PDA

View Full Version : แมงกะพรุนกล่อง Box Jellyfish


สายน้ำ
02-08-2015, 09:48
https://scontent.fbkk2-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xap1/v/t1.0-9/11796338_1165198213495380_7496903394857873599_n.jpg?oh=fccad36359b5398096f1733cc7ecd650&oe=563941BE
ภาพจาก Nation TV วันที่ 1 สิงหาคม 2558



นักเที่ยวถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิต ที่เกาะพงัน

เมื่อช่วงเวลา 15.00น. วันที่ 1 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากทราบข่าวกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวสาว ชาวไทยที่ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 31ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณชายหาดริ้น ม.6 ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานฟูลมูนปาร์ตี้ในค่ำวันนี้ พบว่ายังมีนักท่องเที่ยวมานอนอาบแดดและลงไปเล่นน้ำทะ เลเป็นจำนวนมาก โดยไม่ตกใจกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง

ส่วนผู้เสียชีวิตทราบชื่อว่าน.ส.ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/2 ม.6 ต.ไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ขณะนี้ศพได้ถูกแช่ห้องเย็นรักษาไว้ที่หน่วยกู้ภัยเกา ะพะงัน โดยมีทางแม่และพี่สาว ได้เดินทางมารับศพของ น.ส.ชญานันท์ ในวันนี้และจะนำศพไปประกอบพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลทางศาสน าในวันนี้

จากการสอบถาม น.ส.กิตติยา โอเจริญ อายุ 21 ปี เพื่อนผู้ตายที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตน พร้อมกับผู้ตาย และเพื่อนๆ รวม 4 คน ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาท่องเที่ยวที่เกาะพะงัน มาถึงในช่วงบ่ายของวันที่ 31 ก.ค. เข้าพักที่บังกะโลแห่งหนึ่งบริเวณหาดริ้น ตอนเย็นผู้ตายพร้อมเพื่อนๆได้ลงไปเล่นน้ำทะเลที่ชายห าดริ้น ขณะเกิดเหตุเวลา 19.40 น.วันเดียวกัน ระหว่างที่ผู้ตายเล่นน้ำได้ร้องขอความช่วยเหลือและพู ดว่า ไม่รู้ถูกอะไรกัดที่ลำตัวและขา รู้สึกปวดแสบปวดร้อน สักพักเดียวผู้ตายเกิดวูบหมดสติ ตนเองพร้อมกับเพื่อนจึงเข้าไปช่วยร่างของ น.ส.ชญานันท์ ขึ้นจากน้ำ และขณะที่เข้าไปช่วยเหลือตนเองและเพื่อนก็ถูกเหมือนต ัวอะไรกัดเช่นกันที่ข้อมือและหลัง จนรู้สึกอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นแมงกะพรุนกล่อง ต่อมาได้มีผู้ช่วยเหลือนำร่างที่หมดสติของ น.ส.ชญานันท์ส่งคลินิกที่หาดริ้น แต่ว่าอาการของ น.ส.ชญานันท์ สาหัสมากจึงได้นำตัวส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกาะพะ งัน แต่ได้เสียชีวิตในระหว่างทาง

นายแพทย์ฐาณุวัฒน์ ทิพย์พินิจ แพทย์ผู้ทำการรักษาโรงพยาบาลเกาะพะงัน กล่าวว่า หลังจากที่รักษานักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บจากการ ถูกพิษของแมงกะพรุนจำนวน 4 ราย ซึ่งแต่ระคนมีบาดแผลตามร่างกายจากการถูกหนวดพิษของแม งกะพรุนกล่องได้รับบาดเจ็บ ในเบื้องต้น น.ส.ชญานันท์อาการไม่มีชีพจร หัวใจไม่เต้น จีงได้ทำการปั๊มหัวใจใส่เครื่องช่วยหายใจ ปรากฎว่าคนไข้ได้รับพิษและมีการการตอบสนองกับพิษของแ มงกระพรุนมากเลยทำให้เสียชีวิต ส่วนอาการของผู้บาดเจ็บอีก 3 ราย ได้แก่ น.ส.กิตติยา โอเจริญ อายุ 21 ปี นายเกลิโอ ทาเทฟ อายุ 22 ปี สัญชาติแคนาดา และนายเอ็ดวอร์ด พาว์เลนโฮ อายุ 26 ปี สัญชาติแคนาดา ได้รับบาดเจ็บจากพิษของแมงกะพรุนกล่องเพียงเล็กน้อย อาการปลอดภัยแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาลได้

สำหรับแมงกะพรุนกล่อง ชื่อภาษาอังกฤษว่า บ๊อกเจลลี่ฟิช มีพิษรายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบได้ในชายฝั่งน้ำตื้น ที่เป็นลักษณะอ่าว สำหรับผู้ที่ถูกพิษของแมงกระพรุนกล่องให้รีบนำขึ้นจา กน้ำมาในที่ปลอดภัยจากนั้นให้เรียกขอความช่วยเหลือเร ียกรถพยาบาลแล้วให้ล้างบริเวณบาดแผลด้วยน้ำส้มสายชูถ ้าหาไม่ได้ให้ล้างด้วยน้ำทะเลเพื่อให้พิษบริเวณบาดแผ ลเจอจาง ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้นไม่มีชีพจรให้พยายามปัีมหัวใจ ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ทางด้านนายทวิช สมหวัง ประธานที่ปรึกษาชมรมหาดริ้น กล่าวว่า จากกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวไทยถูกพิษของแมงกะพรุนกล่ องจนเสียชีวิตนั้น ทางชมรมหาดริ้นได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เตือนนักท่อ งเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำบริเวณหาดริ้นแล้ว พร้อมกับจัดเตรียมน้ำสมสายชูบริเวณจุดที่ติดป้ายเตือ นไว้สำหรับปฐมพยาบาลพิษของแมงกะพรุนกล่องในเบื้องต้น

นอกจากนี้พบว่าเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมามีเด็กชา ยชาวฝรั่งเศสก็เสียชีวิตจากพิษของแมงกระพรุงกล่องเช่ นกันที่หาดขวดเกาะพะงัน ซึ่งแมงกะพรุนกล่องในทะเลอ่าวไทยมีจำนวนน้อย แต่จะเข้ามาใกล้ชายฝังหลังจากที่ฝนตกใหม่ๆ เพราะแมงกะพรุนประเภทนี้ชอบอยู่น้ำกร่อยและมักจับสัต ว์ขนาดเล็กกินเป็นอาหาร เมื่อนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลแล้วไปถูกตัว มันจะใช้หนวดที่มีเข็มพิษจำนวนมากพัน แล้วปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกาย ถ้าผู้ที่ถูกพิษแล้วใช้น้ำสมสายชูราดจะทำให้พิษเบาลง

.......... ข่าวจาก มติชน วันที่ 2 สิงหาคม 2558

สายน้ำ
02-08-2015, 09:50
ข้อความที่โพสต์โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อ่านเพิ่มเติมที่เพจ https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat


ในเรื่องนักเที่ยวที่ถูกพิษแมงกะพรุนที่เกาะพงัน ขอแสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้ายครับ มีสื่อโทรมาสอบถามอยู่บ้าง ก็คงต้องตอบกันจริงจังว่า

1) ในปัจจุบัน แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีรายงานผู้โดนในอ่าวไทยมากกว่า

แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สายเดี่ยว (ในแต่ละมุม) และสายเป็นกลุ่ม ปรกติสายเดี่ยวจะมีพิษน้อยกว่าพวกสายกลุ่ม พบในไทย 10-11 ชนิด

กะพรุนกล่องมีพิษต่างกันไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณที่โดน ยังขึ้นกับคนที่แพ้พิษระดับใด ไม่ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย

2) สาเหตุที่กะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นจากอดีต อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้หาทางเลี่ยงเองครับ

3) กะพรุนกล่องพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในน้ำตื้นก็เป็นไปได้ พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง เช่น สมุย พงัน เกาะล้าน มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง เช่น สิมิลัน

4) เนื่องจากมีขนาดเล็ก (เท่ากำปั้น) เคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นนักดำน้ำ อาจมองเห็น นอกจากนี้ นักดำน้ำสวมเว็ทสูท โอกาสเป็นอันตรายน้อย เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย (นับจากปี 41 มากกว่า 10 ราย เท่าที่ทราบ ไม่เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนเล่นน้ำ)

5) หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิต

6) ทางป้องกันคือใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีชุด stinger suit สำหรับใส่เล่นน้ำ หนือมีจุดเล่นน้ำแบบมีตาข่ายกั้น ในเมืองที่ผมเคยอยู่ก็ต้องเล่นน้ำเฉพาะในที่กั้นครับ

7) หากโดนจะรู้ตัวทันที เพราะเหมือนโดนไฟฟ้าชอตหรือแส้ฟาด ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที

8) ใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด อย่าใช้น้ำจืดล้างเพราะน้ำจืดจะทำให้เข็มพิษทำงานมากขึ้น

9) ราดด้วยน้ำส้มสายชูปริมาณมาก และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รีบนำส่งแพทย์เป็นอันดับแรก ควรแยกกันช่วย คนหนึ่งวิ่งไปหาถังมาตักน้ำทะเลสาด คนหนึ่งวิ่งเข้าครัวไปหาน้ำส้มสายชูมาเยอะๆ อีกคนรีบหารถและโทรหาแพทย์โดยด่วน ควรมีผู้ที่ปั๊มหัวใจเป็นอยู่ในรถด้วย

โดยปรกติ หากผู้ป่วยรอดเกิน 10 นาที โอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก นี่เป็นสถิติจากออสเตรเลียครับ

10) หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมทรัพยากรทางทะเล ควรเป็นหน่วยหลัก เพราะเมื่อดูจากสถิติร้ายแรงแล้ว เราเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก

11) หน่วยงานท่ีเกี่ยวข้องกับการท่องเท่ียวและหน่วยงานท้องถิ่น ควาพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว

เท่าที่คิดออกตอนนี้ครับ สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ

หมายเหตุ หลังจากเช็คข่าวหลายแห่งแล้ว ช่วงนี้กะพรุนกล่องในอ่าวไทยมีรายงานหลายที่ครับ แถวตะวันออกก็มีคนเจอ ชุมพรก็มี ไปถึงพงันและแถบนั้น อยากให้เพื่อนธรณ์ระวังไว้นิด น้ำทะเลตามชายฝั่งช่วงนี้ขุ่น เด็กเล็กหากอยากลงน้ำจริง ให้เล่นตรงแนวคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่นเลยครับ

หมายเหตุเพิ่ม ตอนนี้มีงานวิจัยใหม่จาก JCU (ม.ที่ผมเรียน) บอกว่าน้ำส้มสายชูอาจไม่ดีนะ แต่ผมค้นดูแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ยอมรับกันถ้วนทั่ว จึงแนะนำให้ใช้ไปก่อนครับ

สายน้ำ
02-08-2015, 09:52
Clip อธิบายเรื่องวิธีที่หนวดแมงกระพรุนฉีดพิษยังไง


7WJCnC5ebf4

สายน้ำ
02-08-2015, 09:54
Box Jellyfish ที่พบในทริปของ SOS เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ก.ค. 58 .....

