กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 24, 2024, 01:27:34 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อำลา อาลัย สตรีเหล็กของไทย ..... ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  (อ่าน 9696 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:29:39 AM »

....... คืนวันที่ 11  (เช้าวันใหม่ของวันเสาร์ที่ 12) เดือนพฤษภาคม 2550

ประเทศไทยได้สูญเสียปูชนียบุคคลไปอีก 1 ท่าน คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  


ในช่วงชีวิตของท่าน  ท่านต้องประสบกับความผิดหวัง และสูญเสียมากมายหลายครั้ง  แต่ด้วยความที่ท่านเป็นสตรีที่มีความกล้าหาญ  เข้มแข็ง  เสียสละ  อดทนและอดกลั้น   จึงได้นำพาทั้งชีวิตของตนเองและครอบครัวผ่านทุกข์โศก วิบากกรรมทั้งหลายมาจนถึงทุกวันนี้ได้

สองสายและสมาชิก www.saveoursea.net ขอกราบอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงในเมืองไทย โปรดนำพาดวงวิญญาณของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไปสู่สุขคติ ร่วมกับท่านปรีดี  พนมยงค์ ในสัมปรายภพด้วยเทอญ


ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องราวที่เกี่ยวกับทะเลหรือสิ่งแวดล้อม  แต่สองสายขออนุญาตสมาชิก SOS ทุกท่าน อุทิศพื้นที่ของกระทู้นี้ เพื่อรำลึกถึงเกียรติประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และเพื่อให้สมาชิกรุ่นเยาว์ที่ไม่รู้จักท่าน ได้ศึกษาประวัติชีวิตของท่าน ที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการที่จะนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการดำรงชีวิตต่อไป


* Poonsuk-Panomyong_01.jpg (94.81 KB, 500x624 - ดู 4461 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 14, 2007, 11:47:06 PM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:34:03 AM »

คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน




คำสั่งถึงลูก" ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ความว่า

"คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน เมื่อแม่สิ้นชีวิตขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
2. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
3. ประกาศทางวิทยุและลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
4. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
5. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
6. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
7. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
8. ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
9. หากมีเงินบ้างก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
10.ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ


ลงชื่อ พูนศุข พนมยงค์ เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ 172 สาธร 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 แม่มีอายุครบ 86 ปี 9 เดือน
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:41:02 AM »

ชีวิตที่งดงาม กลางคลื่นมรสุมร้าย ทางการเมือง



"ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ชีวิตของท่านผู้หญิง พูนศุข ถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก"

นี่คือ คำอนุโมทนาของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ในหนังสือ 7 รอบ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อปี 2539



เช้าวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม หลังวันปรีดี พนมยงค์ เพียง 1 วัน

ทายาทตระกูล "พนมยงค์" ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 มีอาการทางโรคหัวใจจึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ต่อมา ในค่ำวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา 02.00 น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน

บัดนี้ ชีวิตที่งดงาม กลางคลื่นมรสุมร้ายแห่งชาติของท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ปิดฉากลงแล้ว อย่างเงียบๆ ท่ามกลางความรู้สึกอำลาและอาลัย

น่าเสียดายที่นับจากนี้ไป การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะไม่มีโอวาทจากท่านผู้หญิงพูนศุข อีกต่อไป

แต่คำโอวาทของท่านผู้หญิง ที่ไม่เคยเลือนหายไปก็คือ "ขอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์จงดูนายปรีดีเป็นตัวอย่าง ที่ทำงานอุทิศตัวให้กับบ้านเมืองมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยคิดจะหาประโยชน์ให้กับตัวเอง"


+++++++++++++++++++++++++++++


ท่านผู้หญิงพูนศุขเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง บิดาของท่าน คือ มหาอำมาตย์ศรี พระยาชัย วิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ

หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัยม 7 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เด็กสาว อายุไม่ถึง 17 ปี ท่านผู้หญิงก็สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ด็อกเตอร์หนุ่มนักกฎหมายชื่อดังจากฝรั่งเศส

สี่ปีต่อมา สามีของท่านก็กลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สยาม ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

อายุได้ 22 ปี ท่านผู้หญิงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศเนื่องจากนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อกลับมาจากต่างประเทศท่านก็ต้องติดตามนายปรีดี

ไปทุกหนทุกแห่ง ในฐานะภรรยาของสามีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง อายุเพียง 28 ปี ท่านก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านผู้หญิง"

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดินส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตรในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย

หลังจากนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ในที่สุดทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ขับรถถังมาจ่อหน้าทำเนียบท่าช้าง และสาดกระสุนเข้าไปในบ้านที่ท่านผู้หญิงและลูกๆ พำนักอยู่ เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีต้องหนีตายไปอยู่ต่างประเทศ

ต้นปี พ.ศ.2495 เมื่ออายุได้ 40 ปี ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรจนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้ ตัดสินใจติดตามไปอยู่กับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศสเป็นเวลา 30 กว่าปี จนกระทั่งสามีอันเป็นที่รักได้จากไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการสมรสว่า

"ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย..."

นี่คือ บทพิสูจน์แห่งชีวิตที่งดงามของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์


+++++++++++++++++++++++++++++


หลายปีก่อนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัย 89 ปี ได้ให้สัมภาษณ์วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี ความทรงจำอันแจ่มชัดของท่านผู้หญิงบอกเล่า ชีวิตกลางคลื่นมรสุมร้ายได้อย่างลึกซึ้งกินใจ



- ท่านผู้หญิงกับอาจารย์ปรีดีรู้จักกันได้อย่างไร

เป็นญาติห่างๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน 11 ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้านจึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุ 9 ขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิตแล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 7 ปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ 16 ปี นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ 1 เมษายน 2470 กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน 2471

ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปกติ ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ standard 7 ตามหลักสูตรนี้เรียนภาษาไทยวันละชั่วโมงเท่านั้น วิชาอื่นสอนเป็นภาษาต่างประเทศหมด เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง



- ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีถือเป็นคนเด่นในหมู่ข้าราชการไหมครับ

สมัยนั้นด็อกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐมนูธรรม เราแต่งงานวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 เราหมั้นกันก่อนประมาณ 6 เดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั่นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน



- อยากจะเรียนถามถึงชีวิตส่วนตัวของอาจารย์ปรีดีครับ ไม่ทราบว่าท่านใช้จ่ายเงินในครอบครัวอย่างไร

ตั้งแต่แต่งงานมานายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์นิติสาส์นรายเดือน พิมพ์หนังสือชุดประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อมาก และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ 10 บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองพร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์ต่อไปอีก พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ 1,500 บาท ก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯนำเงินมาส่งให้ฉันเลย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสนการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน



- นิสัยส่วนตัวของอาจารย์ปรีดีเป็นอย่างไรครับ

รู้สึกใจร้อนนิดนึง แต่ไม่ถึงกับหุนหันพลันแล่นหรอก แต่ว่าทำอะไรก็อยากจะเห็นผลเร็ว เป็นอย่างนี้ แล้วก็เชื่อคนง่าย บางทีเราต้องช่วยดูให้ นายปรีดีดูคนไม่ค่อยเป็น นึกว่าเหมือนตัวเองหมด



- อยากให้ท่านผู้หญิงช่วยเล่าถึงวันที่อาจารย์ปรีดีเสียชีวิต

อยู่ดีๆ ก็นั่งเขียนหนังสือ เขียนเสร็จแล้วจะให้ลูกคนหนึ่งตรวจทาน ก็ให้ฉันออกไปตาม แต่ลูกไม่อยู่ ออกไปทำงานก่อน ฉันก็กลับเข้ามา เห็นนายปรีดีถอดแว่น พูดอะไรสองสามคำ ฉันก็จำไม่ได้ แล้วเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้คอพับ แล้วนิ่งไป ฉันก็รีบไปหยิบยาฉุกเฉินที่หมอเขาให้ไว้ แล้วก็รีบโทรศัพท์ ลูกอีกคนก็เช่าบ้านอยู่ข้างๆ เพราะบ้านเราเล็ก เขามีครอบครัว ให้คนไปตาม เผอิญมีหลายคนเรียนแพทย์จุฬาฯ ปี 4 มาพักอยู่ที่บ้าน ก็ให้เขามาช่วยผายปอด แล้วก็โทรศัพท์เรียกแพทย์ฉุกเฉิน หมอสั่งไว้ให้เรียกรถแอมบูแลนซ์ก่อน เพราะว่าแอมบูแลนซ์ของเขามีเครื่องเคราครบ เขาก็มาปั๊มหัวใจ แต่ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว นายปรีดีไม่ได้ทรมานเลย สิ้นใจอย่างสงบ หมอประจำตัวมาทีหลัง บอกว่าตายอย่างงดงาม



- ตั้งร่างของท่านไว้ที่บ้านอยู่หลายวัน

นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ใส่หีบตั้ง 5 วัน มีคนไทยจากที่ต่างๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปมาเยี่ยมเคารพ ท่านเสียวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ ถึงได้ลงหีบ นอนอยู่บนเตียงนอนเฉยๆ นี่ เหมือนคนนอนหลับ เล็บ แก้ม ไม่ได้ซีดเลย ผม หนวด เล็บยังงอกยาวออกมาเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่บอกไม่ให้เราถูกตัว แล้วมียาอะไรไม่รู้วางไว้ ทำสะอาด พอดีเดือนพฤษภาคมอากาศเย็น ความจริงถ้าเป็นโรคอื่นไม่ได้นะ เมืองฝรั่งไม่ให้ตั้งศพอยู่ที่บ้าน



- สถานทูตไทยมาหรือเปล่าครับ

ท่านทูตมาส่วนตัว เพราะว่ารัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความเห็น ท่านไม่พูดก็เลยไม่ทำอะไร มีเพื่อนลูกอยู่ต่างประเทศโทรศัพท์ถามว่า รัฐบาลสั่งทำมั้ย ไม่มีเลย รัฐบาลไม่สั่งอะไรเลย รัฐบาลใบ้ เห็นใจทูตนะ เราเลยขอความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว พอดีท่านปัญญาฯกำลังอยู่ที่อังกฤษ ท่านรู้ข่าว ท่านก็โทรศัพท์มาแสดงความเสียใจ เราจึงนิมนต์ท่านมาเป็นประธานประชุมเพลิง ยังมีพระจากเมืองอังกฤษอีก 3 รูปมาสวดให้ เอาผ้าไตรมาช่วย เดินทางมาเอง แล้วมีพระในฝรั่งเศสอีก ท่านปัญญาฯเป็นประธาน ท่านก็กล่าวสดุดี มีคนไทยในฝรั่งเศสและในยุโรปไปเผากันเยอะ นักบินและเจ้าหน้าที่การบินไทยที่เผอิญไปปารีสขณะนั้น อุตส่าห์ไปเผากันหมด คนรู้จัก ไม่รู้จักนะ อุตส่าห์ไปกัน ก็เผากันเดี๋ยวนั้น เก็บกระดูกเดี๋ยวนั้น ละเอียดเชียว สั่งไว้นี่ บอกให้เป็นขี้เถ้า ไม่มีชิ้นเลย แล้วยังมีอดีตทูตฝรั่งเศสในเมืองไทย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ส่งพวงหรีดมาแสดงความเสียใจ



