศาล ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ ผู้กำกับการตำรวจน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลธรรม คอยอำนวยความสะดวก
       
       อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศพทั้งหมดเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต ได้นำศพทั้งหมดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อตรวจสอบยืนยันบุคคล
       
       สำหรับศพนักท่องเที่ยวที่พบและนำขึ้นมาในวันนี้ ประกอบด้วย ศพของชาวออสเตรียจำนวน 2 คน คือ Konradoer Klaus เพศชาย และ Schuster Monika เพศหญิง นอกจากนั้น ยังมีศพของชาวสวิสเซอร์แลนด์จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย Bucher Sibylle เพศหญิง และ Niederberge Rolf เพศชาย ส่วนศพที่พบล่าสุดในวันนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ชื่อ นาย Yuba Hirotsuga
       
       พ.ต.ท.วัลลพ พวงผกา สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ กล่าวว่า สำหรับการค้นหาและกู้ศพของผู้เสียชีวิตในวันนี้ทีมนักประดาน้ำได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ชุด โดยให้ 2 ชุดทำการกู้ศพ และอีก 1 ทีมเป็นทีมค้นหา ซึ่งในการค้นหาผู้สูญหายที่คาดว่าเป็นคนไทย วันนี้ทีมค้นหาได้ดำน้ำลงไปค้นหาอีกรอบ
       
       ขณะที่ พล.ร.ท.ณรงค์ เทศวิศาล ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ กล่าวว่า หากการค้นหาผู้สูญหายอีก 1 ราย ไม่พบในเรือลำที่เกิดเหตุพรุ่งนี้จะนำเครื่องบินขึ้นบินสำรวจทางอากาศเพื่อค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีกครั้ง
       
       ส่วนกรณีของศพผู้เสียชีวิตที่ทำพิธีฌาปนกิจในวันนี้ ได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวว่า พรุ่งนี้ (13 มี.ค.) ทางญาติจะนำกระดูกไปลอยอังคารในทะเลที่จังหวัดภูเก็ต สาเหตุก็เนื่องจากผู้เสียชีวิตรักและชื่นชอบจังหวัดภูเก็ตและรักทะเลมาก


****************************************************************************************************************************


 จับปลาเบงกอลได้น้อยลงพม่าเชื่อเหตุไซโคลนนาร์กิส


ภาพจาก Flickr.com ถ่ายในเดือน ก.พ.2552 คนงานหญิงกำลังนำปลาบรรจุในตะกร้าขึ้นบก ก่อนหน้านี้ต้องใช้เรือเล็กขนถ่ายจากเรือใหญ่ ปีสองปีมานี้ชาวประมงในเขตชายฝั่งทะเลเบงกอล จับปลาได้น้อยลงอย่างน่าใจหายและยังไม่ทราบสาเหตุ

ชาวประมงอวนลากพม่าในเขตเมืองตานด่วย (Thandwe) รัฐยะไข่ (Rakhine) กำลังลำบากหนัก จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละวันลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ ในเดือน ก.พ.ที่ฤดูหาปลาเริ่มขึ้น เจ้าของเรือประมงขาดทุนไปตามๆ กัน
       
       ตามรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ชาวประมงที่เมืองดังกล่าวอันเป็นแหล่งจับปลาจากทะเลเบงกอลที่ขึ้นชื่อ จับปลาได้น้อยลงถึง 75% ในช่วงเดือนต้นปีนี้ จากที่เคยจับได้รวมกันวันละประมาณ 3,000 วิส (4,800 กิโลกรัม)
       
       ยังไม่มีผู้ใดอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อกันว่าอาจจะเป็นผลกระทบจากไซโคลนนาร์กิส ที่ก่อตัวในทะเลเบงกอลและพัดถล่มชายฝั่งจนถึงที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี กรุงย่างกุ้งและเขตพะโคที่ห่างออกไปกว่า 200 กิโลเมตร
       
       นายทินทุน (Tin Tun) ซึ่งประกอบอาชีพประมงในตานด่วยมานาน 30 ปี บอกกับเมียนมาร์ไทมส์ว่า ปรากฏการณ์นี้เริ่มส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่ปลายปี 2551 หลังพายุนาร์กิสพัดทำลายล้างสรรพสิ่งในเดือน พ.ค.และยังไม่มีใครสามารถอธิบายสาเหตุได้ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ปี่ที่ผ่านมาชาวประมงจับปลาจากทะเลเบงกอลมากจนเกินไป
       
       "ทุกปีที่ผ่านมาริมหาดจะเต็มไปด้วยปลาที่ชาวบ้านนำออกผึ่งแดดทำปลาแห้ง แต่ในช่วงปีสองปีมานี้หาดทรายว่างลงอย่างเห็นๆ มีปลาตากแห่งอยู่เป็นหย่อมๆ เท่านั้น" นายทินทุนกล่าว
       
       "วันนี้เราจับปลาแทบไม่ได้เลย นั่นคือสูญไป 30,000 จั้ต (1,500 บาท) เป็นค่าน้ำมันเพื่อแล่นเรือออกหาปลาคืนหนึ่งๆ เรายังต้องจ้างคนงานหญิงช่วยตากแห้งปลาและจ้างคนงานอีก 20 คน"
       
       ชาวประมงอีกหลายคนตามหมู่บ้ายต่างๆ ที่เรียงรายตามชายหาดงาปาลี (Ngapali) ให้ข้อมูลคล้ายกับนายทินทุน ทุกคนบอกว่าปีนี้จับปลาได้น้อยลงอย่างผิดปกติ จากที่ผ่านมาทุกเช้าเมื่อเรือกลับเข้าถึงฝั่ง ที่นั่นจะมีปลากองพะเนินกันนับเป็นตันๆ
       
       เรือหาปลาจากทันด่วยจะแล่นออกสู่ท้องทะเลห่างจากฝั่ง 30-32 กม. เพื่อลากอวนในเวลากลางคืน และ กลับเข้าฝั่งให้ทันเวลาเช้าเพื่อนำปลาไปผึ่งแดนให้แห้งบนหาดทราย และส่งขายตลาดในเมือง
       
       ใน 8 หมู่บ้านตั้งแต่หาดงาปาลีไปจนถึงตัวเมืองมีเรือประมงใหญ่น้อยราว 300 ลำ แต่ละคืนจะมีเรือแล่นออกจากฝั่งราว 100-120 ลำ และ เมื่อครั้งที่ยังไปได้ดี แต่ละลำอาจจะจับปลาได้คืนละ 800 หรือ กว่า 1 นั้น หาดทรายยาวเหยียดก็จะเต็มไปด้วยปลาตากแห้ง

   
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตเมืองตานด่วย (Thandwe) กับชายหาดงาปาลีในรัฐยะไข่ (Rakhine) ที่เป็นย่านประมงท้องถิ่นกับหาดทรายสวย มีสนามบินและถนนลาดยางเข้าถึงแล้ว   
 
       ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง แต่ก็ยังอยู่ได้เนื่องจากราคาปลาในตลาดไม่ได้ลดลง แต่ยังขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 จั๊ต (100-150 บาท) ต่อกิโลกรัม ระดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตามนายทินทุนกล่าวว่า ทุกคนได้แต่หวังว่าในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ทุกอย่างจะเป็นปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่จับปลาได้มากที่สุดในทะเลเบงกอล
       
       "เราไม่มีทางทราบได้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงจับปลาได้น้อยลงกว่าปีก่อนๆ" นายทินทุนกล่าว
       
       ทุกๆ ปีจะมีพายใหญ่พัดเข้าสู่ฝั่งทะเล ตั้งแต่ตอนใต้รัฐยะไข่ปีละหลายลูก แต่พายุนาร์กิสเมื่อปีที่แล้วเป็นลูกที่สร้างความเสียหายให้แก่พม่าอย่างหนักหน่วงที่สุด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 100,000 คน
       
       ฝนตกหนักทำให้น้ำในเขตปากแม่น้ำอิรวดีเอ่อขึ้นท่วมชุมชนต่างๆ ริมฝั่ง พายุลมแรงได้หอบคลื่นจากทะเลพัดเข้าสู่หมู่บ้านและหอบผู้คนกับบ้านเรือนหายไปในพริบตา นาข้าวถูกทำลายครึ่งต่อครึ่ง
       
       กรุงย่างกุ้งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุลูกนี้ ซึ่งได้พัดผ่านไปจนถึงเขตพะโค (Bago) รัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ติดชายแดนไทย.

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 13, 2009, 12:50:19 AM »

ข่าวสด


"ตรัง"ทุ่ม 8 ล.ทำปะการังเทียมชายฝั่ง เป็นที่อาศัยสัตว์น้ำ-ป้องกันทำประมงผิดกฎหมาย

ตรัง - นายสุริยะ วิฑูรย์พันธุ์ ประมงจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า บริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ทั้งนี้ เนื่องจากการจับสัตว์น้ำมากจนเกินศักยภาพการผลิต การจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อนเวลาอันสมควร สภาวะแวดล้อมทางทะเลไม่เอื้ออำนวยต่อการวางไข่ การเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ของชาวประมงอยู่ในฐานะยากจน บางส่วนต้องเลิกทำอาชีพประมง และส่วนที่ยังคงอาชีพประมงต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่งมากขึ้น ทำให้เพิ่มต้นทุนในการลงแรงประมงและเสี่ยงภัยธรรมชาติสูง รวมทั้งขัดแย้งกับชาวประมงพาณิชย์ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านมักเสียเปรียบตลอดมา ถ้ายังคงปล่อยให้ภาวการณ์ประมงดำเนินไปโดยไม่แก้ไข อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการประมง

"จังหวัดตรังได้อนุมัติงบประมาณรายจ่าย ปี พ.ศ. 2552 รายการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด โดยอนุมัติให้สำนักงานประมงจังหวัดตรัง ดำเนินโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดเล็ก (ปะการังเทียม) จำนวน 1 โครงการ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรังคือ หมู่ที่ 2 บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง และหมู่ที่ 1 บ้านเสียมไหม ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน เป็นเงินทั้งสิ้น 8,477,400.-บาท" นายสุริยะ กล่าว

และว่า งบประมาณดังกล่าวจำแนกรายละเอียดค่าใช้จ่ายไว้ดังนี้ คือ งบดำเนินงาน เป็นเงิน 287,400 บาท งบลงทุนเป็นจำนวนเงิน 8,190,000 บาท ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดเล็ก (ปะการังเทียม) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ คือค่าก่อสร้างแท่งคอนกรีต ขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร. จำนวน 1,689 แท่ง ทุ่นลอยแสดงตำแหน่งและขอบเขต จำนวน 24 ทุ่น โดยวาง 3 แห่ง แห่งละ 563 แท่ง ทุ่นลอยแห่งละ 8 ทุ่น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถใช้เป็นแนวป้องกันเครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนลาก อวนรุนไม่ให้เข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้ามได้ในระดับหนึ่ง


*********************************************************************************************************************************


หมอเตือนอันตราย-กินไข่แมงดาถ้วยถึงตาย

ตรัง - น.พ.สมนึก เชื้อทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีชาวประมง ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง กินไข่แมงดาแล้วเกิดหมดสติไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการชันสูตรพบว่าผู้ตายกินไข่แมงดาถ้วย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าแมงดาไฟ ซึ่งมีพิษต่อร่างกายมีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

น.พ.สมนึก กล่าวว่า อยากจะฝากเตือนประชาชนว่า ควรหลีกเลี่ยงไม่กินไข่แมงดา หากจะกินควรเลือกกินไข่แมงดาจาน ให้สังเกตความแตกต่างระหว่างแมงดาทั้ง 2 พันธุ์ ถ้าเป็นแมงดาจานจะมีขนาดตัวใหญ่ หางเป็นเหลี่ยม แต่ถ้าเป็นแมงดาถ้วยหางจะค่อนข้างกลม ตัวและตาเป็นสีแดง หากกินเข้าไปทำให้เกิดอาการแพ้ได้

อาการที่บ่งบอกว่าได้รับพิษจากไข่แมงดามีขั้นของความรุนแรง คือ 1.ชารอบปาก 2.แขนขาไม่มีแรง 3.กลืนอาหารลำบาก พูดจาไม่สะดวก หายใจติดขัด และ 4.หายใจไม่ออก หากกินไข่แมงดาแล้วเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้รีบนำส่ง โรงพยาบาลทันที

