PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2566


สายน้ำ
06-08-2023, 03:11
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "ขนุน" (KHANUN) บริเวณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 8-9 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 5 - 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 11 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
06-08-2023, 03:47
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เฮดังๆ! เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว/อช.น้ำหนาวและภูกระดึงขึ้นแท่นเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เลย- ประเทศไทยได้รับการประกาศรับรองอุทยานมรดกแห่งอาเซี่ยนรวมกันเป็น 9 แห่งแล้ว จากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง โดย 2 แห่งล่าสุด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
โดยเฉพาะภูกระดึงมีลักษณะความโดดเด่นที่แตกต่างจากแห่งอื่นคือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายากและสัตว์ป่าคุ้มหลายหลากหลายชนิด

มีรายงานแจ้งว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 ร่วมกับ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ณ เมืองโบโกร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี นางพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยในที่ประชุมได้มีการพิจารณารับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) ของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้เสนอและผ่านการพิจารณา 2 แห่ง

ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยในที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและเห็นตาม จึงได้ประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57

โดยเฉพาะอุทยานภูกระดึง ลักษณะโดดเด่น ที่เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน มีรายละเอียดที่สำคัญ คือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น

รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา

ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 96.65 และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤๅษี สนสามพันปี รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ และในพื้นที่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น

มีรายงานอีกว่า การประกาศรับรองครั้งนี้ทำให้ประเทศไทย มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนรวมเป็น 9 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก


https://mgronline.com/local/detail/9660000070437


******************************************************************************************************


กระทบสัตว์ทะเลแล้ว คลื่นซัดคราบน้ำมันเข้าภูเก็ต-พังงา

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - คราบน้ำมันถูกคลื่นซัดเข้าชายหาดในพื้นที่ภูเก็ต-พังงา ล่าสุดพบเต่าทะเลติดคราบน้ำมันทั้งตัว เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือปลอดภัยแล้ว

จากกรณีคลื่นซัดคราบน้ำมันเข้ามาติดชายหาดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคราบสีดำลอยเข้ามาติดชายหาดจำนวนมาก ส่งผลให้ชายหาดต่างๆ มีคราบน้ำมันติดอยู่แนวชายหาดจำนวนมาก รวมทั้งขยะทะเลถูกเคลือบไปด้วยคราบน้ำมัน

ล่าสุด พบว่าคราบน้ำมันดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต ว่า พบเต่าทะเลถูกคลื่นซัดเกยตื้นชายหาดหน้าโรงแรมอังสนา ลากูน่า ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีคราบน้ำมันติดทั้งตัว

เจ้าหน้าที่ ศวอบ. เข้าช่วยเหลือและตรวจสอบเต่าเกยตื้นดังกล่าว พบเป็นเต่าตนุ (Chelonia mydas) อยู่ในช่วงวัยเด็ก ความยาว 12 ซม. ความกว้าง 10 ซม. น้ำหนัก 0.1 กก. มีสภาพอ่อนแรงมาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับปกติ ภายนอกพบคราบน้ำมันปกคลุมทั้งร่างกายรวมถึงในช่องปาก จึงได้เคลื่อนย้ายมาศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร

โดยทำการขจัดคราบน้ำมันที่ปกคลุมทั่วร่างกายและในช่องปากออก รวมทั้งทำการตรวจเพื่อพิจารณาแผนการรักษาต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9660000070420

สายน้ำ
06-08-2023, 03:51
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


สัญญาณหายนะ? 'เพนกวิน' กว่า 2,000 ตัว ตายเกลื่อนหาด คาดเกิดจาก 'โลกร้อน'

นักวิทยาศาสตร์คาดปัญหา "โลกร้อน" กระทบถึงแหล่งอาหารของสัตว์หลายชนิด ล่าสุด..พบซาก "เพนกวิน" สภาพผอมโซตายเกลื่อนหาดอุรุกวัยกว่า 2,000 ตัว บางตัวถึงขั้นไม่มีอะไรอยู่ในท้อง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660806_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


Keypoints:

- "เพนกวินมาเจลลัน" เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่ถูกจัดให้อยู่ในภาวะใกล้ถูกคุกคามมาตั้งแต่ปี 2004 แต่ก็ยังมีรายงานการตายของพวกมันอยู่เรื่อยๆ

- ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา บริเวณชายหาดอุรุกวัยพบซากเพนกวินมาเจลลันกว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นในสภาพผอมโซ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าพวกมันอาจจะอดตาย

- หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เพนกวินมาเจลลันไม่มีอาหารกินก็เพราะปัญหาจาก "ภาวะโลกร้อน" ส่งผลให้เกิดพายุเพิ่มขึ้นและพัดเอาอาหารของพวกมันออกไปจากถิ่นที่อยู่


เกิดการตั้งคำถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอีกครั้ง หลังจากช่วงสิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบซาก "Magellanic Penguins" หรือ "เพนกวินมาเจลลัน" กว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายหาดอุรุกวัย ในสภาพที่ซูบผอมผิดปกติ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของเพนกวินเหล่านั้น ไม่มีไขมันสำรองในร่างกายและไม่มีอาหารเหลืออยู่ในท้อง

ที่น่าเศร้าก็คือเพนกวินเหล่านี้ยังมีอายุไม่มากนัก และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเพนกวินตายเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ในปี 2010 และอาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชากรเพนกวินมาเจลลันมีจำนวนลดลง