- แล้วปี 2529 เหตุใดถึงเอาอัฐิกลับมาเมืองไทย

ทีแรกลูกบางคนคิดว่าเอากลับมาทำไมในเมื่อบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ แต่เราก็มีบ้านที่เมืองไทยนี่นะ ตัดสินใจ 3 ปีถึงได้มา ทีนี้ทางธรรมศาสตร์เวลานั้นท่านอธิการบดี คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี บอกว่า ทางธรรมศาสตร์จะต้อนรับเอง ฉันก็ไม่ออกความเห็น ไม่คัดค้าน ที่ธรรมศาสตร์ทำบุญ 50 วัน 100 วัน ฉันก็ทำบุญที่วัดพนมยงค์ ทางธรรมศาสตร์เขาก็ทำให้เต็มที่ เขาให้นักศึกษาติดแผ่นป้ายสีดำๆ แล้วแจกกลอนของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธ ท่านเขียนกลอน "ชูดี" แหม ซึ้งเหลือเกิน



- อาจารย์ปรีดีเขียนพินัยกรรมไว้หรือเปล่า

ไม่มีพินัยกรรม เคยเขียนแต่ว่า ถ้าภายหน้ามีทรัพย์สมบัติอะไรก็จะยกให้ฉันคนเดียว และสั่งด้วยปากเรื่องเผาศพ ให้เผาให้ละเอียด



- อาจารย์ปรีดีสนิทกับท่านพุทธทาส

ก็รู้จักกันดี ไม่ถึงกับสนิทอะไร เคยนิมนต์มาสนทนาธรรมกันสมัยสงคราม เมื่อท่านมาแสดงธรรมที่มหามกุฏฯก็ไปฟัง และนิมนต์มาที่ทำเนียบท่าช้าง และเคยขอให้ท่านพุทธทาสตั้งสำนักสงฆ์เช่นเดียวกับสวนโมกขพลารามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่มาเกิดรัฐประหาร 2490 จึงทำให้โครงการนี้ต้องล้มเลิกไป



- กับท่านปัญญาฯก็คุ้นเคยกัน

ก็เคยมาเยี่ยมกันที่บ้าน ที่ปารีสน่ะ ท่านก็ไปต่างประเทศกันบ่อยๆ สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดมหาธาตุ พระพิมลธรรม ก็สนิทกัน เมื่อเราประสบเคราะห์กรรม ท่านก็มาเยี่ยม บอกว่า อาตมาไม่ห่วงหรอกท่านรัฐบุรุษ เพราะท่านรู้จักธรรมะ ห่วงท่านผู้หญิง พอมาเห็นแล้ว บอกไม่ต้องห่วง ท่านก็อุตส่าห์มาเยี่ยม สมเด็จวัดสระเกศก็ไป 2 ครั้ง แล้วท่านเจ้าคุณประยุทธ เวลานั้นตามไปด้วย

ฉันจากเมืองไทยไป 17-18 ปี พ.ศ.2501 กลับ พ.ศ.2518 คนแรกที่ฉันไปกราบคือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธ ท่านไม่ได้รับที่กุฏิ แต่ออกรับในพระอุโบสถ ท่านให้เกียรติเราทั้งที่ขณะนั้นเราไม่มีเกียรติอะไรแล้ว พระท่านยุติธรรม เที่ยงธรรม ไม่เชื่อคำพูดที่กล่าวหาเรา พระท่านปัญญาสูง คนที่เชื่อคือคนที่ไม่ใช้สติประกอบด้วยปัญญา



จาก    :     ประชาชาติธุรกิจ   วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:42:46 AM »

รำลึกถึงความหลังจากหัวใจ "ท่านผู้หญิง"





2 พฤษภาคม 2436 เป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ละโลกอันสับสนวุ่นวายไปสู่ที่มีความสงบครบ 10 ปี ถึงแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่เนื่องจากเราได้ร่วมชีวิตกันมาเป็นเวลากว่า 54 ปี จึงอดที่จะระลึกถึงความหลังซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะครอบครัวไม่ได้ และเป็นชีวิตเสี้ยวหนึ่งของนายปรีดีที่ไม่ค่อยมีใครทราบ

เมื่อเราแต่งงานในปีพุทธศักราช 2471 นั้น นายปรีดีอายุ 28 ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา)

และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ 320 บาท และค่าสอนอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 10 บาท แต่งงานแล้วเราพำนัก

อยู่ที่เรือนหอซึ่งบิดาข้าพเจ้าปลูกให้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม อาหารการกิน

เราขึ้นไปรับประทานพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่

เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เนื่องจากนายปรีดีมีรายได้พิเศษจากค่าสอนและโรงพิมพ์ส่วนตัว ซึ่งออกหนังสือ

นิติสาส์นเป็นรายเดือน ส่วนเงินเดือนทั้งหมดที่มอบให้ข้าพเจ้าในฐานะแม่บ้าน ได้ใช้จ่ายเป็นค่าเงินเดือนคนรับใช้และค่าสิ่งของเบ็ดเตล็ดประจำบ้าน เมื่อมีบุตรก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เช่น ค่าจ้างคนเลี้ยงลูกและค่าอาหาร (นม) ฯลฯ

สำหรับเด็ก

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีได้รับเงินเดือน 360 บาท การสอนก็เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจำหน่ายหนังสือประชุมกฎหมายไทย ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้ส่วนตัว เช่น สั่งซื้อหนังสือตำราจากต่างประเทศ ต่อมานายปรีดีได้โอนเงินจำนวน 15,000 บาท จากบัญชีส่วนตัวมาใส่บัญชีข้าพเจ้า

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดีมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กรรมการคณะราษฎร และรัฐมนตรีลอย พ้นจากเป็นข้าราชการประจำและครูสอนกฎหมาย แต่จะรับเงินเดือนเท่าใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้

ในวันที่ 1 เมษายน 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากเหตุการณ์นี้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ส่งนายปรีดีให้ไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าใช้จ่ายให้ปีละ 1,000 ปอนด์ ครั้น พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสภาผู้แทนฯ และให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นายปรีดีจึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้บรรจุให้รับเงินเดือนตำแหน่งศาสตราจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินเดือนเดือนละ 500 บาท

ต่อมาในปลายปี 2476 (นับปีอย่างเก่า) โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับเงินเดือนเดือนละ 1,500 บาท นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ข้าพเจ้าเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ให้ข้าพเจ้าจัดหาให้ บางเดือนเมื่อรับแล้วลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน

ต่อมาจึงสั่งเลขานุการให้นำมามอบแก่ข้าพเจ้าโดยตรง และปฏิบัติเช่นนี้ตลอดเวลาที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมที่เป็นกรรมา ธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนายปรีดีมอบให้คุณปพาฬ บุญ-หลง ที่ทำงานอยู่ที่สภาเป็นผู้รักษาไว้เพื่อใช้ในกรณีจำเป็น เมื่อรับตำแหน่งผู้ประศาสนการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน ฯลฯ

ในเดือนธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย นายปรีดีจึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และเมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการฯคนเดียว (sole regent) ได้เพิ่มอีก 100 บาท กับมีเงินค่ารับรองจำนวนหนึ่งซึ่งมอบให้เลขานุการรักษาไว้เพื่อใช้สอยเบ็ดเตล็ด

เมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว ได้บำนาญเดือนละ 600 บาท (บำนาญสูงสุดในขณะนั้น) และมีรายได้ส่วนตัวจากค่าเช่าบ้าน ถนนสีลม นอกจากนี้ธนาคารเอเชียได้สมนาคุณเดือนละ 1,000 บาท ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการที่ทำให้ธนาคารมีผลกำไรหลังสงคราม โดยที่นายปรีดีหรือครอบครัวไม่มีหุ้นในธนาคารนี้

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรสนิทของครอบครัวเราเป็นผู้ที่ทราบและประสบเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ได้เขียนในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือวันปรีดี 35 ตอนหนึ่งว่า "ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย ท่านรำคาญคนที่พูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงิน ไม่เคยแตะต้องเงิน..." และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกันว่า "ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของท่าน ไม่สนใจว่าจะเป็นเท่าไร..."

เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายปรีดีจำต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ไม่มีเงินติดตัวเลย ต้องยืมจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสารไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้วจึงได้โทรเลขยืมเงินจากคุณดิเรก ชัยนาม ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ในระหว่างวันที่นายปรีดีระหกระเหิน ข้าพเจ้าได้ทำ Letter of Credit ให้ไว้ใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง

นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ข้าพเจ้าเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน แต่ภายหลัง

วายชนม์ข้าพเจ้าค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ 2 มกราคม 2504 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับบำเหน็จตกทอดจากนายปรีดีเป็นเงิน 123,960 บาท ขณะมีชีวิตอยู่นายปรีดีได้รับบำนาญเดือนละ 4,132 บาท ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้รับบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของบำนาญ

เมื่อข้าพเจ้ารำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือกอบโกยประโยชน์เพื่อตนเองและครอบครัวเลย

(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เขียนบทความเรื่อง รำลึกถึงความหลัง ลงในหนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2536)


จาก    :     ประชาชาติธุรกิจ   วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #4 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:45:31 AM »

"พูนศุข พนมยงค์" บทพิสูจน์ชีวิตงดงาม





การถึงแก่อนิจกรรมของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไม่เพียงเป็นการสูญเสียภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส แต่ถือเป็นการสูญเสียเพชรน้ำงามแห่งวงการประวัติศาสตร์การเมืองไทย

95 ปี ของชีวิตท่ามกลางกระแสความผันผวนทางการเมืองของท่านผู้หญิงถ้าจะเรียงร้อยออกมาเป็นตัวอักษรคงได้เป็นหนังสือเล่มโต เพราะท่านเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์หลายบทหลายตอน

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ บิดาของท่าน คือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ

อายุไม่ถึง 17 ปี ท่านผู้หญิงก็สมรสกับ นายปรีดี พนมยงค์ ดอกเตอร์หนุ่มนักกฎหมายชื่อดังในสมัยนั้น ซึ่งสี่ปีต่อมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

ด้วยวัยเพียง 22 ปี ท่านผู้หญิงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ เนื่องจากนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ ท่านก็ต้องติดตามนายปรีดีไปทุกหนทุกแห่งในฐานะภรรยาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง

ท่านผู้หญิงพูนศุขได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านผู้หญิง" เมื่ออายุเพียง 28 ปี

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดินส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตร

และระยะต่อมา หลังจากนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และถูกไล่ล่าจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

ต้นปี พ.ศ.2495 เมื่ออายุได้ 40 ปี ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้ และต้องไปใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่ในต่างแดนนานถึง 34 ปี

เพื่อให้เห็นเรื่องราวของท่านผู้หญิงและเข้าใจได้ง่ายขึ้น "มติชน-ประชาชื่น" ได้พบปะพูดคุยกับ "สุดา-ดุษฎี พนมยงค์" บุตรสาวทั้งสองของท่านผู้หญิง ที่บ้านพักในซอยสวนพลู บ้านหลังที่ท่านผู้หญิงพูนศุขใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสมถะกับลูกๆ กระทั่งลมหายใจสุดท้าย

บ้านพนมยงค์เช้าวันนั้น วันที่เพิ่งจะสูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้านไปไม่กี่วัน ดูเงียบเหงา แต่ภายในบ้านทุกคนดูจะเร่งทำงานแข่งกับเวลา ไม่เพียงต้องเตรียมจัดงานไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคมเท่านั้น แต่ยังวุ่นกับการรับแขกที่ทยอยกันเข้ามาแสดงความเสียใจ

สุดาและดุษฎีออกมาต้อนรับขับสู้อย่างแข็งขันภายในห้องทำงาน

"เมื่อ 3 อาทิตย์ก่อน คุณแม่ยังให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งนานถึง 2 ชั่วโมงเต็มในห้องนี้" ดุษฎีเริ่มต้นเรื่องด้วยน้ำเสียงสงบนิ่ง ขณะพาเข้าไปดูห้องนอนท่านผู้หญิง

"คุณแม่ยังดูปกติทุกอย่าง ยังเดินไปไหนมาไหน เช้าวันนั้นก็ยังเดินออกกำลังกาย ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนทุกวัน"

สิ่งที่ท่านพูดอยู่เสมอ กระทั่ง 2 วันก่อนจะสิ้น ท่านว่า คุณตา (พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา) จะสอนให้ลูกเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ เมื่อก่อนท่านจะพาเดินตรอกป่าช้า ซอยที่ทะลุจากสีลมมาสาทร ซึ่งเมื่อก่อนแทบไม่มีแสงไฟเลย พาเดินกันเป็นแถว มีคุณแม่เดินรั้งท้ายประจำ ทำให้คุณแม่เป็นคนไม่กลัวอะไร

..ฉะนั้นตอนที่คุณพ่อถูกใส่ร้ายป้ายสีกรณีรัชกาลที่ 8 คุณพ่อต้องหลบไปฝั่งธน อยู่บ้าน คุณอุดร รักษมณี อยู่ 6 เดือน ไม่ได้ติดต่อใครเลย จนกระทั่งไปต่างประเทศ..

"ตอนนั้นคุณแม่เป็นคนวางแผนเส้นทางลี้ภัยให้คุณพ่อ จัดการเองทุกขั้นตอน โดยไม่ให้ใครรู้ เพราะถ้าล่วงรู้ไปถึงใครนิดเดียวเท่านั้นคุณพ่อก็ตาย"

คุณแม่เล่าว่า มีแค่ครั้งเดียวที่ไปพบคุณพ่อ ขากลับต้องเดินคนเดียวตอนตี 4 กว่าๆ เกือบตี 5 จากท่าสาทรกลับบ้านที่สีลม

"เรื่องราวชีวิตของคุณแม่แยกไม่ออกจากคุณพ่อ คุณแม่แต่งงานเมื่ออายุ 17 ปี คุณแม่พูดเองว่า เรียนน้อย แต่จริงๆ นับตั้งแต่วันที่แต่งงาน คุณแม่ก็ได้ก้าวสู่มหาวิทยาลัยของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะว่ามีคุณพ่อเป็นครูที่วิเศษที่สุด ประเสริฐที่สุด คุณแม่ได้เรียนรู้มากที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะได้เรียนรู้ชีวิต

การเรียนรู้ของท่านผู้หญิงที่บุตรสาวทั้งสองกล่าวถึงนั้น เป็นการเรียนรู้การทำงาน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เรียนรู้ทำงานเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรไทย เรียนรู้ความซื่อสัตย์สุจริต เรียนรู้ความอดทน และการใช้ชีวิตที่สมถะ เรียนรู้ที่จะมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงคนอื่น

แม้แต่ช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ยังอุทิศแรงกายที่มีอยู่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขผูกพันอย่างยิ่ง รวมทั้งให้โอวาทนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในวันปฐมนิเทศ

ชีวิตดำเนินไปเช่นนั้น กระทั่งเวลาตีสองของวันที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดีพนมยงค์ ท่านผู้หญิงก็จากครอบครัวไปด้วยอาการสงบ หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยโรคหัวใจ สิริรวมอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน

เหลือไว้เพียงตำนานประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

ชีวิตท่านผู้หญิงตลอด 95 ปีที่ผ่านมา พระพรหมคุณาภรณ์ หรือเดิม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวไว้ถูกต้องและดีที่สุด..

"ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กาลเวลายาวนานแห่งชีวิต ที่ผ่านโลกธรรมทั้งหลายมากมายมาได้ด้วยดี นอกจากพิสูจน์ความเข้มแข็งมั่นคงแห่งชีวิตจิตใจของท่านผู้หญิงแล้ว ก็ย่อมกลายเป็นทุนทางธรรมที่เป็นมงคลแห่งชีวิตของท่านผู้หญิงสืบไป"



จาก    :     มติชน   วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:53:15 AM »

ขอไว้อาลัย แด่สตรีเหล็ก..ของเมืองไทย ที่ อนุชนรุ่นหลังอย่างเราๆ ควรจารึกและเอาเยี่ยงอย่างไว้
ขอให้ดวงวิญญาณของท่านสู่สุคติ สวรรค์ ชั้น ดาวดึงส์...ในฐานะ ผู้ที่ประกอบความดี ใฝ่ดี ตลอดชีวิตท่าน
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #6 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:53:55 AM »

"ดุษฎี-สุดา พนมยงค์"  เล่าเรื่อง "แม่"


21 พ.ย. 2495 ถูกควบคุมตัวข้อหากบฎภายในและนอกราชอาณาจักร


รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

เมื่อวันเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 รถถังบุกเข้ามาถึงทำเนียบท่าช้าง

คุณพ่อลงเรือไปเสี้ยวนาทีก่อนที่รถถังของฝ่ายอธรรมจะบุกเข้ามา ปืนใหญ่ที่ยิงเข้ามาทำให้ผนังเป็นรูใหญ่เท่ารังนกกระจอก แล้วมีไฟสาดส่องเข้ามา ตอนนั้นยังเล็ก เรานอนห้องเดียวกัน คุณแม่มาอยู่ห้องลูกๆ แล้วก็กอดพวกเราไว้ คุณแม่ตะโกนว่า อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก ซึ่งพวกอธรรมไม่ได้ยินหรอก แต่คุณแม่ก็ตะโกน

"คุณพ่อหนี ไม่ได้หนีครอบครัวเพราะไม่เคยว่าจะมีการใช้กำลังรุนแรง" สุดาเล่าเสริม

ถ้าลำดับเหตุการณ์จะเห็นว่า รัชกาลที่ 8 สวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 แต่รัฐประหารเกิดขึ้นหลังจากกรณีสวรรคตถึง 1 ปี 6 เดือน คือ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

ตอนนั้นคุณพ่อไม่มีตำแหน่งแล้ว เป็นแค่รัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

พอการยิงสงบแล้วมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามาเจรจากัน คุณแม่ก็ถามว่ามาทำไม เขาบอกว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล คุณแม่บอกว่า "จะเปลี่ยนรัฐบาลทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่รัฐสภา"

"ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งพูดได้อย่างนี้ เท่ากับว่าเข้าใจครรลองประชาธิปไตย และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย" สุดาเล่า

เมื่อเสาหลักของบ้านไม่อยู่ คุณแม่จึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในขณะเดียวกัน

พวกเรากลับอยู่ที่สีลมกับคุณยาย กระนั้นก็ยังมีตำรวจลับคอยสะกดรอยติดตามตลอดเวลา

"หน้าบ้านคุณยายจะมีชายฉกรรจ์มานั่งกินกาแฟ มาป้วนเปี้ยน ไปไหนจะต้องโดนคนสะกดรอยตามตลอดเวลา เพราะต้องการสืบให้ได้ว่านายปรีดีไปอยู่ที่ไหน"

ตอนเกิดรัฐประหารเรายังเด็ก แต่ยังจำได้ว่า "วาณี" น้องคนเล็กไปโรงเรียน ยังมีคนมาพูดไม่ดี ทำนองว่าเป็นลูกปรีดี แต่แม่ชีทุกคนในโรงเรียน ครูทุกคนเข้าใจ รักเราเห็นใจเรา แม้ไม่ได้พูดสงสารหรือเห็นใจ แต่ก็เอาตัวเรามากอด

เมื่อจับตัวนายปรีดีไม่ได้ ท่านผู้หญิงพูนศุขก็เป็นเป้ารายต่อไป

"คุณแม่ถูกจับข้อหากบฎภายในภายนอกราชอาณาจักร แล้วแม่ก็ให้ลูก 2 คนไปอยู่โรงเรียนประจำ พอเสาร์อาทิตย์กลับบ้าน แม่ก็เอาลูกเล็กๆ 2 คนไปอยู่ในกรงขังด้วยที่สันติบาล ไปนอนด้วย ทั้งหมด 84 วัน

ตอนนั้นแม่ได้แสดงความให้เห็นว่าในเมื่อถูกต้องแล้วเราไม่ต้องกลัวอะไร

ที่น่าแปลกใจคือในภาพตอนที่ถูกควบคุมตัว จะเห็นตำรวจรายล้อม ดูแล้วรู้สึกว่าผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้นนะ คิดว่าเป็นอาชญากรขนาดไหนถึงได้รายล้อมขนาดนั้น

