PDA

View Full Version : รวมเรื่อง .... ภัยพิบัติของโลก (3)


สายน้ำ
04-10-2009, 07:23
ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ ภัยรุมกระหน่ำเอเชีย

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2009/10/for25041052p1.jpg

มหันตภัยจากธรรมชาติซัดเอเชีย "เป็นชุด" ตลอดสัปดาห์นี้ ทำให้ประชาคมโลกรับ มือไม่ทัน

พายุกิสนา ถล่มฟิลิปปินส์จมบาดาลในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงกรุงมะนิลา ตั้งแต่ 26 ก.ย. ก่อน กระหน่ำต่อในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย

แผ่นดินไหวระดับ 8.0 ริกเตอร์ก่อคลื่นยักษ์ สึนามิ กวาดสิ่งปลูกสร้างริมหาดเกาะซามัวพังราบ ในวันที่ 30 ก.ย. ช่วงเช้ามืด

ตกเย็น วันเดียวกัน แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริกเตอร์ พังถล่มเมืองปาดัง ในสุมาตราตะวันตก

ยอดผู้เสียชีวิตทุกเหตุการณ์นี้รวมกันเกิน 1,500 ชีวิต แต่ภัยพิบัติยังไม่หมด

พายุลูกใหม่ "ป้าหม่า" ที่ทวีกำลังความแรงเป็น "โคตรไต้ฝุ่น" ความเร็ว 230 กิโลเมตร จ่อเข้าซ้ำเติมฟิลิปปินส์อีก

ส่วนศพใต้ซากอาคารที่เกลื่อนเมืองปาดังของอินโดนีเซีย เริ่มเน่าเปื่อยและส่งกลิ่นออกมามากขึ้น

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2009/10/for25041052p2.jpg

รัฐบาลอินโดนีเซีย เอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ในการกู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงกู้ศพที่อยู่ใต้ซากอาคาร

หลังเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ แจ้งตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 1,100 ราย

แรง สั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้เมืองปาดังกลายเป็นเขตหายนะ ไม่มีไฟฟ้า ประปา ซากอาคารถล่มทับขวางถนน ล้วนขัดขวางปฏิบัติการกู้ภัยที่ต้องเร่งแข่งกับเวลา

ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ ซึ่งเคยมาใช้ชีวิตในอินโดนีเซีย กล่าวแสดงความเสีย ใจด้วยอย่างสุดซึ้ง พร้อมประกาศมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 3 แสนดอลลาร์ และตั้งงบช่วยเหลือเหยื่อประสบภัยอีก 3 ล้านดอลลาร์

ส่วนไทยส่งยาและทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือ พร้อมกับอีกหลายๆ ชาติ

เหตุการณ์ แผ่นดินไหวที่เมืองปาดัง ไม่ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวแปลกใจ เนื่อง จากเมืองตั้งอยู่บนแนว "วงแหวนไฟ" หรือรอยเลื่อนของเปลือกโลก ตรงจุดที่เรียกว่า ร่องซุนดา

แผ่นเปลือกโลกตรงผืนดินหลักในสุมาตราเคลื่อนไปทางตะวันออก ขณะที่ร่องซุนดาใต้มหาสมุทรเคลื่อนไปทางตะวันตก

นัก วิทยาศาสตร์อธิบายว่า แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง มักเกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินโดฯ -ออสเตรเลีย ปะทะกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนที่เคลื่อนทางสวนกัน

เมื่อปลายปี 2547 ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 8.2 ริกเตอร์ที่เกาะสุมาตรา ใกล้จังหวัดอาเจะห์ ก่อคลื่นยักษ์สึนามิ เข้าซัดแผ่นดินรอบมหาสมุทรอินเดีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 220,000 รายนั้น ผู้เชี่ยวชาญคำนวณแล้วว่า จะเกิดแผ่นดินไหวที่เขย่าเมืองปาดัง ซึ่งมีประชากร 9 แสนคนในอนาคต เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รัฐบาลลงทุนสร้างอาคารที่ทนแรงแผ่นดินไหวและขยายถนนเพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น

แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งธรณีพิโรธในวันที่ 30 ก.ย.นี้

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2009/10/for25041052p3.jpg

ช่วง เวลาของเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองปาดัง ของอินโดนีเซีย เกิดหลังจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะซามัว และอเมริกัน ซามัว ในทะเลแปซิฟิกใต้ ไม่ทันข้ามวัน

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ในเบื้องต้น ว่า สองเหตุการณ์นี้ไม่น่าเชื่อมโยงกัน เพราะอยู่ไกลกันถึง 10,000 กิโลเมตร

สิ่ง ที่เหมือนกันคือความรุนแรงของแผ่นดินไหว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญห่วงว่า กรณีของอินโดนีเซียน่าห่วงกว่า ตรงที่เกาะสุมาตราเป็นที่ตั้งของ "ภูเขาไฟ" ลูกใหญ่ 3 ลูก

แรงสั่นสะเทือนของดินอาจเขย่าให้ภูเขาไฟระเบิดได้

ส่วน กรณีเกาะซามัวและอเมริกัน ซามัว ระดับความรุนแรงสูงถึง 8.0 ริกเตอร์ ร้ายแรงที่สุดในรอบ 90 ปี คลื่นสึนามิซัดอาคารบ้านเรือน รวมถึงรีสอร์ตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ พังราบไปทั้งหาด

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 155 ราย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

หน่วยกู้ภัยสลดใจที่พบศพเด็กอย่างน้อย 5 รายในหมู่บ้าน โดยศพหนึ่งห้อยอยู่กับต้นไม้ หลังถูกคลื่นยักษ์ซัดกระเด็นขึ้นไป

ด้าน ฟิลิปปินส์ ประชาชนหลายล้านคนที่รอดตายจากพายุกิสนา ต้องหวาดผวากับการเคลื่อนตัวเข้ามาของไต้ฝุ่นนาม "ป้าหม่า" ซึ่งเป็นชื่ออาหารของมาเก๊า ที่ก่อตัวด้วยกระแสลมแรง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ประกาศภาวะภัยพิบัติทั่วประเทศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการรับมือพายุ ไม่ว่า เบิกจ่ายงบช่วยเหลือฉุกเฉิน ควบคุมราคาสินค้า และอพยพประชาชนจำนวนมากออกจากเมืองในเส้นทางพายุ

โดยเฉพาะจังหวัดออ โรร่า ที่มีคำเตือนว่า พายุอาจถล่มบ้านเรือนพังราบ ส่วนกรุงมะนิลา อาจเกิดฝนกระหน่ำอย่างหนักอีก ทั้งที่ไม่ฟื้นจากฤทธิ์พายุกิสนา ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 293 ราย

ผู้ประสบภัยอีกราว 400,000 คนยังคงพักอยู่ตามที่หลบภัย ไม่ว่า โรงเรียน โรงยิม และที่พักพิงชั่วคราวของรัฐบาล

ทุก ปี ฟิลิปปินส์เผชิญพายุไต้ฝุ่นราว 20 ลูก แต่การรับมือเริ่มปรับเปลี่ยนไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากพายุก่อความเสียหายร้ายแรงยิ่งขึ้น

และไม่มีใครรู้ว่า ความแรงจากภัยธรรมชาติจะลดลงเมื่อใด



จาก : ข่าวสด วันที่ 4 ตุลาคม 2552

สายน้ำ
23-11-2009, 07:46
วิกฤตโลก? วันที่ขั้วโลกเหนือ..ไม่เหลือน้ำแข็ง

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01231152p1.jpg

อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ถนนโยธี บรรดาผู้สนใจเรื่องของ "วิกฤตโลก" ไปรวมตัวกันอย่างคับคั่ง เพราะเป็นงานเสวนาเรื่อง "วิกฤตโลก เมื่อขั้วโลกเหนือไม่เหลือน้ำแข็ง" โดยมี ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิทยากร

พิธีกรในการเสวนาเริ่มต้นบรรยากาศด้วยเหตุการณ์ข่าว "ทากทะเล" ที่ขึ้นมาตายจำนวนมาก ที่จังหวัดชุมพร และสันนิษฐานว่าเป็นเพราะการเปลี่ยน แปลงกระแสน้ำวนของน้ำทะเล จากนั้นโยนคำถามให้อาจารย์อานนท์ ร่ายยาว

ปัจจุบัน ดร.อานนท์เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวอธิบาย ว่าเคยไปเห็นหนอนทะเลที่หาดบางแสน เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่ง ซึ่งมันอยู่ดีๆ ก็มาก็เกิดขึ้น แล้วมีคนพูดเกี่ยวกับกระแสน้ำ หรือสัตว์พวกนี้ว่าเป็นสัตว์หน้าดิน เดินได้เอง ไม่ต้องให้กระแสน้ำพามา เพราะไม่ใช่เป็นแพลงตอน ฉะนั้น การที่มันมารวมกันที่ใดที่หนึ่ง ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วน่าจะเป็นอยู่ในส่วนของการสืบพันธุ์

"เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ความรู้ทางด้านชีววิทยาก็มีไม่ค่อยมาก" เสียงอาจารย์ออกตัวก่อนบรรยายต่อ ว่ามีสัตว์ทะเลหลายชนิดเวลาสืบพันธุ์จะต้องมาอยู่ด้วยกัน เราอาจจะไม่ได้สังเกตว่าสัตว์ขึ้นมาสืบพันธุ์เสร็จ มันก็จะตาย พอตายมันเดินไม่ได้ถูกคลื่นซัดขึ้นมา เป็นเรื่องปกติ

โดยปกติสัตว์ทะเลจะสืบพันธุ์ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง

" ผมเคยเห็นพวกปลาหมึกหรือหนอนทะเลหลายชนิด มีวงรอบการสืบพันธุ์ของมันตรงกับภาพของพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้นจึงไม่น่าใช่เรื่องกระแสน้ำที่ปกติในช่วงเวลาวันใดวันหนึ่ง" อาจารย์อานนท์กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องของ "วิกฤตโลก ในวันที่ขั้วโลกเหนือไม่เหลือน้ำแข็ง"

ดร. อานนท์กล่าวว่า ประเด็นนี้มีที่มาที่ไป โดย มีองค์กรเอกชนทางด้านวิชาการ ได้แถลงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่าได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ ได้ข้อมูลนี้มา อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก "กองทุนสัตว์ป่าโลก" ด้วย

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01231152p2.jpg
(ขวาบน) "ทากทะเล"

" ที่จริงแล้วเขาบอกว่าอีก 20 ปีถึงจะไม่มีน้ำแข็ง และฤดูร้อนก็หายไปอย่างสิ้นเชิง ผมว่าจะเริ่มเห็น ได้เป็นบางปี ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีข้างหน้า แต่พอข่าวส่งบอกกันปากต่อปากมาเรื่อยๆ 10 ปี จะไม่มีน้ำแข็งแล้ว แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มันเป็นข้อมูลทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ว่ากันแล้วมีการติดตามมาเป็นระยะยาว หลายประเทศค่อนข้างเป็นห่วง"

จากนั้น ดร.อานนท์ให้ดูภาพของน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 เป็นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต มองจากขั้วโลกเหนือลงมาเป็นจุดอยู่ตรงกลางเล็กๆ ขั้วโลกเหนือไม่มีแผ่นดิน อยู่กลางมหาสมุทรอาร์กติกถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน พร้อมอธิบายว่า จะเห็นว่าตอนนี้น้ำแข็งโตขึ้นมาเต็มเหลือส่วนอีกเล็กน้อยที่ยังไม่เต็ม ในขณะที่น้อยที่สุดในปีนี้อยู่ที่วันที่ 16 กันยายน 2552 จะเห็นว่ามีน้ำแข็งอยู่เฉพาะส่วนเหนือของเกาะกรีนแลนด์ด้านบน

" ปกติฤดูร้อนในอดีตน้ำแข็งจะหดลงมาเล็กน้อย เพราะฉะนั้นน้ำแข็งฤดูร้อนมันหายไปจริง ตอนนี้เหลือประมาณ เมื่อเทียบกับของมหาสมุทรอาร์กติกทั้งหมดอยู่ที่ประมาณแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรอาร์กติกเท่านั้นเอง เมื่อก่อนมันร้อนจะลงมาอยู่ที่ประมาณ 50-60% ของมหาสมุทรอาร์กติก ตอนนี้ลงมาที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ มันหายไปมาก"

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งทำให้มันยิ่งร้อนได้นานขึ้นกว่าเดิม เสียงบอกถึงสาเหตุจาก ดร.อานนท์

" ปลายฤดูตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปถึงธันวาคม 2551 น้ำแข็งจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตารางกิโล เมตร ในอดีตฤดูร้อนจะหดลงมาเหลืออยู่ที่ประมาณ 7 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ในปัจจุบันปี 2552 หดลงมาเหลือ 5 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ยังไม่ใช่น้อยที่สุด เพราะในปี พ.ศ.2550 เป็นปีที่น้ำแข็งหายไปมากที่สุด หดลงเหลือแค่ประมาณ 4 ล้านตารางกิโลเมตร"

เสียง ดร.อานนท์กล่าวต่อไปอีก ว่า ณ วันนี้แค่ประมาณเดือนเศษๆ น้ำแข็งเพิ่มขึ้น 5-8 ล้านตารางกิโลเมตร เพราะน้ำแข็งพอเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวมันเกิดเร็ว เพราะว่ามันเย็นมาก และน้ำแข็งมันเกิดจากการเย็นตัวของน้ำทะเลโดยตรง เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับเอาน้ำใส่แก้วไปใส่ในตู้ฟรีซเซอร์ มันก็จะเริ่มแข็ง แต่ไม่มีผลอะไรกับระดับน้ำทะเลมาก เพราะไม่ได้เติมน้ำจากด้านนอกเข้ามา

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01231152p3.jpg
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

" แต่ที่น่าสนใจ คือเราดูจากแนวโน้ม ปี 2552 ปีเดียวคงไม่ได้บอกอะไร และสิ่งที่อยากดูตอนนี้คืออายุเฉลี่ยของน้ำแข็ง ในอดีตอายุของน้ำแข็งจะนาน พวกที่มีอายุเก่ากว่า 2 ปี เป็นน้ำแข็งที่อยู่ถาวร แต่ในปัจจุบันส่วนที่เป็นสีเขียวเหลือน้อยมาก แสดงว่าน้ำแข็งเดี๋ยวนี้มันวูบวาบมาก หน้าร้อนก็หายไปมาก หน้าหนาวคืนกลับขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันทำให้การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล แกว่งมาก ระบบนิเวศอะไรต่างๆที่อยู่ในบริเวณนั้นจะต้องมีการปรับให้รับกับสภาพแบบ ใหม่ๆ นี้ให้ดีขึ้น"

เพราะฉะนั้น ปี 2552 นี้ น้ำแข็งไม่ได้ละลายมากเหมือนปี 2550

แต่ที่น่ากังวล คือเรื่องของชั้นน้ำแข็งถาวรในเขตทุนดรา หรือทุ่งหิมะแถบขั้วโลก ชายฝั่งบริเวณนี้ปัจจุบันเป็นเขตทุนดรา คือเขตที่มีต้นมอสมีหญ้าขึ้นบ้างนิดหน่อย ไม่มีต้นไม้ใหญ่ บริเวณชั้นตรงนี้ในฤดูร้อนจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุม แต่พอฤดูหนาวจะมีน้ำแข็งคลุม พอฤดูร้อนชั้นที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปมันมีชั้นน้ำแข็งถาวร แต่ระยะหลังบริเวณนี้ขุดลงไปประมาณ 1 เมตรจะเป็นน้ำแข็ง ส่วนด้านบนจะเป็นดิน ชั้นน้ำแข็งสิ่งที่สำคัญคือมันทำหน้าที่เหมือนกับเป็นตัวล็อคก๊าซมีเทนที่ อยู่ใต้ดิน ก๊าซมีเทนอยู่มานานเป็นร้อยเป็นพันปี การเกิดมีเทนมันมีน้ำแข็งคลุมเอาไว้ไม่แพร่ ขึ้นมาด้านบน พอไม่แพร่ก็สะสมอยู่ด้านล่างเรื่อยๆ หากมหาสมุทรอาร์กติกร้อนขึ้นๆ โดยเฉพาะฤดูร้อน ชั้นน้ำแข็งถาวรตรงนี้อาจจะละลายหายไป ฉะนั้น ความสามารถในการเก็บมีเทนไว้จะน้อยลง

...มันอาจจะถึงจุดหนึ่งมีเทน จำนวนมหาศาล จำนวนเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยประมาณ 20 ปี แต่ถ้ามันพรวดออกมาในปีเดียวจะทำเหมือนกับว่าเราต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ถึงเรือนกระจกถึง 20 ปี ก๊าซมีเทนจำนวนเท่าๆ กันกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มันทำให้โลกร้อนมากกว่า ประมาณ 21 เท่า เพราะว่าการเก็บความร้อนของก๊าซมีเทนดีกว่าก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์

ฉะนั้น มีเทนถึงแม้จะปล่อยออกมาปริมาณน้อยก็สามารถทำให้โลกร้อนได้รุนแรงมากกว่า และถ้าเกิดมาจริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ซึ่งค่อนข้างน่าวิตก

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเปลี่ยน แปลงอย่างต่อเนื่อง ปีประมาณ 1% โดยประมาณ ดังนั้น เราจะบอกว่ารอได้อีก 20-30 ปีถึงจะวิกฤต

ดร.อานนท์ระบุว่า นี่คือการคาดการณ์ในอนาคต

" ในเขตพื้นราบของทั้งโลก ซึ่งเคยมีพื้นที่น้ำแข็งอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตารางกิโลเมตร ในปัจจุบันนี้มันหายไปแล้วจริงๆ เหลือแค่ประมาณ 10 ล้านตารางกิโลเมตร คือหายไปแล้ว 20% ตั้งแต่หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ถ้ามนุษย์ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังปล่อยไปเรื่อยๆ โลกก็ร้อนขึ้นมาก"

ดร.อานนท์กล่าวแบบฟันธงว่าโลกอนาคตอย่างไรมัน เปลี่ยนแน่ๆ ไม่มีใครมองว่าจะกลับไปเหมือนเดิม อยู่ที่ว่าเปลี่ยนมากเปลี่ยนน้อยแล้วเราปรับตัวกับมันได้ทันหรือไม่

การเสวนาขยายความต่อไป ว่ามีคนสนใจมาก ถ้าแถบมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งอยู่ใกล้กับแคนาดา อลาสกา รัสเซีย หากแถบนั้นอุ่นขึ้นต้นไม้ต่างๆ จะเปลี่ยนไป เขตทุนดราที่มีอยู่โดยรอบจะหายไป ในอนาคตอีกประมาณ 100 ปีข้างหน้า ชั้นน้ำแข็งถาวร (permafrost) จะเหลืออยู่แค่นิดหน่อยเท่านั้น

ส่วนในเรื่องของระบบนิเวศ มีคนพูดถึง "หมีขาว" เพราะหมีขาวอาศัยอยู่บนน้ำแข็ง ถ้าน้ำแข็งเล็กลงไป หมีขาวคงจะเดือดร้อน โอกาสที่หมีขาวจะสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง ยังไม่ใช่ แต่จำนวนประชากรคงลดลง ไปมาก

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณตรงนั้นเป็นป่ามากขึ้น ทำให้มนุษย์รุกตามขึ้นไป อาจไปรบกวนระบบนิเวศของมัน

" การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่ใช่ด้วยลำพังของตัวมันเอง แต่มีเรื่องอื่นเชื่อมโยงกันมากมาย ฉะนั้น ต้องมองในภาพรวม ไม่ใช่มองเฉพาะเรื่องกายภาพอย่างเดียวเท่านั้น"

บทสรุปจาก ดร.อานนท์ ที่เป็นการตอบคำถาม "วิกฤตโลก"



จาก : มติชน วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ
28-11-2009, 07:08
10 คำทำนาย “วันสิ้นโลก” (ที่ไม่เห็นจะเกิดขึ้นจริง)

http://pics.manager.co.th/Images/552000015545301.JPEG
น้ำท่วมที่อังกฤษเนื่องจากเขื่อนทะลักเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอเอฟพี)

อิทธิพลของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยวันสิ้นโลกในปี 2012 ชวนให้หลายคนพูดถึงหายนะของมนุษยชาติที่จะจบสิ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างออกรสออกชาติ แต่นอกจากคำทำนายถึงวันสุดท้ายของโลกจากชนเผ่ามายาแล้ว ยังมีอีกหลายคำพยากรณ์ก่อนหน้านี้ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง


- ปี 1806 สัญญาณสิ้นโลกจากแม่ไก่

ในประวัติศาสตร์มีผู้คนจำนวนมากที่อ้างว่า พระเยซูคริสต์กำลังจะกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง และเหตุการณ์ที่ถือเป็นการส่งสัญญาณของการกลับคืนคือ ที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษมีแม่ไก่ออกไข่ที่เรียงเป็นประโยคว่า “พระคริสต์กำลังจะปรากฏ” และเมื่อข่าวเกี่ยวกับความน่าอัศจรรย์นี้แพร่กระจายออกไป ผู้คนจำนวนมากก็เริ่มเชื่อว่า วาระสุดท้ายของโลกกำลังใกล้เข้ามา จนกระทั่งชาวบ้านคนหนึ่งเกิดกังขาได้สังเกตดูการวางไข่ จนพบว่ามีบางคนที่พยายามสร้างเรื่องหลอกลวงนี้ขึ้น


- 23 เม.ย.1843 กำหนดวันพระเจ้าทำลายโลก

ชาวนาผู้หนึ่งที่นิวอิงแลนด์นามว่า วิลเลียม มิลเลอร์ (William Miller) ได้ใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง และได้สรุปว่าพระเจ้าทรงเลือกวันที่จะทำลายล้างโลกว่า อยู่ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.1843 - 31 มี.ค.1844

เขาสั่งสอนผู้คนมากมายพร้อมๆกับการตีพิมพ์สิ่งที่เขาสอนเพื่อเผยแพร่ จนมีสาวกที่รู้จักกันในนาม “มิลเลอไรต์ส” (Millerites) อยู่หลายพันคน และเหล่าสาวกนี้ก็ตัดสินให้วันที่ 23 เม.ย.1843 เป็นวันสิ้นโลก หลายคนขายและมอบสิ่งของที่พวกเขาครอบครองด้วยคิดว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่เมื่อวันที่กำหนดมาถึงแล้วพระเยซูก็ไม่ได้กลับมา คนเหล่านี้ก็สลายกลุ่มกันไป แต่บางคนก็ออกไปตั้งกลุ่มใหม่ “เซเวนท์ เดย์ แอดเวนทิสต์” (Seventh Day Adventists) ที่ยังคงรอคอยการกลับมาของพระเยซูอีกครั้ง


- ปี 1891 วันสิ้นโลกของชาวมอร์มอน

โจเซฟ สมิธ (Joseph Smith) ผู้ก่อตั้งนิกายมอร์มอน (Mormon church) ได้เรียกประชุมผู้นำนิกายของเขาในปี 1835 เพื่อบอกว่า เขาเพิ่งสนทนากับพระผู้เป็นเจ้า และระหว่างการสนทนานั้นเขาได้รับรู้ว่า พระคริสต์จะกลับมาในอีก 56 ปีนับจากนั้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจาก “วันสุดท้าย”


- ปี 1910 ดาวหางฮัลเลย์พาหายนะสู่โลก

ในปี 1881 นักดาราศาสตร์คนหนึ่งวิเคราะห์สเปกตรัมแล้วพบว่า หางของดาวหางนั้นมีก๊าซพิษนำความตายที่เรียกว่า “ไซยาโนเจน” (cyanogen) สิ่งที่เขาค้นพบนั้นไม่ได้รับความสนใจนัก จนกระทั่งบางคนตระหนักขึ้นได้ว่า โลกกำลังจะผ่านหางของดาวหางฮัลเลย์ในปี 1910 จึงเกิดคำถามว่าทุกๆคนบนโลกจะถูกอาบด้วยก๊าซพิษดังกล่าวหรือไม่? จากนั้นมีการใคร่ครวญถึงเรื่องดังกล่าวซ้ำๆบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ “เดอะ นิวยอร์กไทม์” และหนังสือพิมพ์อื่นๆ ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว สุดท้ายนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้ออกมาอธิบายว่า “ไม่มีอะไรต้องกลัว”

http://pics.manager.co.th/Images/552000015545302.JPEG
เหตุเหมืองถล่มในจีน


- ปี 1982 วันพิพากษา

ในเดือน พ.ค.ของปี 1980 แพต โรเบิร์ตสัน (Pat Robertson) ผู้สอนศาสนาคริสต์ที่ให้บริการทางสถานีโทรทัศน์และเป็นผู้ก่อตั้งพันธมิตรคริสเตียน (Christian Coalition) ได้ทำให้ผู้คนตื่นตกใจเมื่อเขาให้ข้อมูลแก่ผู้ชมรายการทีวี “700 คลับ” (700 Club) ทั่วโลกว่า เขารู้ว่าเมื่อใดที่โลกจะสิ้นสุด โดยประกาศก้องว่า “ผมรับรองได้ว่าพวกคุณจะจากไปก่อนสิ้นปี 1982 ซึ่งจะมีการพิพากษาโลก” แต่คำประกาศดังกล่าวก็ขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ที่ระบุว่าไม่มีใครรู้ถึงวันเวลาที่โลกจะสิ้นสุด แม้แต่เหล่าเทวดาบนสวรรค์


- ปี 1997 ประตูสวรรค์เปิด

เมื่อดาวหางเฮล์-บอปป์ (Hale-Bopp) ปรากฏในปี 1997 ก็มีข่าวลือว่ายานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวจะติดตามดาวหางมาด้วย แต่ข้อมูลดังกล่าวถูกปิดบังไว้ แน่นอนว่าองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และเหล่านักดาราศาสตร์ตกเป็นจำเลยของข้อกล่าวหาว่าปกปิดข้อมูลนี้

แม้ข่าวลือดังกล่าวจะถูกปฏิเสธจากนักดาราศาสตร์และใครก็ตามที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่มีความละเอียดพอ แต่ข่าวลือนั้นก็ยังถูกเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุอยู่ดี และยังทำให้เกิดลัทธิ “ซานดิเอโกยูเอฟโอ” (San Diego UFO) ซึ่งระบุว่าประตูสวรรค์จะเปิดออก และกำหนดวันสิ้นโลกที่จะกำลังใกล้เข้ามา และสมาชิกของลัทธิ 39 คนก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายในวันที่ 26 มี.ค.1997


- เดือน 7 ปี 1999 คำทำนายแห่งนอสตราดามุส

ข้อความที่เขียนขึ้นด้วยภาษายากๆ และใช้การเปรียบเทียบของ มิเชล เดอ นอสตราดาม (Michel de Nostrdame) หรือนอสตราดามุส ก่อให้เกิดความสนใจจากผู้คนเป็นเวลากว่า 400 ปี โดยงานเขียนของเขาที่ตีความได้หลากหลายนั้น ถูกนำไปแปลแล้วแปลอีกในรูปแบบที่แตกต่างกันหลายสิบรูปแบบ และหนึ่งในการตีความที่โด่งดังที่สุดคือ “ปี 1999 เดือนที่ 7 เจ้าแห่งความสยองขวัญจะมาจากฟ้า” และผู้ที่ศรัทธาในนอสตราดามุสได้ขยายความตื่นตระหนกนี้ออกไปว่าเป็นวันสิ้นสุดของโลก


- “วายทูเค” โลกป่วน-คอมพ์รวนรับสหัสวรรษใหม่

ในช่วงที่ปลายศตวรรษก่อนใกล้จะสิ้นสุดลง ผู้คนจำนวนมากเริ่มวิตกกังวลว่า คอมพิวเตอร์อาจนำหายนะมาสู่โลก เป็นหายนะที่ทุกคนเรียกกันว่า “วายทูเค” (Y2K) ซึ่ง Y เป็นคำย่อมาจาก “Year” และ 2K เป็นสัญลักษณ์ของปี 2000 ที่ K หมายถึง “กิโล” (Kilo) ในภาษากรีกที่มีค่าเท่ากับ 1,000

ปัญหาของวายทูเค ถูกตั้งข้อสังเกตครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1970 ว่า คอมพิวเตอร์จำนวนมากอาจไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างปี 2000 และ 1900 ได้ ไม่มีใครแน่ใจเลยว่านั่นจะเกิดอะไรขึ้น แต่หลายคนก็ชี้ให้เห็นหายนะใหญ่หลวงที่อาจจะเป็นได้ทั้งไฟดับครั้งใหญ่ ไปจนถึงหายนะทำลายโลกจากนิวเคลียร์ แต่สหัสวรรษใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยความขลุกขลักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


- 5 พ.ค.2000 น้ำแข็งแอนตาร์กติกถล่มโลก

แม้กรณี “วายทูเค” ไม่ได้แผลงฤทธิ์มากนัก แต่หนังสือ “น้ำแข็ง 5/5/2000 : ภัยพิบัติขั้นสูงสุด” (5/5/2000 Ice: the Ultimate Disaster) ที่เขียนขึ้นโดย ริชาร์ด นูน (Richard Noone) เมื่อปี 1997 ก็สร้างความตื่นตระหนกได้อีกครั้ง ซึ่งเขาระบุว่าน้ำแข็งจากทวีปแอนตาร์กติกปริมาณมหาศาลที่มีความหนาถึง 5 กิโลเมตรนั้นจะทำให้โลกถึงหายนะไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตามก่อนวันที่ 5 พ.ค.2000


- ปี 2008 ผู้หยั่งรู้ทำนายโลกสิ้นสุดก่อนฤดูใบไม้ร่วง

จากหนังสือ “2008: พยานรู้เห็นคนสุดท้ายของพระเจ้า” (2008: God's Final Witness) ของ โรนัลด์ ไวน์แลนด์ (Ronald Weinland) ผู้นำนิกายคริสตจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้า (God's Church) ที่เขียนเมื่อปี 2006 ว่า วันสุดท้ายของโลกมาถึงเราอีกครั้ง โดยหนังสือดังกล่าวประกาศว่า ผู้คนหลายร้อยล้านคนจะต้องเสียชีวิตก่อนสิ้นปี 2006 ทั้งนี้ผู้คนมีเวลามากสุดเพียง 2 ปีที่เหลืออยู่ ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนไปสู่ช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์

“ก่อนฤดูใบไม้ร่วงในปี 2008 สหรัฐฯ จะพังทลายด้วยอำนาจทำลายล้างของโลก และจะไม่มีชนชาติใดเหลือรอด” ข้อความในหนังสือระบุ โดยที่โรนัลด์ ไวน์แลนด์ ยกตัวเองให้เป็นผู้หยั่งรู้ของพระเจ้า

http://pics.manager.co.th/Images/552000015545304.JPEG

คำทำนายทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่ง livescience.com ได้ รวบรวมและนำเสนอไว้ ก็หาได้เป็นจริงขึ้นมา ซึ่งยังคงเหลือคำทำนายเบื้องหน้าอันใกล้คือในปี 2012 ที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงร้ายกาจกว่าครั้งใดๆ และถ้าหากปี 2012 ผ่านไป โดยไม่เกิดอะไรร้ายแรง คงจะมีคำทำนายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามความเชื่อใน “วันสิ้นโลก”

ทว่าวัฏจักรของดวงอาทิตย์และโลกที่แท้จริงอาจจะยังอีกยาวนานกว่านี้หรือสั้นกว่าที่คิดนัก ทั้งหมดเกินกว่าที่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะสามารถคาดคะเนได้อย่างแม่นยำ



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ
07-12-2009, 07:49
อุณหภูมิโลกสูงขึ้นน้ำแข็งขั้วใต้ละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น 1.4 ม.

http://www.thairath.co.th/media/content/2009/12/06/630/51381.jpg

วิจัยแอนตาร์กติกเตือนปี 2643 โลกอาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ จากน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกใต้ละลาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุสิ้นศตวรรษนี้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นหลายสิบซม....

คณะกรรมการวิจัยแอนตาร์กติกกล่าวเตือนว่า โลกจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เพราะน้ำแข็งปกคลุมขั้วโลกใต้ละลาย จะเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลในราวปี พ.ศ. 2643 นี้ สูงขึ้นอีก 1.4 เมตร

คำเตือนเป็นการสรุปรายงาน เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมของแอนตาร์กติก" ซึ่งจัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในสาขาต่างๆ 100 นาย

ผู้อำนวยการของคณะกรรมการ ดร.โคลิน ซัมเมอร์เฮย์ส ได้ออกปากว่า "เป็นการวาดภาพให้เห็นกลียุคที่โลกจะต้องเผชิญ ซึ่งกำลังคืบคลานเข้ามาสู่" และเสริมว่า "อุณหภูมิของอากาศก็เพิ่มขึ้น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรก็มากขึ้น ระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้น"

ผู้เชี่ยวชาญของคณะสำรวจแอนตาร์กติกแห่งอังกฤษ ก็รายงานว่า น้ำภายใต้ริมขอบชั้นแผ่นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกตะวันตกก็อุ่นขึ้น เร่งให้น้ำแข็งละลายออกมาในมหาสมุทรเร็วขึ้น ในราวสิ้นศตวรรษนี้ชั้นน้ำแข็งอาจจะสูญเสียน้ำแข็งไปมาก จนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอีกหลายสิบเซนติเมตร(ซม.).



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 7 ธันวาคม 2552

สายน้ำ
05-01-2010, 08:01
ผวารอบใหม่รับปีใหม่ ดาวเคราะห์น้อย 'อะโพฟิส' ชนโลก??

http://www.dailynews.co.th/content/images/1001/05/page3/scp260.jpg

เข้าสู่ปีใหม่ 2553 นอกจากคำทำนายทายทักดวงดาวในทางโหราศาสตร์ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะดีแล้ว กับเรื่องดวงดาวในทางดาราศาสตร์-วิทยาศาสตร์ก็มีรายงานในทางไม่ดีอีกครั้ง เช่นกัน โดยเป็นเรื่องของ “ดาวเคราะห์น้อย” ที่ชื่อว่า “อะโพฟิส (99942 Apophis)” เกี่ยวกับการจะ “เฉี่ยวโลก-ชนโลก ??”

เดิมมีรายงานว่าอะโพฟิสจะแค่เฉี่ยวใกล้โลกมาก

แต่ล่าสุดมีรายงานชิ้นใหม่ว่ามีโอกาสชนโลก ???

ทั้งนี้เรื่องของดาวเคราะห์น้อยหรือแอสเตอรอยด์ที่ชื่อ “อะโพฟิส” นั้นมิใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่มันอาจคุกคามโลกมานานแล้ว และย้อนไปเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอเกี่ยวกับมัน โดยข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย ในบทความของ วรเชษฐ์ บุญปลอด ระบุว่าอะโพฟิสถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า 2004 เอ็มเอ็น 4 (2004 MN4) และก็มีการคำนวณเรื่อยมา

ประเด็นโดยสรุปที่เคยมีรายงานข่าวจากต่างประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านที่ เกี่ยวข้อง ก็เช่น... มีการคำนวณเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่าในวันที่ 13 เม.ย. ปี พ.ศ. 2572 หรือ ค.ศ. 2029 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะโคจรผ่านเฉียดใกล้โลกด้วยระยะห่างประมาณ 64,400 กิโลเมตร แต่ต่อมามีการสรุปใหม่ว่าอะโพฟิสจะเฉียดโลกด้วยระยะห่าง เพียง 36,350 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 5.7 เท่าของรัศมีโลก ใกล้กว่าดวงจันทร์เกือบ 11 เท่า ใกล้กว่าดาวเทียมค้างฟ้า

และก็มีการพูดถึงประเด็น “อะโพฟิสอาจชนโลก ??”

นอกจากนี้ ยังมีการระบุอีกว่า...แม้อะโพฟิสจะไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 แต่เมื่อมันเข้าใกล้โลกมาก ๆ แล้ว แรงโน้มถ่วงของโลกจะเบนวงโคจร ซึ่งจะส่งผลให้การคาดหมายวงโคจรในอนาคตแม่นยำน้อยลง จากนั้นก็มีผลการคำนวณออกมาอีกว่า... วันที่ 13 เม.ย. ปี พ.ศ. 2579 ซึ่งก็ตรงกับวันสงกรานต์ของไทยเช่นเดียวกับครั้งแรก อะโพฟิสที่หากไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 จะโคจรย้อนมาทางโลกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2579 นี้ และ “อะโพฟิสมีโอกาสชนโลก ??” ในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดต้นปีนี้มีรายงานที่ไม่มีการยืนยัน ว่าถ้าไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 ก็อาจชนในปี พ.ศ. 2575 ไม่ถึงปี พ.ศ. 2579

แม้เรื่องการชนโลกของดาวเคราะห์น้อย “อะโพฟิส” จะยังไม่เคยมีการยืนยันชัดเจน 100% จากนักดาราศาสตร์-นักวิทยาศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องมาก่อน เช่นเดียวกับกรณีจะโคจรวนกลับมาชนในปี พ.ศ. 2575 อย่างไรก็ตามพลันที่ทางรัสเซียมีการเคลื่อนไหวดำเนินการเกี่ยวกับอะโพฟิส ก็ทำให้อะโพฟิสเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง

“อะโพฟิสอาจชนโลก ??” เขย่าขวัญชาวโลกอีกครั้ง

ช่วงส่งท้ายสิ้นปี พ.ศ. 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี พ.ศ. 2553 มีรายงานข่าวว่า ในขณะที่ทาง องค์กรการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ยังแค่เฝ้าติดตามจับตาอะโพฟิส ทาง สำนักงานอวกาศรัสเซีย ได้ตัดสินใจจะพิจารณา “ส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส” ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 350 เมตร (ข้อมูลบางแหล่งก็ว่า 250-270 เมตร บางแหล่งก็ว่า 300 เมตร) ซึ่งคาดว่าจะโคจรผ่านใกล้โลก หรืออาจชนปะทะทำความเสียหายร้ายแรงให้โลก โดยการจะส่งยานอวกาศของรัสเซียครั้งนี้ภารกิจคือ “ชนปะทะให้อะโพฟิสหลุดจากเส้นทางโคจร ป้องกันความเป็นไปได้ที่อาจพุ่งชนโลก !!”

ฟังดูเหมือนหนังอวกาศ...แต่อะโพฟิสมันมีอยู่จริง !!!

ทั้งนี้แม้จะมีรายงานข่าวว่าทางองค์การนาซาระบุว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อะโพ ฟิสจะชนโลกในปี พ.ศ. 2572 และการโคจรกลับมาในรอบต่อ ๆ ไป ทั้งในปี พ.ศ. 2579 และรวมถึงปี พ.ศ. 2611 ทางนาซาก็แสดงท่าทีปฏิเสธที่จะระบุเรื่องโอกาสชนโลกอีก แต่กระนั้นเรื่องการชนโลกของอะโพฟิสก็ยังอยู่ในความสนใจอย่างหวาด ๆ ในทุกมุมโลก

เพราะขนาดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ไม่ว่าจะเส้นผ่าศูนย์กลาง 270 จะ 300 หรือ 350 เมตร ยังไงก็ถือว่าไม่ใช่เล็ก ๆ “ไม่ใช่อุกกาบาตจิ๊บจ๊อย” ซึ่งหากจะว่ากันที่ตัวเลขกลาง ๆ คือเส้นผ่าศูนย์กลางราว 300 เมตร ถ้าเป็นตัวเลขนี้ทาง สมาคมดาราศาสตร์อังกฤษ เคยคำนวณน้ำหนักของอะโพฟิสไว้ว่า...อยู่ที่ประมาณ 45 ล้านตัน !!

“จะสร้างหายนะกับโลกขนาดไหนขึ้นอยู่กับบริเวณที่พุ่งชน ถ้าชนพื้นโลกจะเกิดแอ่งกว้างราว 6 กิโลเมตร ถ้าชนในทะเลก็อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 3-22 เมตร และจะทำลายชายฝั่งที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมด” ...เป็นการระบุของนักวิทยาศาสตร์ในการประชุมขององค์การนาซาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนหน้านี้

เป็นการระบุถึง “อะโพฟิส” ที่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็บอกว่า...ถ้าคิดจะใช้ “ระเบิดนิวเคลียร์” ผลักให้มันหลุดออกจากวงโคจรเหมือนในหนังเรื่อง “อาร์มาเก็ดดอน” ถึงเอานิวเคลียร์ไประเบิดได้ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยต่อโลก เพราะจะทำให้อะโพฟิสแตกเป็นเสี่ยง ๆ กลายเป็นสะเก็ดดาวใหญ่ที่อาจมีถึง 5 สะเก็ด และมีโอกาสพุ่งสู่โลก

และถ้าใครไม่อยากเชื่อฝรั่ง อยากฟังนักวิทยาศาสตร์ไทย อยากถามว่า “ทำไมต้องกลัวดาวเคราะห์น้อยชนโลก ??” ทาง รศ.ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล ก็เคยบอกผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เอา ไว้ว่า.....

“ถ้าพุ่งชนโลก ความรุนแรงก็จะไม่ต่างกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีแรงทำลายล้างมหาศาล ยิ่งถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 กิโล เมตรขึ้นไป จะถึงกับล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติได้ !!!”.



จาก : เดลินิวส์ คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 5 มกราคม 2553

angel frog
05-01-2010, 08:48
ตอนนี้ไปที่ไหนๆ ชาวบ้านชาวป่าเขา ก็พูดเหมือนกันว่า ปีนี้อากาศเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม แปลกมากๆ

สายน้ำ
07-01-2010, 07:48
อากาศวิปริต ป่วนทั้งโลก ไทยฝนหลงฤดู


อากาศทั่วโลกวิปริตหนักฤดูกาลผิดเพี้ยน อังกฤษติดลบต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ไม่เว้นแม้แต่ ประเทศไทยเดือนมกราคม เกิดฝนหลงฤดูถล่มลงมาอย่างหนักราวกับฟ้ารั่ว...

อากาศทั่วโลกวิปริตหนัก ฤดูกาลผิดเพี้ยนจากเดิมชนิ ไม่เคยเกิดมาก่อน อังกฤษวิกฤติหนัก อุณหภูมิหนาวจัด ติดลบต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หิมะหนาเตอะบนถนน 40 ซม. สนามบินทั่วประเทศปิดตาย เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวถูกยกเลิกกะทันหัน ระดมทหารเร่งช่วยเหลือเจ้าของรถกว่า 1 พัน ที่ติดหิมะอยู่บนท้องถนน ขณะที่ฟุตบอลคาร์ลิงคัพ ระหว่างปิศาจแดงกับเรือใบต้องเลื่อนออกไปเพราะหิมะเป็นเหตุ ด้านนอร์เวย์เลวร้ายสุดใน ทวีปยุโรป ต้องเผชิญความหนาวเย็นติดลบถึง 41 องศาเซลเซียส ส่วนจีนประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและถ่านหินอย่างหนัก ปักกิ่งอุณหภูมิติดลบ 16 องศาเซลเซียส ขณะที่กรุงเทพฯ ฝนหลงฤดูถล่มกรุง น้ำท่วมขังถนนหลายสาย การจราจรเป็นอัมพาตโกลาหลทั้งเมืองโลกวิปริตหนัก เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั่วทั้งโลก ทั้งอากาศหนาวจัด อุณหภูมิติดลบ หิมะตกหนักเป็นแผ่นหนาในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกาประเทศจีน กับอีกหลายแห่งของทวีปเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่ ประเทศไทยในเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ก็เกิดฝนหลงฤดูถล่มลงมาอย่างหนักราวกับฟ้ารั่วในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต รถราติดขัด น้ำท่วมขังจนโกลาหลกันทั้งเมือง

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันพุธที่ 6 ม.ค.ว่า หลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย เผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติต้อนรับปีใหม่ โดยที่อังกฤษ ทั่วทั้งประเทศไล่ตั้งแต่กรุงลอนดอนไปตลอดภาคกลาง เหนือ ใต้ จนถึงสกอตแลนด์ อากาศหนาวเย็นและหิมะตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี หลายเมืองเผชิญพายุหิมะหรือหิมะตกหนาถึง 40 ซม. ส่งผลให้การขนส่งคมนาคมเป็นอัมพาต ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และการจราจรทางอากาศ สนามบินหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว รวมทั้งสนามบินเกตวิคในลอนดอน ซึ่งถูกปิดเมื่อคืนวันที่ 5 ม.ค. เพื่อให้เจ้าหน้าที่เคลียร์หิมะจากรันเวย์ นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่จะจับเที่ยวบินจากสนามบินฮีทโธรว์ ยังได้รับคำเตือนให้เช็กกับสายการบินก่อนเดินทางไปที่สนามบินและเผื่อเวลาสำหรับความล่าช้า ส่วนสนามบินลูตัน เบอร์มิงแฮม แมนเชสเตอร์ เซาแธมป์ตัน และสนามบินจอห์น เลนนอน ในเมืองลิเวอร์พูล ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป

ส่วนผู้ให้บริการ รถไฟทั่วอังกฤษก็ประกาศลด ยกเลิก หรือเลื่อนการเดินรถไฟหลายขบวน รวมทั้งขบวนเข้าออกกรุงลอนดอน ไปจนถึงรถไฟสายอีสต์ โคสต์ อีสต์ มิดแลนด์ ชิลเทิร์น เรลเวย์ส เฟิร์ส เกรต เวสเทิร์น ฯลฯ ขณะที่โรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศถูกสั่งปิด โดยเฉพาะในเขตแลงคาสเชียร์ เวสต์ ยอร์คเชียร์ เวสต์ มิดแลนด์ กลอสเตอร์เชียร์ ฮาตฟอร์ดเชียร์ และเซอร์เรย์ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด กองทัพอังกฤษยังระดมทหารออกมาช่วยบรรเทาทุกข์ รวมทั้งไปช่วยอพยพผู้ขับรถยนต์กว่า 1,000 คัน ที่ติดค้างอยู่บนถนน ซึ่งหิมะสุมหนาจนรถติดยาวเหยียดในเมืองแฮมเชียร์

สภาพอากาศอันเลว ร้ายยังส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอล กีฬาสุดฮิตของอังกฤษต้องยกเลิก รวมทั้งฟุตบอล "คาร์ลิงคัพ" นัดดาร์บี้ แมตช์ ระหว่างทีม "ปิศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อคืนวันอังคารที่ 5 ม.ค. ส่วนการแข่งขันพรีเมียร์ลีก คืนวันพุธที่ 6 ม.ค. ระหว่างทีม "ปืนใหญ่" อาร์เซนอล กับทีมโบลตัน ก็เผชิญอุปสรรคเช่นกัน นอกจากนี้ การแข่งขันรักบี้และม้าแข่งหลายนัดก็ถูกยกเลิกด้วย

ทางการอังกฤษยังแถลงเตือนว่า อาจเกิดภาวะไฟฟ้า ก๊าซ และเกลือขาดแคลน เพราะอุปสงค์ความต้องการใช้มีสูงมากผิดปกติในช่วงหนาวจัด แต่อุปทานลดลงอย่างฮวบฮาบเนื่องจากการผลิตและการขนส่งแทบเป็นอัมพาต ฝ่ายค้านของอังกฤษเผยว่า อังกฤษมีก๊าซสำรองพอใช้แค่ 8 วันเท่านั้น ขณะที่บริษัทวินส์ฟอร์ด ผู้ผลิตเกลือรายใหญ่ที่สุดของประเทศในเมืองเชสเชียร์ เตือนว่าเกลืออาจขาดตลาดถ้าสภาพอากาศยังเป็นเช่นนี้อยู่

สำนักงาน อุตุนิยมวิทยาอังกฤษทำนายว่า อังกฤษจะเผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นจัดต่อไปอีก 2 สัปดาห์ และนอกจากอังกฤษ หลายประเทศทั่วยุโรปก็เผชิญสภาพอากาศเย็นจัดจากแนวอากาศหนาวจากภูมิภาค ไซบีเรีย โดยเฉพาะนอร์เวย์ อุณหภูมิลดต่ำถึงติดลบ 41 องศาเซลเซียส ส่วนเนเธอร์แลนด์ เกิดน้ำแข็งหนาจนสามารถจัดการแข่งขันสเกตน้ำแข็งธรรมชาติครั้งแรกในปีนี้ ได้ที่ทะเลสาบเฮนสโคเตอร์ ที่ฝรั่งเศส หิมะและน้ำแข็งหนา ทำให้การจราจรทางภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งที่เมืองบอร์กโดซ์ ติดขัดอย่างหนัก ส่วนฮังการีก็ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ทางการต้องเตือนไม่ให้ประชาชนในกรุงบูดาเปสต์ใช้รถยนต์ ขณะที่บางพื้นที่ของอิตาลีกลับเผชิญฝนตกหนัก จนเจ้าหน้าที่หวั่นกลัวว่าแม่น้ำไทเบอร์จะเอ่อล้นท่วมกรุงโรมในไม่กี่วันข้างหน้า

ขณะที่ในเอเชียเกิดอากาศหนาวจัดและหิมะตกหนักทางภาคเหนือ ตะวันออก และกลางของจีน ทำให้เกิดภาวะไฟฟ้าและถ่านหินขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากการขนส่งถ่านหินจากแหล่งผลิตต่างๆทำได้ยากลำบาก อีกทั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าและถ่านหิน ตกลงเรื่องราคาจำหน่ายไม่ได้ ทำให้ไฟฟ้าและถ่านหินไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ก่อนแล้ว จนทางการจีนต้องปันส่วนไฟฟ้า เพื่อการอุตสาหกรรม และใช้ในครัวเรือนในบางพื้นที่ รวมทั้งที่มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงสู ชานตง และเหอเป่ย ส่วนภูมิภาคอื่นๆอาจขาดแคลนไฟฟ้าและถ่านหินเช่นเดียวกัน ถ้าสภาพอากาศยังหนาวเย็นจัดต่อไป ซึ่งทางการจีนได้ร้องขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงานแม้กำลังต่อสู้กับความเหน็บหนาวก็ตาม

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนพยากรณ์ว่า ภาวะอากาศหนาวเย็นจะต่อเนื่องไปตลอดสัปดาห์ โดยที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันพุธที่ 6 ม.ค. หิมะตกหนักและอุณหภูมิลดลงถึงติดลบ 16 องศาเซลเซียส ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2514 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อากาศหนาวเย็นที่สุด อุณหภูมิติดลบ 32 องศาเซลเซียสเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ม.ค. ก่อนสูงขึ้นเป็นติดลบ 17 องศาเซลเซียสในวันพุธที่ 6 ม.ค.

ภูมิภาคอื่นๆที่เผชิญสภาพอากาศ หนาวเย็นผิดปกติในช่วงนี้ รวมทั้งเกาหลีใต้ ซึ่งหิมะตกหนักในกรุงโซล ขณะที่ภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา สภาพอากาศหนาวเย็นจัด ทำให้เกษตรกรต้องรีบเก็บเกี่ยวพืชผล ส่วนนักท่องเที่ยวที่หวังไปอาบแดดอุ่นๆในภูมิภาคกัลฟ์ โคสต์ ในรัฐเท็กซัส หลุยเซียนา มิสซิสซิปปี อลาบามา และฟลอริดา กลับต้องเผชิญความหนาวเหน็บแทน

ขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพมหานคร ก็ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 6 ม.ค. หลังจากที่มีฟ้าครึ้มมืดมัวมาตั้งแต่เช้า ทั้งที่เป็นช่วงอยู่ในฤดูหนาว แต่กลับมีฝนหลงฤดูตกลงมา ส่งผลให้รถราติดขัดยาวเหยียด เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ การจราจรบนถนนสายหลัก อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนพหลโยธิน ถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นอัมพาต เกิดอุบัติเหตุรถชนในหลายพื้นที่

นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดฝนตกหนักในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอ่อนกำลังลง ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคกลาง ทำให้บริเวณภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีฝนตกหนัก และภาคอื่นๆมีฝนฟ้าคะนองในช่วงนี้ คาดว่าคืนวันที่ 6 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ทั่วประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองลดลง และอุณหภูมิลดลง 1-3 องศา

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกช่วงฤดูหนาวว่า เกิดจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมวลอากาศร้อนชื้นเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้มวลอากาศเย็นหดตัวขึ้นไปทางเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกกระจายในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้ และจะกลับเข้าสู่หน้าหนาวอีกครั้งตลอดเดือน ม.ค. ขณะเดียวกันปัญหาที่ไทยจะเจอแน่คือ ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ระดับรุนแรงในรอบ 10 ปี โดยจะทำให้เกิดภาวะร้อนและแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์แล้วว่าจะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น 40-42 องศาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ น่าจะเกิน 40 องศา โดยช่วงร้อนที่สุดอยู่ระหว่างเดือน มี.ค.ไปจนถึงเดือน เม.ย. ซึ่งวันที่ร้อนที่สุดคือ วันที่ 22 เม.ย.นี้

ทางด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สภาพฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. มีปริมาณสูงสุดบริเวณพื้นที่เขตห้วยขวาง 120 มิลลิเมตร/ชม. ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น ลาดพร้าว รามคำแหง มีปริมาณ 97 มิลลิเมตร/ชม. ถนนหลายสายรถราติดขัด มีน้ำท่วมขังสูงถึง 10 ซม. เช่นที่ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรัชดาภิเษก กทม.ได้เร่งระบายน้ำออกจากผิวจราจรแล้ว เหลือถนนบางสายที่ปริมาณน้ำท่วมขังยังสูง



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 7 มกราคม 2553

สายน้ำ
10-01-2010, 10:22
สัญญาณหายนะ

http://www.dailynews.co.th/content/images/1001/10/page20/h.jpg

มองไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว อยากตกใจ เพราะเห็นได้เลยว่าระดับน้ำในแม่น้ำอยู่สูงกว่าถนน

ปีต่อไปและต่อไปน้ำคงจะท่วมมากกว่านี้ ผมคิดด้วยความเป็นห่วง

เมื่อวันพุธที่แล้วนี้เอง เวลาบ่าย 4 โมงเย็น ผมมีธุระ จำเป็นต้องนั่งรถจากปากน้ำเข้ากรุงเทพฯ การจราจรติดขัดมาก สาเหตุเพราะฝนตกหนัก

รุ่งขึ้นอีกวัน อ่านหนังสือพิมพ์จึงรู้ว่าฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ

ฝนที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นฝนธรรมดาๆ แต่เป็นฝนหลงฤดู

ที่ว่าหลงฤดูก็เพราะว่า ช่วงนี้เป็นหน้าหนาว แต่ฝนดันทะลึ่งตกลงมา

หลายคนบ่นท่ามกลางสายฝนว่า ฝนน่าจะบอกให้รู้ล่วงหน้าจะได้เตรียมร่มหรือเสื้อฝนติดตัวมาด้วย

พักหลังๆมานี้ โลกที่รักของเราเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ ออกอาการแปลกๆ ให้ผู้อยู่ในโลกต้องเดือดร้อนและตื่นเต้นทุกเดือนหรือเกือบทุกวันก็ว่าได้

อย่างกับตอนนี้หน้าหนาวของไทยอากาศควรจะหนาว แต่หนาวได้เพียงไม่กี่วัน แล้วก็ไม่ยอมหนาวอีกต่อไป

ความหนาวคงจะรอให้ถึงหน้าร้อนเสียก่อนแล้วค่อยหนาวก็ได้

ถ้าเป็นเช่นที่ว่านี้ ก็คงจะได้เห็นเด็กๆพากันใส่เสื้อหนาวเล่นว่าวที่สนามหลวง

แต่ก็ไม่แน่ บางทีกำลังเล่นว่าวอยู่เพลินๆ ฝนอาจจะตกลงมา ทีนี้คงยุ่งไปใหญ่เพราะนอกจากทำให้ว่าวต้องเปียกน้ำแล้ว ยังทำให้เด็กต้องเปลี่ยนเสื้อจากเสื้อหนาวเป็นเสื้อฝนแทน

แค่นึกก็ปวดหัว ปวดหัวกับดินฟ้าอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ถ้าเมืองไทยจะมีอากาศวิปริตเกิดขึ้น สิ่งที่ผมอยากให้เป็นมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคืออยากให้มีหิมะตก เพราะผมชอบสีขาวของหิมะ และชอบภูเขาที่มีหิมะปกคลุม

ถ้าภูเขาของไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือมีหิมะ รับรองว่าจะต้องมีความสวยงามน้องๆเทือกเขาแอลป์ของยุโรป

หิมะมีสีขาวสวยก็จริง แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ไม่น่าจะดี อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับหลายๆประเทศ

อย่างกับในอังกฤษถูกหิมะเล่นงานหนัก จนรถไฟที่วิ่งอยู่ใต้ทะเลช่องแคบอังกฤษมีปัญหา พาผู้โดยสารไปติดอยู่ใต้ทะเลถึงพันกว่าคน

การแข่งขันฟุตบอลที่อังกฤษต้องเลื่อนการแข่งขันหลายคู่ เพราะสนามฟุตบอลกลายสภาพเป็นสนามเล่นสเกตน้ำแข็ง

เครื่องบินขึ้นลงไม่ได้ไปหลายแห่ง สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว

ในสหรัฐอเมริกาก็เจอหนักหลายรัฐมาก หลายเมืองมีหิมะกองอยู่ที่พื้นถนนหนาเป็นฟุต เป็นเหตุให้คนไม่ออกจากบ้าน งานคริสต์มาสกร่อย

อย่าว่าแต่ประเทศทางยุโรปหรืออเมริกาที่ตั้งอยู่ในโซนหนาวเลย แม้ในเอเชีย ทั้งจีน ทั้งญี่ปุ่น ทั้งเกาหลีก็โดนหิมะเล่นงานหนักเช่นกัน

หนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา

นับว่ายังโชคดีที่มนุษย์ฉลาดสามารถสู้ความหนาวได้ เช่น คิดเครื่องทำความร้อนภายในบ้าน เพื่อให้มีอากาศอบอุ่นแล้วยังรู้จักสะสมอาหารไว้กินในฤดูหนาวได้อีก

หากมนุษย์ทำอย่างที่ว่าไม่ได้ มีหวังตายกันหมด

สาเหตุการเปลี่ยนแปลงและเหตุร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกทั้งเรื่องความหนาวเย็น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมแรง นับวันยิ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้รู้บอกว่าเกิดจากโลกร้อน

ผู้ที่ทำให้โลกร้อนไม่ใช่ใครอื่น ตัวการสำคัญก็คือมนุษย์

ฉะนั้น ถ้าขืนปล่อยปละละเลย มนุษย์ก็จะพากันเดือดร้อนอย่างหนักไปทั่วโลก ผลที่สุด จะไม่มีมนุษย์คนใดเหลืออยู่ในโลกนี้เลยก็เป็นได้

สำหรับหายนะที่จะเกิดกับโลกนี้ ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดก็เห็นจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกือบทุกประเทศในยุโรป

ประเทศเหล่านี้จึงได้นัดประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้โลกหายร้อน หรือร้อนน้อยลง ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะมนุษย์ได้ผลิตอะไรออกมาใช้แต่ละอย่างล้วนทำให้โลกร้อนทั้งสิ้น เช่น โรงงานต่างๆ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องหุงต้ม ฯลฯ

แต่ดู ๆ แล้วไม่ง่ายเลยที่จะทำให้โลกหายร้อนได้

สำหรับเราซึ่งเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆเพียงหนึ่งตัวไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องใหญ่ๆให้เสียสมอง ขอเพียงให้ใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้รถยนต์ให้น้อยลง เป็นใช้ได้ และถ้าให้ดีช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้นสองต้นก็พอแล้ว

สิ่งเหล่านื้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อลูกหลานของเรา เพราะตัวเราเอง ถึงแม้โลกจะร้อนหรือไม่ร้อน อีกไม่นานก็ต้องตายกันหมดแล้ว.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2553

สายน้ำ
19-01-2010, 07:53
วิปโยคเฮติ...ต้องศึกษา 'ธรณีพิโรธใหญ่' ไทย...ต้องตื่นตัวรับมือ

http://www.dailynews.co.th/content/images/1001/19/page3/sc260.jpg

ธรณีพิโรธ “แผ่นดินไหว” ระดับ 7 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดที่ประเทศเฮติ โดยมีศูนย์กลางการเกิดอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวง ทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย-อาหาร เป็นแสนๆ ซึ่งขนาดทำเนียบประธานาธิบดีก็ยังถล่มเป็นซากนั้น.....

นี่ไม่เพียงเป็นภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ

แต่ยังเป็นแผ่นดินไหวที่เขย่าขวัญผู้คนทั่วทุกมุมโลก

และสำหรับเมืองไทย-คนไทยก็อย่าได้คิดว่าไกลตัว !!

“เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว” ...นี่เป็นเนื้อความตอนหนึ่งจากการระบุผ่านสื่อของ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติ แห่งเอเชีย หรือเอดีพีซี โดย ดร.พิจิตตยังได้ระบุถึงเรื่อง “รอยเลื่อน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหว-กับเขื่อน ที่อาจสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ณ ที่นี้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” จะสะท้อนย้อนภาพรวมตามที่เคยมีผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องเคยชี้เตือนไว้ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยระบุไว้หลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงประมาณ 7.8 ริคเตอร์ เขย่ามณฑลเสฉวน และพื้นที่ใกล้เคียง ในประเทศจีน เมื่อบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งเพียงถึงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ก็มีรายงานตัวเลขพบผู้เสียชีวิตกว่า 9,200 ศพ สูญหาย กว่า 60,000 คน อาคาร-ที่พักอาศัยพังถล่มกว่า 500,000 หลัง สรุปได้ว่า.....

เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จุดศูนย์กลางจะห่างจากไทย แต่การสั่นของรอยเปลือกโลกก็ส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นที่ตะแกรงรอยเลื่อนของเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่าแอ๊คทีฟ ฟอลท์ (Active Fault) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับภูมิศาสตร์ของหลายประเทศได้ด้วย ซึ่งสำหรับไทยพื้นที่ที่จะมีผลกระทบคือพื้นที่ที่มีลักษณะกายภาพเป็นดินอ่อน ซึ่งมีโอกาสยุบตัวง่าย และลักษณะทางกายภาพดังว่านี้...ก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทย

แผ่นดินไหวในประเทศอื่น ๆ ไทยจึงต้องให้ความสนใจ

เมืองหลวงประเทศไทยก็ใช่ว่าไม่เสี่ยงกับ “ธรณีพิโรธ”

และแม้จะอยู่บ้านชั้นเดียว-อาคารเตี้ย ๆ ก็อาจอันตราย !!

