แผ่นดินที่หายไป

<< < (7/9) > >>

สายน้ำ:

น้ำเซาะฝั่ง

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรอบบริเวณอ่าวไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น

มีการคำนวณด้วยว่า ถ้าอัตราการกัดเซาะยังอยู่ในระดับปัจจุบัน ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า พื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการจะถูกน้ำทะเลเซาะหายไป 47,000 ไร่

เช่นเดียวกันกับที่ในอีก 50 ปีข้างหน้า น้ำทะเลจะกัดเซาะแหลมตะลุมพุกในจังหวัดนครศรีธรรมราชหดหายไปหมดสิ้น

สภาพน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงจึงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยจะต้องเอาใจใส่ติดตาม และมีส่วนร่วมช่วยกันฟื้นฟูแก้ไข

เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวหลายประการ เกิดขึ้นเพราะการกระทำของคนนี่เอง



รายงานดังกล่าวระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสภาพน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงนั้นมีด้วยกันหลายประการ ตั้งแต่ คลื่นและลมทะเล อันเป็นปัจจัยธรรมชาติ

ไปจนกระทั่งถึงปริมาณป่าชายเลนที่ลดลง เพราะการถูกบุกรุกทำลาย การสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ที่ทำให้การพัดพาตะกอนบริเวณปากแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาปริมาณน้ำทะเลเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น

โดยแนวทางแก้ไขที่รายงานดังกล่าวเสนอมี 2 ประเด็นหลักๆ ก็คือ การสร้างเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำทะเล เพื่อลดการซัดทำลายชายฝั่งของคลื่นและลมทะเลซัดให้ลดต่ำลงกว่าระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอีกประการหนึ่งก็คือการเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมามีปริมาณมากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยนั้นพบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ปริมาณป่าชายเลนที่เคยมีอยู่กว่า 2.4 ล้านไร่ลดลงไปกว่าครึ่ง



และในข้อเท็จจริงก็คือปริมาณป่าชายเลนนั้นลดลงอย่างรวดเร็วยิ่งในช่วง 15 ปีหลัง ซึ่งมีการบุกรุกทำลายเพิ่มขึ้นมากเพราะการแสวงหาพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ขณะที่ผลได้รับเป็นตัวเงินยังวัดได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่น้อยหมดตัวหรือสูญเงินไปกับโครงการดังกล่าว แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนอันเนื่องมาจากการสูญเสียป่าชายเลนนั้นชัดเจนยิ่ง

นอกเหนือไปจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ปริมาณสัตว์ทะเลชายฝั่งที่เคยอาศัยป่าชายเลนเป็นโรงเพาะเลี้ยงและสถานอนุบาลตามธรรมชาติ ก็พลอยลดลงไปอย่างชัดเจนอีกด้วย

ในสภาพที่ปัญหาอันเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเองชัดเจนเช่นนี้ มีคำถามว่าสังคมไทยพร้อมจะเปลี่ยนแปลงแนวทางของ การพัฒนา" ไปสู่วิถีที่ยั่งยืนกว่าแล้วหรือไม่

น้ำทะเลกัดเซาะและสัตว์น้ำที่ลดลง เป็นเพียงการเตือนเบื้องต้นจากธรรมชาติเท่านั้น


จาก :  คอลัมน์ บทบรรณาธิการ   ข่าวสด  วันที่ 6 มกราคม 2550

สายน้ำ:

ก.ทรัพยาฯเร่งแก้ คลื่นเซาะชายฝั่ง
 
จากกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเป็นห่วงสถานการณ์จากเหตุการณ์คลื่นลมแรงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และทรงแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และทรงมีพระราชดำริให้หาทางป้องกันในระยะยาวนั้น เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทส. ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งจัดทำข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยเร็วแล้ว พร้อมกันนี้ จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมดด้วย เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบางจุดก็ไม่อาจต้องใช้โครงสร้างถาวร เช่น การทำเขื่อนกั้นคลื่น เพราะต้องดูโครงสร้างทางด้านธรณีและปัจจัยอื่นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย เพราะห่วงว่าแทนที่จะแก้ปัญหา จะยิ่งเร่งให้เกิดการกัดเซาะหรือไปกระทบจุดอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของพื้นที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการกัดเซาะรุนแรง เฉลี่ยปีละ 1-5 เมตร อีกทั้งลักษณะของหาดทรายที่ทอดเป็นแนวยาว การดำเนินการจึงต้องใช้หลักวิชาการ และต้องสำรวจผลกระทบอย่างละเอียดว่าจะใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต 