- ตัวแรกพบที่กองหิน SOS Pinnacle II เกาะร้านไก่ ในไดฟ์เช้า และ
- อีกตัวหนึ่งพบที่หินกองสามเหลี่ยม ในไดฟ์บ่าย



https://scontent.fbkk2-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xaf1/v/t1.0-9/11828685_899210603449637_171978740486727895_n.jpg?oh=ae44520e631a854aff9f06accad1ea00&oe=5637013B

สายน้ำ
02-08-2015, 09:55
อ่านเรื่องแมงกะพรุนกล่องที่ SOS รวบรวมไว้ได้ที่นี่...

http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=277



http://www.saveoursea.net/boardapr2007/index.php?action=dlattach;topic=272.0;attach=5251;image

สายน้ำ
02-08-2015, 13:26
https://scontent.fbkk2-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xpt1/v/t1.0-9/11800605_1165661450115723_823013182270057552_n.jpg?oh=6c665199466b3f5201eb08b0b63089ae&oe=564CA324


Thon Thamrongnawasawat
เพื่อนธรณ์สนใจเรื่องแมงกะพรุนกล่องกันมาก หนนี้ผมจึงจัดเต็ม นำขั้นตอนหลีกเลี่ยงและขั้นตอนปฏิบัติเรื่องแมงกะพรุนกล่องมาบอกไว้ให้ชัด จะนำไปใช้กับแมงกะพรุนชนิดอื่นก็ได้ เพื่อความปลอดภัยต่อเราและคนที่เรารัก แม้จะยาวนิด แต่ลองอ่านให้จบ อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาฉุกเฉินครับ

#แมงกะพรุนกล่องคืออะไร
แมงกะพรุนทุกชนิดมีเข็มพิษ โดยเข็มพิษอยู่ในเซลล์ยิงเข็มพิษ จะอยู่ตามหนวดของแมงกะพรุน

แมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในทะเลเขตร้อนในอินโด-แปซิฟิก (ออสเตรเลียเขตร้อน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานไปถึงฮาวาย) มีอยู่ 10-11 ชนิดในเมืองไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือหนวดเดี่ยว (พิษน้อยหน่อย) กับหลายหนวด (พิษแรง) หนวดของแมงกะพรุนกล่องบางชนิดอาจยาวถึง 3 เมตร ยืดหดได้

#เรามีวิธีป้องกันอย่างไร
แมงกะพรุนกล่องพบได้ทั่วไปในทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่พบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่า อยู่ตามชายฝั่งและเกาะใกล้ฝั่ง สามารถพบในเขตน้ำตื้นบริเวณที่คนเล่นน้ำได้

แมงกะพรุนกลุ่มนี้มักพบในช่วงหน้าฝน (เหมือนแมงกะพรุนทุกชนิด) พบทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีรายงานจากออสเตรเลียว่าส่วนใหญ่คนจะโดนตอนบ่ายไปถึงตอนเย็น แต่ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุแน่ชัด

แมงกะพรุนชนิดนี้ไม่ค่อยล่องลอยอยู่บนผิวน้ำ มักอยู่ใต้ผิวน้ำ เนื่องจากน้ำทะเลชายฝั่งเมืองไทยค่อนข้างขุ่น แมงกะพรุนตัวใส ขนาดเล็ก โอกาสที่จะมองเห็นมีน้อย นอกจากนี้ กะพรุนกล่องยังเป็นแมงกะพรุนที่เคลื่อนที่เร็วเมื่อเทียบกับกะพรุนชนิดอื่น

การป้องกันคือสังเกตทะเล หากเป็นช่วงหน้าฝน น้ำขุ่น อย่าลงน้ำหรือถ้าอยากลงจริง อยากให้อยู่บริเวณติดฝั่งตรงคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่น ควรใส่ชุดปกปิดให้มิดชิด ในต่างประเทศมี Stinger Suit แต่เมืองไทยหายากราคาแพงมาก การใส่ชุดอื่น เช่น กางเกงวอร์ม ฯลฯ อาจป้องกันได้ แต่ระวังทำให้เราจมน้ำนะจ๊ะ

อ่านแล้วเพื่อนธรณ์คงเกาหัว จะไปป้องกันอย่างไร ? ผมเองก็ตอบยาก เอาเป็นว่าเพิ่งไปทะเลมา ดูแล้วน้ำขุ่นไม่น่าวางใจ ผมบอกให้ธราธรรธอยู่บนฝั่ง จะให้เล่นน้ำก็เฉพาะตรงชายคลื่นที่ซัดเข้ามา ไม่ยอมให้ออกไปถึงเอวถึงไหล่ครับ

#เมื่อเราโดนแมงกะพรุนควรทำอย่างไร

ทันทีที่โดนแมงกะพรุนกล่อง เราจะเจ็บจี๊ดขึ้นมา คล้ายโดนแส้ฟาดหรือไฟฟ้าชอต ควรตั้งสติ ตะโกนบอกเพื่อนให้รู้ตัว อย่าเอามือปัดป่ายไปมาเพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนหนักขึ้น สังเกตว่าผู้ที่โดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้มักมีริ้วรอยทั้งตามลำตัวและมือแขน เพราะตกใจจึงพยายามปัดไปให้พ้นตัว

ค่อยๆ เดินออกมาจากตรงนั้น เพื่อป้องกันยิ่งวิ่งยิ่งโดนหนัก สำหรับคนที่จะเข้าไปช่วย ให้ระวังอย่างมาก เพราะอาจโดนแมงกะพรุน ถ้าเขาเดินมาหาเราได้ ให้เรารออยู่ตรงนั้น หรือถ้าเขามีท่าทางไม่ดี ควรเข้าไปช่วยเพียงคนเดียว (คนที่แข็งแรงพอ) และหาทางปกปิดร่างกายมากที่สุด ตั้งสติเตรียมรับมือหากโดนกะพรุน

คนโดนต้องพยายามขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด เมื่อมาถึงฝั่งบนหาดทราย ให้นั่งบนพื้นแล้วดูบาดแผล หากโดนจนเกิดเส้นสายคล้ายรอยไหม้เป็นบริเวณกว้าง ให้เพื่อนโทรศัพท์หาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดและให้รีบบอกคนแถวนั้น เพื่อเตรียมรถไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ระหว่างนั้น ให้อีกคนไปหาถังหรืออะไรก็ได้ที่ตักน้ำได้ ตักน้ำทะเลริมฝั่ง (ยิ่งน้ำอุ่นยิ่งดี) สาดใส่บริเวณที่โดนโดยแรง ตักสาดไปเรื่อยๆ เพื่อกำจัดเข็มพิษให้มากสุด

เข็มพิษของแมงกะพรุนจะทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะหลุดจากตัวมาแล้ว เซลล์เข็มพิษบางส่วนอาจยิงเข็มไปแล้ว บางส่วนอาจยังไม่ได้ยิง การใช้น้ำทะเลสาดจะช่วยให้เซลล์เข็มพิษหลุดไป

อย่าใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะปรกติเข็มพิษอยู่ในทะเล เมื่อราดด้วยน้ำจืด จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ต้องใช้น้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้ปัสสาวะหรือน้ำยาอื่นๆ รวมถึงเหล้าหรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จำง่ายๆ ว่าอะไรที่ไม่ใช่น้ำทะเล จะทำให้เข็มพิษทำงานหนักขึ้น

หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือหากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ (อย่างระมัดระวังนะฮะ)

มีรายงานบอกว่า ใช้ครีมโกนหนวดเทใส่บริเวณแผลก็ช่วยได้ หน่วยงานทางการแพทย์บางแห่งยอมรับ สำหรับผม หากโดนจริงก็คงใช้ (แต่ไม่มั่นใจนะครับ)

การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย

ปัญหาคือน้ำส้มสายชูที่ยอมรับกันมานานว่าใช้ได้ ตอนนี้ดันมีงานวิจัยบอกว่าไม่แน่แล้วนะ แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาใหญ่ สรุปแล้วเอาไงกันเนี่ย ?

บอกตามตรง ในโลกยังมี 2 กระแส บ้างก็ยังใช้อยู่ บ้างก็ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว สำหรับผม ยังไงก็ใช้ครับ แต่ไม่หมกมุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์

ย้ำเตือนอีกครั้ง การทำให้เศษแมงกะพรุน รวมทั้งเซลล์เข็มพิษที่อาจติดอยู่จนมองไม่เห็น ออกจากร่างกายผู้เคราะห์ร้ายให้เร็วที่สุด เป็นวิธีดีที่สุดในการช่วยชีวิต ถอดเสื้อผ้า เอาน้ำทะเลอุ่นๆ สาดใส่ นั่นคือสิ่งที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับน้ำส้มสายชูหรือครีมโกนหนวด ยังเป็นที่สงสัย แต่ห้ามใช้น้ำจืดหรือน้ำยาอะไรก็ตามโดยเด็ดขาด

จากนั้นก็นำส่งแพทย์โดยด่วน ต้องมีผู้ที่ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นไปด้วย

โดยปรกติแล้ว หากนำเซลล์เข็มพิษออกหมด ภายใน 5-10 นาที อาการเจ็บปวดน่าจะทุเลา อาจใช้น้ำแข็งประคบก็ได้ครับ แต่ต้องมั่นใจว่าเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว โดยปรกติแล้ว ผู้ป่วยที่โดนมาก จะเกิดอาการรุนแรงใน 10 นาที หากหลังจากนั้น โอกาสเสียชีวิตมีน้อยครับ

สำหรับคุณที่โดนแมงกะพรุนธรรมดา เมื่อขจัดเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว ต้องการรักษาแผลหรือแก้ปวด กินยาพาราได้ครับ ใช้น้ำอุ่น (น้ำจืดก็ได้แล้ว เพราะขจัดเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว) ใช้น้ำอุ่นทำความสะอาดแผล วันละ 3 ครั้ง ควรปิดพลาสเตอร์ติดแผลกันอักเสบ หรือใช้ยาพวก Neosporin ทาก็ได้ฮะ

บางกรณีที่หายากมาก พิษจากแมงกะพรุนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ภายหลัง อาจเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แผลอาจมีอาการผิดปรกติ ก็ไปหาหมอแล้วบอกว่าโดนแมงกะพรุนแล้วไม่หาย

ทั้งหมดนี้ ให้เพื่อนธรณ์ระวังไว้ และหากเจอกรณีโดนแมงกะพรุนบนชายหาด จะได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ กันได้จ้ะ

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมทะเล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท่องเที่ยว และองค์กรท้องถิ่น คงต้องมีการประชุมพูดคุยเรื่องนี้เพื่อหาแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะดูจากสถิติที่ผ่านมา เราอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการโดนแมงกะพรุนพวกนี้แล้วครับ คงต้องมีการทำอะไรสักอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งจุดปฐมพยาบาลฉุกเฉิน (กล่องใส่อุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติ) อบรมคนในพื้นที่ให้ทราบข้อมูลและแนวทางช่วยเหลือ ฯลฯ

โลกเรากำลังเปลี่ยนแปลง ทะเลไทยมีอะไรโผล่มาเรื่อยๆ เราต้องรอบรู้และเท่าทันครับ

หมายเหตุ ศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โทร 1669 ครับ

สายน้ำ
03-08-2015, 08:02
เดลินิวส์


ล้างพิษ 'แมงกะพรุนกล่อง' ห้ามใช้ 'น้ำจืด-แอมโมเนีย'

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News/580803_Dailynews_zpsgraqdj8e.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News/580803_Dailynews_zpsgraqdj8e.jpg.html)

