กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 25, 2024, 12:50:03 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นางฟ้าแห่งท้องทะเล  (อ่าน 2171 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: เมษายน 01, 2009, 01:03:25 AM »


นางฟ้าแห่งท้องทะเล                                                   โดย       วินิจ รังผึ้ง



       เราคงจะคุ้นเคยกับความรู้สึกที่ว่าเทวดา นางฟ้า จะต้องอยู่บนสรวงสวรรค์บนวิมานชั้นฟ้า แต่เชื่อมั้ยครับว่าใต้ท้องทะเลครามอันล้ำลึกก็มีเหล่าเทวดา นางฟ้าให้พบเห็นเช่นกัน และเป็นนางฟ้าแสนสวยเสียด้วย นั่นคือบรรดาปลาที่ฝรั่งเรียกว่า Angelfish ซึ่งคนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อว่าปลาสินสมุทรนั่นเอง
       
       คงจะด้วยความสวยงามของบรรดาปลาในกลุ่มนี้ทำให้มันได้ชื่อว่าAngelfish ด้วยขนาดของลำตัวที่มีขนาดใหญ่กว่าปลาสวยงามและมีสีสันชนิดอื่นๆในแนวปะการัง คือปลา Angelfish ส่วนใหญ่เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดความยาวของลำตัวราว 1 ฟุตเศษ ซึ่งเมื่อเทียบกับบรรดาปลาที่มีสีสันฉูดฉาดสวยงามอื่นๆในแนวปะการังนั้น จะมีขนาดเล็กกว่าแทบทั้งสิ้น เรียกว่าเมื่อ Angelfish ว่าผ่านมาเมื่อไร จะมองเห็นได้สะดุดตาในทันที ราวกับนางแบบประเภทหุ่นสูงยาว เดินเข้ามาในท่ามกลางหญิงสาวอื่นๆนั่นแหละ หนำซ้ำ Angelfish แต่ละชนิดก็ล้วนมีลวดลายสีสันบนลำตัวงดงามเด่นสง่าแทบทั้งสิ้น เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว ไม่เสียชื่อวงศ์ตระกูลเลยทีเดียว
       
       Angelfish หรือที่คนไทยเรียกขานกันมาแต่โบราณว่าปลาสินสมุทรนั้น ผมเองก็ไม่อาจสันนิษฐานที่มาของชื่อได้ ไม่รู้จะเกี่ยวอะไรกับวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีหรือเปล่า นักดำน้ำหลายๆคนอาจจะเคยสันสนระหว่างปลาสินสมุทรกับปลาผีเสื้อ ซึ่งปลาผีเสื้อก็เป็นปลาสวยงามกลุ่มใหญ่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาสินสมุทรมากที่สุด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดเล็กกว่า และเราสามารถจะแยกแยะเจ้าปลาสินสมุทรออกจากปลาผีเสื้อได้ ก็โดยการสังเกตจากครีบเหงือก ซึ่งปลาสินสมุทรทุกตัวทุกชนิดจะต้องมีเงี่ยงแหลมยื่นออกมาตรงส่วนล่างสุดของเหงือกทุกตัวเป็นเสมือนตรารับรองคุณภาพ เจ้าเงี่ยงแหลมนี้มีไว้เป็นอาวุธป้องกันตัว หากใครมายุ่งหรือเข้ามาล่วงล้ำ ก็อาจจะถูกพวกเธอสะบัดแก้มตบเข้าให้สักฉึกสองฉึก เรียกว่าสวย เด็ด เผ็ด ดุ ครบเครื่องเลยทีเดียว

 
 
       ในบรรดาปลาสินสมุทรที่มีกันอยู่มากมายหลายชนิดนั้น นักดำน้ำบ้านเรามักคุ้นเคยกับปลาสินสมุทรจักรพรรดิ (Emperor angelfish) ซึ่งเป็นปลาที่มีลวดลายและสีสันสวยงามเป็นที่ต้องตาต้องใจนักดำน้ำ ลวดลายสีสันที่สวยงามเช่นนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจำแนกแยกแยะเผ่าพันธุ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งพรรคพวกเผ่าพันธุ์ในผืนทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล และสีสันที่จัดจ้านนี้ยังเหมือนจะประกาศว่าเป็นสีที่มีอันตราย ไม่เหมาะกับการเป็นอาหารของบรรดานักล่าทั้งหลาย ทั้งลวดลายที่เป็นลายเส้นชัดเจนซับซ้อนก็เป็นเครื่องป้องกันตัวที่อาจสร้างความสับสนงุนงงจนเกิดอาการตาลายขึ้นได้
       