ทั้งนี้ อย่างที่ ชาติชาย สุภัควนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูพลัส ซอฟท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง-การก่อสร้างยุคใหม่ สะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ว่า... ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการคำนึงถึงกฎปฏิบัติในการออกแบบก่อสร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในไทยมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวไม่มาก วิศวกรที่จบปริญญาตรีกว่า 95% ก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวลึกซึ้ง ความรู้เรื่องนี้จะอยู่ระดับปริญญาโท

“การสร้างโครงสร้างอาคารในบ้านเราที่ผ่านๆมามักใช้ความรู้ความชำนาญที่เป็นการคำนวณด้วยมือ จากการดูแบบพิมพ์เขียว ซึ่งการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นจะใช้แต่ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ของวิศวกรอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณโครงสร้างอาคารด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพ” ...ชาติชายระบุ

พร้อมทั้งยังชี้ไว้ด้วยว่า... หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทยอาคาร ที่เป็นตึกสูงที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา “ในเมืองไทยนั้น ที่มักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาก มักจะเป็นอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกไม่สูง สรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ”

ในเมืองไทย “บ้านยุคเก่า-ตึกยุคเก่า” อยู่ในข่ายต้องระวัง

และอาคารสูงยุคใหม่ถ้ามีคอร์รัปชั่นงบก่อสร้างก็น่าห่วง !!

อีกทั้งความน่าเป็นห่วงยังอาจรวมถึง “สึนามิจากแผ่นดินไหว” อย่างที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยเผยแพร่เป็นบทความเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ไว้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ บางช่วงบางตอนว่า... “ได้ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ใหญ่ (9 ริคเตอร์) ในทะเลอันดามัน (บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์) และอ่าวไทย (บริเวณทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิด ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ชายฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรจะมีการเตรียมการที่ดี มีแผนจัด การในภาวะฉุกเฉินรองรับภัยธรรมชาติ...” “สิ่งที่คนไทยควรจะทำคือต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม โดยศึกษาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นไปในลักษณะการตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป...” ...รศ.ดร.เสรี ระบุไว้

และ “แผ่นดินไหว” ที่เฮติ...ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของไทย

เพื่อรับมือ “ธรณีพิโรธ” ที่เกิดได้...แม้แต่ใต้บ้านนายกฯ !!.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 19 มกราคม 2553

สายน้ำ
20-01-2010, 08:10
สุมาตราอันตราย

http://www.dailynews.co.th/content/images/1001/20/sang.jpg

ปีนี้ทำท่าจะเป็นปีเสือดุจริงๆตามที่ใครต่อใครหวาดวิตก เพราะเพียงแค่เดือนแรก ภัยธรรมชาติก็เล่นงานมนุษย์ครั้งใหญ่ แผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศเฮติ ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเหลือคณานับ

ว่ากันตามจริง ตามปฏิทินโหราศาสตร์โลกตะวันออก ช่วงนี้ยังเป็นปีฉลูหรือปีวัวอยู่ ของจีนแม้ว่าวันตรุษปีนี้จะตรงกับวันที่ 14 ก.พ. แต่จักรราศีจะเคลื่อน เข้าสู่ปีขาล ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. เวลา 06.49 น. ส่วนของไทยเราก็ต้องหลังวันมหาสงกรานต์ 13 เม.ย. ไปแล้ว

แผ่นดินไหวรุนแรง หรือที่ทางการอยากให้เรียกว่า “ธรณีพิบัติภัย” แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับความร่วมมือสักเท่าไหร่ เป็นอีกหนึ่งภัยทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจคาดการณ์ “วันเวลา” ที่มันจะเกิดล่วงหน้าได้อย่างแน่ชัด แม้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ จะเจริญรุดหน้าไปถึงไหนแล้วก็ตาม

โศกนาฏกรรมที่กำลังถาโถมชาวเฮติอยู่ในขณะนี้ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องภัยธรรมชาติโดยตรงได้ออกโรงเตือนคลื่นยักษ์สึนามิจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล กำลังรอเวลาเล่นงานเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียอีกรอบ

ความรุนแรง และความสูญเสีย คาดว่าน่าจะไม่น้อยกว่า เหตุการณ์สึนามิรอบมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 ราย สูญหายราว 40,000 ราย

สึนามิ 26 ธ.ค. 2547 จังหวัดอาเจะห์ ทางเหนือของเกาะสุมาตรา ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริคเตอร์กว่าใครเพื่อน แต่สึนามิครั้งใหม่หากเกิดขึ้น จุดที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดคือจังหวัดปาดัง เมืองเอกของจังหวัดสุมาตราตะวันตก อยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะทางใต้ของอาเจะห์

คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ นำโดยนายจอห์น แม็คคลอสกี อาจารย์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอัลส์เทอร์ ในไอร์แลนด์เหนือ ทำนายว่าแผ่นดินไหวครั้งใหม่ ความรุนแรงจะอยู่ที่ 8.5 ริคเตอร์เป็นอย่างต่ำ

ส่วนความเสียหายต่อเมืองปาดัง ซึ่งมีประชากร 850,000 คน ขึ้นอยู่กับระดับความลึก และระยะห่างชายฝั่งของจุดศูนย์กลาง แต่เชื่อว่าน่าจะสูสีกับความเสียหายต่ออาเจะห์

แม็คคลอสกียืนยันว่าเกิดแน่ แต่ระบุไม่ได้ว่าวันหรือเวลาไหน เนื่องจากมีแรงดันสะสมต่อเนื่องตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ในร่องเปลือกโลกซุนดาที่ทอดเป็นแนวขนานกับชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา

แม็คคลอสกีและคณะ เคยทำนายแม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกในวงการผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว โดยในเดือน มี.ค. 2548 ได้เตือนรัฐบาลอินโดนีเซีย ผลพวงจากแผ่นดินไหว 9.3 ริคเตอร์นอกชายฝั่งอาเจะห์ ทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาล ต่อรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ทางใต้ถัดลงไป และทำนายว่า จะเกิดแผ่นดินไหว ความรุนแรงอย่างต่อ 8.5 ริคเตอร์ในอีกไม่นาน และจะทำให้เกิดสึนามิด้วย

ปรากฏว่า แค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังคำเตือน คือวันที่ 28 มี.ค. 2548 เกิดแผ่นดินไหว 8.6 ริคเตอร์ในทะเล เขย่าเกาะซิมิวลิว นอกชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดอาเจะห์ และเกิดคลื่นสึนามิความสูง 3 เมตรพัดกระหน่ำเกาะ

เท่าที่มีการบันทึก เมืองปาดังเคยเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิถล่มบ้านเรือนหลายครั้งแล้ว เช่นในปี พ.ศ. 2340 แรงไหว 8.7 ริคเตอร์ เกิดสึนามิสูงถึง 10 เมตร น้ำท่วมทั้งเมือง แต่ไม่มีบันทึกความสูญเสียต่อชีวิต และล่าสุดวันที่ 30 ก.ย. ปีที่แล้ว แผ่นดินไหวในทะเลห่างชายฝั่งเมืองปาดัง 60 กม. ทำให้มีคนตายมากกว่า 1,100 ศพ

คำเตือนของแม็คคลอสกี คงทำให้ชาวเมืองปาดัง และหลายเมืองรอบด้านอยู่ไม่เป็นสุข แต่การเตรียมพร้อมรับมือ น่าจะเป็นหนทางเดียวในการบรรเทาความสูญเสีย โดยจำบทเรียนจากหลายเหตุการณ์ในอดีต.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 19 มกราคม 2553

สายน้ำ
23-01-2010, 07:54
สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจ ตอนที่ 1

http://thainews.prd.go.th/news/pictures/eartquake2.jpg

เหตุการณ์ธรณีพิโรธ “แผ่นดินไหว” ระดับ 7 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดที่ประเทศเฮติ โดยมีศูนย์กลางการเกิดอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวง ทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร เป็นแสนๆ คน .....นี่ไม่เพียงเป็นภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ แต่ยังเป็นแผ่นดินไหวที่เขย่าขวัญผู้คนทั่วทุกมุมโลกและสำหรับเมืองไทย-คน ไทยก็อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว !!

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือเอดีพีซี ได้ออกมาเตือนสติคนไทยว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว โดย ดร.พิจิตตยังได้ระบุถึงเรื่อง “รอยเลื่อน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหว-กับเขื่อน ที่อาจสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาของผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ชี้เตือนไว้ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยระบุไว้หลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงประมาณ 7.8 ริคเตอร์ เขย่ามณฑลเสฉวนและพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศจีน เมื่อบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งเพียงถึงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ก็มีรายงานตัวเลขพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 9,200 ศพ สูญหายกว่า 60,000 คน อาคาร-ที่พักอาศัยพังถล่มกว่า 500,000 หลังสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จุดศูนย์กลางจะห่างจากไทย แต่การสั่นของรอยเปลือกโลกก็ส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นที่ตะแกรงรอยเลื่อนของเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่าแอ๊คทีฟ ฟอลท์ (Active Fault) ย่อมส่งผลกระทบกับภูมิศาสตร์กายภาพของหลายประเทศได้ด้วย ซึ่งสำหรับไทยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นดินอ่อน มีโอกาสยุบตัวง่าย และลักษณะทางกายภาพดังว่านี้...ก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทยด้วย ดังนั้น เหตุแผ่นดินไหวในประเทศอื่นๆ ไทยจึงต้องให้ความสนใจ!

ในด้านลักษณะของบ้านเรือน หรือตึกอาคารต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการคำนึงถึงระเบียบปฏิบัติในการออกแบบก่อสร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในไทยมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวไม่มาก ดังนั้นในเมืองไทย “บ้านยุคเก่า-ตึกยุคเก่า” จึง อยู่ในข่ายที่ต้องระวัง รวมทั้งอาคารสูงยุคใหม่ถ้ามีการคอร์รัปชั่นงบก่อสร้างก็น่าห่วงเช่นกัน !! และปัจจุบัน วิศวกรที่จบปริญญาตรีกว่า 95% ก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวลึกซึ้ง ความรู้เรื่องนี้จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น

ซึ่งเรื่องนี้ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง-การก่อสร้างยุคใหม่ อย่างนายชาติชาย สุภัควนิช บอกว่า การก่อสร้างโครงสร้างอาคารในบ้านเราที่ผ่านๆมา มักใช้ความรู้ความชำนาญที่เป็นการคำนวณด้วยมือ จากการดูแบบพิมพ์เขียว ซึ่งการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นจะใช้แต่ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ของวิศวกรอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณโครงสร้างอาคารด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพ

นายชาติชายยัง ระบุด้วยว่า หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย อาคารที่เป็นตึกสูงที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา

“ในเมืองไทยนั้น ที่มักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาก มักจะเป็นอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกไม่สูง สรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ”

ความน่าเป็นห่วงนี้ ยังอาจรวมถึง “สึนามิจากแผ่นดินไหว” อย่างที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยเผยแพร่เป็นบทความเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ไว้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติบางช่วงบางตอนว่า...

“ได้ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ใหญ่ (9 ริคเตอร์) ในทะเลอันดามัน (บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์) และอ่าวไทย (บริเวณทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิด ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ชายฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547”

แต่สิ่งที่ผู้สันทัดกรณีฝากเตือนกับคนไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะมีการเตรียมการที่ดี มีแผนจัดการในภาวะฉุกเฉินรองรับภัยธรรมชาติ...และสิ่งที่คนไทยควรจะทำคือ ต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม โดยศึกษาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นไปในลักษณะการตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป และ“แผ่นดินไหว”ที่เฮติ...ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี

ในตอนหน้าติดตามการพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน และการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ต้องพึงระวัง



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 มกราคม 2553

สายน้ำ
24-01-2010, 08:28
สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจตอนที่ 2

http://thainews.prd.go.th/news/pictures/eartquake3.jpg

ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องตำแหน่ง ขนาด และเวลาเกิด ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่างๆของบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยากรณ์แผ่นดินไหว โดยอาศัยทั้งที่เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

คุณลักษณะทางกายภาพของเปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลงจากปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แรงเครียดในเปลือกโลกเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง
- การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
- น้ำใต้ดิน (ชาวจีน สังเกต การเปลี่ยนแปลง ของน้ำในบ่อน้ำ 5 ประการ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ น้ำขุ่นขึ้น มีการหมุนวนของน้ำ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และรสขม)
- ปริมาณก๊าซเรดอน เพิ่มขึ้น
- การส่งคลื่นวิทยุความยาวคลื่นสูงๆ

การสังเกตพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดที่มีการรับรู้ถึงภัยก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
- สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตกใจ
- หนู งู วิ่งออกมาจากรู
- ปลา กระโดดขึ้นจากผิวน้ำ ฯลฯ

สัญญาณบ่งบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้งหรือหลายร้อยครั้งในระยะเวลาสั้นๆ เป็นวันหรือในสัปดาห์ อาจเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าตามมาได้ หรือในบางบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีขนาดเท่าเทียมกัน หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะเวลายาวนานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้การพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน จะยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อการคาดหมายที่แม่นยำและแน่นอนขึ้น แต่การมีมาตรการป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยแผ่นดินไหว เช่นการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการเตรียมพร้อมที่ดีของประชาชน เช่นให้คำแนะนำถึงวิธีการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย

เมื่อหันมองถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติมีผู้แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมหันตภัยครั้งนี้กันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลที่จะหยิบยกเหตุผลมาประกอบการอธิบาย นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายถึงสัญญาณผิดปกติจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ว่าเคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดแตกต่างกัน มองว่าการเกิดแผ่นดินไหวบนโลกทุกวันนี้เกิดจากการสะสมพลังงานจากใจกลางโลกและนอกโลก ซึ่งเป็นพลังงานที่ปลดปล่อยมาจากระบบสุริยะ คล้ายกับปรากฏการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากความผิดปกติของการเคลื่อนตัวของระบบสุริยะที่สร้างแรงกระตุ้นให้ดาวเคราะห์ต่างๆรวมถึงโลก โดยการปลดปล่อยพลังงานแสงพลังงานสนามแม่เหล็กมายังดาวเคราะห์หลายดวง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแสงสว่าง ทำให้โลกได้รับสนามแม่เหล็กจากการเกิด "พายุสุริยะ" หรือ "จุดดับ" ก็ส่งพลังงานจากภายนอกเข้ามามีผลต่อการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกได้

"ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่โลกได้รับพลังงานจากระบบสุริยะหรือจักรวาลอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อย่างกรณีที่เฮติก็เชื่อว่าเกิดจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล ที่กระตุ้นให้ดวงอาทิตย์เกิดสันดาป ปลดปล่อยสนามแม่เหล็กมาสู่โลก"

ทั้งนี้ เฮติเป็นประเทศที่ยากจนในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ต้องเผชิญกับหายนภัยครั้งรุนแรงหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2551 เกิดเฮอริเคน 3 ลูก และพายุโซนร้อนลูกหนึ่งถล่ม มีคนตาย 793 คน สูญหายอีกกว่า 300 คน ในปีเดียวกันนั้นยังเกิดการจลาจลเพราะราคาอาหารแพงลิบอีกด้วย

และแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 200 ปี ที่เกิดขึ้นในเฮติ แถมยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงตามมาอีกถึง 24 ครั้ง ถือเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง และเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่งได้เลยทีเดียว



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 24 มกราคม 2553

สายน้ำ
25-01-2010, 08:35
สึนามิครั้งใหม่! คำพยากรณ์ที่ต้องรับฟัง

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107703.JPEG

พลันที่คำทำนายของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ พรั่งพรูสู่สาธารณะ บอกกล่าวให้คนทั้งประเทศรับรู้ว่า มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิจะบังเกิดขึ้นอีกครั้งในชายฝั่งอันดามันของไทย ด้วยระดับความรุนแรงที่เลวร้ายกว่าเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 อย่างเทียบกันไม่ติดนั้น

ภาพความสูญเสียของชีวิตนับไม่ถ้วนที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพรากลมหายใจไปโดยไม่ทันตั้งตัว ก็กลับมาฉายชัดย้ำเตือนคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง พร้อมคำถามจากประชาชนที่มีต่อประสิทธิภาพของทุ่นเตือนภัย ซึ่งเกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล ซึ่งนับเป็นภาพที่ชวนสลดสังเวชไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่กำลังก่อตัวขึ้นจริงตามคำทำนาย


พยากรณ์คลื่นยักษ์ถล่มไทย

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107701.JPEG

“สำหรับดวงเมืองของประเทศไทยในปี 2553 นี้ ถ้าดูจากการทำมุมตรึงกันของหมู่ดวงดาว ก็เป็นไปได้ที่เรื่องของอุบัติภัยนั้นย่อมเกิดขึ้นและเกิดอย่างรุนแรงด้วย”

ใช่เพียงการทำนายจากนักวิชาการในแวดวงวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา ถึงการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่ แต่คำทำนายทายทักจาก ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ที่บอกกล่าวให้ทราบถึงดวงชะตาเมืองก็นับว่าสอดคล้องกันอย่างน่าตระหนก ก่อนโหรคนเดิมอธิบายเพิ่มเติมว่า อุบัติภัยร้ายแรงนั้น เกิดจากอิทธิพลของอุปราคาหรือการที่ดาวพระเคราะห์เรียงบังกัน

“โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ ซึ่งเป็นดาวแห่งการเปลี่ยนแปลง หากดาวคู่นี้เล็งกันก็จะเกิดความโกลาหล เพราะฉะนั้นเรื่องของแผ่นดินไหวหรืออะไรต่างๆ จึงมักจะเกิดในช่วงที่ดาวพฤหัสบดีกับเสาร์ทำมุมเล็งกัน

เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปได้ที่ปี 2553 นี้ มันก็จะเกิดอุบัติภัยแรงๆหลายครั้ง ”

ภิญโญบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุปราคา

“อย่างในปีนี้ จะมีอุปราคาเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ระวังไว้ ตอนช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาจจะเกิดอุบัติภัยได้ ผมบอกเป็นวันเลย หรืออาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังก็ได้ และวันที่ 19-20-21 กรกฎาคม ตอนช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ต้องระวังให้มาก ด้วยเหตุที่ดาวอังคารไปกุมกับดาวเสาร์ ในช่วงกลางเดือน หรือมันอาจจะครอบคลุมไปถึงช่วงกลางสิงหาคมถึงต้นกันยายน”

หลังจากทราบถึงดวงชะตาเมืองที่สอดคล้องกับคำทำนายทายทักของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ซึ่งออกมาเผยว่า เห็นด้วยกับคำทำนายของกลุ่มนักวิชาการแห่งสถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหา วิทยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ส่งคำเตือนมาว่า อาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีระดับความรุนแรงที่มากกว่าเมื่อปี 2547

โดยสึนามิครั้งใหม่นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณเกาะสุมาตรา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ครั้นสอบถามไปยัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เราก็ได้รับคำตอบว่า

“ผมแค่กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำเตือนของศาสตราจารย์สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ว่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากว่าเปลือกโลกจุดเดิมยังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวได้อีก” ซึ่งหากเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง ประเทศไทยจะต้องเสียหายมากกว่าเดิม

ส่วนแนวทางการป้องกันนั้น อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า

“ไม่มีใครสามารถหยุดธรรมชาติได้ สิ่งที่เราทำได้มีเพียงแต่การเตรียมพร้อมรับมือให้ดีที่สุด เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา กรมอุตุฯ เพิ่งโทร.มาหาผม ว่าไม่ควรพูดแบบนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก แต่ผมไม่ได้พูดอะไร ผมแค่บอกว่า ผมสนับสนุนงานวิจัยของไอร์แลนด์เหนือ และทางกรมอุตุฯ ก็ออกมาบอกกับผมว่า ทางกรมนั้นมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดเหตุขึ้นอย่างไรก็สามารถเตรียมการรับมือได้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ทันการหากว่าไม่ระวังตัว คราวที่แล้วกรมอุตุก็ออกมาบอกแบบนี้ แล้วเป็นไง”

หลังจากตั้งถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ดร.สมิทธก็ย้ำทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยต้องมีระบบเตือนภัยที่ดี ซึ่งจะช่วยยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ทว่า

“ผมได้ยินมาว่า คนในพื้นที่บอกว่าทุ่นเตือนภัยก็แบตฯหมด หอเตือนภัยก็ใช้การได้ไม่หมด ทั้งนี้ ผมคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะโดนรัฐเขาฟ้องอยู่ ข้อหาหมิ่นประมาท”


รวมพลังต้านคลื่นลม

ไม่ว่าใครจะทำนายทายทักว่าคลื่นยักษ์กำลังจะมา หรือออกแรงคัดค้านว่าคลื่นยักษ์คงไม่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงประการหนึ่งก็คือ ในคราวที่สึนามิมาเยือนทะเลอันดามันของไทยเมื่อปลายปี 2547 พื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหายไม่น้อย และนั่นเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านที่นั่น เป็นกลุ่มคนที่ 'พร้อมที่สุด' ที่จะเผชิญกับสึนามิในครั้งต่อไป

ดังคำบอกกล่าวของ ชัยณรงค์ มหาแร่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่เอ่ยว่า

“สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียว ถ้าหากจะมีการเกิดสึนามิก็คือ เราต้องอพยพให้ทัน ซึ่งจากที่เตรียมการมา คือหลังจากได้รับข่าวแล้ว เราจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที นำเอาคนออกจากพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด ในคราวที่แล้วที่เกิดสึนามิมีชาวบ้านหลายคนอพยพไม่ทัน เพราะหวังจะเก็บของมีค่าออกมากับตัวด้วย แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เรามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี”

ชัยณรงค์ยืนยันว่า ชาวบ้านในตำบลบางม่วงได้มีการเตรียมความพร้อมกันทุกปีอยู่แล้ว โดยตั้งงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ เช่น มีการซ้อมแผนอพยพปีละสองครั้ง ซึ่งชัยณรงค์บอกว่า อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ในพื้นที่ตำบลบางม่วงนั้นมีความเข้มแข็งมาก

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107708.JPEG

“ตอนนี้เราไม่สามารถหวังพึ่งเครื่องเตือนภัยได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการทดลองใช้แล้วปรากฏว่า มันไม่ดัง แต่ตอนที่ไม่ได้ทดลองมันเกิดดังขึ้นมา จนชาวบ้านไม่ได้คาดหวังแล้ว ตอนนี้ก็ต้องพึ่งตัวเองโดยการสังเกตธรรมชาติ เช่น ถ้าน้ำทะเลแห้งเร็วกว่าปกติก็คิดได้ว่าจะมีสึนามิมา

“ถามว่าเรากลัวหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าทุกคนคงกลัวหมด แต่ขั้นแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ภัยธรรมชาตินั้น เราไม่สามารถห้ามไม่ให้มันเกิดได้ แต่ถ้ามันเกิดแล้ว ก็ต้องมีแผนป้องกันตัวที่ดี ให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด และสิ่งที่จะบอกเราว่า จะมีสึนามิมา นอกจากการสังเกตโดยชาวบ้านแล้ว เครื่องเตือนภัยที่ใช้การได้ก็จะเป็นสิ่งที่บอกเราอีกทางหนึ่ง”

เป็นความเห็นที่คล้ายจะสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของหอเตือนภัยที่ใช้การไม่ได้ รวมถึงเครื่องเตือนภัยที่แบตเตอรี่หมด ทำให้ลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวน้ำอย่างไร้ความหมาย

สายน้ำ
25-01-2010, 08:38
สึนามิครั้งใหม่! คำพยากรณ์ที่ต้องรับฟัง (ต่อ)

เสียงจากศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107707.JPEG

หลังจากรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ที่ทุ่นเตือนภัยสึนามิแบตเตอรี่หมดและหอ เตือนภัยก็ใช้การไม่ได้รวมทั้งไม่มีผู้สนใจเข้ามาดูแลนั้น เมื่อสอบถามไปยัง วิริยะ มงคลวีระพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้รับคำอธิบายว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และตอนนี้ทางศูนย์ฯก็ได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากที่แบตเตอรี่หมด แต่เกิดจากการที่ชาวประมงไปแกะทำให้บางส่วนของทุ่นเตือนภัยส่งสัญญาณไม่ได้ ทำให้ระบบขัดข้อง

“ตอนนี้ทางศูนย์ก็ได้เอาทุ่นตัวใหม่ไปทดแทนตัวเก่าที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 ส่วนหอเตือนภัยที่อยู่ตาม 6 จังหวัดภาคใต้ได้มีการตรวจเช็คทุกวัน และตอนนี้ผมก็ได้ลงไปตรวจแล้ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยได้ตามปกติทุกหอทุกจังหวัด”

นอกจากนี้ เรื่องที่มีผู้คาดการณ์ว่าอีกไม่ช้าจะเกิดสึนามิรอบสองและจะส่งผลร้ายแรงกว่าสึนามิในปี 2547 นั้น วิริยะบอกว่า ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เพราะแม้แต่การเกิดแผ่นดินไหวก็ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสึนามิก็เกิดจากแผ่นดินไหว เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก รวมทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ไม่สามารถตรวจล่วงหน้าได้เลย

“การเกิดสึนามิขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวมากน้อยขนาดไหนแค่นั้นเอง ทางศูนย์ฯได้เตรียมความพร้อม คือ เมื่อเกิดสึนามิแล้ว เราเตือนประชาชนให้อพยพก่อน และถ้าอยู่นอกน่านน้ำประเทศไทยอย่างช้าที่สุดที่เราสามารถเตือนให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้าก่อนที่คลื่นจะถึงฝั่ง ก็คือ ภายใน 1 ชั่วโมง”


คลื่นยักษ์ที่ไร้เหตุผล

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107704.JPEG

ด้วยความใคร่รู้ว่า การเกิดสึนามิ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวของเปลือกโลก เช่นที่ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวไว้หรือไม่

เราจึงหยิบข้อสงสัยนี้ไปถามไถ่กับนักธรณีวิทยาอย่าง ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ. สงขลา หนึ่งในทีมวิจัยที่กำลังเก็บข้อมูลตะกอนในท้องทะเลไทย เพื่อค้นหาว่า ในอดีตเคยเกิดสึนามิขึ้นในไทยแล้วกี่ครั้ง ซึ่งนำไปสู่การอนุมานหาระยะเวลา ความน่าจะเป็นที่สึนามิครั้งใหม่จะเกิดขึ้น นับเป็นองค์ความรู้จากภาพอุบัติซ้ำในอดีต ที่ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยแพร่หลายนัก

และคำตอบที่ได้รับจากนักธรณีวิทยาท่านนี้ ทำให้รู้ว่าการเกิดสึนามินั้น ช่างแปรปรวนและยากจะคาดเดา

“สึนามิไม่จำเป็นต้องเกิดจากแผ่นดินไหวเสมอไป เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนตัวหรือ 'แลนด์สไลด์' ซึ่งหมายถึงการที่ มวลภูเขาลูกหนึ่งเกิดสไลด์ลงไปในทะเลโดยฉับพลัน แบบนี้น่ากลัวมาก เพราะมันจะเกิดเป็นเมกกะสึนามิ คือ เป็นสึนามิคลื่นใหญ่มาก ซึ่งเท่าที่เคยมีในประวัติศาตร์ก็คือ การเกิดคลื่นเมกะสึนามิที่รัฐอะแลสกา ตอนนั้นมีคลื่นสึนามิสูงประมาณ 500 เมตร

"ประจักษ์พยานตอนนั้นคือชาวประมงที่กำลังตกปลาอยู่ แล้วถูกคลื่นพัดจากเขาลูกหนึ่งไปอยู่บนยอดเขาอีกลูกหนึ่งเลย สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งนั้น ก็เกิดจาการที่ภูเขาสไลด์ตัวลงไปในทะเล มันเป็นความเปราะบางทางชั้นธรณีของภูเขาที่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกฉุดดึงลงไปในฉับพลัน”

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของสึนามิยังมีที่มาจากลักษณะการเคลื่อนตัวของตะกอนใต้ทะเล ในบริเวณที่เรียกว่าไหล่ทวีป เมื่อเกิดการทับถมตัวนานๆแล้วชั้นตะกอนต้านทานแรงโน้มถ่วงไม่ไหวก็จะจมลงไป ซึ่งมวลของมันมหาศาลมาก สามารถสร้างให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน ยังไม่นับถึงลูกอุกกาบาต ที่ถ้าหากวันดีคืนดีมีลูกอุกาบาตตกลงไปในท้องทะเล ก็ย่อมทำให้เกิดสึนามิได้เช่นเดียวกัน

สึนามิจึงเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทางธรรมชาติ แต่เมื่อแผ่นดินไหวก็ถือเป็นสาเหตุประการหนึ่ง การทุ่มเทเครื่องมือเพื่อตรวจหาแรงสั่นสะเทือนใต้พิภพจึงเป็นวิธีที่ใน ระเทศซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำมาใช้สำหรับการเฝ้าระวัง ดังคำบอกเล่าจากศิวัช กระนั้นก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ

“ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครสามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ในต่างประเทศจะมีวิธีการทดสอบการเกิดคลื่นยักษ์โดยฝังท่อโลหะลงไปในพื้นดิน แล้วกระจายเครือข่ายและจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวจากใต้พิภพ เมื่อจับสัญญาณที่มีอยู่เพียงนิดเดียวได้แล้ว ก็จะใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์การเกิดสึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่

“เพราะฉะนั้น คำพยากรณ์ที่ว่าจะมีสึนามิรอบใหม่เกิดขึ้นนั้น ผมมองว่า มันย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คำถามที่ว่า เรามีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก”

ไม่ว่าสิ่งกำบังในการป้องกันสึนามิ หรือเครื่องมือในการเตือนภัย สิ่งเหล่านี้ในความเห็นของศิวัช คือ

“การรับมือด้วยวิธีที่ว่ามา ถ้าถามผม ผมว่าเรายังคงขาดหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การฝึกให้คนทุกคนพร้อมที่จะรับมือกับสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ให้คนรู้จักระวังภัย รู้จักสังเกตระบบเตือนภัย ให้คนหนีเข้าชายฝั่งให้เร็วที่สุด เหล่านี้จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงไปได้เยอะเลย

“นอกจากนี้ ผมอยากให้มีการบรรจุเรื่องการหนีภัย การเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่างๆลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทย เพราะทุกวันนี้เรายังไม่มีหลักสูตรว่าด้วยเรื่องของการศึกษาภัยพิบัติทางธรรมชาติสักเท่าไหร่ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นสึนามิอย่างเดียว ควรจะมีเรื่องของแผ่นดินไหวและภาวะโลกร้อนด้วย เพราะเราจะต้องอยู่กับธรรมชาติไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ”

………......

http://pics.manager.co.th/Images/553000001107706.JPEG

"หากดูจากวงโคจร การตรึงและดึงดูดกันของดวงดาว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ในปี 2553 นี้จะมีอุบัติภัยครั้งร้ายแรงเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่รับผิดชอบก็ฟังๆไว้บ้าง คนเขาทัก จะได้มีการเตรียมการรับมือกันได้ทัน จากที่หนักจะได้เป็นเบา"

ว่าไปแล้ว เสียงทักท้วงจากโหรภิญโญก็น่ารับฟังไม่น้อยไปกว่าตรรกะทางธรณีวิทยาหรือศาสตร์แขนงใดๆ ถ้าการรับฟังนั้น มิได้หมายถึงงมงาย แต่คือการเตรียมพร้อมรับมือกับมหันตภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2553

สายน้ำ
05-02-2010, 08:02
ผ่าชะตาโลกปี "2012" สารพัดวิบัติภัยจะกระหน่ำจนสิ้นจริงหรือ?

http://pics.manager.co.th/Images/553000001554901.JPEG
ภาพหายนะวันสิ้นโลก ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก"

แม้จะลาโรงไปนานนับเดือนแล้ว แต่กระแสจากภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ยังไม่จางลง ด้วยเรื่องราวของมหันตภัยล้างโลกที่ดูสมจริง ผูกโยงด้วยดาราศาสตร์ และปริศนาคำทำนายตั้งแต่อดีตกาลที่คล้ายกับจะบอกเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบกับภัยพิบัติรุนแรงในปัจจุบัน เรื่องนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง จนหลายคนกังวลหรือสงสัยเหลือเกินว่าปี "2012" โลกจะสิ้นจริงหรือ?

เหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ระบุว่าโลกจะถึงกาลดับสิ้นในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 จากมหันตภัยนานาชนิดที่ถาโถม เกิดขึ้นในและทำลายล้างโลกในชั่วพริบตา ซึ่งตรงกับคำทำนายของชาวมายาเมื่อหลายพันปีก่อน และมีเหตุปัจจัยมาจากการที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเรียงตัวเป็นแนวเดียวกัน จนทำให้สนามแม่เหล็กโลกปั่นป่วน

จริงหรือ ปฏิทินมายา ทำนายชะตาโลก?

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ส่วนหนึ่งมีที่มาจากปฏิทินของชาวมายา ที่มีลักษณะเป็นวงรอบซ้อนกันหลายวง โดยมีวงรอบหนึ่งที่เรียกว่า บักตุง (Baktun) แต่ละรอบมีระยะเวลา 400 ปี และวงรอบใหญ่สุดประกอบด้วย 13 บักตุง รวมเป็นระยะเวลา 5,200 ปี และวันครบรอบ 13 บักตุง ครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. 2012

"ในอดีตที่ผ่านมา มักมีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นกับชาวมายาเมื่อครบรอบ 13 บักตุง และคาดว่าในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงมีการนำเอาไปผูกโยงเข้ากับภาพยนตร์ โดยเป็นการทำนายว่าในปี 2012 จะเป็นวันสิ้นโลก" ดร.นำชัย กล่าวในระหว่างการเสวนาเรื่อง "2012 โลกจะสิ้นจริงหรือ" ภายในงานมหกรรมหนังสือ มหิดล-พญาไทบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 53 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

อย่างไรก็ดี ดร.นำชัย บอกอีกว่า ชาวมายาได้สร้างพีระมิดและเก็บรักษาพระศพของกษัตริย์พระองค์หนึ่งไว้ในนั้น ด้วย เพื่อว่าพระองค์จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ.4772 ซึ่งหากชาวมายามีการทำนายไว้ว่าปี 2012 เป็นปีสิ้นโลกจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีการบันทึกไว้ว่าปี 4772 จะมีการฟื้นคืนชีพของกษัตริย์พระองค์ดังกล่าว เพราะถึงเวลานั้นโลกก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว

http://pics.manager.co.th/Images/553000001554902.JPEG
โปสเตอร์ภาพยนตร์ดัง "2012 วันสิ้นโลก" ที่ทำเอาหลายคนถึงกับสับสนว่านี่เป็นเรื่องสมมติหรือคำทำนายที่จะเกิดขึ้นจริงกันแน่

จริงหรือ ดาวเคราะห์เรียงกัน ถึงกาลสิ้นโลก?

ในภาพยนตร์ยังอ้างถึงว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะเรียงตัวกันในแบบพิเศษ และส่งผลให้สนามแม่เหล็กโลกเกิดความปั่นป่วนและผิดปกติ จนเป็นเหตุให้เกิดมหันภัยรุนแรงและล้างโลกไปในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

"จากข้อมูลทางดาราศาสตร์บอกว่าในวันนั้นจะไม่เกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงตัวกันเหมือนอย่างในภาพยนตร์แน่นอน แต่ในวันอื่นๆ ดาวเคราะห์อาจโคจรมาเรียงกันได้ แต่ก็เพียงแค่ 2-3 ดวงเท่านั้น และที่ผ่านมาไม่เคยมีหลักฐานบ่งบอกว่าโลกได้รับผลกระทบจากการที่ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน" ดร.นำชัย ชี้แจง

นักวิชาการจากไบโอเทคอธิบายต่อว่า ปกติแล้วโลกเราได้รับอิทธิพลจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นหลัก ไม่ใช่อิทธิพลจากดาวเคราะห์ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ โดยจุดดำบนดวงอาทิตย์ หรือ ซันสปอต (Sunspot) ที่มีรอบการเกิดและดับเฉลี่ยทุกๆ 11 ปี ซึ่งทำให้เกิดพายุสุริยะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกได้ และอาจกระทบต่อดาวเทียมและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนสิ่งมีชีวิตไม่น่าจะได้รับผลกระทบด้วย ยกเว้นนกอพยพที่อาศัยสนามแม่เหล็กโลกในการเดินทาง

จริงหรือ แม่เหล็กโลกสลับขั้วในชั่วพริบตา หายนะมาเยือน?

ส่วนกรณีที่ภาพยนตร์กล่าวถึงการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นในวันเดียว จนแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่กลับตาลปัตรในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และตามมาด้วยหายนะภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ ดร.นำชัย ยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นไปได้ ทว่าโอกาสที่แม่เหล็กโลกจะสลับขั้วกันนั้นมีแน่นอน แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลานานนับแสนนับล้านปี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้วจากการที่นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการเรียงตัวของสารแม่เหล็กอยู่ในฟอสซิลต่างๆ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ว่ามีผลต่อระบบทางชีววิทยาแต่อย่างใด

"สำหรับแผ่นเปลือกโลกนั้นมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ใช้เวลานานพอๆกัน จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ไม่ใช่เคลื่อนที่ไปได้นับหมื่นกิโลเมตรภายในไม่กี่ชั่วโมงเหมือนในภาพยนตร์" ดร.นำชัย เผย ซึ่งเขายืนยันชัดเจนหนักแน่นว่า ในความเป็นจริงในปี 2012 โลกจะไม่สูญสิ้นไปด้วยเหตุปัจจัยที่เหมือนในภาพยนตร์อย่างแน่นอน.



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ
22-02-2010, 08:05
ถึงเวลาที่โลกต้องตระหนัก!!

http://www.gotomanager.com/img/mgrm/Update_Grp/20100218/home.jpg

26 ธันวาคม 2547 แผ่นดินไหววัดความรุนแรงได้ 9.6 ริกเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มชายฝั่งของหลายประเทศที่อยู่รายรอบ มหาสมุทรอินเดีย อาทิ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย ศรีลังกา ฯลฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 165,000 คน

2 พฤษภาคม 2551 พายุไซโคลนนาร์กิส พัดถล่มพื้นที่บริเวณปากน้ำอิระวดีของพม่า ส่งผลให้ เกิดภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม สร้างความเสียหายอย่างหนัก ตัวเลขอย่างเป็นทางการของพม่า มีผู้เสียชีวิต 22,000 คน และสูญหายอีก 41,000 คน แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน

12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.8 ริกเตอร์ ในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้อาคารบ้านเรือนถล่ม ตัวเลขอย่างเป็นทางการซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 68,516 คน บาดเจ็บ 365,399 คน และสูญหาย 19,350 คน

ล่าสุด วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.0 ริกเตอร์ ในสาธารณรัฐเฮติ เกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ในทะเลแคริบเบียน สร้างความเสียหายให้กับประเทศนี้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า "ล่มสลายหมดทั้งประเทศ" ตัวเลขล่าสุดที่ได้รับก่อนการปิดต้นฉบับ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 170,000 คน และมีการคาดกันว่ายังมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก

เพียง 5 ปีที่ผ่านมา โลกได้ประสบกับหายนภัยอย่างรุนแรงมานับครั้งไม่ถ้วน

4 เหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นเพียงต้วอย่างของหายนภัยที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อความเสียหาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติไปแล้วถึงเกือบครึ่งล้านคน

ไม่นับรวมปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ยากจะหาคำบรรยาย ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ อาทิ

- พายุหลงฤดูที่ซัดกระหน่ำเกาะออสเตรเลีย

- สภาพอากาศหนาวจัดในยุโรปและมณฑลทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน

- น้ำที่ท่วมอย่างหนักจนเกิดแผ่นดินถล่มในหลายประเทศในอเมริกาใต้

- ภูเขาไฟมายอน เกิดปะทุขึ้นที่เกาะทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

ฯลฯ

ปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนกับนัดหมายให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ซึ่งเพิ่งออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์หรือเรื่องจริงสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก คือหายนภัยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมในโลกใบนี้ มาถึงเร็วและรุนแรงกว่าที่หลายๆคนเคยปรามาสเอาไว้

แต่ความตระหนักดังกล่าวแผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้างหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด?

ขณะที่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีตัวแทนจาก 192 ชาติ มาร่วมประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เป็นการประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ หลังจากพิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า

แต่ผลการประชุมคราวนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ยังต้องมีการถกเถียงกันต่อ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของแต่ละ ประเทศ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกได้พอสมควร

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกกันขึ้นมาตลอดเวลาที่มีการพูดกันถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คือเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในปริมาณที่มากเกินไป มีต้นเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าจากการขยายตัวของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป จนการปลูกป่าขึ้นมาเพื่อทดแทนป่าที่สูญเสียไป ทำได้ไม่ทัน

อีกทั้งการบริโภคพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสังคมเมืองและเศรษฐกิจ

พลังงานที่ถูกบริโภคมากที่สุด คือพลังงานจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน การแสวงหาแหล่งพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้องขุดเจาะพื้นโลก ทำให้เกิดโพลงใต้ดินและการเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้บริโภค ก็เป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยตรง

หลายปีมานี้แนวคิดที่จะสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ๆเพื่อนำมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานเดิมที่มาจากซากฟอสซิล จึงมีการพูดถึงกันมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการพูดเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวชั่วครั้งชั่วคราว อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

แต่น้อยครั้งนักที่จะเป็นการพูดเพื่อสร้างความตื่นตัวในระยะยาวคือ สร้างความตระหนักให้ผู้คนคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคพลังงานจากซากฟอสซิล

ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลง ความตื่นตัวของผู้คนที่จะแสวงหาพลังงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดมาใช้ก็ลดลงตามไปด้วย

คำถามที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ตั้งอยู่ในใจมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสมดุลทางธรรมชาติ และไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชน จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระหลัก โดยไม่ต้องมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกมาเป็นตัวแปร?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่สะอาด จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกควรต้องตื่นตัว เพราะมองเห็นว่าการบริโภคพลังงานที่มาจากซากฟอสซิลเพียงอย่างเดียว กำลังบ่อนทำลายโลกใบนี้ไปทีละน้อยทีละน้อย?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทั่วทั้งโลกต้องตระหนัก เพื่อป้องกัน หรือตั้งรับกับหายนภัยใหญ่ๆที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น?

3 คำถามที่เกิดขึ้นข้างต้นยิ่งถูกเร่งเร้าให้รีบหาคำตอบให้ได้โดยเร็วขึ้น ทันทีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ จนเป็นที่มาให้เราต้องเร่งทำเป็นเรื่องจากปกในฉบับนี้

ดังนั้น เรื่องปกของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้จึงอาจดูเป็นเรื่องเชิงนามธรรมหรือเป็นวิชาการไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เราตั้งใจจะนำเสนอ แม้ว่าจะมีเวลาในการแสวงหาข้อมูลอย่างจำกัด วัตถุประสงค์ของเราขอเป็นส่วนหนึ่งหรือแค่เสียงหนึ่งที่ออกมากระตุ้นให้ผู้คนต้องตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้และออกมาร่วมกันหาคำตอบ ให้กับ 3 คำถามที่เราได้ตั้งเอาไว้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว..!!!



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ
27-02-2010, 08:04
ปะการังจะหมดโลกภายใน 100 ปี

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2010/02/26/9fab9f69ed89b85h5jhab.jpg

ผลศึกษาชิ้นใหม่พบว่าแนวปะการังที่งดงามที่สุดในโลกจะตายลงภายในระยะเวลาเพียงแค่ร้อยปีเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ปริมาณกรดในทะเลที่เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้นเป็นตัวการทำลายแนวปะการังอันสวยงามซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักดำน้ำ นักท่องเที่ยว และผู้รักธรรมชาติ

การตายของปะการังยังเป็นหายนะสำหรับพวกปลาและสัตว์ทะเลเขตร้อนอีกด้วย เพราะสัตว์เหล่านี้ใช้แนวปะการังเป็นที่เลี้ยงดูลูกอ่อนและแหล่งหาอาหาร

ดร.เจคอบ ซิลเวอร์แมน จาก สถาบันคาร์เนกี ในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ บอกว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น

ผลการศึกษาของ ดร.ท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า ปะการังจะหยุดเติบโตแล้วเริ่มแตกหักเมื่อปริมาณของก๊าซเรือนกระจกสูงแตะระดับ 2 เท่าของปริมาณที่เคยเป็นในยุคก่อนอุตสาหกรรม แล้วถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็คาดว่าแนวปะการังต่างๆจะตายลงภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง

ดร.ซิลเวอร์แมนยังบอกด้วยว่า ปะการังที่สร้างแนวปะการังใต้น้ำนั้นจะมีความอ่อนไหวต่อความเป็นกรดและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่พวกมันเติบโตอยู่สูงมาก แล้วมหาสมุทรก็ดูดซับเอาก๊าซเรือนกระจกมาจากชั้นบรรยากาศเลยทำให้มีความเป็น กรดมากตามไปด้วย

เมื่อปริมาณของกรดสูงเกินไปก็จะไปขัดขวางปะการังไม่ให้สกัดเอาแร่ธาตุจากน้ำทะเลไปสร้างแนวปะการังที่แข็งแกร่งขึ้นนั่นเอง



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ
28-02-2010, 09:38
รวม 10 เหตุการณ์ ภัยธรณีพิบัติล้างโลก

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/630/67738.jpg

หลังจากที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่เฮติ เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงเดือนกว่าๆเท่านั้น เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา (ตามเวลาในไทย) เกิดแผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งเกาะโอกินาวา ทางภาคใต้ญี่ปุ่น วัดแรงสั่นทะเทือนได้ 6.9 - 7.0 ริกเตอร์

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งที่ประเทศชิลี ก็เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องไม่ทันข้ามวัน คราวนี้วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 8.8 ริกเตอร์ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ธรณีพิบัติที่มีระดับความรุนแรงเป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ขณะที่ยอดของผู้เสียชีวิตล่าสุดตอนนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 150 รายแล้วและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังเกิดเหตุ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการระดมแจ้งเตือนภัยสึนามิไปยังประเทศต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางซีกของทวีปอเมริกาเหนือและใต้, ทวีปเอเชีย รวมถึง ทวีปยุโรปบางส่วน กันจ้าละหวั่น เพื่อให้เตรียมพร้อมและรับมือกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ นับตั้งแต่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1900 เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เช่นกัน โดยคราวนั้น จุดศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ของชิลี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 9.5 ริกเตอร์ และคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 1,600 ราย และอีกกว่า 2 ล้านชีวิต ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

10 อันดับ เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่รุนแรงที่สุด ตั้งแต่ปี 1900 (จากซีเอ็นเอ็น)


อันดับ 1

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_3.jpg

สถานที่ : ทางชายฝั่งตอนใต้ของชิลี
วันที่ : 22 พฤษภาคม 1960
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.5 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ผู้เสีย 1,655 ราย อีก 3,000 ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ จำนวนยอดผู้ไร้ที่อยู่อาศัย มีกว่า 2,000,000 คน


อันดับ 2

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_7.jpg

สถานที่ : ปรินซ์ วิลเลียม เซาวด์, อลาสกา
วันที่ : 28 มีนาคม 1964
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.2 ริกเตอร์
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิต 113 ราย จากผลของสึนามิ ขณะที่อีก 15 ราย เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว

(มีต่อ)

สายน้ำ
28-02-2010, 09:40
อันดับ 3

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_5.jpg

สถานที่ : บริเวณนอกชายฝั่งตะวันตก ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
วันที่ : 29 ธันวาคม 2004
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.1 ริกเตอร์
ความ เสียหาย : มีผู้เสียชีวิตกว่า 227,898 ราย (รวมผู้สูญหายและคาดว่าน่าจะเสียชีวิต) ขณะที่ ประชาชนกว่า 1.7 ล้านคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว และสึนามิ จากทั้งหมด 14 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ แอฟริกาตะวันออก


อันดับ 4

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_9.jpg

สถานที่ : คัมชัตกา เพนินซูลา
วันที่ : 4 พฤศจิกายน 1952
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.0 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต


อันดับ 5

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_2.jpg

สถานที่ : นอกชายฝั่งของ เมาเล ชิลี
วันที่ : 27 มกราคม 2010
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.8
ความเสียหาย : ยังคงอยู่ในการประเมินสถานการณ์


(มีต่อ)

สายน้ำ
28-02-2010, 09:43
อันดับ 6

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_4.jpg

สถานที่ : นอกชายฝั่งของ เอกวาดอร์
วันที่ : 31 มกราคม 1906
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.8 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีการบันทึก


อันดับ 7

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_6.jpg

สถานที่ : เกาะแรท, อลาสกา
วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 1965
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.7 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและ ผู้ได้รับบาดเจ็บ


อันดับ 8

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/02/28/67738_20_8.jpg

สถานที่ : ตอนเหนือเกาะสุมาตรา
วันที่ : 28 มีนาคม 2005
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย


อันดับ 9

สถานที่ : อัสซัม, อินเดีย และ ธิเบต
วันที่ : 15 สิงหาคม 1950
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์​
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 780 ราย แต่อาจยังไม่รวมข้อมูลภายในธิเบต


อันดับ 10

สถานที่ : เกาะ อันเดรียนอฟ, อลาสกา
วันที่ : 9 มีนาคม 1957
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่มีทรัพย์ได้รับความเสียหายจำนวนมาก



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ
02-03-2010, 06:10
จากเฮติ ไปชิลี จากญี่ปุ่น ถึงประเทศไทย

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/03/01/630/68055.jpg

วันที่ 12 ม.ค. 2553 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ยังผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตผู้คนมากมายเหลือคณานับ...

เสียงกู่ร้องและคราบน้ำตายังไม่ทันเหือดหาย วันที่ 27 ก.พ. 2553 ธรณีพิโรธอีกครั้ง วัดระดับความรุนแรงได้ 8.8 ริกเตอร์ ที่ประเทศชิลี ทั้งยังเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องหรือ “อาฟเตอร์ช็อค” ตามมากว่า 50 ครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุดวัดได้ 6.9 ริกเตอร์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่มชายฝั่งชิลี สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชีวิตผู้คนมากมายเป็นประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ขณะท่ี 53 ประเทศและดินแดนทั้งในและรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก ไล่ตั้งแต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮาวาย จนถึงรัสเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ประกาศเตือนภัยจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ” กันอย่างโกลาหล

จากเหตุการณ์ร้ายแรงข้างต้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บอกว่าหลายคนคิดว่าเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับคนไทย เพราะดูเหมือนว่าห่างไกลเหลือเกิน ไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษเพื่อให้รู้เท่าทันกับธรรมชาติพิโรธที่คนไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกๆคนควรรู้

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/03/01/68055_20_4.jpg

Q : เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ แผ่นดินไหว, อาฟเตอร์ช็อค และสึนามิ ที่ชิลี 8.8 ริกเตอร์ คำถามคือ พิบัติภัยร้ายแรงดังกล่าว สะท้อนอะไรกับเราที่อยู่ในประเทศไทยได้บ้าง?

A : มันก็ไม่ได้สะท้อนอะไร นี่เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามธรรมชาติของเขา ซึ่งมันเป็นคนละแผ่นกับเมื่อครั้งที่เกาะสุมาตรา วันที่ 26 ธ.ค. 2547 เป็นผลให้เกิดสึนามิและประเทศไทยมีคนตายมากมาย แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือมันไม่จำเป็นต้องแผ่นเดียวก็ได้ คราวที่แล้วเกิดที่เฮติมันก็เป็นคนละแผ่นกัน การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่มีอยู่อีกประมาณ 20 แผ่น แบ่งเป็นแผ่นเล็กแผ่นใหญ่อยู่ทั่วโลก คือเหมือนกับเวลาเราปอกเปลือกส้ม มันก็มีแผ่นๆที่คลุมโลกอยู่ ซึ่งพอมันชนกันแต่ละที แต่ละแผ่น แน่นอนว่ามันก็จะกระทบกระเทือนไปถึงแผ่นอื่นๆด้วย แต่ความกระทบกระเทือนมันจะมีมาก-น้อยไม่หมือนกัน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ที่เกาะสุมาตรามันมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแถวนั้น ทำให้รอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทยที่ภาคเหนือ เชียงราย-เชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายจุดเกิดอาการมีการเคลื่อนตัวผิดปกติด้วย


Q : เหล่านักวิชาการจากจุฬาฯ การันตีว่าเหตุการณ์สึนามิจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เมื่อพลังงานของโลกที่สะสมจนเกิดแผ่นดินไหวได้ถูกปลดปล่อยไปหมดแล้ว จะไม่เกิดแผ่นดินไหวซ้ำรอยเดิม?

A : เขาก็พูดได้ เพราะว่าเขาตายไปแล้วน่ะ อีก 600 ปี ซึ่งข้อเท็จจริง ผมมีสถิติที่เกิดขึ้นมาตั้ง 8 ครั้งแล้ว ผมส่งสถิติไปให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายท่านดู นี่ไงมันเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นก็คือพวกนี้ไม่มีการศึกษากันมากแล้วก็พูดๆไปอย่างนั้น แต่ข้อมูลไม่มี ทำให้คนเชื่อว่าไม่มี ก็เลยไม่มีการระวังตัว หรืออย่างเรื่องแผ่นดินไหวที่ประเทศไทย ผมทำสถิติไว้หมด จากเมื่อก่อนภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่-เชียงรายเกิดแผ่นดินไหว 1-2 ครั้ง แต่ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือเกิดแผ่นดินไหวเป็นสิบครั้ง แต่ละครั้งก็มีความแรง 5-6-7 ริกเตอร์เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้การเกิดรอยเลื่อนในมหาสมุทรอินเดียเริ่มมีมากขึ้น แม้จะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดสึนามิเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ เราก็ต้องระวังเอาไว้ เพราะการเคลื่อนของเปลือกโลกใหญ่ๆ เช่นอย่างที่เกิดที่ประเทศชิลี ก่อนหน้านั้นมันก็เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ฉะนั้น ธรรมชาติเรายังไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่สามารถรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ หากเกิดขึ้นจะรุนแรงมาก-น้อยแค่ไหนก็ไม่มีทางรู้


Q : รอยเลื่อนในประเทศไทยที่อันตรายมากๆ ที่จะทำให้แผ่นดินไหววันนี้มีอยู่ทั้งหมดกี่รอย?

A : เรามีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 13 รอย ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ที่ จ.กาญจนบุรี มีอยู่ 2 รอย ซึ่งอันตรายพอสมควร แล้วก็ภาคใต้ 2 รอย เหล่านี้ก็ต้องระวัง แต่ที่ผมว่าน่าระวังมากที่สุดก็คือ รอยเลื่อนในมหาสมุทรอินเดีย แถวหมู่เกาะนิโคบา และหมู่เกาะอันดามัน เลื่อนลงไปทางใต้ไปจนถึงเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนใหญ่ ที่มันเคยเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 น่าเป็นห่วง


Q : แสดงว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเกิด เหมือนกับที่นักวิชาการจากสถาบันนิเวศวิทยาจากไอร์แลนด์เหนือ ที่ขึ้นชื่อว่าทำนายเหตุการณ์สึนามิได้แม่นยำมากที่สุด ส่งจดหมายเตือนภัยว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวถล่ม ชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้?

A : ใช่ครับ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเขา แต่ก็มีคนมาต่อว่าผมว่าพูดอะไรทำให้คนตกใจ เจตนาของผมก็คือต้องการให้พวกคุณระวังเอาไว้ เพราะรอยเลื่อนนี้มันมี เขามีการวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ญี่ปุ่นเขาก็มีการวิจัยว่าในอนาคตมันจะเกิด แต่เกิดเมื่อไหร่ไม่ทราบเท่านั้นเอง พอพูดไปคนก็ต่อว่าว่าผมทำลายเศรษฐกิจ จริงๆ ญี่ปุ่นก็เห็นด้วยว่ารอยเลื่อนนี้ มันมีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหว เพราะคราวที่แล้วมันเกิดเฉพาะที่อยู่ทางใต้เท่านั้นเอง ระหว่างหัวเกาะสุมาตราไปทางใต้ เพราะฉะนั้นผลกระทบมันจะไปตกอยู่ที่อินโดนีเชียมาก แต่ถ้ามันเกิดระหว่างหัวเกาะสุมาตราขึ้นมาถึงหัวเกาะอันดามัน มันอยู่ตรงข้ามชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทยเลย แบบที่ผมบอก จ.ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล อันตราย

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/03/01/68055_20_3.jpg

Q : ถ้ามันเกิดขึ้นแบบที่ว่าจริงๆ จินตนาการความเสียหายเอาไว้ไหมว่าจะมหาศาลแค่ไหน?

A: คำนวณง่ายๆ ว่าสึนามิครั้งที่แล้วมันไกลจาก 6 จังหวัดภาคใต้ถึง 1,200 กิโลเมตร แต่รอยเลื่อนอีกเศษ 3 ส่วน 4 มันอยู่ใกล้ประเทศไทยเพียง 300-400 กิโลเมตร ดังนั้นถ้าเกิดสึนามิขึ้น ไม่ว่าจะกี่ริกเตอร์ ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายมากกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน


Q : ตอนนี้เห็นข่าวว่า ศูนย์พิบัติภัยแห่งชาติ ซื้อทุ่นเตือนภัยเตรียมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว?

A : ซื้อแล้วก็จริง แต่ที่สำคัญแถวนี้เรายังไม่ได้วางทุ่นเอาไว้เลย ซึ่งจะวางทุ่นเตือนภัยได้ก็ต้องรอเดือนธันวาคมโน่นเลย ในปีหนึ่งเราจะสามารถวางทุ่นได้ครั้งเดียว คือในเดือนธันวาคมเพราะว่าเป็นเดือนที่มีคลื่นลมมันสงบ ก่อนหน้าเดือนธันวาคมนั้นก็ลำบากหน่อยเพราะว่าไม่มีใครเดาใจแผ่นดินไหวได้ ดังนั้นถ้าเกิดวันนี้พรุ่งนี้เกิดแผ่นดินไหวความเสียหายจะมากกว่าสึนามิครั้งที่แล้วมหาศาลมาก ใช่ครับ พูดไปแล้วผมก็โดนด่าอีก


Q : วันนี้เราพร้อมแค่ไหนที่จะเผชิญกับแผ่นดินไหวและสึนามิที่จะเกิดขึ้น?

A : วิจารณ์พวกเขาเดี๋ยวผมโดนฟ้องอีก นี่อาทิตย์หน้าผมก็ต้องไปขึ้นศาลคดีหมิ่นประมาทที่เขาหาว่าผมให้ไปทำลายชื่อเสียงเขา แต่ถามว่า วันนี้ถ้าติดตั้งทุ่นได้ในเดือนธันวาคมให้เรียบร้อยแล้วอย่างน้อยๆก็ 45 นาทีเราก็รู้ว่ามันจะเกิดสึนามิขึ้นหรือไม่ ประเทศต่างๆอย่าง พม่า อินโดนีเซีย บังกลาเทศ สิงคโปร์ ก็จะได้ประโยชน์ ถึงจะช้าแต่ก็ขอให้ติดเถอะ


Q : ก่อนหน้าเดือนธันวาคมที่เราจะไปติดตั้งทุ่นเตือนภัยที่จุดนั้น ถ้าวันนี้พรุ่งนี้เกิดสึนามิขึ้นเราจะมีวิธีการสังเกตและเอาตัวรอดจากสึนามิได้อย่างไร?

A : ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเท่าที่ควร มีมูลนิธิโดยผมก่อตั้งได้ 6 เดือนแล้ว ซึ่งเราก็อปปี้ระบบของศูนย์พิบัติภัยแห่งชาติ ทำงานคู่ขนานออกไปให้ความรู้กับประชาชนเรื่องสึนามิ ซึ่งเราสามารถออกไปไหนก็ได้ไม่ต้องรอคำสั่งรัฐบาล แต่ตอนนี้ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติมันไม่มีคนทำแล้ว ไม่มีข่าวหรือคำเตือนออกมาเลย ซึ่งอันตรายมากๆ

ทุกๆครั้งที่ผมไปบรรยาย ผมจะบอกว่าให้คุณใช้วิธีสังเกตเหมือนชาวมอร์แกนเมื่อเกิดสึนามิ คือ ถ้ายืนอยู่บนชายฝั่งทะเลหรืออยู่ใกล้ชายฝั่ง รู้สึกถึงการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง หลังจากนั้น 5-10 นาที ให้สังเกตดู ถ้าน้ำลดลงลึกจากชายฝั่ง 50 เมตรก็ให้รีบหาที่สูงเพราะหลังจากนั้นไม่กี่นาที มันจะมีคลื่นลูกแรกมา แค่นี้ก็รอดตาย


Q : ในวัย 73 ปี เหนื่อยและลำบากกับการทำเพื่อคนอื่นไหม?

A : เหนื่อยและก็ลำบากครับ นอกจากจะต้องสู้รบกับพวกนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ว่าเราอยากดังบ้าง แต่ถามว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ไม่หยุดครับ ครั้งที่แล้วผมหยุดคนตายเยอะ ซึ่งพอมีคนมาค้าน ผมก็ไม่ไปภูเก็ต แต่ตอนนี้ถ้ามีคนมาค้านผมจะไม่หยุด ด่าก็ด่าไปให้คนเขารู้กันบ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่คนที่เขาเสียผลประโยชน์ก็ด่าผม ซึ่งผมก็ไม่แคร์


Q : เมื่อเหนื่อย ลำบาก คิดบ้างไหมว่าจะปลดระวางหน้าที่นี้เมื่อไร?

A : ผมทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีแรง สุขภาพมันก็เริ่มแย่ลงไปทุกทีๆ เดินไปไหนมาไหนก็เริ่มเหนื่อย ถามว่าอายุ 80 ปีผมจะหยุดไหม (หัวเราะ) ก็ทำไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะไม่มีแรงไม่มีงบประมาณ.

