Save Our Sea
เมษายน 29, 2024, 11:30:03 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้งดการตั้งหรือตอบกระทู้ ขอเชิญใช้บอร์ดใหม่ที่ http://www.saveoursea.net/forums
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อนุรักษ์ "โลมา" อ่าวไทย สัตว์ในสมเด็จพระราชินีนาถ  (อ่าน 2430 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3501


เรารักในหลวง


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 17, 2006, 07:45:32 AM »


อนุรักษ์ "โลมา" อ่าวไทย สัตว์ในสมเด็จพระราชินีนาถ



เวลาสองสามปีที่ผ่านมาคนไทยหลายคนเพิ่งได้มีโอกาสยลโฉมเจ้าโลมาฝูงใหญ่ที่ออกมาปรากฏกายดำผุดดำว่ายที่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง และบริเวณอ่าวไทยตอนใน

เหตุที่หลายคนเพิ่งมีโอกาสได้เห็นก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มีการนำเที่ยวดูโลมาอย่างจริงจัง หรือบางคนคิดว่าโลมาต้องอยู่ในน้ำทะเลลึกเท่านั้น จึงมีเพียงคนพื้นที่ และนักวิชาการเท่านั้นที่รู้จักและคุ้นเคย

ด้วยท่าทางที่เป็นมิตร และเสียงร้องอู๊ดอี๊ดของเหล่าโลมาที่วนอยู่รอบเรือทำเอาคนไปเที่ยวชมอดยิ้มให้กับความน่ารักน่าชังของมันไม่ได้

สำหรับประชากรโลมาที่เข้ามาในบริเวณอ่าวไทยตอนใน หรือปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำกร่อยนั้น จากการสำรวจพบว่ามี "โลมาอิรวดี" "โลมาเผือกหลังโหนก" และ "โลมาหัวบาตรหลังเรียบ" โลมาเหล่านี้มักจะเข้ามาหากินบริเวณอ่าวไทยตอนใน-ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

ซึ่งการมาของโลมานั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าแหล่งน้ำตรงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

อ่าวไทยตอนใน มีแนวชายฝั่งทะเลระยะทางประมาณ 112 กิโลเมตร อ่าวมีลักษณะแคบคล้ายรูปตัว ก ไก่ เป็นแหล่งรวมดินตะกอนสะสมจากป่าต้นน้ำตอนในของประเทศ มาจากแม่น้ำ 5 สายไหลออกสู่ทะเล

ประกอบด้วย แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี เป็นทะเลที่มีระดับน้ำตื้น มีสันดอนและเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์

ท่ามกลางการชื่นชมความน่ารักของโลมา หลายคนไม่รู้ว่าประชากรโลมากำลังลดลงด้วยน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยเฉพาะโลมาอิรวดีน้ำจืด ที่บริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี และทะเลสาบสงขลา นั้นได้เข้าขั้นวิกฤต ถึงขนาดที่ "สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์" (IUCN) จัดให้โลมาอิรวดีอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ส่วนกฎหมายไทย โลมาอิรวดี ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 138 คือ ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง หรือห้ามเพาะพันธุ์เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

นอกจากนี้โลมาอิรวดียังเป็นสัตว์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 

เพราะมีพระราชประสงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์หายากชนิดนี้ไว้อีกด้วย



เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา WWF ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก จำกัด (มหาชน) จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "โครงการอนุรักษ์โลมาในอ่าวไทยตอนใน" ขึ้น

*โรเบิร์ต มาร์เธอร์* ผู้จัดการอาวุโส WWF Greater Mekong Programme เล่าถึงโครงการว่า ส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่ง บริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนการเงินให้ WWF เป็นจำนวนเงิน 8 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปีแรกของโครงการ จากนั้นจะมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการที่จะให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก เข้ามาเรียนรู้ศึกษาด้วยตนเอง และเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี และความจำเป็นในการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนในต่อไปในอนาคต

"เราเชื่อว่าลำพังเอ็นจีโออย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชน" โรเบิร์ตบอก

ด้าน "ชวลิต วิทยานนท์" ดอกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแหล่งน้ำจืดและทะเล อธิบายว่า สาเหตุหลักที่จะทำให้โลมาจำนวนลดลง

