PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 กันยายน 2566


สายน้ำ
27-09-2023, 02:45
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับแนวร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 ? 29 ก.ย. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนล่าง จะเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุมออกไปทางประเทศเมียนมา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และฝนตกหนักมากบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. ? 2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วง 27 ? 29 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 - 29 ก.ย. 66


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Forecast_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Forecast_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
27-09-2023, 03:44
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักวิทย์ชี้พื้นที่น้ำแข็งรอบ "แอนตาร์กติกา" ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เผยว่า ปริมาณน้ำแข็งในทะเลโดยรอบทวีปแอนตาร์กติกา ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูหนาวปีนี้

การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมเบื้องต้นของสหรัฐฯ เผยเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) ว่า น้ำแข็งในทะเลรอบๆ แอนตาร์กติกามีพื้นที่พื้นผิวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา

ในขณะที่ซีกโลกใต้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NSIDC) ระบุในแถลงการณ์ว่า น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกมีพื้นที่สูงสุดเพียง 16.96 ล้านตารางกิโลเมตรในปีนี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา

โดยทั่วไปก้อนน้ำแข็งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นการอ่านค่าเมื่อวันที่ 10 กันยายนจึงน่าจะยังคงเป็นค่าสูงสุดในปีนี้

NSIDC ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ กล่าวว่า "นี่คือพื้นที่น้ำแข็งในทะเลสูงสุดที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ระหว่างปี 2522 ถึง 2566" เมื่อถึงจุดสูงสุดในปีนี้ พื้นที่น้ำแข็งในทะเลมีขนาดเล็กกว่าสถิติครั้งก่อนถึง 1.03 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดประมาณขนาดของรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียรวมกัน

วอลท์ ไมเออร์ นักวิทยาศาสตร์ของ NSIDC กล่าวว่า "นี่ถือเป็นการทำลายสถิติพื้นที่น้ำแข็งที่ต่ำที่สุดในแอนตาร์กติก" และเสริมว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำแข็งในทะเลดูเหมือนจะต่ำทั่วทั้งทวีปเมื่อเทียบกับภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง

ตามข้อมูลของ NSIDC ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงสูงสุดของฤดูร้อนในออสเตรเลีย แผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกได้ครอบคลุมพื้นที่ขั้นต่ำ 1.79 ล้านตารางกิโลเมตร จากนั้นก้อนน้ำแข็งก็ขยายตัวกลับมาในอัตราที่ช้าผิดปกติ แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาวก็ตาม

NSIDC ระบุว่า ในขณะเดียวกัน ในบริเวณพื้นที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นช่วงที่ฤดูร้อนใกล้จะสิ้นสุด พื้นที่น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกก็แตะระดับต่ำสุดที่ 4.23 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดอันดับที่ 6 ในรอบ 45 ปีของการบันทึกข้อมูล

NSIDC กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกยังคงมีเสถียรภาพ แม้จะขยายตัวเล็กน้อยก็ตาม แต่กลับพบว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 แนวโน้มขอบเขตพื้นที่น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก ได้ลดลงอย่างรวดเร็วในเกือบทุกเดือน

มีการถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง โดยบางคนไม่ต้องการที่จะเชื่อมโยงถึงสาเหตุกับภาวะโลกร้อน โดยในอดีตแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ มักไม่สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกได้อย่างแม่นยำ

NSIDC ชี้ว่า แนวโน้มน้ำแข็งที่ลดลงคาดว่ามีความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนในชั้นมหาสมุทรตอนบนสุด "มีความกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มระยะยาวของการลดลงของน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก เนื่องจากมหาสมุทรกำลังอุ่นขึ้นทั่วโลก"

แม้การละลายของก้อนน้ำแข็งไม่มีผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลในทันที เนื่องจากเกิดจากการแข็งตัวของน้ำเกลือในมหาสมุทร แต่แผ่นน้ำแข็งสีขาวสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าน้ำทะเลที่มีสีเข้มกว่า ดังนั้นการสูญเสียน้ำแข็งจึงเน้นย้ำถึงภาวะโลกร้อน

การสูญเสียน้ำแข็งยังทำให้แนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาเกิดคลื่นมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้แผ่นน้ำแข็งไม่เสถียรและเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยริมชายฝั่ง น้ำแข็งบนพื้นดินที่กำลังละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม NSIDC ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่คลื่นที่กระทบกับแผ่นน้ำแข็ง อาจเพิ่ม "การสะสมใกล้ชายฝั่ง" ซึ่งชดเชยกับภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในส่วนหนึ่ง.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2728191

สายน้ำ
27-09-2023, 03:48
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


น้ำแข็งทะเลแอนตาร์กติก ส่อแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูหนาวปีนี้

การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมเบื้องต้นของสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า น้ำแข็งในทะเลบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา น่าจะมีพื้นที่ผิวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อมันมีขนาดใหญ่ที่สุด ในฤดูหนาวของปีนี้

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ว่า ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นเอสไอดีซี) ระบุในแถลงการณ์ว่า น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกมีขนาดใหญ่สุด เพียง 16.96 ล้านตารางกิโลเมตร ในปีนี้ เมื่อซีกโลกใต้เปลี่ยนผ่าน เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

อย่างไรก็ตาม ก้อนน้ำแข็งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงฤดูหนาวที่เยือกเย็น นั่นหมายความว่า ตัวเลขดังกล่าว ซึ่งเอ็นเอสไอดีซี ทำการวัดเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นค่าสูงสุดของปีนี้ "ในขณะนี้"

"นี่คือน้ำแข็งทะเลขนาดเล็กที่สุด เมื่อเทียบกับขนาดใหญ่สุดของก้อนน้ำแข็ง ที่มีการบันทึกไว้ระหว่างปี 2522-2566" เอ็นเอสไอดีซี กล่าวเสริมว่า ก้อนน้ำแข็งทะเลที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ มีขนาดประมาณรัฐเทกซัส และรัฐแคลิฟอร์เนียรวมกัน ซึ่งถือว่าเล็กกว่าตัวเลขต่ำสุดครั้งก่อนหน้าถึง 1.03 ล้านตารางกิโลเมตร

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงอากาศร้อนที่สุดในออสเตรเลีย ก้อนน้ำแข็งทะเลแถบแอนตาร์กติกามีพื้นที่ครอบคลุมแค่ 1.76 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากนั้นขนาดของมันก็เพิ่มในอัตราที่ช้าผิดปกติ แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาวก็ตาม

ขณะเดียวกัน เอ็นเอสไอดีซี ระบุว่า น้ำแข็งทะเลอาร์กติกที่ซีกโลกเหนือ มีขาดพื้นที่ผิว 4.23 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นอันดับที่ 6 ในรอบ 45 ปี ของการเก็บบันทึกขนาดก้อนน้ำแข็ง

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังถกเถียง เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีบางคนลังเลที่จะสร้างการเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากแบบจำลองสภาพอากาศ เคยประสบปัญหา ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของก้อนน้ำแข็งในขั้วโลกใต้

แม้การละลายของก้อนน้ำแข็งไม่มีผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลในทันที เพราะมันเกิดจากการแข็งตัวของน้ำทะเลในมหาสมุทร แต่น้ำแข็งสีขาวสะท้อนรังสีของดวงอาทิตย์ มากกว่าน้ำทะเลที่มีสีเข้มกว่า ดังนั้น การสูญเสียก้อนน้ำแข็ง จึงเป็นการเน้นย้ำถึงปัญหาภาวะโลกร้อน.


https://www.dailynews.co.th/news/2753724/

สายน้ำ
27-09-2023, 03:50
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


มะนิลาส่ง "นักประดาน้ำ" ใช้มีดตัดฉับเชือกโยงทุ่นลอยน้ำปักกิ่ง ขวางเรือประมงปินส์ใกล้ "สันดอนพิพาทสการ์โบโรห์" กลางทะเลจีนใต้

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - มะนิลาแถลงวันอังคาร(26 ก.ย)ว่า ไม่เห็นการเผชิญหน้าระหว่างกันเกิดขึ้น 1 วันหลังนักประดาน้ำฟิลิปปินส์ใช้มีดตัดเชืองโยงทุ่นลอยน้ำที่ปักกิ่งสร้างไว้ป้องกันเรือประมงฟิลิปปินส์เข้าหาปลาใกล้สันดอนพิพาทสการ์โบโรห์กลางทะเลจีนใต้

