กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 26, 2024, 01:50:41 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเทศไทย กับ ..... ภัยพิบัติทางธรรมชาติ  (อ่าน 75652 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
lord of death
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 130



« ตอบ #30 เมื่อ: ธันวาคม 05, 2008, 06:31:27 AM »

เหล่านั้นมาแน่ครับ ไม่ต้องห่วง แต่ขออย่าให้สาหัสสากัณเลย
สตอร์มเซิร์จ มาชัวร์ๆ แต่ว่าเมื่อไร่เท่านั้น เพราะปีนี้ตลิ่งเขื่อนหน้าบ้านผมแถวเจริญนคร เหลืออีก ศอกเดียว น้ำล้นครับ
นาคเล่นน้ำ มีประจำครับ แต่ตอนนี้ถี่เป็นพิเศษ แสดงถึงความแตกต่างของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ
หิมะ ตกแน่ๆ แต่เมื่อไหร่เท่านั้น เมื่อปี 2522 มีคนบอกผมว่าที่ภูกระดึง มีหิมะตก เป็นเกร็ดลงมาถึงพื้นแล้วก็ละลายหายไป
พายุระดับนากีส มีโอกาศสูงถ้ามันหลบแหลมญวนมาได้ ถ้าขึ้นฝั่งเวียดก็ไม่เท่าไร
ปัจจุบันน้ำทะเลสูงขึ้นมาก และน้ำก็เย็น กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ขณะที่ยังอยู่เขตร้อนเหมือนเดิม รับแดดเดิมๆ อุณหภูมิที่สุดขั้วเช่นนี้ผมว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ก็ขออาราธณาสิ่งศักสิทธิ์ทั่วสกลมหาจักรวาลโปรดปกปักษ์รักษาโลกของเราด้วย
บันทึกการเข้า

จงหมั่นระลึกถึงความตาย เพราะเป็นวาระติดตัวเรามาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เมื่อถึงเวลาจักได้มีสติกับความตาย ยังให้เราระลึกถึงพุทธองค์และกำหนดจิตถึงภพภูมิใหม่ได้เมื่อวาระนั้นมาถึง ขอให้ทุกท่านพ้นอบายภูมิ เราได้มีเวลาเที่ยว หุ หุ
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #31 เมื่อ: มกราคม 14, 2009, 12:46:52 AM »


'โลกเตือน' มนุษยชาติ 'อากาศวิปริต' 'หนาวตาย' แค่ยกแรก
 

 
 "ฤดูหนาวปีนี้ประเทศไทยจะหนาวกว่าทุกปีที่ผ่านมา” ...ทางกรมอุตุนิยมวิทยาระบุไว้ตั้งแต่ 11 ต.ค. 2551 ซึ่งฤดูหนาว ช่วงรอยต่อปี 2551-2552 นี้ ก็เป็นไปตามนี้จริง ๆ โดยเมื่อคืนวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาก็มีคนไทยเสียชีวิตเพราะอากาศหนาวอีก 2 ราย คือที่ จ.สุรินทร์ และที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากที่ก่อนหน้าก็มีคนไทย “หนาวตาย” ไปแล้ว 2 รายในเดือน ธ.ค. 2551 ที่ จ.ขอนแก่น และที่ จ.เชียงใหม่
 
อากาศหนาวในช่วงฤดูหนาว...ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ปกติ
 
แต่...สภาพอากาศเมืองไทยยุคนี้ดูจะไม่ค่อยปกติ ?!?
 
ทั้งนี้ กล่าวเฉพาะการสู้กับ “ภัยหนาว” นั้น นอกจากการช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวโดยฝ่ายต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนแล้ว คนไทยทั่วไปต่อให้มีเครื่องกันหนาวพร้อมก็ประมาทมิได้ โดยเฉพาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ ยิ่งต้องดูแลสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น อย่าอาบน้ำ-สระผมด้วยน้ำ เย็นจัด เป็นต้น ซึ่งนอกจากหนาวตายแล้ว ก็ยังมีโรคต่าง ๆ รอคุกคาม อาทิ  ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ปอดบวม, วัณโรค
 
และนอกจากหนาวแล้ว กับ “ภัยสภาพอากาศ” โดยรวม ในยุคปัจจุบันคนไทยคงต้องตั้งมั่นบนความไม่ประมาทกันมากขึ้น ซึ่งในขณะที่ภาคอื่น ๆ ประสบปัญหาอากาศหนาวเย็นมาก ทางภาคใต้ซึ่งปกติจะเป็นช่วงที่มีฝนหนัก ในปีนี้ก็รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน โดยเกิดน้ำท่วม-ดินถล่มหลายพื้นที่ เช่น ใน จ.สงขลา, จ.พัทลุง, จ.ยะลา, จ.นราธิวาส ขณะที่หากใครเชื่อทาง ศาสตร์พยากรณ์ตามหลักโหร ในปีนี้ก็บ่งชี้ไปในทางที่ต้องตื่นตัวระมัดระวัง
 
“ปี 2552 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือวันที่ 26 ม.ค. จะเกิดสุริยคราส เวลา 10.28 น., วันที่ 9 ก.พ. เกิดจันทรคราส เวลา 21.50 น., วันที่ 22 ก.ค. เกิดสุริยคราส เวลา 09.30 น. ซึ่งราศีที่ถูกคราสจะทำให้ เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว ฝนตกใหญ่ น้ำท่วม” ...หมอดูดัง อ.เก่งกาจ จงใจพระ ระบุไว้
 
ขณะที่ ดร.กัญจีรา กาญจนเกตุ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งในอีกด้านมีฉายาว่า “นอสตราดามุสหญิงเมืองไทย” ก็เคยทายทักให้รอการพิสูจน์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติผ่านทาง “เดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 2551 ว่า... “ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ในช่วงปี 2551-2552 จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” “วิกฤติต่าง ๆ ที่รุนแรง จะเกิดขึ้นใน 2 ปีนี้”
 
