PDA

View Full Version : เดราวัน - ซังกาลากิ - มาราตัว - กากาบัน


สายน้ำ
01-12-2010, 09:21
สองสายเองเคยเดินทางไปดำน้ำที่ "เดราวัน - ซังกาลากิ - มาราตัว - กากาบัน" ประเทศอินโดนิเซีย มาแล้ว เมื่อปี 2545 และคุณสายชลได้โพสต์เรื่องราวของการเดินทางครั้งนั้นไว้ในเว็บบอร์ดของ SOS เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 หากสนใจจะอ่าน เข้าไปดูได้ตามลิ๊งค์นี้ http://www.saveoursea.net/boardapr2007/index.php?topic=1024.0 ซึ่งเรายังประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ และคิดว่า หากมีโอกาส อยากจะขอกลับไปทบทวนความหลังอีกสักครั้ง


เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปดำน้ำที่ "เดราวัน - ซังกาลากิ - มาราตัว - กากาบัน" ประเทศอินโดนิเซีย ที่คุณวินิจ รังผึ้ง จาก ททท.ได้เขียนไว้ พร้อมภาพถ่ายประกอบ ถูกนำลงเผยแพร่ในเว็บไซท์ผู้จัดการออนไลน์ ในวันที่ 2, 9, 16, 23 และ 30 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ นับว่าเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางไปดำน้ำ ณ สถานที่แห่งนี้ ได้ศึกษาหาข้อมูลเสียก่อน

ผมจึงนำมารวบรวมไว้ในกระทู้เดียวกัน เพื่อความสะดวกและต่อเนื่องในการอ่านครับ .....

สายน้ำ
01-12-2010, 09:22
ดำน้ำหมู่เกาะเดราวัน ................ โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000016320701.JPEG

ช่วงรอยต่อของฤดูกาลจากปลายฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาวปีนี้สภาวะอากาศของบ้านเราช่างปั่นป่วนปรวนแปรจนหลายพื้นที่ต้องถูกกระหน่ำด้วยพายุฝนทำให้เกิดน้ำท่วมไปเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงจนผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆกัน น้ำท่วมปีนี้หนักหน่วงเกินความคาดหมายจริงๆครับ ช่วงรอยต่อของฤดูกาลปีนี้ท้องทะเลก็ปั่นป่วนพอสมควร การดำน้ำทางฝั่งอ่าวไทยแถวทะเลชุมพร เกาะเต่าที่น้ำใสทะเลสวยติดต่อกันมาหลายปี มาปีนี้กลับขุ่นและค่อนข้างจะปั่นป่วนด้วยคลื่นลม ทำให้การดำน้ำทางฝั่งอ่าวไทยปีนี้ไม่ค่อยคึกคัก ยิ่งช่วงเดือนสองเดือนนี้แทบจะดำน้ำกันไม่ได้ทั้งสองฝั่ง เพราะฝั่งอ่าวไทยก็เริ่มมีคลื่นลมรุ่นแรงมากขึ้นทุกที ในขณะที่ฝั่งอันดามันมรสุมก็ยังไม่สงบ เมื่อทะเลไทยดำน้ำไม่ได้ช่วงนี้ก็พอดีกับที่คุณจักริน กิตติสาร เจ้าของเรือภาณุนี เรือบริการดำน้ำที่หรูหราทันสมัยที่สุดของเมืองไทยในยามนี้ โทรศัพท์มาชวนให้เดินทางไปดำน้ำกับเรือภาณุนี ที่ขณะนี้แล่นไปให้บริการดำน้ำอยู่บริเวณหมู่เกาะเดราวัน ประเทศอินโดนีเซีย ผมก็เลยตอบรับคำเชิญโดยไม่รีรอ

http://pics.manager.co.th/Images/553000016320702.JPEG

ภาณุนีเป็นเรือบริการดำน้ำของผู้ประกอบการคนไทย โดยปรกติจะให้บริการดำน้ำในเส้นทางหมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย กองหินริเชลิว กับเส้นทางอันดามันใต้ แถวหมู่เกาะห้าใหญ่ หินแดง หินม่วง และเส้นทางดำน้ำหมู่เกาะทะเลพม่าเป็นหลัก แต่ช่วงหลังก็ได้เพิ่มเส้นทางดำน้ำหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดียในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และวิ่งลงใต้อ้อมแหลมมลายูลงไปให้บริการดำน้ำอยู่แถวๆหมู่เกาะเดราวัน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะกะลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ที่นั่นมีเกาะเด่นๆเหมาะสมกับการดำน้ำอยู่ 4 เกาะ โดยแล่นไปให้บริการในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นการเข้าไปขอสัมปทานให้บริการดำน้ำอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากทางการอินโดนีเซีย เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหมู่เกาะและแนวประการังที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในยุคแห่งการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการคนไทยต้องออกไปแข่งขันกับนานาชาติ ซึ่งคนไทยเราก็มีมาตรฐานทั้งเรือบริการดำน้ำที่ทันสมัยระดับแนวหน้าของโลกเลยทีเดียว มีระบบการจัดการที่ดี และมีบริการที่ยอดเยี่ยมเปี่ยมด้วยรอยยิ้มทำให้เรือภาณุนีได้รับการยอมรับจากนักดำน้ำทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักดำน้ำชาวญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้แต่นักดำน้ำจากยุโรป อเมริกา ซึ่งทุกวันนี้ธุรกิจดำน้ำทั่วโลกล้วนขายกันทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งหมู่เกาะเดราวันก็เป็นแหล่งดำน้ำชื่อดังของโลกและยังไม่มีเรือบริการดำน้ำมาตรฐานที่เป็นเรือประเภท Liveaboard หรือเรือบริการดำน้ำขนาดใหญ่ที่นักดำน้ำผู้ไปใช้บริการสามารถจะใช้ชีวิตบนเรือได้ตลอดทริป 4-5 วัน โดยไม่ต้องขึ้นเกาะขึ้นฝั่งเลยก็ได้ เพราะบนเรือมีห้องพัก ห้องอาหาร ห้องพักผ่อน อุปกรณ์ดำน้ำพร้อมสรรพอยู่บนเรือทั้งหมด เรียกว่าสะดวกสบายต่อการดำน้ำและการถ่ายภาพใต้น้ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องขนสัมภาระขึ้นเกาะลงเรือกันบ่อยครั้ง เรียกว่าลอยลำดำน้ำกันได้อย่างจุใจ และพฤติกรรมของนักดำน้ำก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือไปดำน้ำก็ดำน้ำกันจริงๆจังๆ วันละ 3-5 ไดฟ์ ไม่สนใจขึ้นเกาะขึ้นฝั่งหรือไปท่องเที่ยวอย่างอื่น ฉะนั้นการดำน้ำด้วยเรือบริการดำน้ำแบบ Liveaboard นั้นจึงมีความสะดวกสบายและเป็นที่นิยมของนักดำน้ำทั่วโลก ไม่เหมือนการดำน้ำโดยใช้บริการจากไดฟ์รีสอร์ทที่ต้องแบกถังอากาศลงเรือเล็กไปดำน้ำกัน หรือมิฉะนั้นก็แบกถังอากาศเดินลงสะพานดำน้ำกันแถวๆท่าเรือหน้ารีสอร์ทนั่นแหละ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นข้อจำกัด

