PDA

View Full Version : ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ


สายน้ำ
31-08-2011, 08:27
ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ ....................... โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/554000011641101.JPEG

บริเวณแนวปะการังใต้ทะเลลึก ปลาในกลุ่มปลาสินสมุทร (Angelfish) นับเป็นปลาที่มีสีสันสวยงามสะดุดตา จนหลายคนยกให้เป็นนางงามแห่งท้องทะเลเลยทีเดียว ด้วยรูปทรงขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ จึงทำให้ปลาสินสมุทรเปรียบเสมือนนางงามที่มีหุ่นสูงสง่า ไม่ว่าจะแหวกว่ายเยื้องกรายไปที่ไหน ประกายแห่งความงดงามก็จะฉาบฉายให้ปลาชนิดนี้สวยงามโดดเด่นขึ้นมาเหนือปลาอื่นๆรอบข้าง และแน่นอนว่าเธอจะเป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาช่างภาพใต้น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นคนสวยประเภทสวยเลือกได้ จึงทำให้คุณเธอค่อนข้างจะไว้ตัวสักหน่อย คือไม่ค่อยจะยินยอมให้เข้าไปถ่ายภาพในระยะใกล้ๆโดยง่ายๆ ภาพที่ถ่ายได้ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นภาพแอบถ่ายตอนเผลอ ซึ่งเมื่อเธอหันมาเห็นเข้าและรู้ตัวว่ากำลังถูกจ้องถ่ายภาพก็มักจะรีบว่ายหนีจากไปในทันที

ความจริงก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาสวยงามในแนวปะการังมักจะมีความว่องไวปราดเปรียว หรือมีสัญชาติญาณในการระแวงภัยสูง เพราะปลาสวยงามส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธป้องกันตัว ไม่ใช่ปลานักล่าที่มีเขี้ยวคม ไม่ใช่ปลาที่มีอาวุธป้องกันตัวอื่นๆเช่นมีเงี่ยงพิษร้ายแรงเป็นอาวุธป้องกันตัวเหมือนกับปลาในกลุ่มปลาสิงโต ปลาแมงป่อง ปลาหิน ซึ่งความจริงปลาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็มีหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัวเป็นอาวุธอยู่แล้ว หรือมีพิษร้ายแรงในอวัยวะภายในอย่างปลาในกลุ่มปลาปักเป้า ซึ่งจะไม่มีใครกล้ายุ่ง ปลาในกลุ่มปลาสินสมุทรนั้นแม้นทุกตัวจะมีเงี่ยงแหลมบริเวณแผ่นปิดเหงือกตรงแก้มทั้งสองข้าง ซึ่งสามารถจะใช้สะบัดใส่ศัตรูให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อปลานักล่าขนาดใหญ่ๆอย่างฉลามหรือปลานักล่าอื่นๆได้ ดังนั้นการรักษาระยะห่างต่อสิ่งแปลกหน้าที่มีท่าทางไม่น่าไว้วางใจอย่างนักดำน้ำนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของสัญชาติญาณที่พวกเธอควรจะมี

ความจริงปลาสินสมุทรนั้นจะมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาสวยงามอีกกลุ่มหนึ่งที่มีมากมายในแนวปะการังนั่นคือปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อ เรียกว่าเป็นพี่น้องกันเลยก็ได้ แต่สิ่งที่สามารถจะแยกปลาสินสมุทรออกจากปลาผีเสื้อได้ก็คือเงี่ยงที่แก้มทั้งสองข้างซึ่งปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อไม่มี และปลาสินสมุทรส่วนใหญ่มักจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าปลาผีเสื้อ แต่ก็ยังมีปลาสินสมุทรที่มีขนาดเล็กอยู่เช่นกัน บางชนิดก็เล็กกว่าปลาผีเสื้อตัวโตๆ เสียด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ปลาสินสมุทรที่พบในท้องทะเลบ้านเรานั้นมักจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อ โดยปลาสินสมุทรที่พบกับเห็นกันบ่อยๆ ก็เช่นปลาสินสมุทรจักรพรรดิ ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลาสินสมุทรลายบั้ง ปลาสินสมุทรแว่นเหลือง ซึ่งตัวที่พบกันมากที่สุดและเป็นพระเอกของจุดดำน้ำทางฝั่งอันดามันก็น่าจะเป็นปลาสินสมุทรจักรพรรดิ (Emperor angelfish) นั่นเอง ซึ่งปลาสินสมุทรชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่อาจมีขนาดลำตัวยาวถึง 40 เซนติเมตร ลำตัวแบนกว้างมีสีเหลืองเป็นพื้นมีลายแถบสีน้ำเงินยาวจากด้านหัวไปถึงหาง ปลายหางมีสีเหลือง ครีบและแก้มสีน้ำเงิน มีสีขาวบริเวณปาก ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่ใสสะอาดพบได้ทางฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยพบมากทางฝั่งอันดามัน ส่วนอ่าวไทยนั้นพบได้ที่บริเวณเกาะเต่าและกองหินโลซิน ปลาสินสมุทรจักรพรรดิที่ว่ายเวียนหากินอยู่ตามแนวปะการังส่วนใหญ่จะพบเดี่ยวๆ นานๆครั้งก็อาจจะพบมาเป็นคู่อยู่บ้าง อาหารโปรดของเจ้าปลาสินสมุทรจักรพรรดินั้นจะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กๆ ปะการัง ฟองน้ำ