       ในบรรดาพวกพ้องปลาสินสมุทรนั้น นอกจากปลาสินสมุทรจักรพรรดิที่นักดำน้ำคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีปลาสินสมุทรชนิดอื่น ๆ ซึ่งล้วนมีสีสันและลวดลายงดงามทั้งสิ้น เช่น ปลาสินสมุทรบั้ง (Regal angelfish) ปลาสินสมุทรลายฟ้า (Blue-ringed angelfish) ปลาสินสมุทรแว่นเหลือง (Yellowmask angelfish) เป็นต้น ปลาสินสมุทรนั้นจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ ลำตัวแบนกว้าง มีเงี่ยงแหลมยาวที่บริเวณใต้แก้มตอนล่างของครีบข้างลำตัวเพื่อไว้ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว และลักษณะสำคัญที่ออกจะคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งก็คือปลาสินสมุทรหลายชนิดนั้น เมื่อครั้งเป็นปลาวัยอ่อนจะมีสีสันและลวดลายบนลำตัวแตกต่างออกไปจากตัวพ่อแม่ที่โตเต็มวัยอย่างสิ้นเชิงราวกับว่าเป็นปลาต่างชนิดกัน อย่างเช่นปลาสินสมุทรจักรพรรดินั้นตอนเป็นปลาวัยอ่อนจะมีสีน้ำเงินครามลายเส้นฟ้าขาว มีลักษณะเป็นลายก้นหอย ลำตัวมีขนาดประมาณฝ่ามือ ว่ายหากินอยู่บริเวณหลืบหิน หรือซอกปะการังที่มีลักษณะเป็นผาชันใต้ทะเลในระดับความลึกที่ค่อนข้างลึกสักหน่อยราว 40-60 ฟุตลงไป และมักจะชอบอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำทะเลใส โดยปรกติแล้วมักจะมีนิสัยขี้อาย มีสัญชาตญาณแห่งความระแวงภัยสูง ไม่ค่อยจะไว้วางใจปลาใหญ่ ๆ หรือนักดำน้ำที่เข้าไปใกล้ โดยมักจะว่ายหนีและรักษาระยะห่างอยู่ตลอดเวลา กว่าจะเก็บภาพได้ผมต้องค่อย ๆ ใช้เวลาตามตื๊อและสร้างความคุ้นเคยจนเจ้าจักรพรรดิน้อยให้ความไว้วางใจ และอาจจะเป็นโชคดีที่เจ้าปลาน้อยกำลังสาละวนอยู่กับการหากินไปตามผาหินจึงไม่ตื่นกลัว
       
       ปลาสินสมุทรจักรพรรดิเมื่อโตขึ้นลวดลายบนลำตัวตอนเด็ก ๆ จะค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงินลายเส้นคาดยาวตลอดข้างลำตัวที่มีสีเหลืองสดใส ปลายหางเป็นสีเหลือง ปลายปากและแก้มสีขาว บริเวณดวงตามีขอบคาดสีดำเหมือนหน้ากากโซโร ทั้งขนาด สีสัน และลวดลายบนลำตัวจะไม่เหลือเค้าเดิมในวัยเด็กอยู่เลย อันเป็นเครื่องหมายของการเติบโตเต็มที่ พร้อมจะแพร่เผ่าพันธุ์ต่อไป ปลาสินสมุทรจักรพรรดินี้พบบริเวณท้องทะเลลึกฝั่งอันดามันเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่พบทางฝั่งอ่าวไทย จะมีพบอยู่บ้างก็บริเวณกองหินโลซินจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกองหินที่อยู่ไกลฝั่งมาก
       
       แม้จะโตเต็มที่และเปลี่ยนลวดลายสีสันเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่เจ้าปลาสินสมุทรจักรพรรดิก็ยังเป็นปลาที่ปราดเปรียว ไม่ค่อยจะยินยอมให้ใครเข้าใกล้ตัวเท่าใดนัก ยิ่งบรรดาช่างภาพใต้น้ำที่ถืออุปกรณ์ทั้งกล้องทั้งแฟลชด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะตื่นกลัวและหนีห่างออกไปทุกที แต่ก็มีช่วงเวลาที่เราจะสามารถเข้าสำรวจและถ่ายภาพเจ้าสินสมุทรจักรพรรดิได้อย่างใกล้ชิดอยู่บ้าง นั่นก็คือช่วงการดำน้ำกลางคืน ซึ่งเจ้าปลาชนิดนี้จะหาพื้นที่ตามแนวปะการัง โพรงหิน เป็นที่หลบลอยตัวนอนนิ่ง ๆ ไม่หนีไปไหน แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างตรงที่ในตอนกลางคืนที่ผืนน้ำรอบข้างมืดดำ ไม่สดใสสีครามกระจ่างตาเหมือนตอนกลางวันที่แสดงแดดจัด เจ้าปลาสินสมุทรจักรพรรดิก็จะปรับสีสันข้างลำตัวให้ซีดจางลง ไม่ฉูดฉาดเป็นเป้าสายตาเหมือนตอนกลางวัน
       
       นอกจากปรับสีสันให้จืดจางเข้ากับความมืดแล้ว ทีเด็ดของเจ้าปลาสินสมุทรจักรพรรดิอีกอย่างหนึ่งก็คือมันสามารถจะทำเสียง “ป๊อกๆ” คล้าย ๆ กับเสียงดีดนิ้ว โดยการดีดช่องเหงือกดัง ๆ ให้ปลา หรือศัตรูที่เข้ามาใกล้ตกใจรู้สึกสับสนจนต้องเผ่นหนีไปได้
 


จาก                                               :                                        ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 31 มีนาคม 2552 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.031 วินาที กับ 20 คำสั่ง