กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 15, 2024, 07:03:50 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คุณคิดอย่างไรกับการให้สัมปทานเอกชนเข้าไปจัดการการท่องเที่ยว 10 อุทยานแห่งชาติ  (อ่าน 62669 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #105 เมื่อ: กันยายน 24, 2008, 01:48:05 AM »


"ดร.ธรณ์"ไล่บี้เซ้งรีสอร์ท

กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปลี่ยนวันจัดประชาพิจารณ์เรื่องการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่อุทยานฯเพื่อสร้างรีสอร์ทและร้านอาหารเป็นระยะเวลา 30 ปี จากวันที่ 25 กันยายน เป็นวันที่ 24 กันยายน กะทันหัน โดยก่อนหน้านี้ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุมกันทั่วหน้าแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองอธิการบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอฝากถามที่ประชุม 3 ข้อ คือ

1.ตัวเลขที่กรมอุทยานให้เอกชนเช่า จำนวน 48,000 บาทต่อไร่ นำตัวเลขอะไรมาคิดคำนวณ

2.โรงแรมหรือรีสอร์ทที่จะให้เอกชนสร้างต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือไม่ เพราะเดิมทีโรงแรมที่มีห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง ไม่ต้องทำอีไอเอ แต่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถือเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวอย่างมาก

3.อยากทราบว่า เรื่องเดิมที่กรมอุทยานฯเคยกำหนดปริมาณนักท่องเที่ยวสำหรับในพื้นที่อุทยานฯต่างๆ เช่น ที่เกาะสุรินทร์ กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 620 คนต่อคืน

จึงอยากทราบว่า ยังคงใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่หรือไม่ และอย่าลืมว่าในโรงแรมหรือรีสอร์ทนั้นจะต้องมีพนักงานอยู่จะนับรวมหรือไม่ คำตอบของกรมอุทยานฯน่าจะบอกอะไรได้ระดับหนึ่ง



จาก                        :                      มติชน   วันที่ 24 กันยายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #106 เมื่อ: กันยายน 24, 2008, 02:03:52 AM »

คนมันจะ เอา เนี่ย  อย่างหนา จริงๆๆ เลย  ไม่น่าให้อยู่ในประเทศเราเลย

พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีของพวกเรา   มีแต่ อยากจะสร้างป่าผืนเขียว  แต่ว่า "อมนุษย์"  สักแต่อยากทำลาย.....

ขอให้พวกมันเจริญ ลง เจริญลง โกงกินเข้าไป.....
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
Udomlert
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 162


« ตอบ #107 เมื่อ: กันยายน 24, 2008, 02:55:25 AM »

ไม่แน่ใจครับ แต่มีข้อมูลจากเว็บอื่นว่า มีการเลื่อนการจัดทำประชาพิจารณื มาเป็นวันที่ 24 ครับ
บันทึกการเข้า
WayfarinG
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2388



« ตอบ #108 เมื่อ: กันยายน 24, 2008, 03:14:19 AM »

ไม่แน่ใจครับ แต่มีข้อมูลจากเว็บอื่นว่า มีการเลื่อนการจัดทำประชาพิจารณื มาเป็นวันที่ 24 ครับ


สงสัยกลัวคนไปประท้วงมากมาย จริงๆ พวก พธม น่าจะมาร่วมด้วยนะ.. เพราะ การกระทำนี้ ก็เหมือนกับการขายชาติเหมือนกัน.. 
บันทึกการเข้า

If you reject the food, ignore the customs, fear the religion and avoid the people, you might better stay home.  -- > James Michener
kungkings
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 791



« ตอบ #109 เมื่อ: กันยายน 24, 2008, 04:10:24 AM »

คนพวกนี้เหมือนกันหมด ...ประมาณกล้าทำ (ไม่ดี) แต่ไม่กล้ารับ (ผิด) สักคน   
บันทึกการเข้า

ทำวันนี้ และวันหน้าให้ดีที่สุด...
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #110 เมื่อ: กันยายน 25, 2008, 12:57:03 AM »


เปิดเอกชนเช่าอุทยานฯ : คนเล็กรักษ์ป่า คนโตขายป่า                                  :                            ปิ่น บุตรี


พิทักษ์ป่าคนเล็กๆกับภารกิจปกปักรักษาป่าอันยิ่งใหญ่

       ไม่ใช่เพราะ “คนใหญ่คนโต”ประเภทคับบ้านคับเมือง(จำนวนหนึ่ง)หรอกหรือ? ที่ทำให้บ้านนี้เมืองนี้ลุ่มๆดอนๆ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ไม่ไปถึงไหนสักที
       
       ไอ้คนใหญ่คนโตประเภทนี้มันก็ดีแต่หลอกประชาชนให้เลือกมันเข้ามาเป็น ส.ส. เป็นรัฐบาล แล้วเข้ามาทำริยำตำบอน โกงบ้านกินเมือง ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เผด็จการ กดขี่ข่มเหง จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ขายชาติขายแผ่นดิน ขายกินแม๋งทุกอย่าง
       
       และดูเหมือนว่าไอ้สันดานแบบนี้มันยังไม่เคยหมดไปจากคนใหญ่คนโตในบ้านเรา เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวออกมาว่า คนโตบางคนในวงการป่าไม้บ้านเรางานเข้า กระฉูดไอเดีย กระเหี้ยนกระหือรือ ต้องการเปิด 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดังให้เอกชนเข้ามาสัมปทาน พร้อมกับยกเรื่องของการท่องเที่ยวขึ้นมากล่าวอ้าง
       
       โหย...ไม่รู้ใครหนอมันช่างคิดและเอาส่วนไหนคิด เพราะกรมอุทยานฯนั้นมีหน้าที่ดูแลรักษาป่า ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ สมบัติของคนไทย และสมบัติของมนุษยชาติ แต่นี่กลับกระทำการที่เข้าข่ายการ“ขายป่า”เฉยเลย
       
       เมื่อสภาพการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ทำให้ผมอดนึกถึงบรรดาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คนเล็กๆที่ลำบากลำบน ทุ่มเทกายใจ ทำหน้าที่คอยดูแลปกปักรักษาป่าในบ้านนี้เมืองนี้ไม่ได้
       
       1...
       
