Save Our Sea
เมษายน 29, 2024, 02:10:38 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้งดการตั้งหรือตอบกระทู้ ขอเชิญใช้บอร์ดใหม่ที่ http://www.saveoursea.net/forums
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โลมาอิรวดี หรือปลาข่า  (อ่าน 10570 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3501


เรารักในหลวง


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: กรกฎาคม 24, 2006, 02:45:18 PM »

โลมาอิรวดี หรือปลาข่า



ลักษณะของโลมาอิรวดีจะมีครีบหลังรูปสามเหลี่ยมโค้งมน ขนาดไม่ใหญ่นัก สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำเงินเทาตลอดตัว แต่บริเวณท้องจะมีสีจางลง โลมาอิรวดีตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย อายุเฉลี่ยของโลมาอิรวดีอยู่ที่ประมาณ 30 ปี

เป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนม มีสายตารับภาพได้ดีทั้งบนบกและในน้ำ มีจมูกอยู่บนหัว จะหายใจก็ต่อเมื่ออยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้ปอด ผิวหนังมีชั้นไขมัน (Blubber) ทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการสูญเสียความร้อน อาศัยอยู่ในน้ำจืดถึงน้ำเค็ม

โลมาอิรวดีแรกเกิดลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร และเมื่อโตเต็มวัยจะยาวถึง 2-2.75 เมตร หนักราว 115-130 กิโลกรัม

โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ รวม 6-10 ตัว ในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง มีความพิเศษกว่าโลมาหลายๆ ชนิด เพราะสามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำกร่อยได้ เนื่องจากมีระบบไตที่ปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อยได้ดี

โลมาสื่อสารโดยใช้เสียง สามารถส่งและรับสัญญาณเสียงสะท้อน (Echo) เพื่อใช้ในการสำรวจสภาพแวดล้อมและหาอาหาร

อาหารโปรดของโลมาอิรวดี ได้แก่ ปลาดุก หมึก และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์ของโลมาอิรวดีนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นราวๆ เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม หรืออาจเลยไปถึงเดือนธันวาคม ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งสภาวะแวดล้อมและความเหมาะสมด้านต่างๆ ด้วย โลมาอิรวดีจะตกลูกเพียงปีละ 1 ตัว และหย่านมเมื่อลูกอายุได้ 2 ปี อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถเพาะเลี้ยงโลมาอิรวดีได้ ทำให้อัตราการเพิ่มของโลมาอิรวดีซึ่งเป็นการเพิ่มตามธรรมชาติค่อนข้างเป็นไปได้ช้า

พบแพร่กระจายอยู่ในประเทศกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อินเดียถึงออสเตรเลีย มีรายงานการพบในบังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และไทย

แต่ละบริเวณจะพบโลมาอิรวดีอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ชายฝั่ง หรือทะเลสาบน้ำกร่อย ซึ่งแต่ละแห่งมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งโลมาอิรวดีที่มีอยู่ยังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ก็จัดให้โลมาอิรวดีอยู่ในบัญชีตัวแดง (Red List) โดยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต (Critically Endangered

ส่วนในประเทศไทยนั้น โลมาอิรวดีเป็นหนึ่งในบรรดาโลมาราว 7-10 ชนิด ที่พบในประเทศไทย มีรายงานการพบเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2446

ต่อมามีรายงานการพบเรื่อยๆ ทั้งบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย โดยพบแถวชายทะเลจังหวัดตราด จันทบุรี ทะเลสาบสงขลา และแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งพบในบริเวณฝั่งทะเลอันดามันด้วย

สำหรับแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 50 ตัว แม่น้ำโขงประมาณ 67 ตัว ทะเลสาบสงขลาประมาณ 20-25 ตัว ชายฝั่งทะเลจังหวัดตราด ประมาณ 50 ตัว ชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูลประมาณ 40 ตัว และตามชายฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 60 ตัว รวมๆ แล้วประมาณ    300 ตัว