และนั่นคือภาพที่คุณแม่สั่งไว้ว่า ให้ใช้ภาพนี้ในพิธีไว้อาลัย เพราะท่านเองคิดว่าเป็นภาพที่สะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

คุณพ่อพูดเสมอว่ากรรมคือการกระทำ ใครทำกรรมดีไว้ก็คือดี ถ้าทำไม่ดี เขาก็ต้องได้รับผลตอบแทนจะช้าหรือเร็วเท่านั้น เดี๋ยวนี้กรรมติดจรวด

ทุกวันนี้เวลาไปทำกิจกรรมบางกิจกรรม ก็ยังได้ยินคนซุบซิบ ว่าอย่าเอามาทำเลยลูกปรีดี ตราบใดที่คนไทยยังไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ยังไม่มีวิจารณญาณอย่างแท้จริง ก็เป็นเช่นนี้



รูปใบเดียวที่ถ่ายพร้อมหน้าพร้อมตา



ความที่ครอบครัวพนมยงค์ต้องประสบกับมรสุมทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้โอกาสที่ครอบครัวจะอยู่กันอย่างครบหน้าครบตาหาได้ยากมาก

"เชื่อไหม รูปถ่ายครอบครัวพร้อมหน้ามีรูปเดียว ถ่ายในปี 2490 แต่เดือนไหนจำไม่ได้ หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีรูปถ่ายที่ครบคนอีกเลย แต่ถึงจะอยู่แยกกัน แต่ใจเราอยู่ด้วยกัน"



คำสั่งเสียสุดท้าย

สุดาเล่าว่า ที่บ้านเราจะพูดถึงความตายแบบเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกคนอย่างไรก็ต้องตาย ถ้าเตรียมตัวสักหน่อยก็ดี คุณแม่จึงได้เขียนหลักปฏิบัติทั้งสิบข้อหลังท่านสิ้นชีวิต

อย่างงานศพที่ว่าไม่ให้มีการสวดอภิธรรม จะได้ไม่ต้องรบกวนญาติมิตรมาร่วมงาน คุณแม่เป็นคนแรกๆ ที่ทำอย่างนี้ เหมือนกับตอนงานศพพี่ชาย (ปาล) เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คุณแม่คิดเอง คือไม่ต้องมีพวงหรีด ดอกไม้ แล้วที่สำคัญไม่ต้องมีเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเงินเหลือก็มอบสาธารณกุศล โดยจะแจกธรรมกถา

แม่จะพูดเรื่อยๆ ว่า ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่าคนเราทุกคนอย่างไรก็ต้องตาย แต่ไม่รู้วันไหน ถึงได้ไม่ประมาท คุณแม่เคยพูดทีเล่นทีจริงบอกว่าไม่เคยเป็นอาจารย์ แต่ตอนนี้ถ้าตายจะได้เป็นแล้ว เป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะผู้ที่อุทิศร่างจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่ คนเราถ้าจะทำประโยชน์แม้แต่สิ่งที่เราละไปแล้วคือสังขารก็เป็นประโยชน์ได้



ชีวิตประจำวันท่านผู้หญิงพูนศุข

คุณแม่เป็นคนติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด วิทยุนี่จะมีติดตัวตลอดเวลา หนังสือพิมพ์แต่ก่อน 5-6 ฉบับ เป็นแฟนมติชนสุดสัปดาห์ ตอนหลังตาไม่ค่อยดีจะอ่านพาดหัว แล้วยังมีรายสัปดาห์อย่างน้อย 2 ฉบับ วันศุกร์เข้าโรงพยาบาล วันพฤหัสฯหนังสือรายสัปดาห์ก็มาส่งแล้ว คุณแม่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลา

ทุกวันคุณแม่จะตื่นตีสอง แล้วเสียชีวิตตอนตีสองเป๊ะ ตอนที่สัญญาณชีพหมดตีสอง ตอนที่ทุกคนบอกไปแล้วคือ ตีสองสี่นาที

ตื่นตีสอง เข้าห้องน้ำแล้วก็นอนเล่น เปิดวิทยุฟังธรรมะ จนตีสี่เกือบตีห้า จะลุกขึ้นมาออกกำลังกาย วันที่จะเสียชีวิตก็ยังออกมาเดินรอบบ้าน 3 รอบ แล้วก็ออกกำลังแขน สักพักหนังสือพิมพ์มาส่งก็อ่านหนังสือพิมพ์

ตอนเช้าเจอหน้าลูกๆ ยังเล่าข่าวให้ฟังเลย จะเป็นคนรู้ข่าวก่อนเราอีก ข่าวต่างประเทศก็รู้ ...หลังจากนั้นก็ทำงาน ประมาณ 11 โมงก็รับประทานอาหาร แล้วพัก 1 บ่ายๆ ก็รับแขกในบ้าน พอห้าโมงเย็นใกล้มืดก็เข้าบ้านกินข้าว ดูข่าว

วันที่คุณแม่เสียจริงๆ แล้วเป็นวันปรีดี พนมยงค์ เราถือว่ายังเป็นวันปรีดี พนมยงค์ เพราะคนไทยถือว่ารุ่งสางจึงจะถือเป็นวันใหม่ แต่ฝรั่งบอกสองยามเป็นวันใหม่ จะยังไงก็เป็นคืนวันที่ 11 พฤษภาคม มีหลานชายบอกก่อนท่านจะสิ้น 5 นาที ว่าคุณปู่มารับคุณย่า แต่เราลูกๆ ก็ภาวนาว่าคุณพ่ออย่าเพิ่งมารับคุณแม่ เพราะเห็นยังแข็งแรง สมองยังดีเยี่ยม อยากให้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรจนครบร้อย



ช่วงชีวิตของครอบครัวที่มีความสุขที่สุด

ตอนที่พวกเราอยู่ที่ฝรั่งเศส เรียกว่าเป็นช่วงที่ชีวิตที่ค่อนข้างสงบ เพราะชีวิตที่ผ่านมาผันผวนตลอดเวลา แต่ตอนนั้นอยู่เกือบพร้อมหน้า ขาดพี่สาวคนหนึ่ง ลูกๆ ที่เรียนก็เรียนไป ที่ทำงานก็ทำงานไป ทุกคนหาเลี้ยงชีพ เสาร์-อาทิตย์ก็ไปสวนสาธารณะ ไปเดินเล่น นั่งเล่น บางทีก็เอาอาหาร เครื่องดื่มร้อนๆ ใส่กระติกเล็กๆ ไปปิคนิค

ที่ฝรั่งเศสคุณแม่จ่ายตลาดเองทุกวัน ขาไปส่วนใหญ่เดิน ขากลับขึ้นรถเมล์ระยะทางประมาณ 2 กิโล แม้แต่ตอนที่คุณพ่อเสียแล้ว คุณแม่อายุ 77 ก็ยังลากรถเข็นไปตลาดอยู่เลย ท่านยังแข็งแรงจนวันสุดท้ายของชีวิต

คุณพ่อกับคุณแม่เปรียบเสมือนผ้าขาว แม้จะโดนสาดโคลนอย่างไร ผ้าขาวก็ยังเป็นผ้าขาว นี่น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคนสองคนที่คู่กันมาตลอดเวลา





จาก    :     มติชน   วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #7 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 01:56:46 AM »

อำลาอาลัย "สตรีที่กล้าแกร่ง"


ประเทศจีน (พ.ศ. 2496-2512)


เช้าวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เลขที่ 65/1 ถนนสุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ อันเป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เปิดประตูบ้านต้อนรับผู้คนจากทุกวงการ ที่เดินทางมาร่วมลงนามไว้อาลัยแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส อย่างอุ่นหนาฝาคั่งตลอดทั้งวัน หลังจากท่านผู้หญิงถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2550

บรรยากาศการลงนามไว้อาลัยเป็นไปอย่างเรียบง่าย ผู้มาร่วมงานมากันตั้งแต่เช้าตั้งแต่วงในสุดคือ ญาติสนิทมิตรสหาย ถัดจากวงเครือญาติก็เป็นบรรดาลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิง โดยมีนางวาณี พนมยงค์ และนายศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรสาวและบุตรชายของท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดี คอยต้อนรับตั้งแต่เช้าจดบ่ายอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยและเป็นกันเอง

นอกจากนี้ยังมีนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ราษฎรอาวุโส ดร.นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อัษฎา ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย และอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรค พร้อมด้วยนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายศิริโชค โสภา ก็เดินทางมาลงนามไว้อาลัยกันแต่เช้า


เว้นเสียแต่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ ที่เดินทางมาคนเดียวแบบเงียบๆ

ไม่นับรวมนักข่าวและช่างภาพที่เดินทางมาทำข่าวและร่วมไว้อาลัยแด่ท่านผู้หญิงอีกหลายสิบคน

นายชวนกล่าวว่า โดยส่วนตัวรู้จักกับท่านผู้หญิงพูนศุขหลังจากท่านกลับจากต่างประเทศ ท่านเป็นกุลสตรีที่ผูกพันกับครอบครัวและดูแลท่านผู้ประศาสน์การ (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ในช่วงเวลาที่ท่านเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งท่านผู้หญิงถือเป็นตัวอย่างที่ดีคนหนึ่งในฐานะกุลสตรีไทย ขณะที่ ดร.นรนิติเล่าว่าผมรู้จักท่านเป็นส่วนตัว เพราะเคยไปที่ปารีส นอกนั้นเจอที่เมืองไทยสมัยที่ผมเป็นแค่รองอธิการบดี (ม.ธรรมศาสตร์) เจอล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เมื่อไม่นานมานี้ตั้งใจจะไปกราบท่านแต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว (ละ)

"ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ใหญ่ที่มีเมตตา มีหลักการ ท่านเข้มแข็ง มีความคิดที่จะเสนอแนะเรา มีคำสอนที่บอกเราแล้วสามารถเห็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีคนหนึ่งของผม เป็นสุภาพสตรี และน้อยคนที่จะเป็นแบบท่านได้ ผมจึงประทับใจท่านและเคารพท่านมาก นับถือมาตั้งแต่ที่ได้เคยเจอกัน"