       กลางวงเหล้าขาว ค่ำคืนแรกแห่งอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา เมื่อหลายปีที่แล้ว
       
       ผมร่วมร่ำสุรากับพี่พิทักษ์ป่าหลายคน หลังจากที่ช่วงบ่ายพวกพี่เขาพาผมกับเพื่อนเดินป่าแล้ว สนิทสนมคุ้นเคยกัน
       
       พี่ อ. (ขอสงวนชื่อจริงเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำยากในการทำงานของพี่แก) คือคนที่ผมคุ้นเคยที่สุด แกเป็นมือกีตาร์และปิศาจสุราประเภทกินถึงไหนถึงกัน ซึ่งไม่ว่าวงสุราจะเลิกดึกแค่ไหนแกก็สามารถตื่นแต่เช้าเดินเข้าป่าได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวและไม่สะทกสะท้าน
       
       “กินเหล้าอย่างนี้แล้วตื่นมาเดินป่านะไม่เท่าไหร่หรอก ขอเพียงกินเหล้าให้เป็นเท่านั้น แต่ที่พี่เคย “น็อก”นะ ไม่ใช่เพราะเหล้าหรืออดนอน แต่เราน็อกเพราะถูกไข้ป่าเล่นงาน”
       
       จากคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ดูเหมือนว่างานนั้นพี่ อ. โดนพิษไข้ป่าเล่นงานจนหมดสภาพ นอนหนาวสั่น เหงื่อแตกโชก แถมยังเพ้ออย่างคนเสียสติ
       
       แต่กระนั้นพี่ อ.บอกกับผมว่า “ไข้ป่า” ยังไงก็ไม่น่ากลัวเท่า“ไข้โป้ง” เพราะไอ้โรคนี้มันเป็นได้แค่หนเดียวเท่านั้น
       
       2...
       
       พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่แม้จะเข้มแข็ง แข็งแกร่ง แต่ใครบ้างล่ะไม่กลัวไข้โป้ง ยิ่งในยุคก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่บรรดาโจรร้ายผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ฆ่าสัตว์ มีอาวุธทันสมัยเพียบพร้อม ทั้งไรเฟิล อาก้า แต่พิทักษ์ป่าล่ะมีอะไร?
       
       “พวกเราก็มีลูกซองเก่าๆเอาไว้ตีงูไง”
       
       นี่คือตลกร้ายจากพิทักษ์ป่าคนหนึ่ง ก่อนที่แกจะเล่าต่อว่า
       
       “ไอ้ลูกซองเก๋ากึ๊กที่เรามีเนี่ย บางวันก็ยิงได้ บางวันก็ขัดลำกล้อง แถมมันมักขัดลำกล้องตอนที่เจอกับคนร้ายเสียอีก นี่เว้ากันซื่อๆ ไม่ต้องถึงขนาดคนร้ายมีปืนหรอก เอาแค่มีมีดเล่มใหญ่ๆ นี่แหละ ถ้าเกิดเขาสู้ขึ้นมา บางทีเราที่มีปืนก็สู้เขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าปืนมันยิงไม่ได้ ที่พกไปนี่แค่เอาไว้ขู่ให้พวกคนร้ายกลัวเท่านั้น”
       
       และด้วยความไร้ด้อยของอาวุธรวมถึงความไร้สมรรถภาพของคนโตแห่งวงการป่าไม้(ที่ไม่อนุมัติงบประมาณในด้านนี้)ได้ทำให้พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ ล้มตาย จากการปะทะกับคนร้ายไปเป็นจำนวนมาก
       
       นับว่าโรคไข้โป้งเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ว่าบางครั้งมันก็มักจะมาเยี่ยมเยือนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่บ่อยครั้ง
       
       3...
       
       คนเล็กๆอย่างพิทักษ์ป่า นอกจากจะเผชิญความสุ่มเสี่ยงต่างๆแล้ว สิ่งหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมากก็คือ การทำความเข้าใจกับชุมชน ชาวบ้าน ที่มีพฤติกรรมเข้าป่าล่าสัตว์ ตัดไม้ และพึ่งพาอาศัยหากินกับผืนป่ามาอย่างยาวนาน
       
       จริงอยู่ในอดีตผืนป่ามีมากและอุดมสมบูรณ์ พวกเขาอาจมองไม่เห็นถึงผลกระทบต่อการทำลายป่า แต่วันนี้เมื่อป่าหดหาย ผลกระทบย่อมหายใจรดต้นคอเรามากขึ้น
       
       ด้วยเหตุนี้ตามอุทยานฯส่วนใหญ่ จึงตั้ง“ทีมสื่อความหมายธรรมชาติ”ขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและปลูกฝังแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าและทรัพยาการธรรมชาติให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งหนึ่งในจนท.สื่อความหมายที่ผมคุ้นเคยดีก็คือ พี่ อ. แห่งอุทยานฯเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ที่อุทิศชีวิตส่วนใหญ่ให้กับผืนป่าในเมืองไทย
       
       พี่ อ. เป็นเด็กหนุ่มจากเมืองกรุงฯ แต่ออกเดินทางด้วยหัวใจแสวงหาหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่สู่ป่าเขาคิชฌกูฏ ในปี พ.ศ. 2529 เพื่อรับหน้าที่เป็นพิทักษ์ป่า ทั้งๆที่แกมีโอกาสทำงานนั่งโต๊ะสบายๆ กินเงินเดือนสูงๆ แต่ไม่ทำ กลับเลือกเดินหน้าเข้าป่ามาลำบากลำบนและเสี่ยงภัยต่างๆนานา
       
       "สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้ "ไม่เข้าใจ"ว่าพวกเรามาทำอะไรกัน อยู่ดีๆ พวกเราก็มาบอกให้พวกเขาหยุดล่าสัตว์ หยุดตัดต้นไม้ ทั้งที่หลายๆคนมีอาชีพเป็นพรานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้กระทั่งการไปสอนลูกหลานเขาให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ แรกๆพวกเขาก็ยังงงๆ คิดว่าพวกเราทีมสื่อความหมายจะมาปลุกระดมลูกหลานเขาหรือเปล่า" พี่ อ.เล่าความหลัง
       