จากกรณีนักท่องเที่ยวสาวไทย มาเที่ยวงานฟูลมูนปาร์ตี้ บนเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วได้ลงเล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดริ้น แล้วไปสัมผัสพิษแมงกระพรุนกล่อง ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนไปทั่วร่างกาย จนต้องหามส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แต่กลับเสียชีวิตก่อนส่งถึงมือแพทย์ ซึ่งเพื่อนอีก 3 คน ที่เข้าไปช่วยเหลือ ก็โดนพิษจนบาดเจ็บระนาวไปตามกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 2 ส.ค. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” รายงานว่า แฟนเพจของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องว่า ผู้ช่วยเหลือต้องแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัยจากแมงกะพรุน จากนั้นนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ ให้นอนนิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน หากหมดสติให้ทำการ CPR ทันที (ใช้หลัก A-B-C) ล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชูบ้าน ความเข้มข้น 2-10 % นานอย่างน้อย 30 วินาที หรือใช้ผักบุ้งทะเลตำพอกที่แผล หากไม่มีให้ใช้น้ำทะเล และใช้ถุงหมือหนา หรือแหนบคีบหนวดที่ยังติดอยู่ ห้ามใช้มือหยิบเด็ดขาด พร้อมใช้น้ำแข็งประคบลดอาการปวด ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

สำหรับแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) เป็นหนึ่งในสัตว์มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก มีเข็มพิษอยู่ในเซลล์จำนวนล้านๆ เซลล์ มีหนวดที่ยาวมาก และใสจนแทบมองไม่เห็น บางตัวอาจมีความยาวถึง 3 เมตร พิษของแมงกะพรุนจะทำให้บริเวณที่สัมผัสเป็นเส้นสีแดง คล้ายถูกแส้หรือถูกฟาดอย่างแรง มีพิษต่อหลายระบบในร่างกาย อาทิ หัวใจ ประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเกร็ง คลื่นไส้ กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก ส่วนใหญ่ผู้ได้รับพิษมักมีอาการปวดบริเวณแผล หรืออาจปวดไปทั่วร่างกาย บางรายอาจตายหรือจมน้ำก่อนได้รับการช่วยเหลือ

“ข้อควรระวัง ห้ามใช้น้ำจืดล้าง เนื่องจากจะกระตุ้นเข็มพิษให้ทำงานมากยิ่งขึ้น ส่วนการใช้แอมโมเนียล้างจะยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลง ห้ามถูหรือขยี้ หลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด” แฟนเพจ สพฉ.ระบุ.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) EMIT_1669 “

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/regional/338991

สายน้ำ
03-08-2015, 08:02
ผู้จัดการออนไลน์


เพชฌฆาตใต้ทะเล “แมงกะพรุนกล่อง” ฆ่าคนนับไม่ถ้วน!

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022901.JPEG

พิษของ “แมงกะพรุนกล่อง” สร้างความเจ็บปวด ก่อนทำลายระบบประสาทและเซลล์ผิวหนังช้าๆ หากใครได้เจอพิษของมัน อย่าหวังจะได้มีชีวิตรอด ล่าสุดหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายลงเล่นน้ำบนเกาะพงัน ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเข้าที่แขน กลายเป็นเหตุสลด ชวนตระหนัก และเท่าทันพิษร้ายของสัตว์ทะเลชนิดนี้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น


โศกนาฏกรรมใต้ท้องทะเล


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ผู้คนให้ความสนใจ และเป็นที่พูดถึงมากที่สุดอยู่ ณ ขณะนี้ หลังเกิดเหตุสลดนักท่องเที่ยวสาวชาวไทย ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปี ลงเล่นน้ำทะเลที่บริเวณหน้าซันไรท์ บังกะโล ม.6 ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเข้าที่แขน และขา ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้คนในละแวกนั้นต่างเข้าให้การช่วยเหลือแต่ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022908.JPEG

เหตุการณ์อันน่าสลดนี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่นักท่องเที่ยวโดนพิษแมงกะพรุนกล่อง หากย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2557 ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ขึ้นกับเด็กชายชาวฝรั่งเศสวัย 5 ขวบ ที่เดินทางมาพักผ่อนกับครอบครัวที่ชายหาดขวด เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ถูกพิษแมงกะพรุนเสียชีวิต ขณะลงเล่นน้ำทะเลความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร โดยแมงกะพรุนได้เข้ามาห้อมล้อมเด็กชาย ทำให้เด็กชายหมดสติทันทีโดยไม่สามารถช่วยชีวิตของเด็กชายคนดังกล่าวได้

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ชี้ชัดว่าหากใครได้รับพิษร้ายจากแมงกะพรุนกล่องเข้าก็ต้องสังเวยชีวิตให้กับสัตว์ร้ายนี้ทันที ทว่า เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว กลับมีเหตุการณ์อันน่าประหลาดใจขึ้น เมื่อ ราเชล ชาร์ดโลว์ สาวน้อยวัย 10 ขวบ ชาวออสเตรเลีย รอดชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนกล่องอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้

สำหรับเรื่องราวประหลาดนี้ เกิดขึ้นเมื่อหนูน้อยกำลังว่ายน้ำเล่นอย่างสนุกสนานในแม่น้ำคาลิออป ในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และโดนแมงกะพรุนกล่องต่อยเข้า โดยแพทย์ระบุว่าเธอจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นานนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครรอดชีวิตจากการถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเลยแม้แต่คนเดียว แต่หนูน้อยรายนี้กลับรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ ทำให้ทีมแพทย์ต่างประหลาดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงหนึ่งในล้านเท่านั้น เพราะคงไม่มีใครรอดชีวิตจากพิษร้ายของแมงกะพรุนกล่องนี้ได้

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022904.JPEG

ทั้งนี้ จากการค้นหาข้อมูลพบว่าพิษแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) หรือที่ชาวเลเรียกว่า บอบอกาว หรือบอบอกล่อง ฉายานามได้มาจากรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมสมชื่อ หากใครได้รับพิษของแมงกะพรุนกล่อง จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้อง และหลังเกร็ง เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก ส่วนชนิดหลายสาย มีพิษต่อหลายระบบในร่างกายทั้งเลือด เนื้อหนัง หัวใจ ประสาท ส่วนใหญ่ผู้ได้รับพิษมักมีอาการปวดบริเวณแผล หรืออาจปวดไปทั่วร่างกายในบางราย อาจตาย หรือจมน้ำก่อนใครจะช่วยทัน

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022902.JPEG

ธันยพร อจลวิชกุล นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ให้ข้อมูลว่า แมงกะพรุนกล่องถือเป็น 1 ในพิษที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะเมื่อพิษเข้าสู่ร่างกายจะไปโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง ทำให้เจ็บปวดมาก อาจเสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือช็อกจนจมน้ำ พบได้ตามแนวชายฝั่งออสเตรเลียตอนเหนือและทั่วอินโดแปซิฟิก แต่ปัจจุบันแพร่กระจายมาทางฝั่งเอเชียจนถึงประเทศไทย พบได้ที่เกาะลันตา, อ่าวโล๊ะซามะ อ่าวพีพี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และอ่าวน้ำบ่อ จ.ภูเก็ต, หาดชะอำ จ.เพชรบุรี รวมถึงเกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งด้วยกระแสน้ำ

ขณะที่ นายแพทย์ฐานุวัตน์ ทพย์นินิจ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะพะงัน ได้กล่าวเตือนว่า ให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำกลางคืน แมงกะพรุนชนิดนี้จะมาพร้อมกับสายฝน หากถูกพิษแล้วให้แก้ไขในเบื้องต้นด้วยการราดน้ำส้มสายชูลงบนบาดแผล และห้ามเกา หรือขูดจะทำให้พิษเข้าสู่ระบบเลือดเร็วขึ้น


(มีต่อ)

สายน้ำ
03-08-2015, 08:03
ผู้จัดการออนไลน์


เพชฌฆาตใต้ทะเล “แมงกะพรุนกล่อง” ฆ่าคนนับไม่ถ้วน! ..... (ต่อ)


11 ข้อ รู้เท่าทันพิษร้าย

เมื่อประเด็นดังกล่าวแพร่สะพัดออกไปสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนจำนวนมาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ออกมาเกาะติดสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน โดยออกมาโพสต์แสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้าย และกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ร้ายในท้องทะเลอย่างแมงกะพรุนกล่อง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คส่วนตัว 11 ข้อดังนี้

1. ในปัจจุบัน แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีรายงานผู้โดนในอ่าวไทยมากกว่า แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สายเดี่ยว (ในแต่ละมุม) และสายเป็นกลุ่ม ปกติสายเดี่ยวจะมีพิษน้อยกว่าพวกสายกลุ่ม พบในไทย 10-11 ชนิด กะพรุนกล่องมีพิษต่างกันไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณที่โดน ยังขึ้นกับคนที่แพ้พิษระดับใด ไม่ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย

2. สาเหตุที่กะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นจากอดีต อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้หาทางเลี่ยงเองครับ

3. กะพรุนกล่องพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในน้ำตื้นก็เป็นไปได้ พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง เช่น สมุย พะงัน เกาะล้าน มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง เช่น สิมิลัน

4. เนื่องจากมีขนาดเล็ก (เท่ากำปั้น) เคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นนักดำน้ำ อาจมองเห็น นอกจากนี้ นักดำน้ำสวมเวตสูท โอกาสเป็นอันตรายน้อย เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย (นับจากปี 41 มากกว่า 10 ราย เท่าที่ทราบ ไม่เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนเล่นน้ำ)

5. หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิต

6. ทางป้องกันคือใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีชุด stinger suit สำหรับใส่เล่นน้ำ เหนือมีจุดเล่นน้ำแบบมีตาข่ายกั้น ในเมืองที่ผมเคยอยู่ก็ต้องเล่นน้ำเฉพาะในที่กั้นครับ

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022906.JPEG

7. หากโดนจะรู้ตัวทันที เพราะเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตหรือแส้ฟาด ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที

8. ใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด อย่าใช้น้ำจืดล้างเพราะน้ำจืดจะทำให้เข็มพิษทำงานมากขึ้น

9. ราดด้วยน้ำส้มสายชูปริมาณมาก และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รีบนำส่งแพทย์เป็นอันดับแรก ควรแยกกันช่วย คนหนึ่งวิ่งไปหาถังมาตักน้ำทะเลสาด คนหนึ่งวิ่งเข้าครัวไปหาน้ำส้มสายชูมาเยอะๆ อีกคนรีบหารถและโทรหาแพทย์โดยด่วน ควรมีผู้ที่ปั๊มหัวใจเป็นอยู่ในรถด้วย โดยปกติหากผู้ป่วยรอดเกิน 10 นาที โอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก นี่เป็นสถิติจากออสเตรเลียครับ

10. หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมทรัพยากรทางทะเล ควรเป็นหน่วยหลัก เพราะเมื่อดูจากสถิติร้ายแรงแล้ว เราเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก

11. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและหน่วยงานท้องถิ่น ควรพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว เท่าที่คิดออกตอนนี้ครับ สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ


ทำอย่างไรเมื่อโดนพิษแมงกะพรุนกล่อง

“ทันทีที่โดนแมงกะพรุนกล่อง เราจะเจ็บจี๊ดขึ้นมาควรตั้งสติ ตะโกนบอกเพื่อนให้รู้ตัว อย่าเอามือปัดป่ายไปมาเพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนหนักขึ้น สังเกตว่าผู้ที่โดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้มักมีริ้วรอยทั้งตามลำตัวและมือแขน เพราะตกใจจึงพยายามปัดไปให้พ้นตัว

ค่อยๆ เดินออกมาจากตรงนั้น เพื่อป้องกันยิ่งวิ่งยิ่งโดนหนัก สำหรับคนที่จะเข้าไปช่วย ให้ระวังอย่างมาก เพราะอาจโดนแมงกะพรุน ถ้าเขาเดินมาหาเราได้ ให้เรารออยู่ตรงนั้น หรือถ้าเขามีท่าทางไม่ดี ควรเข้าไปช่วยเพียงคนเดียว และหาทางปกปิดร่างกายมากที่สุด ตั้งสติเตรียมรับมือหากโดนกะพรุน

คนโดนต้องพยายามขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด เมื่อมาถึงฝั่งบนหาดทราย ให้นั่งบนพื้นแล้วดูบาดแผล หากโดนจนเกิดเส้นสายคล้ายรอยไหม้เป็นบริเวณกว้าง ให้เพื่อนโทรศัพท์หาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดและให้รีบบอกคนแถวนั้น เพื่อเตรียมรถไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ระหว่างนั้น ให้อีกคนไปหาถังหรืออะไรก็ได้ที่ตักน้ำได้ ตักน้ำทะเลริมฝั่ง (ยิ่งน้ำอุ่นยิ่งดี) สาดใส่บริเวณที่โดนโดยแรง ตักสาดไปเรื่อยๆ เพื่อกำจัดเข็มพิษให้มากสุด”

ดร.ธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมบอกถึงขั้นตอนการหลีกเลี่ยงและขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเจอแมงกะพรุนกล่อง เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้เขายังกล่าวต่อถึงการทำงานของพิษแมงกะพรุน หากผู้ใดโดนพิษแมงกะพรุนแล้วให้ใช้น้ำทะเลสาดทันที เพราะความเค็มของน้ำจะทำให้พิษหลุดไปได้

“เข็มพิษของแมงกะพรุนจะทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะหลุดจากตัวมาแล้ว เซลล์เข็มพิษบางส่วนอาจยิงเข็มไปแล้ว บางส่วนอาจยังไม่ได้ยิง การใช้น้ำทะเลสาดจะช่วยให้เซลล์เข็มพิษหลุดไป อย่าใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะปกติเข็มพิษอยู่ในทะเล เมื่อราดด้วยน้ำจืด จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ต้องใช้น้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้ปัสสาวะหรือน้ำยาอื่นๆ รวมถึงเหล้าหรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จำง่ายๆ ว่าอะไรที่ไม่ใช่น้ำทะเล จะทำให้เข็มพิษทำงานหนักขึ้น

หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือหากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มีรายงานบอกว่า ใช้ครีมโกนหนวดเทใส่บริเวณแผลก็ช่วยได้ หน่วยงานทางการแพทย์บางแห่งยอมรับ สำหรับผมหากโดนจริงก็คงใช้ (แต่ไม่มั่นใจนะครับ) การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย”

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009022905.JPEG

ต่อข้อสงสัยที่ว่า หากโดนพิษแมงกะพรุนแล้วใช้น้ำส้มสายชูจะช่วยได้จริงหรือไม่นั้น ดร.ธรณ์ กล่าวว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 กระแสคือ น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าจะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาเยอะจะทำให้เกิดอันตรายได้

“ตอนนี้ดันมีงานวิจัยบอกว่าไม่แน่แล้วนะ แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาใหญ่ บอกตามตรง ในโลกยังมี 2 กระแส บ้างก็ยังใช้อยู่ บ้างก็ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว สำหรับผม ยังไงก็ใช้ครับ แต่ไม่หมกมุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์

จากนั้นก็นำส่งแพทย์โดยด่วน ต้องมีผู้ที่ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นไปด้วย โดยปกติแล้ว หากนำเซลล์เข็มพิษออกหมด ภายใน 5-10 นาที อาการเจ็บปวดน่าจะทุเลา อาจใช้น้ำแข็งประคบก็ได้ครับ แต่ต้องมั่นใจว่าเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่โดนมากจะเกิดอาการรุนแรงใน 10 นาที หากหลังจากนั้นโอกาสเสียชีวิตมีน้อยครับ”

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล ยังกล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกว่าจากสถิติที่ผ่านมาประชากรต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการโดนแมงกะพรุนกัดหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมทะเล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท่องเที่ยว และองค์กรท้องถิ่น ควรต้องหารือเพื่อหาแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญ ดังเช่นกรณีนี้ขึ้นอีก


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087144

สายน้ำ
04-08-2015, 09:01
ข่าวสด


ปักป้ายเตือนแมงกะพรุน ติดทั่วที่หาดริ้นเกาะพะงัน

http://www.khaosod.co.th/online/2015/08/14385704241438570656l.jpg

เทศบาลตำบลเพชรพะงัน สุราษฎร์ธานี ออกหนังสือประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้นถ้าหากถูกพิษจาก แมงกะพรุน ด้านชมรมหาดริ้นระดมปักป้ายเตือนระวังภัยจากแมงกะพรุนกล่อง พร้อมนำขวดน้ำส้มสายชูติดไว้ทั่วหาดริ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่หวั่นอันตรายพากันลงเล่นน้ำทะเล-นอนอาบแดด กันอย่างคึกคัก

จากกรณีน.ส.ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปี ชาวนนทบุรี ที่มาเที่ยวงานฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วลงเล่นน้ำทะเลกับเพื่อนๆ ที่หาดริ้นและถูกแมง กะพรุนกล่องปล่อยเข็มพิษตามตัวทำให้เสียชีวิต ส่วนเพื่อนสาวชาวไทย 1 คน และชาวต่างชาติอีก 2 คน ที่เข้าไปช่วยเหลือโดนพิษของแมงกะพรุนบาดเจ็บแต่อาการปลอดภัย โดยทางเทศบาลตำบลเพชรพะงันออกประกาศเตือนประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำให้ระวังอันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่บริเวณท่าเทียบเรือท้องศาลา เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการท่องเที่ยวว่ายังคงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยบริเวณหาดริ้น หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านใต้ จุดที่พบแมงกะพรุนกล่อง ยังคงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเล่นน้ำทะเลและนอนอาบแดด โดยไม่ได้วิตกกังวลหรือเกรงกลัวอันตรายจากแมงกะพรุนกล่องแต่อย่างใด

นาย พิทยา อินทร์คง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเพชรพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หลังจากที่เกิดเหตุนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยถูกพิษของแมงกะพรุนกล่องจนทำให้ เสียชีวิตนั้นเพื่อความไม่ประมาทเทศบาลตำบลเพชรพะงันจึงได้ออกหนังสือประชา สัมพันธ์การป้องกัน และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากการถูกพิษแมงกะพรุน เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น


ด้านชมรมหาดริ้นก็ปักป้าย เตือนแมงกะพรุนกล่องที่บริเวณชายหาดริ้น พร้อมกับนำขวดน้ำส้มสายชูไปผูกไว้กับเสาที่ใช้ปักป้ายเตือน เพื่อไว้ใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีถูกพิษจากแมงกะพรุนกล่องก่อนนำส่งโรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ ลักษณะตัวมีด้านสูงมากกว่าด้านกว้างมีลักษณะโปร่งใส อาจมีสีฟ้าอ่อน สีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีชมพู มีหนวดยื่นออกจากมุมทั้ง 4 มุม อาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ ว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที ลักษณะของพิษแมงกะพรุนกล่องเมื่อถูกพิษที่หนวดจะทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่ สัมผัสตายได้ และจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจากพิษที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ส่งผลต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น

นอก จากนี้ ฤทธิ์ของพิษยังกดระบบประสาททำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกพิษของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสพิษ ให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที ห้ามใช้น้ำจืด เพราะเป็นการกระตุ้นพิษ นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออก โดยหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณแผลและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที


.......... จาก ข่าวสด วันที่ 4 สิงหาคม 2558

สายน้ำ
04-08-2015, 09:01
โพสต์ทูเดย์


"แมงกะพรุนพิษ"... ถึงเวลาที่คนไทยต้องตื่นตัว! ............................. โดย วรรณโชค ไชยสะอาด

http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/03/307797CFBAD847158F1F464785AD6182.jpg

กระเเสเรื่อง "เเมงกะพรุนพิษ" กำลังสร้างความหวาดวิตกไปทั่ว หลังมีนักท่องเที่ยวรายหนึ่งเสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนกล่องขณะลงเล่นน้ำที่หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

นี่ไม่ใช่เหยื่อรายแรกที่สังเวยชีวิตให้แก่พิษของแมงกะพรุน...

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคระบุว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษขณะเล่นน้ำในทะเลไทยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนกว่า 900 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย

คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการรณรงค์ให้คนไทยได้รู้เท่าทันเจ้าวายร้ายแห่งท้องทะเลตัวนี้


เฝ้าระวัง 67 จุดเสี่ยง!

ความคืบหน้าล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมจัดระบบเฝ้าระวังแมงกะพรุนพิษในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแล้ว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด สำหรับใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน รวมทั้งติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุนในบางพื้นที่ ประมาณ 67 จุด ใน 9 จังหวัด เช่น ระนอง ตราด ระยอง พังงา ตรัง ภูเก็ต กระบี่ สตูล และจันทบุรี

ขณะที่ วรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ย้ำว่า จากนี้ไปจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุก มากกว่าจะตั้งรับป้องกันเพียงอย่างเดียว

"ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเชิงรุก ด้วยการทำความเข้าใจกับทางจังหวัดในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เเละผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทำความเข้าใจเรื่องการติดตั้งป้ายเตือน ติดตั้งจุดบริการน้ำส้มสายชูให้กับนักท่องเที่ยว เพราะชุมชนเเละผู้ประกอบการเขาไม่อยากให้ติดตั้ง เนื่องจากกลัวเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่สวยงามปลอดภัย กลัวคนจะเข้าใจว่าเป็นพื้นที่อันตราย เเต่ต้องมองว่า ภัยนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้ ยกตัวอย่างประเทศที่พบเเมงกะพรุนจำนวนมากอย่างออสเตรเลียถึงขั้นติดตั้งตาข่ายในทะเล เพื่อป้องกันแมงกะพรุนพิษ"

http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/03/7D4BF66BB96A4B3894E26CA8DB2F4EB8.jpg


น้ำส้มสายชูแก้พิษได้จริงหรือ?

ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า หากสัมผัสกับแมงกะพรุนพิษ อย่าใช้มือปัดป่ายไปมา เพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนมากขึ้น ควรตั้งสติ เดินขึ้นฝั่งและรีบจัดการกับบริเวณร่างกายที่เกิดปัญหา

"การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงพิษไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือ หากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ ต้องทำอย่างระมัดระวัง"

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ น้ำส้มสายชูใช้แก้พิษแมงกะพรุนได้จริงหรือ ดร.ธรณ์บอกว่า น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรด เข็มพิษของเเมงกะพรุนที่ติดอยู่ตามตัวจะหยุดทำงานเมื่อเจอน้ำส้มสายชู ทั้งนี้ห้ามใช้น้ำจืดหรือน้ำยาอะไรก็ตามโดยเด็ดขาด

“ฤทธิ์น้ำส้มสายชูจะไปสกัดไม่ให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ที่ผ่านมามีการใช้น้ำส้มสายชูจัดการกับพิษแมงกะพรุนมานานกว่า 30 ปี แต่ปัญหาคือ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีงานวิจัยข้างเคียงออกมาระบุว่า แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอยู่ ฉะนั้นหากเอาให้ชัวร์ที่สุดคือ ใช้น้ำทะเลล้าง แม้น้ำทะเลจะไม่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเข็มพิษ แต่ก็สามารถชะล้างเข็มออกจากตัวเราได้”

ดร. ธรณ์ ทิ้งท้ายว่า มาตรการป้องกันที่อยากเห็นคือ การร่วมมือกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และองค์การบริหารท้องถิ่น เข้ามาร่วมกันกำหนดโซนอันตราย เพื่อตั้งจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งฝึกฝนให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถปฐมพยาบาลฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และในอนาคตอาจมีความจำเป็นต้องกั้นตาข่ายไม่ให้แมงกะพรุนหลุดเข้าไปในบางพื้นที่ด้วย

http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/03/55C84D7E30C84A5B8191B3F354013042.jpg


รู้จักเเมงกะพรุนพิษ 10 ชนิดในไทย

คู่มือ "เรียนรู้ สู้ภัยแมงกะพรุนพิษ" ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ทั่วโลกมีแมงกะพรุนประมาณ 36 ชนิด แต่ไม่ได้เป็นอันตรายทุกชนิด บางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเจ็บหรือคัน มีเพียงบางชิดเท่านั้นที่มีพิษรุนแรงทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น คาริบเดีย อะทาลา (Carybdeo atala) หรือ ไคโรเน็กซ์ แฟลคเคอร์ไร (Chironex fleckeri) พบมากในทะเลแถบประเทศออสเตรเลีย แมงกะพรุนชนิดนี้มีขนาดความยาวของหนวด 3-5 เมตร สูง 8-10 เซนติเมตร ถือเป็นเเมงกะพรุนกล่องชนิดที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเเละพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลเเละป่าชายเลน พบว่า เเมงกะพรุนมีพิษในประเทศไทยมีทั้งหมด 10 ชนิด แบ่งเป็นเเมงกะพรุนกล่อง 7 ชนิด เเละแมงกะพรุนไฟ 3 ชนิด

1.เเมงกะพรุนกล่อง sp.A สปีชีส์เอ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Chironex (ไคโรเน็กซ์) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอันดามัน

2.เเมงกะพรุนกล่อง sp.B สปีชีส์บี ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Chironex เช่นเดียวกัน พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย

3. คาริบเดีย ซีวิคคิซี่ (Carybdeo sivickisi) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "อิรูคันจิ" โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติประมาณ 5-40 นาทีหลังได้รับพิษ ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

4.ไตรพีดาเลีย ชีสโตฟอรา (Tripdalia cystophora) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอันดามัน

5.มอร์บาคก้า เฟนเนอร์ไร (Morbakka fenneri) พบในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

6.ไครอบซอยเดส บูเทนดิจกิ (Chiropsoides buitendijki) พบในทะเลฝั่งอันดามันและบางในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย

7.ไครอบเซลลา (Chiropsella) พบในทะเลฝั่งอันดามัน ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ และยังไม่พบรายงานความเป็นพิษที่รุนแรงในสกุลนี้

"แมงกะพรุนกล่องมีหลายชนิด รูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส มีสีน้ำเงินจางๆ หรือไม่มีสี จึงสังเกตได้ยากเมื่ออยู่น้ำทะเล มีขนาดแตกต่างกัน อาจกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกออกเป็นสายหนวด โดยแต่ละขาอาจมีหนวดยาวตั้งแต่ 1-15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร โดยจะมีเข็มพิษอยู่ในถุงพิษที่กระจายอยู่ทุกส่วนของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะที่หนวด ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ จะเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสอย่างรุนแรงทันทีทันใด เกิดรอยไหม้ที่ผิวหนัง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการสับสน หมดความรู้สึก โคม่า และเสียชีวิตซึ่งมักเกิดภายใน 10 นาที เนื่องจากพิษมีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 นาที มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต และหยุดหายใจ และมีพิษต่อผิวหนัง” นพ.โสภณ กล่าว

ขณะที่ วรรณเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่าสามารถพบเห็นแมงกะพรุนพิษได้ในชายฝั่งทะเลแทบทุกแห่ง ตั้งเเต่บริเวณน้ำตื้นจนถึงทะเลลึก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเเนวปะทะของลมมรสุม ซึ่งพัดพาเหล่าเเมงกะพรุนเข้าหาฝั่ง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลอยตามกระเเสน้ำ บางชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนเหตุผลที่พบการเเพร่กระจายบ่อยในช่วงฤดูฝนนั้นเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ น้ำฝนจะชะล้างอาหารธาตุต่างๆ เเละเหล่าสัตว์ขนาดเล็กลงมาสู่ทะเล จนเกิดกระบวนการสร้างอาหารที่เหมาะสมสำหรับการมีชีวิตอยู่ของเเมงกะพรุนนั่นเอง

การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจากแมงกะพรุนพิษครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเชิงรุกมากกว่าตั้งรับแค่อย่างเดียวดังเช่นที่ผ่านมา

ประชาชนที่สนใจทำความรู้จักกับแมงกะพรุนพิษชนิดต่างๆ และวิธีรักษาอาการบาดเจ็บเบื้องต้นจากพิษของแมงกะพรุน สามารถดาวโหลดคู่มือ"เรียนรู้ สู้ภัยแมงกะพรุนพิษ" ได้ฟรีที่นี่ http://dmcr2014.dmcr.go.th/detailLibrary.php?WP=oGS3G0lDooya4UEwnFM4ZaN0oGq3G0lDooya4UERnHy4Ljo7o3Qo7o3Q

http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/03/DB3F75B684C94A2D8F5EFA819E6F0A17.jpg


.......... จาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 สิงหาคม 2558 http://www.posttoday.com/analysis/report/379991

สายน้ำ
04-08-2015, 09:03
ประชาชาติธุรกิจ


เผยแมงกะพรุนกล่องทำตายปีละ 12 ราย ชี้ชายฝั่งไทยพบน้อย ต้องจัดระบบเฝ้าระวัง

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News/580804_Prachachart_zps69o5ayal.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News/580804_Prachachart_zps69o5ayal.jpg.html)

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษขณะเล่นน้ำทะเล เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนกว่า 900 ราย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะมีไม่มาก แต่มีความเป็นห่วงประชาชนและนักท่องเที่ยวอาจได้รับบาดเจ็บได้ จึงมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การวินิจฉัย และการรักษาผู้บาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ชายทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน พบทั้งแมงกะพรุนที่ไม่มีพิษหรือมีพิษน้อย เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่อง และแมงกะพรุนไฟที่ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ถูกสัมผัส ส่วนแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงได้แก่ แมงกะพรุนกล่องซึ่งมีหลายชนิด มีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส มีสีน้ำเงินจาง ๆ หรือไม่มีสี จึงสังเกตได้ยากเมื่ออยู่น้ำทะเล มีขนาดแตกต่างกัน อาจกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกออกเป็นสายหนวด โดยแต่ละขาอาจมีหนวดยาวตั้งแต่ 1-15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร โดยจะมีเข็มพิษอยู่ในถุงพิษที่กระจายอยู่ทุกส่วนของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะที่หนวด

"ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ จะเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสอย่างรุนแรงทันทีทันใด เกิดรอยไหม้ที่ผิวหนัง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการสับสน หมดความรู้สึก โคม่า และเสียชีวิตซึ่งมักเกิดภายใน 10 นาที เนื่องจากพิษมีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 นาที มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต และหยุดหายใจ และมีพิษต่อผิวหนัง" นพ.โสภณกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมมือในการศึกษาการแพร่กระจาย และเฝ้าระวังการระบาดของแมงกะพรุนพิษ รวมถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมกับแพทย์ฉุกเฉินและนักชีววิทยาด้วย และจัดระบบเฝ้าระวังติดตามพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด เพื่อใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน และติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุนในบางพื้นที่ขณะนี้ได้จัดตั้งจุดปฐมพยาบาลแมง กะพรุนพิษ ประมาณ 67 จุด ใน 9 จังหวัด เช่น ระนอง ตราด ระยอง พังงา ตรัง ภูเก็ต กระบี่ สตูล และจันทบุรี

"ในการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงเล่นน้ำทะเล ไม่ควรเล่นน้ำนอกตาข่ายในทะเล หากสัมผัสแมงกะพรุนพิษ ให้รีบขึ้นจากน้ำ แล้วใช้ส้มสายชู ราดให้ทั่วบริเวณที่สัมผัสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที ฤทธิ์ของน้ำส้มสายชูจะทำลายพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ หากหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ อาจใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่ประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่ากับน้ำส้มสายชู ห้ามขัดถู บริเวณที่ถูกแมงกะพรุนโดยเด็ดขาด และโทรเรียกรถพยาบาล ไม่ควรให้ผู้ป่วยขยับตัว เพื่อป้องกันการกระทบแผล" นพ.โสภณกล่าว


.......... จาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 4 สิงหาคม 2558 http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438595527

สายน้ำ
07-08-2015, 08:01
ไทยรัฐ


ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซฯ ปัญหาแมงกะพรุนกล่อง เกิดจากฝีมือมนุษย์

http://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuXuTz01p1bGSE9X628MalvylA1Z1Xe9dymP2rzs.jpg

ดร.ธรณ์ นักวิชาการด้านทะเลชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กอ้าง ปัญหาแมงกะพรุนกล่อง เกิดจากมนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ แล้วย้อนมาทำร้ายตัวเอง ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ...

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวสาวชาวไทย ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิต ที่หาดริ้น เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ทำให้หลายฝ่ายตื่นตระหนกถึงปัญหาดังกล่าว รวมถึงช่วยกันแชร์ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ได้รับพิษ และวิธีจำแนกประเภทแมงกะพรุน

https://scontent-sin1-1.xx.fbcdn.net/hphotos-xpt1/v/t1.0-9/p350x350/11800605_1165661450115723_823013182270057552_n.jpg?oh=f7962970789e1225c808609098efdc8a&oe=564BF63A

ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล และสมาชิก สปช. ได้โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่า ปัญหาแมงกะพรุนนั้น มีต้นเหตุมาจากมนุษย์ที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล เนื่องจากเต่าทะเลที่กินแมงกะพรุนนั้น เริ่มมีจำนวนน้อยลง บางส่วนตายเพราะกินถุงพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งลงทะเล รวมทั้งปัญหาการประมง พื้นที่วางไข่ และปัญหาโลกร้อน เมื่อไม่มีเต่า จึงทำให้แมงกะพรุนมีจำนวนเพิ่มขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการทำร้ายธรรมชาติแล้วย้อนมาทำร้ายตัวเอง ส่วนวิธีแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ดร.ธรณ์ ระบุว่าต้องทำให้เต่าทะเลมีมากขึ้น และมุ่งเน้นจัดการปัญหาโลกร้อน ขยะในทะเล รวมถึงปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง

https://scontent-sin1-1.xx.fbcdn.net/hphotos-xft1/v/t1.0-9/s526x395/11846788_1167847016563833_2614296021074374837_n.jpg?oh=6e51877705add85a3f527467c0aea9c6&oe=5646728D


http://www.thairath.co.th/content/516642

สายน้ำ
20-08-2015, 07:35
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


SuperSci: 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “แมงกะพรุน”

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/580820_Mgr_06_zps0mvvl7tx.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/580820_Mgr_06_zps0mvvl7tx.jpg.html)
ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SuperSci สัปดาห์นี้พาทุกคนดำดิ่งลงไปรู้จักกับสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อย่าง “แมงกะพรุน” กับผู้เชี่ยวชาญด้เนวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่าง นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของแมงกะพรุนให้ทุกคนได้ทราบกันแบบละเอียดทุกซอกทุกมุม


1.แมงกะพรุนคืออะไร ?

นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แมงกะพรุน (jellyfish) คือสัตว์รูปร่างคล้ายวุ้น มีทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็ม มีลักษณะเด่นตรงส่วนที่มีลักษณะคล้ายร่มและหนวด โดยหนวดส่วนใหญ่มักมีเข็มพิษ (nematocyst) ที่ถ้าหากไปสัมผัสจะทำให้แสบคันปวดแสบปวดร้อน นักวิทยาศาสตร์ได้แยกแมงกะพรุนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ ไซโฟซัว (spyphozoa) ที่จะแบ่งออกได้เป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ แมงกะพรุนที่ใช้กิน เช่น แมงกะพรุนหนัง, แมงกะพรุนลอดช่อง ส่วนอีกกลุ่มคือ แมงกะพรุนไฟ ที่มีหนวดยาว มีพิษร้ายแรง

กลุ่มต่อมา คือ ไฮโดรซัว (hydrozoa) ตัวเด่นๆ คือ โปรตุกีสแมนออฟวอร์ (Portuguese man of war: Blue bottle) แมงกะพรุนพิษแรงที่มักลอยตามผิวน้ำ และแว่นพระอินทร์ แมงกะพรุนตัวกลมหลากสีสันสวยงามทั้งม่วงและน้ำเงิน

กลุ่มสุดท้ายคือ คิวโบซัว (Cubozoa) ที่จะแบ่งออกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อย คือ คิวโบซัวชนิดมุมตัวด้านหนึ่งมีหนวดหลายเส้น อาทิ แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) ที่จะให้พิษเร็ว อาจทำให้เหยื่อตายได้ภายใน 2-10 นาทีเพราะพิษจะเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว และคิวโบซัวชนิดมุมตัวมีหนวดเส้นเดียว อาทิ แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) แมงกะพรุนมีพิษร้ายแรงเทียบเท่าแมงกะพรุนกล่อง ต่างที่พิษจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อสัมผัสแล้ว 20 นาที

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009398605.JPEG
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


2.แมงกะพรุนยิงพิษเข้าสู่เหยื่อได้อย่างไร ?

รองอธิบดีฯ ระบุว่า แมงกะพรุนแทบทุกตัวมีพิษ และมีพิษทั้งตัว จะมากที่สุดบริเวณหนวด ส่วนที่หัวร่มก็มีแต่น้อย พิษจะแรงหรือไม่แรงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์ที่มีพิษมากในพื้นที่ 1 ตารางนิ้วของหนวดอาจมีเข็มพิษได้มากกว่า 1 ล้านอันซึ่งมีขนาดเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น โดยมีกลไกการแทงเข็มพิษ ที่เรียกว่า นีมาโทซิส (nematocyst )เหมือนกับ “ไกปืน” ที่เป็นหัวรับสัมผัสยื่นออกมา จากเซลล์ที่เรียกว่า “ไนโดไซต์” (cnidocyte) หากเหยื่อไปสัมผัสหรือสะกิดแมงกระพรุนเพียงเล็กน้อย เข็มก็จะถูกยิงออกมา


3.แมงกะพรุนทุกชนิดมีพิษถึงตายหรือไม่

ดร.ศุภณัฐ ตอบคำถามนี้ทันทีว่า “ไม่จริง” แม้แมงกะพรุนทุกตัวจะมีพิษทำให้ปวดแสบ ปวดร้อนหรือคันแต่ก็ไม่ทำให้ถึงตาย มีแมงกะพรุนเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้นที่พิษรุนแรงทำให้ถึงตายได้ คือ แมงกะพรุนกล่อง และแมงกะพรุนอิรุคันจิ ซึ่งแมงกะพรุนกล่องนี่เองที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในไทยเพราะพบได้ง่ายในแถบอ่าวไทย ในขณะที่อิรุคันจิจะพบได้ยากกว่ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่แต่ละบุคคลด้วย หากคนไหนมีอาการแพ้มากก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน แม้จะไม่ใช่พิษจากแมงกะพรุน 2 ชนิดแรก

นายวุฒิชัยได้เผยสถิติผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจากจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันว่า ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยเกาะพะงัน จ.พังงา เป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มากถึง 4 ราย ตามมาด้วยทะเลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และทะเล จ.กระบี่ ซึ่งเหตุสลดที่เกิดล้วนเกิดขึ้นในหน้าฝนตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค.

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009398601.JPEG
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


4.แมงกะพรุนกินได้ไหม?

“ผมเชื่อว่าคุณเคยกินแมงกะพรุนในเย็นตาโฟ เพราะฉะนั้นแน่นอนว่ามันกินได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินแมงกะพรุนได้ทุกชนิด” ดร.ศุภณัฐกล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า แมงกะพรุนที่นิยมกินเป็นอาหาร มีชื่อว่า แมงกะพรุนลอดช่อง เป็นแมงกะพรุนขนาดกลางมีพิษอ่อน หาได้ง่ายทั่วไปตามแนวชายฝั่งท้องทะเลปกติ

นายวุฒิชัยเพิ่มเติมว่าในช่วงหน้ามรสุมฝั่งอ่าวไทยบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานีจะพบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมากจนเกิดเป็นการประมงแมงกะพรุนสำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีนเพื่อทำอาหาร และส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อใช้ผลิตเป็นอาหารเสริมคอลลาเจนที่หญิงสาวนิยมรับประมานเพื่อความสวยความงาม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกแมงกะพรุนมากเป็นอันดับ 7 ของโลก


5.แมงกะพรุนที่มีข่าวว่าพบเยอะทุกปี คืออะไร

ในแต่ละปีในช่วงปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝนจะเป็นช่วงที่พบแมงกะพรุนมากที่สุด นับหมื่นหรือแสนตัวลอยอยู่ที่ระดับผิวน้ำ เช่นปีนี้ที่เกิดขึ้นใน จ.ตราด นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า แมงกะพรุนบลูม (bloom) ที่แปลว่ามีมาก โดยสกุลที่พบบ่อยที่สุดคือ Catostylus sp. ส่วนสาเหตุการเกิดยังไม่มีคนทราบว่าเกิดเพราะอะไร แต่น่าจะเป็นเพราะช่วงนั้นปริมาณอาหารในท้องทะเลมีมาก แมงกะพรุนจึงเพิ่มขึ้นตามกลไกธรรมชาติ

สำหรับประเทศไทยพบแมงกะพรุนได้ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทยจะพบแมงกะพรุนมากในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ก.ย.และในฝั่งอันดามันจะมาในช่วงรอยต่อฤดูร้อนและฤดูฝนคือในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. หรือบางปีอาจยาวไปจนถึง พ.ย. เลยก็มี


6.แมงกะพรุนที่ตัวใหญ่ที่สุด ในโลกใหญ่ขนาดไหน?

จากการค้นพบที่มีการบันทึกไว้ แมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ แมงกะพรุนไลออนเมน หรือ ไซยาเนีย (Cyanea) ที่มีความยาวส่วนหัวมากถึง 40 เมตร และหนวดยาวได้ถึง 37 เมตร


7.แมงกะพรุนที่ตัวเล็กที่สุด

คือ แมงกะพรุนอิรุคันจิ (irukandji) มีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตรหรือเล็กเพียงเมล็ดถั่วเท่านั้น ในขณะที่ความเป็นพิษอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเพราะพิษของมันทำให้ถึงตายได้

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000009398603.JPEG
Credit Photo : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


8. แมงกะพรุนตัวที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก

แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เป็นแมงกะพรุนขนาดกลางขนาดประมาณฝ่ามือ ที่ ดร.ศุภณัฐ เผยว่าเป็นแมงกะพรุนกล่อง สายพันธุ์ไคโรเนกซ์ เฟลกเคอไร (Chironex fleckeri) ซึ่งถูกบันทึกให้เป็นสัตว์ใน 10 อันดับที่มีพิษร้ายที่สุดในโลก เพราะถ้าหากไปสัมผัสจะทำให้เหยื่อตายแน่นอนภายใน 10-15 นาที โดยผู้ที่โดนจะมีอาการจุกเสียด หายใจติดขัด จนเสียชีวิตในที่สุด เพราะน้ำพิษของแมงกะพรุนมีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงที่มีประสิทธิภาพสูง


9.ถ้าเจอแมงกะพรุนควรทำอย่างไร?

นายวุฒิชัย กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือ ตั้งสติแล้วขึ้นจากน้ำให้พ้นบริเวณ เพราะถึงแม้แมงกะพรุนจะตายแล้ว แต่หนวดของแมงกะพรุนยังปล่อยพิษได้อยู่ได้อีกนานประมาณ 6-10 ชั่วโมง และแนะนำให้แต่งกายแบบระมัดระวัง เช่น ชุดดำน้ำแขนยาวขายาวในช่วงแมงกะพรุนบลูม เพราะเข็มพิษของแมงกะพรุนในความจริงมีขนาดเล็กมากระดับมิลลิเมตร แค่เพียงถุงน่องบางๆ ก็ไม่สามารถยิงผ่านได้ และข้อสำคัญคือไม่ควรใช้มือเปล่าสัมผัสแมงกะพรุนเด็ดขาดเพราะแม้แต่ส่วนหัวที่ดูเรียบเกลี้ยงเกลาก็มีเข็มพิษซ่อนอยู่


10.ถ้าโดนแมงกะพรุนจะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร?

ดร.ศุภณัฐ เผยว่าวิธีมาตรฐานคือราดบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำส้มสายชู หรือใช้น้ำทะเลราด ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างเด็ดขาด เพราะน้ำเปล่า จะกระตุ้นให้เข็มพิษแทงออกมามากขึ้น ซึ่งนายวุฒิชัยอธิบายว่า น้ำส้มสายชูจะเข้าไประงับให้เข็มพิษส่วนที่ยังไม่ทำงานให้ไม่ทำงาน ไม่ได้ทำให้เข็มพิษหลุดหรือสลายไปอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ ดังนั้นเมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วจึงควรรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที แต่ทั้งนี้ นายวุฒิชัยยังระบุด้วยว่า การใช้น้ำส้มสายชูจะให้ผลการรักษาดีเฉพาะกับพิษแมงกะพรุนประเภท ไซโฟซัว และ คิวโบซัวเท่านั้น แต่สำหรับแมงกะพรุนกลุ่มไฮโดรซัวโดยเฉพาะโปรตุกีสแมนออฟวอร์ การราดน้ำส้มสายชูจะยิ่งกระตุ้นให้เข็มพิษทำงานได้ดีขึ้น ทางที่ดีจึงควรรู้จักแมงกะพรุนเบื้องต้นและสังเกตป้ายเตือนสถานการณ์แมงกะพรุนบริเวณชายหาดก่อนลงเล่นน้ำ

นอกจากนี้นายวุฒิชัยบอกวิธีสังเกตแมงกะพรุนง่ายๆ ว่าตัวที่มีพิษร้ายมักมีหนวดยาวรุ่มร่าม แต่ก็ไม่เสมอไปทางที่ดีอย่าเล่นน้ำทะเลบริเวณที่เป็นฟองคลื่นเพราะจะมีโอกาสพบกับแมงกะพรุนและงูทะเลได้มากกว่าบริเวณอื่น

