Save Our Sea

รายงานการพบสัตว์และพืชหายากในน่านน้ำไทย => โลมาและวาฬ => ข้อความที่เริ่มโดย: สายน้ำ ที่ สิงหาคม 15, 2006, 04:16:14 PM



หัวข้อ: โลมาสีชมพูทะเลขนอมวิกฤต
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ สิงหาคม 15, 2006, 04:16:14 PM
 โลมาสีชมพูทะเลขนอมวิกฤต ป่วยเป็นโรคปอดตายปีละ30 ตัว

(http://www.matichon.co.th/newsphoto/matichon/lif02150849p1.jpg)

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับสายการบินนกแอร์ และ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช จัดแถลงข่าวกิจกรรมอนุรักษ์โลมาทะเลขนอมและเกาะกระ น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยนายสมชัย เพียรสถาพร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะรักษาการอธิบดี ทช.กล่าวว่า จากการที่ ทช.ส่งนักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลโลมาสีชมพูหรือโลมาหลังโหนก พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เป็นสัตว์ประจำถิ่นในทะเลขนอมอาศัยอยู่ตลอดทั้งปี หากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลยังอุดมสมบูรณ์ก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าระบบนิเวศชายฝั่งทะเลเสื่อมลง วันข้างหน้าโลมาหลังโหนกกลุ่มนี้อาจจะอพยพหนีไปอยู่ที่อื่นได้

นายสมชัยกล่าวว่า ที่เกาะกระ อ.ขนอม ยังมีแหล่งอนุรักษ์เต่าทะเล และแหล่งปะการังแห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่แนวปะการังทั้งหมด 263 ไร่ อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีเต่าตนุขึ้นมาวางไข่กว่า 100 รัง เมื่อกลางปีที่ผ่านมา พบไข่เต่าตนุออกเป็นตัว 93 ตัว ปล่อยลงทะเลไป 54 ตัว นำไปอนุบาลที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง 39 ตัว อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า มีคนบางกลุ่มพยายามเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัวเช่น ลักลอบนำอวนลากอวนรุนรวมทั้งอวนที่มีตาถี่เข้าไปลักลอบจับสัตว์น้ำ ทำให้ปะการังเสียหาย ปลากะตักซึ่งเป็นอาหารของโลมาร่อยหรอลงมาก จึงสั่งการให้เรือลาดตระเวนชายฝั่งเฝ้าและกวดขันกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา กิจกรรมอนุรักษ์ครั้งนี้จะทำความสะอาดหาด วางทุ่นผูกเรือในเขตปะการัง ปลูกไม้ป่าชายเลน เก็บขยะใต้ทะเล จัดค่ายเยาวชนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทะเลซึ่งจะทำอย่างต่อเนื่อง

นายสุพจน์ จันทรศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ทช.กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยโลมาหลังโหนก ตั้งแต่พื้นที่ทะเลดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ถึงทะเลสาบสงขลา เป็นเวลา 2 ปี พบว่ามีโลมา 2 ชนิดคือ โลมาหลังโหนกและโลมาอิระวดี โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลขนอมพบว่า มีโลมาหลังโหนก 3 ฝูงๆละ 3-5 ตัว มี 1 ฝูง หากินอยู่บริเวณหน้าเกาะกระ ช่วงเช้ามักจะออกมาว่ายน้ำเล่นและหาอาหารบริเวณหน้าชายหาด

"โลมาหลังโหนกนี้มีอายุไข 50-60 ปี แรกเกิดจะมีสีเทาเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ผิวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นจางลงและเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปผิวจะเริ่มกลายเป็นสีขาวอมชมพู ตัวไหนมีสีขาวอมชมพูจัดแสดงว่าอายุมาก ตัวเต็มวัยยาวถึง 2.3 เมตร หนัก 150-200 กิโลกรัม ปากเรียวยาว ครีบหลังมีฐานครีบกว้างเกือบ 1 ใน 3 ของหลัง นิสัยค่อนข้างระมัดระวัง ไม่ชอบว่ายน้ำเข้าใกล้ หรือนำหน้าเรือ แต่ชอบตะแคงตัวว่ายน้ำและหางตีน้ำ โลมากลุ่มนี้น่าเป็นห่วงเพราะระบบนิเวศชายฝั่งเสื่อมลงจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่ละปีนั้นมีโลมาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งอ่าวไทยและอันดามันป่วยเป็นโรคปอดจำนวนมาก บางตัวว่ายมาเกยตื้น ชาวบ้านเก็บมาให้ทางศูนย์รักษาตายบ้าง รอดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตาย ปีละประมาณ 20-30 ตัว" นายสุพจน์กล่าว


********************************************
ที่มา : น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2549