http://pics.manager.co.th/Images/553000016320703.JPEG

หมู่เกาะเดราวันนั้นมีเกาะเดราวัน(Derawan) เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ สัญฐานเกาะเป็นรูปหยดน้ำ บนเกาะมีหมู่บ้านประมงและมีไดฟ์รีสอร์ทบริการนักดำน้ำ รอบๆเกาะมีแนวปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาและสัตว์ทะเลตัวเล็กๆที่นักดำน้ำชื่นชอบ เช่นม้าน้ำแคระ ทากทะเล ปลาบู่ทะเลชนิดต่างๆ ปลาแมนดาริน ปลาจอส์ฟิชหรือปลาอมไข่ กุ้ง หมึก หอย ปูชนิดต่างๆ เรียกว่าเป็นที่ชื่นชอบของคนชอบถ่ายภาพประเภทมาโครทั้งหลาย ไม่ไกลกันนักมีเกาะชื่อซังกาลากิ (Sangalaki) เป็นถิ่นที่ปลาใหญ่อย่างกระเบนราหู ตัวโตกว่า 2-3 เมตรว่ายเวียนพาเรดกันเข้ามาให้ปลาพยาบาลทำความสะอาด ที่นี่จึงเป็นเกาะที่นักดำน้ำจะตื่นตาตื่นใจกับสถานีทำความสะอาดที่เปรียบเสมือนสปาใต้ท้องทะเลแห่งนี้ ในขณะที่ห่างออกไปหน่อยที่เกาะคาคาบัน (Kakaban) เป็นเกาะมหัศจรรย์ที่มีทะเลสาบน้ำกร่อยขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางเกาะ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกเมื่อราว 2 หมื่นปีมาแล้ว ทำให้มีสัตว์ทะเลถูกขังอยู่ในนั้นจำนวนหนึ่ง และสัตว์ทะเลเหล่านี้ก็ได้ปรับตัวมีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแมงกะพรุนไร้เข็มพิษที่ใช้ชีวิตกันอยู่มากมายมหาศาลในทะเลสาบกว้าง การได้ลงดำน้ำในทะเลสาบที่นี่ให้ประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง และสุดท้ายเป็นการดำน้ำที่เกาะมาราทัว (Maratua) เกาะสัญฐานยาวรูปตัววีที่มีภูมิประเทศคล้ายลากูนอยู่ตรงส่วนกลางของเกาะ แนวปะการังรอบๆเกาะมาราทัวเป็นแนวผาปะการังที่ห่างออกไปจากเกาะเพียงร้อยเมตรก็เป็นหน้าผาดิ่งลึกลงไปสู่ท้องทะเลมืดดำนับพันๆฟุต ที่นี่มีจุดดำน้ำที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ โดยเฉพาะจุดดำน้ำที่ชื่อชาแนล หรือดำน้ำไปตามกระแสน้ำเชี่ยวแรงที่ไหลผ่านช่องผาใต้น้ำ เรียกว่าเป็นการดำน้ำแบบวันเวย์ เพราะไม่มีใครจะอาจหาญดำทวนกระแสน้ำเชี่ยวนี้ได้ เรียกว่าเป็นการดำลอยละลิ่วชมวิวไปตามกระแสน้ำที่ไหลเข้าไปในช่องแคบปากลากูน โดยบริเวณปากช่องแคบเป็นจุดรวมของฝูงปลาสากขนาดใหญ่นับพันนับหมื่นตัว จับกลุ่มแปรขบวนกินอาหารที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ ฝูงปลากะมงนับพันนับหมื่น และฝูงกระเบนนกที่หากินอยู่ประจำถิ่น ซึ่งล้วนน่าตื่นตาตื่นใจ เรียกว่าแค่ 4 เกาะก็ ดำกัน 4 แบบ 4 สไตล์แล้ว ซึ่งนั่นจึงทำให้โปรแกรมการดำน้ำที่หมู่เกาะเดราวัน อินโดนีเซียของเรือภาณุนี เป็นที่สนใจของนักดำน้ำจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักดำน้ำหนุ่มๆสาวๆชาวญี่ปุ่นที่เคยเป็นลูกค้าประจำที่มาดำในเมืองไทยแล้วเกิดติดใจในมาตรฐานและบริการ ซึ่งช่วงนี้อาจจะเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราไม่กล้ามาดำน้ำแถวทะเลอันดามันของเรา ก็เลยย้ายมาดำเส้นทางหมู่เกาะเดราวันกันเป็นแถว ก็ยังดีครับที่เรือภาณุนีย้ายไปให้บริการที่นั่น อย่างน้อยก็สามารถจะขนเงินกลับมาบ้านเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

การเดินทางไปดำน้ำที่หมู่เกาะเดราวันเที่ยวนี้จะตื่นเต้นเร้าใจอย่างไร คงต้องขอเล่าต่อกันในสัปดาห์หน้าครับ

สายน้ำ
01-12-2010, 09:27
ดำน้ำหมู่เกาะเดราวัน (2) ................ โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000016794703.JPEG

หมู่เกาะเดราวัน ประเทศอินโดนีเซียที่ผมกำลังจะพาท่านไปดำน้ำกับเรือภาณุนี เป็นหมู่เกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งดำน้ำชื่อดังระดับโลกเลยทีเดียว เพราะตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งโดดเด่นยากจะหาหมู่เกาะใดเทียบได้ ด้วยตั้งอยู่ทางเกาะกาลิมันตันด้านตะวันออก ซึ่งเกาะกาลิมันตัน หรือที่ชาวโลกรู้จักกันมากกว่าในนามของเกาะบอร์เนียว เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองมาจากเกาะกรีนแลนด์และเกาะนิวกีนี โดยมีพื้นที่ราว 752,000 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรและโอบล้อมด้วยทะเล จึงเป็นทำเลยอดเยี่ยมที่ทำให้เกาะแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลก ได้ชื่อว่าเป็นเกาะที่มีความหลากหลายของแมกไม้ พืชพรรณและสัตว์ป่าสูงสุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว และที่สำคัญพื้นที่ 3 ใน 4 ของเกาะยังคงเป็นพื้นที่ป่าเขตร้อนอันอุดมสมบูรณ์ที่ยังไม่มีการสำรวจ เกาะใหญ่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของ 3 ประเทศคืออินโดนีเซียซึ่งเรียกเกาะแห่งนี้ว่ากาลิมันตัน ครอบครองพื้นที่ตอนกลางและด้านตะวันออกของเกาะลงมาถึงตอนใต้คิดเป็นพื้นที่ 2 ใน 3 ของเกาะ ส่วนมาเลเซียที่เรียกเกาะแห่งนี้ว่าเกาะบอร์เนียวครอบครองพื้นที่ตอนเหนือ อันเป็นที่ตั้งของรัฐซาบาห์และซาราวัก และประเทศบรูไนมีพื้นที่ขนาดเล็กๆ แต่เป็นจุดที่มากมีด้วยทรัพยากรน้ำมันตั้งอยู่ตอนบนตรงกึ่งกลางของเกาะ

