กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 25, 2024, 04:21:55 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 3 4 [5]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รวมเรื่องราวของ .... แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด กับภัยพิบัติอื่นๆ  (อ่าน 88370 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #60 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2008, 12:42:18 AM »


หายนภัย 2551-พม่าโศกา-จีนอาดูร-สองแสนชีวิตสูญสิ้น



ความทรงจำอันโหดร้ายเมื่อครั้งเหตุธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิซัดกลืนชีวิตมนุษย์กว่า 2 แสนคนทั่วมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ยังไม่ทันจางหายไปจากความทรงจำ

  ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติก็บังเกิดขึ้นอีกครา ไม่นับรวมหายนภัยจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งโต๊ะต่างประเทศ "คม ชัด ลึก" ขอลำดับเหตุการณ์หายนภัยประจำปีมาให้ท่านผู้อ่านได้จดจำกันอีกครั้ง


พายุไซโคลนนาร์กีส - มัจจุราชแห่งสายลม



 ค่ำคืนวันที่ 2 จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ชาวพม่าแถบสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำอิระวดี ทางภาคใต้ของพม่า ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะต้องเผชิญหน้ากับพายุไซโคลนร้ายกาจที่สุดในรอบหลายทศวรรษ พายุไซโคลนนาร์กีสที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรอินเดียได้พัดมาทางตะวันออกก่อนจะขึ้นฝั่งภาคใต้ของพม่า พัดถล่มทุกอย่างในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มราพนาสูร ไม่เว้นแม้แต่ชานนครย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงศูนย์กลางการค้าของพม่า ผู้คน 1.38 แสนชีวิตล้มตายหรือสูญหาย ชาวพม่าอีก 2.4 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย เรือกสวนไร่นาล่มเสียหายท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพง

 ซ้ำร้าย รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่าก็รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างสุดเลวร้าย ไม่มีการออกไปช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ โดยเฉพาะต่างชาติที่ส่งกองเรือรบมาคอยท่าหวังนำเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ออกไปส่งความช่วยเหลือให้แก่ผู้รอดชีวิตที่รอคอยอย่างสิ้นหวัง จนกระทั่งนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องบากหน้ามาคุยกับผู้นำทหารเพื่อขออนุญาตให้ต่างชาติเข้าช่วยเหลือก่อนจะได้รับไฟเขียวแต่เพียงชาติสมาชิกสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เท่านั้น แม้แต่ดาราตลกชื่อดังของพม่าเองยังถูกจำคุกหลายปีฐานยื่นมือไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน


ธรณีพิโรธเสฉวน - เมืองแห่งความพินาศ



 เคราะห์กรรมจากพายุไซโคลนนาร์กีสยังไม่ผ่านพ้น เช้าวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 เสียงพสุธากัมปนาทผ่าแยกแผ่นดินจีนในมณฑลเสฉวน ทางตอนใต้ของประเทศ เพียงชั่วเวลาเพียงไม่กี่นาที แผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์ คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 8.8 หมื่นคน หลายพันคนในจำนวนนี้เป็นเด็กนักเรียนที่กำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนก่อนที่อาคารเรียนซึ่งสร้างโดยไม่ได้มาตรฐานจะพังถล่มลงทับร่างน้อยๆ อันเป็นดวงใจของพ่อแม่ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 3.75 แสนคน ผู้คนอีก 5 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เมืองบางเมืองแทบจะกลายเป็นเมืองร้างเมื่อมีผู้รอดชีวิตเหลือเพียงไม่กี่สิบคน แถมการช่วยเหลือยังเป็นไปอย่างยากลำบาก หมู่บ้านหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทหารต้องเดินเท้าหลายวันกว่าจะเข้าไปช่วยเหลือได้

 แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงนี้ทำให้จีนซึ่งกำลังชื่นมื่นกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ถึงกับตกอยู่ในสภาพโศกาอาดูร ทั้งประเทศร่วมไว้อาลัยให้แก่เหยื่อที่เสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน ทั้งยังมีการทำนายทายทักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้นว่าเป็นเพราะมาสคอตโอลิมปิกที่มีทั้ง 5 ธาตุรวมอยู่ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือธาตุดินที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของพิบัติภัยครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิตเหยื่อแล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจีนถึง 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้เวลาหลายปี และงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 2.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ให้กลับมาเหมือนเดิม

 ถัดจากพิธีเปิดโอลิมปิกมาเพียง 1 เดือน วันที่ 8 กันยายน 2551 จีนต้องตะลึงอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุโคลนถล่มกลืนหมู่บ้านเถาซื่อ ในมณฑลชานสี ทางเหนือของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 262 คน เหตุการณ์นี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์เมื่อบ่อน้ำของเหมืองที่อยู่บนเขาเกิดเอ่อล้นพาโคลนไหลท่วมหมู่บ้านฝังคนที่อยู่ด้านล่างทั้งเป็น



 นอกจากที่จีนแล้ว ยังมีเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.6 ริกเตอร์ภูมิภาคออชในคีร์กีซสถานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 70 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ตามมาด้วยแผ่นดินไหวปากีสถานในปลายเดือนเดียวกัน ด้วยอานุภาพ 6.4 ริกเตอร์ คร่าชาวปากีสถาน 170 คน ทำลายบ้านเรือนอีก 1.5 หมื่นหลัง


