PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566


สายน้ำ
30-09-2023, 02:26
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้มีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. ? 2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศไทยตอนบนในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 5 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณเข้าสู่อ่าวไทยตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 3 ? 5 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
30-09-2023, 03:31
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักวิทย์พบปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" หายาก ในทะเลลึกนอกหมู่เกาะฮาวาย

นักวิทยาศาสตร์พบปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" ที่หายาก ที่ความลึกกว่า 1,650 เมตร ในทะเลนอกชายฝั่งหมู่เกาะฮาวาย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ปลาหมึกยักษ์ "ดัมโบ้" ถูกตั้งชื่อตามตัวการ์ตูนดิสนีย์ เนื่องจากมีครีบกระพือคู่ใหญ่ที่งอกออกมาจากหัว ถูกพบบนฟีดกล้องบนเรือ "อาร์โอวี แอตาแลนตา" (ROV Atalanta) ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลใน พื้นที่เขตอนุสรณ์แห่งชาติทางทะเล "ปาปาฮาเนาโมกูวาเกยา" (Papahanaumokuakea Marine National Monument) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระหว่างองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ และสถาบันความร่วมมือสำรวจมหาสมุทร

ดัมโบ้ถือเป็นกลุ่มปลาหมึกยักษ์ที่อาศัยอยู่ในระดับความลึกที่สุด โดยอาศัยอยู่ใต้พื้นทะเลที่ระดับความลึกถึง 3,900 เมตร ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ยังคงพบเห็นหมึกดัมโบ้ในพื้นที่ดังกล่าว

นักวิจัยระบุไว้ในบันทึกที่แนบมากับวิดีโอว่า "กองสำรวจของเราพบวัตถุนี้ลึกกว่า 1,600 เมตร ขณะสำรวจภูเขาใต้ทะเล "วูลลาร์ด" ซึ่งอยู่ห่างจากแนวปะการังรูปวงแหวน "โฮลานิคู" (Kure Atoll) ไปทางเหนือประมาณ 40 ไมล์ทะเล ระหว่างการสำรวจ พวกเรารู้สึกเพลิดเพลินที่ได้จ้องมองมันอย่างใกล้ชิด"

ทั้งนี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้ทั้ง 17 สายพันธุ์ ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Grimpoteuthis spp. เป็นสัตว์ที่แทบไม่มีข้อมูลมากนัก

ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งแปซิฟิก ระบุว่า "หมักยักษ์ดัมโบ้สามารถปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันที่รุนแรงและอุณหภูมิที่เย็นจัดของมหาสมุทรลึกโดยลดการเคลื่อนที่และสร้างส่วนรยางค์ขนาดใหญ่บริเวณลำตัว ขณะที่การสืบพันธุ์ของพวกมันดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพวกมันจึงมีความก้าวหน้ามากกว่าปลาหมึกยักษ์น้ำตื้นสายพันธุ์อื่นๆ"

ทั้งนี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้พบได้ในน่านน้ำตั้งแต่นิวซีแลนด์ ไปจนถึงอ่าวมอนเทอเรย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ ไปจนถึงปาปัวนิวกินี พวกมันมีขนาดตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึง 1.8 เมตร และไม่มีถุงหมึกเหมือนกับปลาหมึกยักษ์สายพันธุ์อื่นๆ

ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้ยังเป็นนักล่าที่อาศัยอยู่ในระดับที่ลึกมากจนไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่อาจตกเป็นเหยื่อของปลาทูน่า ปลาฉลาม โลมา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่นๆ

ตามข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์ "โอเชียนา" (Oceana) ระบุว่า "หมึกดัมโบ้นั้นพบได้ยากตามธรรมชาติ และพื้นที่ใต้ท้องทะเลลึกก็มีขนาดมหึมา ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จึงมีพฤติกรรมพิเศษที่จะเพิ่มโอกาสที่พวกมันจะสามารถสืบพันธุ์ได้สำเร็จทุกครั้งที่พบคู่"

"เห็นได้ชัดว่าตัวเมียมักจะมีไข่ในระยะการพัฒนาที่แตกต่างกัน และพวกมันสามารถเก็บสเปิร์มไว้เป็นเวลานานหลังจากผสมพันธุ์กับตัวผู้ ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ ปลาหมึกยักษ์ดัมโบ้เพศเมียสามารถถ่ายโอนสเปิร์มไปยังไข่ที่พัฒนาแล้วมากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการสืบพันธุ์".