http://pics.manager.co.th/Images/553000016794701.JPEG

ด้วยความใหญ่โตและอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ของเกาะกาลิมันตัน ธาตุอาหารและอินทรีสารมากมายจากเกาะจึงไหลลงทะเล ทำให้บริเวณรอบๆเกาะรวมทั้งบริเวณหมู่เกาะเดราวันจึงกลายเป็นท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร เป็นแหล่งรวมของฝูงปลาและสัตว์ทะเลจำนวนมากมายและหลากหลายชนิดพันธุ์ ประกอบกับชาวบ้านชาวเกาะของอินโดนีเซียนั้นทำประมงไม่เก่ง จับปลาแบบบู้ล้างผลาญไม่เก่งเหมือนชาวประมงไทย ทะเลแถบนี้จึงมีอะไรให้ดำดูมากมายหลากหลายทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็ก และสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ แต่ก็นั่นแหละครับ ด้วยเป็นเกาะอยู่ห่างไกล แม้นจะมีเรือบริการดำน้ำดีๆของประกอบการชาวไทยมาลอยลำให้บริการแหล่งดำน้ำรอบๆหมู่เกาะบริเวณนี้ที่มีเกาะเดราวัน เกาะซังกาลากิ เกาะมาราทัว และเกาะคาคาบัน แต่การเดินทางจากเมืองไทยกว่าจะไปถึงจุดหมายปลาทาง กว่าจะได้ดำน้ำกันก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่ไม่น้อย โดยพวกเรานักดำน้ำคนไทยสิบกว่าคนออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยเที่ยวบินประมาณบ่ายโมงของการบินไทย บินไปยังกรุงจากาตาร์ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ที่เลือกใช้บริการสายการบินไทยนั้นก็เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องน้ำหนักสัมภาระครับ เพราะนักดำน้ำนั้นสัมภาระเยอะทั้งกระเป๋าเสื้อผ้า กระเป๋าอุปกรณ์ดำน้ำ กระเป๋าอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ แต่ละคนจำเป็นต้องขนมากันให้พร้อมไม่เช่นนั้นก็จะดำน้ำไม่สนุก ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำบางสายราคาตั๋วเครื่องบินอาจจะถูกกว่า แต่เมื่อต้องถูกชาร์ตค่าน้ำหนักสัมภาระเพิ่มในราคาแพงลิบลิ่ว ราคารวมค่าตั๋วจึงไม่ได้ต่างกัน แถมยังมีบริการที่ดีกว่าทั้งอาหารบนเครื่องและการบินที่ตรงเวลา บินมาถึงจากาตาร์ค่ำๆ ก็ต้องหาโรงแรมใกล้ๆสนามบินพักกันคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นต้องตื่นแต่เช้าออกจากโรงแรมตอนตี 4 เดินทางมาสนามบินเพื่อบินเที่ยวบินภายในประเทศของอินโดนีเซียในตอน 6 โมงเช้า ซึ่งเราใช้บริการสายการบินมันดาลาแอร์เพื่อเดินทางไปยังเมืองตารากัน ซึ่งอยู่บนเกาะกาลิมันตันด้านตะวันออก ที่นั่นเป็นเมืองท่าใกล้สุดที่จะลงเรือต่อไปยังเกาะเดราวัน ระหว่างทางเครื่องบินก็จะลงจอดรับส่งผู้โดยสารที่เมืองบาลิกปาปันอีกราวครึ่งชั่วโมง กว่าจะถึงตารากันก็เกือบเที่ยง กว่าจะขนสัมภาระลงเรือภาณุนีก็บ่าย และเรือก็จะแล่นออกจากท่าไปยังเกาะเดราวันตอนเย็นๆ เรียกว่าเดินทางกัน 2 วันกว่าจะได้ลงเรือ

แม้นจะเดินทางกันยาวนานสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่าครับที่ได้มาลงดำน้ำรอบๆเกาะเดาวัน ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีสัณฐานเป็นรูปหยดน้ำ รอบๆเกาะมีชายหาด มีแนวปะการังแข็ง ลดระดับลึกลงไปยังแนวผาที่ตัดลงไปยังแนวน้ำลึกกว่าพันฟุต เรียกว่าดำน้ำได้ทุกรูปแบบตั้งแต่ดำง่ายๆแถวแนวน้ำตื้นบริเวณใต้ท่าเรือของเกาะที่มีแนวปะการังแข็งสลับลานทรายเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลขนาดเล็กมากมายหลากหลาย ลงไปถึงการดำลานทราย ดำตามแนวหน้าผาใต้น้ำ ซึ่งแค่ดำตื้นๆแถวหน้าท่าเรือของเกาะก็มีสัตว์ทะเลให้ดูมากมายตั้งแต่ม้าน้ำแคระขนาดตัวเท่าหัวไม้ขีด เกาะอยู่ตามกิ่งก้านกัลปังหา ซึ่งไดฟ์ลีดเดอร์มักจะใช้วิธีเอามือโบกน้ำไปมาใกล้ๆกับแผ่นกัลปังหา ถ้ามีเจ้าม้าน้ำแคระตัวจิ๋วเกาะอยู่ มันก็จะเคลื่อนไหวไปมา ก็จะทำให้สามารถมองเห็นได้ง่ายขึ้น ใหญ่ขึ้นมาหน่อยนักดำน้ำก็มักจะเพลิดเพลินกับเจ้าปลาบู่ทะเลมากมายหลายชนิด บางชนิดในเมืองไทยเราอาจจะพบเห็นได้ในระดับน้ำลึกถึง 20 กว่าเมตร แต่ที่นี่อาจจะเจอและถ่ายภาพกันได้ในระดับความลึกแค่ 5-6 เมตรเท่านั้น หรือหมึกหลายพันธุ์ตั้งแต่หมึกกระดองขนาดใหญ่ตัวอ้วนตัน ไปจนถึงหมึกสายวงฟ้าซึ่งเป็นหมึกในตระกูลหมึกยักษ์ แต่มันก็เป็นยักษ์ที่มีขนาดเล็ก มีสีเหลืองทองสวยงามมีวงกลมสีฟ้าครามเข้มตามลำตัว มันสามารถปรับสีสันสลับสับเปลี่ยนไปมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กเท่าๆหัวแม่มือ แต่เจ้ายักษ์เล็กตัวนี้ก็แน่ไม่เบาจนไม่มีใครกล้ายุ่งด้วย เพราะเป็นหมึกมีพิษที่สามารถจะกัดเหยื่อขนาดใหญ่กว่าตัวมันแล้วฉีดพิษใส่จนเหยื่อเป็นอัมพาตสิ้นชีพไม่อาจจะดิ้นรน ซึ่งพิษของเจ้าหมึกสายวงฟ้านั้นสามารถจะทำให้คนที่ไปจับไปมันแล้วถูกกัดก็อาจจะถึงตายได้เลยทีเดียว

