กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 14, 2024, 09:04:00 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551  (อ่าน 4118 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 12:57:35 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

    หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมอ่าวไทยตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นไปปกคลุมจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีแล้ว คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันใน 07.00 น.เช้านี้(26 ต.ค.) ทำให้ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น จังหวัด อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากต่อไปอีก 1 วัน ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร โดยเฉพาะในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือในช่วงวันที่ 26-27 ต.ค. 2551 ไว้ด้วย

    อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่เสริมปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน มีอากาศเย็น อุณหภูมิลดลง 1-2 องศา และมีลมแรง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง  อุณหภูมิต่ำสุด 25 องศา สูงสุด 33 องศา  ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงยังคงพาดผ่านภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยบริเวณ ที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลงด้วย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. ในระยะนี้ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้บริเวณจังหวัด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือในอ่าวไทยขอให้ระวังอันตรายจากการเดินเรือไว้ด้วย



* Forecast2.jpg (39.26 KB, 693x430 - ดู 862 ครั้ง.)

* Earthquake2.jpg (18.69 KB, 450x306 - ดู 877 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:03:50 AM »

ไทยรัฐ


ช่วงเดือนตุลาคมผมตกที่นั่งเทพจรลงเท้า              :             ซันเดย์สเปเชี่ยล  โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์



ต้นเดือนไปขี่เจ็ตสกี ทำประชาสัมพันธ์ให้ การแข่งขันสกีโลก ในวันที่ 2 ถึง 7 ธันวาคม ที่หาดจอมเทียน พัทยา กลางเดือนไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ปลายเดือนไปดูใบไม้เปลี่ยนสีที่ เกาหลี

มีคนบอกว่าไม่เหน็ดเหนื่อยบ้างหรือไง คำตอบก็คือ ชาติก่อนคงเป็นควาย ชาตินี้จึงต้อง เหนื่อยจนตาย ปลงเสียเถิดครับ

จะเล่าถึงตอนที่ไปเป็นนายแบบโฆษณาการแข่งขันเจ็ตสกีโลกให้ฟัง โดยทางสมาคม กีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย จะจัดการแข่งขันเจ็ตสกีโลก มีนักกีฬาถึง 35 ชาติ เดินทางมาร่วมการแข่ง ขันครั้งนี้ เพื่อให้เป็นข่าวไปทั่วโลกว่าเมืองไทยมีคนเล่นเจ็ตสกีที่แก่ที่สุดในโลกคือ ตัวผม (ซึ่งไม่เคยขี่เจ็ต สกีมาก่อน)

ผู้คนใกล้ชิดก็พากันห้ามปรามกลัวจะเป็นอะไรไป รวมทั้งทางสมาคมก็เตรียมหาคนมา ขี่แทน ผมเองนั้นเห็นว่ามันจะยุ่งยากอะไร บนฟ้าก็เคยบินมาแล้ว ในทะเลก็จะลองขี่เจ็ตสกีให้ดู เรื่องนี้จบ ลงด้วยดี

สมัยหนุ่มๆ ผมเป็นคนชอบความเร็ว เมื่อปี 2512 ทางสหประชาชาติจัดแรลลี่จาก เวียงจันทน์ไปสิงคโปร์ ผมก็นำทีมโฟล์ก� สวาเก้นเข้าแข่งขันด้วย จากนั้นเมื่อมีการแข่งแรลลี่ในเมืองไทยก็ เข้าแข่งด้วยทุกครั้ง จนได้ฉายาว่า “เฒ่าตีนผี” เพิ่งจะมาเลิกตอนอายุ 50 นี่เอง

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ถึงอายุ 82 ก็ยังอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ผมจึงรับเป็นนาย แบบให้ฟรีๆ ด้วยประการฉะนี้

ผมเลือกสถานที่ถ่ายทำโดยติดต่อกับทางนาวิกโยธิน บริเวณอ่าวเตยงาม ในค่ายทหารนาวิกโยธิน ซึ่งมีฟ้าสวย ทะเลใส หาดทรายขาว ที่อ่าวนาวิกโยธินแห่งนี้

ผมคุ้นกับที่นี่มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่สงบ และต่อมาตั้งแต่ 2508 เป็นต้น มา พลเรือตรี โสภณ สุญาณเศรษฐกร (ยศในขณะนั้น) เป็น ทหารพรรคนาวิก โยธินคนแรกที่ได้บัญชาการหน่วยของตนเอง คุณโสภณกับผมสนิทสนมกันมากเหมือนญาติสนิท ผมไป มาหาสู่อยู่ตลอดเวลา การมาเยือนอ่าวเตยงามครั้งนี้จึงเหมือนกับมาเยือนถิ่นเดิม



นักกีฬาเจ็ตสกีของไทยเรานั้นมีฝีมือขนาดเป็นแชมป์โลกในประเภทต่างๆ ถึง 18 คน ที่เรารู้จักกันดีก็คือ เจ-เจตริน ลูกคุณเจริญ วรรธนะสิน และอีกหลายคนที่ผมไม่รู้จัก แต่เขาก็อุตส่าห์มอบเจ็ตสกีของเขามาให้ผมขี่ ทราบแต่ว่าเจ้าของคือ คุณเปิ้ล-นาคร ศิลาชัย ต้องขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่เอื้อเฟื้อในการถ่ายทำ

ใน วันถ่ายทำท้องฟ้าใส แดดแรง ทะเลสวย เหมาะกับการท่องทะเลด้วยเจ็ตสกี ก่อนจะ ลงมือขี่ต้องแต่งตัวที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เสื้อชูชีพ เสื้อ-กางเกง ชุดเจ็ตสกีเหมือนกับรัดเครื่อง ตอนเล่นโขนไม่มีผิด ผมสวมใส่ทั้งชุด เว้นแต่หมวกนิรภัยที่กระแทกเท่าไรก็ไม่ลงหัว ต้องใส่หมวกแก๊ป ของตัวเองแทน รวมทั้งถุงมือที่ใส่แล้วไม่มีความรู้สึก ต้องใช้มือเปล่าถึงจะคล่องตัว สรุปแล้วต้องรัด เครื่องอยู่เป็นเวลานาน

