กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 15, 2024, 05:27:25 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2551  (อ่าน 2313 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2008, 12:13:07 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่บริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในระยะ 1-2 วันนี้ (26-27 พ.ย. 51)   ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ขอให้ชาวเรือและชาวประมงควรระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ โดยเรือเล็กในอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
 
อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นลง อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศา และลมแรง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศา และมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศา สูงสุด 30 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงนี้ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริเวณดังกล่าวอากาศจะหนาวเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศาเซลเซียส และมีลมแรง ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร


ข้อควรระวัง

ในระยะนี้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปควรระวังอันตรายจากสภาวะฝนหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือในอ่าวไทยควรระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย



* Forecast2.jpg (38.29 KB, 693x430 - ดู 371 ครั้ง.)

* Earthquake.jpg (32.56 KB, 400x438 - ดู 360 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2008, 12:19:09 AM »

ไทยรัฐ


ผู้ (เคราะห์) ร้ายตัวจริง                :                 หน้าต่างโลก

ขณะที่ปฏิบัติการจี้เรือนานาชาติของ “โจรสลัดโซมาเลีย” ถูกเลื่อนขั้นให้เป็น “ภัยคุกคาม” อันดับต้นๆของโลก โดยมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเฝ้ามองชะตากรรมของลูกเรือดวงตกที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ในเวลาเดียวกัน ชาวโซมาเลียส่วนหนึ่งกำลังเผชิญกับ “ภัยเงียบอันร้ายแรง” แต่กลับไม่มีใครสนใจ!

ในความเห็นของชาวเมือง “ฮาราเดเร” ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโซมาเลีย และเป็นเมืองท่าที่โจรสลัดโซมาเลียนำเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุฯ “ซิริอุส สตาร์” ที่บุกยึดได้ มาจอดลอยให้เห็นอยู่ไกลๆ แต่พวกเขามีปัญหาที่น่ากลัวกว่าโจรสลัด นั่นคือ “ขยะพิษ” จำนวนมากมายมหาศาลซึ่งบริษัทข้ามชาติผู้มาลงทุน ในแอฟริกาลักลอบนำมาทิ้งในท้องทะเลบริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน ชาวบ้านที่อาศัยริมทะเลก็ค่อยๆทยอยล้มป่วยลงด้วยโรคร้ายที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อน

อาการหลักๆที่เกิดขึ้น คือ ระบบทางเดินหายใจขัดข้อง น้ำมูกไหล ไอ อาเจียน และผิวหนังเป็นผื่นคล้ายออกหัด อาการทั้งหมดปรากฏให้เห็นชัดเจนในกลุ่มชาวประมงที่หาปลาในทะเลน้ำลึก บริเวณน่านน้ำโซมาเลีย แต่ไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยเหล่านี้จะเลวร้ายไปกว่าเดิมไหม และมันจะกลายเป็นโรคภัยแฝงในร่างกายซึ่งส่งผ่านไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาหรือไม่

นอกจากความป่วยไข้ที่มาเยือนชาวเมืองฮาราเดเรโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ถูกทำลายลงไปพร้อมๆ กันคือวิถีชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากบรรดาเรือประมงขนาดใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ ผู้ผูกขาดการใช้อวนขนาดใหญ่กวาดปลาในท้องทะเลไปเกือบหมด ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กจับปลาได้น้อยลงไปทุกวัน ถึงขั้น “ไม่พออยู่-ไม่พอกิน” จนต้องเลิกทำประมงไปหางานทำตามเมืองใหญ่ๆแทน

ขณะที่บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งถูกปล้นยึดเรือและตกที่นั่ง “ผู้เสียหาย” พวกเขายังได้ รับความเห็นใจและความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือ จากประชาคมโลก แต่ชาวเมืองฮาราเดเรซึ่งเป็น “ผู้เคราะห์ร้าย” โดยตรงจากความไม่รับผิดชอบของบรรษัทข้ามชาติกลับถูกทั่วโลก มองข้าม มาเนิ่นนาน

ด้านรัฐบาลโซมาเลียก็มัวแต่วุ่นวายอยู่กับการสู้รบปราบปรามกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ตามพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะกองกำลังส่วนใหญ่ ต้องการประกาศอิสรภาพ และพยายามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ สุขทุกข์ของประชาชนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับรองๆลงไป

คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักหากถึงที่สุดแล้วชาวโซมาเลีย ที่ยากไร้อาจยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก่อการร้าย หรือเครือข่ายอาชญากรที่ก่อเหตุปล้นจี้อุกอาจในท้องทะเล เช่น โจรสลัดโซมาเลีย เพื่อรักษาความอยู่รอดของชีวิต ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของพวกเขายังไม่ได้รับการพัฒนาเสียที.

