PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566


สายน้ำ
05-11-2023, 02:44
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 6 ? 10 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วยในช่วงวันที่ 8 ? 10 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Sat.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Sat.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
05-11-2023, 03:56
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ค่ามลพิษทางอากาศในนิวเดลี วิกฤติหนัก สูงกว่าเกณฑ์ WHO ถึง 100 เท่า

วิกฤติหนัก ค่ามลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย พุ่งทะลุ 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 100 เท่า

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ฤดูฝุ่นเริ่มแล้ว ประชาชนในอินเดียเผชิญวิกฤติมลพิษทางอากาศเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา โดยสภาพอากาศที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ต้องเผชิญกับวิกฤติมลพิษทางอากาศเข้าขั้นรุนแรงหนัก โดยพบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 พุ่งทะลุ 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดไว้ถึง 100 เท่า หรือเฉลี่ยไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ทางการอินเดียต้องสั่งปิดโรงเรียน และหยุดการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นทั่วกรุงนิวเดลี

คุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี เริ่มแย่ลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการเผาพื้นที่การเกษตร สำหรับเตรียมการเพราะปลูกในฤดูต่อไป ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรัฐหรยาณา และรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของประเทศ ประกอบกับลมแรงที่พัดพามลพิษเข้าสู่กรุงนิวเดลี และอุณหภูมิที่เย็นลงมีมวลหนักดักจับฝุ่น

คณะกรรมการเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศแห่งภูมิภาค ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ว่า "สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดพามลพิษไปยังนิวเดลี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน"

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้านมลพิษในกรุงนิวเดลีก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถคาดคะเนคุณภาพของอากาศได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ กรุงนิวเดลีถือเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเป็นประจำ ซึ่งผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ พบว่า ผลจากวิกฤติมลพิษทางอากาศ ทำให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงนิวเดลีมีอายุขัยสั้นลง 11.9 ปี


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2738112


******************************************************************************************************


เผยผลการวิจัยขนาดตัวที่เติบโตของจระเข้ทะเลจูราสสิก

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ในเมืองสตุตการ์ต เยอรมนี เป็นแหล่งรวบรวมซากสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลที่สำคัญทั่วโลก มีตัวอย่างมากมายตั้งแต่ช่วงที่เรียกว่า ?โพสิโดเนีย เชล? (Posidonia Shale) ซึ่งตะกอนโคลนถูกบีบอัดจากการฝังและน้ำหนักของชั้นหินที่อยู่ด้านบน ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งนี้ เผยว่า หลังตรวจสอบฟอสซิล 62 ชิ้นจากโพสิโดเนีย เชล ทำให้สามารถศึกษาอัตราการเติบโตของจระเข้ทะเลโบราณในยุคจูราสสิกได้

เนื่องจากสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยก็คือ จระเข้ทะเลยุคจูราสสิกเหล่านี้เติบโตจากช่วงเป็นทารกที่มีขนาด 50 เซนติเมตร ไปเป็นจระเข้โตเต็มวัยขนาด 5 เมตรได้อย่างไร ทีมนักบรรพชีวินวิทยามุ่งไปที่จระเข้ทะเลดึกดำบรรพ์กลุ่ม Macrospondylus bollensis อยู่ในวงศ์ Teleosauroidea เป็นวงศ์ใหญ่ของทาแลตโตซูเชียน (Thalattosuchian) คือกลุ่มของสัตว์คล้ายจระเข้ที่อาศัยในทะเลยุคจูราสสิกตอนต้นจนถึงยุคครีเตเชียสตอนต้น และสูญพันธุ์ไปแล้ว ซากของมันพบได้ทั่วไปในชั้นโพสิโดเนีย เชล อายุ 182 ล้านปีทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี

ผลการวิจัยนี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เพราะนักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า Macrospondylus bollensis ทั้งในตอนเป็นเด็ก วัยก่อนโตเต็มวัย และโตเต็มวัย มีการเติบโตเกือบเท่ากันในหลายส่วนของร่างกาย เรียกสิ่งนี้ว่า การเจริญเติบโตแบบมีมิติเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสัตว์มีกระดูกสันหลัง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจระเข้ Macrospondylus bollensis วัยเด็กจึงดูค่อนข้างคล้ายจระเข้โตเต็มวัย.

