กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 15, 2024, 08:35:09 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันพุธที่ 17 กันยายน 2551  (อ่าน 3173 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 01:22:00 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ เช่น บริเวณจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด    จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณที่ราบลุ่ม และที่ลาดเชิงเขาระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งอาจเกิดซ้ำได้อีกจากสภาวะฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในระยะ1-3 วันนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง  อุณหภูมิต่ำสุด 26 องศา สูงสุด 33 องศา   ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.


คาดหมาย

 ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามัน และอ่าวไทยสูงประมาณ 2 เมตร

สำหรับในช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. ร่องความกดอากาศต่ำนี้จะมีกำลังอ่อนลง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลงด้วย ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณของฝนตกลดน้อยลง และคลื่นลมในทะเลมีจะกำลังอ่อนลงด้วย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น บริเวณจังหวัด น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ลพบุรีและสระบุรี ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักที่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยขอให้เพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือไว้ด้วย 
 


* Forecast2.jpg (40.7 KB, 693x430 - ดู 651 ครั้ง.)

* Earthquake.jpg (34.18 KB, 400x443 - ดู 654 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 01:31:01 AM »

ไทยรัฐ


บางพัฒน์....ชุมชนประมงดีเด่น ต้นแบบ...คืนปูไข่ให้กับธรรมชาติ


 
ทรัพยากรธรรมชาติ...สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ยังชีพด้วยการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย รัฐบาลจึงได้ตั้งหน่วยงาน กรมรักษาสัตว์น้ำ ขึ้นเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงไว้อย่างยั่งยืน

ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการทั้ง การวิจัย เพาะพันธุ์ การปล่อยเสริมพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดสร้างที่อยู่อาศัย การออกมาตรการและควบคุมการทำประมงให้อยู่ในกฎระเบียบ ตลอดจนการเฝ้าระวังตรวจ ปราบปรามผู้ลักลอบทำการประมงที่ผิดกฎหมาย

และ ที่สำคัญยิ่ง คือ การเสริมสร้างให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิด ความยั่งยืนอย่างแท้จริง



ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรม ประมง กล่าวว่า.....กรมประมงได้เข้าถึงใจชุมชน ให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรประมงอย่างแท้จริง เพื่อนำไปใช้ ประโยชน์ได้สูงสุด และเมื่อเกิดความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ด้วยตัวเอง ....กรมฯจะถอนตัวมาเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา แนะนำและชี้แนะในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนได้ตลอดไป

ชุมชนชาวประมงบ้านบางพัฒน์ หมู่ที่ 8 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ จนได้รับรางวัล ชุมชนต้นแบบดีเด่น อันดับที่ 1 ซึ่งจะรับโล่รางวัลในงาน ครบรอบ 82 ปี วันสถาปนากรมประมง ณ บางเขน กทม.....วันที่ 21 กันยายนนี้

นางกัญยา ก้าหรีมการ ผู้ใหญ่บ้านบางพัฒน์ กับ นางสุกัญญา วาหะรักษ์ ผู้ช่วยฯบอกว่า ชุมชนประมงบ้านบางพัฒน์ แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ จุดเด่นของชุมชนมี ป่า ชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และผลิตอาหารทะเล สมาชิกในกลุ่มจำนวน 70 ครัวเรือน ประกอบอาชีพประมงอวนปูม้าจำนวน 60 ราย อีกส่วนหนึ่งดำรงชีพด้วยการทำโฮมสเตย์

“....เมื่อปี พ.ศ.2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยม ชุมชนแห่งนี้ พร้อมมีพระราชกระแสรับสั่งให้ช่วยกันดูแลป่าชายเลนและอนุรักษ์สัตว์น้ำ จึงได้จัดกิจกรรม โครงการคืนปูไข่สู่ธรรมชาติขึ้นตามพระราชดำริ....

....โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อสมาชิกวางอวนจับปูที่มีไข่จะไม่ขาย ให้นำใส่ในกระชังขนาด 1,500 ตารางเมตรเป็น พื้นที่อนุรักษ์ 15 วัน เพื่อ ให้แม่ปูสลัด ไข่ออกจนหมดสิ้นจึงค่อยนำจำหน่าย...ส่วนลูกปูก็จะอยู่ในอาณาเขตการอนุรักษ์และควบคุมกำหนดให้ ตาข่ายมีขนาดตากว้าง 4 นิ้วขึ้นไป เพื่อให้ปูเล็กๆได้มีชีวิตอยู่รอด ทุกวันนี้จะจับปูได้อย่างน้อยคนละ 10-20 กิโลกรัมต่อวัน มีรายได้วันละ 1,000-2,000 บาท เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยไม่ต้องทอดทิ้งถิ่นไป ขายแรงงานอีก



ความสุขของชุมชนบ้านบางพัฒน์ที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยการน้อมนำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาดำเนินแนววิถีชีวิต อีกทั้งยังปฏิบัติเข้มด้วย การตกลงกันในระหว่างสมาชิกชุมชนที่......จะไม่ยอมให้ 3 ส. เข้ามาทำลายความสงบสุขคือ สุกร สุนัขและ สุรา

ส่วน ส.วิเศษไชยชาญ....“สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ชาวบางพัฒน์ ยินดีต้อนรับ...!!!

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 01:35:12 AM »

เดลินิวส์


82 ปี 'กรมประมง' ก้าวสู่ผู้นำด้านประมงแห่งเอเชีย...
 
 
 
 21กันยายน 2551…เป็นวันสถาปนา “กรมประมง” ครบรอบปีที่ 82 ซึ่งกรมประมงได้ปรับยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ให้เชื่อมโยงกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” โดย มุ่งพัฒนาการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประมงไปสู่เกษตรกรและชาวประมงทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกร ทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าสัตว์น้ำของไทยให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชีย   
 
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปี 2552 นี้ กรมประมงได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 83 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแผนขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการประมงของไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อ  ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงทั่วประเทศให้ดีขึ้นด้วยโดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสินค้าประมงให้มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานตามเกณฑ์สากล 2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้แหล่งเพาะเลี้ยงและทุกแหล่งทรัพยากรและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน และคงความหลากหลาย 4.ยุทธศาสตร์  การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการประมงทุกสาขา และ 5.ยุทธศาสตร์การปรับปรุงระบบบริหารจัดการองค์กรให้เป็นผู้นำทางการประมงในภูมิภาค


 
ในเบื้องต้น กรมประมงมีแผนเร่งดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรมฯ จะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และสงขลา รวมกว่า 5,300 ราย พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 400 ราย และ   ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในโรงเรียนปอเนาะ 2 แห่งด้วย โดยเน้นให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาอาชีพ และ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต
 
กรมประมงมีแผนเร่งพัฒนาระบบการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อาทิ สินค้ากุ้ง ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม และพันธุ์ไม้น้ำ รวมทั้งยังจะเร่งจัดทำระบบการจัดการคอมพาร์ตเมนต์ (Compartment) ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้เป็นฟาร์มปลอดโรค พร้อมตรวจรับ รองคุณภาพสินค้าประมงเพื่อส่งออกและพัฒนาศักยภาพสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงระนอง ท่าเทียบเรือประมงสตูล และท่าเทียบเรือประมงสุราษฎร์ธานี


 
นอกจากนี้ กรมประมงยังมีแผนสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยกว่า 160 เรื่อง  พร้อมส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มคุณค่าให้แก่สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งยังจะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่เกษตรกร โดยกรมประมงจัดทำ โครงการเสริมสร้างการจัด การประมงต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนได้มี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง พร้อมสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้าสู่อาชีพประมง โดยเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าระบบการผลิตสินค้าประมงของไทยจะได้   รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยทางด้านอาหาร ซึ่งจะเป็นจุดแข็ง  ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อันจะ   นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชียได้รวดเร็วขึ้น.