http://pics.manager.co.th/Images/553000016794702.JPEG

บริเวณรอบๆเกาะเดราวันนั้นสามารถจะลงดำน้ำกันได้ตั้งแต่เช้ามืดจนถึง การลงดำไนท์ไดฟ์กันตอนค่ำมืด เพราะตั้งแต่เช้ามืดที่ฟ้ายังไม่สางนักดำน้ำก็จะตื่นกันตั้งแต่ตีสี่เพื่อประกอบเครื่องมือถือกล้องถ่ายภาพพร้อมไฟฉายลงไปดำน้ำกันตั้งแต่ตอนตีห้าที่ฟ้ายังไม่สาง ท่านที่ไม่ได้ดำน้ำอาจจะคิดว่ามันจะบ้าดำอะไรกันขนาดนั้น ก็ต้องขอบอกว่า ถ้าจะให้ได้ดูทีเด็ดที่เป็นสุดยอดของการดำน้ำที่เดราวันก็ต้องตั้งปลุกนาฬิกาปลุกขึ้นมาเพื่อลงดำกันเวลานั้นจริงๆ เพื่อที่จะได้มีโอกาสลงไปดูเจ้าปลาอมไข่ (Jaws fish) พ่นไข่ในปากที่ฟักออกเป็นลูกปลาตัวเล็กจิ๋ว ออกมาสู่มวลน้ำ เพื่อให้กำเนิดลูกปลาออกมาใช้ชีวิตเผชิญโชคในท้องทะเลกว้าง ซึ่งเป็นภาพที่จะไม่สามารถหาดูหรือถ่ายภาพที่ไหนได้ง่ายๆเท่ากับที่เกาะเดราวันแห่งนี้ หลายคนอาจจะแย้งว่าปลาอมไข่ชนิดที่เรียกว่าปลาจอส์ฟิชนั้นก็มีให้เห็นทั่วๆไปในทะเลหลายๆแห่ง แม้แต่ที่แถวๆเกาะสุรินทร์ เกาะสิมิลันบ้านเรา ซึ่งนั่นก็คงเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและปลาชนิดนี้ก็จะมีพฤติกรรมพ่นไข่ที่ฟักออกเป็นตัวเหมือนกันทุกที่ แต่ข้อสำคัญมันต่างกันที่ปลาจอส์ฟิชที่อื่นๆหรือที่สิมิลันบ้านเรานั้น มักจะชอบอยู่กับพื้นทรายระดับความลึกราว 20 เมตรขึ้นไป การที่จะดำลงไปเฝ้ารอสังเกตการณ์หรือรอคอยถ่ายภาพเจ้าปลาชนิดนี้โผล่ขึ้นมาจนคุ้นเคยไม่ตื่นหนีหลบลงไปในรู และยอมพ่นไข่ที่ฟักออกเป็นลูกปลาน้อยออกมาให้เห็นให้ถ่ายภาพกันนั้น ต้องใช้เวลาดำน้ำกันเป็นชั่วโมง ถ้าดำที่บ้านเราก็คงจะต้องใช้อากาศหมดถังและติดดีคอมหรือมีอาการของก๊าซไนโตรเจนแทรกซึมเข้าไปสะสมเป็นฟองอากาศในกระแสเลือดซึ่งจะเป็นอันตรายตอนกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำ เพราะไนโตรเจนจะขยายตัวเมื่อขึ้นมาสู่ผิวน้ำที่มีความกดดันเบาบางกว่า ซึ่งนับเป็นอันตรายยิ่ง

แต่เจ้าปลาจอส์ฟิชที่หน้าเกาะเดราวันนั้นมันขุดรูอยู่กันอย่างหน้าสลอนบน พื้นทรายใต้ทะเลในระดับความลึกแค่ 5-6 เมตรเท่านั้นเอง ซึ่งระดับความลึกเช่นนี้ดำน้ำกันได้อย่างปลอดภัยได้เป็นชั่วโมง โดยนักดำน้ำจะลงไปสำรวจกันล่วงหน้าไว้ก่อนในตอนเย็น เลือกดูพ่อปลาตัวที่อมไข่ไว้เต็มปาก โดยเลือกตัวที่ไข่นับร้อยๆฟองในปากมีขนาดใหญ่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีใส สามารถมองเห็นลูกปลาสีดำในไข่ซึ่งมีดวงตากลมโตสีดำขลับได้อย่างชัดเจนและคาดว่าลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวและพ่อปลาจะพ่นออกมาในเช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็จะเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆรู เพื่อเป็นการทำความรู้จักสร้างความคุ้นเคยกันเสียก่อน จากนั้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อลงมาดำดูพ่อปลาพ่นไข่ ก็จะแยกกันเฝ้าดูหรือถ่ายภาพเจ้าปลาตัวที่แต่ละคนเลือกกันไว้ ซึ่งพ่อปลาก็จะพ่นไข่ที่ฟักออกมาเป็นตัวตอนแสงแรกของวันเริ่มจับขอบฟ้า เพื่อให้ลูกน้อยได้ถือกำเนิดมารับแสงแรกแห่งอรุณ ก่อนล่องลอยไปเผชิญโชคในกระแสน้ำที่พัดพาออกไป ซึ่งเป็นภาพที่งดงามดูแล้วมีความสุขยิ่ง

สายน้ำ
01-12-2010, 09:30
ฝูงกระเบนราหูที่เกาะซังกาลากิ .............. โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000017192201.JPEG

ซังกาลากิ (Sangalaki) เป็นเกาะขนาดเล็กแห่งหนึ่งในทะเลเซเลเบส ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเกาะกาลิมันตัน อินโดนีเซีย อยู่ไม่ไกลจากเกาะเดราวันเท่าใดนัก ซังกาลากิเป็นเกาะที่มีชายหาดซึ่งเหมาะกับการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล ที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานอนุรักษ์เต่าทะเล และหน่วยอุทยานแห่งชาติทางทะเลของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งในแต่ละคืนตามหาดทรายจะมีเต่าทะเลชนิดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาวางไข่กันอยู่เสมอ บางคืนอาจจะมีการขึ้นวางไข่นับ ๑๐ รังเลยทีเดียว ไข่เต่าทะเลบางส่วนจะถูกปล่อยให้ฟักเป็นตัวเองตามธรรมชาติ และไข่เต่าทะเลบางรังก็จะถูกเก็บขึ้นมาขุดหลุมเพาะฟักอยู่ในบริเวณโรงเรือนเพาะฟักที่มีรั้วตาข่ายกั้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์จำพวกตะกวดหรือบรรดาญาติๆของตะกวดแอบเข้ามาขุดหลุมลักไข่เต่าไปกิน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถขออนุญาตขึ้นไปสังเกตการณ์เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ หรือไปดูลูกเต่าทะเลฟักออกจากไข่ก็สามารถทำได้ โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และจะต้องเสียค่าทำเนียมขึ้นไปดู ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอน ส่วนใหญ่จะแล้วแต่การเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่

การมาที่เกาะซังกาลากิของพวกเราครั้งนี้ไม่ได้เดินทางมาดูเต่าทะเลขึ้นวางไข่ แต่มีจุดหมายที่จะมาดำน้ำลงไปชมการรวมตัวของเจ้าปลากระเบนราหู (Manta ray) ซึ่งเป็นปลากระเบนพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยิ่งใหญ่ของเจ้ากระเบนราหูนั้นเมื่อโตเต็มที่มันอาจมีขนาดความกว้างของปีกด้านหนึ่งไปจนถึงปลายปีกอีกด้านหนึ่งราว 6 เมตรเลยทีเดียว และมีน้ำหนักถึงกว่า 2 ตัน ลองหลับตานึกถึงภาพของเจ้า กระเบนราหูตัวแบนๆ รูปร่างเป็นสามเหลี่ยมรูปเพชร ว่ายน้ำโฉบไปโฉบมาราวกับยานบินขนาดใหญ่ แผ่นหลังสีดำอาจมีปื้นสีขาวสลับในบางตัว ใต้ท้องมีสีขาว และบางตัวก็มีลายด่างดำประปราย ด้วยท่วงท่าการว่ายโฉบไปมาในห้วงน้ำสีครามโดยใช้แผ่นปีกด้านข้างลำตัวโบกกระพือขึ้นลงเหมือนกับการโบยบินของนกขนาดยักษ์ใต้ท้องทะเล ด้วยรูปร่างมหึมากับนิสัยที่ชอบว่ายอยู่กลางผืนน้ำและขึ้นมาลอยตัวใกล้ผิวน้ำ จึงทำให้ชาวประมงในสมัยโบราณต่างหวาดหวั่นพรั่นพรึง นั่นจึงเป็นที่มาของตำนานปีศาจแห่งท้องทะเล หรือแม้กระทั่งชื่อที่กระเบนชนิดนี้ถูกขนานนามว่า “กระเบนราหู”

