PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566


สายน้ำ
10-11-2023, 01:53
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ตอนล่าง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

สำหรับบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 11 ? 14 พ.ย. 66 ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 ? 11 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีคลื่นกระลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 15 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย

สำหรับในช่วงวันที่ 10 - 11 พ.ย. 66 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 พ.ย. 66 บริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Sat.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Sat.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
10-11-2023, 01:59
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


หาดูยาก! คลิปภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ พ่นลาวา-ขี้เถ้า กลายเป็นเกาะเกิดใหม่

เกาะแห่งใหม่ล่าสุดในท้องทะเล เพิ่งถือกำเนิดนอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำที่พ่นลาวาและขี้เถ้าออกมาเป็นจำนวนมาก

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ภูเขาไฟใต้ทะเลแปซิฟิกนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น บริเวณหมู่เกาะโบนิน หรือในชื่อญี่ปุ่นว่าหมู่เกาะโองะซะวะระ เริ่มปะทุมาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2566 และพ่นทั้งขี้เถ้าและลาวา ออกมาเป็นจำนวนมาก?

องค์ประกอบของดินจำนวนมหาศาล ที่ภูเขาไฟใต้น้ำลูกนี้ปล่อยออกมา ได้ก่อตัวกลายเป็นต้นกำเนิดของเกาะแห่งใหม่ล่าสุดของโลก

เซตซึยะ นาคาดะ นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์ว่า การปะทุขึ้นมาของภูเขาไฟใต้น้ำ ซึ่งก่อให้เกิดเกาะกลางทะเลแห่งใหม่นี้ เริ่มจากการพ่นแมกมาหรือหินเหลวร้อน ๆ ที่มีลักษณะข้นหนืดออกมาในแนวตั้ง และพุ่งทะลุขึ้นมาเหนือผิวน้ำ?

หลังจากนั้น การปะทุของภูเขาไฟก็ดำเนินต่อไปพร้อมกับการระเบิดออกอย่างต่อเนื่อง แมกมาที่ถูกพ่นออกมา จะตกลงสู่ทะเล กลายเป็นลาวา ซึ่งจะเข้าไปรวมตัวกับเศษชิ้นส่วนของหินภูเขาไฟ และก่อตัวตั้งยอดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ

เมื่อมาถึงวันที่ 3 พ.ย. 2566 ภูเขาไฟใต้น้ำลูกนี้ ก็เปลี่ยนจากการพ่นลาวา มาเป็นการพ่นขี้เถ้าออกมาแทน

เกาะใหม่แห่งนี้ ตั้งโดดเด่นเห็นชัดได้จากเกาะอิโวจิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางใต้ราว 1,200 กม. เกาะอิโวจิมะเคยเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญระหว่างกองทัพสหรัฐและกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันไม่มีผู้อยู่อาศัย มีเพียงกองกำลังป้องกันประเทศญี่ปุ่นประจำการอยู่?

เกาะใหม่อยู่ห่างจากชายฝั่งราว 1 กม. วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ได้ประมาณ 2 กม. ขณะที่การปะทุของภูเขาไฟต้นกำเนิดเกาะ ก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าดูเหมือนมันจะผ่านจุดปะทุสูงสุดไปแล้ว และเริ่มสงบลง

นาคาดะ กล่าว่า ปกติแล้ว การปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำในภูมิภาคนี้ มักจะกินระยะเวลาราว 1 เดือนขึ้นไป

ข้อมูลจากการประเมินของทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีภูเขาไฟใต้น้ำทั่วโลกอยู่มากกว่า 1 ล้านแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว และบางส่วนก็อยู่ลึกมาก จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อมีการปะทุ?

มนุษย์เพิ่งสามารถตรวจพบการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำได้ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ส่วนโอกาสที่จะได้เห็นเกาะแห่งใหม่ถือกำเนิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำนั้น มีน้อยยิ่งกว่าน้อย?