ทั้งนี้ นายวุฒิชัย ยังคาดการณ์ด้วยว่าขณะนี้ปริมาณของแมงกะพรุนในทะเลไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องที่ได้รับการแจ้งเตือนว่าพบบ่อยครั้งจนต้องมีหน่วยงานออกจัดเก็บเพื่อระวังความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารที่เปลี่ยนไปจากเดิม

“เพราะในธรรมชาติแมงกะพรุนเป็นอาหารของเต่าทะเล ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่น้อยมาก เพราะหญ้าทะเลซึ่งเป็นทั้งอาหารและที่อยู่ของมันลดลง เมื่อผู้บริโภคมีน้อยปริมาณแมงกะพรุนจึงมีมากเกินปกติ จนท้ายที่สุดมนุษย์เองก็กลายเป็นผู้รับเคราะห์ การรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นหนทางที่ประชาชนทุกคนควรจะช่วยกัน และขณะนี้ในส่วนของ ทช.เองที่ดูแลเกี่ยวกับองค์ความรู้ทั้งหมดในทะเล ก็ได้ร่วมมือกับสำนักระบาดวิทยาเพื่อศึกษาพิษและข้อมูลทางชีววิทยาของแมงกะพรุนในท้องทะเลไทยให้มากขึ้น รวมไปถึงแนวทางในการนำแมงกะพรุนไปใช้ประโยชน์ในกรณีที่มีการบลูมมากเกินไปด้วย” นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย


...... .......... จาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 สิงหาคม 2558 http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000092775

สายน้ำ
10-10-2015, 08:53
ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


แมงกะพรุนกล่องพิษร้ายแรงที่สุด แล่นสู่หัวใจตายใน 2-10 นาที แนะวิธีป้องกัน

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581010_Prachachart_01_zpsn4fd7onu.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581010_Prachachart_01_zpsn4fd7onu.jpg.html)

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากเหตุการณ์ ที่นักท่องเที่ยวหญิงชาวเยอรมัน อายุ 20 ปี เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนกล่อง 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย จากการลงเล่นน้ำทะเลช่วงเวลา 20.00 น.วันที่ 6 ตุลาคม ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พบว่าเป็นการลงเล่นน้ำในช่วงกลางคืน เหมือนกับนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยที่เพิ่งเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ที่เกาะพะงัน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จากข้อมูลย้อนหลัง ช่วง 16 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2542-2558) มีรายงานนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษขณะเที่ยวชายทะเลในประเทศไทย จากการวิจัยโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 900 คน มีทั้งชาวไทย และต่างชาติ ส่วนที่มีอาการหนักจนถึงหมดสติ 17 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย อาการเข้าได้กับแมงกะพรุนพิษชนิดที่เรียกว่าแมงกะพรุนกล่อง เฉพาะในปี 2558 ข้อมูลเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58-ปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตจากการถูกแมงกะพรุนกล่อง รวมรายล่าสุดเป็น 2 ราย และพบผู้ที่ถูกแมงกะพรุนแล้วอาการรุนแรงจนหมดสติและต้องปั๊มหัวใจ 1 ราย โดยทั้ง 3 ราย อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ลักษณะแมงกะพรุนกล่อง มีลักษณะโปร่งใส สีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์ มีหนวดบางๆ 12-15 เส้น ในแต่ละมุม โดยหนวดแมงกะพรุนชนิดนี้อาจยาวได้ถึง 3 เมตร แมงกะพรุนกล่อง มีถุงพิษอยู่ที่สายหนวด แมงกะพรุนกล่อง 1 ตัวอาจมีถุงพิษถึงล้านเซลล์ ทำให้แมงกะพรุนกล่อง เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ถุงพิษของแมงกะพรุนกล่องมีถึง 3 ชั้นในหนวดแต่ละเส้น ในการสัมผัสสายหนวดครั้งแรกมักมีการยิงพิษเพียงร้อยละ 10-20 ของถุงพิษทั้งหมด แต่หากช่วยเหลือขั้นต้นผิดวิธีจะทำให้ถุงพิษที่เหลืออีกร้อยละ 80-90 เกิดการยิงพิษเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่โดนสายหนวดดังกล่าว

ดังนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกวิธีจึงมีความสำคัญมากในการลดความรุนแรงของการได้รับพิษ สิ่งที่จะกระตุ้นการยิงพิษได้แก่การกระเทือนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอาทรายไปขัดถูบริเวณที่โดนแมงกะพรุน การพยายามดึงสายหนวดออก หรือการราดด้วยน้ำจืดหรือประคบน้ำแข็ง ส่วนการราดด้วยน้ำส้มสายชูจะระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ได้ยิงในระยะแรก ดังนั้นหากราดด้วยน้ำส้มสายชูเสร็จแล้วก็จะสามารถนำสายหนวดออกจากร่างกายได้โดยปลอดภัย

พิษของแมงกะพรุนกล่องมีฤทธิ์ใน 3 ด้าน คือ พิษต่อผิวหนังทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตาย พิษต่อหัวใจโดยที่พิษเข้าสู่กระแสเลือดจะแล่นเข้าสู่หัวใจและทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว จะเห็นได้จากการที่ผู้ป่วยเริ่มไม่รู้สึกตัวและหยุดหายใจ ไม่มีชีพจร และพิษต่อระบบประสาท จะทำให้มีอาการปวดรุนแรง คนที่เสียชีวิตจากแมงกะพรุนจะเกิดจากภาวะหัวใจวายจากพิษแล่นเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้น ส่งผลให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที
พื้นที่ที่มักพบการบาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนกล่อง คือ บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาด โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องมักจะว่ายเข้ามาหาเหยื่อพวกลูกกุ้ง ลูกปลาในพื้นที่ลักษณะนี้

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรืออาการรุนแรงหลายรายเกิดเหตุการณ์ขณะที่เล่นน้ำหลังฝนหยุดตกใหม่ๆหรือเล่นน้ำตอนกลางคืนในประเทศไทยพบแมงกะพรุนกล่องได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มักพบในฤดูฝนหรือช่วงปลายปี ซึ่งฤดูกาลที่พบแตกต่างกันในแต่ละฝั่งทะเล


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444309480

สายน้ำ
10-10-2015, 08:54
ขอบคุณข่าวจาก มติชน


แพทย์แนะ อย่าใช้ผักบุ้งทะเล-หญ้าทะเล แก้พิษแมงกะพรุน เสี่ยงหนักกว่าเดิม

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581010_Matichon_01_zpsbfthxxz1.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581010_Matichon_01_zpsbfthxxz1.jpg.html)
(ที่มาภาพ: pharmacy.mahidol.ac.th)

(9 ต.ค.58) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันลงเล่นน้ำและโดนแมงกะพรุนกล่อง ที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมักพบปัญหาลักษณะนี้ทุกปี โดยล่าสุด รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า รายงานนักท่องเที่ยวเสียชีวิจจากแมงกะพรุนพิษขณะเที่ยวชายทะเลในประเทศไทยนั้น พบไม่มากไม่น้อย อย่างแมงกะพรุนกล่องในแต่ละปีจะพบเสียชีวิตประมาณ 2-3 ราย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในการติดป้ายคำเตือนจุดเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจุดเสี่ยงพบแมงกะพรุน ทางทช.จะมีข้อมูลอยู่ โดยกรมฯจะมีข้อความคำเตือน และท้องถิ่นจะนำไปดำเนินการติดตั้ง

“ในส่วนของการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลในพื้นที่นั้นเรามีการอบรมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาตลอด ซึ่งในสมุยก็จะเป็นโรงพยาบาลในเกาะสมุย รวมไปถึงจุดเสี่ยงต่างๆ ซึ่งทราบว่าเป็นบริเวณรอบชายหาดอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีพื้นที่ไหนบ้าง คงต้องขอทาง ทช. อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องช่วยกันหมด ซึ่งก็เห็นด้วย ในทางกลับกันนักท่องเที่ยวต้องสังเกตป้ายคำเตือนด้วย ที่สำคัญเมื่อถูกแมงกะพรุนกล่องพิษ ไม่ควรขยี้ หรือไปเอาหญ้าทะเล ผักบุ้งทะเล แต่ควรนำน้ำส้มสายชู ซึ่งในจุดเสี่ยงจะมีแขวนไว้ให้ แต่หากไม่มีจริงๆ ให้รีบหาน้ำส้มสายชูที่ประกอบอาหารทั่วไป ใช้ได้หมด เทล้าง แต่ไม่ต้องถู พิษจะเบาบาง หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าผักบุ้งทะเลใช้ได้ แต่จริงๆสำหรับพิษแมงกะพรุนไฟ ซึ่งส่วนใหญ่แยกไม่ถูก ดังนั้น หากเป็นไปได้ใช้น้ำส้มสายชูก็ได้ เพราะแมงกะพรุนไฟไม่มีพิษร้ายถึงชีวิต” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีจะพบแมงกะพรุนกล่องได้เฉพาะชายฝั่งช่วงกลางคืนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่เฉพาะกลางคืน เพียงแต่แมงกะพรุนกล่องจะเคลื่อนตัวหาแสงสว่าง และกินพวกลูกกุ้ง ลูกปลา แต่ไม่ยืนยันว่าเจอมากตอนกลางคืนหรือกลางวัน คงต้องถามผู้เชี่ยวชาญ ในส่วนของ สธ.จะเน้นเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นหลัก

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ลักษณะแมงกะพรุนกล่อง มีลักษณะโปร่งใส สีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์ มีหนวดบางๆ 12-15 เส้น ในแต่ละมุม โดยหนวดแมงกะพรุนชนิดนี้อาจยาวได้ถึง 3เมตร แมงกะพรุนกล่อง มีถุงพิษอยู่ที่สายหนวด ส่วนแมงกะพรุนไฟ มีลักษณะทั่วไปคล้ายร่ม แต่มีสีลำตัวและหนวดเป็นสีแดงสดหรือสีส้ม ด้านบนมีจุดสีขาวอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม สำหรับแมงกะพรุนกล่องจะมีพิษมากถึงล้านเซลล์ โดยที่ในการสัมผัสสายหนวดครั้งแรกมักมีการยิงพิษเพียงร้อยละ 10-20 ของถุงพิษทั้งหมด แต่หากช่วยเหลือขั้นต้นผิดวิธีจะทำให้ถุงพิษที่เหลืออีกร้อยละ 80-90 เกิดการยิงพิษเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่โดนสายหนวดดังกล่าว ดังนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกวิธีจึงมีความสำคัญมากในการลดความรุนแรงของการได้รับพิษ โดยห้ามถูหรือขยี้บริเวณถูกพิษเด็ดขาด


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444387169

สายน้ำ
15-10-2015, 07:58
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


เตือนประชาชนระวังพิษจากแมงกะพรุน ........................... ดูแลสุขภาพ โดย รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_01_zpskx6puyqz.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_01_zpskx6puyqz.jpg.html)

นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ขอฝากเตือนให้ระวังแมงกะพรุน ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนไฟและแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งการเล่นน้ำทะเลไม่ควรลงเล่นน้ำหลังฝนตกและในช่วงเวลากลางคืน ถ้าหากรู้สึกว่าโดนแมงกะพรุน ให้รีบล้างด้วยน้ำทะเลและใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณถูกพิษและไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_02_zpsxqecti2y.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_02_zpsxqecti2y.jpg.html)

แมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในแถบทะเลเแถวอินโดจีนและทะเลแปซิฟิก มีหลายสายพันธุ์ ชนิดที่รุนแรงมากที่สุด ได้แก่ Chironexfleckeri ซึ่งพบมากที่สุดด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย แถบน่านน้ำของมาเลเซียพบ Chiropsalmusquadrigatus ส่วนในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์มักพบเป็นชนิด Chironexyamaguchi สำหรับในประเทศไทยสามารถพบแมงกะพรุนกล่องได้ตั้งแต่บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ฤดูที่แมงกะพรุนกล่องจะเข้าใกล้ชายฝั่ง จะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในออสเตรเลียความเสี่ยงจะสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม แมงกะพรุนชนิดนี้โปร่งแสง ทำให้มองเห็นในน้ำได้ยาก ลำตัวของ Chironexfleckeri(bell) เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง ขนาดโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-24 ซม. มีหนวด (tentacles) ที่มุมทั้งสี่จำนวน 15 หนวดต่อมุม ขณะว่ายน้ำหนวดจะหดตัวทำให้มีความยาวเพียง 15 ซม. แต่ขณะออกล่าเหยื่อหนวดจะยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แมงกะพรุนกล่องสามารถว่ายน้ำล่าเหยื่อได้ด้วยความเร็วสูง ต่างจากแมงกะพรุนแท้ (scyphozoan) ที่จะลอยไปมารอให้เหยื่อมาสัมผัสเอง แมงกะพรุนกล่องจะล่าปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_03_zps3ax3utxl.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_03_zps3ax3utxl.jpg.html)

อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสได้ถึงตัวกระตุ้นที่เป็นแรงกดร่วมกับสารเคมีที่อยู่บนผิวของเหยื่อ จะมีการฉีดสารพิษเข้าสู่ผิวของเหยื่อ เมื่อโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการปวดแสบอย่างรุนแรงทันทีในบริเวณที่โดน ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษจากแมงกะพรุนชนิดนี้มีความรุนแรงมาก หากบริเวณสัมผัสเกินร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วตัวอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที หรืออาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 20 นาทีหลังจากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่อง แต่หากเกิน 20 นาทีไปแล้วยังมีชีวิตอยู่แสดงว่าอาการไม่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้สารพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถออกฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำให้ระบบหมุนเวียนของโลหิตและปอดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหนังแพ้หรือผิวหนังตายได้ จากสถิติในประเทศออสเตรเลียพบผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างน้อย 63 รายในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1884-1996 และเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเลียชีวิตมากที่สุด

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_04_zpsegg4oyjy.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581015_KhomChudLuek_04_zpsegg4oyjy.jpg.html)

วิธีการรักษาโดยส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องที่ผิวหนัง จะมีอาการเพียงเล็กน้อย (ขึ้นกับความกว้างของบริเวณที่โดนพิษ) แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในเบื้องต้นหากโดนหนวดของแมงกะพรุ่นกล่อง อย่าแกะหรือขยี้เนื่องจากหนวดยังสามารถปล่อยพิษต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ให้ใช้น้ำส้มสายชู (ความเข้มข้นของกรดอะซิติคอยู่ระหว่างร้อยละ 3-10) ชะล้างบริเวณที่หนวดเกาะอยู่และบริเวณรอบๆ เป็นเวลา 30 วินาที ค่อยแกะเอาหนวดออกโดยใช้ผ้าปัดออก หากโดนในตา ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์หรือน้ำเปล่า แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูแผลและสังเกตอาการ หากมีอาการระบบหัวใจและปอดล้มเหลวจะต้องปฏิบัติการกู้ชีพโดยด่วน การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการในประเทศออสเตรเลียได้มีการผลิตซีรั่มต้านพิษแมงกะพรุนกล่อง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าซีรั่มดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องยังมีไม่มากนัก ตลอดจนการใช้ซีรั่มจะต้องใช้โดยด่วนที่สุดโดยตั้งแต่เริ่มโดนพิษใหม่ๆ จึงจะได้ผลดีเป็นประโยชน์ และการใช้ซีรั่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะล้มเหลวของระบบหลอดเลือดและปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด นอกจากนี้การใช้ซีรั่มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเนื่องจากผลิตจากซีรั่มของวัว

แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์อันตรายที่แทบมองไม่เห็นในน้ำ แต่การเตรียมตัวป้องกันอย่างดีก่อนลงเล่นน้ำตามชายทะเล จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ หากโดนพิษแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุนแล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน


http://www.komchadluek.net/detail/20151015/215147.html

สายน้ำ
22-10-2015, 08:25
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ระวังพิษจากแมงกระพรุน

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News%20Photos/5810/581022_BkkBiz_01_zpsbjw4xyho.jpg (http://s1198.photobucket.com/user/saveoursea/media/Morning%20News%20Photos/5810/581022_BkkBiz_01_zpsbjw4xyho.jpg.html)

สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเตือนประชาชนให้ระวังแมงกะพรุนจากการเล่นน้ำทะเล แนะไม่ควรลงเล่นน้ำหลังฝนตกและเวลากลางคืน

รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปิดเทอม ที่ผู้ปกครองมักพาไปเที่ยวทะเล จึงขอฝากเตือนให้ระวังแมงกะพรุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนไฟและ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งการเล่นน้ำทะเลนั้นไม่ควรลงเล่นน้ำหลังฝนตกและในช่วงเวลากลางคืน ถ้ารู้สึกว่าโดนแมงกะพรุน ให้รีบล้างด้วยน้ำทะเลและใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณถูกพิษ ถ้าบริเวณนั้นมีผักบุ้งทะเลให้นำใบผักบุ้งมาบดทาบริเวณที่โดนจะสามารถลดความเจ็บปวดได้ อย่าแกะหรือทุบเด็ดขาดเพราะจะยิ่งปล่อยพิษ แต่หากเป็นแมงกะพรุนพิษหรือแบบกล่องต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดนด่วน

รศ.นพ.นภดล กล่าวว่า แมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในแถบทะเลเแถวอินโดจีน และทะเลแปซิฟิก มีหลายสายพันธุ์ ชนิดที่รุนแรงมากที่สุด ได้แก่ Chironex fleckeri ซึ่งพบมากที่สุดด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย แถบน่านน้ำของมาเลเซียพบ Chiropsalmus quadrigatus ส่วนในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์มักพบเป็นชนิด Chironex yamaguchi สำหรับในประเทศไทยสามารถพบแมงกะพรุนกล่องได้ตั้งแต่บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ฤดูที่แมงกะพรุนกล่องจะเข้าใกล้ชายฝั่ง จะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในออสเตรเลียความเสี่ยงจะสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม แมงกะพรุนชนิดนี้โปร่งแสง ทำให้มองเห็นในน้ำได้ยาก ลำตัวของ Chironex fleckeri (bell) เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง ขนาดโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-24 ซม มีหนวด (tentacles) ที่มุมทั้งสี่จำนวน 15 หนวดต่อมุม ขณะว่ายน้ำหนวดจะหดตัวทำให้มีความยาวเพียง 15 เซ็นติเมตร แต่ขณะออกล่าเหยื่อหนวดจะยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แมงกะพรุนกล่องสามารถว่ายน้ำล่าเหยื่อได้ด้วยความเร็วสูง ต่างจากแมงกะพรุนแท้ (scyphozoan) ที่จะลอยไปมารอให้เหยื่อมาสัมผัสเอง แมงกะพรุนกล่องจะล่าปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร

อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสได้ถึงตัวกระตุ้นที่เป็นแรงกดร่วมกับสารเคมีที่อยู่บนผิวของเหยื่อ จะมีการฉีดสารพิษเข้าสู่ผิวของเหยื่อ เมื่อโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการปวดแสบอย่างรุนแรงทันทีในบริเวณที่โดน ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษจากแมงกะพรุนชนิดนี้มีความรุนแรงมาก หากบริเวณสัมผัสเกินร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วตัวอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที หรืออาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 20 นาทีหลังจากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่อง แต่หากเกิน 20 นาทีไปแล้วยังมีชีวิตอยู่แสดงว่าอาการไม่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้สารพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถออกฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำให้ระบบหมุนเวียนของโลหิตและปอดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหนังแพ้หรือผิวหนังตายได้ จากสถิติในประเทศออสเตรเลียพบผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างน้อย 63 ราย ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1884-1996 และเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเลียชีวิตมากที่สุด

สำหรับการป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนกล่องทำได้หลายวิธี เช่น ไม่ลงเล่นน้ำขณะที่มีแมงกะพรุน หรือเจ้าหน้าที่ชายหาด อาจจะติดตั้งตาข่ายสีแดงโอบล้อมทะเลและชายหาดเพื่อลดจำนวนแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องไม่ชอบสีแดง หากแมงกะพรุนไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังของคนเรา ก็จะไม่มีการปล่อยสารพิษออกมา หรือหากเจอะเจอแมงกะพรุนกล่อง ลอยขึ้นมาติดบนชายหาด ก็ห้ามใช้มือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสแมงกะพรุนกล่องเล่น เพราะอาจจะไปสัมผัสโดนหนวดแมงกะพรุนและได้รับสารพิษจนเกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยวิธีการเล่นน้ำทะเลที่ดีควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น ชุดดำน้ำ หรือเอาถุงน่องบางๆ ที่สุภาพสตรีใส่มาใส่ปิดบริเวณแขนขาจะสามารถป้องกันการปล่อยพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ ในประเทศออสเตรเลียเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด จะใส่ถุงน่องเพื่อป้องกันตัวเองจากแมงกะพรุนกล่อง นอกจากนี้เมื่อไปเล่นน้ำทะเลควรจะมีน้ำส้มสายชูติดตัวไปที่ชายหาดด้วยเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย

วิธีการรักษาโดยส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องที่ผิวหนัง จะมีอาการเพียงเล็กน้อย (ขึ้นกับความกว้างของบริเวณที่โดนพิษ) แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในเบื้องต้นหากโดนหนวดของแมงกะพรุ่นกล่อง อย่าแกะหรือขยี้เนื่องจากหนวดยังสามารถปล่อยพิษต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ให้ใช้น้ำส้มสายชู (ความเข้มข้นของกรดอะซิติคอยู่ระหว่างร้อยละ 3-10) ชะล้างบริเวณที่หนวดเกาะอยู่และบริเวณรอบ ๆ เป็นเวลา 30 วินาที ค่อยแกะเอาหนวดออกโดยใช้ผ้าปัดออก หากโดนในตา ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์หรือน้ำเปล่า แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูแผลและสังเกตอาการ

หากมีอาการระบบหัวใจและปอดล้มเหลว จะต้องปฏิบัติการกู้ชีพโดยด่วน การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ ในประเทศออสเตรเลียได้มีการผลิตซีรั่มต้านพิษแมงกะพรุนกล่อง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าซีรั่มดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องยังมีไม่มากนัก ตลอดจนการใช้ซีรั่มจะต้องใช้โดยด่วนที่สุดโดยตั้งแต่เริ่มโดนพิษใหม่ ๆ จึงจะได้ผลดีเป็น ประโยชน์ และการใช้ซีรั่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะล้มเหลวของระบบหลอดเลือดและปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด

นอกจากนี้การใช้ซีรั่มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเนื่องจากผลิตจากซีรั่มของวัวแมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์อันตรายที่แทบมองไม่เห็นในน้ำ แต่การเตรียมตัวป้องกันอย่างดีก่อนลงเล่นน้ำตามชายทะเล จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ หากโดนพิษแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุน แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dst.or.th


http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/670406