       ไอ้ความ"ไม่เข้าใจ"นี่แหละ ถือเป็นปัญหาระดับคลาสสิคของทีมสื่อความหมายฯที่มีมาช้านาน ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับชาวบ้านเท่านั้น แต่ว่าความไม่เข้าใจนั้นยังเกิดขึ้นกับในส่วนของคนในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ในเมืองไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนในกรมป่าไม้หรือคนในกรมอุทยานฯ โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มองว่า ผืนป่าเมืองไทยนั้นเป็นของพวกตน ชาวบ้านนั้นไม่มีสิทธิแต่ประการใดทั้งๆที่ในอุทยานแห่งชาติหลายๆแห่งชาวบ้านอยู่กันมานับร้อยปีก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานฯด้วยซ้ำ
       
       นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุทยานฯกับชาวบ้านไปด้วยกันไม่ได้ ถึงขนาดในบางพื้นที่ต้องแก้กันด้วยปืนเลยทีเดียว และนั่นก็ทำให้งานสื่อความหมายฯที่คนเล็กๆเหล่านี้ พยายามสร้างขึ้นมาในสมัยก่อน ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะว่าคนใหญ่คนโตหลายๆคนในวงการป่าไม้ไม่ให้การสนับสนุน
       
       เมื่อไม่ให้การสนับสนุนงบประมาณตรงส่วนนี้ก็ไม่มี ทำให้เจ้าหน้าที่สื่อความหมายและพิทักษ์ป่าทั่วไทย จำเป็นต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคต่างๆนานาๆ กว่าจะมาถึงวันนี้ ที่สถานการณ์การอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติในบ้านเราดูดีขึ้นบ้าง ซึ่งนั่นก็คือเรื่องจริงที่คนเล็กๆอย่างพิทักษ์ป่าต้องประสบพบเจอ
       
       แต่...อนิจจาในขณะที่ “คนเล็กๆ” อย่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานได้เงินไม่กี่พันบาทต่อเดือน ได้ทำหน้าที่ยืนหยัดต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณ เพื่อคอยปกปักรักษาผืนป่าในเมืองไทยเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ทว่า"คนใหญ่คนโต"ในแวดวงป่าไม้บ้านเรากลับกระทำการในสิ่งตรงกันข้าม ด้วยการพยายามยกป่า ขายป่า ให้เอกชนมาเช่าในระยะยาวเฉยเลย



จาก                                :                             ผู้จัดการออนไลน์     วันที่ 24 กันยายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #111 เมื่อ: กันยายน 25, 2008, 10:08:23 AM »

อ่านแล้ว เจ็บ จี๊ดดดดด ไปถึงหัวจายยยยยย
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #112 เมื่อ: กันยายน 27, 2008, 03:20:14 AM »


กำลังเข้าไปย้อนอ่านสรุปข่าวเก่าๆ เพื่อเก็บข่าวสำคัญๆเอาไว้อ้างอิง และลบกระทู้สรุปข่าวออกไปเสียบ้าง อย่างน้อยก็ 4 เดือน ตั้งแต่ มี.ค - มิ.ย.

ไปพบข่าวนี้เข้า ซึ่งเป็นเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน ที่คอยแว้งกัดตอนเราตอนเราอ่อนแอ มาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับเรื่องการเอาผืนแผ่นดินไปให้นายทุนครองครองโดยไม่ได้ถามความเห็นของประชาชนก่อน

ลองอ่านดูนะครับ




อึ้ง 'ฮุนเซน' ให้เช่า 99 ปีเกาะใหญ่อ่าวไทย


ภาพจากเว็บไซต์ www.ikangaroo.com เล่าว่า "แดน" ซึ่งน่าจะเป็นชาวออสเตรเลียกำลังเข้าฝั่งที่หาดซีรีนดิพิตีในสีหนุวิลล์ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่งกลับจากเกาะแห่งหนึ่ง เกาะใหญ่น้อยที่เห็นอยู่เบื้องหลังกำลังจะกลายเป็นสวรรค์วิมาน รัฐบาลกัมพูชาให้บริษัทเอกชนเช่าได้นานถึง 99 ปี เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ชาวกัมพูชาทั้งในประเทศและที่อาศัยทำกินในต่างแดนจำนวนได้แสดงความโกรธแค้นหลังจากทราบข่าวที่รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซนให้เอกชน 2 รายเช่าเกาะใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยเป็นเวลา 99 ปี พร้อมด้วยเกาะเล็กอีกแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

       
       นักท่องเว็บชาวเขมรหลายร้อยคนได้เข้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านการกระทำของรัฐบาล หลายคนกล่าวว่า การให้เช่าดินแดนยาวนานขนาดนั้นไม่ต่างกับในยุคอาณานิคมครั้งที่อังกฤษบีบบังคับให้รัฐบาลจีนที่อ่อนแอกว่า ต้องยินยอมให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี
       
       สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา หรือ CDC (Council for the Development of Cambodia) ออกคำแถลงปลายเดือนที่แล้วเกี่ยวกับการให้กลุ่มโรยัล (Royal Group) เช่าเกาะรัง (Rong) เป็นเวลา 99 ปี เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
       
       โรยัลกรู๊ปเป็นของออกญากิ๊ตเม็ง (Oknha Kith Meng) นักธุรกิจชาวเขมรที่อาศัยทำกินในออสเตรเลียและถือ 2 สัญชาติ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจในกรุงพนมเปญมากที่สุด
       
       เกาะรังมีเนื้อที่มากกว่า 7,800 เฮกตาร์ (กว่า 47,800 ไร่) ขนาดเกือบเท่าๆ กับเกาะกูดหรือเกาะพงัน
       
       นายกิ๊ตเม็งได้เซ็นสัญญากับนายจอม ประสิทธิ์ (Cham Prasidh) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน ในฐานะรองประธาน CDC วันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ไม่มีการออกคำแถลงใดๆ
       
       ในวันเดียวกัน CDC ยังได้ประกาศการให้บริษัทฝรั่งเศสเช่าเกาะรุสสี (Russey) อีกแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 99 ปี ด้วยเงินลงทุน 48 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษเขมรรัศมีกัมพูชา (Reasmey Kampuchea)
       
       อย่างไรก็ตามบริษัท Koh Russey Resort Co Ltd ที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทจากฝรั่งเศส มีสิทธิ์พัฒนาดินเพียงไม่ถึง 500 ไร่จากทั้งหมด 856 ไร่เศษบนเกาะดังกล่าว

   
ภาพขยายแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเกาะรังหรือ "เกาะรอง" อยู่นอกอ่าวสีหนุวิลล์   
 
