PDA

View Full Version : ประเทศไทย กับภัยพิบัติ (2)


สายน้ำ
03-08-2009, 07:32
น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต


โหราจารย์ และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิด ภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ

โหราจารย์และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ โดยยกตัวอย่างการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนมาอ้างอิงเกจิบางคนถึงกับประเมินความเสียหายแล้วเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเตรียมย้ายเมืองหลวงหนีน้ำตั้งแต่วันนี้ด้วยซ้ำ 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภัยธรรมชาติอยู่หลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการเกิดอุทกภัย บางปีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมดินโคลนถล่ม และที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั้งโลกคือการเกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล ฝั่งอันดามันกลายเป็นคลื่นยักษ์ ′สึนามิ′ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พบผู้เสียชีวิตมากมายในหลายประเทศและแม้ว่าการทำงานของภาครัฐได้พยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสร้างเครื่องมือเตือนภัยทันสมัยมากขึ้นเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าในการโยงภัยพิบัติเข้ากับคำทำนาย ′วันสิ้นโลก′ ของหลายสำนักกลับสร้างกระแสความเชื่อให้คนไทยมากกว่า

ล่าสุดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ′สุริยคราส′ ก็ไม่รอดพ้นจากการทำนายของโหร และการทำพิธีแก้เคล็ด ′กบกินเดือน′ ของพระบางวัด ′หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ไปแล้ว การเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้น′ เป็นข้อสรุปของโหราจารย์ หลังจากเพ่งตำแหน่งดวงดาว การทำความจริงให้ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล โดยนำเอาสถิติที่ หน่วยงานรัฐได้เก็บรวบรวมก็จะพบว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอุทกภัยสร้างความเสียหายมากที่สุดอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์

เช่นเดียวกับความเห็นของ นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน ที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรม ทรัพยากรธรณี ในระหว่างสัมมนาเรื่อง "ปัญหาภัยธรรมชาติด้านแผ่นดินไหว อุทกภัยและดินโคลนถล่ม" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่การ เกษตรและชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งเน้นย้ำว่าการปฏิบัติกับภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สุดคือ "การทำความจริงให้ปรากฏ"

เพราะนอกจากการนั่งทางใน ใช้ญาณวิเศษเพ่งนิมิตแล้ว นายวรวุฒิให้ความเห็นว่าปัญหาคือนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องภัย ธรรมชาติส่วนใหญ่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว

สำหรับ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยที่สุดคือน้ำท่วม เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศที่มีลมมรสุมพัดผ่านอยู่เสมอ เมื่อฝนตกหนักทำให้หลายครั้งเกิดดินโคลนถล่มบ้านเรือนเสียหาย แต่ที่พบได้น้อยและโอกาสเกิดได้ยากที่สุดคือแผ่นดินไหว

อุทกภัยพินาศแสนล้าน

ทั้ง นี้ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2532-2551 (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551) พบว่ามีการเกิดเหตุ 208 ครั้ง ความเสียหายด้านทรัพย์สินและสาธารณประโยชน์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,516,117,089 บาท มีราษฎรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกว่า 75 ล้านคน ใน 19 ล้านครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2,885 คน ความ เสียหายที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าแสนล้านบาทนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่าสังคมไทย ได้ตระหนักและมีมาตรการป้องกันต่อภัยพิบัติในอนาคตอย่างไร

นาย สุพัตร วัฒยุ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน เปิดประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นว่าทำไมน้ำถึงท่วม โดยอธิบายถึงสาเหตุที่จะทำให้น้ำท่วมว่ามีอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1.น้ำ ถ้า มีปริมาณเยอะ ก็สามารถทำให้ท่วมได้ 2.แม่น้ำ ถ้าทางไหลของน้ำมีขนาดเล็กก็ทำให้น้ำท่วมได้ และ 3.พื้นที่ ถ้าขนาดพื้นที่ระบายน้ำแคบ ก็ทำให้น้ำท่วมได้

ถ้า ไม่มีอันใดอันหนึ่ง ก็จะไม่เกิดน้ำท่วม ถ้าปริมาณน้ำมีเยอะ แต่แม่น้ำมีขนาดเล็ก แน่นอนมันล้นตลิ่ง เมื่อล้นตลิ่งแล้วจะท่วมไปไกลไหม ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำจะท่วม ถ้าจะดูว่าทำไม น้ำมันเกิดขึ้นมากได้อย่างไร สิ่งที่เป็นปัจจัย 4 เรื่องที่จะเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วม เรื่องแรกคือตัวฝน ซึ่งเราคุมไม่ได้ ฝนตกหนัก คือหากตกลงมา 100 มิลลิเมตร ใน 1 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเครื่องเตือน เราจะทำอย่างไร กะละมังง่ายที่สุด ว่าชั่วโมงนั้นฝนตกกี่มิลลิเมตร หากปริมาณน้ำฝนมีความสูงวัดได้ 10 เซนติเมตร ก็คือ 100 มิลลิเมตร เป็นวิธีการง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยอะไรมากนัก แต่ถ้ามีก็ดี คือมีสิ่งที่เตือนภัยก็จะดี

นาย สุพัตรกล่าวอีกว่า เมื่อฝนตกมีปริมาณมาก ความเข้มของฝน พืชคลุมดิน ชนิดของดินในการดูดซึม ก็จะเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำมากหรือน้ำน้อย ′ ฝนที่ตกลงมาส่วนหนึ่งก็ค้างอยู่ตามใบไม้ ต้นไม้ กอหญ้า ถ้าความหนาแน่นของพืชคลุมดินมาก ก็จะทำให้การดักน้ำเอาไว้มากไปด้วย เหลือน้ำที่จะไหลลงมาสู่ดินได้น้อย แต่พืชคลุมดินนี้เองที่มนุษย์ชอบไปทำลาย ลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่อต้านไม่ให้น้ำไหลอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องทำให้ดีขึ้น′

" เมื่อมีการดักน้ำได้แล้ว ก็มาถึงว่าดินซึมได้มากหรือไม่ ถ้าดินซึมได้มาก ก็จะเหลือปริมาณน้ำที่จะไหลบนผิวดินน้อย เป็นหลักการง่ายๆ ซึ่งสภาพดินจะสูญเสียการซึมน้ำ ก็เกิดมาจากคนอีกเช่นกัน จากการใช้ปุ๋ย การเผาป่า การทำลายหน้าดิน และเมื่อดินซึมน้อย น้ำไหลมาก ก็ต้องมาดูว่าน้ำจะไหลเร็วขนาดไหน คือความลาดชัน′

′ เพราะฉะนั้น ทำไมน้ำหลาก จึงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันหลากได้อย่างไร ในหนึ่งวัน 1 ชั่วโมงที่ฝนตก 100 มิลลิเมตร ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดน้ำหลากมาก แต่ถ้ามันเทลงมา 1 ชั่วโมง 100 มิลลิเมตรเมื่อไร น้ำไหลทันที จากเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.ปริมาณความเข้มของฝน 2.พืชคลุมดิน 3.ชนิดของดิน 4.ความลาดชัน"

นาย สุพัตรกล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัย คือตัวแม่น้ำ ร่องน้ำ ถ้าร่องน้ำใหญ่พอ ก็จะไม่มีการล้นตลิ่ง แต่คนก็มักที่จะไปบุกรุกร่องน้ำ มีการถมดิน ปลูกพืช จนขนาดของร่องน้ำเหลือน้อย ทำให้น้ำที่เคยไหลได้ ก็กลายเป็นไหลไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาจากคนอีกเช่นกัน ที่ทำให้น้ำท่วม โดย ลักษณะน้ำท่วมในพื้นที่เชิงเขานั้น จะเป็นการท่วมที่รุนแรง รวดเร็ว มาเร็ว หมดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กรณีที่บ้านน้ำก้อ มีเวลาการเกิดเหตุอยู่ที่ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมชาติของน้ำก้อ หากหนีไม่ทัน ก็จะต้องถูกน้ำท่วม เป็นลักษณะทางอุทกวิทยาของแม่น้ำแต่ละลุ่มที่จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ในขณะที่การเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ราบ จะมีลักษณะค่อยๆ มาช้าๆ แต่อยู่ยาว แล้วไม่สูงมาก หากมีพื้นที่ราบไม่พอ ก็จะเกิดการท่วมกินอาณาเขตไกลและกว้าง

ปฏิบัติการสู้น้ำท่วม

ผอ. สำนักอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ซึ่งปัจจุบันนี้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำคือ จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง " ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรามีสถานีวัดน้ำอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งในปี 2549 มีระดับน้ำขึ้นมาอยู่ที่ 5,900 มิลลิเมตรต่อวินาที ในขณะที่ตัวแม่น้ำรับได้แค่เพียง 3,000 มิลลิเมตรต่อวินาที โดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท้ายเขื่อน จ.ชัยนาท รับน้ำได้แค่ 2,800 มิลลิเมตรต่อวินาที หากน้ำมาถึงที่ จ.ชัยนาทเกิน 2,200 มิลลิเมตร ต่อวินาทีเมื่อไร จ.พระนครศรีอยุธยาก็เตรียมรับมือน้ำท่วมได้ทันที"

" ถ้าเราจะเอาอยู่ไม่ให้เกินโดยแต่ละที่ ซึ่งก็มีความจุของตัวเอง เรามีคันกั้นน้ำ แต่คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำกับคันกั้นน้ำ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา หากล้นตลิ่ง คือเกิน 4,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีเมื่อไร อย่างไรเราก็สู้ไม่ได้ ณ เวลานี้ ถ้าเราไม่สร้างเครื่องมือที่จะสู้"

"ปัจจุบันที่เราจะสู้กับน้ำอย่างไรนั้น ประการแรก คือเราต้องรู้จักน้ำ ต้องรู้ทัน โดยการไปวัดเป็นจุดสีเหลือง จุดสีเขียว ใน แม่น้ำสายหลักตอนนี้มีทั้งหมด 718 แห่งทั่วประเทศ ใช้คนไปยืนวัดแล้วรายงานมาเป็นรายชั่วโมง มีทั้งประเภทอิเล็กทรอนิกส์ส่งสัญญาณมาทุก 1 นาที แต่สิ่งที่เราขาดไปในหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือการรู้ล่วงหน้า เรารู้ทันน้ำก็จริง แต่เราไม่รู้ล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าแผนจะมาอย่างไรบ้าง ก็มีการพยายาม ทำ กันหลายกรม คือระบบโทรมาตร ซึ่งสามารถวัดน้ำได้ทุก 1 นาที แล้วเก็บข้อมูลทุก 15 นาที แล้วส่งข้อมูลเข้ามายังระบบพยากรณ์ ก็จะบอกได้ว่าในแต่ละวัน น้ำแต่ละสถานีจะสูงเท่าไร สามารถที่จะไปเตือนประชาชนได้ โดยเราได้ใช้ระบบโทรมาตรในแม่น้ำเจ้าพระยามาได้ 2 ปีแล้ว"

" เครื่องมือที่เรามี ณ วันนี้ โดยหลักการทั่วไปที่จะทำเครื่องมือขึ้นสู้ ก็มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1.คือการเก็บน้ำที่มาจากตอนบนเอาไว้ไม่ให้ไหลลงมาข้างล่าง 2.ส่วนที่ไหลลงมาแล้วจัดหาทางระบาย ถ้าหาได้มาก ได้ เพียงพอ น้ำก็จะไม่ท่วม ถ้าไม่เพียงพอ ก็ต้องมีระบบแก้มลิง จะต้องเอาไปไว้ตามทุ่งต่างๆ ในเรื่องการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่สร้างเอาไว้ของกรมชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมแล้วได้ 73,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทย หากเอาจำนวนน้ำฝนบนผิวดินอยู่ที่ 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงดินไปประมาณ 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราสู้ได้แค่ 70,000 ลูกบาศก์เมตร ปีไหนน้ำมากกว่านี้ เราก็สู้ไม่ได้"

(มีต่อ)

สายน้ำ
03-08-2009, 07:33
น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต (ต่อ)

นาย สุพัตรกล่าวว่า แผนที่วางเอาไว้ในอนาคตเพื่อสู้กับน้ำ มีการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กเป็นจำนวนค่อนข้างมาก แต่ก็ได้ความจุไม่มากนัก เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ หมดไปแล้ว เหลือเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น เช่น แก่งเสือเต้น

′จะไปหาพื้นที่ที่จุได้ตั้งแต่ 1 พันล้าน ลูกบาศก์เมตรขึ้นไปนั้นไม่มีแล้วในประเทศไทย เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่เราจะทำคือ เครื่อง มือทำให้น้ำไหลที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา เราจะปล่อยให้น้ำผ่าเขื่อนไปได้แค่ 2,200 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยน้ำออกซ้ายขวาได้นิดหน่อยประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร อีก 1,000 ลูกบาศก์เมตรต้องหาที่ให้น้ำไปว่าจะไปทางไหนได้บ้าง มองไว้ 2 ทางคือ ทิศตะวันออก คลองชัยนาทป่าสักซึ่งกำลังศึกษาอยู่ให้ผ่านได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรแล้วลงทะเลไปเลย อีกทางหนึ่งคือทางด้านทิศตะวันตก ก็กำลังศึกษาเช่นกันให้เอาน้ำออกได้อีกประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้าทำสำเร็จเราก็จะสู้กับน้ำได้ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงที่สุดที่เคยเกิด′

′ ถ้าทำได้ เลิกท่วมเจ้าพระยาแน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือการผันน้ำออก เช่น ลุ่มน้ำยม เพราะน้ำมาจากตอนบนมาก มาถึงสุโขทัยรับได้ 350 มิลลิเมตรต่อวินาที ถ้ามา 2,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีจะทำอย่างไร ซึ่งมีโอกาสเกิดค่อนข้างมาก ถ้าขึ้นแก่งเสือเต้นได้ ช่วยได้แน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือแก้มลิง ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่บางบาน เป็นคลอง ระบาย แต่ยังไม่ได้ทำเป็นแก้มลิง เพราะมีหลายเรื่องที่กระทบกับสังคม กระทบกับประชาชน ต้องจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่าน้ำท่วมให้เพียงพอ ศึกษาไว้หลายที่ เพื่อจะหาแนวทางที่เหมาะสม′

′ สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องมาบริหารจัดการ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ติดตามจากเว็บไซต์ จากโทรมาตรต่างๆ ที่กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการไว้ ตัวอ่างเก็บน้ำ ที่ทุกวันนี้เราใช้เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขอุทกภัยมาหลายปี′

" ปีนี้จะเห็นว่าเขื่อนภูมิพล ต่อให้น้ำมากเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้น ถ้ามองถึงด้านการป้องกันอุทกภัย ปีนี้ท้ายเขื่อนภูมิพล สบายใจได้ เพราะจะไม่มีการระบายน้ำออกมาในช่วงเวลาน้ำมาก คาดว่าจะได้น้ำประมาณ 9 พันล้านลูกบาศก์เมตร เอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง เขื่อนสิริกิติ์ก็คล้ายกัน แต่ก็ยังมีโอกาสเต็มอยู่บ้าง แต่สถิติที่เคยมี โอกาสน้อยมากในแง่ของอุทกภัย 2 เขื่อนนี้คลุม ทุ่งเจ้าพระยาทั้งทุ่ง ถ้าปีนี้ฝนไม่ตกท้ายเขื่อนมากเกินไปจริงๆ น้ำไม่ท่วม"

" โดยภาพรวมแล้วสรุปว่า ปีนี้โอกาสเกิดอุทกภัยใน 2 ลุ่มน้ำใหญ่ๆ จากเครื่องมือที่ใกล้จะสมบูรณ์ โอกาสเกิดอุทกภัยจะค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ท้ายเขื่อน สบายใจได้ รวมทั้งน้ำยมที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเราไม่มีเครื่องมือเลย ต้องบริหารกันอย่างเดียว จัดการน้ำอย่างเดียว ถ้าน้ำมา ก็เอาเข้าแก้มลิงที่ทุ่งทะเลหลวงก่อน ออกซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เท่าที่ทำได้ ส่วนทุ่งเจ้าพระยา ณ เวลานี้ น้ำยังนิดเดียว คาดว่าอุทกภัยจะไม่รุนแรงมากนัก"



จาก : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2552

สายน้ำ
04-06-2010, 08:06
'ทรุด-ถล่ม'จมธรณี! 'แผ่นดินพิโรธ' พิบัติภัยใกล้ตัวคนไทย

http://www.dailynews.co.th/content/images/1006/04/03/260.jpg


กระแสข่าว “พิบัติภัยทางธรรมชาติ” ครั้งใหญ่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายมุมโลก มีทั้งแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากๆ มีทั้งภูเขาไฟระเบิด มีทั้งพายุใหญ่โหมกระหน่ำ และมีทั้ง “แผ่นดินทรุด”

ล่าสุด “แผ่นดินทรุด” ที่กัวเตมาลา...ก็น่าสะพรึงกลัว

เป็นหลุมยักษ์ราว 30 เมตร...ฝังชีวิตคนจำนวนมาก!!

ภัยพิบัติที่กัวเตมาลานั้นเกิดขึ้นหลัง “พายุโซนร้อน” ลูกหนึ่งพัดถล่มแถบอเมริกากลางอย่างรุนแรง ซึ่งที่กัวเตมาลาก็อ่วมหนัก เกิด “น้ำท่วม” ครั้งร้ายแรงจากผลพวงของพายุ แล้วยังเกิดโศกนาฏกรรมเด้งที่ 3 นั่นก็คือ “แผ่นดินทรุด” เป็นหลุมยักษ์กว้างราว 30 เมตร ลึกเท่าตึกหลายชั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งจากรายงานข่าวเบื้องต้น สาเหตุนั้นนอกจากน้ำท่วมแล้ว อาจรวมถึงระบบระบายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้...ในเมืองไทย ย้อนไปช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนถึง “แผ่นดินทรุด” ไว้ระดับหนึ่ง ซึ่งตัวอย่างพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุนี้ ก็เช่น... แผ่นดินทรุดเป็นหลุมกว้างประมาณ 18 เมตร ลึกประมาณ 15 เมตร ในไร่มันที่บ้านหนองราง หมู่ 4 ต.ค้างพลู อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

แผ่นดินพื้นถนนทรุดเป็นหลุมกว้างราว 3.5 เมตร ลึกประมาณ 4.5 เมตร เป็นถนนสุขุมวิท หลัก กม. 139 หมู่ 2 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีรถตกลงไป มีคนได้รับบาดเจ็บ

แผ่นดินทรุดเป็นแนวยาว 300 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร ลักษณะเป็นแนวดิ่งเกือบ 2 เมตร เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก คาดว่าเกิดจากการดูดทรายในแม่น้ำเป็นจำนวนมากเมื่อหลายปีก่อน

หลัง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” สะท้อนเรื่องนี้ไปแล้ว พิบัติภัย “แผ่นดินทรุด” ก็ยังเกิดขึ้นในไทยอีกหลายครั้ง เช่น... 13 ก.พ. 2553 ในพื้นที่เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง แผ่นดินทรุดกลางถนนเป็นหลุมวงกว้างราว 1 เมตร ลึกประมาณ 2.5 เมตร ภายในเกิดโพรงขนาดยักษ์ กว้างประมาณ 10 เมตร

20 มี.ค. 2553 ที่หมู่ 1 ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้แม่น้ำเกิดรอยแยกของแผ่นดิน และมี แผ่นดินทรุดลึกถึง 5 เมตร เป็นแนวยาวกว่า 200 เมตร คาดว่าเกิดจากกระแสน้ำกัดเซาะ

ที่ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เมื่อ 18 พ.ค. 2553 แผ่นดินก็เกิดรอยแยกระยะทางยาวประมาณ 10 เมตร กว้างตั้งแต่ 15-100 ซม. ลึก 30-150 เมตร และบางจุด “แผ่นดินทรุด” น่ากลัว

แผ่นดินทรุดในไทยที่ผ่านมามีบ้านพัง-รถพัง-คนบาดเจ็บ

แม้ยังไม่เคยทำให้คนไทยตายหมู่แต่ก็ใช่จะประมาทได้!!

ทั้งนี้ “ภัยเกี่ยวกับแผ่นดิน” ในไทยนั้น ที่ผ่านมา “แผ่นดินไหว” ก็มี แต่โชคยังดีที่ไม่ค่อยรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังมี “แผ่นดินถล่ม” ซึ่งมิใช่แผ่นดินทรุดเป็นหลุมลึก แต่เป็นแผ่นดินเคลื่อนตัว โดยประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มราว 51 จังหวัด กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ และจากการบันทึกโดยกรมทรัพยากรธรณี เฉพาะช่วงปี 2531-2549 ในไทยเกิดเหตุแผ่นดินถล่ม 14 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และเกิดความเสียหายไปแล้วหลายพันล้านบาท

ในต่างประเทศ เมื่อเกิดพิบัติภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ๆ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องปกติทางธรรมชาติ บ้างก็ว่าเป็น “ลางบอกเหตุ...หายนะโลก” บางคนก็ยึดโยงกับคัมภีร์โบราณ-การพยากรณ์ “สิ้นโลก” ซึ่งในประเทศไทยเองแม้ยังเชื่อกันถึงขั้นสิ้นโลกไม่มาก แต่ก็มีการเชื่อเรื่องเป็นลางบอกเหตุไม่น้อย แต่ประเด็นน่าพิจารณาสำหรับเหตุ“แผ่นดินถล่ม” และ “แผ่นดินทรุด” ในไทยก็คือ...ต้นเหตุลึกๆของการเกิดไม่ใช่เพียงเรื่องธรรมชาติ หากแต่ “ธรณีพิโรธ” ในลักษณะนี้ ลึกๆแล้ว “เกี่ยวข้องกับมนุษย์-มนุษย์ทำลายสมดุลธรรมชาติ”

“แผ่นดินถล่ม” ยุคหลังๆเกิดบ่อยก็เพราะมีการ “ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า” ซึ่งแผ่นดินที่ถล่มนั้นบ่อยครั้งก็มี “ท่อนซุง” มาผสมโรงทำให้คนเจ็บ-ตายกันมาก ขณะที่ “แผ่นดินทรุด” ก็ใช่ว่าธรรมชาติล้วนๆ

“ปฏิกิริยา หรือตัวเร่งที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินอย่างรวดเร็วนั้น คือกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์!!” ...ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ชี้ผ่าน “สกู๊ปหน้า 1เดลินิวส์” ไว้

พร้อมบอกไว้ด้วยว่า... แผ่นดินไหว ก็ทำให้เกิดแผ่นดินทรุดได้ แต่ต้องไหวอย่างรุนแรงขนาด 8 ริคเตอร์ขึ้นไป และธรรมชาติปกติก็อาจสร้างแผ่นดินทรุดขึ้นได้ แต่จะเห็นได้ชัดเจน เป็นหลุมใหญ่ ก็ต้องใช้เวลานานมากๆ ยกตัวอย่าง หนองหาร กว่าจะเป็นหนองที่กว้างมากขนาดที่เห็นทุกวันนี้ ก็ต้องใช้เวลานานนับแสนปี

ทว่า...กิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ดูดน้ำใต้ดินในปริมาณมาก โดยเฉพาะดูดเพื่อทำเกลือ, ดูดทรายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในปริมาณมาก, ใช้น้ำที่มีบนพื้นดินอย่างฟุ่มเฟือย, สร้างสิ่งปลูกสร้าง-สร้างถนนไม่ถูกต้องตามสเปกฯลฯ เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิด “แผ่นดินทรุด” ได้อย่างรวดเร็ว-รุนแรง!!

แผ่นดินทรุดถึงขั้น “หลุมนรก” ในไทยใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิด

เมื่อมีการทำร้ายแผ่นดิน...แผ่นดินก็อาจพิโรธได้ทุกเมื่อ!!!.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 4 มิถุนายน 2553

koy
04-06-2010, 08:24
เห็นภาพดินทรุดเป็นหลุมยักษ์อย่างนี้แล้วเสียว

ธรรมชาติท่านคงขอ"กระชับพื้นที่"คืน หลังจากที่มนุษย์ปู้ยี่ปู้ยำโลก

สายน้ำ
04-06-2010, 08:33
ผมว่า มนุุษย์ โดยเฉพาะคนไทย นี่เก่ง ในเรื่องการทำลายล้าง ....


นอกจากจะทำลายล้างชีวิตกันเอง ทำลายประเทศชาติแล้ว ยังเก่งในเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนตนกันเหลือเกิน ไม่ว่าทะเล หรือ ป่าไม้ บรรลัยหมด


บางทีก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า .... กรรมเริ่มตามสนองกัน ธรรมชาติเริ่มเอาคืนบ้างแล้ว

angel frog
04-06-2010, 10:31
เอา เขามา ก็ต้อง คืน เขาไป..

สายน้ำ
25-06-2010, 07:34
หวั่น'เมืองบาดาล' ชี้ไทยมีสิทธิ์เจอ แผ่นดินไหวเกิน 6 ริกเตอร์


http://www.thairath.co.th/media/content/2010/06/24/91693/hr1667/630.jpg


เมืองกาญจน์อันตรายสุด เผยข้อมูลใหม่ "ฉีกตำรา" ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวแค่ 6 ริกเตอร์ เชื่ออนาคตอันใกล้ประเทศไทยมีสิทธิ์แผ่นดินไหวเกิน 7 ริกเตอร์แน่ จี้ภาครัฐบูรณาการให้ความรู้และหาวิธีป้องกันก่อนประเทศไทยต้อง "จมอยู่ใต้น้ำ"...

ภายหลังจากออกมาเปิดเผยข้อมูลของ นักธรณีวิทยาว่าทุกๆเขื่อนในประเทศไทยสร้างคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลก โดยเฉพาะเขื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ ล่าสุด กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหว พบ 1,406 แห่งใน 22 จังหวัดที่น่าเป็นห่วงสร้างความตื่นตระหนก และสับสนให้กับประชาชนมากมาย

เรื่องนี้ ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไป ยัง รศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิแนะนำว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก พร้อมทั้งอธิบายว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ก็มักจะเลือกในบริเวณที่มีความสำคัญกับธรณีวิทยาทั้งนั้น ดังนั้นประเด็นที่ว่าเขื่อนในประเทศไทยเกือบทุกแห่งสร้างคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลกนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยก็คือ วันนี้ประเทศไทยมีรอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนต่างๆนั้น ยังมีพลังงานซึ่งยังกระจายตัวอยู่มาก โดยเฉพาะรอยเลื่อนที่วิกฤติมากที่สุดคือ รอยเลื่อนที่ จ.กาญจนบุรี, ด่านเจดีย์ 3 องค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่มีการพูดถึงมากที่สุด แต่วันนี้ผมยังเชื่อว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ มันก็ยังไม่สามารถทำอะไรเขื่อนได้ เพราะว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆอย่างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกรมชลประทานจะมีทีมที่ทำการประเมินว่าจะมีอัตราเสี่ยงขนาดไหน

"พูด ว่าเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนใครๆฟังก็เสียว แต่ถ้ามองลึกในระดับวิชาการจริงๆไม่น่าเป็นห่วง เพราะการสร้างเขื่อนคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลกเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันต้องสัมพันธ์กับโครงสร้างทางธรณีวิทยา ต้องมีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่มันก็จะพัฒนาการอยู่บนรอยเลื่อน มันถึงจะเป็นที่แม่น้ำจะสามารถนำพาน้ำมาเป็นอ่างเก็บน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนเล็กหรือรอยเลื่อนใหญ่ มันมีความสัมพันธ์ไม่ต้องตกใจ"

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าการสร้างความตื่นตระหนก กับข่าวว่าพบรอยเลื่อนใหญ่แห่งใหม่อยู่ใต้กรุงเทพฯว่า จริงแล้วก่อนหน้านี้นักธรณีวิทยาพบมานานมากแล้ว ซึ่งฟังแล้วอาจจะตกใจแต่หลังจากที่มีคนไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารอยแยกดังกล่าวอยู่ลึก แล้วมีตะกอนดินไปปิดทับอยู่พอสมควร ถามว่ารอยเลื่อนนี้อยู่ตำแหน่งไหนของกรุงเทพฯ บอกไม่ได้ เพราะคงต้องรอดูจากผลการวิจัย แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแล้วเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จะโดนกันหมด

"ถามว่าวันนี้ประเทศพร้อมรับกับแผ่นดินไหวไหม ก็ยังไม่ 100% เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องพร้อมทุกๆอย่าง อีกทั้งต้องสร้างนักวิชาการเพิ่มขึ้นเยอะ ถ้าเกิดเรื่องแผ่นดินไหวขึ้นมาตูมก็ต้องวิเคราะห์กัน ก่อนที่จะประกาศขึ้นมาสู่สาธารณชนว่าจุดไหนมีผลกระทบบ้าง นี่คือความพร้อมระดับหนึ่งที่ต้องทำ"

ส่วนการป้องกันหลังผลกระทบไม่น่าห่วง เนื่องจากเราเจอมาแล้ว ดังนั้นการเยียวยาเราพอรับมือได้ แต่ก่อนเหตุการณ์เรายังไม่พร้อม นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาก็คือเรื่องสึนามิ ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่อาจจะไม่ร้ายแรงเท่ากับปี 2547 แต่ถ้าเกิดขึ้นน่าจะสร้างความเสียหายให้กับคนไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากหอเตือนภัยไม่พร้อมแน่นอน ยังไม่ทั่วถึงเพราะผมไปพื้นที่ประจำเจอหลายจุดที่ไม่รู้เรื่องราว แถว จ.ระนอง, พังงา และกระบี่ ยังมีหลายจุดที่สัญญาณเตือนภัยยังไปไม่ถึง บางที่สายไฟหายบ้าง มีแต่หอคอยไม่มีลำโพง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแล"

ทั้งนี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา ฝากถึงภาครัฐด้วยว่า ความสำคัญกับข้อมูลเรื่องนี้ไม่มีใครพูดเท่าไหร่เรื่องน้ำหนักของข้อมูลที่เราควรจะเชื่อถือบางที่ปล่อยข่าวออกมา มันไม่มีมูลทำให้คนตกใจ แล้วก็กลายเป็นว่าภาครัฐกลายไปช่วยประโคมข่าวตรงนั้นด้วย ดังนั้นวันนี้หน่วยงานไหนก็ได้ออกมาช่วยกลั่นกรองข้อมูลก่อนปล่อยออกมา เช่น สึนามิจะเกิดวันนั้นวันนี้ แผ่นดินไหวจะเกิดวันนั้นวันนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะพูดออกมาเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองพอสมควร

ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว แสดงความคิดเห็น ไม่แตกต่างไปจากข้อมูลข้างต้นและกล่าวย้ำถึงพื้นที่อันตรายด้วยว่า นอกจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ และแถบตะวันตกแล้ว จ.กาญจนบุรีถือว่าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในเมืองไทย

"ก่อนหน้านี้เราจะพบที่ จ.กาญจนบุรีแล้วหลายครั้งแต่สูงที่สุด คือ 6 ริกเตอร์บ้าง ซึ่งจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่าเขื่อนศรีนครินทร์รับแรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุดถึง 7 ริกเตอร์ ซึ่งผมก็มีคำถามว่า ถ้าเกิด 7 ริกเตอร์จริง แต่เกิดใกล้กับตัวเขื่อน ถามว่าคนที่บอกว่าทนได้ 7 ริกเตอร์มีความมั่นใจแค่ไหน"

แม้ว่าตามข้อมูลการวิจัยจะพบว่าในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีแผ่นดินไหวมากกว่า 6 ริกเตอร์ก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว จาก มช. บอกว่า จากการศึกษา ของเราที่ จ.กาญจนบุรี และ 8 จังหวัดทางภาคเหนือ โดยที่ จ.เชียงใหม่มันมีรอยเลื่อนหลายตัวที่มีศักยภาพทำให้แผ่นดินไหวมากกว่า 6 ริกเตอร์ ซึ่ง 6 ริกเตอร์ อาจทำให้บ้านที่สร้างไม่ดีก็จะพังทลายในพริบตา ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ

"ถามว่าวันนี้ระบุเป๊ะๆว่าที่เมืองกาญจน์หรือภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ ไม่รู้ ระบุตายตัวไม่ได้ แม้กระทั่งอเมริกาก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ หรืออย่างที่จีนมันจะอ้างผลวิจัยแผ่นดินไหวจะต้องวัดจากงูปกติมันจะจำศีล พอแผ่นดินจะไหว งูมันจะเลื่อยขึ้นมาแล้วแข็งตายเลย หรือทฤษฎีที่สัตว์ในสวนสัตว์จะตื่นตระหนกก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว เอาเข้าจริงมันไม่เวิร์ก ฉะนั้นก็ยังไม่มีวิธีไหนที่บอกว่าถึงเหตุแผ่นดินไหวได้แม่นยำ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือขอให้ทราบว่าแผ่นดินไหวแรงที่สุดของบริเวณนี้กี่ริกเตอร์ จะเกิดเมื่อไหร่ไม่ต้องสนใจแค่รู้ และก็หาทางรับความรุนแรงตามริกเตอร์นั้นได้ ดังนั้นอาคารไหนที่มีคนอยู่เยอะๆ ต้องมั่นใจว่าเกิด 7 ริกเตอร์ว่าต้องอยู่ได้ อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ไม่ใช่ว่าเขย่าแล้วโครมเดียวเหมือนจีน นี่คือมาตรฐานที่เขาทำกัน เหมือนกับที่อเมริกาแล้วก็ญี่ปุ่นที่เกิดแผ่นดินไหวไม่ค่อยมีคนตายเท่าไหร่"

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือวันนี้ประเทศไทยไม่พร้อมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดเกินกว่า 7 ริกเตอร์แน่นอน ที่สำคัญวันนี้คนก็ยังไม่มีความรู้เพียงพอ แถมวันดีคืนดี ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านโผล่ออกมาบอกว่าวันนั้นวันนี้จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้คนตายเกลื่อนเมือง หรือวันดีคืนดีมีหมอดูมาฟันธงว่าจะเกิดสึนามิผมบอกว่าไม่เชื่อ ดังนั้นข้อมูลที่เผยแพร่ต้องกลั่นกรองให้ดีส่วนวิธีป้องกันเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแรงๆ สิ่งที่ทำได้ก็คือคนที่อยู่ในอาคารใหญ่ห้ามวิ่งหนีแบบสะเปะสะปะให้วิ่งไปที่มุมห้อง แล้วเอาโต๊ะ-เก้าอี้ที่แข็งแรงมาช่วยบังเอาไว้เป็นวิธีที่ดีที่สุด"

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า สถานทีที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ก็คือ ภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี โดยเฉพาะเขื่อนศรีนครินทร์

"วันนี้ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะพูดมากแล้วก็โดนด่า แต่ก็อยากให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกพาดผ่านให้คอยฟังข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวเอาไว้ตลอดเวลา".



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 25 มิถุนายน 2553

สายน้ำ
26-06-2010, 07:53
เปิดแผนที่ 1,406 แห่ง หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวทั่วไทย


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ทำแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวในประเทศไทยฉบับแรกแล้วเสร็จ โดยมีรายละเอียดครอบคลุม 22 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวม 107 อำเภอ 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน ที่อยู่ในแนวเขตรอยเลื่อนมีพลังของไทยทั้ง 13 รอยพาดผ่าน ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณขอบเปลือกโลกที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรงก็ตาม แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และหลายครั้งการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศคนไทยก็ทำให้ต้องมาทบทวนและเตรียม พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศขึ้น ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น ทส.จึงได้ทำแผนที่เสี่ยงภัยในระดับหมู่บ้านขึ้น เพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการวางแผนลดผลกระทบในอนาคต รวมทั้งจะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการนำภัยพิบัติบรรจุในหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้วย ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ ทธ.เองก็เตรียมประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทยเป็นรายภาค โดยปี 2554 จะเริ่มในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันตก ภาคกลาง และใต้จะดำเนินการในปี 2555

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนแผนและประมวลผล ทธ. กล่าวว่า จากการจัดทำแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวทั้ง 13 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง พบว่ากลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งพาดผ่านตั้งแต่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว รวมระยะทาง 155 กิโลเมตร มีความชัดเจนมากสามารถมองเห็นจากภาพถ่ายทางอากาศชัดเจน และเมื่อทำการขุดร่องสำรวจภาคสนาม พบหลักฐานในชั้นดินว่ามีการฉีกขาดมีรอยการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเมื่อประมาณ 2 พันปีเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดมาแล้ว 6.5 ริคเตอร์ โดยในพื้นที่นี้พบว่ามีหมู่บ้านอย่างน้อย 2-3 แห่งที่ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนและต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านโป่งป่าแขม อ.แม่จัน จ.เชียงราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และลักษณะเป็นบ้านไม้ ที่ผ่านมา ทธ.แจ้งให้ อบต.รับทราบแล้ว

"ยอมรับว่าการเปิดรายชื่อหมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีการสำรวจในภาคสนามประมาณ 40% ของหมู่บ้านทั้งหมดมาแล้ว และไม่ต้องการให้ตื่นตกใจ เพียงแต่ต้องการให้ไม่ประมาทและมีการเตรียมความพร้อมมากกว่า เพราะถ้าจะประเมินสถานการณ์แล้วเรื่องดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากเป็นภัยใกล้ตัวมากกว่าแผ่นดินไหว แต่ก็ต้องให้ชาวบ้านรับรู้ เพราะหลายครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากลาว คนในเขตเชียงแสนก็รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และมีบ้านเรือนและวัดเสียหาย เป็นต้น" นายสุวิทย์กล่าว




จาก : มติชน วันที่ 25 มิถุนายน 2553

สายน้ำ
07-07-2010, 07:53
'หลุมยุบ' ภัยใต้ดินใกล้ตัว คาดการณ์ได้หากรู้จักสังเกต

จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย “หลุมยุบ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ธรณีสูบ” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้และภาคอีสาน ล่าสุดเกิดที่ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกธรณีสูบลงไปใต้ดินสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัตินี้ หากเรารู้จักศึกษาและสังเกตก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยได้

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้เกี่ยวกับหลุมยุบและแผ่นดินยุบในประเทศไทยว่า สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รองรับด้วยชั้นหินปูน ซึ่งกระจายตัวอยู่ใน พื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่น สตูล ตรัง กระบี่ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดหลุมยุบในภาคใต้เนื่องจากภาคใต้ตอนล่างส่วนนั้นมีชั้นหินปูนรองรับอยู่ใต้พื้นดินมาก มีปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นมาก และเป็นพื้นที่ต่ำ อิทธิพลของน้ำใต้ดินสูง นอกจากนั้นเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงหรือค่อนข้างรุนแรงที่เกิดขึ้นไกลออกไปใน ทะเลอันดามัน เกาะสุมาตราและพื้นที่ข้างเคียงมักส่งผลกระทบต่อการเกิดหลุมยุบโดยตรงและโดยอ้อม

กลุ่มที่ 2 หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดในที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และเกือบทุกพื้นที่ในภูมิภาคนี้ที่มีชั้นเกลือหินหนามากรองรับอยู่ใต้พื้นดิน ในกรณีนี้หลุมยุบเกิดจากชั้นเกลือหินใต้ดินถูกน้ำบาดาลละลายออกไป โดยเฉพาะบริเวณส่วนยอดโดมเกลือที่โผล่สูงถึงชั้นน้ำบาดาล หนองน้ำขนาดต่างๆ เช่น หนองหาน จ.สกลนคร หนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แอ่งน้ำ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ล้วนเป็นหลุมยุบที่เกิดโดยธรรมชาติ การที่มนุษย์ละลายชั้นเกลือและสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินสมดุลธรรมชาติโดยขาดการวางแผนตามหลักวิชาการ เป็นตัวเร่งให้เกิดหลุมยุบในพื้นที่ส่วนกลางของที่ราบสูงที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ความรุนแรงของการเกิดหลุมยุบในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคของโลกอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น ในประเทศกัวเตมาลา โดยเฉพาะบริเวณเมืองหลวงกัวเตมาลาซิตี้ และประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีชั้นหินปูนที่มีโพรงถ้ำยุคครีเทเชียสหนากว่า 2,000 เมตร วางตัวอยู่ข้างใต้ มีภูเขาไฟมีพลังเป็นแนวสันโค้งและแนวตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีแปซิฟิกกับแผ่นคาริเบียนอยู่ทิศตะวันตกโดยลำดับ ดินแดนแถบนั้นของอเมริกากลางรวมถึงทางใต้ของประเทศเม็กซิโกและรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นมลรัฐที่ เกิดหลุมยุบมากที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นดินแดนเสี่ยงภัยหลุมยุบลำดับต้นๆของโลก ส่วนระดับความรุนแรงของพิบัติภัยหลุมยุบในประเทศไทยถือว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด พื้นที่เสี่ยงมีน้อยกว่าต่างประเทศ ที่ประเทศไทยอยู่นอกโซนแผ่นดินไหวรุนแรงสำคัญภาพรวม

การยุบลงของแผ่นดินถือเป็นการปรับสมดุลตามธรรมชาติของพื้นที่ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยา มีเหตุปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ข้างต้นในพื้นที่ คือ สภาพธรณีวิทยา ลักษณะธรณีสัณฐาน ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระบบน้ำธรรมชาติ และปัจจัยรองลงมาคือกิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุที่น้ำใต้ดินที่เป็นกรดอ่อนๆสามารถละลายหินปูน หินปูนโดโลไมต์และหินอ่อนได้ ส่วนน้ำธรรมชาติสามารถละลายชั้นเกลือหินและแร่ยิปซัมได้รวดเร็ว รอยแยก รอยแตกและช่องว่างระหว่างผลึกแร่และเม็ดตะกอนในเนื้อหิน ทำหน้าที่เป็นช่องเปิดให้น้ำไหลหรือซึมผ่าน เกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดิน เกิดหินงอก หินย้อยบริเวณพื้นถ้ำ การเปลี่ยนระดับน้ำใต้ดินอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความสมดุลถ้ำเปลี่ยนไป อาจเกิดมีการพังทลายของถ้ำและกลายเป็นหลุมยุบได้

ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิลักษณ์เฉพาะตัวของหินปูน ที่เกิดจากการละลายของน้ำใต้ดินมีข้อสังเกต ได้หลายประการ ซึ่งที่เด่นชัดคือ พื้นผิวดินขรุขระและมักมียอดเขาแหลมจำนวนมากมาย เช่น เทือกเขาสามร้อยยอด เทือกเขาหินปูนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี กระบี่ พังงา ตรัง สตูล บางครั้งอาจเห็นร่องรอยของหลุมยุบในอดีต เช่น ทะเลบัน ในจังหวัดสตูล เป็นต้น

สำหรับกรณีเหตุแผ่นดินไหวเกี่ยวข้องกับหลุมยุบได้อย่างไรนั้น ดร.ปริญญา ให้เหตุผลว่า ในเชิงกลศาสตร์ แรงสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากพอจะเกิดผลโดยตรงต่อความเสถียรของโครงสร้างของโพรงถ้ำใต้ดิน และผลทางอ้อมคือระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดความรุนแรงและระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว โดยปกติ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงคือ บริเวณใกล้รอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณี พื้นที่ตลอดแนวสันโค้งภูเขาไฟ และรอยเลื่อนมีพลังที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับรอยตะเข็บข้างต้น บ่อยครั้งหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมักสังเกตเห็นการเกิดหลุมยุบหรือแผ่นดินยุบตัวจำนวนมากได้ในวงกว้าง

ผลเสียของการเกิดหลุมยุบ ถ้าเกิดตามที่อยู่อาศัยอาจทำให้ต้องเสียทรัพย์เนื่องจากบ้านอาจมีรอยร้าวหรือยุบลงไปทำให้ต้องสร้างบ้านใหม่และหากเกิดในพื้นที่ที่ต้องใช้ประโยชน์ เช่น การเพาะปลูกทำให้สูญเสียพื้นที่ไป อย่างไรก็ตาม การเกิดหลุมยุบเป็นภัยที่เราสามารถคาดการณ์หรือศึกษาล่วงหน้าได้ ในการก่อสร้างโครงสร้าง ขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อหลุมยุบควรมีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ใต้ พิภพเพื่อศึกษาธรรมชาติของโพรงถ้ำหรือช่องว่างใต้ดิน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ สำหรับชาวบ้านที่ต้องอยู่อาศัยบริเวณที่เกิดหลุมยุบให้รู้จักสังเกตบริเวณรอบๆบ้านว่ามีการแตกร้าวของบ้านหรือไม่ ถ้ามีควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

หลุมยุบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่น่ากลัวเท่ากับภัยหลุมยุบที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ในอนาคตข้างหน้าหากยังไม่มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรสินแร่เกลือหินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมแล้ว อาจทำให้พื้นผิวดินบ้านเรากลายเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนผิวดวงจันทร์คงเดือดร้อนกันทั่วหน้า.


สัญญาณเตือนก่อนเกิดหลุมยุบ

ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้ว่า ก่อนเกิดหลุมยุบเราจะได้ยินเสียงดังคล้ายฟ้าร้องจากใต้ดินเป็นผลมาจากการถล่มของเพดานโพรงหินปูนใต้ดินหล่นลงมากระแทกพื้นถ้ำใต้ดินก่อนที่จะยุบตัวเป็นหลุมใช้เวลานานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงหรือบางทีเป็นวัน ถ้าหากได้ยินเสียงแบบนี้ให้รีบออกห่างจากจุดนั้นประมาณ 100 เมตร เพราะอาจเกิดหลุมยุบได้ และก่อนเกิดหลุมยุบพื้นดินรอบข้างจะมีรอยร้าวเป็นวงกลมหรือวงรีแตกคล้ายแห หรือใยแมงมุม หรือกำแพงรั้ว เสาบ้าน หรือต้นไม้ทรุดตัวหรือเอียง ประตูบ้านและหน้าต่างบิดเบี้ยวทำให้เปิด-ปิดยาก มีรอยปริแตกที่ผนัง

นอกจากนี้หากพบเห็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ พืชผักของเราเหี่ยวเฉาเป็นบริเวณแคบๆ ให้ระวังไว้เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำของชั้นใต้ดินลงไปในโพรงใต้ดินทำให้ดินมีความชื้นน้อย หากพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่หากเกิดหลุมยุบแล้วรีบแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกรมทรัพยากรฯ โดยด่วนและทำรั้วกั้นตั้งป้ายเตือน ซึ่งเราจะตรวจสอบว่าหากหลุมใหญ่ไม่มากจะให้หน่วยงานในท้องที่กลบและห้ามทิ้งขยะลงไปเพราะจะทำให้ดินและน้ำใต้ดินเสียได้ หากหลุมใหญ่อาจต้องสำรวจและศึกษาฟื้นฟูพื้นที่ ถ้าพบว่าไม่ขยายวงกว้างแล้วอาจใช้เป็นแหล่งน้ำของหมู่บ้านก็ได้ นอกจากนี้แล้วเรายังทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบแจกให้ชาวบ้าน เพื่อทราบจุดและปฏิบัติตัวถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปให้ความรู้รวมทั้งใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

สายชล
17-07-2010, 12:22
ประชุมลุ่มน้ำโขง : ผลกระทบยาวไกลถึงหลานเหลน

โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ pmarukpitak@yahoo.com

ผู้เขียนในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง และคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ของวุฒิสภา ได้รับเชิญจากคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเกิดขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบน แม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง (Strategic Environment Assessment of Proposed Mainstream Hydropower Dams in the Lower Mekong) ณ โรงแรมโซฟิเทล โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อ 28 – 29 มิถุนายน 2553


มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน เป็นผู้แทนของ 4 ชาติ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีผู้แทนจีนเข้าร่วมสังเกตการณ์


ดร. เลอ ดุ๊ก ตรุง ผู้อำนวยการ MRC ของเวียดนาม ชี้ว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างถึง 30,900 เมกะวัตต์ แต่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ วิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ตลอดลุ่มน้ำโขง


ในขณะนี้ภาคธุรกิจเอกชนทั้งของจีน เวียดนาม ไทย มาเลย์เซีย และฝรั่งเศส เตรียมลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 12 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งคาบเกี่ยวเขตแดนไทย ลาว กัมพูชา ด้วยการยินยอมของรัฐบาลโดยผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU)


จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่ผู้แทน MRC รายงานต่อที่ประชุมได้พบว่า เขื่อน 12 แห่ง หากสร้างขึ้นจะเกิดผลกระทบหลายประการ เช่น ความผิดปกติของการไหลของน้ำและตะกอนดิน รายได้จากการประมงลุ่มน้ำ ระบบนิเวศน์ทางบกและทางน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรม พันธุ์ปลาที่สูญหายไป เกษตรริมฝั่ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ฟังจากรายงานแล้ว เห็นได้ชัดว่า 12 เขื่อนนั้น ผลได้ไม่คุ้มเสีย


ในที่นี้มี 2 เขื่อนที่หัวเขื่อนค้ำ 2 ฝั่งไทย-ลาว คือเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี และเขื่อนปากชม จ.เลย ที่บริษัทเอกชนของไทย 2 แห่งพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ โดยเฉพาะเขื่อนบ้านกุ่มนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ช่วงเดือนมีนาคม 2511 ได้ประกาศอย่างขึงขังว่าจะเดินหน้าสร้างแน่นอน และนายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น ได้ไปเซ็น MOU กับทางการลาวมาแล้วด้วย มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่งอกขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ส่วนเขื่อนปากชมนั้น มีแต่การศึกษาเบื้องต้น แต่ทราบว่าทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำลังดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง อย่างไร


โชคดีที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้โครงการขนาดใหญ่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ตามอำเภอใจของใครๆ ดังในอดีตอีกต่อไป


ในประเด็น “การหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการทำให้ดีขึ้น” (Avoidance, Mitigation and Enhancement) มีการระดมสมองของผู้แทนแต่ละประเทศ ต่อ 4 ทางเลือก คือ
1. ยุติการสร้าง เขื่อนทั้งหมด 12 แห่ง
2. ชะลอการสร้างเขื่อนออกไป เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้าน
3. เลือกสรรบางโครงการเพื่อทำโครงการ นำร่อง
4. เดินหน้าสร้างเขื่อน 12 แห่งต่อไป


คณะผู้แทนไทย ปฏิเสธทางเลือกที่ 4 อย่างแข็งขัน และเสนอว่าทางเลือกที่ 1 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยมีทางเลือกที่ 2 ให้ชะลอโครงการไปเป็นเวลา 10 ปี เป็นทางเลือกรองลงไป โดยผู้แทนไทยชี้ว่า ในระยะยาวเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีผลทางทำลายมหาศาล โดยผลได้มีเพียงการตอบสนองด้านพลังงานเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกมากมาย ความเห็นของคณะผู้แทนไทยใกล้เคียงกับความเห็นของผู้แทนเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศปลายน้ำโขงที่จะรับเคราะห์ทางนิเวศน์หนักที่สุด ในขณะที่ผู้แทนลาวเลือกทางเลือกที่สาม คือให้เลือกทำโครงการนำร่อง โดยกัมพูชามีท่าทีขอศึกษารายละเอียดดูก่อน


ผู้เขียนมีความเห็นว่า “ลาวมุ่งมั่นที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเซีย เพื่อผลิตไฟขายให้ต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย อีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งลาวและกัมพูชาต้องพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการลงทุนของจีนสร้างเขื่อนในลาว 3 แห่ง ในกัมพูชา 1 แห่งด้วย”


ผู้เขียนได้ใช้โอกาสนี้ชี้ที่ให้ประชุมได้ตระหนักด้วยว่า เขื่อนจีน 3 แห่ง คือ เขื่อนม่านหว่าน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิ่งหง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีน มีการปิดเปิดเขื่อนเพื่อเก็บกักและปล่อยน้ำตามอัธยาศัยของจีนเอง กล่าวคือ เมื่อมีน้ำมาก จะปล่อยน้ำลงมา พอจีนแห้งแล้งก็จะเก็บกักน้ำเอาไว้ หรือเมื่อต้องการให้เรือสินค้าจีนขึ้นล่องได้ ก็จะปล่อยน้ำลงมาให้เพียงพอต่อการเดินเรือ ทำให้ระดับน้ำโขงลงเร็วผิดปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 และระดับน้ำขึ้นเร็วผิดปกติถึงวันละเมตรกว่าเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2551 ทำให้เกิดภาวะตลิ่งพัง ระบบนิเวศน์และพันธุ์ปลาวิปริต เป็นข่าวครึกโครมโดยทั่วไป เท่ากับว่าประเทศเล็กท้ายน้ำจะมีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำที่ปกติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเมตตาธรรมของเขื่อนจีน ที่จะปรับสภาพการปิดเปิดน้ำให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไร


ในเมื่อเขื่อนจีนสร้างไปแล้วเช่นนี้ ตราบใดที่จีนเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ทั้งยังถือตนเป็นประเทศใหญ่ที่ไม่ไยดีกับประเทศเล็ก แทนที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหมือน 4 ประเทศท้ายน้ำ ตราบนั้น แม่น้ำโขงยังคงไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นธรรม


มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ธรรมชาติต้องให้คนเข้าไปบริหารจัดการ “ความจริงแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ที่จัดการตนเองได้อยู่แล้ว โดยคนไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำเลย การตัดแม่น้ำโขงออกเป็นท่อนๆ ด้วยแท่งปูนขนาดมหึมา กลับเป็นอนันตริยกรรมต่อความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง การชดเชยใดๆ ไม่ว่าด้วยบันไดปลาโจน การจ่ายค่าเวนคืน การเลี้ยงปลากระชัง หรือด้วยวิธีอื่นใด ก็ไม่อาจทดแทนได้ เขื่อนจีน 3 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนบนทำความพินาศให้กับมหานทีแห่งนี้มากพอแล้ว จีนยังจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 5 แห่ง บวก 12 เขื่อนในตอนล่าง ยิ่งก่อหายนะภัยสั่งสมกับแม่น้ำโขงต่อไปไม่สิ้นสุด โดยไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งข้างหน้าแม่น้ำโขงจะทวงคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ด้วย ค่าใช้จ่ายมหาศาลของมนุษย์”



*************************************

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ฉบับที่ 7959 วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า ‘ทัศนะวิจารณ์’ (หน้า 11)


ขอบคุณข้อมูลจาก....http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1279257270&grpid=&catid=19

สายน้ำ
25-07-2010, 07:23
จับตาประเทศไทย...กับวิกฤติการณ์ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น


อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งเร้าให้ธารน้ำแข็งจากขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินที่อยู่ริมทะเลหายไปในทะเล ประชาชนที่อยู่ริมทะเลนานาประเทศประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศไทยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งปรากฏภาพให้เห็นชัดในพื้นที่บ้านขุนสมุทร จีน จ.สมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน ที่ปรากฏภาพของหลักเขตกรุงเทพจมอยู่กลางทะเล นอกจากนี้ยังมีปัญหากัดเซาะบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จากผลการศึกษา 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียแผ่นดินไปกว่า 1 แสนไร่ จุดวิกฤติคือในบริเวณชายฝั่งทะเลสมุทรปราการ และชายทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแห่งมีอัตรากัดเซาะ เฉลี่ย 20-25 เมตรต่อปี

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนคือบริเวณอ่าวไทยตอน บน ที่มีแนวชายทะเลและอยู่ในเขตที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร

ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเวทีเสวนา “จับตาประเทศไทยกับวิกฤติการณ์ ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น” ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นทั่วทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้คนชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กม. กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลหายไปกว่า 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลด้วย ทำให้สูญเสียหาดโคลนทุกวินาที

จากการศึกษาวิจัยพบว่าแผ่นดินใต้ทะเลที่เป็นหาดโคลนหายไปประมาณ 180,000 ไร่ นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตรถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีต 40 ปีที่แล้วเมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลได้โผล่พ้นน้ำกว้างกว่า 5 กิโลเมตรจากแผ่นดิน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 1 กม. ขณะที่พื้นที่ในเขตมหาชัย จ.สมุทรสาคร เคยมีหาดโคลน 1.5 กม. แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

เหล่านี้คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งไม่เพียงแต่กัดเซาะชายฝั่งแต่ยังกัดเซาะไปถึงท้องทะเลด้วย ล่าสุดงานวิจัยด้านการกัดเซาะชายฝั่งของอาจารย์ธนวัฒน์ ที่เก็บข้อมูลมายาวนาน 20 ปี ฉายภาพของปัญหากัดเซาะให้ชัดขึ้นอีกว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการสร้างเขื่อนที่ทำให้ตะกอนดินหายไปไม่ก่อให้เกิดการงอกของแผ่นดิน สาเหตุเกิดจากการสร้างเขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล หลัง 40 ปีที่ผ่านมาพบการงอกของแผ่นดินปลายแม่น้ำเหลือ 4.5 เมตรต่อปี จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี (สภาพพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน) นอกจากนี้ยังมีปัญหาแผ่นดินทรุด มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำบาดาล เป็นผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าแผ่นดิน ที่เรียกว่าระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ เป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ อาจยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองชายฝั่งในประเทศไทย แต่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา ที่อยู่ติดริมทะเล มีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามปรับตัวไม่ทิ้งพื้นที่

“ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ประเทศไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตรต่อปี นับได้ว่าเป็นอัตราที่มากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏน้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่าง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ที่จะเผชิญปัญหาสภาพนี้ จะเตรียมรับมืออย่างไร”

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการป้องกันน้ำทะเลท่วมนั้นควรมีการสร้างเขื่อนแต่ไม่ใช่เขื่อนป้องกันน้ำทะเล แบบเดียวกับในประเทศเนเธอร์แลนด์แต่เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และต้องสร้างป่าชายเลนเทียมในทะเลป้องกันอีกชั้นหนึ่ง สร้างหาดเทียมขนาด 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้สร้างหาดเทียม ทดลองในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ได้เห็นปรากฏการณ์การกัดเซาะลดลงจากเดิมเกิดการกัดเซาะ 30 ซม.ใน 1 ปีแต่หลังจากสร้างเขื่อนการกัดเซาะไม่มี

นอกจากนี้ยังมีตะกอนเพิ่มขึ้น 20-30 เซนติ เมตร ซึ่งกำลังติดตามงานวิจัยต่อไปว่าตะกอนที่เพิ่มขึ้นหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตะกอนจะเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยไทยจะเป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะสร้างป่าชายเลนเทียมขึ้นมาเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลขึ้นมาบนชายฝั่ง

อีกข้อเสนอแนะของการป้องกันปัญหา นักวิชาการแนะด้วยว่า 4 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรหยุดใช้น้ำบาดาลตั้งแต่บัดนี้ ภาครัฐต้องหันมาหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคของคนในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเร่งให้แผ่นดินทรุดกระทบต่อเนื่องก่อให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินหายและน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลดังกล่าวในอนาคต... ประเทศไทยจะเสียผืนแผ่นดินที่ไม่ได้เกิดจากการสู้รบอย่างจริงๆ.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ
25-07-2010, 07:30
นักวิชาการย้ำปัญหาแผ่นน้ำทะเลสูง หวั่นอีก 10 ปี แผ่นดินหายกว่า 1 กม.


http://pics.manager.co.th/Images/553000010760203.JPEG
บรรยากาศแถววัดขุนสมุทรจีนในอดีต


http://pics.manager.co.th/Images/553000010760204.JPEG
วัดขุนสมุทรจีนปัจจุบัน


น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น หนึ่งในผลพวงจากภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน จากข้อมูลวิชาการบ่งชี้ชัดเจนว่า เรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาสำคัญนี้ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแผ่กระจายไปในพื้นที่ชายฝั่งเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนต่อปัญหาวิกฤติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง

ความเสียหายของบ้านเรือนริมชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น คือกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เกิดผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิต ขณะที่ข่าวคราวของนักวิชาการที่ออกมาเตือนน้ำจะท่วมกรุงเทพฯจากภาวะโลกร้อน หรือกรุงเทพฯในอนาคตจะจมใต้บาดาล ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนที่อยู่อาศัยในเมืองกรุงมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดงานเสวนา “จับตาประเทศไทยกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำทะเลเพิ่มสูง” ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเสวนา

รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า สภาพพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีแม่น้ำสำคัญ 4 สายไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของอ่าวไทยตอนบนในปัจจุบันจากการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างละเอียดนั้น ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกขณะ

เมื่อได้ตรวจวัดระดับน้ำทะเลที่สถานีปากแม่น้ำท่าจีน พบว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 42 มิลลิเมตรต่อปี สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า 20.5 มิลลิเมตรต่อปี สถานีปากแม่น้ำเจ้าพระยา 15 มิลลิเมตรต่อปี สถานีบางปะกง 4 มิลลิเมตรต่อปี ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอดีตมาก เมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 1.2-1.8 มิลลิเมตรต่อปี แต่จากรายงานของไอพีซีซี ปี 2550 พบว่า ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปีแล้ว ขณะที่ในประเทศไทยมีตัวเลขจากรายงานของกรมทรัพยากรธรณี ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 4.1 มิลลิเมตรต่อปี (DMR 2010) ส่วนระดับน้ำทะเลในพื้นที่ชายฝั่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเอาไว้ เช่น มาเลเซีย 2.4 มิลลิเมตรต่อปี เวียดนาม 2.56 มิลลิเมตรต่อปี บังกลาเทศ 7.8 มิลลิเมตรต่อปี มัลดีฟส์ 4.1 มิลลิเมตรต่อปี

“จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั่วทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ ก่อปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้คนในชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กิโลเมตร กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง โดย 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยหายไป 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลด้วย ทำให้สูญเสียชายหาดโคลนทุกวินาที ทั้งนี้พบว่า 30 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินใต้ทะเลที่เป็นหาดโคลนหายไปประมาณ 180,000 ไร่" รศ.ดร.ธนวัฒน์ เผยข้อมูล

นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตรหรือคิดเป็นประมาณ 22% ซึ่งถือว่าผิดปกติมาก และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีต 40 ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลได้โผล่พ้นน้ำกว้างกว่า 5 กิโลเมตรจากแผ่นดิน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ในกรณีเดียวกันที่บ้านขุนสมุทรจีน มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม 2.5 กิโลเมตร เหลือเพียง 1 กิโลเมตร ขณะที่พื้นที่มหาชัย เคยมีหาดโคลน 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

การศึกษาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอนาคตพบว่า พื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑลจะมีอัตราการกัดเซาะเพิ่มเป็น 65 เมตรต่อปี ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า 2.3 กิโลเมตร และในอีก 100 ปีข้างหน้าประมาณ 6 กิโลเมตร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น คือปัญหาแผ่นดินทรุดของประเทศไทย มีผลกระทบ 70-80% ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของประเทศไทยสูงขึ้น โดยปัญหาที่เห็นได้ชัดคือบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2527 มีอัตราการทรุดของแผ่นดินมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการป้องกันต่างๆ ในปัจจุบันนี้อัตราการทรุดเหลือประมาณ 1-4 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งถือเป็นข่าวดี

ส่วนที่เป็นข่าวร้ายก็คือจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวเปลี่ยนอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง มีผลให้ได้รับความเดือดร้อนจากระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทุกวันนี้ผลกระทบปรากฎแล้วที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย แผ่นดินทรุดไปแล้วราว 55 เซนติเมตร

ปัจจัยที่เหลือคือ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็ง และธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายรวดเร็วกว่าในอดีต ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่ามีอัตราเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ซึ่งส่งผลให้ตะกอนไหลลงสู่พื้นที่ชายฝั่งน้อยลง เช่น เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ หลังสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำทำให้อัตราการงอกของแผ่นดินเหลือ 4.5 เมตรต่อปีเท่านั้น จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี ตะกอนที่หายไปเพราะเขื่อนกักเก็บไว้ ส่งผลกัดเซาะหนักกว่าเดิม

ในส่วนของความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง “ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์” นั้น รศ.ดร.ธนวัฒน์ ระบุว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเมืองชายฝั่งของบ้านเรา โดยยกตัวอย่าง กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อเมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามปรับตัวไม่ทิ้งพื้นที่

“ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ประเทศไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราที่มากสุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่างจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร ที่จะเผชิญสภาพอย่างนี้ จะเตรียมรับมือยังไง”

ทุกวันนี้ผลกระทบหลายอย่างปรากฏจากวิกฤติระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ทุกหน่วยงาน นักวิชาการ ตลอดจนชุมชนพยายามหามาตรการ และวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดโครงการรูปแบบต่างๆหลั่งไหลลงสู่พื้นที่

เมื่อเร็วๆนี้ มีแนวคิดจะก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้ข้อมูลสตรอมเสิร์ช (Strom Surge) ที่จะพัดเข้ากรุงเทพฯ ทำให้น้ำทะเลท่วมเข้ามา 30 กิโลเมตร และข้อมูลระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นของแผนที่นาซา ที่จะทำให้น้ำทะเลท่วมตั้งแต่ 4-12 เมตร โดยประเด็นนี้ในทัศนะของ รศ.ดร.ธนวัฒน์ ให้ความเห็นว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แบบเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ชายฝั่งที่มีความอ่อนไหวสูงแล้ว เขื่อนยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหาดโคลน ทำให้หาดโคลนหายไป ซึ่งหาดโคลนถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อนที่สำคัญที่สุดของอ่าวไทย เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล

อีกทั้งยังเป็นที่ทำมาหากินของชุมชนประมงพื้นบ้านไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งทะเล รวมไปถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายถิ่นของปลาทู ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่จัดโดยชุมชนและวิถีชุมชนประมงพื้นบ้าน นับเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะลงไปพัฒนาต้องมีความเข้าใจในพื้นที่ และเชื่อมโยงระบบนิเวศกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยใช้ข้อมูลที่ต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง

"ผลกระทบจากความผิดปกติของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น เริ่มปรากฏให้เห็นในพื้นที่ชายฝั่งแล้ว และสิ่งที่นักวิชาการคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 10 - 20 ปีข้างหน้า ภาคประชาชนจะแตกตื่นหรือเตรียมรับมือก่อนสถานการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกหน่วยงานต้องตระหนัก แม้หลายคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่การรู้เท่าทันทำให้เราปรับตัวและวางแผนเพื่อความอยู่รอดได้ เพราะภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป" รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ
27-07-2010, 07:52
"น้ำทะเล" กลืนกิน แผ่นดินไทยหายสาบสูญ!


http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/07/col01270753p1.jpg


มีข่าวคราวเป็นระยะๆ จากนักวิชาการหลายท่านที่ออกมาเตือนว่า "ภาวะโลกร้อน" อาจทำให้พื้นที่ชายฝั่งเกือบทั้งประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ

โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนบนอย่าง "กรุงเทพมหานคร" นั้นมีความเสี่ยงสูง ถึงขนาดเกรงกันว่า

วันหนึ่งน้ำจะท่วมทั้งกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้บาดาล

สิ่งที่เราหลายคนตื่นตระหนกนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

รศ.ดร.ธนวัฒ น์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี นำผลการศึกษาที่ได้มาเผยแพร่ให้ความรู้ พร้อมๆกับเตือนสังคมไทยในเวทีเสวนา "จับตาประเทศไทยกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำทะเลหนุนเพิ่มสูง" ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ธนวัฒน์ เริ่มต้นการเสวนาว่า การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของอ่าวไทยตอนบน โดยการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างละเอียดนั้น แสดงให้เห็นว่า

เกิดความเปลี่ยน แปลงของ "ระดับน้ำทะเล" สูงขึ้นทุกขณะ

จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลของไทยสูงขึ้น 4.1 มิลลิ เมตรต่อปี

ในขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ "ไอพีซีซี" เมื่อปี 2550 ระบุว่า

ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าเมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งสูงขึ้นปีละ 1.2-1.8 มิลลิเมตร

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/07/col01270753p2.jpg
1.พระในวัดขุนสมุทรจีนต้องเอาตุ่มน้ำมายกสูงทำเป็นทางเดินเวลาน้ำทะเลหนุน
2.-3.ชาวบ้านขุนสมุทรจีน แสดงหลักฐานชายฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ
4.รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์นี้ ทำให้การเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างร้ายแรง

โดยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ถึงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีความยาวกว่า 120 กิโลเมตร มีถึง 82 กิโลเมตร ที่ถูกกัดเซาะอย่างหนัก มีพื้นดินหายไปแล้วถึง 18,000 ไร่

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ ยังมีผลต่อการคงอยู่ของ "หาดโคลน" ซึ่งเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านด้วยเช่นกัน โดยย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด หาดโคลนที่ "บางปู" จะโผล่ขึ้นมาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่จากการตรวจวัดเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า บริเวณเดียวกันนี้ มีหาดโคลนเหลืออยู่เพียง 1 กิโลเมตร หดสั้นไปถึง 4 กิโลเมตร

ส่วนที่ "ขุนสมุทรจีน" จ.สมุทรปราการ ซึ่งเคยมีหาดโคลนอยู่ 2.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ประมาณ 1.1 กิโลเมตร

และ ที่ "มหาชัย" ซึ่งในอดีตเคยมีหาดโคลนอยู่ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น รวมทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันเราสูญเสียหาดโคลนไปแล้วถึง 180,000 ไร่

รศ.ดร.ธนวัฒน์ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า การศึกษาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอนาคตพบว่า

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีอัตราการกัดเซาะเพิ่มขึ้นเป็น 65 เมตรต่อปี

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการใดๆมาป้องกัน อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า จะหายไป 2.3 กิโลเมตร และภายใน 100 ปี แผ่นดินมีโอกาสหายไปถึง 8 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มสูงขึ้น มีด้วยกัน 3 อย่าง คือ

1.ปัญหาแผ่นดินทรุด
2.การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และ
3.การลดลงของตะกอนชายฝั่ง อันเกิดมาจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ

"ในอดีตแผ่นดินของกรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่หลังจากมีการควบคุมน้ำบาดาลแล้ว อัตราการทรุดลดลง เหลือประมาณ 1-3 เซนติเมตรต่อปี แต่ข้อเสีย คือจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวย้ายไปอยู่ใกล้ชายฝั่ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยิ่งรุนแรงมากขึ้น" รศ.ดร.ธนวัฒน์ แสดงความกังวล แล้วอธิบายต่อว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ก่อนไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตะกอนดินจากแม่น้ำต้นสายไม่สามารถไหลลงสู่ชายฝั่งได้ เพราะถูกเขื่อนเหล่านี้ขวางกั้นไว้

"เราติดตามสถานีวัดระดับน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ในปี 2500 เขื่อนภูมิพล ปี 2507 เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2514 ระดับน้ำที่ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การลดลงนี้จะส่งผลให้มี ตะกอนมาสู่ชายฝั่งน้อยลง ทำให้เกิดการท่วมของระดับน้ำทะเลได้ในอนาคต"

อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ชี้ด้วยว่า การสร้าง "เขื่อน" ทำให้ตะกอนที่เคยไหลลงสู่อ่าวไทยในปริมาณ 25 ล้านตันต่อปี ลดลงเหลือเพียง 6.6 ล้านตันต่อปี คือหายไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนตะกอนที่หายไปนี้ มีผลทำให้น้ำทะเลท่วมสูงขึ้นได้อีกถึง 2.5-3.5 เมตรต่อปี

ที่ผ่านมา เราอาจเข้าใจว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นหลัก

แต่ รศ.ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลส่งผลกระทบเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ อีก 8 เปอร์เซ็นต์ มีที่มาจากตะกอนชายฝั่งที่ลดลง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด และส่งผลกระทบถึง 82.5 เปอร์เซ็นต์ คือการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งมีที่มาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นหลัก

ทั้ง นี้ 5 จังหวัด ที่มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินมากที่สุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ผลจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้เป็นจำนวนมาก มีผลให้พื้นดินทรุดตัวถึง 1-3 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่อัตราการทรุดตัวตามธรรมชาติโดยมากจะอยู่ที่ปีละ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

ส่วนอนาคตกรุงเทพฯ และแถบปริมณฑลจะจมทะเล กลายเป็นเมืองบาดาลหรือไม่ในวันข้างหน้านั้น รศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่า

วิธีป้องกันต้องควบคุมทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นไปพร้อมๆกัน

หากหน่วยงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่พยายามปรับตัว หรือวางแผนรับมือ...

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาจริงๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว




จาก : ข่าวสด วันที่ 27 กรกฎาคม 2553
ภาพจาก ... khunsamut.com

สายน้ำ
29-07-2010, 16:10
จับตาเปลือกโลก...แผ่นดินทรุด! น้ำทะเลเพิ่มสูง...ไทยเสี่ยงท่วม!?


หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 ครั้งนั้นหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิภัยทางธรรมชาติซึ่งไม่เพียงสร้างความสูญเสียในชีวิตทรัพย์สิน ทางด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่างก็ได้รับผลกระทบมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน!!

ภาวะโลกร้อน สถานการณ์ที่กล่าวขานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนของฝนฟ้าอากาศ รวมถึงพิบัติภัยทางธรรมชาติที่ปรากฏให้สัมผัสใกล้ชิดขึ้น การศึกษาวิจัยเชิงลึกติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงมีความหมายความจำเป็น

โครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป GEO2TECDI ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปซึ่งคณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมแผนที่ทหาร กรมอุทกศาสตร์ โรงเรียน นายเรือ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสาร สนเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในยุโรป ได้แก่ TUDelft, TUDarmstadt และ ENS ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม จีพีเอส ดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเล และดาวเทียม SAR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอวกาศ Space-geodetic ตรวจวัดและติด ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและการทรุดตัวของแผ่นดิน

งานวิจัยไม่เพียงพบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกประมาณ 2 เท่า หากแต่พบการลดระดับของเปลือกโลกในบริเวณประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง!!

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศของโลกซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวแต่อาจมี ข้อมูลที่ต่างกันไป จากผลวิจัยของโครงการฯ ประมวลผลข้อมูลระดับน้ำทะเลเฉลี่ยรายปีจากสถานีวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2483 และจากข้อมูลกรมแผนที่ทหาร ซึ่งให้ข้อสรุปถึงระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยกำลังเพิ่มระดับขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกระดับน้ำทะเลเฉลี่ยกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี

นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเลในช่วงปี 2536-2551 บริเวณห่างจากชายฝั่งออกไปแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทั่วอ่าวไทยกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งงานวิจัยได้ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งข้อมูลจากการวัด ด้วยสัญญาณดาวเทียมจีพีเอสในบริเวณเกาะภูเก็ต ชุมพร และชลบุรีตั้งแต่ปี 2537 แสดงให้เห็นว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันในปี 2547 แผ่นเปลือกโลกยกตัวอย่างช้าๆ 2-3 มิลลิเมตรต่อปี แต่หลังแผ่นดินไหวมีทิศทางลดระดับลงอย่างรวดเร็วด้วยความเร็ว ที่ตรวจวัดได้ประมาณ 10 มิลลิเมตรต่อปี ขณะเดียวกันได้ตรวจวัดการทรุดตัวของชั้นดินชั้นทรายในบริเวณกรุงเทพมหานคร

ขณะที่การลดระดับของเปลือกโลกและการทรุดตัวของชั้นดินชั้นทรายทำให้การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อกรุงเทพฯ และจังหวัดชายฝั่งใกล้เคียงโดยมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง การรุกของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืดตลอดจนการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมชายฝั่ง รศ.ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ว่า โครงการนี้เราศึกษาทั้งสองส่วนทั้งเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินซึ่งบนชั้นหินมีชั้นตะกอนเป็นพวกดิน ทราย หิน ฯลฯ

การทรุดตัวคงต้องแยกว่าเป็นชั้นดินชั้นทรายหรือชั้นตะกอนที่อยู่ชั้นบนหรือชั้นหิน ส่วนที่เป็นประเด็นมีการพูดถึงเปลือกโลกทรุดตัวส่งผลต่อน้ำท่วมนั้น แผ่นเปลือกโลกโดยทั่วไปมองกันว่าค่อนข้างเสถียรแต่ในความเป็นจริงนั้นยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ซึ่งการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในประเทศไทยก็มีผู้ศึกษาติดตามเรื่องแผ่นดินไหวอยู่โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามการเคลื่อนตัวในทางราบ แต่โครงการฯศึกษาวิจัยในทางดิ่งร่วมด้วยและก็ทำให้พบว่า บริเวณประเทศไทยพบการลดระดับแผ่นเปลือกโลกกำลังเคลื่อนตัวลง

“ตัวเลขที่มีได้แก่ ที่ จ.ชุมพร ภูเก็ตและ อ.สัตหีบ หากพิจารณาจากอนุกรมเวลาของค่าพิกัดทางดิ่งที่แสดงในรูปกราฟจะเห็นว่าเส้นกราฟลดระดับลงซึ่งก็เป็นประเด็นที่คาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ ก็น่าจะเคลื่อนตัวลง แต่ก็ยังไม่แจ้งชัดว่าลงไปที่อัตราเท่าไหร่เหตุผลก็คือกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษด้วยที่ว่าชั้นดินตะกอนหนามากต้องเจาะลึกลงไปมากจึงจะเจอชั้นหิน

อีกทั้งจุดตรวจวัดทั้งหมดของกรุงเทพฯที่มีอยู่ก็จะอยู่ตามตึก ค่าการเคลื่อนตัวในทางดิ่งที่ได้จากจีพีเอสก็จะมีส่วนที่เป็นชั้นหินปนอยู่กับส่วนที่เป็นชั้นดินชั้นตะกอนแยกได้ยากว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างไรแล้วก็เชื่อว่ามีการลดระดับลงเพราะจากการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นที่ตั้งอยู่บนชั้นหินก็มีระดับลดลง”

ในกรุงเทพฯ ประเด็นใหญ่ที่เราห่วงกันก็คือ ในเรื่องของน้ำท่วม เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง การรุกเข้ามาของน้ำเค็มซึ่งที่ผ่านมาก็เจอปัญหาเหล่านี้อยู่แล้วเพียงแต่ว่า ประเด็นนั้นเกิดจากอะไร ถ้ามองต่อไปในระยะยาวในอนาคตจะมีผลอย่างไร หากไม่มีการแยกแยะอะไรให้ชัดเจนในแต่ละประเด็นก็ไม่สามารถตอบได้

จากการศึกษาวิจัยที่เสนอพบข้อมูลที่กล่าวมาทุกเรื่องมีความน่าเป็นห่วง อย่างเรื่องของเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินทรุดตัวลง การที่เปลือกโลกที่เป็นชั้นหินลดระดับลงก็จะส่งผลต่อทุกสิ่งบนผิวโลก ด้วยเพราะเราอยู่บนชั้นดินเมื่อชั้นหินลดระดับลง ชั้นตะกอนก็จะลดลงตาม

“การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาที่ลึกลงไปถึงชั้นเปลือกโลกและเมื่อชั้นหินเปลือกโลกทรุดตัวก็จะส่งผลต่อสิ่งต่างๆ การลดระดับลงทีละน้อยเหล่านี้อาจเป็นการลดระดับโดยที่ไม่รู้ตัวแต่จากการศึกษาก็ทำให้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที”

การที่เปลือกโลกลดระดับลงก็มีผลมาจากแผ่นดินไหวเมื่อปีค.ศ. 2004 ที่เกิดสึนามิซึ่งก็มักจะพูดกันถึงเรื่องพิบัติภัยสึนามิกัน แต่อาจลืมนึกถึงผลกระทบในสิ่งเหล่านี้ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมา ในการศึกษาครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ

ส่วนการศึกษาจากจีพีเอสเป็นการวัดระยะทางจากดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศ หากพูดในหลักการที่เข้าใจได้ง่ายคือ ค่าความสูงของตำแหน่งเดิมเมื่อเวลาผ่านไปมีความคงที่หรือไม่ ถ้ามีความคงที่ก็ไม่มีการทรุดตัวซึ่งในระดับชั้นหินส่วนที่เป็นเปลือกโลกคงไม่สามารถทำอะไรได้ในการที่จะหยุดยั้ง

แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ เมื่อทราบผลจากการศึกษา มีข้อมูลเหล่านี้คงต้องเร่งตระหนักซึ่งในความรุนแรงของน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจะมากกว่าที่เราคิดและอาจจะแตกต่างจากเดิมที่ได้มีการศึกษา ดังนั้นต่อไปในอนาคต ในการวางแผนแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดจะเป็นน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่งหรือน้ำเค็ม ฯลฯ คงต้องนำข้อเท็จจริงร่วมวางแผน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสิ่งที่มีความห่วงใยกันคือ ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ ผิวดินอยู่ในระดับต่ำอยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเลมาก

อีกทั้งในระหว่างทางสิ่งที่กำลังลดระดับลงแน่นอนว่าการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้น น้ำเค็มทะลักเข้าไปก็ง่ายขึ้น อีกทั้งยังอาจพบเจอปัญหาในช่วงที่น้ำทะเลหนุนมากในช่วงปลายปี น้ำทะเลก็จะทะลักเข้าไปลึกขึ้นก็แน่นอนว่าย่อมสร้างความเสียหาย

ส่วนในเรื่องของน้ำท่วมก็อาจพบได้บ่อยขึ้น นานขึ้นเนื่องจากแผ่นดินทรุดลงการระบายน้ำก็จะยากขึ้น แต่อย่างไรแล้วในแง่ของปัญหาที่เกิดนั้นคงไม่เกิดฉับพลัน แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและจะทวีความรุนแรงขึ้น การวางแผนเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคตต้องเผื่อตัวเลขเหล่านี้ไว้ด้วยและต้องมีการศึกษาติดตามต่อไปเนื่องจากการเคลื่อนตัวเหล่านี้มีค่าไม่คงที่

จากผลวิจัยที่มีความหมาย การตระหนักโดยไม่ตื่นตระหนกร่วมรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงความสมบูรณ์อย่างจริงจังและยั่งยืนก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยมองข้ามเช่นกัน.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ
09-08-2010, 08:44
สัญญาณเตือนภัย.. 'ปาย' วันเดียว "ดินไหว" 30 ครั้ง


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลายกลุ่มถกเถียงกันในหัวข้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากหลายคนรู้สึกเหมือนมีใครมาเขย่าตัวเป็นระยะๆ ตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น เมื่อหันไปมองรอบๆ ก็ไม่เห็นอะไรผิดปกติ เล่าให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงฟังกลับถูกมองว่า เป็นพวกละเมอกลางวัน เมาค้าง คิดมาก เพ้อเจ้อ ฯลฯ ความจริงแล้ววันนั้นอาจเป็นบันทึกใหม่ของสถิติ "แผ่นดินไหว" สำหรับชาวปายเลยทีเดียว ?!!

เริ่มตั้งแต่ตี 5 กับ 27 นาที 28 วินาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.6 ริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ วัดระยะห่างจากไทยได้ 115 กิโลเมตร ผ่านไปราว 10 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับรายงานเกิดแผ่นดินไหวที่ภาคเหนือของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.ปาย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ตั้งแต่เวลา 15.43-21.50 น. มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดมากถึง 14 ครั้งด้วยกัน ขนาดตั้งแต่ 2.0-3.2 ริกเตอร์ ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป

เวลา 18.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.1 ริกเตอร์ พอถึงเวลา 18.35 น. ความรุนแรงเพิ่มเป็น 3.0 ริกเตอร์ เวลา 18.45 น. วัดได้ 2.2 ริกเตอร์ จากนั้นเวลา 19.17 น. เพิ่มเป็น 2.5 ริกเตอร์ ผ่านไปอีก 22 นาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.0 ริกเตอร์ จนล่วงเข้าเช้าตรู่ของอีกวันก็ยังวัดระดับแผ่นดินไหวได้อีก ฯลฯ

วันถัดมา "อดิศร ฟุ้งขจร" ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ อธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า แผ่นดินไหวที่ภาคเหนือเกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ คาดว่าเป็นการปลดปล่อยพลังของรอยเลื่อนกลุ่มแผ่นดินไหว ในเชิงเทคนิคถือเป็นลักษณะที่สื่อถึงพฤติกรรมของรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าจับตา เพราะยังไม่รู้ว่ากลุ่มแผ่นดินไหวจะเลื่อนเข้าสู่ภาคเหนือของไทยหรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีโอกาส แม้จะไม่สามารถคาดเดาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยภาคเหนือตอนบนมี 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลัง คงต้องเฝ้าจับตาดูทั้ง 14 รอยเลื่อนว่า ทำไมถึงเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างถี่ในช่วงนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่สำคัญรอยเลื่อนในกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวในพม่า ลาว และจีนทั้งหมด

"รอยเลื่อนมีพลัง" (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนตัวอย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี

แต่ที่สร้างความกังวลให้ชาวปายมาก ก็คือ คำพูดส่งท้ายของอดิศรที่เตือนว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคเหนือหรือไม่ หากเตรียมตัวพร้อมไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในตัวบ้าน ที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดแผ่นดินไหว ตรวจสอบโครงสร้างอาคารว่ายังแข็งแรงหรือไม่ ที่สำคัญคือควรมีการซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหว เพราะถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จริงจะได้หนีทัน

"รพีภูมิพัฒน์ เสมอภพ" นักธรณีวิทยา สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2553 เครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหวส่งเสียงร้องเตือนตลอดเวลาและแจ้งเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.ปาย คาดว่าเฉพาะวันนั้นที่ปายอาจมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากกว่า 30 ครั้งด้วยกัน แต่เป็นขนาดเล็กไม่เกิน 3.0 ริกเตอร์ บางคนอาจรู้สึกได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหว

"เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะเท่าที่ศึกษาสถิติย้อนหลังไม่พบบันทึกว่า อ.ปาย เคยเกิดแผ่นดินไหวถี่ขนาดนี้มาก่อน ภายในวันเดียวไหวต่อเนื่องกว่า 30 ครั้ง ตรวจสอบพบว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย หากดูในแผนที่แล้วแผ่นดินไหวทั้งหมดเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกัน มีชาวบ้าวโทรแจ้งเหตุเข้ามาหลายราย แต่ยังไม่ได้ประกาศเตือนภัยทางทีวี เพราะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก" นักธรณีวิทยากล่าว

ด้าน ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า บริเวณภาคเหนือตอนบนมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บริเวณ "รอยเลื่อนแม่จัน" กับ "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" แต่แผ่นดินไหวที่เกิดใน จ.แม่ฮ่องสอนไม่น่าเป็นห่วงเท่า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพราะมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า เป็นเมืองใหญ่มีชุมชนหนาแน่น สถิติเก่าบันทึกว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ส่วน อ.ปาย เคยเกิดสูงสุดประมาณ 5.0 ริกเตอร์

สิ่งที่ต้องระวังคือแม้แผ่นดินไหวจะขนาดไม่ใหญ่ แต่เคยทำให้เกิดดินถล่มสร้างความเสียหายมหาศาลมาแล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขตดินถล่ม ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝนด้วย !?!

คำเตือนนี้สร้างความหวาดผวาให้ชาวปายพอสมควร เพราะเคยมีประสบการณ์โดนน้ำท่วมดินถล่มอย่างหนักเมื่อปี 2548 ทั้งดินโคลนและท่อนซุงนับหมื่นท่อนไหลมาตามกระแสน้ำพัดให้เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองสามหมอกแทบกลายเป็นเมืองร้างภายในค่ำคืนเดียว

ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแม่ฮ่องสอนแจ้งเตือนไปยังทุก อำเภอให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มช่วงหน้า ฝนนี้ โดยเฉพาะ อ.ปาย ซึ่งเป็น 1 ใน 89 พื้นที่สีแดงของ จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีข้อมูลว่าป่าต้นน้ำถูกทำลายไป สิ้นเสียงเตือนภัยได้ไม่กี่ชั่วโมง เวลา 07.30 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา น้ำป่าก็พัดพาดินโคลนและเศษไม้จากลำห้วยแม่ฮี้เข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.แม่ฮี้ อ.ปาย เสียหายไปกว่า 70 หลังคาเรือน


หลายคนสงสัยว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่หลายระลอกใน อ.ปาย ที่ผ่านมาจะทำให้รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนฉีกขยายจากเดิมหรือไม่ ?!!

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่มีส่วนทำให้รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกขยายออกมากกว่าเดิม เนื่องจากกระบวนการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลก หากจะแยกออกจากกันหรือบิดเบี้ยวไปต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ล้านปี

ตามปกติแล้วก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเตือนก่อน หรือที่เรียกว่า "ฟอร์ช็อก" (Foreshock) และเมื่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สิ้นสุดลงก็จะมี "อาฟเตอร์ช็อก" (Aftershock) ตามมาอีกหลายระลอก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปายยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฟอร์ช็อกหรืออาฟเตอร์ช็อก เพราะวันนั้นอาจไหวสูงสุดแค่ระดับ 3.0 ริกเตอร์ก็ได้ รศ.ดร.เป็นหนึ่งย้ำว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดวันไหน สิ่งเดียวที่ชาวบ้านทำได้คือระมัดระวังตัว และถ้าเกิดหายนะขึ้นมาก็ต้องอพยพให้เร็วที่สุด



จาก .......... คม ชัด ลึก วันที่ 9 สิงหาคม 2553

สายชล
09-08-2010, 10:07
ทราบมาครั้งล่าสุด แผ่นดินไหวที่ปาย 10 กว่าครั้งเอง....


แล้วนี่ว่าเคยไหวตั้ง 30 ครั้งติดกันเชียวหรือคะ....:eek:

สายน้ำ
09-09-2010, 07:23
สบว.หวั่น 30 ปี น้ำท่วมกรุง เตือนเฝ้าระวังโรคระบาดจี้รัฐเตรียมแก้ปัญหา

http://pics.manager.co.th/Images/553000013364501.JPEG


สบว.เตือนอีก 30 ปี ไทยมีแนวโน้มเกิดปัญหาน้ำท่วมแผ่นดินทรุด น้ำทะเลสูงสลับแล้ง ชี้โรคอุบัติใหม่ระบาด หวั่นอหิวาต์กลับมา เชื้อรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ แนะรัฐเตรียมการแก้ปัญหาล่วงหน้า

วันนี้ (8 ก.ย.) รร.สยามซิตี้ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานสถานภาพด้านสภาพภูมิอากาศในอนาคตของไทย ในหัวข้อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2588-2608” โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ขันทปราบ ผู้ อำนวยการ สบว.กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทยในช่วงดังกล่าว มีแนวโน้มแปรปรวนเพิ่มมากขึ้น อากาศจะร้อนขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 14-15 เซนติเมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แผ่นดินทรุด เมื่อสภาพอากาศแปรปรวนอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเสริมว่า เชื่อว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ อย่างแน่นอน ส่วนระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใดยังบอกชัดๆ ไม่ได้ อย่างอากาศร้อน แล้ง ยาวนาน มีผลต่อการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการคาดการณ์ว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล จะเกิดน้ำท่วม ปัญหาข้างต้นกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น พืชที่เพาะปลูกเสียหาย ผลผลิตที่เพาะปลูกไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล พื้นที่บางจังหวัดของภาคใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ดังนั้น ผู้บริหารประเทศต้องเตรียมการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วมาตามแก้ หากถึงเวลานั้นจะเสียค่าใช้จ่ายสูง

“มีงานวิจัยหลายสถาบันออกมาตรงกันว่า อีก 10 ปี 20 ปี กรุงเทพฯ จังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วม เพราะแผ่นดินทรุด ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น พร้อมกันนี้ ภูมิอากาศจะแปรปรวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูก ดังนั้น จะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆคงไม่พอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกันร่วมวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้า เช่น ศึกษาพันธุ์พืชให้ทนสภาพอากาศร้อน ผลผลิตมีปริมาณมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมชัย บวรกิตติ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและโรคอุบัติใหม่ขึ้น โดยเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์และเชื้อจะรุนแรงขึ้น อย่างที่ผ่านมา เกิดปัญหาโรคซาร์ส นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์จะกลับมาระบาดอีก ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด และรายงานให้กระทรวงสาธารณสุข

“แนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โรคอุบัติใหม่ คาดว่าจะติดจากสัตว์มาสู่คน คนสู่คน สิ่งแวดล้อมมาสู่คน ยังบอกไม่ได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน อีกทั้งไม่อาจผลิตตัวยาไว้ล่วงหน้าได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเชื้อชนิดไหน” ศ.นพ.สมชัยกล่าว



จาก .............. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2553

สายน้ำ
13-09-2010, 07:51
ภัยธรรมชาติที่พึงระวัง


ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติของประเทศไทย ไม่ได้อยู่แค่ฝนแล้งขาดแคลนน้ำ กับน้ำท่วมเท่านั้น หากยังมีภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่ประทุในประเทศอื่น และอาจขยายผลเกิดขึ้นในประเทศไทย

แต่ก่อนคนไทยไม่รู้จักคลื่นยักษ์สึนามิ อย่างเก่งเคยอ่าน เคยได้ยินคนอื่นพูด แล้วคนไทยก็ประจักษ์สึนามิของจริงในบริเวณชายหาดทะเลอันดามันภาคใต้เมื่อร่วม 7 ปีก่อน ยังความวิบัติมหาศาล เพราะเราไม่เคยรู้จักมัน ไม่รู้จักพิษสง และไม่มีการเตรียมตัวรับมือ

แผ่นดินถล่มเป็นภัยธรรมชาติที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นในต่างประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียของไทยและในประเทศไทยเอง แม้จะมีปรากฏการณ์นี้บ้าง แต่ยังเป็นแค่กระสาย อย่างเก่งดินภูเขาค่อยๆสไลด์เคลื่อนตัวลงมาปิดกั้นถนน เส้นทางสัญจร โดยที่ผู้คนยังปลอดภัย

แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทางกายภาพ พื้นที่ภูเขาในเขตภาคเหนือ กระทั่งภาคใต้ที่มีการรุกขึ้นทำกินอย่างมโหฬาร ดินเหล่านี้มีขีดความสามารถจำกัดในการอุ้มน้ำ ลำพังฝนธรรมดาไม่เป็นไร เจอฝนโปรโมชั่นตกหนัก แถมตกไม่หยุดสะสมยาวนาน เมื่อนั้นดินก็พร้อมจะถล่มลงมา

อย่าไปนึกแค่ว่าก้อนดินธรรมดา จงนึกถึงดินบนภูเขาสูงที่โล่งเตียน ปราศจากไม้ใหญ่ อาการถล่มนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง พร้อมที่จะเล่นงานสิ่งที่ขวางหน้าราวกับพิโรธโกรธเกรี้ยวมานาน

ที่น่าห่วง ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ช่วยเหลือกู้ภัยผู้ประสบภัยธรรมชาติในลักษณะนี้ ประสบการณ์ที่บ้านกระทูน จ.นครศรีธรรมราช กับ ห้วยน้ำริน จ. เพชรบูรณ์ ยังคงตรึงตาตรึงใจอยู่ไม่หาย แต่มีใครบ้างคิดว่า หากมันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราจะทำประการใด

ทุกวันนี้ทุกภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีกลับเป็นองค์กรเอกชน อย่างมูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพอมีกำลังคนบ้าง แต่อุปกรณ์เครื่องมือก็เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน และไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเขาอยู่แล้ว ทุกวันนี้ที่เขาทำอยู่ก็ต้องขอแสดงความนับถืออย่างมากมา ณ ที่นี้

จะไปพึ่งกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ผมคิดว่า พอพึ่งได้น้อยนิด จนแทบลืมไปได้เลย ตรงข้ามก่อนถึงปัญหาที่จะเกิด หากเราสามารถเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้พึงรู้จะทำได้ประการใด

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกข่าวเตือนให้เห็นบ่อยครั้ง แต่เป็นไปอย่างกว้างๆ ชาวบ้านฟังแล้วก็ไม่รู้จะสังเกตอย่างไร หน่วยงานที่น่าจะทำหน้าที่ได้ดีควรจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน ค่าที่รู้จักดินทุกตารางนิ้วในประเทศไทย รู้จักคุณสมบัติดิน ปัญหาดิน การทำลายดิน และฯลฯ

น่าจะทำหน้าที่เฝ้าเตือนให้ระมัดระวังในพื้นที่ใดบ้าง วิธีการสังเกตอาการของดินถล่ม และประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

ผมเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้มีการลุกขึ้นมาซื้อเครื่องมือนะครับ ไปๆมาๆเครื่องมือกลายเป็นเรื่องการผลาญงบประมาณเหมือนที่เราเห็นได้ในหลายพื้นที่ มีอยู่จริง แต่ใช้การไม่ได้ ไม่ว่าเครื่องวัดระดับน้ำฝนเตือนภัยที่ไม่เคยส่งเสียงเตือน กระทั่งกล้องวงจรปิดที่ทำงานได้บางจุด และหลายจุดไม่ทำงาน กระทั่งต้องขอยืมดูในกล้องของหน่วยงานเอกชน หรือเรือเหาะ และฯลฯ

สุดท้าย อุปกรณ์บุโรทั่งเหล่านี้ กลับมาเล่นงานประชาชนผู้เสียภาษีให้ช้ำหัวใจเล่นซะงั้น




จาก ......... คอลัมน์เกษตรสร้างสรรค์ แนวหน้า วันที่ 13 กันยายน 2553

สายน้ำ
15-09-2010, 08:05
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุ อีก 30 ปี อุณหภูมโลกจะเพิ่มขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส น้ำบริเวณอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบรุนแรง


ผศ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (sea start rc) กล่าวว่า จากรายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2588-2608 ได้มีการวิเคราะห์ตามลักษณะของสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศในขอบเขต 8 พื้นที่ พบว่าอีก 30 ปี ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะพื้นที่เทือกเขาทางภาคเหนือ และไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูหนาว อุณหภูมิก็ยังจะสูงขึ้นเช่นเดียวกับฤดูร้อน อุณหภูมิในฤดูร้อนกับฤดูหนาวของประเทศไทยจะแตกต่างกันไม่มาก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก จะลดลงถึง 70-100 มิลลิเมตรต่อปี ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้นถึง 300 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามหัวเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์แบบจำลอง ยังได้คาดการณ์ว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 14-15 เซนติเมตร ส่งผลให้ชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตั้งแต่กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ชายฝั่งจังหวัดระยอง เพชรบุรีจนถึงจังหวัดนราธิวาส




จาก ........... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 15 กันยายน 2553

สายน้ำ
27-12-2010, 08:21
นักวิชาการแนะทุกฝ่ายรับมือกับภัยธรรมชาติ

http://mcot-image01.mcot.gtis.co.th/content/images/stock/image_2010122611111020DF7192-B0B2-68D0-B9F815B232620BFC.jpg

นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นระบบการลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคารร่วมกับองค์การนาซ่า กล่าวในงานสัมมนา “วิจัยนำการพัฒนา..เพื่อเกษตรกรไทย” ว่า จากภาวะโลกร้อนได้ทำให้อุณหภูมิบนโลกร้อนขึ้น จนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเกิดละลายมาต่อเนื่อง ปริมาณน้ำทะเลจึงเพิ่มขึ้นมาก น้ำหนักโลกจึงเกิดการเอียงจากปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดภาวะความโน้มเอียงเพราะการถ่วงน้ำหนักจากปริมาณน้ำมาอยู่ขั้วโลกใต้ จึงทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัวและจะเคลื่อนตัวเร็วขึ้นอาจทำให้เกิด จนเกิดปัญหาภัยธรรมชาติจากสึนามิตามมา

“ปัญหาสินามิในประเทศไทยรุนแรงซ้ำอีก และอาจจะมาทั้งทางอ่าวไทยและฝั่งตะวันตก แต่หากมาจากฟิลิปปินส์ เมื่อติดตั้งระบบเตือนภัยแล้วยังสามารถอพยพประชาชนหนีได้ทัน ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงยังเกิดขึ้นอีกหลายอย่างจึงต้องหาทางป้องกันทั้งน้ำทะเลหนุนสูงจนกรุงเทพฯจมหายใต้ท้องทะเล ดังนั้นทุกคนต้องช่วยลดปัญหาโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปอีก” นายอาจองกล่าว

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความผันผวนสูงมาก และขณะนี้ไทยยังต้องเจอกับกระแสน้ำอุ่นไหลทางทะเลเข้ามาในแถบนี้ จึงต้องเผชิญกับพายุฝนตกหนักในปีหน้า และอาจมีความรุนแรงมากกว่าในปีนี้ โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนเข้าฝั่งแบบพายุที่รุนแรง ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมรับมือ สิ่งเหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้นไม่ใช่มาจากธรรมชาติ

ที่สำคัญใต้ท้องทะเลได้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นการตายของปะการังจำนวนมากใต้ท้องทะเลในพื้นที่ทะเลแถบเอเชียในรอบตลอดชั่วอายุคนที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยได้สูงขึ้นจาก 26-27 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 32 องศาเซลเซียส เป็นสัญญาณปรากฏการลานิญญ่าและภาระโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้น้ำทะเลระเหยเป็นน้ำฝนง่ายขึ้น ฝนจะตกหนักและอากาศมีความผันผวนมาก ภัยธรรมชาติจะรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกจากที่ผ่านมา

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานน้ำมันจากเครื่องยนต์และส่วนต่างๆ โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) 193 ล้านตันต่อปี หรือมีสัดส่วนร้อยละ 56 รองลงมาคือภาคการเกษตร ปล่อยก๊าซมีเทน 83 ล้านตันต่อปี สัดส่วนร้อยละ 24 ส่วนที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 5-6 และภาคอุตสาหกรรมจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้มีโครงการรณรงค์ให้ประชาชนสร้างสิ่งที่ดูดก๊าซ (CO2) ที่ลอยอยู่ในอากาศ ด้วยการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เพราะเป็นพืชดูด CO2 มาใช้สังเคราะห์แสง ด้วยโครงการธนาคารต้นไม้ แต่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้กับเกษตรกรด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนมาใช้ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปกติปลูกข้าวโพด 20 ไร่ ก็จะให้ลดเหลือ 15 ไร่ โดยจะช่วยแนะนำพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้ได้เพิ่มเติมหรือมากกว่าที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่เหลืออีก 5 ไร่จะปลูกต้นไม่ขนาดใหญ่ โดยจะชักชวนบริษัทขนาดใหญ่ช่วยแนะนำการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่สำคัญงานวิจัยของ ธ.ก.ส. พบว่าการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ พืชดังกล่าวจะช่วยดูดซับก๊าซ (CO2)ได้สูงมาก ขณะที่พืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะไม่ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ภาคเกษตรจึงมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง



จาก .................. ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 26 ธันวาคม 2554

สายน้ำ
03-01-2011, 07:10
"อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" "ลานิญา" ยังอยู่ อย่าไว้ใจสภาพอากาศปี 54

http://www.prachachat.net/news-photo/prachachat/2011/01/inv01030154p1.jpg


จากอุบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝนตกผิดฤดู หิมะตกหนัก อากาศร้อนจัด ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบตลอดปี 2553 จากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล นักวิชาการหลายสำนักมองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติมาจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

อย่างไรก็ตาม ตัวการที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ถึงมุมมองและความเห็นในเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตลอด ปี 2553 ที่ผ่านมา พร้อมกับประเมินสภาพภูมิอากาศในปี 2554


ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2553

ตลอดปี 2553 สภาพอากาศมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง ตั้งแต่ต้นปีเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ เกิดภาวะภัยแล้งทั่วประเทศ พอช่วงปลายปีเดือนสิงหาคม-ตุลาคมคาดว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะคลี่คลาย แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ลานิญาเข้ามาแทนที่ ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่าทุกปี เกิดน้ำท่วมกระจายไปยังจังหวัดต่างๆหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่การเกษตร บ้านเรือนเสียหายประเมินมูลค่าหลายแสนล้านบาท มีผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุบัติที่เกิดขึ้นกว่า 200 คน

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะโทษปัจจัยภายนอก หรือโทษว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคงไม่ใช่ ส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้ตระหนักและเตรียมการรองรับ ทั้งยังไม่ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เป็นการประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป หรือไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเลย เช่นที่โคราชน้ำท่วมหนักเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะไม่คิดว่าฝนจะตกหนัก เพราะช่วงเวลา 20-30 ปีไม่เคยตกหนักขนาดนี้ ผมคิดว่าประเมินระยะสั้นเกินไป ถ้ามองย้อนหลังไปอีกถึงปี 2520 คิดว่าน่าจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ้าง


สาเหตุหลักที่เกิดภัยธรรมชาติ

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "การแปรปรวนสภาพอากาศ" เกิดจากการแกว่งตัวของมวลอากาศมาสู่แนวปะทะที่เส้นศูนย์สูตรแกว่งตัวมาเจอกัน ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่าน มีฝนตกหนัก เกิดปรากฏการณ์ลานิญาในช่วงเดือนกันยายน

เท่ากับปี 2553 เกิดขึ้นทั้ง 2 ปรากฏการณ์ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นแต่ก็เคยขึ้นมาแล้วไม่ใช่ไม่เคยเกิด ถ้ารัฐบาลประเมินย้อนหลังไปมากกว่า 30 ปี ก็คิดว่าจะเตรียมรับมือได้ทัน ผมคิดว่าการประเมินความเสี่ยงของการแปรปรวนสภาพอากาศในรอบ 60 ปีเหมาะสมที่สุด 20-30 ปีนั้นสั้นไป ประเมินได้แค่วงรอบเดียวเท่านั้น ข้อมูลย้อนหลังทำได้ไม่ครอบคลุม ถ้าประเมินระยะยาวคงจะดีกว่านี้ ทั้งหมดนี้ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น


ปี 2554 จะเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่

นักวิชาการหลายสำนักมองในแง่ดีว่าสภาพอากาศประเทศไทยในปี 2554 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้อน ฝนตก หนาวไม่รุนแรง แต่ผมยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด เพราะจากการคาดการณ์โมเดลของปี 2553 ก็ผิดทั้งหมด จากที่ต้นปีเกิดภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ และคิดว่าจะคลี่คลายช่วงปลายปีแต่ผลกลับไม่ใช่ มีฝนตกหนักทั่วประเทศ ดังนั้นสภาพอากาศในปีนี้จึงยังวางใจไม่ได้

เพราะสภาพหนาวช่วงปลายปี คล้ายกับช่วงปลายปี 2552 ประกอบกับปรากฏการณ์ลานิญายังไม่แกว่งตัวกลับ หรือยัง "ไม่คืนตัว" ดูได้จากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอุณหภูมิน้ำทะเลยังเย็นอยู่ แสดงให้เห็นว่าลมตะวันออกที่พัดมาทางตะวันตกยังแรงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงคาดการณ์ว่าฝนยังตกต่อเนื่องจากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ปริมาณฝนก็ยังมีมากพอสมควร แต่ปรากฏการณ์ของลานิญาจะค่อยๆเบาลงเรื่อยๆ คิดว่าจะคาดการณ์ได้ชัดเจนอีกทีในช่วงเดือนมกราคม


จะเตรียมรับมือได้อย่างไร

ถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่เรียกว่าคาดการณ์แต่เรียกว่าการสมมติ เพราะการคาดการณ์จะใช้หลักวิชาการ หลักฟิสิกส์มาประเมินพิสูจน์ได้ ซึ่งก็อาจจะผิดได้ แต่ไม่ใช่การ สมมติ เพราะการสมมติไม่จำเป็นต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ หรือหลักฟิสิกส์ใดๆมาประกอบการประเมินเลย

ปรากฏการณ์เอลนิโญ ลานิญาอาจไม่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ 2 คำนี้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงหมายถึงเหตุการณ์จะเกิดถี่ขึ้น 2 หรือ 3 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้ง แต่ถ้าแปรปรวนอาจจะมีระยะเวลานานมากกว่าจะย้อนกลับมาเกิดเหตุการณ์ ดังเช่นในปี 2553 ที่เกิดขึ้นปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญาในปีเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญ นานๆเกิดขึ้นที แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถ้าในปี 2554 เกิดขึ้นอีก ก็น่าจะเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่เป็นข้อสังเกตคือ สภาพอากาศในขณะนี้ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างในฤดูหนาวยังมีฝนตก ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบและเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องจับตามองจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว เกิดการแกว่งตัว ลอยตัวของมวลอากาศมหาสมุทรอาร์กติก ใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งเป็นเหตุชี้สัญญาณเบื้องต้นที่จะเกิดความรุนแรงในอนาคต


ความกังวลเกี่ยวกับประเมินความเสี่ยง

ผมเป็นห่วงมากที่หลายฝ่ายเอาเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผสมกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ การรับมือจะไม่สอดคล้องกัน น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งทำให้หลงประเด็นหลัก ทุกสิ่งทุกอย่างอ่อนไหวไปกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ตัวชี้นำตัวหลักที่จะมากระทบยังมาไม่ถึง

ขนาดเรื่องของแปรปรวนเรายังรับมือไม่อยู่ ไม่มีจุดประเมินที่แท้จริงและนิ่งพอ ก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย ความเสียหายที่ผ่านมาประเทศไทยต้องจำไว้เป็นบทเรียน ปรับมาตรการรับมือให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะปัจจุบันการออกมาตรการบางทีก็ใหญ่ บางทีเล็กเกินไป จากประเมินความเสี่ยงคลาดเคลื่อน ซึ่งระยะสั้นในปัจจุบันยังพอมีมาตรการอยู่ ยังใช้ได้ ยังไม่มีความจำเป็นปรับเปลี่ยนอะไรมาก ที่ต้องทำมากกว่าเดิม คือ ต้องประเมินความเสี่ยงรอบการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติให้ยาวนานขึ้น

เพราะความเสี่ยงไม่ใช่แค่ทางกายภาพอย่างเดียว บางพื้นที่น้ำท่วมได้ บางพื้นที่แม้จะท่วมก็แค่ตาตุ่ม ท่วมแค่วันเดียว ก็ไม่ได้เอาปัจจัยมาดูทั้งพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องฉายให้เห็นภาพโดยรวมทั้งหมด นำมาเป็นหลักการในการตัดสินใจ เพื่อทำแผนปฏิบัติการ พยายามพลิกวิกฤตการณ์ต่างๆให้เป็นโอกาส ปรับตัวให้ได้ เมื่อน้ำท่วมก็คิดให้ได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น อาจจะเป็นโจทย์ยาก แต่ก็ต้องค้นหาคำตอบ เพราะเราไม่สามารถเลือกได้ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือลานิญาจะเกิดเมื่อใด อาจจะเกิดโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว จึงต้องเตรียมรับมือไว้เสมอ




จาก .................. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มกราคม 2554

สายน้ำ
08-03-2011, 06:52
ตามดูผลกระทบ 'แผ่นดินไหว' ยิ่งใกล้เพื่อนบ้าน...ไทยเสี่ยง?!?

http://www.dailynews.co.th/content/images/1103/08/newspaper/p4var.jpg

ข่าวการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ทำให้เกิดความเศร้าสลดไปทั่วโลก และต่อมาเพียงวันเดียวก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศลาว ซึ่งเรารับรู้ได้ถึงการไหวสะเทือนในหลายจังหวัด ถ้าดูเผินๆจะรู้สึกว่าพิบัติภัยแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้นทุกวันทั่วโลก เพราะล่าสุดก็ยังมีการเกิดอยู่อย่างต่อเนื่องที่ภาคเหนือของไทย ถึงแม้จะไม่รุนแรงแต่ก็สร้างความตื่นตระหนกได้ไม่น้อยว่าพิบัติภัยจะรุนแรงขึ้นในบ้านเราเมื่อใด...?!?

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้ว่า ในเชิงสถิติอาจกล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีจำนวนครั้งที่ค่อนข้างคงที่ใกล้เคียงกันในแต่ละปี โดยแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7-8-9 เกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 18 ครั้ง 3 ครั้งและน้อยกว่า 1 ครั้งตามลำดับ ส่วนแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงน้อยกว่านั้นเกิดขึ้นรวมกันทั่วโลกนับล้านครั้งในแต่ละปี

แม้เราจะทราบว่าแผ่นดินไหวรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณหรือใกล้เคียงรอย ต่อหรือรอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีและบริเวณรอยเลื่อนมีพลังที่เกี่ยวเนื่อง แผ่นดินไหวรุนแรงส่วนน้อยมากที่เกิดลึกเข้าไปในทวีป แต่ทั้งหมดก็สัมพันธ์กับแรงที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรงลำดับต้นๆของโลก ได้แก่ ประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นแนววงแหวนไฟ เช่น ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู ชิลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ เช่น ฟิจิ นิวซีแลนด์ ประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า บังกลาเทศ เนปาล อินเดีย จีน และประเทศในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน เช่น อิหร่าน ตุรกี ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยเองเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินซุนด้าที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียว และส่วนที่เป็นไหล่ทะเลตื้น ซึ่งแผ่นธรณีส่วนนี้อยู่ภายใต้แรงบีบอัดที่เกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีรอบด้าน จึงทำให้มีความเสถียรสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของแผ่นดินซุนด้าค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ยกเว้นบริเวณขอบๆของแผ่นดินซุนด้าที่มีแรงเฉือนมาก เกิดรอยเลื่อนมีพลังแนวระดับและเกิดแผ่นดินไหวหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงเห็นได้ชัดว่าในส่วนของประเทศไทยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ที่เคยเกิด แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงน้อยถึงปานกลางเกิดหนาแน่นในภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกและภาคใต้

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแหล่งน้ำพุร้อนที่พบแล้วกว่า 90 แห่ง ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ แหล่งน้ำพุร้อนทั้งหมดเกิดในบริเวณรอยเลื่อนมีพลังหรือมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง จากการศึกษาอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ผิวดินพบว่า อุณหภูมิน้ำพุร้อนในแหล่งภาคเหนือและภาคใต้มีอุณหภูมิประมาณ 80-100 องศาเซลเซียส และ 60-79 องศาเซลเซียสตามลำดับ ส่วนน้ำพุร้อนภาคตะวันตกและภาคกลางมีอุณหภูมิต่ำกว่ามากประมาณ 37-59 องศาเซลเซียส ลักษณะที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นว่ารอยเลื่อนมีพลังที่สัมพันธ์กับน้ำพุร้อนในภาคเหนือและภาคใต้มีการขยับตัวบ่อยและรุนแรงมากกว่าส่วนของภาคตะวันตกและภาคกลาง

แต่สำหรับการศึกษาแนวการวางตัวของแหล่งน้ำพุร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และตำแหน่งความร้อนใต้พิภพ จากข้อมูลของการสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยพบว่า แนวการวางตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดลงอ่าวไทยผ่านบ้านเขาหลาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยส่วนที่อาจต่อเนื่องยาวลงไปในอ่าวไทยมีลักษณะการเหลื่อมเหมือนถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ถูกทอนพลังลงมามากไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นข้อมูลธรณีฟิสิกส์ไม่แสดงว่ามีแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซ่อนอยู่ใต้ผิวดินแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับชาวเมืองหลวง

การเปรียบเทียบสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณต่างๆของโลกกับประเทศไทย ถือว่าได้ประโยชน์เพื่อนำไปประเมินโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงต่างๆ แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือสภาพธรณีแปรสัณฐานของพื้นที่โครงสร้างทางธรณีวิทยา สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต ทิศทางความเร็วการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปพื้นที่ที่มีสภาพธรณีแปรสัณฐานแบบเดียวกันหรือคล้ายกันมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงแบบเดียวกันก็เป็นไปได้มาก เช่น นิวซีแลนด์ แอลเอ ซาน ฟรานซิสโก หมู่เกาะอันดามัน-นิโคบาร์ และบริเวณแนวเลื่อนสะกาย (Sagiang) ในเมียนมาร์ เมื่อกลไกการเกิดแผ่นดินไหวเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันแผ่นดินไหวที่ไทยเผชิญอยู่จึงมีขนาดรุนแรงต่ำถึงปานกลาง

อย่างไรก็ตามนอกจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบโดย ตรงแล้วการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศข้างเคียงที่ไหวสะเทือนมีความรุนแรงพอก็ สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ โดยสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2455-2547 จำนวน 4,310 ครั้ง และระหว่างปี 2547-2549 จำนวน 5,799 ครั้ง แต่จำนวนครั้งของการเกิดแผ่นดินไหวแถบเกาะสุมาตราระหว่างปี 2547-2549 มีสัดส่วนสูงมากขึ้นภายหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากได้แก่ แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากกว่า 7 ริคเตอร์ ที่เกิดตามแนวรอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีอินเดีย-ออสเตรเลียและแผ่นซุนด้าในทะเลอันดามันและแนวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาร์ที่ต่อเชื่อมกับรอยเลื่อนเกาะสุมาตราบนเกาะสุมาตราและแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดบริเวณรอยต่อระหว่างเมียนมาร์และจีนและทางตอนใต้ของจีน ส่วนแผ่นดินไหวในประเทศลาวที่เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเดียนฟู และรอยเลื่อนแม่น้ำแดงมีแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและเล็กที่อาจรู้สึกได้ในหลายพื้นที่และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตามจังหวัดชายแดน เช่น อุตรดิตถ์ น่าน และพื้นที่ข้างเคียงได้บ้าง

ดังนั้นเมื่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทยแม้จะมีขนาดความรุนแรงก็จะไม่ส่งผลกระทบถึงไทยได้ในวงจำกัด จากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่ได้ติดตามศึกษาในประเทศไทยเองในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลางมีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวน้อยลงตามลำดับ แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานครเองนั้นแม้ว่าจะอยู่ไกลจากพื้นที่ที่มีการเกิดแผ่นดินไหวก็ตาม เนื่องจากสภาพดินเป็นดินอ่อนชั้นหนามากมนที่ราบภาคกลางตอนล่างอาจส่งผลให้เกิดการขยายคลื่นของแผ่นดินไหวเป็น 3 เท่าของการเกิดแผ่นดินไหว ฉะนั้นในการก่อสร้างอาคารหรือบ้านเรือนต่างๆในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมโยธาธิการอย่างเคร่งครัดเพื่อ ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 8 มีนาคม 2554

สายน้ำ
24-03-2011, 07:06
สภาพอากาศแปรปรวน!!สัญญาณวิกฤติ“สิ่งมีชีวิต”

http://www.dailynews.co.th/content/images/1103/24/newspaper/weather2.gif

หลายวันที่ผ่านมาสภาพอากาศบ้านเราเกิดความแปรปรวน มีฝนตกหนัก ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเย็นสบายให้ประชาชนทั่วกรุงเทพฯ แต่หนาวจัดสำหรับผู้คนในต่างจังหวัด ซึ่งการที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลานี้หลายคนยังคงตื่นตระหนกว่า สาเหตุเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า รวมทั้งจะมีผลกระทบรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราได้หรือไม่ อย่างไร...?!?

ต่อข้อซักถามข้างต้น ต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้บอกเล่าไขความกระจ่างว่า จากการที่สภาพอากาศในประเทศไทยเกิดความแปรปรวน มีฝนตก และมีอากาศเย็นลงนั้น สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศทางธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หรือเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หรือมีการระเบิดของนิวเคลียร์แต่อย่างใด

โดยสภาพอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในระลอกแรกที่ผ่านมามีตัวแปร 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกันคือ คลื่นกระแสอากาศทางตะวันตกได้พัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและเอาความเย็นจากภูเขาหิมาลัยมาสมทบกับมวลอากาศเย็นของประเทศจีนแผ่ตัวลงมาถึงประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิปรับลดลงอย่างรวดเร็วประมาณ 7-8 องศา ส่งผลให้ทั่วทั้งประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและยังคงมีอากาศหนาวเย็นอีกระลอกหนึ่ง แต่ไม่หนาวเย็นเท่าระลอกแรก เพราะมีตัวการเดียวคือ มวลอากาศเย็นในประเทศจีนแผ่ตัวลงมา ทำให้สภาพอากาศไม่หนาวเท่ากับครั้งแรก ซึ่งการที่มวลอากาศเย็นที่ประเทศจีนเป็นรอบปกติอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันในอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เรือเล็กควรงดการเดินเรือ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดสภาพอากาศแบบนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้มีทุกปี หลายๆปีจะมีสักครั้งหนึ่ง อาจถือว่าเป็นความผิดปกติในรอบฤดูกาลของอากาศก็ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนตัวของสภาพลมฟ้าอากาศโดยมีสภาพแวดล้อมต่างๆเป็นปัจจัยร่วมด้วย

เมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วฉับพลันเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ สิ่งมีชีวิตตามมาอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ซึ่งหากเตรียมสภาพร่างกายไม่พร้อมอาจเจ็บไข้ได้ป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยร่างกายอ่อนแอ จึงมีข่าวการเสียชีวิตเพราะอากาศหนาวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืชพรรณ ต้นไม้และสัตว์นั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย รศ.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างฉับพลันเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าไม่ปกติ โดยเกิดจากการที่มวลอากาศหนาวทางเหนือของทวีปเอเชียขยับเข้ามาทางใต้ชนกับมวลอากาศที่ร้อนกว่าทำให้ฝนตกอากาศเย็นลงบวกเข้ากับความเย็นของอากาศจากทางเหนือของทวีปทำให้อากาศหนาวเย็น

สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศ เปลี่ยนหรือแม้กระทั่งสัตว์ เช่น กระรอก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปเริ่มไม่ออกหาอาหารกินถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีขนอยู่รอบตัวสามารถเก็บกักความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับที่ทำให้อวัยวะและการทำงานของเซลล์ต่างๆ สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันในระดับหนึ่งซึ่งไม่ถึงกับรุนแรงจนเสียชีวิต

ในขณะที่ทางตอนเหนือของประเทศ ไทยความหนาวเย็นได้มีผลกระทบทำให้นกในธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชนิดเสียชีวิต คือ นกนางแอ่นตะโพกแดงและนกนางแอ่นพง ซึ่งความจริงนกทั้ง 2 ชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นนกนางแอ่นเหมือนกันแต่ในทางชีววิทยาถือว่าเป็นนกที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน นกทั้งสองชนิดมีลักษณะร่วมกันก็คือ มีขนาดเล็กทำให้พื้นที่ผิวต่อมวลมีค่าสูง สูญเสียความร้อนได้ง่าย ต้องกินอาหารจำนวนมากเพื่อจะรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นทำให้ระบบต่างๆของร่างกายทุกระดับสามารถทำงานได้ ดังนั้นนกทั้ง 2 ชนิดจึงมีปัญหาร่วมกันคือสามารถเสียความร้อนได้เร็ว แต่ถ้าได้หาอาหารซึ่งเป็นแมลงมาเปลี่ยนเป็นความร้อนรักษาร่างกายไว้ได้ก็จะไม่มีปัญหา แต่อากาศเย็นอย่างฉับพลันเช่นนี้ทำให้แมลงตายไปเป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงอาหารของพวกมันก็ลดลงหายไปด้วย การจะจับกินแมลงให้เพียงพอเพื่อมาผ่านขบวนการเผาผลาญในร่างกายจึงมีปัญหามาก จนไม่เพียงพอและกระทบต่อชีวิตของพวกมันในที่สุด

นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงทำให้พวกมันสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้ ยิ่งเป็นสัตว์เลี้ยงด้วยแล้วยิ่งอ่อนแอ และหากยังมีอายุน้อยก็ยิ่งได้รับผลกระทบมาก การแก้ไขนอกจากทำให้พวกมันอบอุ่น เช่น การผิงไฟและให้อาหารก็อาจจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพอากาศกลับสู่สภาพปกติแล้วเราจะเห็นว่าไม่มีการปรากฏ การตายของพืชพรรณและต้นไม้เนื่องจากสรีรวิทยาของต้นไม้ไม่ไวต่อการเปลี่ยน แปลงของภูมิอากาศอย่างเช่นในสัตว์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องยาวนานกว่านี้จึงกระทบต่อการอยู่รอดของพืชได้ และถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงนานกว่า เช่น หนาวเย็นยาวนานกว่านี้แน่นอนสัตว์ต่างๆจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ส่วนพืชอาจจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเมื่อหนาวมาก ทำให้น้ำน้อยลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และถ้ามีลมแรงด้วยก็จะพัดพาทำให้ต้นไม้ตายได้

โดยต้นไม้บางชนิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ เช่น ต้นสนชนิดต่างๆ ดังจะเห็นได้จากผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในยุคน้ำแข็งสุดท้ายของโลกเมื่อหมื่นกว่าปีที่ผ่านมาทำให้มีการกระจายของสนสองใบและสนสามใบเข้ามาในประเทศไทยและยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หลายๆแห่งรวมทั้งในภาคอีสาน เพราะเมื่อแพร่กระจายเข้ามาแล้วในที่สุดก็สามารถปรับตัวอยู่รอดถึงแม้ว่าอากาศจะอบอุ่นและร้อนขึ้นเรื่อยๆก็ตาม ดังนั้นจึงถือว่าโชคดีที่การเปลี่ยนแปลงของอากาศในช่วงที่ผ่านมาเป็นแค่ช่วงสั้นๆ มีผลกระทบต่อสัตว์อยู่บ้าง แต่ไม่ผลกระทบต่อพืชและระบบนิเวศทั่วไป ทำให้มีพืชพรรณดำรงอยู่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาสภาพการเคลื่อนตัวของมวล ลม ฟ้า อากาศได้ อาจจะต้องประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ทุกเมื่อ แต่หากเรารู้จักติดตามข่าวสารรอบๆตัวและเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก็จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งดูแลพืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ด้วยเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่จะต้องพึ่งพากันต่อไปในอนาคต.


“นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงจะทำให้วัวสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้”


ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับสภาพอากาศเปลี่ยน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดิน ไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิหรือการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงใต้พื้นดิน เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ เนื่องจากพลวัตใต้พื้นโลก ส่วนสภาพอากาศเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่อยู่เหนือโลก น้ำในทะเล น้ำแข็งขั้วโลก ความแห้งแล้งอื่นๆ ดังนั้นทั้งสองอย่างจึงไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ซึ่งแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาลไม่ว่าจะฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูอื่นๆ ทำนองเดียวกัน สภาพอากาศเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 24 มีนาคม 2554

สายน้ำ
31-03-2011, 06:39
หิมะตกในประเทศเวียดนามกับอากาศหนาวในประเทศไทย ............................... สุพจน์ เอี้ยงกุญชร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2011/03/act02290354p1.jpg

ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) ตามปกติจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส แต่ช่วงระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2554 (ย่างเข้ากลางฤดูร้อนแล้ว) อุณหภูมิอากาศทั้งของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้ลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส

โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เกือบทุกจังหวัด และหนาวเย็นตลอดทั้งวัน (ยิ่งกว่าฤดูหนาว) เพราะมีเมฆเต็มท้องฟ้าในหลายพื้นที่

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันได้เกิดหิมะตกทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนที่ได้รับฟังข่าวสารเป็นอันมาก

อันที่จริงการที่มีหิมะตกในประเทศเวียดนามและพม่านั้นไม่อาจถือเป็นเรื่องแปลกอย่างใด เพราะพื้นที่ตอนเหนือของประเทศทั้งสองสามารถเกิดหิมะตกได้ทุกปีในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัด

แต่ที่แปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่งก็คือ หิมะที่ตกในประเทศพม่านั้น ตกหนักกว่าที่เคยตกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และหิมะที่ตกในประเทศเวียดนามในช่วงนี้นั้น เป็นเรื่องประหลาดที่มาตกในช่วงฤดูร้อน (เช่นเดียวกับเมื่อครั้งหิมะตกที่ประเทศออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดหิมะตกเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับประเทศไทยคงจะไม่เกิดหิมะตกเหมือนประเทศเวียดนามและพม่า แม้ว่าอากาศจะหนาวจัดสักเพียงใด และในประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีหิมะตกในประเทศไทยมาก่อนเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัดถึง 0 องศาเซลเซียส หรือถึงขั้นติดลบก็ตาม

ที่เคยปรากฏก็เป็นเพียงแค่ลูกเห็บตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนของประเทศไทยที่มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้นั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก ต้องมีเมฆผลึกน้ำแข็ง (Ice-crystal cloud) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลึกหิมะ ประการที่สอง เมฆนั้นต้องอยู่ต่ำใกล้ชิดกับพื้นดินในระยะห่างไม่เกิน 300 เมตร (โดยประมาณ) และประการที่สาม อุณหภูมิอากาศเหนือพื้นดินต้องต่ำเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส หรือติดลบ ซึ่งพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศทั้งสองอยู่ที่ละติจูด (Latitude) ค่อนข้างสูง (ประมาณ 20-30ํN) จึงมีอากาศหนาวเย็นเป็นปกติและมีอุณหภูมิเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงมีพื้นดินอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผนึกน้ำแข็งมากขึ้น

พื้นที่ส่วนนี้จึงมีโอกาสที่จะมีหิมะตกได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวเสมอ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น โอกาสที่จะได้เห็นหิมะตกแทบจะไม่มีเลย เพราะประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ที่ละติจูดต่ำกว่า 20ํN อุณหภูมิอากาศตามปกติแทบไม่เคยเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส แม้ในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งเมฆที่เห็นลอยอยู่บนท้องฟ้าก็ล้วนเป็นเมฆละอองน้ำ (Water-droplet cloud) ซึ่งไม่ใช่เมฆที่ให้กำเนิดหิมะ

พื้นที่ที่พอจะมีความเป็นไปได้ที่หิมะจะตกบ้าง (ซึ่งก็มีโอกาสน้อยมากๆ จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโอกาสเลย) ก็คงเป็นพื้นที่บนยอดเขาสูงใน จ.เชียงใหม่ อันได้แก่ ดอยอินทนนท์และดอยอ่างขาง เท่านั้น เพราะอุณหภูมิของอากาศที่นั่นเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว และพื้นที่เหล่านั้นอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผลึกน้ำแข็งมากกว่าพื้นที่ราบด้วย

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคยปรากฏว่าจะมีหิมะตกในพื้นที่ดังกล่าวเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิอากาศเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ก็ตาม อย่างเก่งก็เกิดแค่น้ำค้างแข็ง (Frost) ให้ได้ตื่นเต้นกันบ้างเท่านั้น

ทุกวันนี้สภาพอากาศมีความผันแปรมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นักวิชาการและนักอุตุนิยมวิทยาต่างก็พยายามค้นหาคำตอบกันอยู่ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดที่จะพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น การคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างสูงในเรื่องความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปที่ติดตามสภาพอากาศที่จะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง

ความเห็นใดๆ ที่ขาดหลักการหรือขาดข้อมูลที่ชัดเจนย่อมเชื่อถือไม่ได้

แต่ดูเหมือนคนไทยมักจะตื่นเต้นและให้ความสนใจกันแต่เรื่องที่หวือหวาสุดโต่ง เช่น น้ำจะท่วมถึงนครสวรรค์ สึนามิจะเข้าอ่าวไทย และหิมะจะตกที่กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยไม่ได้สนใจถึงข้อมูลและหลักการที่เป็นจริง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทีแรกก็ตื่นไปกับความเห็นของนักวิชาการบางรายที่คาดว่าสึนามิจะมาถึงชายฝั่งอ่าวไทยตอนตีสี่ตีห้า ต่อมาก็เกรงจะได้รับกัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งๆที่ยังไม่มีคำเตือนใดๆจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงแต่ประการใด

ถึงตรงนี้จึงหวังว่า บทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านผู้ที่รอคอยให้หิมะตกในประเทศไทยหันมาไตร่ตรองและตรวจสอบความเห็นของนักวิชาการบางราย รวมทั้งข้อมูลข่าวสารจาก E-mail และข้อความสั้นจาก SMS ว่า มีอะไรที่ควรเชื่อและอะไรที่ไม่ควรเชื่อ มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างและอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลย



จาก ...................... มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2554

สายน้ำ
01-04-2011, 07:41
เตรียมพร้อมรับมือคลื่นสึนามิในประเทศไทย

http://thainews.prd.go.th/news/pictures/traveltimes%20japan.bmp

ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ระดับ 9.0 ริกเตอร์ ส่งผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ความสูงกว่า 10 เมตร พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นระเบิดตามมา ส่งผลให้มีระดับรังสีเพิ่มขึ้นผิดปกติ และมีสารไอโอดีน131 และสารซีเซี่ยม 137 แพร่กระจายออกมา รวมทั้งความสูญเสียที่ประเทศไทยได้รับจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นบทเรียนว่า ภัยจากสึนามิโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือลดลงได้ หากมีการเตรียมพร้อม มีความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิและวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสียได้

สำนักงานบริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ( Nation Weather Service) ได้ริเริ่มโครงการ “เตรียมพร้อมรับคลื่นสึนามิ ” ขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง มลรัฐและหน่วยงานอำนวยการด้านอุบัติภัยท้องถิ่น รวมไปถึงสาธารณชน เพื่อทำงานร่วมกับระบบการเตือนภัยจากสึนามิ โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเพิ่มความปลอดภัยของสาธารณชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากคลื่นสึนามิ โดยโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามรูปแบบของการ เตรียมพร้อมรับพายุ ( StormReady ) ที่มีมาก่อน

สำหรับชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิจะต้องทำอะไรบ้าง

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยามฉุกเฉิน
2. สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยถึงคนในชุมชนได้
3. ทำแผนรับมือกับภัยสึนามิ
4. จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน
5. พร้อมรับสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ หรือใน ระดับภูมิภาค


สำหรับประเทศไทย การเตรียมการล่วงหน้าในด้านการออกแบบอาคาร สถานที่ การจัดทางเดิน การกำหนดบริเวณอันตรายและบริเวณปลอดภัย ทางขึ้นสู่ที่ปลอดภัย และการประกาศแจ้งเตือนต่อชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งเมื่อมีความพร้อมและสร้างความมั่นใจด้วยความไม่ประมาท จะทำให้พื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย กลับมาเป็นเมืองน่าอยู่กว่าเดิม

ในส่วนของภาครัฐมีหน้าที่ดังนี้

1. ประสานงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่คลื่นสึนามิจะมาถึง
2. กำหนดช่องทางการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนแก่ชุมชนในเขตที่มีความเสี่ยง
3. วางแผนเพื่อกำหนดพื้นที่ที่อันตรายและพื้นที่ปลอดภัยในบริเวณชายฝั่ง ( โอยอิงข้อมูลจากระบบแผนที่ที่แสดงระดับความสูงของพื้นดิน) ประกาศเขตที่เสี่ยงภัย วางโครงสร้างพื้นฐานในการอพยพคน หาที่ปลอดภัยหรือกำหนดให้สถานที่บางแห่งทำหน้าที่เป็นที่หลบภัย
4. สร้างระบบการประสานงานระหว่างบุคลากรจากฝ่ายต่างๆในการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดภัย ฝึกคนให้รู้จักระบบการเตือนภัยและหนีภัย ประสานกับสถาบันวิจัย สถานศึกษาและชุมชน เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่เหมาะสม ได้ผล เข้ากับท้องถิ่นและประหยัด
5.ให้ความรู้แก่ประชาชน ข้าราชการและเยาวชน เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ในโรงเรียนและด้วยสื่อที่เหมาะสม


สำหรับหน้าที่ของชุมชนและผู้นำชุมชน

1. จัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องภัยธรรมชาติ
2. จัดตั้งคณะกรรมการด้านอุบัติภัยของชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานต่างๆและจัดผู้รับผิดชอบ
3. หลีกเลี่ยงการสร้างอาคารที่ไม่ปลอดภัยและเสริมสร้างสิ่งที่ช่วยในการลดภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น แนวของพืชยืนต้น การพัฒนาป่าชายเลนให้มีแนวป้องกันธรรมชาติเพิ่มขึ้น
4. จัดทำทางเดินขึ้นสู่ที่สูงและคัดเลือกสถานที่ ซึ่งจัดให้เป็นที่ปลอดภัยจากสึนามิ ทั้งนี้อาจใช้ข้อมูลด้านความสูงจากระบบแผนที่ของทางการ พร้อมติดป้ายแสดงเส้นทาง
5. จัดรูปแบบอาคารและถนน เพื่อลดโอกาสความเสียหายจากสึนามิ
6. จัดทำระบบแจ้งเตือนแก่ชุมชนด้วยระบบเสียงและสื่อที่เหมาะสม เช่น ไซเรน กลอง หอกระจายข่าว วิทยุ โทรทัศน์ SMS
7. จัดบุคลากรให้มีความรับผิดชอบในการรับฟังข่าวสารจากส่วนกลางที่มีข้อมูลแจ้งภัยสึนามิ
8. จัดการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งการอพยพอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ


ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ

1. หากอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ต่างๆ และได้ยินประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิ ต้องแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนทราบ และถ้าอยู่ในเขตที่ต้องอพยพเมื่อเกิดสึนามิ ควรอพยพทันที โดยเคลื่อนย้ายด้วยความสงบ สุขุมและไม่เสี่ยงอันตรายไปยังสถานที่ปลอดภัย
2. หากอยู่ที่ชายหาด ใกล้มหาสมุทร ใกล้แม่น้ำหรือลำธารที่ไหลลงมหาสมุทรและรู้สึกว่าแผ่นดินสั่นสะเทือนให้รีบย้ายไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าทันทีและหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่ง โดยไม่ต้องรอเสียงประกาศเตือนภัย เพราะคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ สามารถเข้าถล่มบางพื้นที่ได้ก่อนที่จะมีการประกาศเตือน
3. หากอยู่ในเรือ อย่านำเรือกลับเข้าฝั่ง คลื่นสึนามิสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดกระแสน้ำแปรปรวนมากและเป็นอันตรายในบริเวณชายฝั่งและท่าเรือ
4. ท่าเรือขนาดใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของหน่วยงานการท่าเรือ และ/หรือระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ หน่วยงานดังกล่าวจะควบคุมและดำเนินการต่างๆเพื่อเพิ่มความพร้อมในการรับสถานการณ์ ซึ่งหากมีการเคลื่อนย้ายเรือ ควรจะติดต่อกับหน่วยงานที่มีอำนาจ

แม้ว่าคลื่นสึนามิจะมีอันตรายอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกกังวลจากภัยพิบัติธรรมชาติจนเกินไป แต่หากรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่ยืนอยู่หรือได้ยินเสียงประกาศเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ ก็ขอให้รีบบอกต่อญาติและเพื่อนๆในบริเวณนั้นให้ทราบและรีบอพยพไปยังบริเวณที่สูงโดยเร็ว




จาก ..................... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 31 มีนาคม 2554

สายน้ำ
04-04-2011, 07:50
บทเรียนความพร้อมรับมือภัยพิบัติ

http://www.dailynews.co.th/content/images/1104/03/etc/260scoop.jpg

19 23 21 27 29….. ไม่ได้มาใบ้หวย แต่ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาให้กับเมืองไทยอยู่มิใช่น้อย กับสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างผิดปกติมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.54 ที่ผ่านมา วันหนึ่งมีถึงสามฤดู เช้ามืดมีฝนตกโปรยปราย สายหน่อยลมหนาวพัดโชย ช่วงบ่ายอากาศร้อนแดดแรงขึ้นมา ทำให้คนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อกันเลยทีเดียว ทั้งที่ประเทศไทยเราน่าจะเริ่มขยับเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะใกล้เดือนเมษายนเต็มทน

สภาพอากาศจู่ๆ อุณหภูมิลดลงแบบเหลือเชื่อจนหลายจังหวัดเกิดอากาศหนาว เท่านั้นไม่พอยังเกิดพายุฝนกระหน่ำตกอย่างหนัก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ฝนถล่มช่วงเช้ามืดจนทำให้หลายพื้นที่มีน้ำขังเจิ่งนอง ส่งผลกระทบการจราจรกลายเป็นอัมพาตเกือบทั้งวัน หลังฝนซาจากเมืองกรุง

แต่ทางภาคใต้ กลับกลายไปเกิดพายุฝนตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และนราธิวาส ฯลฯ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเนื่องมาจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แพร่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนส่งผลให้ลมตะวันออกพัดปกคุมอ่าวไทยและภาคใต้กำลังแรง

อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นมา หลายจังหวัดทางใต้ยังมีตกอย่างลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ที่ต้องกลายเป็นเมืองบาดาลและอีกหลายจังหวัดมีดินถล่ม ทำให้หลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไล่ตั้งแต่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี และชุมพร

แทบไม่มีใครคาดคิดว่า เดือนเมษายน !! บ่งบอกถึงฤดูร้อนเริ่มต้นได้เพียงไม่กี่วัน แต่บางจังหวัดในภาคใต้กลับมีฝนตกแบบไม่ลืมหูลืมตา จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน อย่างที่ จ.นครศรีธรรมราช น้ำป่าทะลักเข้าท่วมเมือง และท่าอากาศยานครศรีธรรมราช รวมไปถึงเส้นทางรถไฟบางช่วงต้องหยุดไปโดยปริยาย แถมยังมีเรื่องหวาดเสียวให้น่าตื่นเต้นเข้าอีก เพราะจระเข้ตัวเขื่องหลุดออกมาเพ่นพ่าน เส้นทางการจราจรหลายแห่งถูกตัดขาดแบบสิ้นเชิง

จากเดิมที่หลายคนเคยคาดการณ์ไว้ว่าเดือนเมษายนนี้จะลาพักร้อน เพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ท่องเที่ยว หมู่เกาะและชายหาดต่างๆ กลับต้องมาจมปลักอยู่ในห้องพักของโรงแรมด้วยสภาพฝนตกอย่างหนัก ไปท่องเที่ยวที่ไหนไม่ได้ หรือแย่ไปกว่านั้นต้องมาติดค้างที่เกาะต่างๆ เพราะคลื่นลมแรงเรือเล็กไม่สามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ยอดนิยมอย่างเกาะสมุย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี หรือแม้กระทั่งเขยิบขึ้นมาทางตอนบนอย่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอหัวหินก็ตาม นอกจากนั้นหลายคนยังวิตกกังวลว่า “สงกรานต์” ปีนี้ถ้าสภาพอากาศยังแปรปรวนขนาดนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางกลับบ้านอย่างแน่นอน

กรมอุตุนิยมวิทยารายงาน“สภาวะน้ำท่วมในภาคใต้” ระบุสาเหตุจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นและหนักมากในหลายพื้นที่ จึงให้ระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก หลังจากนั้นปริมาณฝนตกหนักจะลดลง ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือ เพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงนี้ไว้ด้วย

ในขณะที่ทางภาคใต้กำลังเกิดปัญหาอุทกภัยหนัก และก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอีกเช่นกัน ช่วงเช้าวันที่ 29 มี.ค. อากาศในเมืองกรุงและอีกหลายพื้นที่ได้เย็นลงราวกับฤดูหนาว เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากทางกรมอุตุนิยมวิทยา ยังระบุอีกว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และ ภาคตะวันออก มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก และมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 13-14 องศา อุณหภูมิสูงสุด 22-25 องศา เรียกว่าสภาพร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่บางคนที่ปรับตัวไม่ทันมีอาการเป็นไข้ไอจามกันจำนวนมาก

คุณเคยคิดหรือไม่ว่ากรุงเทพจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนถึงกับอึ้งเมื่ออุณหภูมิที่กรุงเทพลดต่ำลงถึงขนาด 21 องศาเซลเซียสและเมื่อเดินทางขึ้นเครื่องบินเพื่อไปลงยังเชียงใหม่ เพียงแค่ลงสู่สนามบินอากาศร้อนจากภายนอกทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่าอุณหภูมิที่เชียงใหม่สูงกว่ากรุงเทพแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก น้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

หากนำบทเรียนเหตุการณ์ในช่วงที่เกิดในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 11 มี.ค. เหตุแผ่นดินไหวนิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น พม่า และอากาศแปรปรวน ฝนตก น้ำท่วมในภาคใต้มาเป็นบทเรียน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ ถึงเวลาหรือยังกับความเตรียมพร้อมรับมือในเรื่องภัยพิบัติต่างๆ หรือจะต้องรอให้ธรรมชาติเป็นฝ่ายเริ่มต้นลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อน เราทั้งหลายถึงค่อยยื่นมือช่วย ทำตั้งแต่วันนี้เถอะ ถ้าไม่อยากที่จะสูญเสียไปมากกว่านี้ในวันข้างหน้า

ในเรื่องราวของภัยพิบัติธรรมชาติ ที่เปรียบสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนล่วงหน้าให้บรรดามวลมนุษยชาติได้รับรู้กันแล้ว ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ??.




จาก .................. เดลินิวส์ วันที่ 4 เมษายน 2554

สายน้ำ
04-04-2011, 07:53
เรียนรู้จากภัยพิบัติ


ผู้บริหารของกรมอุตุนิยมวิทยามีความเห็นต่อสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงหลายจังหวัดภาคใต้ว่า เป็นความผิดปกติของฤดูกาล กล่าวคือความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่มาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอ่าวไทย ทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันออกและอ่าวไทยมีกำลังแรง มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยฝนที่ตกในช่วง 28-30 มีนาคม มีปริมาณมากถึง 1,000 มม.เศษ อันเป็นระดับที่เกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำและแหล่งน้ำที่มีจะรองรับไหว พื้นแผ่นดินที่จะรองรับน้ำก็ลดลง เพราะถูกใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ พื้นที่ป่าโดนแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ขาดต้นไม้ใหญ่รากลึกที่จะช่วยซับน้ำและตรึงผืนดินไว้ จึงเกิดการถล่มทลายของหน้าดินหลายพื้นที่

ความผิดปกติที่เกิดขึ้น คงโทษสิ่งใดไม่ได้ นอกจากทบทวนและยอมรับว่า ความรู้ทางด้านอากาศของเรายังไม่พอ ประสบการณ์ต่อภัยธรรมชาติจากความผิดปกติที่นานครั้งจะเกิดยังน้อยจนขาดความตื่นตัว หรือคิดเอาเองว่าจะไม่เกิด ผลที่ตามมาก็คือเครื่องมือและการเตรียมการไม่พร้อม นับแต่เรือท้องแบนเพื่อสำรวจ นำความช่วยเหลือไปสู่แหล่งประสบภัยไม่พอ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยพลเรือนมีขีดความสามารถไม่ถึง ต้องพึ่งพากำลังและยุทโธปกรณ์จากกองทัพ ตั้งแต่การนำเรือรบฝ่าคลื่นลมรับนักท่องเที่ยวที่ติดเกาะ การนำเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงพลมาอพยพราษฎรหนีน้ำป่า จึงควรพิจารณาด้วยว่าหากกองทัพถูกตัดงบประมาณและไม่สามารถช่วยเหลือได้ ราษฎรผู้ประสบภัยจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการเร่งด่วน ควบคู่กับการบรรเทาภัยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ก็คือมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยเฝ้าระวัง เตือนภัยธรรมชาติ ศึกษาและประมวลข้อมูลทางวิชาการเพื่อสรุปสาเหตุ เสนอแนวทางการป้องกันในระยะต้นเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ และวางแผน จัดเตรียมอุปกรณ์ พร้อมกับฝึกซ้อมการหนีภัยให้ทั่วถึง พร้อมกันนั้นก็จัดสรรงบประมาณให้สถาบันการศึกษาทำวิจัยเพื่อรับมือหรือแก้ไขในระยะยาว

ที่จะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความเสียหายและภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการขาดความจริงจังในการรักษาทรัพยากรป่า การละเลยต่อการขยายพื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์ม การยินยอมให้ขยายชุมชนรุกเข้าไปในพื้นที่ลาดเชิงเขา จนผืนแผ่นดินขาดคุณสมบัติในการรักษาสภาพหน้าดินจนถล่มทลายทำความเสียหาย การใช้มาตรการกำหนดพื้นที่ทางเกษตรกรรมมิให้ไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อรักษาธรรมชาติจึงต้องเคร่งครัด ทั้งนี้ ต้องดำเนินการก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง เพราะพื้นที่เสี่ยงภัยคล้ายภาคใต้ได้ขยายตัวไปสู่ภาคอื่นๆแล้ว.




จาก .................. เดลินิวส์ วันที่ 4 เมษายน 2554

สายน้ำ
05-04-2011, 07:15
รอยเลื่อนนครนายก


เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ในเขตโทโฮกุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิโถมซัดเกาะญี่ปุ่น มียอดผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 28,000 ราย

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เสียหาย สารกัมมันตรังสีชนิดพลูโทเนียมรั่วไหล กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง รวมทั้งประเทศในทวีปยุโรป และอเมริกา

ถ้าลมเปลี่ยนทิศมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ก็อาจถึงประเทศไทยได้เช่นกัน!!

ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดเหตุแผ่นดินไหวรอยเลื่อนน้ำมา ขนาด 6.7 ริกเตอร์ ระดับความลึก 10 ก.ม. ห่างจากเมืองเกงตุง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า

เป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับรอยเลื่อนน้ำมาในประเทศลาว ซึ่งเคยเขยื้อนจนเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วในปี 2550 หนังสือพิมพ์นิวไลต์ ออฟ เมียนมาร์ ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิต 75 ราย บาดเจ็บ 125 ราย

ทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลต่อประเทศไทยเหมือนกัน คือ บ้านเรือน โบราณสถาน ถนน เสียหาย มีผู้เสียชีวิต

ทั้งหมดที่ยกมา เกิดจากรอยแตกในเปลือกโลก หรือรอยเลื่อน (faults) ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว

มีอานุภาพรุนแรงจนมวลมนุษย์ไม่อาจคาดเดาความเสียหายที่ตามมาได้

ยังไม่ทันเบาใจ ประเด็นรอยเลื่อนก็สร้างความหวาดหวั่นให้คนไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ดูเหมือนภาคกลางโดยเฉพาะเมืองกรุงที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน จะน่าวิตกกว่าภาคใดๆในประเทศ

เมื่อมีรายงานจาก นายปัญญา จารุศิริ หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดเผยหลังดูภาพถ่ายจากดาวเทียมว่า พบรอยเลื่อนใหม่ อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ นั่นก็คือ รอยเลื่อนนครนายก

เป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่าน จ.นครนายก ลงมากรุงเทพฯ ไปสุดที่จ.สมุทรปราการ มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อน แม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร ในแนว ทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ ยาว 50-100 ก.ม.

พร้อมระบุ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนนี้ จะกระทบภาคกลางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อุทัยธานี และลพบุรี เตรียมนำข้อมูลเสนอ ทส. เพื่อสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทยจาก 13 จุด เป็น 14 จุด

กระทั่งล่าสุด นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากร ธรณี ทส. ต้องออกมายืนยันว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนเพียง 13 จุดเท่านั้น

ซึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่เกิน 6.9 ริกเตอร์

ส่วนรอยเลื่อนนครนายก และรอยเลื่อนองครักษ์ หลังจากติดตามมา 3 ปี มั่นใจว่า รอยเลื่อนองครักษ์เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง ขณะที่รอยเลื่อนนครนายก มีความมั่นใจ 75 เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นรอยเลื่อนไม่มีพลัง

เนื่องจากไม่มีลักษณะเหมือนรอยเลื่อนที่มีพลัง เช่น ลักษณะแม่น้ำที่บิดเบี้ยว มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ใกล้รอยแตกร้าว

แต่ก็ต้องจับตาต่อไป


สำหรับรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย 13 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง
2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
3.รอยเลื่อนเมย
4.รอยเลื่อนแม่ทา
5.รอยเลื่อนเถิน
6.รอยเลื่อนพะเยา
7.รอยเลื่อนปัว
8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์
9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
11.รอยเลื่อนท่าแขก
12.รอยเลื่อนระนอง
13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย




จาก .................. ข่าวสด คอลัมน์ที่ 13 วันที่ 5 เมษายน 2544

สายน้ำ
06-04-2011, 07:02
ความจริงจากภัยพิบัติ ..... คนไทยทำกันเอง



จาก .................. ไทยรัฐ วันที่ 6 เมษายน 2544

สายน้ำ
06-04-2011, 07:08
วิกฤติกัมมันตภาพรังสีกับการเตรียมรับมือของไทย ........................ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัช ชิตตระการ


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล อีกทั้งส่งผลกระทบให้เตาปฏิกรณ์ ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลและแพร่กระจายไปหลายพื้นที่นั้น ขอแยกแยะสถานการณ์ของสารกัมมันตภาพรังสีที่หลายคนกำลังวิตกกังวลอยู่ออกเป็น 6 ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่ 1 สารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีคืออะไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีที่รั่วออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง ซึ่งกรณีนี้พบว่ากว่าที่จะได้พลังงานนิวเคลียร์ออกมานั้น เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (U-235) จะต้องจับเอาอนุภาคนิวตรอนเข้าไปรวมกับนิวเคลียสของ U-235 กลายไปเป็น U-236 ซึ่งในภาวการณ์ขณะนั้น U-236 ไม่เสถียรเอามากๆ ก็จะแตกตัวออกมาเป็นสองเสี่ยงใหญ่ๆ (เราเรียกว่าผลผลิตฟิสชัน) พร้อมกับปลดปล่อยพลังงานจลน์ออกมาประมาณ 200 MeV ต่อฟิสชัน พลังงานจลน์ส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนที่นำเอาไปต้มน้ำ ให้เดือดกลายไปเป็นไอ แล้วไปหมุนกังหันในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาให้เราได้ใช้กัน

นอกเหนือจากผลผลิตฟิสชันและพลังงานจลน์ที่ปลดปล่อยออกมาแล้ว ในแต่ละการแตกตัวยังได้อนุภาคนิวตรอนใหม่ออกมาเฉลี่ยประมาณ 2-3 ตัว อนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา และอนุภาคแกมมาที่ถูกปลดปล่อยพร้อมๆ กับการเกิดฟิสชันแล้ว พวกผลผลิตฟิสชันที่พวกเราคุ้นหู เช่น I-131, Cs-137, Co-60 และไอโซโทปรังสีอีกมากมายก็จะถูกปลดปล่อยออกมาด้วย ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีครึ่งชีวิตอายุตั้งแต่ไมโครวินาทีไปจนถึงหลายพันล้านปี โดยไอโซโทปรังสีที่เกิดมาหลังจากการเกิดฟิสชันนั้น ตามปกติแล้วจะยังคงปะปนอยู่ภายในแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำมาแยกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตรได้อย่างดี และส่วนใหญ่ยังสามารถแยกเอา U-235 ไปใช้ประโยชน์ด้วยการไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงแท่งใหม่ได้อีก


ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศเป็นไปในลักษณะใด/ไกลเท่าไร

การแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศนั้นขึ้นอยู่กับว่าแรงระเบิดของเตาปฏิกรณ์จะ รุนแรงมากเพียงใด ถ้ารุนแรงมากก็อาจจะส่งให้ไอน้ำและสารกัมมันตรังสีที่ปะปนออกมาขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสูงได้ หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางและกระแสแรงลมที่จะพัดพามวลของฝุ่นกัมมันตรังสีเหล่านี้ไป ซึ่งจากแบบจำลองเบื้องต้นนั้นมีโอกาสที่จะพัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แต่ถ้าระยะยาวอาจจะแพร่ไปทั่วโลกได้


ประเด็นที่ 3 อันตรายจากสารกัมมันตรังสี แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ

1. ถ้าร่างกายรับเอาสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย จะอันตรายมาก เพราะรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากสารกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อที่สารกัมมันตรังสีเหล่านั้นไปสะสมอยู่เช่น I-131 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) ซึ่งจะปลดปล่อยรังสีแกมมาออกมา ซึ่งเซลล์ของต่อมไทรอยด์จะถูกทำลายไปตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีสารกัมมันตรังสีบางตัวที่เป็นสารพิษเช่นพลูโทเนียม (Pu) ถ้าร่างกายรับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเสียชีวิตได้

2. ถ้าร่างกายรับรังสีจากภายนอกร่างกาย เนื้อเยื่อในแต่ละบริเวณของร่างกายจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน


ประเด็นที่ 4 ประชาชนทั่วไป (ในไทย) จะสังเกตได้อย่างไรว่าได้รับสารดังกล่าว/เตรียมป้องกันตัวเองอย่างไร

ประชาชนทั่วไป (ในไทย) โดยปกติก็จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ทุกวันอยู่แล้ว ก็ขอให้ติดตามข่าวสารจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีเครื่องมือวัดปริมาณรังสีในอากาศที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติติดตั้งตรวจสอบแบบ Real time ไว้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจำนวน 8 แห่ง


ประเด็นที่ 5 ถ้ามีความจำเป็นจะต้องไปในพื้นที่ ที่อาจมีการปนเปื้อนจริงๆ จะทำอย่างไร

ถ้ามีความจำเป็นจะต้องไปในพื้นที่ที่อาจมีการปนเปื้อนจริงๆแล้ว ควรจะพก Pocket dosimeter ติดตัวไปด้วย เพราะจะช่วยบอกว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเรารับโดนรังสีเข้าไปในร่างกายมากน้อยเพียงใด ใกล้กับระดับมาตรฐานที่ 50 mSv ต่อปีที่ยอมรับได้หรือยัง และเมื่อกลับมาที่เมืองไทยแล้วควรจะผ่านการวัดปริมาณรังสีทั้งร่างกาย เพื่อการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งเครื่องวัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ (Total count dose) และถ้าเราอยู่ในข่ายเสี่ยงที่ได้รับ I-131 เข้าไปในร่างกาย ก็ควรจะพักแยก และไม่ควรพบปะครอบครัวและญาติประมาณ 1-2 อาทิตย์


ประเด็นที่ 6 ความเป็นไปได้ที่อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องเชื่อระบบทั้งของญี่ปุ่นและฝ่ายไทยที่น่าจะมีมาตรฐานสูงพอที่จะตรวจวัดว่าจะมีสารอาหารถูกปนเปื้อนก่อนนำเข้าประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะนมผงเลี้ยงเด็กนั้นสำคัญที่สุด เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อสงสัยก็น่าจะส่งให้หน่วยวิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์ ภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยหลักๆ ได้ช่วยตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้




จาก .................. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 เมษายน 2544

สายน้ำ
12-04-2011, 07:34
น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/col01120454p1.jpg&width=360&height=360


จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.จนถึง 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว พบว่าอุทกภัยระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ทำให้หลายพื้นที่ใน 10 จังหวัดได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร พังงา นราธิวาส สตูล สงขลา และ กระบี่ มีประชาชนเดือดร้อน 6 แสนกว่าครัวเรือน หรือ 2 ล้านกว่าคน เสียชีวิตประมาณ 60 ราย

สาเหตุของพายุฝน-อุทกภัยร้ายแรงในภาคใต้หนนี้ นักวิชาการชี้ว่า นอกจากปรากฏ การณ์ 'ลานิญ่า-โลกร้อน' จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว การกระทำของมนุษย์เองก็มีส่วนทำให้ภัยน้ำท่วม-น้ำป่า-ดินถล่มภาคใต้รุนแรงกว่าปกติด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าธรรมชาติ สร้างสิ่งกีด ขวางทางน้ำ ตัดถนน หรือใช้พื้นที่ผิด ประเภท!

นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนว่า สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" เมื่อปลายปีพ.ศ.2552 ถึงต้นปีพ.ศ.2553 ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างหนักในขณะนั้น

ต่อมาเดือนก.ค.2553 ก็เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์ "ลานิญ่า" ในระยะแรกยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก จนเมื่อเข้าสู่เดือนต.ค.เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมในภาคกลาง และภาคอีสาน

เมื่อเข้าสู่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2553 ปรากฏการณ์ลานิญ่าทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ และส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ภาคกลางหนาวเย็น ซึ่งการคาดการณ์ด้วยโมเดลพยากรณ์อากาศก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ลานิญ่า จะหมดลงในเดือนมี.ค.2554 แต่จากโมเดลล่าสุด ลานิญ่ามีผลต่อสภาพอากาศของประเทศไทยไปอีก 2 เดือน คือสิ้นสุดเดือนพ.ค.2554 หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลตามปกติ

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สภาพอากาศแปรปรวนเป็นผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวกัน เป็นเพียงการคาดการณ์ของแต่ละบุคคลมากกว่า



น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/col01120454p2.jpg&width=360&height=360

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปภัยพิบัติจะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น การเตรียมการแจ้งข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขอให้ประชาชนติดตามคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร กล่าวว่า

จากการติดตามข่าวพบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุเป็น 2 กระแส

กระแสหนึ่งบอกว่าเกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนพัดเข้าสู่ประเทศไทย เหมือนมรสุมทั่วไป ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก

อีกกระแสบอกว่าเป็นผลกระทบจากสึนามิในญี่ปุ่น ทำให้กระแสน้ำอุ่นเปลี่ยนทิศ

แต่ถ้าดูข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาและคำบอกเล่าของคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า อากาศไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ที่ผ่านมาในช่วงเม.ย.-พ.ค.จะพบเพียงพายุฤดูร้อนในแถบ จ.เชียงราย แต่ขณะนี้กลับมาเกิดที่ภาคใต้

ทั้งหมดนี้น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศของโลก (โลกร้อน) ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร

อย่างไรก็ตาม "สิ่งกีดขวางทางน้ำ" เช่น ถนน สะพาน ก็ทำให้สถานการณ์ในบางพื้นที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

บางแห่งเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ลงทุน "ยกถนน" ให้สูงขึ้น แต่ไม่สนใจขยายความกว้างของสะพาน เพราะต้องการประหยัดงบฯ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทั้งๆที่ถ้าคำนวณปริมาณน้ำในภาคใต้ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ น้ำน่าจะลดได้เองใน 1-2 วัน

แทนที่จะทุ่มงบฯ กับการยกระดับถนน น่าจะลงทุน "ขยายสะพาน" จะดีกว่า

ส่วนที่บางคนตกใจว่า ทำไมน้ำถึงท่วมสนามบิน ถ้าสังเกตจะเห็นว่า "สนามบินนครศรีธรรมราช" เป็น "หนองน้ำ" มาก่อน และบริเวณโดยรอบก็เป็นป่าเสม็ด รวมไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็เป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสงวนไว้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร

ส่วนกรณีศึกษาเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งน้ำท่วม น้ำป่า และดินถล่ม ในพื้นที่ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.จนถึงช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมานั้น พล.ต.ดร.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายเจาะลึกถึงสาเหตุว่า

พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนอยู่ในกระทะ โดยมีภูเขาล้อมรอบอยู่

ภูเขาเหล่านั้นเป็นหินแกรนิตและหินดินดานที่ผุแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทางใต้จะมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา และในบริเวณเทือกเขาหลวงมีความลาดชันสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกติดต่อกันและค่อนข้างหนัก ทำให้หินที่ผุพังที่อยู่ตามยอดเขาไม่สามารถที่จะอุ้มน้ำไว้ได้

จากนั้นเมื่อมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงค่อยๆกัดเซาะเศษหินที่ผุพังที่อยู่ข้างบนยอดเขาลงมาก่อน จนเกิดการรวมตัวของน้ำ เศษหิน เศษดิน และต้นไม้ต่างๆ จากยอดภูเขาที่ได้ล้อมรอบพื้นที่นั้นไหลรวมกัน จนทำให้กระแสน้ำไหลทะลักเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ ต.กรุงชิง อย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ปัจจัยอีกประการที่ทำให้น้ำท่วมหนักใน อ.นบพิตำ พล.ต.ดร. นพรัตน์ ชี้ว่า

ปัจจุบันต้นไม้ป่าธรรมชาติค่อนข้างจะเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่บริเวณนั้นจะโค่นป่าเพื่อเอาพื้นที่ไปใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพารา และยังมีการใช้พื้นที่ในลำน้ำ ถมทางน้ำบ้าง ด้านข้างก็มีถนนยกระดับสูงขึ้นมา

ตามปกติแทนที่น้ำจะไหลตามธรรมชาติของมัน แต่การที่มีคนเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวก็ทำให้การไหลของน้ำเผชิญกับอุปสรรคกีดขวาง เกิดดินถล่ม ส่งผลให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ ทำให้สะพานขาด ชาวบ้านถูกตัดขาดจากพื้นที่รอบนอก

สําหรับแนวทางแก้ปัญหา พล.ต.ดร.นพรัตน์ ระบุว่า ปัญหาจากภัยธรรมชาติ เราไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า

แม้ตอนนี้จะมีหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องนำ "กระบอกตวงน้ำฝน" มาวัดไว้ว่า ถ้าหากปริมาณน้ำฝนมีมากกว่า 100 มิลลิเมตรภายใน 3 วัน จะต้องรายงานให้ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติทราบ

แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ วิธีที่จะช่วยได้ดี คือ เราต้องชี้แนะให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านตามยอดเขา หรือหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณจุดเสี่ยง ให้ทราบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น มีวิธีการป้องกันอย่างไร ด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพาชาวบ้านขึ้นไปสำรวจบนเขาว่า หินที่อยู่บนยอดเขาต่างๆ นั้นผุพังในระดับใดแล้ว เสี่ยงอันตรายหรือไม่

รวมทั้งให้ศึกษาถึงความลาดชันของภูเขา หรือการเก็บตัวอย่างของหินและดินด้วยการทดสอบว่าปริมาณน้ำเท่าใด ที่จะทำให้เกิดการไหลของดินและหินเหล่านั้น โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้เตือนตัวเองจะดีกว่าที่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องคอยเป็นผู้เตือนภัยให้ชาวบ้านทราบ บางทีอาจจะสายเกินกว่าที่ชาวบ้านจะรับมือได้

"ทุกคนต้องตระหนักแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงผันผวนของภูมิอากาศโลกเป็นสัญญาณเตือนที่จะต้องปรับตัวพร้อมรับกับสถานการณ์ กรณีที่เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในขณะนี้ ได้เข้าไปหาชุมชนพบว่ายังไม่มีความรู้พื้นฐานลักษณะทางธรณีที่ชุมชนอาศัยอยู่เลย ยังยึดอยู่กับปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก เพียงแค่รู้ว่าเมื่อฝนตกมากต้องอพยพ ชุมชนควรรู้ในเรื่องธรณีวิทยาของพื้นที่ด้วย" พล.ต.ดร.นพรัตน์ กล่าว


"ลานิญ่า" เป็นคำดั้งเดิมจากภาษาสเปน มีความหมายว่า "เด็กผู้หญิง" จัดเป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับ "เอลนิโญ่" เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อเกิดลานิญ่า อุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกจะต่ำลงอย่างผิดปกติราว 3-5 องศาเซลเซียส ทำให้ความดันฝั่งตะวันตกต่ำกว่าความดันฝั่งตะวันออก เกิดลมพายุพัดเสริมลมสินค้าทิศตะวันออกพัดพาน้ำและอากาศที่หนาวเย็นไปยังทิศตะวันตก

ด้วยระดับน้ำทะเลซีกตะวันตกที่เพิ่มสูงกว่าสภาวะปกติ ประกอบกับลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่หอบน้ำฝนพัดผ่านมา ทำให้ "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก น้ำท่วม และหน้าดินพังทลายอยู่บ่อยครั้ง

แต่ข้อดีของลานิญ่า คือ น้ำเย็นใต้มหาสมุทรจะยกตัวขึ้นแทนที่กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวน้ำ ทำให้เกิดธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลาชุกชุม




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 12 เมษายน 2544

สายน้ำ
22-04-2011, 07:40
ยุค'ธรรมชาติเอาคืน' 'พายุฤดูร้อน' ภัยปกติที่จะไม่ปกติ!!

http://www.dailynews.co.th/content/images/1104/22/newspaper/p3scoop.jpg

โลกยุคปัจจุบันกำลัง ’เอาคืนมนุษย์“ ที่ทำลายธรรมชาติ ทำลายโลก ’อย่างกราดเกรี้ยว“ ซึ่งแม้แต่ประเทศที่เจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ฯลฯ ต่างก็ไม่อาจต้านทานความกราดเกรี้ยวนี้ได้ และสำหรับประเทศไทยที่ก็มีการทำลายธรรมชาติไปไม่น้อย ทั้งจากการพัฒนาสังคมเมือง การทำธุรกิจระดับครัวเรือน บริษัท ประเทศ และการทำลายธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันก็เกิดภัยธรรมชาติระดับรุนแรงให้เห็นๆกันอยู่ ทั้ง ภัยน้ำท่วม ภัยดินถล่ม ภัยแล้ง ภัยพายุ

ล่าสุด ’พายุฤดูร้อนระดับรุนแรง“ ก็กำลังน่ากลัว

ถ้าไม่ระวังกันให้ดีคงต้องมีการสูญเสียกันมาก!!

ทั้งนี้ ว่ากันถึง “พายุฤดูร้อน” ที่ตอนนี้มีการประกาศเตือนให้คนไทยระวัง ทาง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารทางวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ให้ความรู้ความเข้าใจไว้ในเว็บไซต์ http://gotoknow.org/blog/weather/ และเว็บไซต์ http://cloudloverclub.com โดยสังเขปมีดังนี้คือ... ช่วงฤดูร้อนระหว่างที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าว ถ้าบังเอิญความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมไทย ก็จะมีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดเข้าสู่ไทย

’เนื่องจากอากาศผู้รุกรานซึ่งแห้งและเย็น มีลักษณะต่างจากอากาศเจ้าบ้านซึ่งร้อนและชื้นอย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงฉับพลัน เปรียบง่ายๆก็คือเมฆฝนฟ้าคะนองเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลมหาศาล ถ้าเกิดที่ไหนก็มั่นใจได้เลยว่า ทั้งพายุ ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร เผลอๆ อาจมีลูกเห็บแถมด้วย“

ดร.บัญชา ยังระบุไว้อีกว่า.. อากาศเย็นซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น จะพยายามจมลงต่ำ แต่ไม่อาจทำได้อย่างทั่วถึง ผลก็คืออากาศเย็นนี้กดทับอยู่เหนืออากาศร้อน ซึ่งจะยกตัวหนีสูงขึ้นในบางบริเวณ มีผลทำให้เกิดเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง และเกิด “พายุฤดูร้อน” ซึ่งใกล้ๆพื้นดินนั้น เนื่องจากอากาศยกตัวขึ้นรุนแรง จึงมีอากาศไหลเข้าแทนที่อย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นพายุ ซึ่งอาจมีความเร็วลมถึง 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับ “ลางบอกเหตุก่อนเกิดพายุฤดูร้อน” นั้น ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ อากาศจะร้อนอบอ้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยลมค่อนข้างสงบ ใบไม้ไม่ค่อยกระดิก แต่ถ้าแหงนดูท้องฟ้าจะมืดมัว ทัศนวิสัยไม่ดี และมีเมฆทวีขึ้น ต่อมาจะเริ่มโหมโรง คือลมจะเริ่มพัดแรงในทิศใดทิศหนึ่ง และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว พอท้องฟ้ามีเมฆเต็ม ก็จะตามด้วยฟ้าแลบ และฟ้าคะนองในระยะไกล และช่วงรุนแรงสุดก็จะกระหน่ำซัมเมอร์เซลแบบรวมมิตร ซึ่งโดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และถล่มในพื้นที่แคบๆ ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร

“เมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว อากาศจะเย็นลงเพราะฝนตก และท้องฟ้าจะสุดแสนสดใส เรียกได้ว่าพายุฤดูร้อนนี่ก็มีนิสัยคล้ายๆกับคนโกรธง่ายหายเร็ว” ...ดร.บัญชา ระบุถึงอาการของพายุฤดูร้อน

ที่สำคัญคือตอน ’โกรธ“ ที่จะสร้างความเสียหาย

และพายุฤดูร้อนมักจะมี ’ฟ้าผ่า-ลูกเห็บ“ ด้วย!!

สำหรับ “ลูกเห็บ” นั้น ทำอันตรายคน สัตว์ พืช สิ่งของต่างๆได้ ลูกเห็บมักเกิดในสภาพอากาศที่มีเมฆฝนฟ้าคะนอง ในก้อนเมฆนี้จะมีกระแสอากาศที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งจากการที่เม็ดน้ำขนาดเล็กถูกกระแสอากาศไหลขึ้นพาขึ้นไป พอสูงใกล้ยอดเมฆก็จะพบอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ทำให้แข็งตัวเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดเล็ก ซึ่งกระแสอากาศยังสามารถพยุงก้อนน้ำแข็งนี้ให้เคลื่อนขึ้นได้อีก และอาจจะพบหยดน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled droplet) ซึ่งจะเกาะผิวก้อนน้ำแข็งและแข็งตัวเคลือบก้อนน้ำแข็ง เกิดเป็นชั้นน้ำแข็ง เมื่อก้อนน้ำแข็งที่สะสมเคลือบน้ำแข็งนี้ถูกพัดขึ้นหมุนวนอยู่ในก้อนเมฆหลายๆรอบเข้า ก็จะเกิดการสะสมชั้นเคลือบน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อมีน้ำหนักถึงจุดหนึ่ง กระแสอากาศไหลขึ้นพยุงไว้ไม่อยู่ ก็จะตกลงมา

’ลูกเห็บที่คนไทยรู้จักกันดีพอสมควรนั้น มีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งขนาด 5-150 มิลลิเมตร หรือ 0.5-15 เซนติเมตร โดยลูกเห็บขนาด 150 มิลลิเมตรอาจมีน้ำหนักมากถึงราวครึ่งกิโลกรัม เจ้าลูกเห็บนี่ชอบมาพร้อมพายุฤดูร้อน เป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆของพายุที่ควรรู้จักไว้“ ...ดร.บัญชา ระบุ

ทั้งนี้ กับการ “ป้องกันภัยพายุฤดูร้อน” ซึ่งจะมีทั้ง ฝนหนัก ลมแรง ฟ้าผ่า และอาจมี ลูกเห็บ ด้วยนั้น ที่มีการแนะนำกันไว้ก็คือ... ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร ติดตั้งสายล่อฟ้าสำหรับสิ่งปลูกสร้างสูงๆ ติดตามข่าว-คำเตือนสภาวะอากาศ งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดขณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ใส่เครื่องประดับโลหะและไม่อยู่กลางแจ้งขณะมีฝนฟ้าคะนอง

’พายุฤดูร้อน“ จริงๆก็เป็นเรื่องปกติทางธรรมชาติ

แต่ปัจจุบันเรื่องปกตินี้อาจ ’รุนแรงมาก-ไม่ปกติ“

ไม่กลัว-ไม่ป้องกัน...บ้านพังยับ หรือถึงตายได้!!.




จาก .................. เดลินิวส์ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 22 เมษายน 2544

สายน้ำ
26-04-2011, 07:56
ชี้ไทยพ้น 'ดินไหว'ใหญ่ ไม่ประมาท-เสริมแกร่งบ้านเมือง

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/col01260454p1.jpg&width=360&height=360

แม้โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว-สึนามิใหญ่ถล่ม 'ญี่ปุ่น' จะผ่านพ้นมาเกือบ 2 เดือน

แต่หลังจากนั้นในทวีปเอเชียและเขตแปซิฟิกก็ยังเกิดแผ่นดินไหวเกิน 5-6 ริกเตอร์อยู่หลายจุด โดยครั้งล่าสุดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาเพียงแค่วันเดียว มีถึง 3 ประเทศ กับอีก 1 เกาะต้องเผชิญธรณีพิโรธ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาะไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน และรู้เท่าทันมหันตภัยธรรมชาติดังกล่าว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดสัมมนาหัวข้อ 'เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร' ที่อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิพร้อมผู้สนใจเข้าร่วมคับคั่ง

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ 'ทส.' ให้คำจำกัดความ 'รอยเลื่อนมีพลัง' ว่า

เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งยังคงเคลื่อนตัวเข้าหากัน มุดซ้อนเกยกัน และบางแผ่นแยกออกจากกันตลอดเวลา การเคลื่อนไหวนี้จะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการสั่นไหว ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า แผ่นดินไหว

"โชคดีของประเทศไทยที่รอยเลื่อนมีพลังของเราเป็นรอยเลื่อนแบบแขนง ซึ่งเป็นสาขาของรอยเลื่อนใหญ่อย่างรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า หรือรอยเลื่อนเทียนเมียนฟูในประเทศลาว ดังนั้น โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นขนาดกลาง และมีโอกาสเกิดแค่ 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ได้" นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์ระบุด้วยว่า ที่ระดับความแรง 5-6 ริกเตอร์ บ้านเมืองจะสั่นไหว อาคารที่ไม่ได้เตรียมการรับมือดีพออาจเกิดการแตกร้าว แต่หากเกิดบริเวณป่าเขาจะได้รับผลกระทบน้อย

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/col01260454p2.jpg&width=360&height=360

สำหรับ 'รอยเลื่อนที่มีพลัง' ของไทยมีทั้งหมด 13 แห่ง ครอบคลุม 22 จังหวัด คือ

1.รอยเลื่อนแม่จัน 2.แม่ฮ่องสอน 3.พะเยา 4.แม่ทา 5.ปัว 6.เถิน 7.อุตรดิตถ์ 8.เมย 9.ท่าแขก 10.ศรีสวัสดิ์ 11.เจดีย์สามองค์ 12.ระนอง และ 13.คลองมะรุ่ย

ตำแหน่งที่เกิดในประเทศไทยส่วนมากอยู่บริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

"กรมทรัพยากรธรณีวิทยาศึกษาย้อนหลังไป 50 ปี พบว่า วันที่ 22 เม.ย.2526 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณ จ.กาญจนบุรี และรองลงมาคือ วันที่ 17 ก.พ. 2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ ที่ จ.ตาก" นายสุวิทย์กล่าว

ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณีฯ อธิบายต่อไปว่า รอยเลื่อนในประเทศไทยไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ 'สึนามิ' เพราะอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้อยู่ในพื้นทะเล

การเกิดสึนามิเกิดจากแผ่นเปลือกโลกมุดซ้อนเกยกันทำให้น้ำทะเลถูกแทนที่ด้วยแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ซึ่งจะมาผุดสูงเมื่อใกล้ถึงฝั่งกลายเป็นภัยที่เตือนภัยยากและเกิดบ่อยครั้ง

คลื่นยักษ์สึนามิจึงมักเกิดบริเวณตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก เช่น รอยต่อของอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือชิลี

"คาบเวลาการเกิดซ้ำของแผ่นดินไหวรุนแรงจากรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีระยะเวลายาวนานมาก ราว 1,000 ปี"

"ดังนั้น สำหรับประชาชนไทยจึงไม่ควรหวาดวิตกเกินเหตุ แต่หากเกิดการเคลื่อนของรอยเลื่อนบริเวณเกาะสุมาตรา หรือหมู่เกาะนิโคบาร์ มหาสมุทรอินเดีย อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงไทยได้ และจังหวัดที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ ภาคใต้ติดชายฝั่งอันดามัน" นายสุวิทย์ชี้

ขณะเดียวกัน นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ 'ไอซีที' กล่าวว่า

ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยแผ่นดินไหวอยู่ 40 สถานีทั่วประเทศไทย

การวิเคราะห์ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ต้องใช้สถานีวัดไม่ต่ำกว่า 4 สถานี ซึ่งได้รับแรงสะเทือน จากนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์จะเลือกลักษณะของความสั่นสะเทือนนั้นๆ เพื่อคำนวณว่าตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ไหน

"เครื่องมือจะบันทึกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ฉะนั้นเราจะทราบว่ามีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ ศูนย์กลางอยู่ที่ไหน ลึกเท่าไหร่ ตำแหน่งที่อยู่บนระนาบของผิวโลกอยู่ตรงส่วนไหน" ผอ.ส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ อธิบาย และยืนยันว่า ความพร้อมในการตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยอยู่ในมาตรฐานโลก

ด้าน ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเตรียมพร้อมเสริมความแข็งแรงของอาคารสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน

โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรทยอยจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดให้มีการประเมินสภาพอาคาร

ทั้งนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ควรรีบเสริมความแข็งแรงเป็นอันดับแรก คือ 'เส้นทางคมนาคม' เพราะถือเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการดำเนินชีวิต

รองลงมา คือ อาคารสำคัญๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บัญชาการของตำรวจ และทหาร เนื่องจากหากเกิดภัยพิบัติและอาคารเหล่านี้ถล่มลงมาจะทำให้เกิดจลาจล เพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล โรงเรียนและโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานหลบภัยขณะเกิดภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร

หนังสือ 'ข้อแนะนำสำหรับรูปแบบและการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่เหมาะสมในเขตเสี่ยงภัยพิบัติสึนามิปานกลาง' ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า

ตำแหน่งของอาคารที่ป้องกันภัยสึนามิไม่ควรอยู่ใกล้ชายหาด หรือร่องน้ำมาก

รูปทรงควรสมมาตรในแปลน ไม่มีช่องเว้าหักมุมที่ทำให้คลื่นสูงขึ้น

ผังอาคารรูปวงกลมหรือแปดเหลี่ยมจะสามารถลดแรงคลื่นได้ถึงร้อยละ 20

และควรหันอาคารด้านแคบเข้าหาแนวที่คลื่นสึนามิจะปะทะเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

กำแพงของอาคารส่วนที่ปะทะคลื่นยักษ์ต้องมีช่องเปิดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่กำแพง ก่อด้วยอิฐ หรือคอน กรีตบล็อก ความหนารวมปูนฉาบไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีเหล็กเดือยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตรยึดผนังกับเสาห่างกันไม่เกิน 40 เซนติเมตร เพื่อลดความเสียหายกับโครงสร้างตึก

ด้าน 'รากฐาน' ต้องหยั่งลึกลงในชั้นดินแน่น

หากเป็นรากฐานแบบแผ่ต้องฝังในชั้นดินที่แน่นและมั่นคงกว่าที่กระแสน้ำสามารถกัดเซาะได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

และควรขยายตอม่อให้มีขนาดไม่เล็กกว่า 25 เซนติเมตร ขนาดเสาควรมีหน้าตัดด้านแคบไม่น้อยกว่า 20 เซนติ เมตร และระยะเรียงแนวดิ่งระหว่างเหล็กปลอกไม่ควรเกิน 15 เซน ติเมตร

สำหรับเสา 20x20 เซนติเมตร และส่วนปลายยื่นของเหล็กปลอกไม่ควรน้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลาง

แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่ห่างไกลคนไทยอยู่บ้าง แต่การเตรียมพร้อมย่อมดีกว่าการแก้ปัญหายามเมื่อความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลไปแล้ว เพราะในอดีตมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสึนามิใหญ่จะไม่มีทางถล่มประเทศไทย แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีคงให้คำตอบไว้แล้ว!




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 26 เมษายน 2544

สายน้ำ
07-01-2012, 08:09
นักวิทยาศาสตร์เตือนรับมือภัยพิบัติ 2012 'สึนามิ-พายุสุริยะ' ถล่ม-กทม.วิบัติแน่!

http://pics.manager.co.th/Images/555000000153801.JPEG

นักวิทยาศาสตร์เตือน “สึนามิ” เข้าอ่าวไทยปี 55 แนะซ้อมหนีภัยทุกชุมชน จับตา “พายุสุริยะ” ทำไฟดับ ระบบสื่อสารขัดข้อง แนะคนไทยเรียนรู้สู้ปัญหาจากอุทกภัยปี 54 เตือนชุมชนซ้อมหนีภัย ฝึกสติ มีปัญญาสู้ทุกภัย ชี้ 10 ปีเห็นชัด น้ำท่วมเมืองหลวงอยู่ไม่ได้ ต้องย้าย หรือสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย

เข้าสู่ปี ค.ศ.2012 ซึ่งมีคำทำนายชะตากรรมธรรมชาติหลายกระแสทั่วโลก ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ และโหราศาสตร์ สำหรับประเทศไทยมีโหราจารย์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้สังเกตการณ์ธรรมชาติและออกมาคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี บางคนเชื่อ บางคนไม่เชื่อ แต่ทุกคนกำลังเฝ้าจับตาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือความแปรปรวนของธรรมชาติที่ปรากฎให้เห็นมากขึ้นทุกวัน

ปลายปี พ.ศ.2554 นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างพูดตรงกันว่า อุทกภัยของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง ที่ธรรมชาติส่งมาให้คนไทยได้เตรียมใจและเรียนรู้ที่จะรับมือกับ “ของจริง” ที่กำลังจะมาเร็วๆ นี้!

ในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส หรืออดีตนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระบบควบคุมการลงจอดบนดาวอังคารของยานไวกิ้งร่วมกับองค์การนาซาที่คนไทยรู้จักกันดี เผยว่า ตนได้พูดมานานแล้วว่า อีกหน่อยน้ำจะต้องท่วมภาคกลาง แต่อุทกภัยใหญ่ปีที่ผ่านมายังไม่ใช่สาเหตุหลัก และยังไม่ถึงที่สุด

“ระดับน้ำทะเลค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงชีวิตของผมน้ำทะเลขึ้นมาแล้วประมาณ 20 เซนติเมตร และตอนนี้ยิ่งเร่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแก๊สมีเทนที่เริ่มขึ้นมาจากขั้วโลกเหนือ ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปี เมื่อความร้อนระเหยขึ้นจากมหาสมุทร เมฆจะมากขึ้น มีพายุมากขึ้น ฝนตกหนักขึ้น”


เฝ้าระวัง “สึนามิ” จ่ออ่าวไทย

ดร.อาจอง อธิบายว่า น้ำแข็งที่ละลายจากภูเขาทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และน้ำหนักในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำหนักของแผ่นดินลดลง เช่น ภูเขาหิมาลัยมีน้ำหนักลดลงเพราะน้ำแข็งละลายไหลลงมา เมื่อน้ำหนักไม่สมดุลกันรอบๆ โลก ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนไหวเพื่อปรับสมดุลขึ้นใหม่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลก หรือแผ่นดินไหวรุนแรง 9.0 ริกเตอร์ที่เกิดนอกชายฝั่งของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และชนกันของขอบแผ่นเปลือกโลกนี้เอง

“สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้เกิดสึนามิเข้ามาทางอ่าวไทยได้ เวียดนามและเขมรจะโดนหนัก รวมถึงภาคใต้ของเราด้วย แต่จะไม่หนักเท่าที่ญี่ปุ่น ประชาชนต้องเข้าใจและรู้ทัน ต้องมีการวางแผนในทุกจังหวัดว่าชุมชนต่างๆ ต้องหนีไปอยู่ตรงไหน”

ดร.อาจอง บอกอีกว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น คนไทยจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้า 16 ชั่วโมง จึงสามารถหนีได้ทัน ไม่มีความเสียหายมาก แต่ทางราชการต้องมีการเตรียมพร้อม และซักซ้อมให้ประชาชนหนีขึ้นในพื้นที่สูง

โดยการเกิดสึนามิในอ่าวไทย มีแนวโน้มที่จะเกิดในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้ เพราะปัจจุบันเปลือกโลกมีการชนกันค่อนข้างมากบริเวณรอบมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย ซึ่งปี2555มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ๆ ที่ทำให้สึนามิเข้ามาในอ่าวไทย


แผ่นดินไหวไม่น่าเป็นห่วง

ดร.อาจอง บอกอีกว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่เริ่มแตกร้าวอยู่บ้าง จึงอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในหลายจุด แต่จะไม่รุนแรงมากนัก อย่างมากสุดประมาณ 5 ริกเตอร์ จึงไม่น่าเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” เช่นที่กลัวกัน เพราะเขื่อนสามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้ถึง 7.5 ริกเตอร์

อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่ควรประมาท เพราะเขื่อนศรีนครินทร์มีรอยร้าวที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศพม่า ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่าจะมีแรงสั่นสะเทือนเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรวางแผนซ้อมอพยพหากเกิดสถานการณ์การณ์ฉุกเฉิน


“พายุสุริยะ”แรงสุดปีนี้-ทำระบบสื่อสารพังชั่วคราว

“อีกปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ ดวงอาทิตย์ที่จะปะทุขึ้นแรงที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะมีรังสีพุ่งเข้ามาที่โลกของเรา ทำให้ระบบสื่อสารพังชั่วคราว เราอาจจะโทรศัพท์คุยกันไม่ได้ เพราะสัญญาณพังหมด แม้กระทั่งไฟฟ้าก็อาจจะดับ เช่นเดียวกับที่ดับในอเมริกาในปีที่แล้ว”

ดร.อาจอง บอกด้วยว่า ผลกระทบจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และจะรุนแรงมากที่สุดในปีนี้ สอดคล้องกับการศึกษาเรื่อง “พายุสุริยะ” ของ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่า ซึ่งพบว่า เมื่อมีแรงระเบิดในดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ๆ เกิดขึ้นบนโลก แต่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวในประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า เพราะเมืองไทยมีรอยเลื่อนไม่มากนัก


แนะเรียนรู้อยู่รอดจากปัญหา

แม้โลกกำลังเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกที แต่ ดร.อาจอง มีแนวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องเครียด หรือกลุ้มใจต่อความไม่แน่นอน ปัญหามีไว้เพื่อเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนสัตยาไสของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีจากการป้องกันน้ำท่วมได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา

“ร.ร.สัตยาไสของเราตั้งอยู่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งปี 2553 น้ำท่วมโรงเรียนอย่างหนัก เพราะเขื่อนป่าสักกักเก็บน้ำเกินไป 25% เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งผมบอกให้ทุกคนสังเกตว่าน้ำไหลเข้ามาในโรงเรียนผ่านทางไหนบ้าง จุดไหนมีน้ำซึมเข้ามา และอุดทุกรูที่น้ำซึมเข้าได้ ดังนั้นในปี54น้ำจึงไม่ท่วมโรงเรียนแม้ว่าเขื่อนป่าสักฯ จะกักเก็บน้ำในเขื่อนเกินไปถึง 36%”

ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในประะเทศไทยก็ควรใช้วิธีเดียวกัน คือสังเกตดูว่า น้ำท่วมหนักปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะอะไร น้ำไหลลงมาทางจุดไหนแล้วเราจึงไปแก้ไขตรงนั้นให้น้ำสามารถไหลผ่านลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ถ้าน้ำระบายได้เร็ว น้ำก็ไม่ท่วม


ย้ายเมืองหลวงดีหรือไม่

ดร.อาจอง ให้ความเห็นต่อการย้ายเมืองหลวงว่า ภายในไม่เกิน 10 ปี คนไทยจะเริ่มรู้แล้วว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ไม่ได้ และภายใน 20 ปี น้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องวางแผนตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ 1.ย้ายเมืองหลวง 2.สร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย

“ประเทศฮอลแลนด์อยู่ใต้ทะเล แต่มีเขื่อน จึงสามารถอยู่ได้โดยไม่จม ทั้งที่เขาจะต้องจมไปนานแล้ว แต่ยังอยู่ได้ ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะสามารถป้องกันอู่ข้าวอู่น้ำในประเทศของเราไว้ได้”


เตือนชุมชนฝึกสติ-ซ้อมหนีภัย

ด้าน ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ นักวางยุทธศาสตร์และนักบริหารองค์กรแนวพุทธ พูดว่า “ขณะนี้ภัยธรรมชาติเกิดที่หัวใจพวกเราเสียแล้ว ภัยพิบัติถูกหัวใจตั้งแต่ยังไม่มาจริงแล้ว ดังนั้นเราควรทำจิตใจให้สดใสไว้ ใจไม่ตื่นตูม กายก็พร้อม เราต้องเตรียมพร้อมเหมือนการใส่เข็มขัดนิรภัยหรือหมวกกันน็อก ไม่เกิดเรื่องก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ไม่ถึงกับแย่

เขาคิดว่าภัยธรรมชาติไม่มีทางจะเบาลงนับจากนี้ เนื่องเพราะพฤติกรรมมนุษย์ที่ยังคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า เผาอ้อย รุกป่าสงวน กระทั่งพฤติกรรมการผลาญพลังงานที่ไม่รู้จักพอของมนุษย์

“เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเหล่านี้ให้เห็นชัดๆ ภัยธรรมชาติก็ไม่มีทางเบาลงได้เลย และยังทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือแผ่นดินไหว จึงบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไร”

โดยสิ่งแรกที่อยากให้คนไทยเตรียมตัวก็คือ เตรียมใจ และปล่อยวาง อุทกภัยในปีที่ผ่านมาเหมือนเราได้ซ้อมใหญ่ ได้ฝึกเรียนรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็น-ไม่จำเป็น คนไหนเพื่อนแท้-เพื่อนเทียม คนไหนพึ่งได้-พึ่งไม่ได้ ความน่าไว้วางใจของหน่วยงานรัฐบาลมีมากแค่ไหน เราเริ่มรู้แล้วก็เริ่มทำใจได้ไง

วิธีเตรียมใจขั้นต่อมาที่เขาแนะนำคือ การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้ตั้งสติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสติมา ปัญญาย่อมเกิด

“วิกฤตน้ำท่วมทำให้คนเห็นธรรมะมากขึ้น คนฉลาดที่สุดคือคนเอาวิกฤตมาฝึกสติ เอาวิกฤตมาปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดสติ เมื่อสติมา ใจจะโล่งสบาย ปัญญาก็ออก ไม่เหมือนเวลาเครียดเกร็ง คนจะไม่มีปัญญา มีแต่การเอาเปรียบ เอาตัวรอด จนอาจจะฆ่าคนข้างๆ ตายได้ หรือแย่งกันกิน เห็นแก่ตัว กักตุน ไม่มีความเมตตา ขณะที่คนมีสติ ถึงตายเขาก็ไม่กลัว”

สำหรับการเตรียมพร้อมทางโลก ดร.วรภัทร์ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับเรื่องแผ่นดินไหวเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลควรบอกความจริงประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับรอยแยกรอยแตก หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว นอกจากนั้นอาจจะมีการเปิดหลักสูตรสอนชัดเจนในแต่ละพื้นที่ของแต่ละชุมชน เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเมื่อมีปัญหาจะรวมตัวกันที่ไหน อุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอะไรบ้าง ศูนย์อุบัติเหตุจะอยู่ที่ไหน จะช่วยคนเจ็บอย่างไรไม่ให้เป็นเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต การเตรียมแม่แรง การงัดตึก และน่าจะมีการซ้อมในชุมชน โดยการช่วยกันทำ และอาจเชิญคนที่เคยผ่านแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมาถ่ายทอดความรู้ให้เราว่า ถ้าแผ่นดินไหว ไฟไหม้ แก๊สรั่ว ต้องทำอย่างไร การเกิดอุบัติภัยหมู่ ทางโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาจจะเคยซ้อมกันบ้าง แต่ประชาชนกลับไม่เคยได้ซ้อมเลย

สถานการณ์อุทกภัยใหญ่ที่ผ่านมาจึงฉายภาพการแย่งกันกินแย่งกันใช้ น้ำดื่มขาดแคลน คนไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ “ประเทศไทยจะบอกว่าเป็นประเทศไม่มีภัยธรรมชาติไม่ได้อีกแล้ว เมื่อก่อนไม่มี แต่ตอนนี้ภัยธรรมชาติคุกคามเข้ามา ดังนั้นเราต้องให้งบประมาณกับหน่วยงานด้านภัยพิบัติ และสอนให้ประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ”

ดร.วรภัทร์ บอกอีกว่า หากเกิดน้ำท่วมโลกในปี ค.ศ.2012 ขึ้นจริง คนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แทบพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย ดังนั้นควรสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ให้สามารถเอาตัวรอดได้ คนที่พักอาศัยในเมืองหากปลูกผักได้ก็ควรปลูกผักตามระเบียงหรือดาดฟ้าเพื่อรองรับวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารจากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก




จาก ...................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 5 มกราคม 2555