PDA

View Full Version : อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเกาะมันใน ในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ


สายน้ำ
28-11-2009, 07:31
อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเกาะมันใน ในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/D0826A-5.JPG

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยที่เต่าทะเล ทรงตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยนับวันมีแต่จะลดน้อยลง มีสัตว์หลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าตาแดง ซึ่งในอดีตเคยมีเป็นจำนวนมาก บัดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรนิยมเก็บไข่เต่าทะเลไปซื้อขายเพื่อประกอบอาหาร แม้กรมประมงจะขอแก้ไขกฎหมายประมง เมื่อพ.ศ.2493 กำหนดให้ผู้ครอบครองเต่าทะเลมีความผิดตามกฎหมายแต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานเกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นถวายให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เริ่มเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2522ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนจากกรมประมง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เต่าทะเล เพื่อนำไปใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์ศูนย์อนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล นี้” ข้างต้นคือแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) นำโดยหม่อมหลวง จิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขากปร. คุณศศิพร ปาณิกบุตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์นำสื่อมวลชนไปสัมผัสโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล


พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอยู่ที่เกาะมันใน ลงเรือเพื่อไปเกาะมันในที่ท่าเรือบริเวณอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ใช้เวลา 45 นาที ในการเดินทางไปที่เกาะด้วยเรือของกรมทรัพยากรทางทะเล

เริ่มแรกการดำเนินโครงการมีระยะเวลาแต่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการชื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลสิ้นสุดลง ได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล” สังกัดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ห่างจากชายฝั่งอ่าวมะขามประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 137 ไร่

พื้นที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นชายฝั่งยาว 1,200 เมตร กว้าง 550 เมตร ประกอบด้วยหาดทรายและโขดหินน้อยใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งที่เต่าทะเลชอบขึ้นมาวางไข่ ทั้งเต่ากระและเต่าตนุ ขณะเดียวกันก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยห้ามจับและมีไว้ในครอบครองอีกด้วย

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/D0826A-3.JPG

ขณะที่นั่งเรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้เล่าเกร็ดความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกาะมันที่มีอยู่ 3 เกาะ มันใน มันนอก มันกลาง

3 เกาะมัน ประวัติเล่าสืบกันมาแบบนิทานพื้นบ้านเกี่ยวข้องกับปลากระเบน เลยเกี่ยวเกาะไปโยงเข้ากับอ่าวคุ้งกระเบนเข้าจนได้ ฟังแล้วก็สนุกดี

เกร็ดความรู้เรื่องเรือหลวง (เรือรบ) ประแสที่ใช้ในราชการตั้งแต่เมื่อครั้ง สงครามโลกครั้งที่สอง เพิ่งจะมาปลดระวางเมื่อสิบปีที่แล้วมานี่เอง การปลดระวางเรือหลวงประแส ไม่ได้ชักลากเข้ามาเหมือนทั่วๆไป แต่ลอยเข้ามาเอง พอจะขึ้นบกก็ใช้ขุดร่องให้ลอยเข้ามา

ฟังไปดูทะเลไป 45 นาทีจึงเหมือนลัดนิ้วมือ นั่งยังไม่ทันก้นร้อนถึงแล้ว ไปถึงเกาะก่อนเที่ยง จุดหมายคือที่เพาะพันธุ์เต่าทะเล

นายนิคมินทร์ จารุจินดา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯว่าเพื่อศึกษาวิจัยชีววิทยาของเต่าทะเล อนุรักษ์ และ เพิ่มจำนวนโดยการเพาะขยายพันธุ์ปล่อยสู่ทะเลตามธรรมชาติ โดยวิธีนำไข่เต่าทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ได้ จาก เกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ในความดูแลของกองทัพเรือ นำมาเพาะฟัก และอนุบาล เมื่อลูกเต่ามีอายุประมาณ 6 เดือน จะติดเครื่องหมายเพื่อติดตามผล นำปล่อยลงสู่ทะเล

“ลูกเต่าส่วนหนึ่งนำไปเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ต่อไป กรมประมงประกาศขอให้ผู้พบเต่าทะเลที่ติดเครื่องหมายนำส่งคืนศูนย์ฯ เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาค้นคว้าวิจัย และยังทดลองเลี้ยงเต่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อให้ผสมพันธุ์และวางไข่ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถขยายพันธุ์ลูกเต่าให้มีจำนวนมากขึ้น นำมาอนุบาลแล้วปล่อยคืนสู่ท้องทะเล” ผอ.ศูนย์ฯเล่า

นายนิคมินทร์บอกว่าสถานที่ดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเล มี 2 แห่ง คือ เกาะมันใน ดำเนินการเลี้ยงเต่าทะเลตั้งแต่แรกเกิดจนโตขึ้น วัดขนาดตามที่กำหนดแล้วนำไปเลี้ยงไว้ในคอกในทะเลซึ่งมีเนื้อที่ขนาด 30 ไร่ แล้วศึกษาเก็บข้อมูล