       ออกญากิ๊ตเม็งเป็นทั้งประธานหอการค้ากรุงพนมเปญและประธานสภาหอการค้ากัมพูชา เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง และเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคาร ANZ จากออสเตรเลียในกัมพูชาด้วย
       
       ยังไม่ทราบแผนการใดๆ เกี่ยวกับโครงการเกาะรัง ตลอดจนเงื่อนไขและเงื่อนเวลาดำเนินการ แต่การพัฒนาเกาะที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,826 เฮกตาร์นั้น คาดว่าจะต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์
       
       กลุ่มนักอนุรักษ์ได้ออกเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผนพัฒนาเกาะทั้งสองแห่ง เนื่องจาก บนเกาะยังมีสภาพป่าที่อุดมและรอบๆ ยังมีแหล่งปะการังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกด้วย
       
       นักอนุรักษ์บางคนกล่าวว่าโรยัลกรู๊ป และ KRRC กำลังจะสร้างโรงแรมพร้อมกาสิโนขึ้นบนเกาะทั้งสองแห่ง รวมทั้งสถานบริการ ทำให้เป็นแหล่งบันเทิงทันสมัย โดยใช้คำว่าการพัฒนา "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" อำพราง
       
       รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศแผนพัฒนาให้สีหนุวิลล์เป็นศูนย์การกลางบิน การค้า อุสาหกรรมและการท่องเที่ยวของประเทศ และกำลังพัฒนาสนามบินที่นั่นให้เป็นท่าอากาศยานใหญ่ที่สุดในประเทศ
       
       ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสกัมโบดจ์ซัวร์ (Cambodge Soir) กัมพูชามีเกาะในอ่าวไทยรวมทั้งสิ้น 55 แห่ง ที่ผ่านมาให้บริษัทเอกชนเช่าไปแล้วกว่า 10 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลยังคงเปิดรับนักลงทุนเข้าไปพัฒนาเกาะที่เหลืออยู่
       
       คำแถลงของ CDC เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ระบุในตอนหนึ่งว่า "การพัฒนาเกาะต่างๆ จะเป็นแรงกระตุ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น"

   
ชาวกัมพูชาในต่างแดนได้แต่บ่นว่า "นี่มันขายชาติกันชัดๆ"    
 
       จนถึงสิ้นปี 2550 กัมพูชาให้บริษัทเอกชนเช่าเกาะไปจำนวน 7 แห่ง เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาให้เช่าอีก 2 แห่ง เมื่อรวมกับเกาะรองและเกาะรุสสีได้ทำให้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 11 แห่ง กัมโบดจ์ซัวร์กล่าว
       
       ในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชาประมาณ 2 ล้านคน ปีนี้ทางการตั้งตัวเลขเป้าหมายที่ 3 ล้านคน และเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเพื่อให้เป็นทางเลือก ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวรวมศูนย์อยู่ที่ปราสาทนครวัด จ.เสียมราฐ
       
       อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการพัฒนาเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องการผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมให้มาก เพราะสิ่งปลูกสร้างจะเปลี่ยนจากเกาะธรรมชาติให้เป็น "เกาะซีเมนต์" ซึ่งจะไม่น่าสนใจอีกต่อไป
       
       นายเมิงซอนน์ (Moeung Sonn) ผู้อำนวยการบริษัทเออราซีการท่องเที่ยว (Eurasie Travel Co) บอกกับกัมโบดจ์ซัวร์ว่า การพัฒนากับการอนนุรักษ์จะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน และควรหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าโดยสิ้นเชิง
       
       เจ้าหน้าที่ของทางการกล่าวว่าโรยัลกรู๊ปและ KRRC จะใช้เวลา 18 เดือนในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโดยละเอียดทั้งเกาะรองและเกาะรุสสี เพื่อเสนอขออนุมัติจาก CDC อีกครั้งหนึ่ง
       
       ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวกัมพูชาในต่างแดนนับร้อยๆ ได้เข้าไปยังเว็บไซต์ภาษาเขมรยอดนิยม www.everyday.kh หลายเสียงกล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นการขายชาติอย่างชัดเจน ชาวกัมพูชาต้องร่มกันต่อต้าน "การตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบ" ของสมเด็จฯ ฮุนเซน
       
       "แล้วจะเหลือแผ่นดินให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้อยู่อาศัยบ้างหรือเปล่า?" ชาวกัมพูชาพลัดถิ่นคนหนึ่งเขียนในฟอรัมความเห็นของเว็บไซต์ อีกหลายสิบรายก็มีความวิตกกังวลคล้ายๆ กัน.



จาก            :                ผู้จัดการออนไลน์    วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #113 เมื่อ: กันยายน 27, 2008, 08:51:26 AM »



อ้อ.....ไปได้ความคิดแบบนี้มาจากเขมรนี่เอง....
บันทึกการเข้า

Saaychol
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #114 เมื่อ: กันยายน 27, 2008, 03:43:01 PM »

น่าจะไล่ไปอยู่เขมร เสียให้หมด

หรือไม่ก็ จัดให้ลงมาเผชิญหน้า กับ ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีกับเราที่ 3 จังหวัดภาคใต้......เสียให้หมดทั้งกระทรวง
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #115 เมื่อ: กันยายน 28, 2008, 11:57:52 PM »


ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร                                    :                                ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์


 
       หลายสัปดาห์ผ่านไปกับประเด็นให้เช่าอุทยาน ระหว่างนี้ มีข่าวแว่วมาหลายประการ เริ่มจากข่าวไม่แว่ว เพราะลงไว้ใน "มติชน" กระทรวงทรัพยากรฯ จะจัดประชุมเพื่อขอความคิดโดยอยากเชิญทุกภาคส่วนที่สนใจเข้ารับฟัง จากนั้นก็กลายเป็นข่าวแว่ว เค้าเชิญผมเข้าไปประชุมด้วยล่ะ แต่แว่วแล้วแว่วลับ กลับกลายเป็นข่าวแว่วใหม่ เค้าเลื่อนการประชุมไปวันโน้นทีวันนี้หน สุดท้ายลงเอยด้วยการสรุปอย่างง่าย ๆ เค้าประชุมที่ไหนก็ไม่รู้ วันไหนก็ไม่รู้ เชิญผมหรือเปล่าก็ไม่รู้
       
       ระหว่างนั่งรอข่าวแว่ว ผมคิดข้อดีข้อเสียของการเปิดให้เช่าพื้นที่อุทยาน ข้อดีมีเยอะ เช่น สนับสนุนเอกชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนตามนโยบายของรัฐบาล สร้างรายได้ให้กรมอุทยาน ฯลฯ แล้วข้อเสียล่ะ มีมั้ย ?
       
