PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม 2566


สายน้ำ
31-12-2023, 01:48
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้า รวมทั้งเพิ่มระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้าและมีเมฆบางส่วน
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 66 ? 1 ม.ค. 67 และ 5 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า

ส่วนในช่วงวันที่ 2 ? 4 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 66 ? 1 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 2 ? 5 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร

ในช่วงวันที่ 2 ? 4 ม.ค. 67 ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
31-12-2023, 02:22
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


โลกที่ไม่เหมือนเดิม ย้อนรอย 'มหันตภัย' ร้ายแรง ปี 2023

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ปี ค.ศ. 2023 กำลังจะลาลับ ผันผ่านไปอีกหนึ่งปี โดยตลอดปีที่ผ่านมา ชาวโลกได้ประสบมหันตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าหลายต่อหลายครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหันตภัยไฟป่าและพายุที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากอิทธิพลของ 'Climate Change' (การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ที่เป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่าจากนี้ไป ภัยธรรมชาติจะเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม

และนี่คือ มหันตภัยธรรมชาติรุนแรงที่สุดและสร้างความเสียหาย-คร่าชีวิตชาวโลกมากที่สุด จนถูกบันทึกไว้ในปี 2023


ซับน้ำตาตุรกี-ซีเรีย เผชิญแผ่นดินไหว ตายกว่า 5 หมื่นศพ

เปิดศักราช 2023 มาได้เพียงเดือนกว่า ชาวตุรกีและซีเรีย ต้องประสบมหันตภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงขนาด 7.5 และ 7.8 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนทางภาคใต้ของตุรกี และติดกับทางตอนเหนือของซีเรีย สร้างความเสียหายต่อชีวิต อาคารบ้านเรือน และระบบโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล และต่อมาได้เกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวต่อเนื่องตามมามากกว่า 9,000 ครั้ง

สหประชาชาติคาดประมาณว่า มหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวเขย่าตุรกีและซีเรียคราวนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงอย่างน้อย 50,000 ศพ ส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี และทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายหลายแสนหลัง จนนับเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดที่เกิดขึ้นบนโลกในรอบ 10 ปี


มหาอุทกภัยในลิเบีย : เขื่อนแตกถาโถมราวสึนามิถล่ม

ชาวลิเบีย ในเมืองเดอร์นา ทางภาคตะวันออกของประเทศ ต้องประสบโศกนาฏกรรมสุดวิปโยค เผชิญน้ำท่วมใหญ่ฉับพลัน เนื่องจากเขื่อน 2 แห่งแตก เมื่อ 11 กันยายน 2023 เพราะรองรับมวลน้ำมหาศาลไม่ไหว หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องถึง 3 วัน จากอิทธิพลของพายุแดเนียล

หลังเขื่อน 2 แห่งที่อยู่ใกล้กับเมืองเดอร์นาแตก มวลน้ำมหาศาลได้ถาโถมราวกับสึนามิ ถล่มทำลายอาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างในเมืองเดอร์นาพังเสียหายย่อยยับ และพัดพาผู้คนลงทะเลจำนวนมาก โดยองค์การยูนิเซฟรายงานว่า มหาภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในลิเบียครั้งนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,300 ศพ และยังสูญหายกว่า 8,500 คน


แผ่นดินไหวเขย่าโมร็อกโก ตายเกือบ 2,900 ศพ

ในเดือนกันยายนเช่นกัน ชาวโมร็อกโกต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมวิปโยค เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 6.8 เมื่อเวลา 23.11 น. ของคืนวันที่ 8 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 05.11 น. ของเช้าวันที่ 9 ก.ย.ของไทย

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ตอนกลางของเทือกเขาไฮแอตลาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,900 ศพ จนนับเป็นการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในโมร็อกโก ในรอบ 60 ปี

นอกจากนั้น ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ อยู่ห่างจากเมืองมาร์ราเกซ เมืองมรดกโลกของ UNESCO ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 71 กิโลเมตรเท่านั้น จึงทำให้สิ่งปลูกสร้างจำนวนมากในเมืองมาร์ราเกซ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ได้รับความเสียหาย รวมทั้งมัสยิดโบราณ Tinmal ซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 12 บนเทือกเขาไฮแอตลาส