Credit : Papers in Palaeontology (2023). DOI: 10.1002/spp2.1529


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2737583

สายน้ำ
05-11-2023, 03:59
ขอบคุณข่าวจาก มติชน


เปิดภาพจากอวกาศ 'แสงสีเขียว' ทะเลไทย ที่นักบินอวกาศนาซายังสงสัย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Matichon_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Matichon_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

หลังจากที่ โลกออนไลน์ ได้เผยแพร่ภาพตื่นตาจากแสงสีเขียวที่เกิดบริเวณเขาพะเนินทุ่ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ.เพชรบุรี เทียบกับปรากฏการณ์แสงเหนือ ขณะที่หลายคนได้เข้ามาคอมเมนต์ว่า น่าจะเป็นแสงจากเรือไดหมึก

ทั้งนี้ นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า แสงสีเขียวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแสงที่เกิดจากเรือไดหมึกจากทะเลอ่าวไทยสะท้อนกับก้อนเมฆ ในอ่าวไทยนั้นมีเรือไดหมึกจำนวนมาก

และว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนบนโลกเราจะตื่นเต้นกับแสงสีเขียวที่คิดว่าเป็นแสงเหนือ เพราะก่อนหน้านี้ มนุษย์อวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนอกโลกเองก็เคยตกใจกับแสงสีเขียวจากเรือไดหมึกในอ่าวไทย จนถึงขั้นถ่ายภาพส่งไปวิเคราะห์ยังนาซามาแล้วว่า มันคือแสงอะไร โดยเมื่อสถานีอวกาศโคจรผ่านพื้นที่ที่มองเห็นทะเลอ่าวไทย ที่ชาวประมงใช้ไฟสีเขียวล่อหมึกให้มาติดกับ เป็นแสงสีเขียวที่มีขนาดกว้างใหญ่มาก สร้างความประหลาดใจแก่มนุษย์อวกาศอย่างมาก เพราะพวกเขาวิเคราะห์ไม่ได้ว่า มันคือแสงอะไรจากโลก จึงถ่ายภาพส่งไปให้ทางต้นสังกัดคือ นาซา หาคำตอบ จนในที่สุดถึงได้รู้ว่ามันคือแสงไฟจากเรือไดหมึกในประเทศไทยนั่นเอง"


เฉลยแล้วแสงสีเขียวพะเนินทุ่ง ดาราศาสตร์ชี้ นักบินอวกาศเคยอึ้ง จนนาซาต้องหาคำตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพถ่ายดังกล่าวของนาซานั้น ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2014 นักบินอากาศชาวอเมริกัน Reid Wiseman ที่ประจำอยู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้โพสต์ภาพลงในเอ็กซ์ว่า "กรุงเทพฯเป็นเมืองที่สว่าง ส่วนแสงสีเขียวนอกกรุงเทพฯนั้น โนไอเดีย" ซึ่ง คริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยในขณะนั้น ก็ได้โพสต์ตอบว่า "คนกรุงเทพฯทั้งหลาย มีไอเดียไหม"


ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่าเป็นเรือตกหมึกของไทย ที่เรือประมงจะใช้แสงสีเขียวเพื่อเรียกปลาหมึกและแพลงตอนให้ขึ้นมาบนผิวน้ำ

ทั้งนี้ บทความเมื่อเดือนตุลาคม 2013 ของหอสังเกตการณ์โลก โดย Michael Carlowicz ได้บอกว่า ชาวประมงจากอเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มหาสมุทรสว่างไสวด้วยโคมไฟ ที่ดึงดูดแพลงตอนและสายพันธุ์ปลาที่ปลาหมึกกินเป็นอาหาร ปลาหมึกจะติดตามเหยื่อไปยังผิวน้ำ ซึ่งชาวประมงจะจับได้ง่ายขึ้น เรือปลาหมึกสามารถบรรทุกโคมไฟเหล่านี้ได้มากกว่าร้อยดวง ทำให้เกิดแสงสว่างได้มากถึง 300 กิโลวัตต์ต่อลำ

ขณะที่เว็บไซต์ Scientific Visualization Studio ก็ได้โพสต์ภาพวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2020 เผยภาพ ?ตกปลาตอนกลางคืนจากอวกาศ-ประเทศไทย? อธิบาย อ่าวไทย ทะเลอันดามัน รวมไปถึงเรือประมง และว่า ภาพถ่ายนี้ ถ่ายโดยนักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2017 แสดงให้เห็นเมืองกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย สว่างไสวด้วยแสงนีออน ขณะที่ น่านน้ำที่ติดกันของทะเลอันดามันและอ่าวไทย สว่างไปด้วยแสงสีเขียวหลายร้อยดวงบนเรือประมง ชาวประมงใช้แสงไฟดึงดูดแพลงตอนและปลา ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของปลาหมึก ที่มีความสำคัญ


https://www.matichon.co.th/local/news_4267028

สายน้ำ
05-11-2023, 04:03
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


"FAO" ชี้ 1/3 ผลผลิตประมงทิ้งให้สูญเปล่า แปลง ขยะจากปลา สู่ความมั่นคั่งอาหาร ................ โดย จุลวรรณ เกิดแย้ม

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

"อาหารทะเล"เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยผลิตภัณฑ์ทั้งแช่แข็งและแปรรูป ปี2565 มีมูลค่าส่งออกมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ และ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) มีมูลค่าส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศแล้ว 3.7 พันล้านดอลลาร์

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญจากสัตว์น้ำในทะเล โดยเฉพาะปลาเป็นหลัก นับเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาและเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่ต้องถูกทิ้งไปเป็น?ขยะ?

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ประมาณการว่าอาหารทะเลมากกว่า 1 ใน 3 สูญหายหรือสูญเปล่า ไปในกระบวนการทำประมงหรือในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล ซึ่งสวนทางกลับการทำประมงทั่วโลกที่มากกว่า 92%ที่มุ่งจับสัตว์น้ำแบบเต็มศักยภาพหรือมากเกินความพอดี

"ความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งจากในทะเลจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่จับได้ขั้นต้นและบนบกจากการแปรรูปในโรงงานที่แม้ว่าโรงงานส่วนใหญ่สามารถส่วนเหลือของปลาไปใช้ในการผลิตปลาป่นหรือน้ำมันปลา ปัจจุบันการผลิตปลาป่นประมาณ 25-35% มาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล"

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการพัฒนาและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง โดยชิ้นส่วนสัตว์น้ำที่กำลังมีการพัฒนาคือ ผิวหนังและตับของสัตว์ทะเล และคาดว่าจะต้องเร่งการพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะ ความไม่มั่นคงด้านอาหารยังคงเป็นข้อกังวลอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล สำหรับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างโอกาสการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการขยายขนาดของนวัตกรรมส่งผลไปถึงท้องถิ่น เพราะการเพิ่มมูลค่าโดยรวมของปลาคือการเพิ่มรายได้ให้คนจับปลานั่นเอง

ตัวอย่างความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้คุ้มค่า คือ กลุ่มมหาสมุทรไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรในไอซ์แลนด์และทั่วโลก เป็นผู้นำในการบรรลุการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของการประมงและสามารถสร้างงานประมาณ 700 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าตลาดของการประมงเป็นประมาณ 500 ล้านดอลลาร์

"สิ่งที่ทำคือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอาหารทะเลเพื่อเพิ่มการใช้และมูลค่าของปลาแต่ละตัว สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มการจ้างงาน และลดของเสีย ผลิตภัณฑ์ใหม่"