       เพื่อตอบคำถามข้อนี้ ผมไม่เปิดตำราทางวิทยาศาสตร์ แต่ไพล่ไปเปิดหนังสือกวี จำได้ว่าเคยอ่านในหน้านี้ อืมม์ เจอแล้ว จะว่าเป็นข้อเสียก็คงไม่ใช่ เรียกว่าเป็นข้อเตือนใจจากศิลปินแห่งชาติคงเหมาะกว่า ใจความดังว่า...
       
       ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร แสนวิสุทธิ์โลกนี้ที่พระสร้าง
       สุดท้ายกายวิภาคจะจากวาง ไว้ระหว่างหล้าและฟ้าต่อกัน ฯ
       เรามิใช่เจ้าของฟ้าอวกาศ โลกธาตุทั่วสิ้นทุกสรวงสวรรค์
       มนุษย์มิเคยนฤมิตตะวันจันทร์ แม้แต่เม็ดทรายนั้นสักธุลี ฯ
       แย่งแผ่นดินอำมหิตคิดแต่ฆ่า เพราะกิเลสบ้าหฤโหดสิงซากผี
       ลืมป่าช้าคุณธรรมความดี เสียศรีสวัสดิ์ค่าแท้วิญญาณ ฯ
       สภาวะสรรพสิ่งทุกส่วนโลกนี้ ควรที่สำนึกค่าทิพย์วิเศษวิศาล
       อนุรักษ์ดินน้ำไว้ตลอดกาล เพื่อเหนือทิพยสถานวิมานแก้วไกวัล ฯ
       
       ปณิธานกวี, อังคาร กัลยาณพงศ์
       
       ผมแนะนำว่า ก่อนประชุมในครั้งนี้ ครั้งหน้า หรือครั้งไหน ควรแจกสำเนาร้อยกรองบทนี้ให้เป็นเอกสารการประชุม ทางที่ดี ควรทำเป็นจารึกติดไว้หน้าทางเข้ากรมอุทยาน ฯ เพื่อเอาไว้เตือนใจผู้ใดที่หวังเข้ามา "ซื้อขายฟ้ามหาสมุทร"
       
       เมื่อเข้าประชุมแล้ว เราคงไม่ต้องมาเถียงเรื่องข้อดีข้อเสียให้มากมาย รวมทั้งไม่ควรเอ้อระเหยลอยชายท้าวความไปไกลจนผู้เข้าประชุมหลับคาแก้วกาแฟ เราควรมุ่งประเด็นว่า ถ้าอยากทำจริง สามระบบของเราพร้อมไหม ? สามระบบที่ว่า หมายถึง ระบบในการคัดเลือก ระบบในการตรวจสอบติดตาม และระบบในการควบคุมลงโทษ
       
       ระบบในการคัดเลือก หมายถึง เลือกเอกชนผู้เช่าอย่างไร มีการนำเสนอโครงการก่อนหรือไม่ ? หรือเสนอมาแต่ผลตอบแทน (ต่อหลวงนะ ผมไม่ได้ประชด) หากมี โครงการดังกล่าวจะผ่านการคัดเลือกอย่างไร ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ไหม หรือจะอ้างว่าเป็นโครงการรัฐ ไม่ต้องทำ หรืออ้างว่า โรงแรมไม่ถึง 80 ห้อง ไม่ต้องทำ ผมก็จะได้เตรียมอ้างบ้าง อ้างว่า หากก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่บอบบาง เช่น อุทยานแห่งชาติ คุณต้องทำ EIA ครับ (เราควรแนบกฏหมาย EIA ไว้ในเอกสารการประชุมด้วยก็ดีนะ)
       
       ระหว่างทำ EIA ผมเสนอว่า อุทยานยังไม่ต้องเก็บค่าเช่าเค้าหรอกครับ จะได้ไม่เกิดข้ออ้างว่า เก็บตังค์เค้าแล้ว ไง ๆ ก็ต้องให้เค้าทำ อีกทั้งยังป้องปรามการถางพื้นที่ล่วงหน้า อุทยานทำบ้านพักเองมาตั้งหลายสิบปีแล้ว ทำต่ออีกนิดคงไม่เป็นไร
       
       อีกประเด็นที่น่าคิด คือ จำนวนห้องในรีสอร์ต อุทยานฯ มีตัวเลขอยู่ในมือแล้ว เพราะเพิ่งทำขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวไปได้ไม่นาน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วด้วย แต่ผมอยากเสนอว่า ตัวเลขพวกนั้น เช่น หมู่เกาะสุรินทร์มีคนค้างคืนได้ 620 คนต่อคืน ลืมไปเสียเถิด นำมาใช้ไม่ได้ครับ เพราะหนึ่งบวกหนึ่งอาจไม่เป็นสอง เหมือนกับจำนวนนักเที่ยว 620 คน เท่ากับรีสอร์ต 310 ห้อง ฮึ่มแฮ่
       
       เหตุที่ใช้ไม่ได้ เพราะตัวเลขนั้นได้มาจากการศึกษากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป เค้านอนเต็นท์ ต่อคิวกันเข้าห้องน้ำ อาบได้ห้าขัน เพื่อนทุบประตูปุงปัง ปริมาณน้ำที่ใช้ย่อมต่างจากคนนอนแช่อ่างในห้องหรูของรีสอร์ต นอกจากนี้ อย่าลืมพนักงานของรีสอร์ตนะครับ พวกนั้นก็นับเป็นคนค้างคืนในอุทยานเหมือนกัน บวกลบคูณหาร ผมคิดว่า สร้างรีสอร์ตขนาด 30 ห้อง ก็ปล่อยน้ำทิ้งเท่ากับนักเที่ยวนอนเต็นท์ 600 คนแล้วครับ (ตัวเลขเดาเอา เพราะไม่คิดสร้างรีสอร์ต ใครอยากสร้าง กรุณาคิดเอง ผมมีหน้าที่จับผิด)
       