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2008, 12:26:30 AM »

ผู้จัดการออนไลน์


เรือต้องสงสัยโจรสลัดโซมาเลียที่ถูกอินเดียยิงจมเป็นเรือประมงไทย


เรือรบของกองทัพเรืออินเดีย

ซีเอ็นเอ็น - ชาวประมง 14 คนยังคงสูญหายจากกรณีเรือหาปลาไทยถูกเรือรบอินเดียยิงจมนอกชายฝั่งโซมาเลีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังถูกสงสัยว่าเป็นเรือโจรสลัดโซมาเลีย เจ้าของเรือเปิดเผยเมื่อวันอังคาร(25)
       
       ลูกเรือรายหนึ่งถูกพบว่าลอยคออยู่ในอ่าวเอเดนหลังเหตุการณ์ผ่านไป 6 วัน และมีคำยืนยันว่ามีลูกเรือเสียชีวิต 1 คน นายวิชาญ ศิริไชยเอกาวัฒน์ เจ้าของเรือเอกวัฒน์นาวา 5 กล่าวจากกรุงเทพฯ
       
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเรืออินเดียรายงานว่าเรือไอเอ็นเอส ทาบาร์ เรือรบของอินเดีย ได้ปะทะกับ "เรือแม่" ของโจรสลัดลำหนึ่ง ในอ่าวเอเดนเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน จนทำให้เรือของโจรสลัดเกิดระเบิดและจมลง ทว่าล่าสุดนายวิชาญ ยืนยันว่าเขาเป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าว ซึ่งเวลานั้นถูกโจรสลัดเข้ายึด
       
       ทางการของอินเดีย ยืนยันว่าเรือรบของพวกเขาปฏิบัติการเล่นงานเรือของโจรสลัดซึ่งมีท่าทางจะโจมตีเรือไอเอ็นเอส ทาบาร์
       
       "เรายิงออกไปเพื่อปกป้องตนเองและตอบโต้ท่าทางว่าจะมีการโจมตีเรือของเรา มันเป็นเรือของโจรสลัดในน่านน้ำนานาชาติและมันตั้งท่ารุกราน" นิราช สินหา พลเรือจัตวา โฆษกกองทัพเรืออินเดียบอกกับซีเอ็นเอ็น
       
       วิชาญ บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเรือเอกาวัฒน์นาวา 5 เดินทางจากโอมานมีจุดมุ่งหมายที่เยเมนเพื่อไปส่งอุปกรณ์ประมง แต่ถูกโจรสลัดยึดบริเวณแหลมแอฟริกา โดยโจรสลัดเข้าควบคุมเรือเอกาวัฒน์เมื่อเห็นเรือทาบาร์เคลื่อนเข้ามา
       
       นายวิชาญกล่าวต่อว่าเขาได้รับแจ้งข่าวนี้ จากลูกเรือชาวกัมพูชารายหนึ่งซึ่งรอดจากการจู่โจมของโจรสลัดและลอยคออยู่ในมหาสมุทรนาน 6 วัน ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากเรือที่ผ่านมา โดยเวลานี้ลูกเรือชาวกัมกูชารายนี้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศเยเมนและอาการดีขึ้นเรื่อยๆ
       
       วิชาญ บอกต่อว่าเรือของเขาได้ส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้ายเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ขณะที่ถูกไล่ล่าโดยเรือเร็วของโจรสลัด 2 ลำ แต่การติดต่อขาดหายและบริษัทศิริชัยการประมง เจ้าของเรือไม่ได้ยินข่าวจากลูกเรือนับตั้งแต่นั้น
       