เฮอริเคนถล่มสหรัฐ  - ปีศาจแห่งแอตแลนติก



 ปีแล้วปีเล่าที่ทั่วโลกต่างเฝ้ามองพายุเฮอริเคนเข้าพัดถล่มพื้นที่แถบเมดิเตอร์เรเนียน และภาคใต้ของสหรัฐด้วยความลุ้นระทึกว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์เฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่มเมืองนิวออลีนส์ รัฐอิลลินอยส์ เมื่อปี 2548 หรือไม่ และปีนี้ทั่วโลกก็ได้เห็นพายุลูกร้ายกาจไม่แพ้กันพัดถล่มหลายประเทศในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเฮอริเคนเฟย์ เฮอริเคนกุสตาฟ เฮอริเคนฮันนา และเฮอริเคนไอค์ ซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาลให้แก่หลายประเทศ ทั้งเฮติ คิวบา โดมินิกัน ตลอดจนสหรัฐที่ถึงกับต้องปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกกำลังทะยานดุจดั่งจรวดสายฟ้า ราคาไม่ต่ำกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมผู้คนสังเวยชีวิตเฮอริเคนปีนี้ไปกว่า 270 คน หลายหมื่นคนอพยพหนีตาย บ้านเรือนเสียหาย

 เฮติ หนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลกคือประเทศที่บอบช้ำที่สุดจากเฮอริเคนปีนี้ ประชาชนสังเวยชีวิตให้แก่ปีศาจแห่งแอตแลนติกถึง 800 คน ซึ่งรวมถึงประชากรครึ่งหนึ่งของเมืองโกนีฟที่ล้มตายเพราะพายุมรณะ ผู้คนอีกกว่าล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย บ้านเมืองกว่า 1 แสนหลังคาเรือนพังเสียหายโดยที่ชาวบ้านไม่มีปัญญาแม้แต่จะซ่อมแซม

 แถมคล้อยหลังเฮอริเคนเพียง 2 เดือน เคราะห์กรรมยังกระหน่ำซ้ำเติมเฮติไม่หยุด เมื่อเกิดเหตุโรงเรียนในเมืองเปติยงวีล์ถล่มฝังร่างครูและนักเรียนกว่า 90 ชีวิต อีก 150 คนได้รับบาดเจ็บ และยังหวุดหวิดเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อนในอีกหลายวันต่อมาเมื่อเกิดเหตุโรงเรียนถล่มขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้โชคดีมีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่มีใครต้องสังเวยชีวิต


ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย - พระเพลิงผลาญเมืองนางฟ้า



 ไฟป่าแคลิฟอร์เนียเป็นที่โจษจันไปทั่วโลกถึงความร้ายกาจและยากจะควบคุม อันเป็นผลจากสาเหตุหลายประการ เริ่มตั้งแต่การที่แคลิฟอร์เนียมีฝนตกเป็นปริมาณน้อยมากมาติดต่อกันหลายปี จนทำให้พื้นที่ป่าแห้งแล้งอย่างหนัก ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2551 เป็นช่วงแห้งแล้งที่สุดของหลายพื้นที่ในแคลิฟอร์เนีย จนอาร์โนลด์ ชวาเซเนเกอร์ ผู้ว่าการคนเหล็กแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียต้องประกาศภัยแล้งทั่วรัฐเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี ขณะที่พายุฤดูแล้งก็ทำให้เกิดฟ้าผ่าขึ้นหลายพื้นที่ โดยรายงานระบุว่า เกิดฟ้าผ่าขึ้นมากกว่า 2.5 หมื่นครั้ง ทำให้เกิดไฟป่าผุดขึ้นทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของแคลิฟอร์เนียมากกว่า 2,000 จุด ต้องขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศให้มาช่วยดับไฟ ชาวเมืองทั้งหลายรวมทั้งลอสแองเจลิสต้องสูดควันพิษจากไฟป่ากันนานนับเดือน

 จากนั้นแคลิฟอร์เนียก็เกิดไฟป่าขึ้นหลายระลอกจนกระทั่งปลายปีที่ไฟป่าได้โหมเผาผลาญเป็นบริเวณกว้างอันเป็นผลจากกระแสลมซานตาแอนนาที่แรงลมเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพหนีตาย เผาผลาญเนื้อที่ป่าและที่อยู่อาศัยไปกว่า 4.75 หมื่นไร่ ภายในเวลาเพียง 5 วัน ทำลายบ้านเรือนไปกว่า 800 หลัง และทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน

 นอกจากไฟป่าแล้ว สหรัฐยังประสบกับภัยธรรมชาติอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพายุทอร์นาโดถล่มภาคใต้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเกือบ 100 คนในปีนี้ รวมทั้งเหตุน้ำท่วมใหญ่ในหลายมลรัฐซึ่งเป็นเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ขณะที่พายุน้ำแข็งครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีได้พัดถล่มหลายรัฐตั้งแต่นิวอิงแลนด์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ร้ายแรงถึงขนาดประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อเปิดทางให้สำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉิน (ฟีมา) และกองกำลังแห่งชาติเข้าไปช่วยเหลือและทำการกู้สายไฟที่มีน้ำแข็งเกาะจนไฟฟ้าดับกระทบบ้านเรือนเกือบล้านหลัง


