PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566


สายน้ำ
27-08-2023, 02:55
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย.นี้ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 ? 28 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย สูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 1 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย. นี้ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 1 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
27-08-2023, 03:02
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รู้จัก "ปลานกแก้วหัวโหนก" ปู่โสมเฝ้าทะเล 1 ในปลาหายากที่สุดของไทย

อ.ธรณ์ นักวิชาการทางทะเล เผยคลิปประทับใจ "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก สายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยคลิป "ปู่หัวโหนก" ในทริปสำรวจทะเลโลซิน ดำเนินการโดยความร่วมมือจากกรมทะเลชายฝั่ง/ม.เกษตรศาสตร์, ม.อ./ม.ราม/มูลนิธิเอนไลฟ์ ภายใต้ความสนับสนุนจาก ปตท.สผ.

โดยระบุข้อความว่า "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก (Green humphead parrotfish) ซึ่งเป็นปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

สำหรับปลานกแก้วหัวโหนก คือโคตรปลานกแก้ว ความยาวเต็มวัย 1.5 เมตร น้ำหนักอาจถึง 75 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่กับแนวปะการังน้ำลึก/น้ำใส สมบูรณ์ ในทะเลไทยนานทีมีรายงานหน เช่น เกาะสุรินทร์ แต่สถานที่เจอประจำคงเป็นที่เกาะโลซิน เกาะไกลฝั่งที่สุดในอ่าวไทย หรือเกาะแสนล้านที่บางคนเรียกเพราะเกี่ยวข้องกับพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปที่นั่น เพื่อศึกษาสารพัดเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งแสนสำคัญคือพบเจอปลาหัวโหนก ปู่โสมเฝ้าทะเลแสนล้าน ว่ายังคงอยู่ดีมีสุข

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปลานกแก้วหัวโหนก ดังนี้


ทำไมเรียกปู่ปลา?

ปลานกแก้วหัวโหนกอายุยืนมาก อาจถึง 40 ปี เมื่อเทียบกับปลากระดูกแข็งด้วยกัน (ไม่นับฉลาม/กระเบน) ถือว่าเป็นระดับปู่ทวดได้เลยฮะ


ตัวใหญ่แค่ไหน?

ยาว 1.5 เมตร หนัก 75 กก. น้ำหนักเท่าผมเลยครับ แต่เตี้ยกว่า นี่คือปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก มีอยู่แค่ชนิดเดียวเท่านั้น ทั้งโลกเจอได้เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมหาสมุทรอินเดีย


ดูยังไงคะ ว่าเป็นปลานกแก้ว?

เด่นสุดคือฟันในปาก หนูลองสังเกตคลิปช่วงสโลว์ให้ดี จะเห็นฟันรวมเป็นแผ่นเหมือนปากนกแก้ว ยื่นออกมานอกริมฝีปาก อีกอย่างคือการว่าย สะบัดครีบเป็นจังหวะพั่บๆ ดูแล้วคล้ายนกแก้วบินจ้ะ


ปู่กินอะไรฮะ?

ฟันแบบนี้มีไว้แทะ/ขูด หากเป็นปลานกแก้วทั่วไปจะขูดสาหร่าย/ปะการัง แต่ถ้าเป็นปู่หัวโหนกตัวใหญ่ อาจงับเข้าไปเคี้ยวในปากเหมือนเรากินขนม ไปบอกคุณแม่ให้ซื้อขนมมาให้หนูทำการทดลองเคี้ยวแบบปลานกแก้วหัวโหนกสิจ๊ะ


ทำไมปลานกแก้วสำคัญคะ?

จุดเด่นคือปลาคุมปริมาณสาหร่าย ปลานกแก้วยังช่วยสร้างทรายให้แนวปะการัง คุณปู่เป็นเทพในเรื่องนี้เลยครับ

เนื่องจากตัวใหญ่จึงกินเยอะ ปลานกแก้วหัวโหนกจะสร้างทรายปีละ 5 ตัน มากกว่าปลานกแก้วทั่วไปหลายร้อยเท่า ผมใส่ภาพปู่อึไว้ในเมนต์ แนะนำให้เปิดดูครับ


แล้วทำไมหัวโหนก? เฉพาะตัวผู้หรือเปล่าครับ?

จะตัวผู้หรือตัวเมีย หัวก็โหนกครับ ปลาชนิดนี้บ่งบอกเพศจากรูปร่างภายนอกไม่ได้ หัวโหนกมีไว้ดุนดันให้เศษปะการังหักออกมา แต่ไม่ได้ทำทุกครั้งเพราะเจ็บหัว (มั้ง)

บางครั้งปลาอาจหวงอาณาเขตโดยเฉพาะช่วงผสมพันธุ์ เมื่อตัวอื่นว่ายล้ำเข้ามาอาจว่ายไล่ บางทีเอาหัวชนกัน (มีคลิปของฝรั่ง เสียงดังได้ยินในน้ำเลยครับ)


อยู่ตัวเดียวไม่เหงาเหรอคะ?

ปรกติปลานกแก้วหัวโหนกชอบอยู่เป็นฝูง เหมือนกับปลานกแก้วทั่วไปที่ชอบรวมฝูงว่ายหากินในแนวปะการังในตอนกลางวัน ช่วงกลางคืนจะแยกย้ายกันหากิน ก่อนกลับมารวมฝูงกันตอนเช้า

หากเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ อาจเจอหลายสิบหรือนับร้อยตัว แต่แนวปะการังไทยเล็ก ฝูงใหญ่สุดที่ผมเคยเจออยู่ที่เกาะสุรินทร์ นับได้ 17 ตัว

สำหรับโลซิน อยู่เดี่ยวๆ เพราะแนวปะการังใหญ่ไม่พอ ปู่เหงาอยากมีอีหนูมาปรนนิบัติก็ไม่มีเนื่องจากพื้นที่แค่นี้ไม่พอกิน


ใกล้สูญพันธุ์หรือยังจ๊ะ?

ใกล้แล้วครับ สถานภาพระดับโลก VU เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากถูกจับ ยังเกี่ยวข้องสภาพระบบนิเวศ ปลาชนิดนี้ต้องการแนวปะการังสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้โลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามที่แรงขึ้นเรื่อยๆ

ปลานกแก้วหัวโหนกในไทยมีน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่แนวสมบูรณ์ที่เป็นอุทยาน/พื้นที่อนุรักษ์ (เช่น โลซิน) ภัยคุกคามระยะยาวของเราคือระบบนิเวศอยู่ในภาวะเสี่ยง


สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคุณปู่?

แค่เห็นก็อยากยกมือไหว้ รักษาสุขภาพด้วยนะฮะ แล้วเราจะช่วยดูแลทะเลให้สวยๆ สมเป็นบ้านของปู่

ให้ปู่ปลาอยู่เป็นศักดิ์ศรีของท้องทะเลบ้านเราไปอีกนานเท่านานครับ


https://www.thairath.co.th/news/society/2720251#google_vignette


******************************************************************************************************


ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาหารทะเลน่ากังวลแค่ไหน ปนเปื้อนรังสี

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ผ่านการบำบัดแล้ว และสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ได้ไฟเขียว เมื่อเดือน ก.ค. หลังญี่ปุ่นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมานาน 2 ปี แต่ยังคงสร้างความกังวลให้กับชาวญี่ปุ่น และประเทศใกล้เคียง มีการประณามญี่ปุ่นไร้ความรับผิดชอบ

เป็นเหตุให้รัฐบาลจีน ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว แต่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่นได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี และมีหลักฐานว่าผลิตนอก 10 จังหวัดต้องห้าม รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งได้ออกมาประท้วง และผู้คนแตกตื่น มีการกักตุนอาหารทะเล สาหร่ายทะเล และเกลือไว้ล่วงหน้า

น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ถูกกรองออกไปแล้ว ยกเว้นทริเทียมและคาร์บอน-14 แยกออกจากน้ำได้ยากมาก แต่ญี่ปุ่นยืนยันอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งการทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในรอบแรกของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เริ่มปล่อยในปริมาณ 7,800 ตันในระยะเวลา 17 วัน จากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในถังกักเก็บมากกว่า 1.3 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก คาดจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี

โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหล เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลในปี 2529 ต้องใช้น้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิ และเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไว้ในถังกักเก็บจนเต็มความจุ นานกว่า 10 ปี โดยการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการรื้อถอนโรงไฟฟ้า


ไทยตรวจสอบเข้มงวด อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงสู่ทะเล ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ทางสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ออกมาระบุมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กัมมันตภาพรังสี จะส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลของไทย แต่การตรวจสอบอาหารทะเลจากชายฝั่งของไทยยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะต้องตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคไทย

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะเลเจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่านอาหารและยาของ อย. มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน


อาหารทะเลไทย กินได้ไร้กังวล "ฟุกุชิมะ" อยู่ไกลมาก

ขณะที่ "ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าคนไทยยังสามารถกินอาหารทะเลของบ้านเราได้เหมือนเดิม เพราะทะเลบ้านเราห่างจากฟุกุชิมะ 5,000 กม. วัดเป็นเส้นตรง และหากวัดลัดเลาะชายฝั่งจะไกลกว่ามาก หากสารมีอันตราย กว่าจะมาถึงต้องผ่านหลายประเทศ

นอกจากนี้กระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio) ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา หากคิดถึงการสะสมระยะยาวในดินตะกอน สัตว์น้ำ ฯลฯ ยังอยู่ไกลมาก สามารถกินอาหารทะเลไทยต่อไปได้ และควรกินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


น้ำบำบัดแล้ว เหลือทริเทียม และคาร์บอน-14 น้อยมาก

"ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย คาดว่าน้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วจะมีสารทริเทียม ประมาณ 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ต้องไม่เกิน 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งเบ็กเคอเรลเป็นหน่วยวัดปริมาณกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวจากต้นกำเนิดรังสี และแม้ญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงบำบัดน้ำเสียจนสารกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเข้าใกล้ศูนย์ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ไม่สามารถกำจัดสารทริเทียม และคาร์บอน-14 ได้หมดแต่จะเหลือน้อยมาก

ในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ถึง มิ.ย. 2566 จากการสำรวจพบปลา 44 ชนิดมีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนมากกว่า 100 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าที่ปนเปื้อนในมหาสมุทร และมีผลต่อสุขภาพอนามัยได้แก่ สารคาร์บอน-14, ไอโอดีน-131, ซีเซียม-137, สตรอนเซียม-90, โคบอลต์-60 และไฮโดร-3 ซึ่งเรียกว่าทริเทียม

ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกง ไม่รับประกันการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีต่อระบบนิเวศในทะเลและความปลอดภัยในอาหารทะเลเกรงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวโดยสั่งแบนอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยโตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ นอกจากนี้ประเทศจีนและเกาหลีใต้ ก็ได้ระงับการนำเข้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน.


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2720300

สายน้ำ
27-08-2023, 03:05
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ทช.เอาจริงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว-เรือประมงทิ้งสมอบนแนวปะการังเจอโทษหนัก

ศูนย์ข่าวศีรราชา - ทช.เอาจริงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวและเรือประมงทิ้งสมอบนแนวปะการัง พบการกระทำผิดเจอโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (26 ส.ค.) นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเรือเร็วลงตรวจสอบพื้นที่อ่าวบางเสร่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว และเรือประมง ป้องกันการทิ้งสมอในแนวปะการัง รวมทั้งการทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น การดำน้ำลึก โดยห้ามสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง

โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำน้ำลงตรวจสอบสภาพสมอเรือว่าอยู่บนแนวปะการัง หรือทำลายปะการังและแนวปะการังหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบเรือทำความผิดแต่อย่างใด