       ในช่วงค่ำของวันเกิดเหตุ กองทัพเรืออินเดียระบุว่าได้ปะทะกับเรือต้องสงสัยว่าเป็น "เรือแม่" ของโจรสลัดพร้อมกับเรือเร็วอีก 2 ลำ ราว 285 ไมล์ทะเลจากเมืองซาลาเลาะห์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโอมาน ทั้งนี้บ่อยครั้ง "เรือแม่" มักใช้เป็นฐานเคลื่อนที่พาเรือโจมตีขนาดเล็กของโจรสลัดเข้าไปในน่านน้ำลึก

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2008, 12:43:38 AM »

ประชาชาติธุรกิจ


สิมิลัน... ปล่อยเต่า-ดำน้ำ-ผูกทุ่น                   :                  คอลัมน์ DESTINATION  หน้าพิเศษ D-Life



70 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เป็นระยะทางไกลพอที่ตะกอนแผ่นดินจะมาไม่ถึง น้ำทะเลที่ "สิมิลัน" จึงใสโดยไม่ต้อง มีใครแกว่งสารส้ม ระยิบระยับงดงามยามสะท้อนแสงแดด เช่นเดียวกันกับทรายสีขาวละเอียดอันเกิดจากการกร่อนของหินแกรนิตและซาก ปะการังตามธรรมชาติ ยิ่งประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกใต้ทะเลที่ผู้มาเยือน สามารถพบความหลากหลายทั้งปะการัง กัลปังหา ฝูงปลานานาชนิดตั้งแต่ปลาตัวน้อยอย่างปลาการ์ตูนไปจนถึงปลาใหญ่ในตำนานอย่าง ฉลามวาฬ...

อย่าได้แปลกใจหากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมโลก ใต้น้ำพุ่งสูงถึงปีละนับหมื่นคน การทิ้งสมอของเรือท่องเที่ยว ประกอบกับเรือประมงที่เข้ามาใช้เกาะกำลังคลื่นลมในบางครั้งทำให้ปะการังได้ รับความเสียหาย

ระหว่างที่เรื่องสัมปทานอุทยานฯยังไม่ออกหัวออกก้อย ...ความกังวลเรื่องปริมาณผู้มาเยือนอันล้นหลามก็ยังไม่คลี่คลาย...

กอง ทัพเรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับทรูวิชั่นส์และพันธมิตรจึงจัด "โครงการอาสาฯอนุรักษ์ทะเลไทย 2551" โดยระดมอาสาสมัครและนักดำน้ำจาก ทุกภาคส่วนรวมกว่า 300 คน นำโดยอาสาสมัครกิตติมศักดิ์

ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มาร่วมกันผูกทุ่นจอดเรือจำนวน 72 ทุ่น ถือเป็นการเบิกฤกษ์โหมโรงกระแสท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก่อนเปิดฤดูเที่ยวหมู่ เกาะสิมิลันในปีนี้

"ทุ่นมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งจอดเรือพักผ่อน จอดเรือสำหรับดำน้ำ ตามปกติจะมีทุ่นจอดเรือรอบๆ แต่ละจุดดำน้ำประมาณ 4 ทุ่น ขึ้นอยู่กับความนิยมของจุดดำน้ำนั้นๆ ด้วย โดยทุ่นมาตรฐานมี 3 ขนาดแบ่งตามสี คือ ทุ่นสีขาวใช้สำหรับเรือเร็วขนาดเล็กสปีดโบต ทุ่นสีส้มสำหรับเรือไม้หรือเรือขนาดใหญ่ไม่เกิน 20 เมตร ส่วนทุ่นสีเหลืองสำหรับเรือขนาดเกิน 20 เมตรขึ้นไป" สุวรรณ พิทักษ์สินธร นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ศึกษาเรื่องทุ่นอธิบาย

ก่อนแยกย้ายกันไป ปฏิบัติการผูกทุ่นตามที่ได้แบ่งกลุ่มไว้ ได้มีการร่วมกันปล่อยเต่ากระจำนวน 82 ตัว โดยเต่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเฝ้า อนุบาลมาตั้งแต่ยังเป็นไข่ เลี้ยงดูจนกระทั่งมีอายุ 6-7 เดือนก่อนฝังไมโครชิปแล้วปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ

จตุรเทพ โควินทวงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเล่าให้ฟังว่า สิมิลันเป็นภาษายาวี แปลว่า เก้า หมายถึง 9

หมู่ เกาะ ได้แก่ เกาะหนึ่ง (เกาะหูยง) เกาะสอง (เกาะปายัง เกาะสาม (เกาะปาหยัน) เกาะสี่ (เกาะเมี่ยง) เกาะห้า เกาะหก เกาะเจ็ด (เกาะปายู) เกาะแปด (เกาะสิมิลัน) และเกาะเก้า (เกาะบางู) แต่ตอนหลังเพิ่มเกาะบอนและเกาะตาชัยเข้ามาอีก 2 เกาะ ปัจจุบันหมู่เกาะสิมิลันจึงมีทั้งหมด 11 เกาะ !