เรือฟิลิปปินส์ล่ม - เฟอร์รีเจ้าหญิงมรณะ

 วันที่ 21 มิถุนายน 2551 ฟิลิปปินส์ทั้งประเทศหันมาให้ความสนใจกับชะตากรรมของผู้โดยสารเกือบ 1 พันคนของเรือเฟอร์รีพรินเซส ออฟ เดอะ สตาร์ส หรือเจ้าหญิงแห่งดวงดาวเกิดปะทะกับคลื่นใหญ่ที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเฟิงเซิน และจมลงนอกเกาะซิบุยัน ทางเหนือของประเทศ จากจำนวนผู้โดยสาร 862 ชีวิต มีเพียง 57 ชีวิตที่รอด ไม่กี่วันหลังหายนะ รัฐบาลประกาศยุติการค้นหาผู้รอดชีวิต หลังพบว่าเรือมีการบรรทุกยาฆ่าแมลงจำนวนมากจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไปกู้ภัย ขณะที่ภัยธรรมชาติอย่างพายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำ และฝนที่ตกหนักหลายลูกจนทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มยังทำให้ฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 500 คน

 นอกจากนี้ยังมีหายนภัยอื่นๆ อีกเช่นเหตุเครื่องบินตกที่สเปน คร่าชีวิตผู้โดยสารกว่า 153 ชีวิต หลังเครื่องบินเกิดไถลออกนอกรันเวย์และระเบิดเป็นไฟระหว่างบินขึ้นจากสนามบินบาราฆาส์ในกรุงแมดริด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เหตุเหยียบกันตาย 2 ครั้งที่วัดในอินเดีย เสียชีวิตกว่า 250 คน ปิดท้ายที่เหตุน้ำท่วมใหญ่ทั้งในอินเดีย และบังกลาเทศจากฝนตกหนักในฤดูมรสุม ถือเป็นเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งรุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี ที่อินเดีย ประชาชนสังเวยน้ำท่วม 75 คน อีก 2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ครึ่งล้านคนติดน้ำท่วมหนีไปไหนไม่ได้ ขณะที่อีกครึ่งล้านคนใช้ชีวิตประจำวันในสภาพอนามัยย่ำแย่อยู่ที่ค่ายอพยพ



จาก                                   :                               คม ชัด ลึก      วันที่  30 ธันวาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #61 เมื่อ: มกราคม 13, 2009, 01:20:05 AM »


เอเชียรับศึกใหญ่ภัยธรรมชาติ


 
นักภูมิศาสตร์ของออสเตรเลีย จากสถาบันจีโอไซเอินซ์ พบว่า ประเทศในเขตเอเชียแปซิปิกมีความเสี่ยงต่อมหันตภัยทางธรรมชาติ ที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งละ 1 ล้านคน ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศเอเชียแปซิฟิกพบกับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว สึนามิ พายุไซโคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชากรมาอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น ทำให้ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงขึ้นไปด้วย

จากการวิเคราะห์ภัยธรรมชาติในช่วง 400 ปีที่ผ่านมา ของสถาบันจีโอไซเอินซ์ พบว่า ประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวแผ่นดินไหวหิมาลายันเบลต์ คือ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อาจพบกับแผ่นดินไหวรุนแรงที่อาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 1 ล้านคน นอกจากนี้ ภูเขาไฟ



จาก                            :                       ข่าวสด    วันที่ 13 มกราคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #62 เมื่อ: มกราคม 20, 2009, 01:30:09 AM »


ทั่วโลกหนาวรุนแรง พบเจอปรากฏการณ์แปลก



ฤดูหนาวนี้หลายประเทศพบกับอากาศหนาวจัดอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน พร้อมกับเกิดเหตุการณ์แปลกๆ ที่มากับความหนาว เช่น แสงประหลาด พื้นน้ำแข็งรูปวงกลม และนกนางแอ่นที่สู้กับความหนาวอย่างทรหด จนได้รับการขนานนามว่า "แรมโบ้"

ที่เมืองซีกัลดา ประเทศลัตเวีย นายอัลการ์ ทรูฮินส์ ถ่ายรูปลำแสงที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยกล้องดิจิตัล  จนกลายเป็นภาพที่สร้างกระแสวิจารณ์ในอินเตอร์เน็ตให้กับเหล่านักดูดาวมือสมัครเล่น

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ เห็นว่า ลำแสงนี้อาจเกิดจากผลึกน้ำแข็งหรือไอซ์คริสตัลในอากาศ โดยแสงไฟบนถนนสะท้อนขึ้นไปบนท้องฟ้า และผลึกน้ำแข็งบนฟ้าสะท้อนแสงให้กลับลงมา อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ลำแสงที่ทรูฮินส์ถ่ายมาได้ มีความแตกต่างไปจากลำแสงที่เกิดโดยผลึกน้ำแข็งอื่นๆ และต้องถ่ายรูปมาเพิ่มเติมเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป


1. น้ำแข็งวงกลมที่รัสเซีย
2.ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
3.น้ำแข็งวงกลมบนแม่น้ำออตเตอร์ที่อังกฤษ เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ฟุต และจะหมุนเป็นวงกลมครบ 360 องศา ทุกๆ 4 นาทีกับ 10 วินาที
4 ที่ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา


ในหลายประเทศ มีผู้พบเห็นน้ำแข็งวงกลม หรือ "ไอซ์เซอร์เคิล" ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะพบในอาร์กติก ประเทศสแกนดิเนเวียและแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การที่น้ำแข็งบนแม่น้ำสร้างรูปเป็นวงกลมได้ เพราะแรงที่เรียกว่า "Rotational shear" หรือ "แรงตัดหมุน" ซึ่งกระเทาะแผ่นน้ำแข็งออกและหมุนเป็นวงกลม