http://pics.manager.co.th/Images/553000017192202.JPEG

แม้นจะเป็นกระเบนที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ปลากระเบนราหูก็เป็นยักษ์ใหญ่ใจดีที่ไม่เป็นอันตรายต่อชาวประมงหรือนักดำน้ำ เพราะกระเบนราหูนั้นไม่มีเงี่ยงพิษอันตรายบริเวณโคนหางเหมือนปลากระเบนชนิดอื่นๆ และเป็นปลากระเบนที่ว่ายเวียนวนอ้าปากกินแพลงก์ตอนตัวจิ๋วๆที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำเป็นอาหาร โดยมันจะว่ายน้ำไปแล้วอ้าปากกว้าง ใช้อวัยวะที่ยื่นออกมาสองข้างปากลักษณะคล้ายใบพาย (Cephalic Fin) โอบต้อนให้แพลงก์ตอนลอยเข้าไปในช่องปาก จากนั้นมันจะกรองเอาแพลงก์ตอนไว้แล้วปล่อยน้ำออกทางช่องเหงือกด้านใต้ลำตัว กระเบนราหูจึงมักว่ายน้ำไปมาอยู่ท่ามกลางเวิ้งน้ำ หรือว่ายเลียดผิวน้ำบริเวณช่องทางที่มีกระแสน้ำไหลผ่าน โดยแหล่งดำน้ำของไทยเราก็พบกระเบนราหูได้ที่หัวเกาะตาชัย หรือบริเวณปลายแหลมหินของเกาะบอน ในเขตจังหวัดพังงา ซึ่งนักดำน้ำมักแวะเวียนไปดำดูเจ้ากระเบนราหูกันที่นั่น และมีโอกาสจะพบเจอกันได้บ่อยครั้ง

ที่เกาะซังกาลากินั้นมีจุดดำน้ำที่ชื่อ Manta parade ซึ่ง ได้ยินชื่อก็ตื่นเต้นแล้ว ถึงขนาดมันจะว่ายเวียนกันมาเป็นขบวนพาเรดกันเลยหรือ ซึ่งก็คงต้องลงไปพิสูจน์กันโดยเมื่อเรือภาณุนีพาเรามาจอดลอยลำสงบนิ่งอยู่ที่แนวปะการังหน้าเกาะซังกาลากิ นักดำน้ำที่แต่งตัวเรียบร้อยก็แบกถังอากาศลงเรือยาง แล่นเข้าสู่จุดดำน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นร่องทรายที่ขนาบด้วยแนวปะการังสองฝั่ง ร่อยทรายขาวใต้ผืนน้ำนี้เกิดจากแนวกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดผ่านอยู่เป็นประจำ อันเป็นบริเวณที่ปลากระเบนราหูจะว่ายทวนกระแสน้ำผ่านมาวนเวียนให้ปลาพยาบาลเข้าไปทำความสะอาดเป็นประจำ ซึ่งเมื่อเราแล่นเรือยางผ่านเข้าไปใกล้ทุ่นดำน้ำ เสียงเอะอะเฮฮาก็ดังมาจากด้านหน้าเรือ เพราะเจ้ากระเบนราหูได้ว่ายเฉียดขึ้นมาต้อนรับถึงบนผิวน้ำมากมายหลายตัวด้วยกัน ทำให้แต่ละคนเกิดอาการเนื้อเต้นอยากที่จะกระโดดลงไปในเร็วพลัน พอเรือเข้าถึงจุดแต่ละคนก็หงายหลังลงไปสู่ผืนน้ำอย่างรวดเร็ว เบื้องล่างมองเห็นหลังเจ้ากระเบนราหูสีดำตัวโตว่ายผ่านหายไปในม่านน้ำสีคราม เข้ม มันคงตกใจตัวอะไรที่โดดลงมาจากผิวน้ำกันโครมคราม

http://pics.manager.co.th/Images/553000017192203.JPEG

ทัศนวิสัยใต้ทะเลรอบๆเกาะซังกาลากิในวันนั้นงดงามสดใสสามารถมองเห็นรอบข้างได้กว้างไกล เราลอยตัวตามไดฟ์ลีดเดอร์ที่พาล่องลอยตามกระแสน้ำไปตามร่องแนวทรายขาวที่ทอดตัวยาวราวทางกับช้างเผือก สองข้างแนวร่องทรายมีเนินปะการังเตี๊ยๆตั้งขนาบ เราแวะเข้าไปชมปะการังและฝูงปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทรมากมายหลายพันธุ์ ปลาโนรีที่ว่ายมากันเป็นฝูงราวธงทิวปลิวไสว ขณะลอยตัวหลบกระแสน้ำชมความงามของหมู่ปะการัง เสียงเคาะแท้งก็ดังขึ้นเป็นสัญญาบอกให้รู้ว่าเจ้าตัวโตผ่านเข้ามาแล้ว เมื่อมองขึ้นไปบนห้วงน้ำสีครามสดใส ก็เห็นร่างขนาดมหึมาของกระเบนราหูกระพือปีกช้าๆตรงเข้ามา มันตรงเข้ามาใกล้เหมือนกับยานบินที่ค่อยๆเคลื่อนผ่าน นักดำน้ำบางคนพยายามจะสลับเท้าตีฟินตามเข้าไปใกล้เพื่อถ่ายภาพ แต่กระแสน้ำที่ไหลแรง ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนใจกลับลงสู่พื้นทราย เจ้ากระเบนราหูขนาดใหญ่ว่ายผ่านมา 3 ตัว แล้วก็ว่ายผ่านไปกับกระแสน้ำ ไม่ได้หยุดว่ายวนเวียนให้ดูกันนานนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกระแสน้ำในวันนั้นค่อนข้างจะไหลแรงเกินไป ไม่เหมาะกับการร่อนลงมาให้ปลาพยาบาลตัวจิ๋วว่ายขึ้นไปทำความสะอาดเก็บกินปรสิตบนลำตัว มันจึงได้แต่ว่ายเวียนผ่านมาแค่จองบัตรคิวเท่านั้น ปลากระเบนราหูขนาดใหญ่นั้น หากมันว่ายผ่านมาโดยไม่คิดจะแวะวนเวียนดูพวกเราหรือวนเวียนให้พวกเราดูแล้ว ก็ไม่ต้องคิดที่จะว่ายน้ำไล่ตามเสียให้ยาก เพราะจะเหนื่อยเปล่าและไม่มีทางจะไล่ตามทันแม้นมันจะกระพือปีกช้าๆก็ตาม