ช่วงที่ลงมือขี่เจ็ตสกี ทางผู้ถ่ายทำหา “พริตตี้” มาเกาะท้าย เพื่อเพิ่มความกระชุ่ม กระชวย แต่พริตตี้คนนี้กลายเป็นหลานปู่ของผม จึงเหมือนกับพาหลานซ้อนท้ายไปฉิบ

การถ่ายทำเรียบร้อยในช่วงอาหารกลางวัน เราก็เคลื่อนย้ายไปรับประทานอาหารที่ สโมสรเรือนสักประดู่ โดยปกติจะเปิดบริการเฉพาะนายทหารสัญญาบัตรและ คณะบุคคลต่างๆ ที่มีนายทหารรับรอง ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปก็มี เรือนประดู่คู่ ไว้รับรองอยู่แล้ว

อาหารที่เรือนสักประดู่ในวันนั้นรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ยังอร่อยเหมือนเดิม กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สรรหามาบำเรอล้วนแต่สดๆ เหมือนจับจากทะเลมาป้อนเข้าปาก อร่อยจริงๆ ให้ดิ้นตาย

ที่ไม่ได้ชวนชิมก็เพราะแต่ก่อนกองทัพเรือยังไม่เปิดค่ายทหารนาวิกโยธินเป็นสถานที่ ท่องเที่ยว แต่ใน ปัจจุบันทางกองทัพเรือได้อนุญาตให้ประชาชนใช้ค่ายทหาร นาวิกโยธินเป็น สถานที่พักผ่อน ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

ทางกรมกิจการพลเรือนทหารเรือได้ตั้ง คณะกรรมการบริการท่องเที่ยว อ่าวนาวิกโยธิน ขึ้น โดยมี นาวาเอก ณรงค์ศักดิ์ จาต กานนท์ เป็น ประธานกรรมการกิจการท่องเที่ยวหน่วยบัญชาการ นาวิกโยธิน และมี ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน นาวิกโยธิน คือ นาวาเอก บำรุงรักษ์ สรัคคานนท์ รับผิดชอบดูแลการเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เป็นหมู่คณะ



ผมได้บอกแล้วว่า ผมคุ้นเคยกับอ่าวเตยงามแห่งนี้มากว่า 40 ปี เรือนพักหน้าอ่าวเป็น บ้านของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งผมมาสรวลเสเฮฮาอยู่เป็นประจำ ยังเป็นเขตหวงห้ามอยู่ บัดนี้เรือนพัก น.1 ของ ผบ.นย. ได้มีการปรับปรุงเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้านายเมื่อเสด็จฯอ่าวเตยงาม เหลือแต่ น.2 เป็น เรือนรับรองในปัจจุบัน

ในเมื่อ ค่ายนาวิกโยธินเปิดให้ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อน จึง มีกฎระเบียบที่นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามอยู่หลายแห่งด้วยกัน ซึ่งผมจะเรียบเรียงข้อ ปฏิบัติให้ผู้เข้ามาท่องเที่ยวที่นี่ได้รู้ไว้ เพื่อจะได้ทำตัวให้ถูกต้อง

แหล่งท่องเที่ยวที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าชมและใช้สถานที่พักผ่อนมี 6 แห่ง ด้วยกัน ดังนี้

1. ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อผ่านกองรักษาการ เข้าไป อยู่หน้ากรมรักษาความปลอดภัย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

2. พิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน เปิด 09.00 น. ถึง 16.00 น. ทุกวัน ห้ามลงเล่นน้ำและนำอาหารมารับประทานบริเวณนี้

3. อ่าวเตยงาม หาดสวย น้ำใส ทรายขาวยาวกิโลครึ่ง แบ่ง เขตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ ใช้พื้นที่บนฝั่งพักผ่อนตั้งแต่ทางแยกสโมสรประดู่คู่ ถึงอนุสรณ์ สถานนาวิก โยธิน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึงอาทิตย์ ลับขอบฟ้า

4. มารีน รีสอร์ท มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และสัมมนา ติดต่อ บก.นย.

5. ผาวชิราลงกรณ์ มีรถท่องเที่ยวชมทัศนียภาพ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น.

6. สโมสรเรือนสักประดู่ และ สโมสรประดู่ คู่ เปิดบริการตั้งแต่ 10.00-22.00 น. ทุกวัน



ที่ค่ายนาวิกโยธินนี้มีเขตหวงห้ามบริเวณหน้าหาดที่เป็นที่พักของ นายทหาร แต่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สถานที่เปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องน้ำ ได้ที่สโมสรเรือใบ หาดเตยงามได้ตลอด เวลา

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อมูลสังเขป เพื่อชวนท่านไปเที่ยวที่อ่าวเตยงาม รายละเอียดขอ รับคู่มือการท่องเที่ยวได้ที่ กิจการบริการท่อง เที่ยวนาวิกโยธิน โทรศัพท์ 08-4377-6791, 0-3830- 8126

หวังว่าเราคงจะมีโอกาสพบกันไม่ วันใดก็วันหนึ่งในช่วงการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกีโลกที่พัทยา

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:10:09 AM »

ผู้จัดการออนไลน์


กรมอุทยานฯ เตรียมสั่ง บ.เอกชนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนเกาะอาดัง

นายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงขั้นตอนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของบริษัท อาดัง รีสอร์ท จำกัด ว่า ขั้นตอนจากนี้ต้องดูว่าบริษัทฯ จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฎีกาภายใน 30 วันหรือไม่ หากไม่มีการอุทธรณ์กรมอุทยานฯ ก็จะประกาศให้เอกชนรื้อถอนภายใน 30 วัน ซึ่งสามารถขยายเวลารื้อถอนออกไปได้อีก 15 วัน แต่เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ยอมรื้อถอน กรมอุทยานฯ ก็จะเข้าไปดำเนินการทันที