(มีต่อ)

สายน้ำ
02-03-2010, 06:10
http://www.thairath.co.th/media/content/2010/03/01/68055_20_2.jpg


รวบรวมเหตุการณ์สำคัญของการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโลก

- ภูเขาไฟพีนาตูโบ ( Pinatubo ) อยู่ทางใต้ของเกาะลูซอน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา เกิดระเบิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) หลังการระเบิดครั้งล่าสุดเป็นร้อยปี

- แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในโลก คือ แผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี (The Great Chile Earthquake) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) มีความรุนแรง 9.5 ริคเตอร์ ประชาชนเสียชีวิต 5,700 คน สูญหาย 717 คน และทำให้เกิดคลื่นสึนามิไปถึงเกาะฮาวายและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไกลถึง 6,600 ไมล์ มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคน มูลค่าความเสียหาย 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คลื่นสึนามิยังข้ามไปถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้แผ่นดินไหวในประเทศชิลียังเกิดขึ้นต่อมาอีกในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1995) การเกิดแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งเกิดมีคลื่นสึนามิตามมาด้วย ระยะห่างครั้งที่ 1 กับ 2 เป็นเวลา 25 ปี, ครั้งที่ 2 กับ 3 เป็นเวลา 10 ปี ครั้งต่อไปจะอยู่ในระหว่าง 2005 - 2015

- การเกิดระเบิดของภูเขาไฟเซนท์เฮเลนส์ ( Eruption of Mount Saint Helens ) เมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ( ค.ศ. 1980 ) หลังจากที่เคยระเบิดเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2374 และ 2400 (ค.ศ. 1831 และ 1875 ) การระเบิดครั้งล่าสุด ได้พ่นเถ้าถ่านถึง 550 ล้านตัน กระจายครอบคลุมถึง 22,000 ตารางไมล์ ระยะห่างจากการระเบิดครั้งที่ 1 กับ 2 เป็นเวลา 20 ปี และระหว่างครั้งที่ 2 กับ 3 เป็นเวลา 29 ปี 8 เดือน ครั้งต่อไปจะเกิดประมาณ ปี 2009


การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญของโลก

- ปี ค.ศ. 1929 ที่แกรนแบงค์ ประเทศแคนาดา จากการเกิด แผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ ความเสียหาย 400,000 เหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1946 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ ความเสียหาย 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1952 ที่รัสเซีย ความเสียหาย เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ความเสียหาย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1957 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 8.3 ริกเตอร์ความเสียหาย 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1960 ที่ประเทศชิลี จากการเกิดแผ่นดินไหว 9.6 ริกเตอร์ ความเสียหาย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1964 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 8.4 ริกเตอร์ ความสียหาย 106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


การเกิดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในอดีต

สึนามิ ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคนี้ ( เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ) หลายครั้งในอดีต จากบันทึกที่เก่าแก่ที่สุด หรือก่อน ค.ศ. 326 เกิดแผ่นดินไหวใกล้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำสินธุ อินเดีย ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ ทำลายกองเรืออันเกรียงไกรของอาณาจักรมาซิโดเนีย ของกษัตริย์ อเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับประเทศกรีก หลังจากเสร็จสิ้นสงครามขยายอาณาจักร ( Lietzin 1974 )

ค.ศ. 1524 แผ่นดินไหวไม่ทราบจุดศูนย์กลางที่ชัดเจน ทำให้เกิดสึนามิที่ใกล้เมือง Dabhol รัฐ Maharashtra ประเทศอินเดีย เมษายน 1762 แผ่นดินไหวที่ชายฝั่งอารากัน ประเทศพม่า ส่งผลให้เกิดสึนามิทำความเสียหายกับชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล

ค.ศ. 1797 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.4 บริเวณตอนกลางของเกาะสุมาตราทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ท่วมเมือง Padang มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน

ค.ศ. 1883 แผ่นดินไหวขนาด 8.7 ตอนใต้ของเกาะสมาตราทางทิศตะวันตก ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่ดังกล่าวและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ค.ศ. 1843 ไม่ปรากฏบันทึกการเกิดแผ่นดินไหว แต่มีคลื่นขนาดใหญ่ เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งเกาะ Nias และมีรายงานการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

ค.ศ. 1861 แผ่นดินไหวขนาด 8.5 ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

ค.ศ. 1881 แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 1 เมตร กระแทกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินเดีย

27 สิงหาคม ค.ศ. 1883 เวลาเช้าตรู่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa ที่ประเทศอินโดนีเซีย การระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง เป็นผลให้ปากปล่องภูเขาไฟ Krakatoa ถูกทำลายยังผลให้เกิดคลื่นยักษ์ทั่วบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ความสูงของคลื่นที่เกาะชวาและสุมาตรา มีความสูงถึง 15-42 เมตร และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คน.



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 2 มีนาคม 2553

สายน้ำ
25-04-2010, 08:31
รู้ได้อย่างไรเมื่อ “ภูเขาไฟ” จะระเบิด?

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834001.JPEG
นักท่องเที่ยวแห่ชมการประทุลาวาของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “ฟิมม์วอร์ดูฮอลส์” (Fimmvorduhals) ในไอซ์แลนด์เมื่อเดือน มี.ค. (เอเอฟพี)

แม้การประทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์จะไม่คร่าชีวิตผู้คนโดยตรง แต่ได้สร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลก โดยเฉพาะการสัญจรทางอากาศในยุโรปต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเถ้าถ่านที่พวยพุ่งออกมาอาจสร้างความเสียหายต่อเครื่องบินได้ หากแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ยังส่งสัญญาณเตือนให้คนเราเตรียมรับมือได้ทัน

เราไม่อาจคาดการณ์แผ่นดินไหวได้ล่วงหน้า แต่สำหรับภูเขาไฟแล้ว ความคุกรุ่นที่ก่อตัวอยู่ภายในได้ส่งสัญญาณให้เรารู้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดการระเบิดขึ้นหรือไม่ บางครั้งความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นล่วงหน้านานเป็นปี ซึ่งเพียงพอที่จะอพยพผู้คนให้หลบออกมาอยู่ในสถานที่อันปลอดภัย โดยวิธีกว้างๆ ในการเฝ้าระวังการระทุของภูเขาไฟ คือการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยารอบๆภูเขาไฟ

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834002.JPEG
ชายในภาพบันทึกเถ้าจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “เอยาฟยาลาเยอคูล” - เอเอฟพี


แรงสั่นสะเทือนสัญญาณเตือน ภูเขาไฟระเบิด

การสั่นสะเทือนรอบภูเขาไฟนั้น มักเกิดขึ้นเมื่อภูเขาไฟตื่นจากความสงบและเตรียมที่จะปะทุ ภูเขาไฟบางลูกมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อยเป็นปกติ แต่การสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นสัญญาณของการระเบิดที่รุนแรง อีกทั้งประเภทของแผ่นดินไหว จุดกำเนิดกับจุดสุดท้ายของแผ่นดินไหวยังเป็นสัญญาณบ่งบอกการประทุของภูเขาไฟเช่นกัน

ทั้งนี้ การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟนั้นมี 3 รูปแบบหลักๆ คือ

1. แผ่นดินไหวคาบสั้น (short-period earthquake) ซึ่งคล้ายกับแผ่นดินไหวทั่วไปที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก โดยการสั่นสะเทือนนี้เกิดจากการแตกหักของหินเปราะเนื่องจากการเคลื่อนตัวสู่ด้านบนของหินหนืดแมกมา (magma) และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการขยายตัวของแมกมาใกล้ๆพื้นผิวโลก

2. แผ่นดินไหวคาบยาว (long-period earthquake) เชื่อว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงดันก๊าซที่เพิ่มขึ้นในปล่องภูเขาไฟ ซึ่งการสั่นนี้เทียบเท่ากับการสั่นไหวของเสียงในปล่องที่เต็มไปด้วยแมกมา และ

3.แผ่นดินไหวแบบสอดประสาน (harmonic tremor) ซึ่งมักเกิดจากแมกมาดันหินจำนวนมากที่อยู่ใต้พ้นผิวโลก และบางครั้งการสั่นสะเทือนนั้นรุนแรงพอที่คนและสัตว์จะได้ยินเสียงฮัมหรือเสียงหึ่งๆ

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834003.JPEG
ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “เอยาฟยาลาเยอคูล” ประทุพ่นเถ้าภูเขาไฟสู่บรรยากาศ (เอเอฟพี)

แม้รูปแบบของการสั่นสะเทือนจะซับซ้อนและบางครั้งอธิบายได้ยาก แต่การสั่นสะเทือนที่มากขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ดีในการบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ภูเขาไฟจะระเบิดมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดการสั่นสะเทือนแบบแผ่นไหวคาบยาว อย่างเด่นชัดและมีแผ่นดินไหวแบบสอดประสานร่วมด้วย

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834004.JPEG
นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างเถ้าภูเขาไฟไปวิเคราะห์ (เอเอฟพี)

(มีต่อ)

สายน้ำ
25-04-2010, 08:36
รู้ได้อย่างไรเมื่อ “ภูเขาไฟ” จะระเบิด? (ต่อ)


http://pics.manager.co.th/Images/553000005834005.JPEG
ฟ้าผ่าระหว่างการประทุของเถ้า ภูเขาไฟ “เอยาฟยาลาเยอคูล” (เอพี)


วัดการปลดปล่อย “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์”

การปลดปล่อยของก๊าซบางชนิด ยังเป็นสัญญาณเตือนก่อนภูเขาไฟระเบิด เนื่องจากเมื่อแมกมาเข้าใกล้พื้นผิวโลกมากขึ้นจะมีก๊าซออกมา ซึ่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulphur dioxide) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของก๊าซภูเขาไฟ และเป็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของแมกมาใกล้ๆพื้นผิว

ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟพินาตูโบ (Mount Pinatubo) ในฟิลิปปินส์ ได้เริ่มปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค.1991 จากนั้นอีกเพียง 2 สัปดาห์ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตัน หรือ 10 เท่าของปริมาณที่ปลดปล่อยออกมาในช่วงแรก และในวันที่ 12 มิ.ย.ปีเดียวกันภูเขาไฟจริงระเบิดออกมา

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834006.JPEG
ภาพจากดาวเทียม MODIS เผยให้เห็นเถ้าภูเขาไฟสีน้ำตาลพวยพุ่งสู่บรรยากาศ (เอเอฟพี/นาซา)

อย่างไรก็ดี ยังมีหลักฐานหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลดลงนั้นป็นสัญญาณก่อนที่ภูเขาไฟจะระเบิด เช่น กรณีการระเบิดของภูเขาไฟกาเลรัส (Galeras) ในโคลัมเบีย เมื่อปี 1993 โดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าปริมาณก๊าซที่ลดลงนั้นมีสาเหตุจากแมกมาที่แข็งตัวกักเส้นทางออกของก๊าซไว้ และทำให้ความดันปล่องภูเขาไฟเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การระเบิดที่รุนแรง

นอกจากการตรวจวัดแผ่นดินไหวและการเฝ้าสังเกตก๊าซที่ถูกพ่นออกมาแล้ว ยังมีการตรวจวัดอื่นๆที่นำไปสู่การพยากรณ์การระเบิดของภูเขาไฟ เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของภูเขาไฟ ทั้งการพองตัวขึ้นหรือการยุบตัวลง การศึกษาทางอุทกวิทยา โดยตรวจวัดการไหลของลาฮาร์ (lahar) ซึ่งเป็นของเหลวและโคลนที่ไหลมาตามความลาดชันของภูเขาไฟ เป็นต้น.

http://pics.manager.co.th/Images/553000005834007.JPEG
ภาพเรดาร์เผยให้เห็นปล่องภูเขาไฟ “เอยาฟยาลาเยอคูล” 3 ปล่อง (เอเอฟพี)



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2553

สายน้ำ
25-04-2010, 08:41
ทำไมเครื่องบินเฉียดใกล้เถ้าภูเขาไฟไม่ได้?


http://pics.manager.co.th/Images/553000005833701.JPEG
เครื่องบินจอดนิ่งอยู่ที่สนามบินในลอนดอน (เอเอฟพี)

จากเหตุประทุของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ ซึ่งมีเถ้าถ่านปริมาณมากพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความสูงหลายกิโลเมตร และพัดสู่น่านฟ้าของหลายประเทศในแถบยุโรป จนสายการบินต่างๆต้องหยุดให้บริการ กระทบต่อผู้โดยสารหลายหมื่นราย หลายคนอาจสงสัยว่าอนุภาคจิ๋วๆจากปล่องภูเขาไฟนั้นจะส่งผลกระทบต่อเครื่องบินลำใหญ่ได้จริงหรือ

แกรนท์ มาร์ติน (Grant Martin) บลอกเกอร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินและการขนส่งและเป็นวิศวกรวัสดุด้วยนั้น ได้ไขข้อข้องใจดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ Gadling.com ที่เขาเป็นบรรณาธิการว่า เถ้าภูเขาไฟปริมาณมหาศาลนั้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อสมรรถนะการบินของเครื่องบิน หากอนุภาคขนาดเล็กจากภูเขาไฟนี้หลุดเข้าสู่รูระบายความร้อนแล้ว จะเป็นเหตุให้ความดันและอุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อเครื่องยนต์ภายในได้

ดังนั้น สายการบินต่างๆจึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เริ่มต้นอันจะนำไปสู่กลไกการทำงานของเครื่องยนต์ที่ผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อเครื่องยนต์ในทันที และจะคุกคามความปลอดภัยของเครื่องบินด้วย ขณะที่เถ้าภูเขาไฟปริมาณน้อยๆจะส่งผลเสียระยะยาวต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์

http://pics.manager.co.th/Images/553000005833702.JPEG
ผู้โดยสารตกค้างจากการปิดน่านฟ้าในยุโรปเนื่องจากเถ้าภูเขาไฟเป็นอันตรายต่อการบิน (เอเอฟพี)

มาร์ตินยกตัวอย่างเครื่องยนต์เผาไหม้ ซึ่งถูกใช้ที่อุณหภูมิสูงมากพอที่จะละลายโลหะส่วนใหญ่ ดังนั้นวัสดุที่จะนำมาประกอบเครื่องยนต์นี้จึงได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อความร้อนได้เป็นพิเศษ และใบพัดเครื่องยนต์ซึ่งมักได้รับความร้อนเกินกว่า 1,400 องศาเซลเซียสนั้นจะถูกเคลือบด้วยสารพิเศษที่เรียกว่า TBC (Thermal Barrier Coating) เพื่อป้องกันความร้อนที่สูงเกิน กล่าวโดยย่อคือ TBC ป้องกันไม่ให้ใบพัดละลายนั่นเอง

TBC ปกป้องใบพัดไม่ให้ละลายได้เพราะโครงสร้างเล็กๆของสารเคลือบที่มีรูพรุนและมีความหนาแน่นน้อย เพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อนมากเกินไป แต่ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้สารเคลือบมีแนวโน้มที่จะถูกอนุภาคแปลกปลอม อย่างอนุภาคแคลเซียมแมกนีเชียมอะลูมิโนซิลิเกต (CMAS) ซึ่งมีคล้ายกับเม็ดทราย หรือเถ้าภูเขาไฟแทรกซึมสารเคลือบกันความร้อนนี้ได้

เมื่อเวลาล่วงไปอนุภาคเหล่านั้นจะฝังตัวอยู่ในรูพรุนของสารเคลือบ TBC และคงอยู่โดยที่เครื่องยนต์ได้รับความร้อนสลับกับความเย็นซ้ำไปซ้ำมา ทุกครั้งที่เครื่องยนต์ร้อนและเย็นสลับไปมาเป็นวัฏจักรนี้จะสร้างความเครียด (strain) ระหว่างวัสดุทั้งสอง คล้ายกับการแช่แข็งขวดที่ปิดผนึกแน่นซึ่งมีโอกาสระเบิดได้ และหากสารเคลือบเสียหาย ความร้อนจะไหลเข้าสู่ใบพัดได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้วัสดุละลายและเป็นสาเหตุหายนะได้

ด้วยปริมาณเถ้าภูเขาไฟมหาศาลทำให้เกิดความเสียหายได้เร็วขึ้น แต่สารเคลือบ TBC ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความเสียหายระยะยาวเท่านั้น อีกทั้งเรายังไม่ทราบว่าเถ้าภูเขาไฟจะส่งผลระยะยาวอะไรบ้าง มีเพียงการทดสอบผลกระทบทั้งหมดที่ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์เท่านั้นที่จะให้คำตอบได้



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2553

สายน้ำ
26-04-2010, 07:29
ภูเขาไฟ


การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟแต่ละครั้ง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อมวลมนุษยชาติ และธรณีวิทยาโลกที่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานนับล้านล้านปี

ภูเขาไฟที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในโลก น่าจะเป็นภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ในอิตาลี ซึ่งระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อปี ค.ศ.79 กลืนเมืองปอมเปอีไปทั้งเมือง มีผู้เสียชีวิต 10,000 คน

การระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา (Tamboea) ที่อินโดนีเซีย เมื่อเดือน เม.ย.ปี 1816 ก็รุนแรงไม่แพ้กัน มีคนตายไปถึง 92,000 คน เสียงการระเบิดได้ยินไปไกลหลายพันไมล์ และที่ลืมไม่ได้ คือแทมโบรา ทำให้สภาพอากาศของยุโรปสมัยนั้นแปรปรวนอย่างหนัก ปี 1816 ของยุโรปกลายเป็นปีที่ไม่มีฤดูร้อน เพราะการระเบิดปล่อยเถ้าถ่านจำนวนมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้แสงอาทิตย์สาดส่องลงมายังโลกได้น้อยลง นำมาซึ่งโรคระบาด ความอดอยาก และความยากจน แพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ

เช่นเดียวกับการระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบ (Pinatubo) ในปี 1991 ที่ปล่อยเถ้าถ่านมหาศาลปกคลุมทั่วท้องฟ้า ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงอยู่นานหลายเดือน

ขณะที่การระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว (Mount Krakatoa) ในอินโดนีเซีย ปี 1883 รุนแรงขนาดได้ยินเสียงระเบิดไปไกลถึงออสเตรเลีย มีคนตายราว 36,000 คน คาดว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ

ส่วนภูเขาไฟปีลี (Mount Pelee) ของมาร์ตินีก ประเทศในหมู่เกาะเวสต์อินดีส์ ระเบิดเมื่อปี 1902 มีคนตายกว่า 29,000 คน

ย้อนไปช่วงปี 1783-1784 เกิดการระเบิดของภูเขาไฟลากี (Laki) ในไอซ์แลนด์ พ่นเถ้าควันพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมหาศาลกว่า 120 ล้านตัน ทำให้มีคนตายหลายพันคนทั่วยุโรป

แต่การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟที่ว่ากันว่ารุนแรงสุดในประวัติศาสตร์โลก คือเมื่อประมาณ 71,000 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ประเมินกันว่าการระเบิดของภูเขาไฟโทบา (Toba) บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย น่าจะปล่อยเถ้าถ่านออกมากว่า 2,800 ลูกบาศก์กิโลเมตร แรงดันมหาศาลจากการระเบิดทำให้ลาวาพุ่งไปไกลถึงภาคใต้ของอินเดีย ที่อยู่ห่างออกไป 3,000 กิโลเมตร และต้องใช้เวลานาน 6 ปี กว่าลาวาทั้งหมดที่พ่นออกมาจากปากปล่องจะมอดดับ

จากการศึกษาพบว่า การระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ลูกนี้ ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 3-3.5 องศาเซลเซียส และสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง.



จาก : ไทยโพสต์ คอลัมน์ โลกน่ารู้ วันที่ 26 เมษายน 2553

สายน้ำ
27-04-2010, 07:26
ภูเขาไฟฯ ปะทุ... ธารน้ำแข็งละลาย!! จับตาอุทกภัย...ไทยเสี่ยง?

http://www.dailynews.co.th/content/images/1004/27/4/v260.jpg

ช่วงนี้ภัยธรรมชาติบนโลกมนุษย์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่ประเทศจีน หรือล่าสุดเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล ทางตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ระเบิดปะทุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันและเถ้าละอองปลิวฟุ้งขึ้นเต็มท้องฟ้าก่อให้เกิดอันตรายกับเครื่องยนต์ไอพ่นของเครื่องบินโดยสารจนประเทศในแถบยุโรปประกาศปิดน่านฟ้า สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการบินจำนวนมากจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

การปะทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ครั้งนี้ เกิดห่างจากเมืองเรคยาวิกไปทางตะวันออกราว 120 กม. ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือนจากการปะทุเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเคยสงบเงียบมานานเกือบ 200 ปี โดยปรากฏการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อการสัญจรทางอากาศครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เหตุวินาศกรรมปี 2544 เป็นต้นมาแล้ว หลายคนยังกังวลว่าการเกิดเหตุดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง อันเนื่องมาจากความร้อนของลาวาที่ปะทุจะส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลาย!!

สาเหตุหลักของการเกิดระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งที่ไอซ์แลนด์บ่อยครั้งมี 2 สาเหตุ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้าน ฟิสิกส์ ให้ความรู้ว่า สาเหตุที่หนึ่งเกิดจากการที่เกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนจุดที่เรียก ว่า “จุดร้อน” (Hot Spot) ซึ่งเป็นบริเวณที่แมกมาจากที่ ลึกลงไปจากพื้นโลกมากกว่า 2,000 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาที่พื้นผิวและผลักดันให้พื้นดินบริเวณนั้นสูงขึ้นเป็นภูเขาไฟ คล้ายคลึงกับการเกิดที่เกาะฮาวาย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เกาะไอซ์แลนด์ไม่มีร่องรอยของเกาะภูเขาไฟโบราณปรากฏหลงเหลือให้เห็น ในขณะที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไป

สาเหตุที่สองคือเกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนขอบของแผ่นเปลือกโลกที่แยกออกจากกัน คือแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย และแผ่นเปลือกโลก อเมริกาเหนือ เมื่อทั้งสองแผ่นแยกออกจากกันจะทำให้แมกมาที่กักอยู่ใต้พื้นโลกลึกไม่เกิน 20 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาปรากฏที่พื้นโลก ซึ่งโดยปกติแล้วการแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกจะทำให้เกิดเป็นแนวเทือกเขา ภูเขาไฟใต้น้ำที่ไม่ค่อยโผล่พ้นผิวน้ำมากเท่าไหร่ การปะทุมักจะไม่รุนแรง

ความสลับซับซ้อนทางธรณีของพื้นผิวบริเวณนี้ทำให้พื้นที่บริเวณเกาะไอซ์แลนด์ มีภูเขาไฟมากถึง 130 ลูก และได้ปะทุไปแล้ว 18 ลูก การปะทุของภูเขาไฟบริเวณนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมีการประมาณกันว่าประมาณ 1 ใน 3 ของลาวาที่ออกมาที่ผิวโลกอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้

นอกจากบริเวณเกาะไอซ์แลนด์แล้วยังมีพื้นที่เสี่ยงที่มีความเป็นไปได้อีก เนื่องจากภูเขาไฟมีอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยที่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปะทุของภูเขาไฟบ่อยครั้ง และอยู่ทางภาคใต้ไม่ห่างจากประเทศไทยมากเท่าใด ซึ่งในปี ค.ศ.1991 การระเบิดของภูเขาไฟพินาทุโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็เป็นการระเบิดที่รุนแรงและส่งผลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีภูเขาไฟอยู่มาก

อย่างไรก็ตามภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งมีความรุนแรงมากกว่าลักษณะอื่นหรือ ไม่ รศ.ดร.วีระชัย ให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วการระเบิดของภูเขาไฟมีความรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น การระเบิดของภูเขาไฟมีสองชนิดหลักด้วยกัน คือ การระเบิดที่รุนแรงที่พ่นเอาเถ้า ควัน ฝุ่นต่างๆ ขึ้นไปในอากาศ กับอีกประเภทหนึ่งคือปล่อยเอาเฉพาะลาวาออกมา พวกนี้จะไม่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศมากเท่ากับชนิดแรก อาจจะดูเป็นแสงไฟสวยงามในตอนกลางคืน

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูลครั้งนี้ถือเป็นการระเบิดที่รุนแรงอยู่แล้วและรุนแรงมากขึ้น เพราะมีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ไปอุดช่องปะทุของมัน ทำให้ความดันที่สะสมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมจากธารน้ำแข็งละลายอีกด้วย

ดังนั้นจึงต้องรอลุ้นเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสำคัญและศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยเราจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป.


ผลกระทบจาก 'เถ้าภูเขาไฟ'

วเรศ วีระสัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง และการฟุ้งกระจายของเถ้าภูเขาไฟว่า เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีฟิสิกส์ที่ซับซ้อนรุนแรง โดยเถ้าภูเขาไฟเกิดจากการที่ลาวาปลดปล่อยก๊าซออกมา เมื่อลาวาร้อนไปสัมผัสกับน้ำจึงทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟปะทุพ่นฝุ่นควันภูเขาไฟออกมาเป็นจำนวนมาก ลาวาร้อนที่พ่นขึ้นมา เมื่อสัมผัสกับความเย็นจะกลายเป็นเศษหินและเศษแก้ว ส่วนฝุ่นควันที่พวยพุ่งขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นขี้เถ้ากับไอน้ำ

ลักษณะการฟุ้งกระจายและการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศของเถ้าภูเขาไฟ จะขึ้นอยู่กับลักษณะการประทุ ทิศทางลมที่ชั้นความสูงต่างๆ สภาพทางอุตุนิยมวิทยา แรงโน้มถ่วงของโลก และที่สำคัญคือ ขนาดของมวลสารและความหนาแน่น ซึ่งถ้าเป็นเถ้าภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ก็จะฟุ้งกระจายไม่นาน และจะตกลงสู่พื้นดินหรือมหาสมุทร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เถ้าภูเขาไฟมีขนาดเล็กประกอบกับอิทธิพลของลมที่เคลื่อน ที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

สำหรับสาเหตุที่เถ้าภูเขาไฟส่งผลกระทบต่อการบิน เนื่องมาจากเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้สามารถลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศที่สูง ซึ่งเป็นชั้นที่การบินใช้เป็นเส้นทางจราจร เมื่อเครื่องบินบินผ่านเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้ เครื่องบินจึงเปรียบเสมือนถูกทรายพ่นใส่ส่งผลให้ลำตัวเครื่องบินและเครื่องจักรเกิดความเสียหาย



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2553

สายน้ำ
27-04-2010, 07:30
ภูเขาไฟระเบิดและภัย "โลกร้อน"

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/04/col02270453p1.jpg

การระเบิดของภูเขาไฟ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การระเบิดของ "ภูเขาไฟ" ได้เพิ่ม "คาร์บอนไดออกไซด์" ในชั้นบรรยากาศ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ผลกระทบจากระเบิดของภูเขาไฟต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่าน้อยมาก

กล่าวคือ การระเบิดของภูเขาไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศราว 110-250 ตันต่อปี

ในขณะที่กิจกรรมของมนุษย์นั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่านั้นเป็นร้อยเท่า

การระเบิดของภูเขาไฟจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น หรือจะมีส่วนต่อความแปรปรวนตามธรรมชาติของสภาพภูมิอากาศหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากการระเบิดรุนแรงมากพอ ก็จะทำให้ฝุ่นละอองก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือก๊าซที่เป็นกรดชนิดต่างๆกระจายขึ้นสู่บรรยากาศชั้น "สตราโตสเฟียร์" และแผ่ปกคลุมโลกภายในไม่กี่สัปดาห์ และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี

"ละออง เถ้า" ขนาดเล็กที่อยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์จะสะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์บางส่วนกลับออกสู่อวกาศแทนที่จะลงสู่พื้นผิวโลก ก๊าซที่เป็นกรดซัลเฟอร์เมื่อรวมตัวกับน้ำในชั้นบรรยากาศกลายเป็นละอองลอย (aerosols) ที่ดูดซับรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์และสะท้อนรังสีเหล่านั้นกลับออกสู่อวกาศ การสะท้อนของรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่มายังพื้นผิวโลกนี้เป็นผลทำให้ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลง

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/04/col02270453p2.jpg

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลงชั่วคราวนั้นได้เกิดขึ้นในหลายๆโอกาสด้วยกันในช่วง 600 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่รู้จักกันมากที่สุดและเกิดขึ้นในปี 2534 คือ การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ "พินาตูโบ" ในฟิลิปปินส์ ที่ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ราว 17 ล้านตัน และละอองเถ้าขนาดเล็กขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูง 40 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกภายใน 3 สัปดาห์ กลุ่มควันภูเขาไฟก็ได้แผ่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลง 0.4 องศาเซลเซียส การลดลงของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกดังกล่าวมีต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี

ล่าสุดกลุ่มควันที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ "Eyjafjallajokull" (เอยาฟยาลาโยกูล) ในประเทศไอซ์แลนด์ที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง ยังลอยขึ้นไปไม่ถึงชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์

นอกจากนี้ การระเบิดที่เกิดขึ้นมิได้ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล ดังนั้น อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ยกเว้นเสียแต่ว่าการระเบิดจะรุนแรงมากขึ้น หรือมีช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ผลกระทบทางด้านสภาพภูมิอากาศอาจเกิดในวงที่กว้างขึ้นได้

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นการลดลงของอุณภูมิผิวโลกจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และไม่อาจชดเชยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นที่การกระทำของมนุษย์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์และการทำลายป่าไม้



จาก : ข่าวสด (ข้อมูล : ธารา บัวคำศรี "กรีนพีซ"เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) วันที่ 27 เมษายน 2553

สายน้ำ
28-04-2010, 07:53
"สมิทธ"เผยจุดจบโลกใกล้มาถึง หลังเผชิญสารพัดภัยพิบัติ โอกาสล่มสลายเร็วกว่าคาด เตือนไทยสึนามิเข้าอีก

http://www.matichon.co.th/online/2010/04/12723480581272348538l.jpg
ดร.สมิทธ ธรรมสโรช

ที่โรงแรมดุสิต ปริ้นเซส อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายวิทยา กามนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ "เติมน้ำ ต้านแล้ง" ที่จัดขึ้นโดยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ โดยทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ , อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยากรมชลประทาน มาเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุของการเกิดภัยแล้งในประเทศ รวมถึงแนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.สมิทธ เปิดเผยว่า จากสภาพภมิอากาศขณะนี้ สถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะในบางจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย อย่างเช่นที่จังหวัดลำปาง อุณภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเชียส เมื่อ 2 - 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็อุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า สภาพอากาศต่อจากนี้ไปของประเทศจะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะการที่อุณภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไปนั้น ตามหลักวิชาการจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน หรือที่เรียกว่า ฮีทเวฟ ซึ่งคลื่นความร้อนดังกล่าวสามารถทำให้คนที่ได้รับคลื่นความร้อนนี้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตบ้างแล้ว

ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวต่อว่า หากสภาพอากาศยังมีลักษณะเช่นนี้ยาวไปถึงปีหน้า ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่พลเมืองโลกและการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยาการศมากเกินไป ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นอย่างนี้ทั่วโลกส่งผลให้อุณหภูมิที่ห่อหุ้มโลกสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อันดับแรกทุกคนจะต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาให้ได้มากที่สุด และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวดูดทรัพย์ก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้แนวโน้มความรุนแรงของสภาพอากาศจะยิ่งสูงขึ้นอีกในปีต่อๆไป โดยเฉพาะในปี 2554 ที่กำลังจะมาถึงจะมีปรากฏการเอลนินโญ่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยิ่งจะทำให้สภาพอากาศเลวร้ายและประชาชนจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งและเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นอีก นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในหลายประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อน แต่ก็มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน เนื่องจากมีการพยากรณ์ว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือก โลกในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจจะเกิดคลื่นสึนามิในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยขึ้นได้ ดังนั้นการจัดทำระบบเตือนภัยต่างๆจึงต้องมีการเตรียมพร้อมไว้อย่างดีและประชาชนเองก็ต้องมีความตื่นตัวที่จะเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจะเกิดขึ้น

ดร.สมิทธฯ กล่าวอีกว่า เหตุการที่เกิด ขึ้นทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในหลายประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าจุดจบของโลกใกล้เข้ามามากขึ้นทุกที ซึ่งมีสถาบันต่างๆจากหลายประเทศคาดการณ์ว่าโอกาสที่จะเกิดการล่มสลายของโลกจะเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทยอาจจะทำให้รอยเลื่อนที่มีอยู่ในไทยจำนวน 13 แห่งโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเคยมีการเคลื่อนตัวจนทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอดีต ก็อาจจะได้รับผลกระทบและเกิดขึ้นซ้ำอีกได้



จาก : มติชน วันที่ 28 เมษายน 2553

สายน้ำ
18-05-2010, 06:53
ที่มา"ภูเขาไฟระเบิด" ไทยรอดตัว-จับตาอินโดฯ


http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/05/tec02180553p1.jpg

จากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์และปะทุต่อเนื่อง ทำให้เกิดเถ้าภูเขาไฟฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างในแถบยุโรปตะวันตก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและธุรกิจการบินอย่างมากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงปรากฏ การณ์ภัยธรรมชาติดังกล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะการแปรสัณฐานเปลือกโลกแล้วภูเขาไฟในบริเวณไอซ์แลนด์ไม่ควรระเบิดรุนแรงขนาดนี้ แต่ว่าในกรณีนี้เป็น "ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง" คือมีชั้นน้ำแข็งหนาปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานมาก จึงระเบิดอย่างรุนแรง

"ภูเขาไฟแบ่งได้ง่ายๆ 2 แบบ คือ

1.ภูเขาไฟที่ระเบิดรุนแรง เช่น ภูเขาไฟกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนในอเมริกา ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกันหรือมุดเข้าหากัน และ

2.ภูเขาไฟที่ระเบิดไม่รุนแรง เช่น ภูเขาไฟไอซ์แลนด์ เพราะเกิดในบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกแยกตัวออกจากกัน หรือเกิดจากการปะทุขึ้นมาของจุดร้อน (hot spot) ใต้โลก เช่น ภูเขาไฟฮาวาย

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/05/tec02180553p2.jpg

แต่สำหรับการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ คือเป็นภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง "ไอย์ยาฟยัลลาโยกูล" มีชั้นน้ำแข็งที่หนามากมาปิดทับปล่องด้านบนอยู่ จึงทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนและแรงดันจำนวนมหาศาลอยู่ภายใน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อพลังงานที่สะสมใต้โลกมีมากจนเกินรับไหว จึงเกิดแรงดันจนน้ำแข็งที่ปิดทับอยู่ถูกดันให้แตกออกจนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง เถ้าถ่านร้อนที่อยู่ในหินละลายลาวาก็ฟุ้งกระจายไปทั่ว

นอกจากนี้ แรงดันและพลังงานความร้อนที่ปะทุออกมายังมีผลทำให้น้ำแข็งบริเวณรอยแยกกลางเกาะไอซ์แลนด์ละลายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

เมื่อน้ำแข็งและน้ำเย็นไหลมาผสมกับหินละลายก่อให้เกิดเถ้าภูเขาไฟจำนวนมาก โดยเถ้าภูเขาไฟขนาดใหญ่จะฟุ้งกระจายไม่นานและตกลงในมหาสมุทร ขณะที่เถ้าภูเขาไฟขนาดเล็กจะฟุ้งและเคลื่อนตัวไปได้ไกลมาก

การระเบิดของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ด้วยอิทธิพลของ "ลม" ที่เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หลายประเทศในแถบยุโรปตะวันตกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบิน เพราะเถ้าเหล่านี้ไม่เพียงทำลายทัศนวิสัย แต่ยังมีผลให้เครื่องจักรต่างๆในเครื่องบินเสียหายด้วย"

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/05/tec02180553p3.jpg

รศ.ดร.ปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันนักธรณีวิทยาบอกได้เพียงว่ามีภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่บริเวณใดบ้าง แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถทำนายถูกต้องแม่นยำว่าภูเขาไฟจะระเบิดเมื่อใด ส่วนภูเขาไฟในประเทศไทยเป็นชนิดที่ดับสนิทตั้งแต่เมื่อห้าแสนปีที่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลใจ

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ คือภัยจากแผ่นดินไหวและฝุ่นควันฟุ้งกระจาย เช่น ภูเขาไฟละแวกใกล้เคียงที่ต้องจับตามอง อาทิ ภูเขาไฟกรากะตัวของอินโดนีเซีย ที่เคยระเบิดเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2426 ซึ่งครั้งนั้นไทยได้รับผลกระทบจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปะทุออกมาด้วยเช่นกัน



จาก : ข่าวสด วันที่ 18 พฤษภาคม 2553

สายน้ำ
28-05-2010, 07:49
กระชับพื้นที่คืนความจริง “วันโลกหายนะ”

http://pics.manager.co.th/Images/553000007724901.JPEG
ภาพจำลองดวงอาทิตย์พ่นมวลมีประจุที่เกิดขึ้นบ่อยมายังโลก ซึ่งมีเส้นสนามแมเหล็ก (เส้นสีน้ำเงิน) เป็นเกราะกำบัง (ESA)

ข่าวลือเกี่ยวกับ “วันโลกหายนะ” เป็นอีกหนึ่งสีสันของจดหมายลูกโซ่ ที่วนเวียนอยู่บนโลกออนไลน์ วันดีคืนดีข่าวลือดังกล่าวมาปรากฏบนสื่อทีวีในช่วงเวลา “ไพรม์ไทม์” ย่อมสร้างความตื่นตระหนกได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนในวงการวิทยาศาสตร์เอง คือผู้อ้างถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างเป็นตุเป็นตะ

ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับอีเมลลูกโซ่ เกี่ยวกับวันโลกหายนะเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง 2012 อย่างต่อเนื่อง และมีการอ้างถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์ เดิมเขาเชื่อว่ากระแสนี้จะซาไปแต่กลายเป็นว่ากระแสยังคงมีอยู่ จึงตัดสินใจจัดเสวนาและแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหลังเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย ในเวที “ตอบทุกคำถามสังคมไทย ที่กังวลต่อการล่มสลายของโลก” เมื่อวันที่ 25 พ.ค.53 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ


- สนามแม่เหล็กกลับขั้ว-โลกพลิก

หนึ่งในประเด็นการล่มสลายของโลกคือการกลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกใน วันที่ 22 ธ.ค.55 จากเหนือไปใต้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ดวงอาทิตย์กลับขั้ว เกิดสนามแม่เหล็กและความร้อนบนโลก ทำให้น้ำแข็งละลาย น้ำท่วมโลก เกิดสึนามิ โลกจะเอียงจาก 23.5 องศาไปเป็น 26 องศา แล้วพลิกกลับจากเหนือไปใต้

http://pics.manager.co.th/Images/553000007724903.JPEG
ภาพจำลองสนามแม่เหล็กโลกซึ่งพุ่ง จากขั้วโลกใต้ไปขั้วโลกเหนือ (NASA)

คำถามคือจริงหรือไม่ที่แม่เหล็กโลกจะกลับ ขั้ว?

ดร.สธนกล่าวว่า ปรากฏการณ์แม่เหล็กโลกกลับขั้ว เคยเกิดขึ้นบนโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเว้นช่วงประมาณ 1 ล้านปี ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 700,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีมนุษย์กำเนิดขึ้นบนโลกแล้ว และระหว่างการกลับขั้วช่วง 1 ล้านปีนั้น อาจมีการกลับขั้วในช่วงสั้นประมาณ 4-5 พันปี

การกลับขั้วแม่เหล็กโลกนี้ ไม่ได้หมายถึงโลกพลิกกลับจากเหนือไปใต้ แต่หมายถึงสนามแม่เหล็กอ่อนกำลังลง แล้วเกิดสนามแม่เหล็กที่ยุ่งเหยิงขึ้น ก่อนกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งระหว่างที่แม่เหล็กอ่อนลงนั้น จะมีรังสีคอสมิคเข้ามาแต่ไม่มากมายนัก

“ส่งผลกระทบไหม มีผลกระทบบ้างถ้าเรายังใช้เข็มทิศอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เราใช้จีพีเอส (GPS) กันเยอะ ผลกระทบอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และช่วงเวลาระหว่างการพลิกขั้วเกิดขึ้นช้า เป็นระยะเวลาพันปี แสนปีขึ้นไป"

"ปัจจุบันความแรงสนามแม่เหล็กขึ้นๆลงๆ เมื่อ 700,000 ปีก่อน สนามแม่เหล็กโลกเคยอ่อนกว่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการกลับขั้วแม่เหล็กโลกไม่ใช่ประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยหลักฐานการกลับขั้วคือหินแข็งที่มีสภาพแม่เหล็กตามแม่เหล็กโลก ซึ่งเกิดจากหินร้อนๆในโลกออกมาเจอสภาพแม่เหล็กภายนอกแล้วแข็งตัว” ดร.สธนกล่าว

ขั้วแม่เหล็กโลกนั้น เกิดจากการไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวในแกนกลางโลก ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเหมือนไดนาโมที่ใช้ขดลวดพันรอบแกนแม่เหล็ก โดยสนามแม่เหล็กจะพุ่งจากขั้วใต้ไปขั้วเหนือ ดังนั้นขั้วโลกเหนือจึงเป็นขั้วแม่เหล็กใต้ และขั้วโลกใต้จึงเป็นขั้วแม่เหล็กเหนือ

แต่การไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวในแกนกลางโลกไม่สม่ำเสมอ ตำแหน่งขั้วแม่เหล็กจึงไม่คงที่ และเป็นบริเวณกว้าง เช่น ปี 1904 ขั้วแม่เหล็กเหนืออยู่เป็นบริเวณหนึ่ง และปี 1996 ขั้วแม่เหล็กเหนืออยู่อีกบริเวณ เป็นต้น


- ดาวเคราะห์เรียงตัวทำแผ่นดินไหวบนโลก

การเรียงตัวของดาวเคราะห์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกโยงว่าทำให้เกิดแผ่นดินไหวบนโลก เนื่องจากมีแรงไทด์ (tide) กระทำต่อโลก

หากแต่ ดร.สธนอธิบายว่าแรงไทด์คือ "แรงน้ำขึ้นน้ำลง" (tidal force) นั่นเอง เป็นแรงเสมือนว่าดึงโลกให้ยืดออก และดวงจันทร์มีบทบาทให้เกิดแรงนี้กระทำต่อโลกมากที่สุด และด้านที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากที่สุดจะถูกดึงมากกว่า โดยแรงนี้มีอธิบายด้วยสมการที่มีตัวแปรเพียง 2 ตัวคือ ระยะห่างระหว่างวัตถุที่ดึง และมวลของวัตถุที่ดึง

“แรงน้ำขึ้นน้ำลง น้อยกว่าแรงดึงดูดของโลกถึง 10 ล้านเท่า แรงที่สุดของแรงนี้คือ ทำให้ของเหลวบนโลกเคลื่อนที่ หรือเกิดน้ำขึ้นน้ำลง แต่ยังน้อยเกินกว่าจะมีผลต่อโครงสร้างหรือแผ่นทวีป 10 ล้านเท่า"

"ดวงอาทิตย์ซึ่งใหญ่กว่าดวงจันทร์มากแต่อยู่ห่างโลกมากกว่า จึงมีแรงนี้น้อยกว่าดวงจันทร์ประมาณครึ่งหนึ่ง หากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มาซ้อนกัน ผลคือทำให้เกิดน้ำขึ้นสูงในวันขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำเท่านั้นเอง” ดร.สธนกล่าว

นอกจากนี้ ผลการเปรียบเทียบตำแหน่งการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 10 อันดับ ซึ่งเกิดที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 เป็นแผ่นดินไหวใหญ่อันดับ 3 และครั้งรุนแรงสุดเกิดขึ้นที่ชิลี เมื่อ 22 พ.ค.03 นั้น ไม่มีครั้งใดเลยที่ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน โดยพิจารณาเฉพาะดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และโลก ส่วนดาวเคราะห์วงนอกนั้น ดร.สธนกล่าวว่าตัดออกได้ เพราะอยู่ไกลมาก

“เรียงหรือไม่เรียงไม่สำคัญ เพราะแรงไม่ถึงอยู่แล้ว คำอ้างในข่าวในฟอร์เวิร์ดเมล เป็นคำอ้างที่ไม่มีหลักฐาน การอ้างงานวิจัยก็มีความเข้าใจที่ไม่ตรง บทความยังไม่มีชื่อผู้เขียนและเป็นการคาดเดาไว้ก่อน” ดร.สธนวิจารณ์คำทำนายเรื่องโลกล่มสลาย ที่อ้างถึงผลการศึกษาของทีมนักวิจัยอิตาลี

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวมีอยู่จริง แต่รายละเอียดระบุว่า มีความแปรปรวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกเอง ไม่ใช่พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดใหญ่ จนสามารถจุดฉนวนแผ่นดินไหวอย่างที่กล่าวอ้าง

http://pics.manager.co.th/Images/553000007724904.JPEG
ภาพโพรมิเนนซ์ขนาดใหญ่หรือก๊าซที่ พวยพุ่งบนดวงอาทิตย์ตรงขวาบนของภาพ (ESA)


-Solar Maximum คำที่ถูกอ้างวันโลกสลาย

ความวิตกว่า โลกถึงคราวหายนะนั้น มักเชื่อมโยงการเข้าสู่ช่วง "โซลาร์ แม็กซิมัม" (Solar Maximum) ของดวงอาทิตย์ ซึ่ง ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งร่วมเวทีเสวนาอธิบายว่า ช่วงดังกล่าว ดวง อาทิตย์มีกิจกรรม*เกิดขึ้นมาก และมีการกลับขั้วสนามแม่เหล็ก เกิดขึ้นสลับกับ "โซลาร์ มินิมัม" (Solar Minimum) ที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมน้อย โดยมีระยะเวลาสลับกันประมาณ 11 ปี

“กิจกรรมต่างๆบนดวงอาทิตย์นั้น เกิดจากสนามแม่เหล็กเนื่องจากการไหลวนของก๊าซร้อนบนดวงอาทิตย์ ครั้งล่าสุดที่เกิด Solar Maximum คือเมื่อปี 2544 ส่วนตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วง Solar Minimum"

"ครั้งแรกที่เราเริ่มนับจุดมืดบนดวงอาทิตย์คือเมื่อปี 2323 ซึ่งพบว่าการเกิดจุดมืดมากสลับกับไม่มีเลยนั้นเป็นช่วงๆ ชัดเจน ตอนนี้เราอยู่วัฏจักรสุริยะรอบที่ 23 และกำลังสู่รอบที่ 24 ในปี 2555 (หรือ 2012) ซึ่งจะเริ่มช่วง Solar Maximum รอบใหม่ แต่เราก็ตรวจดูสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทุกวันว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” ผศ.พงษ์กล่าว

เมื่อเข้าสู่ Solar Maximum สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีกิจกรรมบนดวงอาทิตย์มากขึ้น สนามแม่เหล็กมีการเปลี่ยนแปลง เพราะดวงอาทิตย์ส่งอนุภาคมีประจุมาเยอะขึ้น มีการพ่นมวลมีประจุมายังโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราสังเกตได้ เช่น ปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ ซึ่งเห็นได้ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่ปี 2501 มีรายงานพบแสงเหนือ-แสงใต้ที่เม็กซิโก ซึ่งอยู่ต่ำจากขั้วโลกเหนือลงมาอยู่ที่ละติจูด 30 องศาเหนือ

เมื่อปี 2532 กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ได้ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้าของแคนาดา จนหม้อแปลงไหม้และเกิดไฟดับ แต่ในปี 2544 ไม่เกิดเหตุไฟดับเนื่องจากทราบว่าจะเกิดขึ้นและได้เตรียมการรับมือไว้

สายน้ำ
28-05-2010, 07:50
กระชับพื้นที่คืนความจริง “วันโลกหายนะ” (ต่อ)


http://pics.manager.co.th/Images/553000007724902.JPEG
ภาพแสงเหนือจากลมสุริยะที่อลาสกา (John Russell/NASA)


- ซากดาวส่องตรงรังสีแกมมาเผาโลกเป็นจุณ

การระเบิดของรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst: GRB) เป็นปรากฏการณ์ส่งรังสีแกมมาจากซากของดวงดาวที่กำลังดับสูญ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงดาว ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่าขึ้นไป โดยปกติดาวฤกษ์มีปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งจะหลอมรวมธาตุเล็กให้กลายเป็นธาตุใหญ่ และให้พลังงานออกมา เสมือนมีแรงระเบิดนิวเคลียร์อยู่ภายในดวงดาว

ขณะเดียวกันดาวฤกษ์ยังมีแรงโน้มถ่วงดึงมวลกลับมาอยู่รวมกัน จึงเปรียบได้กับการชักเย่อระหว่างแรงระเบิดกับแรงโน้มถ่วง เมื่อธาตุตั้งต้นหมดลงการระเบิดก็น้อยลง ทำให้แรงโน้มถ่วงชนะและเริ่มดึงให้ดาวยุบลง

อย่างไรก็ดี การยุบตัวของดาวนั้น มีปลายทางที่แตกต่างกัน ดาวบางดวงยุบตัวอย่างเงียบสงบและหมดพลังงานไป บางดวงเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้นอีกเนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้เกิดการหลอมรวมของธาตุครั้งใหม่

บางดวงเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเรียกว่า “โนวา” (nova) หรือ “ซูเปอร์โนวา” (supernova) กลายเป็นเนบิวลาและเกิดการรวมตัวของก๊าซกลายเป็นดาวอีกรอบ บางดวงยุบตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหลุมดำ แต่บางครั้งเกิดการยุบตัวและเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่รุนแรงพร้อมๆกัน ทำให้เกิดรังสีแกมมาความเข้มสูงส่งออกมาในทิศทางที่แน่นอนและเป็นลำแคบๆหรือเรียกว่าการระเบิดของรังสีแกมมานั่นเอง

“ถ้าส่องมายังโลก ก็ตายหมดทั้งโลก การระเบิดของรังสีแกมมาการระเบิดของรังสีแกมมานี้ น่ากลัวมาก แต่ต้องกลัวไหม ไม่ต้องกลัว เพราะถ้าเกิดขึ้นก็รวดเร็วมากจนเราไม่ทันได้รู้สึก เนื่องจากรังสีเดินทางด้วยความเร็วแสง" ผศ.พงษ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.พงษ์กล่าวเผยว่า โอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะอย่างแรกต้องเกิดใกล้ๆเรา ประมาณกาแลกซีถัดไป และต้องหันมาทางเราพอดี ซึ่งดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เราที่สุดคือดาวพรอกซิมา (Proxima) อยู่ไกลออกไป 4.2 ปีแสง แต่มีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของดวงอาทิตย์ เมื่อดาวดวงนี้ดับ จะไม่เกิดระเบิดรังสีแกมมาแน่นอน แต่ถ้าถึงวันหนึ่งเราจะต้องไป เราก็ต้องไป.


****************************************************


*กิจกรรมสุริยะ (solar activities) คือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ได้แก่

- การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (solar flare) เป็นการปะทุของก๊าซร้อนภายในดวงอาทิตย์เมื่อมีช่องโหว่ที่ผิวดวงอาทิตย์ ทำให้ก๊าซร้อนกว่า 20,000 องศาเซลเซียสปะทุออกมาที่ดวงอาทิตย์ซึ่งปกติมีอุณหภูมิประมาณ 6,000 องศาเซลเซียส เห็นเป็นแสงเจิดจ้าที่ผิวดวงอาทิตย์

- โพรมิเนนซ์ (prominence) เป็นพวยก๊าซที่พุ่งออกมา แล้วพุ่งกลับเหมือนมีท่อเป็นทางเดิน ซึ่งท่อดังกล่าวจริงๆแล้ว คือสนามแม่เหล็กที่บังคับให้พวยก๊าซพุ่งกลับสู่ดวงอาทิตย์ ขนาดของพวยก๊าซใหญ่กว่าโลกและดวงจันทร์

- ลมสุริยะ (solar wind) เป็นอนุภาคมีประจุที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์พร้อมสนามแม่เหล็กระยะสั้นหรือเรียกว่าพายุสุริยะเมื่อมีความรุนแรงกว่าและอนุภาคถูกส่งพุ่งออกไปทั่วๆ การพ่นมวลจากดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection: CME) เป็นอนุภาคของดวงอาทิตย์ที่พุ่งออกมาเป็นลำ ด้วยความเร็วสูงและมีทิศทางค่อนข้างแคบ เมื่อพุ่งมาแต่ละครั้งสามารถกลบโลกได้มิด โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโลกได้รับลำอนุภาคนี้ ส่งผลให้การสื่อสารขัดข้องและสำนักข่าวบีบีซีได้ออกประกาศเตือนถึงเรื่องนี้ด้วย

- จุดมืด (sunspots) เป็นจุดดำบนดวงอาทิตย์ ค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) หลังจากเขาประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แล้วส่องขึ้นไปบนฟ้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าการส่องดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่านั้นเป็นอันตราย ข้อดีของจุดมืดคือทำให้ทราบว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเอง และจุดมืดนี้มีหลายจุดเพิ่มขึ้น-ลดลงอยู่เสมอ




จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2553

สายน้ำ
02-06-2010, 07:36
ไขปริศนา 'ภัยดวงดาว

http://www.dailynews.co.th/content/images/1006/02/03/260.jpg

'โลกล่มสลาย' 'แค่เล่าลือ' หรือมีมูล?

แม้วิทยาการทางด้านดาราศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์จะก้าวล้ำมากขึ้นกว่าในอดีต แต่จนทุกวันนี้เรื่องของ “ดวงดาว” ก็ยังคงมี “ปริศนา” อยู่อีกมากมาย และปริศนาเหล่านี้บ่อยครั้งที่ “สร้างความตื่นกลัว” ทั้งโดยผู้ที่ตั้งใจปล่อยข่าว และโดยการ “เล่าลือ” ต่อ ๆ กันไป ซึ่งกับช่วงเดือน มิ.ย. 2553 นี้ก็มีการเล่าลือ...

เล่าลือกันว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเรียงตัว”

และจะสร้าง “หายนะรุนแรง” ต่อมนุษยชาติ ??

กับการเล่าลือล่าสุด ซึ่งมีการโพสต์ข้อความส่งต่อกันไปในอินเทอร์เน็ต ก็เช่น... วันที่ 8 มิ.ย. 2553 ดวงดาวในระบบสุริยะ คือ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสบดี จะโคจร “เรียงตัวกัน” และประมาณวันที่ 12 มิ.ย. 2553 ดาวโลก ดาวพฤหัส ดาวยูเรนัส ก็จะเรียงตัวกัน ซึ่งก็เล่าลือกันต่อเนื่องว่าจะสร้างหายนะต่อโลก เช่น เป็นปรากฏการณ์ที่จะจุดชนวนปฏิกิริยาของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้โลกเกิด น้ำท่วมครั้งใหญ่ แผ่นดินไหวรุนแรง อากาศแปรปรวนครั้งเลวร้าย ภูเขาไฟระเบิดไปทั่ว เลยเถิดถึงการระเบิดของรังสีแกมมา-การ “สิ้นโลก” อย่างที่เคยมีการเล่าลือว่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2012 หรือ พ.ศ. 2555

ทั้งนี้ กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ดวงดาว” นั้น ใน “เดลินิวส์” ฉบับวันนี้ ในหน้าวาไรตี้ก็มีข้อมูลมานำเสนอ ส่วนทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็มีข้อบ่งชี้ชัด ๆ กล่าวคือ... เดือน มิ.ย. 2553 นี้ไม่มีการเกิดปรากฏการณ์ดวงดาวเรียงตัว !! จะมีก็แต่ จันทรุปราคาบางส่วน ในวันที่ 26 มิ.ย. 2553

หรือต่อให้เกิดดาวเรียงตัว ดาวเคราะห์ระบบสุริยะเรียงตัว ถามว่าจะมีผลต่อโลกหรือไม่ ? ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยชี้ว่า... ตำแหน่งวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะปัจจุบัน แต่ละดวงอยู่ห่างกันมาก แรงดึงดูดจากดาวเคราะห์ดวงอื่นที่กระทำต่อโลกมีค่าต่ำมากจนเกือบเป็นศูนย์ ดังนั้นไม่ว่าดาวเคราะห์จะเรียงอย่างไร เป็นเส้นตรง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม กากบาท ฯลฯ ก็จะไม่ส่งผลเสียต่อโลก

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดเสวนาเรื่อง “ตอบคำถามสังคมไทยต่อการล่มสลายของโลก” งานนี้ก็มีข้อบ่งชี้ที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ โดย ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ ระบุถึงประเด็นเล่าลือเรื่องการเรียงตัวของดาวกับหายนะของโลก โดยยกตัวอย่างการเกิดแผ่นดินไหวว่า... จากการย้อนดูตำแหน่งดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล ในวันที่โลกเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีการเรียงตัวของดวงดาวเลย และโดยมากมีตำแหน่งที่อยู่คนละทิศละทางกัน ดังนั้น “ข้อสันนิษฐานที่ว่าดาวเคราะห์เรียงตัวจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

ส่วนเรื่องแรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่ก็มีการลือกันด้วยว่าจะสร้างหายนะให้โลก จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ดร.สธนบอกว่า... แรงน้ำขึ้น-น้ำลงเกิดจากผลต่างของแรงดึงดูดของดวงจันทร์ต่อมวลสารบนโลกบนตำแหน่งต่างๆ ซึ่งแรงของดวงจันทร์ต่อโลกจะไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกก็จะมีแรงดึงมาก ถ้าอยู่ไกลก็จะมีแรงดึงน้อย แรงดึงของดวงจันทร์มีน้อยกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกถึง 10 ล้านเท่า และแรงของดวงจันทร์จะดึงได้เฉพาะที่เป็นของเหลว คือน้ำ ขณะที่โลกทั้งโลกโดยรวมถือเป็นของแข็ง “อิทธิพลของดวงจันทร์ถ้าจะทำให้โลกเกิดแผ่นดินไหวก็จะต้องดึงโลกทั้งโลกซึ่งเป็นของแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

พร้อมกันนี้ ดร.สธนยังระบุถึงประเด็นเล่าลือเรื่องสนามแม่เหล็กโลกจะพลิกกลับขั้วจนทำให้สิ้นโลก โดยบอกว่า... การกลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยมีสาเหตุมาจากการไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวที่อยู่ตรงกลางโลก และครั้งล่าสุดเกิดเมื่อกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ซึ่ง “กว่าที่สนามแม่เหล็กโลกจะกลับขั้วแต่ละครั้งจะห่างกันหลักแสนหรือหลักล้านปี ดังนั้น จะไม่กลับขั้วอีกครั้งเร็วๆนี้แน่”

ด้าน ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์เช่นกัน ก็บอกว่า.. ปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์กับการเกิดแผ่นดินไหวบนโลก การ “สิ้นโลก” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์เป็นเรื่องที่มีการเกิดขึ้นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การระเบิดจ้าบนผิวดวงอาทิตย์, ลมสุริยะ, จุดดับบนดวงอาทิตย์ ฯลฯ จะมาก-จะน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ ซึ่งก็ไม่เคยส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อโลก

สำหรับกรณีการระเบิดของรังสีแกมมากับการสิ้นโลกนั้น ผศ.พงษ์อธิบายว่า... การระเบิดของรังสีแกมมาเป็นปรากฏการณ์ดวงดาว เป็นอาการหนึ่งของดวงดาวที่กำลังดับสูญ โดยจะส่งรังสีแกมมาออกมาจากซากดวงดาว ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับดวงดาวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 10 เท่า ซึ่งผลจากการระเบิดของรังสีแกมมาแม้จะรุนแรงมาก แต่โอกาสจะมีผลต่อโลกนั้นน้อยมาก เพราะถ้าจะมีผล ดวงดาวแหล่งกำเนิดต้องอยู่ไม่ไกล และมุมที่เกิดนั้นต้องส่องมายังโลกพอดี “โอกาสที่โลกจะสิ้นสูญจึงมีน้อยมาก โลกเกิดมาแล้ว 4,000 ล้านปี ยังไม่เคยโดนรังสีแกมมาแบบนี้แม้แต่ครั้งเดียว” ...ผศ.พงษ์ระบุ

สรุปคือระยะนี้ยังไม่มีภัยดวงดาวที่จะทำให้ “สิ้นโลก”

ภัยดวงดาวเป็นเพียง “ข่าวลือ” อย่าตื่นตระหนก !!!.



จาก : เดลินิวส์ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 2 มิถุนายน 2553

สายน้ำ
11-06-2010, 06:40
ถอดรหัสหายนะโลก วัน "ดาวเรียงตัว" 12มิ.ย.53

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/06/tec01110653p1.jpg

จากกรณี เกิดกระแสข่าวลือสร้างความสับสน-ตื่นตระหนกในโลกอินเตอร์เน็ตผ่านอีเมล์ลูกโซ่ ว่า

ในวันที่ 12 มิถุนายน 2553 นี้ โลกมนุษย์ รวมถึงประเทศไทย อาจเกิดหายนะ เพราะผลจากปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงตัว เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ตามมาทำลายล้างโลก

ล่าสุด นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเวทีสัมมนาเรื่อง "ตอบทุกคำถามสังคมไทยที่กังวลต่อการล่มสลายของโลก" ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ข้อมูลตามหลักวิชาการแก่ประชาชน

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า

ข้อมูลจากอีเมล์ลูกโซ่ดังกล่าวอ้างว่า ในวันที่ 12 มิถุนายน 2553 ประมาณ 11.30 UTC จะมีแผ่นดินไหว 7-8.5 ริกเตอร์ และอาจจะมีสึนามิตามมาในพื้นที่โซนแรกคือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาจจะเป็นหมู่เกาะสุมาตรา โซนที่สองในยุโรป แถบประเทศ อิตาลี สเปน และกรีก และโซนที่สาม ประเทศในอ่าวเม็กซิโก หรือทางฝั่งตะวันตกของประเทศอเมริกา โดยเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์และอ้างว่าทำไมปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์จึงเกี่ยวกับแผ่นดินไหว คือ ถ้าเกิดปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์แล้ว จะทำให้โลกเกิดแผ่นดินไหวตามมาในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง พร้อมกับนำแบบจำลองของตำแหน่งดาวเคราะห์ในช่วงที่มีเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ของโลก 10 ครั้งมาประกอบ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ในการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทั้ง 10 ครั้งนั้น ดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงตัวในแนวเดียวกันแต่อย่างใด

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/06/tec01110653p2.jpg
ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าดาวเคราะห์เรียงตัวกันแล้วเกิดแผ่นดินไหว ดูจากการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆของโลก 10 ครั้ง ไม่มีครั้งใดที่ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน ที่สำคัญขณะนี้เป็นการพูดถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2553 มองจากแบบจำลองคือดาวเคราะห์อยู่ในแนวดิ่งลง แต่โลกอยู่ในแนวตั้งฉาก ฉะนั้น โลกไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกันกับดาวเคราะห์ในวันที่ 12 มิถุนายนอย่างแน่นอน ซึ่งในวันที่อ้างอื่นๆก็เช่นเดียวกัน ไม่มีวันใดที่โลกอยู่ในตำแหน่งเรียงตัวกันกับดาวเคราะห์และขนาดของแรงไม่สามารถทำให้เกิดอะไรได้

การกล่าวอ้างที่พูดถึงในเว็บไซต์และในจดหมายเรื่องหายนะดาวเรียงตัวเป็นคำอ้างที่ไม่มีหลักฐานและไม่มีการชี้แจงหรืออ้างบทความงานวิจัย ไม่ค่อยจะตรงกับงานวิจัยที่เขียนอยู่ และไม่มีผู้เขียน ไม่ระบุชื่อ เป็นลักษณะที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนในจดหมายลูกโซ่คืออะไรกันแน่ เป็นการคาดเดาไว้ก่อน

ดร.สธน อธิบายให้ความกระจ่างต่อไปว่า ข้อมูลในวันโลกาวินาศอีกเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ คือเรื่องของการกลับขั้วสนามแม่เหล็กโลก

หลายคนคิดว่าหากเกิดการกลับขั้วสนามแม่เหล็กโลกจะมีการพลิกสลับขั้ว

แต่ที่จริงแล้ว โลกของเรามีสนามแม่เหล็กอยู่ ทิศทางของสนามแม่เหล็กเหมือนแท่งแม่เหล็ก แต่แท่งแม่เหล็กของโลกกลับกับแท่งแม่เหล็กที่เราอยู่ปกติ นั่นคือแท่งแม่เหล็กโลกขั้วใต้อยู่ที่ทิศเหนือ และแท่งแม่เหล็กโลกขั้วเหนืออยู่ที่ทิศใต้ ซึ่งสนามแม่เหล็กนี้เกิดจากการไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวที่อยู่ในแกนกลางโลก เป็นเหมือนไดนาโมที่เราเอาขดลวดมาพันแล้วผ่านกระแสไฟฟ้าและเกิดสนามแม่เหล็ก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทราบกันมานานเนื่องจากการไหลของกระแสนี้ไม่สม่ำเสมอ

ดังนั้น กระแสแม่เหล็กโลกจึงมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งอยู่เรื่อยๆ ตามการไหลของมัน เช่น มีการพบว่าในปี ค.ศ. 1904 อยู่บริเวณหนึ่ง และในปี 1996 จะเคลื่อนที่ไปอยู่อีกบริเวณหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

หากถามว่าสนามแม่เหล็กโลกกลับขั้วได้หรือเปล่า คำตอบคือ "กลับได้"

จากการศึกษา "หิน" ที่ละลายแล้วแข็งตัวพบว่า โลกของเรากลับขั้วมาแล้วหลายครั้ง เวลาที่กลับและหินละลายออกมาใต้โลกยังที่ร้อนอยู่โลหะทั้งหลายที่อยู่ในหิน ยังหมุนไปมาได้ พอมาเจอสนามแม่เหล็ก มันจะปรับตัวเข้าตามสนามแม่เหล็ก เหมือนกับการที่เราเอาไขควงไปเผาให้ร้อน แล้วไปวางใกล้แม่เหล็ก พอไขควงนั้นเย็นลง จะเป็นแม่เหล็กไปด้วย กระบวนการที่ทำให้เกิดความร้อนสามารถทำให้เกิดแม่เหล็กได้

เพราะฉะนั้น หินจะมีสภาพความเป็นแม่เหล็กตามสภาพแม่เหล็กโลก ซึ่งพบว่ามีการเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเว้นช่วงประมาณ 1 ล้านปี

ปัจจุบัน โลกของเราจากการกลับครั้งสุดท้าย ผ่านมาแล้วประ มาณ 7 แสนปี และในระหว่าง 1 ล้านปี อาจจะมีการกลับขั้วเป็นช่วงสั้นๆ 4-5 พันปี มีบ้าง ซึ่งช่วงเวลาการกลับขั้วไม่แน่นอน

ดังนั้น การกลับขั้วของสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่โลกจะพลิกกลับ แต่สนามแม่เหล็กโลกจะอ่อนกำลังลง และมีความยุ่งเหยิงมากขึ้นมีผลกับสัตว์ที่ต้องอาศัยสนามแม่เหล็กในการเดินทาง นกพิราบ ปลาฉลามวาฬ การใช้เข็มทิศ ดาวเทียม GPS หรือการใช้อุปกรณ์ที่ต้องอาศัยคลื่นวิทยุ โทรศัพท์มือถือ แต่อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ก่อนจะกลับไปสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกครั้ง

ข้อมูลที่ปรากฏจากอีเมล์ลูกโซ่ที่บอกว่า ขั้วโลกจะพลิกกลับข้างภาย ใน 49 วันนั้น เป็นเวลาในช่วงการพลิกใช้เวลาเป็นพันปี ระหว่างการพลิกการเปลี่ยนแปลงใช้เวลา ณ ปัจจุบัน 7 แสนปี แต่เรารู้ว่ามีการเปลี่ยนแน่ๆ เพราะมีการวัดจากสนามแม่เหล็กโลกและรู้ว่ามีการอ่อนตัวลงของสนามแม่เหล็กโลก แต่ในปัจจุบันสนามแม่เหล็กโลกขึ้นๆลงๆ 7 แสนปีที่ผ่านมาเคยอ่อนกว่านี้ด้วยซ้ำ ฉะนั้น ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะก่อให้เกิดปัญหามากมาย

การพลิกก็ไม่ใช่โลกพลิกกลับข้าง และการเปลี่ยนแปลงนั้นช้า เป็นพันหรือแสนปีขึ้นไป

ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอะไรควรมีการกลั่นกรอง ค้นคว้า ถามจากผู้รู้ หรืออาจใช้ช่องทางของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นการฝากข้อสงสัยต่างๆ พร้อมช่องทางในการติดต่อกลับที่สายด่วนคณะวิทยาศาสตร์ 0-2218-5555 หรืออีเมล์ scichula@gmail.com หรือ scicupr@gmail.com เพื่อให้นักวิชาการได้เข้าไปมีส่วนให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อ้างอิงหลักฐานและหลักวิชาการ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนได้อีกทาง



จาก : ข่าวสด วันที่ 11 มิถุนายน 2553

สายชล
11-06-2010, 07:18
พรุ่งนี้ก็รู้แล้วนะคะว่า.....Fact or Fiction.....จริงหรือเท็จ

Super_Srinuanray
11-06-2010, 09:25
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆๆๆ หากเกิดขึ้นจริง ยานสะเทิ้นน้ำสะเทินบก คงจะขายได้ดี

แต่ยังไม่เห็นมีวางจำหน่าย เลย หรือมีแล้ว เป็นสัญญาซื้อ-ขายลับ เก็บที่ใดที่หนึ่งในโลก....

สายชล
10-08-2010, 12:54
เหยื่อดินถล่มจีน ทะลุ337ศพ คนสูญหายนับพัน

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/08/10/102636/hr1667/630.jpg


ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 337 รายแล้ว ขณะที่ยอดผู้สูญหายล่าสุดจากข้อมูลของทางการจีนอยู่ที่ 1,148 ราย พบแม่เฒ่า 74 ปี รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์หลังติดใต้โคลน...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 337 รายแล้ว ขณะที่ยอดผู้สูญหายล่าสุดจากข้อมูลของทางการจีนอยู่ที่ 1,148 ราย

รายงานข่าวระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดเหตุดินถล่มขึ้นในหลายพื้นที่ของมณฑลกานซู ทำให้ถนน อาคาร บ้านเรือนต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางการจีนได้ระดมกำลังทหารมากกว่า 4,500 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ดับเพลิง หน่วยกู้ภัย และทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปในพื้นที่เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอื่นๆ แล้ว

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/08/09/102330/hr1667/630.jpg

ด้านสำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า พบแม่เฒ่า วัย 74 ปีรายหนึ่ง รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์หลังจากติดอยู่ใต้ซากอาคารแห่งหนึ่งที่มีโคลนถล่มทับ โดยหน่วยกู้ภัยได้นำตัวเธอส่งยังโรงพยาบาล และขณะนี้มีอาการปลอดภัยแล้ว

แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลกานซู ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้สูญหายในพื้นที่ล่าสุดอยู่ที่ 1,348 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ารายงานของรัฐบาลจีน พร้อมระบุอาจพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกตลอดระยะหลายวันข้างหน้านี้.


โดย ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/oversea/102636


*************************************************************


กู้ภัยจีนเร่งค้นหาผู้สูญหายจากเหตุโคลนถล่มในมณฑลกันซู่


เจ้าหน้าที่กู้ภัยจีนยังคงช่วยกันค้นหาชาวบ้าน 1,148 คนที่สูญหายไปหลังจากเกิดเหตุโคลนถล่มในพื้นที่ห่างไกลของมณฑลกันซู่ เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักเมื่อวันเสาร์ โดยบ้านเรือนประชาชนในหมู่บ้าน 3 แห่ง ถูกกลืนหายไปกับกระแสโคลน อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเริ่มเลือนลาง ขณะที่คาดว่าจะมีฝนตกลงมาอีกในปลายสัปดาห์นี้


ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต ล่าสุดอยู่ที่ 337 คน และมีผู้บาดเจ็บ 218 คน นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้ 41 คนอาการสาหัส


ด้านนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เร่งให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยทำงานแข่งกับเวลาในการค้นหาผู้รอดชีวิต แต่ยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ยากลำบาก


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

สายชล
10-08-2010, 19:50
วานูอาตูแผ่นดินไหว 7.5 เกิดสึนามิขนาดย่อม

http://www.thairath.co.th/media/content/2010/08/10/102698/hr1667/630.jpg

เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.5 ที่วานูอาตู ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็ก ด้านศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกเตือน อาจมี "สึนามิใหญ่ตามมา"...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.5 ที่หมู่เกาะวานูอาตูในมหาสมุทรแปซิฟิก แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนนับพัน rากันวิ่งแตกตื่นขึ้นสู่พื้นที่สูงและเนินเขา

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (USGS) รายงานในเบื้องต้นว่าจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ลึกลงไปใต้ทะเลราว 35 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงพอร์ท วิลา เมืองหลวงของวานูอาตูเพียง 40 กิโลเมตร โดย USGS ระบุว่าแรงสั่นสะเทือนได้เริ่มทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กก่อตัวนอกชายฝั่งวานูอาตูแล้ว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อยู่ในเหตุการณ์รายหนึ่งเผยว่า อาคารหลายแห่งในกรุงพอร์ต วิลา ประสบแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องราว 15 นาที แต่ยังไม่พบความเสียหายแต่อย่างใด

ล่าสุด ศูนย์เตือนภัยสึนามิแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกออกมาเตือนว่า คลื่นสึนามิขนาดเล็กที่มีความสูงราว 9.2 นิ้วได้เริ่มซัดเข้าโจมตีกรุงพอร์ต วิลาแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดคลื่นสึนามิที่มีขนาดใหญ่และมีความสูงมากขึ้นตามมา.


ขอบคุณข่าวและภาพจาก....ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/oversea/102698

Super_Srinuanray
10-08-2010, 22:22
นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งของ หายนะบนโลกค่ะ

ขอ Share มาจาก FB ของน้องนุ ค่ะ

Flash floods kill more than hundred people and leave several tourists stranded around the main town of India's Himalayan region of Ladakh.

http://in.reuters.com/news/pictures/slideshow?articleId=INRTR2H3SX#a=3

สายน้ำ
06-09-2010, 06:31
แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ที่นิวซีแลนด์ ตาย 0 ราย-ปาฏิหาริย์หรือเทคโนโลยี ?

http://pics.manager.co.th/Images/553000013194601.JPEG
สภาอาคารเมืองไครสต์เชิร์ช หลังผ่านเหตุแผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์


“ตาย 220,000 ราย เหยื่อแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ริกเตอร์ในเฮติ ณ มกราคม 2010”

“เหยื่อแผ่นดินพิโรธ 6.9 ริกเตอร์ พุ่งถึง 2,000 ศพ ที่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเดือนเมษายน 2010”

“กว่า 500 ชีวิตสังเวยแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ ที่ชิลี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010”

และแล้วปาฏิหาริย์ได้อุบัติขึ้นให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในเมืองแห่งพระเยซู หรือ ไครสต์เชิร์ช นครขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อชาวเมือง 340,000 คนภายในเมืองต้องประสบกับเหตุแผ่นดินไหวระดับดุเดือดถึง 7.0 ริกเตอร์ ในช่วงเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 4 กันยายน

หายนะที่เกิดขึ้น ณ มูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแผ่นดินแยกเป็นแนวยาว รางรถไฟบิดเบี้ยวเสียหาย แต่ปรากฏว่าอาคารต่างๆส่วนใหญ่ไม่มีการพังทลายหรือยุบตัว และเหนืออื่นใด แม้จะมีรายงานถึงเหยื่อแผ่นดินไหวที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย แต่ไม่มีรายงานการเสียชีวิตในเหตุรุนแรงครั้งนี้!!

นี่คือปาฏิหาริย์ หรือผลงานเชิงเทคโนโลยีกันแน่?

เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งเมืองไครสต์เชิร์ชให้ข้อมูลว่า ในเบื้องต้นเลยโชคดีที่การสะเทือนเลื่อนลั่นของแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดในช่วงเช้ามืด ทำให้ลดความเสี่ยงไปได้อย่างมหาศาลในแง่ที่ว่าจะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจาก แผ่นดินแยก หรือกำแพงอาคารร่วงทับ และจึงกลายเป็นว่าเหยื่อที่โดนกำแพงอาคารร่วงทับกลับเป็นบรรดารถยนต์ที่จอดอยู่ข้างบ้าน

โชคดีประการสำคัญมีอยู่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในอาคารบ้านเรือนซึ่งค่อนข้างปลอดภัย

เป็นความปลอดภัยที่สวนทางอย่างยิ่งกับข้อเท็จจริงที่ว่า นิวซีแลนด์นั้นตั้งอยู่บนจุดเสี่ยงสูงของโลก โดยอยู่ในพื้นที่หัวแยกของแนวการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ที่แท้แล้วเป็นผลจากการ “ลงทุน” สร้างระบบโครงสร้างความปลอดภัยไว้เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการรณรงค์ให้ตื่นตัวกับการป้องกันภัย ผ่านการสรุปบทเรียนราคาแพงที่นิวซีแลนด์เคยได้รับในกรณีธรณีพิโรธเมืองนาเปียร์ ปี 1931 อันเป็นมหาวิบัติแผ่นดินไหวสะท้านสะเทือนระดับ 7.8 ริกเตอร์ และคร่าชีวิตผู้คนไป 256 ราย ที่ฮอว์กส์ เบย์

http://pics.manager.co.th/Images/553000013194602.JPEG
เด็กหนุ่มเมืองกีวีไต่ลงไปในรอยแยกของถนน

ปีเตอร์ เบิร์กเอาท์ ซีอีโอแห่งสถาบัน BRANZ ซึ่งเป็นองค์การด้านวิจัยความปลอดภัยในการก่อสร้าง ให้เฉลยว่า อาคารบ้านเรือนรุ่นใหม่ๆในนิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยโครงไม้ซุงขนาดเบา ซึ่งเอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นขณะที่ถูกเล่นงานโดยคลื่นสั่นไหวของผืนแผ่นดิน

ในการนี้ อาคารที่ได้รับความเสียหายหนักๆในไครสต์เชิร์ช เป็นอาคารรุ่นเก่าที่สร้างจากวัสดุที่เกาะตัวกันแน่นหนา จนทำให้ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ในยามแผ่นดินไหว

เบิร์กเอาท์บอกว่านิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่ได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อภัยแผ่นดินไหว โดยที่สถาบัน BRANZ ได้จัดสร้างโรงงานวิจัยขนาดใหญ่ในเวลลิงตันไว้แสดงให้เห็นกันกับตาว่า บ้านหลังใหญ่ ไซส์จริงๆ นั้น สามารถรับแรงเขย่าแบบแผ่นดินไหวได้อย่างไร

แม้แต่อาคารสำนักงานก็ถูกสร้างบนรากฐานที่มีลักษณะที่เหมือนกับอยู่บนการรองรับที่ซับแรงกระเทือนได้ ดังนั้น หากต้องเผชิญกับแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวใหญ่ๆ อาคารเหล่านี้สามารถสั่นสะท้านไปทั่ว แต่ไม่ทลายตัวลงมา

เท่ากับการลดโอกาสสร้างความเสียหายรุนแรงต่อร่างอันบอบบางของมนุษย์ที่อยู่ภายใน หรืออยู่ใกล้ๆกับอาคารได้อย่างมหาศาล

ต้องขอบคุณปาฏิหาริย์แห่งเทคโนโลยี และปาฏิหาริย์แห่งพลังใจผู้คนที่มองการณ์ไกลเพียงพอที่จะลงทุนเพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน อันเป็นคุณลักษณ์ที่หายากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก



จาก .......... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 กันยายน 2553

สายน้ำ
06-09-2010, 06:34
มหันตภัยจาก "สายน้ำ"


วิกฤติน้ำท่วมหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ "ปากีสถาน" กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ซ้ำเติมความทุกข์เข็ญของประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้มากมายสุดคณานับ

แม้ยอดผู้เสียชีวิตเป็นทางการจะอยู่ที่ราว 2,000 ศพ แต่จริงๆน่าจะสูงกว่านี้มาก ส่วนผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 20 ล้านคน บ้านเรือนกว่า 1.2 ล้านหลังถูกทำลาย พื้นที่ 1 ใน 5 ของประเทศ หรือเท่าๆกับประเทศอิตาลีจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ความช่วยเหลือยังล่าช้าและไม่พอเพียง

รัฐบาลปากีสถานประเมิน ค่าความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างน้อย 43,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีปี 2552-2553 ธนาคารโลกต้องอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินช่วยเหลือถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ไอเอ็มเอฟอีก 450 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับความช่วยเหลือจากยูเอ็น เอดีบี และอื่นๆ แต่ก็ดูเหมือนจะ "จิ๊บจ๊อย" ไปถนัด เมื่อเทียบกับความสูญเสียซึ่งต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการฟื้นฟู

จะว่าไปแล้ว ปากีสถานต้องต่อสู้กับปัญหาเรื่อง "น้ำ" มาตลอด ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจาก "ความแห้งแล้ง" ปริมาณฝนตามฤดูกาลไม่เพียงพอกับการเกษตร ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 23% ของจีดีพี แต่เมื่อใดที่น้ำมากเกินไปก็จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงดังที่เห็น

เรียกว่าตกเป็นเหยื่อ "น้ำ" ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ปากีสถานมีเครือข่าย "แม่น้ำ" สายใหญ่ น้อยยุ่บยั่บซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ "อินดุส" และ "สินธุ" แม่น้ำใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของประเทศ อุทกภัยครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอินดูสทางภาคใต้ ซึ่งเอ่อล้นฝั่งจนเขื่อนและทำนบกั้นริมฝั่งแม่น้ำแตก เพราะท้องแม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยโคลนเลนและตะกอนจึงดูดซับน้ำเร็วมาก ถ้าฝนตกหนักในฤดูมรสุมแค่ไม่ถึง 2 เดือนน้ำก็ล้นฝั่งแล้ว

ด้วยเหตุที่มีแม่น้ำเยอะ การเกษตรถึง 80% ของปากีสถานจึงต้องพึ่งพาน้ำจากเครือข่าย "ชล-ประทาน" แต่ระบบชลประทานกลับไร้ประสิทธิภาพสุดๆ เพราะคูคลองส่งน้ำตื้นเขินอุดตัน หรือน้ำซึมลงดินเร็วเกินไป น้ำที่ผ่านระบบชลประทานจึงตกถึงพื้นที่เกษตรกรรมแค่ราว 1 ใน 3 เท่านั้น

การปฏิรูประบบชลประทานเพื่อรับมือกับทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งจึงเป็นความท้าทาย สูงสุด แม้แต่แผนช่วยเหลือปากีสถานของสหรัฐฯ มูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ ยังต้องยกเรื่องนี้เป็นแกนหลัก

ปากีสถานยังกลัวว่าน้ำท่วมครั้งล่าสุดจะหนักหนาสาหัสกว่านี้ ถ้า "อินเดีย" คู่อริ ระบายน้ำที่ท่วมอินเดียเช่นกันลงมาสู่ปลายน้ำ ทั้งที่ปกติจะกักเก็บน้ำไว้ซะเองจนมีกรณีพิพาทแย่งชิงน้ำกันมาตลอด เพราะแม่น้ำหลายสายมี "ต้นน้ำ" จากอินเดีย จนต้องทำข้อตกลงกันตั้งแต่ปี 2503 เพื่อแบ่งปันน้ำในแม่น้ำหลัก 6 สาย ขณะที่อินเดียมักกล่าวหาว่าปัญหาเกิดจากระบบชลประทานที่ย่ำแย่ของปากีสถาน

อุทกภัยครั้งนี้นอกจากจะซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจของปากีสถานซึ่งถึงขั้นวิ่งโร่ไปขอ กู้เงินจากไอเอ็มเอฟถึง 11,300 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้แล้ว ยังจะส่งผลกระทบด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างรุนแรง ขณะที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงซึ่งโยงใยกับกลุ่มตาลีบันและอัลเคดาในอัฟกานิสถาน

เป็น "วิกฤติ" รอบด้าน ซึ่งรัฐบาลปากีสถานผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และ "อภิมหาพันธมิตร" สหรัฐฯ หนักใจอย่างที่สุด!!!



จาก .......... ไทยรัฐ วันที่ 6 กันยายน 2553

สายชล
06-09-2010, 07:39
อุ๊ยยย....อ่านหัวเรื่องย่อยข้างบนแล้ว นึกว่าคุณสายน้ำเป็นมหันตภัย.....:p

Super_Srinuanray
06-09-2010, 09:11
น้ำทุกอย่างสามารถเป็นภัยได้ ยกเว้น น้ำใจ มีให้ต่อกัน สม่ำเสมอ ไม่มีภัยใดๆ เคลือบแฝง...รวมทั้งพี่สายน้ำ ที่ไม่เป็นมหันตภัยค่ะ น้องเชื่อดังนั้น

สายน้ำ
06-09-2010, 09:52
น้ำทุกอย่างสามารถเป็นภัยได้ ยกเว้น น้ำใจ มีให้ต่อกัน สม่ำเสมอ ไม่มีภัยใดๆ เคลือบแฝง...รวมทั้งพี่สายน้ำ ที่ไม่เป็นมหันตภัยค่ะ น้องเชื่อดังนั้น


อาจจะเป็นก็ได้นะจ๊ะ น้อง snr แต่คงเลือกเป็นกับคนบางคนที่เป็นภัยเท่านั้นจ้ะ

Super_Srinuanray
06-09-2010, 11:08
หุยเล.... ใครบางคนที่ไม่ได้เป็นคนถูกเลือกของพี่จ๋อม คงเสียวหลังวาบ บ บ บ บ

แต่พี่ขา ..หนูไม่ใช่ ใช่ไหมค่ะ อิอิอิ

สายน้ำ
26-10-2010, 08:28
2553 ปีน้ำท่วม ล้นทะลักทั่วโลก!

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/col02261053p1.jpg


ปี พ.ศ.2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นปีหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับฝนตกหนักและน้ำท่วมครั้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในอดีตที่ผ่านมา

โดยปีนี้ไม่เพียงประเทศอินเดียเท่านั้นที่มีฝนตกหนักรุนแรงและน้ำท่วม

แต่อีกในหลายประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน เกาหลีเหนือ ปากีสถาน โปรตุเกส โปแลนด์ ฮังการี ออสเตรีย เยอรมัน สโลวะเกีย เซอร์เบีย ยูเครน ลัตเวีย ก็ประสบกับสภาวะอันเลวร้ายและได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจนก่อให้เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเช่นกัน

สภาวะน้ำท่วมในปีนี้ได้ส่งผลกระทบหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

ประเทศปากีสถานมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิต ประชาชนหลายพันคนและพื้นที่เป็นบริเวณกว้างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยที่ Swat Valley ประชาชนกว่า 900,000 คนต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย พืชผลทางการเกษตรเช่น ข้าว ข้าวสาลี อ้อย และยาสูบเสียหาย

อีกทั้งร้านค้ารวมถึงถนนหนทางและสะพานถูกกระแสน้ำพัดพาเสียหายทั้งสิ้น

ประชาชนต้องการอาหารและที่พักชั่วคราวอย่างเร่งด่วนก่อนที่สภาพอากาศหนาวที่เลวร้ายจะมาเยือน

ส่วนเกาหลีเหนือ จากฝนที่ตกหนักอย่างรุนแรงก่อให้เกิดดินถล่มปิดถนนหนทาง บ้านเรือน โรงเรียน และพืชผลการเกษตรต้องถูกฝังกลบอยู่ภายใต้กองโคลน

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/col02261053p2.jpg

นอกจากนี้ ประเทศจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบกับสภาวะน้ำท่วมรุนแรงในรอบทศวรรษ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

สําหรับอินเดีย ซึ่งไม่เคยประสบกับปริมาณฝนที่สูงมากส่งผลกระทบต่อหลายรัฐในช่วงเวลาเดียวกันมาก่อน แต่ปีนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็จะพบเห็นแต่ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม พืชผลการเกษตรเสียหาย บ้านเรือนถูกน้ำพัดพา

ในเมืองเดลี แม่น้ำยมนาซึ่งปกติจะค่อนข้างแห้งขอด มีน้ำน้อย

แต่ปรากฏว่าปีนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ประชาชนจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน รวมถึงในอีกหลายรัฐของอินเดียก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนัก มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ประชาชนถูกอพยพออกนอกพื้นที่เพื่อที่จะบูรณะฟื้นฟูจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากที่หลายชีวิตต้องสูญเสีย บ้านเรือนถูกน้ำพัดพา ถนนหนทางเสียหาย

โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไฟฟ้า โทรศัพท์ พืชผลและพื้นที่การเกษตรได้รับผลความเสียหายได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารและที่พักอาศัย อีกทั้งเริ่มมีการระบาดของโรค

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/col02261053p3.jpg

สําหรับในทวีปยุโรปก็เช่นเดียวกัน

ปี 2010 นับเป็นปีที่หลายประเทศในยุโรปทั้งออสเตรีย เยอรมัน ฮังการี โปแลนด์ ลัตเวีย ยูเครน สโลวะเกีย ต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วม

เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่ทวีปยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งต่อความพยายามที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์เหล่านี้

นอกจากนี้ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโดยปกติจะมีฝนน้อย แต่ปรากฏว่าปีนี้รัฐวิกตอเรียมีฝนมากกว่าปกติทำให้เกิดน้ำท่วมจนก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ประเทศแม็กซิโก แคนาดา และสหรัฐอเมริกาก็เช่นกันที่ประสบกับฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่มในปีนี้

สําหรับประเทศไทย มีรายงานน้ำท่วมบางพื้นที่เป็นระยะๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม

โดยในเดือนสิงหาคมทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกหนาแน่นจนก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่

ส่วนเดือนกันยายนบริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นเป็นช่วงๆ และยังคงมีหลายพื้นที่ทียังคงประสบอุทกภัย

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าปี 2010 เป็นปีแห่งอุทกภัยของศตวรรษนี้ก็ไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนัก

ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักและหลายพื้นที่ต้องประสบกับสภาวะน้ำท่วมนั้น นอกจากปัจจัยหลักทางอุตุนิยมวิทยาอันได้แก่ร่องมรสุม หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุ รวมถึงมรสุมที่พัดปกคลุมในแต่ละช่วงฤดูกาลแล้วนั้น เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

สอดคล้องกับรายงานของ ′คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ′ (IPCC) ที่ระบุว่า

หนึ่งปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 คือ การเกิดเหตุการณ์รุนแรงด้านภูมิอากาศเช่นฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่มเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้นปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือกันป้องกันและเสริมสร้างความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น



จาก .............. ข่าวสด วันที่ 26 ตุลาคม 2553

สายน้ำ
31-10-2010, 08:11
คลื่นซัด-ภูเขาไฟซ้ำ ชาวอินโดนีเซียกระอัก


http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/for20311053p1.jpg

สัปดาห์นี้ อินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติขั้นร้ายแรงอีกครั้ง จากการที่ตั้งอยู่ตรงแนววงแหวนไฟ

นับจากวันที่ 25 ต.ค. ที่เจ้าหน้าที่ประกาศเตือนภัยภูเขาไฟเมราปี บนเกาะชวา จ่อระเบิดได้ไม่นาน วันเดียวกันนั้น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ใต้ทะเล ใกล้กับเกาะเมนตาไวในช่วงดึก ซึ่งมีประกาศจับตาสึนามิอยู่พักหนึ่ง

จากที่คิดว่าไม่มีอะไร ไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น คลื่นสึนามิสูง 3 เมตรโถมซัดชายหาดของเกาะเมนตาไว ฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา กวาดเอารีสอร์ตและบ้านเรือนของชาวบ้านหายวับไปกับตา

ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่จะประเมินยอดผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ภูเขาไฟเมราปีก็ระเบิด พ่นเอาควันและขี้เถ้าตลบไปทั่วพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านหลายพันคนยังไม่ได้อพยพออกไป

จนถึงปลายสัปดาห์ จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุสึนามิสูงทะลุ 400 ราย และคาดว่าอาจเกิน 600 ราย ส่วนเหตุภูเขาไฟระเบิดอยู่ที่ราว 34 ราย บรรดาปศุสัตว์ในพื้นที่ล้มหายไปด้วยจากการสูดเอาควันพิษและขี้เถ้าเข้าไปด้วย

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/for20311053p2.jpg

แม้หายนภัยทางธรรมชาติจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ในประเทศที่เผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวของตนเองบ่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มีมาตรการและเทคโนโลยีที่ช่วยได้มาก

ในส่วนของอินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุมหันตภัยสึนามิเมื่อปี 2547 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 220,000 ราย โดยเป็นอินโดนีเซีย 168,000 ราย มีการติดตั้งระบบตรวจจับและเตือนภัยสึนามิ

แต่จากการเปิดเผยของนายเฟาซี หัวหน้าศูนย์ พบว่า ระบบเตือนภัยสึนามิ หรือ GITEWS ที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของเยอรมนีหยุดทำงานไปตั้งแต่เมื่อเดือนก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงรักษาไม่มีประสบการณ์ดูแล

ความผิดพลาดของมนุษย์ดังกล่าว จึงทำให้เมื่อถึงเวลา กลับไม่มีเครื่องมือใดๆที่จะช่วยป้องกันความเสียหายร้ายแรง

ในเหตุการณ์ภูเขาไฟเมราปีระเบิด สะท้อนถึงความผิดพลาดของมนุษย์อีกเช่นกัน

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/10/for20311053p3.jpg

เฮรู สุปาร์โวโก ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ กล่าวว่า การที่ชาวบ้านไม่ยอมอพยพจากบ้านเรือนตามประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ในช่วงที่ทางการประกาศเตือน มีชาวบ้านอพยพจากบ้านเรือนชั่วคราวราว 50,000 คน แต่จำนวนมากกลับไปไร่นาอีก เพราะเป็นห่วงบ้าน ไร่นาและทรัพย์สิน โดยไม่กลัวการระเบิดที่ตามมาอีกระลอก

จึงทำให้เหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งนี้เป็นเหตุมรณะ

ในส่วนของความช่วยเหลือ อินโดนีเซียต้องประสบปัญหาซ้ำ เมื่อสภาพอากาศฝนตกหนักขัดขวาง

แม้ว่า เมนตาไวจะเป็นเกาะสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมไปโต้คลื่น แต่นอกเหนือจากพื้นที่ รีสอร์ตแล้ว มีสภาพยากจนและถูกละทิ้ง

หลายหมู่บ้าน ถนนทรุดโทรมมาก บางแห่งไม่มีถนน หรือโทรศัพท์ให้ติดต่อ ต้องเดินเท้าหรือนั่งเรือเข้าไป ซึ่งเป็นปัญหาต่อปฏิบัติการบรรเทาทุกข์

ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตเกือบ 13,000 ราย ต้องอาศัยอยู่ตามค่ายที่พักพิงชั่วคราว เพราะไม่เหลือบ้านแล้ว

ในชุมชนหนึ่งพบว่า เด็ก 30 จาก 100 คนเสียชีวิตในเหตุคลื่นยักษ์ถาโถมครั้งนี้

เดฟ เจนกินส์ จากองค์กรเซิร์ฟเอด อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

"เราจำเป็นต้องรักษาชีวิตคนที่รอดมาได้ให้อุ่นและมีอาหารกิน เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค จากนั้นถึงค่อยเข้าสู่การฟื้นฟู" เจนกินส์กล่าว

ด้าน สุศีโล บัมบัง ยุดโธโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งต้องเดินทางกลับประเทศ จากที่ประชุมอาเซียนในกรุงฮานอยโดยยังไม่ได้ประชุม กล่าวหลังจากเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยว่า รัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

แต่ผู้นำอินโดนีเซียแนะ นำให้ชาวบ้านย้ายที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ชายหาดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ลึกขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงถูกคลื่นสึนามิซัดอีก

โดยเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวทางเดียวเท่านั้น



จาก .............. ข่าวสด วันที่ 31 ตุลาคม 2553

สายน้ำ
02-11-2010, 08:16
'สึนามิ' ถล่ม 'เมนตาไว' อีก 'บทเรียน' มหันตภัยคลื่นยักษ์

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/11/col01021153p2.jpg


มหันตภัย 'สึนามิ 2547' ซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทั่วมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงชายฝั่งทางภาคใต้ของไทย ยังคงเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ยากจะลืมเลือน เนื่องด้วยมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนราย

หลายปีผ่านมา แม้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มจะเตือนถึงความเป็นไปได้ในการเกิดสึนามิครั้งใหม่ในเอเชีย แต่ความกระตือรือร้นสร้างและวางระบบเครือข่ายเตือนภัยสึนามิยังดูไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ล่าสุด กลางดึกของวันที่ 25 ตุลาคม 2553 สึนามิก็หวนกลับมาคร่าชีวิต ประชาชนตามแนวชายฝั่งหมู่เกาะเมนตาไว ประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร่วมๆ 500 ราย สูญหายนับร้อย

คำถามที่ดังอื้ออึง คือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบเตือนภัยสึนามิที่ทุ่มเงินลงทุนไปเกือบ 2 พันล้านบาท

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เกิดจาก 'เครื่องจักร' หรือ 'ความประมาท' ของมนุษย์กันแน่...

ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศต่างๆ ควรจะศึกษาเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเผชิญความสูญเสียซ้ำรอย!



ทุ่นเตือนสึนามิพันล้าน

ระบบเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งนอกชายฝั่งอินโดนีเซียนั้น ออกแบบโดยทีมวิศวกรชาวเยอรมนี

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนไปราว 1.8 พันล้านบาท


http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/11/col01021153p3.jpg

เหตุแผ่นดินไหนนอกชายฝั่งตะวันตกค่อนไปทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.นั้น วัดความแรงได้ถึง 7.7 ริกเตอร์

โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา จะมีหมู่เกาะเมนตาไวตั้งอยู่ข้างซ้าย แต่สภาพวิถีชีวิตบนเกาะถือว่าเป็นชนบทห่างไกลความเจริญพอสมควร

เบื้องต้น สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ระบบเตือนภัยสึนามิของวิศวกรเยอรมนีบางจุดกลับไม่ทำงาน ขณะที่ชาวบ้านในหมู่เกาะเมนตาไว ซึ่งเป็นจุดที่โดนสึนามิปะทะยืนยันว่าไม่มีใครได้ยินสัญญาณ 'ไซเรน' เตือนภัยแม้แต่คนเดียว

ผลลัพธ์หลังจากสึนามิซัดเข้าฝั่ง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายร่วมพันราย บ้านเรือนวินาศ 25,000 หลัง

พื้นที่ชายฝั่งถูกแรงพิโรธของเกลียวคลื่นยักษ์ความสูง 3-8 เมตร โถมเข้าถล่มจนเหี้ยนเตียน



เตือนภัย..แต่ไม่ทันการณ์ !?

หนังสือพิมพ์ชปีเกลของเยอรมนีระบุว่า หลังเกิดเหตุ นักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบทุ่นเตือนภัยสึนามิของเยอรมนี ว่า ใช้งานได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายยอร์น ลาตูร์ยัง นักวิจัยประจำศูนย์ธรณีศาสตร์ ประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า

ระบบเตือนภัยสึนามิทำงานได้จริง และส่งข้อมูลไปให้สถานีเตือนภัยสึนามิในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ออกประกาศเตือนภัยสึนามิ เมื่อเวลา 21.47 น. วันที่ 25 ต.ค. หรือ หลังตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้ราว 5 นาที

ต่อจากนั้นอีก 39 นาที เมื่อพบว่า มีเพียง สึนามิ 'ขนาดเล็ก' ความสูง 23 เซนติเมตร พัดเข้าตอนใต้ของฝั่งสุมาตราบริเวณเมืองปาดัง จึงยกเลิกประกาศเตือนภัย

สิ่งที่ไม่มีใครรู้เลย ก็คือ หลังเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเพียง 'ไม่กี่นาที' สึนามิสูงตั้งแต่ 3-8 เมตรได้โถมเข้าชายฝั่งหมู่เกาะเมนตาไวเข้าไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ฝ่ายทางการ รวมถึงศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก ก็ไม่รู้เรื่อง เพราะหลายพื้นที่ บนหมู่เกาะแห่งนี้ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสาร!



ขั้นตอนปฏิบัติขาดมาตรฐาน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมนี ผู้รับผิดชอบการวางระเบิดเตือนสึนามิ พยายามอธิบายว่า

เหตุที่ชาวบ้านเมนตาไวไม่มีโอกาสได้ยินเสียง 'ไซเรน' เตือนให้หนีขึ้นที่สูง เพราะหน้าที่การวาง 'ระบบแจ้งเตือนแนวสุดท้าย' บนชายฝั่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากนั้น ยังพบว่า การวางสายเคเบิลส่งสัญญาณต่างๆ ไม่ตรงตามมาตรฐานที่เยอรมนีกำหนดไว้ เช่น การวางเคเบิลต้องฝังดิน ไม่ใช่ไปแขวนระโยงระยางกับต้นไม้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดฝึกซ้อมหนีภัยสึนามิ และให้ความรู้เอาตัวรอดเบื้องต้นด้วยการจับสัญญาณบ่งชี้ว่า อาจมีสึนามิขึ้นฝั่ง

จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่า ผู้เสียชีวิตในเมนตาไว ส่วนใหญ่เมื่อเห็นสึนามิลูกแรก ขนาดไม่ใหญ่มากซัดสู่ฝั่งแล้วไม่มีอะไร จึงไม่ได้อพยพขึ้นที่สูง ทำให้เมื่อสึนามิขนาดใหญ่ลูกหลังๆไล่ตามมา จึงหนีไม่ทัน

แต่ประเด็นที่ฝ่ายเยอรมนีชี้แจงก็ยังไม่ตรงกับข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ อื่นๆซึ่งรายงานว่า ทุ่นเตือนภัยสึนามิ 2 ทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลเสียหาย ใช้การไม่ได้อยู่แล้ว


http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/11/col01021153p1.jpg

มาแน่'สึนามิ'ระลอกใหม่

กรณีของทุ่นเตือนภัยสึนามิเยอรมนี ชปีเกลพบข้อมูลด้วยว่า มีอย่างน้อย 1 ทุ่นเสียจริง ภายหลังโดนสาหร่ายรุมเกาะจนทุ่นแตก

ส่วนอีกทุ่น เสียหายเพราะมีเรือประมงแล่นผ่าน

อย่างไรก็ตาม มีทุ่นเตือนสึนามิถึง 5 ทุ่นในมหาสมุทรอินเดีย ถูกโจรกรรมหายไป และคาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรสลัด

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ต้องคิดวางมาตรการดูแลและเช็กความพร้อมของทุ่นเตือนภัยเสียใหม่

ปีเตอร์ โคลเทอร์แมน เจ้าหน้าที่แผนกเฝ้าระวังสึนามิขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า

"ในกรณีเกิดแผ่นดินไหวเขย่ารุนแรง เราแทบไม่ต้องการคำแจ้งเตือนจากทุ่น เพราะต้องรีบหนีขึ้นที่สูงทันที ปัญหาคือทำไมชาวเมนตาไวไม่ทราบวิธีปฏิบัติตัวยามเกิดเหตุ"

ด้าน 'เคอร์รี่ เซียะ' ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชื่อดัง สังกัดศูนย์สังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์ เตือนว่า ตามฐานข้อมูลแล้วพบว่า แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งสุมาตราจะเกิดขึ้นแบบ 'โดมิโน่ เอฟเฟ็กต์' คือ เมื่อจุดใดบนรอยเลื่อนเปลือกโลกเกิดไหวตัวก็จะจุดชนวนให้จุดอื่นๆไหวตัวตามมา

คาดว่าแผ่นดินไหวระดับแรงกว่า 7.7 ริก เตอร์ เมื่อวันจันทร์ 25 ต.ค. จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

โดยจุดที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ อาจเกิดธรณีพิโรธถึง 8.8 ริกเตอร์ ได้แก่ พื้นที่แถบ 'เกาะซิเบรุต' ตั้งอยู่ใกล้เกาะสุมาตราเช่นกัน

หนนี้ถ้าพยากรณ์ถูกต้องคลื่น 'สึนามิ' จะใหญ่โตกว่าเดิมและสร้างความเสียหายมากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแต่ละฝ่ายไม่เลิกยืนอยู่บนความประมาท!



จาก .............. ข่าวสด วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553

สายน้ำ
09-11-2010, 09:01
'นับจากนี้อีก 50 ปี โลกจะแตก คนไทยจะสูญพันธุ์…


จาก .............. ไทยรัฐ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553

สายน้ำ
10-11-2010, 09:02
'โลกป่วย คนป่วน' ..... อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2010/11/08/images/news_img_361624_3.jpg

ต้นปีภัยแล้ง อีกไม่กี่เดือนน้ำท่วมอีสานลามมาถึงภาคกลาง ก่อนไปจมภาคใต้ ปลายปียังมีภัยหนาว นี่คือสัญญาณของโลกป่วยหรือคนต่างหากที่เป็นตัวป่วน

ทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวาทกรรมเรื่องโลกร้อนจะประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมใน การสร้าง "แพะ" ผู้รับผิดชอบภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งปวง โดยมีฮอลลีวูดรับหน้าที่ฉายภาพอันน่าสะพรึงกลัวออกมาข่มขวัญมวลมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง

แต่ถ้าถามถึงความตื่นตัวของคนไทยแล้ว คงไม่มีอะไรน่ากังวลเท่ากับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ก่อนจะซ้ำเติมด้วยภัยหนาวที่คาดว่าจะหนักหนากว่าทุกปี

หลายคนอาจสงสัยว่า "เรากำลังเผชิญหน้ากับหายนภัยชนิดไหนกันแน่" บางคนฟันธงว่าโลกกำลังจะเอาคืนมนุษยชาติอย่างที่ เจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผู้โด่งดัง เขียนไว้ใน 'The Revenge of Gaia เมื่อโลกเอาคืน' ..."หากเราไม่ใส่ใจดูแลรักษาโลก โลกก็จะหันมาจัดการดูแลตัวเอง และเมื่อถึงจุดนั้นโลกก็จะทำลายล้างผู้ก่อความเสียหายให้นั่นเอง"

ทว่าในบรรดาข้อสันนิษฐานทั้งหลาย มีข้อสังเกตเรื่องวิธีคิดและการรับมือแบบไทยๆ เป็นหนึ่งในปัญหาคาใจด้วย

เรื่องนี้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ถูกตั้งคำถามมากที่สุดในช่วงนี้ มีทั้ง "คำตอบ" และ "คำเตือน" ถึงมหันตภัยที่คนไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้


สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาหรือเปล่าคะ

เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่ความเสียหายก็ถือว่ามาก แต่ถ้าเรามาดูต้นเหตุของปัญหาที่มาจากด้านกายภาพภายนอก คือตัวสภาพอากาศหรืออะไรก็แล้วแต่ มันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงความถี่ ช่วงเวลาหรือสถานที่ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง เป็นต้นว่าฝนตกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 - 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนขนาดนี้ก็ไม่ได้แปลกมาก ไม่ถึงขนาดว่าไม่เคยมีมาก่อน แต่มันเป็นฝนมรสุมที่ไปตกแถวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม่เคยมีอย่างนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้นปัจจัยจากภายนอกก็มีส่วนแต่ไม่มาก

ส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากก็คือวิธีในการรับมือของเรา หรือความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาพวกนี้มีน้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเจอ หรือเคยเจอเมื่อนานมาแล้วลืมไปแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เมมโมรีสั้น อะไรเกินสี่ห้าปีนี่ลืมแล้ว เพราะพอผ่านไปเกินกว่านั้น เรามักจะถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องคำนึง เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ความตระหนักในเรื่องนี้มันต่อเนื่อง มีการฝึกซ้อม มีการกระตุ้นให้มันเข้มข้น ผมเชื่อว่าจะทำให้ลืมช้าลงนิดหน่อย ซึ่งก็จะช่วยได้ แต่เรามักเห่อกันอยู่เฉพาะในช่วงเหตุการณ์นั่นแหละ

อย่างเรื่องสึนามิเป็นตัวอย่างนะครับ ตอนนี้ไม่มีใครดูเรื่องสึนามิ แล้วถ้าเผื่อใครไปทำตรงนี้ ถ้าจะหาทุนมารณรงค์ แหล่งทุนก็บอก โห...คุณจะมาทำเรื่องสึนามิตอนนี้เหรอ ไม่มีสปอนเซอร์ ทำขึ้นมาก็ไม่มีคนฟัง ก็เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่ตลอดเวลานะครับ แล้วถ้าเกิดพรุ่งนี้สึนามิมา...เอาอีกแล้ว ถึงบอกว่ามันต้องไปแก้เรื่องการให้ความรู้ให้ความตระหนักก่อน ไม่ใช่เราไม่มีเงินนะ เงินจำนวนเท่ากันนี้ ถ้าเราเอาไปกระจายให้ดี ถูกกว่าด้วยซ้ำ ดีกว่ามาโหมเอาตอนนี้ เงินมันซ้ำซ้อนกัน ผมว่าเรื่องแรกเป็นเรื่องของความตระหนัก ความพร้อมเราไม่ค่อยมี

อย่างที่สองคือทิศทางการพัฒนา เราไม่ค่อยเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็น ไม่ค่อยเอาเรื่องภัยพิบัติมาเป็นประเด็นในการพัฒนาเลย เรามักจะมองว่าทำอย่างไรให้ถูกที่สุด เร็วที่สุด นั่นคือเงื่อนไขในการพัฒนาเมือง พัฒนาฐานการผลิต พัฒนาอะไรต่างๆ แต่เรามักจะไม่ค่อยดูว่าความเสี่ยงของการเกิดเรื่องแบบนี้เป็นอย่างไร เราถึงคิดว่ามันยังไม่เสี่ยง หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็ค่อยมาแก้เอาแบบนี้ เอาตัวรอดไปครั้งนึง เพราะหวังว่ามันไม่เกิดบ่อย คือถ้าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดสิบปีครั้งสิบห้าปีครั้ง ผมว่าวิธีการแบบนี้ก็ยังพอใช้ได้ แต่ถ้าเกิดมันเกิดขึ้นสามปีครั้งสี่ปีครั้งแบบนี้ผมว่ามันไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราต้องมานั่งคิดว่า ตอนนี้ความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดซ้ำเป็นอย่างไร


แล้วความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำมีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเราเชื่อในระดับหนึ่งว่าปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ อย่างน้อยๆในช่วงปลายปีนี้ ช่วงกรกฎา-สิงหาเป็นต้นมานะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝนมรสุมที่มีเยอะ หรือว่าอากาศที่เริ่มเย็นมากกว่าปกติในปีนี้ เชื่อมโยงกับเรื่องลานีญา มีโอกาสเป็นไปได้ว่าในช่วง 10 - 20 ปีข้างหน้านี้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้น เพราะดูจากสถานการณ์ที่ผ่านมา 5 - 6 ปี เราเริ่มเห็นทิศทางที่อาจจะชัดเจนมาก ดูเหมือนลานีญาจะมาถี่ขึ้น อันนี้ยังไม่เกี่ยวกับโลกร้อนนะ มันเป็นวงรอบตามธรรมชาติของมัน และถ้ามันเกิดถี่ขึ้นจริง กระบวนการแบบเดิมๆ ก็อาจจะใช้ไม่ได้

การเกิดลานีญาถี่ๆ 2 - 3 ปีมีครั้งในอดีตก็เคยเกิด แต่เป็นอดีตที่นานมากแล้ว สัก 50-60 ปีมาแล้ว แต่สมัยก่อนคนไทยเรามีไม่ถึง 20 ล้านคน เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรต่างๆ มันต่างจากเดี๋ยวนี้มาก เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนใช้แบบวิธีแบบเดี๋ยวนี้ยังพอใช้ได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้วิธีตั้งรับแบบเดิมโดยที่เรามีประชากร 70 กว่าล้านคน มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น มีความซับซ้อนในเรื่องทางสังคมมากขึ้น ผมว่ามันไม่เพียงพอครับ


จากข้อมูลที่มีอยู่คาดการณ์ได้ไหมคะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเราหลังจากนี้

เวลาพูดถึงภูมิอากาศ ทศวรรษเดียวอาจจะสั้นไป เอาสัก 2-3 ทศวรรษที่จะมาถึงนี้ เราอาจจะเห็นสภาพที่น้ำค่อนข้างมากนะครับ อากาศค่อนข้างเย็นกว่าปกติ เมื่อเทียบกับ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาถ้าคุณไปดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะเห็นข่าวภัยแล้งเป็นอันดับ 1 น้ำท่วมนานๆมีที แต่ภัยแล้งนี่มีเยอะมาก คือเกือบทุกปี แล้วพอมันเป็นอย่างนั้น ระบบต่างๆในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจึงถูกออกแบบให้รับแล้งมากกว่า ซึ่งถ้าให้คะแนนกันระหว่างการรับภัยแล้งกับน้ำท่วม ภัยแล้งได้คะแนนดีกว่าแน่นอน เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดบ่อย

อีกอย่างดูเหมือนกับว่าความแห้งแล้งเป็นไปในทิศทางโลกร้อนเหมือนกัน มันมีความรู้สึกในเชิงจิตวิทยาว่าโลกร้อนก็ต้องแล้ง แต่คราวนี้ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ถ้ามันพลิกกับมาเป็นเรื่องน้ำมากและเย็น อาจจะเริ่มขัดๆ กันว่า เฮ้ย! ไหนบอกโลกร้อนไง แต่ปีนี้ทำไมมันหนาว คือคำว่าโลกร้อนเนี่ยเหมือนดาบสองคม พอมีคำว่าร้อนอยู่คนก็คิดว่ามันต้องร้อน ไม่คิดว่าโลกร้อนมันอาจจะเย็นก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มันอาจจะไม่เกี่ยวกับโลกร้อน แต่มันก็เป็นความแปรปรวน โลกร้อนอาจจะเสริมเข้าไป ทำให้บางที่เย็นกว่าปกติ หรือบางที่ร้อนกว่าปกติ ส่วนที่ที่มีฝนมากก็มากเข้าไปอีก


แต่ทุกวันนี้เวลาเกิดภัยธรรมชาติคนทั่วไปมักเชื่อว่ามาจากภาวะโลกร้อน?

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ในปีนี้ อาจจะยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ทันทีว่ามาจากปัญหาโลกร้อน ผมว่าตอนนี้ปัญหาข้อจำกัดมันอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจ งานวิจัย คือจะตอบให้เกี่ยวมันก็เกี่ยวได้ พวกนี้เอาทฤษฎีมาโยงได้หมดแหละ แต่ว่าพอโยงเสร็จแล้วต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยการไปเก็บข้อมูลจริง มีการศึกษา แต่ว่าเราไม่มีตรงนั้นไง ถ้าโยงในทางทฤษฎีมันก็ได้ในระดับหนึ่ง คือมีความเป็นไปได้ แต่ก็มีบ้างเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันแน่นอน โยงยังไงก็โยงไม่ได้ เช่น เรื่องภูเขาไฟระเบิด หรือว่าเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง ระดับน้ำที่มันสูง วงรอบต่างๆที่มาจากดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อิทธิพลจากดาราศาสตร์ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง


อนาคตหากเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอีก อาจารย์ประเมินความพร้อมในการรับมือไว้แค่ไหน

คุณดูว่าปีนี้รับได้ไหม ปีนี้เป็นบทพิสูจน์ของเราเลย ซึ่งผมมองว่ามันยังไม่พร้อม แต่ถ้าถามว่ายังมีโอกาสพัฒนาได้ไหม โดยไม่ต้องทำอะไรมาก อย่างน้อยๆ ต้องลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องข้อมูล เรื่องความรู้ ให้มันกระจายไปในท้องถิ่น ส่วนในระดับบน ระดับวิชาการ ระดับองค์ความรู้ ข้อมูลให้มันเชื่อมโยงกันให้ได้ ไม่ใช่หมายความว่าเราต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศหรือเป็น ฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว มีเอกภาพ อะไรอย่างนี้นะ

ผมกลัวมากเลยไอ้ความเป็นเอกภาพ เพราะตอนนี้การบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติมันต้องใช้หลักการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่การจัดการความแม่นยำ ถ้าเกิดคุณไปเน้นเรื่องความแม่นยำเมื่อไหร่ มันจะทำให้คุณ input ตัวเองไปในจุดที่เสี่ยง เพราะถ้าเราพูดว่ามันแม่น เกิดไม่แม่นจะซวยเลย แต่ถ้าเรารับสภาพว่า เฮ้ย...มันไม่แม่น ห้าหน่วยงานบอกมาต่างกันขนาดนี้เลย ความคิดผมนะต่างกันเยอะๆ ยิ่งดี เพราะว่าอย่างน้อยๆ การเตรียมพร้อมในช่วงกว้าง คือจะมาน้อยมามากรับได้หมด แต่ถ้าคุณเรียกร้องให้แม่นเนี่ยน่ากลัว เพราะว่าผิดแน่นอน

เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องความไม่ลงรอย ตอนผมไปนั่งประชุมที่ทำเนียบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานกลัวกันมาก สำหรับผมข้อมูลความรู้ไม่จำเป็นต้องมีเอกภาพ แต่การตัดสินใจต้องมีเอกภาพ

สายน้ำ
10-11-2010, 09:03
'โลกป่วย คนป่วน' ..... อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ต่อ)



เรื่องการเตือนภัยก็มีข้อบกพร่องเยอะเหมือนกัน?

ผมคิดว่าก่อนอื่นเราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทาง แปลผลตรงนั้น พยากรณ์ตรงนั้น เตือนตรงนั้น การเตือนที่ปลายทางดีกว่าการเตือนที่ต้นทาง เพราะถ้าคุณเตือนผิด คนที่เตือนผิดจะมาด่าเดี๋ยวนั้นเลย แต่เราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทางให้ได้ เรื่องการถ่ายทอดความรู้ตรงนี้สำคัญ ความรู้ไม่ใช่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไกลตัวคน บางอันอาจใช้ empirical เช่น มดมันคาบไข่ขึ้นมาตรงนั้นแล้วฝนจะตก อธิบายไม่ได้หรอกแต่มันเวิร์กก็ใช้ไปก่อน เราต้องพยายามเอามาโยงใช้ประโยชน์ให้ได้บ้าง แต่ตอนนี้ทุกคนไม่มองสิ่งรอบตัวเลย จะฟังวิทยุโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์นิดหน่อย เป็นช่องทางเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ แทนที่จะคอยฟังว่าวันนี้ฝนจะตกรึเปล่า ก็ออกไปชะโงกหน้าต่างดูว่าฝนตกรึเปล่า ถ้าสังคมไปติดอยู่กับตรงนี้มากเกินไปจะลำบาก


แล้วทัศนคติของคนมีปัญหาไหม

มี คือที่ผ่านมาเรานึกเอาเองว่าอยู่กรุงเทพฯต้องแห้ง ที่มันแย่คือเงื่อนไขทางธรรมชาติกับเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมา พอมาถึงจุดหนึ่งเราจะไปไม่ไหว คนที่อายุน้อยว่าสามสิบปีที่ไม่เคยเห็นภาพกรุงเทพน้ำท่วมก็รู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนหกสิบเจ็ดสิบปีที่แล้วที่น้ำท่วมปีเว้นปีเลย ก็จะรู้สึกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมามันก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้จัดการเรื่องนี้ได้ดีขึ้น อย่างกรุงเทพฯ คงต้องปล่อยไปแล้ว มันมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปได้ แต่มันมีเมืองอื่นๆอีกหลายเมืองที่เข้าคิวรอจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ
ถ้าเกิดเมืองในประเทศไทยเป็นเหมือนกรุงเทพฯหมดคงไม่ไหว การลงทุนตรงนี้จะมหาศาลมาก เพราะว่าถ้าเราออกแบบเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องปริมาณน้ำ ในที่สุดน้ำมันก็จะย้อนกลับมาหาเราอยู่ดี คือเราสามารถจัดการให้เราอยู่กับน้ำได้ แต่ตอนนี้เราผลักให้การจัดการน้ำเป็นของหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีระบบเอกชนหรือให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถทำให้เป็นธุรกิจที่มีรายได้ ตรงนั้นจะทำให้น้ำที่ไม่มีประโยชน์ที่ต้องปัดทิ้งลงทะเลมีมูลค่าขึ้นมา พอน้ำมีมูลค่าก็จะมีคนสนใจลงทุน


นอกจากการตั้งรับแล้ว อาจารย์คิดอย่างไรกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมธรรมชาติ

บางเรื่องมันอาจจะทำได้ แต่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมันทำไม่ได้ อย่างเรื่องพายุในทางทฤษฎี ถ้าผมมีเครื่องบินสักลำหนึ่ง แล้วมีพายุใหญ่มา ผมก็ทิ้งระเบิดที่มีความเย็นมากๆ ลงไปคุณก็สลายพายุได้ หลักการไม่ได้ไฮเทคอะไร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งเรื่องการสลายพายุ หรือการสลายฝนที่จีนเขาก็ใช้นะในโอลิมปิก อาจจะได้ประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าได้ผล ตอนนี้บางเรื่องมันมีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าคุ้มขนาดไหน ต้องจัดการให้ดี เทคโนโลยีถ้าใช้มากเกินไปมันก็เป็นอันตราย

เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราน่าจะใช้เทคโนโลยีไปทำให้คนมีความเข้มแข็งในระดับปลายทางดีกว่า เพราะต้นทางถ้าทำให้คนมายึดติดตรงนี้มากไป จะทำให้คนที่คุมตรงนี้ชี้ทางได้เลยว่าจะให้ฝนไปตกที่ไหน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการคุมแบบนี้ มันจะนำไปสู่ปัญหาเชิงสังคมอีกมาก ตอนนี้มีคนไม่กี่คนที่จะตัดสินใจว่าให้กรุงเทพน้ำท่วมหรือไม่ท่วม มันก็ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว


ในมุมกลับอาจจะอันตรายมากกว่า?

ในภาพรวมผมว่ามันจะทำให้สถานการณ์เปราะบางมากขึ้น ถ้าให้เลือกระหว่างมีเทคโนโลยีคุมที่ต้นทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับไม่มีเทคโนโลยีเลย แล้วปล่อยไปตามบุญตามกรรม อย่างหลังอาจจะดีกว่า เพราะคนเราจะหาทางเอาตัวรอดของตัวเองอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต นั่นคือทุกคนจะมีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แล้ววิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะไปช่วยส่งเสริมกัน แต่ไม่ใช่คอนเซ็ปต์แบบท็อปดาวน์นะ


สำหรับเมืองไทยนอกจากปัญหาเรื่องการจัดการแล้ว มีอะไรที่ต้องกังวลอีกบ้าง

ปัญหาเรื่องชายฝั่ง ระยะเวลาไม่นานหรอก ยี่สิบปี สามสิบปีก็เห็นแล้ว มันจะทำให้การบริหารการจัดการยุ่งยากมากขึ้น เพราะเรามีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินในอัตราที่สูงมาก ตอนนี้เรามีนักวิจัยโดยเฉพาะเลยนะที่ใช้ดาวเทียมเรดาห์ดูว่าเป็นอย่างไร พบว่ามันทรุดตัว 2-3 เซนติเมตรต่อปี 10 ปีก็หนึ่งฟุต 20 ปี ก็ 2 ฟุต 30 ปีก็หนึ่งเมตร บวกเรื่องน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทุกปี มันยากที่จะจัดการ บางคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอกแค่กั้นกำแพง แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น


หลายปีก่อนอาจารย์เคยบอกว่าโลกยังไม่ป่วย ตอนนี้ถือว่าอาการแย่ลงไหมคะ

ตอนนี้จะเรียกว่าป่วยก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าป่วย ความหมายคือผิดปกติไปจากเดิม แล้วเราพยายามดึงมันกลับมาให้เหมือนเดิม แต่ตอนนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปอีกสถานภาพหนึ่ง สำหรับตัวโลกเองมันไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรอก ที่เดือดร้อนจริงๆ คือมนุษย์ โลกก็มีวิวัฒนาการของมันไป จริงๆ บรรยากาศรอบโลกเป็นส่วนนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมาแล้วทำให้มนุษย์ทั้งโลกตายเรียบไปเลยนะ 7 พันล้านคน โลกใช้เวลาอีกไม่เกิน...ระดับเป็นหมื่นปีเท่านั้นเองมันก็กลับมาได้


เพราะตัวปัญหาจริงๆ ก็คือมนุษย์?

อันนี้แน่นอน ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องทำวิจัย แต่ตอนนี้เรากำลังจะดูว่าจะทำได้อย่างไรโดยที่ไม่เอาตัวปัญหา 7 พันล้านคนออกไป แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีก คือตอนนี้โจทย์ที่ตั้งกันอยู่นี่จะเอาทุกอย่างเลย ผมมองว่าป็นโจทย์ที่หาคำตอบไม่ได้ สำหรับผมเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะอีกไม่กี่ร้อยปีก็หมด ปัญหาเรื่องโลกร้อนเดี๋ยวมันแก้ของมันเอง ในระยะยาวผมไม่ได้แคร์หรอก ร้อยกว่าปีก็แค่ 2 เจเนอเรชั่นเอง แต่ผมสนใจประเด็นปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา เช่นเรื่องคุณภาพดิน พวกนี้อันตรายมาก เพราะดินถ้ามันเสื่อมสภาพไปแล้ว แก้ยาก นับหมื่นปี นับแสนปี ในการจะฟื้นสภาพมันเค็มแล้วมันเค็มเลย กว่าจะจืดใหม่ใช้เวลานานกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเยอะ


เหมือนเรากำลังโฟกัสผิดจุด?

