กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 01, 2024, 08:20:20 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สิ่งที่มากับ…ปลาดิบ  (อ่าน 1538 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: กันยายน 22, 2007, 12:23:37 AM »


สิ่งที่มากับ…ปลาดิบ                   


การกินปลาดิบต้องระวัง

       ปัจจุบันคนไทยนิยมรับประทานปลาดิบกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลของอาหารญี่ปุ่น ด้วยรสชาติและหน้าตาของอาหารที่ดูสะดุดตาชวนให้น่ารับประทาน ทำให้แทบจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ไม่เคยลิ้มลองอาหารจำพวกข้าวปั้น ซูชิ ซาซิมิที่มีปลาดิบเป็นส่วนประกอบ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในปลาดิบนี้มีพยาธิ... พิษภัยที่หลายคนคาดไม่ถึง

           
ปลาดิบ
       
       ปลาดิบที่เรานำมาบริโภคนั้น มี 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ปลาดิบน้ำจืด และ ปลาดิบน้ำเค็ม (ปลาดิบทะเล) ซึ่งปลาดิบทั้ง 2 ชนิด มีเชื้อโรคที่แอบแฝงมาแตกต่างกัน ปลาดิบน้ำจืดจะพบพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิใบไม้ลำไส้ ฯลฯ สำหรับปลาดิบน้ำเค็มนั้น คนส่วนมากมักคิดว่าไม่มีพยาธิ แต่ความจริงแล้ว ปลาน้ำเค็มอาจพบตัวอ่อนของพยาธิอะนิซาคิส ซิมเพลก(Anisakis simplex) ซึ่งปลาดิบน้ำเค็มที่เรานำมาประกอบอาหารนั้นอาจมีการปนเปื้อนของพยาธิชนิดนี้

           
รู้จักพยาธิอะนิซาคิส ซิมเพลก
       
       พยาธิอะนิซาคิส ซิมเพลก (Anisakis simplex) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ระยะตัวอ่อนที่ติดต่อสู่คนจะอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซม. กว้างประมาณ 0.3 - 0.5 มม. สีขาวใสมีลายตามขวาง บริเวณส่วนปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้ปากที่เป็นหนามขนาดเล็กบริเวณหัวในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งสามารถคงทนต่อน้ำ เกลือ และแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี
       

ปลาดิบ

       
อาการผิดปกติ
       
       เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่คน บริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดเล็ก ขณะเคลื่อนที่จะไชในกระเพาะอาหารและลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กและอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้เป็นชั่วโมงหรืออาจเป็นวันก็ได้ และถ้าหากพยาธิชนิดนี้ฝังตัวอยู่ในทางเดินอาหาร นาน ๆ จะทำให้เกิดลักษณะของก้อนทูมขึ้นในทางเดินอาหารได้ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อพยาธิ
       
       
การวินิจฉัยและการรักษา
       
       การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติการรับประทานปลาดิบทะเลร่วมกับอาการผิดปกติที่กล่าวข้างต้น และยืนยันการวินิจฉัยและรักษาโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร หากพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ แพทย์จะใช้กล้องส่องทางเดินอาหารคีบตัวพยาธิออก เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระ มันจะเกาะติดแน่นกับกระเพาะอาหารและลำไส้ และระยะที่พบในทางเดินอาหารนั้นเป็นระยะตัวอ่อน ซึ่งไม่ออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ
       
       ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้ แต่จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าทีมวิจัย โตชิโอะ ลิยาม่า พบว่า วาซาบิ มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิชนิดนี้ได้ แต่รายละเอียด ขนาด และปริมาณการใช้ฆ่าพยาธิยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

   
พยาธิอะนิซาคิส 
 
       
รับประทานปลาดิบอย่างไรไม่เป็นพยาธิ
       
       ก่อนอื่นต้องแน่ใจว่า ปลาดิบที่นำมาทำอาหารนั้นเป็นปลาทะเล เพราะบางครั้งผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำปลาน้ำจืดหลายชนิดมาทำอาหาร ทำให้เกิดโรคพยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ หรือ พยาธิใบไม้ลำไส้ ซึ่งมีความรุนแรงเช่นเดียวกับการติดโรคพยาธิอะนิซาคิส ซิมเพลก
       
       การแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน หรือ ผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้
       
       นอกจากพยาธิบางชนิดที่พบในปลาดิบแล้ว ยังพบแบคทีเรียบางชนิด และเชื้อไวรัสตับอักเสบเอในอาหารดิบด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขอนามัยและความสะอาดของขั้นตอนการเตรียมอาหาร ดังนั้นถ้าคิดจะรับประทานปลาดิบ ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าขั้นตอนการประกอบอาหาร สะอาด ถูกหลักอนามัยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อหลายชนิดจากปลาดิบ
 

แพทย์ใช้กล่องส่องทางเดินอาหารคีบพยาธิออก



จาก           :           ผู้จัดการออนไลน์  คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช โดย:พญ.พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา  วันที่ 20 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.028 วินาที กับ 20 คำสั่ง