       มาถึงระบบตรวจสอบ ทำไงดีล่ะเนี่ย ? จะไปเดินดูขยะบนหาด หรือดูปะการังหักเพราะนักเที่ยวเหยียบ ผมอยากชี้ชัด ปัญหาที่น่ากลัวคือปัญหาที่มองไม่เห็น ได้แก่ น้ำทิ้งจากรีสอร์ต อย่าคิดว่า น้ำบนเกาะมีน้อย ไง ๆ ก็ทิ้งได้แค่นี้ เพราะผมเชื่อว่า รีสอร์ตเค้าคงมีตังค์พอซื้อเครื่องทำน้ำจืดจากน้ำทะเล (มีขายถมไป) อย่าไปฝากความหวังไว้กับระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะกินไฟเท่าไหร่กันเล่าเจ้าข้าเอ๊ย ขนาดอยู่บนฝั่งข้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ยังเปิดเฉพาะตอนมีคนมาตรวจ อยู่บนเกาะปั่นไฟเอง ค่าซื้อค่าขนน้ำมันเตาก็อ่วมแล้วครับ
       
       อีกอย่างห้ามฝากความหวัง คือ มาตรฐานคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษ แม้เค้าจะมีคุณภาพน้ำในแนวปะการัง (ผมเป็นหนึ่งในคนช่วยเค้าทำ) แต่บอกไว้ตรงนี้ นั่นคือมาตรฐานที่ใช้ทั่วประเทศ โดยดูจากทะเลทั่วไป เช่น พัทยา เกาะช้าง มิใช่เตรียมไว้สำหรับเกาะสุรินทร์สิมิลัน แนวปะการังห่างฝั่ง มีลักษณะเฉพาะ บอบบางราวกับสาวยังไม่ต้องน้ำมือชาย ขืนนำมาตรฐานคุณภาพน้ำทั่วไปมาใช้ มีหวังกุ้งหอยปูปลากามิกาเซ่ เอาหัวชนปะการังให้ตายซะเร็ว ๆ จะได้ไม่ทรมาน
       
       แล้วใครเล่าเอย จะเป็นผู้คอยวัดคุณภาพน้ำ คอยตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง ผมยกตัวอย่าง เกาะ Green Island ประเทศออสเตรเลีย ใช้นักวิจัยเกือบทั้งมหาวิทยาลัย พากันไปศึกษาปีละไม่รู้กี่สิบโครงการ (ผมทราบ เพราะเคยทำงานอยู่ที่นั่น) ค่าเช่าที่อุทยานตั้งขึ้นมา ไร่ละ 48,000 บาทต่อเดือน จะพอหรือครับ แล้วก็…ตัวเลขดังกล่าวมาจากหนใด ทำไมทั้งป่าทั้งยอดดอยทั้งทะเลเท่ากันหมดเลย บวกค่าตรวจสอบไว้หรือเปล่าหนอ ป่ากับทะเล ระบบตรวจสอบต่างกันเยอะนะจ๊ะ
       
       สุดท้ายคือระบบลงโทษ ในสัปดาห์ก่อน ผมกล่าวไปบ้างแล้ว จึงไม่อยากกล่าวซ้ำ เพียงแต่อยากเห็นว่า ใครเอ่ยเป็นผู้ฟันธง เช่น หากนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลรวมตัวกัน บอกว่ามีปัญหา แต่เค้าก็เฉย ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ แล้วทำไงดีล่ะ ? หรือต่อให้เกิดปัญหา อุทยานรับทราบ มีอะไรสักอย่างที่รับประกันว่า เรื่องจะไม่ลงเอยที่ศาล ใช้เวลาอีกนานแสนนานในการหยุดปัญหา
       
       ป่ากับทะเล ต่างกันมากมาย เราควรแยกเป็นสองห้องประชุม นอกจากนี้ ควรระบุอุทยานที่จะนำร่องให้ชัดเจน เพราะผมแว่วมา งานนี้อาจมีลับลวงพราง สุรินทร์สิมิลันอาจเป็นแค่ตัวล่อเป้า ก่อนยอมถอยเปลี่ยนเป็นแถวกระบี่ตรังสตูล (ข่าวแว่ว ไม่ยืนยันว่าจริงนะจ๊ะ)
       
       ในฐานะนักวิชาการ ผมเชื่อว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องประเด็นนี้ มีความบริสุทธิใจ เพื่อหวังประโยชน์ให้เกิดต่อประเทศชาติ อาจมีหลากหลายความคิดเห็นไปบ้าง เป็นเรื่องปรกติ แต่เพื่อความไม่ประมาท อยากฝากบทกวีเผื่อไว้สักนิด สำหรับผู้ที่คิดเป็นอื่น
       
       ชะเลเอ๋ยใครเล่าเจ้า กลัวเกรง
       หมู่มนุษยชาติโฉงเฉง ชั่วร้าย
       ผลิตเลือดต่ำอลเวง ฆ่าโลก
       เหลวเล่ห์สถุลชีพใบ้ งั่งไร้ปัญญา ฯ
       
       บางกอกแก้วกำศรวล, อังคาร กัลยาณพงศ์
       
       ผู้ใดคิดทำให้ "ชะเล" กลัว อยากเตือนไว้ แนวหน้ารักษาทะเลไทยมีเยอะนะครับ ผมเป็นแค่ดั่งหนึ่งธุลีทราย อีกหลายพร้อมก้าวออกมา ในเวลาที่ทะเลกรีดร้องด้วยความกลัว !




จาก                         :                         ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 28 กันยายน 2551 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
kungkings
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 791



« ตอบ #116 เมื่อ: กันยายน 29, 2008, 02:03:04 AM »



อ้อ.....ไปได้ความคิดแบบนี้มาจากเขมรนี่เอง....
มะช่ายหรอกคะ..นู๋ว่าพวกนี้มันมีสันดานเหมือนกันต่างหาก พวก ข-ไข่ สระ-อี ไม้โท สระ-โอ กอ-ไก่ งอ-งู 
บันทึกการเข้า

ทำวันนี้ และวันหน้าให้ดีที่สุด...
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #117 เมื่อ: กันยายน 30, 2008, 01:44:31 AM »


อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า


อุทยานฯห้วยน้ำดัง  
 
       แม้ว่าขณะนี้เรื่องของการเปิดสัมปทานให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างสิ่งปลูกสร้างภายในอุทยานแห่งชาติ จะถูกระงับไปชั่วคราว เพราะทานต่อกระแสคัดค้านของสังคมไม่ไหว แต่กระนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกรมอุทยานก็ยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหาเหตุทำประชาพิจารณ์ ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าอาจเป็นการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบมาพากล
       
