PDA

View Full Version : มองธรรมชาติงามผ่านเลนส์


สายน้ำ
02-10-2009, 07:41
มองธรรมชาติงามผ่านเลนส์

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2009/09/30/hb6fkga9b9b7kbf6d8dbb.jpg

หากคนไทยรู้จักสัตว์ป่าทวีปแอฟริกาจากการเห็นในหนังสือหรือดูสารคดี คนทั่วโลกก็รับรู้ความงามของป่าไม้และความหลากหลายของสัตว์ป่าในเมืองไทย ด้วยวิธีเดียวกันนั่นเอง...มีคำพูดว่า "ยิ่งมนุษย์เห็นภาพมหัศจรรย์ของธรรมชาติมากเท่าไร ความหวงแหนก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น" แต่น่าเสียดาย มีคนไทยเพียงน้อยนิดเท่านั้น ที่มุ่งมั่นเดินทางไปบันทึกความสวยงามที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมาให้โลกได้รับรู้

ภาพถ่ายเป็นรูปแบบการบันทึกที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุดในยุคกล้องดิจิทัล ราคาไม่กี่พันบาท คนที่มีกล้องล้วนเคยถ่ายรูปธรรมชาติใกล้ตัวมาแล้ว เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ หมา แมว ท้องฟ้า ฯลฯ หรือถ่ายภาพธรรมชาติตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อนำไปโชว์หรืออวดรูปภาพให้คนอื่นได้เห็น แต่เกือบทุกคนประสบปัญหาเดียวกันคือ ภาพธรรมชาติที่บรรจงถ่ายอย่างตั้งอกตั้งใจ เหตุใดถึงไม่สวยเหมือนในหนังสือสารคดี โปสเตอร์ หรือภาพในเว็บไซต์ต่างประเทศ?

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2009/09/30/fi7efbj9576kdjahid7jj.jpg

"ก้อง" บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติชื่อดังของไทย อธิบายว่า เพราะคนไทยที่มีกล้องส่วนใหญ่รักธรรมชาติ แต่ไม่เคยเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการบันทึกภาพธรรมชาติ ให้สวยงามเหมือนที่ดวงตามองเห็น...

"จุดอ่อนของคนไทยในการถ่ายรูปคือไม่มีความตั้งใจจริง นักท่องเที่ยวที่พกกล้องหรือช่างภาพสมัครเล่น จะถ่ายรูปสัตว์ป่าสวยๆ แปลกๆ ได้จากความบังเอิญเป็นส่วนใหญ่ ไปเที่ยวป่าแล้วบังเอิญมีช้าง มีกวาง มีลิงเดินผ่านมา ก็รีบดึงกล้องออกมาถ่ายรูป ไม่เหมือนต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจะตั้งใจ ก่อนถ่ายรูปจะเข้าป่าหลายๆ วันศึกษาวิถีชีวิตของสัตว์ป่า หรือไปหัดดำน้ำลึกเพื่อบันทึกความสวยงามของฝูงปลาใต้ทะเล นอกจากนี้คนไทยยังชอบเลียนแบบ เช่น เห็นใครถ่ายภาพท้องฟ้าสวยก็จะถามว่า ไปถ่ายที่ไหน เวลากี่โมง ใช้เทคนิคหรือเลนส์ตัวไหน แล้วก็แห่กันไปถ่ายตาม เหมือนผาหล่มสักบนภูกระดึง แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวไปยืนต่อแถวยาวกว่า 200 คน เพื่อรอถ่ายรูปจุดเดียวกัน มุมเดียวกัน"

ส่วนช่างภาพมืออาชีพที่ห้อยกระเป๋ากล้องใบใหญ่พร้อมขาตั้งกล้อง ก็ไม่ได้คิดต่างออกไปมากนัก อาจถ่ายภาพได้ชัดเจนกว่า แสงสีดีกว่า ภาพกว้างกว่า ซูมได้ไกลกว่า ทว่าไม่ได้สร้างสรรค์ภาพถ่ายธรรมชาติในด้านลึกซึ้ง หรือแง่มุมใหม่ๆ ให้สมกับที่ถูกเรียกว่ามืออาชีพ

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2009/09/30/kc6ie59ebcka7b7kkibc6.jpg

ก้องยืนยันว่า "ผิดที่วิธีคิด" คือสาเหตุสำคัญทำให้รูปภาพสัตว์ป่าสวยๆ ในเมืองไทยหายากมาก มีแต่รูปน้ำตก ภูเขา ที่คล้ายๆ กัน เหมือนภาพซ้ำๆ ไม่น่าตื่นตาตื่นใจ ช่างภาพที่ดีนอกจากคิดมุมภาพใหม่ๆ แล้วยังต้องมุ่งมั่นและพยายามเพื่อให้แตกต่างจากคนอื่นด้วย ตัวอย่างภาพ "กวางผา" หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด ที่ขึ้นปกนิตยสารสารคดีฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 ก้องต้องปีนขึ้นปีนลงดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี กว่าจะได้ภาพชุดนี้ออกมา เนื่องจากกวางผาหรือที่ชาวบ้านเรียก "ม้าเทวดา" เป็นสัตว์ลึกลับหากินตามชะง่อนผาบนเทือกเขาสูง ตื่นตกใจง่าย และรวดเร็วปราดเปรียว

ความจริงแล้วการถ่ายรูปธรรมชาติให้สวยสมใจไม่เกี่ยวกับอุปกรณ์ แค่กล้องดิจิทัลตัวเล็กๆ สักตัวก็ทำได้แล้ว ขอแค่มีหลักปฏิบัติ 3 ข้อ คือ ทักษะ ประสบการณ์ และจินตนาการ ...คำยืนยันของช่างภาพชื่อดังของไทย

"ทักษะ" คือการเรียนรู้เครื่องมือของตัวเองให้เข้าใจ เมื่อซื้อกล้องมาแล้วก็ควรอ่านคู่มือว่าทำงานอย่างไร สามารถถ่ายแบบไหนได้บ้าง แฟลชที่ซื้อมาใช้ในสภาพอากาศหรือสถานการณ์ใดจึงจะเหมาะสม แล้วก็ลงมือถ่ายทุกรูปแบบ เปลี่ยนเทคนิคการถ่ายรูปไปเรื่อยๆ กระทั่งกล้องที่จับอยู่ในมือทำงานได้ตามใจสั่ง

"ประสบการณ์" คือการให้เวลาและศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่อยากจะถ่าย เช่น อ่านหนังสือ หาข้อมูลจากเว็บไซต์ เรียนรู้ประวัติความเป็นมา สอบถามนักวิจัย คุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ฯลฯ อยากถ่ายรูปน้ำตกก็ต้องไปบ่อยๆ เช้า สาย บ่าย เย็น และไปทุกฤดู เพื่อหาความสวยงามและความแตกต่างของแต่ละช่วงเวลาให้เจอ ถ้าอยากถ่ายรูปกระทิงก็ต้องรู้ว่ามันออกหากินเวลาใด วิถีธรรมชาติเป็นแบบไหน สุดท้าย "จินตนาการ" คือการศึกษารูปถ่ายเยอะๆ คิดและวางแผนสร้างภาพในสมองให้รู้ว่า ต้องการถ่ายรูปนั้นในแบบไหน อยากให้สวยแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร มีองค์ประกอบภาพอะไรบ้าง ที่สำคัญในภาพเดียวต้องเล่าเรื่องราวได้ทุกอย่าง

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2009/09/30/kbjigb5667a8e5ggh8h85.jpg

โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารหนังสือสารคดี "เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก" ฉบับภาษาไทย เล่าว่าทุกปีสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะจัดประกวดภาพถ่ายระดับนานาชาติ กติกากำหนดให้จัดประกวดค้นหาภาพสุดยอดระดับประเทศก่อน แล้วค่อยส่งภาพนั้นเป็นตัวแทนไปชิงชนะเลิศกับประเทศอื่นๆ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี

"ประเทศไทยเข้าร่วมครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ ภาพบุคคล สถานที่ และธรรมชาติ มีภาพส่งมาทั้งหมดกว่า 500 ภาพ ปรากฏว่าภาพธรรมชาติส่งมาน้อยมาก ทำให้ผลการตัดสินภาพชนะเลิศจากเมืองไทยมีเพียงภาพบุคคลกับภาพสถานที่ ส่วนภาพธรรมชาติได้แค่รางวัลชมเชย จึงไม่มีภาพในหัวข้อนี้จากประเทศไทยไปประกวดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี อาจเป็นเพราะการถ่ายภาพธรรมชาติให้สมบูรณ์ ต้องทุ่มเทและใช้ประสบการณ์มากกว่าประเภทอื่น"

ผู้ที่สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดดูรายละเอียดได้ที่ www.ngthai.com ก่อนวันที่ 30 ตุลาคม 2552



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 1 ตุลาคม 2552