PDA

View Full Version : แนะนำเรื่องดำน้ำ ตอนที่ 4 “พักน้ำ….5 นาทีที่มีค่า”


สายน้ำ
23-11-2009, 12:55
กระทู้เดิมได้โพสต์ไว้ใน Webboard 1 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2546


สวัสดีครับ กลับมาอีกครั้งถึงแม้จะไม่มีใครเรียกร้อง

ผมได้เรื่องที่มีสาระนำมาสะกิดสะเกาความรู้และทักษะในการดำน้ำให้กับเพื่อนๆ เป็นทักษะจำเป็นที่ต้องใช้ในทุกไดฟ์ของการดำน้ำ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตัวเราเองและบัดดี้ของเรา

คงจะจำได้จนขึ้นใจว่า ....….ถึงแม้จะไม่ติด Decompression Stop ก็ตาม ก่อนจะขึ้นสู่ผิวน้ำ เราจะต้อง “พักน้ำ” หรือทำ “Safety Stop” หรือ “Precautionary Stop” ที่ความลึก 10 – 15 ฟุต อย่างน้อย 3 – 5 นาทีก่อนที่จะขึ้นถึงผิวน้ำ

สายน้ำ
23-11-2009, 12:56
ผมคงไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาวหรอกนะครับว่า ......ทำไมนักดำน้ำต้อง “พักน้ำ” ....

แต่ผมอยากจะเล่าเรื่องที่นาย John Francis ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ใน Rodale’s Scuba Diving ฉบับประจำเดือน June 2003 ในชื่อเรื่อง “ ท่านควรทำ 5 นาทีสุดท้ายของการดำน้ำทุกไดฟ์ให้มีค่า..... ด้วยการพักน้ำ”

ลองอ่านดูนะครับ

สายน้ำ
23-11-2009, 12:57
ถึงแม้ว่าในตำราจะกำหนดให้ 15 ฟุต เป็นความลึกที่ต้องหยุดเพื่อพักน้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้อง 15 ฟุตเป๊ะเสียทีเดียว

หากที่ 15 ฟุตจุดที่ตามตำรากำหนดไว้ มีใครต่อใครมาหยุดพักน้ำกันเต็มไปหมด ทำให้หาที่แทรกลำบาก เราอาจขยับขึ้นไปที่ 12 หรือ 10 ฟุตก็ได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า
ถ้าเกิดมีคลื่นโยนไปมา ที่จะทำให้เราคงระดับความลึกที่ 10 – 12 ฟุต ได้ลำบาก เราอาจลงไปพักที่ระดับ 18 – 20 ฟุตแทนก็ได้ครับ

สายน้ำ
23-11-2009, 12:59
ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ตอนนั้น หากมีที่ที่เราสามารถใช้มือเกาะได้หรือ มีอะไรเด่นๆบนหน้าผาหรือก้อนหินให้เราคอยสังเกต แทนที่จะก้มหน้าก้มตาดูแต่เกจวัดความลึกเพียงอย่างเดียว หรืออาจจะเกาะ Hang Bar ที่เรือบางลำมีใช้ หรือเกาะสายทุ่นหรือสายสมอ

แต่ต้องระวังหากบริเวณนั้นมี surge ที่ไม่เพียงแต่เหวี่ยงสิ่งที่เราเกาะไปมาแล้ว ยังเหวี่ยงตัวเราที่เกาะอยู่ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ระดับความลึกเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ และมีผลต่อการพักน้ำของเรา แถมเรายังจะหน้าเขียวหน้าเหลือง.......คลื่นไส้ หรือถึงกับอาเจียนได้ เพราะเมาคลื่นที่โยกไปก็โยกมา ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผมประสบเป็นประจำครับ

สายน้ำ
23-11-2009, 13:00
4 – 5 นาทีจะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพักน้ำในสถานการณ์ปกติ ถ้าอากาศในถังมีพอ

และเวลา 3 นาที เป็นเวลาขั้นต่ำสำหรับใช้พักน้ำ

แต่อาจมีข้อยกเว้นมีความจำเป็นต้องใช้เวลาน้อยกว่านั้น เช่นกรณีอากาศในถังไม่พอสำหรับจะอยู่ได้อีก 5 นาที หรือรู้สึกหนาวจนทนไม่ได้แล้ว หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆขึ้นมา


แต่ถ้าดำน้ำจนติด Decompression Stop ก็ต้องพักน้ำอย่างน้อยตามเวลาที่ควรจะเป็น คือตามการคำนวณของ Dive Computer หรือ Dive Table แล้วแต่กรณี

สายน้ำ
23-11-2009, 13:01
หายใจให้ลึกๆช้าๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

การหายใจออกจนหมด จะช่วยขับไนโตรเจนส่วนเกินออกมาจากปอด

สายน้ำ
23-11-2009, 13:02
ทำให้เวลาในการทำ Safety Stop ผ่านไปเร็วๆ อาจจะโดยนึกทบทวนถึงการดำที่เพิ่งจะผ่านไป

นึกถึงสิ่งที่ได้พบเห็นเพื่อนำมาคุยอวดคนอื่นบนเรือ โดยเฉพาะอะไรก็ตามที่เราเห็นแต่คนอื่นๆไม่เห็น นึกทบทวนถึงทักษะต่างๆของเราที่รู้สึกว่าได้พัฒนาไปในทางดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเท็คนิคการดำน้ำหรือการใช้อุปกรณ์ดำน้ำหรืออุปกรณ์การถ่ายภาพ หรือนึกเตรียมการล่วงหน้าถึงช่วงที่เรากำลังลอยตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และคิดเตรียมว่าเราจะคว้าบันไดอย่างไร ถ้าขึ้นไปแล้วมีคลื่นบนผิวน้ำ ฯลฯ

สายน้ำ
23-11-2009, 13:05
เมื่อเสร็จสิ้นการพักน้ำ ก่อนจะลอยตัวขึ้น ศีรษะตั้งตรง ... แหงนมองขึ้นไปรอบๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายบนผิวน้ำ เช่น เรือ หรือนักดำน้ำคนอื่นๆ แล้วเริ่มเตะตีนกบ (ไปด้านหน้าและหลัง) อย่างช้าๆ โดยไม่ต้องเป่าลมเข้า BC ตรงกันข้าม เรากลับต้องคอยปล่อยลมออกจาก BC ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลอยตัวขึ้นเร็วเกินไปจนควบคุมไม่ได้

จำไว้ว่า ความกดจะเปลี่ยนแปลงเร็วมากในช่วง 15 ฟุตห่างจากผิวน้ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราควรควบคุมความเร็วในการลอยตัวขึ้นให้ได้ประมาณ 30 ฟุตต่อนาที ตลอดทางจนถึงผิวน้ำนะครับ

ขอจบกันดื้อๆแบบนี้หล่ะครับ ผมหวังว่าเรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังครั้งนี้ คงสะกิดต่อมขี้เกียจของหลายๆคนได้พอสมควร

แต่เรื่องการทำ Safety Stop เพียงแค่ 5 นาทีก่อนขึ้นเรือ อย่าละเลยกันเลยครับ ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินจริงๆ

อย่าลืมว่า ชีวิตและสุขภาพของเรามีค่ากว่า 5 นาทีสุดท้ายของการดำน้ำทุกไดฟ์มากมายนัก

แล้วพบกันใหม่ในเรื่องต่อไปครับ


แสดงแบบโดยคุณ lara13 ระหว่างทำ safety stop เธอแก้เหงาด้วยการถ่ายภาพไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคุณสายชล ที่ระหว่างทำ safety stop เธอไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ค่าแม้แต่นาทีเดียว