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2728998

สายน้ำ
30-09-2023, 03:35
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


งานศึกษาเผย อากาศร้อนจัดต่อเนื่อง 2 ปี ทำธารน้ำแข็งสวิสหายไป 10%

รายงานฉบับใหม่แสดงให้เห็นว่า อากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น 2 ปีติดต่อกันในเทือกเขาแอลป์ ทำลายปริมาณธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 10% ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในช่วง 3 ทศวรรษก่อนปี 2533

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ว่า ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คณะกรรมาธิการหิมะภาค (ซีซี) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยให้เห็นถึงธารน้ำแข็งที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า สถานการณ์ข้างต้นจะเลวร้ายกว่าเดิม

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์ละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 โดยปริมาณน้ำแข็งหายไปถึง 6% ขณะที่รายงานของซีซี แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งไม่ฟื้นตัวมากนักในปีนี้ และสวิตเซอร์แลนด์สูญเสียปริมาณน้ำแข็งเพิ่มอีก 4% นับเป็นการลดลงครั้งใหญ่อันดับสอง นับตั้งแต่มีการเริ่มการตรวจวัด

"ธารน้ำแข็งทั้งหมดละลายไปมาก" นายแมตเธียส ฮัสส์ หัวหน้าหน่วยงานติดตามธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ (กลามอส) กล่าว "แต่สำหรับธารน้ำแข็งขนาดเล็ก การละลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ และกำลังจะหายไปแล้ว"

อนึ่ง การสูญเสียธารน้ำแข็งปริมาณมากในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาวที่มีปริมาณหิมะต่ำมาก รวมถึงอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์อาจหายไปทั้งหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งฮัสส์ เน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ฮัสส์ยอมรับว่า แม้โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ซึ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่สวิตเซอร์แลนด์จะรักษาปริมาณธารน้ำแข็ง ได้เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น.


https://www.dailynews.co.th/news/2762909/

สายน้ำ
30-09-2023, 03:39
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


ไข้หวัดนกระบาด! 'แมวน้ำ-สิงโตทะเล'อุรุกวัยตายกว่า 400 ตัว

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Naewna_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Naewna_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

29 ก.ย.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อุรุกวัยแจ้งว่า พบซากแมวน้ำและสิงโตทะเลประมาณ 400 ซากบนชายหาดและริมแม่น้ำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดโรคไข้หวัดนก

เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมอุรุกวัยเผยว่า กระทรวงต่าง ๆ กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากพบสิงโตทะเลติดโรคไข้หวัดนกเอช 5 (H5) ตัวแรกบนชายหาดในกรุงมอนเตวิเดโอ บริเวณริเวอร์เพลต (River Plate) ซึ่งเป็นชะวากทะเลที่เกิดจากแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันแล้วไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เจ้าหน้าที่ได้ฝังซากไปแล้ว 350 ซากเพื่อหยุดยั้งเชื้อไวรัสแพร่ระบาด โดยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า โรคนี้ไม่สามารถควบคุมได้ ทำได้เพียงรอให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และขอให้ผู้ไปเที่ยวชายหาดหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากสัตว์ เพราะถึงแม้การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นยากแต่ก็เกิดขึ้นได้

อุรุกวัยเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ มีแมวน้ำและสิงโตทะเลประมาณ 315,000 ตัว


https://www.naewna.com/inter/759870


******************************************************************************************************


ท่องเที่ยวเกาะเต่ากลับมาคึกคัก นักท่องเที่ยวทั่วโลกแห่ดำน้ำชมจุดจมเรือรบ

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Naewna_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Naewna_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันที่ 29 กันยายน 2566 บรรยากาศท่องเที่ยวเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กลับมาคึกคักภายหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและเอเชียเดินทางเข้าเกาะเต่าอย่างต่อเนื่อง การมาของนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ส่งผลทำให้โรงแรมรวมถึงที่พักต่างๆ บนเกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวจองเข้าพัก ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเกาะเต่าเพื่อต้องการเรียนดำน้ำและบางคนก็มาดำน้ำเพื่อชมความสวยงามใต้ทะเลรอบเกาะเต่า

