PDA

View Full Version : โครงเหล็กไฟฟ้า...คืนชีพแนวปะการัง


สายน้ำ
01-01-2012, 09:39
โครงเหล็กไฟฟ้า...คืนชีพแนวปะการัง ....................... เรื่องเล่าจากเอเชีย

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/5557.jpg

การจับปลาด้วยการใช้ไซยาไนด์และอุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปะการังในท้องทะเลของบาหลีถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว แต่เพราะความห่วงใยในแหล่งท่องเที่ยวที่ประทับใจของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันด้วยการนำเอาเทคนิคทางสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกับที่เคยใช้กับท้องทะเลแห่งอื่นของโลกมาแล้ว โลกใต้ทะเลที่นี่กำลังจะกลับคืนมาดังเดิม

ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไบโอร็อค” (Biorock) ที่ประสบความสำเร็จมากแล้วกว่า 20 ประเทศทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ทะเลแคริบเบียน, มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

ในท้องทะเลสีเทอร์คอยส์ของปีนูเทอราน ชายฝั่งทางเหนือของบาหลี ณ ที่นั้นโครงการที่ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2000 โครงเหล็กที่ถูกเรียกว่า เดอะแคร็บ ที่หมายถึงก้ามปู ถูกปกคลุมไปด้วย

ปะการังขนาดใหญ่ที่ส่องแสงแวววาวอยู่ท่ามกลางปลานับร้อยที่อาศัยใช้เป็นบ้าน

“มันน่าตื่นเต้นมากไม่ใช่หรือ” รานี มอร์โรว-วิจค์ บอกอย่างภูมิใจ ชาวเยอรมันวัย 60 ปีผู้นี้เดินทางมาดำน้ำที่นี่ครั้งแรกในปี 1992 และได้เห็นแนวปะการังอันสวยงามสมบูรณ์แบบ

ทว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นส่งผลต่อแนวปะการัง และยิ่งเมื่อมาเจอกับการจับปลาด้วยการใช้ไซยาไนด์และการระเบิดปลาด้วยแล้ว แนวปะการังแถวนี้ก็แทบไม่เหลือ

“มันเป็นการทำลายล้างแบบง่ายๆ ปะการังทั้งหมดตายเหลือเพียงก้อนกรวดและหาดทราย”

แต่เมื่อสถาปนิกชาวเยอรมันและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล วูล์ฟ ฮิลเบิร์ทซ์ บอกให้รานีรู้ถึงการค้นพบของพวกเขาเมื่อปี 1970 นักดำน้ำอย่างรานีก็หูผึ่ง

ฮิลเบิร์ทซ์พยายามหาวัสดุที่จะนำไปก่อสร้างในทะเล และในที่สุดก็ค้นพบว่า โครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักมาก โดยมีการต่อกระแสไฟฟ้าแบบอ่อน ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายให้ไหลผ่าน ซึ่งพบว่ากระแสไฟนั้นทำให้หินปูนเกาะโครงเหล็กเร็วขึ้น

ระหว่างการทดลองในหลุยเซียน่า สหรับอเมริกานั้น ฮิลเบิร์ทซ์พบว่า เพียง 2 เดือนหอยนางรมก็พากันมาเกาะอาศัยโครงสร้างทั้งหมด ก่อนจะสร้างอาณานิคมด้วยหินปูน แต่นั่นก็ยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการที่ปะการังมาเรวมอยู่ด้วย

“ปะการังโตเร็วขึ้นราว 2-6 เท่า เราคิดว่าภายในเวลาแค่ 2-3 ปีแนวปะการังก็จะกลับคืนมา” โธมัส เจ. โกโรว์ นักชีววิทยาทางทะเลชาวจาไมก้า บอกเล่า

โกโรว์เริ่มทำงานกับฮิลเบิร์ทซ์กลางปี 1980 เพื่อพัฒนาไบโอร็อค ก่อนที่เขาจะเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีนี้อีกครั้งหลังจากฮิลเบิร์ทซ์เสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีก่อน และเมื่อรานีได้เห็นผลงานนี้เธอก็รู้ทันทีว่าจะปกป้องอ่าวของเธอไว้ได้อย่างไร

รานีใช้ทุนทรัพย์ของตัวเองและวางแผนที่จะวางโครงสร้างทั้งหมด 22 ชิ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากทามัน ซารี ฮอลิเดย์ รีสอร์ทที่อยู่หน้าพื้นที่วางแนวปะการังเทียมของโครงการ จนวันนี้มีโครงข่ายแบบนี้กว่า 60 ชิ้นในอ่าวปีนูเทอรานในพื้นที่กว่า 2 เฮคเตอร์ ซึ่งไม่เพียงแนวปะการังจะไม่ตายแต่ยังมีสภาพดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ไบโอร็อคไม่เพียงฟื้นคืนกลับมา แต่มันยังสร่งภูมิคุ้มกันให้กับพวกมันที่ต้องเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาวและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนด้วย

“ไบโอร็อคไม่เพียงช่วยให้ปะการังอยู่รอดจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น แต่นังรอดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นได้มากถึง 16-50 เท่าด้วย” โกโรว์ บอกเล่า

รานีบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ ปีนูเทอรานคือข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด เราผ่านพ้นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเมื่อ 2 ปีก่อนมาได้ ขณะที่น้ำมีอุณหภูมิถึง 34 องศาเซลเซียสแทนที่จะเป็น 30 องศาดังเดิม มีปะการังเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบและมีเพียง 2 % ที่ตาย ขณะที่เมื่อปี 1998 พวกมันทั้งหมดตายเรียบ

ชุมชนในปีนูเทอรานเองก็ฉลองชัยชนะนี้อยู่เงียบ ๆ และเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ทั้งที่เริ่มแรกนั้นพวกเขาคิดว่าพวกผิวขาวบ้า ๆ พวกนี้กำลังทำลายท้องทะเลด้วยการเอาเหล็กโยนลงไป แต่ในปี 2000 โกมัง แอสติก้า ก็เป็นอีกคนที่เปลี่ยนความคิดนั้นและเข้าร่วมโครงการหลังจบจากวิทยาลัย

วันนี้เขาคือครูสอนดำน้ำและผู้จัดการของศูนย์ข้อมูลไบโอร็อคที่ตั้งอยู่ที่ชายหาดปีนูเทอราน ซึ่งมีกผู้ให้การสนับสนุนในการตั้งกองทุน “Adopt a baby coral” ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็เพิ่มขึ้นทั้งที่ที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงที่ค่อนข้างจนเมื่อครั้งแรกที่รานีมาถึง แต่ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมามีร้านดำน้ำผุดขึ้นเกือบเท่าตัว

ขณะที่ชาวประมงในเขตนี้ไม่ค่อยพอใจนักเมื่อมีการทำโครงการในช่วงแรก เพราะคิดว่าจะมีผลกับการทำการประมงของพวกเขา

“ตอนแรกชาวประมงไม่ต้องการไบโอร็อคเพราะคิดว่ามันจะทำให้พวกเขาจับปลาไม่ได้ เขาบอกว่านี่คือมหาสมุทรของพวกเขา แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อเห็นว่าปลากลับมาและนักท่องเที่ยวก็แห่มาชมความสวยงาม” แอสติก้า ทิ้งท้าย.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 1 มกราคม 2555

สายชล
01-01-2012, 14:23
น่าชื่นใจแทนชาวบ้าน ที่ได้ร่วมโครงการดีๆเพื่อทะเล โครงการนี้จริงๆค่ะ