ปิดท้ายด้วยชีวิตของนกนางแอ่น ที่นักดูนกชาวอังกฤษต่างให้ความสนใจ เพราะมันเป็นนกนางแอ่นตัวเดียวในประเทศ ที่ยังอยู่รอดในฤดูหนาวที่อากาศหนาวเย็นมากที่สุดในรอบ 30 กว่าปี จนมีผู้ตั้งชื่อว่า "แรมโบ้"

ตามปกติแล้วเดือนกันยายน นกนางแอ่นอังกฤษจะเริ่มอพยพไปอยู่ที่ทางตอนใต้ของแอฟริกา และจะหายไปเกือบทั้งหมดก่อนคริสต์มาส แต่ยังมีนกนางแอ่นบางตัวที่ไม่ยอมบินไป โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นักดูนกพบนกนางแอ่นที่สู้กับอุณหภูมิ -12 องศาเซลเซียส อยู่ 7 ตัว  แต่ไม่นานมานี้ 6 ตัวได้ตายไป เหลือรอดอยู่ก็แค่ "แรมโบ้" ตัวเดียว

จากการสังเกตพบว่า น้ำหนัก "แรมโบ้" ลดลงกว่าครึ่ง เพราะอากาศหนาวจัดทำให้แมลงอาหารของนกหายหน้าหายตาไป มันจึงไม่มีอาหารกิน นักดูนกจึงพากันไปพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติมาเรเซียน ในคอร์นวอลล์ เพื่อให้กำลังใจ "แรมโบ้" กันอย่างเนืองแน่น



จาก                            :                       ข่าวสด    วันที่ 20 มกราคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #63 เมื่อ: มกราคม 31, 2009, 02:36:34 AM »


ลานีญา! มาแล้ว ไทยสู้ทั้งหนาวทั้งฝน


 
อากาศหนาวเย็นครอบคลุมทั่วยุโรปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีต้นเหตุมาจากปรากฏการณ์ลานีญา

ผลพวงของลานีญาทำให้เมืองมาร์กเซย์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ฝรั่งเศส มีหิมะตกครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี...สนามบินมาดริด ประเทศสเปน ต้องปิดสนามบินชั่วคราวเพราะหิมะตก

และที่โปแลนด์ ก็มีผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นไปแล้ว  ไม่ต่ำกว่า 80 ราย

การเฝ้าระวังปรากฏการณ์ลานีญาในประเทศไทย  ระหว่างเดือนธันวาคม 2551 ถึงกลางเดือนมกราคม 2552 พบว่า... 

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลาง  และด้านตะวันออกมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรต่ำกว่าปกติ 0.5 องศาเซลเซียส

บางพื้นที่...อุณหภูมิต่างจากปกติมากกว่า 1 องศาเซลเซียส

ขณะที่ลึกลงไปในมหาสมุทร 300 เมตร  บริเวณเดียวกัน...อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมาก ผนวกกับลมตะวันออกกำลังแรงพัดปกคลุมในระดับต่ำ และลมในระดับบน เป็นลมตะวันตกกำลังแรง 

เหล่านี้เป็นสัญญาณผิดปกติ  ที่ชี้ให้เห็นว่า...ลานีญากำลังพัฒนา ขึ้นอีกครั้ง

ความผิดปกติทางธรรมชาติ การหมุนเวียนกระแสลมในบรรยากาศ รวมถึงกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ทำให้ลักษณะอากาศเมืองไทยในช่วงฤดูหนาวนี้ มีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ

พ่วงท้ายมาด้วยปริมาณฝน  ในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง  ก็มากกว่าค่าปกติเช่นกัน

คาดการณ์ว่า...ถ้าธรรมชาติยังผิดปกติอย่างนี้  ลานีญายังปรากฏต่อเนื่อง จะส่งผลยาวไปถึงฤดูร้อน 

หน้าร้อนปีนี้  อากาศจะไม่ร้อนมากนัก  แต่...ปริมาณฝนเฉลี่ยจะสูงกว่าปกติ

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า การเกิดลานีญา...ปกติลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนหรือแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร จะพัดพาน้ำอุ่นจากทางตะวันออกของมหาสมุทรไปสะสมอยู่ทางตะวันตก 

ทำให้มีการก่อตัวของเมฆและฝน บริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิกเขตร้อน

บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก  หรือชายฝั˜งประเทศเอกวาดอร์...เปรู มีการไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่าง  ขึ้นไปยังผิวน้ำ  จะทำให้บริเวณดังกล่าวแห้งแล้ง

สถานการณ์เช่นนี้  เป็นลักษณะปกติ  เราจึงเรียกว่าสภาวะปกติ  หรือสภาวะที่ไม่ใช่เอลนีโญ แต่มีบ่อยครั้งที่ถูกมองว่า เป็นได้ทั้งสภาวะปกติ และลานีญา 

ความเป็นจริง...ลานีญาต่างจากสภาวะปกติ 

ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีกำลังแรงมากกว่าปกติ...พัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น 

ทำให้บริเวณแปซิฟิกตะวันตก  รวมถึงบริเวณตะวันออก...ตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชีย  ซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้ว  ยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปอีก 