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ร่วมสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยการใช้ชิ้นส่วนสัตว์น้ำมาเป็น วัสดุปิดแผล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มสไตล์โคล่าที่แซงหน้ายอดขายโคล่าแบรนด์ระดับพรีเมียมในไอซ์แลนด์ไปแล้ว ซึ่งนวัตกรรมผลพลอยได้จากปลากำลังได้รับความสนใจในประเทศชายฝั่งทะเลอื่นๆอีกมาก

ธอร์ ซีกฟุสสัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Iceland Ocean Cluster กล่าวว่าการเคลื่อนไหวเพื่อลดการสูญเสียจากการประมงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจที่ดี การจัดการประมงที่ยั่งยืน และระบบอาหารที่เหมาะสมต่อโลก โดยภารกิจของกลุ่มคือการนำภาคส่วนอาหารทะเลนามิเบียและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นพันธมิตรมารวมกันในฟอรัมความร่วมมือที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งเชื่อร่วมกันในการทำงานเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ การวิจัย วิธีการ และการตลาด

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเลในประเทศไทยนั้นทำได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นลำดับ 1 ของโลกประเทศไทยสามารถใช้ชิ้นส่วนของปลาไม่ว่าจะเป็นเกล็ดปลา กางปลาไปจนถึงเลือดปลา ที่เหลือจากการทำปลากระป๋องสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเพราะส่วนต่างๆเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก

ชิ้นส่วนปลานำไปเปลี่ยนเป็น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารสะกัดต่างๆในอาหารเสริม เป็นส่วนผสมอาหารสุนัขและแมว ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ 100% เป็นไปตามเป้าหมาย BCG ( เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยได้อย่างยั่งยืน

"ผลที่ได้คือ อุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เหลือ Food Lost และสามารถสร้างอาชีพหรือการสร้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นจำนวนมากจากการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนของปลาได้อีกด้วย"

เมื่อ"อาหาร"เริ่มหายาก แม้แต่ "อาหารจากท้องทะเล" การจัดการอุตสาหกรรมประมงและอาหารแปรรูปที่ให้มีของเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย เป็นแนวทางที่จะส่งผลระยะยาวต่อการ "ผลิตอาหารและความมั่นคงทางโภชนาการ" เพิ่มขึ้น เมื่อปลามีมูลค่าสูงขึ้น ผลก็ส่งมาที่เศรษฐกิจก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1096810

สายน้ำ
05-11-2023, 04:09
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เหตุผลค้าน "แลนด์บริดจ์" ถมทะเล 7 พันไร่-วิถีประมงเสี่ยงพัง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
ป้ายคัดค้าน คนพะโต๊ะ-ชุมพร ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้าน

หลังรัฐบาลปัดฝุ่น โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบในหลักการของโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการใน จ.ชุมพร และระนอง โดยกลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโครงการเริ่มออกมาคัดค้านโครงการ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอพะโต๊ะ ขอให้ทุกหน่วยงานยุติทุกกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองไว้ก่อน

และเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งจากโครงการท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางรถไฟที่จะพาดผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ

เพจความอุบัติเมืองมลพิษแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ระบุว่า จากการที่เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เดินสายให้ข้อมูลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ จากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใน 4 ตำบล เขตอำเภอพะโต๊ะ ชุมชน คนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง และเคือข่ายประชาชน 5 อำเภอ จ.ชุมพร

"สรุปผลสำคัญคือ ทุกพื้นที่มติคัดค้านแลนด์บริด และเชิญชวนประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมเวทีชำแหละแลนด์บริดจ์ วันที่ 15 พ.ย.นี้ เริ่มเวลา 08.30 น.ที่อบต.พะโต๊ะ"


แลนด์บริดจ์กระทบอะไรบ้าง?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พื้นที่โครง การแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง อยู่ในพื้นที่อันดามันมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 4 ซึ่งไทยได้รับการบรรจุขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น กับคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2564

"ไทยต้องส่งรายงานการศึกษาฉบับเต็มให้กับมรดกโลก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเวียนให้หน่วยงานต่างๆ ก่อนชงเสนอ ครม.ส่งไปศูนย์มรดกโลก"