ไฟป่าฮาวาย : ภัยพิบัติทำคนตาย มากที่สุดในสหรัฐฯ รอบกว่า 100 ปี

ชาวอเมริกันต้องโศกสลด เมื่อเกิดเหตุไฟป่ารุนแรงที่เกาะเมาวี ในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงวันที่ 8-11 สิงหาคม ท่ามกลางความร้อนแล้ง ไฟป่าที่ลุกโชนอย่างรุนแรงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วมาถึงเมืองลาไฮนา เมืองรีสอร์ตท่องเที่ยวบนเกาะเมาวี ทำลายอาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้เคราะห์ร้ายหนีพระเพลิงไม่ทันและทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องโดดลงทะเลเพื่อหนีเปลวไฟ

โศกนาฏกรรมไฟป่าที่เกาะเมาวี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 ศพ จนนับเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาในรอบกว่า 100 ปี ในขณะที่จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ได้ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณในปี 2024 เป็นจำนวน 425 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 14,450 ล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 34 บาท) เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูเมืองเมาวี ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก


เฮอริเคน อิดาเลีย ถล่มฟลอริดาแรงสุดในรอบ 125 ปี

ช่วงปี 2023 มีพายุก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกนับ 20 ลูก ในจำนวนนี้ ลูกที่ 4 จัดเป็นพายุรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ในขณะที่ พายุอีก 7 ลูกได้ทวีความรุนแรง เป็นพายุเฮอริเคน (พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก) และในจำนวนนี้ 3 ลูกได้ ทวีความแรงขึ้นไปเป็นเฮอริเคนระดับซุปเปอร์เฮอริเคน

พายุเฮอริเคน 'อิดาเลีย' (Idalia) คือซุปเปอร์เฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดของปี 2023 ได้เคลื่อนตัวถล่มชายฝั่งอ่าวฟลอริดา เมื่อ 30 สิงหาคม ด้วยความแรงลมระดับ 3 หรือ 200 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง จนนับเป็นพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่ถล่มชายฝั่งอ่าวรัฐฟลอริดาในรอบ 125 ปี และสร้างความเสียหายมากกว่า 80% เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้

ที่มา : foxnews , Aljazeera


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2750424

สายน้ำ
31-12-2023, 02:25
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


เมียนมาพบ "โลมาอิรวดี" เกิดใหม่เพิ่มอีก 3 ตัว

เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มชาวประมงในเมียนมาพบลูกโลมาอิรวดีเกิดใหม่ 3 ตัว ในแม่น้ำอิรวดี ทางตอนกลางของประเทศ ช่วงระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และเมืองจ๊อกเมียง ซึ่งตัวหนึ่งยาวประมาณ 1.5 ฟุต ส่วนอีกสองตัวยาวประมาณ 3 ฟุต

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Dailynews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ว่าอู หาน วิน เจ้าหน้าที่สำนักประมงเมียนมา กล่าวว่าอั ตราการเกิดใหม่ของโลมาอิรวดีในประเทศ อยู่ที่ 3-10 ตัวต่อปี โดยพื้นที่ระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และเมืองจ๊อกเมียง เป็นหนึ่งในสองพื้นที่หลักของการอนุรักษ์โลมาในประเทศ และสำนักประมงแห่งชาติ เดินหน้าเพิ่มความตระหนักรู้ และการศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์โลมา

ทั้งนี้ เมียนมาพบโลมาอิรวดีทั้งในแม่น้ำอิรวดี รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งอย่างเมืองโบกะเล รัฐยะไข่ และเมืองตะนาวศรี ปัจจุบัน จำนวนประชากรโลมาชนิดดังกล่าวในเมียนมา อยู่ที่ราว 300-400 ตัว

อนึ่ง โลมาอิรวดีจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ตามที่ระบุอยู่ในบัญชีแดงของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ( ไอยูซีเอ็น ) ตั้งแต่ปี 2547.

ข้อมูล : XINHUA


https://www.dailynews.co.th/news/3041319/

สายน้ำ
31-12-2023, 02:27
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


พบก้อนน้ำมันตลอดแนวชายหาด ต.จะทิ้งพระ จ.สงขลา กว่า 2 กิโลเมตร

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมทรัพยากรทาวทะเลและชายฝั่งลงพื้นที่หาด ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา หลังรับแจ้งพบก้อนน้ำมันตลอดแนวชายหาดยาว 2 กิโลเมตร เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (30 ธ.ค.) มีรายงานว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตรวจสอบกรณีที่มีการแจ้งว่า มีก้อนน้ำมันขึ้นบริเวณชายหาด ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ได้สำรวจพื้นที่ชายหาดบ้านจะทิ้งพระ หมู่ 6 และหมู่ 7 ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา

เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่พบก้อนน้ำมัน (Tar ball) เป็นแนวยาวขึ้นตามแนวรอยคลื่นตรงแนวน้ำขึ้นสูงสุด ตลอดแนวชายหาดระยะ 2 กิโลเมตร ตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้นไม่พบวัตถุที่ลอยน้ำ ไม่พบน้ำมันและไขมันลอยน้ำบริเวณผิวหน้าน้ำ ค่าความเค็มอยู่ในช่วง 27.8-28 ppt ความเป็นกรดด่าง 7.0-7.5 อุณหภูมิน้ำทะเล 27.8-28 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนละลาย 6.9-7.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเล ส่งวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9660000116958

สายน้ำ
31-12-2023, 02:31
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


"บลูคาร์บอน" บทบาททะเล ที่ไม่ใช่แค่ "ฟอกอากาศ" ................. โดย จุลวรรณ เกิดแย้ม

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

"บลูคาร์บอน" หมายถึง คาร์บอนที่ถูกกักเก็บจากชั้นบรรยากาศและเก็บไว้ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ทุ่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และหนองน้ำขึ้นน้ำลง ระบบนิเวศเหล่านี้เป็นแหล่งกำจัดคาร์บอน

โดยกักเก็บคาร์บอนต่อพื้นที่ได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 5 เท่า และดูดซับจากชั้นบรรยากาศได้เร็วกว่าถึง 3 เท่า

ข้อมูลจากโครงการมหาสมุทร สถาบันทรัพยากรโลก ระบุว่า ระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน ทุ่งหญ้าทะเล และบึงน้ำเค็ม ให้ความสำคัญแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งทะเล ตั้งแต่การดำรงอาหารในท้องถิ่นและอุตสาหกรรมประมง ไปจนถึงการปกป้องบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานจากการกัดเซาะและความเสียหายจากพายุ แต่ประโยชน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชุมชนชายฝั่งเท่านั้น ระบบนิเวศชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติการพัฒนาในระดับโลก

ระบบนิเวศบลูคาร์บอนสามารถปรับปรุงทั้งคุณภาพน้ำและความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น ด้วยการป้องกันผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วมและคลื่นพายุ และช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเค็มแทรกซึมเข้าไปในทรัพยากรน้ำจืด เช่น น้ำใต้ดิน ซึ่งชุมชนท้องถิ่นอาจต้องพึ่งพา ระบบนิเวศบลูคาร์บอนที่ดี เช่น ป่าชายเลนและเตียงหญ้าทะเล ยังเป็นแหล่งอนุบาลสำหรับสิ่งมีชีวิตทางทะเลและชายฝั่งที่หลากหลาย พื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดที่จะเติบโตเต็มที่ หลังจากนั้นอาจมีคุณค่าต่อการประมงพื้นบ้านซึ่งมีส่วนช่วยต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ชายฝั่ง อย่างเช่น การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ประเมินว่าการจับปลาในพื้นที่ที่อยู่ติดกับป่าชายเลนจะสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่มีปลาถึง 70% ซึ่งถือว่าระบบนิเวศบลูคาร์บอนเป็นศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและชายฝั่งหลากหลายชนิด ตั้งแต่นก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปจนถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สาหร่าย และจุลินทรีย์ สัตว์หลายชนิดเหล่านี้มีความสำคัญไม่เพียงแต่ในการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนอาหารท้องถิ่นและอุตสาหกรรมประมงด้วย

"ระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน" เป็นวิธีแก้ปัญหาตามธรรมชาติในการกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ สร้างความยืดหยุ่นในการเพิ่มผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ความสนใจและการลงทุนในบลูคาร์บอนซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาทางธรรมชาติกำลังเติบโตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ระบบนิเวศเหล่านี้ก็กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน"

โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มความรุนแรงของพายุเฮอริเคนและพายุ ซึ่งโจมตีแนวชายฝั่งและโครงสร้างทางธรรมชาติ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกำลังลดพื้นที่สำหรับระบบนิเวศเหล่านี้ที่จะเติบโต และระบบนิเวศขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกกำจัดหรือเสียหายจากการพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเกษตร

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่าปัจจุบันน้ำทะเลมีเพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนหรือบลูคาร์บอนนั้นลดลง ภายในอนาคตยังไม่มีมาตรการหรือเทคโนโลยีที่จะสามารถลดการกัดเซาะของชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน หรือมีการใช้ประสิทธิภาพชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนมากที่สุดต่อไป

"ในประเทศไทยสมัยก่อนมีผลกระทบจาก IUU Fishing : Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมทำให้ไม่มีการจับสัตว์น้ำมากเกินไปหรือจับเฉพาะปลาที่โตเต็มวัยแล้วและยังมีการดูแลสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำอย่างป่าชายเลนหรือบลูคาร์บอน การฟื้นฟูป่าโกงกาง หญ้าทะเลให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งผลการทำงานนี้เป็นประโยชน์ 2 แง่มุมทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและช่วยในการดูดซับคาร์บอน รวมถึงเรื่องการประมงของชาวบ้านอีกด้วย"

สถานการณ์สภาพอากาศขณะนี้ไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศบลูคาร์บอนเท่านั้น แต่ในบางกรณีสามารถกระตุ้นให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่เก็บไว้ได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ป่าชายเลนถูกแปลงเป็นบ่อกุ้ง การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าประมาณ 60% ของปริมาณคาร์บอนในป่าชายเลนดั้งเดิมถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

สถิติที่ทำลายระบบนิเวศบลูคาร์บอนนั้นที่กำลังหายไปอย่างรวดเร็ว มีการประเมินจากทั่วโลกว่า 50% มาจากบ่อเกลือ 35% มาจากป่าชายเลน และ 29% เป็นการทำลายทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งความเสื่อมโทรมหรือสูญหายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลของการพัฒนาไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ที่ได้ทิ้งความเสียหายต่อระบบนิเวศบลูคาร์บอน ซึ่งการปรับหลักคิดด้านการพัฒนาให้อยู่บนฐาน "ความยั่งยืน" เป็นทางรอดที่ไม่ต้องมีใครรับผลของความเสียหายในภายหลัง


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1104710

สายน้ำ
31-12-2023, 02:34
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ข่าวดีส่งท้ายปี 66 "แม่เต่ามะเฟือง" ขนาดใหญ่ขึ้นมาวางไข่ 139 ฟอง

ข่าวดีส่งท้ายปี 66 "แม่เต่ามะเฟือง" ขนาดใหญ่ขึ้นมาวางไข่ ที่อุทยานฯ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นรังที่ 5 ของฤดูกาลนี้ พบไข่ทั้งหมด 139 ฟอง เป็นไข่สมบูณ์ 102 ฟอง จนท.ย้ายไปรอฟัก คาดเป็นตัว ก.พ.2567

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_TPBS_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/661231_TPBS_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ธ.ค.2566) เวลา 03.13 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต สำรวจการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล พบร่องรอยเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่อุทยานฯ โดยครั้งนี้นับเป็นการพบการขึ้นวางไข่เป็นรังที่ 4 ของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็น รังที่ 5 ของฤดูกาล

เบื้องต้นจากการวัดรอย พบความกว้างช่วงอก 130 ซม. ความกว้างพายทั้งหมดประมาณ 220 ซม. นับเป็นแม่เต่ามะเฟืองที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกรังที่ขึ้นวางไข่ (ฤดูกาล 2566-2567) น่าจะเป็นแม่เต่าตัวที่ 3 ของปีนี้ จึงได้ทำการสักหาไข่เต่าตามภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อตรวจสอบตำแหน่งหลุมไข่จนพบ

เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดย้ายเนื่องจากมีความเสี่ยงที่น้ำทะเลจะท่วมถึง ความลึกก้นหลุมไข่ 85 ซม. ความกว้างหลุมไข่ 25 ซม. พบไข่ทั้งหมด 139 ฟอง เป็นไข่สมบูณ์ 102 ฟอง ไข่ลม 37 ฟอง ไข่เต่ามีขนาด 5.03 ซม. โดยจุดวางไข่อยู่บริเวณพิกัด UTM 47P 413556 942788

โดยได้ย้ายไข่เต่ามะเฟืองไปเพาะฟักในจุดที่สะดวกต่อการดูแลบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่พ้นแนวน้ำขึ้นสูงสุดเพื่อให้ไข่เต่าได้มีโอกาสฟักตัวตามธรรมชาติ

ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ฯ คอยตรวจสอบ ดูแลป้องกัน การรบกวนจากสัตว์หรือมนุษย์อย่างต่อเนื่อง และจะใช้เวลาอีก 55-60 วัน ไข่เต่าจะฟักตัว คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 22-27 ก.พ.2567


https://www.thaipbs.or.th/news/content/335455