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น  ส่งผลให้อากาศเหนือบริเวณดังกล่าว มีการลอยตัวขึ้น...กลั่นตัวเป็นเมฆและฝน 

ส่วนแปซิฟิกตะวันออกนอกฝังประเทศเปรู...เอกวาดอร์  ขบวนการไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่างไปสู่ผิวน้ำจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรง 

อุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเล จึงลดลงต่ำกว่าปกติ เช่น กรณีลานีญาที่เกิดขึ้นในปี 2531-2532 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ 4 องศาเซลเซียส 



ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา  ช่วงปี 2494-2543  มีสถิติการเกิดลานีญา 9 ครั้ง

ครั้งแรก ปี 2497-2499 เกิดลานีญารุนแรง...
ครั้งที่สอง ปี 2507-2508 ปานกลาง...
ครั้งที่สาม ปี 2513-2514 เกิดปานกลาง...
ครั้งที่สี่ ปี 2516- 2519 เกิดรุนแรง...
ครั้งที่ห้า ปี 2526-2527 เกิดอ่อน

ครั้งที่หก ปี 2527-2528 เกิดอ่อน ครั้งที่เจ็ด ปี 2531-2532 เกิดรุนแรง ครั้งที่แปด ปี 2538-2539 เกิดลานีญาอ่อน ครั้งที่เก้า ปี 2541 เกิดรุนแรงถึง 2543 ปานกลาง พ.ศ. 2543-2544 

จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ปรากฏการณ์ลานีญา  มีโอกาสเกิดขึ้น ได้ทุก 2-3 ปี...ปกติจะเกิดนาน 9-12 เดือน  แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี

“ลานีญา”  มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่า...น้องของเอลนีโญ สภาวะตรงข้ามเอลนีโญ  สภาวะที่ไม่ใช่เอลนีโญ  หรือฤดูกาลที่อุณหภูมิผิว น้ำทะเลเย็น

ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดก็ตาม ลานีญา ก็คือ...ลานีญา 

ช่วงปรากฏการณ์ลานีญา ผลจากการที่อากาศลอยขึ้น...กลั่นตัวเป็นเมฆ และฝนโดยตรง  ทำให้ประเทศออสเตรเลีย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  มีแนวโน้มมีฝนมาก มีน้ำท่วม

ขณะที่บริเวณแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกมีฝนน้อย...แห้งแล้ง 

นอกจากพื้นที่ในเขตร้อนได้รับผลกระทบแล้ว  ลานีญายังแผ่ อิทธิพลไปถึงแอฟริกาใต้  ทำให้ฝนมากกว่าปกติ  มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยมากขึ้นด้วย

ขณะที่บริเวณตะวันออกของแอฟริกาและตอนใต้ของอเมริกาใต้ มีฝนน้อยและเสี่ยงต่อการเกิดความแห้งแล้ง 

ต่อเนื่องไปถึงสหรัฐอเมริกา  ช่วงที่เกิดลานีญาจะแห้งแล้งกว่าปกติทางตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงปลายฤดูร้อนต่อเนื่องถึงฤดูหนาว...บริเวณที่ราบตอนกลาง ของประเทศในช่วงฤดูใบไม้ร่วง  และทางตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูหนาว แต่บางพื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันออกกลับมีฝนมากกว่าปกติ ในช่วงฤดูหนาว

ผลกระทบต่ออุณหภูมิ ช่วงลานีญาอุณหภูมิเขตร้อนโดยเฉลี่ยจะลดลง และมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ ส่วนในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณประเทศญี่ปุ่น เกาหลีจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ 

ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทร รวมถึงพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 

ส่วนทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ต่อเนื่องถึงตอนใต้ของแคนาดา จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ 

“ลานีญา มีผลกระทบต่อพายุหมุนเขตร้อน”

ดร.วิลเลียม เกรย์ มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด บอก 

“พายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก...อ่าวเม็กซิโก จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น...

สหรัฐอเมริกา  หมู่เกาะแคริบเบียนมีโอกาสเจอพายุเฮอริเคนมากขึ้นด้วย”

ผลกระทบของลานีญาต่อประเทศไทย  จากการเก็บข้อมูลเปรียบ เทียบ 50 ปี ช่วงปี 2494-2543 พบว่า ในปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ 

โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน...ต้นฤดูฝน  เป็นระยะที่ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนชัดเจน 

สำหรับอุณหภูมิ ลานีญามีผลกระทบชัดเจนมากกว่า พบว่า ทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู 

ลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรง  จะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น  ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้นด้วย

ผู้รู้ท่านหนึ่งให้ทรรศนะว่า  ตอนนี้ปรากฏการณ์ลานีญาถือว่ามีกำลังแรง อุณหภูมิน้ำในระดับผิวน้ำทะเลลดลงต่ำกว่า 2-3 ปีก่อนมาก  มีผลช่วยให้ ปรากฏการณ์ลานีญาแผ่ปกคลุมทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก
 

ผลก็คือ....ทำให้บริเวณดังกล่าวมีน้ำทะเลอุณหภูมิเปลี่ยน ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เห็นฝนตก และอากาศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“เข้าใจง่ายๆ...อุณหภูมิของทวีปเอเชียสับสน เดือนกุมภาพันธ์  อุณหภูมิ ต่ำกว่าปกติเป็นอย่างมาก  อาจจะมีลุ้นหนาวยาวไปถึงต้นเดือนมีนาคม...ถ้าเป็นฤดูร้อน  จะร้อนช่วงสั้นๆ ประเทศไทยจะเจอฝนฟ้าคะนองถี่ขึ้น”

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์ลานีญา  เป็นสัญญาณ ของโลกที่สื่อให้มนุษย์ต้องรู้สึกตระหนักมากขึ้น.

