PDA

View Full Version : พา"ฉลามน้อย"กลับบ้านเกิด สร้างสมดุลโลกใต้ทะเล


สายน้ำ
25-11-2009, 08:22
พา"ฉลามน้อย"กลับบ้านเกิด สร้างสมดุลโลกใต้ทะเล

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01251152p1.jpg
ทัศพล แบเลเว็ลด์ (เสื้อขาว), วิบูลย์ รักเสรี (เสื้อม่วง), วรรณเกียรติ ทับทิมแสง (เสื้อดำ)

" อยากให้ทะเลมีปลาฉลามเยอะๆ ค่ะ" เสียงใสๆ ของเด็กหญิงกัญญาภัค สิงห์ดำ หรือ "น้องน้ำ" วัย 14 ปี กล่าวขึ้นอย่างดีใจ เมื่อเห็นพี่ๆ นำฉลามน้อยตัวเป็นๆ ไปปล่อยที่แหลมพันวา จ.ภูเก็ต บ้านแท้จริงของปลาฉลามในทะเลอันดามัน พร้อมกับบอกเล่าถึงความรู้สึกว่าเธอยังไม่เคยเห็นฉลามตัวจริงเลย นอกจากจะเห็นในตู้กระจก

"น้องน้ำ" อาศัยอยู่ในพื้นที่แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ที่ สยามโอเชี่ยน เวิร์ล ร่วมกับ สายการบินไทยแอร์เอเชีย พาฉลามบินลัดฟ้าจากทะเลจำลองในเมืองกรุงกลับคืนสู่บ้านที่แท้จริงของมัน

หากย้อนกลับไปในอดีต ที่บริเวณแหลมพันวานับว่าเป็นถิ่นที่มีปลาฉลามชุกชุม แต่ต่อมาเมื่อมีการจับปลาฉลามเพื่อนำไปทำอาหารเหลาราคาแพง "หูฉลาม" จึงทำให้ปริมาณฉลามในบริเวณนี้ลดน้อยถอยลง

สำหรับกิจกรรม "ปล่อยปลาฉลาม" ก็เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติสร้างระบบนิเวศให้ฉลามกลับมามีจำนวนมากเหมือนเดิม ซึ่ง วิบูลย์ รักเสรี ผู้จัดการฝ่ายดูแลสัตว์น้ำบริษัท สยามโอเชี่ยนเวิร์ล เล่าว่า ฉลามที่นำมาปล่อยคืนสู่ทะเลอันดามัน เป็น "ฉลามปล้องอ้อย" จัดขึ้นเพื่อรณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฉลาม เพราะจำนวนฉลามปล้องอ้อยในปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างมาก สาเหตุมาจากถูกคุกคามจากการทำประมงที่ผิดวิธีและการลักลอบจับเพื่อนำไปขาย

"ฉลามปล้องอ้อย" หรือเรียกอีกอย่าง "ฉลามกบ" เป็นฉลามตัวเล็ก ใจดี ชอบอยู่นิ่งๆ กินแต่พืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

สำหรับฉลามปล้องอ้อยที่นำมาปล่อยครั้งนี้มีจำนวน 5 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ 2 ตัวเมีย 3 อายุประมาณ 4 ปี มีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร เกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อ-แม่ ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์น้ำของสยามโอเชี่ยนเวิร์ล ทำการเพาะขยายพันธุ์ขึ้นภายในอควาเรียม จนมีความพร้อมที่จะแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ ณ แหลมพันวา จ.ภูเก็ต

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01251152p2.jpg
(ซ้ายบน) แช่น้ำเพื่อปรับอุณหภูมิ (ขวาบน) ฉลามปล้องอ้อยกลับคืนสู่ทะเล (ซ้ายล่าง) ฉลามน้อยในกล่องพร้อมเดินทางไปยังแหลมพันวา จ.ภูเก็ต (ขวาล่าง) ลำเลียงปลาฉลามขึ้นเครื่องบิน

" ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์น้ำได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ตั้งแต่ขั้น ตอนการฟักไข่ ที่ต้องทำความสะอาดและตรวจสอบไข่เป็นประจำทุกวันเพื่อแยกไข่เสีย จากนั้นทีมดูแลสัตว์น้ำก็ต้องกระจายวางไข่บนพื้นกรวดในตู้เลี้ยงไม่ให้ซ้อน กัน เพื่อป้องกันการเน่าเสีย ในขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ทั้งอุณหภูมิ ความเค็ม และความเป็นกรดด่างของน้ำที่ใช้ระหว่างขั้นตอนการฟักไข่ และเมื่อลูกปลาฉลามฟักออกจากไข่แล้ว จะนำไปแยกเลี้ยงในถังอนุบาล โดยให้กุ้งสดและปลาหมึกเป็นอาหาร" วิบูลย์กล่าว

ส่วนเที่ยวบินของไทยแอร์เอเชีย ในการพาฉลามน้อยกลับบ้านครั้งนี้เป็นเที่ยวบินที่จัดขึ้นพิเศษและเป็น เครื่องแอร์บัสลำใหม่ ซึ่ง สิทธิกร กมลาสน์ เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำของสยามโอเชี่ยนเวิร์ล ได้เล่าถึงขั้นตอนการนำฉลามน้อยขึ้นเครื่องบินลัดฟ้าสู่ทะเลว่า ในการขนย้ายฉลามน้อยกลับสู่บ้านได้อย่างปลอดภัยที่สุดนั้น ต้องอาศัยความพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่เริ่มแยกปลาฉลามปล้องอ้อยทั้ง 5 ตัวลงในบ่อที่เตรียมไว้ และให้อดอาหาร 3 วันก่อนปล่อยจริง เนื่องจากฉลามจะไม่ขับของเสียระหว่างการขนส่ง ซึ่งอาจทำให้มันเครียดได้

จากนั้นเป็นขั้นตอนการต้อนฉลามเข้าไปในถุงพลาสติคที่มีความเหนียวซ้อนกันถึง 2 ชั้น เพื่อป้องกันการรั่วหรือฉีกขาด ก่อนบรรจุลงในกล่องโฟมที่มีความหนามากพอที่จะรองรับแรงกระแทกระหว่างการ เคลื่อนย้าย พร้อมด้วยถุงน้ำแข็งควบคุมอุณหภูมิให้เหล่าฉลามน้อยรู้สึกผ่อนคลายที่สุด ตลอดเที่ยวบิน

และเมื่อเดินทางมาถึงแหลมพันวา ได้ทยอยถ่ายเทน้ำทะเลจากบริเวณที่จะนำฉลามไปปล่อยมาแทนน้ำในถุงที่ใส่ฉลาม เพื่อให้ฉลามปรับตัวให้เข้ากับทะเลได้เร็วที่สุด

http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2009/11/pra01251152p3.jpg
วรรณเกียรติ ทับทิมแสง กำลังปล่อยปลาฉลามปล้องอ้อย

" ส่วนที่เลือกมาปล่อยฉลามปล้องอ้อยที่แหลมพันวา เพราะเป็นสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของฉลาม คุณภาพน้ำดี มีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ และผู้คนยังไม่มากนัก อีกทั้งบริเวณแหลมพันวายังเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของฉลามชนิดนี้อยู่แล้ว " เจ้าหน้าที่สยามโอเชี่ยนเวิร์ลกล่าว และเสริมว่า ถึงแม้ฉลามจะถูกเลี้ยงในระบบปิดตั้งแต่เกิด แต่ได้มีการจำลองสภาพให้เหมือนทะเลมากที่สุด โดยการปล่อยสัตว์น้ำเช่นกุ้งและปลาหมึกให้จับกินเอง จึงเชื่อว่าสัญชาตญาณนักล่าของฉลามไม่หายไปไหน สามารถปรับตัวให้เข้ากับท้องทะเลและมีชีวิตตามวิถีธรรมชาติได้

ด้าน วรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการปล่อยปลาฉลามครั้งนี้ว่า เป็นการทำให้เกิดการร่วมมือกันอนุรักษ์ฉลามปล้องอ้อย ซึ่งเป็นฉลามที่ในอดีตเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วพบได้เป็นจำนวนมากในบริเวณแหลมพันวา

แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงมาก เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการทำประมงโดยการจับไปเป็นอาหาร เพราะฉลามชนิดนี้มีขนาดเล็ก จับง่ายและว่ายน้ำไม่เร็ว นอกจากนี้ ยังเกิดจากการทำลายธรรมชาติโดยการสร้างสิ่งปลูกสร้าง ที่พักอาศัย บริเวณชายฝั่งและการอยู่อาศัยของผู้คนในชุมชน ที่ทำให้เกิดสิ่งปฏิกูล เศษไม้ หรือวัสดุในการก่อสร้างไหลลงสู่ทะเล