รู้จัก "เพนกวินมาเจลลัน" ที่ได้รับการตั้งชื่อตามนักสำรวจ

สำหรับเพนกวินมาเจลลันนั้น เป็นหนึ่งใน 18 สายพันธุ์ของเพนกวินที่มีอยู่ทั่วโลก พวกมันได้รับการตั้งชื่อตามนักสำรวจชาวโปรตุเกส "เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน" ที่บังเอิญไปพบเจอพวกมันขณะล่องเรือสำรวจทวีปอเมริกาใต้ หลังจากนั้นมีข้อมูลว่าพวกมันสามารถพบเจอได้ทั่วไปทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติกและฝั่งแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือ รวมถึงในอาร์เจนตินา ชิลี และหมู่เกาะฟอล์คแลนด์

ลักษณะเด่นของเพนกวินมาเจลลันก็คือ มีลำตัวสีดำ แต่มีส่วนท้องเป็นสีขาว เพื่อปกป้องตัวเองจากนักล่าในท้องทะเล เพราะเวลาพวกมันดำลงไปในน้ำลำตัวที่เป็นสีดำจะช่วยให้พวกมันดูกลมกลืนไปกับห้วงน้ำในมหาสมุทร ส่วนเท้ามีลักษณะเป็นพังผืดและตีนกบยาวเพื่อให้ว่ายน้ำได้คล่องตัว รวมถึงมีขนปกคลุมเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันมีสภาพอากาศหนาวจัด

โดยปกติแล้ว "เพนกวินมาเจลลัน" จะออกไข่เฉลี่ยเพียงครั้งละ 2 ฟอง ส่วนอาหารหลักของพวกมันก็คือปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตัก ปลาซาร์ดีน เป็นต้น และเมื่อฤดูผสมพันธุ์สิ้นสุดลง พวกมันก็จะว่ายน้ำอพยพขึ้นไปทางเหนือในช่วงฤดูหนาว

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของเพนกวินมาเจลลันก็คือ พวกมันถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์เพนกวินที่เผชิญภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการอยู่รอด เช่น มลพิษน้ำมันตกค้างเรื้อรังในทะเล ซึ่งรายงานจากบัญชีแดงของ IUCN ประเมินไว้ว่ามีเพนกวินมาเจลลันตายจากมลพิษน้ำมันไปแล้วถึง 20,000 ตัว นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ และปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ "การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ" เพราะนอกจากจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันเสียหายจากการโดนน้ำท่วมแล้ว ยังทำให้พวกมันไม่มีอาหารกินด้วย


"ภาวะโลกร้อน" หนึ่งในตัวแปรเพนกวินตายเกลื่อน?

จากปัญหาดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "เพนกวิน" เกยตื้นตายพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจาก The National News ระบุว่าเคยมีการนำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมว่าเพนกวินมาเจลลันถือเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่ม ?ใกล้ถูกคุกคาม? ตั้งแต่ปี 2004 และตลอดช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าพวกมันหลายร้อยตัวเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของอเมริกาใต้

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซากของ "เพนกวินมาเจลลัน" ถูกซัดมาอยู่บริเวณชายหาดเป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2010 พบว่ามีเพนกวินประมาณ 500 กว่าตัว ตายอยู่บริเวณชายหาดของบราซิลเนื่องจากไม่มีอาหารกิน และหลังจากนั้นในปี 2012 ก็มีเพนกวินมาเจลลันถูกพบว่าอดตายอยู่ที่ชายหาดเดิมอีกประมาณ 700 ตัว ต่อมาในปี 2019 ก็พบว่ามีเพนกวินกว่า 300 ตัว ตายเพราะคลื่นความร้อน

แม้ว่าเหตุการณ์อันน่าเศร้าเกี่ยวกับการตายของเพนกวินมาเจลลันจะเกิดขึ้นมาตลอดหลายปี แต่สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานั้น Carmen Leizagoyen (คาร์เมน เลซาโกเยน) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัยระบุว่า ร่างกายของเพนกวินเหล่านั้นไม่มีไขมันสำรองหลงเหลืออยู่เลย และภายในท้องของพวกมันก็ว่างเปล่าคล้ายกับว่าอดอาหารมาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ยังพบว่าไขมันบนขนของเพนกวินก็หายไปด้วย ซึ่งไขมันดังกล่าว คือ ปัจจัยสำคัญที่ปกป้องพวกมันจากอากาศที่หนาวเย็น โดยเฉพาะในเพนกวินที่ยังมีอายุน้อย

การตายของเพนกวินมาเจลลันในครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งอุรุกวัยได้พัดพาเอาอาหารของเหล่าเพนกวินไปที่อื่น ทำให้พวกมันต้องอดอาหารและอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนอดตายไปในที่สุด

ไม่ใช่แค่เพียงเพนกวินเท่านั้น แต่ในบริเวณนั้นยังมีซากนกทะเล ซากเต่า และซากสิงโตทะเลที่ร่างกายไร้ซึ้งไขมันและอาหารในท้องรวมอยู่ด้วย ทำให้เชื่อได้ว่าท้องทะเลในปัจจุบันนี้อาจกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร

ปัจจัยสำคัญที่ Rescate de Fauna Marina (SOS) หรือ องค์กรสวัสดิภาพสัตว์มองว่าทำให้สัตว์ทะเลตายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มาจากการทำประมงขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ และผลเสียจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำนอกชายฝั่ง รวมถึงอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดพายุอีกด้วย

แม้ว่าจะมีการตายของสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันกลับยังไม่มีการแก้ปัญหาและการรับมือที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านี้ต้องอดอาหารจนตายและอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในอานคต แต่สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายควรตระหนักก็คือผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราค่อยๆ ทยอยหายไปเรื่อยๆ

อ้างอิงข้อมูล : The National News, National Geographic, Rescate de Fauna Marina (SOS) และ Sciencealert


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1082026