 
 
จาก                            :                       ไทยรัฐ    วันที่ 31 มกราคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #64 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 12:23:46 AM »


วิกฤติภัยธรรมชาติทำทั่วโลกป่วน


ไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่าศตวรรษของออสเตรเลียยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ล่าสุดคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตน่าจะพุ่งเกิน 200 ราย ส่วนที่อังกฤษกำลังเผชิญกับพายุโหมกระหน่ำ

ทำให้หลายพื้นที่ทางตอนใต้เสี่ยงจะเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง  เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ต้องประกาศปิดสนามบินหลังถูกพายุพัดถล่ม  ขณะเดียวกันที่ฟิลิปปินส์เกิดเหตุไม่คาดฝัน ปลาโลมากว่า 200 ตัวเกยตื้นที่อ่าวมะนิลา บรรดาชาวประมงต้องพยายามต้อนพวกมันกลับสู่ท้องทะเล

เมื่อวันอังคาร  ตำรวจแดนจิงโจ้ออกตามล่าตัวมือวางเพลิงก่อไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยนางคริสทีน นิกสัน   ผู้บัญชาการตำรวจรัฐวิกตอเรีย  เรียกปฏิบัติการสอบสวนเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศครั้งนี้ว่า  "ออเปอเรชั่นฟีนิกซ์" พร้อมประกาศตามล่าตัวผู้ก่อเหตุมาให้ได้

ไฟป่าเริ่มลุกลามไปทั่วรัฐวิกตอเรียตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์  ตำรวจสงสัยว่าน่าจะเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ที่อาจเป็นต้นเหตุของไฟป่าเกิดขึ้นแต่อย่างใด  จอห์น บรูมบี ผู้ว่าการรัฐ ระบุว่าผู้กระทำผิดจะต้องโทษข้อหาฆาตกรรมหรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วอยู่ที่  173  รายเป็นอย่างน้อย  แต่ทางการเกรงว่าตัวเลขอาจปรับเพิ่มทะลุ  200  ราย เนื่องจากขณะนี้ยังมีไฟป่าที่ยังควบคุมไม่ได้อีกถึง 25 จุด

เหตุไฟป่าครั้งนี้เพิ่มแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีเควิน  รัดด์ ของออสเตรเลีย ต้องแสดงจุดยืนที่หนักแน่นในการแก้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  เนื่องจากออสเตรเลียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ แถมกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศยังผลิตมาจากถ่านหิน

ก่อนหน้านี้   นายกรัฐมนตรีรัดด์ตั้งเป้าไว้ว่าออสเตรเลียจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เพียง 5% ภายในปี 2563

ส่วนที่อังกฤษ   หลายพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศกำลังเสี่ยงจะเผชิญน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลของพายุ  ขณะที่บ้านเรือนราว  3,000 หลังในเขตมิดแลนด์ส ภาคใต้ของเวลส์ และมณฑลกลอสเตอร์เชียร์ ยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้หลังหิมะตกหนักสุดในรอบ 18 ปีมานานนับสัปดาห์

ที่ฝรั่งเศสก็เช่นกัน   พายุที่ก่อตัวขึ้นในแอตแลนติกพัดโหมกระหน่ำหลายเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ  จนทำให้ทางการต้องประกาศปิดสนามบินนานาชาติในกรุงปารีส  และระงับการบริการเรือข้ามฟาก  ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าพายุอาจเพิ่มกำลังแรงขึ้นจาก  100  กิโลเมตร/ชั่วโมง  เป็น 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อีกด้านที่ฟิลิปปินส์   ชาวประมงและอาสาสมัครจำนวนมากต้องช่วยกันต้อนปลาโลมากว่า 200  ตัวกลับสู่ท้องทะเลลึกหลังพวกมันว่ายมาเกยตื้นที่อ่าวมะนิลา แต่โลมา 3 ตัวโชคร้ายตายก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือ

มัลคอล์ม  ซาร์เมียนโต  ผู้อำนวยการหน่วยงานประมงและทรัพยากรทางทะเล กล่าวว่า การเกยตื้นของโลมาฝูงใหญ่ขนาดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ  คาดว่าพวกมันอาจถูกรบกวนจากคลื่นความร้อนใต้ทะเลหรือแผ่นดินไหวใต้น้ำ "ปลาโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีประสาทหูสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใต้ทะเลได้อย่างรวดเร็ว" เขาอธิบายต่อ

อัลแบร์โต  เวนตูรินา  สัตวแพทย์ท้องถิ่น เปิดเผยว่า ได้มีการนำตัวอย่างซากปลาโลมา  2 ตัวที่ตายไปตรวจสอบ พบว่าทั้งสองตัวเป็นเพศเมียน้ำหนักราว  250-300  กิโลกรัม  และตายจากการจมน้ำ โลมาหนึ่งตัวในจำนวนนี้กำลังตั้งท้องและพบว่าที่หางของมันมีแหจับปลาพันอยู่  แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโลมาทั้งหมดว่ายขึ้นมาเกยตื้นเพราะสาเหตุใด

"พวกมันน่าจะเดินทางมาจากทางเหนือและกำลังมุ่งหน้าไปยังทะเลจีนใต้   ผมว่าเป็นไปได้ว่าพวกมันอาจหลงทาง" สัตวแพทย์คนเดียวกันระบุ.