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ประเด็นไม่ใช่แค่การจะทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกล่าช้า แต่เป็นผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น น้ำลึก และมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากเมกกะโปรเจ็กต์ ถ้าไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบทุกมิติ โดยเฉพาะพื้นที่สงวนชีวมณฑลปี 2545 มีการประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง


ถมทะเล 7,000 ไร่เสี่ยงนิเวศพัง

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงจากโครงการแลนด์บริดจ์คือ การมีการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เกือบเท่าเกาะพยาม จ.ระนอง เกาะกลางทะเล จะกระทบวงจรที่ของกระแสน้ำ การเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตสัตว์ทะเล ที่จะเข้ามาวางไข่ในป่าชายเลนถูกขวางด้วยท่าเรือแน่นอน

ดังนั้นจึงอยากเสนอทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานฯ ต้องศึกษาว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่เข้ามาใช้พื้นที่ และจะกระทบจากโครงการนี้

"เป็นโจทย์คำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครศึกษามาก่อน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบ"

นอกจากนี้ นักวิชาการ ระบุด้วยว่า แม้ว่าโครงสร้างตัวท่าเรืออยู่นอกเขตอุทยานแหลมสน แต่ว่าโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่จะอยู่รอบพื้นที่ บล็อกเส้นทางที่สิ่งมีชีวิตจะเข้ามาการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งไม่เพียงแค่นั้นยังมีเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาได้ โดยตัวโครงการไม่จบแค่แค่เฟส 1 แต่มีเฟส 2 และ 3 ซึ่งถนนเส้นท่าเรืออยู่นอกเขตป่า แต่ถนนเส้นที่ผ่านป่าชายเลนที่มีความหนาของป่า 4-6 กม.แล้วแต่พื้นที่

โลหะหนัก-น้ำมันรั่วไหลไม่ควรมองข้าม

นายศักดิ์อนันต์ ยังกังวลว่าเรื่องสารโลหะหนัก เพราะปกติโลหะหนัก จะจับตัวกับสารอินทรีย์ในดินเลน ไม่ว่าจะมาจากแผ่นดินมาลงทะเลก็จะถูกจับในดินเลนได้และสะสมในพื้นดิน

"การขุดลอกขึ้นมาเท่ากับเป็นการขุดตะกอนโลหะหนักขึ้นมาจะฟุ้งกระจายไปไหน ไกลแค่ไหน"

รวมทั้งการมีท่าเรือมีการขนส่งน้ำมัน มีแปรรูปน้ำมัน จึงมีใครรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดน้ำมันรั่วไหล เพราะที่ผ่านมาหลายท่าเรือทั้งแหลมฉบัง มาบตาพุด ศรีราชา เกาะเสม็ด จ.ชลบุรี เมื่อรั่วไหลแล้วน้ำมันพัดผิวหน้าน้ำ เข้าเกาะหาดทราย ยังเก็บได้รวบรวมได้

"แต่ถ้ารั่วในพื้นที่หาดเลน ที่เป็นหาดเลนที่มีสารอินทรีย์เยอะ น้ำมันกับสารอินทรีย์มันจับตัวกัน มันมองไม่เห็น มันจับตัวกันเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายยิ่งกว่าเก็บออกไม่ได้"

ประเด็นต่อมาเส้นทางบนบก ตัวท่าเรือในทะเล แต่ถนนที่ผ่านป่าชายเลน 4 กม. จะทำอย่างไรตอนนี้ ตอนนี้มีการพูดถึงถนนผ่านป่าชายเลน ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำทางยกระดับทำถนนหรืออะไร ต้องประเมิน

สุดท้ายวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งตลอด 4,000 ครัวเรือนพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่ง และไม่ใช่แค่รัศมี 5 กม. แต่ทำประมงชายฝั่งตลอดระนอง หาต้องถอยร่นทำประมงด้านล่างลงไป หรือถ้านิเวศเสียหายจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการแลนด์บริจด์ จะทำต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะสูญเสีย ต้องประเมินผลกระทบอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่การศึกษาแบบเดาๆ