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 01:44:57 AM »

ผู้จัดการออนไลน์


แผ่นดินไหว 6.1 ริกเตอร์ในติมอร์ฯ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย

      ศูนย์สำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ริกเตอร์ ทางตะวันออกของกรุงดิลี ในติมอร์เลสเต วันนี้ (16 ก.ย.) เมื่อเวลา 20.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 18.15 น.ในไทย อย่างไรก็ตาม ที่กรุงดิลีไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งยังไม่มีรายงานทรัพย์สินเสียหาย

        ส่วนศูนย์แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย บันทึกแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ 6.3 ริกเตอร์ โดยอยู่ลึกใต้พื้นดิน 30 กิโลเมตร


****************************************************************************************************************************


ถึงเวลาหรือยัง? ที่"เกาะช้าง"ต้องเปลี่ยนแปลง


ธรรมชาติบนเกาะช้างที่หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ อาจต้องสูญเสียไปในวันข้างหน้า

      เกาะช้าง จ.ตราด สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอันดับต้นๆของเมืองไทย ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างก็พยายามชูให้เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะเกาะช้าง งดงามไปด้วย หาดทราย น้ำทะเล ป่าไม้ และทรัพยากรใต้ทะเล
       
       แต่ดูเหมือนว่าในภาคปฏิบัติจริง สภาพการณ์กลับตรงกันข้าม เนื่องจากปีหนึ่งๆเกาะช้างมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงรุกคืบทำให้เกาะช้างโตเร็วเกินไป ไม่เพียงเท่านั้น เกาะช้างยังถูกทุนสามานย์ทำลายภูมิทัศน์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจนซวนเซ
       
       โดยเฉพาะเกาะช้างฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตก(ใช้จุดขึ้น-ลง เรือเฟอรี่เป็นตัวแบ่ง) ซึ่ง ณ วันนี้ภาพส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นย่านชุมชนที่ค่อนข้างคึกคัก แถมบางย่านยังอุดมไปด้วยบาร์เบียร์ และแสง-สี-เสียง ที่หลายคนบอกว่ามีสภาพไม่ต่างจากน้องๆของพัทยาเลยทีเดียว
       
       ในขณะที่เกาะช้างฝั่งซ้าย(ฝั่งตอ.)นั้นยังคงไว้ซึ่งความสงบ เป็นธรรมชาติ มากไปด้วยเรือกสวนและวิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะช้าง ซึ่งนั่นจึงทำให้หลายคนคิดว่าน่าจะมีการวางผังเมืองเกาะช้างกันอย่างจริงจัง ชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อจัดระเบียบเกาะช้างให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้พื้นที่ของเกาะช้างฝั่งซ้ายเจริญรอยตามเกาะช้างฝั่งขวา และเพื่อผลักดันให้เกาะช้างเดินหน้าขึ้นสู่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเป้าที่ตั้งไว้

   
ร้านรวงแสงสียามราตรีในเกาะช้างฝั่งขวา   
 
       ปัญหาสารพัดสารพัน
       
       สำหรับปัญหาที่เด่นชัดบนเกาะช้างวันนี้ก็คือ การขาดความควบคุมขนาดและความสูงอาคาร การออกแบบสถาปัตยกรรม ระยะห่างจากชายหาด การเพิ่มขึ้นของการสร้างสถานที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหลายพื้นที่ทำลายภูมิทัศน์ของเกาะ และปิดเส้นทางลงหาดสาธารณะ ขาดการกำหนดโซนนิ่ง จึงไม่สามารถควบคุมการใช้พื้นที่ชายหาดปัจจุบันมีร้านบาร์เบียร์ตลอดแนวชายหาด
       
       การรุกล้ำเข้าไปใช้พื้นที่ของเขตอุทยานฯเพื่อการขยายพื้นที่บริเวณชายฝั่ง การบุกรุกที่ดินในคลองสาธารณะ มีการถมดินในคลองสาธารณะ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้น เช่น จำนวนหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมีจำนวนลดลง เป็นต้น
       