ตัวอย่างเกาะที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ก็คือหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน

ในปี 2558 เคยมีเกาะแห่งใหม่ถือกำเนิดในทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ และได้กลายเป็นแหล่งศึกษาที่สำคัญของนักธรณีวิทยา, นักภูเขาไฟวิทยา, นักชีววิทยา และนักนิเวศวิทยา

แต่ในปี 2565 เกาะแห่งนี้ก็หายไป เนื่องจากมีการปะทุรอบใหม่ของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่กลายเป็นตัวการทำลายเกาะ

ส่วนเกาะน้องใหม่ใกล้เกาะอิโวจิมะนี้ นาคาดะ มีความเห็นว่า ถ้าหากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้อย่างมาก ที่มันจะรวมตัวเข้ากับเกาะอิโวจิมะในที่สุด ซึ่งต้องเฝ้าสังเกตกันต่อไป

ที่มา : sciencealert.com


https://www.dailynews.co.th/news/2883657/


******************************************************************************************************


ไทยพลาดจัดการนํ้าไม่เต็มที่ ทั่วโลกเสียนํ้าสะอาดต้องเร่งรับมือ

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Dailynews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Dailynews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ในรายงานบริหารจัดการการขาดแคลนนํ้าในเอเชียแปซิฟิก ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ระบุว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความผันแปรที่สูงขึ้นของปริมาณนํ้าในทุกภาค รูปแบบของฝนตกในฤดูมรสุมที่ไม่แน่นอนทำให้มีนํ้าน้อยลงในช่วงหน้าแล้ง

นํ้าฝนอาจจะลดลงในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปลูกข้าวมาก ทำให้ภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหานํ้าไม่พอใช้ ในขณะที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความต้องการใช้นํ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านคุณภาพของนํ้าประเทศไทยมีปัญหาการปนเปื้อนนํ้าจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และประชากรที่อยู่อาศัยหนาแน่นในพื้นที่ โดยพื้นที่นอกกรุงเทพฯ มีอัตราการบำบัดนํ้าเสียตํ่า นอกจากนี้ความแล้งที่เกิดบ่อยขึ้นทำให้นํ้าเค็มรุกรานแหล่งนํ้าจืดสำคัญเช่น แม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งปัญหาด้านนํ้าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ใช้นํ้าสูงถึง 90.4% ของปริมาณการใช้นํ้าจืดทั้งหมด เทียบกับเวียดนาม 94.8% ลาว 95.9% กัมพูชา 94% และเมียนมา 88.6% เทียบกับค่าเฉลี่ย 70% ทั่วโลก

รายงานยังระบุว่า ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561 ช่วยเชื่อมโยงการบริหารจัดการนํ้าระหว่างหน่วยงานรัฐบาล 48 แห่ง แต่เดิมมีการทำงานและเป้าหมายที่ซํ้าซ้อน และมีการมองบริบทการบริหารจัดการนํ้าที่แตกต่างกัน ต่อมาคณะรัฐมนตรีใด้อนุมัติแผนแม่บทในการบริหารจัดการนํ้าปี 2561-2580 มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางนํ้า บนการคาดการณ์ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจัดทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทย


เปิดจุดอ่อน-จุดแข็งไทย

การวางกลยุทธ์และนโยบายอย่างเป็นระบบ และการปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องในการบริหารนํ้าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แผนวิสัยทัศน์ด้านนํ้าที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2543 ทำให้การทำงานระหว่าง 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนํ้าไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งประเทศไทยมีการตอบสนองอย่างดีต่อภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

แต่จุดอ่อนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังมีส่วนร่วมได้ไม่ทั่วถึงในกระบวนการปฏิรูปการใช้นํ้าของประเทศ และการวางแผนในระดับลุ่มนํ้ายังกระจัดกระจาย เนื่องจากขาดอำนาจและงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ และการประเมินผลของการดำเนินนโยบายอย่างเป็นระบบยังไม่มีคุณภาพพอ

