PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566


สายน้ำ
11-10-2023, 02:06
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนโดยมีบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 11 ? 12 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 14 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าสู่ภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Sat1.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
11-10-2023, 02:08
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


โลกกำลังป่วย จับตา "วิกฤติสิ่งแวดล้อม" ยังเหลือโอกาสให้มนุษย์แก้ไขหรือไม่

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661011_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

"โลกร้อน" ที่เรารู้จักกันดี ยังไม่ใช่สิ่งที่วิกฤติที่สุด แต่เป็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต หรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

จับตา "วิกฤติสิ่งแวดล้อม" ยังเหลือโอกาสให้มนุษย์แก้ไขหรือไม่
ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนส่งผลกระทบต่อโลก ดังนั้นเพื่อให้มนุษย์สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อย่างสมดุลและปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์จึงคิดกรอบแนวคิด Planetary Boundaries หรือขีดความสามารถในการรองรับของโลก 9 ด้านขึ้นมา เพื่อหวังสร้างสมดุลตามธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันหากมนุษย์ละเมิดขีดจำกัดดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา


โดยขีดความสามารถในการรองรับของโลก 9 ด้าน มีดังนี้

1. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. ปรากฏการณ์ทะเลกรด

4. การเปลี่ยนแปลงระบบผืนดิน

5. การใช้น้ำจืดแบบไม่ยั่งยืน

6. การไหลของสารเคมีธรณีชีวภาพหรือการไหลของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสู่ชีวมณฑล

7. ภาวะฝุ่นละอองในอากาศ

8. มลภาวะจากสารเคมีใหม่

9. การลดลงของโอโซนในชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งขีดความสามารถในการรองรับของโลกทั้ง 9 ด้าน ออกเป็น 3 ระดับ ได้คือ ปลอดภัย, อยู่ในภาวะเสี่ยง และระดับวิกฤติ ซึ่งจากรายงานที่ผ่านมา พบว่ามนุษย์ได้ละเมิดขีดจำกัดความปลอดภัยมาแล้วถึง 4 ด้าน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และล่าสุด มีข่าวร้ายยิ่งกว่า หลังมีรายงานออกมาว่า ปัจจุบันมนุษย์ได้ละเมิดขีดจำกัดความปลอดภัยถึง 6 ใน 9 ด้าน

ทั้งนี้ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ได้พูดตอนหนึ่งในค่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่า ทุกคนรู้ว่าโลกป่วยแต่คำถามก็คือ ป่วยแค่ไหน เป็นโรคอะไรบ้าง และคำถามที่อาจตามมาอีกคือ เรารู้ว่าโรคป่วยแต่ทำไมเรายังไม่เปลี่ยน

จากผลการประเมินขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกทั้ง 9 ด้าน ล่าสุดผลปรากฏว่าเกินมา 6 ด้าน และตอนนี้มี 3 ด้านที่มีความวิกฤติอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็น Triple Planetary Crisis หรือวิกฤติ 3 ด้านของโลกที่ถูกสื่อสารออกมาค่อนข้างเยอะในระยะหลัง ได้แก่ โลกร้อน ที่เรารู้จักกันดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่วิกฤติที่สุด ซึ่งสิ่งที่วิกฤติที่สุดคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต หรือว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเรื่องของมลภาวะ

ส่วนอีก 3 ด้าน คือเรื่องของน้ำเสีย เรื่องของแร่ธาตุสารอาหาร การใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นที่ จ.ชลบุรี เป็นตัวสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการผลิตอาหารของเรา การใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินไป การใช้ยาฆ่าแมลงทุกอย่างลงสู่ทะเลทั้งหมด และทะเลบ้านเรากำลังจะตาย นอกจากนี้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เรื่องของระบบนิเวศป่าไม้ การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ นี่คือ 6 ตัวชี้วัดที่บอกว่า เราอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว

ส่วนตัวคิดว่าเราต้องเริ่มจาก 1. หยุดคุกคามทำลายธรรมชาติในทุกรูปแบบ 2.ให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ 3. เร่งขยายพื้นที่คุ้มครองให้เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายในลักษณะระบบนิเวศ 4. ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง

หากเปรียบโลกเป็นร่างกายของคนเรา เมื่อไปเจอหมอบอกกับเราว่า ตอนนี้ค่าไตรกลีเซอไรด์สูง 300 แล้ว คอเลสเตอรอลขึ้นไปจะแตะ 400 แล้ว คุณไม่รู้หรอกว่าเดินๆ อยู่จะล้มลงไปตอนไหน นี่คือสิ่งที่คิดว่ากำลังจะเกิดกับโลกของเราจริงๆ มีทั้งภาวะสุขภาพถดถอย สมรรถภาพเริ่มแย่ ภาวะที่อาจจะเป็นเหมือนกับโรคมะเร็งที่เราไม่รู้ว่ามันจะลุกลามขนาดไหน เชื่อว่าถ้าเราได้ผลตรวจสุขภาพแบบนี้กลับมา หมอจะบอกว่าไม่มียาวิเศษที่ฉีดยาแล้วหาย สิ่งที่คุณต้องทำคือการเปลี่ยนวิถีชีวิต

ถามว่าเรารู้ไหมว่าควรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่กินอาหารไขมันสูงเกินไป ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะเกินไป นี่เป็นสิ่งที่เรารู้แต่เราไม่ลงมือทำ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เรารู้ว่าควรพัฒนาโดยไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า ถมพื้นที่ชุ่มน้ำ สร้างขยะมากเกินไป

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังจะบอก คือเป็นสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราปฏิเสธไม่ได้ เช่นเดียวกับโลกร้อน เรายิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปเท่าไร อุณหภูมิก็สูงขึ้นเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์มีโมเดลที่คาดการณ์ได้เป๊ะๆ มีกรอบเวลาจนเกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นคาร์บอนบัดเจ็ต หมายถึงว่าเราจะปล่อยคาร์บอนได้อีกกี่ปี ที่อุณหภูมิจะไม่เกิน 1.5 องศาฯ หรือขึ้นไป 2 องศาฯ ที่สำคัญคือโลกได้บอกกับเราจนแทบจะตะโกนแล้วว่า มีอาการอะไรบ้างที่ผิดปกติ

"ผมยังเชื่ออยู่เสมอว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามก็คือทรัพยากรมนุษย์ เรามีอานุภาพในการทำลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อ แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง มีคนบอกว่าจริงๆ แล้วโลกที่ยั่งยืนมีอยู่แล้ว ลองมองเข้าไปในธรรมชาติ ซึ่งในธรรมชาติไม่เคยเกิดของเสียขึ้นเลย มีการหมุนเวียนในเรื่องของแร่ธาตุ พลังงาน ส่งต่อระหว่างสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์มาก จึงคิดว่าอยากให้มนุษย์ไปถึงการพัฒนายั่งยืน คือจะทำอย่างไรให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการรีไซเคิล"


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2731948