       พิทยา หอมไกรลาศ ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เกาะช้าง เล่าว่า สภาพของเกาะช้างจะมีพื้นที่ราบน้อย มันจะอยู่ชิดทางด้านทะเล แล้วมีการตัดถนนรอบหาดเรียบชายฝั่งไปเรื่อยๆ จะมีการก่อสร้างทั้งฝั่งขวาที่ติดกับทะเลมาก และฝั่งซ้ายติดภูเขาซึ่งหลังเขาก็เป็นอุทยาน
       
       เริ่มแรกในการปลูกสร้างจะปลูกสร้างกันริมทะเลก่อน พอพื้นที่เต็มแล้วก็มาสร้างกันอีกฝั่งของถนน ซึ่งการใช้พื้นที่ผมว่าเป็นลักษณะของการใช้พื้นที่เต็มเอกสารสิทธิ์ของเขามากกว่า เป็นพื้นที่ซึ่งจริงๆตามกฎหมาย เพราะพื้นที่มันน้อย เขาเลยจะสร้างกันเต็มพื้นที่ ทำให้เหลือพื้นที่ลงหาดน้อยมาก
       
       "แต่ก่อนถ้าเรามาเกาะช้างมองไปด้านหาดจะเห็นทะเลเห็นวิว ตอนนี้จะถูกปิดโดยรีสอร์ท โรงแรม หรือสิ่งปลูกสร้าง ในอนาคตถ้ามีการใช้พื้นที่เต็มแล้ว มันจะเหมือนเราขับรถไปในซอยที่พัทยา ทางซ้ายก็ตึก ขวาก็ตึก เราจะไม่เห็นอะไร ผมว่าตอนนี้มันขัดกันอยู่ว่าทัศนียภาพที่นักท่องเที่ยวอยากจะเห็นกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเอกชนที่ต้องการใช้เต็มพื้นที่ มันจึงเป็นความยากของภาครัฐที่จะควบคุม เราจะหาความพอดีได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นความสวยงามก็จะหายไปเลย เรานั่งรถไปซ้ายก็ตึกขวาก็ตึก ผมว่ามันเป็นปัญหาของส่วนรวม สุดท้ายก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร ถ้านักท่องเที่ยวไม่เห็นธรรมชาติเขาก็ไม่มา แล้วสิ่งปลูกสร้างเราก็ไม่ได้กำไรเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา"

   
เกาะช้างฝั่งซ้ายยังมีภาพวิถีพื้นบ้านให้ชมกันอยู่   
 
       พิทยา เล่าต่อว่า ในสายตาผม ความเสียหายมันเกิดกับส่วนรวมทั้งหมด แต่ผลประโยชน์อาจจะได้เฉพาะรายเท่านั้นเอง ปัญหาของผังเมืองมันกระทบในเรื่องของทัศนียภาพ ทำให้คนที่มาเที่ยวเกาะช้างด้านหาดจะมองไม่เห็นอะไรเลย ถ้าไม่เข้าพักอาศัยตามรีสอร์ทโรงแรม
       
       อีกอย่างคือ เดิมทีเกาะช้างเป็นพื้นที่ลาดชันเวลาหน้าฝนฝนตกเยอะ น้ำที่ไหลบ่ามาจากภูเขามาปะทะสิ่งปลูกสร้าง รอบๆถนนสองข้างทาง ทำให้มันลงทะเลลำบาก จะพบว่าบางที่มีน้ำท่วมขังบางที่เฉอะแฉะอยู่ตลอดเวลา ทางระบายน้ำหลักๆยังคงอยู่ แต่พวกรางน้ำเล็กๆที่ตอนหน้าฝนถึงจะเห็นว่ามันมีน้ำไหลถูกถมไปเยอะ ที่สำคัญคือน้ำที่เคยไหลจากภูเขาลงไปที่หาดได้หลายทิศหลายทางเล็กบ้างใหญ่บ้าง อันใหญ่ยังอยู่อันเล็กหายไปหมด เมื่อทั้งสองข้างทางมันเป็นสิ่งปลูกสร้างทั้งสองข้างทางน้ำมันก็ถูกปิดกั้นระบายลงไม่ได้
       