หลังจากข่าวพิธีการจัดวางเรือหลวงหาญหักศัตรู หมายเลขประจำเรือ 312 และเรือหลวงสู้ไพรินทร์ หมายเลขประจำเรือ 313 หลังจากที่ปลดประจำการกองทัพเรือได้อนุมัติให้ทำพิธีจมเรือทั้ง 2 ลำบริเวณเกาะเต่า และเกาะนางยวน ซึ่งเรือทั้ง 2 ลำได้ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลมากว่า 47 ปีให้เป็นจุดท่องเที่ยวดำน้ำรูปแบบอุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเลเป็นการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติครั้งสุดท้ายของเรือทั้ง 2 ลำคือส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือได้มอบเรือที่ปลดประจำการคือเรือหลวงสัตกูด มาจัดวางเป็นจุดดำน้ำเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและฟื้นฟูระบบนิเวศของปะการังอีกด้วย ข่าวการจัดวางเรือหลวงทั้งสองลำเป็นที่สนใจของนักดำน้ำทั่วโลกต่างเดินทางมาดำน้ำเพื่อชมเรือหลวงทั้ง 2 ลำอย่างใกล้ชิด ซึ่งการดำน้ำชมเรือที่จมเป็นที่ชื่นชอบของนักประดาน้ำเพราะเป็นกิจกรรมที่ตื่นเต้นและท้าทายจึงทำให้เกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเกาะอย่างต่อเนื่องสร้างรายได้ให้กับชาวเกาะเต่า และผู้ประกอบการท่องเที่ยว

ในเรื่องนี้นางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวของเกาะเต่าได้กลับมามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเหมือนช่วงก่อนโควิด และเป็นเรื่องที่ดีที่เกาะเต่าได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานอย่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มาร่วมประชาสัมพันธ์เกาะเต่าให้นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศได้รับทราบถึงกิจกรรมของเกาะเต่า ซึ่งช่วงปลายปีนี้มีนักท่องเที่ยวจองห้องพักแล้วถึงประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาร่วมสัมผัสและร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลรอบเกาะเต่าอย่างที่ชาวเกาะเต่าทำอยู่ ชาวเกาะเต่ายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างมิตรเหมือนเช่นคนในครอบครัว


https://www.naewna.com/likesara/759751

สายน้ำ
30-09-2023, 03:42
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


กว่าเดือนแล้วที่ "ทะเลตาย" นักวิชาการทวงผลตรวจสัตว์น้ำ เหตุน้ำมันรั่วศรีราชา

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

นักวิชาการถามแรง ผลตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษในสัตว์น้ำ ภายหลังการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลศรีราชาเมื่อต้นเดือนกันยายน หลังจากสมาคมท่องเที่ยวในพื้นที่เตรียมจัดนิทรรศการใหญ่ชวนกินอาหารทะเล แม้ยังไม่มีผลแสดงความปลอดภัยชัดเจน

แม้ว่าจะเป็นว่าเกือบหนึ่งเดือนแล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลศรีราชา ที่ผสมโรงกับปรากฎการณ์แพลก์ตอนบลูมครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดเหตุสัตว์น้ำตายหมู่ ลอยมาติดชายหาดเป็นจำนวนมาก แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีผลตรวจสอบซากสัตว์น้ำออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ทำให้ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาร้องถามถึงผลตรวจสารปนเปื้อนในสัตว์น้ำ ก่อนที่จะมีการจัดนิทรรศการส่งเสริมการท่องเที่ยวศรีราชา-เกาะศรีชัง ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

นี่เป็นเรื่องสืบเนื่องจาก สมาคมการท่องเที่ยวและบริการศรีราชา -เกาะสีชัง กำลังเตรียมการจัดงานสร้างความเชื่อมั่นอาหารทะเลปลอดภัยภายใต้ชื่อ Siracha Clean Food & Seafood Festival 2023 และกิจกรรมใหญ่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-8 ตุลาคม นี้ที่ห้วยสุครีพ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

