PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 2 มกราคม 2567


สายน้ำ
02-01-2024, 02:38
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้า รวมทั้งเพิ่มระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 ? 2 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 7 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย

สำหรับในช่วงวันที่ 2 ? 3 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้าตลอดช่วง และในช่วง 1 ? 2 ม.ค. 67เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
02-01-2024, 03:32
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เตือนฝุ่น PM 2.5 ถล่มกรุงเทพฯ เปิดสถิติปีก่อน เพิ่มสูงเท่าสูบบุหรี่ 2 มวน/วัน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เตือนฝุ่น PM 2.5 เริ่มมีค่าสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. มีแนวโน้มจะยาวนานขึ้น พบว่าในปีที่แล้วมีฝุ่นมากเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 2 มวน/วัน ในคนที่ไม่ใส่เครื่องป้องกัน ส่วนจังหวัดน่าน และแม่ฮ่องสอน หนักสุด มีปริมาณฝุ่นสูงสุด เทียบเท่าการสูบบุหรี่ประมาณ 5.5-7.5 มวน/วัน ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงมีค่าฝุ่นสูงสุดของปี

ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการ Envi Link และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส ฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ สถาบันฯ นำมาวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้นำไปใช้ตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ จากข้อมูลปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในไทย ตั้งแต่ 2561-2565 ภาพรวมพบว่ามีปริมาณฝุ่นที่ลดลง แต่เริ่มกลับมามีปริมาณสูงขึ้นหลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง เพราะประชาชนสามารถกลับมาทำกิจกรรมหลายอย่างได้เป็นปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือ และกรุงเทพฯ

จากข้อมูลดังกล่าว สถาบันฯ ได้นำมาวิเคราะห์แนวโน้มของฝุ่นทั่วประเทศ พบว่าค่าฝุ่นในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในกรุงเทพฯ ค่าฝุ่นจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ในขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ห่างกันราว 1 เดือน

เมื่อวิเคราะห์วงจรของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะพบว่า ฝุ่นเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นตั้งแต่ เดือน ต.ค. และค่อยๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.พ. ก่อนจะลดลง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการวัดปริมาณฝุ่นในปี 2565 พบว่าช่วงเวลาที่ฝุ่นมีปริมาณสูงมีระยะยาวนานขึ้น คาบเกี่ยวช่วงเวลาตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย. ซึ่งเป็นลักษณะที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับปี 2561-2564

ด้านเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น พบว่าในปี 2561-2565 ฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะลดปริมาณลง ในขณะที่ในปี 2566 ปริมาณฝุ่นยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนแตะจุดสูงสุดในเดือน เม.ย. ก่อนจะค่อยลดปริมาณลง กล่าวคือช่วงเวลาที่ฝุ่นมีปริมาณสูงกินเวลายาวนานกว่าปีก่อนหน้า

แม้พื้นที่ทางภาคเหนือจะได้รับผลกระทบของฝุ่นในระดับที่สูงไล่เลี่ยกัน จากข้อมูลพบว่าหลายพื้นที่ในภาคเหนือมีแนวโน้มปริมาณฝุ่นลดลงในช่วงปี 2561-2565 และค่าฝุ่นกลับมามีค่าสูงขึ้นในปี 2566 สอดคล้องกับช่วงที่สถานการณ์โควิดมีความรุนแรง โดยพบว่าพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน มีค่าฝุ่นสูงสุดมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 2-2.5 เท่า และมีช่วงเวลาที่ฝุ่นสูงลากยาวจนถึงเดือน เม.ย. ต่างจากพื้นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นสูงขึ้นต่อเนื่องแทบจะทุกปี แม้แต่ในปีที่สถานการณ์โควิดมีความรุนแรง แต่สถานการณ์กลับมาดีขึ้นหลังเดือน มี.ค. ไวกว่าสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน


คนกรุงเทพฯ รับฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยประมาณสูบบุหรี่ 2 มวน/วัน

จากงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้ประมาณการผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าการสูดอากาศที่มีความหนาแน่นฝุ่น 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน/วัน จากตัวเลขดังกล่าว ดร.พีรดล ประเมินว่า ม.ค.-เม.ย. ปี 2566 คนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีผ้าปิดจมูกหรือป้องกัน จะได้รับฝุ่นโดยเฉลี่ยเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 2 มวนต่อวัน ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว

ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการ Envi Link และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส ฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ จากตัวเลขช่วง ม.ค.-เม.ย. ปี 2566 สามารถประเมินได้ว่าคนในพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ได้รับปริมาณฝุ่นเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 2-4.5 มวนต่อวัน

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีสถานการณ์ฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างน่าเป็นห่วง ตัวเลขเมื่อต้นปี 2566 ชี้ให้เห็นว่าคนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีผ้าปิดจมูกหรือป้องกัน กำลังได้รับปริมาณฝุ่นสูงสุดที่ประมาณ 5.5-7.5 มวน ต่อวัน ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงสุด


"บิ๊กดาต้า" สู่แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น

ดร.พีรดล กล่าวถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ที่สามารถนำข้อมูลจากการรวบรวมและวิเคราะห์ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ในประเด็นของการพัฒนา เพราะข้อมูลจะทำให้เห็นปัญหาของปริมาณฝุ่นว่ามีความรุนแรงมากแค่ไหน และจากการร่วมประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เริ่มออกแบบและบังคับใช้มาตรการเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

บางพื้นที่มีการนำข้อมูลปริมาณฝุ่นที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วไปหาถึงต้นกำเนิดของฝุ่น ซึ่งพบว่าฝุ่นส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีการออกมาตรการควบคุมการเผาของเกษตรกร และมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรที่ไม่เผาวัชพืช หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ได้ราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าแปลงเกษตรที่มีการเผา

ขณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่ที่มีไฟป่าซึ่งเป็นจุดกำเนิดฝุ่นอีกส่วนหนึ่ง ภาครัฐได้ผลักดันมาตรการเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการดูแลป่า หากชาวบ้านดูแลผืนป่าไม่ให้มีไฟไหม้ ก็สามารถที่จะมีรายได้จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งบทบาทหนึ่งของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ก็จะทำหน้าที่ในการนำข้อมูลของประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่กระจายอยู่ในหลากหลายภาคส่วนมารวบรวม และบริการให้กับหน่วยงานและประชาชนที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงดำเนินการวิเคราะห์ในมุมมองที่ตอบความสนใจของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปสืบค้นได้แล้วที่ https://envilink.gbdi.cloud/


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2751989

สายน้ำ
02-01-2024, 03:35
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


แพทย์พบสารแอมเฟตามีน 'กัปตันเรือ' สปีดโบ๊ท ชนเกาะไม้ท่อน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Thaipost_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Thaipost_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

1 ม.ค. 2567 ? เภสัชกรสมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุการณ์เรือสปีดโบ๊ท "อภิรักษ์ 89" นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเหมาลำไปเกาะพีพี และขากลับมาภูเก็ต ได้ชนหิน บริเวณเกาะไม้ท่อน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีผู้บาดเจ็บ รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียทั้งหมด 7 ราย และคนไทย 2 ราย คือ กัปตันเรือและช่างเครื่อง เข้าทำการรักษาตัว ใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลดีบุก โรงพยาบาลฉลอง และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ในจำนวน 9 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นเด็กชาวรัสเซีย อายุ 5 ปี ที่ รพ.วชิระภูเก็ต

"สปีดโบ๊ทลำดังกล่าว พุ่งเข้าชนโขดหินที่บริเวณเกาะไม้ท่อน ด้วยความเร็วค่อนข้างจะสูง ทำให้ผู้บาดเจ็บทั้งหมดเกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาล 3 แห่งนั้น ปัจจุบันต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตทั้งหมด เนื่องจากมีอาการสีแดงคือ ค่อนข้างจะอาการหนัก จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว 3 ราย และคนขับเรือและลูกเรือ" เภสัชกรสมสุข ระบุ

สำหรับกัปตันเรือชื่อ ณัฐรุจ วงศ์วิไล 41 ปี สัญญาณชีพยังปกติ ระบบของสมองกับไขสันหลังรอดูอาการ ส่วนใบหน้ามีบาดแผล หลายส่วน ทำให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ วันนี้ต้องเข้าห้องผ่าตัด