       ทำให้ผู้ที่คัดค้านต่อเรื่องนี้ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ด้วยเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแนวคิดอุบาทว์ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายธรรมชาติเช่นนี้จะหวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นสอดส่อง อย่าปล่อยให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมรดกของทุกคนในชาติ
       
       สิ่งหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งและป้องกันมิให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสะดวกสบายบนผืนป่าได้อีก คือ เราต้องร่วมมือช่วยกันหาทางออก ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วล้อมคอก แต่ล้อมคอกไว้กันไม่ให้วัวออกจะดีกว่า
       
       แนวคิดหนึ่งที่มีหลายๆคนนำเสนอก็คือในเรื่องของอุทยานแห่งชาติต้นแบบหรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่าง ซึ่งคัดสรรอุทยานแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนาอุทยานฯอื่นๆ

   
อุทยานฯอินทนนท์   
 
       โดย วินิจ รังผึ้ง ได้นำเสนอแนวคิดนี้ ผ่านคอลัมน์ถนนคนเดินทาง หน้าท่องเที่ยว นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กันยายน 2551 สรุปความได้ว่า เรื่องการปรับมาตรฐานการบริการของอุทยานแห่งชาติก่อนที่จะยกไปให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดระยะยาว
       
       ซึ่งทางกรมอุทยานฯน่าจะลองทำโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบ หรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่างขึ้นมา โดยอาจจะคัดเลือกอุทยานแห่งชาติยอดนิยมสัก 3 แห่งมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเลือกอุทยานแห่งชาติในลักษณะต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกสักแห่งอาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ได้
       
       จากนั้นลองทุ่มเทสรรพกำลังของนักวิชาการอุทยานฯ รวมทั้งผู้บริหารของกรมฯ ออกแบบอุทยานแห่งชาติในฝันขึ้นมา แล้วทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ค่ายพักเยาวชน ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารมาตรฐานไม่ใช่ร้านขายเหล้าขายเบียร์อย่างที่เป็นอยู่ในบางอุทยานฯ
       
       จัดระบบดูแลความปลอดภัยและมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวยามฉุกเฉิน รวมทั้งบริการกิจกรรมนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เช่นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นำทางดูนก ล่องแก่ง จักรยานเสือภูเขา
       
       โดยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารและให้บริการได้ทั้งกับนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตลอดจนทำระบบการสื่อสารการสั่งจองบริการให้สะดวกสบายได้จากทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเหมือนเช่นอุทยานแห่งชาติระดับสากล
       
       เมื่อพัฒนาอุทยานต้นแบบนำร่องได้มาตรฐานเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับราคาค่าธรรมเนียม ค่าบริการให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้หรือเป็นรายได้นำไปปรับปรุงมาตรฐานบริการในส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ

   
อุทยานฯผาแต้ม(ภาพ : ททท.) 
 
       หากโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงอุทยานแห่งชาติอื่นๆให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานอุทยานฯยอดนิยมทีเดียว 10 แห่งโดยมีระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งหากมีความผิดพลาด มีความล้มเหลวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
       
       สำหรับแนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังมิอาจทราบได้ เพราะต้องมีฝ่ายรับสนองตอบต่อแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน และถ้าหากมองถึงเรื่องอุทยานต้นแบบแล้ว ก็ใช่ว่าอุทยานในบ้านเราจะไม่มี เพราะคนอุทยานส่วนหนึ่งต่างก็ล้วนใส่ใจพัฒนาอุทยานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
       
       พูนสถิตย์ วงสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ซึ่งในปีนี้อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องอุทยานนำร่องและการพัฒนาอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ว่า
       
       สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานดอยภูคาใส่ใจอยู่เป็นนิจ คือ เรื่องของการรักษาธรรมชาติดั้งเดิมไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เราก็จะพยายามให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เราใช้วัสดุที่เป็นของในท้องถิ่น ไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
       
       เรื่องของสาธารณสุขเราใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยเป็นหลัก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะที่ดอยภูคามีพืชที่สามารถพบได้เพียงแห่งเดียวของโลกอยู่หลายชนิดด้วยกัน นักท่องเที่ยวจะได้ดูความหลากหลายทางชีวภาพ ดูดาว ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 80 กิโลเมตร

   
อุทยานฯแก่งกระจาน (ภาพ : ททท.)  
 
       "ผมคงไม่สามารถบอกว่าเราเป็นอุทยานต้นแบบ แต่เราพัฒนาเรื่อยๆมากกว่า อย่างเรื่องเช่าอุทยานทำสัมปทานที่มีกระแสข่าว ก็คงต้องค่อยๆศึกษาผลกระทบและการจัดการว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่นี่จะเน้นส่วนร่วมของชุมชนให้มีส่วนร่วม มีกระบวนการตั้งแต่เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยาน ให้คำแนะนำทิศทางการเคลื่อนไหวของอุทยานแห่งชาติ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะทำอะไรก็อยากให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ อุทยานที่ดีต้องในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์"พูนสถิตย์กล่าว
       
       ซึ่งสอดคล้องกับทางด้านของ อภิชา อยู่สมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคกลาง
       
       และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังเป็น1ใน10 อุทยานแห่งชาติที่มีชื่อติดโผ 10 อุทยาน ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทาน ได้กล่าวว่า แหล่งธรรมชาติในแต่ละที่ก็คงมีความสวยงามแตกต่างกันไป ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่อยู่ที่การบริการจัดการของแต่ละแห่งมากกว่า
       
       "ที่แก่งกระจานเราเน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ ถ้าเอาเรื่องความยิ่งใหญ่ ความสวยงามของงบประมาณเข้ามาเป็นสำคัญอุทยานแห่งเล็กๆก็หมดกำลังใจ แต่เราต้องการสอนว่าบุคลากรมีจิตวิญญาณการเป็นคนบริการอย่างไร และต้องอาศัยความร่วมมือของนักท่องเที่ยว เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องการให้คนที่มาเที่ยวเกิดความสุข อัธยาศัยไมตรีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราเน้น"อภิชากล่าว
       
       ส่วนเรื่องด้านการบริการอื่นๆอย่างเรื่องขยะ เรื่องการกางเต็นท์ เขามองว่าเป็นเรื่องจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวมาเพราะใจรักธรรมชาติ ไม่ต้องเอ่ยอะไรนักท่องเที่ยวจะลงมือทำเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็เจอแต่นักท่องเที่ยวที่ดีทำให้แก่งกระจานมีมนต์เสน่ห์ตรงนี้
       