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ทธ.ได้สำรวจและติดตามผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบว่ามีปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็น 4 พื้นที่ได้แก่ 1. พื้นที่อ่าวไทยภาคใต้ตอนบน 3 จังหวัด คือสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา มีพื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 101 กม. ขณะนี้ ทธ.อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และออกแบบก่อสร้างเบื้องต้นแล้วเสร็จใน 6 พื้นที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรง พร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้าง 2. บริเวณชายฝั่งอันดามันของจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ได้ประเมินการฟื้นตัวของชายฝั่ง พบว่ามีชายหาดที่ถูกกัดเซาะรุนแรง ประกอบด้วย แหลมปะการัง อ่าวคลองเรียน หาดบางเนียง จ.พังงา และอุทยานสิรินารถ และหาดเลพัง จ.ภูเก็ต 3. บริเวณสุสานหอยแหลมโพธิ์ จ.กระบี่ และบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาจัดทำแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซา และสุดท้าย 4. บริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม. และชายฝั่งสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร มีพื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 82 กม. 

นายอภิชัยกล่าวอีกว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะยอมรับว่า ที่ผ่านมา แต่ละหน่วยงานอาจจะต่างคนต่างทำ แต่ถ้ามีการประสานงานและมีการแชร์ข้อมูล ร่วมกัน ก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดขึ้น เพราะยอมรับว่าสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2549 แถวอ่าวไทยฝั่งตะวันตกมีคลื่นผิดปกติรุนแรงกว่าทุกปี ทำให้การกัดเซาะยิ่งรุนแรงมาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีปัจจัยจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และความแปรปรวนของภูมิอากาศที่ส่งผลให้คลื่นแรง
 
 
จาก    :    ไทยรัฐ  วันที่ 10 มกราคม 2550

สายน้ำ:

ทะเลไทยในอนาคต - กัดเซาะชายฝั่ง   :   โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังได้รับเชิญปุ๊บก็นัดประชุมกันปั๊บ ภายในคณะอนุกรรมาธิการฯประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายความสามารถ รวมถึงท่านอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คนใหม่ คุณนิศากร โฆษิตรัตน์ ผู้ที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่ครั้งท่านดำรงตำแหน่งในสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

เราคุยกันหลายเรื่องครับ รวมทั้งข้อมูลสรุปล่าสุดจาก ทช.ก่อนตบท้ายว่าเรามีเวลาอีกเก้าเดือน (มั้ง...หากไม่เกิดอะไรซ้อนๆ) ในการทำโน่นนี่ ที่แบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ อันได้แก่ การผลักดันกฎหมายของ ทช. และการวางรากฐานด้านการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ใครต่อใครพูดถึงกันบ่อยเหลือเกิน แต่งานที่ทำจริงจังแทบไม่คืบไปไหน (ช้ากว่าหอยทากคลาน ด้วยงบประมาณแต่ละปีแสนจิ๊บจ๊อย น้อยกว่างบฯซื้อต้นไม้ริมถนนยาวสี่ห้ากิโลเมตร)

ผมจึงถือโอกาสนำบางเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง โดยทำนายทายทักถึงทะเลในอนาคต ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตามประสาบทความสิ่งแวดล้อมอินเทรนด์ ต้องไม่พูดถึงปัจจุบัน (เพราะหมดหวัง) พูดถึงอนาคตดีกว่า (เพราะน่ากลัวดี จะได้เอาไว้ขู่คน)

เริ่มต้นด้วยการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะมี e-mail วิ่งพล่าน อีกห้าปีสิบปีขวานทองจะขาดออกจากกัน เรามาดูความจริงดีกว่า อันว่าชายฝั่งของเมืองไทย โดยเฉพาะหาดทราย กำลังพังทลายลงทะเล จากข้อมูลพบว่า 12 จังหวัดในอ่าวไทยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากใจ พื้นที่ชายฝั่งยาวกว่า 180 กิโลเมตร หรือร้อยละ 11 ของอ่าวไทยทั้งหมด กำลังถูกทะเลยึด ด้วยอัตราเกิน 5 เมตรต่อปี บางแห่งสูงถึงปีละ 12 เมตร หรือกว่านั้น เอาแค่คลื่นยักษ์ถล่มหาดไทย หลายแห่งสูญเสียที่ดินริมทะเลไป 6-8 เมตร ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน

หากเราลองคิดตัวเลขความสูญเสีย เอา 5 เมตรคูณด้วย 180,000 เมตร ได้ตัวเลข 900,000 ตารางเมตร แล้วก็...ที่ดินติดทะเลนะครับ คิดเอาเองแล้วกันว่าเค้าขายราคาเท่าไหร่ ตัวเลขนี้คิดแบบน้อยสุด เพราะความจริง ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะรุนแรง เกินกว่า 5 เมตรต่อปีทั้งนั้น

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากสองสาเหตุ ถ้าเป็นธรรมชาติเราต้องโทษลมมรสุมและโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น แต่มนุษย์นี่แหละตัวดี เราก่อสร้างรุกทะเล ถมทะเล สร้างเขื่อนดักทรายเปิดร่องน้ำ สร้างถนนสร้างสวนริมทะเล ปิดกั้นการไหลของทราย ในฤดูมรสุมทรายถูกดึงหายไปตามธรรมชาติ เข้าฤดูลมเงียบ แทนที่จะกลับมา ทรายหายจ้อย เดือดร้อนไปตามกัน

เดือดร้อน? แล้วทำไงเอ่ย เราสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เพื่อป้องกันการกัดเซาะ ตามแต่จะคิดออก บ้างใช้เขื่อน บ้างสร้างแท่งคอนกรีตออกไปวางด้านนอก บ้างใช้เสาไฟฟ้า ด้วยวิธีการหลากหลาย เราทำในอ่าวไทยไปแล้ว 87.7 กิโลเมตร ในอันดามัน 12.5 กิโลเมตร เย้...ดีใจ ยังเร็วไปมั้ง

คำว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้หมายความว่าสร้างเสร็จแล้วปัญหาจะหาย สร้างแล้วปัญหามีมากขึ้น ตัวอย่างถมไป ถ้าว่ากันตามจริง ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เป็นหนึ่งในสุดยอดความลำบากของการแก้ไข หลายประเทศประสบปัญหาเดียวกัน หลายประเทศแก้ไขด้วยเทคนิคเดียวกัน และหลายประเทศเจ๊งไปตามๆ กัน อ๋อย...

ลองดูสาเหตุกับดูการแก้ปัญหาสิครับ สาเหตุคือสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทางแก้คือสร้างอะไรให้รุกล้ำหนักขึ้น ทั้งที่ทางแก้จริงคือเอาสิ่งรุกล้ำออกไป แต่ทางนั้นทำยาก คนเส้นใหญ่มีเยอะ เมื่อเราไม่สามารถป้องกันคนมีเส้น หรือบางทีภาครัฐก็สร้างซะเองเลย จู่ๆ เราจะมารื้อถอน ยากหน่อยนะ สู้สร้างโน่นนี่ลงทะเลไม่ได้ ยังไงเสียทะเลก็ไม่โวยวายอยู่แล้ว

ทะเลไม่โวย แต่ทะเลทำเฉยครับ นายสร้างได้สร้างไป คิดเรอะจะกันชั้นได้ ว่าแล้วก็กัดๆๆ เซาะๆๆ การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ส่วนใหญ่จึงลงเอยด้วยความล้มเหลว บางครั้งถึงขั้นกัดเซาะหนักยิ่งขึ้น

สำหรับคุณผู้อ่านที่อยู่กรุงเทพฯ คิดว่าไม่เกี่ยวกับเราซะหน่อย ผมอยากกระซิบว่า กรุงเทพฯก็ติดทะเลนะครับ รวมทั้งเขตใกล้เคียงกรุงเทพฯ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่ไปแล้ว ทั้งสมุทรสาคร ทั้งสมุทรปราการ

การกระซิบยังมีต่อ ข้อมูลยืนยันชัดเจน แถวนี้แหละครับ โดนกัดเซาะหนักสุด ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ปีละห้าเมตรน้อยไป บางแห่งสูงถึงสิบเมตรหรือกว่านั้น

