PDA

View Full Version : กะพง ปลาสองน้ำ


สายน้ำ
18-01-2012, 08:08
กะพง ปลาสองน้ำ ........................ โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/555000000755201.JPEG

ในการดำน้ำชมความงดงามของแนวปะการังและมวลสรรพชีวิตใต้ท้องทะเลนั้น ปลาชนิดหนึ่งที่นักดำน้ำคุ้นเคยและสามารถพบเห็นกันได้บ่อยครั้งก็คือ ปลาในกลุ่มปลากะพง(Snapper) ซึ่งชอบรวมตัวกันอยู่เป็นฝูงและมีปริมาณมากมายไม่น้อย โดยเฉพาะปลากะพงขนาดเล็กๆ ตัวขนาดฝ่ามืออย่างปลากะพงเหลืองลายฟ้า ที่ลำตัวมีสีเหลืองสดใสมีแถบเส้นสีฟ้าตามแนวยาวพาดผ่านลำตัวไปจดโคนหาง ปลากะพงชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ตามกองหินหรือแนวปะการัง รวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่นับร้อยๆตัว บางครั้งมันก็เกาะกลุ่มกันแน่นกลมเห็นแล้วก็พาลนึกไปถึงลูกชิ้นปลาลูกกลมๆ หรือปลากะพงแกงส้ม ขึ้นมาทันที เพราะปลาในกลุ่มปลากะพงนั้นนับเป็นปลาที่มีเนื้อละเอียดนุ่มหวานอร่อยรสชาติดี ผู้คนนิยมบริโภค

ปลากะพงนอกจากจะเป็นปลาที่ทั้งนักดำน้ำและคนไม่ดำน้ำและคนชอบกินปลาจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว มันยังอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในท้องทะเล ทั้งบริเวณกองหิน หมู่เกาะไกลฝั่ง จนกระทั่งบริเวณน้ำตื้นตามชายฝั่ง ตามป่าชายเลน ปากแม่น้ำ เพราะปลากะพงนั้นเป็นปลาที่ค่อนข้างจะทนทรหด มีความสามารถสูงในการปรับตัวเพื่อที่จะอาศัยอยู่หรือเอาตัวรอดในทุกสภาพของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเค็ม น้ำกร่อย หรือแม้กระทั่งน้ำจืด ปลากะพงก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นเหตุการณ์น้ำจืดไหลลงทะเลมากจนทำให้มีปลาตายลอยเป็นแพบริเวณแนวชายฝั่งอย่างในช่วงน้ำท่วมครั้งใหญ่ตอนปลายปีที่ผ่านมานั้น แม้นเราจะพบปลาชนิดต่างๆมากมายตายลอยอยู่ริมทะเล แต่เราก็จะไม่เห็นปลากะพงตายลอยอยู่ด้วย เพราะปลากะพงนั้นสามารถปรับตัวให้อยู่ได้กับน้ำทะเลในทุกระดับความเค็ม จนกระทั่งเคยมีรายงายการพบเห็นหรือรายงานว่าชาวประมงในแม่น้ำโขงที่อยู่ลึกเข้าไปจากปากแม่น้ำนับร้อยกิโลเมตร จับปลากะพงขาวขึ้นมาได้จากในแม่น้ำโขง ซึ่งบริเวณนั้นน้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำจืดสนิทโดยสิ้นเชิงแล้วอย่างแน่นอน แต่ปลากะพงขาวก็ยังสามารถว่ายน้ำเข้าไปเที่ยว เข้าไปหากินอยู่ได้

http://pics.manager.co.th/Images/555000000755202.JPEG

ด้วยคุณสมบัติที่ทนทายาทของปลาในกลุ่มปลากะพง โดยเฉพาะปลากะพงขาว จึงเป็นปลาที่ชาวประมงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาในกระชังตามแนวชายฝั่ง แนวป่าชายเลนหรือตามปากแม่น้ำ เพราะสามารถทนได้ในทุกสภาพน้ำและเป็นปลาที่กินอาหารเก่ง โตเร็ว มีอัตรารอดชีวิตสูง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน ก็สามารถจะมีขนาดน้ำหนักตัว 600- 800 กรัม ซึ่งเป็นขนาดของปลาที่ตลาดมีความต้องการ ดังนั้นปลากะพงขาวที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันตามร้านอาหารในเมนูยอดฮิตอย่างปลากะพงทอดราดน้ำปลา ปลากะพงขาวนึ่งมะนาว ปลากะพงราดพริก จึงเป็นปลากะพงจากการเลี้ยงในกระชังแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่ปลากะพงที่จับมาจากทะเล ซึ่งปลากะพงขาวที่ไทยเราเพาะเลี้ยงนั้นยังมีปริมาณมากจนสามารถจะส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้อีกด้วย

ปลาในกลุ่มปลากะพงนั้นเป็นปลากินเนื้อ ที่กินสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งหอยปูและปลาที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร ขนาดของลำตัวก็มีความแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์แต่ละชนิด ซึ่งปลากะพงเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดตั้งแต่โตกว่าฝ่ามือสักหน่อย ขึ้นไปจนถึงตัวยาวเป็นเมตรหนักหลายสิบกิโลกรัมเลยทีเดียว โดยปลากะพงพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นเป็นปลากะพงแม่น้ำไนล์ ในประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นปลาในกลุ่มที่ใกล้เคียงกับปลากะพงขาวโดยมีรายงานว่าชาวประมงที่นั่นเคยจับได้ตัวยาวถึง 2 เมตร หนักถึง 230 กิโลกรัมเลยทีเดียว แต่ปลากะพงส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยมักมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 20-70 เซนติเมตร และอาจจะมีขนาดใหญ่มากๆอยู่บ้างเช่นปลากะพงแดงที่บางท่านอาจจะเคยเห็นแขวนอยู่ตามร้านข้าวต้มตัวยาวใหญ่มากๆก็มี

http://pics.manager.co.th/Images/555000000755203.JPEG

ปลาในกลุ่มปลากะพงนั้นชอบว่ายเข้าไปวางไข่ในบริเวณป่าชายเลน หรือบริเวณชายฝั่งน้ำตื้น น้ำกร่อยซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลลูกปลาที่ดียิ่ง ลูกปลาวัยอ่อนอาจจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากพ่อปลาแม่ปลาไปบ้าง เช่นลูกปลาวัยอ่อนมักจะมีลายแถบคาดลำตัว เพื่อเป็นการพรางตาผู้ล่าให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ลูกปลาอยู่อาศัย จนกระทั่งเมื่อเติบโตขึ้นลูกปลาก็จะมีรูปร่างสีสันลวดลายเหมือนกับพ่อปลา แม่ปลามากขึ้น และเมื่อลูกปลาโตเต็มวัยก็จะว่ายออกไปรวมฝูงหากินในแนวปะการัง หมู่เกาะหรือกองหินใต้ทะเลต่อไป ในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันมีรายงานการพบปลาในกลุ่มปลากะพงกว่า 20 ชนิด และแม้นปลาชนิดอื่นๆอาจจะมีปริมาณลดน้อยถอยลงไป หรือหาดูได้ยากขึ้นทุกวัน แต่สำหรับปลากะพงที่มีคุณสมบัติพิเศษในการกินง่าย อยู่ง่าย มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ได้กับน้ำทะเลและท้องทะเลในแทบทุกสภาวะนั้น เราจึงยังสามารถจะพบเห็นปลากะพงได้มากมายและทั่วไปในท้องทะเล ซึ่งในธรรมชาติหรือในโลก ในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ ชีวิตหรือเผ่าพันธุ์ที่จะสามารถอยู่รอดได้ยาวนานที่สุดอาจจะไม่ใช่ชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ดุร้ายที่สุดหรือแข็งแกร่งที่สุดอีกต่อไปแล้ว แต่กลับเป็นชีวิตหรือเผ่าพันธุ์ที่สามารถจะปรับตัวปรับใจปรับวิถีชีวิตให้อยู่ได้กับสภาพความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดต่างหากที่จะสามารถอยู่รอดได้




จาก .......................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 17 มกราคม 2555