http://pics.manager.co.th/Images/554000011641102.JPEG

ความพิเศษที่ปลาสินสมุทรแตกต่างจากปลาชนิดอื่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงที่เป็นปลาวัยอ่อนนั้นลูกปลาสินสมุทรจะมีสีสันลวดลายแตกต่างไปจากพ่อปลาแม่ปลาโดยสิ้นเชิง ชนิดที่ว่าเห็นหน้าแล้วก็ไม่มีทางรู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครเลยทีเดียว อย่างเช่นลูกปลาสินสมุทรจักรพรรดินั้นจะมีสีน้ำเงิน มีเส้นลายสีขาวและมีลายก้นหอยบริเวณส่วนปลายของลำตัวใกล้โคนหาง ตอนเป็นปลาวัยอ่อนนี้จะไม่มีสีเหลืองมาปะปนอยู่เลย กระทั่งเมื่อตัวโตขึ้นมาหน่อย ครีบหางและครีบใต้ท้องด้านใกล้โคนหางก็จะเริ่มมีสีเหลืองและลวดลายของลำตัวก็จะเริ่มเปลี่ยนไป จนกระทั่งมีลวดลายและสีสันคล้ายกับพ่อแม่มากขึ้นเมื่อขนาดลำตัวโตขึ้นมาเรื่อยๆ และเมื่อโตเต็มที่ก็จะมีสีสันลวดลายเหมือนพ่อแม่ทุกประการ ซึ่งเหตุผลของการมีลวดลายสีสันและรูปร่างผิดแปลกแตกต่างไปจากพ่อแม่โดยสิ้นเชิงนั้น ก็อาจจะเป็นกลอุบายเพื่อลวงให้นักล่าเข้าใจผิดว่าเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งซึ่งโตเต็มที่แล้ว มีความปราดเปรียวว่องไวในการเอาตัวรอดแล้ว ไม่ใช่ปลาเด็กๆที่อ่อนแอหลอกลวงง่ายล่าง่าย เพราะถ้ามีสีสันลวดลายเหมือนพ่อแม่แต่กลับมีขนาดลำตัวเล็กจิ๋ว และต้องหากินโดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะปลาส่วนใหญ่นั้นพ่อแม่จะไม่ได้คอยอยู่เลี้ยงดูปกป้อง ต้องออกเผชิญโชคเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ธรรมชาติจึงสร้างกลลวงให้นักล่าเกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าปลาสินสมุทรแทบจะทุกตัวค่อนข้างจะเป็นปลาขี้อายไม่ค่อยยอมให้เข้าใกล้ได้ง่ายๆ ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ โดยเฉพาะเจ้าสินสมุทรน้อยตัวสีน้ำเงินลายขาวนั้นนอกจากจะหาดูได้ยากเพราะชอบซุกซ่อนหลบภัยในซอกโพรงหินและโขดปะการังใต้น้ำ เมื่อพบเจอก็มักจะว่ายมุดหลบเข้าไปข้างใน ไม่ยอมอยู่นิ่งให้ถ่ายภาพได้โดยง่าย สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องคอยเฝ้าคอยตื้อรอคอยด้วยอาการสงบนิ่งให้เจ้าสินสมุทรน้อยไว้วางใจแล้วว่ายออกมาให้ถ่าย หรือเลือกตอนที่เจ้าตัวน้อยเริ่มหิวแล้วว่ายตอดกินอาหารอย่างไม่ค่อยจะสนใจอะไรรอบข้าง นั่นจะเป็นช่วงโอกาสทองที่จะกดชัตเตอร์เก็บภาพ ส่วนเจ้าปลาสินสมุทรจักรพรรดิขนาดใหญ่ๆนั้นก็เช่นกันหากไม่คอยตามถ่ายตอนที่มันเผลอตอดกินอะไรตามแนวปะการังไปเรื่อยโดยไม่สนใจใคร ก็ต้องรอถ่ายภาพตอนกลางคืนที่มันแอบลอยตัวนอนนิ่งๆอยู่ตามเวิ้งหินหรือโขดปะการัง เพราะเวลานั้นจะเป็นช่วงที่มันอยู่นิ่งที่สุด แต่ก็อาจจะได้สีสันของลำตัวที่ดูซีดจางกว่าตอนกลางวัน เพราะในยามกลางวันที่แดดจ้าฟ้าใสน้ำทะเลเป็นสีฟ้าครามเข้ม ปลาสินสมุทรจักรพรรดิก็จะปรับสีสันของมันให้เป็นสีฟ้าน้ำเงินเข้มสดใสยิ่งขึ้น บริเวณสีเหลืองก็จะเป็นเหลืองที่สดใสจัดจ้าตัดกับผืนน้ำสีฟ้าคราม

ด้วยความสวยงามของสีสันและลวดลาย ปลาสินสมุทรจักรพรรดิจึงเป็นปลาเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่บรรดาอควาเรียมและผู้นิยมเลี้ยงปลาตู้น้ำเค็มทั้งหลายต้องการที่จะมีมาแสดงไว้ในตู้ของตน มันจึงมักถูกล่าถูกจับขึ้นมาส่งขายเป็นจำนวนมาก และด้วยธรรมชาติที่มันชอบตอดกินอาหารจากแนวปะการังเป็นหลัก การเลี้ยงด้วยอาหารที่ไม่เหมือนกับอาหารในธรรมชาติ น้ำทะเลที่ไม่ใช่น้ำทะเลในธรรมชาติ จึงทำให้ปลาชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในตู้ได้ไม่นานก็ตาย นั่นจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าของชีวิตที่งดงามซึ่งต้องมาจบชีวิตลงเพราะความงามของตนเป็นเหตุ




จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 30 สิงหาคม 2554

ดอกปีบ
31-08-2011, 15:05
ขอบคุณสำหรับบทความครับผม .. เพิ่งทราบว่าปลาสินสมุทรมีเงี่ยงที่เเก้มทั้งสองข้างด้วย ..