       น้ำเกาะช้างมากจากทุกทิศทุกทาง เพราะเกาะช้างตรงกลางเป็นภูเขา ฝนที่ตกทำให้น้ำไหลไปได้ทุกทิศทุกทาง ในขณะที่น้ำระบายลงทะเลได้เฉพาะแค่บางทางเท่านั้น อันนี้เป็นลักษณะปกติในการไปเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศ ผมว่ามันต้องมีใครเสียสละ ซึ่งในทางปฏิบัติค่อนข้างลำบาก ผมก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขาก็พยายามทำ แต่มันลำบากมากถ้าจะบอกกับเจ้าของที่ว่า "เพื่อให้หาดนี้มีทางลงน้ำ คุณต้องรื้อตรงนี้เพื่อไม่ให้ไปท่วมคนอื่น" คนที่ถูกรื้อเขาก็ต้องต่อสู้ ทางปฏิบัติมันลำบากมากถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรกๆตอนที่เขายังไม่ทำ
       
       คนที่มาประกอบการบนเกาะช้าง ผมว่ามันน่าจะผ่านการอบรมก่อนว่าอะไรทำได้อะไรไม่ควรทำบนเกาะนี้ และเพราะอะไร คือเรื่องพวกนี้ผมว่ามันต้องทำความเข้าใจกัน เพราะเขามีความรู้สึกว่าเขาได้ลงทุนไปแล้วบางคนก็หมดตัว จะให้เขารื้อถอนอีกมันคงยาก มันเป็นเรื่องของการจัดการความพอดี ความต้องการเงินต้องการผลกำไรในการทำธุรกิจ กับความยั่งยืน ถ้าเราหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้เพื่อให้ธุรกิจมันยั่งยืน นักลงทุนแต่ละกลุ่มก็มีข้อจำกัดตรงนี้ไม่เหมือนกัน
       
       อีกหนึ่งปัญหาคือ นักท่องเที่ยวมาเยอะก็มีปัญหาเรื่องน้ำใช้ เพราะน้ำทั้งหมดมาจากธรรมชาติหมดเลย ในขณะที่ห้องพักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ทุกห้องพักต้องมีห้องน้ำ ทุกคนมาเกาะช้างต้องใช้น้ำ ปัญหาเรื่องน้ำดีก็ตามมา พอใช้แล้วก็มีปัญหาน้ำเสียอีก ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ผมว่าเกาะช้างโตไปเร็วเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้

   
ร้านของที่ระลึกที่เติบโตตามธุรกิจท่องเที่ยว
 
 
       ผังเมืองตัวช่วยจัดระเบียบเกาะช้าง
       
       พิทยา แนะว่า การวางผังเมืองจำเป็นสำหรับเกาะช้าง แต่ต้องเป็นการวางผังที่ประชาชนบนเกาะช้างรับรู้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามเมื่อผังออกมา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไร ในส่วนของผมถ้าในเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ต้องรักษาเขาให้เยอะ รบกวนให้น้อย เรื่องน้ำถ้าจะทำน้ำดีมาให้จะทำฝาย ก็ต้องทำบ่อบำบัดน้ำเสียไปพร้อมกันต้องทำไปคู่กัน ไม่เช่นนั้นน้ำดีมาแล้วระบบบำบัดน้ำเสียมาทีหลัง เราใช้น้ำดีจนเสียแล้วก็ทิ้งกันเกลื่อนกลาด มันจะเป็นการทำร้ายซ้ำเติมเกาะช้าง
       
       คือการพัฒนาเราต่างรู้ดีว่ามีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้อะไรมาก็ต้องให้คู่ของมันมาด้วยเพื่อที่จะรับผลกระทบไปได้ อย่างถ้าถนนมาก็ต้องรู้ว่าเมื่อเทถนนไปแล้วรถก็จะมา เมื่อรถมาก็ต้องมีเรื่องที่จอดรถ ผมอยากเห็นแผนแบบนี้มากกว่ามันลิ้งค์กันไปหมด ไม่ใช่มาทีละส่วน คือถ้ามีงบทำน้ำดีก็ต้องมีงบทำบำบัดน้ำเสียไปพร้อมกัน มีงบทำถนนก็ต้องมีงบทำที่จอดรถ มันต้องมาคู่กัน เพราะไม่เช่นนั้นมันจะทำให้เราแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะต้องไปเจอกับอีกปัญหาหนึ่ง
       