       "เราไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลกำไร ทำงานหนักหรือทำงานน้อยก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ต้องทำให้คนของเรามีใจทำงาน"อภิชากล่าว
       
       เมื่อถามถึงความสุขที่จะได้รับจากการเข้าป่าท่องเที่ยวตามอุทยานต่างๆอะไรที่นักท่องเที่ยวเรียกว่าเป็นความสุขที่แท้จริง อภิชากล่าวว่า การเข้าป่าสามารถสัมผัสความสุขได้ สามทาง คือ ทางสายตา สามารถสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ สัมผัสที่สองทางร่างกาย ความเย็นของธรรมชาติ สัมผัสที่สาม คือ ทางเสียง ไม่มีเสียงอะไรที่รบกวน นอนใกล้น้ำตกหลับสนิทมีความสุข แตกต่างจากน้ำไหลจากก๊อก ความรื่นรมย์เห็นนกบินตามธรรมชาติ
       
       และหากพูดเรื่องแนวคิดอุทยานต้นแบบ เขาก็เชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสามารถเป็นต้นแบบได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าขณะนี้อุทยานแห่งชาติก็กำลังพัฒนาการเป็นอุทยานนำร่องอยู่ สองเรื่อง คือ ด้านการป้องกันเรามีระบบการลาดตระเวนที่เป็นมาตรฐาน

   
อุทยานฯเขาใหญ่ (ภาพ : ททท.) 
 
       ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ไปบรรยายเรื่องนี้ให้กับอุทยานทั่วประเทศมาแล้ว 8 ครั้ง ในเรื่องการวางระบบการป้องกัน สอง เรื่องงานวิชาการ การบริหารจัดการพื้นที่ มันสมองของการจัดการต้องดูว่าจุดไหนเปิดได้กระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนถ้าเปิดแล้วได้กำไรแค่ปีสองปีแรก แต่พอเข้าปีที่สามนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ แต่ธรรมชาติเสียหาย สุดท้ายมันก็ไร้ความหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร
       
       "เพราะจุดประสงค์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ คือ การรักษาสภาพธรรมชาติให้ยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช้แค่รุ่นเราแต่เลยไปถึงรุ่นลูกหลาน"อภิชากล่าวทิ้งท้าย
       
       ทางด้าน บัญชา ประเสริฐศรี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดีเด่น ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
       
       สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุทยานแห่งชาติผาแต้มได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นเพราะ เราเสนอเรื่องการจัดการแหล่งท่องเที่ยวการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเรื่องการดูแลแผนนำร่อง ทำแผนการรองรับนักท่องเที่ยวของอุทยานให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆจะแก้ไขอย่างไร

   
อุทยานฯภูกระดึง (ภาพ : ททท.) 
 
       "ต้องรู้จักการวางแผนการดูแลความปลอดภัย การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ ททท. จังหวัด อบจ. ต้องร่วมมือกันการจัดการบริหารที่ดีต้องเริ่มบุคลากร ทรัพยากร สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ให้มีกำลังใจทำงาน การให้บริการแหล่งข้อมูลต่างๆ น้ำตก ดอกไม้ป่า"บัญชากล่าวและดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามคนเน้นและเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องของการพัฒนาคนนั่นเอง
       
       บัญชายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ตอนนี้ในส่วนของกรมอุทยานเองได้นำอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็น 1ในอุทยานนำร่องของไทย เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดการของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยมีนโยบายว่าต้องได้มาตรฐานสากล ซึ่งอุทยานนำร่องที่ได้รับการคัดเลือกมีด้วยกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติสิมิลัน เป็นต้น
       
       ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทิศทางการพัฒนาอุทยานนำร่องของกรมอุทยาน ที่มีขึ้นนี้จะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ซ้ำรอยกรณีการเปิดสัมปทานเช่าอุทยานในเอกชนอีก

       
       *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *
       
       หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการแตกประเด็นออกมาจากกรณีกรมอุทยานฯ มีความพยายามที่จะเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทานทำธุรกิจในพื้นที่ 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดัง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ห้วยน้ำดัง, ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยผ้าห่มปก, ภูกระดึง, แก่งกระจาน, เอราวัณ, หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ซึ่งล่าสุด ทาง ทส. ได้ถอนเรื่องออกจากมติครม. เนื่องจากมีกระแสต่อต้านและคัดค้านจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเพราะในอนาคตอาจจะมีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้
 


จาก                         :                         ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 29 กันยายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
boat sick forever
ตอบกระทู้เยอะ ๆ จะได้ 2 ดาว
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18


« ตอบ #118 เมื่อ: กันยายน 30, 2008, 10:03:33 AM »

ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้  ของมันเคยๆ
 
โกงได้เป็นโกง กินได้เป็นกิน

ไอ้พวกนี้มันเป็นบริษัท รปภ.ที่ไว้ใจไม่ได้จริงๆ

    ประชาชนเค้า จ้างมันมาเฝ้าทรัพย์สิน (ของชาติประชาชน  )ดันทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เอาทรัพย์สินของเราไปขายกินซะแล้ว ...พวกไม่เคยสำนึกบุญคุณแผ่นดิน

   ...อย่างงี้มันก็คงไม่ต่างจากโจร หรือไม่ก็เป็นสายให้โจร

........... ระวัง วิญญาณปู่เอ็งจะร้องนะไอ้ลูกหลานจาญราย

.....ขออภัยที่หยาบคาย แต่คู่ควรกับโจรปล้นแผ่นดินพวกนี้
บันทึกการเข้า
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #119 เมื่อ: กันยายน 30, 2008, 10:24:55 AM »


หุๆ....น้อง boat sick forever ตามปกติใจเย็น ไม่เคยแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว  ครานี้คงทนไม่ไหวจริงๆ

ไม่ว่ากันค่ะ....แถมขอบคุณมากๆที่ไปช่วยเป็นตัวแทนของพวกเราชาว SOS.....

ไปอ่านบทความเรื่องผลการวิพากษ์ได้ที่นี่จ้ะ


http://www.saveoursea.net/boardapr2007/index.php?topic=1205.0
บันทึกการเข้า

Saaychol
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.537 วินาที กับ 21 คำสั่ง