อันดับแรกคือเรื่อง *มลภาวะ* ที่นับวันแนวโน้มจะมากขึ้น ทั้งในชุมชนและโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำโดยไม่ใส่ใจเรื่องสารพิษเท่าที่ควร เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ อีกทั้งการบำบัดน้ำเสียของชุมชนในอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งหมดยังไม่มีประสิทธิภาพพอ

ปัญหาอีกอย่างคือ การทำการประมงของชาวประมง ที่ตอนนี้มีการใช้ "อวนรุน" หรืออวนลากที่บริเวณหน้าดินอ่าวไทยตอนในค่อนข้างมาก จับปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นอาหารของโลมาไปส่งโรงงานปลาป่น ซึ่งการประมงที่มากเกินไปอาจจะมีผลให้อาหารของโลมาน้อยลง

"ส่วนโลมาน้ำจืดแถบประเทศกัมพูชา พม่า หรือทะเลสาบสงขลา ส่วนมากจะโดนเครื่องมือประมงตาย พวกอวนลอยจับปลา เรื่องโลหะหนัก หรือสารพิษจากอาวุธสงคราม ก็ทำให้มันตายอยู่เรื่อยๆ อย่างโลมาในแม่น้ำโขงก็ถูกยิงบ้าง ถูกล่าโดยตรงบ้าง เขมรแดงเขาล่าเอาน้ำมัน และกินเป็นอาหาร" ดร.ชวลิตเล่าเสริม

ดร.ชวลิตบอกว่า แม้ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าโลมาในอ่าวไทยตอนในจะลดน้อยมากแค่ไหน แต่แนวโน้มมันก็มีโอกาสที่จะลดลง และได้เริ่มสำรวจในปีถึงสองปีมาแล้ว

"การที่โลมาเข้ามาที่บริเวณปากแม่น้ำในช่วงเดือนตุลาคม ถึงต้นมกราคม เพราะเป็นช่วงที่ปากแม่น้ำมีความสมบูรณ์ หน้าดินชุกชุมไปด้วยปู และเคย ปลาเล็กปลาน้อย แล้วโลมาจะเข้ามาหากินปลาดุกทะเล ปลากดทะเล เป็นเหมือนห่วงโซ่อาหาร และถ้าห่วงโซ่อาหารตัวใดตัวหนึ่งเริ่มหายไป โลมาก็จะหายไปด้วย ดังนั้น โลมาจึงเป็นอีกหนึ่งดัชชีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี"

นอกจากจะทำงานวิจัยแล้ว ดร.ชวลิตยังมีโอกาสได้ร่วมลงไปทำงานกับชาวประมงในพื้นที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการไปดูโลมาที่ถูกวิธีด้วย

"การมาเที่ยวดูโลมาก็สำคัญ คนเรือต้องเรียนรู้มากที่สุด เพราะถ้าเจอฝูงโลมาแล้วเอาเรือวิ่งเข้าใส่ก็จะไม่เหมาะสม เราต้องลอยเรือตามน้ำมาเฉยๆ หรือไม่ก็ดับเครื่องยนต์ไม่ให้รบกวน โลมาอาจจะว่ายมาใกล้ๆ เรือเป็นครั้งคราว ส่วนมากจะเห็นโลมาเผือก กับโลมาหัวบาตร" ดร.ชวลิตกล่าว

สำหรับช่วงดูโลมาจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม ส่วนช่วงที่โลมาเข้ามาบ่อย คือต้นธันวาคมถึงมกราคม มีตั้งแต่ฝูงละ 5-6 ตัว จนถึงฝูงเป็นสิบตัว ส่วนมากมักจะอยู่กระจาย ไม่เป็นฝูงใหญ่