รายที่ 2 มาดามวิคตอเรีย ชาวรัสเซีย 45 ปี สัญญาณชีพดีแล้ว ให้ออกซิเจนสังเกตอาการ ส่วนเรื่องตับแตกให้รอการฟื้นฟู ส่วนกระดูกเชิงกรานให้พัก จะติดได้เองไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด

รายที่ 3 นายปรีชา สร้อยสน ลูกเรือหรือช่างเครื่อง รู้สึกตัวดี สัญญาณชีพปกติ ยังรอผลแอมเฟตามีน

ส่วนรายที่ 4, 5 และ 6 กลับบ้านได้

ขณะที่รายที่ 7 นายปาร์ค ปีเตอร์ รู้สึกตัวดีสัญญาณชีพปกติ มีลมรั่วในปอด 2 ข้าง มีเลือดอยู่นิดหน่อยในปอดข้างขวา ใส่ท่อระบายให้เรียบร้อยแล้วนอนพัก

รายที่ 8 เป็นเด็กอายุ 3 ขวบ รู้สึกตัวดีสัญญาณชีพปกติ แต่ยังงดน้ำ งดอาหารรอดูอาการทางศีรษะ ซึ่งเด็กร้องหิว รอสังเกตอาการกระแทกศีรษะ

รายที่ 9 เด็กอายุ 5 ปี ชาวรัสเซีย เสียชีวิต ฝากศพที่วชิระภูเก็ต รอชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นการกระแทกศีรษะหรือหน้าอกกระแทก ซึ่งคงต้องหาสาเหตุในเชิงลึกเพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

สรุป เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กชาวรัสเซีย อายุ 5 ปี และมีผู้บาดเจ็บ 8 ราย โดยมีอาการสีแดงหรือสาหัส 5 ราย เป็นนักท่องเที่ยวรัสเซียและกัปตันเรือและลูกเรือ รักษาตัวที่ รพ.วชิระภูเก็ต ส่วนอีก 3 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย แพทย์ให้กลับบ้านแล้ว

ทั้งนี้ จากการตรวจสารเสพติดในผู้ขับเรือสปีดโบ๊ทลำดังกล่าว เท่าที่ได้รับรายงาน ตรวจเจอสารกลุ่มแอมเฟตามีนในร่างกายของกัปตันเรือ ซึ่งต้องยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนลูกเรือมีการตรวจเช่นกัน แต่ผลตรวจยังไม่ออก.


https://www.thaipost.net/district-news/510845/

สายน้ำ
02-01-2024, 03:40
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


โลกร้อน สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตกว่าล้านชนิดถูกคุกคาม ............. โดย ปาริชาติ บุญเอก

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ผลกระทบจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ไม่เพียงกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสัตว์หลายชนิดซึ่งเสี่ยงสูญพันธุ์ และกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นประเด็นเร่งด่วนและท้าทาย

สถิติต่าง ๆ ล้วนยืนยันว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ สภาวะโลกร้อน ที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ความตกลงปารีสพยายามยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้เพิ่มไปกว่า 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในปัจจุบัน


โลกร้อน กระทบสัตว์บก

ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคเสถียร เผยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ คาดการณ์ความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสัตว์บก ว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส อาจมีสัตว์บกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงถึง 14 % หากอุณหภูมิสูงขึ้นระดับ 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงอยู่ที่ 18 % และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 29 % หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส และเสี่ยงสูงถึง 39 % หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส และสูงถึง 48 % หากโลกร้อนขึ้น 5 องศาเซลเซียส


สัตว์ทะเล หนีร้อนไปพึ่งเย็น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสัตว์ทะเล กรีนพีซ ประเทศไทย เผยข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่า มหาสมุทรบริเวณรอบๆ เส้นศูนย์สูตรเริ่ม "ร้อน" เกินไปสำหรับสัตว์ทะเลหลายชนิด พวกมันจะไม่รอดหากอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งตัวการสำคัญของเหตุการณ์นี้คือ "ภาวะโลกร้อน" สภาพของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง สัตว์หลายสายพันธุ์กำลังอพยพไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำเย็นขึ้น ใกล้กับขั้วโลกมากขึ้น สถานการณ์นี้มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตมนุษย์