รายงานเสนอแนะให้เพิ่มการสนับสนุนทั้งในด้านการปฏิบัติงานและการเงินแก่คณะกรรมการลุ่มนํ้าซึ่งมีการทำงานที่ยังขาดความเชื่อมโยง ในสถานการณ์ที่มีการแก่งแย่งใช้นํ้าจากภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนปรับปรุงความร่วมมือระหว่างสถาบัน เพื่อลดการทับซ้อน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและประชาชนเข้าถึงนํ้าได้เพียงพอในฤดูแล้ง

ประเทศในเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งปรับปรุงการบริหารนํ้า ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพราะคาดว่าภูมิภาคนี้จะประสบการขาดแคลนนํ้าเพิ่มขึ้น โดยความต้องการนํ้าจะเพิ่มขึ้นมาตามการเติบโตของจำนวนประชากร เศรษฐกิจ และการขยายของเมือง รวมถึงการบริโภคสินค้าทางการเกษตรที่ต้องใช้นํ้ามากในการผลิต เช่น เนื้อสัตว์ และการใช้นํ้าจากภาคบริการในเขตเมือง


นํ้าจืดน้อยปนเปื้อนเยอะ

ฤดูฝนที่สั้นลง หรือมีฝนตกอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่นํ้าท่วม การปนเปื้อนของระบบสุขอนามัย พืชผลเสียหาย และการเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน บางพื้นที่เกิดฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น นำมาสู่ภัยแล้ง อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้เกิดการระเหยของนํ้าที่รวดเร็วขึ้น ทำให้มีนํ้าจืดน้อยลงสำหรับการเพาะปลูก การชลประทาน และการบริโภค การเพิ่มขึ้นของระดับนํ้าทะเลทำให้นํ้าเกลือรุกลํ้าเข้ามายังแหล่งนํ้าใต้ดิน

ตามคาดการณ์ของเอฟเอโอ ระบุว่า ทั่วโลกจะมีความต้องการนํ้าจืดที่มากกว่าปริมาณถึง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับเอเชีย จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของเมือง เอฟเอโอประมาณการประชากรมากกว่า 55% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ทำให้ความต้องการนํ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 55% การใช้นํ้าในการผลิตอาหารที่จำเป็นต่อประชากรแต่ละคนเท่ากับ 3,000 ลิตรต่อวัน เทียบกับการดื่มอย่างเดียว 2 ลิตรต่อวัน

99% ของนํ้าจืดบนโลกนี้เป็นนํ้าใต้ดิน ในภูมิภาคเอเชียคุณภาพนํ้าคาดว่าจะเสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรง จากการใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงอย่างไม่ระมัดระวัง และการขาดการบำบัดนํ้าเสียที่ดีเพียงพอ


หัวใจหาจุดสมดุลภาคเกษตร-อุตฯ

"ฉู ดองหยู" ผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอโอ กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ควรสร้างธรรมาภิบาลในการใช้นํ้า การกำหนดต้นทุนนํ้า กฎเกณฑ์สำหรับการจัดสรรทรัพยากรนํ้าให้ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีมาตรการจูงใจสำหรับการใช้นํ้าอย่างยั่งยืน เราต้องมีการบริหารจัดการนํ้าที่เชื่อมโยงกัน โดยสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่บริหารจัดการนํ้า ที่ดิน และทรัพยากรอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ประเทศต่าง ๆ ควรลงทุนเพื่อสร้างกลไกบริหารจัดการนํ้าที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรม ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการชลประทาน และการกักเก็บนํ้าสมัยใหม่ การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อการแย่งชิงนํ้าจากภาคผลิต ภาคอาหาร และภาคพลังงาน

"หัวใจของการทำงานในด้านนี้คือการหาจุดสมดุล ระหว่างปริมาณนํ้าที่ใช้ในภาคการเกษตรและภาคอื่น ๆ ที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็วขึ้น"


โลกสูญเสียนํ้าจืดครั้งใหญ่

?ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทรัพยากรนํ้าจืดบนโลกสูญเสียไปประมาณ 1 ใน 5 ของนํ้าจืดทั้งหมด ในบางภูมิภาคการสูญเสียนํ้าจืดอยู่สูงถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากการปนเปื้อนของแหล่งนํ้า การขุดเจาะนํ้ามาใช้มากเกินไป และการขาดความร่วมมือในการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นการรับมือกับวิกฤติสภาพอากาศด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบอันใหญ่หลวงกับสิ่งแวดล้อม และสังคม

เอฟเอโอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาทางออกที่เป็นธรรมชาติในการบริหารจัดการนํ้า เช่นโครงการระบายนํ้าขนาดเล็ก

นอกจากนี้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องเร่งดำเนินการให้การผลิตอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรใช้นํ้าน้อยลง อนุรักษ์ระบบที่เกี่ยวกับดินและนํ้า มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี การชลประทาน การกำจัดนํ้าเสีย และการนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่


ทุกภาคต้องได้ความมั่นคงนํ้าเท่าเทียม

เอฟเอโอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชากรแต่ละกลุ่มต่อการใช้นํ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตามกรอบกฎหมายทางการ หรือไม่เป็นทางการ เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ รวมถึงคนในชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีความมั่นคงทางนํ้าเท่าเทียมกัน ภาคเอกชนสามารถนำการเปลี่ยนแปลง โดยกระตุ้นให้มีการใช้นํ้าอย่างยั่งยืน ลดการปนเปื้อนด้วยมลพิษของนํ้าตลอดห่วงโซ่อาหาร และปรับปรุงธรรมาภิบาลด้านนํ้าในทุกระดับ

ชาวนาจะต้องมีข้อมูลและเครื่องมือที่ถูกต้องในการบริหารนํ้าอย่างยั่งยืน เนื่องจากต้องพึ่งพานํ้า ในขณะที่ประชาชนทั่วไปควรเลือกบริโภคสินค้าอาหารด้วยความตระหนักถึงทรัพยากรนํ้า เช่นเลือกอาหารที่ผลิตในประเทศ ตามฤดูกาลและใช้นํ้าน้อย รวมถึงการลดการสูญเสียอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในนํ้า


https://www.dailynews.co.th/news/2878309/

สายน้ำ
10-11-2023, 02:03
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ลงเสาเอกแล้ว! ระเบียงกระจก หาดสุรินทร์ ต้นปี 68 ภูเก็ตมีแลนด์มาร์คแห่งใหม่

ศูนย์ข่าวภูเก็ต ? อบจ.ภูเก็ต ทำพิธีลงเสาเอกโครงการก่อสร้างระเบียงกระจก หาดสุรินทร์แล้ววันนี้ ใช้งบก่อสร้าง 196 ล้านบาท รออีก 18 เดือน หรือต้นปี 68 ภูเก็ตจะมีแลนด์มาร์คและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่จะดึงนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เมื่อเวลา 09.09 น. วันนี้ (9 พ.ย. 66 ) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จัดให้มีพิธีลงเสาเอกโครงการก่อสร้างโครงการระเบียงกระจก หาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต โดยมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน และมีนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เชิงทะเล เข้าร่วม ณ พื้นที่โครงการก่อสร้างระเบียงกระจก หาดสุรินทร์ (แหลมตาหมา) ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

โครงการระเบียงกระจก หาดสุรินทร์ นั้น เป็นหนึ่งในโครงการที่ อบจ.ภูเก็ต โดยการนำของนายเรวัต อารีรอบ ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นในภูเก็ต เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนเกาะภูเก็ต รวมทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวคนต่างชาติ ให้เดินทางมาท่องเที่ยวและชื่นชมกับความสวยงามของธรรมชาติของหาดสุรินทร์ ผ่านทางระเบียงกระจกแห่งนี้ รวมไปถึงเพื่อต้องการให้คนในพื้นที่เชิงทะเลและภูเก็ตมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว

ระเบียงกระจก หาดสุรินทร์ นั้น ตั้งอยู่บนเชิงเขาลาดชัน "แหลมตาหมา" บนเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ที่สามารถมองเห็นวิวทะเลอันดามันและหาดสุรินทร์ได้อย่างสวยงาม ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 196 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน ตามสัญญาจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.25468 ภายในโครงการ

