PDA

View Full Version : ฉก"ดอกไม้ทะเล"..."นีโม่"ใกล้สูญพันธุ์


สายน้ำ
01-09-2009, 06:26
ฉก"ดอกไม้ทะเล"..."นีโม่"ใกล้สูญพันธุ์


เมื่อปลายปี 2546 ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง Finding Nemo ปลาเล็กหัวใจโต๊โต ออกฉายสะท้อนชะตากรรมของ "นีโม่" ลูกปลาการ์ตูนสีส้มขาวแสนสวย ที่ถูกมนุษย์จับไปเลี้ยงในตู้ปลา แต่สุดท้ายเจ้านีโม่ก็สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางดอกไม้ทะเล ที่เปรียบเสมือนบ้านแสนสุขและปลอดภัย แต่ชีวิตจริงของปลาการ์ตูนไม่มีตัวใดโชคดีเหมือนเจ้านีโม่สักตัว

ขณะที่นีโม่โลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์มโกยเงินในฮอลลีวู้ดอยู่นั้น ปลาการ์ตูนในธรรมชาติกลับเผชิญวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ จากการถูกลักลอบจับมาขาย พร้อมกับดอกไม้ทะเลจำนวนมาก แม้จะไม่มีรายงานตัวเลขที่แน่ชัดการหายไปของดอกไม้ทะเล แต่คำบอกเล่าของนักท่องโลกใต้ทะเลยืนยันว่า ดอกไม้ทะเลที่เคยเห็นมันหายไปแล้วจริงๆ ตรงกันข้ามกับความรุ่งโรจน์ของอควอเรียม หรือตู้เลี้ยงปลาและสัตว์ทะเล ที่กำลังเป็นที่นิยมชื่นชอบของคนมีเงิน ที่อยากยกโลกใต้ท้องทะเลมาไว้ใกล้ตัว

"สามารถ เดชสถิตย์" นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง ผู้เพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ 11 ชนิด 13 สายพันธุ์ ยอมรับว่า ปลาการ์ตูนในธรรมชาติลดน้อยลงมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะดอกไม้ทะเลที่กำลังเหลือน้อยมากในธรรมชาติ ขณะที่ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ดอกไม้ทะเลได้

"หลังจากปล่อยปลาการ์ตูนคืนธรรมชาติ ก็ช่วยเพิ่มจำนวนปลาการ์ตูนได้เยอะ แต่การปล่อยปลาการ์ตูนจะต้องมีความเหมาะสมและสมดุลกับดอกไม้ทะเลด้วย ตอนนี้ดอกไม้ทะเลในธรรมชาติเหลือน้อยมาก หากปล่อยปลาการ์ตูนไปจำนวนมาก แต่ไม่มีดอกไม้ทะเลให้เขาอยู่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร" สามารถ กล่าว

กรมประมงเริ่มต้นวิจัยเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนตั้งแต่ปี 2543 กระทั่ง 3 ปีต่อมาจึงประสบความสำเร็จ พร้อมๆ กับการมาของปลานีโม่บนแผ่นฟิล์ม และวิกฤติปลาการ์ตูนในธรรมชาติ แต่การปล่อยปลาการ์ตูนคืนสู่ธรรมชาติ จะต้องใช้เวลาฟูมฟักเกือบครึ่งปี เพื่อสอนลูกปลาการ์ตูนที่อ่อนต่อโลกใต้ทะเลได้เรียนรู้หลบภัยในดอกไม้ทะเล ภายในศูนย์เพาะเลี้ยง ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งจะมีปลาการ์ตูนเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รอดชีวิต และที่ผ่านมากรมประมงปล่อยปลาการ์ตูนคืนสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี เมื่อปี 2551 ปล่อยไปแล้ว 1,000 ตัว ล่าสุดกำลังเตรียมปล่อยปลาการ์ตูนอีก 500 ตัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 นี้

นักเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนจากกรมประมงอธิบายขั้นตอนการปล่อยปลาการ์ตูนคืนสู่ธรรมชาติว่า จะคัดเลือกเฉพาะสายพันธุ์ท้องถิ่น เช่น ปลาการ์ตูนสีส้มขาว ปลาการ์ตูนลายปล้อง ฯลฯ อายุประมาณ 5 เดือน นำมาเรียนรู้การหลบภัยในดอกไม้ทะเลก่อน 1 สัปดาห์ ส่วนวิธีปล่อยจะแบ่งปลาการ์ตูนเป็นชุดเล็กๆ 4-5 ตัว แล้วให้นักดำน้ำลึกนำปลาการ์ตูนไปปล่อยที่ดอกไม้ทะเลโดยตรง เพื่อให้ปลาการ์ตูนรอดพ้นจากการถูกสัตว์ผู้ล่าทำร้าย ทั้งนี้ ดอกไม้ทะเล 1 ดอก จะรองรับปลาการ์ตูนได้ประมาณ 4-5 ตัว

เมื่อปล่อยไปแล้วนักดำน้ำจะลงไปสำรวจอัตราการรอดชีวิตของปลาการ์ตูน พบว่า มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่ามากกว่าในธรรมชาติ ที่ลูกปลาการ์ตูนมีอัตราการรอดชีวิตเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น !?!

"ราตรี สุขสุวรรณ์" นักวิชาการประมงชำนาญการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ปลาการ์ตูนในธรรมชาตินั้นเหลือน้อยมาก เนื่องจากดอกไม้ทะเลถูกจับมาแสดงในอควาเรียมที่ผุดขึ้นมามากมาย เมื่อไม่มีดอกไม้ทะเลอัตราการรอดชีวิตของปลาการ์ตูนก็ต่ำด้วย เพราะปลาการ์ตูนเป็นปลาสวยงาม ไม่มีพิษมีภัยที่จะป้องกันตัวเองได้ อาศัยพึ่งพาอยู่กับดอกไม้ทะเลเป็นหลัก

"ก่อนปล่อยปลาการ์ตูนที่เพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติ จะต้องมีการสำรวจตามแนวประการังพื้นที่เป้าหมายก่อนว่า มีดอกไม้ทะเลเพียงพอหรือไม่ มีอาหาร กระแสน้ำ เป็นอย่างไร อยู่ในเขตห้ามจับหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่ออัตราการรอดของปลาการ์ตูนที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ และก่อนนำออกทะเลต้องปรับพฤติกรรมปลาการ์ตูนอายุ 2 สัปดาห์ ให้เรียนรู้การอยู่กับดอกไม้ทะเล 1 เดือนเสียก่อน โดยธรรมชาติของปลาจะว่ายอยู่ไม่ห่างจากดอกไม้ทะเล รัศมีไม่เกิน 1 เมตร" ราตรี กล่าว

จากผลวิจัยการปล่อยปลาการ์ตูนคืนธรรมชาติ 4 ครั้ง ใน 3-4 พื้นที่ โดยแต่ละพื้นที่จะปล่อยปลาการ์ตูน 30 ตัว ในส่วนของราตรีพบว่า มีปลาการ์ตูนรอดชีวิตราว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเกิดจากการถูกล่า กระแสน้ำ และอาหาร เป็นต้น

แม้ว่าการปล่อยปลาการ์ตูนจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ แต่นักวิจัยก็ยังไม่ละความพยายาม และทุ่มเทหาวิธีทำให้ปลาการ์ตูนมีชีวิตรอดอยู่ในธรรมชาติ ท่ามกลางความหวังว่า "บ้าน" หรือ "ดอกไม้ทะเล" ของนีโม่จะไม่หายไปมากกว่านี้ เพราะตราบใดที่ยังมีดอกไม้ทะเลเพียงพอต่อครอบครัวปลาการ์ตูน ก็อาจไม่จำเป็นต้องปล่อยนีโม่เพาะพันธุ์ตัวใหม่เพิ่ม เนื่องจากจำนวน 10-20 เปอร์เซ็นต์ของปลาการ์ตูนที่รอดชีวิต จะสามารถขยายครอบครัว สร้างสมดุลและความสวยงามในท้องทะเลไทยได้เอง

ทั้งนี้ ปลาการ์ตูนจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาสลิดหิน พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล กินแพลงตอนเป็นอาหาร ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ออกลูกเป็นตัว พ่อแม่ปลาจะช่วยกันเลี้ยงลูกอยู่กันเป็นครอบครัว เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก จะมีเขตที่อยู่ของตนเอง และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ทั่วโลกพบปลาการ์ตูนทั้งหมด 28 ชนิด ในเมืองไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนแดง ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอินเดียน



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 31 สิงหาคม 2552

chickykai
01-09-2009, 10:34
เมื่อไม่กี่วันก็มีข่าวจับได้ เป็นกล่องอยู่ใต้ท้องรถทัวร์ รอขึ้นกทม. ปลายทางตลาดนัดจตุจักรแต่ไม่มีคนรับเป็นเจ้าของกล่อง

เค้าลักมาขายกันง่ายๆอย่างนี้ แล้วในทะเลมันจะไปเหรืออะไรล่ะคะ

สายชล
01-09-2009, 10:59
น้อง Mr.Can ของเราให้สัมภาษณ์ดีจริงๆจ้ะ...:)


ปลาการ์ตูนที่น้องสามารถให้เราไปปล่อยนั้น....ถ้าเขาอยู่ในกอดอกไม้ทะเลที่เรานำเขาไปปล่อย ก็อยู่รอดเกือบทั้งนั้น ยกเว้นจะหนีออกมานอกกอดอกไม้ทะเลหรือไม่ก็มีคนหิ้วไปทั้งปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเล....


ผลที่น่าพอใจจากการปล่อยปลาการ์ตูนของเราน่าจะเป็นที่หินม่วง ที่พบว่าสองวันผ่านไป กลับไปดูอีกครั้งปลาการ์ตูนเหลือรอดเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เพราะดอกไม้ทะเลมีมากมาย และก็พ้นหูพ้นตาพวกคนใจร้ายที่เห็นเงินเป็นพระเจ้า...:(

แม่หอย
07-09-2009, 08:54
ลองอ่านเพิ่มเติมว่าคุณสามารถเขามีความเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ..ขำๆ นิดหน่อยนะคะ ตามไปที่นี่ค่ะ
http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=3374.0

สายชล
07-09-2009, 09:35
คิกๆ....ไปอ่านมมาแล้วค่ะน้องแม่หอย จี้เส้นดีค่ะ....


ดีนะคะ....ที่ข่าวไม่ระบุว่าน้องสามารถบอกว่า "ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นตัว" ตามการมั่วของผู้สื่อสาร ไม่อย่างนั้นเราคงได้เห็นน้องใช้ผ้าอนามัย (ยี่ห้อไหนดี ?) มาคาดหน้าแทนผ้าคาดปากอนามัย


อืมมมมม....แต่ก็ดีนา ถ้าจะใช้ผ้าอนามัยคาดปาก....เชื้อหวัด 2009 เข้าไม่ถึงปากและจมูกแน่ๆ....:p