       "ผมคิดว่า นักท่องเที่ยวมาเกาะช้างเพราะธรรมชาติบนเกาะช้าง เขาไม่ได้มาเพราะมีห้องพักสวยหรูหรืออะไรพวกนี้ หากห้องพักสวยแล้วธรรมชาติหายไปเขาคงไม่มา อนาคตนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงเหมือนหลายๆเกาะ ผมก็ไม่อยากให้เราทำผิดซ้ำซากเราน่าจะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นจากที่อื่นๆ และผมเชื่อว่าปัญหานี้คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดคือผู้ประกอบการในพื้นที่ เพราะเขาเป็นคนได้ประโยชน์และเขาจะอยู่ในพื้นที่นานกว่าเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ดังนั้นควรจะหาช่องทางให้ผู้ประกอบการในเกาะช้างได้มีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบร่วมกับภาครัฐ ชุมชนกับภาคธุรกิจในเกาะช้างต้องมีส่วนร่วม เพราะเขาจะคล่องตัวกว่า ถ้าเราพยายามสร้างกลไกแบบนี้ในทุกธุรกิจภาครัฐก็จะเบาไปด้วย" พิทยา กล่าวปิดท้าย
       
       ด้าน จักรกฤษณ์ สลักเพชร นายก อบต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่า เกาะช้างควรมีการวางผังเมืองเนื่องจากมันเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลด้วย อุทยานฯด้วย และเรื่องของการก่อสร้างเพราะเป็นเมืองที่เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว เลยต้องมีการวางผังเมืองไว้ก่อนกันการรุกล้ำทะเลบ้าง อุทยานบ้าง ต้องมีการตั้งโซนกัน แต่ที่เกาะช้างไม่มีการวางผังเมืองไว้ก่อน เลยเกิดปัญหาทั้งเรื่องอาคารสูง การรุกล้ำชายหาดเรื่องน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ ถนน มีการก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกระเบียบไม่อยู่ในระบบ บางทีก็ไปชิดถนนเกินไป ไปชิดลำน้ำสาธารณะ ทำให้การระบายน้ำเสียไม่ได้ผลเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา

   
จากท่าเรือเฟอรี่หากไปทางขวาจะเจอกับแสงสีความพลุกพล่าน หากไปทางซ้ายจะเจอกับความสงบและวิถีชาวบ้าน 
 
       สำหรับพื้นที่เกาะช้างใต้ตอนนี้มีปัญหาน้อย เพราะฝั่งนี้ไม่มีหาดทราย ยังไม่ค่อยมีโรงแรม รีสอร์ทใหญ่ๆ จะมีปัญหาก็เรื่องขยะ ที่เรายังจัดเก็บได้ไม่ดีพอ และเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง การวางผังเมืองและกำหนดโซนนิ่งจะช่วยได้ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมอาคาร การแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้ถูกต้อง ตอนนี้แผนเมืองรวมยังไม่ชัดเจน ที่ใช้ได้ตอนนี้ก็เป็นของบัญญัติของตำบลของอบต.เอง มีการกำหนดการสร้างอาคารห่างจากถนนกี่เมตร ห่างจากทะเลกี่เมตร สูงเท่าได้เท่าไร ต้องห่างจากริมคลอง ริมรางสาธารณะเท่าไร ซึ่งก็เป็นเพียงข้อกำหนดเบื้องต้นเท่านั้น
       
       ในขณะที่ สุรพันธ์ กลิ่นขจร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการวางผังเมืองและการกำหนดเขตโซนนิ่งของเกาะช้างว่า เกาะช้างก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เราไม่ได้วางผังเมืองไว้ เนื่องจากเกาะช้างไม่ได้อยู่ในลักษณะงานที่กรมโยธาและผังเมืองจะต้องดำเนินการ ดังนั้นการพัฒนาของเกาะช้างจึงไม่มีผังเมืองบังคับใช้ควบคุมการพัฒนาประโยชน์ที่ดินมาตั้งแต่เริ่มแรก จนมันช้าไปจนเกิดปัญหา มันก็เป็นลักษณะของผังเมืองที่เราดำเนินการทั่วๆไปที่พอมันมีปัญหาเราจึงตามไปแก้ปัญหา
       