สอดคล้องกับข้อกังวลของ สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ บอกว่า ชาวบ้านอ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ทำเกษตร 6,178 ครัวเรือน คิดเป็น 97.09% มีพื้นที่เกษตรรวม 149,578 ไร่ มีรายได้จากเกษตรปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท จำนวนนี้ 80% ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าถูกเวนคืนจะได้รับเฉพาะค่าอาสินที่ให้ผลผลิตแล้ว เช่น ทุเรียน ต้นละ 18,740 บาท มังคุด ต้นละ 5,710 บาท ปาล์มน้ำมัน อายุ 3 ปีขึ้นไป ต้นละ 5,800 บาท ยางพารา ต้นละ 4,370 บาท

กรณีสวนทุเรียน เนื้อที่ 8 ไร่ ประมาณ 60 ต้น ถ้าถูกเวนคืนจะได้ค่าอาสินแค่ 1.1 ล้านบาท ไม่สามารถซื้อที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ได้เท่าเดิม เพราะที่ดินมีราคาสูง แต่หากยังคงอยู่ในพื้นที่จะมีรายได้จากทุเรียน ปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต และเป็นมรดกให้ลูกหลาน จึงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่และต่อสู้จนถึงที่สุด


อะไรคือโครงการแลนด์บริดจ์

ผลการศึกษาเบื้องต้นของ สนข.กระทรวงคมนาคม ประมาณมูลค่าลงทุนในการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ไว้ 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

- การก่อสร้างท่าเรือ 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท)

- การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ทั้งสองฝั่งมีมูลค่าลงทุนรวม 141,103 ล้านบาท

- มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ รวม 223,626 ล้านบาท

- โครงการท่าเรือนานาชาติระนอง

- การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 รับทราบ ตามแผนช่วงเดือนพ.ย.2566 จะรับฟังความเห็นในพื้นที่โครงการ จากนั้นปี 2567 จะจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

และเมื่อเข้าสู่ปี 2568 ประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เม.ย.-มิ.ย.2568 ก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิที่ดินช่วงม.ค.2568 -ธ.ค.2569

คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือนก.ค.-ส.ค.2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ในเดือน ก.ย.2568 - ก.ย.2573 และเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.2573


https://www.thaipbs.or.th/news/content/333502

สายน้ำ
05-11-2023, 04:13
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เอลนีโญรุนแรงทำฤดูหนาวมาช้า-น้ำจืดจ่อแห้งหมดซีกโลกใต้

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_BBC_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661105_BBC_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาระบุว่า จำเป็นจะต้องเลื่อนการประกาศวันเริ่มต้นฤดูหนาวปี 2566 ของประเทศไทยออกไปจากเดิมราว 2 สัปดาห์ เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ อากาศจะยังคงร้อนชื้นแบบฤดูฝนอยู่ แม้มวลอากาศเย็นจะเริ่มแผ่ปกคลุมลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้วก็ตาม

มวลอากาศเย็นตามฤดูกาลดังกล่าวได้อ่อนกำลังลง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Ni?o) ซึ่งในปีนี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้หลายภูมิภาคของโลกต้องเผชิญภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่าที่ลุกลามเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำในแหล่งที่ใช้อุปโภคบริโภคกันเป็นประจำ ยังแห้งเหือดลงอย่างรวดเร็วน่าใจหาย จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่า ประชากรโลกจำนวนไม่น้อยจะต้องเผชิญกับหายนะในการดำรงชีวิตเร็ว ๆ นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ของมนุษย์ แต่มีน้ำจืดเพียง 1% จากปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก เหลืออยู่ให้เรานำมาใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังทำให้น้ำในซีกโลกใต้เหือดแห้งหายไปอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกด้วย

ดร.เควิน คอลลินส์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Open University ของออสเตรเลีย ได้อธิบายถึงแนวโน้มทางภูมิอากาศที่ค้นพบในงานวิจัยข้างต้น ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ร่วมกับองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย ได้เป็นผู้ทำการศึกษาและเขียนรายงานชิ้นดังกล่าวขึ้น