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยืนยันว่า มีนโยบายไม่อนุญาตให้เอกชนดำเนินการใดๆ ในพื้นที่อุทยาน เนื่องจากภารกิจหลักของกรมอุทยานฯ จะต้องดูแลรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ให้ถูกทำลาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า กรมอุทยานฯ มีอำนาจสั่งให้บริษัท อาดัง รีสอร์ท จำกัด รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ได้ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการ เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าเอกชนจะประะมูลเช่าจากกรมธนารักษ์ แต่กรมอุทยานฯ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:15:08 AM »

มติชน


"คนไทยพลัดถิ่น-ชาวมอแกน" เสี่ยงตายแอบระเบิดปลาที่พม่า



"คนไทยพลัดถิ่น-ชาวมอแกน" จ.ระนอง โวยรัฐไม่เหลียวแล ต้องรับจ้างนายทุนเสี่ยงตายแอบระเบิดปลาที่พม่า ลั่นพร้อมตายเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่บริเวณเกาะเหลา อ.เมือง จ.ระนอง เครือข่ายชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ อาทิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายชมชนอุบลฯ เครือข่ายสึนามิ เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กว่า 100 คน ร่วมกันสร้างบ้านให้กับชาวมอแกนเกาะเหลา โดย ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส มาร่วมให้กำลังใจและบันทึกรายการศาลาริมสวนด้วย

ศ.ระพีกล่าวว่า ขณะนี้ชาวมอแกนบนเกาะเหลากว่า 200 คน ยังได้รับความลำบากอย่างยิ่งเพราะขาดแคลนทุกๆ ด้านโดยเฉพาะยังไม่ได้รับบัตรประชาชน จึงไม่ได้รับบริการขั้นพื้นฐานใดๆ จากภาครัฐ ทั้งๆที่คนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่กันมาเก่าก่อน แต่รัฐบาลกลับไม่เอาใจใส่ในฐานะคนไทย ขณะนี้บางส่วนไม่มีทางเลือกต้องรับจ้างนายทุนคนไทยไปแอบจับปลาในพม่าและถูกจับ

ศ.ระพีกล่าวว่า รัฐบาลควรทำเกาะเหลาให้เป็นแบบอย่างของการดูแลคนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ชาวมอแกนในอันดามันจำนวนมากยังไม่ได้รับการดูแล ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรทำให้คนเหล่านี้อยู่อย่างความภาคภูมิใจเหมือนคนทั่วไป

"หากรัฐบาลยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ตนเกรงว่าสักวันหนึ่งจะ เหมือนกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับกรณีของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนไทยจากพื้นที่ที่เคยเป็นของราช อาณาจักรไทย แต่ต่อมาพอเสียดินแดนคนเหล่านี้จึงกลับมาอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีไม่น้อยกว่า 6 พันคน แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมคืนสัญชาติไทยให้ ทำให้ต้องประสบความยากลำบาก ผมอยากเตือนว่าปัญหาแบบนี้มันจะค่อยๆ สะสมทีละน้อย พวกเขาถูกกดดันทุกวันจนอาจกลายเป็นความแค้นได้ เพราะทั้งรัฐและคนในสังคมยังมองว่าเขาเป็นคนละพวก แถมยังดูถูกกันอีกด้วย ผมกลัวว่าอนาคตแล้วจะเหมือนกับปัญหาภาคใต้" ศ.ระพีกล่าว

ศ.ระพีกล่าวว่า ส่วนชาวมอแกนนั้น นอกจากเรื่องบัตรประชาชนที่รัฐควรเร่งออกให้แล้ว ควรกันเขตพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้ดำรงวิถีชีวิตของตัวเอง แม้เป็นเขตอุทยานตนก็เชื่อว่าชาวมอแกนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับคิดแต่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในอันดามัน แต่กลับไม่เหลียวแลคนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม และผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมองแต่ในที่สูงโดยไม่ยอมลงถึงพื้นดินจึงทำให้เกิด ปัญหามาตลอด

นางทม สินสุวรรณ หนึ่งในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น กล่าวกับ ศ.ระพีด้วยน้ำตานองหน้าว่า ขณะนี้สถานการณ์ของคนไทยพลัดถิ่นได้รับความลำบากสุดสุด ทั้งๆ ที่ผ่านมาพยายามร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีหลายคนเพื่อขอบัตรประชาชนและ สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใด

"ตอนนี้ฉันและอีกหลายคนยอมตาย หากสามารถทวงสิทธิต่างๆ ให้กับลูกหลานได้ ที่ผ่านมาเคยกลัว แต่ตอนนี้เลยขั้นกลัวมาแล้ว เรามันคนจนๆ ทำเรื่องขอไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้ แต่บางคนแม้เป็นพม่าแท้ๆ พอยอมเสียเงินหัวละ 8-9 หมื่นบาท ก็ได้บัตรประชาชนเลย อยากถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ตอนนี้เราไม่เชื่อผู้บริหารประเทศและฝ่ายต่างๆ แล้ว เพราะมุ่งแต่แก้การเมืองกันอยู่ข้างบน แต่ปัญหาของพวกเราที่เกือบจะตายกันหมดแล้ว กลับไม่มีใครเหลียวแล" นางทมกล่าว

ขณะที่นายดำ (นามสมมุติ) ชาวมอแกนเกาะเหลา กล่าวว่า ทุกวันนี้พวกตนไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีงานทำเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน จะหาปลาก็ถูกจับ จึงต้องรับจ้างเถ้าแก่คนไทยลักลอบเข้าไประเบิดปลาในฝั่งพม่า มีรายได้เที่ยวละ 3-4 พันบาท แต่ต้องคอยหลบหนีทหารพม่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาตนและเพื่อนๆ อีก 5 คน ลักลอบเข้าไปหาระเบิดปลาอีก ปรากฏว่าถูกทหารพม่าอาวุธครบมือนำเรือออกมาไล่จับจึงต้องกระโดดหนีลงน้ำทะเล รอจนทหารพม่ากลับไปหมดแล้วจึงได้เอาเรือลำเล็กๆ ซึ่งเป็นเรือสำรองที่หลุดออกมาขับกลับมายังเกาะเหลา