ทั้งนี้ งานร่วมลงนามไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุขจะมีไปตั้งแต่วันที่ 14-19 พฤษภาคม ถัดจากนั้น 1 วัน จะมีการจัดพิธีไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุขอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค. เวลา 14.00 น. ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ในวันนั้นจะมีกิจกรรมร่วมไว้อาลัยอย่างเป็นทางการแต่เรียบง่าย โดยไฮไลต์ของงานคือ การแสดงธรรมกถาโดย พระพรหมคุณาภรณ์ หรือพระประยุทธ์ ปยุตฺโต นอกจากนี้ยังมีบทกวีจากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ การกล่าวคำไว้อาลัยแด่ท่านผู้หญิงโดยอธิการบดีหรือตัวแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมไว้อาลัยทุกคน โดยศุขปรีดา พนมยงค์ และปิดท้ายกิจกรรมไว้อาลัยด้วยการร้องเพลง "แม่จ๋า" และ "คนดีมีค่า" จากคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู

ศุขปรีดากล่าวว่า ที่จัดงานลงนามในวันที่ 14-19 ก็เพื่อให้แต่ละคนจะได้ทยอยมา เพราะวันที่ 20 พฤษภาคม บางท่านแจ้งว่าติดงาน ติดธุระ ไม่สามารถมาร่วมงานได้

"งานวันที่ 20 จะทำอย่างเรียบง่าย นอกจากนี้จะมีสารแสดงความเสียใจจากเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เขาถือว่าอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงเป็นที่เคารพรักของประชาชนเขาเหมือนกัน แต่ถ้าใครไม่ได้มาร่วม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานไว้อาลัยอีกครั้งหนึ่ง"

นอกจากนี้ ศุขปรีดาเล่าว่าก่อนหน้านี้อาการเกี่ยวกับโรคหัวใจของคุณแม่ไม่ปรากฏ เพราะท่านเป็นคนแข็งแรงมาก แต่ในที่สุดก็ค้นพบว่าท่านมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ก็เลยทำการผ่าตัดทันที แต่ด้วยความที่ท่านอายุมากแล้วท่านจึงได้จากไปอย่างสงบ

"ท่านกับพ่อของผมถูกสาดโคลนมามากมาย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรท่านทั้ง 2 ได้ ความบริสุทธิ์ก็ยังคงอยู่ แล้วท่านก็มีความรู้สึกอโหสิกรรม ไม่ได้เจ็บแค้นกับผู้ใดทั้งสิ้น สุดท้ายที่ท่านพูดกับผมเมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน ก็คุยกันเรื่องบ้านเมืองนิดหน่อย ท่านบอกว่าเท่าที่มีชีวิตอยู่ ไม่เคยเห็นบ้านเมืองยุ่งยากดูไม่ออกเท่าในปัจจุบัน"

บ่ายแก่ๆ ของวันนั้น นอกจากคำลงนาม

ในสมุดร่วมไว้อาลัยแล้ว สิ่งที่ไม่มีวันจางหายคือ ความรักและศรัทธาที่บรรดามวลมิตรสหายมีให้แก่ ท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปรีดี พนมยงค์



จาก    :     ประชาชาติธุรกิจ   วันที่ 17 พฤษภาคม 2550

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Sea Man
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2208


ท้องฟ้า/ภูเขา/ป่าไม้/ทะเล


« ตอบ #8 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 04:02:30 AM »

....ขอสุขติจงมีแด่ท่านผู้หญิงฯ......

....ขอให้ท่านได้พักเหนื่อย..อย่างมีความสุขชั่วนิรันด์....

.....ขอไว้อาลัย..แด่ผู้หญิงเหล็ก.....ของประเทศไทย...
บันทึกการเข้า

.....รู้จักคิด....ฟังความคิดผู้อื่น....พร้อมเปลี่ยนแปลง....ไปสู่สิ่งใหม่และดีกว่า.....
hua
ตอบกระทู้เยอะ ๆ จะได้ 2 ดาว
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 24


« ตอบ #9 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 02:24:49 PM »

ขอไว้อาลัยแด่ ท่านผู้หญิงพูนศุข
บันทึกการเข้า
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #10 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2007, 11:32:11 PM »

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์      โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์


เสร็จงาน "วันปรีดี พนมยงค์" 11 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ก็จากพวกเราไปเมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว

การถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิงพูนศุข หากจะว่าโดยอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน หรือย่างเข้าสู่วัย 96 ปี 8 รอบนักษัตร ก็นับว่าสูงมาก แต่ด้วยท่านมีสุขภาพแข็งแรง มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ประจักษ์แก่ทุกคน ย่อมเป็นการจากไปอย่างกะทันหัน เพียงวันที่ท่านมีอาการทางหัวใจ 10 พฤษภาคม และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กระทั่งค่ำวันรุ่งขึ้นจนถึงแก่อนิจกรรมนับเป็นเวลาไม่ถึง 2 วัน

ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นศรีภริยาที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับได้ว่าเป็นศรีภริยาคู่ทุกข์คู่ยากอย่างแท้จริง นับเนื่องตั้งแต่ได้สมรสกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระทั้งเป็นภริยาผู้กอบกู้ชาติ ในฐานะเสรีไทย ซึ่งตัวท่านเองก็ได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิได้เห็นแก่ภยันตรายที่จะเกิดขึ้น ทั้งยังต้องเลี้ยงดูบุตรธิดาและปรนนิบัติสามีในเวลาเดียวกัน

คือคุณสมบัติของสตรีไทยสมที่ว่า "มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง"

ตลอดเวลาที่ต้องระหนระเหอยู่ในต่างแดน นับตั้งแต่วันที่ท่านอาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ กว่าจะได้เจอะเจอกันอีกหลายปี และเมื่อได้อยู่ด้วยกันในต่างแดนก็มิได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร แต่เท่าที่ทราบ ท่านผู้หญิงมิได้เคยบ่นว่าถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองของสามีรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับใครแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ด้วยความทรนงองอาจที่แสดงออกเมื่อวันที่ท่านผู้หญิงเดินเข้าไปพบหน้าบุตรชาย "ปาล พนมยงค์" ในห้องพิจารณาของศาล คำพูดของท่านยังก้องอยู่ในความทรงจำซึ่งมีบันทึกไว้ว่า ท่านขอฝากบุตรชายของท่านไว้กับความยุติธรรม โดยมิได้หวังพึ่งอภิสิทธิ์ อิทธิพลจากใครแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อกล่าวหาทั้งหลายทั้งปวง ในที่สุดศาลยุติธรรมของไทยในพระปรมาภิไธยก็ตัดสินให้ท่านและอาจารย์ปรีดี กับบุตรของท่านพ้นจากคดีทั้งปวงทุกประการ

นับย้อนหลังไปเมื่อท่านผู้หญิงอายุ 86 ปี 9 เดือน วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ท่านได้เขียน "คำสั่ง" ประหนึ่งพินัยกรรมถึงวันที่ท่านต้องจากโลกนี้ไปถึงลูกทุกคน ให้ปฏิบัติ "เมื่อแม่สิ้นชีวิต" ไว้ 10 ข้อ

ข้อใหญ่ใจความแสดงถึงความเรียบง่ายทั้งเมื่อขณะมีชีวิต ขณะเขียน "คำสั่ง" และเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ด้วยการอุทิศร่างให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการสวดพระอภิธรรม ไม่รบกวนผู้ใดไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ "มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) หากมีเงินบ้าง ก็ให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล" รวมถึงการประกาศทางวิทยุและหนังสือพิมพ์เพื่อให้ญาติมิตรทราบ-เท่านั้น

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้ที่ผู้หญิงไทยรุ่นนี้ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งแห่งหนสูงส่งเพียงใด เป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ ควรจะศึกษาถึงวัตรปฏิบัติของท่าน แล้วนำมาเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ ก็จะเป็นอานิสงส์ของตัวท่านเอง เพราะการที่ปฏิบัติตามตัวอย่างที่ดีงาม ก็ถือเป็นบุญแก่ตัวเองอยู่แล้ว

นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคมเป็นต้นมา ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) เปิดให้ทุกท่านที่เคารพนับถือท่านผู้หญิงไปลงนามไว้อาลัยได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

ส่วนพิธีไว้อาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดขึ้น ณ สถานที่เดียวกันในวันอาทิตย์ที่ 20 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2455 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรพระยาวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ก่อการคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิงเมื่ออายุ 28 ปี
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #11 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2007, 11:37:12 PM »

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับบทบาทของสตรีในสังคมไทย

โดย กองบรรณาธิการ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์



เนื่องจากกองบรรณาธิการจุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า "บทบาทของสตรีในสังคมไทย" เป็นประเด็นซึ่งนับวันจะยิ่งมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะเลือกสรรและรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์สุภาพสตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย ทั้งนี้ เพื่อทราบถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาด้านต่างๆ ในทรรศนะของสตรีเป็นการเฉพาะ

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นสุภาพสตรีไทยผู้มีประสบการณ์และบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่สังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภริยานายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย (วิชา) ธรรมศาสตร์ (และการเมือง)

กองบรรณาธิการได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว ท่านกรุณาให้สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 27 มีนาคม 2550 ระหว่างเวลา 09.30-11.30 น. แก่ตัวแทนคณะบรรณาธิการจุลสารจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพฏฐกุล, อาจารย์ ณัฐพล ใจจริง, น.ส.วารุณี โอสถารมย์ และ น.ส.ศรอัศนัญย์ เจริญฐิตากร

และไม่ถึง 2 เดือนท่านผู้หญิงพูนศุขก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม

คณะบรรณาธิการ : ทุกวันนี้มีการบอกเล่า และเขียนถึงเรื่องของเสรีไทยมากมาย ส่วนใหญ่ผู้เล่าหรือผู้เขียนมักเป็นเพศชาย ในฐานะที่ท่านผู้หญิงเป็นภริยาผู้นำกลุ่มเสรีไทย อยากให้ท่านช่วยเล่าเรื่อง "ขบวนการเสรีไทย" ในมุมมองของท่าน


***************************************


ท่านผู้หญิง : ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และขอเท้าความบางตอนที่ฉันเคยเขียนเล่าไว้ ในบทความทรงจำเรื่อง "ย้อนรอยถนนสีลม"

"วันนั้น ครอบครัวข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจเช่นเดียวกับราษฎรไทยทั้งปวงหนังสือพิมพ์ Washington Times Herald ได้รายงานข่าวว่า "ชาวไทยได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง" (The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.) ในบ่ายวันเดียวกัน เมื่อนายปรีดีกลับจากการประชุม ครม.ถึงบ้าน มีมิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนมาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) สงวน ตุลารักษ์ จำกัด พลางกูร วิจิตร ลุลิตานนท์ เตียง ศิริขันธ์ ถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงชาติวงศ์วราวัตน์) ฯลฯ ทุกคนแสดงความรู้สึกเจ็บใจและแค้นใจที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย โดยที่รัฐบาลไทยขณะนั้นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้มาประชุมในวันนั้น ได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ในการนี้ได้ตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้นายปรีดีเป็นหัวหน้า และกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย"