       ซึ่งที่เรามาทำ เราก็ได้เอาของเก่ามาดูว่าเขาเคยทำอะไรกันมาแล้วบ้าง ส่วนใหญ่จะมีเป็นโครงการเฉพาะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโน้นด้านนี้ แต่มีแค่การศึกษาไว้เท่านั้น ไม่ได้ออกเป็นกฎกระทรวงผังเมืองตามครม. ไม่มีการบังคับใช้ ไม่มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในปีนี้เป็นปีที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการวางผังเมืองซึ่งมี 17 ขั้นตอน เราจะพยายามดำเนินการให้ถึงขั้นตอนที่ 4 คือการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งหมดมันมีปัญหาอุปสรรคมากในการจัดทำผัง เพราะแผนที่ที่มีอยู่ยังใช้ไม่ค่อยได้ การเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ดี บางทีจ้างบริษัทมาทำแล้วแต่ระบบสาระสนเทศกลับเอามาใช้ไม่ได้ เพราะถ้าเรามีแผนที่เราจะทุ่นเวลาไปเยอะ
       
       ปัญหาอีกเรื่องคือ กรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่ชัด เพราะตอนที่เก็บข้อมูลป่าไม้ก็ยังระบุไม่ชัดเจนว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ป่า จึงยังไม่แน่ใจว่าที่ดินโดนรุกล้ำแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ถ้าเรากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพลาดมันจะมีปัญหา เราต้องดูกรรมสิทธิ์แล้วกำหนดผังร่างอีกครั้ง แล้วประชุมประชาชนเราจะทราบปัญหามากขึ้น ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ จังหวัดตราดจะมีกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 แต่ผู้บังคับใช้กฎมายไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
       
       เรื่องข้อมูลก็ส่วนหนึ่ง ที่เราส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ก็ได้รับข้อมูลมาส่วนหนึ่งที่จะนำมาจัดเตรียมประชุมท้องถิ่น ซึ่งเราคงต้องประชุมกันหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นทั้งกับ เทศบาล อบต. ผู้ประกอบการ คาดว่าในปีหน้า ขั้นตอนทางสำนักงานกรมโยธาของเราจะแล้วเสร็จ จากนั้นถึงไปยังขั้นตอนการทำเป็นกฎกระทรวง ประกาศเป็นกฎกระทรวงซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศเป็นราชกฤษฎีกาได้ในปี 2553 ต่อไป
       
       ซึ่งจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเกาะช้าง ทำให้มีนักลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกเกาะเดินทางมาลงทุนทำกิจการต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก เป็นจำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกินกว่าศักยภาพของเกาะช้างจะรองรับได้ทัน จึงได้มีการคิดจัดวางผังเมืองและโซนนิ่งให้เกาะช้างเพื่อให้เกาะช้างเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 17, 2008, 01:57:12 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #4 เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 01:59:42 AM »

มติชน


21กันยา  ชี้ชะตาเกาะลิงภูเก็ต

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า 21 กันยายนนี้ จะเดินทางไปร่วมประชุมหาแนวทางการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อสร้างเกาะลิง หรือมั้งกี้ไอส์แลนด์ (Monkey Island) ที่เกาะแอล ต.ราไวย และเกาะทะนาน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยเป็นการนำลิงชนิดต่างๆ ของไทย เช่น ลิงแสมก้นแดง, ลิงขึ้นมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันหายากแล้วนำไปปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ในเกาะใดเกาะหนึ่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือเข้าไปเที่ยวชม เรื่องนี้ถ้าจะให้สวนสัตว์ทำก็ได้ โดยอาจจะขอจากพื้นที่ของอุทยานฯ แต่ถ้าคัดค้านกันมากๆ จะไม่ทำก็ไม่เป็นไร