"เวลานำเที่ยวดูโลมา เขาจะมีเรือหลายลำออกไป เมื่อเจอแล้วเขาจะโทรศัพท์หากัน คือคนเรือเขาจะรู้ว่าช่วงเช้า หรือช่วงคลื่นแบบไหน โลมาจะอยู่บริเวณปากแม่น้ำ หรือเข้ามาข้างใน เขาจะวิ่งเรือไล่ตั้งแต่ตอนในออกไปเรื่อยๆ พอเจอเมื่อไหร่ก็หยุด พอเจอฝูงก็จอดนิ่งๆ ดู ไปเรื่อยๆ เราจะเห็นฝูงโลมาออกมาหากิน จะเห็นพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อย่างเช่น เวลาว่ายเป็นฝูงจะมีการกระโดด มีการเล่นกัน หรือช่วงที่เขาจับปลาขึ้นมากิน อย่างโลมาเผือกจะจับปลามาโยนขึ้นเหนือน้ำกินเป็นอาหาร"

ดร.ชวลิตบอกว่า ตอนนี้ประเมินแล้วทั้งโลกมีโลมา 3,000-4,000 ตัว ออสเตรเลีย มีประมาณ 2,000 ตัวไปแล้ว แต่โลมาที่ออสเตรเลียกับประเทศไทยเป็นคนละชนิดกัน สำหรับโลมาที่อยู่บริเวณอ่าวไทยตอนใน ประเมินสูงสุดมีประมาณ 200 ตัว

"จำนวนทั้งหมดนี้ เรานับตั้งแต่จังหวัดชลบุรี แถวแหลมแท่น บางแสน มาจนถึงเพชรบุรี"

ด้าน *ปรีชา สุวรรณ์* ผู้นำชาวประมงท้องถิ่น ปากน้ำบางปะกง เล่าว่า ความจริงโลมามีตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเด็กนักเรียน โลมาจะมาบ่อยกว่าปัจจุบัน เพราะสมัยนั้นน้ำในอ่าวแม่น้ำบางปะกงสะอาดกว่าสมัยนี้

"การเที่ยวดูโลมาเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2543 ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 5 ธันวาคม ผมเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แล้วลูกสาวทำงานสาธารณสุข เราไปถวายพระพรในหลวงที่อำเภอ เสร็จแล้วก็พาไปเที่ยวทะเล พวกที่ไม่เคยเห็นเจอโลมาฝูงใหญ่มาว่ายวนเล่นที่เรือ ก็ตื่นเต้น แล้วนำไปเล่าต่อ จากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์มาทำข่าวมากขึ้นจนคนมาเที่ยวมากอย่างทุกวันนี้" ปรีชาเล่า

นอกจากจะเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์แล้ว ปรีชายังเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวดูโลมาเจ้าแรกๆ ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยั่งยืนอีกด้วย

"ผมเป็นคนที่รณรงค์อยากจะให้น้ำใสสะอาด ไม่มีมลภาวะ หรือพวกขยะ ถ้าเราทิ้งลงน้ำมันจะลอยไปทั่ว บางครั้งมันลงไปอยู่หน้าดินจะทำให้กุ้งปลาตาย ผมรณรงค์เขียนป้ายติดหน้าบ้านว่า ทิ้งขยะลงน้ำเท่ากับไม่รักประเทศชาติ แต่พวกที่อายุมากๆ ตอบมาว่าเขาทิ้งมาตั้งสามสี่สิบปีแล้ว เขาเลิกไม่ได้ ผมบอกว่าคุณทำชั่วมาตั้งสามสิบสี่สิบปี แล้วคุณจะอยู่อีกกี่ปี จะหันมาทำดีไม่ได้เหรอ" เสียงกระแทกแรงด้วยความรู้สึกอัดอั้นในฐานะผู้ที่อาสานำเที่ยวคนหนึ่ง

ปรีชาบอกว่า เคยพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมโลมา บางครั้งอายเขาเพราะมีขยะจำนวนมากลอยเกลื่อนในแม่น้ำ

แม้วันนี้โลมาจะยังมีอยู่ แต่หากผู้คนขาดจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติแล้ว และรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำและทะเล

*วันหนึ่งข้างหน้าสิ่งที่สูญหายไปอาจไม่ใช่แค่โลมาในอ่าวไทยเท่านั้น*


----------------------------------------------------------------

จาก :  มติชน  วันที่ 17 ตุลาคม 2549

บันทึกการเข้า

"ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งสามารถนำมา ใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอัน ถาวรของบ้าน เมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ" ..... พระราชดำรัส
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.027 วินาที กับ 21 คำสั่ง