กับสภาพอากาศของเมืองไทยที่ดูเหมือนจะ “วิปริต-แปรปรวน” ทั้ง “ร้อน-ฝน-หนาว” มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยา โดย ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ ระบุว่า... สภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงนี้ ยังถือว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาเคยหนาวมากกว่านี้อีก อย่างเช่นในปี 2517 และ 2542 เพียงแต่ในปีนี้ที่คนไทยรู้สึกหนาวผิดปกติ ก็เพราะฤดูหนาวปีที่ผ่านมาอากาศจะหนาวไม่นาน แล้วก็ร้อนอีก
 
“ไม่ต้องตกใจ ทางพยากรณ์อากาศยังถือเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าบางปีจะร้อนมาก หนาวมาก ฝนมาก เพราะถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยแล้วก็ไม่แตกต่างจากค่าปกติ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องระวังในช่วงนี้คือลมแรง ต้องพยายามสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายเสมอ เพื่อจะได้ไม่เป็นหวัด ซึ่งระยะหลัง ๆ ที่ดูเหมือนอากาศแปรปรวน เป็นเพราะโลกร้อนหรือไม่นั้น ก็ไม่ 100% แต่โลกร้อนก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง” ...ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศว่าอย่างนี้
 
อย่างไรก็ตาม ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุถึงสภาพอากาศเมืองไทยในปัจจุบันว่า... เกิดจากหย่อมความกดอากาศสูงที่เคลื่อนตัวลงมาอย่างรุนแรงจากขั้วโลกเหนือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงมา และอีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “ปรากฏการณ์เรือนกระจก-ภาวะโลกร้อน” ซึ่งทำให้สภาพอากาศทุกมุมโลกแปรปรวนรุนแรงขึ้น เช่นที่สหรัฐหิมะตกมากผิดปกติจนรถวิ่งไม่ได้
 
สำหรับเมืองไทย ดูจากแผนที่อากาศแล้วในช่วงนี้ก็ยังมีหย่อมความกดอากาศสูงรุนแรงและผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้อากาศแปรปรวนและหนาวต่อเนื่อง และอาจมีผลทำให้ฤดูกาลผิดปกติ “เช่นฤดูร้อนจะสั้น ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร สุขภาพประชาชน รวมถึงความเป็นอยู่โดยทั่วไป”
 
ดร.สมิทธ ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพอากาศโลกวิปริตอีกว่า... ที่จริงไม่อยากจะพูดถึง เพราะคนอาจจะพากันแตกตื่นอีก แต่ในอดีตยุค 3,000-4,000 ปีก่อน เส้นศูนย์สูตรจะมีสภาพเหมือนกับขั้วโลกเหนือปัจจุบัน ส่วนขั้วโลกใต้จะเอียง สภาพอากาศจะติดลบ 14-17 องศาฯ ซึ่งประวัติศาสตร์ของโลกเราเคยเป็นเช่นนี้
 
“และเพราะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของโลก จึงทำให้โลกเกิดการเสียสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ตระหนักดี” ...ดร.สมิทธ กล่าวถึงอีกหนึ่งสาเหตุที่มีส่วนทำให้สภาพอากาศโลกแปรปรวนผิดปกติ พร้อมทั้งบอกว่า... การแก้ไขมีทางเดียวคือเราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติมากเกิน เพราะจะทำให้วงจรโลกผิดปกติ หากเราทำให้ขั้วโลกเสียสมดุลมากก็ยิ่งทำให้เกิดวิกฤติ 
 
“ในเมืองไทยประมาณวันที่ 15-16 ม.ค.หย่อมความกดอากาศ จะอ่อนตัว ทำให้มีฝนตก และคลื่นในอ่าวไทยสูงขึ้นและพัดเข้าฝั่งตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปถึง จ.นราธิวาส อาจเรียกว่าเป็นสตอม เซอจ เล็ก ๆ ความเร็วราว 40-50 กม./ชม. ก็ต้องระวังอาจเกิดความเสียหายได้” ...ดร.สมิทธ กล่าว
 
“ธรรมชาติพิโรธ” รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะมนุษย์เอง
 
หนาวจัดในช่วงนี้...อาจแค่การเตือนเล็ก ๆ เท่านั้น .
 


จาก                                  :                             เดลินิวส์    วันที่ 14 มกราคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #32 เมื่อ: มกราคม 19, 2009, 01:02:27 AM »


หนาวแรง - ร้อนหนัก ?


สภาพอากาศหนาวในกรุงเทพฯ ที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานนับสิบปี

มีผู้เริ่มกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

เลยไปถึงว่าหน้าร้อนปีนี้อากาศจะร้อนมากสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส และจะทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างรุนแรง

รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อากาศหนาวที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากภาวะโลกร้อน

เป็นเหตุให้เมืองไทยเกิดมรสุมที่แรงขึ้นและยาวนานขึ้นกว่าปกติ


เนื่องจากในเดือนพ.ย. ธ.ค. และม.ค. เป็นช่วงที่ซีกโลกเหนือหันแกนออกจากดวงอาทิตย์

ประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เกือบตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ เมื่อมวลอากาศร้อนมาจะลอยตัวสูงขึ้น

มวลอากาศเย็นคือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาแทนที่ทันที

เปรียบเทียบความแรงของลมในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

จาก 8 นอตเป็น 13 นอต ส่งผลให้เกิดคลื่นในทะเลใหญ่ขึ้น

สภาพอากาศหนาวและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนประเทศไทยดอยอินทนนท์ปีนี้ติดลบ หากถ้ามีฝนตกลงมาในช่วงอุณหภูมิติดลบจะกลายเป็นหิมะ