คุณบางคนอาจคิดว่าเว่อร์เกินไปมั้ง แต่นี่เขียนแบบถนอมน้ำใจคุณผู้อ่านที่อยู่ใกล้ทะเล ผมเคยคุยกับเพื่อนที่ทำด้านนี้โดยตรง สร้างโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ คำนวณชายฝั่งของแถบนี้ในอนาคต ห้าปี...สิบปี...ห้าสิบปี ผลลัพธ์น่าสะพรึง โชคดีบ้านผมอยู่เยื้องไปทางเหนือกรุงเทพฯ คงอยู่ได้อีกสักเจ็ดแปดสิบปี

ถึงเวลาทำนายอนาคต เท่าที่ผ่านมาทั้งหมด จากการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม นายสร้างลงทะเลได้ ชั้นก็สร้างได้ อีกทั้งการแก้ปัญหา บางครั้งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ผมทำนายว่าการกัดเซาะชายฝั่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านตาดำๆ ก็จะซวยต่อไปเรื่อยๆ ที่ดินเป็นมรดกจากปู่ย่าตายาย เก็บไว้หากิน หมดเหี้ยนบ๋อแบ๋ จะไปฟ้องร้องกับใครเค้าก็ไม่ได้ จะลงทุนเป็นล้าน สร้างเขื่อนกั้นที่ก็ไม่มีตังค์ หรือสร้างแล้วดันเขื่อนถล่ม ต้องซ่อมแซมทุกปี เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าส่งลูกเรียนหนังสือไม่รู้กี่เท่า

อนาคตเปลี่ยนแปลงได้ แต่เชื่อเถิด...ไม่เปลี่ยนหรอก ตราบใดที่เรายังไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หยุดการรุกชายฝั่งอย่างเฉียบขาด ไม่ว่าจะเป็นโครงการภาครัฐหรือภาคเอกชน รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลงไป

จะเปลี่ยนไม่เปลี่ยน ฝากให้คุณติดตามสถานการณ์ต่อไป พบกันคราวหน้า ผมจะทำนายอนาคตเรื่องอื่นต่อ ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล การประมง การท่องเที่ยว บทความชุดนี้เขียนได้ยาวเชียวครับ


จาก    :    มติชน  วันที่ 14 มกราคม 2550

สายน้ำ:

ทส.สนองพระราชดำริ แก้คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง สั่งทุกหน่วยเร่งเครื่อง เช็คข้อมูลวางแผนสกัด

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานและร่วมกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล สนองพระราชดำริในหลวง
นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเป็นห่วงสถานการณ์จากเหตุการณ์คลื่นลมแรงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พร้อมทรงแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เบื้องต้นจึงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณีประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งจัดทำข้อมูลและแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยเร็ว เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบางจุดอาจไม่ต้องใช้โครงสร้างถาวร โดยจะต้องมีการดูโครงสร้างด้านธรณีและปัจจัยอื่นๆประกอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่จุดอื่นๆรวมถึงต้องคำนึงปัญหาที่อาจเกิดในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจและติดตามผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามันของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงตามธรรมชาติ แบ่งเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่อ่าวไทยภาคใต้ตอนบนบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยมีพื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 101 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและออกแบบก่อสร้างเบื้องต้นแล้วเสร็จใน 6 พื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรงและพร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้าง 2.พื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามันของ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต 3.บริเวณสุสานหอยแหลมโพธิ์ จ.กระบี่ และบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะ 4.บริเวณทะเลชายฝั่งบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และชายฝั่งสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ซึ่งมีพื้นที่กัดเซาะ คิดเป็นพื้นที่ 82 กิโลเมตร


จาก    :    แนวหน้า  วันที่ 17 มกราคม 2550

สายน้ำ:

1 แสน 1 หมื่นไร่ แผ่นดินไทยที่หายไป    :   ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ


แผนที่ภูมิศาสตร์โบราณเมื่อ 18.000 ปีที่แล้ว

ไม่ใช่เรื่องของการเสียดินแดน

ไม่ใช่เรื่องของการสู้รบปักปันดินแดนให้แก่ใคร

แต่เป็นเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์รายวันได้เสนอข่าวใหญ่ถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะหายไปเป็นบริเวณกว้าง แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครตระหนักถึงความรุนแรง ไม่เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะมานั่งถามกันว่าแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน

น่าตกใจที่ชั่วเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ในประเทศไทยหายไปแล้วกว่าแสนไร่ เท่ากับพื้นที่หายไปกว่าครึ่งค่อนของพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ที่อันตรายมากที่สุดและอยู่ใกล้เมืองคือที่ จังหวัดสมุทรปราการ และที่บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราการกัดเซาะกว่า 25 เมตรต่อปี และ 20-25 เมตรต่อปี ตามลำดับ


พื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ

ตัวเลขเหล่านี้ รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจวิจัยมานานกว่า 10 ปี และได้เขียนรายงานไว้อย่างละเอียด


หลักเขตบางขุนเทียนอยู่กลางทะเล

รศ.ดร.ธนวัฒน์เล่าว่า ไม่เพียงชายฝั่งทะเลทั้งที่สมุทรปราการและบางขุนเทียนจะมีอัตราการกัดเซาะมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ชายฝั่งร่นเข้ามาทุกขณะ เช่น ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ฯลฯ ซึ่งการกัดเซาะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายอำเภอในแต่ละจังหวัด

แม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาดำเนินการ แต่ไม่ได้เป็นไปในภาพรวม เพราะการทำเครื่องกีดขวางเพื่อลดกระแสความรุนแรงของคลื่นในที่หนึ่ง อาจส่งผลกระทบในอีกที่หนึ่ง การไม่ประสานงานร่วมกัน จึงย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

รศ.ดร.ธนวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า ประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 2,667 กิโลเมตร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เกิดขึ้นในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันทั้ง 23 จังหวัด


แนวป้องกันชายหาด บ้านไทรย้อย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ทำให้ชายหาดเสียหายรุนแรง

ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจากจังหวัดตราด จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลชายแดนภาคใต้จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น 1,653 กิโลเมตร ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีจุดวิกฤตด้านการกัดเซาะ 22 จุด รวมเป็นพื้นที่ 180.9 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะประมาณ 56,531 ไร่

สำหรับชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน พบการกัดเซาะชายฝั่งทะเลขั้นรุนแรง 8 จุด เป็นพื้นที่ 23 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะทั้งสิ้นประมาณ 7,187 ไร่

นั่นคือ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่ถูกกัดเซาะไปทั้งสิ้น 113,042 ไร่

"จุดกัดเซาะที่อันตรายที่สุด คือจังหวัดสมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน กทม. สองจุดนี้หนักที่สุด บางแห่งถูกกัดเซาะ 1 กิโลเมตร หรืออย่างพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงปากแม่น้ำแม่กลองระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตรถูกกัดเซาะไป 82 กิโลเมตร พื้นที่หายไป 18,000 ไร่"

สาเหตุที่พื้นที่ชายฝั่งถูกกัดกร่อนไปเรื่อยๆ นั้น นอกจากแรงปะทะของคลื่นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ ปริมาณตะกอนบริเวณปากแม่น้ำลดลง ปัญหาแผ่นดินทรุดบริเวณชายฝั่งทะเล ทำให้อัตราการกัดเซาะมีความรุนแรงมากขึ้น


บ้านชาวบ้าน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะ

นอกจากนี้ยังเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ป่าชายเลนซึ่งเป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติถูกทำลายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการขุดทรายชายฝั่งทะเล ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีความรุนแรงมากขึ้น

ฉะนั้น พื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตเร่งด่วน เป็นพื้นที่ที่ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะ การมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น (1-3 ปี) และทำควบคู่พร้อมกับการมีมาตรการแก้ไขในระยะยาว (3-5 ปี)

เท่าที่ทำการสำรวจ พบว่าพื้นที่วิกฤตที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ บริเวณตะวันตกบ้านคลองสีล้ง อำเภอบ้านบ่อ-บ้านบาง สำราญ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ, บ้านแหลมสิงห์-ปากคลองขุนราชพินิตใจ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และปากคลองขุนราชพินิตใจ-บ้านท่าตะโก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

วิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระยะยาว ที่ควรทำหลังหรือทำควบคู่กับมาตรการแก้ไขระยะสั้น คือการผสมผสานวิธีการแก้ไขปัญหาแบบอ่อนและแบบแข็งเข้าด้วยกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด

"แนวทางการป้องกันในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วนมีการกัดเซาะรุนแรง ต้องใส่โครงสร้างเพื่อช่วยธรรมชาติที่ไม่สามารถฟื้นของมันเองได้ ซึ่งทางทีมวิจัยได้รับเงินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้ทำการทดลองจุดแรกที่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการทำแท่งคอนกรีตรูปสามเหลี่ยม นำไปปักห่างจากทะเลประมาณ 500 เมตร โดยปักเป็นสามแถว เพื่อช่วยลดแรงปะทะของคลื่น

"งบประมาณที่ใช้ในการทดลองประมาณ 12 ล้านบาท โดยระดมนักวิจัยประมาณ 20 คน มาร่วมกันวิจัย และเก็บข้อมูลเรื่องคลื่น เรื่องตะกอน เราคาดหวังว่า ถ้าโครงการประสบความสำเร็จ ก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลในรูปแบบการป้องกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะกับพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ซึ่งมาถึงตอนนี้นับว่าวิกฤตที่สุดแล้ว"

รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ถ้าไม่รีบป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเสียตั้งแต่ตอนนี้ ประเทศไทยจะเสียพื้นที่ให้กับการกัดเซาะอีกเยอะแน่นอน

"การกัดเซาะเป็นภัยพิบัติเงียบ แม้ว่าหลายหน่วยงานจะให้ความสนใจ แต่ผลที่ตามมาเราพบว่ายังคงเกิดการกัดเซาะที่รุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะเป็นจุดๆ ไม่มีการมองในภาพรวม ซึ่งบางทีการสร้างเขื่อนดักตะกอนเพื่อแก้ปัญหาจุดหนึ่งได้ก็จริง แต่หารู้ไม่ว่ากลับส่งผลกระทบทำให้พื้นที่อื่นเกิดการกัดเซาะเร็วขึ้นและมากกว่าเดิม

"ที่ผมวิตกคือ จากนี้ไปหน่วยงานเทศบาล อบต.จะนำงบประมาณไปป้องกัน ซึ่งยิ่งจะทำให้ชายฝั่งเละเทะและเสียหายมากขึ้น ทางที่ถูกคือน่าจะมีหน่วยงานมาทำหน้าที่ดูแล และนำเชิงวิชาการเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน" อาจารย์ธนวัฒน์แสดงความเป็นห่วง

ส่วนแนวทางการแก้ไขของจังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน


ชายหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในอดีต มีหาดทรายสวยงาม


ชายหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในปัจจุบันถูกกัดเซาะไม่มีหาดให้เห็น

กิตติพันธ์ เพชรชู หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าถึงสภาพของชายฝั่งทะเลแถบนครศรีธรรมราชว่า อำเภอที่ได้รับผลกระทบคือ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนังบางส่วน และหัวไทร ระยะประมาณ 225 กิโลเมตร ปัจจุบันน้ำทะเลได้หนุนให้คลื่นสูงขึ้น และพัดเข้ามาบริเวณที่พักอาศัยของชาวบ้าน ก่อให้เกิดความเสียหายมาก รวมทั้งทำให้ถนนเลียบชายทะเลได้รับความเสียหายด้วย ส่วนที่แหลมตะลุมพุกได้รับผลกระทบเช่นกัน โชคดีที่บริเวณที่น้ำขึ้นไม่มีประชาชนอาศัยอยู่

"กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบเกี่ยวการกัดเซาะชายฝั่งที่ปากพนังและอำเภอหัวไทร เพื่อจัดทำเป็นโครงการนำเสนอ โดยอำเภอปากพนังจะได้งบประมาณ 360 ล้านบาท ต่อ 1 ปี จะทำเป็น 3 ระยะ ปี 2550-2553

"ตอนนี้ได้งบฯ ซีอีโอ ของจังหวัดช่วยเยียวยาชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบในระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่เพียงพอ ในส่วนของจังหวัดจะแก้ไขเฉพาะหน้าก่อน" กิตติพันธ์บอก