สำหรับโลมาอิรวดีได้รับความสนใจ เมื่อประเทศไทยได้เสนอเพิ่มความคุ้มครองในอนุสัญญาไซเตสจากบัญชีสอง เป็นบัญชีหนึ่ง ห้ามไม่ให้มีการค้าขาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองมากขึ้นกว่าเดิม


***************************************************************


เยี่ยม"ปลาข่า" โลมาแห่งน้ำโขง


น้ำตกคอนพะเพ็ง

ความงดงาม และยิ่งใหญ่ของ"น้ำตกคอนพะเพ็ง"น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของลำน้ำโขงตอนล่าง ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "ไนแองการ่าแห่งเอเชีย" และดึงดูดให้นักเดินทางมาเที่ยวชมไม่เว้นวัน


แผนที่นทีสีพันดอน

กระแสน้ำที่โยนตัวกระแทกเกาะแก่งน้อยใหญ่ จากนทีสี่พันดอนตอนบน เกิดเป็นระลอกหมุนวน ทอดตัวผ่านจากพรมแดนสปป.ลาว เข้าสู่ตอนบนของประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดลักษณะพิเศษของสภาพธรรมชาติในแม่น้ำโขงช่วงนี้

โดยเฉพาะอาณาบริเวณพรมแดนระหว่างสองประเทศ ซึ่งเริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วไป ภายหลังพบว่าแถบนี้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำเฉพาะถิ่นที่รู้จักในชื่อของ "โลมาอิรวดี" หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ปลาข่า" ปรากฏตัวให้เห็น



บริเวณบ้านเวินคาม หมู่บ้านชายแดน ในเขตสปป.ลาว ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรับซื้อและตลาดค้าปลาแม่น้ำกันอย่างคึกคัก ทั้งยังเป็นจุดว่าจ้างเรือติดเครื่องยนต์ล่องขึ้นลงชมทิวทัศน์สองฟากฝั่งของแม่น้ำโขง ทั้งไปชมปลาข่า

ส่วนใหญ่นักเดินทางจะอาศัยแวะพักบนดอนคอน อันหมายถึงเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางลำน้ำโขง ซึ่งมีชุมชน และที่พักราคาถูก หรือเกสต์เฮาส์ตั้งอยู่ทั่วไปหนึ่งคืน และวางแผนไปชมปลาข่าในช่วงเช้าของวันถัดมา



จากฝั่งสปป.ลาว เรือจ้างจะวิ่งตัดแม่น้ำโขงช่วงกว้างออกไปขึ้นฝั่งที่บริเวณชุมชนพระรัมเกิล แผ่นดินกัมพูชา อันเป็นที่ตั้งของหน่วยตรวจการณ์แม่น้ำโขง กัมพูชา

ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึงจุดหมายคือ เพิงพักเล็กๆ พอแค่บังแดดและคุ้มฝน ซึ่งปลูกอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำโขง สถานที่ตั้งของหน่วยตรวจการณ์ ซึ่งสามารถเฝ้าชมปลาข่าได้ชัดเจนที่สุด


หาดทรายกลางแม่น้ำ

อาศัยโอกาส และสายตาที่ดี ความเร็ว ของนักท่องเที่ยวก็มีสิทธิที่จะเห็นแผ่นหลังมีครีบโค้งมน สีเทาของปลาข่า หรือโลมาอิรวดี แหวกผ่านผิวน้ำขึ้นมาสัมผัสอากาศก่อนดำลงใต้คลื่นของลำน้ำโขงสีขุ่นในฤดูฝน

บางครั้งความมีโชคก็อาจจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เห็นปลาข่าจำนวน 2-3 ตัว หรือเป็นฝูง ในขณะที่บางคนก็อาจจะต้องผิดหวังกลับไปหลังจากใช้เวลาพยายามเฝ้าดูมาตลอดทั้งวัน แต่เชื่อว่าหลายคนตั้งใจจะกลับมาเฝ้าคอยอีก

เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจการณ์แม่น้ำโขง กัมพูชา บอกเล่าว่า คะเนว่าปลาข่าที่อาศัยอยู่บริเวณนี้น่าจะมีเหลืออยู่ประมาณ 9 ตัว จากจำนวนที่เคยมีมากกว่านี้ ซึ่งเดิมประชากรปลาข่าจะอพยพย้ายถิ่นลงไปตามลำน้ำโขงในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. โดยเฉพาะลงไปถึงจ.กระแจ๊ะ(Kratie)ที่เชื่อว่ายังคงมีปลาข่าฝูงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 60 ตัวรวมตัวกันอยู่

อย่างไรก็ตาม สำหรับปลาข่าฝูงนี้ ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนลาว-กัมพูชา มีปริมาณลดลงทุกปี เนื่องจากปัญหาของการทำประมงที่มีการลงอวน ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปลาข่าแม่ลูกจำนวน 2 ตัวก็ว่ายมาติดอวนและเสียชีวิตในที่สุด

นางพร ดีม อายุ 51 ปี ชาวบ้านเกาะระโง (Koh Langor) ประเทศกัมพูชา หรือที่ชาวลาวเรียกว่า ดอนระงา ด้านเหนือของเกาะ คือแหล่งอาศัยของปลาข่าฝูงนี้ กล่าวว่า บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า "บุ่ม" เป็นจุดที่ลึกมากถึง 40 หลา กว้างกว่า 200 หลา มีความอุดมสมบูรณ์ของปลาหลากชนิดพันธุ์ ชาวบ้านแถบนี้จะรับรู้ และกันเขตเป็นวังสงวนเพื่อการอนุรักษ์ ไม่จับปลา ทั้งยังช่วยดูแลไม่ให้คนต่างถิ่นเข้ามาจับปลา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ระเบิดมาก

นางพรกล่าวว่า ชาวบ้านไม่บริโภคและล่าปลาข่ามาเป็นอาหาร เนื่องมาจากความเชื่อแต่ดั้งเดิมว่าปลาข่าคือบรรพบุรุษที่กลับชาติมาเกิด และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านที่พูดถึงปลาข่าว่าเป็นพระมเหสีของกษัตริย์องค์หนึ่งที่จมน้ำแล้วกลายร่างมาเป็นปลาข่าในที่สุด

นอกเหนือจากเฝ้าชมการปรากฏตัวของปลาข่าในบริเวณนี้แล้ว สำหรับนักท่องเที่ยวที่วางแผนเดินทางเข้าสู่กัมพูชาต่อไป อาจล่องเรือลงไปชมทัศนียภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ กลางลำน้ำโขง


นิเวศป่ากลางน้ำ

เฉพาะในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงลดลง บรรดาเกาะหรือดอนกลางแม่น้ำโขงจะปรากฏหาดและสันทรายเป็นแนวยาว รวมทั้งต้นไม้ อาทิ โพน้ำ ต้นกะแซง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าน้ำท่วม จะยืนต้นชะลูดให้เห็นลักษณะของกิ่งและลำต้นที่ยืนต้านกระแสน้ำโขงตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา

การมาชมปลาข่า หรือโลมาอิรวดี สัตว์น้ำเฉพาะถิ่นอีกชนิดพันธุ์หนึ่ง พร้อมไปกับการได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศพิเศษที่ปรากฏเฉพาะในลุ่มน้ำโขง อาจจะทำให้เข้าใจและเกิดสำนึกร่วมกันต่อการใช้แม่น้ำโขงในฐานะแม่น้ำนานาชาติ


บันทึกการเข้า

"ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งสามารถนำมา ใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอัน ถาวรของบ้าน เมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ" ..... พระราชดำรัส
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.025 วินาที กับ 21 คำสั่ง