จึงไม่แปลกที่ปีนี้มีหิมะตกที่เวียดนามและลาว

ผลกระทบโดยตรงจะทำให้กรุงเทพฯ หนาวเย็นยาวนานขึ้น ส่วนภาคใต้จะฝนตกชุกขึ้น

และคาดว่าปีนี้อากาศในประเทศไทยจะร้อนเพิ่มขึ้นมาก แต่จะมีปรากฏการณ์พายุฤดูร้อนเข้ามาช่วยลดความร้อนของอากาศลง

เพราะประเทศไทยหากร้อนจัดแล้วจะมีฝนตก เนื่องจากมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาฝนมา

ฝนจะตกหนักมากและทิ้งช่วง

ส่งผลให้พืชพันธุ์ทางการเกษตรเสียหาย เนื่องจากฝนไม่มาเป็นฤดูกาล มาคราวละมากๆ หรือน้อย

จะเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินถล่มในเวลาเดียวกันแต่คนละพื้นที่

แต่หน่วยงานที่ดูแลสภาพอากาศโดยตรงอย่างกรมอุตุนิยมวิทยากลับมีความเห็นตรงข้าม

นายต่อศักดิ์ วานิชขจร รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมอุตุนิยม วิทยา ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุปกติทางธรรมชาติ

สภาพอากาศที่หนาวเย็นในขณะนี้ ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เพราะในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีบันทึกอุณหภูมิต่ำสุดที่ภาคเหนือไว้ประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส

ขณะที่ปัจจุบันในบริเวณเดียวกันอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 5-6 องศาเซลเซียส

ส่วนอุณหภูมิติดลบบนยอดดอยเป็นเรื่องปกติที่มีประจำทุกฤดูหนาว สังเกตได้จากการเกิดแม่คะนิ้งตามยอดหญ้าที่ปรากฏให้เห็นทุกปี

สาเหตุที่ปีนี้หนาวเย็นยาวนานกว่าทุกปี เนื่องจากลมมรสุมที่พัดมาจากประเทศจีนยาวนานและมีจำนวนมากถึง 3 ระลอก

ครั้งแรกเมื่อประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาส ช่วงที่สองเมื่อปีใหม่ และช่วงสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 9 ม.ค.

ส่วนที่ประชาชนในกรุงเทพฯ รู้สึกว่าหนาวกว่าปกติ เพราะปีนี้อากาศหนาวลงมาลึกถึงกรุงเทพฯ เป็นเวลานานเท่านั้น

ส่วนที่คาดการณ์ว่าอากาศที่หนาวเย็นจัดจะส่งผลต่อร้อนจัดในฤดูร้อน และฝนตกหนักในฤดูฝนมากกว่าทุกปี

คงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพราะไม่ใช่หลักทางวิชาการ

รวมถึงคาดว่าลมหนาวที่พัดมาครั้งล่าสุดจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว อุณหภูมิจะไม่ต่ำไปกว่านี้ แต่จะค่อยๆ อุ่นขึ้น

เป็นเหตุให้ประมาณวันที่ 16-19 ม.ค.นี้อาจมีหมอกลงจัด

ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องใช้ความระมัดระวัง



จาก                                  :                             ข่าวสด  คอลัมน์ที่ 13    วันที่ 19 มกราคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #33 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 01:42:44 AM »


หิมะตกในเมืองไทย นับวันยิ่งใกล้ความจริง                                      :                                  ปิ่น บุตรี


แม่คะนิ้ง เกาะใบไม้ขาวโพลน

      ...เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย...
       
       นี่ผมไม่ได้พูดถึงชื่อหนังฮิตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หากแต่พูดถึงสภาพดินฟ้าอากาศบ้านเราที่วันนี้เปลี่ยนแปลงแปรปรวนหนัก อันเนื่องมาจากผลพวงของสภาวะโลกร้อน จึงทำให้หน้าหนาวนี้ เมืองไทยหนาวนาน หนาวมาก และหนาวระยับ(หากเทียบกับปีอื่นๆที่ผ่านมา)
       
       หนาวระยับถึงขนาดเกิดปรากฏการณ์ “น้ำค้างแข็ง”หรือ“แม่คะนิ้ง”หรือ“เหมยขาบ”ขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง ดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง ภูกระดึง ภูเรือ หรือที่ไม่น่าจะเกิดอย่าง ภูหินร่องกล้า เขาค้อ น้ำหนาว ภูทับเบิก
       
       แน่นอนว่างานนี้คนแห่ไปดูกันเพียบ
       
       บางคนไม่ดูเปล่า ยังใจดีส่ง SMS มาบอกกล่าวให้ชาวประชารับรู้ผ่านหน้าจอทีวี ไม่ว่าจะเป็น อ่างขางหนาวมาก ภูกระดึงหนาวมาก เข้าค้อหนาวมาก เลยหนาวมาก เป็นต้น
       
       ขณะที่หลายคนนั่งดูข่าว(และอ่านข้อความ)อยู่บ้าน ไม่ได้ส่ง SMS ไปบอกใคร หากแต่ฉงนอยู่ในใจลึกๆว่า
       
       มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราใบนี้ !?!
       
       อา...หรือจะเป็น “อาเพศ” อย่างที่นักพยากรณ์ “โสรัจจะ นวลอยู่”ทำนายไว้เมื่อท้ายปี 50(แบบไม่คอนเฟิร์มเหมือนหมอดูรุ่นน้องปากกล้าบางคน)ว่า ในเดือน ธ.ค. 51 เมืองไทยจะเกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์ดังความว่า
       
       “ในปลายปีชวด 2551 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าแปลกมหัศจรรย์ จะเกิด 'หิมะตก' ในเมืองไทยไปทั่วทางภาคเหนือและอีสานบางส่วน ประชาชนทั้งคนไทยและทั่วโลกตื่นตกใจแทบช็อก เพราะไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย..."
       
