PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566


สายน้ำ
30-08-2023, 03:12
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 นี้ และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 - 4 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 4 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย. นี้ และเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 ? 4 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 4 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วยตลอดช่วง



******************************************************************************************************



ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 7 (232/2566) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2566)


ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


วันที่ 30 สิงหาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล



วันที่ 31 สิงหาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่



วันที่ 1-3 กันยายน 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660829_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660829_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660829_Warning03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660829_Warning03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
30-08-2023, 03:18
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กรมประมงจับมือ อย. ตรวจเข้ม อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อความมั่นใจผู้บริโภค

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เครดิตภาพ เอเอฟพี

กรมประมง จับมือ อย. ยกระดับความเข้มงวด ตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสี สินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำเข้าจากญี่ปุ่น หลังมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเลนอกฝั่งเมืองฟุกุชิมะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมประชุมกับผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น กรณีการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ถึงแม้ว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่าเกณฑ์กำกับดูแล (Regulatory Standards) สำหรับการปล่อยทิ้งของญี่ปุ่น และเกณฑ์แนะนำ (Guideline Level) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับน้ำดื่ม รวมถึงได้รับความเห็นชอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้สามารถปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเลได้ ส่งผลให้มีกระแสข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารทะเลที่อาจปนเปื้อนสารพิษ ถึงแม้จะได้รับการประเมินจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมีค่าการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั้น

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 จากการถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวดโดยยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเล ที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยงที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น โตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้มีการนำเข้าอาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข

และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่น ที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่าง ในปี 2565 จนถึงเดือนเมษายน 2566 ก็พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งหากพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดก็จะสั่งเรียกคืนหรือระงับการนำเข้าทันที

ด้าน เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะเล เจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่านอาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 กองด่านอาหารและยา อย. สุ่มตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี ไม่พบตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะ ส่งตรวจวิเคราะห์ในปี 2565 จนถึงเดือนเมษายน 2566 จํานวน 4,375 ตัวอย่าง พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนด ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน

เภสัชกรเลิศชาย กล่าวด้วยว่า ทาง อย. ร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวด ซึ่งหากพบการปนเปื้อน อย. จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และกรมประมง ขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน ภาครัฐมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ หากพบผลิตภัณฑ์อาหารใดที่เป็นอันตราย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที

หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมประมง 0-2579-1878 หรือ 0-2579-3614-5 ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต หรือ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด.


https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2721024#aWQ9NjI2NzczNmExNGY1MTkwMDEyMzRkYWRmJnBvcz0yJnJ1bGU9Mg==

สายน้ำ
30-08-2023, 03:19
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


วิธีการปล่อย "สัตว์น้ำ" ไม่ให้ทำลายระบบนิเวศ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้สิ่งแวดล้อม

- สถานการณ์การแพร่พันธุ์ของ "สัตว์น้ำต่างถิ่น" หรือ "เอเลี่ยนสปีชีส์" ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

- รู้จัก "เอเลี่ยนสปีชีส์" 13 ชนิด ห้ามนำเข้าประเทศไทย

- แนะนำวิธีการปล่อย "พันธุ์ปลาไทย" ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของ "สัตว์น้ำต่างถิ่น" หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถอยู่ได้ในเกือบทุกระบบนิเวศ จนรุกรานสัตว์พื้นถิ่น ทำให้สัตว์พื้นถิ่นมีน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์

โดยในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลพิเศษต่างๆ พุทธศาสนิกชนมักนิยมทำบุญด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกันเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างบุญกุศลครั้งใหญ่ และเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต

แต่เนื่องจากสัตว์น้ำที่เลือกปล่อยบางชนิดถูกปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็น "สายพันธุ์ต่างถิ่น" อาทิ ปลาซักเกอร์, ปลาดุกบิ๊กอุย, เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง, ตะพาบไต้หวัน ฯลฯ ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะรุกรานพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทย จนทำให้บางชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งยังทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย


13 เอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้าไทย

ก่อนหน้านี้ กรมประมง เคยเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. พ.ศ.2564 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยง

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ห้ามมีให้บุคคลใดเพาะเลี้ยงซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย โดยจากบัญชีท้ายประกาศ ประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ดังนี้

- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
- ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- ปลาเทราต์สายรุ้ง
- ปลาเทราต์สีน้ำตาล
- ปลากะพงปากกว้าง
- ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- ปลาเก๋าหยก
- ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
- ปูขนจีน
- หอยมุกน้ำจืด
- หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena

ทั้งนี้ ห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำผิดซ้ำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท


ขณะที่ "กรมประมง" ได้แนะนำวิธีการปล่อยพันธุ์ปลาไทยในการทำบุญที่ถูกต้อง และไม่ทำลายระบบนิเวศ ดังนี้

1. ปลาตะเพียน/ปลาตะเพียนทอง/ปลากระแห/ปลาสร้อยขาว/ปลากาดำ/ปลาซ่า ควรปล่อยในแม่น้ำ ลำคลองที่เป็นแหล่งน้ำไหล เนื่องจากเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนสูง

2. ปลาช่อน/ปลาดุกอุยหรือดุกนา/ปลาหมอไทย ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก และมีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง

3. ปลาไหล ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย

4. กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ จึงไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่มีกอหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย

5. ปลาสวาย/ปลาบึก ควรปล่อยลงในแม่น้ำลำคลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต


นอกจากนี้ในการปล่อยสัตว์น้ำยังต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของสัตว์น้ำ และสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับสัตว์น้ำที่ได้เลือกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีข้อควรคำนึงดังนี้

1. คุณภาพของน้ำที่เอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำ โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้

2. คุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ

3. ควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็ก ไม่ควรปล่อยปลาขนาดใหญ่ที่ซื้อมาจากตลาด เนื่องจากปลาหน้าเขียงส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยงที่ได้ขนาดบริโภคแล้ว หากปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างจากบ่อเลี้ยงจะปรับตัวได้ยาก ทำให้โอกาสในการรอดมีน้อย

4. ช่วงเวลาในการปล่อยสัตว์น้ำ ควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันและอาจตายได้


อย่างไรก็ตาม หากทุกๆ คนช่วยกันตระหนักถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการทำบุญ โดยไม่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และหันมาปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยที่ถูกต้องแทน นอกจากจะไม่ทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้บุญเต็มร้อย เพราะการปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย.


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2717569

สายน้ำ
30-08-2023, 03:22
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


สุดระทึก! สารเคมีระเบิด-ไฟลุกไหม้รุนแรง ?ท่าเรือแหลมฉบัง? จนท.กำลังเข้าระงับเหตุ

บึ้มสนั่นตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุสินค้าอันตราย ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง คนงาน 7 ราย มีอาการแน่นหน้าอก แสบตา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเข้าพื้นที่ สกัดเพลิง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Naewna_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Naewna_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 10.45 น. พ.ต.อ.ปพนพัชร์ ใบยา ผกก.สภ.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ถังบรรจุสินค้าอันตราย ประเภท UN.2014 class 5.1 ซึ่งมีกลิ่นฉุนรุนแรง และมีฤทธิ์กัดกร่อน เหตุเกิดภายในลานพักตู้คอนเทนเนอร์ เขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จึงรีบเดินทางได้ตรวจสอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครแหลมฉบัง นำรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุ

ที่เกิดเหตุเป็นลานพักตู้คอนเทนเนอร์ ประเภทสินค้าอันตราย โดยพบตู้คอนเทนเนอร์ ตู้สินค้า สารเคมีเป็น Orgaic peroxide type d, solid (สารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์) จำนวน 378 กล่อง ได้เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ พบกลุ่มควันดำ ขาว รวมถึงเปลวเพลิงลอยพุ่งพรวดขึ้นท้องฟ้าเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จากการตรวจสอบ พบมีผู้ได้รับผลกระทบของบริษัท จำนวน 154 คน ลานจอดรถ 23 คน และนำส่งคนงานจำนวน 7 ราย โรงพยาบาลวิภาราม หลังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก แสบตา อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลัง ฉีดน้ำเพื่อสกัดเพลิง โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนรถดับเพลิงเข้าพื้นที่

สอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุได้พบเห็นควันดำขาว ลอยพุ่งออกมาจากลานพักตู้คอนเทนเนอร์ ดังกล่าว หลังจากนั้นได้นานเริ่มมีเพลิงลุกไหม้ลอยตามมาติดๆ ก่อนที่จะมีระเบิดดังขึ้น หลังจากนั้นก็พบว่าคนงานในพื้นที่ และใกล้เคียงต่างพากันวิ่งหนีกันออกมา นอกจากนี้ยังส่งกลิ่นเหม็นฉุนไปทั่วบริเวณอีกด้วย

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่และทางบริษัท ได้กั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่แล้ว โดยขณะนี้พบว่าเพลิงได้สงบลงแล้ว แต่ยังมีไอระเหยอยู่ ทั้งนี้ทราบว่า สาเหตุอาจเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้วัตถุภายในตู้เกิดปฏิกิริยาขึ้น ซึ่งหลังเหตุการณ์สงบเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเข้าตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริงต่อไป


https://www.naewna.com/local/753046

สายน้ำ
30-08-2023, 03:25
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


เฝ้าระวัง น้ำทะเลมหาสมุทรอินเดียกำลังเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีเขียว

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660830_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ล่าสุดพบว่า น้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย กำลังจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีเขียว เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ระบบนิเวศในทะเลเปลี่ยนไป หรือนี่อาจสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกกำลังป่วย

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุด อ.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ดังนี้

1.โลกร้อนขึ้นจนถึง 1.2 องศาจากก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มหาสมุทรทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงเฉลี่ยถึง 21 องศาในขณะนี้

2.จากการศึกษาของนักวิจัยทั่วโลกพบว่าพื้นที่โลกใกล้เส้นศูนย์สูตรหรือมหาสมุทรอินเดีย (The southen India ocean) กำลังเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีเขียวถึง 56% ของมหาสมุทรทั้งโลก สาเหตุจากโลกร้อนขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ ก๊าซ CO2 มากขึ้นบนพื้นโลก ทำให้ไฟโตแพลงก์ตอน (Phytoplankton) หรือสาหร่ายสีเขียวในมหาสมุทรเป็นพืชเซลล์เดียวซึ่งมี Chlorophyll เป็นเม็ดสีเขียวจำนวนมากในเซลล์ไปดึงก๊าซ CO2จากบรรยากาศโดยจะจับและเก็บกักก๊าซ CO2 ไว้ในเม็ดสีเขียวจะเกิดปฏิกริยาเคมีเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลและจะกลายเป็นพลังงานของเซลล์ เป็นสาเหตุให้แพลงก์ตอนสีเขียวดังกล่าวเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนสีของน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดียจากสีน้ำเงินกลายเป็นสีเขียว

3.ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือเมื่อมีสาหร่ายสีเขียวจำนวนมาก จะเกิดการแย่งก๊าซออกซิเจนใต้ทะเลเพื่อใช้ในการหายใจ จนทำ ให้ขาดก๊าซออกซิเจนใต้ทะเล จะทำให้พืชและสัตว์น้ำใต้ทะเลบางส่วนตายและระบบนิเวศใต้ทะเลเปลี่ยนแปลงจนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรกำลังลดลง

4.โลกร้อนขึ้น, ก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น,แพลงก์ตอนในทะะเลเพิ่มขึ้น, มหาสมุทรเปลี่ยนสี, ก๊าซออกซิเจนใต้ทะเลลดลง, ระบบนิเวศกำลังเปลี่ยนแปลง, สัตว์ทะเลลดลง

ปรากฏการณ์น้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดียกำลังเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีเขียว อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโลกที่เตือนให้มนุษย์เราเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการด่วนก่อนที่จะสายเกินไป

ขอขอบคุณที่มา : FB Sonthi Kotchawat


https://www.nationtv.tv/gogreen/378928494