เมื่อกระแสน้ำแรงเกินไม่เหมาะสมที่จะลอยตัวขึ้นไปเฝ้าดูกระเบนราหูอยู่กลางห้วงน้ำ พวกเราก็หันมาสนใจถ่ายภาพเจ้าปลาการ์ตูนสีสันสดใสแทน แม้นปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเลจะเป็นปลาที่หาดูได้ทั่วๆไปโดยไม่ยากเย็น แต่ปลาการ์ตูนที่เกาะซังกาลากิในวันนั้น กลับมีความพิเศษที่มันอาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเลที่กำลังเปลี่ยนสีสัน เป็นสีขาวใสแปลกตา บางชนิดเป็นดอกไม้ทะเลลูกโป่งสีขาวใส ดอกไม้ทะเลบางกอก็เปลี่ยนสีเป็นสีส้มอมชมพูดูงดงามแปลกตา ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั่วแนวปะการังทั้งภูมิภาคแถบนี้

สายน้ำ
01-12-2010, 09:32
พายุฝูงปลาสากที่เกาะมาราตัว ............... โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000017568501.JPEG
เกาะมาราตัว

จุดสนใจอันดับต้นๆสำหรับการมาดำน้ำบริเวณหมู่เกาะเดราวันประเทศอินโดนีเซียและเกาะใกล้เคียงกับเรือทริปของภาณุนี เรือบริการดำน้ำชั้นนำของคนไทยที่มาลอยลำให้บริการดำน้ำบริเวณนี้ก็คือ การดำน้ำท่ามกลางฝูงปลาสากนับพันนับหมื่นที่ว่ายกันมามากมายราวกับพายุทอนาโดที่เกาะมาราตัว (Maratua) ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งสำหรับคนที่มีโอกาสลงไปดำน้ำที่นั่น

มาราตัวเป็นเกาะรูปทรงคล้ายกับเกือกม้า แต่เป็นเกือกม้าหัวแหลมๆยาวๆ บางคนก็บอกคล้ายกับบูมเมอแรงหรือรูปตัววี บางคนก็เปรียบเหมือนกระดูกอกไก่ โดยตรงส่วนกลางมีสภาพเป็นลากูนขนาดใหญ่ มาราตัวเป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำที่พ่นลาวาขึ้นมาเป็นขอบคัน กลายเป็นสัญฐานของเกาะโอบปากปล่องที่ตื้นเขินจนกลายเป็นลากูนกลางเกาะ เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนเกาะแห่งนี้กลายเป็นซากภูเขาไปพื้นที่บนเกาะจึงกลายเป็นที่ก่อเกิดสรรพชีวิต มีผืนป่าปกคลุมเขียวขจี ชายเกาะมีป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์เป็นปราการกันคลื่นโดยมีของแนวผาปะการัง ด้านนอกเป็นแนวปะทะคลื่นลำดับแรกอีกทีหนึ่ง แนวน้ำตื้นในลากูนอันกว้างใหญ่มีพื้นทรายขาวละเอียดความลึกราว 1-10 เมตร มีช่องทางน้ำทะเลจากภายนอกไหลผ่านเข้าออกเป็นช่องแคบๆ ทำให้น้ำทะเลในลากูนมีการขึ้นสูงสุด และลดลงต่ำสุดจนเห็นพื้นทรายขาวเบื้องล่าง และในบริเวณลากูนแห่งนี้นี่เองที่เป็นแหล่งอนุบาลเพาะเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็ก เกาะมาราตัวจึงเป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดและมีชาวเกาะอาศัยอยู่มากที่สุด ในบรรดาเกาะทั้งสี่แห่งในหมู่เกาะเดราวัน

http://pics.manager.co.th/Images/553000017568502.JPEG
ศูนย์รวมฝูงปลานับพัน

ผมเคยมาดำน้ำที่เกาะมาราตัวแห่งนี้เมื่อ 5 ปีก่อน เป็นการมาดำน้ำโดยพักที่รีสอร์ตเล็กๆบนเกาะมาราตัว ทางรีสอร์ตใช้เรือไฟเบอร์ขนาดกลางบรรทุกนักดำน้ำได้สัก 10 คน ขนถังอากาศและอุปกรณ์กล้องลงเรือออกไปดำตามจุดดำน้ำต่างๆในแต่ละวันแล้วกลับขึ้นมานอนรีสอร์ต ต้องขนของขึ้นๆลงๆในแต่ละวันไม่ค่อยจะสะดวกกับการทำงานถ่ายภาพใต้น้ำเท่าใดนัก แต่มาครั้งนี้ผมใช้บริการเรือภาณุนีซึ่งเป็นเรือบริการดำน้ำแบบเรือ Liveaboard ขนาดใหญ่ที่กินนอนบนเรือ มีห้องนอนปรับอากาศที่แสนสบาย เมื่อจะลงดำน้ำเรือก็สามารถจะเข้าไปจอดได้ถึงจุดดำน้ำ ทำให้การทำงานใต้น้ำและการถ่ายภาพสะดวกสบายยิ่งขึ้น

แหล่งดำน้ำขึ้นชื่อที่สุดของเกาะมาราตัวก็คือจุดดำน้ำที่ชื่อว่า The Channel หรือดำกันบริเวณช่องแคบร่องน้ำปากทางเข้าลากูนซึ่งเป็นบริเวณที่มีลักษณะพิเศษ เป็นเสมือนชุมทางของอาหารที่ไหลมากับกระแสน้ำที่ภูมิประเทศใต้ทะเลบีบช่องทางไหลให้เหลือเพียงช่องแคบๆตรงปากประตูทางเข้าลากูนเท่านั้น บริเวณนี้จึงมักเป็นจุดศูนย์รวมของฝูงปลาสากหรือ Baracuda ขนาดใหญ่ลำตัวยาวราว 1 เมตรนับพันๆหมื่นๆตัวมารวมฝูงอยู่บริเวณปากช่องแคบแห่งนี้ หรือไม่ก็ฝูงปลากะมงตัวขนาดยาวราว 1 ฟุต นับพันๆตัวว่ายเวียนวนรอบๆช่องแคบบริเวณปากลากูน และที่นี่ยังเป็นถิ่นของกระเบนนกที่อาศัยอยู่ประจำเป็นปลาเจ้าถิ่นอีกชนิดหนึ่ง ทั้งบริเวณแนวผาที่ชันที่ลุ่มลึกมืดดำลงไปหลายร้อยเมตรด้านนอก ยังมีฉลามชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉลามหัวค้อนและฉลามหางยาวที่มักจะว่ายผ่านมาอวดโฉมให้เห็นกันบ่อยครั้ง

การลงดำน้ำที่ปากช่องแคบลากูนเกาะมาราตัวนั้นนับเป็นความตื่นเต้น ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะจะดำให้ดีต้องรอเวลาช่วงที่น้ำไหล คือตั้งแต่หัวน้ำขึ้นที่น้ำทะเลจากด้านนอกจะไหลเข้าสู่ลากูนไปจนถึงช่วงน้ำเริ่มนิ่ง แต่หลังจากน้ำนิ่งแล้วฝูงปลาแถวๆปากช่องแคบก็จะแยกย้ายไปหากินที่อื่นเหมือนตลาดวายซึ่งจะไม่ค่อยเห็นอะไร ดังนั้นการลงดำที่นี่จึงจะต้องดำท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยว ถ้าถามว่ากระแสน้ำบริเวณนี้เชี่ยวแค่ไหนก็ต้องบอกว่าเชี่ยวประเภทโดดลงจากเรือแล้วจะต้องปักหัวดำดิ่งลงไปใกล้แนวผาใต้น้ำให้เร็วที่สุด จากนั้นก็จะล่องลอยไปกับกระแสน้ำเหมือนร่อนบินล่องลอยไปในอากาศ ไม่ต้องคิดที่จะว่ายทวนน้ำกลับมาเพราะไม่มีทางจะต้านความรุนแรงของกระแสน้ำได้ และการดำน้ำที่นี่นอกจากอุปกรณ์ดำน้ำที่จำเป็นทั่วๆไปแล้ว นักดำน้ำจะต้องใช้ตัวช่วยที่สำคัญเป็นอุปกรณ์เสริมนั่นคือตะขอที่มีห่วงผูกเชือกยาวสัก 1 เมตร ปลายเชือกด้านหนึ่งมีตัวล็อคเกี่ยวติดไว้กับห่วงบีซีที่นักดำน้ำสวมอยู่ ตะขอนี้จะมีความสำคัญมากประเภทขาดแทบไม่ได้เลยทีเดียวสำหรับการดำน้ำที่นี่ เพราะจะทำให้เราสามารถเกาะเกี่ยวติดกับหินแล้วลอยตัวดูฝูงปลาสากได้โดยไม่ลอยละลิ่วปลิวไปกับกระแสน้ำ