       เรื่องนี้แรกๆบางคนฟังแล้วขำ
       
       แต่เมื่อจู่ๆเกิดปรากฏการณ์ลูกเห็บขนาดเล็กตกกว่าครึ่งชั่วโมงในวันที่ 13 เม.ย. 51 บนดอยช้าง(จ.เชียงราย)จนขาวโพลนครอบคลุมพื้นที่กว้างไกล
       
       ใครและใครบางคนเริ่มลังเลเล็กน้อยถึงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะหน้าร้อนแสกๆอย่างวันสงกรานต์ที่นายอ่ำ อัมรินทร์ นิติพน เคยหลงผิดไปลอยกระทง(จากเพลงลอยกระทงวันสงกรานต์) ดันเกิดลูกเห็บตกขาวโพลนทั่วบริเวณปานประหนึ่งหิมะปกคลุมดอยช้าง
       
       แถมกว่าลูกเห็บจะละลายก็ใช้เวลาร่วม 2 วัน อีกทั้งยังทำให้พืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะซาโยเต้นั้นตายเรียบ

   
นี่ก็แม่คะนิ้งเกาะทั่วไปหมด 
 
       เพื่อนผมคนหนึ่งผู้เทใจให้พันธมิตรชนิดสุดลิ่ม มันวิเคราะห์กลางวงเหล้าผ่านแก้วน้ำสีอำพันตามประสาคนแม้วเล้า(เมาแล้ว) ว่า หรือบางทีฟ้าดินอาจต้องการลงโทษใครบางคน เพราะซาโยเต้เรียกภาษาบ้านๆมันก็คือ“ฟักแม้ว”นั่นเอง ว่าแล้วมันก็หันไปสั่งฟักแม้วผัดน้ำมันหอยมากินแกล้มเหล้าเฉยเลย
       
       อืม...ฟังแล้วก็น่าคิด เพราะนับแต่หลังสงกรานต์ปี 51 เป็นต้นมา“แม้ว ตัวพ่อ” ได้รับผลกรรมอันเกิดจากการกระทำของตัวเอง ทั้งต้องโทษติดคุก โดนอังกฤษยึดทรัพย์ ถอนพาสปอร์ต ส่วน“ไข่แม้ว”หลายคน ก็ต้องล้มหายตายจากทางการเมืองไปพักหนึ่ง นั่นเลยทำให้เรื่องหิมะตกในเมืองไทยพลอยซาไปด้วย
       
       กระทั่งเมื่อ วันที่ 24 ก.ย. 51 ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อน ออกมาให้ข่าวว่า จากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้มีหิมะตกในเมืองไทยเป็นครั้งแรกได้ในต้นเดือน ม.ค. 51 ทางภาคเหนือของไทย(สรุปตามข่าวที่ปรากฏ)
       
       ข่าวนี้ทำให้ประเด็นหิมะตกในเมืองไทยถูกจุดขึ้นอีกครั้ง แถมยังมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ระดับนาซาออกมาพูดพร้อมด้วยเหตุผลรองรับทางวิทยาศาสตร์
       
       ยิ่งเกิดปรากฏการณ์หิมะตกในบางประเทศที่ไม่เคยตกอย่าง เวียดนาม อิหร่าน อาร์เจนติน่า เคนย่า ก็ยิ่งส่อแววว่าอาจเกิดหิมะตกในเมืองไทยได้
       
       ยิ่งมีใครบางคนตีความนัยยะ“หิมะ”ของคุณโสรัจจะ ว่าอาจจะเป็นลักษณะเกร็ดน้ำแข็งที่ดูคล้ายหิมะอย่างลูกเห็บหรือแม่คะนิ้ง สภาพการณ์หิมะตกในเมืองไทยก็ยิ่งเข้าเค้า
       
       ยิ่งหนาวนี้หนาวมากถึงขนาดเกิดแม่คะนิ้งในหลายพื้นที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยิ่งทำให้ปรากฏการณ์หิมะตกในเมืองไทยใกล้ความจริงเข้ามาทุกที
       
       ทั้งหลายทั้งปวงนั้นผู้รู้ท่านบอกว่า ล้วนมาจากสภาวะโลกร้อน!!!

   
แม่คะนิ้งที่เกาะหนาแน่นดูเผินๆคล้ายกองหิมะไม่น้อยเลย 
 
       แต่ที่ผมสงสัยก็คือ ในเมื่อโลกร้อน ทำไมคนไทยหนาวขึ้น
       
       เรื่องนี้มากระจ่างเมื่อวันนั้นดูทีวีช่องหนึ่ง พิธีกร คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ สัมภาษณ์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ถึงสาเหตุของเรื่องนี้ว่า ทำไมโลกร้อนแต่อากาศบ้านเราหนาวขึ้น
       
       ดร.อาจอง แจงด้วยหลักวิทยาศาสตร์ว่า สภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส แต่...ที่บริเวณขั้วโลกเหนือ-ใต้นั้น อุณหภูมิร้อนขึ้นมากถึง 5-6 องซาเซลเซียส นั่นเลยทำให้โลกต้องพยายามรักษาค่าเฉลี่ยไว้ จึงชดเชยด้วยการลดอุณหภูมิแถบเส้นศูนย์สูตรลง(คล้ายๆโลกปรับตัว : อันนี้ความเห็นผม) เราจึงหนาวขึ้นกว่าปกติ
       
