กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 24, 2024, 03:15:52 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปลาสลิดหิน เจ้าถิ่นตัวจิ๋ว  (อ่าน 2612 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: พฤษภาคม 06, 2009, 07:39:29 AM »


ปลาสลิดหิน เจ้าถิ่นตัวจิ๋ว                                           :                                   วินิจ รังผึ้ง



      ในแทบทุกครั้งของการลงดำน้ำ ปลาชนิดหนึ่งที่นักดำน้ำจะได้พบเจอแน่ๆ ก็คือปลาในตระกูลปลาสลิดหิน (Damselfishes) หรือบางคนก็เรียกว่าปลาสลิดทะเล ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กในแนวปะการังที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งในท้องทะเลเลยทีเดียว และยังเป็นปลาที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ชนิดที่ว่าหันไปทางไหนเป็นต้องเจอพี่น้องตระกูลสลิดหินเลยทีเดียว ลักษณะรูปร่างหน้าตาของปลาสลิดหินหรือสลิดทะเลนั้น ก็คล้ายๆกับปลาสลิดน้ำจืดที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละ เพียงแต่ปลาสลิดน้ำจืดที่นำมาตากแห้งนั้นส่วนใหญ่เราจะไม่เคยเห็นหน้าตาของมัน เพราะเขามักจะตัดหัวทิ้งก่อนจะนำไปตากแดด
       
       ปลาสลิดหินนั้นเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดตั้งแต่ 5 เชนติเมตรไปจนถึงราว 15 เซนติเมตรแล้วแต่สายพันธุ์ ลักษณะเป็นปลาที่มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัวแบนๆ มีหลายสีโดยอาจจะแบ่งได้เป็นชนิดสีออกโทนดำ น้ำตาล ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และเป็นชนิดที่มีความคล้ายคลึงกันยากลำบากในการจำแนกชนิดพันธุ์ เจ้าปลาสลิดหินโทนสีดำ สีเทาหรือโทนน้ำตาลเหล่านี้มักจะอาศัยกันอยู่เป็นฝูงตามกอปะการังเขากวาง เมื่อมีภัยอันตรายเข้ามาใกล้ก็จะฮือหลบลงไปแอบซ่อนตามกิ่งก้านปะการัง
       
       นอกจากปลาสลิดหินที่มีสีออกโทนดำแล้วยังมีชนิดที่มีแถบจุดขาวหรือแถบลายบนลำตัวเช่นปลาสลิดหินลายเสือที่ชอบรวมฝูงกันว่ายกินแพลงก์ตอนไปมาอยู่กลางมวลน้ำ หรือระยะหลังๆมักจะมาหลงติดใจกับรสชาติขนมปังที่นักท่องเที่ยวนำมาให้อาหารตามเกาะต่างๆในแถบทะเลอันดามัน อย่างเช่นบริเวณเกาะห้อง เป็นต้น โดยปลาสลิดหินลายเสือพวกนี้มักจะรู้งาน พอนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่จะมาเล่นน้ำหรือดำน้ำตื้นแบบสนอร์เกิ้ลลงมาในน้ำ เจ้าปลาพวกนี้ก็จะว่ายเข้ามารุมล้อมกันทันที จะเรียกว่าเป็นปลารับแขกก็ว่าได้ นับเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างชีวิตต่างสายพันธุ์คู่ใหม่ในท้องทะเลก็ว่าได้ เพราะปลาก็ได้ประโยชน์ได้กินขนมปังอร่อยๆเป็นอาหาร ในขณะที่นักดำน้ำก็ได้เพลิดเพลินกับการดูปลา เอาเป็นว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ระวังจะเสียปลา เสียสัญชาติญาณหมด

 
 
       หลายคนอาจจะบอกว่าเจ้าปลาสลิดหินนั้นแม้จะมีปริมาณและชนิดมากมายในท้องทะเล แต่มักจะมีสีดำๆ น้ำตาลไม่ค่อยจะสวยงามเท่าใดนัก ไม่เหมือนปลาสวยงามอย่างปลาผีเสื้อ ปลานกแก้ว ปลาการ์ตูน ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ยังมีปลาสลิดหินชนิดที่มีสีสันสวยงามไม่แพ้ปลาอื่นๆ ชนิดที่ว่าถ้าส่งเข้าประกวดก็ไม่เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลก็มี เช่น ปลาสลิดหินสีทอง (Golden damselfish) ที่ลำตัวมีสีเหลืองทั้งตัวชอบว่ายเวียนอยู่ตามกัลปังหาหรือปะการังอ่อน บางครั้งเราก็พบเห็นเจ้าปลาสลิดหินสีทองรวมฝูงกันมากมายนับร้อย จนมีสีเหลืองละลานตาไปหมด ซึ่งการรวมตัวกันมากๆเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นช่วงเทศกาลงานรื่นเริงของฤดูกาลจับคู่ผสมพันธุ์ก็เป็นได้
       