ส่วนที่ชาวบ้าน 50 ครัวเรือน บริเวณหมู่ที่ 2 ที่อาศัยอยู่ป่าชายเลนที่แหลมตะลุมพุกมาเรียกร้องนั้น กิตติพันธ์ว่า ในเบื้องต้นใช้งบฯฉุกเฉินช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ายังมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขเสียแต่ตอนนี้ สุดท้ายพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เรายังเห็นๆ กันอยู่ในวันนี้คงจะมีสภาพไม่ต่างจากหลักกิโลเมตรกลางน้ำที่โผล่ให้เห็นอยู่ลิบๆ เหมือนที่บางขุนเทียนก็เป็นได้


******************************************************


5 จุดวิกฤตชายฝั่งทะเลไทย

1.ชายฝั่งทะเลบ้านแหลมสิงห์-ปากคลองขุนราชพินิตใจ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งถอยร่นเข้ามาประมาณ 700-800 เมตร บางแห่ง เช่น บ้านขุนสมุทรจีน หมู่ 9 พื้นที่ถูกกัดเซาะหายไปประมาณ 1 กิโลเมตร ในช่วง 28 ปี ด้วยอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี

2.ชายฝั่งทะเลปากคลองราชพินิจใจ-บ้านท่าตะโก เขตบางขุนเทียน กทม. ระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร มีอัตราการกัดเซาะ 20-25 เมตรต่อปี ช่วง 28 ปีที่ผ่านมาพื้นที่หายไป 400-800 เมตร

3.ชายฝั่งทะเลบ้านเคียนดำ-บ้านบ่อนนท์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 8 กิโลเมตร

4.ชายฝั่งทะเลบ้านแหลมตะลุมพุก-บ้านบางบ่อ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอัตราการกัดเซาะประมาณ 8 เมตรต่อปี

5.ชายฝั่งบ้านเกาะทัง-บ้านหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช ความยาวทั้งหมดประมาณ 23 กิโลเมตรตลอดความยาวชายฝั่งทะเลนี้มีการกัดเซาะขั้นรุนแรง ทำให้ถนนพัง ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่บริเวณอื่น อัตราการกัดเซาะประมาณ 12 เมตรต่อปี สาเหตุเพราะแนวชายหาดที่เปิดโล่งวางตัวในทิศทางเกือบเหนือ-ใต้ ทำให้ได้รับแรงกระแทกของคลื่นขนาดใหญ่ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เคลื่อนเข้าหาฝั่งในทิศทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือโดยตรง


*********************************************************


สาเหตุของการกัดเซาะ


1.การกัดเซาะเนื่องมาจากคลื่นลมในทะเล การเบี่ยงเบนและความรุนแรงของคลื่นขึ้นอยู่กับทิศทางและความเร็วของลมประจำถิ่นและลมพายุจรเป็นหลัก กล่าวคือ ร้อยละ 45 ของแนวชายฝั่งทะเลของโลกมีสาเหตุการกัดเซาะมาจากคลื่นลมในทะเล

2.การลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะโดยคลื่นลมและกระแสน้ำชายฝั่ง

3.การลดลงของตะกอนจากแม่น้ำ เนื่องจากปัจจุบันบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำเกือบทุกสายมีการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือพัฒนาทางการเกษตร ทำให้มีตะกอนถูกพัดพามาตกตะกอนบริเวณปากแม่น้ำน้อยลง ดังนั้นกระแสน้ำชายฝั่งทะเลที่เกิดจากคลื่นลมเมื่อเคลื่อนตัวผ่านบริเวณชายฝั่งที่มีปริมาณตะกอนที่ลดลง จึงเหลือพลังงานพอที่จะพัดพาตะกอนชายฝั่งทะเลในบริเวณใกล้เคียงให้เคลื่อนตัวต่อไปได้ อันเป็นสาเหตุให้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น กรณีตัวอย่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

4.การทรุดตัวของแผ่นดิน จากการศึกษาของ AIT (1980) พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พ.ศ.2521-2524) มีอัตราการทรุดตัวของแผ่นดินมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปีในบริเวณชานเมืองย่านตะวันออก ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีพื้นที่ถูกกัดเซาะมากถึง 6,419 ไร่ ทำให้พื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งทะเลมากกว่าการงอกของชายฝั่งทะเลประมาณ 3,350 ไร่



จาก    :    มติชน  วันที่ 24 มกราคม 2550

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว