PDA

View Full Version : เรื่องสุดเศร้า เต่าทะเลไทยใกล้สูญพันธุ์?


สายน้ำ
28-01-2015, 11:17
เรื่องสุดเศร้า เต่าทะเลไทยใกล้สูญพันธุ์?

http://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuFM9KhuEsOJjrQB0Vj4F2fBpL22hYpXWxrI8nkk.jpg

หลังมีข่าวพบซากเต่าตะนุอายุราว 60 ปี นอนตายเกยตื้นอยู่ที่ริมหาด เป็นที่น่าเศร้าแก่ผู้พบเห็น หลายภาคส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเกิดการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี "ไทยรัฐออนไลน์" ได้สืบเสาะต่อสายตรงไปยังผู้รู้ เพื่อสอบถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เต่าและสัตว์ทะเลหายากนอนตายเกยตื้นบ่อยครั้ง ในช่วงระยะเวลาแค่เดือนเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า ชายหาดในพื้นที่ จ. ชุมพร มีสัตว์ทะเลหายากถูกคลื่นซัดเกยหาดแล้ว 5 ตัว โดยเป็นเต่า 4 ตัว และโลมา 1 ตัว เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับผู้คนไม่น้อย

http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DGzyxSuRbrJ5kdpVIJRSNysNKoW5.jpg

ล่าสุด ไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาสัตว์ทะเลหายากที่พบตายเกยหาดอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.ธรณ์ อธิบายว่า ทะเลในบ้านเราพบสัตว์ทะเลหายาก ไม่ว่าจะเป็นเต่าหรือโลมาตายอยู่ประมาณ 300 ตัวต่อปี ในขณะที่ปริมาณของเต่าทะเลก็อยู่ในขั้นวิกฤติอยู่แล้ว เพราะพบเพียง 500-600 ตัวเท่านั้น โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง เต่าหญ้า เรียกว่าเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้พบเต่าตายจำนวนมากในแต่ละปี ดร.ธรณ์ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเรือประมงเข้าไปรุกถิ่นอาศัยของเต่าทะเลมากเกินไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พบเต่าถูกใบพัดเรือฟันกระดองจนตายอย่างที่เห็นในข่าว แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากปัญหาเรื่องเรือประมงแล้วยังมีปัญหาใหญ่อื่นๆ อีกที่ส่งผลกระทบให้เต่าไทยเข้าใกล้คำว่า "สูญพันธุ์" เต็มที หากเรียงตามความรุนแรงของปัญหา ได้แก่

1. ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่การวางไข่ของเต่าทะเล ถือเป็นปัญหารุนแรงที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเมืองไทยใช้ประโยชน์จากหาดต่างๆ เอามาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนเต่าไม่มีหาดให้วางไข่

2. ปัญหาขยะ ข้อนี้ก็ปัญหาสำคัญเช่นกัน หลายปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีเต่ากินขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลแล้วตายไปหลายสิบตัว

3. ปัญหาเครื่องมือประมง เต่าทะเลลดจำนวนลงจากสาเหตุนี้เช่นกัน เพราะประเทศไทยยังมีการทำประมงแบบอวนลากอยู่ ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้เต่าทะเลติดอวนขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ยังมาจากการจับเต่าทะเลเพื่อกินเป็นอาหารก็ยังพบอยู่เช่นกัน

4. ปัญหาเรือชนเต่า แม้จะเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำร้ายเต่าทะเลไทยอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น

http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DGzyxSuRbrJ5kdpLFIIQaHGyxL0F.jpg
กำลังออกหากิน

โดยปัญหาเรื่องเต่าทะเลนี้ ดร.ธรณ์ บอกว่าถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ยังแก้ไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่ในอดีตเราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีการกีดกันทางการค้า เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อตรวจพบว่าไทยทำประมงโดยที่ไม่เป็นการดูแลสัตว์หายาก กล่าวคือ ใช้อวนลากปลาแล้วมีเต่าติดอวนขึ้นมาด้วย ก็เกิดการบอยคอต กีดกันทางภาษีกับผลิตภัณฑ์ทางประมงจากประเทศไทย เป็นต้น

http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DGzyxSuRbrJ5kdpMfAFlSz3h8rl1.jpg
เต่าน้อยในท้องทะเลกว้าง

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนการอนุรักษ์เต่าทะเลรวมถึงสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ดร.ธรณ์ บอกว่า ต้องเร่งปฏิบัติการ "3 แก้ 2 สนับสนุน"

3 แก้ คือ 1. แก้ไขเรื่องหาดวางไข่ของเต่าทะเล อยากให้อนุรักษ์หาดไว้บางส่วนเพื่อเก็บไว้ให้เต่าได้วางไข่ อย่าเอาไปโปรโมตเป็นการท่องเที่ยวเสียจนหมดทุกหาด 2. เรื่องขยะ ทุกคนต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาให้จริงจังและชัดเจน ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้ ทำให้เขาตระหนักว่าขยะที่ทิ้งลงทะเลนั้น มันทำให้เต่าตายไปปีละหลายตัว และ 3. ไม่ให้มีการทำประมงแบบทำร้ายเต่า นั่นคือ การใช้อวนลาก หรือทำให้มันน้อยลง

2 สนับสนุน คือ 1. การเพาะพันธุ์ลูกเต่าเพื่อปล่อยสู่ทะเล ต้องทำต่อไป และ 2. ทำศูนย์รักษาเต่าบาดเจ็บก็ต้องทำต่อไปเช่นกัน พยายามส่งเสริมให้มีครบถ้วน และต้องมีงบประมาณลงมาดูแลตรงนี้อย่างเพียงพอ

"เรื่องเรือชนเต่า อันนี้ไม่รู้จะทำยังไง เพราะตอนนี้มีเรือมาวิ่งกันเยอะเหลือเกิน จะให้เรือมาวิ่งน้อยลงก็คงจะทำยาก ไหนจะเรือนักท่องเที่ยว เรือเดินทาง เรือขนส่ง เรือประมง เต็มไปหมด ถ้าจะไปบอกว่าไม่ให้วิ่งชนเต่าก็ไม่รู้จะไปพูดอย่างไร เพราะฉะนั้น มันแก้ไขยากหน่อย แต่อันที่เราแก้ได้ เราก็ควรจะต้องรีบแก้ไขก่อนโดยเร็ว" ดร.ธรณ์ทิ้งท้าย

.... ขอบคุณภาพจาก conserveturtles.org และ worldwildlife.org



จาก ...................... ไทยรัฐ วันที่ 28 มกราคม 2558