ดร.คอลลินส์ กล่าวอธิบายในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่าข้อมูลการสำรวจด้วยดาวเทียมและการตรวจวัดปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำลำธารสายต่าง ๆ ระหว่างปี 2001-2020 ชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตเหือดแห้งไปในแถบซีกโลกใต้มากกว่าซีกโลกเหนือหลายเท่าตัว

คำว่า "ปริมาณน้ำที่มีอยู่" (water availability) หมายถึงปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งเราสามารถคำนวณจากการนำตัวเลขปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบนผืนแผ่นดิน มาลบออกด้วยปริมาณน้ำที่ระเหยเป็นไอกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณสุทธิของน้ำที่มีอยู่ในซีกโลกใต้ ลดลงไปมากจนน่าวิตกอย่างยิ่ง

ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของภูมิภาคอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกาเกือบทั้งหมด, รวมทั้งบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย ซึ่งในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อภูมิอากาศของโลกทั้งใบ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในซีกโลกเหนือด้วย แม้ว่าในปัจจุบัน หลายประเทศในซีกโลกเหนือสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ดีกว่า จนส่งผลให้ยังมีปริมาณน้ำคงเหลือที่สมดุลกับความต้องการอุปโภคบริโภคของผู้คนมากกว่า

บทความของดร.คอลลินส์ บอกว่า หายนะเรื่องทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นกับผู้คนในซีกโลกใต้ จะพลอยส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นกรณีของป่าฝนแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นสถานที่ทรงอิทธิพลสำคัญในการกำหนดควบคุมระบบภูมิอากาศโลก ทั้งเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์

หากป่าฝนแอมะซอนประสบหายนะจากการที่น้ำในป่าเหือดแห้งลง ความตายและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์นานาชนิดจะต้องมาถึงในไม่ช้านี้ เนื่องจากไฟป่าและภาวะอดอยากขาดแคลนอาหาร ซึ่งก็จะปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนหลายพันล้านตันที่ป่ากักเก็บไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้ภาวะโลกร้อน-โลกรวน จากปรากฏการณ์เรือนกระจกร้ายแรงยิ่งกว่าเก่า

ความแห้งแล้งผิดปกติที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้และแอฟริกา ยังส่งผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ ได้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากสองภูมิภาคใหญ่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตถั่วเหลือง, ผักผลไม้, เนื้อสัตว์, น้ำตาล, โกโก้, และกาแฟปริมาณมหาศาลออกสู่ท้องตลาด

หากทรัพยากรน้ำถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าราคาอาหารในตลาดโลกจะถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อปัญหาความยากจน รวมทั้งเกิดศึกแย่งชิงทรัพยากรในการผลิตอาหาร ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง หรือแม้กระทั่งเป็นชนวนก่อสงครามขึ้นได้

ความแห้งแล้งเนื่องจากการสูญเสียปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ จะส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ โดยพืชพรรณของป่าไม้จะเสื่อมโทรมและตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากเราสูญเสียป่าไม้จนอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงสูงลิ่วโดยไม่ลดลงไปจากระดับปัจจุบันเลย

ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพ, การทำมาหาเลี้ยงชีพ, และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้บริเวณที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของโลก จะไม่ได้อยู่ในเขตที่เกิดภาวะน้ำแห้งเหือดอย่างรุนแรงก็ตาม ตัวอย่างเช่นภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลียซึ่งมีประชากรเบาบาง จะส่งผลกระทบต่อเมืองใหญ่แถบชายฝั่งด้วยเช่นกัน

เหตุไฟป่าลุกลามและพายุโหมกระหน่ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรที่เหลือน้อยลงทุกทีในอนาคต หากมนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และปรับตัวแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วทันท่วงที ในภาวะที่โลกกำลังนับถอยหลังสู่จุดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ที่เราไม่อาจจะทำให้หวนคืนเป็นเหมือนดังเดิมได้อีกแล้ว


https://www.bbc.com/thai/articles/ce9p1kve0y0o