น.พ.สมนึก กล่าวว่า เมื่อสอบถามเจ้าของร้านอาหารทะเลรายหนึ่ง ในอ.สิเกา ทราบว่า ปกติแล้วร้านอาหารทั่วไปจะซื้อเฉพาะแมงดาจานเท่านั้น แต่ก็ต้องมีขั้นตอนการปรุงที่ปลอดภัย คือเมื่อแกะไข่แมงดาจานออกมาแล้ว ต้องตัดอวัยวะที่เรียกว่าสะดือแมงดาซึ่งมีสีขาว อยู่กลางลำตัวออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นหากกินเข้าไปก็จะทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน


****************************************************************************************************************************


"แม่ฮ่องสอน"อ่วมฝุ่นควันเกินมาตรฐาน

แม่ฮ่องสอน - นายพรชัย ต้นสายเพชร หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน มีหมอกควันปกคลุมโดยทั่วไป ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เป็นต้นมา พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือค่า PM 10 มีค่าเท่ากับ 127 ไมโครกรัม มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 120 ไมโครกรัม และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 10 มี.ค. พบว่าค่า PM 10 มีค่าเกินมาตรฐานที่ 207.8 ไมโครกรัม เป็นอันตรายและมีผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของประชาชน นอกจากนั้น ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI มีค่าสูงเกิน 100 คือ มีค่าสูงถึง 138 อีกด้วย จึงขอความร่วมมือจากประชาชนเกษตรกรอย่าลักลอบเผาป่า เพื่อลดปัญหาหมอกควัน และสุขภาพโดยรวมด้วย


**************************************************************************************************************************


พายุทรายซัดเมือง


 
พายุทรายลูกยักษ์พัดกระหน่ำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นภาพที่ตื่นตะลึงเหมือนในภาพยนตร์ ความเร็วลมส่งให้ฝุ่นทรายฟุ้งตลบทั่วทั้งเมือง ทำให้เครื่องบินที่สนามบินนานาชาติคิง คาลิดต้องหยุดชะงัก กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ทัศนวิสัยแย่มาก เตือนให้ประชาชนหลบอยู่ในอาคาร ขณะที่ประเทศคูเวตได้รับผลกระทบจากพายุทรายเช่นกัน (ภาพ-เอพี)

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: มีนาคม 13, 2009, 12:58:55 AM »

กรุงเทพธุรกิจ


ไฟไม่มา ป่าก็หมด



นักวนศาสตร์ชี้ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ระบุปัญหาขยายตัวจากการแย่งที่ดิน-เหตุขัดแย้งการเมือง ย้ำอย่าโยนบาปให้ชาวบ้าน

"ไฟมา ป่าหมด" ป้ายสื่อความหมายสีแดงที่ติดตั้งไว้ตามพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แม้จะไม่ได้ช่วยให้ไฟลดลงแม้แต่น้อย แต่ก็ได้ผลอย่างยิ่งในการทำให้ไฟป่ากลายเป็นมหันตภัยร้าย ซึ่งแน่นอนว่าภายใต้ความเชื่อนี้ใครก็ตามที่ทำให้เกิดไฟ พวกเขาย่อมตกเป็นจำเลยของสังคม

ข่าวไฟป่าที่หมุนวนกลับมาทุกปีในช่วงหน้าแล้ง นอกจากจะให้ภาพที่ดูน่าหวาดกลัว ยังคงมีท่วงทำนองเดิมๆ เป็นต้นว่า เกษตรกรเผาไร่ ชาวบ้านเผาป่าหาเห็ด และจบลงด้วยประโยคคุ้นหู "งบประมาณไม่เพียงพอ"

หลายทศวรรษที่ผ่านมาปัญหาไฟป่าจึงกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างจริงจัง มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใช้งบประมาณอย่างจริงจัง แต่กลับไม่เคยแก้ปัญหาได้จริงๆ

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ไฟจะมาจนป่าหมดหรือไม่ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้ศึกษาและติดตามปัญหาไฟป่ามากว่า 40 ปีได้ยินแล้วไม่ขอตอบ แต่ย้อนถามว่า "มันเป็นตรรกะหรือไม่" เพราะเท่าที่มีหลักฐาน ไฟป่ามีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะป่าเขตร้อนอย่างประเทศไทยถือเป็นวงจรของธรรมชาติที่มีทั้ง 'คุณ' หากใช้ประโยชน์จากไฟอย่างเหมาะสม และ 'โทษ' หากขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง   

ช่วงนี้มีข่าวไฟป่าในหลายพื้นที่ อาจารย์มองว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นหรือไม่
 