เหตุการณ์บ้านเมืองคับขันเช่นนี้ เป็นความทุกข์ของคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดินทุกคน ทางญี่ปุ่นบีบรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้นายปรีดีต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน Sole Regent แต่ผู้เดียว จึงทำให้นายปรีดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้อย่างเต็มตัว

โดยปกตินายปรีดีจะไม่ปรึกษาเรื่องราชการแผ่นดินกับฉันเลย แต่ครั้งนี้ เป็นงานรับใช้ชาติ และฉันก็เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ นายปรีดีจึงมอบหมายให้ฉันเป็นคนคัดลายมือรหัสวิทยุสำหรับติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร และยังมีหน้าที่รับฟังข่าวสารสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและอักษะ เพื่อประกอบการประเมินผลบทบาทของเสรีไทย

นอกจากนี้ ฉันรู้จักผู้คนในวงกว้าง กอปรกับรู้ความเป็นมาของบุคคลหลายคนที่มีชื่อเสียงในสังคมก็ได้ใช้จุดนี้ช่วยนายปรีดี ซึ่งได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรในการพิสูจน์สมาชิกขบวนการเสรีไทยบางท่าน ทั้งนี้ทั้งนั้น เราทำกันอย่างเป็นความลับ ถือว่าเป็นวินัยสูงสุดของขบวนการเสรีไทย ฉะนั้น บทบาทของฉันก็เหมือนกับพลพรรคธรรมดาคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย

ฉันขออนุญาตยกสุนทรพจน์ของ "รู้ธ" เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 มาเป็นข้อสรุปในหัวข้อนี้ว่า "ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่น หรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น"

คณะบรรณาธิการ : ในฐานะที่ท่านผู้หญิงได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมายาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสตรี อยากเรียนถามความคิดเห็นของท่านถึงความแตกต่างของสตรีไทยในอดีตและปัจจุบัน

ท่านผู้หญิง : ฉันขอพูดในส่วนตัวของฉันเองดีกว่า ฉันเกิดในปี พ.ศ.2455 ในรัชกาลที่ 6 ผู้หญิงสมัยนั้น ในครอบครัว ข้าราชการ ขุนนาง และชาวบ้านก็แตกต่างกัน ถ้าเป็นชาวไร่ชาวนานอกจากต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวแล้ว ยังต้องช่วยครอบครัวเพาะปลูก หรือทำมาหาเลี้ยงชีพตามความถนัด

ส่วนครอบครัวข้าราชการและขุนนางก็ให้ลูกผู้หญิงมีโอกาสเรียนหนังสือเท่าที่จะเห็นควร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องออกเรือน เป็นแม่บ้านแม่เรือน

ในครอบครัวฉัน คุณพ่อ (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) มีลูกสาว 7 คน ท่านให้โอกาสเรียนหนังสือ บางคนเรียนโรงเรียนฝรั่ง บางคนก็ได้ถวายตัวเป็น "ข้าหลวงเรือนนอก" ในทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลอลงกรณ์ฯ เรียนที่ ร.ร.ราชินี ในจำนวนนี้ลูกสาว 2 คน ได้มีโอกาสไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่เมืองดาลัด ประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และใน 2 คนนี้มีคนหนึ่งได้เล่าเรียนต่อที่กรุงปารีสและกลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ตัวฉันเรียนฉันถึง standard 7 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ แล้วก็ออกมาแต่งงานกับนายปรีดี

หลังแต่งงาน ฉันได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยชีวิต ได้เรียนรู้ความรู้ต่างๆ ที่ทาง โรงเรียนไม่ได้สอน อยู่กับนายปรีดีเป็นสามีภรรยากัน เป็นเหมือนครูกับนักเรียน จากที่นายปรีดีให้ฉันช่วยจดคำบรรยายวิชากฎหมายที่เขาสอนอยู่ ฉันก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย แต่งานในแต่ละวันคงเป็นเรื่องเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ส่วนที่ฉันช่วยตรวจปรู๊ฟหนังสือ หรือจัดระเบียบการส่งหนังสือ "นิติสาส์น" นั้นจะถือว่าเป็นการช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพอีกแรงหนึ่งก็ได้

ในเรื่องการเมืองนั้น ฉันไม่เคยยุ่งเกี่ยวเลย และไม่เคยเรียกร้องสิทธิอะไร เพราะในครอบครัวฉันก็มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้ให้สิทธิชายหญิงทัดเทียมกัน ถ้าจะเปรียบกับประเทศฝรั่งเศส แม่แบบประชาธิปไตยของโลก ไทยเราถือว่าให้สิทธิสตรีก่อนเสียอีก ในสังคมไทยมีสตรีชั้นสูงที่สามีเป็นผู้บริหารประเทศ ก็ได้พยายามยกย่องฐานะของสตรีอยู่เหมือนกัน เช่น ตั้งสโมสรวัฒนธรรมสตรี แต่ถึงกระนั้น ผู้หญิงไทยยังด้อยโอกาสทางการเมือง ไม่มีผู้หญิงในคณะรัฐบาล และกว่าจะมี ส.ส.หญิง วุฒิสมาชิกหญิง รวมทั้งรัฐมนตรีหญิงก็อีกหลายปีต่อมา

ในยุคนี้ บทบาทของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ประการแรกผู้หญิงไทยเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาสามี ฉะนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานจึงมีมากขึ้นและมีหน้าที่การงานสำคัญมากขึ้น

ประการต่อมาการศึกษาของผู้หญิงยุคนี้สูงขึ้น เรียนจบปริญญาตรีเป็นเรื่องเห็นดาษดื่น แต่ที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นนักวิชาการด้านต่างๆ ก็มีไม่น้อย

อีกประการหนึ่ง ผู้หญิงยุคนี้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม จะเป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชนก็ดี ผู้หญิงแถวหน้าๆ เป็นที่ยอมรับจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้ สังคมยังไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิงเท่าที่ควร ในต่างประเทศที่เจริญแล้วผู้หญิงได้เป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีก็หลายประเทศ

แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนบ้านของเราก็ยังมีทั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีหญิง แต่เมืองไทยเคยมีแต่รัฐมนตรีหญิงเท่านั้น

คณะบรรณาธิการ : แล้วบทบาทของสตรีกับการเมืองทุกวันนี้ ท่านผู้หญิงมองว่าเป็นอย่างไร

ท่านผู้หญิง : พลเมืองของประเทศประกอบด้วยเพศชายและเพศหญิง รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (พ.ศ.2540) ก็ได้กำหนดไว้ว่า ชายหญิงมีความเสมอภาคกัน ทั้งนี้ ความเสมอภาครวมถึงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสถาภาพในครอบครัว

เมื่อก่อนนี้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเดินนำหน้า แต่ปัจจุบันควรเดินคู่กันไป ผู้หญิงไหนจะต้องช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะต้องดูแลครอบครัว ไหนจะต้องเลี้ยงลูก

ฉันเห็นใจคนเป็นแม่ในยุคนี้มาก ก็เหมือนที่ฉันได้กล่าวไปแล้ว สังคมยังไม่ให้การยอมรับบทบาทของผู้หญิงเท่าที่ควรจะเป็น

ในช่วงชีวิตของฉัน อยากเห็นผู้หญิงไทยได้มีหน้าที่บริหารประเทศระดับสูง เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี ฉันไม่รู้ว่า จะมีโอกาสได้เห็นวันนั้นหรือไม่

แต่ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่ง รับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็งสามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูกั้นขวางมิให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่างๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหารสิ่งนี้ ฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง

แต่ตราบใด ผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิเสมอภาคกับชายในทางพฤตินัย ก็คงจะต้องมีการเรียกร้องด้วยวิธีการต่างๆ ต่อไปอีกนาน


จาก    :     มติชน   วันที่ 19 พฤษภาคม 2550


บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #12 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2007, 12:04:23 AM »


ไว้อาลัยท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์       โดย อังคาร กัลยาณพงศ์


จาก    :     มติชน   วันที่ 20 พฤษภาคม 2550


* Angkarn.jpg (109.7 KB, 333x1472 - ดู 1536 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 20, 2007, 12:08:40 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #13 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2007, 12:11:16 AM »

พิธีไว้อาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข




วันที่ 20 พ.ค.นี้ มีพิธีไว้อาลัยท่านผู้หญิง "พูนศุข พนมยงค์" ภริยานายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส พิธีจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ

การจัดพิธีไว้อาลัยเป็นไปตามคำสั่งเสียทุกประการ ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข เขียนกำชับด้วยตนเองเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2541 ขณะมีอายุ 86 ปี 9 เดือน มีทั้งหมด 10 ข้อ เมื่อท่านต้องสิ้นชีวิตลง

1. นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว 2. ไม่ขอรับเกียรติใดๆ ทั้งสิ้น 3. ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ 4. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน 5. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก

6. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ 7. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย 8. ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากนํ้าเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่แม่เกิด 9. หากมีเงินบ้างก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล 10. ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่จงมีความสุข ความเจริญ

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2455 ที่ จ.สมุทรปราการ เป็นธิดาคนที่ 5 ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต สกุลเดิมสุวรรณศร จบชั้นมัธยม 7 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ มีบุตรและธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน

ด้วยเป็นภริยาของนายปรีดี หนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 หัวหน้าขบวนการเสรีไทย รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุข ต้องเข้าไปอยู่ในหลายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยปริยาย ถูกกลั่นแกล้งและเผชิญชะตากรรมไม่ต่างไปจากสามี

ในคืนวันที่ 8 พ.ย. 2490 ท่านผู้หญิงไม่สบายนอนหลับอยู่ในบ้านทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ คณะรัฐประหารนำรถถังบุกยิงถล่มใส่ห้องนอน หมายที่จะกำจัดนายปรีดี แต่ในความจริงมีแต่ท่านผู้หญิงพูนศุข กับลูกๆ ที่อยู่ในบ้าน

นับตั้งแต่นั้นมา ท่านผู้หญิง ต้องรับหน้าที่เป็นพ่อและแม่ในคราวเดียวกัน เพราะสามีต้องหนีภัยการเมือง และในเมื่อตามจับนายปรีดีไม่ได้

คณะรัฐบาลในขณะนั้นก็หันมาจับท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปาล พนมยงค์ ลูกชายคนโตแทน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2495 ด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ก่อนถูกนำตัวไปคุมขังอยู่นาน 84 ปี

ท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้องเอาผิด เพราะไม่มีหลักฐาน