http://pics.manager.co.th/Images/553000017568503.JPEG
ขบวนสวนสนามของปลาสาก

เมื่อไดฟ์ลีดเดอร์พาล่องลอยตามกระแสน้ำเลียบผาแนวปะการังมาได้ชั่วครู่ก็จะถึงปากช่องแคบที่จะแยกเข้าสู่ลากูน มาถึงตรงนี้ก็จะต้องบังคับทิศทางเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ปากลากูนให้ทัน ไม่เช่นนั้นก็จะลอยเลยไปตามแนวผาใต้น้ำลอยเลียบแนวปะการังไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อบังคับเลี้ยวมาถึงปากช่องทางเข้าลากูน บริเวณนี้จะมีลักษณะคล้ายสามแยก มีลานกว้างระดับความลึกราว 15-16 เมตร ให้เป็นจุดชมฝูงปลาสากซึ่งนักดำน้ำทุกคนจะต้องรีบมองหาก้อนหินเพื่อเอาตะขอประจำตัวเกี่ยวกับก้อนหินเพื่อหยุดตัวเองให้ลอยอยู่กับที่เหมือนเรือลงจอดทอดสมอ ซึ่งเมื่อมาถึงที่นี่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจก็จะปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้า ด้วยฝูงปลาสากครีบดำขนาดใหญ่ แต่ละตัวความยาวราว 1 เมตร จับกลุ่มรวมฝูงล่องลอยกันอยู่นับพันนับหมื่น มันลอยตัวเรียงรายเป็นขบวน เป็นระเบียบราวกองทัพที่หันหน้าไปทางเดียวกัน เคลื่อนพลไปทางเดียวกันเหมือนกองทัพที่กำลังแปรขบวนสวนสนาม บางครั้งมันก็แปรขบวนเป็นรูปวงกลมดูเหมือนพายุทอนาโดที่กำลังพัดหมุนเคลื่อนผ่าน บางครั้งฝูงปลาสากก็เคลื่อนเข้ามาใกล้จนแทบจะเอื้อมมือจับถึง มองเห็นคมปากแหลมเรียว กับเขี้ยวแหลมยาวคับออกมานอกปากกับดวงตาดำขลับกลมโต ลายเกล็ดสีเงินกับลายริ้วบั้งสีเทาบนลำตัวสะท้อนกับแสงตะวันที่ส่องลงมาจากผิวน้ำเบื้องบน

ฟองอากาศของนักดำน้ำแต่ละคนที่เรียงรายกันเกี่ยวตะขอลอยตัวดูการแปร ขบวนสวนสนามของฝูงปลาสาก พร่างพรูล่องลอยลู่ไปทางเดียวกันเป็นสีเงินยวงตามแนวความเชี่ยวแรงของกระแสน้ำ กำลังชมฝูงปลาสากสวนสนามอยู่ดีๆ อาจเจอกับฝูงปลากระเบนนก 5-6 ตัว ก็ขยับปีกเคลื่อนผ่านมาตามแนวน้ำอันล้ำลึกด้านนอกมองดูราวกับฝูงนกบิน ขบวนสวนสนามของฝูงปลาสากยังคงแปรขบวนดำเนินไปอย่างดงามกระทั่งกระแสน้ำเริ่มทรงๆตัว และเมื่อสายน้ำเริ่มหยุดนิ่งอิ่มตัวไม่ขึ้นไม่ลง แพลงก์ตอนและอาหารที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำราวกับสายพานอาหารที่หมุนผ่านก็หยุดลง ฝูงปลาขนาดเล็กที่มารวมตัวกันบริเวณสามเหลี่ยมปากลากูนก็แยกย้าย ฝูงปลาสากก็เคลื่อนย้ายไปหากินที่อื่นต่อ จวบจนระดับน้ำเริ่มขึ้นเริ่มลง กระแสน้ำเริ่มพัดพาเคลื่อนไหลอีกครั้ง ขบวนสวนสนามของฝูงปลาสากที่นี่ก็จะเริ่มต้นขึ้นอีก หมุนเวียนไปเช่นนี้วันแล้ววันเล่า.

สายน้ำ
01-12-2010, 09:33
กากาบันทะเลสาบมหัศจรรย์ ...................... วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000017921101.JPEG

กากาบัน (Kakaban Island) เป็นเกาะสุดท้ายที่เราจะดำน้ำสำรวจกันในทริปการเดินทางมาดำน้ำกับเรือภาณุนี เรือบริการดำน้ำมาตรฐานชั้นนำของคนไทย ที่มาลอยลำให้บริการดำน้ำบริเวณหมู่เกาะเดราวันของประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะเดราวัณแห่งนี้เป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงของโลก เพราะตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร และอยู่ใกล้กับเกาะกาลิมันตันด้านตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่มีอินทรีสารและธาตุอาหารไหลลงทะเลอย่างมากมาย บริเวณนี้จึงมีท้องทะเลและแนวปะการังที่มีสัตว์น้ำมากมายหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว หมู่เกาะเดราวัณมีเกาะที่เหมาะสำหรับการดำน้ำอยู่ 4 เกาะด้วยกันคือ เกาะเดราวัน เกาะซังกาลากิ เกาะมาราตัว และเกาะกากาบันแห่งนี้

http://pics.manager.co.th/Images/553000017921102.JPEG

กากาบันเป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งโดดเด่นอยู่กลางท้องทะเล แต่เกาะแห่งนี้ก็มีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะตรงกลางเกาะมีทะเลสาบขนาดประมาณ 5 ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่ ลักษณะเป็นทะเลสาบปิดที่น้ำในทะเลสาบไม่มีช่องเชื่อมต่อกับน้ำทะเลภายนอก ลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่เริ่มจะเป็นน้ำกร่อยเพราะมีปริมาณของน้ำฝนเติมลงไปทุกปี