เท่าที่มีการบันทึกตั้งแต่สมัยโปรตุกิสล่องเรือมาแถบนี้ เมื่อประมาณปีค.ศ.1500 กว่าๆ ก็ได้เห็นควันไฟในสุมาตรา ในเกาะแถวมะละกา คือพอถึงหน้าแล้งมันก็ไหม้อย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว แต่ว่าแนวโน้มที่จะรุนแรงก็มีเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับท้องถิ่น เป็น Regional มากกว่า Global เพราะมันมาจากปัญหาการทำลายป่า ซึ่งในแถบนี้ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น เพื่อนบ้านเราก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เช่น พม่า ลาว อินโดนีเซีย

แล้วเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนไหม

เรื่องโลกร้อนบางคนเขาก็ไม่เชื่อ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างที่เรารู้มันมีรอบของ เอลนิโญ ลานิญา บางพีเรียดก็แห้งแล้ง บางพีเรียดก็ชุ่มชื้น เป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่ามากขึ้นมันสัมพันธ์กับการขยายพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเหมือนกันทุกแห่ง อย่างไฟไหม้ใหญ่ที่อินโดนีเซียเมื่อสักสิบปีที่ผ่านมา อันนั้นเกิดจากกิจกรรมสวนปาล์มน้ำมัน จากรายงานของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าโลกที่เข้าไปศึกษา พบว่ากิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟป่าก็คือการตัดป่าดงดิบของสุมาตราของบอร์เนียว เพราะเขาต้องตัดป่า เผา แล้วค่อยปลูกปาล์มขึ้นมา

อีกสาเหตุหนึ่งคือความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดิน มีการอพยพคนจากเกาะหนึ่งไปอยู่อีกเกาะหนึ่งที่มีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่แล้ว ทีนี้พอเกิดความขัดแย้งก็ใช้ไฟนี่แหละเป็นเครื่องมือ เพราะว่าสวนปาล์มเป็นของกลุ่มทุนต่างชาติ ฉะนั้นปัญหาไฟป่านอกจากมาจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม ยังเป็นปัญหาของการเมืองปัญหาความขัดแย้งด้วย

สถานการณ์ไฟป่าในแต่ละภูมิภาคของโลกไม่เหมือนกัน?
 
ไม่เหมือนกัน สภาพป่าเขตร้อนอย่างบ้านเรากับป่าเมืองหนาวก็ไม่เหมือนกัน อย่างออสเตรเลียที่เราเห็นข่าวไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเป็นประเทศที่มีความแห้งแล้งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แล้วคนในออสเตรเลียโดยทั่วไปยังผูกพันอยู่กับการทำเหมือง เพราะเขามีทรัพยากรแร่ค่อนข้างจะเยอะ การอนุรักษ์จริงๆ ก็มี แต่คนที่ไม่อนุรักษ์ยังมีอยู่มากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นก็มีการทำลายป่าเยอะ สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปเยอะ สภาพการตั้งบ้านเรือนชุมชนก็ต่างกัน เวลาเกิดไฟของเขาก็จะเสียหายรุนแรง มีคนตาย หรือในอเมริกาก็เหมือนกัน มีความรุนแรงมากขึ้น เพราะบางครั้งมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางแห่งนักท่องเที่ยวก็เข้าไปเยอะ

ปัญหาไฟป่ามันมีปัญหาอยู่สองอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ อันที่หนึ่งคือ ระดับความรุนแรง Fire Hazard ส่วนมากมาจากเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในป่า ซึ่งมันค่อนข้างจะมีมากกว่าเมื่อก่อน อันนี้สัมพันธ์กับการจัดการทรัพยากร คือพูดง่ายๆ ว่าภาครัฐเกือบทุกประเทศไม่ต้องการให้เกิดไฟไหม้เพราะฉะนั้นก็เกิดการทับถมของเชื้อเพลิง ฉะนั้นเวลาเกิดไฟระดับของความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต

อันที่สองเขาเรียกว่าโอกาสในการเกิดไฟ หรือความเสี่ยงในการเกิดไฟ Fire Risk อันนี้ก็มีมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้าไป มีคนตกงาน อย่างตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกษตรกรน่าสงสาร พืชผลทางการเกษตรหลายอย่างขายไม่ได้ มีวัวสักสองสามตัวก็เลี้ยงตามพื้นที่สาธารณะ บางครั้งไม่มีเงินซื้ออาหารสัตว์ ช่วงปลายเดือนกุมภาเขาก็ต้องจุดไฟเผา แต่พอมีนาคมหญ้าก็ขึ้นแล้ว

แสดงว่าไฟป่าจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดการด้วย?

ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเราเน้นมากๆ ที่จะไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นมา แล้วการที่ไม่ให้เกิดไฟป่าในป่าบางประเภท โดยเฉพาะในระบบนิเวศน์ป่าแบบบ้านเรา ซึ่งพอถึงหน้าแล้งต้นไม้จะทิ้งใบ เชื้อเพลิงก็สะสมทับถม พอไม่มีการจัดการ ไฟที่เกิดขึ้นก็จะรุนแรง ปัจจุบันมีการริเริ่มของกลุ่มเกษตรกรโดยใช้การชิงเผา อย่างที่ดอยตุง เชียงราย ที่แม่ฮ่องสอน ที่เชียงใหม่ แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเขากลัวว่ามันจะลุกลามแล้วเป็นที่ตำหนิของสื่อ ของสาธารณชนได้

จริงๆ แล้วการชิงเผาเป็นวิธีการจัดการไฟอย่างหนึ่ง?

การชิงเผา ภาษาอังกฤษมีอยู่สองคำ คือ Early Burning หมายความว่าเผาล่วงหน้า พอฝนหมดอย่างบ้านเราก็ประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือปลายฝนต้นหนาว ดินยังชื้น ไม่แห้งมาก อากาศไม่ร้อนมาก ก็เผาใบไม้ที่มันเหี่ยวๆ ร่วงๆ ซะก่อน ก่อนที่จะเข้าหน้าแล้ง พอถึงหน้าแล้ง ไฟมันจะได้ไม่รุนแรง พูดง่ายๆ ว่าเราชิงเผามันซะก่อน เพื่อกำจัดพวกใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิง

อีกอันหนึ่งคือเผาโดยการควบคุม เรียกว่า Controlled Burning คือจะมีการกำหนดขอบเขตในการเผา เหมือนผมเก็บข้าวโพดเสร็จแล้ว ผมต้องการจะเผาไร่ ผมก็ทำแนวกันไฟล้อมรอบไร่ แล้วดูเวลาไม่ร้อนจัดนักก็เผาเสีย มีคนคอยดูไม่ให้มันออกไปนอกเขต วิธีการแบบนี้หลายชุมชนมีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา

ในต่างประเทศก็มีการชิงเผาด้วยเหมือนกัน?

ในอเมริกามีเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องไฟ พยายามที่จะฟื้นวิธีการชิงเผาแบบเดิมๆ กลับมา ถ้าเรากลับไปดูสมัยโบราณไฟป่ามันมีมานานแล้ว ในชั่วชีวิตผมเห็นไฟตั้งแต่เข้าป่า เมื่อพ.ศ.2500-2510 แถววังน้ำเขียว สมัยก่อนพอถึงมกราคม-กุมภาพันธ์ มันก็มีไฟไหม้ในป่าเต็งรังทุกปีๆ แต่มันไหม้เป็นหย่อมๆ เพราะมันขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงสะสมในแต่ละจุดไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือมันไหม้มาทุกปีๆ เพราะฉะนั้นพวกใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงก็สะสมไม่มาก ทำให้ต้นไม้ไม่ตาย แล้วสามารถที่จะผลิใบภายในไม่เกินหนึ่งเดือน ซึ่งการแตกใบใหม่ของต้นไม้ในบ้านเรามีก่อนฝนแรกจะตกเสียด้วยซ้ำไป พอถึงเมษายนมันเขียวทั้งป่าแล้ว