       นอกจากปลาสลิดหินสีทองแล้ว ปลาในกลุ่มปลาสลิดหินที่มีสีสันสวยงามก็ยังมีปลาสลิดหินฟ้าหางเหลือง (Yellow-tail damselfish) หรือที่บางคนเรียกว่าสลิดหินนีออน เพราะสีฟ้าน้ำเงินบนเกล็ดของมันนั้นวาววับสะท้อนแสงราวกับแสงไฟนีออนเลยทีเดียว ยิ่งบริเวณที่เจ้าปลาสลิดหินนีออนอาศัยอยู่เป็นพื้นทรายขาวน้ำทะเลใส ในยามแดดจัดจ้าส่องแสงลงมาถึงพื้นทรายใต้ทะเลแล้วสะท้อนแสงสีบนพรายเกล็ด ยิ่งงดงามสดใสแวววาวยิ่งนัก นอกจากนี้ยังมีปลาสลิดหินเหลือง ที่ลำตัวสีเหลืองมะนาวสดใส ซึ่งล้วนมีสีสันสวยงามไม่แพ้ปลาชนิดอื่นเลยทีเดียว
       
       ปลาสลิดหินเหล่านี้หากเป็นปลาที่รวมฝูงหากินอยู่กลางน้ำก็มักจะกินแพลงก์ตอนหรือเศษอาหารเล็กๆที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ ส่วนปลาสลิดหินที่อยู่ตามปะการังมักจะกินสาหร่ายทะเลและสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร ปลาในตระกูลนี้มักจะมีพฤติกรรมรักและหวงถิ่นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ โดยมักจะวางไข่เป็นแพติดเป็นพืดบนลานหินหรือซากปะการัง บางตัวก็จะวางไข่บนแกนแส้ทะเลที่ตายแล้ว โดยปลาสลิดหินตัวผู้จะมีหน้าที่เฝ้าไข่ ในข้อมูลมิได้ระบุไว้ว่าปลาสลิดหินตัวเมียไปอยู่เสียที่ไหน หรือเห็นพ่อปลาเป็นดอกไม้ริมทางวางไข่แล้วทอดทิ้ง แต่ก็ช่างเถอะครับ เรื่องของปลา คนเราก็ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีก็แล้วกัน

 
 
       พ่อปลาสลิดหินจะทำหน้าที่ดูแลรักษาไข่ที่กำลังจะฟักเป็นตัวอย่างแข็งขัน หากมีปลาหรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นรุกล้ำเข้ามาใกล้ๆ มันก็จะตรงรี่ออกไปขับไล่ทันที ชนิดที่ว่าขนาดไม่สน น้ำหนักไม่เกี่ยง แม้กระทั่งนักดำน้ำก็ยังโดนเจ้าพ่อปลาตัวจิ๋วไล่กัดเจ็บๆคันๆมาแล้ว ความกล้าหาญชาญชัยของพ่อปลาที่ปกป้องลูกๆในไข่นั้น ถึงขนาดที่ว่าถ้ามีหอยเม่นหรือเม่นทะเลที่มีหนามพิษแหลมๆ คลานต้วมเตี้ยมรุกล้ำเข้ามาในบริเวณ พ่อปลาก็จะรี่เข้าไปใช้ปากงับหนามหรือขนเม่นดำๆ แล้วดึงลากออกไป เป็นการเตือน หากไม่เชื่อ ก็จะตรงเข้าไปกัดหนามเม่นให้หลุดออกไปทีละเส้นๆ จนเจ้าเม่นทะเลกลัวว่าจะกลายเป็นเม่นหัวโล้นไม่มีอะไรปกป้องตัวเอง ต้องรีบเผ่นหนีจากไป นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความรักและความผูกพันของพ่อที่มีต่อลูกและการสืบทอดดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ให้สามารถดำรงคงอยู่คู่ท้องทะเลกว้างต่อไปของพ่อปลาสลิดหิน
       
       แม้นจะได้ชื่อว่าเป็นปลาที่หวงถิ่นและค่อนข้างจะดุในช่วงฤดูวางไข่ และพ่อปลาก็ทำหน้าที่ปกป้องศัตรูที่จะเข้ามากล้ำกรายไข่อย่างเต็มที่ แต่ผมก็เคยพบภาพที่น่าเศร้าใจ โดยฝูงปลานกขุนทองจอมฉกฉวยได้รวมฝูงกันเฉพาะกิจแล้วรุมเข้าจู่โจมไข่ของปลาสลิดหิน ซึ่งพ่อปลาก็ทำการต่อสู้ขับไล่จอมขโมยผู้รุกรานอย่างสุดกำลัง แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานฝูงจิ้งจอกแห่งท้องทะเลไว้ได้ พอพ่อปลาว่ายขับไล่ตามปลานกขุนทองตัวนี้ออกไป อีก 4-5 ตัว ก็รี่เข้ารุมทึ้งตอดกินไข่กันอย่างเมามัน อาการของการตอดกินไข่จนสับสนวุ่นวาย ยิ่งเป็นเสมือนการกระตุ้นเรียกขานให้ปลานกขุนทองรอบข้างกรูกันเข้ามาแย่งกันตอดกินกันอย่างเมามัน แม้นพ่อปลาจะรี่เข้าไปกัดทึ้งต่อสู้อย่างไรก็ไม่เป็นผล ชั่วครู่ฝูงปลานกขุนทองก็จากไป เหลือไว้เพียงความว่างเปล่า ทิ้งไว้แต่เพียงภาพอันแสนเศร้าของพ่อปลาที่มิสามารถจะปกป้องลูกน้อยในไข่ไว้ได้แม้นเหตุการณ์จะเกิดขึ้นตรงหน้าก็ตาม.
 



จาก                                  :                                ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 5 พฤษภาคม 2552 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.021 วินาที กับ 20 คำสั่ง