"พวกเราไม่เข็ดหรอก เพราะขืนอยู่แต่บนเกาะก็อดตาย ครั้งก่อนผมก็เคยรับจ้างไปดำปลิงที่หมู่เกาะนิโคบา ซึ่งก็เสี่ยงพอๆ กัน ดำปลิงเสี่ยงต่อการถูกน้ำหนีบ (ช็อร์ต) แต่ที่นี่เสี่ยงกับการถูกจับ ผมชอบไปจับปลาในพม่ามากกว่า เพราะไปแค่ 2-3 วัน แต่ไปดำปลิงต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์" นายดำกล่าว

อนึ่ง เมื่อปีก่อนชาวมอแกนบนเกาะเหลามักรับจ้างนายทุนเรือประมงขนาดใหญ่ไปดำปลิง ที่หมู่เกาะนิโคบา ประเทศอินเดียซึ่งผิดกฎหมาย ทำให้หลายคนถูกจับและติดคุกอินเดีย และชาวมอแกนอีกจำนวนหนึ่งถูกน้ำหนีบ จนเสียชีวิตและบางส่วนพิการ ขณะนี้บางรายยังนอนอยู่ที่โรงพยาบาลระนอง

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #4 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:25:13 AM »

ข่าวสด


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขุนสมุทรจีน



พ. ศ.2540 เป็นปีแห่งความสูญเสียอีกครั้งของชาวบ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพราะผืนดินถูกกลืนลงทะเลอย่างเห็นได้ชัดกว่าครั้งไหนๆ หลังพายุลินดาพัดผ่านไปไม่นาน

แม้ผืนดินที่ถูกกลืนลงทะเล และยุบตัวลงไปลึก 2-3 เมตร แต่กลับเป็นการค้นพบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์

นอก เหนือจากการได้หอยแครงที่ฝังตัวในเลนไปขายแล้ว ชาวบ้านยังพบเศษช้อน ชาม ถ้วย และอื่นๆ ที่ประกอบเข้าเป็นรูปร่างได้ก็มี หรือแบบสมบูรณ์ไม่บุบสลายเลยก็มี และมีเป็นจำนวนมากหลายสิบตะกร้า จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้คนในชุมชนเริ่มสงสัย และค้นหาที่มาของภาชนะเหล่านั้น

ผ่านไป 1 ปี ภาชนะที่เก็บได้ตามแนวชายฝั่งมากขึ้น จนนางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.แหลมฟ้าผ่า คุยกับสาธารณสุขประจำอนามัยตำบล เห็นพ้องกันว่าควรเก็บรักษาไว้ที่ใดที่หนึ่ง และสืบค้นประวัติว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

โดยเฉพาะตัวอักษรจีนที่ ติดมากับภาชนะเหล่านั้น จนแล้วจนรอดชาวบ้านไม่มีใครว่างมากพอมานั่งเปิดตำราค้นคว้าหาที่มาที่ไป อย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรก เพราะต้องหาเลี้ยงชีพ ทั้งยังต้องกังวลกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะผืนดินที่นับวันจะคืบมาถึงเสาบ้าน เมื่อไหร่ไม่รู้ ทำให้การสืบค้นไม่คืบหน้า



ปี พ.ศ.2549 ผู้ใหญ่สมรเป็นตัวแทนชาวบ้านทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการในจังหวัด เพื่อขอให้สำรวจและจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดเก็บภาชนะโบราณเหล่านี้ไว้ใน ชุมชน แต่กลับไร้การเหลียวแล

กระทั่งงบประมาณจากโครงการพัฒนาศักยภาพ หมู่บ้านชุมชน หรือเอสเอ็มแอล จากรัฐบาล ชาวบ้านจึงรวมตัวกันของบฯ มาจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในชุมชน แต่ก็ได้เพียงอาคารหลังเล็กๆ พอเป็นที่สำหรับเก็บรวบรวมโบราณวัตถุได้

ปีเดียวกันมหาวิทยาลัย ราชภัฏธนบุรีเข้ามาศึกษาวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่บ้านขุน สมุทรจีน และพบว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีความน่าสนใจ จึงจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาต่อเติมอาคารเพิ่มขึ้นจนมีขนาด 4 คูณ 8 เมตร

ทั้ง ยังจัดสรรงบฯ ส่วนหนึ่งให้แก่ชุมชนสำหรับจัดระเบียบวัตถุโบราณที่มีหลายพันชิ้นแยกหมวด และตู้กระจกสำหรับจัดเก็บให้เรียบร้อยมากขึ้น และมอบให้ วิษณุ เข่งสมุทร ลูกชายของผู้ใหญ่สมร พร้อมกับชาวบ้านอีก 2-3 คน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดูแล พร้อมทั้งยังช่วยคัดแยกอายุและประเภทของโบราณวัตถุไว้ให้ด้วย

นาย วิษณุเล่าว่า นอกเหนือจากอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสนใจในประวัติ ศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นบ้านขุนสมุทรจีนแล้ว อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ยังเคยเดินทางมาเก็บข้อมูลและศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน โดยได้วัตถุโบราณที่ชาวบ้านเก็บได้เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีประวัติศาสตร์อย่างไร



เมื่อ อ่านข้อบันทึกของชุมชนเกี่ยวกับรายละเอียดของวัตถุที่ค้นพบ พบว่า จำแนกวัตถุโบราณไว้ 5 หมวด คือ หมวดประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มาจากประ เทศจีน หมวดเครื่องถ้วยชามที่ส่วนใหญ่เป็นของจีนในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย ซึ่งตรงกับช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ เครื่องถ้วยเวียดนามเพียง 2-3 ชิ้น เครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบเตาแม่น้ำน้อย อายุกว่า 300 ปี หมวดเครื่องประดับและเงินตรา ที่มีเปลือกหอย เหรียญกษาปณ์จีน และเบี้ย เงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ไทย และหมวดเครื่องมือเครื่องใช้