นายวุฒิพงษ์ เผยว่า จากนี้หากเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิดตามมาตรการที่กำหนดไว้จะดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองในทันที

โดยมีบทลงโทษตาม ม.89 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบัญชีแนบท้ายสัตว์คุ้มครองชนิดสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังลำดับที่ 4 ปะการังแข็งทุกชนิด

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีมาตราการดูแลทรัพยากรแนวปะการัวในพื้นที่ และในเร็วๆ นี้ยังจะมีการจัดวางทุ่นผูกเรือ และทุ่นแนวเขตกว่า 50 จุด เพื่อลดผลกระทบจากการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการสอดส่องดูแลผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำความผิดร่วมกันต่อไป


https://mgronline.com/local/detail/9660000077039

สายน้ำ
27-08-2023, 03:07
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ชาวประมง อ.บ้านแหลม วอนแก้ปัญหา ดินโคลน- เปลือกหอย ทับถมปากทางเข้าออกทะเล

ชาวประมง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหา ดินโคลน- เศษเปลือกหอย ทับถมปากทางเข้าออกทะเล

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660827_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

(26 ส.ค.2566) ชาวประมงพื้นบ้าน 4 ตำบลใน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ร้องผ่านทีมข่าวรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส ได้รับผลกระทบจากปัญหาดินโคลน-เศษเปลือกหอย หรือกระซ้า ปิดทางเข้า-ออกเรือประมงทำให้กระทบต่ออาชีพ

เป็นปัญหาซ้ำซาก มานานหลาย 10 ปี ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นเร่งหางบประมาณมาช่วยขุดลอกคลอง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงขอให้ภาคเอกชนเข้าช่วยเหลือ รวมถึงยังประสบปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งกินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่

ชาวประมงพื้นบ้าน หมู่ 2 ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งใน 8 พื้นที่คลอง ใน 4 ตำบล ที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาซากเปลือกหอย หรือ กระซ้า พร้อมกับดินโคลน ที่ถูกน้ำทะเลพัดมาทับถม

ทำให้ร่องน้ำในคลองที่ใช้สำหรับเดินเรือออกสู่ทะเล เพื่อไปหารายได้มาเลี้ยงปากท้องในครอบครัว ตื้นเขิน เป็นอุปสรรคที่พวกเขาบอกว่า บางวันกลับเข้าฝั่งไม่ได้ ต้องจอดเรือทิ้งไว้ แล้วเดินลำเลียงปลาขึ้นฝั่ง

ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าชี้แจงว่า ได้ขุดลอกลำคลองบริเวณนี้ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดและต้องดูแลทั่วประเทศ ดังนั้นหน่วยงานในท้องถิ่นไม่นิ่งนอนใจต่างลงพื้นที่และช่วยกันจัดหางบประมาณ

บางคนมอบเงินส่วนตัวมาช่วยเหลือ เพื่อให้ทันกับความเดือดร้อนดังกล่าว และระดมกำลังชาวบ้านนำเสาไม้ มาปักเป็นแนวกั้นบรรเทาไปได้ชั่วคราวแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขอย่างถาวรได้

ล่าสุดนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพชรบุรี เขต 1 หลังลงพื้นที่ ได้นำปัญหาดังกล่าวไปเสนอญัตติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งช่วยเหลือ

ล่าสุดปัญหานี้ มีการประชุมร่วม ระหว่าง สส.,นายอำเภอบ้านแหลม, ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพรชบุรี,ตัวแทนกรมเจ้าท่า,นายก อบต. 4 แห่ง และนายกเทศมนตรีหาดเจ้าสำราญ อ.เมือง รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนคลังน้ำมันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวประมงกว่า 1,000 คน รวมถึงการดูแลป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดต่อไปด้วย


ติดตามตามการบูรณาการแก้ไขปัญหานี้ในรายการสถานีประชาชนสัญจร ณ. อบตปากทะเล ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี วันที่ 30 ส.ค.2566


https://www.thaipbs.or.th/news/content/331024