       คุณจอมขวัญถามอีกว่า แล้วเมืองไทยจะมีโอกาสเกิดหิมะตกในต้นปีนี้หรือเปล่า
       
       ดร.อาจอง ตอบว่า แนวโน้มเมืองไทยเกิดหิมะตกมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะทางภาคเหนือบนที่สูง พร้อมๆกับถือโอกาสแก้ข่าวว่า แต่เป็นในโอกาสอันใกล้นี้ ไม่ใช่หมายถึงในต้นเดือน ม.ค. 51(อย่างที่สื่อนำเสนอไป)
       
       ฟังๆแล้ว หลายคนอาจคิดว่าคงดีที่เมืองไทยมีหิมะตก เพราะจะได้ขึ้นเหนือ ขึ้นดอย ไปเที่ยวดูหิมะ และคงเข้าทางททท. ที่ฉวยจังหวะโปรโมตการท่องเที่ยวแบบได้เปล่า(แต่ของบ)ตามที่ตัวเองถนัด
       
       ขณะที่ใครบางคนมองข้ามช็อตคิดไปไกลปนตลกร้ายว่า ถ้าเมืองไทยมีหิมะตก นั่นก็ถึงเวลาที่เราจะพัฒนาก้าวไกลเป็นมหาอำนาจของโลกเสียที เพราะประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง อเมริกา อังกฤษ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น มีหิมะตกทั้งนั้น
       
       เรียกว่าเป็นทัศนะเบาๆประโลมโลก แต่ในความเป็นจริงนั้นผมเชื่อว่าใครหลายคนรู้ดีว่า ไม่ว่าในอนาคตอันใกล้เมืองไทยจะมีหิมะตกหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแม่คะนิ้งที่ตกลงมามากมาย แต่สิ่งที่น่าตระหนกก็คือ วันนี้ของโลกเรากำลังกับสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางธรรมชาติมากมาย
       
       ไม่ว่าจะเป็น ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย,อุณหภูมิโลกสูงขึ้น, หน้าร้อน-ร้อนจัด, หน้าหนาว-หนาวจัด, หน้าฝน-ฝนตกหนักมีพายุรุนแรง, ระดับคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกสูงขึ้น, ไฟป่าเกิดง่าย, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น, ชายฝั่งถูกกัดเซาะ, ฤดูกาลไม่คงที่-เปลี่ยนแปลง,นกอพยพย้ายถิ่น,ดอกไม้ออกดอกเร็วขึ้น ฯลฯ
       
       เรียกว่าปัญหาโลกร้อนที่แต่ก่อนดูไกลตัวนั้น วันนี้มันเริ่มขยับใกล้ตัวเรามากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้นทุกที ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้มนุษย์จะโทษใครไม่ได้เลย เพราะปัญหาโลกร้อนที่เริ่มจะเดินเข้าสู่วิกฤตินั้น ปัจจัยหลักเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น!?!
 


จาก                                  :                             ผู้จัดการออนไลน์     วันที่ 22 มกราคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #34 เมื่อ: มกราคม 30, 2009, 12:44:46 AM »


“สมิทธ” เตือนหน้าร้อน อุณหภูมิอาจทะลุ 42 องศา


 
เมื่อวานนี้ ( 29 ม.ค.) ในการประชุม การจัดการภัยพิบัติสำหรับประเทศไทย บทเรียนการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ด้านสาธารณภัย ประจำปี 2551 นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในขณะนี้ถือว่ามีความผิดปกติ โดยประเทศไทยมีฤดูหนาวยาวนานและอุณหภูมิลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับอิทธิพลมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือผ่านมาทางจีนนานผิดปกติ โดยมาพร้อมกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ชายฝั่งภาคตะวันออกด้านอ่าวไทย มีความเร็วลม 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีสตอร์มเซิร์จขนาดกลางและเล็ก ทำให้เกิดคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่หัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งเห็นได้ชัดเจนบริเวณแหลมตะลุมพุก บริเวณชายฝั่ง บ้านเรือนประชาชนเกิดความเสียหายรุนแรง 2-3 เมตร

นายสมิทธ กล่าวอีกว่า การเกิดภัยธรรมชาติที่ผิดปกติในช่วงฤดูหนาวนี้ ทำให้นักวิชาการ นักวิจัยต่างวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงสภาวการณ์ของโลกที่ไม่ใช่เกิดเฉพาะในไทย แต่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือเคลื่อนตัวเข้าหาเส้นศูนย์สูตร ซึ่งคาดว่าเกิดจากแกนของโลกเอียงห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติจากเดิมในฤดูหนาวแกนโลกจะเอียงห่างจากดวงอาทิตย์ 23.5 องศา แต่ปีนี้อาจห่างมากกว่านั้น ซึ่งในอดีตแกนโลกห่างจากดวงอาทิตย์แค่ 0.5-1 องศา อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 เดือน น่าจะมีหลักฐานทางวิชาการออกมายืนยันผล
       
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากปีนี้ฤดูหนาวยาวนาน ในฤดูร้อนจะเป็นอย่างไร ซึ่งในปีนี้จะมีภัยพิบัติรุนแรงหรือไม่จะเห็นได้ชัดเจนในช่วงฤดูร้อนนี้ หากกฤดูร้อนสั้นลง หรือแกนของโลกจะเอียงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทำให้อุณหภูมิสูงหรืออุ่นล้วนมีผลกระทบทั้งสิ้น ผลโดยตรงอาจเกิดคลื่นความร้อน หรือฮีตเวฟ เหมือนที่เกิดขึ้นในอินเดียมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คาดว่าปีนี้อุณหภูมิน่าจะสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว นอกจากนี้อาจเกิดไฟป่า มีหมอกควันปกคลุมเหมือนที่เคยเกิดในภาคเหนือของไทย สำหรับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ลดลง เกิดภาวะแห้งแล้งส่งผลให้ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ขณะเดียวกันโรคระบาดจะมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บสูงเพราะเชื้อโรคสามารถแพร่พันธุ์ได้ง่าย ผนวกกับประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนซ้ำเติมปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” นายสมิทธ กล่าว
       
อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนในฤดูมรสุมซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากฤดูร้อนที่น้ำแข็งขั้วโลกเกิดการละลายอย่างมากทำให้อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรมรลดลง เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดความชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดียและอันดามันเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือมาเจอกับความร้อนที่ระเหยมาจากพื้นดิน ทำให้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญมีความรุนแรงมากขึ้น มีฝนตกหนัก เกิดพายุบ่อยครั้ง น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม รวมถึงสตอร์มเซิร์จขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าปีนี้สถานการณ์น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา
       
“ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรจะมีการตั้งวอร์รูมขึ้นเพื่อสามารถรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเนื่องจากหากต้องรอเข้าที่ประชุมเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นอาจไม่ทันการณ์” นายสมิทธกล่าว
       
ด้านนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (เลขาธิการ สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ การที่นายสมิทธได้วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ไว้ก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องมีความพร้อมเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ ที่ผ่านมาสึนามิ หรือล่าสุดเพลิงไหม้ที่ซานติก้าผับ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของคนไทย เนื่องจากสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องการประสานงานและความไม่พร้อมของการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โดยขณะนี้พยายามพัฒนาระบบในการบรรเทาสาธารณภัยให้ดียิ่งขึ้น โดยร่วมมือกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนในระดับจังหวัดจัดให้มีแผนการซักซ้อมวิกฤตการณ์ด้านสาธารณ์ภัยซึ่งกำหนดให้มีการซักซ้อม 2-5 ครั้งต่อปี
       
“ประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่แล้ว จึงอยู่ที่การประสานงานและบริหารจัดการ เช่น สามารถประสานขอความช่วยเหลือโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหาร หรือตำรวจเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ ซึ่งในอนาคตจะเสนอให้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน ที่มีความพร้อม โดยคำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นหลัก ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสพฉ.มีระเบียบตามกฎหมายเรื่องค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 40,000 บาทต่อครั้ง โดยผู้ป่วยหรือญาติที่มีกำลังจ่าย สามารถมีส่วนร่วมจ่าย เนื่องจากการใช้เฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งถือเป็นการซื้อเวลาช่วยรักษาชีวิตเป็นเรื่องคุ้มค่า” นพ.ชาตรี กล่าว
       
นพ.ชาตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-26 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีปฏิบัติการกู้ชีพทั้งสิ้น 50,914 ราย ได้รับแจ้งจากสายด่วน 1669 จำนวน 25,725 ราย หรือ ร้อยละ 50.53 ส่วนเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตสูงสุด คือ อุบัติเหตุจราจร 16,671 ราย หรือร้อยละ 32.74 โดยเจ้าหน้าที่บริการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (อีเอ็มเอส) สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที 37,844 ราย หรือร้อยละ 74.33 สามารถให้การดูแลรักษา ณ จุดเกิดเหตุ 47,950 ราย หรือร้อยละ 94.17 โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 35 รายหรือร้อยละ 0.07 นอกจากนี้มีผู้โทรศัพท์ก่อกวนประมาณร้อยละ 20-30 โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่

 
 
จาก                                  :                             ไทยรัฐ     วันที่ 30 มกราคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #35 เมื่อ: มีนาคม 02, 2009, 01:13:00 AM »


ภัยร้ายรายวัน : รับมือหน้าร้อน

 ใกล้เข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน ก็ดูเหมือนสภาพอากาศบ้านเราจะยิ่งร้อนขึ้น และเป็นประจำทุกปีที่ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีภัยธรรมชาติอย่าง ‘พายุฤดูร้อน’ เกิดขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน



สำหรับลักษณะอากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อนที่พอจะเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติ คือ อากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน ลมสงบ พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฟ้าแลบ ฟ้าคะนองในระยะไกล และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อเป็นเช่นนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยหากต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อน...

ก่อนเกิดพายุ ควรตรวจตราสภาพที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาว่าอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ หากอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ควรดำเนินการซ่อมแซม หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน หากพบสายไฟฟ้าพาดกับกิ่งไม้ก็ไม่ควรนิ่งเฉย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาตรวจสอบทันที

นอกจากนี้ ควรหมั่นติดตามรับฟังการพยากรณ์อากาศ และเมื่อมีการประกาศเตือนภัย ให้จัดเก็บสิ่งของน้ำหนักเบาที่สามารถปลิวตามกระแสลมไว้ในที่มิดชิด พร้อมกับการจัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ไฟฉาย วิทยุพกพา ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกใบ เพื่อบรรเทาความเสียหาย



ขณะเกิดพายุฤดูร้อน ควรเข้าไปหลบภายในอาคาร บ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตู หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันการถูกกระแทกจากสิ่งของที่ปลิวเข้าใส่ตัวบ้าน แต่หากประตูหรือหน้าต่างไม่แข็งแรง ให้ใช้ไม้ทาบตีตะปูตรึงไว้  ป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย

หลีกเลี่ยงการหลบตามใต้ต้นไม้ ใกล้เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณา เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ที่สำคัญควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง และอยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน พร้อมกับงดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เนื่องจากในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง มักจะเกิดฟ้าผ่า อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้


กรณีที่ยังอยู่ในที่โล่ง ควรคุกเข่าและโน้มตัวไปข้างหน้า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ตลอดจนระมัดระวังอันตรายจากลูกเห็บที่ตกลงมา

หลังเกิดพายุฤดูร้อน ฝนหยุด ลมสงบ หากพบต้นไม้ในบริเวณบ้านโค่นล้ม ให้รีบตัดทิ้งทันที กรณีพบเห็นเสาไฟฟ้าล้มหรือมีสายขาด ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการโดยเร็ว และถ้ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามหลักการ ก่อนส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาล



อย่างไรก็ตาม หากคุณผู้อ่านได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ประสานงานช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว.