ความพิเศษของทะเลสาบกากาบันแห่งนี้ก็คือลักษณะการกำเนิดที่ข้อมูลทางธรณี วิทยาระบุว่า กำเนิดขึ้นเมื่อราว 2 หมื่นปีก่อน โดยแต่เดิมกากาบันมีลักษณะเป็นเกาะปะการัง (Atall) ที่เกิดจากการรวมตัวของแนวปะการังจนโผล่พ้นน้ำ แต่เกาะแห่งนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีสัญฐานครั้งใหญ่ โดยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงทำให้เกิดพลังมหาศาลยกตัวขอบแนวปะการังด้านข้างให้สูงขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ก่อให้เกิดเป็นขอบคันปิดกั้นน้ำทะเลตอนกลางด้านในเอาไว้ ทำให้กลายสภาพเป็นทะเลปิด เมื่อวงจรเชื่อมต่อกับน้ำทะเลภายนอกถูกปิดกั้น สรรพชีวิตในผืนน้ำกว้างราว 5 ตารางกิโลเมตรก็เหมือนถูกขังไว้ในทะเลสาบแห่งนี้ชั่วนิจนิรันดร์ เมื่อกาลเวลาผันผ่านไปยาวนานจวบจนปัจจุบัน เกาะกากาบัน ทะเลสาบกากาบันและสรรพชีวิตบนเกาะรวมทั้งในทะเลสาบแห่งนี้ก็เปลี่ยนแปลงและมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ฝนที่ตกลงมาทุกปีทำให้ความเค็มของน้ำในทะเลสาบลดลง รอบเกาะถูกปกคลุมด้วยผืนป่าดิบชื้น ป่าชายหาด และป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์

ส่วนในทะเลสาบกว้างสีเขียวมรกต สัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่ถูกปิดขังตั้งแต่ยุคแรกไม่อาจปรับตัวได้ ก็ล้มหายตายจากและสูญพันธุ์ไปจากทะเลสาบ เหลือไว้เพียงกุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์น้ำและพืชน้ำขนาดเล็ก

http://pics.manager.co.th/Images/553000017921103.JPEG

แม้นหลายๆชีวิตจะล้มหายตายจากไปจากทะเลสาบกากาบันเนื่องจากไม่อาจปรับตัวให้ดำรงชีพอยู่ในทะเลสาบปิดได้ แต่ก็มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่สามารถจะสืบสานเผ่าพันธุ์และขยายพันธุ์ขึ้นได้อย่างมากมายจนกลายเป็นเจ้าแห่งทะเลสาบกากาบันไปทั้งที่มันเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างของชีวิตง่ายๆไม่สลับซับซ้อน และมีร่างกายแสนจะบอบบางอ่อนนุ่ม เจ้าสัตว์ที่สามารถจะครอบครองทะเลสาบกากาบันชนิดนี้ก็คือ “แมงกะพรุน” นั่นเอง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแมงกะพรุน มีโครงสร้างของร่างกายง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ล่องลอยจับกินแพลงก์ตอน พืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร มันไม่ต้องการอาหารมากมายจึงสามารถจะปรับตัวให้อยู่รอดได้ในทะเลสาบแม้นสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด และยิ่งเมื่อปลาขนาดใหญ่ สัตว์ทะเลขนาดใหญ่ไม่อาจจะทานทนอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ได้ แมงกะพรุนก็เลยไม่มีภัยจากสัตว์ผู้ล่า ทำให้มันสามารถจะสืบสานเพิ่มปริมาณของเผ่าพันธุ์ขึ้นมาได้มากมาย จนสามารถครอบครองทะเลสาบได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ซึ่งเกาะที่มีทะเลสาบแมงกะพรุนลักษณะเช่นนี้มีเพียง 2 แห่งในโลกเท่านั้น คือที่เกาะกากาบันแห่งนี้และที่เกาะปาเลาของไมโครนีเซีย

การมาเที่ยวชมทะเลสาบกากาบันแห่งนี้ เมื่อเรือยางพาจากเรือใหญ่มาจอดหน้าสะพานไม้ท่าเรือ ก็จะต้องปีนบันไดไม้ซึ่งทำเป็นทางเดินผ่านป่าดิบอันร่มครึ้มขึ้นไปตามความสูงชันของภูเขาหิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหินภูเขาไฟที่มีรูพรุนและมีความแหลมคม ระยะทางราว 100 เมตร ก็จะเป็นขึ้นบันไดลงไปถึงริมทะเลสาบกลางเกาะ นักดำน้ำต้องช่วยกันขนอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพใต้น้ำและอุปกรณ์ดำน้ำสำหรับสนอร์เกิลติดไปด้วย เพื่อจะลงดำสำรวจทะเลสาบกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าทะเลสาบแห่งนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติสูง ในแต่ละปีจะมีผู้คนมาเที่ยวชมไม่มากนักเพราะเป็นเกาะที่อยู่ห่างไกลกลางทะเลกว้าง จะมีชาวเกาะใกล้เคียงมาเที่ยวกันมากก็เฉพาะวันหยุดในเทศกาลสำคัญปีละไม่กี่วันเท่านั้น

http://pics.manager.co.th/Images/553000017921104.JPEG

รอบทะเลสาบมีป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์ปกคลุมตลอดแนว เมื่อหน้ากากดำน้ำทาบลงไปในผืนน้ำสีมรกต ภาพของผืนน้ำใสมีสาหร่ายทะเลสีเขียวขึ้นคลุมอยู่ทั่วก็ปรากฏ มีแมงกะพรุนชนิดต่างๆมากมายนับหมื่นนับแสนตัว ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ว่ายล่องลอยกันอยู่ทั่วทะเลสาบ บ้างก็นอนทาบอยู่กับพื้นสาหร่าย นับเป็นภาพที่งดงามมหัศจรรย์ แมงกะพรุนเหล่านี้เป็นชนิดที่ไม่มีเข็มพิษ จึงไม่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ ตามรากต้นโกงกางใต้ผืนน้ำยังเต็มไปด้วยฟองน้ำหลากสี ทั้งสีชมพู ม่วง แดง เหลือง ดูสวยงาม ดอกไม้ทะเลสีสวย หนอนท่อ และทากทะเลสีแปลกตา ทั้งยังมีปลาขนาดเล็กหลายชนิด โดยเฉพาะปลาบู่ทะเลที่สวยงามและบางชนิดได้ชื่อว่าไม่พบในที่อื่นใด ซึ่งนั่นนับเป็นความมหัศจรรย์ยิ่งของทะเลสาบกากาบัน ทะเลสาบมหัศจรรย์ 1 ใน 2 ของโลกแห่งนี้

นอกจากทะเลสาบมหัศจรรย์กลางเกาะกากาบันแล้ว แนวปะการังรอบๆเกาะก็เป็นจุดดำน้ำที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งสภาพเป็นแนวปาการังที่ทอดตามระดับความลาดชันของเกาะและแนวปะการังแบบผาปะการังที่ตัดลึกดิ่งชันลงไปหลายร้อยเมตร เป็นลักษณะการดำตามกำแพงผาใต้น้ำที่น่าตื่นเต้นท้าทาย เรียกว่าการมาดำน้ำที่เกาะกากาบันนั้น นับเป็นประสบการณ์ครั้งที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง

blue day
02-12-2010, 13:19
"เดราวันหมู่เกาะในฝันของคนรัก(ษ์)ทะเล" ผมเคยเข้าไปอ่าน ที่พี่น้อย เขียนกระทู้นี้หลายรอบแล้ว ชอบมากๆเลยครับ ชอบทั้งการเล่าเรื่อง/ภาพ แล้วผมก้อบอกตัวเองว่า ต้องไปให้ได้ ต้องไปให้ได้:d:D

สายชล
02-12-2010, 13:49
ขอบคุณจ้ะน้องดื้อ blue day.....:)


เดราวันฯ เป็นจุดดำน้ำที่ประทับใจมากๆ และยังอยากจะไปที่นี่อีกสักครั้งหนึ่งค่ะ...