รอยเตอร์รายงานวันนี้(26 ก.ย)ว่า โฆษกหน่วยงานยามฝั่งฟิลิปปินส์แถลงว่า ในที่สุดเรือยามฝั่งจีนจำเป็นต้องนำทุ่นลอยน้ำที่เหลือออกไปจากเขตพิพาทสันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal)

ทั้งนี้ในวันอังคาร(26) มะนิลาออกแถลงการณ์ไม่เห็นการเผชิญหน้าเกิดขึ้นหลังในวันจันทร์(25)ฟิลิปปินส์เดินหน้าทำลายเครื่องกีดขวางลอยน้ำของจีนทันที

โฆษกหน่วยงานยามฝั่งฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า เรือยามฝั่งจีนจำนวน 4 ลำอยู่ในพื้นที่เมื่อเรือฟิลิปปินส์เข้าไปและไม่ได้แสดงความก้าวร้าว เขากล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ามีสื่อมวลชนอยู่บนเรือฟิลิปปินส์

ฝ่ายจีนเริ่มเก็บทุ่นลอยน้ำทั้งหมดออกไปไม่กี่ชั่วโมงหลังค้นพบว่าทุ่นนั้นไม่เป็นเส้นตรงและไม่สามารถขวางกั้นได้ตามต้องการ

CNN สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ฟิลิปปินส์ออกปฎิบัติการพิเศษในวันจันทร์(25)ส่งนักประดาน้ำเข้าไปในพื้นที่และใช้มีดตัดเชือกใต้น้ำที่ร้อยทุ่นเหนือน้ำให้ขาดออก

ซึ่งก่อนหน้าเป็นที่ปรากฎไปทั่วว่าปักกิ่งวางทุ่นลอยน้ำความยาว 300 เมตรใกล้เขตสันดอนพิพาทสร้างความโกรธแค้นให้กับมะนิลา

สันดอนแห่งนี้แม้จะมีขนาดเล็กแต่ทว่าเป็นชัยภูมิสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่มีปลาชุกชุมตั้งอยู่ห่างจากเกาะลูซอนไปทางตะวันตกราว 200 กิโลเมตรและอีกทั้งยังตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลฟิลิปปินส์

ภาพใต้น้ำแสดงให้เห็นว่านักประดาน้ำฟิลิปปินส์ใช้มีดอันเล็กตัดเชือกที่อยู่ใต้น้ำให้ขาดออกจากกัน

และวิดีโอคลิปอีกชิ้นอ้างอิงจากฟรานซ์24 แสดงให้เห็นว่ามีการขุดเอาสมอออกจากใต้ทะเลและนำขึ้นเรือ

หน่วยงานยามฝั่งฟิลิปปินส์แถลงหลังปฎิบัติการว่า ประสบความสำเร็จในการนำทุ่นออกไปตามคำสั่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

"สิ่งกีดขวางเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ และชัดเจนว่าละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ" อ้างอิงจากแถลงการณ์


https://mgronline.com/around/detail/9660000086983

สายน้ำ
27-09-2023, 03:53
ขอบคุณข่าวจาก มติชน


คณะวนศาสตร์ ม.เกษตร รายงาน1ปี ป่าหายหลายแสนไร่ งง เพจลบข้อมูลทิ้ง ทั้งที่เตรียมรายงานฉบับสมบูรณ์

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Matichon_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660927_Matichon_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันที่ 26 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจห้องปฏิบัติการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ รายงานผลการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี พ.ศ.2566 โดยภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์(วน.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ รายงานฉบับสมบูรณ์ จะพร้อมส่งมอบให้สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ในเดือนธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ปีนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีการลดลงต่อปี หลายแสนไร่

แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ให้สังเกตภาพปี 2565 ป่าสมบูรณ์ (แดงทะแยงดำ) ถูกทำให้หายไปในปี 2566 ซึ่งทดทนด้วยสี เขียวอมเทา หมายถึงการถูกบุกรุก หรือทำให้เสื่อมสภาพป่าสมบูรณ์ไป กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งให้ความสำคัญ ก่อนที่ป่าสมบูรณ์จะถูกกระทำให้หมดประเทศไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจห้องปฏิบัติการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้ลบโพสต์ข้อความและภาพนี้ไปแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ใครสั่งลบโพสต์นี้ หรือลบไปทำไม ซึ่งเป็นข้อมูลหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จะลบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงความจริงไปไม่ได้


https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4201067