 

จาก                                  :                             เดลินิวส์     วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #36 เมื่อ: มีนาคม 03, 2009, 01:12:10 AM »


ส่งสัญญาณแห่งฤดูกาล 'ร้อน-แล้ง' ปีนี้วิกฤติแค่ไหน!?
 

 
  จากสภาพอากาศเย็นสบายเปลี่ยนมาร้อนอ้าวสัมผัสได้ถึงความร้อนแรงของแสงแดดในเวลากลางวันและจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปรากฏเป็นสัญญาณบ่งบอกการมาถึงแล้วของ ฤดูร้อน
 
ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนสิ่งที่ปรากฏมีข่าวความเคลื่อนไหวควบคู่มาคือความแห้งแล้งภัยแล้งซึ่งที่ผ่านมาหลายพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังประสบภัย อีกทั้งยังมีประกาศ เตือนพายุฤดูร้อนฝนฟ้าคะนองให้ติดตาม
 
นอกจากความแล้งปรากฏ การณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นของฤดูกาล ช่วงฤดูร้อนยังมีเรื่องของ พายุฝนฟ้าคะนอง ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งและด้วยลักษณะอากาศแห้งเอื้อต่อการเกิด อัคคีภัย ไฟป่า จึงควรเพิ่มความระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิง การทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งใน ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วย ฯลฯ จึงควรเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพกันไว้
 
“ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งฤดูร้อนจะเริ่มขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางพฤษภาคม ฤดูร้อนของประเทศไทยจะเริ่มขึ้นช่วงเวลานี้” ดร.สมชาย ใบม่วง    ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาเริ่มบอกเล่าพร้อมให้ความรู้สภาพอากาศสภาวะฤดูร้อนของประเทศไทยและสภาวะความแห้งแล้งว่า ภัยแล้งหรือความแห้งแล้งคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเป็นความแห้งแล้งอย่างไร ถ้าในความหมายทั่วไปที่เรียกกันคือ ไม่มีฝน


 
ถ้าพูดถึงภาวะแห้งแล้งซึ่งหากดูภาพรวมความสมดุลของน้ำคือ ฝนตกจากฟ้ามายังพื้นดินเรียกว่าน้ำเข้าพื้นดิน ขณะที่อีกส่วนคือน้ำที่ออกจากพื้นดิน ระเหยจากพื้นดิน ถ้ามีฝนตกลงมาอย่างสม่ำเสมอมากกว่าน้ำที่ออกไปก็ไม่แห้งแล้งเพราะพื้นดินมีความชุ่มชื้น
 
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามฝนตกน้อยน้ำออกไปมากกว่าเข้ามานี่คือความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกับพื้นดิน ถ้าฝนไม่ตกเป็นเวลานานอีกทั้งน้ำระเหยออกตลอดเวลาจะเรียกความแห้งแล้งนี้ว่า ความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยา คือฝนไม่ตกหรือตกน้อย คราวนี้พอเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกหลายวัน น้ำที่มีอยู่ในผืนดินระเหยออก พื้นดินบริเวณนั้นไม่สามารถเพาะปลูกทางการเกษตรได้ก็จะเรียกว่า ความแห้งแล้งทางการเกษตร
 
ความแห้งแล้งช่วงเวลานี้เป็นฤดูกาลที่เปลี่ยนจากฤดู  หนาวพื้นดินแห้ง ดินแตกระแหงเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชได้ พอเกิดขึ้นนานเข้าน้ำที่มีอยู่    ในบ่อในสระ   ในลำคลองอะไรก็แล้วแต่ ฯลฯ แห้งระเหยหมด
 
น้ำที่นำมาใช้ดื่มกินระเหยไปเพราะฝนไม่ตกนานก็จะเป็นความแห้งแล้งทางอุทกวิทยา ส่วนอีกความแห้งแล้งฝนไม่ตกเลย  เหมือนในต่างประเทศซึ่งฝนไม่ตกยาวนาน 4-5 เดือน ปลูกพืชไม่ได้มนุษย์ สัตว์ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ฯลฯ ก็จะเกิดความแห้งแล้งอันดับสุดท้ายซึ่งเป็นความแห้งแล้งสุด เรียกว่า ทุกขภิกภัย ภัยธรรมชาติที่เกิดจากฝนแล้ง ไม่ตกตามฤดูกาล สภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แต่ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง ระดับใดก็ตามหลายหน่วยงาน ได้เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความแล้งให้แก่ผู้ที่กำลังประสบภัย


 
“ปีนี้อากาศเริ่มร้อนต่อเนื่องมาซึ่งจากนี้ไปอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นที่โชคดีของประเทศไทย ซึ่งพอเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนปีนี้และแทบทุกปีก็จะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมวลอากาศเย็นลงมา ประเทศไทยจากที่สะสมความร้อนอยู่ พออากาศเย็นและแห้งเจอกันก็เกิดพายุฤดูร้อน อย่างที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีฝนตกลูกเห็บตก ซึ่งก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่เข้าสู่ฤดูร้อน
 สภาพอากาศของประเทศไทยทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนจะไม่มีอากาศร้อนต่อเนื่องโดยที่ไม่มีฝนตก อย่างที่กล่าวมาเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วโชคดีมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมาก็จะมีฝน อากาศที่ร้อนอยู่ ก็จะลดลง พอฝนหายไปก็จะสะสมความร้อนขึ้นใหม่ พอมวลอากาศเย็นมาอีกระลอกก็จะมีฝนตกอีก”
 
