Save Our Sea
เมษายน 29, 2024, 02:07:10 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้งดการตั้งหรือตอบกระทู้ ขอเชิญใช้บอร์ดใหม่ที่ http://www.saveoursea.net/forums
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปกป้อง 4 ปากแม่น้ำ อนุรักษ์"โลมาอิรวดี"  (อ่าน 2459 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3501


เรารักในหลวง


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 12, 2006, 07:47:47 AM »


ปกป้อง4ปากแม่น้ำ อนุรักษ์"โลมาอิรวดี"    :   คอลัมน์ สดจากประชาสังคม


การคุ้มครองและดูแลสัตว์น้ำเฉพาะถิ่นอย่างโลมาอิรวดี ได้รับความสนใจมาก เมื่อครั้งที่ประเทศไทยจัดประชุมสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Covention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ ไซเตส เมื่อปี 2547 โดยเสนอให้เพิ่มความคุ้มครองโลมาอิรวดี ในอนุสัญญาไซเตสจากบัญชีสอง เป็นบัญชีหนึ่ง

โดยหวังว่าภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว จะช่วยเป็นเกราะป้องกัน การคุกคาม การล่าและการค้าระหว่างประเทศ สัตว์น้ำ ซึ่งมีจำนวนประชากรคงเหลือไม่มากนัก ให้ได้รับการคุ้มครองมากกว่าเดิม ทั้งยังช่วยให้การดำเนินการอนุรักษ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภายใต้สถานภาพที่เปลี่ยนไป องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ World Wildlife Fund หรือ WWF ประเทศไทย โดยฝ่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์โลมาในอ่าวไทยตอนในขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาถิ่นอาศัย และความอยู่รอดของโลมา

ด้วยการดำเนินงานผ่านการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม การสำรวจและส่งเสริมการศึกษาและสร้างจิตสำนึกต่อสาธารณชนถึงคุณค่า ความสำคัญของโลมาต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และชายฝั่ง

ล่าสุดภาคธุรกิจได้ลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ร่วมกับ WWF ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการอนุรักษ์โลมาในอ่าวไทยตอนใน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,000,000 บาท มีกรอบการทำงานระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุม 4 พื้นที่คือ ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำบางปะกง

ขณะเดียวกันมีการจัดกิจกรรมจากอาสาสมัครผู้พิทักษ์สายน้ำ ตัวอย่างของการเชื่อมประสานสัมพันธ์กับชุมชนที่ผูกพันกับแม่น้ำ และชายฝั่งรอบอ่าว ตั้งเป็นเครือข่ายรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ โดยมี "พี่นก" นิรมล เมธีสุวกุล รับหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ

พร้อมกับจัดเวทีเสวนาในเรื่อง "CSR กับการอนุรักษ์โลมาในอ่าวไทยตอนใน"

นายเกรียง มหาศิริ หัวหน้าชุดลาดตระเวนทางเรือในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สถานการณ์ของสภาพแวดล้อมชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนในเสื่อมโทรมจนน่าตกใจ เนื่องจากเป็นแหล่งจับปลา และทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ปลาที่ได้เริ่มมีขนาดเล็กลง ช่วงนี้มีปลาเข้ามาอาศัยหากินตามชายฝั่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้พื้นที่ประมงต้องขยับออกไป การใช้เครื่องมือประมงทั้งจากเรือประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ มีส่วนทำลายสัตว์น้ำชายฝั่ง ประกอบกับมลภาวะในปากแม่น้ำ 4 สายหลักที่ไหลลงปากอ่าวไทย มาจากการทิ้งขยะ และการรั่วไหลของน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมัน

นายเกรียงกล่าวต่อว่า ระหว่างเดือนต.ค.-ก.พ. ของทุกปี ตนจะลงพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกง เพื่อไปดูแลความเรียบร้อย และความปลอดภัยของการล่องเรือไปดูโลมา ซึ่งต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ไม่ส่งเสียงดังรบกวน ขณะนี้ได้ทิ้งทุ่นเป็นจุด สำหรับผูกเรือในจุดเฝ้าดูโลมา เนื่องจากโลมาเริ่มเข้ามาในอ่าวไทย บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงแล้ว โดยมีผู้พบเห็นปรากฏตัวประมาณ 20 ตัว