จาก                                  :                             ไทยโพสต์     วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #65 เมื่อ: มีนาคม 18, 2009, 01:35:57 AM »


"วิกฤติภูมิอากาศ" นักวิทยาศาสตร์จะหาทางรับมือ หรือยอมจำนน?


เด็กๆชาวปาปัวนิวกินีผจญกับเหตุการณ์น้ำท่วมทางตะวันออกของปาปัวนิวกินีเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวน 7 ราย จากเหตุพายุฝนกระหน่ำจนแผ่นดินถล่ม (เอเอฟพี)

ในอีกราว 50 ปีข้างหน้า โลกของเราจะเป็นดังที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ณ ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานเพิ่มขึ้นมากมายว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกกำลังเผชิญหน้ากับมหันตภัยใหญ่หลวง เกินกว่าจะจินตนาการได้ แต่เราจะมีวีธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เวลานั้นมาถึงได้หรือไม่ ลองไปฟังความเห็นของนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติกัน
       
       "ยูเรกา!" ("eureka!") คำอุทานที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักเปล่งออกมาเมื่อยามตื่นเต้นดีใจที่เขาค้นพบอะไรใหม่ๆ แต่คำนี้คงใช้ไม่ได้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" หรือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" ในเวลานี้เป็นแน่ ดีไม่ดีอาจจะต้องตื่นตระหนกถึงอนาคตของโลกจากสิ่งที่พวกเขาค้นพบในวันนี้ก็เป็นได้
       
       "วิทยาศาสตร์มักทำให้ตื่นเต้นได้เสมอ เมื่ออคุณค้นพบบางสิ่ง แต่ถ้าคุณหยุดและพิจารณาที่ความหมายโดยนัยของสิ่งที่ที่กำลังจะมาถึงมนุษยชาติ จะพบความน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า ผมมีนักศึกษาในทีมที่วิทยาลัย พวกเขาจะต้องตั้งตารอคอยอะไรในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือ?" คอนราด สเตฟเฟน (Konrad Steffen) หัวหน้าสถาบันความร่วมมือเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Cooperative Institute for Research in Environmental Sciences: CIRES) ในเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นเป็นเชิงตั้งคำถาม ในระหว่างการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อสัปดาห์ก่อน
       
       ในรายงานพิเศษของสำนักข่าวเอเอฟพีระบุไว้ว่า นั่นอาจจะยังไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ ข่าวร้ายเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องที่มีการพูดถึงกันในที่ประชุมว่าในศตวรรษหน้าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างน้อย 2 เท่า และประชากรโลกหลายร้อยล้านคนเสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะดังกล่าวด้วย
       
       สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้นักวิทยาศาสตร์มากที่สุด ส่วนใหญ่มักพูดกันว่าคือ ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่สามารถสื่อสารออกไปสู่สาธารณชนให้เข้าใจกันในวงกว้างได้ว่า โลกขยับเข้าใกล้ภัยพิบัติใหญ่หลวง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอาอากาศอย่างไร ซึ่งมันเหมือนราวกับว่า นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าระเบิดลูกใหญ่กำลังทำงานและจะระเบิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว แต่เขาไม่สามารถหาถ้อยคำที่ถูกต้อง ออกมาร้องเตือนประชาชนได้ ทั้งที่พวกเขาอาจจะสามารถปลดชนวนระเบิดออกได้


พายุหิมะถล่มทางตะวันออกของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว และการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศต้องหยุดชั่วคราว ในภาพเป็นบริเวณด้านหน้าทำเนียบขาว กรุงวอชิงตันดีซี (เอเอฟพี)
       
       ด้านคลอดี ลอเรียส (Claude Lorius) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจากฝรั่งเศสก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่รู้สึกหมดหวังกับการสื่อสารข้อมูลถึงสาธารณชน ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆที่พบหลักฐานของการเกิดภาวะโลกร้อนว่าเป็นเรื่องจริง โดยตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยในปี 2530
       
       "ในตอนแรกผมคิดว่า เราอาจจะโน้มน้าวผู้คนได้ แต่มันเกิดความเชื่องช้าอย่างน่ากลัว ผมกลัวว่าหากสังคมไม่กระตือรือล้นที่จะต่อกรกับภาวะวิกฤติดังกล่าว ผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคงอยู่อย่างหมดอาลัยตายอยาก" ลอเรียส กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี
       
       ขณะที่จอห์น เชิร์ช (John Church) ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับน้ำทะเลของศูนย์วิจัยความร่วมมือด้านระบบนิเวศน์และสภาพอากาศแอนตาร์กติก (Antarctic Climate and Ecosystem Cooperative Research Centre) เมืองโฮบาร์ต รัฐทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ก็รู้สึกหม่นหมองในเรื่องประสิทธิภาพโดยรวมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว
       