"การนำฉลามหรือสัตว์น้ำ มาปล่อยยังแหลมพันวานั้นถือว่าเป็นการปล่อยในพื้นที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ ตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 นอกจากนี้ ฉลามชนิดนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร โดยการกินซากสัตว์ที่ตายในท้องทะเล เพื่อให้ท้องทะเลมีความสมดุล แม้การลดจำนวนลงหรือการ สูญพันธุ์ของปลาฉลามปล้องอ้อยจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่ก็ทำให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศลดน้อยลง ซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตนี่เองที่ทำให้ท้องทะเลมีชีวิตชีวา และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชื่นชมความงาม" วรรณเกียรติกล่าว

แม้การปล่อยลูกฉลามปล้องอ้อย 5 ตัวในวันนี้ อาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างจิตสำนึกอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนจะตระหนัก ถึงคุณค่าของทุกชีวิตและสร้างสรรค์โลกที่สมดุลให้คงอยู่

สำคัญเหนืออื่นใดคือการร่วมมือร่วมใจและการปฏิบัติอย่างจริงจัง



ฉลามปล้องอ้อย

เรียก อีกชื่อหนึ่งว่า "ฉลามกบ" (Brown-Banded catshark) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chiloscylliun punctatum เป็นฉลามหน้าดินที่มีขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่ ความยาวที่เคยพบสูงสุด คือ 121 เซนติเมตร (ตัวผู้) มีลำตัวและหางเรียวยาว จะงอยปากกว้างอยู่บริเวณด้านหน้าของตาทั้ง 2 ข้าง เมื่อวัยอ่อนจะมีแถบสีชัดเจน แต่เมื่อโตขึ้นแถบจะเริ่มจางลงเป็นสีน้ำตาลอ่อน

จัดเป็นฉลามตัวเล็ก ที่ใจดี นิสัยชอบอยู่นิ่งๆ กินแต่พืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร ออกลูกเป็นไข่ ซึ่งฉลามปล้องอ้อยเพศเมียจะไม่อยู่ดูแลไข่ของมัน แต่จะวางไข่อยู่บริเวณแนวปะการังที่มีสาหร่ายล้อมรอบอยู่ และสร้างเปลือกไข่ที่แข็งแรงปกป้องตัวอ่อน

ทั้งนี้ พบปลาฉลามปล้องอ้อยได้ทั่วไปตามพื้นทรายแนวปะการังในเขตอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และไทย ซึ่งพบทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน



จาก : มติชน วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

-Oo-
25-11-2009, 09:28
ขอให้อยู่รอดปลอดภัย และออกลูกหลานเยอะไนจ๊ะ น้องฉลามกบ :)

nokkinpeaw
25-11-2009, 09:34
เพิ่งออกอากาศรายการบางอ้อไปเมื่อวันอาทิตย์ด้วยครับ

สายชล
25-11-2009, 11:03
ดีค่ะ....ไม่ใช่จับปลาในธรรมชาติไปเลี้ยงในอควาเรียมอย่างเดียว แต่รู้จักเพาะพันธุ์ปลานำมาปล่อยซะบ้างอย่างนี้


ขออวยพรให้เพาะพันธุ์ปลาชนิดอื่นได้มากๆ....เหลือมากพอจะเลี้ยงไว้โชว์เก็บเงิน ก็นำไปปล่อยอีกนะคะ....:)

แม่หอย
25-11-2009, 12:02
แหม.. ไปปล่อยที่แหลมพันวาทั้งที เสียดายที่น่าจะมีให้เครดิตแก่งานของสถาบันวิจัยทรัพยากรฯ และนักวิชาการของสถาบันฯ ซึ่งได้เพาะขยายพันธุ์ปลาฉลามชนิดนี้และชนิดอื่นมาตั้งเยอะแยะที่นั่นด้วยสักหน่อยคงจะดีไม่น้อย ผู้คนที่ดูทีวีจะได้รู้ว่าอะควาเรียมภาครัฐเขาก็ทำงานเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำเยอะแยะด้วย..

Dolphin
25-11-2009, 13:15
เห็นด้วยกะพี่สายชลกะแม่หอยเจ้าค่ะ