PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566


สายน้ำ
10-10-2023, 02:28
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยมีบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุดีเปรสชัน "โคอินุ" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 ? 12 ต.ค. 66 ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยมีบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 15 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรตลอดช่วง

อนึ่ง พายุโซนร้อน "โคอินุ" บริเวณใกล้ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีนในวันที่ 10 ต.ค. 66 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง



******************************************************************************************************



พายุ "โคอินุ" ฉบับที่ 10 (271/2566)

เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (10 ต.ค. 66) พายุโซนร้อน "โคอินุ" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
10-10-2023, 03:22
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ทร.-ศรชล. จับเรือประมงอินโดฯ 3 ลำ 40 ลูกเรือ ลอบทำประมงในน่านน้ำไทย

กองทัพเรือ - ศรชล. ผนึกกำลัง จับกุมเรือประมงอินโดนีเซีย ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย 3 ลำ บริเวณแหลมพรหมเทพ จึงส่งเรือหลวงแกลง ตรวจสอบจับกุม พร้อมควบคุมเรือ และลูกเรือ 40 คน ดำเนินคดีตามกฎหมาย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ทรภ.3) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) จับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย ทำประมงในน่านน้ำไทย โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เวลา 08.30 น. ศปก.ทรภ.3 ได้รับแจ้งข่าวจากแหล่งข่าวในพื้นที่ พบเห็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ เข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ระยะ 46 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต จึงได้สั่งการให้เครื่องบินลาดตระเวนแบบดอร์เนีย (DO-228) จาก ทรภ.3 ขึ้นบินลาดตระเวนตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับแจ้ง

ในส่วนของ ศรชล.ภาค 3 ได้แจ้งให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ตแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (ศูนย์ PIPO) ภูเก็ต แจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ ซึ่งผลการบินสำรวจ ได้ตรวจพบเรือประมง สัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 1 ลำ ระยะ 55.6 ไมล์ทะเล จากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ศรชล.ภาค 3 จึงได้สั่งการให้ เรือหลวงแกลง ออกเรือเพื่อเข้าตรวจสอบและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งในเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เมื่อเรือหลวงแกลง ได้ตรวจพบเรือประมง สัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยประกอบด้วย เรือ KM.RAHMATJAYA พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน, เรือ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 16 คน, เรือ KAMBIASTAR พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน

จากนั้นเรือหลวงแกลง จึงได้ควบคุมเรือประมงอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือ จำนวนรวม 40 นาย เดินทางไปยังท่าเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปโดยเรือหลวงแกลงได้นำเรือเทียบเข้าท่าเรือรัษฎา เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ในการนี้ ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรฉลอง ตำรวจน้ำ ประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมารับตัวผู้กระทำผิดเพื่อเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ศรชล.ภาค 3 จะประสานการดำเนินการทางกฎหมาย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อย่างใกล้ชิด ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ ศรชล. เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงไทยในเขตประมงไทย พ.ศ. 2482 ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ โดย ผบ.เรือ/ผค.เรือ สามารถจับกุมได้ในฐานความผิดเป็นผู้ควบคุมเรือใช้เรือสัญชาติต่างประเทศทำการประมงในเขตประมงไทย และฐานทำการประมงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า สำหรับการจับกุมหรือประมงทั้ง 3 ลำในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ โดย ทรภ.3 ศรชล. และเครือข่ายเรือประมงไทย โดยการปฏิบัติการ สืบเนื่องจากการเข้ามาลักลอบทำการประมงของเรือต่างชาติ ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย

ทั้งนี้ การจับกุมเรือประมงต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง โดยฝ่ายไทยได้เคยประสานฝ่ายอินโดนีเซีย แจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซีย มิให้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของฝ่ายไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทัพเรือ โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ทำการจับกุม จำนวน 1 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 ได้ทำการจับกุม จำนวน 3 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ทำการจับกุม จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งการลักลอบเข้ามาทำการประมงของเรือประมงต่างชาตินั้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ (สัตว์น้ำ) ในพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวประมงไทย ทำการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประมงโดยตรง นอกจากนี้แล้วเรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมง บางครั้งมีการลักลอบขโมยหรือตัดทำลายอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ได้วางไว้ด้วย

โฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า การดำเนินการจับกุมเรือประมงต่างชาติข้างต้นนั้น เป็นไปตามนโยบายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการร่วมกัน ในการป้องกันและปรามปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และสามารถแสวงหาประโยชน์ได้ตลอดไป

กองทัพเรือและศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จะดำเนินการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน ในการร่วมกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกิจการทะเลต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2731634

สายน้ำ
10-10-2023, 03:26
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


นักวิทย์พบหลุมโอโซนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบเท่ารัสเซีย-จีนรวมกัน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661010_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ทำเอาอึ้งไปทั้งโลกทีเดียว นักวิทยาศาสตร์เผย การค้นพบครั้งใหม่ หลุมโอโซนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ คาดเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟตองกาเมื่อต้นปีที่แล้ว โดยพบรูโหว่ชั้นโอโซนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบเจอมา ปรากฏขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์กติกา

โอโซน มีความสำคัญมากในการปกป้องมนุษย์จากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่รุนแรงจนอาจทำให้มนุษย์เป็นมะเร็งผิวหนังได้อย่างง่าย แต่เมื่อไม่นานมานี้ เรากลับพบรูโหว่ชั้นโอโซนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบเจอมา ปรากฏขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์กติกา

European Space Agency (ESA) รายงานว่า พบหลุมโอโซนขนาดใหญ่เหนือทวีปแอนตาร์กติกา ขนาด 26 ล้านตารางกิโลเมตร อยู่สูงเหนือพื้นผิวโลกประมาณ 15-30 กิโลเมตร ใกล้กับพื้นที่อเมริกาเหนือ มีขนาดใหญ่กว่าประเทศบราซิลถึง 3 เท่า หรือเทียบเท่ากับประเทศรัสเซียและจีนรวมกัน ซึ่งเป็นหลุมโอโซนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

ดาวเทียม Copernicus Sentinel-5P เป็นดาวเทียมที่ติดตามรูโหว่โอโซนดังกล่าว และพบว่ามันเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า สาเหตุของรูโหว่นี้อาจเกิดขึ้นเพราะการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำตองกาเมื่อต้นปีที่แล้ว

แรงระเบิดของภูเขาไฟตองกา Hunga Tonga-Hunga Ha'apai เมื่อเดือนมกราคม 2022 มีความรุนแรงกว่าระเบิดฮิโรชิมามากกว่า 100 ลูก และก่อให้เกิดการปะทุที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ของโลกเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์มองว่า

การปะทุอาจทำให้ชั้นโอโซนไม่เสถียร เพราะทำให้มีน้ำมากกว่า 50 ล้านตันลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้น้ำในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 10% เพราะน้ำจะสลายตัวเป็นไอออนหรือโมเลกุลที่มีประจุ ซึ่งทำปฏิกิริยากับโอโซนในลักษณะคล้ายๆกับสาร CFC แต่อย่างไรก็ตามยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างโอโซนกับการปะทุ

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจมีบทบาทเล็กน้อย ในการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยรอบของขั้วโลก แต่ก็ไม่ชัดเจนซะทีเดียวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโอโซนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้นักวิทย์ยังเสริมอีกว่า แม้ว่าหลุมโอโซนในปัจจุบันจะมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบเจอ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนก เพราะพื้นที่ด้านล่างของโอโซนไม่มีคนอาศัยอยู่ และในอีกไม่กี่เดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ หากระดับ CFC ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

"โอโซน" ของโลกมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นโมเลกุลออกซิเจนชนิดหนึ่งที่มีอะตอม 3 อะตอม มีความเข้มข้นมากพอในการปิดกั้นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์ ที่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ในปี 1985 นักวิจัยค้นพบรูโหว่ขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นในชั้นโอโซน เหนือบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งการที่ชั้นโอโซนเกิดรูโหว่ได้นั้น เกิดจากการใช้สารเคมีของมนุษย์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) คือสารเคมีทั่วไปที่ใช้ในกระป๋องสเปรย์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ และตู้เย็น มีผลต่อการสลายชั้นโอโซนของโลก จึงนำไปสู่การที่บางประเทศสั่งห้ามใช้สาร CFC ในปี 1989 ทำให้ที่ผ่านมา ชั้นโอโซนของโลกมีการฟื้นตัว

นักวิทย์พบหลุมโอโซนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบเท่ารัสเซีย-จีนรวมกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ของชั้นโอโซนยังคงก่อตัวขึ้นเสมอเหนือพื้นที่บริเวณขั้วโลกในช่วงฤดูหนาวของแต่ละซีกโลก เรื่อยมาจนกระทั่งได้สร้างสถิติใหญ่ที่สุดในปีนี้


https://www.nationtv.tv/gogreen/378932777