ในบรรดาเกาะต่างๆ เหล่านี้มีเกาะสำคัญ คือ เกาะสี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งที่พักบนเกาะด้วย โดยบริเวณนี้สามารถพบ "ปูไก่" และ "นกชวาปีไหน" สัตว์พื้นถิ่นของหมู่เกาะสิมิลัน นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์จุดชมวิวอยู่ที่เกาะแปด ซึ่งเมื่อปีนเขาขึ้นไปด้านบนแล้วสามารถมองลงมาเห็นหมู่เกาะละแวกใกล้เคียง ภายใต้สีน้ำทะเลเฉดฟ้าเขียว สวยงามมาก

ทั่วไปกิจกรรมหลักๆ ของผู้มาเยือนสิมิลันคือการดำน้ำลึก จุดต่างๆ บริเวณรอบหมู่เกาะ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เรียนดำน้ำมาก็สามารถสนอร์เกิลได้บ้างบางจุด เช่น "อ่าวเกือก" หรือหินเรือใบ มีปะการังแข็งและเคยพบฝูงปลาขี้ตังเป็ดฝูงใหญ่ "อ่าวกวางเอน" สามารถพบปะการังแปรงล้างขวดนมซึ่งพบได้ในเขต หมู่เกาะสิมิลันเท่านั้น "หินดอกไม้" เป็นจุดเดียวของสิมิลันที่สามารถมีแนวปะการังน้ำตื้นได้โดยการดำน้ำตื้นเวลา น้ำลด "หาดเล็ก" อ่าวปิดที่อยู่อีกด้านของเกาะเมียง ซึ่งสามารถเดินทะลุจากบ้านพักบนเกาะไปถึงได้

...น้ำใส ทรายสวย ที่นี่แหละสิมิลัน สวรรค์ที่สัมผัสได้ทั้งบนบกและใต้น้ำ...



Hit Dive Site...

" กองหินด้านนอกเกาะตาชัย" ยอดหินจมน้ำมีอยู่ 2 ยอดใหญ่ๆ แวดล้อมด้วยฝูงปลาขนาดใหญ่ เช่น ฝูงปลาหูช้าง ฝูงปลาสากนับร้อยตัว บริเวณนี้ยังมีรายงานพบปลากระเบนราหูและปลาฉลามวาฬมากที่สุดด้วย, "เกาะบอน" อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ พบฉลามครีบขาวและฉลามกบ, "กองหินคริสต์มาสพอยต์" จุดนี้ฮิตมากเพราะมีรายงานพบปลาไหลริบบินสีฟ้า ปลาบู่ สีเพลิง กั้งตั๊กแตน รวมทั้งปลาขนาดใหญ่ เช่น ฉลาม สีเทา ฉลามครีบขาว และปลากระเบนราหู

"กองหินแฟนตาซี" เป็นอีกจุดสำคัญที่นักดำน้ำไม่ควรพลาด เพราะพบสัตว์แทบทุกชนิดในน่านน้ำนี้, "อ่าวกวางเอน" อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะแปด เป็นแนวปะการังชายฝั่งที่ขึ้นอยู่ตามแนวลาดชันของความลึก เหมาะสำหรับศึกษาปะการังแข็งชนิดต่างๆ บริเวณนี้พบเต่าทะเล, "แหลมประภาคาร" ใกล้อ่าวกวางเอน ความลึกประมาณ 100 ฟุต มีกองหินอยู่ 2 ก้อน ซึ่งเต็มไปด้วยปะการังอ่อนและกัลปังหา, "หินหัวกะโหลก" พบทั้งสัตว์เล็กอย่างกุ้งและปูชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์ใหญ่อย่างกระเบนราหู