หลังจากได้รับอิสรภาพ ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส อังกฤษและสวีเดน กระทั่งได้รับข่าวสารจากสามี ก่อนจะตามไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศจีน หลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันนานถึง 5 ปี และอยู่ร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ไม่นานก็ย้ายไปอยู่บ้านพักหลังเล็กๆ ที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลานานถึง 30 ปี จวบจนกระทั่งนายปรีดี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2526 และในปี 2530 ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการถาวร

ชั่วชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นที่ประจักษ์ดีว่า ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข ต้องหลบหนีภัยต่างๆ ท่านผู้หญิงยังคงแข็งแกร่ง ยืนหยัดอยู่เคียงข้างคอยเป็นกำลังใจให้นายปรีดี มาโดยตลอด

หรือแม้ในยามรุ่งเรือง ท่านผู้หญิงก็ไม่เคยอาศัยตำแหน่งของสามีหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ยังดำรงชีวิตอย่างสมถะ และมีความสุขอย่างเรียบง่าย

ดังในคำสั่งเสียที่มีต่อลูกก่อนถึงแก่อนิจกรรม และพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ของท่าน มีภาพถ่ายที่ท่านขอให้นำมาตั้งในวันไว้อาลัย

เป็นภาพที่ท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกจับกุม ท่านเขียนไว้หลังภาพด้วยตนเองว่า "รูปประวัติศาสตร์ ถ่ายโดย น.ส.พ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อายุ 40 ปี 10 เดือน 19 วัน ข้อหากบฏภายในและนอกราชอาณาจักร"

ในพิธีจะเริ่มด้วยฉายวีดิทัศน์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ต่อด้วยการแสดงธรรมกถาโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ท่านผู้หญิงเคารพนับถือ

จากนั้นเป็นการขับลำนำบทกวี โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ พร้อมทั้งคำกล่าวไว้อาลัยจากประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือผู้แทน และประธานชมรม ต.ม.ธ.ก.สัมพันธ์

ปิดท้ายด้วยทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข ร่วมกล่าวขอบคุณ และขับร้องประสานเสียงบทเพลง "แม่จ๋า" และ "คนดีมีค่า" โดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู

นอกจากนี้ทางบุตรธิดาของท่านผู้หญิง จะร่วมกันจัดทำหนังสือที่ระลึกชีวประวัติของท่านผู้หญิง จะรวบรวมชีวประวัติและข้อคิดต่างๆ ที่ท่านผู้หญิงเคยเขียนไว้เมื่ออายุ 90 ปี โดยจะแจกบัตรสำหรับรับหนังสือที่ระลึกภายในงาน

นางดุษฎี พนมยงค์ บุตรสาวคนที่ 5 ของท่านผู้หญิง กล่าวว่า เราหวังว่าหลัก 10 ข้อของคุณแม่ จะเป็นตัวอย่างของคนที่มีความพอดีในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ ชื่อเสียง ท่านพูดกับลูกๆ เสมอว่าคนเรามาก็ตัวเปล่าไปก็ควรจะตัวเปล่าเช่นกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้ทำก็คือ เมื่อคนมาร่วมรำลึกแล้วได้รับอะไรกลับไป อาจจะยังไม่มีใครคิดที่จะทำเช่นนี้ ท่านคงอยากให้เป็นตัวอย่างในเรื่องของความพอดี และจะเป็นเครื่องเตือนสติให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับประโยชน์บ้าง ไม่ใช่เพียงแต่จัดแค่พิธีกรรมแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น



จาก    :     ข่าวสด   วันที่ 20 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #14 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2007, 12:15:14 AM »

แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์     :     ส.ศิวรักษ์



ถ้าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ดำรงชีพอยู่จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2551 ท่านก็จะมีอายุครบ 8 รอบนักษัตร คือ 96 ปี บริบูรณ์ พวกเราที่เคารพนับถือท่าน ก็หวังกันว่าท่านอาจจะมีชีวิตอยู่กับพวกเราเกินไปกว่านั้น เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้พวกเราได้พึ่งพาในทางจิตใจต่อไป เพราะจะหาคนร่วมสมัยเช่นท่านนั้นไม่มีแล้ว คือท่านเชื่อมความเป็นกุลสตรีอย่างเก่า โดยเข้ากันได้ดีกับความทันสมัยของประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ ท่านยืนหยัดอยู่ฝ่ายคนยากไร้ มั่นคงในสัจจะและสันติวิธี พร้อมๆ กับความจงรักภักดีต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งท่านได้รับใช้อย่างใกล้ชิดมาแต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยที่สมเด็จพระพันปีหลวงก็ได้พระราชทานนามแก่ท่านอีกด้วย

ท่านรักสามีและลูกๆ ของท่าน ในฐานะเมียและแม่ที่ควรแก่การเอาเยี่ยงเป็นอย่างยิ่ง หากท่านยังขยายความรักความเข้าใจไปยังคนอื่นๆ อีกมากหน้า สมดังคาถาในกรณียเมตตสูตรที่ว่า มารดารักลูกน้อย โดยยอมสละชีวิตเพื่อลูกฉันใด พึงเจริญความรักเช่นนี้ไปยังสรรพสัตว์ฉันนั้น กล่าวคือท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นพุทธศาสนิกตามเนื้อหาสาระ ยิ่งกว่าตามรูปแบบ ท่านไม่เคยผิดศีลทั้ง 5 ข้อ ท่านมากไปด้วยทานบารมี และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือท่านไม่พยาบาทใครๆ ทั้งๆ ที่หลายคนเบียดเบียนบีฑาท่านและสามี ตลอดจนลูกชายของท่านอย่างจังๆ หรือในทางอ้อมก็ตามที

ถ้าท่านอยู่จนถึงวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ท่านก็จะเป็นประจักษ์พยานคนสุดท้าย ที่ได้เห็นการอภิวัฒน์ของสยามแต่เมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว แต่แล้วการอภิวัฒน์ดังกล่าวกลับถูกเผด็จการปู้ยี่ปู้ยำมาเกือบโดยตลอด จนการรัฐประหารล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การที่ท่านไม่อยู่จนถึงวันดังกล่าว ก็อาจจะเป็นการเหมาะสมแล้วกับสภาพทางการเมืองอันกึ่งดิบกึ่งดีที่เป็นไปในบัดนี้

ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็ตรงที่ท่านเลือกวันจากไปสู่ปรโลก ณ วันที่ 11 พฤษภาคม (ถ้านับอย่างสมัยใหม่ ก็ต้องถือว่าเป็นวันที่ 12 แล้ว เพราะท่านสิ้นใจลงเมื่อสองยามล่วงแล้วไปสองชั่วโมง แต่ตามปฏิทินโหรและการนับแบบไทยๆ ย่อมถือได้ว่ายังเป็นวันที่ 11 อยู่) ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดสามีท่าน โดยที่ท่านทั้งสองครองรักกันตลอดมา และร่วมทุกข์กันยิ่งกว่าร่วมสุข โดยที่ท่านถือว่าความทุกข์ของราษฎรส่วนใหญ่นั้นหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าท่านมากนัก ท่านจึงรับได้อย่างรู้เท่าทัน

นับว่าท่านเป็นพุทธาทิบัณฑิตโดยแท้ เพราะจะหาชนชั้นบนที่เข้าใจความข้อนี้นับว่ายากยิ่งนัก และใช่แต่ท่านจะเข้าใจความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่เท่านั้น หากท่านยังร่วมกับสามี อุทิศชีวิตเพื่อช่วยกันปลดเปลื้องความทุกข์ยากนั้นๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม หากยังทำไม่สำเร็จ เพราะมารที่ครอบงำโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ยังมีพลังอย่างเข้มแข็ง โดยผนวกเอากำลังจากบรรษัทข้ามชาติและอภิมหาอำนาจที่เป็นจักรวรรดิอย่างใหม่เข้ามาหนุนเป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญยิ่งอีกด้วย

อาจารย์ปรีดี ล้มเหลวจากงานอภิวัฒน์ของท่าน ก็เพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ดังที่สัจจะยังแพ้อาสัตย์อยู่ในระยะสั้น แต่ตามพระอนิจลักษณะ ทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป และข้าพเจ้าเชื่อว่าเมล็ดพืชที่อาจารย์ปรีดีและคณะราษฎรเพาะพันธุ์เอาไว้ในทางประชาธิปไตย รวมถึงขบวนการเสรีไทยที่กอบกู้ความเป็นไทให้สยามอย่างสมภาคภูมิ จักต้องคืนกลับมา ก่อนเวลาครบศตวรรษของการอภิวัฒน์สยาม ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นแล อย่างน้อยท่านผู้หญิงก็ได้อยู่มาจนแลเห็นงานฉลองศตวรรษชาตกาลของสามีท่าน ซึ่งได้รับการเนรคุณจากชนชั้นปกครองมาเกือบจะโดยตลอด แต่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา ยังงานฉลอง 5 ทศวรรษและ 5 รอบนักษัตร ของวันประกาศสันติภาพ ซึ่งก็คือวันประกาศอิสรภาพ ที่สามีท่านกระทำในพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 โดยที่ขบวนการเสรีไทยก็ได้รับการเนรคุณมาเฉกเช่นงานอภิวัฒน์ของคณะราษฎรนั้นแล



อาจารย์ปรีดีเป็นคนไทยจำนวนน้อย ที่ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงและเมื่อมีอำนาจแล้ว ก็ไม่เป็นงัวที่ลืมตีน ท่านอยู่ข้างคนยากไร้ตลอดมา และท่านเป็นผู้ชายไทยจำนวนน้อยอย่างพิเศษ ที่ไม่เคยนอกใจภรรยาเอาเลย แม้ขณะมีอำนาจวาสนา ท่านอุทิศตนให้ครอบครัวอย่างอบอุ่นแต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย นอกจากนี้แล้วท่านอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชาติและราษฎร ตลอดจนมนุษยชาติ ด้วยความเสียสละในทุกๆ ทาง ไม่แต่ความคิดความอ่านและเวลาอันควรเป็นส่วนตน รวมถึงทรัพย์สินเงินทองที่ท่านหามาได้นอกเหนือเงินเดือน

กล่าวคือท่านตั้งโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์แต่ก่อนการอภิวัฒน์ 2475 ทั้งต่อมาท่านยังร่วมกับมิตรสหายตั้งธนาคารเอเชียขึ้นอีกด้วย และแล้วท่านก็อุทิศผลงานทั้งหมดนี้ ให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อสถาบันอุดมศึกษาแห่งใหม่ จะได้เป็นอิสระจากรัฐบาล แม้จนเบี้ยประชุมที่ท่านได้จากรัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจเอกชน เช่นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ท่านก็ไม่รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยมีท่านผู้หญิงร่วมอนุโมทนาด้วยอย่างจริงใจ