สันนิษฐานได้ว่า บริเวณแหลมฟ้าผ่าน่าจะเป็นตลาดการค้าสมัยโบราณมาก่อน

" วัฒนธรรมจังหวัดทราบ แต่ไม่ส่งเสริมให้ชุมชนมีพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง จะให้ชุมชนส่งของทุกชิ้นไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อ.พระสมุทรเจดีย์ แต่ชุมชนไม่ยอม เพราะเคยให้วัฒนธรรมจังหวัดยืมไปจัดแสดงในงานพระสมุทรเจดีย์ แต่เมื่องานจบได้คืนมาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของของทั้งหมดที่ให้ยืมไป"

" ส่วนที่เหลือไม่รู้ตกไปอยู่ในบ้านนักการเมืองท้องถิ่นหมดหรือเปล่า เพราะผมเคยเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมีเพียงเปลือกหอยนางรมตัวใหญ่ตั้ง วางอยู่ แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ ประกอบ ส่วนอย่างอื่นไม่มี" วิษณุกล่าว

ทุกวันนี้การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุทั้งหมดอยู่ระหว่างการบันทึกด้วยชาวบ้านในชุมชนเอง มีเพียงมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ในการบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น

สิ่งที่ประชาคมตำบลอยากให้เห็นเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการจัดเก็บขึ้นทะเบียน และบันทึกเป็นข้อมูลหลักฐานวัตถุโบราณอย่างเป็นระเบียบแล้ว

พวกเขา อยากให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในชุมชนมีความสมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการบรรยายที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็เพื่อให้คนในชุมชนเองทราบถึงประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ในถิ่นเกิดของพวกเขา

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #5 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:33:31 AM »

คม ชัด ลึก


"อควาเรียมสงขลา"ศูนย์รวมสัตว์น้ำทะเล



เปิดตัวไปแล้วเรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้สำหรับสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลา หรือ "สงขลาอควาเรียม" (Songkhla aquarium) โดยได้รับแรงหนุนจาก "อุทิศ ชูช่วย" นายกเทศบาลนครสงขลา ที่หวังปลุกปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แห่งใหม่บน "ชายหาดสมิหลา" เพื่อคู่กับเกาะหนูเกาะแมว สัญลักษณ์ที่ตั้งเด่น ตระหง่านคู่ชายหาดแห่งนี้มานานหลายชั่วอายุคน

"สงขลาอควาเรียม" ตั้งอยู่แหลมสนอ่อนสวนสองทะเลต.บ่อยางอ.เมืองจ. สงขลาบนเนื้อที่ 50 ไร่ หากใครแวะเวียนมาเยือนชายหาดสมิหลาแห่งนี้ คงยากที่ จะปฏิเสธการก้าวเท้าเดินเข้าไปสัมผัสพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดภายในศูนย์แสดง พันธุ์สัตว์น้ำแห่งนี้อย่างแน่นอน



นอกจากการจัดแสดงสัตว์ในโลกใต้ทะเลนานาชนิดแล้วที่โดดเด่นไม่เหมือนใครของอควาเรียมแห่งนี้ คือการรวบรวม "พันธุ์สัตว์ดินแดน 3 น้ำ"  ซึ่งมีเฉพาะสงขลา เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น"เมือง 2 ทะเล"  คือ มีอ่าวไทยและทะเลสาบทำให้ถูกกล่าวขานเป็นดินแดน 3 น้ำ คือมีทั้งน้ำจืด น้ำ เค็ม น้ำกร่อย ซึ่งคุณลักษณ์ดังกล่าวทำให้มีการแสดงสัตว์น้ำซึ่งมีถิ่นที่ อยู่อาศัยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้แห่งเดียว และต่างจากที่อื่นซึ่งไม่ปรากฏมา ก่อน

 "มีการนำปลาพันธุ์ท้องถิ่นอาทิ ปลาขี้ตัง ปลากระบอก สายพันธุ์ ที่ขึ้นชื่อที่สุดของ จ.สงขลา โดยจะแยกส่วนกับพันธุ์ปลาที่หายากในท้องทะเล ภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมไปถึงพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลสาบ สงขลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และรักษาไว้ให้ยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้จัด แสดงจำลองแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" นายกเทศมนตรีนครสงขลาแจง

ภายในอควาเรียมแห่งนี้ประกอบด้วยห้องพรีเซ็นเตชั่นชมวีดิทัศน์ให้ ความรู้พื้นฐานของเทศบาลนครสงขลา บอร์ดแสดงระบบนิเวศวิทยาของทะเลสาบ สงขลา ส่วนห้องแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสองทะเลถูกแบ่งออกเป็น 4 โซน



โซนแรกแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดนอกจากจะมีปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดหลากหลายขนาดแล้ว ยังจะแสดงถึงการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำในธรรมชาติ 

โซนต่อมาแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกร่อยแสดงถึงการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำร่วมกับระบบนิเวศในภาคใต้ตอนล่าง และบ่งชี้ให้เห็นความสำคัญในแบบห่วงโซ่ตามธร มชาติของป่าโกงกาง

โซนสามแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเค็มพื้นที่แห่งนี้ผู้ชมจะสัมผัสกับ ทะเล ทั้งเสียงคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ชายหาด น้ำกระแทกโขดหิน จะเห็นปะการังใน อ่าวไทยตอนล่าง และระบบนิเวศใต้ฐานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 



โซนท้ายสุดเป็นพื้นที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่อุโมงค์น้ำความยาวร่วม10 เมตร ซึ่งจุดนี้จะตื่นตากับปลาหมอยักษ์ 9 ตัว อีกทั้งยังมีฉลามเสือดาวที่แสนเชื่อง หรือปลากระเบนขนาดมหึมาเรียกเสียงฮือจากบรรดาเด็กๆได้ตลอดเวลาที่โผล่มาให้ยลโฉม

ด้านทางออกจะมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกรอส่งความประทับใจสุดท้ายแก่นักท่องเที่ยวก่อนเดินทางกลับความตื่นตาตื่นใจนี้ อัตราค่าบริการผู้ใหญ่ 100 บาท และเด็ก 50 บาท

มีโอกาสผ่านไปที่สงขลาอย่าลืมเเวะมาสัมผัสสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ หรือที่คนละแวกท้องถิ่นเริ่มขานชื่อกันติดปากว่า "อควาเรียมสมิหลา" เพราะคุณอาจประทับใจกว่าที่เคยพบมาก็เป็นได้!!