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแหล่งน้ำจืด และทะเล WWF ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อ่าวไทยตอนในนับเป็นแหล่งผลผลิตทางชีวภาพที่มีความหลากหลายค่อนข้างสูงแห่งหนึ่งในโลก พบพันธุ์สัตว์ นก และปลา ปู กุ้ง หอย รวมแล้วกว่า 800 ชนิด เฉพาะทรัพยากรสัตว์น้ำมีถึงเกือบ 400 ชนิด เป็นแหล่งอาศัยของโลมา สัตว์น้ำที่มีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงจากมลภาวะ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะยาวหากควบคุมไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำชนิดนี้ได้

ดร.ชวลิตกล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์โลมาที่พบในอ่าวไทยตอนใน ประกอบด้วย โลมาอิรวดี และปลาวาฬแกลบ พบ 5 ชนิด มีอยู่ 2 ชนิดที่พบบ่อย คือ โลมาเผือก หรือโลมาหลังโหนก สีชมพู และโลมาหัวบาตร พบอยู่ฝูงใหญ่ จำนวนรวมกว่า 200-300 ตัว แหล่งที่พบคือ ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งหากินของโลมา สถานภาพถูกจัดให้อยู่ในประเภทของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนประชากรโลมาในภูมิภาคเอเชียกำลังลดลง โดยปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อจำนวนประชากรของโลมาที่กำลังลดลงคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล และคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมา ตลอดจนการถูกจับโดยเครื่องมือประมง ทั้งนี้โลมาถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและแหล่งน้ำ เพราะโลมาต้องกินปลาจำนวนมากต่อวัน

นายปรีชา สุวรรณ์ ผู้นำชาวประมงท้องถิ่น ปากน้ำบางปะกง กล่าวว่า สำหรับโลมาจะเข้ามาในปากอ่าวบางปะกง ช่วง 4 เดือน ในเดือนต.ค.-ม.ค. จะมีลมเหนือจากทิศตะวันออกพัดจากฝั่งออกไปสู่ทะเล ทำให้น้ำในอ่าวสงบ ไม่มีคลื่น และกรองน้ำจนใสสะอาด ปลาทะเลชอบว่ายเข้ามา ขณะที่โลมาก็ว่ายเข้ามากินปลา แต่พอเข้าสู่ช่วงเดือนมี.ค. เป็นต้นไปก็จะมีลมพัดจากทางทิศตะวันตกเข้ามา ทำให้เกิดคลื่นลมแรง พัดพาตะกอนโคลนดินจากอ่าวไทยขึ้นมา ยิ่งหากมีการทิ้งขยะลงไปมากก็ทำให้น้ำเน่าเสียและขยะลอยขึ้นมา เป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์น้ำ จึงอยากขอเรียกร้องให้ผู้คนหยุดการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง

นายปรีชากล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ตนเคยทำประมง และบริการเช่าเรือนำเที่ยวชมโลมา พบว่า โลมาเป็นสัตว์ฉลาด และสนิทสนมกับคน เมื่อเห็นเรือที่คุ้นเคยก็จะว่ายเวียนเข้ามาหา แต่หากเป็นเรือนำเที่ยวที่เคยส่งเสียงดังหรือทำให้ตกใจ รบกวนโลมาก็จะไม่ปรากฏตัวให้เห็น ดังนั้นฝากว่าการไปชมโลมาจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ

และนี่คืออีกโครงการหนึ่งที่ช่วยปกป้องและอนุรักษ์โลมาอิรวดี เชื่อมโยงส่งต่อไปถึงการดูแล รักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป


ที่มา   :   ข่าวสด   วันที่ 12 ตุลาคม 2549

บันทึกการเข้า

"ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งสามารถนำมา ใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอัน ถาวรของบ้าน เมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ" ..... พระราชดำรัส
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.308 วินาที กับ 21 คำสั่ง