ครั้นเมื่ออาจารย์ปรีดีได้รับการเนรคุณจากรัฐบาลไทย หลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นต้นตอแห่งการทำลายประชาธิปไตยของไทย รัฐบาลแต่นั้นมาทุกยุคทุกสมัยไม่ยอมจ่ายเบี้ยบำนาญให้ท่าน เฉกเช่นไม่ออกหนังสือเดินทางให้ท่านอีกด้วย ทั้งๆ ที่นั่นคือสิทธิอันชอบธรรมของท่าน หากท่านไม่มีศรีภรรยาอย่างท่านผู้หญิงพูนศุข ท่านคงลำบากยากเข็ญในทางเศรษฐกิจ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าทางการเมือง เดชะบุญท่านผู้หญิงมีทรัพย์สินจากสกุลเดิมของท่านอยู่บ้าง จนถึงขนาดขายบ้านป้อมเพชรที่ถนนสีลม และนำเอาส่วนแบ่งมาซื้อที่อยู่ ณ ตำบลอองโตนี นอกกรุงปารีส และมีทุนทรัพย์พอสำหรับจับจ่ายใช้สอยในยามอพยพหลบภัยอยู่ฝรั่งเศส

โดยที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล้าอนุมัติให้ท่านโอนเงินออกไปต่างประเทศได้ ทั้งๆ ที่นั่นไม่ผิดกฎหมาย แต่คนที่ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมย่อมยากที่จะกระทำได้ ดังที่นายป๋วยเป็นคนแรกของลูกศิษย์ที่กลายมาเป็นชนชั้นนำรุ่นหลัง แล้วกล้าออกไปพบท่านอาจารย์และท่านผู้หญิง ซึ่งเป็นเหตุให้คุณป๋วยถูกหมายหัวไปในทางเลวร้ายแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะก็ในแวดวงของชนชั้นสูง ที่กลัวสัจจะ

ใช่แต่ท่านผู้หญิงจะช่วยเหลือสามีทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ก็หาไม่ หากในทางการเมือง ท่านก็ช่วยอย่างปิดทองหลังพระมาโดยตลอด และที่สำคัญยิ่งก็ตอนที่อาจารย์ปรีดีแพ้จอมพลป.พิบูลสงคราม ในกรณีที่เรียกว่ากบฏวังหลวงในปี 2492 ท่านผู้หญิงหาที่หลบซ่อนให้สามีได้อย่างแยบคาย เป็นเวลานาน ทั้งยังวางแผนให้ท่านอาจารย์หลบหนีออกนอกประเทศได้โดยสวัสดิภาพ


ดังได้กล่าวแล้วว่าอาจารย์ปรีดีไม่ต้องการเพียงอิสรภาพของราษฎรสยาม (ซึ่งรวมถึงคนซึ่งไม่ใช่ไทย) หากท่านต้องการรับใช้มนุษยชาติอีกด้วย โดยเฉพาะก็ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตกอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่ง จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้หญิงสนับสนุนสามีในทุกกรณี จนประเทศนั้นๆ เข้าใจในคุณูปการดังกล่าว เมื่อลาวและเวียดนามฉลองเอกราชครบครึ่งศตวรรษ รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มอบเหรียญมิตรภาพอันสำคัญยิ่งแด่ท่านผู้หญิง ด้วยความคารวะสักการถึงตัวท่านเองและถึงสามีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่เคยยกย่องเชิดชูเกียรติท่านด้วยประการใดๆ นอกเหนือไปจากการจับกุมท่านและบุตรชายคนโต ในข้อหาว่าเป็นกบฏทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ทั้งๆ ที่ปราศจากข้อเท็จจริงใดๆ สิ้น

สตรีที่เป็นท่านผู้หญิงนั้น ย่อมได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษของฝ่ายใน โดยที่ในรัชกาลที่ 8 สตรีที่ได้รับเกียรติยศถึงขั้นนี้มีเพียงสาม อีกสองท่านคือ 1) ท่านผู้หญิงพหลพลพยุหเสนา ภรรยาของท่านเชษฐบุรุษ ซึ่งเป็นผู้นำของคณะราษฎรในการนำอภิวัฒน์มาสู่สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 2) ท่านผู้หญิงละเอียด ภรรยาจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นเผด็จการจนตลอดรัชกาลที่ 8 แต่แล้วในช่วงนั้น ใครๆ ก็พากันยกย่องท่านผู้หญิงละเอียด ให้เป็นดัง First Lady ทั้งๆ ที่ต่อมาอาจารย์ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้หญิงของท่านก็แสดงบทบาททางข้างหลังอย่างละเมียด ทั้งๆ ที่ภรรยาของอดีตประธานผู้สำเร็จราชการฯ คนก่อนได้รับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้าฯ ของฝ่ายในด้วยซ้ำไป หากท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ปรารถนายศศักดิ์อัครฐานใดๆ ให้เกินสถานะของสามัญชนไป

ทราบว่าเมื่อรัชกาลปัจจุบันเสวยราชย์ครบ 50 ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นตราจุลจอมเกล้าแก่ทุกๆ ท่านที่เคยได้รับตราดังกล่าวมาแต่รัชกาลที่ 8 เช่น ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม ได้รับเลื่อนจากตติยจุลจอมเกล้า วิเศษ (ต.จ.ว.) เป็นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) หากท่านที่ได้รับทุติยวิเศษมาแล้ว และมีเพียงผู้เดียว หาได้รับเลื่อนชั้นไม่ ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขก็ไม่ได้แสดงความแปลกใจหรือเสียใจแต่ประการใด

ท่านเป็นคนเข้าใจโลกธรรมทั้ง 8 ประการ อย่างรู้เท่าทัน ไม่ว่าจะลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือธรรมที่อยู่ตรงกันข้าม ซึ่งเป็นของคู่กัน

แม้ข้าพเจ้าเองจะเคยเข้าใจท่านอาจารย์ปรีดีมาอย่างผิดๆ ทั้งยังเคยโจมตีท่านอย่างรุนแรง เมื่อรู้สำนึกผิด ไปขอขมาท่าน ทั้งท่านและท่านผู้หญิงอโหสิให้อย่างจริงใจ และทั้งสองท่านได้เมตตากรุณาข้าพเจ้าตลอดมา แม้เมื่อท่านอาจารย์จากโลกนี้ไปก่อนแล้วแต่ พ.ศ.2526 ท่านผู้หญิงก็กรุณาปรานีข้าพเจ้ากับครอบครัวและบริษัทบริวารทั้งหลายอยู่เนืองนิตย์ เมื่อญาติมิตรจัดงานฉลองอายุข้าพเจ้าครบ 6 รอบนักษัตรในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2548 ท่านผู้หญิงได้กรุณาไปเป็นประธานในงานและมอบพระพุทธรูปหยกให้ข้าพเจ้า

ท่านกล่าวว่า พระพุทธรูปหยกองค์นี้ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้บูชาเสมอมาจนตลอดชีวิต ท่านผู้หญิงได้ปรึกษากับลูกๆ แล้ว เห็นสมควรมอบให้ข้าพเจ้า เพื่อรับไว้บูชาสักการะสืบต่อไป ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นนิมิตมงคลอันสำคัญ เท่ากับเป็นการสืบทอดเจตนาประชาธิปไตย ในทางสันติประชาธรรม ตามรอยพระพุทธวัจนะ จากท่านรัฐบุรุษอาวุโส ผู้ซึ่งเป็นต้นตอที่มาของประชาธิปไตยไทย ในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันชอบธรรม

ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานที่จะรักษาสภาพการปกครองดังกล่าวไว้ด้วยคำพูด ข้อเขียนและการกระทำ ในแนวทางของพระอริยมรรค จนกว่าชีวิตจะหาไม่ และเชื่อว่าจะมีอนุชนสืบทอดแนวทางนี้สืบต่อไปชั่วกาลนาน เพื่อประโยชน์สุขของพหูชนชาวสยาม และมนุษยชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ (จากหลังปก ค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ของ ส. ศิวรักษ์ 20 เมษายน 2550)

อนึ่งวันที่ 24 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ให้ไปนั่งภาวนาร่วมกับมหาชนแต่คืนก่อนนั้น แล้วเขาอุปโลกน์ให้ข้าพเจ้ากล่าวนำ ณ เวลาย่ำรุ่ง ที่หน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีหมุดจารึกข้อความไว้ว่า 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ

ก็ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่งนั้น ผู้ที่อ่านประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกคือนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำของคณะอภิวัฒน์ โดยที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ร่างเอกสารอันสำคัญยิ่งนี้ และบัดนี้เจตนารมณ์ของคำประกาศดังกล่าว ได้ปลาสนาการไปเกือบหมดสิ้นแล้ว

วาทะของข้าพเจ้า 75 ปีให้หลังคำประกาศครั้งแรก ย่อมขาดความแหลมคม เช่นแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว แต่ข้าพเจ้าก็จะพยายามแสดงเจตนารมณ์ไปในทางอภิวัฒน์ให้ราษฎรสยาม ได้เดินหน้าไปในทางเสรีภาพที่แท้ อย่างมีภราดรภาพเป็นน้ำกระสายที่สำคัญ ในอันที่เข้าสู่ความเสมอภาคให้จงได้ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม อย่างน้อยก็ขอให้สัมฤทธิผลก่อนกาลครบศตวรรษของประชาธิปไตยไทย



ทั้งนี้เพื่ออุทิศน้ำพักน้ำแรงบูชาคุณท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่งของข้าพเจ้า แม้ท่านทั้งสองจะละโลกนี้ไปแล้ว ก็แต่ในทางร่างกาย ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านย่อมจะรับทราบได้โดยญาณวิถี และเชื่อว่าทั้งสองท่านจะมาเป็นพยานร่วมกับมหาชน ณ วันที่ 24 มิถุนายน ที่จะถึงนี้

โดยที่ท่านและปูชนียบุคคลอื่นๆ ในขบวนการของคณะราษฎรที่ไม่ทรยศต่อมวลชน และในขบวนการเสรีไทย คงจะรวมพลังกันจากปรโลก มาปกป้องพวกเราทั้งหลาย ในการที่จะเอาชนะมาร เพื่อความยุติธรรมและสันติของประชาชาตินี้ และของมวลมนุษยชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้น



จาก    :     ข่าวสด   วันที่ 20 พฤษภาคม 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.034 วินาที กับ 20 คำสั่ง