       "บางทีสังคมอาจตระหนักได้ถึงความรุนแรงของปัญหา แต่มั่นใจได้เลยว่ายังไม่ได้สำนึกว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนสักแค่ไหน และถ้าหากว่าคุณกำลังมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งอาจรวมทั้งตัวผมด้วย มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมาได้ คุณกำลังจะทำอะไรต่อไปล่ะ? ตัดมือของคุณออกแล้วก็ยอมจำนนอย่างนั้นรึ? นั่นมันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเลย" เชิร์ช แสดงความเห็นอย่างออกรสชาติ
       
       "พวกเราจะต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ถ้าหากว่าเรายังต้องการรักษาสเถียรภาพของสภาพภูมิอากาศ และหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่ไม่พึงปารถนา และมันก็ยังพอเป็นไปได้ที่เราจะทำแบบนั้น" ความเห็นของ เจมส์ แฮนเซน (James Hansen) ผู้อำนวยการสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ (Goddard Institute for Space Studies) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)


ประชาชนในเขตทางตอนใต้ของซูดานต้องสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้อย่างยากลำบาก ท่ามกลางแดดร้อนจัดและแห้งแล้ง (เอเอฟพี)
       
       ผลกระทบที่ไม่พึงปารถนาตามความหมายของแฮนเซนคือ ภัยพิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งอย่างหนักหนาสาหัส พายุเฮอริเคนที่รุนแรงยิ่งกว่า รวมถึงโรคระบาด และผู้ลี้ภัยทางสภาพอากาศอีกนับหลายสิบล้านคน และฉากที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือการที่แผนที่โลกเปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหลายสิบเมตร และในปี 2593 ดาวเคราะห์โลกดวงนี้จะสามารถรักษาชีวิตมนุษย์ไว้ได้เพียงส่วนน้อยนิดจากทั้งหมดกว่า 9,000 ล้านคน
       
       วิลเลียม โฮเวิร์ด (William Howard) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัสมาเนีย (University of Tasmania) ออสเตรเลีย กล่าวว่าเขากังวลว่า ผู้คนจะไม่สามารถปฏิบัติกันได้ เมื่อวิเคราะห์ในทางจิตวิทยา เพราะความร้ายกาจของปัญหาที่จะเกิดขึ้น และดีไม่ดีอาจทำให้พวกเขากลับสู่สภาพเดิม คือการไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง
       
       "ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนมาตรของเวลาหลายร้อยในจำนวนหลายพันปี ซึ่งผมทุ่มเทเวลาอย่างหนักเพื่อการนี้ ผมพบว่าสัตว์ทะเลขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าฟอแรม (foram) มันกำลังค่อยๆสูญเสียความสามารถในการดูดซับคาร์บอนที่มีอยู่มหาศาลในบรรยากาศ ซึ่งได้เขียนรายงานเรื่องนี้ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว" โฮเวิร์ด กล่าว
       
       ส่วนโจฮัน ร็อคสตรอม (Johan Rockstrom) ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) ประเทศสวีเดน กล่าวว่าความเสี่ยงอยู่ตรงที่วิทยาศาสตร์ค่อยๆ ทยอยเผยให้เห็นหลักฐานชัดเจนมากขึ้นๆ ถึงการที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับมหันตภัยที่อยู่ปลายสุด มันจะไปกระตุ้นให้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่สามารถย้อนกลับได้ เหมือนกับว่าคุณมุดหัวลงไปในทราย และเปลี่ยนปฏิกิริยาจากที่เคยปฏิเสธกลายเป็นความสิ้นหวัง


กลุ่มเมฆหมอกและควันไฟจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือน ก.พ. 52 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหลาย (เอเอฟพี)
       
       อย่างไรก็ดี เจมส์ เลิฟล็อค (James Lovelock) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษวัย 90 ปี กล่าวว่าท่ามกลางการประชุมที่กำลังดำเนินไป ราวกับถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกที่มองไม่เห็นของการเปิดเผยการพยากรณ์สิ่งผิดปรกติทางด้านวิทยาศาสตร์โลก ซึ่งเลิฟล็อคถือเป็นผู้ทำลายภาพพจน์ในเรื่องภาวะโลกร้อนตัวจริง โดยเขาบอกให้คำนึงว่าโลกประพฤติตัวเองโดยลำพัง มีระบบควบคุมตัวเองที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งเขาอ้างว่าเป็น "กฏแห่งเกอา" (Gaia principle)
       
       ทั้งนี้ ในหนังสือเรื่อง "เดอะ แวนิชชิง เฟซ ออฟ เกอา" (The Vanishing Face of Gaia) ของเลิฟล็อค ที่เพิ่งวางแผงเมื่อไม่นานมานี้ เขากล่าวไว้ว่า "พวกเราผ่านจุดที่ไม่มีทางหวนกลับมาแล้ว และตอนนี้มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะรักษาดาวดวงนี้ไว้ได้เหมือนอย่างที่เราๆรู้กันอยู่" และ "ความพยายามที่จะรักษาระดับคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิไม่ให้สูงไปกว่านี้ ไม่ได้ดีไปกว่าการรักษาโลกด้วยการแพทย์ทางเลือก"
       
       บางทีนักวิทยาศาสตร์กว่าหลายคนที่ให้สัมภาษณ์มานั้นอาจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เลิฟล็อคพูดนั้นผิด และไม่ต้องพูดเลยก็ได้ว่า พวกเขารู้อยู่แล้วว่าเลิฟล็อคผิด บนฐานของวิทยาศาสตร์



จาก                                :                           ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 17 มีนาคม 2552 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: 1 ... 3 4 [5]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง