PDA

View Full Version : ดำน้ำกับฝูงปลาทู


สายน้ำ
07-12-2011, 06:50
ดำน้ำกับฝูงปลาทู ............................ โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/554000016442101.JPEG

ในบรรดาปลามากมายทั่วท้องทะเลนั้น “ปลาทู” น่าจะเป็นทะเลปลาตัวแรกที่ผมรู้จัก และเชื่อว่าอีกหลายๆคนก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะตั้งแต่เกิดมาจนเริ่มกินข้าวและเริ่มจำความได้ แม่ก็ขยำข้าวกับปลาทูให้กินแล้ว และข้าวกับปลาทูทอดก็กลายเป็นของโปรดของเด็กชนบทไกลทะเลอย่างผมตลอดมา ยิ่งเมื่อย้อนไปเกือบ 50 ปีก่อนด้วยแล้ว ตอนนั้นถนนหนทาง การคมนาคมขนส่งไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวันนี้ ตามอำเภอในต่างจังหวัดไม่ได้มีร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตน้อยใหญ่มากมายเป็นดอกเห็ดเหมือนเช่นปัจจุบัน ปลาทูนึ่งในเข่งไม้ไผ่สานที่เดินทางเข้าไปขายอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศไทยแม้แต่บนเขาบนดอย จึงกลายเป็นอาหารทะเลที่อร่อยและทรงคุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญราคาปลาทูซึ่งเป็นอาหารจากท้องทะเลก็ไม่แพงเลย ปลาทูจึงกลายเป็นอาหารคู่ครัวสำหรับคนไทยมาเนิ่นนาน และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

แม้นจะชอบกินปลาทู รู้จักคุ้นเคยกับปลาทูมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งมาดำน้ำอยู่นานหลายปี พบเห็นและถ่ายภาพปลาชนิดต่างๆใต้ท้องทะเลมามากมาย แต่ผมก็ยังไม่มีโอกาสพบเห็นฝูงปลาทูแบบจะๆตา และไม่เคยถ่ายภาพฝูงปลาทูที่มีอยู่มากมายทั้งในอ่าวไทยและท้องทะเลฝั่งอันดามันได้สักครั้ง จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ผมจึงได้มีโอกาสพบฝูงปลาทูที่ว่ายเวียนผ่านมาในระยะใกล้ๆขณะดำน้ำอยู่ที่กองหินริเชลิว จังหวัดพังงา และในการดำน้ำอีกครั้งที่บริเวณใกล้เกาะง่าม จังหวัดชุมพร ซึ่งฝูงปลาทูนั้นหากจะดูเผินๆก็อาจจะมองดูคล้ายๆกับฝูงปลาขนาดเล็กสีเงินตัวขนาดฝ่ามือทั่วๆไป แต่ลักษณะโดดเด่นของฝูงปลาทูก็คือ ปลาทูจะว่ายผ่านมาแล้วอ้าปากกว้างจนสุดขากรรไกร อ้าหุบ อ้าหุบ ฮุบอาหารที่เป็นแพลงก์ตอนขนาดเล็กๆที่ล่องลอยมากับประแสน้ำซึ่งเป็นภาพที่ดูแล้วแปลกตาน่าตื่นตาตื่นใจ และเป็นภาพที่น่ารักเห็นแล้วต้องอมยิ้มกับพฤติกรรมที่แต่ละตัวจะพยายามอ้าปากให้กว้างที่สุดเพื่อจะฮุบน้ำฮุบอาหารให้ได้มากที่สุด มันอ้ากว้างจนดูหัวโต ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยได้พบเห็นได้ง่ายๆเท่าใดนัก ซึ่งผมเองดำน้ำมาเกือบ 20 ปีแล้วก็เคยพบเห็นฝูงปลาทูอ้าปากฮุบน้ำผ่านมาใกล้ๆเพียงไม่กี่ครั้ง

ปลาทู เป็นปลาในสกุล Rastrelliger อยู่ในวงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นปลาวงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรี และกลุ่มปลาทูน่า ชอบอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำในระดับความลึกตั้งแต่น้ำตื้น น้ำกร่อยชายฝั่งลงไปถึงระดับความลึก 200 เมตรเลยทีเดียว ในน่านน้ำทะเลไทยพบทั้งหมด 3 ชนิด คือปลาทูตัวสั้น ซึ่งเป็นปลาทูรสอร่อยที่ผู้คนนิยมกินมากที่สุด ปลาทูปากจิ้งจกตัวผอมๆปากแหลมๆ และปลาทูโม่งหรือปลาลังซึ่งเป็นปลาทูตัวใหญ่ ด้วยลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่ชอบว่ายหากินอยู่กลางน้ำและว่ายอพยพหากินไปทั่ว เราจึงมักจะไม่ค่อยจะเห็นกันตามแหล่งดำน้ำเท่าใดนัก ซึ่งในตอนกลางคืนปลาทูมักจะชอบว่ายขึ้นมาหากินแพลงก์ตอนตามผิวน้ำ ในอดีตชาวประมงผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการจับปลาทูนั้นจะสามารถสักเกตดูผิวน้ำที่มีระลอกพลิ้วไหวจากฝูงปลาทูนับร้อยนับพันขึ้นมาฮุบอาหารบนผิวน้ำ พวกเขาก็จะแล่นเรือลงอวนล้อมฝูงปลาทูนำกลับเข้าสู่ฝั่งได้เต็มลำเรือ แต่ในปัจจุบันเรือประมงแต่ละลำมีอุปกรณ์เครื่องมือจับปลาที่ทันสมัยขึ้น พวกเขามีเครื่องโซน่า เครื่องซาวน์เดอร์ ที่ใช้คลื่นความถี่เสียงส่งลงไปใต้น้ำ เมื่อคลื่นความถี่กระทบวัตถุหรือฝูงปลา ก็จะสะท้อนกลับขึ้นมาเป็นภาพที่หน้าจอบนห้องกัปตัน ชาวประมงที่มีประสบการณ์และอ่านภาพเก่งก็จะรู้ได้ทันทีว่าใต้ท้องเรือบริเวณนั้นมีฝูงปลาอะไรว่ายอยู่ ก็สามารถลงอวนล้อมจับได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเรืออวนที่จับปลาทูในปัจจุบันจึงไม่ต้องรอคอยจับปลาทูในยามค่ำคืนที่ฝูงปลาทูว่ายขึ้นมาฮุบอาหารบนผิวน้ำเหมือนอย่างสมัยก่อนอีกแล้ว นั่นจึงทำให้ปลาทูของท้องทะเลไทยทั้งสองฝั่งถูกล่าจนลดปริมาณลงทุกปีจนน่าเป็นห่วง

หลายท่านที่ชื่นชอบรับประทานปลาทูก็คงจะยอมรับว่าปลาทูอร่อยนั้นต้องเป็นปลาทูแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาทูและแหล่งผลิตปลาทูที่สำคัญของเมืองไทยมาเนิ่นนาน และยอมรับกันว่าปลาทูทางฝั่งอ่าวไทยนั้นจะมีรสชาติอร่อยกว่าปลาทูทางฝั่งทะเลอันดามัน เพราะเนื้อจะนุ่มกว่า และมีความหวานมันกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะทะเลทางฝั่งอ่าวไทยนั้นมีตะกอนและอินทรีสารที่ไหลลงมาจากปากแม่น้ำหลายสาย ทำให้ท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ปลาทูทางฝั่งอ่าวไทยที่ในสมัยก่อนมีการสันนิษฐานกันว่าว่ายน้ำลงมาจากอ่าวตังเกี๋ย มาวางไข่แล้วว่ายเวียนหาอาหารเป็นวงรอบก่อนจะว่ายกลับขึ้นไปจนเมื่อโตเต็มที่ก็จะว่ายกลับลงมาว่างไข่ในอ่าวไทยแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพรอีกครั้ง ซึ่งจากการศึกษาล่าสุด แวดวงวิชาการทางทะเลก็ได้ข้อสรุปเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ปลาทูที่แสนอร่อยในอ่าวไทยเรานั้น เป็นสินทรัพย์ที่ล้ำค่าทางทะเลของประเทศไทยเราอย่างแท้จริง เพราะวงจรชีวิตของปลาทูที่มักจะวางไข่กันบริเวณรอยต่อของท้องทะเลทั้งสามจังหวัดดังกล่าว จากนั้นก็ว่ายขึ้นมาเติบโตทางอ่าวแม่กลองและเวียนวนกลับลงไปวางไข่ในพื้นที่ท้องทะเลรอยต่อสามจังหวัดเป็นวงจรเช่นนี้ ไม่ได้มีการว่ายน้ำไปเที่ยวต่างประเทศนอกเขตประเทศไทยเลย และปลาทูก็เป็นปลาที่หากินได้จับได้ในประเทศไทยมากที่สุดในโลก ไม่ค่อยมีจับกันมากมายในน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ซึ่งหลักฐานก็ปรากฏให้เห็นกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ว่าไทยจับปลาทูจากอ่าวไทยได้มากมายจนเหลือจากบริโภคในประเทศก็ทำเป็นปลาทูเค็มส่งขายไปถึง ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซียจนมีการเรียกขานปลาทูเค็มจากไทยที่นิยมกินกันว่า Ikan siam

ความอร่อยของปลาทูแม่กลองนั้นนอกจากจะด้วยเหตุผลที่อ่าวแม่กลองมีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารแล้ว วิธีการจับปลาทูของชาวแม่กลองในอดีตนั้น เขายังจับปลาทูด้วยการทำโป๊ะไม่ได้จับปลาด้วยการใช้อวนลากซึ่งจะได้ปลาที่บอบช้ำน้อยกว่า โดยโป๊ะจับปลาทูนั้นเขาจะใช้ไม้ไผ่ปักเรียงกันเป็นแนวรูปตัววี เมื่อฝูงปลาทูว่ายเข้ามาทางปากโป๊ะก็จะถูกบีบบังคับให้ว่ายมาเป็นแนวแคบลงเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงปลายสุดของโป๊ะ ก็จะจับโดยถุงอวนที่อยู่ท้ายโป๊ะยกจับขึ้นมา ซึ่งโป๊ะปลาทูก็มักจะอยู่ตามแนวชายเลนที่ไม่ไกลจากฝั่งเท่าใดนัก เมื่อได้ปลาก็สามารถจะนำกลับเข้าฝั่งได้อย่างรวดเร็ว นำมาควักไส้จับใส่เข่งแช่น้ำเกลือแล้วจุ่มลงถังต้มน้ำเดือดกลายเป็นปลาทูนึ่งได้ทันที ทำให้ได้เนื้อปลาทูที่สดอร่อยและเนื้อปลาไม่บอบช้ำ ปลาทูแม่กลองนั้นจะมีลักษณะ “หน้างอ คอหัก” เพราะชาวแม่กลองนั้นนิยมดัดหัวปลาให้ลงเข่งได้พอดีและสวยงามนั่นเอง

ปลาทูนั้นนอกจากจะอยู่คู่ครัวคนไทยมาอย่างยาวนานเพราะเป็นปลาที่นำไปทำอะไรก็อร่อย ไม่ว่าจะเป็นปลาทูสดที่นำไปทอด ต้มยำ ต้มส้ม ต้มเค็ม แกงฉู่ฉี่ หรือในรูปปลาทูนึ่งที่นำไปทอดกินกับน้ำพริกกะปิ นำไปทำยำปลาทู เมี่ยงปลาทู หรือเป็นปลาทูเค็ม ซึ่งล้วนมีรสชาติอร่อยเป็นที่ยอมรับกันแล้ว เนื้อปลาทูยังมีสารโอเมก้า 3 ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ยิ่งต่อร่างกาย ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดตีบตัน ลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ลดความหนืดของเลือดทำให้ความข้นของเลือดอยู่ในเกณฑ์ปรกติ เรียกว่าคุณประโยชน์ของปลาทูนั้นมีมากมายชนิดคุณภาพคับตัวเลยทีเดียว แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือปริมาณปลาทูในท้องทะเลไทยนั้นลดลงทุกปีจนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเราคงต้องช่วยกันดูแลรักษาปลาทูให้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทยต่อไปอีกนานเท่านาน โดยต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการจับปลาในฤดูปลาทูวางไข่ในอ่าวไทยช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ทางกรมประมงประกาศปิดอ่าว และช่วยกันสอดส่องไม่ให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้ปลาทูคงอยู่คู่ทะเลไทยตลอดไป





จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 ธันวาคม 2554