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าไฟที่มันไหม้แบบโบราณ ที่เขาเรียกว่า Traditional Burning พืชมีการปรับตัวมาตลอดระยะเวลาวิวัฒนาการของมันเหมือนกัน ซึ่งปรากฏการณ์อันนี้ถูกบันทึกไว้เป็นร้อยๆ ปีแล้ว ทีนี้พอคนเมืองเข้าไปในป่า ไม่เคยชินกลับสิ่งพวกนี้ก็รู้สึกว่าทำไมไฟมันรุนแรง ก็เลยมีความพยายามป้องกันไฟ แต่แน่นอนจะป้องกันไฟไม่ให้ไหม้เลยมันเป็นไปไม่ได้ วันดีคืนดีคนเข้าไปทิ้งก้นบุหรี่ หรือทำอะไรขึ้นมาซึ่งเราคุมไม่ได้ มันก็ไหม้ เวลาไหม้ก็รุนแรงเพราะเชื้อเพลิงมันทับถมกันมาก เพราะฉะนั้นก็กลับไปสู่วิธีการที่เรียกว่า ชิงเผา คือเผามันเสียก่อนเพื่อป้องกันไฟใหญ่

แต่วิธีการแบบนี้ในบ้านเราไม่ค่อยได้รับการยอมรับ?
 
ผมเคยคุยกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาบอกว่าคนทั่วไปไม่เข้าใจ ถ้าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปเผาบางทีโดนชาวบ้านด่า หรือโดนสื่อด่า แต่ถ้าชาวบ้านเผา บางทีเจ้าหน้าที่ก็ไปจับเพื่อแสดงผลงานก็มี ถ้าเราไปดูวิถีชาวบ้านที่เขาอยู่ในป่าจริงๆ ที่เขาทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถ้าเขาจะเผาเพื่อหาอาหารหรืออะไร เขาจะทำตั้งแต่ปลายฝนต้นหนาว ซึ่งมันก็จะช่วยไม่ให้เกิดไฟรุนแรง

แล้วที่มักมีรายงานข่าวว่าไฟป่าเกิดจากชาวบ้านเผาหาเห็ด?

สื่อเองบางครั้งก็ไม่มีความรู้ อย่างบอกว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชาวบ้านไปหาเห็ด เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบเนี่ยความจริงมันไม่เกิดเดือนนี้ มันเกิดโน่นเดือนพฤษภาคม เพราะเห็ดมันเป็นราที่อยู่ตรงรากต้นไม้ ราต้องอาศัยความชื้น ฝนจะตก อ้าว แล้วชื้น พอถึงเวลาก็โผล่ดอกขึ้นมาเป็นเห็ด ตอนนี้มันไม่มีเห็ดหรอก แต่พูดกันทุกปีเหมือนร้องเพลง ไฟป่าจริงๆ เท่าที่ผมติดตามอยู่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมมันจะไหม้ในป่าลึก เพราะว่าป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรังหน้านี้มันจะทิ้งใบหมด แต่พอถึงสงกรานต์ใบก็เต็มหมด ถ้าผู้สื่อข่าวไปดูอีกทีจะได้รู้จักวงจรของป่า

แต่ระยะหลังมันซ้ำเติมด้วยปัญหาหมอกควัน?

คือถ้าเราดูกันจริงๆ ควันไฟที่เกิดขึ้นมันมาจากหลายแหล่ง คนเมืองก็เผาขยะ คนที่อยู่ชานเมืองก็เผา หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯเองก็เผา ทั้งที่ในเมืองไม่ได้มีเหตุผลมากเหมือนในชนบท อย่างในอเมริกาเขาห้ามเผาขยะในเขตเทศบาลเด็ดขาด เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ใช้ไฟเป็นเครื่องมือในการทำการเกษตร เพราะฉะนั้นต้องแยกแยะที่มาของไฟด้วย

อย่าไปโยนบาปให้ชาวบ้าน?

ผมอยากชี้ให้เห็นอย่างนี้ สมมติว่าเราเผาหญ้าให้วัวกิน เผาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เสร็จแล้วมีควันโขมง แล้วเราก็บอกว่าโลกร้อน คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้มีรายงานว่าไฟที่ไหม้สองข้างทางหญ้าระบัดขึ้นมาแล้ว หมายความว่ามันไหม้ไปประมาณ 3 - 5 ตัน ต่อเฮกเตอร์ ภายในหนึ่งเดือนคาร์บอนไดออกไซด์ก็ถูกยึดไว้อย่างเดิม เพราะฉะนั้นคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไม่ได้เพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่ได้ลดลงด้วย ในป่าเต็งรังก็เหมือนกันใบไม้ร่วงลงมา 10 ตัน มันก็เผาไป 10 ตัน สักพักพอมันแตกใบใหม่มันก็ยึดกลับมา 10 ตันอีก