นายสุรพล ดวงแข นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากจะมีการประชุมเพื่อดำเนินการสร้างเกาะลิงต้องมีการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เกาะภูเก็ตถูกปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากที่ผ่านมาคนทั่วโลกรู้จักเกาะภูเก็ตในฐานะไข่มุกอันดามัน และแต่ละปีก็มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการทำอะไรให้แปลกออกไป ซึ่งการสร้างเกาะลิงในเชิงซาฟารี คิดว่าเป็นความสนใจของคนเฉพาะกลุ่ม ไม่มีประโยชน์อะไร การสนับสนุนให้มีการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องมีเบื้องหลังอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายสัตว์

นายสุธี ประทีป ณ ถลาง แกนนำชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ กล่าวว่า มีชาวบ้านกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับการทำเรื่องนี้ แต่องค์การสวนสัตว์ฯกลับบอกว่าชาวบ้านสนับสนุน โดยล่าสุดที่นายโสภณมาพบกับชาวบ้านทุกคนก็ยืนยันว่าไม่มีใครเห็นด้วย เพราะกระทบกับวิถีชีวิตชุมชน และในวันที่ 19 กันยายนนี้ ชาวบ้านจะคุยกันถึงเรื่องนี้อีกครั้ง


*********************************************************************************************************************


รักษ์สิ่งแวดล้อม


 
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล จัดกิจกรรม "ทางด่วนชวนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 2" โดยให้พนักงาน 150 คน ร่วมกันปลูกป่าชายเลนซ่อมแซมครั้งแรกอีก 1,000 ต้น จากเดิมที่ปลูกไว้ 3,000 ต้น ที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #5 เมื่อ: กันยายน 17, 2008, 02:10:00 AM »

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


ประมงระยอง เตรียมจัดงาน "กินปูดูหอย" กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน


สำนักงานประมงจังหวัดระยอง เตรียมจัดงาน "กินปูดูหอย" ปลอดภัยไร้สารพิษ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

นายจิตจรูญ ตันติวาลา ประมงจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สำนักงานประมงจังหวัดระยอง ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด กำหนดจัดงาน โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ "กินปูดูหอย" โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายนนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 - 24.00 น.ณ บริเวณหาดสุชาดา ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ภายในงานนอกจากผู้มาเที่ยวชม จะได้เลือกซื้อหาอาหารทะเลสดๆ แล้ว ยังจะได้ล่องเรือชมแพหอยแมลงภู่ และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวประมงด้วย ที่สำคัญผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านอาหารสามารถรับฟังการเสวนา เรื่อง "สัตว์น้ำทะเลระยองปลอดภัยไร้สารพิษ" จาก ศ.ดร.สุวรรณา ภาณุตระล ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีทางน้ำและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งมีนักวิชาการ ประธานชุมชน และตัวแทนของกลุ่มประมง ซึ่งจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเล และวิธีบริโภคอาหารทะเลอย่างถูกต้องให้ได้ทราบกันด้วย นอกจากนี้ยังจะได้ร่วมกิจกรรมบันเทิงอีกมากมาย อาทิ การแข่งขันแกะปู การแข่งขันตีลอบและร้อยกบ การประกวดหนูน้อยชาวเล


****************************************************************************************************************************


จ.ตราด เชิญชวนประชาชนร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ

จังหวัดตราด เชิญชวนประชาชนร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ

ว่าที่ร้อยตรีสุรัตน์ เกิดมะลิ ประมงจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประมงแห่งชาติ จังหวัดตราดโดยหน่วยงานในสังกัดกรมประมงในจังหวัดตราดร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเนินทราย และผู้นำชุมชน หมู่ที่ 8 ตำบลเนินทราย จึงกำหนดจัดให้มีพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2551 ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 51) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณแหล่งน้ำสาธารณะบ้านสระด่าง หมู่ที่ 8 ตำบลเนินทราย อำเภอเมืองตราด ทั้งนี้เพื่อเป็นการณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนข้าราชการ ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.691 วินาที กับ 21 คำสั่ง