"หลังน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์รั่วไหลลงทะเลกระทบพื้นที่อ่าวไทยในจังหวัดชลบุรี กรมอนามัย สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีได้ออกคำเตือนไม่ควรนำสัตว์น้ำในทะเลแถบศรีราชา เกาะสีชัง อ่าวอุดม บางพระ ไปรับประทานเพราะอาจจะได้รับอันตรายจากโลหะหนักและไฮโดรคาร์บอน และอ้างว่าได้เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลในกระ ชังและในตลาดไปตรวจ บัดนี้ผ่านมาครบเดือนแล้วยังไม่เห็นผลตรวจเลย ไม่มีการแสดงผลการตรวจสอบให้พี่น้องประมงและประชาชนในพื้นที่ทราบ ไม่รู้กลัวอะไร แต่จะไปร่วมงานกินปลาโชว์กับเทศบาลเกาะสีชังและอำเภอศรีราชาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว" สนธิ กล่าว


ศรีราชา"ดร.สมนึก จงมีวศิน" โพสต์ทิ้งท้ายว่า

ก่อนกินอาหารทะลโชว์ในพื้นที่น้ำมันรั่วควรเอาผลตรวจไฮโดรปิโตรเลี่ยม โลหะหนัก สารPAH และอื่นๆ มาแสดงให้กลุ่มประมงและชุมชนรวมทั้งสาธารณชนทราบก่อน เพราะช่วงนี้ขายอาหารทะเลไม่ค่อยได้ ผู้บริโภคไม่ยอมซื้ออาหารทะเลแถบนี้ งานกินปลาโชว์หรือขายสัตว์ทะเลในราคาถูกไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือต้องเอาผลการตรวจเนื้อสัตว์ทะเลมาบอกสาธารณชน ทำงานแล้วเงียบแบบนี้ ไม่ค่อยโปร่งใส

ทีมข่าวยังได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง "ดร.สมนึก จงมีวศิน" นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch ได้ความเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีทีมนักวิจัยทั้งหมด 4 ทีมหลักที่กำลังศึกษาผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลศรีราชา โดยมีรายละเอียดและความคืบหน้าดังนี้

1. การสำรวจผลกระทบน้ำมันรั่วไหลภาคประชาชน ที่มีการส่งตัวอย่างสัตว์น้ำและน้ำทะเลไปตรวจยังห้องแลปของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 เดือน

2. ทีมการศึกษาผลกระทบน้ำมันรั่วไหล นำโดยบริษัทไทยออยล์ ซึ่งตัวอย่างสิ่งแวดล้อมถูกนำไปส่งตรวจ ณ ยังห้องแลป มหาวิทยาลัยบูรพา ขณะนี้ยังไม่ทราบผล

3. ทีมงานศึกษาผลกระทบทางทะเล นำโดย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4. ทีมงานประเมินผลกระทบน้ำมันรั่วไหลบริเวณทุ่นถ่ายน้ำมัน นำโดยบริษัทศึกษาวิจัยรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กับบริษัทไทยออยล์

กว่าเดือนแล้วที่ "ทะเลตาย" นักวิชาการทวงผลตรวจสัตว์น้ำ เหตุน้ำมันรั่วศรีราชา

"เห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ผลตรวจสอบสารเคมีตกค้างในน้ำ สัตว์ทะเล และสิ่งแวดล้อมยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี แต่ก็มีความพยายามจากบางภาคส่วนที่จะจบเรื่องให้ไว โดยการเร่งรัดกระบวนการสำรวจและเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และรีบจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ชัดด้วยซ้ำว่าขณะนี้สภาพสิ่งแวดล้อมและอาหารทะเลมีแค่ไหน" ดร.สมนึก กล่าว


https://www.nationtv.tv/gogreen/378931809

สายน้ำ
30-09-2023, 03:47
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เปิดแผนที่ฉบับสมบูรณ์ "ซีแลนเดีย" ทวีปสาบสูญและทวีปที่ 8 ของโลกเป็นครั้งแรก

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_BBC_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/660930_BBC_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
The continent of Zealandia
ซีแลนเดียมีพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร

อริสโตเติล เอราโตสเทแนส ปโตเลมี เคยให้คำอธิบายถึงทวีปแห่งที่ 8 ของโลกเอาไว้ แม้จะถูกครหาว่าเป็นเพียง "ทวีปในจินตนาการ" ส่วนนักเขียนแผนที่แห่งนาลอส ขนานนามทวีปแห่งนี้ไว้ว่า เทอร์รา ออสตราลิส อินค็อกนิตา หรือในภาษาละตินที่แปลว่า "ดินแดนปริศนาทางใต้"

ชาวกรีกยุคโบราณเชื่อว่า ทวีปแห่งนี้น่าจะอยู่อีกฟากของโลก ตามหลักความสมมาตรทางเรขาคณิต