****************************************************************************************************************************


หัวหน้าเขาใหญ่ยันปมเด้งมาจากจับนักการเมืองรุกป่า

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แจงปมถูกเด้ง เชื่อมาจากการลุยจับคดีรุกพื้นที่ป่าเขาใหญ่ 2 จังหวัด โคราช-ปราจีนบุรี เผย ลูกน้องเคยโดนขู่ย้ายมาก่อน โชว์ผลงานสร้างรายได้รอบเขาใหญ่ให้มีรีสอร์ทเกือบ 200 แห่ง สร้างธุรกิจมูลค่ามหาศาลโกยร่วม 60 ล้านบาทในช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์

(25 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ลงนามเร่งด่วน โยกย้าย นายณรงค์ มหรรณพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ปราจีนบุรี นครราชสีมา นครนายก สระบุรี ) ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก โดยไม่แจ้งเหตุผล และแต่งตั้ง นายมาโนช กาลพนักงาน เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

เบื้องต้นถูกคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องอย่างมากเนื่องจาก นายมาโนช เป็นข้าราชการซี 7 ประจำกรมอุทยานฯ จบการศึกษาระดับ ปวส.ก่อสร้าง โดยไม่มีความรู้ด้านป่าไม้ ทั้งนี้ นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้คัดค้านอย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้นไปแล้ว นอกจากนี้ การโยกย้ายดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มข้าราชการป่าไม้อย่างมาก อีกทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพื้นที่นิยมท่องเที่ยวของประชาชน สร้างผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวนั้น

นายณรงค์ มหรรณพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทราบคำสั่งเมื่อ วันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยคำสั่งลงนามตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 51 เวียนให้ทราบวันที่ 21 ต.ค. 51 ซึ่งในฐานะประจำในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ปราจีนบุรี นครราชสีมา นครนายก สระบุรี ) ความรู้สึกผมรู้สึกเสียใจนิดหน่อย ที่เราทำงานได้รับการโยกย้ายไปในลักษณะทิศทางที่ไม่ดี

ทั้งนี้ การย้ายนั้น ผมทำตรงไหนได้ ย้ายได้ เพราะตามธรรมเนียมแล้ว คนทำงานที่เขาใหญ่ส่วนมากแล้ว จะถูกย้ายทิศทางที่ดี ในกรอบโครงสร้าง น่าจะสูงขึ้น แทนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้

“ อุทยานแห่งชาตินั้น เป็นผืนป่ามรดกโลก คนที่มาทำงานแทนจบทางช่าง ซึ่งความรู้คนนั้นพัฒนาได้แต่น่าจบทางป่าไม้มาบ้าง ผืนป่านี้เป็นมรดกโลก แต่ละคนจับจ้องมองตลอด เมื่อคนมองควรมีหลักวิชาการทำงานชัดเจนดีที่สุด ”นายณรงค์กล่าวและว่า

ส่วนกรณีมีการวิจารณ์ถึงผลประโยชน์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยนายณรงค์ ระบุว่าตอนมาอยู่ใหม่ๆเขาใหญ่มีรายได้ 47 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 57 ล้านบาท ล่าสุดขยับเป็น 64 ล้านบาท ล่าสุดได้สร้างมูลค่าเพิ่มรอบเขาใหญ่ โดยมีรีสอร์ทร่วม 200 แห่ง ที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีรายได้กว่า 60 ล้านบาททุกวันเสาร์ - อาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ด้านธุรกิจรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

นายณรงค์ ระบุว่าถึงความขัดแย้งและสาเหตุการย้ายว่า ก่อนหน้านี้มีเรื่องขัดแย้งบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หลักๆ 2 จุด คือ การบุกรุกพื้นที่ เมื่อเดือน ก.พ. มีการแจ้งความดำเนินคดีจับในพื้นที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ออกเอกสารสิทธิ์ 10 ราย พื้นที่ 231 ไร่ ตั้งแต่เดือน ก.พ. 51 มีการตั้งกรรมการตรวจสอบสรุป พื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และล่าสุดจุดที่ 2 ผมลงจับเอง เมื่อวันที่ 16 - 17 ต.ค.51 ที่ บริเวณเหวปลากั้ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (พื้นที่กว่า 80 ไร่) โดยลูกน้องจับ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.51 ถูกกลุ่มคนของนักการเมืองขู่จะย้าย

" ตลอดวันนี้มีคนโทรศัพท์เข้ามา ให้กำลังใจแสดงความเสียใจ ผมทำงานน้องๆรักเพราะทำงานจริง พร้อมมีสื่อมวลชนประสานเข้ามาเรื่องอุทยานสีเขียว บางครั้งทำใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะระบบข้าราชการในอนาคตคนทำงานจะไม่มี" นายณรงค์ กล่าวและว่า

ที่ผ่านมามีแผนนโยบายด้านการกำจัดขยะบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การประกาศห้ามเขตสูบบุหรี่ การย้ายเจ้าหน้าที่ลงมาด้านล่าง ระบบป้ายน้ำตาลเหลือง ที่กางเต้นท์ การกำจัดการกางเต้นท์ ให้สำเร็จ - การป้องกันป้องกันปราบปราม เราพยายามให้ประชาชนมาดูแล โดยตั้งชมรมท่องเที่ยวเขาใหญ่ขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจำกัดรถยนต์ขนาดใหญ่ 2 ชั้นครึ่ง ขึ้นบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #6 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2008, 01:45:55 AM »

ไทยโพสต์


 พืชพลังงานรุก "ป่าชุมชน" คุกคามความหลากหลายชีวภาพ

   ผลพวงจากการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน แก้วิกฤติปัญหาการขาดแคลนพลังงานของรัฐบาล เริ่มเป็นที่ตระหนักชัดแล้วว่ามันกำลังคุกคามพื้นที่ป่าในประเทศไทยด้วยการขยายพื้นที่ดังกล่าว

    ถูกนำมาเป็นหัวข้อสำคัญในการเสวนาเพื่อหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

    เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา   คณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย  ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร  และองค์กรสนับสนุน  ได้จัดสัมมนา "ป่าชุมชน : ความมั่นคงแห่งชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน"    เพื่อให้ทั้งชุมชนและภาครัฐตลอดจนนักวิชาการ  ได้แลกเปลี่ยนบทเรียนและองค์ ความรู้การจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยชูการดูแลรักษาป่าชุมชนเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร และลดผลกระทบจากพืชพลังงานเป็นวาระระดับชาติด้วย

    พัฒน์ ขันสลี ประธานคณะกรรมการสมัชชาป่าชุมชนประเทศไทย  ผู้ขับเคลื่อนงานป่าชุมชนในภาคเหนือ   กล่าวว่า  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความหมายของคำว่า "ป่าชุมชน" ก็ยังเป็นป่าหมู่บ้าน ป่าพิธีกรรม ป่าตามความเชื่อ ต่อมายังขยายเพิ่มถึงป่าหัวไร่ปลายนา และมีกฎระเบียบในการปกป้องรักษาป่า ในอนาคตป่าชุมชนคือป่าแห่งจิตสำนึก มีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างชุมชนกับรัฐ แต่ความหมายของ "ป่าชุมชน" ในระดับนโยบาย  คือ ป่ารวบยอด ห้ามชุมชน แต่เปิดโอกาสให้กับทุน จะส่งผลให้ประชาชนขาดที่ดินทำกิน  พลัดถิ่น  และถูกโยกย้าย มันไม่มีความเสมอภาค กลับทำให้คนขาดจิตสำนึกและรุกป่ามากขึ้น

    ส่วนนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานที่รัฐประกาศ ทั้งข้าวโพด ปาล์ม อ้อย สบู่ดำ แกนนำชาวบ้านคนเดิมยืนยันว่าก่อให้เกิดการทำลายป่าเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น  การให้ปลูกไม้โตเร็วเพื่อใช้ผลิตพลังงานในโรงไฟฟ้าชีวมวล ลักษณะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ป่าแบบนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อดินและน้ำ เวลานำไม้มาผลิตพลังงานก็ต้องตัดโค่น และปลูกใหม่อีก กลายเป็นป่าที่ใช้เพิ่มการผลิตพลังงาน แต่ก็ไม่ใช่ป่าธรรมชาติที่ชุมชนได้พึ่งพาอาศัย และที่สำคัญในชุมชนมีการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งแก๊สชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำอยู่แล้ว  ซึ่งเป็นมิตรกับส่งแวดล้อม ในการใช้เนื้อไม้ผลิตพลังงานชาวบ้านเองมีความรู้ มีภูมิปัญญาต้องตัดอย่างไรให้ต้นไม้สามารถเติบโตต่อไปไม่เสื่อมโทรม

    "นโยบายดังกล่าวสนองต่อความละโมบความต้องการเงินมากกว่าความสุข สวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ชาวบ้านยังไม่สามารถพึ่งพากฎหมายได้เช่นเดิม  สิ่งที่สมัชชาป่าชุมชนจะต้องทำคือ การรวมตัวเป็นปึกแผ่น คิดและทำให้เกิดเป็นจิตสำนึกให้ได้" ตัวแทนสมัชชาป่าชุมชนฯกล่าว

    ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี กล่าวว่า รัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพืชพลังงานเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ที่ได้จากมันสำปะหลังและอ้อย แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการบุกรุกพื้นที่ป่าหลายแห่ง โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการถางป่าพรุปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ ทางซีกตะวันออกเฉียงเหนือ  ตะวันตก มีการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง โดยเฉพาะโซนผืนป่าตะวันตก พบว่ารุกป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้าไปทุกขณะ เป็นห่วงว่าถ้าทิศทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือกยังเป็นแบบนี้ วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าวิกฤติพลังงานแน่นอน

    "รัฐไม่ควรมุ่งเอาพื้นที่ที่มีอยู่มาปลูกพืชพลังงาน ตั้งแต่ปี 47-51 ที่ผ่านมาเราเสียพื้นที่ป่าไปหลายแสนไร่จากการปลูกพืชพลังงาน ผมไม่ได้ค้าน แต่นโยบายของรัฐไม่ชัดเจนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมดุลควบคู่กับการมี พลังงานใช้อย่างไม่ทำลายธรรมชาติ รัฐและชุมชนไม่ควรเอาป่าชุมชนไปตอบปัญหาพลังงานทดแทน  ต้องรักษาฐานทรัพยากรนี้ไว้  นี่เป็นทางรอดของชาวบ้าน เพราะมีความมั่นคงด้านอาหาร ชีวิตไม่ขึ้นลงตามราคา" นักวิชาการแสดงทัศนะพร้อมกับเสนอทางแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนว่า รัฐต้องปรับโครงสร้างการใช้พลังงานใหม่ และปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองของคนไทย

    นอกจากนี้ อาจารย์เพิ่มศักดิ์ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับนโยบายป่าชุมชน นโยบายระดับชาติที่วันนี้ไปไม่ถึงฝันว่า เป็นเพราะนักการเมืองไม่ไว้ใจชุมชนท้องถิ่น ทำให้กฎหมายป่าชุมชนไม่คลอด ที่ผ่านมามีการเสียดสี แดกดัน ประณามชาวบ้าน โดยพูดเสมอว่า หากกฎหมายออกมาจะเป็นการยกป่าให้โจร นี่คือความคิดของนักการเมืองส่วนหนึ่งที่มีต่อคนรักษาป่า เหตุที่บุคคลเหล่านี้ต่อต้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชนอย่างรุนแรง ก็เพราะหลายคนโยงใยสัมปทานป่าไม้ หลายคนมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์  รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่สูญเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการอนุญาตใช้ประโยชน์ ทรัพยากรดิน น้ำป่า การอนุญาตขอรับงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาป่าไม้  ทั้งนักการเมืองและข้าราชการเป็นตัวการสำคัญ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้พายเรือในอ่าง อีกประการหนึ่งคือ ชุมชนเองมีจุดด้อยที่ไม่สามารถหักล้างฝ่ายค้าน และให้เหตุผลได้อย่างชัดเจนเมื่อเข้าสู่เวทีระดับชาติ ต่างจากเวทีระดับชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก

    อย่างไรก็ตาม กรณีป่าชุมชนที่เป็นปัญหาค้างคาอยู่ในระดับนโยบายของรัฐมานานกว่า 20 ปี และยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้นั้น เขาเสนอบนเวทีนี้ว่าจะต้องหยุดร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนทุกฉบับ รวมถึงฉบับประชาชนด้วย เวลานี้ทุกฉบับต่างไม่ทันสถานการณ์ ล้าสมัยไปหมดแล้ว วันนี้มิติของป่าไม่ใช่แค่การอนุญาตเก็บหาของป่าเท่านั้น แต่มีมิติทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และจิตวิญญาณ ฉะนั้น ต้องมาระดมสมองร่วมกันร่างกฎหมายใหม่แบบองค์รวม และต้องผลักดันการดูแลรักษาป่าของชุมชนทุกรูปแบบ ทั้งที่ปักป้ายป่าชุมชนและป่าอื่นๆ โดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาปฏิบัติเช่นกัน ไม่ใช่เอาป่าไปเซ็งลี้เปิดให้เอกชนทำธุรกิจ และจะต้องใช้ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นในการขับเคลื่อนดูแลจัดการทรัพยากร

    ลดาวัลย์ คำภา ที่ปรึกษาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไทยมีพื้นที่ป่า 33 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด และเป็นสัดส่วนป่าอนุรักษ์ 18 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และนับวันป่าชุมชนมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเปรียบเสมือนธนาคารอาหาร ผลผลิตจากป่ามีทั้งอาหาร  สมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าชุมชนสามารถแปรรูป เพิ่มมูลค่า และมีการจัดการที่ดี ย่อมได้รับประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างมหาศาล จะขายในประเทศหรือส่งออกให้ต่างประเทศก็สร้างรายได้

    "แต่สิ่งที่ต้องตระหนัก เราไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เรามีอยู่ รู้ว่ามีความหลากหลาย แต่ไม่รู้มีพืชพันธุ์อะไรบ้าง ฉะนั้น ชุมชนต้องมีการทำฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ อธิบายว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง ให้นำมาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ ทั้งอาหารและยา" ลดาวัลย์กล่าวทิ้งท้าย

    อย่างไรก็ตาม หลังสัมมนาสมัชชาป่าชุมชนระดับชาติ เครือข่ายป่าชุมชน 40 แห่งได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไพศาล จันทร์ภัคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใจความสำคัญคือ นโยบายการจัดการทรัพยากรของประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

    ผลักดันนโยบายคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาหาร ทั้งในป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่ง ไร่หมุนเวียน และพื้นที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญด้านอาหารของคนไทย ออกพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่เหมาะสมกับวิถีท้องถิ่นไทยที่หลากหลาย พร้อมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น  เสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์  อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย รวมทั้งรัฐต้องมีนโยบายให้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชอาหารท้องถิ่น

    นอกจากนี้ รัฐและชุมชนต้องแบ่งพื้นที่การใช้ที่ดินที่เหมาะสมในการปลูก พืชพลังงานที่ไม่คุกคามฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทาง อาหารของชุมชนท้องถิ่น  ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วม  โดยบูรณาการสหวิทยากรผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิชาการ เพื่อนำไปสู่การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงอาหารท้องถิ่น  ชุมชนต้องการจัดการผลผลิตจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทำงานร่วมกับภาคี ทั้งสถาบันวิชาการ ภาครัฐ ท้องถิ่น

    สร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัย ทั้งชุมชนเมือง-ชนบท และสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารในแต่ละท้องถิ่น มีระบบแลกเปลี่ยนอาหารยามมีภาวะวิกฤติหรือภัยพิบัติ รวมทั้งมีระบบติดตาม เตือนภัยความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการกระจายอำนาจการจัดการพลังงานสู่ท้องถิ่น  และชุมชนต้องจัดการอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานทรัพยากรตัวเอง ข้อเสนอสุดท้ายแม้จะไม่มีกฎหมายใดมารับรองสิทธิชุมชน ชุมชนเองต้องขยายผลสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไทย.


*******************************************************************************************************************************


 ทำลายป่า..เสียหายกว่าแบงก์ล้ม               :                  สาระน่ารู้

   เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งทั่วโลกทุกวัน สำหรับเรื่องของปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จากอเมริกามาถึงยุโรป ลามถึงเอเชีย พร้อมกับกระแสความเครียดของผู้คน ประหนึ่งว่าโลกนี้จะถล่มทลาย

    ดังนั้น พอไปเจอเรื่องนี้เข้าจึงต้องสรรหามาเล่าต่อค่ะ

    ผลการศึกษาของคณะกรรมการสหภาพยุโรป  พบว่า  การตัดไม้ทำลายป่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าวิกฤติการเงินในขณะนี้

    การตัดไม้ทำลายป่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้าน ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี  หรือประมาณ 69 ล้านล้าน ถึง 172 ล้านล้านบาท เนื่องจากป่าไม้มีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำที่ใสสะอาด และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นการตัดไม้ทำลายป่าจึงสร้างความเสียหายสูงมาก

    ผู้ที่จัดทำผลการศึกษานี้คือ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดอยช์แบงก์ ซึ่งระบุว่า ความเสียหายจากวิกฤติการเงินถือเป็นเรื่องเล็กไปเลยถ้าเทียบกับความเสียหาย ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ความเสียหายจากวิกฤติการเงินล่าสุด มีมูลค่าอยู่ที่ 1 ล้านล้าน ถึง1.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ความเสียหายจากการตัดไม้ทำลายป่า มีสูงถึง 2 ล้านล้าน ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี วิกฤติการเงินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง   แต่การโค่นป่าเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำซากต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปีแล้ว มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมากกว่า

    เป็นไงล่ะ..หวังว่าอเมริกาเอาตัวรอดจากแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสได้   ก็ต้องมาดูแลเรื่องภาวะโลกร้อนด้วยนะเออ.

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.309 วินาที กับ 21 คำสั่ง