ย้อนกลับไปเมื่อ 250 ล้านปีก่อนได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และในขณะนั้นมีสัตว์ทะเลกว่า 90 % จากสายพันธุ์ทั้งหมดตายลง จะเห็นว่า เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น สัตว์ทะเลจึงจำเป็นต้องอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการใช้ชีวิต พวกมันเริ่มย้ายขึ้นมาใกล้กับขั้วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้จำนวนสัตว์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรลดลง


"หมีขั้วโลก-เพนกวิน" น่าห่วง

อีก ด้านของขั้วโลก ก็ถูกผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน รายงานขององค์กรอนุรักษ์ Polar Bears International เผยให้เห็นว่า "หมีขั้วโลก" ซึ่งต้องการ "แผ่นน้ำแข็ง" ที่สามารถเข้าถึงเหยื่อ แต่เมื่อน้ำแข็งในทะเลละลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่ง หมีขั้วโลกจึงถูกบังคับให้ขึ้นบกโดยปราศจากอาหารและต้องอยู่รอดด้วยไขมันที่สะสมไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งไขมันสะสมหมดสิ้น สิ่งนี้นำไปสู่การลดลงของประชากรในที่สุด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า หมีขั้วโลก ส่วนใหญ่อาจสูญพันธุ์ได้ในช่วงปลายศตวรรษ เว้นแต่ภาวะโลกร้อนจะถูกจำกัดไว้

ทั้งนี้ ผลวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสาร PLOS Biology ยังพบว่า แผ่นน้ำแข็งที่หายไป ส่งผลกระทบต่อเพนกวินจักรพรรดิ และ

เพนกวินอาเดลี ที่ต้องพึ่งพาน้ำแข็งในเดือน เม.ย.-ธ.ค. เพื่อสร้างรังสำหรับลูกน้อย หากน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วหรือน้ำแข็งเกิดช้าในฤดูถัดไป เนื่องจากอุณหูมิสูงขึ้น เพนกวินอาจสืบพันธุ์ได้ยากลำบาก อีกทั้ง เพนกวินจักรพรรดิ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวที่สุดในแอนตาร์กติกา ซึ่งสมมติฐานที่แย่ที่สุด ระบุว่า เพนกวินชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100

และเมื่อไม่นานมานี้ มีการพบซาก "เพนกวินมาเจลลัน" กว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายหาดอุรุกวัย ในสภาพที่ซูบผอมผิดปกติ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่า 90 % ของเพนกวินเหล่านั้น ไม่มีไขมันสำรองในร่างกายและไม่มีอาหารเหลืออยู่ในท้อง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเพนกวินตายเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ในปี 2010 และอาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชากรเพนกวินมาเจลลันมีจำนวนลดลง

รายงานจากบัญชีแดงของ IUCN ประเมินไว้ว่า มีเพนกวินมาเจลลันตายจากมลพิษน้ำมันไปแล้วถึง 20,000 ตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ และปัญหาใหญ่ที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะนอกจากจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันเสียหายจากการโดนน้ำท่วมแล้ว ยังทำให้พวกมันไม่มีอาหารกินด้วย

ขณะเดียวกัน "พะยูน" ในแอฟริกาตะวันออก ยังลดลงเหลือน้อยกว่า 250 ตัว และมีน้อยกว่า 900 ตัว นิวแคลิโดเนีย ของฝรั่งเศส ด้าน "หอยเป๋าฮื้อ" ถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เป็นครั้งแรก โดยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสีแดง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์อยูในระดับที่สอง ซึ่งนอกจากการที่ถูกชาวประมงงมเก็บโดยไม่มีการอนุรักษ์แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก็มีส่วนที่ทำให้เป๋าฮื้อตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงด้วย

อนึ่ง บัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN หรือ International Union for Conservation of Nature Red List of Threatened Species) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์พืชและสัตว์ทั่วโลก ระบุว่า สัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ อยู่ในสถานะกำลังใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอีกกว่า 30,000 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จากการประมาณการเหล่านี้ สรุปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 1,000,000 ชนิดถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์ และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง จากฝีมือมนุษย์และภัยธรรมชาติ