" หินสามก้อน" แนวปะการังบริเวณนี้อยู่ในความลึกตั้งแต่ 40-120 ฟุต มักพบฉลามครีบขาว, "หินดอกไม้" เป็นจุดชมปะการังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะก้อนหินบริเวณปลายทุ่นจอดเรือ, "หัวเกาะเมียง" ค่อนข้างลึกไม่เหมาะสำหรับมือใหม่ เป็นจุดที่มักพบปลาโรนิน ปลาโรนัน ปลากระเบนขนาดใหญ่, "สวนปลาไหล" อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะห้า มีลักษณะเป็นลานทรายกว้าง มีปลาไหล Garden eel อยู่ในพื้นทรายนับร้อยตัว ปลาชนิดนี้ตื่นตกใจง่ายควรเฝ้าชมอยู่ห่างๆ

"สันฉลาม" อยู่ใกล้เกาะปายัง เป็นจุดที่มักพบปลาฉลามและกระเบนราหู, "กำแพงเมืองจีน" เป็นแนวหินที่มีรูปทรงคล้ายกำแพงเมืองจีนต่อยาวออกมาจากแนวสันฉลาม บริเวณนี้พบดงกัลปังหารูปพัดเป็นระยะๆ ไปตลอดแนวหิน



ที่พัก

สอบถาม ติดต่อล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันโทร.0-7659-5045 หรือ www.dnp.go.th



ฤดูท่องเที่ยว

15 พ.ย.-30 เม.ย. แต่ช่วงที่ฟ้าใสน้ำใสเหมาะกับการดำน้ำมากที่สุดช่วงเดือนมกราคม

ขับ รถเองจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านประจวบฯ-ชุมพร-ระนอง พอถึงเส้นระนอง-ชุมพร ที่บ้านลำแก่นมีทางแยกขวาเลี้ยวไปประมาณ 5 กิโลเมตรก็ถึงท่าเรือทับละมุ สำหรับรถโดยสารจากขนส่งสายใต้ใหม่ มีสายกรุงเทพฯ-พังงาทุกวัน หรือถ้าไปเครื่องบิน นั่งไปลงภูเก็ตแล้วต่อรถเข้าพังงาอีก 58 กิโลเมตร

กรุงเทพฯ-พังงา ระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง มีเรือไปหมู่เกาะสิมิลันทุกวันในช่วงเช้า ใช้เวลาเดินทางบนเรืออีกประมาณ 2 ชั่วโมง


************************************************************************************************************************


ทุนนอกรุมทึ้งภูเก็ตตะวันออก (2) ปมขัดแย้ง "มารีน่า VS นิเวศชายฝั่ง"

   

การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ริมชายฝั่งทะเลตะวันออกของเกาะภูเก็ตเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และท่าเทียบเรือสำราญ (มารีน่า) เพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวก็เฟื่องฟูตามไปด้วย ทั้งการลงทุนของรัฐและเอกชน

แม้ในภาพบวกจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่เหรียญอีกด้านที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนชายฝั่งทะเล และนิเวศชายฝั่งอันดามัน ซึ่งขณะนี้บิ๊ก โปรเจ็กต์ล้วนเผชิญปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น

โครงการเดะยามู เปิดขายบ้านพัก ตากอากาศไปแล้วกว่า 200 ยูนิต ราคายูนิตละ 200 ล้านบาท แต่การก่อสร้างมารีน่ายังหยุดชะงักอยู่ เนื่องจากติดปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่าน และเจอแรงต้านจากชาวบ้านป่าคลอก และกลุ่มอนุรักษ์ที่ระบุว่าโครงการนี้กระทบกับวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง เพราะมีการทำลายแหล่งทรัพยากรชายฝั่งคือ แนวปะการัง และหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ

และพื้นที่โครงการทับเส้นทางสาธารณประโยชน์ชุมชน แม้ว่าจะมีการสร้างเส้นทางใหม่แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้งานได้ เพราะมีสภาพสูงชัน

กรณีโครงการบริษัท ทีจีอาร์กรุ๊ป บนเกาะแรด หรือโครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าของบริษัท เรือนดุสิต ไวท์บีช รีสอร์ท ก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน ในส่วนของบริษัทเรือนดุสิตฯ ตามเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ท่าเทียบเรือแห่งนี้มีขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ยาวไม่เกิน 120 ฟุต ความยาวของสะพานที่ยื่นออกไปจากชายหาด 1,000 เมตรหรือเท่ากับ 1 กิโลเมตร เป็นรูปตัวแอล สามารถรองรับเรือยอชต์ขนาดมาตรฐาน 174 ลำ และขนาดพิเศษ 64 ลำ พื้นที่โครงการอยู่ที่แหลมหงา เกาะสิเหร่

เมื่อเดือน ก.ย.2551 ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อคัดค้านโครงการมารีน่า โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และอาชีพของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านต้องพึ่งพาชายฝั่งทำการประมงเพื่อหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ

นั่นคือปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และส่อเค้าความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายจะต้องหาทางป้องกันและเยียวยาร่วมกันสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ได้แก่

1. ปัญหาการ บุกรุกยึดครองพื้นที่สาธารณะ ชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งกำลังเกิดปัญหาการแย่งชิงใช้ทรัพยากรระหว่างทุนใหญ่กับชาวบ้าน

2. เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง เพราะตลอดแนวชายฝั่งโซนตะวันออกเกาะภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง และหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ

3. การก่อสร้างมารีน่าส่วนตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ริมชายฝั่งทะเล เป็นการใช้ "พื้นที่สาธารณะ" เพื่อประโยชน์ของเอกชนเพียงกลุ่มเดียว

4. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไม่โปร่งใส

5. การก่อสร้างมีการละเลย ไม่ปฎิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศชายฝั่งทั้งในระยะก่อสร้างและในระยะยาว เช่น การขุดลอกทำลายแหล่งปะการัง หญ้าทะเล ตะกอนจากการขุดลอก มีการฟุ้งกระจายออกไปทำให้ปะการังตาย เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งในระยะยาว

6. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอนุญาต อนุมัติ และควบคุมดูแลการก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดคือโจทย์ที่ต้องเร่งหาคำตอบ และจัดระเบียบเพื่อสร้างความสมดุลโดยเร็วระหว่าง "การลงทุน" ที่ยังโตวันโตคืนในภูเก็ตที่ต้องแลกด้วย "ความเสื่อมโทรม" ของทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ชุมชนชายฝั่งก็กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2008, 12:48:31 AM »

แนวหน้า


หวั่นปลิงทะเลส่อสูญพันธุ์! ประมงพื้นบ้านวอนช่วยดูแล

 ประจวบคีรีขันธ์: นายสมชาย เอี่ยมสำอาง ชาวประมงพื้นบ้านตำบลทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงปัญหาการจับปลิงทะเลบริเวณเกาะทะลุ เกาะสิงห์ เกาะสังข์ ว่า ทุกวันนี้จำนวนประชากรปลิงทะเลลดลงอย่างน่าตกใจ เนื่องจากปัจจุบันปลิงทะเลเป็นสินค้าส่งออกที่ต่างประเทศต้องการและชาวประมงที่ประกอบอาชีพจับปลิงทะเลไม่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ โดยส่วนตัวแล้วเห็นสมควรอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเพราะในอนาคตอันใกล้ปลิงทะเลอาจสูญพันธ์และเพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาให้เกิดความสมดุลในทางธรรมชาติ ส่วนมาตรการการอนุรักษ์ปลิงทะเลนั้นหากเป็นไปได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เช่น เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) สามารถควบคุมกำหนดออกเป็นเทศบัญญัติได้

 ด้านนาย ลิขิต บุญสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารด้านการประมง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าการจับปลิงทะเลของกลุ่มคนบางกลุ่มนั้นถือว่ายังไม่มีความผิดสามารถจับปลิงทะเลได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับแต่หากกลุ่มมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ควรเลือกจับประชากรปลิงขนาดใหญ่และปัจจุบันงานวิจัยของกรมประมงสามารถเพาะพันธ์ปลิงทะเลได้แล้วส่วนปัญหาการใช้สารเคมีเบื่อปลา น็อกปลา และมีผลกระทบกับจำนวนปลิงทะเลนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลควบคุมได้ทั่วถึงเนื่องจากมีกำลังไม่เพียงพอ

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.505 วินาที กับ 20 คำสั่ง