เพราะฉะนั้นปัญหาโลกร้อนถ้ามันมีจริงประเทศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนบางทีก็ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ประเทศไทยไม่ได้ทำมากมายขนาดนั้น เราไปกังวลอะไรกันนักกันหนา เลือกเวลาที่จะจุดไฟ ใช้ประโยชน์จากไฟ พูดง่ายๆ ว่าเราสร้างชาติด้วยอ้อยด้วยข้าวโพดเหมือนกัน แน่นอนเราต้องมีการจัดการเรื่องซากเหลือ จะทำอย่างไรต้องช่วยกันคิด ไม่ใช่โทษกันไปโทษกันมา

ดูเหมือนสื่อจะสร้างภาพไฟป่าให้น่ากลัวเกินไป?

บางทีมากเกินไป มองด้านเดียว ไม่รู้ว่าบทบาทของไฟมันเป็นอย่างไร เราไม่พยายามทำความเข้าใจมัน ภาครัฐบางทีก็สร้างภาพเกินจริง สื่อด้วย ผมเคยดูในโทรทัศน์ไปเอาภาพไฟป่าเมืองหนาวมาแทรกเวลาออกข่าว ผมดูรู้เลยว่าไม่ใช่ต้นไม้เมืองไทย พูดง่ายๆ ว่าเอาไฟขนาดใหญ่มาสร้างภาพให้สาธารณชนดู

กลับไปเรื่องปัญหาไฟ เรื่องนี้ค่อนข้างจะซับซ้อน จากการศึกษาในหลายประเทศพบว่ามันสัมพันธ์กับความโปร่งใสเหมือนกัน ยิ่งไฟมาก งบประมาณก็ยิ่งมาก การมีส่วนร่วมของประชาชนบางทีก็ถูกมองข้าม เราต้องกลับไปทำความเข้าใจเรื่องไฟป่าใหม่

แนวทางการจัดการไฟที่มีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

วิธีการจัดการไฟที่ดีคือ หนึ่งมีความสามารถในการดับได้ ถ้าจำเป็น แล้วต้องรู้จักประเมินว่าที่ไหนควรจะรีบดับทันที และวิธีการดับไฟจะต้องเป็นวิธีที่(ค่าใช้จ่าย) ถูกที่สุดที่เราจะทำได้ ไม่ใช่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เว่อร์ไปหน่อย เอาเฮลิคอปเตอร์ไปขนน้ำอะไรอย่างนี้ ขณะที่กะเหรี่ยงเอาไม้ตบๆ ก็ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ควรเสียเงินงบประมาณไปกับอะไรพวกนี้มากมาย นอกจากมันใกล้เมือง ใกล้โรงแรม ใกล้โปโลคลับอะไรแบบนี้ ก็โอ.เค.

ดับไฟให้เป็น รู้จักประโยชน์ของไฟป่า  ส่วนไฟที่มันมาจากการเผาขยะในเขตเทศบาลหรือไฟที่เกิดจากหน่วยราชการก็ใช้วิธีอย่างอื่นเสีย ไม่ควรจะมาซ้ำเติม สำหรับไฟที่เกิดจากภาคการเกษตร เราต้องสร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมให้เขาทำแผนของชุมชน ทำแผนของหมู่บ้าน ทำแผนในตำบลของตัวเองว่าจะควบคุมกันอย่างไร ตอนนี้เรามีการกระจายอำนาจไปแล้ว วันข้างหน้า อบต.น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องไฟ เพราะฉะนั้นการเสริมศักยภาพต้องมีอย่างจริงจัง

การให้ความรู้เรื่องไฟป่าไม่ใช่เรื่องที่มาสนใจกันตอนเกิดไฟเท่านั้น พอเข้าหน้าฝนก็ไปช่วยน้ำท่วม หน้าหนาวไปแจกผ้าห่ม ถึงหน้าแล้งก็มาพูดเรื่องไฟป่าอีก ต้องให้ความรู้กับสาธารณชน ไม่เฉพาะกับคนที่อยู่กับป่า แต่ต้องทำความเข้าใจกับคนในเมืองอย่างต่อเนื่องด้วย

ไม่เช่นนั้น...ถึงไฟไม่มา ป่าก็หมดได้เหมือนกัน

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.031 วินาที กับ 21 คำสั่ง