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1104711

สายน้ำ
02-01-2024, 03:42
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


แผ่นดินไหวญี่ปุ่นพบตาย 4 คน ทางการลดระดับเตือนภัยสึนามิ

ทางการญี่ปุ่นลดระดับคำเตือนสึนามิ แต่ยังขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ จ.อิชิกาวะ เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 4 คน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670102_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (2 ม.ค.2567) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานความคืบหน้าเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ศูนย์กลางในพื้นที่เขตโนโต จ.อิชิกาวะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียว 526 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเกียวโด รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ จ.อิชิกาวะ ว่ามีผู้เสียชีวิต 4 คน และโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าได้รับรายงานผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร 6 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะที่เวลา 01.15 น.วันนี้ (2 ม.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นลดระดับประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิ เป็นขอให้เฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิในบริเวณพื้นที่ที่ได้ประกาศเตือนภัยไปก่อนหน้านี้ แต่ยังขอให้ประชาชนอย่าเข้าใกล้ชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์เตือนภัย

ก่อนหน้านี้หลังเกิดแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิที่อาจสูง 3-5 เมตร ในหลายพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู ทั้งที่ จ.อิชิคาวะ, โทยามะ, นีกาตะ, ฟูกูอิ, เฮียวโกะ และ จ.ยามากาตะ และประกาศเฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิที่ จ.ฮอกไกโด, อาโอโมริ, อะกิตะ, เกียวโต, ทตโตริ, ชิมาเนะ, ยามากูจิ, ฟูกูโอกะ, ซากะ และ จ.นางาซากิ

รวมถึงให้ระวังภัยคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหวในจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้มีรายงานเกิดสึนามิที่ท่าเรือเมืองวาจิมะ จ.อิชิกาวะ โดยคลื่นสูง 1.2 เมตรและมีรายงานคลื่นขนาดย่อมๆ ในอีกหลายจุด

เหตุแผ่นดินไหวสร้างความตื่นตกใจอย่างมากในวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีผู้คนไปสักการะตามศาลเจ้าหลายแห่ง แรงสั่นสะเทือนทำให้ศาลเจ้าที่เมืองฮาคุอิ จ.อิชิกาวะ สั่นไหวอย่างชัดเจน โดยนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกเมื่อช่วงบ่าย ก็มีรายงานเกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาแล้วราว 60 ครั้งตลอดช่วงเวลาหลายชั่วโมง

แรงสั่นสะเทือนทำให้ผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยอยู่ตามห้างสรรพสินค้าต้องเกาะกลุ่มรวมกันท่ามกลางความตระหนก แม้แต่ในกรุงโตเกียวที่ห่างไปหลายร้อยกิโลเมตร สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำสั่งอพยพ โดยประชาชนนับหมื่นคนต้องย้ายไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงเพื่อความปลอดภัย

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า มีประชาชนประมาณ 1,000 คนต้องไปอาศัยในฐานทัพ และช่วงคืนที่ผ่านมาหลายพันคนไม่ได้กลับบ้าน ซึ่งทางการยังขอให้ประชาชนที่อพยพอยู่ที่ศูนย์อพยพจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย

นอกจากนี้ บ้านเรือนราว 33,500 หลังรอบศูนย์กลางแผ่นดินไหวใน จ.โทยามะ, อิชิกาวะ และ จ.นีกาตะ ไม่มีไฟฟ้าใช้และยังพบเหตุขัดข้องเกี่ยวกับสัญญาณโทรศัพท์บางช่วง ถนนพังเสียหาย เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนสาย Joetsu และ Hokuriku ยกเลิกการเดินรถทั้งหมดในพื้นที่ จ.อิชิกาวะ

ขณะเดียวกันแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ในเมืองวาจิมะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ และความพยายามเข้าดับเพลิงเผชิญอุุปสรรคจากเศษซากอาคารที่พังถล่มกีดขวางรถดับเพลิง


https://www.thaipbs.or.th/news/content/335529