เรามักจะมองอะไรที่มันใกล้ตัว แต่แค่มองเรื่องโลกร้อนก็นับว่าดีขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว เป็นการมองที่ระดับร้อยสองร้อยปี เมื่อก่อนมองแค่วันต่อวัน เราขยับจากมองวันต่อวันมาเป็นระดับร้อยปีถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลแล้ว ทุกอย่างมันต้องมีกระบวนการของมันไป แล้วก็ต้องมีการเจ็บตัวบ้าง แต่การเจ็บตัวที่ดีควรเป็นการเจ็บตัวโดยสมัครใจ ถือเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องแชร์กัน




จาก .............. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Life Style วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553

สายน้ำ
16-12-2010, 09:12
เจาะลึกภัยพิบัติ โลกาจะวินาศจริงหรือ??

http://www.dailynews.co.th/content/images/1012/15/ear.jpg

ตั้งแต่เริ่มต้นย่างกรายเข้าสู่ขวบปีศักราช 2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นต้นมา จะพบได้ว่า หลากหลายผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย ฯลฯ ไล่ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักวิชาการ แม้กระทั่งคนในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด ต่างให้ความสำคัญ และตระหนักกับกระแสภัยพิบัติ ที่จะอุบัติขึ้นในดาวเคราะห์ ของระบบสุริยะจักรวาล ที่มวลมนุษย์ชาติยึดถือเป็นที่พำนักอาศัย และเรียกกันอย่างกว้างขวางว่า “โลก” เนื่องจากมีการวิเคราะห์ตลอดจนวิพากษ์ ด้วยองค์ความรู้และหลักของเหตุผลที่ยกขึ้นมาประกอบว่า อนาคตวันหนึ่งโลกจะถึงกาลอวสาน โลกกำลังจะแตก ที่สำคัญทวีปต่างๆที่เคยถูกบรรจุอยู่ในแผนที่ อาจไม่มีอีกแล้วในอนาคต

หลังความวิตกดังกล่าว ปรากฏให้เกิดกระแสการตื่นตัวเริ่มกลับมาให้ความใส่ใจในการปกปักรักษา อีกทั้งรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโลกแตกนี้กระจายทั่วโลก ด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่ต้องการให้ความวิตกนี้เกิดขึ้นจริง มีการหยิบยกจินตนาการนำเอาไปทำภาพยนตร์บนแผ่นฟิล์ม “ 2012 วันสิ้นโลก” จำลองเหตุการณ์โลกแตก สร้างความบันเทิง โดยอิงไว้ด้วยเจตคติที่ใฝ่เตือนผู้คนทางอ้อม ให้หันกลับมาใส่ใจระบบนิเวศน์ของโลกใบนี้ มากกว่ามุ่งแต่ฉกฉวยโอกาส ที่เน้นหนักไปในด้านทำลาย จนสามารถโน้มน้าวจิตใจคนทั่วโลก ให้เกิดความตระหนักว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่โลกกำลังเผชิญ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการทำลายของเงื้อมมือมนุษย์ทั้งสิ้น

หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน คือ ช่วงเวลาที่โลกเอาคืนแล้วหรือไม่ หรือขวบปี 2010 ที่ผ่านมา คือ เสียงเตือนขั้นต้น ที่ให้มวลมนุษยชาติเตรียมหาทางระแวดระวัง ก่อนที่ทุกสิ่งจะสายเกินไป

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี จะพบว่าสัญญาณเตือนที่โลกพยายามสื่อสารกับมวลมนุษยชาติ กระจายความรุนแรงไปทั่วทุกมุมโลก มีเหตุการณ์สร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว น้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลากหลายประเทศ ดินโคลนถล่มคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก พายุพัดถล่ม หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิดปะทุ เป็นต้น

เริ่มต้นจากในช่วงต้นปี วันที่ 12 ม.ค. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่รุนแรงขนาด 7.0 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ที่สร้างความศูนย์เสียครั้งสำคัญ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน ประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายล้านคน หลังจากนั้นถัดมาอีก 1 เดือน ช่วงวันที่ 27 ก.พ. เกิดแผ่นดินไหว ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็น 8.8 ริกเตอร์ บริเวณนอกชายฝั่งประเทศชิลี ซึ่งกล่าวได้ว่า คือความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ที่ยังผลให้แกนโลกเอียงไปจากตำแหน่งเดิมถึง 3 นิ้ว อันมีผลให้ระยะเวลาสั้นลงไป 1.26 ไมโครวินาที

ในเดือนถัดมา 8 มี.ค. เกิดเหตุฝนตกหนักในประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองหลวงนครเมลเบิร์น เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ก่อนตามด้วยปรากฏการณ์ลูกเห็บยักษ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ตกลงมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก โดยในช่วงวันที่ 20 เดือนเดียวกัน ยังเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุในประเทศไอซ์แลนด์ ส่งผลกระทบรบกวนต่อการจราจรทางอากาศทั่วทวีปยุโรป มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายล้านคน ทั้งนี้ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ยังส่งท้ายด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในอ่าวเบงกอลด้วย

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนเม.ย. พบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณนอกชายฝั่งของเกาะสุมาตรา มีขนาดความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ ก่อนที่จะเกิดภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งทางตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ เกิดการระเบิดปะทุขึ้นฟ้าสูงถึง 8 กิโลเมตร เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นขี้เถ้าปกคลุมน่านฟ้าสูงกว่า 6,000 เมตร ในอีกอาทิตย์ต่อมา ส่งผลกระทบโดยตรงกับการสัญจรทางอากาศ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันพบว่า ในประเทศจีน ก็ได้เกิดแผ่นดินไหว มีความรุนแรงกว่า 7.1 ริกเตอร์ ปรากฏมีผู้เสียชีวิต 2,220 ราย สูญหาย 70 ราย และบาดเจ็บนับหมื่นราย ในเขตปกครองตนเองยูซู มณฑลชิงไห่ ข้ามเดือนมาในกลางเดือนพ.ค. ภัยพิบัติยังคงปกคลุมโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุทอร์นาโด และพายุลูกเห็บ ที่เมืองซุ่ยหัว ในประเทศจีน ก่อให้เกิดความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตหลายราย

กระทั่งย่างเข้ากลางปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 ในเดือนมิ.ย. พบมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ นอกหมู่เกาะอันดามันประเทศอินเดีย ห่างกันไม่กี่วัน ได้เกิดพายุทอนาร์โดถาโถมเข้าใส่ตะวันตกของอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในประเทศรัสเซีย และประเทศเอกวาดอร์ ต่อมาในวันที่ 9 มิ.ย. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อน 1 วันต่อมาจะมีน้ำท่วมเฉียบพลันที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่ 13 มิ.ย. เกิดพายุฝน และดินโคลนถล่มทางตอนใต้ของจีน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต มีความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 43,000 ล้านหยวน ผู้อพยพขึ้นหลัก 3 ล้านคน ก่อนที่อีก 5 วันต่อมา จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เฉียบพลัน ดินโคลนถล่มต่อเนื่อง ในพื้นที่ 74 เมือง 6 มณฑล ของจีน โดยมีประชาชนชาวจีนจำนวนมากหลักล้านคนได้รับความเสียหาย โดยในประเทศจีนยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย กลับปรากฏว่าในช่วงวันที่ 14 ก.ค. ยังเกิดน้ำท่วม และดินถล่มเพิ่มเติม ทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 400 คน

แม้แต่ในประเทศรัสเซีย ยังเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เกิดไฟป่าในประเทศหลายร้อยแห่ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในเกิดความร้อนสูงขึ้น ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ก่อนที่โลกจะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ตามมา ในช่วงเดือน ส.ค. พายุฤดูร้อนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในประเทศปากีสถาน บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ในประเทศจีน ยังกลับมาพบภัยพิบัติเข้าเล่นงานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 8 ส.ค. หลังจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน และแผ่นดินถล่ม ทางตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างความสูญเสียกว่า 1,500 ราย ก่อนปรากฏการณ์ภัยพิบัติ จะข้ามฟากไปเล่นงานในภูมิภาคอเมริกาใต้ ในประเทศโบลิเวีย โดยเกิดเหตุการณ์ไฟป่าลุกลามไปกว่า 25,000 จุดทั่วประเทศ จนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยังพบอีกว่า ยังมีโคลนถล่มเพิ่มเติม ในประเทศกัวเตมาลา ทำให้เกิดความสูญเสียอีกกว่า 100 ชีวิต

สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์ภัยพิบัติ เริ่มตึงเครียดตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน ช่วงเดือนต.ค.เป็นต้นมา ทั้งนี้แม้จากรายงานจะพบว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. จะมีรายงานน้ำท่วมบางพื้นที่เป็นระยะ แต่ยังไม่หนักหนาเท่าที่ควร กระทั่งเริ่มต้นเดือนส.ค. ทั่วทุกภาคของประเทศ จะมีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดนำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ก่อนเข้าสู่ช่วงวันที่ 10 ต.ค. เรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 ต.ค. จะเกิดภัยน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ในหลายพื้นที่ ทั้งทางอีสาน ตะวันออก แม้กระทั่งภาคใต้ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้รับความเดือดร้อนนานร่วมเดือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จนภาครัฐและเอกชนต้องเข้าไปดูแลกันอย่างเต็มความสามารถ

และด้วยความตื่นตัวในปัญหาภัยพิบัติดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งอาจมีทั้งเกิดจากเงื้อมมือมนุษย์ และเกิดจากภัยธรรมชาติ ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นำโดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้เล็งเห็นถึงข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวสารและความรู้ ตลอดจนการนำเสนอให้ประชาชนรับทราบในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจ จึงได้ร่วมมือกับทาง มหาวิทยาลัยศรีปทุม มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเว็บไซต์พลังจิตดอทคอม ร่วมจัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการ “เจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด” ขึ้น โดยจะมี 8 วิทยากร ประกอบด้วย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น ดร.วัฒนา กันบัว ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล พระอาจารย์รัตน์(รัตน รตนญาโณ) และนายคณานันท์ ทวีโภค หัวหน้าทีมพลังจิตพิชิตภัยพิบัติ ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้

โดยงานดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.ระหว่างเวลา 08.30 น.-17.00 น. ที่ห้องบัวหลวงแกรนด์รูม ชั้น 6 อาคาร ดร.สุข พุคยาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ รับผู้สนใจเข้าฟังสัมนาฟรีจำนวน 1,200 คน ปรากฏว่าข่าวออกไปเพียงวันแรกก็มีผู้สนใจในเรื่องเหตุการณ์วิกฤติของโลก ติดต่อเข้าฟังจนเต็มจำนวนในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับผู้ที่พลาดหวังในการเข้าฟังการสัมมนาสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ www.palungjit.com ได้ในวันเวลาดังกล่าว.



จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 16 ธันวาคม 2553

สายน้ำ
20-12-2010, 07:30
เตือนจักรวาลเพี้ยนห่วงอีก 3 ปีโลกวิบัติ

http://www.dailynews.co.th/content/images/1012/19/dailynews.gif


วันนี้ ( 20 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ห้องประชุมอาคาร ดร.สุข พุคยาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เจาะลึกภัยพิบัติ...พลิกวิกฤตให้เป็นทางรอด” จัดโดยนสพ.เดลินิวส์ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเว็บไซต์พลังจิต มีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมงานกว่า 1 พันคน โดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในฐานะสื่อมวลชนของประเทศ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 หน่วยงาน จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลก ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นกัน ดังเห็นได้จากข่าวสารจากสื่อมวลชนต่างๆ

ดร.ประภากล่าวต่อว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ พี่น้องร่วมชาติของเราต้องประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ แม้ภาครัฐและเอกชนเยียวยาให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ก็เป็นการช่วยเหลือเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบความเสียที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ยังดีเสียกว่าที่พวกเราจะนิ่งอยู่เฉย เพราะในห้วงเวลาเช่นนั้น น้ำใจและกำลังใจ คือสิ่งสำคัญ ที่พวกเราต่างก็เป็นพี่น้องร่วมชาติพึงมีให้แก่กัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบางอย่างมนุษย์ก็สามารถรู้หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ จนสามารถเตรียมพร้อมรับมือหรืออพยพคนออกจากพื้นที่ได้ทัน แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติบางอย่าง มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ผลกระทบที่ตามมาจึงก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเกือบทุกครั้ง

“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก สามารถเตรียมพร้อมรับมือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้” ดร.ประภา กล่าว

ต่อจากนั้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึง “สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในปัจจุบัน” ว่า จากประสบการณ์การทำงานกว่า 22 ปี โดยปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาวัดอุณหภูมิในไทยได้สูงถึง 42.5 องศาเซลเซียส จากอดีตที่มีอุณหภูมิสูงสุดที่ 37.5 องศาเซลเซียส พบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้ทำให้เห็นว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลง สถิติล่าสุดไทยมีคนเสียชีวิตจากโลกร้อนในปีนี้ 16 คน เพิ่มจากอดีตที่มีคนเสียชีวิต เพียง 1-2 คน ปกติอุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ถ้าต้องทนอยู่ในสภาวะอากาศที่สูงถึง 42.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ไม่เฉพาะในไทย ในอินเดียมีคนเสียชีวิตด้วย ดังนั้นต้องให้ความรู้กับประชาชนในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัตินี้

“ส่วนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ภาคอื่นๆของประเทศไทย โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวงของไทยไปอยู่ภาคอื่นๆ เนื่องจากถ้าย้ายไปภาคอีสานก็ต้องเจอกับสภาพขาดแคลนน้ำ หากย้ายไปภาคเหนือก็ต้องพบกับการเกิดแผ่นดินไหว ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกก็เสี่ยงกับการเจอสตอร์มเซิร์จ ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น “ ดร.สมิทธ กล่าว

ด้าน ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรคนไทยที่ทำงานในองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา กล่าวในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างอวกาศกับการเปลี่ยนแปลงบนโลก” ว่า 20 ปีที่ผ่านมา ระบบสุริยะจักรวาลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีพลังงานต่างๆเข้ามาในระบบสุริยะจักวาล นาซ่าส่งดาวเทียมขึ้นไปศึกษาพบความเปลี่ยนแปลงมวลลมสุริยะลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ เช่น ดาวอังคารเกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ดาวพฤหัส มีความสว่างเพิ่ม 200% ความร้อนสูงขึ้น ส่วนโลก ก็พบปริมาณรังสีคอสมิกมาก มีปริมาณฝุ่นละลองเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณฝนดาวตก และวัตถุพวกอุกาบาตรเข้ามาในโลกมากขึ้น รวมถึงตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศนอกโลก

“ชั้นบรรยากาศของโลกลดลง ส่งผลให้โลกมีความไว้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนอกโลก และแกนโลกมีการเคลื่อนตัวจากเดิม ช่วงต้นปี 2013 หรือปี 2556 ต้องระวังเรื่องภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นจากปฎิกิริยาของดวงอาทิตย์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้โลกเกิดความร้อนเพิ่มสูงขึ้น เราควรเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องอาหารให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 3-5 วัน” ดร.ก้องภพกล่าว

ขณะที่ ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวบรรยายในหัวข้อ “พายุหมุนเขตร้อน คลื่นพายุกระทบฝั่ง และน้ำท่วม” ว่า พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุที่อยู่ในทะเลเขตร้อน มีปัจจัยจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เหมาะสมอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส โดยพายุหมุนเขตร้อนจะเกิดในน้ำทะเลลึก และเคลื่อนตัวเข้าฝั่งกลายเป็นสตอร์มเซิร์จ โดยเส้นทางการเกิดพายุจะเกิดไม่ซ้ำที่กันขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเดือน ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท วางเครื่องมือเตือนภัยพิบัติทางทะเลซึ่งสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า 7 วันก่อนพายุจะเคลื่อนเข้ามายังชายฝั่ง

“การหลีกเลี่ยงภัยพิบัติต่างๆ คือ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยพิบัติ เช่น ต้องฟังคำเตือนภัย และมีการกระจายคำเตือนการเกิดภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องส่งคนลงพื้นที่ทันที่เมื่อมีข้อมูลการเกิดภัยพิบัติ เพื่อเตือนประชาชน รวมทั้งต้องมีการก่อสร้างที่หลบภัยในพื้นที่ในหมู่บ้านเมื่อเกิดภัยพิบัติ และมีการซ้อมอพยพภัยพิบัติอย่างจริงจัง” ดร.วัฒนา กล่าว

ส่วน ดร.เสรี ศุเพทราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อมูลมากมายแต่ยังขาดการนำมาบริหารจัดการ ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น ข้อมูลตรวจจับเรดาร์กลุ่มฝนและปริมาณน้ำฝนซึ่งต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดลานินญา ฝนตกหนักมากแล้วค่อยๆเบาลง โดยปี พ.ศ. 2554 จะเกิดฝนตกหนัก ส่วนปีพ.ศ. 2555 ฝนไม่ตกเกิดความแห้งแล้ง

“จากข้อมูลต่างๆชี้ว่า ในระยะยาวช่วง 10-20 ปี หน้าแล้งก็จะแล้งหนัก หน้าฝนก็จะฝนมาก และจากการประมวลข้อมูลปัจจุบันที่มี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น 5% และแผ่นดินทรุดตัว เป็นต้น บวกกับฐานข้อมูลน้ำท่วมในปีพ.ศ. 2538 พบว่า ถ้าเกิดน้ำท่วมอีก กรุงเทพฯ จะรับไม่ได้ รวมทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ซึ่งจากการวิเคราะห์มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมถึง 40% เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาในปีนี้คนกรุงเทพฯรอดพ้น แต่ปีหน้ากรุงเทพฯมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม และภายใน 10 ปีนี้ ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯมีเกิน 50 % และในอนาคตอาจได้เห็นการนั่งรถแล่นบนน้ำในกรุงเทพฯ” ดร.เสรี กล่าว

ดร.เสรี กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะสร้างเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมคือ สร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ และสร้างเจ้าพระยา โดย 2 มาตรการแรกทำไม่ได้ ความหวังอยู่ที่การสร้างคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นคันดินที่เหมาะกับสภาพแวดล้อม การสร้างที่พักน้ำ (แก้มลิง) และทำคลองระบายน้ำ โดยปีนี้ต้องใช้เงินอีกเป็นแสนล้านในการทำมาตรการป้องกันน้ำท่วมทั้ง 3 มาตรการ ส่วนการเกิดสึนามิในประเทศไทยจะเกิดเมื่อไหร่ยังคาดการณ์ไม่ได้ ต้องรอคำนวณจากการเกิดแผ่นดินไหว แต่ขณะนี้ได้ทำแบบจำลองการเกิดสึนามิว่าจะเคลื่อนตัวไปที่ไหนบ้าง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถระบุเวลาจะเคลื่อนเข้าฝั่ง เพื่อใช้ในการหลบหนีได้

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กล่าวถึง “วิกฤตน้ำท่วมโลก” ว่า ขณะนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และใช้พื้นที่และทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้ปัจจุบันโลกเล็กเกินไปสำหรับประชากรทั้งโลก ซึ่งมีคนในแอฟริกาตายไปเดือนละ 1 ล้านคน เพราะไม่มีอาหาร และถ้าจะให้ประชากรโลกอยู่กันอย่างเพียงพอต้องใช้โลกถึงหนึ่งใบครึ่ง วันนี้โลกไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์แล้วข้อมูลจากศูนย์ของสหรัฐอเมริกา โดย 30 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสูงขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส ส่วนขั้วโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดผลกระทบ อากาศแปรปรวน ร้อนจัด หนาวจัด แห้งแล้ง ปะการังมีการเปลี่ยนสีและฟอกสี และมีพายุที่รุนแรงเพิ่มขึ้นและขาดแคลนน้ำ

ดร.อาจอง กล่าวต่อว่า ช่วงหน้าร้อนแม่น้ำโขงจะแห้งสนิท เพราะน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงละลายไปมาก โดยสิ่งที่อันตรายที่สุด คือ น้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ที่สะสมมาหลายพันปีเริ่มละลายและเริ่มไหลออกจากแผ่นดินแอนตาร์กติก ซึ่งมีปฏิกิริยาเร่งจากบริเวณขั้วโลกเหนือที่มีแก๊สมีเทนผุดขึ้นมาจากการ ละลายของน้ำแข็ง ซึ่งแก๊สมีเทนมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเร็วกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า และถ้าเมื่อไหร่ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 6-7 เมตร เมืองที่อยู่ติดทะเล เช่น ฟลอริด้า ไมอามี่ เซี่ยงไฮ้ รวมถึงกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยเมืองในแถบภาคกลางตอนล่างเสี่ยงจะจมอยู่ใต้น้ำ เช่น จ.สมุทรปราการ นนทบุรี และ ปทุมธานี เรื่องน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องที่กะทันหัน สามารถเตรียมการรับมือได้ การสร้างเขื่อนคงเป็นเรื่องที่สายเกินไป ซึ่งองค์การนาซ่าได้จัดทำแผนที่ใหม่ของโลก พบว่าเมืองเซียงไฮ้ไม่มีเหลือเลย

“น้ำทะเลสูงขึ้นทำให้โลกขาดความสมดุล ซึ่งปัจจุบันแกนโลกมีการเคลื่อนที่เพื่อหาสมดุลใหม่ ขณะที่เปลือกโลกก็เคลื่อนไหวเร็วขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลเช่นกัน ส่งให้เกิดแผ่นดินไหวบนรอยต่อของเปลือกโลก ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาที่รอยต่อและรอยร้าวของเปลือกโลกที่อยู่ในประเทศพม่า ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ จึงควรต้องสร้างบ้านให้ทนต่อการเกิดเผ่นดินไหวได้อย่างน้อย 5 ริกเตอร์” ดร.อาจอง กล่าว

สำหรับ นพ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึงเรื่อง “การเตรียมการรองรับและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ว่า จุดอ่อนของคนไทยจากเหตุการณ์สึนามิ คือ ทำงานไม่เกิน 3 วัน และทำงานเอาหน้า แต่ก็ยังมีคนดีๆอีกมากมายที่นำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ และพยายามทำการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง สถาบันฯจะเป็นตัวประสานให้เกิดการช่วยเหลือ โดยใช้เบอร์ 1669 เป็นเบอร์รับแจ้งเหตุซึ่งเป็นบริการฟรีที่สถาบันฯ ให้เงินทุนสนับสนุน

“ถ้าเกิดภัยพิบัติใหญ่ๆ เช่น แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากทีมแพทย์ของสถาบันฯพร้อมรับมือ ซึ่งหลังเกิดสึนามิ 7 ปีที่แล้ว ทีมแพทย์ของสถาบันฯ ซ้อมรับมือกันอย่างหนัก เชื่อว่าถ้าเกิดสึนามิอีกครั้ง ทีมแพทย์จะเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและจะทำให้เกิดการสูญเสียน้อยมาก เพราะมีกลไกการเตรียมพร้อมรับมือระดับสากล ขณะที่ประชาชนต้องเชื่อข้อมูลการเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา ต้องซ้อมเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง” นพ.ชาตรี กล่าว



จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 20 ธันวาคม 2553

สายน้ำ
21-12-2010, 08:19
จุฬาฯโต้เป็นไปไม่ได้กรุงเทพฯจมบาดาล

http://www.dailynews.co.th/content/images/1012/20/pibut.jpg


วานนี้ ( 20 ธ.ค.)นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยพิบัติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นว่า เราเตรียมแผนงาน และเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดินไหว หรือสึนามิ รวมทั้งได้มีการซ้อมรับมือตลอดเวลากับสถานการณ์ในพื้นที่ที่วิตกว่าอาจจะเกิดเหตุขึ้น ถามว่ามั่นใจกับทุ่นเตือนภัยที่ปล่อยลงทะเลมากน้อยแค่ไหน นายสุเทพ กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานก็ช่วยได้มากในการเตือนให้เราได้รู้ก่อนล่วงหน้า เพื่อที่จะได้มาบอกกับประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะมีอันตรายได้ อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งไปกังวลใจอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ถามถึงกรณีที่ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรคนไทยที่ทำงานในองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนให้ระวังภัยพิบัติครั้งใหญ่ ขณะนี้มีปัจจัยที่จะเกิดเหตุเช่นนั้นหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุอย่างนั้น

ด้านนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากศูนย์เตือนภัยฯปล่อยเรือซีฟเดค ปฏิบัติการติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึกตรวจคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน จำนวน 2 ทุ่น เมื่อที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ห้องปฏิบัติการศูนย์เตือนภัยฯ ได้รับสัญญาณจากทุ่นลอยน้ำลึกตรวจคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันทั้ง 2 ทุ่นเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับสัญญาณที่ได้รับจากการทำงานของทุ่นทั้ง 2 ทุ่น เป็นสัญญาณที่บอกความลึกของท้องทะเลที่ติดตั้งทุ่นและค่าเฉลี่ยของระดับน้ำทะเล รวมทั้งระบบการทำงานของตัวทุ่นเองซึ่งเป็นไปตามขอบเขตที่ศูนย์เตือนภัยฯวางแนวทางไว้ ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะแจ้งให้ประชาชนทราบภายใน 15 นาที เมื่อทุ่นพบการเกิดสึนามิในทะเล ทำให้ประชาชนมีเวลาหนีเป็นชั่วโมง ขอให้ประชาชนสบายใจ-มั่นใจในระบบเตือนภัยของภาครัฐ

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยผลการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า นายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการระบายน้ำ(สนน.)ชี้แจงในที่ประชุมกรณีนักวิชาการภาคส่วนต่างๆ ออกมาคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้กรุงเทพฯ ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วม โดย สนน.รายงานว่าตัวเลขที่นักวิชาการนำมาใช้นั้นเป็นการคาดการณ์ที่รุนแรงเกินจริง ทั้งเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่อ้างว่าจะเพิ่มขึ้น 15 % ในขณะที่ผลการศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์และการปรับตัวของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)นั้น ระบุว่าปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นแค่ 3 % ส่วนระดับน้ำทะเลที่อ้างว่าจะสูงขึ้น 13 ม.ม./ปีนั้น ก็มีข้อมูลว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 8 ม.ม./ปี

นอกจากนี้ผลการวิจัยของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เรื่องสภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในน่านน้ำไทย อ้างอิงข้อมูลย้อนหลัง 67 ปี ปรากฏว่าค่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยปี พ.ศ.2483 – 2550 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยไม่ได้สูงขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการทรุดตัวของแผ่นดินใน กทม.ปีละ 4 ม.ม.ตามที่ได้มีการคาดการณ์นั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้ กทม.พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และลดการใช้น้ำบาดาล ทั้งนี้ กทม.ได้นำสถิติที่น่ากลัวที่สุดจากทั้ง 3 หน่วยงานมาประมวล โดยจากนี้ไป กทม.จะมีการหารือในเรื่องการปรับใช้ผังเมืองรวมมากขึ้น ทั้งกรณีที่มีผู้สร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแม่น้ำลำคลองและพื้นที่รับน้ำต่างๆก็จะต้องเข้มงวดมากขึ้นด้วย

ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา “เจาะลูกข้อมูลวิชาการด้านพิบัติภัยกับข่าวสารที่ประชาชนควรได้รับรู้อย่างถูกต้อง” โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีข่าวสารเกี่ยวกับไทยจะประสบภัยพิบัติออกมาหลายครั้ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากหลักวิชาการ ส่งผลให้ประชาชนตื่นตระหนก และเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมตามมา การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เรื่องน้ำจะท่วมกรุงเทพฯจนถึงภาคกลาง จากภาวะโลกร้อนและน้ำแข็งขั้วโลกละลายนั้นคงเป็นเรื่องที่อ้างอิงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งเฉลี่ยทั่วโลกเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากที่ได้ทำวิจัยในเรื่องนี้มากว่า 10 ปี โดยใช้สมมุติฐานระบบและเครื่องมือการป้องกันของไทยยังเป็นแบบในปัจจุบันพบว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าน้ำทะเลจะกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาเพียง 1.3 กิโลเมตร และ 50 ปี จะเข้ามาประมาณ 2.3 กิโลเมตร หรือกินพื้นที่ 1 แสนไร่ ส่วนอีก 100 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 กิโลเมตร หรือประมาณ 2 แสนไร่ โดยมี 5 จังหวัดที่รับผลกระทบ คือ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร การที่จะน้ำทะเลจะเพิ่มสูง 6-7 เมตร จนท่วมถึง สิงห์บุรี อ่างทอง จึงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก และไม่เกิดขึ้นในเวลาเร็วๆนี้แน่นอน

ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว อาจารญ์ภาควิชาธรณีวิทยา กล่าวว่า ในส่วนของการเกิดสึนามิในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะมีปัจจัยจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในบริเวณรอยเลื่อนของเปลือกโลกแถบเกาะนิโคบาร์เหมือนปี 2547 จนที่เกิดสึนามิมีโอกาสน้อยมาก เพราะพลังงานบริเวณนั้นได้ถูกปลดปล่อยไปแล้วและต้องใช้เวลาในการสะสมใหม่ไม่น้อยกว่า 100 ปี จึงจะเกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 ริกเตอร์ขึ้นไปได้อีก

ด้าน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องพายุสุริยะที่จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหว และสึนามิเป็นการอ้างข้อมูลในเว็บไซต์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเกิดแผ่นดินไหมีสาเหตุจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะลมบริเวณรอยเลื่อนเปลือกโลก หากไหวรุนแรงจึงมีโอกาสเกิดสึนามิ ส่วนเรื่องสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกๆ 11 ปีอยู่แล้ว



จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 21 ธันวาคม 2553

สายน้ำ
31-12-2010, 06:28
โศกนาฏกรรมโลกปี 53 ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ-มนุษย์ รุมเร้า

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/12/for30311253p2.jpg
1.ศพเกลื่อนเฮติ
2.เหยื่อภูเขาไฟเมราปี
3.ภูเขาไฟไอร์แลนด์
4.สึนามิกวาดหาดเมนตาไว
5.น้ำท่วมที่ปากีสถาน
6.-7.ระเบิดแท่นขุดเจาะน้ำมันบีพี
8.สะพานถล่มที่กัมพูชา

ปี2553 เป็นอีกปีที่เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติร้ายแรงทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ เล่นงานมนุษย์อย่างหนัก ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ก่อเหตุทำร้ายธรรมชาติอย่างน่าตกตะลึง พร้อมด้วยโศกนาฏกรรมทางอุบัติเหตุของมนุษย์เอง

เปิดศักราชมาได้เพียง 12 วัน มหันตภัยแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติ ในทะเลแคริบเบียน คร่าชีวิตในประเทศยากจนแห่งนี้ถึง 230,000 ราย บาดเจ็บกว่า 300,000 คน มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1.6 ล้านคน

เป็นเหตุธรณีพิโรธที่รุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของประเทศ

สภาพภายในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวง พังพินาศย่อยยับ เต็มไปด้วยเศษซากบ้านเรือนกว่า 250,000 หลังคาเรือน สาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมดใช้การไม่ได้

แต่ภาพที่ช็อกสายตาชาวโลกมากที่สุดคือ ศพผู้ประสบภัยกองเกลื่อนราวกับทะเล

ซ้ำร้ายในเดือนต.ค. ยังเกิดการระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคคร่าชีวิตชาวเฮติ 2,000 ราย โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อกว่า 270,000 คนภายในสิ้นปี

ด้านอินโดนีเซีย ชาติที่เคยประสบแผ่นดินไหวและสึนามิรุนแรงเมื่อปี 2547 มีผู้เสียชีวิตเรือนแสนต้องเผชิญเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก เมื่อ 25 ต.ค. แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ทางตะวันตกของเกาะสุมาตราก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 3 เมตร ถาโถมเข้าใส่เกาะเมนตาไว มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 ราย สูญหายอีกราว 100 คน บ้านเรือนถูกน้ำพัดทำลายกว่า 4,000 หลัง มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 20,000 คน

และเกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยสึนามิว่าเหตุใดจึงป้องกันไม่ได้

ปีนี้ยังเป็นปีที่ภูเขาไฟปั่นป่วนหนักกว่าปีก่อนๆ

ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ ประเทศไอซ์แลนด์ ปะทุขึ้นในวันที่ 20 มี.ค. และวันที่ 14 เม.ย. พ่นควันเถ้าถ่านที่มาพร้อมอนุภาคแก้วขนาดเล็ก พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร นอกจากบดบังน่านฟ้าทวีปยุโรปแล้ว เถ้าถ่านซึ่งมีแก้วเจือปนยังเป็นอันตรายต่ออากาศยาน จนประเทศในยุโรปต้องทยอยปิดน่านฟ้ากันระนาว สะเทือนการคมนาคมทางอากาศมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้านฝั่งเอเชีย ภูเขาไฟเมราปีของอินโดนีเซียตั้งอยู่ภาคกลางของเกาะชวา ปะทุต่อเนื่องในเดือนต.ค.-พ.ย. ทางการอินโดนีเซียต้องอพยพประชาชนกว่า 350,000 คนออกจากพื้นที่เสี่ยง

มีผู้เสียชีวิต 353 รายจากฝุ่นกำมะถันและความร้อนมหาศาล

หายนะจากน้ำมือมนุษย์อุบัติในวันที่ 20 เม.ย. เมื่อเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเตอร์ ฮอไรซัน ในอ่าว เม็กซิโก สหรัฐ ดำเนินการโดยบริษัทบีพี ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงานโลก สัญชาติอังกฤษ

มีคนงานเสียชีวิตทันที 11 ราย และหายนะที่ตามมาก็คือ น้ำมันทะลักรั่วไหลลงทะเล กว่าจะควบคุมได้ต้องใช้เวลาถึงวันที่ 15 ก.ค. หรือเกือบ 3 เดือน

รวมแล้วน้ำมันรั่วกระจายไปในทะเลถึง 4.9 ล้านบาร์เรล

ภาพที่นกทะเลชายฝั่งหลุยเซียนาถูกน้ำมันเคลือบไปทั้งตัวชวนให้สลดใจถึงชะตากรรมของระบบนิเวศทางทะเลของโลก ที่ต้องใช้เวลาเยียวยาอีกยาวนาน

ด้านเหตุอุทกภัยที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงในปีนี้เกิดขึ้นที่ปากีสถาน เดือนก.ค. หลังฝนตกหนักทางภาค เหนือของประเทศ

ปริมาณน้ำในแม่น้ำสินธุซึ่งเป็นเสมือนแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงปากีสถานตั้งแต่เหนือจรดใต้ไม่สามารถรองรับน้ำไหวจึงเกิดภาวะล้นตลิ่งและน้ำหลากฉับพลันไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่กว่า 1 ใน 5 ของประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ราย

แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 20 ล้านคน มากกว่าในเหตุแผ่นดินไหวเฮติ แต่กลับได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่าและช้ากว่า

นับเป็นภัยพิบัติที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในปี 2553

ส่งท้ายปีด้วยโศกนาฏกรรมมนุษย์ บนสะพานแขวนที่เชื่อมระหว่างเกาะเพชรเข้ากับกรุงพนมเปญ ในค่ำคืนลอยกระทง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.

ความตื่นตระหนกของผู้คนที่คลาคล่ำอยู่บนสะพานหลังมีผู้ตะโกนบอกว่า สะพานกำลังจะถล่ม ทำให้ทุกคนวิ่งหนีเอาตัวรอด บางส่วนจึงตกสะพานลงไปจมน้ำตาย บางส่วนถูกไฟฟ้าดูดตาย และส่วนใหญ่นอนทอดร่างไร้วิญญาณเป็นกองพะเนินอยู่บนสะพานเนื่องจากถูกเหยียบ

มีผู้เสียชีวิต 347 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า เป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ "ทุ่งสังหาร" ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ



จาก .................... ข่าวสด วันที่ 31 ธันวาคม 2553

สายน้ำ
03-01-2011, 07:16
ปี 53 ภัยธรรมชาติมาทุกรูปแบบ อากาศแปรปรวน แรงกว่าสถิติ 100 ปี

http://www.prachachat.net/news-photo/prachachat/2011/01/edi01030154p1.jpg

เมื่อมองในแง่ "ภัยธรรมชาติ" ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นความร้อน น้ำท่วม ภูเขาไฟปะทุ ซูเปอร์ไต้ฝุ่น สึนามิ พายุหิมะ ดินถล่ม และภัยแล้ง ที่คร่าชีวิตมนุษย์รวมกันอย่างน้อย 2.5 แสนคน หรือสูงกว่ายอดผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่าอีกมหาศาล

ความเข้มข้นของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้คำว่า "ที่สุดในรอบ 100 ปี" แทบจะหมดความหมาย เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่ธรรมดา

และแม้ว่าหายนะจากธรรมชาติ บางส่วนเกิดขึ้นตามวัฏจักรปกติ แต่ต้องยอมรับว่า "น้ำมือมนุษย์" ทำให้ภัยธรรมชาติเหล่านี้รุนแรงยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว และทำให้ปี 2553 กลายเป็นปีที่เกิดภัยธรรมชาติแบบสุดขั้วหลายต่อหลายครั้ง

เมื่อผนวกกับการก่อสร้างและการพัฒนาที่ด้อยคุณภาพ ทำให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งคร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัจจุบันมีคนยากจนจำนวนมากขึ้นอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านภัยธรรมชาติอันหนักหน่วง ดังนั้นจึงหมายความว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือพายุไซโคลน ก็จะทำให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้นด้วย

เริ่มต้นศักราชในเดือนมกราคมด้วยแผ่นดินไหวในเฮติ ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 220,000 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากขนาดนี้คือ คนส่วนใหญ่ยากจนและอยู่อาศัยในบ้านที่สร้างอย่างไร้มาตรฐาน ทั้งนี้ ริชาร์ด ออลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติแห่งฟลอริดา อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้มองว่า หากเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาดเดียวกันในปี 2528 น่าจะมีผู้เสียชีวิตเพียง 80,000 คนเท่านั้น

จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวในชิลี ซึ่งแม้ว่าจะมีความรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในเฮติ แต่เนื่องจากเกิดในบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยน้อย และอาคารก่อสร้างดีกว่า ทำให้มีคนเสียชีวิตเพียง 1,000 คน

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชี้ว่า ภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลง จากผลของโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดภาวะอากาศรุนแรงแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนเรื่อยไปถึงน้ำท่วม

อย่างเช่นที่เกิดในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เพราะขณะที่รัสเซียประสบภัยจากคลื่นความร้อนอันหนักหน่วง แต่กลับเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน จมพื้นที่ราว 62,000 ตารางไมล์ หรือขนาดเท่ากับ รัฐวิสคอนซินของสหรัฐ สภาพอากาศที่มีทั้งร้อนและพายุในคราวเดียวกัน คร่าชีวิตมนุษย์เกือบ 17,000 คน หรือมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเสียอีก

คราวนี้ลองมาดูสถิติต่างๆของภัยธรรมชาติในรอบปีที่ผ่านมาในหลากแง่มุมกันบ้าง


คร่าชีวิตมนุษย์มากแค่ไหน ?

ขณะที่แผ่นดินไหวในเฮติ คลื่นความร้อนในรัสเซีย และน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน คือภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุด ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆในชิลี ตุรกี จีน อินโดนีเซียเช่นกัน และหากนับจนถึงกลางเดือนธันวาคม พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 7.0 ริกเตอร์ขึ้นไปถึง 20 ครั้ง เทียบกับในอดีตที่เคยเกิดเพียง 16 ครั้งต่อปีเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า หากนับถึงเดือนกันยายน ภัยน้ำท่วมคร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 6,300 ชีวิต ใน 59 ประเทศ มีหลายประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน อิตาลี อินเดีย โคลัมเบีย ชาด ฟิลิปปินส์ จีนบางส่วน ออสเตรเลีย รวมถึงไทยที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในแถบภาคอีสาน ภาคกลางบางส่วน และภาคใต้บางส่วน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ชีวิต สร้างความเสียหายต่อเรือกสวนไร่นา และย่านธุรกิจสำคัญมหาศาล

หากรวมผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทุกประเภท สวิสรีระบุว่า นับถึงวันที่ 30 พ.ย.มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกือบ 260,000 คน เทียบกับยอดผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ 15,000 คนในปี 2552


รุนแรงเพียงใด ?

หลังจากพายุหิมะพัดถล่มสหรัฐ รวมถึงเหตุการณ์หิมะตกหนักในรัสเซียและจีนเมื่อช่วงต้นปี อุณหภูมิในโลกก็แปรปรวนกลายเป็นร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า ปี 2553 อาจเป็นปีที่ทำสถิติร้อนที่สุดสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก หรืออย่างน้อยติดอันดับ 1 ใน 3 ของปีที่ร้อนที่สุด ขณะที่ศูนย์ข้อมูลภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปีเดียวกัน นับถึงสิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 58.53 องศาฟาห์เรนไฮต์

และมีหลายพื้นที่ทำสถิติร้อนที่สุด เช่น ลอสแองเจลิส ที่สร้างสถิติร้อนที่สุดถึง 113 องศาฟาห์เรนไฮต์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. และก่อนหน้านั้นปากีสถานก็เผชิญกับวันที่ร้อนที่สุดที่ระดับ 129 องศาฟาห์เรนไฮต์เช่นกัน

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เริ่มต้นปีด้วยอากาศหนาวเย็นในฟลอริดา ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นฤดูร้อนที่สุดของพื้นที่ดังกล่าว

และมาส่งท้ายในช่วงคริสต์มาสที่ควรเป็นเวลาของการฉลองอย่างมีความสุขกับครอบครัว แต่คนจำนวนมากกลับต้องนั่งแกร่วอยู่ตามสนามบินในหลายประเทศของยุโรป เพราะหิมะตกหนักทำให้จราจรทางอากาศและการคมนาคมทางบกระหว่างเมืองในยุโรปเป็นอัมพาตไปหลายวัน เช่นเดียวกับเหตุการณ์พายุหิมะที่พัดถล่มฝั่งตะวันออกของสหรัฐหลังวันคริสต์มาส ที่ส่งผลให้การคมนาคมทางบกและทางอากาศหยุดชะงักไปเช่นกัน และมีการยกเลิกเที่ยวบินไปกว่า 6,000 เที่ยว

ด้านภาคเหนือของออสเตรเลียพบกับฝนตกหนักที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้กลับพบภัยแล้งอย่างหนัก เช่นเดียวกับลุ่มน้ำอะเมซอนที่พบกับปัญหาภัยแล้งด้วยระดับน้ำต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์


ความเสียหายมหาศาล

สวิส รี ประเมินว่า ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.22 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2553 หรือมีมูลค่า สูงกว่าขนาดเศรษฐกิจฮ่องกง แต่แม้ว่าจะเป็นสถิติสูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่ใช่สถิติสูงสุดเพราะภัยธรรมชาติในรอบปีดังกล่าวมักเกิดในพื้นที่ยากจนที่ไม่มีการประกันภัย เช่น เฮติ เป็นต้น


ประหลาดอย่างไร ?

เหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุในไอซ์แลนด์ส่งผลให้จราจรทางอากาศในน่านฟ้ายุโรปเป็นอัมพาตต่อเนื่องหลายวัน ทำให้คนกว่า 2 ล้านคนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนเดินทางเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เหนือการคาดคิดนี้ นอกจากนี้ยังมีการปะทุของภูเขาไฟในอีกหลายพื้นที่ เช่น คองโก กัวเตมาลาซิตี เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้คนต้องหนีหลบภัย ขณะที่นิวยอร์กซิตีต้องเผชิญกับพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นน้อยมากในแถบนั้น และฝั่งตะวันออกของสหรัฐถูกถล่มด้วยพายุหิมะอย่างหนักหน่วง

ส่วนประเทศในเอเชียอย่างอินโดนีเซีย พบกับภัยธรรมชาติ หนัก ๆ ถึง 3 ระลอก ในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนตุลาคม เริ่มจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่ส่งผลให้เกิดสึนามิตามมาคร่าชีวิตคนไปกว่า 500 ชีวิต ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยภูเขาไฟปะทุที่ทำให้คนกว่า 390,000 คนต้องหนีภัยชั่วคราว ภัยพิบัติระลอกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่แดนอิเหนาต้องรับมือกับอุทกภัย แผ่นดินถล่ม และ แผ่นดินไหวหลายครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนไปแล้วในช่วงต้นปี

หากมองในแง่ความประหลาดสุดขั้ว ปี 2553 ถือเป็นตัวอย่าง ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเริ่มต้นปีด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ" ที่ส่งผลให้เกิดภาวะภูมิอากาศแบบสุดขีดไปทั่วโลก ก่อนที่จะเกิดภาวะ "ลานินญา" ที่เป็นสาเหตุของอากาศสุดขั้วในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญและลานินญาแบบเข้มข้นในรอบปีเดียวกันถือเป็นเรื่อง "ไม่ปกติ" เลย




จาก ..................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มกราคม 2554

สายน้ำ
08-01-2011, 08:42
'นับจากนี้อีก 50 ปี โลกจะแตก คนไทยจะสูญพันธุ์' …........... ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา




จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 8 มกราคม 2554

สายน้ำ
14-01-2011, 08:30
อะไรกันนี่โลกเรา ฝนตก น้ำท่วม ดินถล่ม หิมะถาโถม!!!


ช่วงนี้เปิดข่าวไปตามทีวีช่องไหน หนังสือพิมพ์ฉบับใด วิทยุคลื่นอะไร สื่ออินเตอร์เน็ตเว็บใดก็เจอแต่ข่าวมหันตภัยธรรมชาติกันมาโดยตลอด

จะว่าไป ข่าวเหล่านี้ก็มาให้เราได้รับทราบกันตลอดทั่วทุกทวีป ทุกมุมโลกทั้งปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า นับวันๆ ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเนื่องความวิปริตผิดแผกจากเดิม จะด้วยภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์เอลนินโญ่-ลานินญ่า หรือเป็นความเพราะชะตาฟ้าลิตขิตอะไรก็แล้วแต่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตนับหมื่นล้านล้านๆบนโลกใบนี้นี่ล่ะ โดยเฉพาะมนุษย์ ซึ่งสูญเสียชีวิตทรัพย์สิน

เพื่อสอดรับกับสถานการณ์มหันตภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มติชนออนไลน์ จึงรวบรวมภาพถ่ายจากสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งนำเสนอข่าวภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายๆทวีปทั่วโลก

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110114_Matichon_01.jpg

เริ่มต้นที่ประเทศไทย ซึ่งต้องเรียกว่า อากาศของสยามเมืองยิ้มตอนนี้ มีครบทุกฤดู ใน 1 ประเทศ ใน 1 ภูมิภาคแล้วก็ว่าได้ เริ่มต้นที่ความหนาวเย็นของภาคเหนือและอีสาน ที่ยิ่งสูงเท่าไหน่ยิ่งหนาว ตามยอดดอยก็มีผู้ได้รับผลกระทบจากความหนาวเย็นต้องทนทุกข์ทรมานแสวงหาความอบอุ่นกันไปถ้วนหน้า ส่วนอากาศในภาคพื้นดิน ลามเรื่อยมาถึงกรุงเทพฯและเขตจังหวัดโดยรอบก็พลอยได้รับอานิสงส์กะเขาไปด้วย ให้พอหนาวๆเย็นๆพอเป็นกษัย หลังจากที่วันก่อนๆต้องพบเจอกับอากาศมืดครึ้ม ฝนปรอย กลางวันร้อน กลางคืนหนาวงถ้วนหน้ากันไป

ส่วนที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย ยังคงเผชิญกับฝนตกหนัก น้ำท่วม ซึ่งตอนนี้ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักและยังคงต้องซับน้ำตากันต่อไปเป็นทอดๆ ทั้ง พัทลุง สตูล ยะลา ฯลฯ แม้จะสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ทุกฝ่ายก็คงต้องช่วยกันฟื้นฟูให้กำลังใจคนไทยเลือดไทยหัวใจเดียวกันต่อไป

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110114_Matichon_02.jpg

ข้ามไปที่ออสเตรเลีย จัดว่าเสียหายอย่างหนัก เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรัฐควีนส์แลนด์ โดยพื้นที่ 3 ใน 4 ของรัฐถูกประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติหลังจากเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักซ้ำเติมภาวะน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 37 ปี สร้างความเสียหายให้กับเมืองบริสเบน เมืองหลวงของรัฐอย่างมาก ทั้งน้ำยังจะเริ่มท่วมเข้าไปถึงรัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว

ถึงขนาดที่มุขมนตรีรัฐควีนแลนด์ปาดน้ำตาไปพร้อมกับการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์น้ำท่วมรัฐควีนแลนด์ในขณะนี้ ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ คล้ายกับเกิดภาวะหลังสงคราม ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงหลายพันล้านดอลลาห์สหรัฐ ประชาชนนับแสนๆคนต้องได้รับความเดือดร้อน ไร้ที่อยู่อาศัย และถูกตัดขาดจากระบบสาธารณูปโภค โดยน้ำท่วมออสเตรเลียครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมกัน และต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาวะปกติ

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110114_Matichon_03.jpg

ข้ามไปที่อมเริกาใต้ ที่นครริโอเด เจเนโร ของ บราซิล ก็ต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงต่อเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม ที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเหตุการณ์แผ่นดินถล่ม ในหลายเขตชุมชนที่อยู่บนเชิงเขา หลังจากที่เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน คร่าชีวิตประชาชนเป็น 229 คน เมื่อเดือนที่แล้ว

เช่นเดียวกับที่โคลอมเบียซึ่ง ก็เกิดภาวะน้ำท่วมขนาดใหญ่ กินพื้นที่เป็นนวงกว้างเกือบทั่วประเทศ จากภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คร่าไปแล้วหกลายร้อยชีวิต และผู้คนกว่า 2 ล้านต้องเดือดร้อน

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110114_Matichon_04.jpg

โศกเศร้ากับภาวะฝนตกน้ำท่วม ดินถล่ม กันไปมากพอควร ข้ามไปฝั่งยุโรป อเมริกาเหนือ ที่ให้ความรู้สึกหนาวจับขั้วหัวใจเมื่อต้องผจญกับพายุหิมะถล่มหนักสุด โดยเฉพาะรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ทำให้การจราจรทางอากาศ รถไฟ และรถยนต์ตามท้องถนน กลายเป็นอัมพาตในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น บอสตัน ,แมสซาชูเสส วอชิงตัน เซาท์ คาโรไลน่า เป็นต้น ด้วยบางแห่งหิมะหนาแทบท่วมบ้าน

กลับมาที่ประเทศจีน ยังต้องเผชิญกับอากาศหนาวที่สุดต่อไป ทั้งยังมีลมหนาวและหิมะตกในบางพื้นที่ โดยเมื่อปลายปี2010 มณฑลเหยหลงเจียง ที่เมืองโมเฮในมณฑลเดียวกันมีอุณหภูมิติดลบ 43.5 องศาเซลเซียส ขณะที่สำนักอุตุนิยมวิทยาจีนกล่าวเตือนด้วยว่า จีนจะตกอยู่ในสภาพหนาวเย็นอย่างนี้ต่อไป และจะทำให้มีหิมะตกอีกครั้งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ ทั้งในมณฑลหูหนาน และนครเซี่ยงไฮ้ด้วย

จะเห็นได้ว่า มหันตภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป้น ฝนตก น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว ภุเขาไฟระเบิด ฯลฯ ล้วนให้โทษกับมนุษย์อย่างมหันต์ ประหนึ่งเอาคืนจากความเหยียบย่ำและไม่รู้จักธำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเมื่อก่อนหน้ากันเอาไว้เป็นร้อยๆปี แม้เราจะหยุดยั้งความโกรธาหรือความเป็นไปของธรรมชาติไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องฟื้นฟูและบำบัดอย่างเร่งด่วนคือ "จิตสำนึก" ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราก่อ ก็อาจตกอยู่กับตัวเอง คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือคนอื่นๆที่ไม่รู้เรื่องใดๆ ที่ต้องมารับกรรมจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเมื่อเวลาถูกเอาคืน เราอาจจะไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่ชีวิต



จาก ................ มติชน วันที่ 14 มกราคม 2554

สายน้ำ
26-02-2011, 07:30
เบื้องลึกเหตุ 'วิปโยค' 'วงแหวนแห่งไฟ' 'ธรณีไหว'จัดหนัก!!

http://www.dailynews.co.th/content/images/1102/26/newspaper/p3scoop.jpg

"...ประมาณ 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ..."...เป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหาที่มีการระบุไว้ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เป็นเรื่องของ ’วงแหวนแห่งไฟ” และ ’แผ่นดินไหว“

และเกี่ยวพันกับ ’นิวซีแลนด์วิปโยค” ที่เพิ่งเกิดขึ้น...

ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 6.3 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณเมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งส่งผลเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน อาคาร บ้านเรือน และส่งผลต่อชีวิตผู้คน ซึ่งไม่เพียงคนนิวซีแลนด์ แต่ยังรวมถึงคนชาติอื่นๆ รวมถึงเกี่ยวพันกับคนไทยกลุ่มหนึ่งด้วย

นี่เป็นอีกครั้งที่ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของโลก สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก โดยภัยธรรมชาติ “แผ่นดินไหว” นั้น เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่ เกิดการเลื่อน เคลื่อนที่ แตกหัก เกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน

นักธรณีวิทยาประมาณว่า... วันหนึ่งๆ โลกเกิดแผ่นดินไหวราว 1,000 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวที่มีการสั่นสะเทือนเพียงเบาๆ ทั้งนี้ จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวนั้นมักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกระดับต่างๆ ของผิวโลก โดยแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นจะหนาต่างกัน บางแผ่นหนาถึง 70 กิโลเมตร บางแผ่น เช่น ส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร หนาเพียง 6 กิโลเมตร และแผ่นเปลือกโลกแต่ละแห่งจะมีส่วนประกอบทางกายภาพและทางเคมีที่แตกต่างกัน เมื่อเคลื่อนที่แยกหรือชนกัน ก็จะเกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากน้อยต่างกัน

แต่ประเด็นคือ...แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือตำแหน่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะอยู่ที่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก โดยที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะเกิดรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก

หรือที่เรียกกันว่า ’วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire)”

กับเรื่องของ “วงแหวนแห่งไฟ” นี้ จากข้อมูลใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี โดยสังเขปคือ... วงแหวนแห่งไฟนั้นเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหว และ “ภูเขาไฟระเบิด” บ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดย มีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายใน “วงแหวนแห่งไฟ” ทั้งหมด 452 ลูก

และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกรุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก

มากในระดับ..กว่า 75% ของภูเขาไฟที่คุกรุ่นทั้งโลก!!

วงแหวนแห่งไฟเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก แบ่งเป็น :
- ส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอส ที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้
- ส่วนของแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา ซึ่งมุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ
- ส่วนทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของญี่ปุ่น และ
- ส่วนใต้ของวงแหวนแห่งไฟเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และ นิวซีแลนด์
แนววงแหวนแห่งไฟยังมีแนวต่อไปเป็นแนวอัลไพน์ (อีกหนึ่งแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหว) ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย

"รอยเลื่อน" ที่ตั้งอยู่บน "วงแหวนแห่งไฟ" นี้ ก็ได้แก่ รอยเลื่อนซานอันเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวเล็กๆเป็นประจำ, รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ 3 ครั้ง คือ ขนาด 7 ริคเตอร์ เมื่อ ค.ศ. 1929 ขนาด 8.1 ริคเตอร์ ปี ค.ศ. 1949 (แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในแคนาดา) และขนาด 7.4 ริคเตอร์ ในปี ค.ศ. 1970

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในแนว ’วงแหวนแห่งไฟ“ นี้ เช่น แผ่นดินไหวคาสคาเดีย ขนาด 9 ริคเตอร์ เมื่อ ค.ศ. 1700 แผ่นดินไหวโลมาพรีเอตา ในแคลิฟอร์เนีย แผ่นดินไหวภาคคันโต ในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1923 มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน แผ่นดินไหวเกรตฮันชิน ในปี ค.ศ. 1995 และอีกครั้งใหญ่ที่เคยบันทึกไว้คือแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขนาด 9.3 ริคเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอินโดนีเซียถูกถล่มด้วยคลื่นสูงราว 10 เมตร มีผู้เสียชีวิตรวมราว 230,000 คน

ทั้งนี้ ประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนว ’วงแหวนแห่งไฟ“ ได้แก่ เบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์ตะวันออก เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาตี เม็กซิโก นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู สหรัฐอเมริกา และรวมถึง นิวซีแลนด์ ที่เพิ่งเกิด ’วิปโยคแผ่นดินไหว“

"วงแหวนแห่งไฟ" มักเกิด "ธรณีพิโรธ" แบบ "จัดหนัก"

เป็นพื้นที่ที่เกิด "หายนะใหญ่ต่อชาวโลก" ประจำ!!!.




จาก ..................... เดลินิวส์ คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554

สายน้ำ
31-03-2011, 06:46
แผ่นดินไหว สึนามิ อุบัติภัยธรรมชาติที่หนักขึ้นทุกวัน .......................... เรียบเรียงโดย นายสมเกียรติ พงษ์กันทา วิศวกรอิสระ

http://www.dailynews.co.th/content/images/1103/30/tsunami.gif

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในทะเลด้านตะวันออกของเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ซ้ำด้วยคลื่นสึนามิสูงเกิน 10 เมตร โถมเข้าฝั่งด้วยความเร็วแปดร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554นั้น ได้สร้างความเสียหายต่ออาคาร บ้านเรือน ถนน โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟ เครื่องบิน ยานพาหนะ และอุปกรณ์ทุกชนิดที่ขวางหน้า คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนกว่า 20,000 คน แผ่กระจายเป็นอาณาบริเวณกว้างขวางปราศจากขอบเขต และสร้างความหวาดผวาแก่มนุษยชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นผู้ซึ่งเป็นต้นตำรับของตำนานสึนามิ และซ้ำร้ายเมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ไดอิชิ ของบริษัทการไฟฟ้าโตเกียว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ เป็นความเสียหายอย่างหนักนั้น ถือเป็นอุบัติภัยที่ควรจะมีอยู่แต่ในตำราที่เป็นจินตนาการเท่านั้น แต่ที่เกิดขึ้นจริงครั้งนี้สร้างผลกระทบความเสียหายเลวร้ายกว่าที่เคยถูกบันทึกว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดสำหรับอุบัติภัยในประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทรีไมล์ไอส์แลนด์ในสหรัฐฯ หรือเชอร์โนบิลในรัฐยูเครนสหภาพโซเวียต

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิม่าแห่งนี้จะหยุดทำงานทันทีโดยอัตโนมัต แต่แรงปะทะและน้ำท่วมของสึนามิทำให้อุปกรณ์ในห้องควบคุมชั้นล่าง ระบบการสื่อสารทั้งหมดซึ่งเป็นหัวใจของการควบคุมอัตโนมัติและระบบไฟฟ้าสำรองเสียหายหยุดทำงานพังพินาศ ทำให้การหล่อน้ำเพิ่มความเย็นเพื่อลดอุณหภูมิแก่เชื้อเพลิงซึ่งเป็นแท่งยูเรเนี่ยมครอบด้วยโลหะเซอร์โคเนี่ยมจุ่มอยู่ในน้ำรวมกับแท่งควบคุมของเตาปฏิกรณ์ วิศวกรผู้ควบคุมได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อควบคุมอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ ป้องกันไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนจัดจนถึงขั้นหลอมละลายหรือระเบิดกระจายกัมมันตรังสีออกสู่บรรยากาศ ลังเลกันอยู่นานก่อนตัดสินใจใช้น้ำทะเลมาช่วยหล่อเย็นแต่มาได้ผลมากนัก เพื่อลดความดันของก๊าซไฮโดรเจนที่กระจุกรวมตัวกันอยู่ในอาคารด้านนอกของเตาปฏิกรณ์ เปิดให้ออกสู่บรรยากาศมีผลเสียตามมา เกิดการระเบิดเมื่อผสมเข้ากับออกซิเจน การระเบิดของไฮโดรเจนส่งผลให้หลังคาฝาครอบด้านนอกของเตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งเปิดออก เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีออกสู่บรรยากาศโดยรอบน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง แต่กระนั้นหน่วยดับเพลิงและป้องกันสาธารณภัยของญี่ปุ่นก็ยังไม่ย่อท้อ ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อฉีดน้ำดับเพลิงหล่อเลี้ยงลดอุณหภูมิให้แก่เตาปฏิกรณ์โดยเฉพาะหน่วยที่3 ซึ่งมีปัญหาวิกฤติที่สุดของจำนวนทั้งหมด6หน่วย กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าของวิศวกรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และบริษัทการไฟฟ้าโตเกียว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิม่าแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาความรู้สูงสุดความสามารถของวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่ถือว่าจะให้ความปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถทนต่อความแรงของแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์สเกลได้ แต่เมื่อถูกกระแทกด้วยแรงกระแทกซ้ำแล้วซ้ำอีกของพลังน้ำมหึมาที่ความเร็ว 800 กม.ต่อชั่วโมงนั้น เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของวิศวกรผู้ออกแบบ เป็นผลให้ระบบไฟฟ้า การควบคุมอัตโนมัติและอุปกรณ์สำรองของความปลอดภัยทุกชนิดพังพินาศเป็นอัมพาตหมด ถึงกระนั้นวิศวกรและช่างชาวญี่ปุ่นก็ได้พยายามหามาตรการต่างๆทำงานแข่งกับเวลาเพื่อที่จะควบคุมการทำงานของเตาปฏิกรณ์ทุกเครื่องให้อยู่ในภาวะที่ปลอดภัยให้ได้แม้จะเสี่ยงกับความปลอดภัยของตนเองก็ตาม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะเล็กๆไม่มีทางเลือกสำหรับแหล่งพลังงานมากนัก พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์จึงมีความจำเป็น มีจำนวนร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด

ญี่ปุ่นรู้ว่าโรงไฟฟ้าของตนอยู่ในเขตแผ่นดินไหวที่รุนแรง เคยมีขนาด 8.6 ริกเตอร์ ใน ค.ศ.1700 และขนาด 8.4 ใน ค.ศ.1933 มาแล้วแต่เขาก็พยายามใช้ความรู้และประสบการณ์จากอุบัติภัยที่เลวร้ายที่สุดในอดีตมาเป็นตัวกำหนดการออกแบบและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการออกแบบก่อสร้าง สำหรับกรณีนี้ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ต้มน้ำให้เดือดเป็นไอที่อุณหภูมิสูงนำไปปั่นกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ปัญหาอื่นๆเช่น การรวมตัวของไฮโดรเจนทำให้เกิดระเบิดขึ้นและความเสียหายของไฟฟ้าและอุปกรณ์สำรองฉุกเฉินที่เสียหายจากน้ำและภัยสึนามินั้น เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย ถือเป็นการเรียนรู้ที่แสนจะเจ็บปวด


สาเหตุของแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวเป็นความเสี่ยงที่มนุษย์ต้องยอมรับโดยดุษณีภาพ แยกเป็นสองประเภท

1.เกิดจากภูเขาไฟที่ยังมีพลังงานอยู่ เมื่อหินลาวามีปริมาตรสะสมและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำให้เกิดระเบิด แรงระเบิดนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องเป็นคลื่นแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนไปรอบปริมณฑล มีขอบเขตจำกัด

2.เกิดจากการหดตัวและขยายตัวของแผ่นพื้นชั้นใต้แผ่นดิน เกิดขึ้นเมื่อภูมิภาคในขอบเขตหนึ่งของพื้นที่ใต้ผิวโลกเกิดสภาวะเครียดหดตัวแยกออกจากพื้นที่ข้างเคียงอย่างฉับพลันทำให้ผิดรูปไปจากเดิม เป็นการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในมวลสารของแผ่นดินออกมาในรูปของคลื่นแผ่นดินไหว เช่น ในกรณีของเซนไดและของวันที่ 26 ธ.ค.2547 ที่หมู่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ส่งผลเป็นคลื่นสึนามิเข้าฝั่งเป็นวงกว้าง สร้างความสูญเสียแก่ประชากรกว่า 150,000 ชีวิต ในจำนวนนี้มีคนไทยเสียชีวิตไปด้วย 5,000 คน

คลื่นแผ่นดินไหวนี้จะกระจายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องรอบทุกทิศ สร้างรอยปริ แตกแยกทั้งแนวตั้ง ทางลึกและแนวนอนไปตามผิวพื้นโลกในขนาดความถี่ต่างๆกันระหว่าง 2-7 ไมล์ต่อวินาที ทำให้เกิดความสั่นสะเทือน เปลี่ยนแปลง เสียหายต่อโครงสร้างทางกายภาพของธรรมชาติ และโครงสร้างทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติหรือที่ถูกปลูกสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ปราศจากขอบเขต ปริมาตรมวลสารของโลกที่หดยืดหรือแยกตัวนี้ เมื่อคำนวณจากพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาแล้วจะมีจำนวนมากถึง 2,000,000 ลูกบาตรไมล์ ในความลึกของจุดที่เกิดแผ่นดินไหวระหว่าง 30-450 ไมล์จากผิวโลก หลังจากแผ่นดินที่ไหวรุนแรง จะมีปรากฏการแผ่นดินไหวย่อยๆตามมาทิ้งระยะห่างไม่แน่นอน อาจเป็นวันหรือเป็นปีนานถึง 15 ปี

พื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว

อาจเกิดบ่อยตามอาณาบริเวณของเส้นร่องร้าวของพื้นโลกและเป็นครั้งคราวในแห่งอื่น นักวิชาการจะอาศัยสถิติที่บันทึกไว้ เช่นพื้นที่ตามขอบของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปอเมริกาและเอเชียในมหาสมุทรอินเดีย หมู่เกาะอินโดนีเซีย ประเทศพม่าตอนบนและประเทศจีนเป็นต้น

นับตั้งแต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.3 ริกเตอร์ วันที่ 18 เม.ย.2449 ทำให้ชาวซานฟรานซิสโกเกิดเพลิงไหม้ทั้งเมืองติดต่อกัน 3 วันเป็นต้นมา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ

อาจกล่าวได้ว่าจากสถิติความเสียหายจากแผ่นดินไหว มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

17 ส.ค.2542 แผ่นดินไหวที่ตุรกี ขนาด 7.4 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 16,000 คน
27 ก.ย.2542 แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน ขนาด 7.6 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 2,300 คน
ใน พ.ศ.2551 ที่ประเทศจีน มีผู้เสียชีวิต 85,000 คน
ใน พ.ศ.2553 ที่ประเทศเฮติ มีผู้เสียชีวิต 224,000 คน และที่สุมาตรา มีผู้เสียชีวิตกว่า 226,000 คน
และล่าสุดที่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 9 ริกเตอร์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 คน ที่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่เตรียมพร้อมเสมอสำหรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว

การเปรียบเทียบความรุนแรงของแผ่นดินไหว

จากเดิมใช้เมอร์แคลลี่สเกลเป็น 12 ระดับ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นริกเตอร์สเกล โดย ซี เอฟ ริกเตอร์ และกูเต็นเบิร์ก โดยใช้ขนาดความแรงของคลื่นที่วัดได้จากแผ่นดินไหวทำเทียม มีระยะห่างจากจุดที่เกิด 100 กม. เวลา 0.8 วินาที ขยาย 2,800 เท่า ให้ความแรงของคลื่นที่วัดได้เท่ากับ 1 ไมครอน (0.001 ม.ม.) ของเครื่องมือวัดไซสโมแกรม ถือเป็นหนึ่งหน่วยของริกเตอร์ แต่ละหน่วยมีความรุนแรงต่างกันสิบเท่าตัว

การออกแบบทางวิศวกรรม

ในสหรัฐอเมริกาการออกแบบโครงสร้างอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์ตามพื้นที่ให้สามารถต้านการสั่นสะเทือนเสี่ยงกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเรียกว่า เอ็มซีอี ปกติจะขึ้นอยู่กับระดับของแรงถ่วงของโลกระหว่าง 0.07-0.08 ของแรงถ่วงของโลก

สำหรับประเทศไทยจากสถิติ 30 ปี มีแผ่นดินไหวประมาณ ครั้งขนาดเบา มิได้สร้างความเสียหาย

จากสถิติใกล้เคียง

วันที่ 26 ธ.ค.2547 ขนาด 9 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่หมู่เกาะสุมาตราเหนือ
วันที่ 22 ม.ค.2546 ขนาด 7.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่หมู่เกาะสุมาตรา
วันที่ 22 ก.ย.2546 ขนาด 7.3 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่เหนือกรุงย่างกุ้งประเทศพม่า 355 กม.