อีกแห่งหนึ่งที่ผอ.ศูนย์ฯบอกคือเกาะคราม อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ศึกษาวิจัย เก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของเต่าทะเลตามธรรมชาติ โดยติดเครื่องหมายที่แม่เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ประมาณเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พบว่าแม่เต่าตัวเดิมจะกลับมาวางไข่ห่างกัน 2-3 ปี หรืออาจจะ ถึง 5 ปี และ เก็บข้อมูลแม่เต่าใหม่ที่ขึ้นมาวางไข่ และ ศึกษาพบว่ามีประชากรเต่าทดแทนกันพอสมควร

“ปัจจุบัน สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในชื่อ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ ที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เปิดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวเข้าชม และ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เต่าทะเล และ ขายเต่าให้แก่ผู้ประสงค์จะปล่อยเต่า นำรายได้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเพาะขยายพันธุ์และ ศึกษาวิจัยเต่าทะเลต่อไป รวมทั้งรับบริจาคด้วย” นายนิคมินทร์เล่า

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯอีกคนหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ นายสมชาย มั่นชำนาญทรัพย์ บอกว่าสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กรมประมง ที่จังหวัดระยองนี้ นอกจากดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะฟักไข่เต่าทะเล การผสมพันธุ์ การวางไข่ การอนุบาล การเลี้ยง ศึกษาพฤติกรรม ดูแลรักษาและ ป้องกันโรคของเต่าทะเลแล้ว ยังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปะการังชนิดต่างๆ การแพร่กระจายเติบโตของแนวปะการัง การอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์การเจริญเติบโต การแพร่กระจายของหอยมือเสือ การปล่อยหอยมือเสือลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยของพยูน การกระจายและ แพร่พันธุ์ การเจริญเติบโตของพยูน ตลอดจนศึกษาและ สำรวจแหล่งหญ้าทะเลชนิดต่างๆที่เป็น อาหารของพยูน สัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทยด้วย

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/D0826A-6.JPG

“นอกจากโครงการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลจะได้ดำเนิน โครงการสนองพระราชปณิธานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเต่าทะเล เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้วโครงการฯ ยังได้นำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ออกประกาศห้ามส่งกระดองเต่าทะเลเป็นสินค้าส่งออก ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2523) พร้อมทั้งเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับมาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลโดยห้ามครอบครองกระดองเต่าทะเลและผลิตภัณฑ์จากเต่าทะเล ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทรปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมชาย อธิบาย

นายสมชายบอกว่าโครงการ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่เกาะมันในประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เต่าทะเลได้เอง โดยวิธีการนำไข่เต่าจากธรรมชาติมาฟักแล้วไปเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาล เมื่อเติบโตพอจะดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้ก็จะปล่อยกลับลงสู่ทะเล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ ต่อไป

นายสมชาย เน้นอีกว่า พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเลนี้ได้ ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชนในด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อให้ดำรงอยู่คู่ท้องทะเลไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และแสดงให้สังคมโลกประจักษ์ในบทบาทของไทย และความมุ่งมั่นมานะพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สรรพสัตว์ และความสามารถในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และ สิ่งแวดล้อม พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

“ในบรรดาสัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งท้องทะเลนั้น “เต่าทะเล” นับเป็นหนึ่งในผู้อาวุโสที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนานถึงราว 220 ล้านปีล่วงมาแล้ว เรียกว่าเป็นประชากรอาวุโสแห่งท้องทะเลเลยก็ว่าได้ สาเหตุที่เต่าทะเลสามารถมีชีวิตสืบสายเผ่าพันธุ์มายาวนาน ขนาดเพื่อนฝูงสัตว์ดึกดำบรรพ์รุ่นราวคราวเดียวกันต่างสูญพันธุ์ไปแล้วหรือ ไม่ก็เหลือเพียงเป็นซากฟอสซิลเท่านั้นก็เพราะเต่าทะเลมีโครงสร้างที่ธรรมชาติออกแบบมาเป็นอย่างดี มีกระดองแข็งเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย จึงไม่ค่อยมีศัตรูหรือผู้ล่าชนิดใดสามารถล่าเต่าทะเลที่เติบโตและมีความแข็ง แกร่งเต็มที่ได้ง่ายๆ เต่าทะเลที่เติบโตพ้นวัยกระดองอ่อนๆบางๆมาแล้ว จึงมักมีอายุยืนยาวสืบสานเผ่าพันธุ์ได้จวบจนอายุขัยราว 80-120 ปีทีเดียว หรืออาจจะยืนยาวถึง 160 ปี ก็ยังมีสถิติรายงาน” นายสมชาย กล่าวติดตลก

ฟังบรรยายพอได้รู้ที่มาที่ไปพอสมควรแล้วเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯจึงพาผู้บริหาร สำนักงานกปร. และสื่อมวลชนไปดูบ่อเพาะพันธุ์เต่าทะเลไม่ว่าจะเป็นเต่าตะนุ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า เต่ากระ เต่าหัวฆ้อนที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลก ดูพัฒนาการเจริญเติบโตของเต่าตั้งแต่เล็กสุดจนปล่อยลงทะเลได้ไปจนถึงใหญ่สุด ไปดูปะการังหลากหลายแบบที่นำมาโชว์ไว้ในตู้ แล้วก็ถึงเวลาไปลงดำน้ำดูประการังกันต่อไปจึงเดินทางกลับเข้าฝั่ง



จาก : สยามรัฐ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552