โครงการ ระเบียงกระจก หาดสุรนทร์ ออกแบบโดย บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ภายใต้แนวคิดหลัก คือ ?ท้องทะเลและวิถีชีวิตชาวภูเก็ต? โดยมุ่งเน้นให้พื้นที่ออกแบบเป็นพื้นที่ของเมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยนำท้องทะเลกับอัตลักษณ์ของพื้นที่และวิถีชุมชนของชาวภูเก็ตเข้ามาผสมผสาน ประกอบด้วย จุดชมวิวระเบียงกระจก 2 จุด ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 8.30 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 33.90 เมตร ,หอชมวิว สูง 3 ชั้น ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 11.00 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 13.00 เมตร สูงไม่น้อยกว่า 12.45 เมตร พร้อมด้วยอาคารบริการและห้องน้ำสาธารณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างทางเดิน ลานกิจกรรม กำแพงกันดิน และปลูกไม้ยืนต้นไม้พุ่มไม้คลุมดิน

อย่างไรก็ตาม อบจ.ภูเก็ต ยังมีโครงการที่จะก่อสร้างสะพานกระจก หรือ สกายวอล์ก ที่บริเวณเขาแดง ใกล้ๆ กับสนามฟุตบอลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.เก็ต เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ เช่นกัน


https://mgronline.com/south/detail/9660000100844

สายน้ำ
10-11-2023, 02:05
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


อินโดนีเซียเปิดตัวโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

อินโดนีเซียเปิดตัวโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสวงหาโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Thaipost_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Thaipost_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่สร้างขึ้นใหม่บนอ่างเก็บน้ำด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 192 เมกะวัตต์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและหน่วยงานจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อ่างเก็บน้ำซิราตาในจังหวัดชวาตะวันตก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน (Photo by BAY ISMOYO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ หรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,550 ล้านบาท) ซึ่งจะเป็นฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มทางเลือกมากขึ้นในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฟาร์มโซลาร์ลอยน้ำ "ซิราตา (Cirata)" สร้างขึ้นบนอ่างเก็บน้ำขนาด 200 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,250 ไร่) ในจังหวัดชวาตะวันตก ห่างจากเมืองหลวงจาการ์ตาประมาณ 130 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายให้ 50,000 ครัวเรือน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานในงานเปิดตัว กล่าวสุนทรพจน์ว่า "วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะในที่สุดความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ก็บรรลุผลสำเร็จแล้ว"

"เราสามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก" วิโดโดกล่าว

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติ Perusahaan Listrik Negara (PLN) และบริษัทพลังงานหมุนเวียน "Masdar" ในอาบูดาบี โดยใช้เวลาดำเนินการสร้างกว่า 3 ปี

โซลาร์ฟาร์มดังกล่าวประกอบด้วยแผง 340,000 แผง และตั้งอยู่ในพื้นที่เขียวชอุ่มที่ล้อมรอบด้วยนาข้าว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคาร Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Societe Generale และStandard Chartered

ปัจจุบันฟาร์มมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 192 เมกะวัตต์ (MWp) และผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่เมืองซิราตา

วิโดโดกล่าวว่า โครงการจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดให้เป็น 500 เมกะวัตต์ ในขณะที่เจ้าของโครงการมั่นใจว่าจะสร้างได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังพยายามที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อแลกกับการจัดหาเงินทุนภายใต้โครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

ภายใต้แผนดังกล่าว อินโดนีเซียให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานให้เหลือระดับสูงสุด 250 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 ซึ่งจะลดลงจากระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 290 ล้านเมตริกตัน

"เราหวังว่าจะมีการสร้างพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศของเรา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำ, พลังงานลม และพลังความร้อนใต้พิภพ" วิโดโดกล่าว

แต่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแต่ละแห่งมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของพลังงานผสมในอินโดนีเซีย โดยที่ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก

อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะขยายพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ของพลังงานผสมภายในปี 2568 แต่ก็ออกตัวว่าอาจไม่บรรลุเป้าหมายนั้นได้เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ แต่ในทางปฎิบัติกลับเดินหน้าการก่อสร้างตามที่วางแผนไว้แล้ว แม้จะมีเสียงทักท้วงจากนักเคลื่อนไหวก็ตาม

อินโดนีเซียยังพยายามวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้เล่นหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในฐานะผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งนิกเกิลอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กลับต้องใช้พลังงานมหาศาลจากถ่านหินในการถลุง ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการลดมลพิษสวนทางกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ.


https://www.thaipost.net/abroad-news/481664/

สายน้ำ
10-11-2023, 02:09
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


PFAS สารเคมีอมตะในเครื่องสำอางกันน้ำ ไม่เป็นมิตรทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661110_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

การศึกษาฉบับใหม่ล่าสุด ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology พบมีสารเคมีอมตะ PFAS ในเครื่องสำอางกันน้ำ และไม่เขียนชื่อสารนี้ในส่วนประกอบ ทำให้หลายประเทศในยุโรปห้ามขายเครื่องสำอางประเภทที่อาจเป็นภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

สำหรับสารเคมี PFAS คือกลุ่มสารเคมีกว่า 14,000 ชนิดที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า สารเคมีตลอดกาล (Forever Chemicals) มีคุณสมบัติกันน้ำ กันคราบสกปรก และทนความร้อน มักใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับความนิยมจำนวนมาก และบ่อยครั้งก็รั่วไหลลงสู่น้ำดื่มและพื้นดินจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงบำบัดน้ำเสีย หลุมฝังกลบ หรือโฟมดับเพลิงบางชนิด ด้วยความที่สารเคมีพวกนี้จะไม่สลายตัวตามธรรมชาติ มันจึงถูกเรียกว่า "สารเคมีตลอดกาล" และยังอยู่คงในร่างกายของสัตว์และคนด้วย อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็ง ภาวะเจริญพันธุ์ลดลง และโรคไต

University of Notre Dame ทำการวิจัยนี้ด้วยการตรวจสอบเครื่องสำอางกว่าหลายร้อยชิ้น ผลการวิจัยพบว่าโดยรวมแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 231 ชิ้น ที่ทดสอบมีส่วนผสมของฟลูออรีน (Fluorine) ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าในเครื่องสำอางเหล่านี้มีสารกลุ่ม PFAS อยู่

โดยพบในมาสคาร่าแบบกันน้ำประมาณ 80%

ในลิปสติกแบบน้ำ อายไลเนอร์ และรองพื้นประมาณ 60%

รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น คอนซีลเลอร์ อายไลเนอร์ และผลิตภัณฑ์เขียนคิ้วด้วย


งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า เครื่องสำอางที่มีสารนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางที่เขียนว่ากันน้ำ หรือติดทน เพราะ PFAS มีคุณสมบัติเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเครื่องสำอางที่มีสารนี้สูงกว่าตัวอื่นๆ ก็จะเป็นมาสคาร่า รองพื้น และลิปสติกแบบน้ำ

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีอมตะ PFAS ว่าสารพิษที่มีพันธะเคมีที่แข็งแกร่งหล่านี้จะไม่สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสาร PFAS อย่างสารโพลีและเพอร์ฟลูออโรอัลคิลนั้นเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม สามารถสะสมในแม่น้ำและดินได้ในขณะที่เราล้างเครื่องสำอาง

ล่าสุด หลายประเทศในยุโรปมีการห้ามขายเครื่องสำอางประเภทนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่ปลอดสาร PFAS และได้ติดฉลากคำว่า ?PFAS-free? เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเครื่องสำอางตัวนี้ปราศจากสารเคมีอมตะ PFAS เนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสารเคมีเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องสำอางอีกหลายตัวจำหน่ายในสหราชอาณาจักรที่ยังคงมีสารเคมีอมตะอยู่ตามคำร้องขอ Freedom of Information ที่ส่งไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อม


https://www.nationtv.tv/gogreen/378935274