เมื่อปี 1642 อาเบล ทาสแมน นักเดินเรือชาวดัตช์มากประสบการณ์ ออกเดินทางไปในซีกโลกใต้เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่าต้องมีทวีปขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ

เขาไปได้ไกลสุดแค่เกาะนิวซีแลนด์ และเกิดการปะทะต่อสู้กับชนเผ่าเมารี เป็นเหตุให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไป 4 ราย นั่นเป็นจุดจบของการเดินทางในครั้งนั้น และเขาไม่ได้แม้แต่ลงไปเหยียบบนเกาะนิวซีแลนด์

จากวันนั้น ผ่านมา 375 ปี ก่อนที่โลกจะสามารถยืนยันการดำรงอยู่ของทวีปแห่งที่ 8 ของโลก ที่เรียกว่า "ซีแลนเดีย" ได้

หากมองผิวเผิน จะมองไม่เห็นทวีปแห่งนี้ เพราะพื้นที่กว่า 94% อยู่ใต้น้ำ แต่ล่าสุด ได้มีการวาดภาพแผนที่ทวีปที่ชาวเมารีเรียกว่า "เตรีอู อามาวอี" เรียบร้อยแล้ว

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจีเอ็นเอส ไซแอนส์ (GNS Science) ได้วาดแผนที่อย่างละเอียด แสดงถึงเขตแดนของทวีปซีแลนเดีย ต่อยอดจากการตรวจสอบตัวอย่างก้อนหินที่ขุดลอกขึ้นมาจากใต้พื้นทะเล โดยผลการศึกษานี้ ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโทนิกส์

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังได้เปิดเผยขนาดพื้นที่บนพื้นผิวทวีปว่าอยู่ที่ 5 ล้านตารางกิโลเมตร

แล้วการที่ซีแลนเดีย ซึ่งจมอยู่ใต้มหาสมุทรเกือบทั้งหมด ได้รับการยอมรับว่าเป็นทวีปได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องตอบด้วยหลักธรณีวิทยา

จุดเริ่มต้นของทวีปซีแลนเดีย มีความเชื่อมโยงกับมหาทวีปโบราณกอนด์วานา ที่แตกย่อยออกมาเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน กำเนิดเป็นทวีปต่าง ๆ ที่เรารู้จักในทุกวันนี้

ซีแลนเดีย แยกตัวออกมาจากมหาทวีปกอนด์วานา เมื่อราว 80 ล้านปีก่อน แต่ความแตกต่างของซีแลนเดียกับทวีปใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแอนตาร์กติกาและออสเตรเลีย (โอเชียนเนีย) ก็คือดินแดนส่วนใหญ่ของซีแลนเดียยังจมอยู่ใต้ทะเล

ส่วนเดียวของทวีปที่ปรากฏให้เห็นเหนือผิวทะเล คือหมู่เกาะนิวซีแลนด์ นิวแคลิโดเดนีย (ดินแดนของฝรั่งเศส) รวมถึงเกาะลอร์ด ฮาว ไอส์แลนด์ และเกาะบอลส์พีระมิด ของออสเตรเลีย

ด้วยเหตุที่ทวีปซีแลนเดียอยู่ใต้ทะเล ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับทวีปนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย ส่งผลให้การประเมินรูปร่างและขอบเขตของมันไม่ชัดเจน กระทั่งไม่นานมานี้ ก็ยังมีการวาดแผนที่ได้สำเร็จเฉพาะส่วนใต้ของทวีปเท่านั้น

นักธรณีวิทยา นิค มอร์ติเมอร์ เป็นผู้นำการศึกษานี้ และได้เดินหน้าวาดแผนที่ทวีปซีแลนเดียส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 "การศึกษานี้ทำให้การทำแผนที่ผืนดินและพื้นที่นอกชายฝั่ง รวมพื้นที่ 5 ล้านตารางกิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์" ผลการศึกษาระบุ

ทีมนักธรณีวิทยาและนักแผ่นดินไหววิทยา ได้ศึกษาตัวอย่างหินที่ขุดลอกขึ้นมาจากใต้พื้นทะเล ตะกอนที่ได้จากการเจาะพื้นทะเล และตัวอย่างหินและตะกอนที่พบตามแนวชายฝั่ง

นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์และสืบอายุของหินบะซอลต์ หินกรวด และหินทราย โดยพวกเขาค้นพบว่า หินทรายที่ได้จากทวีปซีแลนเดีย มาจากยุคครีเทเชียสตอนปลาย เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ทวีปซีแลนเดียยังมีหินคอบเบิลแกรนิต และหินกรวดภูเขาไฟจากยุคครีเทเชียสตอนต้น (130-110 ล้านปีก่อน) ส่วนหินบะซอลต์นั้น มีอายุย้อนไปถึงยุคอีโอซีน เมื่อ 40 ล้านปีก่อน

การตรวจสอบอายุของก้อนหิน และการตีความค่าผิดปกติของสนามแม่เหล็ก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สร้างแผนที่พื้นที่ทางธรณีวิทยาขนาดใหญ่ทั่วทวีปซีแลนเดียตอนเหนือออกมาได้

นับแต่การค้นพบที่มีการบันทึกเอาไว้โดย อาเบล แทสแมน เมื่อปี 1942 ผู้ซึ่งต่อมาได้มอบชื่อของเขาไปตั้งชื่อเกาะที่เรียกว่า แทสแมเนีย ด้วย นักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์มากมายที่พยายามตามหาทวีปซีแลนเดียได้เดินทางผ่านผืนน้ำเหนือทวีปแห่งนี้ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังตามหาอยู่ใต้ทะเลลงไปนั่นเอง

คำบอกใบ้แรกว่าทวีปซีแลนเดียมีอยู่จริงมาจากนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอตแลนด์ เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ เขาเข้าร่วมการเดินเรือสำรวจเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไปจากชายฝั่งทางใต้ของเกาะนิวซีแลนด์ในปี 1985

หลังจากศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของเกาะต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เขาสรุปว่า นิวซีแลนด์ "เป็นสิ่งที่หลงเหลือของเทือกเขาที่ก่อตัวเป็นยอดของบริเวณทวีปขนาดใหญ่ที่เหยียดยาวจากทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันออก ซึ่งตอนนี้จมน้ำอยู่..."

จนกระทั่งในปี 1995 นักธรณีฟิสิกส์ชาวอเมริกัน บรูซ ลูเยนดิค ออกมาย้ำอีกครั้งว่าบริเวณดังกล่าวถือเป็นทวีป และก็เรียกมันว่าซีแลนเดีย

โดยปกติเปลือกโลกในส่วนที่เป็นพื้นทวีปมักมีความหนาประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าหนากว่าเปลือกโลกในส่วนที่เป็นมหาสมุทร ซึ่งอยู่ที่ราว 10 กิโลเมตร

แต่ด้วยการบีบอัด ทำให้ซีแลนเดียยืดขยายออกไปอย่างมาก จนเปลือกทวีปลดความหนาลงเหลือเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

จนในที่สุด ทวีปที่เปลือกโลกค่อนข้างบางแห่งนี้ก็ได้จมลงใต้มหาสมุทร แม้จะไม่ได้จมลึกเท่ากับเปลือกโลกมหาสมุทรทั่วไป แต่ก็อันตรธานหายไปใต้ทะเล

นักวิทยาศาสตร์โต้แย้งว่า ความหนาของเปลือกโลกของซีแลนเดีย และประเภทของก้อนหินที่พบ ทำให้ถือได้ว่ามันเป็นทวีป

ทั้งนี้ เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าแค่ความสนใจทางวิทยาศาสตร์

เนื่องจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) บอกว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถขยายพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไปไกลกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตัวเอง (200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กม. จากชายฝั่งประเทศ) ได้ เพื่อเข้าครอบครอง "ไหล่ทวีปส่วนที่ขยายออกไป" ซึ่งหมายถึงการครอบครองแหล่งสินแร่และน้ำมันในพื้นที่ด้วย

ดังนั้น หากนิวซีแลนด์สามารถพิสูจน์ได้ว่า นิวซีแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของทวีปที่มีขนาดใหญ่กว่า นั่นหมายความว่า นิวซีแลนด์จะสามารถขยายขอบเขตดินแดนไปได้จากปัจจุบันถึง 6 เท่า และนั่นหมายถึงงบประมาณเพื่อการสำรวจทางทะเลที่มากขึ้นด้วย


https://www.bbc.com/thai/articles/c99qr14lp1do