ครั้งหลังสุดได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้อาคารสูงในกรุงเทพฯเล็กน้อย คาดว่าการออกแบบของวิศวกรโครงสร้างสำหรับประเทศไทยควรจะอยู่ระหว่างร้อยละ 6 ของแรงโน้มถ่วงของโลก (0.06g)



จาก ..................... เดลินิวส์ วันที่ 30 มีนาคม 2554

สายน้ำ
03-04-2011, 06:24
มหันตภัยจากกัมมันตภาพรังสี

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110403_Thairath_02.jpg

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110403_Thairath_03.jpg

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110403_Thairath_04.jpg

http://i835.photobucket.com/albums/zz275/Saaynam/Morning%20News/110403_Thairath_05.jpg



จาก ................. ไทยรัฐ วันที่ 3 เมษายน 2554

สายน้ำ
06-04-2011, 07:13
ธรรมชาติดุ-คนเดือด 'โลกาวินาศ' เรื่องลือที่ใกล้จะจริง?

http://www.dailynews.co.th/content/images/1104/06/newspaper/260s1.jpg

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์คือ “ดาวเสาร์” โคจรเข้าใกล้ “โลก” มากที่สุดในรอบปี 2554 นี้ โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,288 ล้านกิโลเมตร และจะมีความสว่างมากขึ้น เพราะโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับ “ดวงอาทิตย์” ซึ่งนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถ้าดูกันในทางโหราศาสตร์ดวงดาว มีจุดที่ถือว่าไม่ปกติ โดย อ.เก่งกาจ จงใจพระ บอกว่า... ดาวเสาร์ในทางโหราศาสตร์ถือเป็นดาวแห่ง ความทุกข์ บาปเคราะห์ ให้โทษ และเป็นดาวที่เกี่ยวกับดิน เมื่อเข้าใกล้โลกก็ต้องระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว ดินถล่ม ยิ่งดาวเสาร์ใกล้โลกมาก ภัยลักษณะนี้ก็ยิ่งแรง ยิ่งต้องระวัง

สองศาสตร์ที่ต่างก็โยงกับดวงดาวยังมีมุมที่ต่างกันได้...ฉันใด ภัยต่างๆบนโลกที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เป็นปกติก็มีคนคิดว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ได้...ฉันนั้น ดังเช่นภัยที่เกิดขึ้นบนโลกในระยะนี้...ที่ทำให้ ’เรื่องลือ...โลกาวินาศ“ หวนกลับมาอยู่ในกระแสวิพากษ์อีก ซึ่งในเมืองไทยก็มีข่าวว่ามีกลุ่มคนที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ในต่างประเทศถึงขั้นมีการระบุเป็นเชิง “ทฤษฎี”

’ทฤษฎีสิ้นโลก“ ในโลกออนไลน์ระเบ็งเซ็งแซ่??

ทั้งนี้ กับทฤษฎีวันสิ้นโลก (Doomsday Theories) นั้น มีการระบุถึงปัจจัยที่อาจเป็นต้นเหตุ 10 ปัจจัย ซึ่งเมื่อโลกเกิดภัยธรรมชาติบ่อย และดูจะทวีความรุนแรง รวมถึงมีเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดโดยน้ำมือมนุษย์เอง มีเรื่องการสู้รบในประเทศโลกอาหรับ ก็ยิ่งทำให้ทฤษฎีดังกล่าวนี้ถูกส่งต่อกันมากในสังคมออนไลน์-ไซเบอร์

ปัจจัยที่ว่านี้ โดยสังเขปคือ... ’ผึ้งสูญพันธุ์“ เชื่อว่าอีกไม่นานผึ้งจะสูญพันธุ์ไปจากโลก เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ยาฆ่าแมลง การตัดแต่งพันธุกรรมพืช คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืช ทำให้อาหารขาดแคลน, ’ขาดแคลนน้ำมัน“ เชื่อว่าโลกกำลังใกล้เข้าสู่ยุคขาดแคลนน้ำมันอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าหากยังไม่มีการพัฒนาเชื้อเพลิงอื่นแทนน้ำมัน ไม่เกินปี ค.ศ. 2020 โลกจะไม่มีน้ำมันเหลืออยู่เลย จนเกิดกลียุค

’ก่อการร้ายทำลายโลก“ เป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 11 ก.ย. 2544, ’สงครามโลกครั้งที่ 3 - สงครามนิวเคลียร์“ เชื่อว่าหากเกิดขึ้นจะทำลายสภาพอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ จนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรครั้งใหญ่ และประชากรโลกจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก, ’ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่“ เชื่อว่าทุก 5–6 หมื่นปี ลาวาใต้พิภพจะปะทุรุนแรงจนภูเขาไฟต่างๆเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนสิ่งมีชีวิตปรับตัวไม่ทัน

’สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนขั้ว“ เชื่อว่าสนามแม่เหล็กโลกจะเปลี่ยนขั้วทุก 2.5 แสนปี เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบกลับด้าน ทำให้ประเทศเขตร้อนหนาวยะเยือก มีหิมะตก เกิดพายุหมุน แผ่นดินไหวรุนแรง, ’ภัยพิบัติจากดวงอาทิตย์“ เชื่อว่าหากดวงอาทิตย์เกิดการปะทุครั้งใหญ่ ความร้อนจะแผ่มาแผดเผาโลกจนหายนะ ซึ่งปัจจัยนี้โยงกับความเชื่อเรื่อง ค.ศ. 2012 เรื่องปีสิ้นโลกด้วย

’ดาวนิบิรุชนโลก“ เชื่อว่ามีดาวลึกลับในตำนาน มีขนาดใหญ่กว่าโลก และในปี ค.ศ. 2012 จะมีวงโคจรทับกับโลก จะพุ่งเข้าชนกับโลก ซึ่งนี่ก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคำทำนายวันสิ้นโลก 21-12-2012 ด้วย, ’มนุษย์ต่างดาวบุกโลก“ เชื่อว่าอีกไม่เกิน 30 ปีจะมีมนุษย์ต่างดาวมาบุกโลก ซึ่งจะทำอะไรกับโลกและชาวโลกบ้างยังไม่รู้

และอีกปัจจัยคือ ’วิกฤติโลกร้อน“ เชื่อว่าภายในปี ค.ศ. 2100 สภาพอากาศจะยิ่งเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้นเรื่อ ๆ โลกจะร้อนจนทำลายสมดุลธรรมชาติ คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงและแพร่กระจายไปทั่ว เกิดภัยพิบัติต่างๆ ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติ ที่จำเป็นต่อมนุษย์ ชาวโลกต้องอพยพและแย่งชิงกัน

“ทฤษฎีดังกล่าว หลายเรื่องมีการหยิบยก กล่าวอ้าง เชื่อมโยงกับเรื่องวาระสุดท้ายของโลกและมนุษย์ หรือคำทำนายวันสิ้นโลกอยู่เสมอ” ...นักวิทยาศาสตร์อิสระ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ระบุ

พร้อมทั้งสะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” อีกว่า... ปัจจัยต่างๆที่ว่ามานั้น บางอย่างก็เป็นไปได้ยาก บางทฤษฎีก็เป็นเรื่องเกินจริง เช่น ดาวนิบิรุ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะปัจจุบันยังไม่มีการตรวจพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ถูกร่ำลือ แต่บางอย่างก็มีความเป็นไปได้ ส่วนจะมากหรือน้อยนั้น ไม่อาจตอบได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ที่รับรู้ได้ ที่จับต้องได้มากที่สุด คือ “วิกฤติโลกร้อน” ที่เริ่มมีตัวอย่างให้เห็น ซึ่งก็คงไม่ถึงกับทำให้โลกดับสูญ แต่ ’ทำให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์บนโลกในวงกว้าง!!“

“ก็อย่าตระหนกตกใจกันเกินไป หลายอย่างเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ แต่ก็ต้องมีการเก็บข้อมูล ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อหาข้อมูลให้มากขึ้น และเรื่องนี้ก็ช่วยทำให้เกิดความตระหนัก เกิดความสนใจและใส่ใจโลก ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของโลกมากขึ้น” …รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เรื่อง “โลกาวินาศ-สิ้นโลก...ยังยากจะชี้ชัด” แต่ที่ชี้ได้ชัดๆแล้วก็คือ ’มนุษย์ทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง...ก็น่ากลัวมาก“ และ ’มนุษย์ทำลายโลก...โลกก็ทำลายมนุษย์“ นี่ก็ต้องสำนึกไว้ให้จงหนัก...

ในเมืองไทยเราก็มี ’บทเรียน“ ให้เห็นกันอยู่?!?!?.




จาก ................. เดลินิวส์ วันที่ 6 เมษายน 2554

สายน้ำ
10-04-2011, 07:51
กัมมันตรังสี ป้องกันอย่างไร

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/hap03100454p1.jpg&width=360&height=360

ป้องกันอย่างไรการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยแล้ว แม้ประเทศไทยอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ไม่ได้รับรังสีโดยตรงก็จริง แต่ก็อาจจะปนเปื้อนมากับอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มาจากญี่ปุ่น

ทางโครงการ "เปิดโลกลานเกียร์" ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย จึงสัมมนาเรื่อง "กัมมันตภาพรังสีคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร"

เพื่อนำเสนออย่างครอบคลุมความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ระบบเตือนภัยทางอากาศทางรังสีของประเทศไทย และบทบาทต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยเหลือ หากมีอุบัติภัยทางรังสีเกิดขึ้นในประเทศ จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ

นำโดย รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ผอ.สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รศ.พ.ญ.ภาวนา ภูสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาร่วมกันเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

รศ.นเรศร์กล่าวว่า กัมมันตภาพรังสีเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของสารที่มีสมบัติในการแผ่รังสีออกมาได้เอง กัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมามีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ รังสีแอลฟา รังสีเบตา และรังสีแกมมา

"โดยปกติแล้วรังสีเป็นสิ่งที่เราได้รับตลอดเวลาในชีวิตประจำวันจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรังสีจากพื้นโลกหรือมาจากนอกโลก อากาศที่เราหายใจ อาหาร และน้ำที่บริโภค จากการดูโทรทัศน์ ผนังบ้าน โรงเรียน และที่ทำงานล้วนประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีทั้งสิ้น หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเอง ดังนั้น รังสีที่เราได้รับจากธรรมชาติ ถือว่ามีค่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์"

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/04/hap03100454p2.jpg&width=360&height=360

นายกิตติศักดิ์กล่าวถึงการป้องกันว่า ปัจจุบันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ กระจายอยู่ในจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 8 สถานี ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา (กำลังติดตั้ง) ขอนแก่น อุบลราชธานี ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ

สำหรับประเทศไทย ถ้าตรวจพบปริมาณรังสีแพร่กระจายอยู่ในอากาศ มากกว่า 0.2 ไมโคร ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่สถานีใด ก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เฝ้าระวังทาง ปส.จะสืบสวนหาสาเหตุของการแพร่กระจาย แต่ถ้าเมื่อใดที่มีปริมาณรังสีสูงกว่า 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถือว่าเริ่มอยู่ในระดับเตือนภัย และเตรียมพร้อมดำเนินการตรวจสอบว่ามีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือไม่

ถ้ามีการฟุ้งกระจายจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากรังสี โดยจะขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออพยพออกจากบริเวณที่มีความเสี่ยงจะได้รับรังสีสูง แล้วติดตามคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ต่อไป

นายกิตติศักดิ์ชี้ว่า กัมมันตภาพรังสีทำอันตรายมนุษย์ได้หลายทาง แต่ส่วนใหญ่เป็นทางอากาศ ด้วยการสูดดม หรือหายใจฝุ่นกัมมันตรังสีเข้าไประบบทางเดินหายใจโดยตรง นอกจากนี้ ก็รับเข้ามาทางปาก หมายถึงการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่สารเหล่านี้ไม่ดูดซึมผ่านทางผิวหนังโดยตรง แต่ถ้าปริมาณรังสีมากๆ จะทำลายผิวหนังไปเลย เหมือนร่างกายคนสมัยสงครามโลกที่โดนสะเก็ดระเบิดปรมาณู

"ส่วนสถานการณ์ในญี่ปุ่น หลายหน่วยงานวิเคราะห์แล้วว่า แม้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเมืองฟูกูชิมะจะหลอมละลายจริง กัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายออกมา จะไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ หรือทางอากาศ" นายกิตติศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายอรรถโกวิทเสริมถึงสถานการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นด้วยว่า ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของคนไทย ด้วยหวั่นวิตกจากรังสีว่าจะปนเปื้อนมาในชั้นบรรยากาศหรือไม่ ทางกระทรวงสาธารณสุขกังวลถึงเรื่องคนไทยในญี่ปุ่น ที่กำลังประสบปัญหาในตอนนี้ จึงส่งทีมแพทย์ไปช่วยดูแลทั้งในด้านสุขภาพจิตใจและการป้องกันรังสีในเบื้องต้น

นอกจากนี้ คนไทยที่กลับมาจากญี่ปุ่นจะมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษา หากมีอาการป่วยทางรังสีจะจัดส่งให้ไปรักษาตัวที่ร.พ.ราชวิถี ร.พ.นพรัตน์ฯ และร.พ.เลิดสิน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ทางทีมกรมควบคุมโรคจะให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน

"ส่วนยาโพแทสเซียมไอโอดีน ที่เป็นเกลือชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอิ่มตัว เพื่อจะสามารถป้องกันไอโอดีนกัมมันตรังสี ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายนั้น ต้องกินก่อนได้รับรังสีจะเป็นผลดีที่สุด หรือหลังจากได้รับไม่ควรเกิน 6 ช.ม. ขนาดการรับยาก็ต้องขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับประทาน ส่วนความเชื่อที่ว่าการใช้เบตาดีนมาทาตามท้องแขนนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันได้" นายอรรถโกวิทกล่าวถึงวิธีป้องกัน

รศ.พ.ญ.ภาวนา ร่วมให้ข้อมูลทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันนำรังสีและสารกัมมันตรังสีมาใช้งานต่างๆ เช่น ในทางการแพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย และบำบัดอาการโรคของผู้เจ็บป่วยจากโรคร้ายต่างๆ เช่น การฉายรังสีเอ็กซ์ การตรวจสมอง การตรวจกระดูก และการบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังใช้งานทางรังสีในกิจการอุตสาหกรรม การเกษตร และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การใช้รังสีตรวจสอบรอยเชื่อม รอยร้าวในชิ้นส่วนโลหะต่างๆ การใช้ป้ายเรืองแสงในที่มืด การตรวจอายุวัตถุโบราณ การถนอมอาหารด้วยรังสี และการฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์

"แม้รังสีจะมีอยู่ล้อมรอบตัวเรา และมนุษย์ทุกคนก็สามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้ แต่รังสีก็นับได้ว่ามีความเป็นพิษภัยในตัวเองเช่นกัน รังสีมีความสามารถก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์สิ่งมีชีวิต และถ้าได้รับรังสีสูงมาก อาจทำให้มีอาการป่วยทางรังสีได้" อาจารย์ภาวนากล่าว

จากเวทีพูดคุยชี้ว่ารังสีมีทั้งโทษและประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ มีมาตรฐานสูง หาไม่แล้วประโยชน์ของมันจะกลายเป็นโทษมหันต์




จาก ................. ข่าวสด วันที่ 10 เมษายน 2554

สายน้ำ
19-04-2011, 08:18
7 ระดับความรุนแรงเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์


แผ่นดินไหววัดความเสียหายได้เป็น “ริกเตอร์” ในกรณีเหตุการณ์นิวเคลียร์ก็มีการวัดระดับความเสียหายไว้เช่นกัน โดยความรุนแรงสูงสุดคือระดับ 7 ซึ่งนอกจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ “เชอร์โนบิล” ญี่ปุ่นยังยกระดับความรุนแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะให้เป็น "ระดับสูงสุด" นี้ด้วย

ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์นิวเคลียร์นั้น วัดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES: International Nuclear Event Scale) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ระดับ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ทบวงการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ไอเออีเอ) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แจกแจงถึงระดับความรุนแรงไว้ดังนี้ ระดับ 1-3 จัดเป็นอุบัติการณ์ (incident) และระดับ 4-7 จัดเป็นอุบัติเหตุ (accident) ส่วนระดับ 0 ลงไปไม่มีนัยที่สำคัญ (no safety significance)

มาตรวัดระดับความรุนแรงนี้ ใช้สำหรับประเมินเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่ใช้ทั่วไป และเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับประชาชน ในเกณฑ์ที่สอดคล้องกับประเด็นความปลอดภัยของรายงานอุบัติการณ์และอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ โดยใช้กับเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางด้านนิวเคลียร์ ตั้งแต่การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์จากสารรังสีและแหล่งกำเนิดรังสี แต่มาตรวัดนี้ไม่ใช้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างเช่นการแผ่รังสีของก๊าซเรดอน (radon) เป็นต้น

จากการจัดระดับความรุนแรงตามมาตราดังกล่าว ทำให้เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เป็นความรุนแรงที่สุดตามมาตรานี้ และล่าสุดสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukuchi Daiichi) ได้ยกขึ้นเป็นระดับ 7 เทียบเท่าอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงเมื่อ 25 ปีก่อน

ส่วนเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ของสหรัฐฯ ระเบิด จัดเป็นความรุนแรงระดับ 5

http://pics.manager.co.th/Images/554000005050303.JPEG
สภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลหมายเลข 4 ที่เกิดระเบิดเสียหาย (เอพี)


http://pics.manager.co.th/Images/554000005050302.JPEG
สภาพอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งบันทึกภาพถ่ายทางอากาศโดยเครื่องบินที-ฮอว์ก (T-Hawk) ซึ่งเผยให้เห็นความเสียหาย (รอยเตอร์)


http://pics.manager.co.th/Images/554000005050304.JPEG
ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ในยามค่ำคืนที่บันทึกเมื่อ 15 มี.ค.2011 ที่ผ่านมา (รอยเตอร์)


สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ 7 ระดับ ประเมินจากการประเมินผล 3 อย่าง ไล่จากการสูญเสียการป้องกันเชิงลึก (defence in depth degradation) ผลกระทบ ณ สถานที่ตั้งโรงงาน (on-site effect) และ ผลกระทบนอกสถานที่ตั้งโรงงาน (off-site effect)


http://pics.manager.co.th/Images/554000005050307.JPEG


ระดับ 1 - เหตุผิดปกติ (Anomaly)

ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีการได้รับรังสีเกินขีดจำกัดประจำปีตามกฎหมายกำหนด, มีปัญหาเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับองค์ประกอบความปลอดภัย แต่ยังมีความสามารถในการป้องกันเชิงลึก และมีการสูญหายหรือเกิดการขโมยอุปกรณ์รังสี ชุดรังสีสำหรับเดินทางหรือแหล่งกำเนิดรังสีในระดับที่ไม่สูงมาก หากแต่การจัดระดับความรุนแรงนี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งยากที่จะวัดได้ตรงๆ ว่าเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่านั้นซึ่งไม่มีนัยสำคัญ


ระดับ 2 - อุบัติการณ์ (Incident)

ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีความผิดพลาดในการจัดเตรียมด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีสืบเนื่องตามมา, พบแหล่งกำเนิดรังสีสูงที่ไม่มีเจ้าของ แต่อุปกรณ์ห่อหุ้มไม่ได้รับความเสียหาย, การห่อหุ้มสำหรับวัสดุกำเนิดรังสีสูงไม่เพียงพอ

ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - ระดับการแผ่รังสีในบริเวณปฏิบัติงานมากกว่า 50 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรังสีเกิน 10 มิลลิซีเวิร์ต, ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีได้รับรังสีในปริมาณมากกว่าขีดกำจัดประจำปีที่กฎหมายกำหนด


ระดับ 3 - อุบัติการณ์รุนแรง (Serious incident)

ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - เกิดอุบัติเหตุใกล้ๆโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่มีมีการเตรียมระวังเรื่องความปลอดภัย, แหล่งกำเนิดรังสีที่ผนึกไว้อย่างดีสูญหายหรือถูกขโมย, ขนส่งแหล่งกำเนิดรังสีสูงผิดพลาด โดยไม่มีกระบวนการรับมือที่ดีพอ

ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - มีการปลดปล่อยรังสีในพื้นที่ดำเนินงานมากกว่า 1 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนสูง ในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี แต่มีโอกาสต่ำที่คนทั่วไปจะได้รับรังสีจากบริเวณดังกล่าว

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีระดับรังสีสูงกว่าที่ขีดจำกัดที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี 10 เท่า, การแผ่รังสีส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับที่ไม่ทำให้ถึงตาย


ระดับ 4 - อุบัติเหตุที่มีผลกระทบในระดับท้องถิ่น (Accident with local consequences)

ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - แท่งเชื้อเชื้อเพลิงหลอมละลายหรือแท่งเชื้อเพลิงได้รับความเสียหายและมีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณเล็กน้อย , มีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณสูงภายในพื้นที่และมีโอกาสสูงที่ประชาชนจะได้รับสารรังสีในปริมาณสูงด้วย

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีในระดับต่ำและต้องวางแผนรับมือ ,มีการควบคุมอาหารในพื้นที่, มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย


ระดับ 5 - อุบัติเหตุพร้อมผลกระทบในวงกว้าง (Accident with wider consequences)

ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - เกิดความเสียหายรุนแรงที่แกนปฏิกรณ์, สารรังสีปริมาณมากถูกปล่อยออกมา และมีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน และยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกหากเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้นหรือเกิดเพลิงไหม้

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - การจำกัดการปลดปล่อยวัสดุนิวเคลียร์ จำเป็นต้องมีการรับมือที่ได้รับการวางแผนอย่างดี, มีผู้เสียชีวิตหลายรายจากการได้รับรังสี


ระดับ 6 - อุบัติเหตุรุนแรง (Serious accident)

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีออกมาจำนวนมาก และต้องบรรลุผลในการรับมือตามแผน

อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ระดับนี้ เคยเกิดขึ้นครึ่งหนึ่งกับโรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (nuclear waste reprocessing facility) สำหรับการทหาร ในเมืองมายัค (Mayak) ของอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อ 29 ก.ย.1957 ซึ่งเกิดปัญหาระบบทำความเย็นล้มเหลวในโรงงาน ทำให้มีวัสดุรังสีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 70-80 ตัน แต่ผลกระทบต่อประชากรในท้องถิ่นเป็นอย่างไรนั้น ไม่ทราบทั้งหมดแน่นชัด


ระดับ 7 - อุบัติเหตุรุนแรงที่สุด (Major accident)

ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยวัสดุรังสี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกไปเป็นวงกว้าง และต้องบรรลุผลในการรับมือซึ่งมีการวางแผนและจัดเตรียมไว้

หลังเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลและทรีไมลไอส์แลนด์ ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนามาตรวัดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ซึ่งมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้ ได้รับการกำหนดขึ้นมาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ที่รวมตัวกันครั้งแรกเมื่อปี 1989 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไอเออีเอและสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์หรือเอ็นอีเอ (Nuclear Energy Agency: NEA) ในสังกัดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)

นับแต่นั้น ทางไอเออีเอได้ร่วมมือกับสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ของเอ็นอีเอ พร้อมด้วยการสนับสนุนจากกว่า 70 ประเทศในการกำหนดมาตรานี้ขึ้นมา และมีการปรับปรุงมาตรานี้หลายครั้ง โดยมีประชุมเชิงเทคนิคทุก 2 ปี สำหรับการเข้าร่วมในระบบนี้เป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประเทศต่างๆที่ร่วมกำหนดมาตราวัดความรุนแรงของเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้จะร่วมถกเถียงและตัดสินใจในการประยุกต์ใช้มาตรานี้.




จาก ................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2554

สายน้ำ
22-04-2011, 07:32
"คุ้มครองโลก" ก่อนไม่มี "โลก"ให้ครอบครอง

http://www.matichon.co.th/online/2011/04/13033750311303375503l.png

ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน
รับรู้ด้วยกัน แล้วทำให้โลกนี้สดใส
อยากให้โลกน่าอยู่กว่านี้ เป็นโลกที่เราฝันใฝ่
จะสวยอย่างไร เป็นไปได้ด้วยมือของเรา


ท่อนหนึ่งของเพลง "โลกสวยด้วยมือเรา" ทุ้มอยู่ในหูซ้ำไปซ้ำมา ท่ามกลางความครึ้มสลัวมัวด้วยเมฆฝน คลอเสียงฮึมฮำบนท้องฟ้าสีหม่นอย่างต่อเนื่อง กับเวลาบ่ายแก่ๆกลางเดือนเมษายน

เป็นข้อสงสัยและคำถามของหลายคน ถึงสภาพอากาศของโลกเราที่เปลี่ยนไป(มาก) ไม่ต้องดูไกล แค่ประเทศไทยของเราก็อลหม่านกับการเปลี่ยนแปลง ร้อน หนาว ฝน ในหนึ่งฤดูที่เคยหมุนผ่านไปตามปกติ ทว่าตอนนี้ผิดสภาพเพี้ยนกันไปใหญ่ ไม่แพ้จิตใจของ "มนุษย์"ตัวการฉกาจสำคัญที่ทำให้วัฐจักรของธรรมชาติ ขาดความสมดุลจนต้องสำแดงฤทธิ์เดชออกมาในรูปของมหันตภัยต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของโลกต้องจัด วันคุ้มครองโลก หรือ เอิร์ธเดย์ ( Earth Day) ขึ้นทุกวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ดำเนินมาเป็นปีที่ 41 แล้ว นับตั้งแต่มีการประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP)

http://www.matichon.co.th/online/2011/04/13033750311303375514l.jpg

แท้จริงแล้ว การริเริ่มก่อตั้งวันคุ้มครองโลกนั้น มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ด้วยแนวคิดของ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ผู้ชงเรื่องให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (ปธน.สหรัฐขณะนั้น)ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เมื่ออดีตผู้นำสหรัฐอเมริกาเห็นด้วย จึงได้ออกทัวร์ทั่วประเทศ 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การทัวร์ครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม วันคุ้มครองโลก

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2512 วุฒิสมาชิกเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมเชิญชวนให้ทุกๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นประชาชนอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ล้านคน ก็ตบเท้าพร้อมใจกันมาชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ผลจากการชุมนุมครั้งนั้นเอง ก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดก็มีการกำหนด วันคุ้มครองโลก หรือ"Earth Day" นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 เป็นต้นมา

http://www.matichon.co.th/online/2011/04/13033750311303375494l.gif

เป้าหมายของวันคุ้มครองโลก ประกอบด้วยลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ ,กำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป , อนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ ,ห้ามซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป , คงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ,สร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์ และที่สำคัญคือ สร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมพ่วงด้วยจิตสำนึกที่ดีในการรักษาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติได้แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดให้มีกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์โลกใบสำคัญนี้เอาไว้ ด้วยผลกระทบอย่างไม่คาดฝันก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กว่านับพัน หมื่นล้านชีวิตต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและวิกฤตของสภาพอากาศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดวาตภัย หรืออุทกภัยอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายให้กับสรรพสิ่งอย่างใหญ่หลวง

ทุกปีประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึง ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ

ในส่วนของประเทศไทย จัดให้มีการรณรงค์ วันคุ้มครองโลก ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็ยังถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจาก สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม ยิงตัวเองตายเสียชีวิต ส่งผลให้บรรดาอาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบัน จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้น เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า และตระหนักถึงผลเสียของการทำลายป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน เพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อใช้ปกป้องดูแลผืนป่าอีกด้วย

ในเมื่อธรรมชาติ กับมนุษย์ เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกมิได้ นอกจาก 22 เม.ย. จะเป็นวันคุ้มครองโลกแล้ว ยังถูกตั้งให้เป็น "วันธรรมะคุ้มครองโลก" อีกด้วย ตามมติก่อตั้งโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) หลังกลุ่มบุคคลต่างๆ ต้องร่วมกันผลักดันจนสัมฤทธิ์ผลเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี ภายใต้คำขวัญ Clean The World Clean the Mind หรือ โลกสะอาดได้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ โดยให้สมาชิกศูนย์ภาคีขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจัดกิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาดพร้อมกันการทำใจให้บริสุทธิ์ตามแนวแห่งพุทธวิธีด้วยการสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา

นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญขององค์กรพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพราะนอกจากจะปกป้องเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพแล้ว ก็ให้มาปกป้องสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ ตอนเช้ารักษาความสะอาดของสถานที่ ตอนสายๆ นั่งสมาธิรักษาความสะอาดของใจ รักษาศีล 5 ร่วมทำทาน นั่งสมาธิ เพื่อให้โลกสูงขึ้น เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากภายใน

"ยังมีเวลาจะเปลี่ยนพรุ่งนี้ เพื่อโลกที่ดีเพื่อวันข้างหน้า
ให้เด็กน้อยๆ ค่อยๆลืมตา มามองเห็นว่าโลกงามเพียงไหน
ยังมีทะเล ยังมีภูเขา ยังมีเมฆขาว ยังมีดอกไม้
อากาศดีๆ ยังมีหายใจ มีโลกสดใสให้เล่นนานๆ"

http://www.matichon.co.th/online/2011/04/13033750311303375725l.jpg

ท่อนเนื้อร้องจากเด็กๆที่ประสานเสียงในเพลง "โลกป่วย" ถูกกลบด้วยความดังสายฝนโถมกระหน่ำ เหลือให้ได้ยินเพียงแผ่วเบาอยู่ ณ เวลานี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้แต่เฝ้าภาวนาให้ หยาดพิรุณกลางหน้าร้อนเป็นแค่กลไกของธรรมชาติธรรมดาๆ และหวังเพียงว่า ความผิดปกติ(อันน่าสะพรึงกลัว) จะปลูกสำนึกในจิตใจมนุษย์ให้ตระหนักถึงมหันตภัยที่รออยู่ข้างหน้าไม่มากก็น้อย ด้วยการตัดความเห็นแก่ตัวหันมารักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติกันให้มากขึ้น

เรื่องใกล้ตัวง่ายๆ ที่ใครๆก็ทำได้ ว่าไหม ?


" เราใช้โลกอยู่ และเรารู้โลกมีใบเดียว โลกตายทุกคนตาย..."




จาก ................. มติชน วันที่ 22 เมษายน 2554

สายน้ำ
23-04-2011, 07:50
ภัยภูเขาไฟ


http://pics.manager.co.th/Images/554000005279201.JPEG
ภูเขาไฟในเอกวาดอร์


มนุษย์สนใจและสะพรึงกลัวภูเขาไฟมานานแล้ว จากการได้เห็นการระเบิดที่รุนแรง เห็นลาวาร้อนที่ไหลทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคนจำนวนมาก มนุษย์โบราณจึงมีตำนานเกี่ยวกับสาเหตุการระเบิดของภูเขาไฟมากมาย เช่น คนกรีกโบราณเชื่อว่าอาณาจักร Atlantis ล่มสลายเพราะภูเขาไฟบนเกาะระเบิด และการที่ภูเขาไฟ Etna บนเกาะ Sicily พ่นไฟนั้นเพราะ Hephaistos เทพแห่งไฟ ผู้มีนิวาสสถานอยู่ใต้ภูเขาไฟ ประดิษฐ์อาวุธโดยการตีเหล็กจนไฟปะทุ คนโรมันโบราณเชื่อว่าเวลา Vulcan เทพเจ้าแห่งไฟ เขี่ยไฟในเตาเผาใต้ภูเขาไฟ ควันและไฟจะถูกพ่นออกมา ชนแอซเทกในเม็กซิโกและนิการากัวเชื่อว่าในภูเขาไฟทุกลูกมีเทพเจ้าสถิตอยู่ ดังนั้นจึงนิยมนำหญิงสาวสวยไปถวายให้เทพเจ้าภูเขาไฟโปรดปราน ส่วนชาวฮาวายเชื่อว่า ในภูเขาไฟ Kilauea มีเทพธิดาชื่อ Pelé ประทับอยู่ และเวลานางพิโรธ นางจะบันดาลให้ภูเขาไฟระเบิด พ่นลาวาไหลฆ่าคนที่พูดถึงนางในแง่ร้าย แต่ใครที่นับถือและสรรเสริญนาง ลาวาจะไหลเลี่ยงบ้านของเขา ชาวฮาวายบางคนเชื่อเทพธิดาภูเขาไฟ Pelé มาก จนถึงกับอ้างว่า ก่อนภูเขาไฟจะระเบิดเล็กน้อย เทพธิดา Pelé จะปรากฏตัวในร่างของหญิงชราทุกครั้งไป

ทุกวันนี้ มนุษย์มีความรู้และความเข้าใจภูเขาไฟดีขึ้นมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักการทางฟิสิกส์และเคมี ศึกษาภูเขาไฟอย่างละเอียด ต่อเนื่อง และใกล้ชิด แต่ภูเขาไฟมิได้ระเบิดบ่อย ดังนั้นการจะรู้ธรรมชาติของภูเขาไฟแต่ละลูกอย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องศึกษาชีวิตของมันตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งถึงปัจจุบันและอนาคต

http://pics.manager.co.th/Images/554000005279203.JPEG
ลาวาร้อนที่ไหลออกจากภูเขาไฟ Kilauea บนเกาะฮาวาย

โลกมีภูเขาไฟนับ 1,300 ลูก โดยแยกเป็น 700 ลูกที่ดับแล้ว และอีก 600 ลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีภูเขาไฟใดมีชื่อเสียงมากเท่าภูเขาไฟเวซูเวียส (Vesuvius) ซึ่งเคยระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี 622 ดังที่ Pliny ผู้เยาว์ได้บันทึกไว้ว่า บริเวณโดยรอบภูเขาไฟลูกนี้เป็นป่าที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น และก่อนภูเขาไฟจะระเบิด 7 ปี Spartacus กับเหล่า gladiator ได้เคยมาพักผ่อนในพื้นที่แถบนี้ ในคืนเกิดเหตุขณะที่กำลังยืนอยู่ที่ชายฝั่งของเมือง Misernum ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเนเปิลส์ที่มีภูเขาไฟเวซูเวียสเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหลัง เขาได้เห็นกลุ่มควันหนาทึบปรากฏเหนือยอดเขา และทะเลควันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริเวณนั้นมืดสลัว จากนั้นได้ยินเสียงภูเขาไฟระเบิดพ่นหินเหลวและเถ้าถ่านเป็นลำสูงขึ้นไปในท้องฟ้า ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ทะเลควันและทะเลลาวาได้ไหลพุ่งกลบบ้านและกำแพงเมือง ฆ่าผู้คนทั้งหมดในเมืองปอมเปอี (Pompeii) กับ Herculaneum ทั้งเป็น ถึงกระนั้นภูเขาไฟก็ยังพ่นเถ้าถ่านออกมาตลอดเวลา จนฝุ่นและหินภูเขาไฟถมทับหลังคาของทุกบ้านเรือนอย่างสมบูรณ์

ตลอดระยะเวลาร่วม 1,000 ปีที่นครปอมเปอีถูกลบหายไปจากแผนที่โลก ไม่มีใครรู้ว่าวินาทีสุดท้ายของชีวิตผู้คนในนครนี้เป็นเช่นไร จนกระทั่ง J. Alcubiere ได้ขุดพบซากปรักหักพังและศพของชาวเมืองเมื่อ 250 ปีก่อนนี้ การวิเคราะห์หลักฐานทำให้เรารู้ว่า ชาวเมืองตายเพราะอากาศเป็นพิษ และบางคนตายเพราะถูกฝุ่นภูเขาไฟที่หนักถึง 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถล่มทับจนขาดอากาศหายใจ

ส่วนการระเบิดของภูเขาไฟ Tambora ซึ่งสูง 4,300 เมตร และตั้งอยู่บนเกาะซุมบาวาที่อยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางทิศตะวันออก 400 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 2358 นั้น เป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผู้คนที่อยู่ไกลจากตำแหน่งระเบิด 1,600 กิโลเมตร สามารถได้ยินเสียงระเบิด พลังระเบิดทำให้ต้นไม้บริเวณภูเขาไฟล้มระเนระนาด และฝุ่นภูเขาไฟได้ลอยปกคลุมท้องฟ้าจนผู้คนไม่เห็นแสงอาทิตย์เป็นเวลา 3 วัน หลังจากการระเบิด คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เข้าไปสำรวจพื้นที่และพบว่า ความสูงของยอดภูเขาไฟได้ลดลง 1,200 เมตร และภูเขาไฟมีปากปล่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 6 กิโลเมตร ลึก 1 กิโลเมตร อานุภาพการระเบิดนี้รุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณู 6 หมื่นลูก คนอินโดนีเซียนับหมื่นคนใน Bali, Lombok และซุมบาวาเสียชีวิต ในอังกฤษเองก็พบว่าฤดูร้อนปีนั้นมีฝนตกมากผิดปรกติ เป็นต้น

http://pics.manager.co.th/Images/554000005279204.JPEG
ภาพการระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa เมื่อปี 1883

กรากะตัว (Krakatoa) เป็นภูเขาไฟตั้งอยู่บนเกาะกรากะตัวในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะชวากับสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งได้ระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2426 แม้แต่ชาวออสเตรเลียที่อยู่ห่างไกลก็ยังได้ยินเสียงระเบิด W.J. Watson ผู้อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 กิโลเมตร ได้รายงานการเห็นลำฝุ่นพุ่งขึ้นสูง 70 กิโลเมตร และเห็นคลื่นสึนามิสูง 45 เมตร พุ่งเข้าถล่มเมืองบนเกาะต่างๆ จนราบพณาสูร การระเบิดครั้งนั้นได้ทำให้ผู้คน 35,500 ชีวิต ใน 165 หมู่บ้านล้มตาย นอกจากนี้กระแสคลื่นยังได้พัดพาแพจากเกาะกรากะตัวไปไกลถึงเกาะ Zanzibar ในแอฟริกาตะวันออกที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 4,800 กิโลเมตรด้วย

ในการอธิบายการเกิดภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาอธิบายว่า เพราะเปลือกโลกมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นพื้นทวีปกับส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร เปลือกโลกหนาไม่สม่ำเสมอ เช่นหนาตั้งแต่ 8-40 กิโลเมตร บริเวณใต้เปลือกโลกคือส่วนที่เรียกว่าเปลือกโลกชั้นใน และลึกลงไปอีกคือส่วนที่เป็นแก่นโลก แม้องค์ประกอบหลักของเปลือกโลกชั้นในจะเป็นหิน แต่อุณหภูมิใต้โลกสูงมาก ดังนั้นหินแข็งจึงละลายเป็นหินเหลวที่หนืดและไหลช้า คล้ายน้ำเชื่อม ส่วนแก่นโลกมีอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้นไปอีก ความร้อนจึงถูกส่งกระทำต่อเปลือกโลกชั้นในได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเตาที่ให้ความร้อนแก่น้ำ จะทำให้น้ำที่ก้นกาไหลวนพาความร้อนไปทั่วกา ด้วยกระบวนการเดียวกันนี้ เมื่อหินเหลวจากเปลือกชั้นในไหลผ่านรอยแยกของเปลือกโลก เราจะเห็นการระเบิดของภูเขาไฟที่พ่นหินเหลวร้อน (ลาวา) ก๊าซ ฝุ่น ดินและหินต่างๆ ออกมา ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าการระเบิดของภูเขาไฟมีบทบาทในการกำหนดลักษณะของภูมิประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภูเขาไฟ สถิติ ณ วันนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรโลกราว 600 ล้านคนอาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ เช่น ชาวเมืองเนเปิลส์อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟเวซูเวียสในอิตาลี

ส่วนภูเขาไฟ Rainier นั้นตั้งอยู่ใกล้เมือง Seattle-Tacoma ในสหรัฐอเมริกา และภูเขาไฟ Popocatepetl ตั้งอยู่ใกล้เมืองเม็กซิโกซิตีที่มีประชากรมากถึง 15 ล้านคน เป็นต้น

ในการจัดชนิดของภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาแบ่งภูเขาไฟออกเป็นสามชนิด คือ ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นซึ่งเป็นพวกที่เคยระเบิดในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมา ส่วนพวกที่เคยระเบิดในช่วง 500-5,000 ปีก่อนนี้ ก็คือภูเขาไฟที่กำลังหลับ และถ้าการระเบิดครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อกว่า 5,000 ปี ภูเขาไฟลูกนั้นก็ถือว่าดับแล้ว

ในการวิจัยภูเขาไฟ นักภูเขาไฟวิทยามุ่งหมายจะศึกษาหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างเชิงธรณีวิทยา องค์ประกอบของลาวาที่ไหลจากปล่อง ชนิดของก๊าซที่ถูกปลดปล่อยจากปล่อง รวมถึงปรากฏการณ์แผ่นดินไหว โดยใช้วิธีวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง และวิเคราะห์ลักษณะการไหลของลาวาซึ่งก็ได้พบว่า ลาวาภูเขาไฟมักมีหิน silica, feldspar, biotite, augite, hornblende, quartz, olivine และ nepheline ซึ่งอุณหภูมิของลาวานั้นก็สูงตั้งแต่ 900-1,300 องศาเซลเซียส ความหนืดในการไหลของลาวาขึ้นกับองค์ประกอบ อุณหภูมิ และปริมาณฟองอากาศที่ลาวามี เช่นถ้าลาวามีก๊าซมาก มันจะไหลได้เร็วและไกลด้วยอัตราความเร็วตั้งแต่ 1-10 เมตรต่อวินาทีและอาจไปไกลถึง 45 กิโลเมตร เวลาภูเขาไฟระเบิดก๊าซที่เล็ดลอดคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไอน้ำ

(มีต่อ)

สายน้ำ
23-04-2011, 07:53
ภัยภูเขาไฟ ..... (ต่อ)


http://pics.manager.co.th/Images/554000005279202.JPEG
ภูเขาไฟ Soufrière บนเกาะเซ็นต์วินเซ็นต์ ก่อนระเบิด

ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาไฟ เพื่อสามารถทำนายเวลาที่มันจะระเบิดครั้งต่อไป และความรุนแรงของการระเบิดครั้งนั้นๆ ได้ และก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้เวลาระเบิดของภูเขาไฟ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นเพื่อใช้ศึกษาภูเขาไฟ เช่น นำระบบ Global Positioning System (GPS) และ Envisat ซึ่งใช้เรดาร์วัดปริมาณการขยายตัวของผิวดินภูเขาไฟได้ละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร เพราะเวลาภูเขาไฟจะระเบิด ขนาดภูเขาไฟจะเปลี่ยนแปลง หรือใช้อุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศเหนือภูเขาไฟได้ เพราะก่อนภูเขาไฟจะระเบิดจะมีก๊าซชนิดนี้เล็ดลอดออกมามาก หรือใช้ดาวเทียม Landsat-7 และ Terra ที่มีอุปกรณ์ไวรังสีอินฟราเรดวัดอุณหภูมิบริเวณส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟขณะใกล้ระเบิด เพราะความร้อนจะถูกปล่อยออกมามาก แต่ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดที่ว่า มันโคจรเหนือภูเขาไฟลูกหนึ่งๆ ได้เพียงครั้งเดียวในทุก 15 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไปสำหรับความละเอียดด้านเวลา

ตามปรกติ เวลานักวิทยาศาสตร์ศึกษาเหตุการณ์ภายในภูเขาไฟ เขามักวางอุปกรณ์สำรวจที่ผิวภูเขาไฟ เพื่อดักฟังเสียงคำรามและการสั่นสะเทือนเบื้องล่างทำนองเดียวกับที่แพทย์วางหูฟัง (stethoscope) ที่หน้าอกคนไข้เพื่อฟังเสียงเต้นของหัวใจ แต่ในฤดูร้อนของปี 2548 คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกลุ่มหนึ่งได้ศึกษาภูเขาไฟลึกยิ่งกว่านั้น คือได้เจาะภูเขาไฟลงไปเพื่อดูสภาพการเคลื่อนที่ของหินเหลว โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้รู้เวลาและความรุนแรงของการระเบิดครั้งต่อไปได้

ภูเขาไฟ Unzen ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Shimabara บนเกาะคิวชูในญี่ปุ่น คือภูเขาไฟที่คณะนักวิทยาศาสตร์โดยการนำของ S. Nakata แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเจาะ เพราะภูเขาไฟนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เคยระเบิดทำให้ชาวบ้าน 15,000 คนเสียชีวิต ซึ่งนับว่ามากเป็นอันดับ 5 ของสถิติการสูญเสียชีวิตด้วยภัยภูเขาไฟระเบิดในญี่ปุ่น

http://pics.manager.co.th/Images/554000005279205.JPEG
สภาพบ้านเรือนในบริเวณที่ภูเขาไฟระเบิด

ข้อมูลที่ได้แสดงว่า อุปกรณ์ที่ใช้เจาะภูเขาไฟต้องสามารถทนทานอุณหภูมิที่สูงถึง 600 องศาเซลเซียสได้ และอุปกรณ์ต้องมีระบบทำความเย็นช่วยระบายความร้อน ตลอดเวลา นอกจากนี้อุปกรณ์เจาะจะต้องมีกล้องถ่ายภาพ และเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิของหินเหลวและดินแข็งด้วย Nakata คาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของหินเหลวขณะไหลขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รู้เวลาที่ภูเขาไฟจะระเบิดและทิศการไหลของลาวาได้ ข้อสรุปที่ได้จะช่วยให้สามารถปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนที่อาศัยในถิ่นภูเขาไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิธีนี้เป็นการศึกษาที่ระยะใกล้เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องสูดดมก๊าซภูเขาไฟตลอดเวลา ดังนั้นสุขภาพและชีวิตของนักสำรวจจึงเป็นเรื่องเสี่ยง แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่เขาจะได้ข้อมูลปฐมภูมิมาช่วยให้อพยพผู้คนได้ทันเวลา

ก๊าซที่เล็ดลอดเวลาหินเหลวไหลขึ้นตามปล่องภูเขาไฟก็น่าสนใจ เพราะมีการพบว่า เมื่อหินเหลวไหลถึงพื้นผิวโลกความดันภายในหินเหลวจะลด มีผลทำให้ก๊าซภายในหินเหลวถูกปล่อยออกมา โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในหินเหลวได้ดีจะออกมาก่อน ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งละลายได้น้อยกว่า จะออกมาภายหลัง ในการหาปริมาณของ CO2 กับ SO2 นั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวัดสมบัติการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และอัลตราไวโอเลตของก๊าซทั้งสอง ดังนั้นถ้านักวิทยาศาสตร์เห็นปริมาณ SO2 เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นั่นแสดงว่าหินเหลวกำลังไหลขึ้นและภูเขาไฟกำลังจะระเบิด

นอกจากภูเขาไฟจะฆ่าคนด้วยการระเบิดแล้ว มันยังพ่นควันพิษให้ผู้คนได้สูดดมจนสุขภาพเสียอีกด้วย P. Baxter แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ในประเทศอังกฤษ พบว่าการสูดดมควันอย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นโรคปอดและโรคหอบหืด โครงกระดูกของผู้เสียชีวิตที่ Herculaneum ทำให้ Baxter พบว่า ลาวาที่ฆ่าคนเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 500 องศาเซลเซียส และผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตเพราะถูกเผาทั้งเป็น หาใช่เพราะขาดอากาศหายใจ ควันที่มีผลึก silica ทำให้เขารู้อีกว่าถ้าสูดดมผลึกชนิดนี้มากจะทำให้ปอดเป็นแผล (silicosis) และมะเร็งปอดในที่สุด

เวลาภูเขาไฟระเบิด มิเพียงแต่คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นที่จะเป็นอันตราย เมื่อภูเขาไฟ Redoubt ในอะแลสการะเบิดในปี 2532 ฝุ่นและเถ้าถ่านที่ลอยในอากาศได้ทำให้เครื่องยนต์เจ็ตของเครื่องบินโบอิง 747 ทั้งสี่เครื่องขัดข้อง จนเครื่องบินลดระดับเพดานบินลงอย่างกะทันหันถึง 3,000 เมตรใน 1 นาที โชคดีที่กัปตันมีสติ จึงสามารถเดินเครื่องได้อีกก่อนที่เครื่องบินจะตก อุบัติเหตุนี้ทำให้องค์การบินนานาชาติสนใจติดตามการระเบิดและทิศการลอยของฝุ่นภูเขาไฟ เพื่อรายงานให้ศูนย์ควบคุมการบินนานาชาติทราบ เครื่องบินจะบินได้อย่างปลอดภัย

http://pics.manager.co.th/Images/554000005279206.JPEG
ฝุ่นภูเขาไฟกับสภาพต้นไม้บริเวณรอบภูเขาไฟ

ภัยภูเขาไฟเป็นภัยที่ต้องป้องกันด้วยทุนสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนแอฟริกาไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่แอฟริกามีภูเขาไฟประมาณ 130 ลูก ทั้งนี้เพราะคนแถบนั้นยากจนและทุพภิกขภัยคือปัญหาชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ทุกปีจะมีคนอดอาหารตายประมาณ 3.5 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคนที่เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟระเบิดมีไม่ถึง 1,000 คน ดังเช่นเมื่อภูเขาไฟ Nyiragongo ในคองโกระเบิดเมื่อปี 2548 มีคนเสียชีวิต 150 คน แต่ในอีก 15 ปี เมื่อภูเขาไฟ Cameroon ระเบิด ผู้คน 4 แสนคนอาจล้มตายถ้าไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้านานๆ

ส่วนในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนา เช่น อิตาลี ที่ภูเขาไฟเวซูเวียสมีหอสังเกตการณ์เตือนภัยชื่อ Vesuvius Observatory ทำหน้าที่เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ฮาวายก็มี Hawaiian Volcano Observatory (HVO) ทำหน้าที่สังเกตการณ์ภูเขาไฟ Kilauea ตลอดเวลาเช่นกัน หอสังเกตการณ์ (HVO) นี้ทันสมัยที่สุดในโลก เพราะมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงภาพภายในของภูเขาไฟได้สามมิติ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Geowarn ทำหน้าที่แสดงอุณหภูมิหินเหลว ปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟ เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ภายในภูเขาไฟ และมีอุปกรณ์ tiltmeter สำหรับวัดการบิดเอียงของผิวภูเขาไฟ รวมทั้งมีการใช้ระบบ GPS และดาวเทียมเพื่อวัดการขยายตัวของภูเขาไฟที่ละเอียดถึงระดับ 1-2 มิลลิเมตร นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังใช้ spectrometer วัดปริมาณก๊าซ SO2 ที่เล็ดลอดออกมาทุกๆ 2 นาที และใช้ seismometer วัดรูปแบบของคลื่นแผ่นดินไหวขณะหินเหลวเคลื่อนที่ใต้ภูเขาไฟด้วย

เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาภูเขาไฟที่เป็นภัย เพื่อในอนาคตภูเขาไฟจะไม่สามารถฆ่าคนได้มากเท่าอดีต แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ภูเขาไฟระเบิดทำลายภูมิประเทศ เศรษฐกิจของพื้นที่นั้นไม่มีใครช่วยได้





จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 เมษายน 2554

สายน้ำ
25-05-2011, 06:47
โลกาจะวินาศ หรือเพียงแค่ภัยธรรมชาติโหดกว่าเดิม??

http://www.dailynews.co.th/content/images/1105/24/etc/tsunami.jpg

ผ่านพ้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 หรือ ค.ศ.2011 ไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีเหตุโลกาวินาศ ตามความเชื่อของคนอเมริกันบางกลุ่ม ที่เชื่อว่า วันที่ 21 ที่ผ่านมา จะเป็นวันสุดท้ายของโลกที่ฝรั่งเรียกขานกันว่า Judgment Day โลกมนุษย์ก็ยังเป็นโลกที่อาศัยอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีภัยธรรมชาติต่างๆ ที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้นมาทำลายล้างชีวิตมนุษย์ให้ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

ปรากฏการณ์ของภัยธรรมชาติที่มีฤทธิ์เดชโหดกว่าเดิมในปัจจุบันนี้ ที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นต้นมาที่เป็นข่าวโด่งดังสะเทือนไปทั้งโลก นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเฮติ จนทำให้ผู้คนดับสูญสิ้นไปหลายหมื่นคน ติดตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในหลายจุดของโลก เป็นผลทำให้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวตายกันไปเยอะ ภูเขาไฟระเบิด ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วม ดินโคลนถล่มเมืองใหญ่ๆในหลายประเทศต้องจมบาดาลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ต้นปี 2554 หรือ ค.ศ.2011 เหตุร้ายจากภัยธรรมชาติก็เล่นงานชาวโลกอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอากาศแปรปรวนทำให้ฤดูกาลเหมือนจะเปลี่ยนไป ฝนตกหนักหน่วงติดต่อกันหลายวัน ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมเมืองใหญ่ๆในหลายประเทศ รวมทั้งแผ่นดินก็ไหวหลายครั้งหลายหนตามจุดต่างๆของโลก แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นข่าวช็อกโลกทีเดียว จนกระทั้งมาเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใต้ทะเลที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมืองเซนไดราบเป็นหน้ากลอง บ้านเมืองเสียหายเป็นจำนวนมากรวมถึงคนญี่ปุ่นที่ต้องเสียชีวิตและสูญหายไปหลายหมื่นคน นอกจากนี้ยังส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดระเบิด ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้ชาวโลกต่างผวากับภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและรุนแรงทวีคูณมากกว่าเดิม

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มญี่ปุ่นแล้ว ก็มีเหตุร้ายๆของภัยธรรมชาติโจมตีทำลายมนุษย์ไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าภูมิอากาศวิปริตทำให้ฝนตกหนักอย่างไม่เคยพบเคยเห็นในชั่วชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนี้ หรือเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาในหลาย ๆ แห่งของแต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้โลกต้องตะลึงเหมือนที่ญี่ปุ่น ด้วยความโหดร้ายของธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ทำให้ชาวโลกบางคนบางกลุ่มที่เป็นชาวคริสต์ถึงกับเชื่อว่า โลกจะถึงกาลอวสาน ตามคัมภีร์ไบเบิล

แม้ว่าวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 โลกจะปลอดภัยจากการที่ไม่ถึงวาระสุดท้าย แต่วันต่อมาคือวันที่ 22 พฤษภาคม ภัยธรรมชาติก็ได้แผลงฤทธิ์กันในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งจากข่าวคราวที่รับรู้แบบไร้พรมแดนก็คือข่าว ภูเขาไฟกริมส์โวตม์ใต้ธารน้ำแข็งวัตนาโยคุลล์ ทางภาคะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ ปะทุพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากสงบเงียบมานานถึง 7 ปี

ในวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวมากกว่า 5.0 ริกเตอร์ 3 ครั้งของหมู่เกาะเคอร์มาเดดในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ไปตอนเหนือประมาณ 942 กิโลเมตร หลับจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวอีกที่ทะเลด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นลึกใต้พื้นพื้นดิน 34.5 กิโลเมตรห่างจากกรุงโตเกียวเพียง 89 กิโลเมตร โดยไม่มีรายงานของความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

อีก 3 ชั่วโมงต่อมา ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะใต้หวัน ศูนย์กลางห่างจากกรุงไทเปไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 105 กิโลเมตร ระดับความลึกของธรณีพิโรธที่ 10.2 กิโลเมตร และก็ไม่มีรายงานความเสียหายเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นการไหวของแผ่นดินแบบเล็กๆ ยังมิใช่ใหญ่ๆที่ช็อกโลก

และในวันเดียวกันอีก รัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ได้เกิดฝนตกอย่างหนัก ฟ้าผ่า ถล่มบ้านเรือนประชาชนและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50 ศพ นอกจากนี้ที่ประเทศมาเลเซียก็ได้เกิดฝนตกหนักเช่นกัน เป็นเหตุให้ดินภูเขาถล่มลงมาทับศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมืองฮูลู รัฐเซลังงอร์ มีผู้ถูกดินถล่มทับเสียชีวิตอย่างน้อย 16 ศพ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ภัยธรรมชาติก็เล่นงานโจมตีโลกอย่างต่อเนื่องอีกวันหนึ่ง โดยเกิดเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น 5.1 ริกเตอร์ ความแรงของธรณีไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนไปถึงกรุงโตเกียว ทั้ง ๆ ที่มีระยะทางห่างกันถึง 417 กิโลเมตร แต่ก็ไม่มีรายงานความเสี่ยหายของชีวิตและทรัพย์สินแต่ประการใด

วันเดียวกันนี้ พายุทอร์นาโดได้พัดถล่มรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เซ่นสังเวยชีวิตชาวอมริกันไปร้อยกว่าศพ ซึ่งเป็นฤทธิ์เดชของพายุที่หนักที่สุดในรอบ 60 ปี และก่อนหน้านี้หนึ่งเดือนที่ผ่านมาพายุทอร์นาโดก็ได้ถล่มสหรัฐอเมริกาถึง 7 รัฐ ตายไป 300 กว่าศพ

ต่อมาอีกวันคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ใกล้เกาะสุมาตรา 4.7 ริกเตอร์ โดยไหวถึง 2 ครั้งซ้อน โดยไม่มีรายงานถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น

เชื่อว่านับจากนี้ไปต้นไป ภัยพิบัติโลกก็คงจะได้สำแดงฤทธิ์เดชให้ชาวโลกได้รับรู้ทุกวันถึงเรื่องภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นมาโดยที่คนในโลกปัจจุบันนี้ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนให้เป็นข่าวช็อกโลกอีก

สำหรับประเทศไทยของเราก็เจอภัยธรรมชาติที่แปรปรวนเล่นงานเกือบทั่วทุกภูมิภาคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หน้าร้อนกลับมีอากาศหนาวเย็นโชยมาให้ประชาขนได้รู้สึกแปลก ๆ ภาคใต้ก็อากาศวิปริตฝนตกหนักน้ำท่วมดินถล่มตอนต้นปี ทั้งๆที่เป็นเหตุการณ์ที่ปกติจะต้องเกิดขึ้นช่วงปลายปี ทางภาคเหนือช่วงต่อหน้าร้อนกับหน้าฝน ก็เจอฝนตกหนักเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมเมืองในหลายจังหวัด แม้ภัยธรรมชาติในไทยจะไม่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก แต่ก็เป็นเหตุให้ต้องระลึกอยู่เสมอว่าภัยธรรมชาติมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาอย่างนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นมาได้

เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และโหดร้ายต่อมนุษย์ชาติกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเห็นไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจจะทำให้มีชาวโลกบางกลุ่มเชื่อว่าโลกกำลังจะถึงวันสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ตามก็มีอีกบางส่วนของชาวโลกก็มองอย่างธรรมชาติว่า โลกคงจะไม่แตกสลายตามความเชื่อหรือคำทำนายของหมอดูทั้งหลายทั่วโลก เพราะธรรมชาติย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถห้ามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้

เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนควรจะต้องตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทในการรับมือป้องกันภัยธรรมชาติเป็นดีที่สุด!!




จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554

สายน้ำ
02-08-2011, 08:30
เจาะข้อเท็จ-จริง ทฤษฎีวันโลกแตก!

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/08/col01020854p1.jpg&width=360&height=360

กระแสข่าวลือ-ข่าวลวง-ข่าวเขย่าขวัญ ทำนองว่า

'โลกมนุษย์' จะถึงคราวดับสูญไปในปีนั้น ปีนี้ หรืออนาคตอันใกล้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็ยังคงมีให้ได้เห็นได้ยินอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะใน 'โลกไซเบอร์' รวมถึงอีเมล์ลูกโซ่ ที่มีมือมืดพยายามปั่น 'ทฤษฎีโลกแตก' สารพัดชนิด ทั้งในแง่มุมวิทยาศาสตร์ เช่น สนามแม่เหล็กโลกกลับขั้ว มุมภูตผีปีศาจเหนือธรรม ชาติ หรือพยากรณ์กันตามปฏิทินมายา ออกมาเขย่าให้ผู้คนหวาดผวาอยู่เป็นระยะๆ

อย่างล่าสุด ก็ลือกันทั่วอินเตอร์เน็ตว่า โลกอาจจะแตกในปี ค.ศ.2012 หรือพ.ศ. 2555!?

ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แวดวงวิชาการไทยได้ต้อนรับศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง 'โจเซลิน เบล เบอร์เนล' นักดาราศาสตร์หญิงชั้นแนวหน้าชาวอังกฤษ สาขาดาราศาสตร์วิทยุ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM 2011) จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และระหว่างร่วมงานดังกล่าว ศ.เบอร์เนลได้สละเวลาขึ้นเวทีอธิบายไขปริศนาโลกแตก ภายใต้หัวข้อ 'ฤๅโลกดับแน่แล้ว...ไม่แคล้วปีหน้า'

ยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แบบชัดๆ ขึ้นมาอธิบายว่า ทฤษฎีโลกแตกต่างๆ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ขอบอกว่าชื่อชั้นของ ศ.เบอร์เนล นั้นไม่ธรรมดา เพราะมีสถานะเป็นถึงผู้ค้นพบ 'พัลซาร์' หรือดาวนิวตรอนที่แผ่คลื่นวิทยุ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ได้รับการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแวดวงดวงดาวระดับสากลกันเลยทีเดียว!

เริ่มต้นกับการตั้งคำถามว่า ปัจจัยอะไรที่อยู่ดีๆ มนุษย์เราถึงพากันเชื่อว่าโลกจะแตก

เป็นเพราะกระแสปฏิทินมายาโบราณ ซึ่งบังเอิญเวียนมาบรรจบครบรอบ ในปี 2555 หรือเพราะภาพยนตร์ที่โกยเงินจากการเกาะกระแสความกลัวของผู้คน กระทั่งตอกย้ำสร้างภาพความเชื่อผิดๆ ปลูกฝังจนเป็นค่านิยมความตื่นกลัว ผสมผสานกับทฤษฎีอีกสารพัดอย่างที่ฟังมาจากปากต่อปาก จากเว็บสู่เว็บ

ศ.เบอร์เนล ให้คำตอบว่า

"หนึ่งในประเด็นหลักเรื่องโลกแตกคงหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ 'การกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์' หรือกระบวนการที่ขั้วแม่เหล็กเหนือใต้สลับตำแหน่งกัน ผกผันไปตามจุดซันสปอต หรือจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่กระจายอย่างไม่เป็นระเบียบนั้น จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี และเพิ่งจะเกิดขึ้นสดๆ ร้อนในปี 2552 ที่การวิจัยในครั้งนั้นได้ยืนยันแล้วว่า ไม่พบข้อมูลผลกระทบที่มนุษย์ได้รับจากปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมต้องรออีกนานถึงปี 2564 กว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง"

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/08/col01020854p2.jpg&width=360&height=360
1.โจเซลิน เบล เบอร์เนล
2.หลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก
3.สนามแม่เหล็กโลก
4.หลุมอุกกาบาตซิดซูลูป ประเทศเม็กซิโก
5.ซันสปอตบนผิวดวงอาทิตย์
6.ภาพดาวนิบิรุในจินตนาการ
7.พายุสุริยะ และซันสปอต

ขณะที่ "พายุสุริยะ" เปลวก๊าซร้อนๆที่พวยพุ่งออกมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้น ศ.เบอร์เนล กล่าวว่า

"พายุนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่ากลัวก็จริง แต่น่ากลัวสำหรับนักบินอวกาศที่ออกไปทำงานนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องสัมผัสกับรังสีและอนุภาคไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่เราพบเห็นพายุสุริยะมากขึ้น ก็ไม่ได้อ้างอิงความเกี่ยวข้องกับการสิ้นโลกแต่อย่างใด เพราะเปลวก๊าซเหล่านี้จะค่อยๆ พัฒนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อย จนเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2013 หรือ 2556 ซึ่งก็ไม่ใช่ปี 2012 อย่างที่เข้าใจ และในครั้งนี้ก็จะมีปริมาณน้อยกว่าครั้งอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกว่าครึ่งหนึ่งอีกด้วย"

นอกจากนั้น ศ.เบอร์เนล ยังขยายความถึงปรากฏการณ์ 'สนามแม่เหล็กโลก' ที่เชื่อว่าในอนาคตจะกลับทิศทางจนโลกหมุนสลับขั้ว สร้างความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เมืองร้อนมีหิมะตก เมืองหนาวกลายเป็นทะเลทราย ไม่ก็น้ำท่วมโลกหรือธรณีสูบ ด้วยว่า

จริงๆแล้วสนามแม่เหล็กของโลกมีการกลับตัวทุกๆประมาณ 3 แสนปี มนุษยชาติเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อราวๆ 2.5 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้น จึงมีการกลับทิศลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อผู้คนหรือโลกกลมๆใบนี้

การกลับทิศของสนามแม่เหล็ก เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานถึง 5,000 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ในแต่ละครั้ง โดยเริ่มจากการลดลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปของสนามแม่เหล็กโลก และที่มันกำลังอ่อนตัวลงในปัจจุบัน นั่นอาจหมายถึงการเข้าสู่ช่วงกลับทิศครั้งใหม่ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศการหมุนของโลกด้วยซ้ำไป

อีกหนึ่งทฤษฎีวันสิ้นโลกที่ร่ำลือติดอันดับฮิตไม่แพ้กัน ก็คือ ความหวาดวิตกปรากฏการณ์ 'การเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหมดในเอกภพ' ซึ่งศ.เบอร์เนล ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/08/col01020854p3.jpg&width=360&height=360
1.การเรียงตัวของดาวเคราะห์ในเอกภพ
2.ปฏิทินมายาโบราณ

"ในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ที่จะถึงนี้ อย่างไรแล้วก็ไม่ใช่ปีที่จะมีการเรียงตัวของดาวทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะจากข้อมูลกว่า 5 พันล้านปีที่ผ่านมา การเรียงตัวของดาวเคราะห์ที่มีมากที่สุด 5 ดวงตรงแนวโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์คือเมื่อ ก.พ.2505 และล่าสุดใน พ.ค.2534 ที่ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อีก 5 ดวงก็วนมาเจอกันอีกรอบ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดจะมาเรียงเป็นระนาบเดียวกันเลย ส่วนการเรียงตัวลักษณะนี้ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2583 และ พ.ศ. 3218 ไม่ใช่ปีหน้า แถมการเรียงตัวที่เกิดขึ้นมาตลอดเหล่านี้ยังไม่เคยส่งผลกระทบทั้งในด้านแรงโน้มถ่วง หรือแรงน้ำขึ้นน้ำลงของโลกอีกด้วย"

ส่วนประเด็นความเชื่อตามเรื่องเล่าของ 'ดาวเคราะห์นิบิรุ' ที่เคยตกเป็นข่าวฮือฮาว่า มีความเป็นไปได้สูงจะพุ่งชนโลกเข้าสักวัน ศ.เบอร์เนล ชี้ว่า

"ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกสังเกตโดยชาวสุเมเรียน เมื่อ 2,500 ก่อนคริสตกาล และอ้างว่าดาวดวงนี้แหละที่จะมีคาบการโคจรเป็นวงรีในระยะเวลา 3,600 ปี พร้อมจะพุ่งชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค. 2555 ตามเวลาที่ค้นพบนั้น ถ้าวิเคราะห์ตามหลักดาราศาสตร์แล้ว นิบิรุอยู่ห่างออกไปกว่า 400 หน่วยดาราศาสตร์เอยู หรือหน่วยวัดระยะห่างเฉลี่ยของโลกและดวงอาทิตย์ หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 10 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดาวพลูโต ซึ่งเราไม่สามารถเห็นมันได้ด้วยตาเปล่าตามที่ชาวสุเมเรียนระบุไว้ จึงสรุปได้ว่าดาวเคราะห์นิบิรุไม่มีอยู่จริงนั่นเอง"

"ตามมาติดๆด้วยความกลัวของซีรีส์การถูกชนจากวัตถุนอกโลก อย่างดาวเคราะห์น้อยที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่โลก จากการพุ่งชนของดวงดาวขนาดย่อมประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว จนเป็นหลุมอุกกาบาตชิก ซูลูปที่ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าการชนในครั้งนั้นอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ยุคไดโนเสาร์ แต่จริงๆแล้วการชนแบบนี้ จะเกิดขึ้นทุกๆ 50-100 ล้านปี และมีผลกระทบทำให้เกิดฝุ่นละอองครอบคลุมชั้นบรรยากาศ พืชจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ชีวิตความเป็นอยู่บนโลกจึงค่อยๆล้มตาย แต่เรามีโครงการเฝ้าระวังอวกาศที่คอยสังเกตท้องฟ้าอยู่แล้ว หากมีวัตถุขนาดใหญ่เคลื่อนที่มายังโลกจริง เราต้องรับรู้ถึงความคืบหน้าเป็นเวลาหลายปีก่อนที่มันจะพุ่งชนโลก และสามารถหาแนวทางกำจัดดวงดาวเหล่านั้นได้ทันท่วงที ซึ่งตอนนี้เราเหลือเวลาอีกแค่ปีครึ่งก็จะถึง ธ.ค. 2012 ยังไม่เห็นมีใครระบุว่าพบวัตถุต้องสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น" ศ.เบอร์เนลย้ำ

ศ.เบอร์เนลกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของ 'หลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก' ที่คาดว่าโลก ดวงอาทิตย์ และหลุมดำ จะเรียงเป็นเส้นตรง ส่งผลให้โลกกับดวงอาทิตย์ตกลงสู่หลุมดำนั้น

ปรากฏการณ์โคจรในระนาบเดียวกันนี้ เกิดขึ้นวันที่ 21 ธ.ค. ของทุกปี แต่หลุมดำซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 260,000 ปีแสง ทำให้สมมติฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ เพราะการเคลื่อนที่เข้าสู่หลุมดำนี้โลกจะต้องใช้เวลานานกว่า 260,000 ปี

แล้ววันหนึ่ง 'จักรวาล' ของเราจะดับสิ้นจริงหรือไม่นั้น ศ.เบอร์เนลให้แง่คิดว่า

"แน่นอนว่าเอกภพและดวงอาทิตย์ย่อมต้องมีวันหมดอายุขัย แต่ไม่ใช่ดับวูบแล้วแตกออกเป็นเสี่ยงๆ วิวัฒนาการทางธรรมชาติมีความพอดีแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกราวๆ 1 พันล้านปีข้างหน้าที่ดวงอาทิตย์จะเริ่มร้อนขึ้นจนเผาผลาญน้ำบนโลกและดาวดวงอื่นๆ ถ้าตอนนั้นเรายังอยู่กันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหามาเสียเวลากังวลกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น เทคโนโลยีในอีก 1 พันล้านปีคงจะมีคำตอบหาทางออกที่ดีที่สุดได้ แต่ถ้าวันนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ดิฉันว่าทางรอดทางเดียวคือหาดาวดวงใหม่เป็นที่อยู่อาศัยแทนโลก"

ถามว่า ถ้าอย่างนั้นการที่เราพยายามรักษาสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้เอาไว้ จะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ในอนาคตรึเปล่า?

"ต้องบอกก่อนว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวันนี้มันเกี่ยวข้องกับจักรวาลน้อยมาก ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว หรือสึนามิก็เป็นผลกระทบจากภายในที่เราเอาแต่ใช้ประโยชน์จากโลกโดยไม่คิดถึงปัญหาที่ตามมา สิ่งที่เราพยายามรณรงค์ทั้งประหยัดพลังงาน หาวัสดุทดแทน ปลูกป่ารักษาต้นน้ำ ล้วนเป็นการแก้ไขปลายเหตุ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ฉุกคิดทำอะไรเพื่อโลก เราทำวันนี้ก็เพื่อให้ลูกหลานอยู่ต่อบนโลกได้อย่างปกติที่สุด แต่แน่นอนว่าเรายังทำไม่เพียงพอ" ศ.เบอร์เนล กล่าว




จาก .................... ข่าวสด วันที่ 2 สิงหาคม 2554

สายน้ำ
08-10-2011, 08:40
แกนโลกสลับขั้ว...เริ่มวิกฤติ 'น้ำท่วมโลก'

http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2011/10/07/faeji9jahdk9kikjihi59.jpg

ช่วงนี้สมาชิกผู้เชื่อมั่นคำพยากรณ์ "วันน้ำท่วมโลก 2012" ต่างอยู่กันไม่เป็นสุข เพราะต้องช่วยกันเฝ้าจับตาดูเหตุการณ์พายุน้ำฝน น้ำป่า น้ำทะเล ไหลท่วมทะลักเข้าประเทศไทยทุกสารทิศ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สอดคล้องกับคำวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญอย่าง นายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทานประเมินว่า น้ำท่วมไทยปี 2554 ถือว่าเลวร้ายสุด และทำลายสถิติอุทกภัยที่เคยบันทึกมาทั้งหมด !!

"ปกติแล้วกรมชลประทานจะใช้ตัวเลขปริมาณน้ำเมื่อปี 2538 และปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมมากสุดเป็นมาตรฐานวัดสถิติน้ำท่วม โดยระดับน้ำสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลางของปี 2538 บริเวณ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 3.17 เมตร แต่ปี 2554 สูงถึง 3.21 เมตร ส่วนระดับน้ำที่ จ.นนทบุรี ปี 2538 สูงที่ 2.33 เมตร แต่ปีนี้พุ่งสูงสุดที่ 2.56 เมตร..." นายวีระ ยกตัวอย่าง

จนถึงวันนี้...ยังไม่มีใครวิเคราะห์ได้ว่า น้ำจะท่วมเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเท่าไร !?!

หลายคนไม่เชื่อว่าคำพยากรณ์น้ำท่วมโลกจะเป็นเรื่องจริง อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังแปลกใจเมื่อเห็นสถิติพายุมรสุมในแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางคนเชื่อว่าเกิดจากภาวะภูมิอากาศแปรปรวน หรือ ภาวะโลกร้อน แต่หลายคนเชื่อว่ามหันตภัยน้ำท่วมปีนี้ คือ จุดเริ่มต้นของน้ำท่วมโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2012 หรือ พ.ศ. 2555

กลุ่มผู้เชื่อใน "วันน้ำท่วมโลก" อ้างอิงข้อมูลวิทยาศาสตร์ว่า ธารน้ำแข็งบริเวณหมู่เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งตั้งในมหาสมุทรอาร์กติกทางเหนือกำลังละลาย ด้วยพื้นที่กว่า 2.2 ล้าน ตร.กม. มีน้ำแข็งกว่า 19 ร้อยล้านตัน น้ำแข็งกำลังละลายเป็นน้ำวันละ 1 ล้านตัน โดยจะไหลลงมาสะสมจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2012 ขณะที่คำทำนายจากกลุ่มนักวิจัยอวกาศอ้างว่า องค์การนาซา หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คำนวณได้ว่า "วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2012 แกนโลกจะพลิกกลับขั้ว" หมายถึง ขั้วโลกเหนือจะพลิกมาอยู่ขั้วโลกใต้ ช่วงเวลานั้นโลกจะไม่มีพลังสนามแม่เหล็กออกมาป้องกันรังสีต่างๆ ทำให้พลังความร้อนสูง หรือ "เปลวสุริยะ" (solar flare) จากดวงอาทิตย์พุ่งตรงมายังโลก ทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายฉับพลัน เกิดหายนะน้ำท่วมทั่วโลก

"สุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา" อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ให้สัมภาษณ์ว่า น้ำท่วมไทยปีนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีการเตือนภัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากระหว่างที่แกนโลกเคลื่อนตัวพลิกกลับขั้วจากเหนือไปใต้นั้น ส่งผลให้พลังสนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลง แกนโลกเอียงจาก 23.5 องศาเป็น 24.5 องศา ภาวะแปรปรวนของจักรวาลทำให้โลกร้อนระอุอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งจากทั่วโลกละลายเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเกิดพายุลมมรสุมและภัยธรรมชาติด้านต่างๆ

"เปรียบเทียบได้กับไฟฟ้าลัดวงจร ปกติไฟฟ้าจะวิ่งจากสูงลงต่ำ แต่พลิกกลับด้านเป็นวิ่งจากต่ำขึ้นสูง ภัยพิบัติธรรมชาติจะมีทั้ง ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ สังเกตไหมว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเรื่องดินถล่ม โคลนถล่ม ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จากนั้นก็เกิดคลื่นยักษ์สึนามิและน้ำท่วมในประเทศต่างๆ ต่อไปจะเกิดภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับลม เช่น พายุลมที่ปกติความเร็ว 40 กม.ต่อชม. จะเพิ่มเป็น 450 กม.ต่อชม. จากนั้นจะเกิดเป็นไฟป่าทั่วไป หน้าร้อนจะร้อนมากขึ้น" อ.สุมิตรกล่าววิเคราะห์

สำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยกลุ่มที่ไม่ปักใจเชื่อเรื่องน้ำท่วมโลกนั้น พวกเขาวิเคราะห์ว่า น้ำท่วมประเทศไทยหนักขึ้นทุกปี เพราะแผ่นดินทรุดตัวและมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ขวางทางน้ำไหล "ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยเรื่อง "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล" พบว่า ปกติพื้นที่กรุงเทพฯ รับปริมาณน้ำฝนไหลผ่านได้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปี 2554 มีน้ำไหลผ่าน 4,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำท่วมหนัก

สาเหตุหลักเกิดจาก
1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยหายไปปีละประมาณ 10 เมตร และพื้นดินเป็นดินอ่อนมีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา อีก 40 ปีข้างหน้าจะทรุดต่ำลงไปอีกประมาณ 30 ซม.ทำให้น้ำท่วมง่าย และ
2. ผลจากภาวะโลกร้อนเมื่อน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นการระบายน้ำจึงไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมักจะมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหล ทำให้ไม่มีช่องทางระบายน้ำออก

"องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (โออีซีดี)ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์น้ำท่วมในอนาคต มีผลยืนยันได้ว่าอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2563 จะเกิดน้ำท่วม 9 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หนึ่งในนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย คือ 1.เมืองโกลกาตา 2.เมืองมุมไบ อินเดีย 3.เมืองดักกา บังกลาเทศ 4.มณฑลกวางสี จีน 5.เมืองเซี่ยงไฮ้ จีน 6.นครโฮจิมินห์ เวียดนาม 7.เมืองไฮฟอง เวียดนาม 8.เมืองย่างกุ้ง พม่า และ 9.กรุงเทพมหานคร ตอนแรกคาดกันว่าน้ำจะเริ่มท่วมประมาณปี 2560 2561 2562 แต่ไม่รู้ว่า 2554 คือจุดเริ่มต้นหรือเปล่า วิธีแก้คือต้องปล่อยให้น้ำไหลไปตามทางธรรมชาติ อย่าสร้างสิ่งกีดขวาง" ดร.เสรีกล่าวแนะนำทิ้งท้าย




จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 8 ตุลาคม 2554

สายน้ำ
08-10-2011, 08:43
'ช่องโหว่ชั้นโอโซน' สัญญาณเตือนธรรมชาติ 'เอาคืน'

http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2011/10/07/kd96jiffh5e5i5ij7ebcj.jpg

"ไปสูดโอโซน" เหตุผลที่เราๆท่านๆมักจะอ้างอยู่เสมอเวลาอยากไปเที่ยวทะเล แม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วโอโซน (O3) นั้นเป็นก๊าซอันตรายต่อร่างกาย เพราะหากเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีโอโซนเป็นจำนวนมาก จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทางเดินระบบหายใจ และอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ เพราะก๊าซโอโซนนั้นยอมให้แสงสว่างผ่านได้มากกว่าก๊าซชนิดอื่น

แต่หากโอโซนอยู่ในพื้นที่ซึ่งเหมาะสม เช่น ในชั้นบรรยากาศระดับสตราโตสเฟียร์แล้วนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์อย่างมากเพราะโอโซนจะทำหน้าที่กรองรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากดวงอาทิตย์ให้ลงมายังพื้นโลกน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งกับชั้นโอโซนในบรรยากาศโลกบริเวณขั้วโลกเหนือ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบ "ช่องโหว่" ขนาดใหญ่ในชั้นโอโซน ณ จุดเหนือสุดของโลก ที่มีขนาดเท่ากับ รัฐแคลิฟอร์เนีย และทำนายว่าจะเกิดภาวะวิกฤติคล้ายกับโดมิโนที่ล้มทับกันต่อๆ ไป จนทำให้ชั้นโอโซน "บาง" ลงไปอีก ซึ่งจะทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการสัมผัสรังสียูวีจนกลายเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น ทั้งยังทำให้สภาพอากาศโลกแปรปรวนไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีก

สาเหตุหลักของช่องโหว่ชั้นโอโซนเกิดจากสารประกอบคลอรีน ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น กระป๋องสเปรย์ ชนิดต่างๆ ซึ่งระเหยขึ้นไปสะสมปะปนกับโอโซน และทำให้เกิดปฏิกิริยาการแตกตัวของโอโซน เป็นก๊าซออกซิเจน (O2) และอนุพันธ์อื่นๆของออกซิเจน ที่แม้จะมีสนธิสัญญามอนทรีออลเมื่อปี 2532 ห้ามใช้สารประกอบฟลูออโรคาร์บอนที่เป็นตัวการของการสะสมของก๊าซคลอรีนในชั้นบรรยากาศ แต่ปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะสายไปที่จะแก้ไข

ช่องโหว่ของชั้นโอโซนในพื้นที่ขั้วโลกเหนือจะทำให้ขั้วโลกเหนือมีอากาศหนาวเย็นนานขึ้นกว่าเดิมมาก นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าขั้วโลกเหนือจะมีความเย็นยาวนานกว่าที่เคยเป็นในอดีต และความเย็นจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการทำลายชั้นโอโซนให้เร็วขึ้น

พื้นที่ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในเวลานี้คือประเทศรัสเซีย มองโกเลีย และยุโรปตะวันออก ประชาชนในพื้นที่ "มีความเสี่ยง" ต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นจากการที่สัมผัสรังสียูวีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ในเซลล์ผิวหนังทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ให้เป็นเนื้อร้าย

ปัญหาดังกล่าวยังคงรอการแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือของมนุษยชาติอย่างจริงจัง




จาก ...................... คม ชัด ลึก โดย...วัจน พรหโมบล วันที่ 8 ตุลาคม 2554

สายน้ำ
04-11-2011, 07:59
20 บทเรียนรู้ทัน "ภัยพิบัติ" ในญี่ปุ่น สู้ "น้ำท่วม" ในประเทศไทย


นับแต่มหันภัยสึนามิ และแผ่นดินไหวถาโถมประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มีข้อมูล และรูปแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติดังกล่าวออกมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในรูปบทความ บทเรียนมีชีวิตที่สามารถโต้ตอบได้ รวมถึง การรู้บทเรียนจากอดีต และชุดประมวลวิดีโอ และรูปภาพ

บทเรียนเหล่านี้ต่างมีคุณค่า ทั้งในแง่การเฝ้าระวังเพื่อตระเตรียมความพร้อมในการอยู่ร่วมทั้งก่อน และหลังภัยพิบัติ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอด 20 บทเรียนน่ารู้ ที่ได้รับประมวลผ่านเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งมีเครือข่ายการศึกษา "The Learning Network" เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยการประมวลของ SARAH KAVANAGH และ HOLLY EPSTEIN OJALVO ที่ได้รวบรวมเทคนิค และแนวคิดการสอนจากครูทั่วโลก ที่ต่างคิดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติไว้ทั้ง 20 รูปแบบ ดังนี้


1.รู้ทันภัยพิบัติ

เพื่อที่จะปูพื้นฐานความเข้าใจให้นักเรียน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในญี่ปุ่น ผ่านเรื่องเล่าด้วยคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ตอนเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิในญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาพก่อน และหลังการเกิดเหตุการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้นักเรียนถึงความสูญเสีย ซึ่งการเรียนในชั้นเรียนสามารถเชื่อมไปสู่มหันตภัยธรรมชาติในรูปแบบอื่นๆ ด้วยได้


2.เกาะติดสถานการณ์

การติดตามข่าวสารเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการสร้างบทเรียนในห้องเรียนให้เชื่อมโยงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการกระตุ้นให้นักเรียนค้นหาข้อมูลข่าวสารจากนอกห้อง เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนในห้องเรียน


3.ตามติดรูปแบบภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด

เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ว่าศูนย์กลางของการเกิดแผนดินไหวอยู่ที่ใด และญี่ปุ่นมีพื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ กระทั่งหมู่บ้าน และเมืองใดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยการสำรวจที่สามารถโต้ตอบได้ (Interactive map) เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ และประเมินความเสียหายได้หลายหลากมุมมอง รวมไปถึงการเสียหายทางโครงสร้าง และยอดผู้เสียชีวิต ด้วยการใส่ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ไว้เชื่อมโยงกับแผนที่ทวีปเอเชีย และแผนที่โลก


4.สวมบทบาทเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยพิบัติ

หนึ่งในวิธีทำให้นักเรียนเข้าใจสถานการณ์ภัยพิบัติมากขึ้นก็คือ การแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยอาจจะให้นักเรียนเขียนจดหมาย หรือโปสการ์ด โดยสวมบทบาทเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต ให้เล่าเรื่องภัยพิบัติที่นักเรียนแต่ละคนได้อ่าน หรือได้ค้นคว้าข้อมูล ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น


5.ใช้รูปภาพเป็นสื่อการเรียนรู้

ใช้รูปภาพก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการถ่ายทอดการเรียนรู้ เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจในภัยพิบัติดียิ่งขึ้น ด้วยการให้นักเรียนเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย


6.คิดวิเคราะห์ผ่านข้อมูลที่ถูกบอกเล่า

ความท้าทาย และความอันตรายที่นักข่าวต้องเผชิญในการประมวลผล เพื่อรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นคืออะไรบ้าง และประชาชนทั่วไปจะสามารถร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ และร่วมเล่าเรื่องได้อย่างไร นักเรียนสามารถร่วมแลกเปลี่ยน และวิเคราะห์เนื้อหาข้อเท็จจริง ผ่านการรายงาน และรูปถ่ายได้ โดยนักเรียนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลที่เหมือน และต่าง ผ่านการรายงานของนักข่าวแต่ละที่ได้รายงานในมุมมองของผู้อ่าน ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเปลี่ยนสถานะเป็น "ผู้สื่อข่าวจิ๋ว" เพื่อรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้กับผู้อ่านในโรงเรียนได้อีกด้วย


7.ผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

นักเรียนสามารถผนวกเหตุการณ์สึนามิ และแผ่นดินไหวในปี 2011 ไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถจะรวบรวมไว้ในเหตุการณ์สำคัญๆ อื่น เช่น เหตุการณ์ระเบิดในฮิโรชิม่า และนางาซากิ หรือผลกระทบในปัจจุบันที่มีผลพวงจากเหตุการณ์ในอดีต ไปพร้อมๆ กับการสอดแทรกสาเหตุของภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวที่่โกเบ ในปี 1995 ซึ่งประโยชน์ของการเรียงลำดับเหตุการณ์ตามช่วงเวลานั้น นอกจากจะทำให้สามารถจัดลำดับบทความ รูปภาพ รูปถ่ายได้แล้ว ยังสามารถทำให้เราเรียนรู้รูปแบบการฟื้้นฟูประเทศของญี่ปุ่นได้อย่างไรด้วย


8.หวนรำลึกถึงวิกฤตปฏิกรณ์นิวเคลียร์

เปรียบเทียบการรั่วไหลของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบันและอดีต ด้วยการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดจากการรั่วไหลของเตาปฏิมากรณ์ที่ฟุคุชิมากับที่อื่นๆ ว่ามีความเหมือน และแตกต่างกันอย่างไร แล้วนักเรียนจะสามารถเรียนรู้อะไรจากอุบัติเหตุดังกล่าวร่วมกันได้บ้าง


9.จำลองรูปแบบชีวิตหลังประสบภัยพิบัติ

ลองจินตนาการถึงชีวิตหลังจากเกิดภัยพิบัติว่า จะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร ในห้องเรียนอาจร่วมกันแลกเปลี่ยน และให้กำลังใจ ร่วมกันคิดว่าจะต้องทำตัวอย่างไรเพื่อที่จะกลับไปยังพื้นที่อยู่อาศัยบ้านเรือนหลังจากภัยพิบัติ


10.วางแผนรูปแบบการช่วยเหลือเยียวยา

ให้นักเรียนร่วมกันคิดว่า เราจะช่วยเหลือกันและกันได้อย่างไร และอะไรเป็นความช่วยเหลือเร่งด่วน การร่วมกันค้นหาหน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อเข้าถึงบริการท่ามกลางภาวะภัยพิบัติเหมือนที่เกิดในญี่ปุ่น และทั่วโลก โดยนักเรียนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ ด้วยการเลือกองค์กรช่วยเหลือสักหนึ่งแห่ง และเป็นตัวตั้งตัวตีในการระดมทุนช่วยเหลือ หรือการสร้างโปรเจ็กต์เรียนรู้ด้านการบริการงานเพื่อบรรเทาภัยพิบัติในญี่ปุ่น เป็นต้น


ส่วนอีก 10 บทเรียนที่เหลือนั้น ก็ประกอบด้วย

11.การถกเถียงกันถึงเรื่องคุณประโยชน์และโทษในพลังงานนิวเคลียร์ เรียนรู้การหลอมละลายของพลังงานนิวเคลียร์

12.เรียนรู้การเกิดแผ่นดินไหว

13.เรียนรู้มหันตภัยสึนามิ

14.เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ

15.ผลสะท้อนจากการเตรียมความพร้อมท่ามกลางภัยพิบัติ

16.วิเคราะห์ถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

17.สำรวจคำศัพท์ใหม่จากภัยพิบัติ

18.เชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับวรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวภัยพิบัติ

19.ศิลปะ..หนึ่งพลังในการเยียวยาจิตใจหลังภัยพิบัติ

และ 20.การเยียวยาจิตใจหลังภัยพิบัติ


บทเรียนจากตำราที่ถูกประมวลจากเครือข่ายการศึกษา สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมทั่วทุกมุมโลกเพื่อจะก้าวผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน สร้างให้เกิดพลังแรงกระตุ้นให้เกิด "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ได้อย่างแท้จริง




จาก ...................... มติชน วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ
21-11-2011, 07:56
ไอพีซีซีเตือนให้โลกเตรียมรับสภาพอากาศวิปริต

http://pics.manager.co.th/Images/554000015660301.JPEG
อนาคตเราต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายกว่าเดิม (เอเอฟพี)

หลังจากประชุมหารือกันที่แอฟริกานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระดับหัวกะทิจากทั่วโลกของไอพีซีได้เตือนให้เตรียมรับสภาพอากาศวิปริตที่กำลังเป็นภัยคุกคาม ซึ่งตอนนี้เราให้ไดเห็นแล้วว่าเกิดทั้งอุบัติภัยในเมืองไทย ภัยแล้งในเท็กซัส ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่สร้างความเสียหายให้แก่รัสเซีย และในอนาคตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเจอน้ำท่วมหนักมากกว่าเดิม 4 เท่า

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เตือนให้โลกเตรียมรับมือกับสภาพอากาศวิปริตที่อันตายและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมาก่อน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยเอพีระบุว่าผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านภูมิอากาศระดับหัวกะทิของโลกนั้นกลัวว่า หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือแล้ว สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วนั้นอาจจะทำลายบางท้องถิ่นและทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

ทั้งนี้ ไอพีซีซีองค์กรซึ่งได้รับรางวัลโนเบลาขาสันติภาพนี้ได้หยิบยกรายงานพิเศษว่าด้วยเรื่องภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศวิปริตหลังร่วมประชุมที่เมืองกัมปาลา ประเทศอูกานดา ซึ่งเอพีระบุว่าเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ให้พุ่งเป้าไปที่อันตรายของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว อย่างเรื่องคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้งและพายุ โดนภัยพิบัติเหล่านี้เป็นอันตรายยิ่งกว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นเสียอีก และผู้นำของโลกต้องเตรียมรับมือสภาพอากาศสุดขั้วให้ดีกว่านี้

ตัวอย่างภัยคุกคามจากสภาพอากาศสุดขั้วนั้น รายงานพิเศษได้ทำนายว่า คลื่นความร้อนซึ่งเกิดขึ้น 1 ครั้งในชั่วอายุคนจะร้อนขึ้นและเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปีเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ และเมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้จะเกิดถี่ขึ้นเป็นปีละครั้ง และในบางพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียนั้นจะกลายเป็นพื้นที่ร้อนสูงเหมือนเตาอบทุกปี

ส่วนพายุฝนหนักๆ ที่ปกติจะเกิดขึ้นทุก 20 ปีนั้นในรายงานก็ระบุว่าจะเกิดถี่ขึ้นอีก โดยในสหรัฐฯ และแคนาดานั้นจะเกิดบ่อยขึ้น 3 เท่าก่อนเปลี่ยนศตวรรษ หากว่าการใช้พลังงานฟอสซิลยังคงในอัตราปัจจุบันนี้อยู่ ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นรายงานทำนยว่าจะเกิดมหาอุทกภัยบ่อยขึ้นกว่าที่เกิดในปัจจุบัน 4 เท่า

“ผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณเตือน” เดวิด อีสเตอร์ลิง (David Easterling) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนรายงานดังกล่าวและเป็นผู้อำนวยการส่วนการประยุกต์ด้านภูมิอากาศโลกขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) โดยเขาบอกว่าเหตุการณ์อย่างภัยแล้งและอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียสที่เกิดขึ้นหลายๆวันในเท็กซัสและโอกลาโฮมา สหรัฐฯ จนกลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดหน้าร้อนนั้นจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

“เราจำเป็นต้องวิตก และการตั้งรับของเราจำเป็นต้องเตรียมป้องกันหายนะและลดความเสี่ยงก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น มากกว่าที่จะรอจนกระทั่งเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว และตามเก็บกวาดภายหลัง ความเสี่ยงนั้นได้เพิ่มขึ้นมโหฬารแล้ว” มาเต็น ฟาน อาลสท์ (Maarten van Aalst) ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศกาชาดสากล (International Red Cross/Red Crescent Climate Centre) และหนึ่งในทีมเขียนรายงานของไอพีซีซีกล่าว

ทางด้าน คริส ฟิล์ด (Chris Field) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเขียนรายงานของไอพีซีซีกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่แน่ใจนักว่าอับัติภัยจากสภาพอากาศแบบไหนที่จะคุกคามรุนแรงที่สุด เพราะสภาพอากาศที่ทารุณนั้นเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและแหล่งที่ผู้คนอาศัยอยู่ด้วย และความไม่มั่นคงทางสังคมต่อหายนะทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากภูมิอากาศก็เพิ่มขึ้นด้วย

“ชัดเจนว่าการสูญเสียจากหายนะกำลังเพิ่มขึ้น และในแง่การสูญเสียชีวิตนับจากช่วงทศวรรษ 1970 ถึงปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 95%” ฟิล์ดกล่าว โดย ไมเคิล ออพเพนไฮเมอร์ (Michael Oppenheimer) จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ผู้ร่วมเขียนรายงานระบุว่า การสูญเสียนี้มีมูลค่าสูงถึงปีละ 6 ล้านล้านบาทแล้ว

http://pics.manager.co.th/Images/554000015660302.JPEG
ภาพพายุ "ตาลัส" ขณะถล่มญี่ปุ่น (เอเอฟพี/นาซา)

ด้าน โทมัส สต็อคเกอร์ (Thomas Stocker) มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) กล่าวว่า วิทยาศาสตรืที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงการเพิ่มขึ้นเหตุการณ์สภาพอากาศอันเลวร้ายเข้ากับภาวะโลกร้อนได้อย่างมั่นใจขึ้น โดยพวกเขาสามารถประเมินความมั่นใจในหายนะจากภูมิอากาศและคลื่นความร้อนในอนาคตได้แน่นอนขึ้น

ในรายงานระบุว่าคลื่นความร้อนนั้นกำลังเลวร้ายขึ้น ทั้งร้อนขึ้นและกินเวลายาวนานขึ้น และมีโอกาส 2 ใน 3 ที่ฝนตกหนักจะเพิ่มขึ้นทั้งบริเวณเส้นศูนย์สูตรและซีกโลกเหนือ รวมถึงฝนจากพายุหมุนเขตร้อน และรายงานสรุป 29 หน้าของไอพีซีซียังระบุอีกว่า ความรุนแรงของสภาพอากาศนั้นจะเลวร้ายมากถึงขั้นที่บางพื้นที่ต้องจัดให้เป็นพื้นที่ห้ามอาศัย (รายงานฉบับเต็มนั้นจะแล้วเสร็จในอีกหลายเดือนข้างหน้า)

สำหรับพื้นที่ต้องห้ามนั้น ฟาน อาลสต์ระบุว่า มีแนวโน้มเป็นพื้นในประเทศยากจน หรือแม้กระทั่งบางพื้นที่ของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง แคนาดา รัสเซีย และกรีนแลนด์นั้นอาจต้องย้ายเมืองเพราะผลกระทบจากสภาพอากาศอันเลวร้ายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร้อนเนื่องน้ำมือมนุษย์ รวมถึงเนเธอร์แลนด์ต้องเรียนรู้ในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศใหม่ๆ อย่างคลื่นความร้อนด้วย





จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ
21-11-2011, 08:02
โลกกับความจริงใหม่ ท่วมใหญ่-แล้งจัด ..................... โดย ปิยมิตร ปัญญา

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2011/11/for01201154p1.jpg

คณะนักวิทยาศาสตร์ 220 คน ที่รวมตัวกันขึ้น เป็น "คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ไอพีซีซี" ซึ่งอยู่ใต้องค์กรระหว่างประเทศสำคัญอย่าง สหประชาชาติ เพิ่งออกมายืนยันสิ่งที่คนไทยเรารู้สึกกันมานานร่วมเดือนว่า ดินฟ้าอากาศของโลกใบนี้ ดูวิปริตผิดแผกไปจากเดิมที่มันเคยเป็น

เป็นการออกมายืนยันอย่างเป็นทางการผ่านรายงานทางวิชาการหนากว่า 600 หน้า ที่มีใจความสรุปว่า ภาวะฝนหนัก พายุรุนแรง กับภาวะแล้งจัดจนยากเข็ญที่เกิดขึ้นควบคู่กันในไปบนโลกใบนี้ จากเอเชียตะวันออกไปจรดแอฟริกา และสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็น "รูปแบบ" ที่โลกจำต้องเผชิญหน้าต่อไปในอีกหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง เพราะการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศโลกเริ่มแสดงให้เห็นพิษสงของมันแล้ว

พูดง่ายๆก็คือ ภาวะอากาศแบบ "สุดโต่ง" หรือ "เอ็กซ์ตรีม เวทเธอร์" ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นนานๆสักครั้ง จะกลายเป็นภาวะ "ปกติสามัญ" ที่ทุกคนจะต้องเผชิญรับนับจากนี้ไป

โลกกำลังเผชิญกับข้อเท็จจริงใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องรอให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศรอบโลกอันเกิดขึ้นจากน้ำมือของเราเอง ทวีสูงขึ้นไปจนถึงระดับที่เราไม่อาจทานรับได้ จึงก่อให้เกิดปัญหา สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน

แต่เพียงแค่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่มากน้อย ก็สามารถเปลี่ยนแปรสภาวะภูมิอากาศให้เป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่งโดยสิ้นเชิง รูปแบบที่เราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมวลน้ำมากมายมหาศาลชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลากทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า เหมือนอย่างที่เราพานพบกันอยู่ในเวลานี้ ต้องเผชิญกับภาวะแล้งเข็ญ ชนิดทำให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายอย่างอับจนปัญญา เหมือนอย่างในแอฟริกาตะวันออก หรือเกิดพายุรุนแรงร้ายกาจต่อเนื่องลูกแล้วลูกเล่า และแม้กระทั่งพายุหิมะที่ทั้งรุนแรงและหนักหนาสาหัสมากกว่าทุกครั้ง และมาผิดกาลเวลาในทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ทั้งหมด ทำให้ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า 2011 คือปีแห่งหายนภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีมา จำเพาะในเมืองไทยก็อาจสูงถึงแสนล้านบาท ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีภัยธรรมชาติมากกว่า 10 ครั้ง ที่สร้างความเสียหายให้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อครั้ง รวมกันแล้วการสูญเสียมากถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ปีเดียว

เจฟฟ์ มาสเตอร์ส แห่งเวเธอร์ อันเดอร์กราวด์ บอกเอาไว้ว่า เขาอยู่ในแวดวงอุตุนิยมวิทยามานานกว่า 30 ปี ไม่เคยมีปีไหนภาวะอากาศรุนแรงสุดโต่งเหมือนปีนี้มาก่อน

รุนแรง แล้วก็เป็นทั้งบทเรียน และคำเตือนให้กับโลกทั้งโลกครับ


บ๊อบ เวิร์ด ผู้อำนวยการด้านนโยบายและ การสื่อสารของสถาบันวิจัยแกรนแธม ในสังกัด ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (แอลเอสอี) ชี้ว่า รายงานที่ชื่อ "รายงานพิเศษว่าด้วยภาวะสุดโต่งของ ภูมิอากาศ" ข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์เข้าใจ "กระจ่างชัด" แล้วว่า "การเปลี่ยน แปลงภาวะอากาศได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆส่วนของโลกแล้วทั้งในแง่ความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ ความหนักหน่วงของเหตุการณ์ และสถานที่เกิดของภาวะอากาศแบบสุดโต่ง อย่างเช่นคลื่นความร้อน, ภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน"

เขาย้ำว่าเรื่องนี้ต้องใส่ใจ เพราะเดิมทีภาวะอากาศสุดโต่งแบบนี้เกิดขึ้นยากมาก น้อยเสียจนไม่สามารถตรวจจับหาแนวโน้มในแง่สถิติได้

"แต่ตอนนี้ เทรนด์เหล่านี้เห็นได้ชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตอนที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นเพียงแค่ 1 ใน 10 ของ 1 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง"

นักวิทยาศาสตร์ของไอพีซีซี อาศัยแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า "มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง" อันเป็นคำที่ใช้กันในการเขียนพรรณนาข้อมูลทาง วิทยาศาสตร์เมื่อมันมีความเป็นไปได้ระหว่าง 90-100 เปอร์เซ็นต์ว่า "กระแสอากาศอุ่นหรือคลื่นความร้อนจะโจมตีมวลที่เป็นผืนแผ่นดินเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ของระยะเวลาการเกิด, ความถี่ของการเกิด และความเข้มข้นเมื่อมันเกิดขึ้น"

นั่นหมายความง่ายๆว่า ภาวะวันที่ร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นให้พบเห็น 1 ครั้งในทุกๆ 20 ปี จะเกิดขึ้นแบบ "ปีเว้นปี" นับตั้งแต่นี้ต่อไป

"ฮีทเวฟ" คลื่นความร้อนเข้มข้นที่ว่านี้ ส่งผลกระทบสูงมากต่อคนชราและเด็กๆที่เปราะบางต่อความผันผวนขึ้นลงของอุณหภูมิอย่างยิ่ง

แบบจำลองดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า "มีความเป็นไปได้สูง" ที่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ในหลายพื้นที่ของโลกจะเกิดภาวะฝน ลูกเห็บ หิมะ ตกหนักบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น หรือไม่ก็จะเกิดภาวะ "ฝนตกหนัก" ถึง "หนักมาก" ทวีปริมาณเพิ่มขึ้น ภาวะดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นกับดินแดนในแถบละติจูดสูงๆ และดินแดนในแถบร้อนชื้นอย่างประเทศไทยของเรา กับพื้นที่ทางเหนือเส้นศูนย์สูตรบริเวณตอนกลาง

ภาวะฝนตกหนักเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันกับการเกิดพายุไซโคลนในเขตร้อนชื้นซึ่งจะทวีขึ้นทั้งความถี่ของการเกิดและความรุนแรงของการเกิดเช่นกัน

สภาวะดังกล่าวซึ่งเคยเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 20 ปี จะกลับมาเยือนเราถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 5 ปี!

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ปักใจว่านั่นอาจจะ หมายถึงการ "ท่วมใหญ่" เหมือนกับที่เราเผชิญหน้ากันอยู่ในเวลานี้ทุกๆ 5 ปี เนื่องเพราะภาวะน้ำท่วมใหญ่นั้นมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามามีส่วนอยู่ด้วยอย่างสำคัญ อย่างเช่น สภาพภูมิประเทศ การเกิดขึ้นของชุมชนเมือง และอื่นๆ

แต่นั่นก็หมายความได้ในสองทาง หนึ่งนั้น ทุกๆ 5 ปีเราเสี่ยงที่จะเผชิญกับมหาอุทกภัยสูงยิ่ง หรือไม่เช่นนั้นอุทกภัยขนาดไม่ใหญ่โตนักก็อาจเกิดขึ้นได้ถี่กว่า ชนิดปีต่อปีก็ได้เช่นเดียวกันครับ


คริส ฟีลด์ ประธานร่วมของไอพีซีซี ที่เป็นผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ บอกเอาไว้ว่า ทั้งหมดที่แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์แสดงออกมานั้น ชัดเจนกระจ่างแจ้งอย่างยิ่ง

"เอ็กซ์ตรีม เวทเธอร์" ไม่เพียงมาเยือนเราได้บ่อยครั้งเท่านั้น "ภาวะอากาศสุดโต่งที่สำคัญๆบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป และจะเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นในอนาคต เรามีหลักฐานที่ชัดเจนกระจ่างในเรื่องนี้ ที่ทำให้เราสามารถรู้ด้วยว่ามีสาเหตุหลายต่อหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความสูญเสียระดับหายนะขึ้นมา"

คำร้องขอของเขาก็คือ รัฐบาลควรใส่ใจว่า การสูญเสียหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ระดับหายนภัย ทั้งในทางด้านเศรษฐกิจและในส่วนของผลกระทบต่อมนุษย์นั้น สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากรัฐบาลตื่นตัวและเตรียมพร้อมเพียงพอ

"เราสูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สินไปให้กับหายนภัยธรรมชาติ มากมายเกินไปแล้วในเวลานี้"

ไม่มีความเห็นเพิ่มเติมครับ!




จาก ........................ มติชน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ
30-12-2011, 07:35
อภิหายนะแห่งปี 3 ภัยพิบัติซัด "ญี่ปุ่น"

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/12/for25301254p1.jpg&width=360&height=360

ปี 2554 สุดยอดมหันตภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลสะเทือนมนุษย์ ครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น

แม้จะเป็นดินแดนที่เผชิญแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง แต่แผ่นดินไหวในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ก่อคลื่นยักษ์สึนามิโถมซัดเมือง กวาดบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนทั้งที่พบร่างและ สาบสูญไปกว่า 20,000 ราย

ทั้งนำไปสู่วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กัมมันตรังสีรั่วไหลเขย่าขวัญผู้คนในคราวเดียวกัน


9 ริกเตอร์เขย่าใต้ทะเล

เมื่อเวลา 14.46 น. วันที่ 11 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งญี่ปุ่นทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยมีจุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินเพียง 32 กิโลเมตร

นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็น 1 ใน 1 แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกมาตั้งแต่พ.ศ.2443

แผ่นดินไหวดังกล่าวรุนแรงเสียจนทำให้เกาะฮอนชูเลื่อนไปทางตะวันออก 2.4 เมตร พร้อมกับเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตรเลยทีเดียว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 15,729 ราย บาดเจ็บ 5,719 ราย และสูญหาย 4,539 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด เช่นเดียวกับอาคารที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 125,000 หลัง

บ้านเรือนราว 4.4 ล้านหลังคาเรือนทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ และอีก 1.5 ล้านคนไม่มีน้ำใช้


สึนามิ 40 เมตร ซัดถล่ม

ในวันเดียวกันนั้นเอง แผ่นดินไหวก่อให้เกิดคลื่นสึนามิทำลายล้างซึ่งสูงที่สุดถึง 40.5 เมตร ในมิยาโกะ อิวาเตะ โทโฮะกุ บางพื้นที่พบว่าคลื่นได้พัดพาลึกเข้าไปในแผ่นดินลึกถึง 14 กิโลเมตร

มีรายงานว่า เมืองทั้งเมืองถูกทำลายจากคลื่นสึนามิ รวมทั้งเมืองมินามิซานริกุ ซึ่งมีผู้สูญหายกว่า 9,500 คน แรงคลื่นสึนามิทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองคุจิและพื้นที่ส่วนใต้ของโอฟุนาโตะรวมทั้งบริเวณท่าเรือถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง

เมืองอื่นที่ได้รับรายงานว่าถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากคลื่นสึนามิ ได้แก่ ริกุเซนตากาตะ โอนางาวะ นาโตะริ โอตสึชิ และยามาดะ ในจังหวัดอิวาเตะ เมืองนามิเอะ โซมะ และ มินามิโซมะ ในจังหวัดฟูกูชิมะ และโอนางาวะ นาโตะริ อิชิโนะมากิ และเคเซนนุมะ ในจังหวัดมิยางิ

ทีมงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต กับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมของนาซ่าและข้อมูลดาวเทียมของยุโรปเรดาร์ พบว่าคลื่นยักษ์ครั้งนี้เป็นสึนามิผสม หรือสึนามิ 2 ลูกพัดมารวมกัน ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อปะทะฝั่ง

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.2 ล้านล้านบาท

ธนาคารกลางญี่ปุ่นอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 6 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2554 เพื่อพยายามฟื้นฟูสภาพการตลาดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ


วิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

"ความวัว" จากแผ่นดินไหวและสึนามิยังไม่ทันจบ "ความควาย" จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะก็เข้ามาแทรกทันที

เมื่อแรงแผ่นดินไหวและพลังคลื่นสึนามิก่อให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในโรงไฟฟ้า 3 ครั้ง

บริษัทโตเกียวอิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือ เทปโก เจ้าของโรงไฟฟ้า ประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉิน ประชาชนซึ่งอยู่อาศัยในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าถูกสั่งอพยพ ก่อนเพิ่มพื้นที่เป็นในระยะรัศมี 30 กิโลเมตรในเวลาต่อมา รวมแล้วมีผู้ถูกอพยพไปมากกว่า 200,000 คน

เมื่อวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ย่างเข้าสู่เดือนที่สอง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ฟูกูชิมะไม่ใช่อุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุด แต่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุด

การวิเคราะห์ภายหลังบ่งชี้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องหลอมละลายและน้ำหล่อเย็นรั่วไหล จากนั้นตรวจจับไอโอดีนและซีเซียมกัมมันตภาพรังสีได้ในน้ำประปาในฟูกูชิมะ โตชิงิ กุนมะ โตเกียว ชิบะ ไซตามะ และนิอิงาตะ

ตามด้วยการพบกัมมันตภาพรังสีในดินบางพื้นที่ของฟูกูชิมะ ผลิตภัณฑ์อาหารถูกพบว่าปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น

จนกระทั่งวันที่ 5 เม.ย.2554 จังหวัดอิราบากิห้ามการประมงปลาแซนด์เลซ ต่อมาปลายเดือนก.ค. เนื้อวัวปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถูกพบวางขายอยู่ที่ตลาดในกรุงโตเกียว ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก

ในช่วงเวลาวิกฤตหนัก คนงาน 300 คน ที่ประกอบด้วย ช่างเทคนิค ทหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่ทำงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันรอบละ 50 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ฟูกูชิมะ 50" ช่วยกันระบายความร้อนที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายต่อชีวิต หลายคนระบุพร้อมพลีชีพ

จนในวันที่ 7 ก.ย. วีรบุรุษเหล่านี้ได้รับ "รางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส" อันทรงเกียรติของสเปน ในสาขาสันติภาพ

ทุกวันนี้บรรยากาศในเมืองฟูตาบะ จ.ฟูกูชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงงานไฟฟ้าเพียง 20 ก.ม. อยู่ในสภาพเงียบเหงา บ้านเรือน ร้านค้า โรงเรียน ถูกปิดตายทิ้งร้างไร้ผู้คน

คาดว่าอีกกว่า 20 ปี ชาวเมืองถึงจะกลับเข้าไปใช้ชีวิตตามปกติได้


น้ำท่วมไทยซ้ำเติมอีกยก

ช่วงท้ายปี ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเร่งฟื้นตัวจากหายนะในประเทศ กลับ ต้องเจอผลกระทบซ้ำจากเหตุน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ของไทย!

น้ำท่วมไทยที่เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ชิ้นส่วนการผลิตต่อโรงงานของญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตอยู่ในหลายจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

บริษัทรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก บริษัท ไพโอเนียร์ ที่ทำเครื่องเสียงรถยนต์ นอกจากนี้บริษัทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบยังมี โซนี่, นิคอน, อีซูซุ

บริษัทญี่ปุ่นถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยตลอดช่วง 3 ทศวรรษ และงบลงทุนของญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาทในปี 2553 เงินลงทุนจากญี่ปุ่นยังถือเป็นรายได้หลักของไทย

และสินค้าที่กระจายไปสู่ตลาดโลกเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในเรื่องราคา ความล่าช้าในการขนส่ง และภาวะสินค้าขาดตลาด

ความปั่นป่วนในปีนี้จึงทำให้มนุษย์ตัวเล็กๆ ได้ตระหนักถึงความน่าเกรงขามของธรรมชาติอีกครั้ง




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 30 ธันวาคม 2554

สายน้ำ
30-12-2011, 07:40
ปีแห่งมหันตภัยและความสูญเสีย


ปีเถาะกระต่ายที่กำลังจะผ่านพ้นไปเป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคนในหลายประเทศ อีกทั้งเป็นปีแห่งการประท้วงจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลทรราชย์ในหลายประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ ปีแห่งการพิฆาตศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐที่ถูกตราหน้าว่าเป็นแกนแห่งความชั่วร้าย และปีแห่งการสูญเสียบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในวงการต่างๆ

หน้าต่างประเทศ "คม ชัด ลึก" ได้จัดอันดับ 10 ข่าวเด่นแห่งปี ประกอบด้วย

http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2011/12/29/a8cjkjckie9gaihijb98i.jpg

1.ธรณีพิโรธ มหาคลื่นยักษ์สึนามิและวิกฤตินิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น

แดนซามูไรได้เผชิญกับ 3 มหันตภัยครั้งร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในคราวเดียวกัน เริ่มจากแผ่นดินไหวระดับ 9.0 ริกเตอร์บริเวณชายฝั่งตะวันออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ตามด้วยคลื่นยักษ์สึนามิสูงหลายสิบเมตรกวาดซัดเมืองหลายเมือง มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 2.7 หมื่นคน และยังเป็นชนวนของวิกฤติการณ์นิวเคลียร์รั่วไหลครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก ทางการต้องอพยพประชาชนราวแสนคนรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ใกล้เมืองเซนได ที่เกิดเพลิงไหม้ นอกจากนี้ก็ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารจากพื้นที่บริเวณนั้น ทำให้หลายประเทศต้องงดนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว สุดท้ายนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศลาออกหลังถูกโจมตีว่าล่าช้าในการรับมือกับมหาภัยพิบัติ และการเร่งฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น


2.อาหรับสปริง และออคคิวพายนิวยอร์ก

น้ำผึ้งหยดเดียวที่บานปลายกลายเป็นการปฏิวัติของประชาชนจนสามารถขับไล่รัฐบาลทรราชย์หลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ เริ่มจากพ่อค้าหาบเร่คนหนึ่งในตูนิเซียได้จุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้รัฐบาลล้มครืนในชั่วข้ามคืน เช่นเดียวกับรัฐบาลอียิปต์ เยเมน และลิเบีย ขณะที่รัฐบาลซีเรียก็กำลังง่อนแง่นเต็มที

จากนั้น คลื่นการปฏิวัติ "อาหรับสปริง" ได้ระบาดไปที่อเมริกา เมื่อชาวอเมริกันได้รวมตัวประท้วงกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเป็นสัญลักษณ์ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ ก่อนจะบานปลายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก


3.ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก

ตลอดทั้งปี 2554 ถือเป็นปีที่โลกประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุด เริ่มจากแผ่นดินไหวทั้งต้นปีและปลายปีที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ตามด้วยแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือของออสเตรเลีย ไทย ปากีสถาน และภาคตะวันออกของจีน ทอร์นาโด 2 ลูกถล่มชายฝั่งสหรัฐ พายุหิมะถล่มทวีปยุโรป ตบท้ายด้วยพายุถล่มฟิลิปปินส์ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 3.5 แสนล้านดอลลาร์ (ราว10.5 ล้านล้านบาท) นอกเหนือจากคร่าชีวิตผู้คนกว่า 3 หมื่นคน


4.จลาจลอังกฤษ

อันดับ 4 มี 2 ข่าวที่ได้คะแนนเท่ากัน ข่าวแรกก็คือเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมืองในกรุงลอนดอนและลามไปหลายเมือง ชนวนมาจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนในย่านท็อตแนมซึ่งไม่พอใจที่ตำรวจยิงชายผู้หนึ่งเสียชีวิตระหว่างปราบปรามอาชญากรรมในย่านอาศัยของชุมชนชาวแอฟริกันและแคริบเบียน ทางการเชื่อว่าสาเหตุมาจากการว่างงานของวัยรุ่นและความโกรธแค้นของชุมชนคนผิวดำซึ่งได้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นที่เผยแพร่ข่าวลือต่างๆ


5.ฟ้าเริ่มใสในพม่า

ถนนการเมืองและถนนเศรษฐกิจทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปที่พม่าซึ่งเริ่มเนื้อหอมหลังจากประธานาธิบดีเต็งเส่งได้เริ่ม "เปลี่ยนแปลง" นโยบายต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดด้วยการเปิดประตูประเทศกว้างขึ้น ผ่อนคลายเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศ ปล่อยนักโทษการเมืองลอตใหญ่ ไฟเขียวให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ทำให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ส่งนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศไปกรุยทาง ตามด้วยการเดินทางเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2011/12/29/5dbkbih6d79feca5d8b5g.jpg

6.สิ้น 3 ผู้นำศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐ

ปีนี้เป็นปีที่ 3 ศัตรูตัวฉกาจที่สหรัฐหมายหัวมานานในฐานะแกนนำแห่งความชั่วร้ายถูกปลิดชีพ หรือเสียชีวิตกะทันหัน เริ่มจากนายโอซามา บิน ลาเดน ที่ถูกหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพเรือสหรัฐลั่นกระสุนสังหารคารังกบดานในเมืองอับบอตตาบัด ในปากีสถาน หลังจากใช้เวลาไลาล่ามานานถึง 10 ปีเต็ม

ตามด้วยพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ซึ่งถูกฝ่ายต่อต้านที่เปิดฉากทำสงครามกลางเมืองนานถึง 8 เดือนปลิดชีพอย่างน่าอนาถ สิ้นสุดการครองอำนาจนานถึง 42 ปี

รายสุดท้ายก็คือประธานาธิบดีคิม จอง อิลแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งมีข่าวว่าถึงแก่อสัญกรรมบนรถไฟขณะเดินทางไปตรวจพื้นที่ชั้นนอกด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากโรคหัวใจขาดเลือด หลังเกิดภาวะช็อกที่เกี่ยวข้องกับหัวใจตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม


7.ปิดตำนานนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์

ข่าวที่สั่นสะเทือนวงการสื่อมวลชนทั่วโลกเมื่อนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ชื่อดังของอังกฤษที่มีอายุถึง 168 ปีต้องปิดตำนานลงหลังถูกเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวว่าแอบแฮ็กข้อมูลในวอยซ์เมลเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย นักการเมือง ดารา คนดังและพระบรมวงศานุวงศ์รวมแล้วราว 4 พันคน นอกเหนือจากจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อแลกกับข้อมูลเชิงลึก


8.สังหารหมู่นอร์เวย์

ชาวนอร์เวย์ต่างช็อกไปตามๆ หลังเกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อนายอันเดอร์สเบห์ริง เบรวิก ซึ่งคลั่งศาสนาและมีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งได้ลอบวางระเบิดรถยนต์ถล่มอาคารศูนย์ราชการกลางกรุงออสโล จากนั้นก็กราดยิงผู้คนในค่ายยุวชนพรรครัฐบาลบนเกาะแห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย

http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2011/12/29/b8bifi9ika6b6bfaabhgj.jpg

9.ปีแห่งการอภิเษกสมรส

ปีนี้ถือเป็นปีมงคล ปีแห่งตำนานรักระหว่างกษัตริย์และเจ้าชายรูปงามกับหญิงสาวสามัญชน เริ่มด้วยเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งอังกฤษได้เข้าพิธีเสกสมรสอย่างยิ่งใหญ่กับนางสาวเคท มิดเดิลตัน ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 และ 2 กรกฎาคม เจ้าชายอัลแบร์ตที่ 2 แห่งราชรัฐโมนาโก ได้ทรงจูงมือชาร์ลีน วิตต์สต็อก อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติแอฟริกาใต้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่ตระการตา

ส่วนตำนานรักส่งท้ายปีมีขึ้นเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสอย่างเรียบง่ายตามประเพณีโบราณ กับหญิงสาวสามัญชน เจตซัน เปมาที่พระอารามหลวงภายในพูนาคา เมืองหลวงเก่าอันสงบเงียบแห่งดินแดนหิมาลัย




จาก ........................ คม ชัด ลึก วันที่ 30 ธันวาคม 2554

สายน้ำ
02-01-2012, 08:15
ภัยธรรมชาติกับอนาคตของมวลมนุษย์

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/5631.jpg

เริ่มต้นปีใหม่ พ.ศ. 2555 ตามพุทธศักราช หรือ 2012 ตามคริสต์ศักราช ปีนี้สำหรับกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีวันโลกาวินาศ คงเริ่มใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ นับถอยหลัง เพราะเหลืออีกประมาณ 51 สัปดาห์ ก็จะถึงวันดับสูญของโลก จากการทำนายของชนเผ่ามายา ชนเผ่าอารยธรรมรุ่งเรืองยุคโบราณ ทางใต้ของประเทศเม็กซิโก

จารึกบนแผ่นหินเก่าแก่อายุ 1,300 ปี ของชาวมายา กำหนดวันสุดท้ายในปฏิทินของชนเผ่า ไว้ที่วันที่ 21 ธ.ค. ปี ค.ศ. 2012 พร้อมกับระบุว่า จะเป็นวันที่โลกมนุษย์ถึงจุดสิ้นสุด

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ก็จริง แต่เราท่านควรใช้สติไตร่ตรอง และไม่ใส่ใจหรือหวาดวิตกจนเกินไป เพราะนี่เป็นแค่คำทำนาย ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผล อาจจะไม่เกิดขึ้นเหมือนกับอีกหลายคำทำนายแบบเดียวกัน คิดดูว่าขนาดพิสูจน์ได้ตามวิทยาการสมัยใหม่ ยังผิดพลาดไม่เป็นจริง เช่นคำเตือนของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาวายทูเค ที่เคยสร้างกระแสแตกตื่นไปทั่วโลก สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น

ภัยอันตรายใหญ่หลวงต่อโลกที่เกิดได้ตลอดเวลา ยังมีอยู่อีกมากมาย เพียงแต่ไม่สามารถระบุวันเวลาล่วงหน้าได้แน่ชัด อย่างเช่น สงคราม โรคระบาด หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

ในรอบปี 2554 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงสุด ต้องยกให้เหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 ริคเตอร์ และคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 14–40.5 เมตร กระหน่ำพื้นที่ชายฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 15,842 ราย บาดเจ็บ 5,890 ราย และสูญหาย 3,485 คน

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/5631/3.jpg

ส่วนความเสียหายต่อเศรษฐกิจ รวมถึงงบสำหรับการฟื้นฟูบูรณะ ตัวเลขยังไม่ลงเอย แต่คาดว่าน่าจะสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

อันดับรองคือ มหาอุทก ภัยที่ภาคใต้ของปากีสถาน ช่วงก่อนและหลังเดือน ก.ย. ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 9.5 ล้านคน บ้านเรือนกว่า 1.5 ล้านหลัง และที่ดินเพาะปลูกราว 17 ล้านไร่ เสียหายยับ

ในส่วนของแผ่นดินไหวญี่ปุ่น 11 มี.ค. หรือที่เรียกกันว่า “แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011” มีความพิเศษตรงส่วนหนึ่งของผลกระทบ ซึ่งมันได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของโลก เกือบจะสิ้นเชิง

ก่อนถึง 11 มี.ค. หลายประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่างเลือกการสร้างพลังงานจากนิวเคลียร์ แทนการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หลังจากแผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิถล่ม สร้างความเสียหายแก่เตาปฏิกรณ์ ที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของบริษัทเทปโก ที่จังหวัดฟูกูชิมา ริมฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

บริษัทเทปโกระดมคนงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เสี่ยงภัยการสัมผัสกัมมันตรังสี เข้าแก้ไขปัญหา ใช้น้ำทำให้เตาปฏิกรณ์เย็นลง แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายไฮโดรเจนระเบิดทั่วโรงงาน ทำให้สารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลฟุ้งกระจาย ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

เจ้าหน้าที่ทางการต้องอพยพประชาชนราว 150,000 คน ออกพ้นรัศมี 20 กม. โดยรอบโรงงานฟูกูชิมะ ไดอิจิ

เหตุการณ์เกิดขึ้น 25 ปี หลังเหตุการณ์แบบเดียวกัน ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน ทำให้ญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าขีดขั้นเทคโนโลยีอยู่ระดับหัวแถวของโลกในปัจจุบัน เสียชื่อเสียงไปเยอะ รวมทั้งเสียความน่าเชื่อถือ จากการที่กว่าเจ้าหน้าที่ทางการจะกล้ายอมรับ ระดับความร้ายแรงของเหตุการณ์ เวลาก็ล่วงเลยไปนาน

ถึงสิ้นเดือน พ.ค. รัฐบาลเยอรมนีประกาศจะปิดเตาปฏิกรณ์ 17 แห่งทั่วประเทศ ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า สวิตเซอร์แลนด์จะปิดทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2577 ขณะที่เบลเยียมจะค่อย ๆ ลดการพึ่งพาพลังงานจากนิวเคลียร์ จนกว่าจะเลิกทั้งหมด แต่ไม่ระบุกรอบเวลา เช่นเดียวกับอิตาลี ซึ่งทำประชามติในเดือน มิ.ย. ผลประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ล้มเลิกอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศ

ฝรั่งเศสซึ่งพลังงาน 75% ที่ใช้ในประเทศ มาจากการแตกตัวของนิวเคลียสอะตอม อนาคตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ได้กลายเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีนี้

เหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหาทางเรียกคืนความศรัทธาเชื่อมั่นจากประชาชน ส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปทดสอบโรงงานพลังงานทั่วโลก ปิดเตาปฏิกรณ์ในประเทศเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ยังเหลือเดินเครื่องแบบปิด ๆ เปิด ๆ แค่ 9 เตา อีกหลายเดือนกว่าจะเห็นแนวโน้ม ในอนาคตญี่ปุ่นจะเดินหน้าพลังงานจากนิวเคลียร์หรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงราคาพลังงานจากนิวเคลียร์จะสูงขึ้น และศักยภาพการแข่งขันลดลง

กรณีของฟูกูชิมะ ไดอิจิ นับเป็นหายนะภัยจากนิวเคลียร์ ร้ายแรงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเกาะทรีไมล์ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2522 และเชอร์โนบิลในยูเครนในปี 2529

บริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลกในปัจจุบันมีไม่กี่บริษัท ระดับหัวแถวประกอบด้วย จีอี-ฮิตาชิ, โตชิบา-เวสติงเฮาส์, โรซาตอม (รัสเซีย) และอารีวาของฝรั่งเศส อนาคตข้างหน้าของบริษัทเหล่านี้ยังไม่แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญยังแตกความเห็น บ้างก็ว่าอีกไม่นานก็ล้มหายตายจากกันหมด ส่วนหนึ่งเห็นว่ายังอยู่ได้อีกนาน แต่ธุรกิจจะค่อย ๆ ถดถอย มีเวลาปรับตัวหันเหสู่ธุรกิจอื่น

แต่สถานการณ์ล่าสุด จากข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ก็คือ วิกฤติฟูกูชิมะ ไดอิจิ ส่งผลให้โครงการใหม่พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก ถูกยกเลิกแล้ว 50% กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่มีการก่อสร้างเพิ่ม สถานีพลังงานนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลกถูกลดจำนวนลง 15%

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมีการสร้างเตาปฏิกรณ์รวม 62 เตา 3 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าวอยู่ในเอเชีย ซึ่งการบริโภคพลังงานเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจีนและอินเดียเป็น 2 ประเทศผู้บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าใครเพื่อน และยังไม่มีทางเลือกราคาถูกกว่านิวเคลียร์มากพอต่อความต้องการในขณะนี้

วิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทำให้หลายประเทศในยุโรป ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป โดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพดานการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฟินแลนด์ สวีเดน และโปแลนด์ เป็นต้น

ถ้าขาดพลังงานนิวเคลียร์ กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนหาทางเลือกใหม่ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ความเป็นไปได้มากที่สุดในอนาคตอันใกล้คือ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งราคากำลังถูกลงเรื่อย ๆ แต่ข้อเสียคือยังขาดแคลน ไม่เพียงพอหากมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ในเร็ววัน

ที่สำคัญ พลังงานลมและพลังงานแสงแดด โดยภาพรวมอนาคตไม่แน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ก๊าซธรรมชาติน่าจะเป็นทางเลือกยอดนิยม ผู้ชนะตัวจริง หากท้ายที่สุดกาลอวสานของยุคพลังงานนิวเคลียร์มาถึง

(มีต่อ)

สายน้ำ
02-01-2012, 08:18
ภัยธรรมชาติกับอนาคตของมวลมนุษย์ (ต่อ)

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/5631/2.jpg

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ 11 มี.ค. ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นแค่ความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ บนพื้นผิวโลก แต่ไม่มีทางที่มนุษย์จะหยุดยั้ง ป้องกัน หรือลดขนาดความสูญเสีย จากผลกระทบของมันได้

ตามทรรศนะของ ศจ.ชุนจิ โออูชิ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม มหาวิทยาลัยชูโอะ ในกรุงโตเกียว ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามปกติของธรรมชาติ ไม่ใช่ภัยพิบัติ ถ้าโลกใบนี้ไม่มีมนุษย์

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวโลก หลีกไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับความผันแปรผันผวนบนพื้นโลก ความเคลื่อนไหวในชั้นบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้

อาจกล่าวได้ว่า อันตรายจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อาจกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เสมอ และอันตรายที่ว่านี้จะสูงเป็นพิเศษ สำหรับประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่บังเอิญที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่บนหลายรอยต่อของรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลก และเกิดพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง ญี่ปุ่นเคยเกิดแผ่นดินไหวแบบ 11 มี.ค. ในอดีต และคาดว่าจะได้เห็นกันอีกในอนาคต ไม่เร็วก็ช้า

เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นจนถึงขณะนี้ สามารถป้องกันความหายนะจากภัยธรรมชาติได้แค่ในวงจำกัด ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นการคิดค้นระบบตรวจจับล่วงหน้า และหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนั้น มนุษย์เราควรเรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติ รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ให้ลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเห็นได้ชัดว่า ยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับมัน

อย่างเช่น สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งก่อนนี้อธิบายกันโดยทั่วไปว่า เกิดจากการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลก และแค่ประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง ที่ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่ก็ยังมีนักวิจัยจำนวนมากไม่เห็นด้วย ซึ่งแสดงว่า ศาสตร์ด้านนี้ของมนุษย์ยังไม่ลงตัว ต้องเรียนรู้อีกมาก

มนุษย์ต่อสู้กับความโกรธเกรี้ยวของธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อความอยู่รอด และความเจริญรุ่งเรือง มาตลอดนับตั้งแต่อดีตกาล ในยุคปัจจุบัน มวลมนุษยชาติเป็นฝ่ายชนะ การต่อสู้ที่กล่าวมาจำนวนมาก จากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราบรรลุความเจริญรุ่งเรือง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เรากำลังตัดขาดตัวเราจากธรรมชาติ หันไปเน้นการขยายโลกที่ปลอดภัย สะดวกสบายและสะอาด ที่มนุษย์สร้างขึ้น ประเด็นนี้อาจารย์ชุนจิเชื่อว่า ตราบใดที่มนุษย์เรายังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การเอาชนะธรรมชาติต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นหนทางตรงไปสู่การทำลายล้างตัวเราเองในที่สุด

วิทยาการแขนงต่างๆของมนุษย์ก้าวหน้ามาไกลถึงขนาดนี้ แต่ก็ยังอ่อนด้อย โดยวัดจากประสิทธิภาพในการขัดขวางปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ นี่ถือเป็นสัญญาณเตือนมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/5631/4.jpg

แผ่นดินไหวและสึนามิ 11 มี.ค. ที่ญี่ปุ่น แสดงให้เห็นชัดถึงขีดความสามารถของมนุษย์ ในการป้องกันและรับมือกับภัยธรรมชาติ รวมทั้งการควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าจะเป็นแหล่งพลังงาน ที่จะปูทางไปสู่อนาคตของเรา

ประชากรโลกเพิ่งจะผ่านหลัก 7,000 ล้านคน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามการประเมินของสหประชาชาติ และมีแนวโน้มมนุษย์จะแสวงหาความสุขสบายให้ชีวิตมากยิ่งขึ้นต่อไป นั่นหมายถึง พลังงาน อาหาร และทรัพยากรอื่นๆที่มีจำกัด จะร่อยหรอลงเรื่อยๆจากการบริโภคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์เราต้องพิจารณาตัวเองใหม่ เนื่องจากไม่มีที่ไหนอีกแล้ว ที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากบนโลกใบนี้ และพิจารณาสังคมต่างๆของมนุษย์ให้ลึกลงไปจนถึงรากฐาน

ความขาดแคลนที่อยู่ที่กิน หรือทรัพยากรในอนาคต อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามสู้รบขนาดใหญ่ ผลาญชีวิตมนุษย์ได้มากกว่าโรคระบาด หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 2 มกราคม 2555

สายน้ำ
03-01-2012, 07:43
ไขปริศนาอภิมหาข่าวลือ สิ้นปี "55 โลกแตก (อีกแล้ว!?)

http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/01/col01030155p1.jpg&width=360&height=360

ขึ้นปีใหม่ทีไร ไม่ว่ามนุษย์ในพื้นที่ทวีปใดของโลกเชื่อว่าล้วนแล้วแต่หนีไม่พ้น ′ข่าวลือ′ สารพัดเรื่องเกี่ยวกับวันโลกแตก วันโลกาวินาศ วันสิ้นโลก วันมหาวินาศ อภิมหาเหตุร้าย-ภัยธรรมชาตินอกเหนือความคาดหมาย ฯลฯ ทั้งเรื่องที่พอมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ หรือบางทีก็มั่วนิ่ม แต่งนิยายขึ้นมาดื้อๆ

วันนี้ ′ข่าวสดหลาก&หลาย′ รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ ได้แก่ ′วิมุติ วสะหลาย′ แห่งสมาคมดาราศาสตร์ไทยมาไขปริศนาความหวาดหวั่นวันโลกแตก ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) รวมหาคำตอบถึงประเด็น ′คำทำนายเด็กชายปลาบู่ กรณีเขื่อนภูมิพลแตก′ ซึ่งร้อนแรงเละเทะดีเหลือเกินในโลกไซเบอร์ จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องเสียเวลาอธิบายขนานใหญ่!


http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/01/col01030155p2.jpg&width=360&height=360

1.ปฏิทินมายาทำนายว่า ปีค.ศ.2012 เป็นวาระสุดท้ายของโลก?

ปฏิทินมายามีหลายแบบ แบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปีค.ศ.2012 คือแบบที่เรียกกันว่า ปฏิทินรอบยาว (long count) ระบุวันด้วยชุดของตัวเลข ตัวเลขชุดนี้แทนวันที่ได้ยาวนาน 5,126 ปี เทียบกับวันที่ตามระบบปฏิทินสากลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 3114 ปีก่อนคริสตกาลไปจนสุดจำนวนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012

การสิ้นสุดของตัวเลขปฏิทินมายา หรือการครบจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้ในระบบนับวันระบบใดระบบหนึ่ง จะแสดงถึงการสิ้นสุดของโลกเชียวหรือ

คอมพิวเตอร์สมัยก่อนก็มีระบบปฏิทินในตัวเครื่องที่แสดงวันเดือนปีได้จนถึงสิ้น ค.ศ. 1999 อันเป็นที่รู้จักกันในนามของปัญหา Y2K แต่เมื่อสิ้นสุด ค.ศ.1999 โลกก็ไม่ได้แตกระบบนับวันของคอมพิว เตอร์

ระบบบอกพิกัดจีพีเอสก็มีระบบนับสัปดาห์เป็นของตัวเอง ซึ่งตัวเลขจะสุดจำนวนที่วันที่ 21 สิงหาคม 2542 ทำนองเดียวกับ Y2K ของคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อสิ้นวันที่ 21 สิงหาคม 2542 โลกก็ไม่ได้แตกตามระบบจีพีเอส

ทำนองเดียวกัน โลกก็จะไม่แตกสลายเพราะว่าสุดตัวเลขปฏิทินมายาหลังวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012 ปฏิทินมายาก็จะเริ่มนับรอบใหม่


2.ดาวนิบิรุ กับ Planet X เป็นดวงเดียวกันหรือไม่?

บทความ หรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับโลกแตกปี 2012 มักกล่าวว่า ′นิบิรุ′ และ ดาวเคราะห์เอ็กซ์ (Planet X) เป็นวัตถุดวงเดียวกัน แต่ความจริงต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดาวเคราะห์เอ็กซ์เป็นดาวเคราะห์ที่ยังหาไม่พบ แต่เชื่อว่ามีจริงและมีการค้นหาอยู่

ส่วนดาวนิบิรุ เป็นดาวในตำนานที่ยังขาดหลักฐานที่ดีพอที่จะบอกได้ว่ามีอยู่จริง ว่ากันว่าเป็นดาวตามทฤษฎีของ ′เซชาเรีย ซิตชิน′ ซึ่งอ้างว่าถอดความมาจากจารึกของชาวสุเมเรียน ทฤษฎีนี้กล่าวว่าดาวนิบิรุเป็นดาวที่มีสิ่งมีชีวิตที่มีอารย ธรรมอาศัยอยู่และเคยมาเยือนโลกเมื่อนานมาแล้ว

แม้เรื่องดาวนิบิรุจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบเรื่องลึกลับ เรื่องจานบิน เรื่องมนุษย์ต่างดาว แต่เนื่องจากทฤษฎีนี้มีหลักฐานอ่อนมาก และตั้งอยู่บนจินตนาการมากกว่าเหตุผล เรื่องนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างในวงการวิทยาศาสตร์รวมถึงนักวิชาการด้านสุเมเรียนด้วย


3.Planet X (ดาวเคราะห์เอ็กซ์) เป็นดาวเคราะห์ล้างโลกจริงหรือ?

ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีวงโคจรของตัวเอง มีรัศมีวงโคจรต่างกัน

วงโคจรมีเสถียรภาพดี ไม่ใช่สิ่งที่จะมาชนกันได้ง่ายๆ

ตามความรู้และข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์มีอยู่ เชื่อว่าหากมีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ในระบบสุริยะจริง (ซึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์เอ็กซ์) ดาวเคราะห์ดวงนี้ก็น่าจะอยู่พ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปอีก

แล้วดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรใหญ่โตอยู่ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้นจะมาชนโลกได้อย่างไร

ดาวเคราะห์เอ็กซ์คือสิ่งที่นักดารา ศาสตร์ถวิลหา

และการค้นพบจะเป็นข่าวน่ายินดี

หากวันหนึ่งคุณเห็นข่าวพาดหัวว่าค้นพบดาวเคราะห์เอ็กซ์แล้ว ก็อย่าไปแตกตื่นให้อายใครเขา


4.ปี 2012 ดวงอาทิตย์จะเกิดซูเปอร์แฟลร์ ส่งผลถึงขั้นทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก?

ไม่จริง, ซูเปอร์แฟลร์เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับแฟลร์ (การลุกจ้า) บนดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพายุสุริยะ แต่ซูเปอร์แฟลร์รุนแรงมากกว่าแฟลร์ปกติหลายเท่า นักดาราศาสตร์พบการเกิด ซูเปอร์แฟลร์มาแล้วในดาวฤกษ์ดวงอื่น ความรุนแรงของซูเปอร์แฟลร์ที่พบนั้น หากเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์จะรุนแรงถึงขั้นทำลายบรรยากาศของโลก ทำลายระบบนิเวศบนโลกจนถึงขั้นเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าเคยเกิดซูเปอร์แฟลร์ขึ้นบนดวงอาทิตย์ หรือในระบบสุริยะของเรามาก่อน และนักดาราศาสตร์ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ นี้เพราะ ซูเปอร์แฟลร์จะเกิดในระบบที่มีวัตถุสนามแม่เหล็กเข้มข้นอยู่ใกล้กัน เช่น มีดาวเคราะห์ยักษ์แบบดาวพฤหัสบดี หรือใหญ่กว่าโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์

แต่ระบบสุริยะของเราไม่มีลักษณะเช่นนั้น แม้ดาวพฤหัสบดีจะมีสนามแม่เหล็กเข้มข้น แต่ก็อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ส่วนดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ก็มีสนามแม่เหล็กอ่อนเกินกว่าจะทำให้เกิดซูเปอร์แฟลร์ได้


5. วันที่ 21 ธ.ค. 2012 ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะเรียงเป็นแนวเดียวกัน?

ไม่จริง, วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012 ดาวเคราะห์แต่ละดวงอยู่กันคนละทิศคนละทาง ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรง และไม่ได้ใกล้เคียงด้วย

เรื่องที่ควรทราบอย่างหนึ่งคือ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะไม่มีวันเรียงเป็นแนวเดียวกัน ความเป็นไปได้อย่างมากก็แค่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่แม้จะสมมติว่ามีวันที่ดาวเคราะห์ทั้งหมดมาเรียงเป็นแนวเดียวกันจริงก็ไม่ต้องห่วงว่า ′แรงดึงดูด′ ของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะส่งผลร้ายแรงใดๆ ต่อโลก


6.ปี 2012 จะเกิดปรากฏการณ์ pole shift จริงหรือ?

Pole shift (โพลชิฟต์) คือการเลื่อนขั้วแกนหมุนของโลก ทำให้ขั้วเหนือและใต้ของโลกเปลี่ยนตำแหน่งไป เกิดขึ้นจากการที่สัณฐานของโลกไม่กลมสมบูรณ์

ปรากฏการณ์นี้เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริงกับโลก รวมถึงดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย

ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์นี้ในปี 2012 และแม้จะเกิดก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเนื่องจากการเลื่อนนี้เกิดขึ้นในอัตราที่เชื่องช้ามาก

ความไม่แน่นอนของขั้วโลกยังมีอีกหลายแบบ เช่น ขั้วแม่เหล็กโลกเลื่อนตำแหน่ง การเปลี่ยนตำแหน่งของขั้วอันเกิดจากการเลื่อนของแผ่นทวีป การเปลี่ยนตำแหน่งของดาวเหนืออันเกิดจากการส่ายของขั้วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุเหล่านี้มีชื่อเรียกอย่างอื่น ไม่ได้เรียกว่า pole shift


7. ปี 2012 สนามแม่เหล็กโลกจะเปลี่ยนตำแหน่งจริงหรือ?

จริง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่กำลังจะเกิดในค.ศ.2012 หากแต่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้แต่ตอนนี้ก็เกิด

นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าขั้วแม่เหล็กโลก ′เคลื่อนที่′ ตั้งแต่ที่ค้นพบขั้วเหนือแม่เหล็กโลกเมื่อกว่าศตวรรษก่อนแล้ว การเคลื่อนที่นี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณ 1 องศาต่อ 1 ล้านปี หรืออาจเร็วกว่านั้น

การสำรวจในช่วงไม่กี่ปีมาพบว่า ขั้วเหนือแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่เร็วขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าโลกใกล้จะสลับขั้วหรือกำลังวิปริต เพราะอัตราการเคลื่อนที่มีขึ้นมีลงอยู่เสมอ


http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/01/col01030155p3.jpg&width=360&height=360

8.′ด.ช.ปลาบู่′ทำนายเขื่อนภูมิพลพัง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าเขื่อนภูมิพลมีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัย เนื่องจากเขื่อนภูมิพลถูกออกแบบให้ทนต่อการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึง 7.5 ริกเตอร์ โดยที่เขื่อนไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนหลักที่จะเกิดแผ่นดินไหว และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

เหตุผลหลักที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง-ปลอดภัยของตัวเขื่อนมี 3 ประการ ได้แก่

1. เรื่องแผ่นดินไหว

2. เรื่องปริมาณน้ำมากหรือน้ำหลาก

3. การก่อวินาศกรรม

เหตุผลประการแรก เรื่องแผ่นดินไหว เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ที่ออกแบบ และก่อสร้างให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยบริษัทผู้ออกแบบและก่อสร้างเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เป็นบริษัทเดียวกันกับที่สร้าง ′เขื่อนฮูเวอร์′ ของสหรัฐ ฉะนั้น จึงมีความมั่นใจได้ในเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้างที่แข็งแรง ส่วนทำเลที่ใช้วางตัวเขื่อนก็เหมาะสมกับสภาพทางธรณีฐานรากและแรงกระทำจากแผ่นดินไหว

ประการที่ 2 เรื่องปริมาณน้ำมากหรือน้ำหลาก เขื่อนภูมิพลออกแบบให้สามารถรับน้ำได้เต็มพิกัดที่ 100 เปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมาเขื่อนภูมิพลผ่านการเก็บกักน้ำที่ระดับสูงสุดและน้ำหลากถึง 4 ครั้ง ในปี 2518, 2545, 2549 รวมทั้งในปี 2554 นี้ เก็บกักอยู่ที่ระดับ 99-100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลายาวนานติดต่อกันมากกว่า 2 เดือน และจากการคำนวณคาดการณ์วันที่ 31 ธ.ค. 2554 ระดับน้ำจะลดลงอยู่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของระดับกักเก็บสูงสุด ดังนั้น แรงกดดันของน้ำที่กระทำต่อตัวเขื่อนก็จะลดลง

ประการที่ 3 การก่อวินาศกรรม เขื่อนภูมิพลปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยแห่งชาติปี 2552 โดยมีแผนรองรับตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากพิจารณาด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่เขื่อนจะพัง ขอวิงวอนให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในความแข็งแรงของเขื่อนภูมิพล อย่าได้วิตกกังวลตามกระแสข่าวลือ ซึ่งข่าวลือประเภทนี้เคยมีมาแล้วหลายครั้ง แต่เขื่อนก็ยังทำหน้าที่ของเขื่อนได้ดีเช่นเดิม




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 3 มกราคม 2555

สายน้ำ
05-03-2012, 08:40
ไขปริศนาหายนะปี 2012 โลกาวินาศ - มนุษยชาติสูญสิ้น!?

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/15541.jpg

ในปี ค.ศ. 2012 นี้นับเป็นปีที่มีกระแสข่าวรุนแรงในเรื่องของความหายนะที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเรา ซึ่งบางกระแสข่าวรุนแรงถึงขั้นมีหลักฐานยืนยันว่าโลกจะแตกในปีนี้ ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษยชาติสูญสิ้นกันเลยทีเดียว โดยสาเหตุมาจากหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพความแปรปรวนของอากาศ เหตุภัยพิบัติและอุทกภัยซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน ด้วยเกรงว่าคำทำนายและความเชื่อนั้นจะเป็นจริง...!!

จากการกล่าวอ้างรวมทั้งกระแสข่าวต่าง ๆ ทั้งหมด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. จัดเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อจะได้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องขึ้น ในหัวข้อ “โลกาวินาศ วิทยาศาสตร์วิพากษ์ พยากรณ์ 2012 ฤาโลกจะสูญสิ้น” โดย ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันให้ความรู้ว่า ความเชื่อกับหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์มักจะสวนทางกันอยู่เป็นประจำ เช่น เรื่องของโลกาวินาศ ซึ่งเรื่องแรกที่เราจะพูดถึงกันคือ “ปฏิทินมายา” อันมีที่มาจากชาวมายาซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณอยู่แถวอเมริกากลาง ปัจจุบันเป็นประเทศกัวเตมาลา

จุดเริ่มต้นของกระแสข่าวนี้คือ ในปี ค.ศ. 1966 มีหนังสือมายาเกิดขึ้นเป็นหนังสือเล่มแรกของฝรั่งที่อ้างว่าน่าจะมีวันสิ้นสุดของโลกในปี ค.ศ. 2012 นี้ ประมาณเดือนธันวาคม แต่ว่าวันที่จะเลื่อนไปเลื่อนมาในการพิมพ์แต่ละครั้ง และถูกปรับมาเป็นวันที่ 21 ธ.ค. เพราะมีข่าวหลายกระแส ซึ่งวิธีคิด คือชาวมายาจะใช้ระบบปฏิทินอย่างน้อย 3 แบบหลัก คือแบบแรกและแบบที่ 2 เป็นการนับวัน ส่วนแบบที่ 3 เรียกว่าปฏิทินแบบลองเคาทน์ มีการนับ 2 แบบ คือรอบยาวและรอบสั้น โดยรอบสั้นถูกนำมาใช้อ้างอิงในทฤษฎีโลกแตกปี ค.ศ. 2012 ซึ่งแบบสั้นจะอยู่ที่ 13 baktuns หรือ 1,872,000 วัน หรือ 5,125 ปี เมื่อสิ้นสุดวันจะเริ่มนับใหม่ จากข้อมูลอ้างว่าวันสุดท้ายของปฏิทินตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2012 จึงตีความกันว่าจะเป็นวันสุดท้ายของการสิ้นโลก เพราะตามตำนานเมื่อถึงวันสุดท้ายของปฏิทินจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย แต่ก็เป็นเพียงความเชื่อในตำนานการสร้างโลกของชาวมายาเท่านั้น แต่เรื่องร้ายมักจะกล่าวถึงกันมากกว่า

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/15541/2.jpg

เรื่องที่ 2 คือ ’ดาวนิบิรุ” พุ่งชนโลก โดยทฤษฎีนี้เชื่อกันว่าวันหนึ่งจะมีดาวนิบิรุหรือวัตถุจากฟากฟ้าพุ่งชนโลก โดยในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คือดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง หรือวัตถุขนาดใหญ่พุ่งชนโลก การชนมีทั้งผลดีและผลเสีย ขณะเดียวกันก็เกิดผลดีเพราะในระบบสุริยะช่วงที่โลกร้อนจัดเป็นไปไม่ได้ที่โลกจะมีน้ำ แต่ปัจจุบันเราเห็นมหาสมุทรที่อยู่บนผิวโลก 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งตัวเราก็มีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ และน้ำเหล่านี้มาจากวัตถุที่หลงเหลือจากการเกิดระบบสุริยะนั่นคือดาวหาง ซึ่งดาวหางองค์ประกอบหลักหรือโมเลกุลสำคัญของมันคือน้ำ และเมื่อเกิดการชนของดาวหางบนโลกยุคแรกๆมากมาย น้ำจากดาวหางค่อยๆสะสม ซึ่งตัวเราส่วนหนึ่งก็เป็นองค์ประกอบของดาวหางเช่นกัน เพราะน้ำในตัวเราไม่มีที่มาอย่างแน่นอน นอกจากการชนโลกของดาวหาง

จากหลักฐานมีการชนเกิดขึ้นจริงเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2537 มีดาวหางชื่อว่า ชูเมกเกอร์ชนดาวพฤหัสบดี โดยก่อนชนมีการแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้น และพุ่งชนดาวพฤหัสบดีทีละลูก ซึ่งด้านที่ชนดาวพฤหัสบดีหันมาทางโลกพอดี ทำให้ยานอวกาศชื่อกาลิเลโอถ่ายภาพด้วยกล้องอินฟาเรดขณะชนได้ ในภาพจะเห็นว่ามันปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา ซึ่งเราจะเห็นแผลดำๆเกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดีนานปีกว่าๆด้วยกัน โดยเศษดาวหางแต่ละลูกถ้าชนโลกคงน่ากลัวมาก แต่ว่าดาวพฤหัสบดีโดนชนง่ายกว่าโลก เพราะมีแรงโน้มถ่วงสูง และครั้งสุดท้ายที่มีการชนโลกจริงๆที่มีหลักฐานคือการชนที่ทังกัสก้า ประเทศไซบีเรีย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1908 หรือเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ซึ่งแรงระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT ถึง 30 เมกะตัน ต่อมามีการวิจัยศึกษาทางด้านธรณีวิทยาพบว่าจากการชนมีการกระจายแร่ธาตุต่าง ๆ พอที่จะเชื่อได้ว่าเป็นการชนของอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อย เป็นวัตถุขนาด 20-30 เมตร แต่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาล ซึ่งวัตถุที่ว่านี้ไม่ได้พุ่งชนที่พื้นแต่มีการระเบิดก่อนถึงพื้นที่ประมาณความสูง 4-5 เมตร แต่โชคดีไม่มีใครเสียชีวิต เพราะเป็นบริเวณที่ไม่มีใครอาศัยอยู่

สำหรับดาวนิบิรุอ้างถึงว่า เป็นดาวเคราะห์ถูกค้นพบโดยชาวสุเมเรียน เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 3,600 ปี และจะพุ่งชนโลกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 นี้ จากการวิเคราะห์คาบโคจรในทางฟิสิกส์แล้วถ้าดาวนิบิรุมีจริงน่าจะมีวงโคจรที่เป็นวงรีมาก ๆ และปัจจุบันจะต้องอยู่ใกล้เคียงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี มีความสว่างสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบดาวดวงนี้ ส่วนกรณีที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกโดยมีการกล่าวอ้างว่าองค์การนาซาปกปิดนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีหลายโครงการทั่วโลกที่ค้นหาและติดตามวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 200 เมตร ที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลกไม่เกิน 4.5 ล้านไมล์

ปัจจุบันเราค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเข้าใกล้โลกมากที่สุด คือดาวเคราะห์น้อย 1950 DA มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.1 กม. มีวงโคจร 2.2 ปีรอบดวงอาทิตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนวงโคจรเลยมีโอกาสจะพุ่งชนโลกได้ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2880 ดังนั้นเราจึงยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 800 ปีข้างหน้า และโอกาสความน่าจะเป็นที่จะชนโลก มี 0.33 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นในช่วงอีก 800 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษย์คงสามารถจัดการมันได้

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/15541/7.jpg

เรื่องที่ 3 ’การเรียงตัวกันของดาวเคราะห์” เกิดแรงดูดมหาศาลและส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมทั้งเกิดพายุสุริยะถาโถมเข้าใส่โลกนั้น จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากอิทธิพลของแรงดึงดูดจากดาวเคราะห์เหล่านั้นมีผลต่อโลกน้อยมาก เมื่อเทียบกับแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่มีต่อโลก หรือแม้แต่กระแสข่าวที่ว่าโลกจะถูกหลุมดำที่ใจกลางทางช้างเผือกดูดเข้าไปในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ก็ขอยืนยันว่าจากการศึกษาการโคจรของดาวฤกษ์หลายดวงรอบหลุมดำต่าง ๆ ประกอบกับแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ที่กระทำต่อโลก สูงกว่าแรงโน้มถ่วงของหลุมดำถึง 100,000 ล้านเท่า ทำให้โลกของเราจะไม่ถูกหลุมดำนี้ดูดเข้าไปแน่นอน หรือ ถ้าจะมีการดูดเกิดขึ้นดวงดวงอื่นที่อยู่ใกล้กว่าโลกก็จะต้องถูกดูดเข้าไปก่อนแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีดาวดวงใดถูกดูดเข้าไปเลยซักดวง

(มีต่อ)

สายน้ำ
05-03-2012, 08:44
ไขปริศนาหายนะปี 2012 โลกาวินาศ - มนุษยชาติสูญสิ้น!? (ต่อ)

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/15541/5.jpg

เรื่องที่ 4 ’พายุสุริยะ“ เรื่องนี้มีกระแสรุนแรงเนื่องจากเพิ่งเกิดไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพายุสุริยะจะมีผลกระทบโดยตรงต่อโลกคือ เราจะเห็นในรูปแสงสีแปลกตาที่เราเรียกว่าแสงออโรร่าหรือแสงเหนือแสงใต้ อนุภาคบางส่วนที่ถูกปลดปล่อยออกมาอาจไปสะสมที่ผิวของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียมเมื่อถึงจุดหนึ่งมีการคลายประจุออกมาทำให้เกิดความเสียหายได้ บรรดารังสีต่าง ๆ ที่มาจากพายุสุริยะ เช่น รังสีเอ็กซ์ ทำให้มีการรบกวนสัญญาณวิทยุที่อยู่บนโลกได้ รังสียูวีเพิ่มขึ้นทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนและลอยตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามดวงอาทิตย์มีวัฏจักรในการทำงานและพักผ่อนห่างกันประมาณ 11 ปีโดยเฉลี่ย เนื่องจากครั้งล่าสุดดวงอาทิตย์ขยันมากสุดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าดวงอาทิตย์จะกลับมาขยันอีกในอีก 10-12 ปี ถัดมานั่นคือปี ค.ศ. 2012 แต่ ผลกระทบต่อโลกและมนุษย์อย่างที่ทราบกันว่ามีน้อยมาก

http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/15541/6.jpg

และเรื่องสุดท้าย ’การสลับขั้วของแม่เหล็กโลก” โดยโลกของเรามีสนามแม่เหล็กและขั้วแม่เหล็กที่ทำให้เข็มทิศชี้ไปทั้งขั้วเหนือและใต้ได้ ซึ่งสนามแม่เหล็กเกิดจากการเลื่อนไหลของโลหะที่หลอมอยู่ใต้โลก ทำให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า และเกิดสนามแม่เหล็กใหม่มาทดแทนสนามแม่เหล็กเดิมที่อ่อนกำลังลงไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีกระแสข่าวว่าโลกอยู่ในช่วงที่สนามแม่เหล็กโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอาจได้รับผลกระทบรุนแรง แต่นักธรณีวิทยาพบหลักฐานที่ทำให้เราทราบว่าขั้วแม่เหล็กโลกนั้นมีการพลิกกลับขั้วอยู่เป็นระยะมาโดยตลอด ช่วงระยะเวลาในการคงสภาพขั้วไว้ได้นั้นอาจยาวนานถึง 100,000-1,000,000 ล้านปี ปัจจุบันมีการยืนยันแล้วว่าการกลับขั้วเคยเกิดขึ้นแล้ว 2 ช่วง

อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กโลกนั้นไม่ได้เกิดในระยะเวลาสั้นๆ ต้องใช้เวลาราว 1,000-10,000 ปี โดยขั้วเดิมจะค่อยๆอ่อนกำลังลงแล้วจะมีขั้วใหม่ผุดขึ้นมาในบริเวณต่างๆจนครบสมบูรณ์ สำหรับสิ่งที่กลัวกันว่าการสลับขั้วของแม่เหล็กโลกจะทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลาย เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกนั้น เราต้องลองพิจารณาดูว่าน้ำนั้นมีภาชนะใส่อยู่หรือไม่มี เช่น น้ำแข็งที่อยู่ในแก้วน้ำละลายก็จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย หรืออยู่ที่ขนาดของภาชนะถ้ามีน้ำแข็งมากแต่ภาชนะเล็กก็อาจจะล้นออกมาบ้างแต่ก็ไม่มาก กรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลายก็เช่นกันหากมีการละลายก็คงจะไม่กระทบถึงกรุงเทพฯ และน่ากลัวเท่ากับเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะการขุดเจาะน้ำบาดาลไปใช้เป็นจำนวนมากจนทำให้แผ่นดินทรุดเป็นแน่..!!

หากเราเข้าใจที่มาของการคาดการณ์ กระแสข่าวการกล่าวอ้างต่างๆ และพยายามหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลหรือนักวิชาการที่เชื่อถือได้ ก็จะสามารถใช้ข้อมูลและเหตุผลในการวิเคราะห์กรองข่าวต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะหลงเชื่อจนจิตตกไม่เป็นอันทำอะไร หรือว่าจะเลือกปฏิบัติตนตามปกติกับคำทำนายเหล่านั้น...

..................................................................................................


http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/photos/15541/1.jpg

ย้อนประวัติศาสตร์โลกถูกดาวเคราะห์พุ่งชน

ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางพุ่งชนโลกครั้งใหญ่จริง มีผลทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตประมาณ 3 ใน 4 ที่อยู่บนผิวโลกสูญพันธุ์ในอายุใกล้เคียงกันเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว นักธรณีวิทยาพบหลักฐานหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ที่คาบสมุทรยูคาตัน หรือในปี ค.ศ. 1908 เกิดระเบิดของอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยเหนือท้องฟ้าที่ทังกัสก้า ประเทศไซบีเรีย หรือหลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ อยู่ในมลรัฐแอริโซนา เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด โดยการชนบนทะเลทรายด้วยวัตถุขนาด 50 เมตร เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 กิโลเมตร ถ้าไปยืนตรงกลางจะมองไม่เห็นต้องใช้กล้องส่องทางไกล ส่วนชื่อหลุมตั้งชื่อตามครอบครัวที่ซื้อหลุมนี้ เพราะนักธรณีวิทยาศึกษาแล้วพบว่าเป็นการชนจากวัตถุนอกโลก และมีเหล็กกระจายอยู่มาก ทำให้แบริ่งเชื่อว่าใต้หลุมมีอุกกาบาตก้อนใหญ่ซึ่งเป็นเหล็กบริสุทธิ์ขนาดเป็นตันอยู่ เพราะเหล็กบนโลกไม่ใช่เหล็กบริสุทธิ์เวลาจะนำมาใช้ต้องนำไปถลุง หากได้มาจะต้องร่ำรวยมากแน่ๆ ปัจจุบันพบว่าไม่มีใครเคยเจออุกกาบาตก้อนนั้นมีแต่หลุม เพราะความรุนแรงจากการปลดปล่อยพลังงานทำให้หลอมละลายไปหมดไม่เหลืออะไรเลย ปัจจุบันครอบครัวแบริงเจอร์ร่ำรวยจริง แต่ไม่ใช่เพราะขายเหล็กแต่ร่ำรวยจากการเปิดหลุมให้ประชาชนเข้าชม

อย่างไรก็ตามดาวเคราะห์น้อยคือวัตถุขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ อยู่ในวงโคจรระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีจำนวนมากมาย ปัจจุบันเรายังค้นพบไม่หมด วัตถุขนาดเล็กพวกนี้มีองค์ประกอบแตกต่างกันออกไป บางวัตถุก็มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน บางวัตถุก็เป็นเหล็ก บางครั้งถ้าได้รับแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ข้างเคียงหรือมีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรก็ตัดเข้ามาในระบบสุริยะด้านใน และบางครั้งก็ตัดกับวงโคจรของโลก ซึ่งความถี่ของการชนพบว่าการชนแบบอุกกาบาตชิคซูลูปมีความถี่ประมาณหลายร้อยล้านปี ส่วนกรณีการชนที่ทังกัสก้ามีความถี่ก็หลายร้อยปี แต่จะมีขนาด 1-2 เมตร ไม่มีปัญหาอะไร เพราะโลกมีชั้นบรรยากาศเป็นเกราะป้องกันอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็ไม่มีใครทราบว่าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 มีดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 เมตร เฉียดโลกไปในระยะ 324,900 กิโลเมตร ชื่อดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบในปี ค.ศ. 2005 โคจรรอบดวงอาทิตย์ในเวลา 1.22 ปี ต่อ 1 รอบ ซึ่งไม่มีภัยอันตรายต่อโลกอีกเช่นกัน.





จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 5 มีนาคม 2555

สายน้ำ
06-03-2012, 07:47
‘2583’ อุกกาบาตพุ่งชนโลก!?! ตื่นตระหนกมหาวิบัติภัยล้างโลกบนฐานแห่งความจริง

http://pics.manager.co.th/Images/555000003080801.JPEG

แม้เหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลกครั้งร้ายแรงที่สุดตามที่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือข้อมูลได้ จะล่วงเลยมากว่า 65 ล้านปีแล้ว แต่บทเรียนแห่งมหาวิบัติภัยในครั้งนั้นก็ยังสร้างความน่าสะพรึงกลัวแก่มนุษยชาติเสียทุกครั้งไป

ยิ่งมีข่าวคราวของวัตถุไม่พึ่งประสงค์บนท้องฟ้าอย่าง ‘อุกกาบาต’ จ่อพุ่งชนโลกทีไร...ความตื่นกลัวก็เข้าปกคลุมไปทุกอาณาเขตของโลก เพราะนั้นเท่ากับว่าจุดจบของสรรพสิ่งบนโลกใกล้เข้ามาทุกที

แต่อย่างน้อยวิทยาการในยุคปัจจุบัน ก็สามารถทำให้ชาวโลกสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงได้ทันท่วงที เมื่อไม่นานมานี้เอง องค์การนาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะมีอุกกาบาตชื่อ ‘2011 เอจี 5’ พุ่งชนโลกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2040 หรือในพ.ศ.2583 มีขนาดความกว้างประมาณ 140 เมตร คาดการณ์ว่าหากอุกกาบาตลูกนี้ตรงดิ่งบริเวณพื้นที่ชุมชนจะทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตายนับล้านโดยเฉพาะมนุษย์

แต่ทางองค์การนาซาก็ยอมรับถึงความไม่แน่นอนว่า ระยะอีก 28 ปีข้างหน้านั้น ความเสี่ยงที่ ‘2011 เอจี 5’ จะพุ่งชนโลกในการคิดคำนวณ ณ ปัจจุบันมีความเสี่ยง 1 : 625 แต่อนาคตความเสี่ยงที่มันจะพุ่งชนโลกอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เบื้องต้นทางนาซาเองยังไม่มีข้อมูลของอุกกาบาตลูกนี้เสียเท่าไหร่นัก ว่ากันว่าจะมีการตรวจสอบกันอีกครั้งในปีหน้า และจะมีการคำนวณความเสี่ยงกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่องค์การนาซาแถลงออกมาครั้งนี้ ก็สั่นสะเทือนประชาคมโลกไม่น้อย ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็สนองตอบในเรื่องอุกกาบาตพุ่งชนโลกโดยการระดมมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเร่งหาทางออกของวิบัติภัยที่จ่อทำลายโลก


ทำความรู้จัก ‘อุกกาบาต’

หากกำหนดนิยามของคำว่า 'อุกกาบาต' ง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า มันคือวัตถุขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ และถูกแรงดึงดูดให้ตกลงมาบนพื้นโลก ซึ่งช่วงที่อยู่ในอวกาศ มันจะถูกขนานนามว่า 'สะเก็ดดาว' มีขนาดตั้งแต่ก้อนหินขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงละอองฝุ่น และเมื่อมันเคลื่อนที่ไปสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างๆ จะทำให้ความร้อนและแสงสว่าง จนคนจำนวนมากเรียกมันว่า 'ดาวตก' ซึ่งแสงที่ว่านั้น มาจากแรงเสียดทานระหว่างสะเก็ดดาวกับชั้นบรรยากาศนั่นเอง เพราะเมื่อสะเก็ดดาวหลุดเข้ามาจะเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และหากมีสะเก็ดใดตกลงมาถึงพื้นโลก ก็จะเปลี่ยนไปเรียกว่า 'อุกกาบาต' แทน

ซึ่งองค์ประกอบของอุกกาบาตนั้นจะแตกต่างกันออกไป แต่หลักๆที่พบมี 3 ชนิดคือ หิน เหล็ก และเหล็กปนหิน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิดหิน ซึ่งก้อนหินใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ ‘จีหลิง’ ตกที่อำเภอจีหลิง ประเทศจีน เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2519 หนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่ที่สุดที่พบคือ ‘โฮบา เวสท์’ หนักประมาณ 66 ตัน ตกกลางป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ โดยอุกกาบาตชนิดหินส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนหินบนโลก และมักกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของโลก เพราะฉะนั้นจึงมีแต่ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า หินก้อนใดที่เป็นอุกกาบาตกันแน่

อย่างไรก็ดี การตกลงมาของอุกกาบาตของโลกนั้นมีหลายแสนหลายล้านครั้งแล้ว และแต่ละก้อนคนก็จะนำมาสู่ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ส่งผลกระทบมากที่สุด ก็คือเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่ว่ากันว่า อุกกาบาตพุ่งชนโลก จนสัตว์ในตำนานอย่างไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยข้อเขียนของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ราชบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ระบุว่า ในปี 2523 หลุยส์ อัลวาเรซ และวอลเตอร์ อัลวาเรซ นักวิทยาศาสตร์ 2 พ่อลูก ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการที่ชื่อว่า ‘การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหรือที่เรียกว่าการสูญพันธุ์ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี’ โดยมีเนื้อหาว่า

“...ได้มีอุกกาบาต หรือดาวหางขนาดใหญ่ลูกหนึ่ง ตกลงมาชนโลก พลังระเบิดครั้งนั้น มีความรุนแรง เทียบเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดปรมาณู หนึ่งแสนลูกพร้อมกัน....และเมื่ออุกกาบาตลูกนั้นพุ่งชนโลก ฝุ่นละอองธุลีหินและดินต่างๆ ได้พุ่งกระจัดกระจายสู่ท้องฟ้า เมฆฝุ่นได้บดบังแสงอาทิตย์ มิให้ส่งกระทบโลกนานเป็นปี ส่วนแผ่นดิน เมื่ออุกกาบาตชน ได้ลุกไหม้ทำให้เกิดไฟป่าลุกท่วมโลก นอกจากนี้ก๊าซไนโตรเจน ไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ได้รวมตัวกันเป็นฝนกรด ตกรดพืชและสัตว์ต่างๆ ทำให้สัตว์และพืชหลายชนิดล้มตาย ตัวไดโนเสาร์เมื่อขาดอาหารจึงได้ล้มตายมากมายจนสูญพันธ์ในที่สุด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อ่อนแอกว่าจึงมีโอกาสวิวัฒนาการตนขึ้นจนเป็นเจ้าโลกในที่สุด...”

นอกจากนี้ อุกกาบาตยักษ์ยังทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ขึ้นมาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ตก โดยมีการบันทึกว่า หลุมใต้น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งลึกกว่า 400 กิโลเมตร ก็เป็นผลงานของอุกกาบาต หรือแม้แต่ในทะเลทรายอริโซน่า ซึ่งเกิดเมื่อ 20,000 ปีก่อน ก็เกิดหลุมปริศนากว้างถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งว่ากันว่า การเกิดแต่ละครั้งจะเกิดการระเบิดที่แรงมาก บางคนก็โชคร้ายเจอลูกอุกกาบาตตกใส่เสียชีวิตก็มี

ส่วนในประเทศไทยเองก็มีหลักฐานว่า เกิดเหตุอุกกาบาตแบบหินตกใส่เหมือนกัน โดยในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2466 มีรายงานว่าลูกอุกกาบาตตกที่ตำบลดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม โดยแตกออก 2 ก้อน น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง และอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหินเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลักฐานแน่ชัดว่า อุกกาบาตจะมีพลังเพียงพอในการทำลายโลก อย่างที่หลายคนและภาพยนตร์บางเรื่องจินตนาการเอาไว้


‘ดาราศาสตร์’ ศาสตร์แห่งการคาดคะเน

“ดาวเคราะห์น้อย ‘2011 เอจี 5’ มันเกิดขึ้นเนื่องจากมีการพูดคุยกันในที่ประชุมของสหประชาชาติในคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุที่เข้ามาใกล้โลก (Near-Earth Objects) เขาก็เอ่ยถึงดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 และก็พูดถึงความเป็นไปได้ว่าในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2583 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก แต่โอกาสที่จะเป็น 1 : 625 ไม่ใช่ว่าชนแน่นอน ต้องขออธิบายว่าเจ้าดาวเคราะห์ดวงนี้ มันเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่บัญชีที่เขาจัดว่าอยู่ในบัญชีวัตถุใกล้โลก หรือเป็นวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเราได้ เป็นหนึ่งในเจ็ดพันกว่าดวง”

รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายถึงปรากฏการณ์อุกกาบาตจ่อพุ่งชนโลกในอีก 28 ปี ข้างหน้าที่องค์การนาซาได้ออกมาแถลงต่อชาวโลก ชึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้พบเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โคจรเป็นวงรีโดยจุดที่ไกลที่สุดจะเลยดาวอังคารออกไป และจุดที่ใกล้ที่สุดมันจะอยู่แถวดาวศุกร์ และจะผ่านวงโคจรของโลกเราด้วย มีวงโคจรรอบละประมาณ 1.7 ปี เพราะฉะนั้นทุกๆ 1.7 ปี มันจะเข้ามาตัดกับวงโคจรของโลกเรา แต่ว่าช่วงเวลาต่างๆ มันจะไม่ใกล้โลกเพราะโลกเองก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ ฉะนั้นเวลาที่ผ่านวงโคจรโลกอาจไม่ได้อยู่ตำแหน่งนั้น มีการคำนวณวงโคจรและมีข้อสรุปว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ในปี พ.ศ. 2583 โลกกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะอยู่ใกล้กันมากและก็มีความเป็นไปได้มันจะเฉียดชนโลก

แม้จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 จะพุ่งชนโลกตามที่คาดคะเนกันไว้หรือไม่ แต่ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยอย่างองค์การนาซา องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีบนอวกาศและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง

“ส่วนใหญ่ข่าวที่ออกมาจากทางองค์การนาซานั้น จะค่อนข้างน่าเชื่อถือ เพียงแต่ว่าเมื่อมีข่าวออกมาแล้วความเข้าใจของสังคม หรือของประชาชนจะถูกต้องตามที่นาซาเปิดเผยมาหรือไม่ การเข้ามาของดาวเคราะห์น้อยในแต่ละครั้ง วงโคจรมันเปลี่ยนไปหมดมันไม่ได้เข้ามาเหมือนเดิมตลอด ถ้าคงที่แบบที่คำนวณกันมันก็อาจมีโอกาสเข้าใกล้อาจจะเฉียดชนได้ แต่ว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาในแต่ละครั้งมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนาซาก็บอกว่า ประมาณเดือนกันยายนปีหน้าจะมีการคำนวณอีกครั้ง ซึ่งวงโคจรมันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นและอาจมีการสรุปว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะห่างมากก็ได้ เพราะการคำนวณจะไม่เหมือนกันสักครั้งเดียว ดังนั้น ทำนายว่าอีก 28 ปีแล้วชนแน่ๆ มันไม่น่าเชื่อถือ มันเป็นอะไรที่เราไม่ต้องกังวลเพราะว่าวงโคจรมันเปลี่ยนตลอดเวลา”

จะว่าไปแล้ววิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับโลกอย่างกรณีอุกกาบาตพุ่งชนโลก อย่างองค์การนาซาก็จะมีหน่วยงานติดตามวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเรา มีรายชื่อเต็มไปหมดซึ่งตรงนี้ก็มีการเผยแพร่ รศ. บุญรักษา กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันโลกจากวัตถุนอกโลกที่อาจพุ่งชนโลกนั้นต้องมีการวิจัยและพัฒนาในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งก็มีความมั่นใจว่าในอนาคตมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสมองล้ำเลิศก็คงจะสามารถปกป้องโลกของเราไว้ได้

“พอเฝ้าระวัง แน่นอนเขาก็ต้องคิดเทคโนโลยีเฝ้าระวัง ถ้าหากมีดวงใดดวงหนึ่งเข้ามาใกล้โลกและเกิดควงสว่านชนโลกเรา มันก็มีความเป็นไปด้ที่เขาจะจัดการตรงนี้ มันก็มีการพูดกันเยอะเลยว่าจะทำอย่างไรดีหากมีการพุ่งชนโลก มีการเสนอว่าก็ยิงจรวดไปทำลายมันอย่าง 2011 เอจี 5 มันก็ขนาดประมาณ 100 กว่าเมตร มันก็ไม่ใหญ่มาก แต่การยิงทำลายมันก็ค่อนข้างจะอันตรายเพราะว่าโอกาสที่มันจะกระจายชนเราก็มีสูง เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ก็เสนอถึงการเปลี่ยนวงโคจร อาจจะใช้รังสีที่มันมีพลังงานสูงที่จะผลักวัตถุก้อนนี้มันเบี่ยงวงโคจรที่จะไม่ชนโลก เป็นวิธีการที่ไม่ทำลายมันและมันไม่ชนเรา”


(มีต่อ)

สายน้ำ
06-03-2012, 07:48
‘2583’ อุกกาบาตพุ่งชนโลก!?! ตื่นตระหนกมหาวิบัติภัยล้างโลกบนฐานแห่งความจริง (ต่อ)


คิดกันตามหลักความเป็นจริง

ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ แทนไท ประเสริฐกุล เมื่อได้ยินข่าวว่าองค์การนาซาออกมาเตือนเรื่องอุกาบาตจะชนโลกในปี พ.ศ.2583 เขาก็แสดงความคิดเห็นว่ามันเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นแต่ไม่ใช่เรื่องให้ตื่นตระหนก ต้องดูกันในรายละเอียดด้วยเพราะโอกาสในการชนคือ 1 ใน 600 กว่าๆ ถือว่าค่อนข้างน้อย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนยังไงคงต้องศึกษาเส้นทางโคจรอีก

“ลูกนี้มีความเสี่ยง เขาก็จะมีการจดบันทึกไว้อยู่แล้ว คนก็อาจจะตกใจกันทีหนึ่ง ซึ่งถ้าลูกนี้มันจะชนโลก ภารกิจในการหยุดยั้งไม่ให้อุกาบาตชนก็จะน่าสนใจ ปกติดูจากหนังอาจจะแค่เอาลูกระเบิดไปฝังอุกกาบาตแล้วจบ แต่จริงๆมันไม่ได้ง่ายอย่างงั้น ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘เดธ ฟรอม เดอะ สกาย’ เขาเล่าให้ฟังว่า การป้องกันโลกมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น อุกกาบาตบางลูกแข็งมาก เป็นเหล็กทั้งก้อน ต่อให้ระเบิดโดยนิวเคลียร์ก็แทบไม่เกิดอะไรกับมันเลย บางลูกเป็นรูพรุนแรงระเบิดก็กระจาย ไม่เสียรูปทรง หรือหากเราระเบิดมันได้จริง มันกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันอาจจะซับซ้อนกว่าเดิม ชนสองจุดอาจจะเสียหายมากกว่าจุดเดียว”

สำหรับองค์การนาซานั้น จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีวัตถุที่โคจรเข้ามาใกล้โลก ในมุมมองของ แทนไท ถือเป็นองค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในทางประวัติศาตร์ก่อตั้งขึ้นจากการแข่งขันในช่วงสงครามเย็น แต่เขามีการจดรายงานเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ปัจจุบันทิศทางของนาซาเขาก็ยังเป็นผู้นำของโลกในการอวกาศอยู่ องค์กรนาซาก็ถือว่ามีคุณูปการเยอะ ผมค่อนข้างจะมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรนี้ แต่มันก็ยังมีดีเบท (โต้แย้ง) อยู่ว่า การสำรวจอวกาศควรเป็นเรื่องของเอกชนได้แล้ว หรือการส่งหุ่นหรือคนออกไปอวกาศดี”

...........

การออกมาแสดงข้อมูลขององค์การนาซาในครั้งนี้ ก็คงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหากตรวจพบวัตถุใดเข้าใกล้โลก ซึ่งที่แน่ๆ คงไม่ได้ต้องการให้เกิดความแตกตื่น...เพียงแต่ต้องการสร้างความตื่นตัวในการเปิดรับข่าวสารข้อมูลความเป็นไปของสถานการณ์โลก ‘ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5’ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจ่อพุ่งชนโลกในปี พ.ศ. 2583 แต่ก็ต้องยอมรับว่าในศาสตร์ของดาราศาสตร์นั้น การโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะไม่ได้มีความแน่นอนหรือคงที่เสมอไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยปกป้องโลกใบนี้ไว้ได้




จาก ........................ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 มีนาคม 2555

สายน้ำ
26-07-2012, 08:14
หลุมยุบ / ดินทรุด

http://www.innnews.co.th/images/news/2012/32/392310-01.jpg

หากยังจำเหตุการณ์การเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ที่ประเทศกัวเตมาลา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2553 กันได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกคนต่างพากันสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ยักษ์กลางสี่แยก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร ลึก 30 เมตร ได้ และหลุมยุบแบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราได้หรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ธรณีวิทยามีคำตอบ

หลุมยุบ เป็นธรณีพิบัติภัยแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กิจกรรมของมนุษย์เราเองก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดหลุมยุบขึ้นได้เหมือนกัน ลักษณะหลุมยุบเกิดขึ้นจากการทรุดตัวของพื้นดินลงเป็นหลุม มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น รูปเกือบกลมหรือเป็นวงรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 เมตร ถึงมากกว่า 20 เมตร

หลุมยุบมีสาเหตุการเกิดหลักๆ อยู่ 3 แบบ คือ

1. เกิดจากโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น สาเหตุแบบนี้เกิดจากกระบวนการที่น้ำละลายหินปูน โดยเมื่อฝนตกผ่านชั้นบรรยากาศ จะได้รับก๊าซคาร์บอไดออกไซด์ ทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดอย่างอ่อน (กรดคาร์บอนิก) เมื่อไหลผ่านและสัมผัสกับหินปูนจะละลายหินปูนออกไปด้วย ในที่สุดก็จะค่อยๆ เกิดเป็นโพรงหรือถ้ำอยู่ใต้ดินขึ้น เมื่อโพรงใต้ดินเหล่านี้มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นและอยู่ใกล้ผิวดินมากยิ่งขึ้น จนกระทั้งเพดานโพรงไม่สามารถต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนได้ ก็จะถล่มพังลงไปด้านล่างและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด

หากทุกคนอยากทราบว่าโพรงหินปูนมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึงตอนที่เราไปเที่ยวกันในถ้ำนะครับ ซึ่งนั่นก็คือ โพรงหินปูนนั่นเอง ปกติถ้าโพรงหินปูนอยู่พ้นผิวดินก็คือ ถ้ำ ถ้าไม่โผล่เรียกว่าโพรงหินปูนใต้ดิน สามารถจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร) ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น เช่น เหตุการณ์หลุมยุบบริเวณสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านไร่ป้า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

2. หลุมยุบจากโพรงเกลือหิน เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นเกลือหินรองรับอยู่ด้านใต้ ซึ่งเกลือหินมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ง่ายทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และมีโอกาสเกิดหลุมยุบได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ เมื่อเพดานโพรงพังทลายอันเนื่องมาจากระดับความดันภายในโพรงเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นหลุมยุบขึ้น สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น หลุมยุบที่บ้านหนองราง ต.ค้างพูล อ.โนนไทย จ.นครราชสีมาหลุมยุบที่บ้านหนองราง ต.ค้างพูล อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ลึก 10 เมตร

3. ชั้นทรายถูกน้ำใต้ดินพัดพาออกไป ทำให้เกิดดินทรุด ตลิ่งพัง มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นทรายรองรับอยู่ใต้ดินและอยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง สาเหตุแบบนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเมื่อมีฝนตกหนักหรือตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณและแรงพัดพาของน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นจึงพัดพาเอาตะกอนทรายใต้ดินลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น และอาจทำความเสียหายให้กับตลิ่งแม่น้ำ ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายได้ เช่น เหตุการณ์ดินทรุดตัวในพื้นที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง

เมื่อเราพอจะทราบสาเหตุหลักๆของการเกิดหลุมยุบแล้ว ทีนี้เราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลุมยุบที่กัวเตมาลากันครับ เหตุกาณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากพายุโซนร้อนอกาธา ทำให้มีฝนตกหนักโดยในบริเวณที่เกิดหลุมยุบรองรับด้วยชั้นหินปูนที่โพรงถ้ำใต้ดินและปิดทับตอนบนด้วยตะกอนดินเมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนซึมลงสู่โพรงถ้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำใต้ดินและเมื่อเพดานต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนไม่ไหวจึงพังกลายเป็นหลุมยุบ

สำหรับในประเทศไทย เกิดปรากฎการณ์หลุมยุบขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป หลุมยุบบางแห่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม นั่นก็คือ ทะเลบัน จังหวัดสตูล ถ้ำมรกต จ.กระบี่ และทะเลในหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

http://www.innnews.co.th/images/news/2012/32/392310-02.jpg

เหตุกาณ์หลุมยุบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเกิดขึ้นที่บ้านพละใหม่ ตำบลขะเนจื้อ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ขนาด 30 X 30 เมตร ลึก 20 เมตร ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ส่วนเหตุการณ์ดินทรุดตัวที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 14 หลัง สาเหตุเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรองรับด้วยชั้นทรายขี้เป็ด เมื่อระดับน้ำเจ้าพระยาลดลง แรงดันน้ำใต้ดินบนตลิ่งได้ดันทรายในชั้นทรายขี้เป็ดไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น เมื่อมีตัวกระตุ้นทั้งจากน้ำหนักการถมที่เพิ่มขึ้นหรือการก่อสร้างในบริเวณนั้น จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการทรุดตัว และทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายตามที่ปรากฎตามข่าว

สนับสนุนข้อมูลโดย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย


จาก ........................ สำนักข่าว INN คอลัมน์เรื่องเล่าดีๆ วันที่ 18 กรกฎาคม 2555

สายน้ำ
14-12-2014, 09:17
http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News/571214_Mgr_Tornado01_zps2d3240e3.jpg

http://i1198.photobucket.com/albums/aa455/saveoursea/Morning%20News/571214_Mgr_Tornado02_zps064609a0.jpg


จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2557