พอเข้าสู่ฤดูร้อนปีนี้แน่นอน อากาศจะร้อน อย่างกุมภาพันธ์เป็นต้นมามีการสะสมความร้อน 37 38 39 องศาเซลเซียส ก็มีแต่ก็ไม่ได้เกิดในหลายพื้นที่และพอสะสมได้พักหนึ่ง อย่างที่กล่าวมาอากาศเย็นลง ลักษณะอากาศเช่นนี้จะมีให้สัมผัสตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคมและในเดือนเมษายน 
 
ในเดือนเมษายนจะเป็นช่วงอุณหภูมิฤดูร้อนสูงสุด บางจังหวัดอาจมีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่าแต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้สูงหลายวัน ส่วนในเดือนนี้โอกาสที่อุณหภูมิสูงบางจังหวัดทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่ก็อาจมีได้
 
“จากข้อมูลนี้ดูจากสภาพอากาศร้อนของประเทศไทยและจากการคาดหมายลักษณะอากาศพบว่าช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ลานีญาครอบคลุมอยู่ซึ่งประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์นี้ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วมาถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ซึ่งแสดงว่า ช่วงฤดูร้อนปีนี้อากาศจะไม่สูงเท่าไหร่ ความชื้นมากก็พอจะคาดหมายได้ว่าค่าอุณหภูมิจะใกล้เคียงกับค่าปกติ 


 
ส่วนอากาศร้อนที่กล่าวกันเป็นความร้อนตามปกติของช่วงต้นฤดูร้อนเป็นร้อนปกติ ซึ่งในความเข้าใจส่วนตัวมองว่าจากความเคยชินในฤดูหนาวที่ผ่านมาซึ่งช่วงการเกิดฤดูหนาวก็ปกติ แต่ว่าเนื้อในของฤดูหนาวนั้นหนาวนาน หนาวหลายวันก็จะมีความเคยชิน พอจากฤดูหนาว เข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเร็ว   ก็เลยมีความรู้สึกว่าร้อนกว่าปกติ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปกติของฤดูร้อน”
 
สำหรับฝนที่ตกลงมาเป็นสิ่งดี นอกจากช่วยลดคลายความร้อนแล้วยังช่วยให้พื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับฝนเพื่อนำไปใช้ทำการเกษตร บรรเทาความแห้งแล้งความร้อน แต่ปัญหาช่วงที่อากาศเย็นพัดลงมาปกคลุมสิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังคือ พายุฤดูร้อน
 
ช่วงเดือนนี้ เดือนหน้าและในเดือนพฤษภาคมกรมอุตุนิยมวิทยาย้ำเตือนต่อเนื่องคือเรื่องพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น อย่างที่ได้ทราบและประกาศเตือนลักษณะของพายุฤดูร้อนจะมีลมกระโชกแรงมากต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ กิ่งไม้ที่ผุพังต้องตัดทิ้ง บ้านเรือนหลังคาบ้านที่ไม่มั่นคงต้องดูแลเตรียมความพร้อมไว้
 
ส่วนสิ่งที่จะช่วยสังเกต ก่อนการเกิดพายุฤดูร้อนนั้นสามารถรู้สึกได้ถึงอากาศร้อนอ้าวหลายวันติดต่อกัน สังเกตท้องฟ้าดูว่ามีเมฆครึ้มดำหรือไม่ถ้าร้อนมาหลายวันแล้วมีเมฆดังกล่าวก็ให้ระวังพายุฤดูร้อน ยิ่งก้อนเมฆเคลื่อนผ่านต้องระวังเพราะพายุจะเกิดใต้ฐานเมฆ ลมจะมาแต่ไกลให้ระมัดระวังอย่าอยู่กลางแจ้งให้อยู่ในที่ร่มที่มั่นคง อีกทั้งสิ่งของที่เป็นโลหะอย่าใส่ออกไปและไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงอะไร ก็ตาม อย่าปล่อยไว้กลางแจ้ง   ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความเคลื่อนไหวมีเหตุการณ์ฟ้าผ่าจากการเกิดพายุฤดูร้อนให้ติดตามอยู่เสมอ


 
นอกจากฤทธิ์แรงลมพายุช่วงฤดูร้อน อีกสิ่งที่ต้องระวังคือ ลูกเห็บ ลูกเห็บจะตกมาพร้อมกับพายุมาพร้อมลมกระโชกแรง ฝนตกแรงและขณะที่อุณหภูมิ สูงช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีโอกาสร้อนจัด ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง  เป็นเวลานานเพราะอาจทำให้เสียเหงื่อได้มาก พอเสียเหงื่อมาก ร่างกายจะขาดน้ำโดยเฉพาะผู้สูงอายุอากาศร้อนขาดน้ำอาจทำให้ช็อกได้ต้องระมัดระวัง เช่นเดียวกับการออกไปในพื้นที่โล่งแจ้งเป็นเวลานานควรพกร่ม สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม ผู้อำนวยการท่านเดิมกล่าว
 
จากฤดูร้อนที่กำลังเริ่มขึ้นและก่อนจะถึงช่วงเมษายนที่สัมผัสได้ชัดถึงความอบอ้าวของสภาพอากาศร้อน รวมถึงอาจต้องเผชิญกับฝนฟ้าคะนองพายุฤดูร้อนที่อาจสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ทรัพย์สิน ฯลฯ และแม้จะเป็นที่ทราบกันแต่ก็ไม่ควรประมาท มองข้ามและเพื่อหลีกไกลจากความสูญเสีย ควรใกล้ชิดติดตามสภาพอากาศ สำรวจซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างให้มั่นคง เตรียมความพร้อมกันไว้แต่เนิ่น ๆ จะได้มั่นใจ ปลอดภัยกันในช่วงฤดูร้อนนี้
 


จาก                                  :                             เดลินิวส์     วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: 1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 20 คำสั่ง